แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
เห็นนามรูป สู่ปัญญาญาณ
เช้าของวันที่ 25 พฤษภาคม 2568 เป็นวันที่เราได้มาร่วมงานอาจริยบูชา หรืองานรำลึกถึงหลวงพ่อทอง อาภากโร อดีตเจ้าอาวาสวัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เป็นการรำลึกถึงสิ่งที่หลวงปู่ท่านได้ฝากได้มอบได้ให้พวกเราได้มีโอกาสได้มาปฏิบัติกัน
สืบเนื่องมาจากหลวงปู่เทียนฝากมาถึงหลวงปู่ทอง หลวงปู่ทองก็ฝากมาถึงพวกเราที่เป็นศิษยานุศิษย์ หรือเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้นการที่เรามีโอกาสได้มาศึกษา ได้มาภาวนา ได้มาฝึกสติ ก็เพราะมีหลักคำสอนที่เกิดขึ้นจากหลวงปู่เทียน
หลวงปู่เทียนท่านเข้าใจหลักธรรมะ หลักที่เป็นสติปัฏฐาน ซึ่งการเข้าใจของหลวงพ่อก็คือการที่เข้าถึงเข้าใจ หรือสติปัฏฐานมาเปลี่ยนแปลงชีวิตของท่าน ทำให้ท่านได้ประจักษ์ ประจักษ์ในสิ่งที่เป็นหลักของสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานเป็นชื่อที่เราซึ่งมีในพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็น “เอกายโน ภิกขเว” คือเป็นหนทางอันเอก แต่ความที่หลวงปู่เทียนท่านได้ปฏิบัติแล้วท่านได้เข้าใจ แล้วก็ทำให้ชีวิตจิตใจของท่านเปลี่ยนแปลง ท่านก็เลยมีความมั่นใจว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ
สิ่งนี้เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะทำให้เข้าถึงจิตเข้าถึงใจ เข้าถึงชีวิต แล้วก็ทำให้รู้เข้าใจหลักธรรมที่เป็นการชำระจิตชำระใจให้ขาวรอบ หลวงปู่เทียนท่านก็มั่นใจว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ควรที่จะบอกกล่าวกับเพื่อนมนุษย์ กับเพื่อนร่วมโลก กับสังคมให้รู้จักว่าสิ่งนี้มีอยู่ในชีวิตของทุกคน
ทีนี้การที่จะเข้าถึงตรงนี้ได้ต้องปฏิบัติแบบนี้ เคลื่อนไหวให้กำหนดสติรู้สึกตัว เป็นการชี้บอกว่าต้องทำอย่างนี้ พลิกมือ หรือว่าเดินจงกรม หรือกำหนดรู้ในอิริยาบททั้ง 4
ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว กระพริบตา หายใจ ก้มเงย เอียงซ้ายเอียงขวา ถอยหน้าถอยหลัง การพลิกมือคว่ำมือกระดิกนิ้วมือ พวกนี้ก็ใช้ได้ทั้งหมด เพราะเป็นอิริยาบถที่ทำให้เราได้รู้ว่าความรู้สึกตัวอยู่ตรงไหน หรือความรู้สึกตัวเป็นอย่างไร ก็คือสติ
เหมือนกับเคลื่อนไหวเพื่อให้รู้ว่า ตรงที่เคลื่อนไหวนั้นกำหนดคือ รู้สึกได้ อาการอย่างนี้เป็นอย่างนี้ เหมือนกับรวมจุดรวมศูนย์ ถ้าเรายังไม่ได้มาปฏิบัติสติก็มีเพียงแต่ว่ามันกระจาย กระจายอยู่ทั่วสรีระร่างกายของเรา มันยังไม่รวมที่จุดใดจุดหนึ่ง มันยังสังเกตดูไม่ชัดเจนเพราะความกระจัดกระจายของสติ
พอเรามากำหนดรู้ หรือว่ากำหนดในจุดใดจุดหนึ่งของร่างกาย เช่น เราพลิกมือ ยกมือ กำมือ เหยียดมือ กระดิกนิ้วมือ เรารู้ขณะที่เรากำลังเคลื่อนไหว ตรงนั้นมันจะชัดเจน หรือสัมผัสรู้ได้ ทีนี้อิริยาบถเราก็เปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยหรือตามสภาวะ
คือบางทีก็รู้เคลื่อนไหวที่มือ บางทีก็รู้เคลื่อนไหวที่เท้า บางทีเราก็ลุกยืนเดินนั่งนอน แล้วก็กำหนดรู้ไปกับอิริยาบถ ซึ่งอิริยาบถต่างๆ พวกนี้มีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด เพียงแต่ว่ายังไม่มีใครมาชี้บอกว่าให้กำหนดรู้ลงไป หรือให้สัมผัสรู้ขณะกำลังเคลื่อนไหว
แต่ที่สำคัญคือ เรารู้เป็นจุดเป็นที่เป็นทาง เราเคลื่อนไหวมือเราก็กำหนดรู้ความชัดเจนของความรู้สึกอยู่ที่มือ เราเคลื่อนไหวเท้าเราก็กำหนดรู้ความรู้สึก บางทีจุดไหนที่มันรู้สึกขณะนั้นๆ เราก็กำหนดรู้ได้ อาจจะเป็นที่อื่นที่ไม่ใช่ที่เรากำลังเคลื่อนไหวแต่มันรู้ได้ชัดเราก็ดูได้
คือคำว่ารู้จุดใดจุดหนึ่งในสรีระร่างกายเรานี้ก็เป็นความรู้สึกได้ทั้งหมด แม้แต่ถ้าเรามีความชัดเจนในเรื่องของความรู้ตัวได้ เรานั่งอยู่เฉยๆ เรากระดิกนิ้วมือ หรือเรากระพริบตา หรือเราเคลื่อนไหวเบาๆ ก็รู้ได้ ก็เป็นความรู้สึกอันเดียวกันกับขณะที่เราทำในรูปแบบ
เพียงแต่ว่าการทำในรูปแบบมันต่อเนื่อง มันเป็นลักษณะที่เรียกว่าได้ยาวนานกว่า แต่ถ้าเรากำหนดรู้ตามธรรมชาติ ยืนเดินนั่งนอนโดยทั่วไปมันก็ได้เป็นขณะๆ แต่เมื่อเราชำนาญแล้ว ทุกอย่างของการเคลื่อนไหวก็จะประกอบไปด้วยสติ
เหมือนกับว่าสติกับร่างกายเรามันจะไม่ห่างกัน มันจะไปด้วยกัน กายอยู่ไหนสติอยู่นั่น กายอยู่ไหนใจอยู่นั่น ความรู้ตัวหรือการดูเข้าไปถึงจิต การดูเข้าไปถึงจิตคือดูภายในของใจของจิต คือธรรมชาติของคนเรา มีกายที่เป็นรูป แล้วก็มีนามหรือใจที่เป็นฝ่ายใจฝ่ายนามธรรม ซึ่งเราก็ดูเข้าไป
เมื่อเรากำหนดรู้ที่กายก็จะเข้าไปเห็นจิต การเห็นจิตเราก็จะไปเห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นอาการ เห็นธรรมชาติซึ่งมีเป็นธรรมชาติ ซึ่งอาการของจิตต่างๆ ที่มันแสดงออกมาทางกายจะเป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง จะเป็นความเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นอาการของจิต
ตัวเวทนาคืออาการของกาย แต่ที่แสดงออกที่รับเรารับรู้ได้คือจิต ตัวสัญญาความจำ สิ่งที่เราจำได้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันหรือสิ่งที่เราได้เกี่ยวข้อง มันมีความจำคือสัญญาคือจำ สังขารคือความนึกคิด ว่าตาเห็นหูได้ยินเราก็จะเอามาคิดนึก โดยธรรมชาติของคนเราก็ต้องมีคิด ก็เป็นลักษณะความปรุงแต่งสังขาร
ทีนี้เราก็จะมาเปลี่ยนความเป็นสังขารให้เป็นวิสังขาร คือเปลี่ยนความคิดแล้วควบคุมความคิดได้ สามารถที่จะหยุดหรือสามารถที่จะใช้งานได้ สามารถที่จะพักผ่อนแล้วก็หยุดเอาไว้ก่อนได้ เรียกว่าเป็นผู้มีปัญญา เปลี่ยนสังขารเป็นวิสังขาร แล้วก็เป็นนามธรรมฝ่ายวิญญาณ
วิญญาณแปลว่าการที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เราเกี่ยวข้อง เช่น ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เรียกว่าตามีวิญญาณ หูได้ยินเสียงคือหูมีวิญญาณ เพราะฉะนั้นถ้าตาบอดเขาเรียกว่าตาไม่มีวิญญาณ หูไม่มีวิญญาณถ้าไม่ได้ยินเสียง
ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าถ้าเรายังไม่มีการเจริญสติ หรือไม่มีการที่มากำหนดรู้ในความรู้สึกตัว มันจะไม่ปรากฏชัด หรือมันจะเป็นลักษณะซ่อนอยู่ภายใน ซ่อนอยู่ในใจของเรา
แต่พอเรามาเจริญสติ เป็นการเป็นเหมือนการเปิดประตูใจ เปิดประตูไปดูด้านในว่าด้านในมีอะไรบ้าง การเปิดประตูเข้าไปก็ต้องมีไฟส่องหรือมีแสงสว่าง
หลวงปู่เทียนท่านเคยอุปมาว่า การที่เราอยู่ในความคิด คือถูกความคิดครอบเอาไว้ก็เหมือนเราอยู่ในถ้ำ เราก็อยู่ในที่มืดอยู่วนอยู่ในถ้ำ แม้แต่มีแสงสว่างหรือจุดไฟขึ้นก็จะเป็นลักษณะมุมใดมุมหนึ่ง เอาไฟไปข้างหน้ามืดมาข้างหลัง เอาไปเอาไฟไปข้างหลังมืดมาข้างหน้า เป็นลักษณะที่เรียกว่ามันไม่สว่างโดยรอบ
แต่ถ้าเราออกจากถ้ำ คือออกจากความคิด เราจะเห็นแสงสว่างรอบกายของเรา ก็เหมือนว่าเห็นสิ่งที่เป็นความจริงแต่ไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำของความคิด เป็นลักษณะเห็นตามความเป็นจริง
เราก็จะได้แยกกันว่า ความคิดหรือฝ่ายนามธรรมมีตัวนี้ๆๆ มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ หรือมีเวทนา มีความคิด มันเกิดตาภายในขึ้นมา หรือเกิดจากการเปิดประตูใจ คือเกิดจากการปฏิบัติ
ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราคิดเราคาดคะเนเราคำนวณ หรือเราคิดด้วยความคิด มันก็มีขีดจำกัด จะคิดดีแค่ไหนมันก็มีขีดจำกัดว่าคิดได้ในระดับนี้ ถ้าเกินระดับนี้ไปไม่ถึงหรือไม่สามารถรู้ได้ ไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งนั้นได้ ต้องเสริมความคิด การจะเสริมสิ่งที่เป็นปัญญาก็ต้องมีสติ ท่านจึงเรียกว่าสติปัญญา คือเรียกคู่กันว่ามีสติมีปัญญา
หรือถ้าสูงขึ้นไปในระดับปัญญาญาณ คือสติแล้วก็แปรมาเป็นญาณเกี่ยวข้องกับปัญญา เพราะฉะนั้นในการที่เราเห็นสิ่งที่เป็นปัญญาญาณ นั่นคือสติมันแปรสภาพโดยละเอียดจนสามารถรู้ทันความคิด
คือรู้ทันในตัวของธรรมชาติทั้งหมด เหมือนเอาความคิดดูความคิด เหมือนเอาใจดูใจ เหมือนเห็นสิ่งนั้นตามความเป็นจริง ซึ่งเกิดจากญาณของปัญญา เมื่อเราปฏิบัติไป เมื่อความละเอียดของสติมากขึ้น มันก็จะไปแปรสภาพสิ่งที่เราเห็น ให้เห็นตามความเป็นจริง คือไม่มีสิ่งมาครอบงำ
แต่ถ้าเราไม่มีการมีสติ เป็นความคิด ความคิดก็จะอยู่ในระดับที่จำกัด คือคิดได้เท่าที่มันคิดได้ แต่จะให้ลึกไปถึงการรู้ประจักษ์ หรือการเห็นตัวของมันเอง หรือการถอยออกมานอกกรอบนอกตัวของมันเหมือนออกจากถ้ำได้ก็ต้องมีจุดยืน คือมีที่ตั้งหรือจุดสังเกต
จุดสังเกตที่ว่าก็คือความรู้ตัว ความรู้ตัวคือสติ สติสัมปชัญญะเรียกว่ารู้สึกตัว เพราะฉะนั้นเราก็เลยมาหาที่ตั้งให้จิต เพื่อที่จะได้มองกลับไปดูตัวจิต มองกลับไปดูตัวความคิด จะได้เห็นการเชื่อมต่อ หรือการเกิดปฏิสัมพันธ์กันปฏิกิริยากันของนามธรรมเกี่ยวข้องกับรูป หรือว่าเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในแต่ละขณะ มันเป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นในทางของการปฏิบัติ เมื่อหลวงปู่เทียนท่านได้สัมผัสได้ประจักษ์สิ่งนี้ขึ้นมา เมื่อวันแรม 11 ค่ำเดือน 8 ปีพุทธศักราช 2500(แก้ไขจาก2505) ท่านได้รู้ประจักษ์สิ่งนี้ขึ้นมาตั้งแต่ตอนเช้าของวัน 10 ค่ำไปถึงวัน 11-12 ค่ำ ท่านก็มีความมั่นใจ เพราะทำให้ชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลง
เหตุที่เรารู้ว่าชีวิตของท่านเปลี่ยนแปลง เพราะช่วงที่ท่านอาจารย์มหาปาน คืออาจารย์มหาปานนี้เป็นภิกษุที่เป็นชาวลาว แต่ท่านมาปฏิบัติรับธรรมะแบบนี้ไปจากวัดมหาธาตุเมื่อปี 2495-2496 ช่วงนี้ท่านมาปฏิบัติแล้วท่านก็ไปเผยแผ่
พอหลวงพ่อเทียนได้มาปฏิบัติเมื่อปี 2500 ท่านมาสอบอารมณ์ ท่านถามหลวงปู่เทียน ตอนนั้นหลวงปู่เทียนเป็นฆราวาสคือยังไม่ได้บวช อายุในช่วงนั้นอยู่ในเกณฑ์ 45 ปี ถามว่าเป็นอย่างไรพ่อออกเชียงคาน รู้อะไรบ้าง หลวงพ่อเทียนก็ว่า “รู้ตัวผม”
ท่านถามว่า รู้ยังไงรู้ตัวเอง “ก็คือรู้ขณะยืน ขณะเดิน ขณะนั่ง ขณะนอน ขณะคู้ เหยียด เคลื่อนไหว” คือมีอิริยาบถต่างๆ ก็รู้ รู้ในสิ่งที่กำลังเกิด ในสิ่งที่เป็นอาการ ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน ท่านก็เลยบอกว่า รู้ตัวเอง คือรู้แบบขณะกำลังเคลื่อนไหว ไม่เคยเป็นมาก่อน ท่านก็เลยบอกว่า “รู้ รู้สึกตัวครับ”
อาจารย์ก็ถามว่า อ้าว..คนเราทุกคนก็ต้องมีความรู้สึกตัวอยู่แล้ว ถ้าคนไม่มีความรู้สึกตัวก็เหมือนคนตายแล้ว หลวงพ่อเทียนท่านก็ยอมรับว่าจริงครับ แต่ก่อนท่านไม่ได้รู้สึกตัวแบบนี้ท่านเหมือนคนตายแล้ว คือไม่ประจักษ์แจ้งในขณะกำลังเคลื่อนไหวแล้วรู้ตัวอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ผมได้เกิดใหม่แล้วครับ
อาจารย์ท่านก็พูดต่อไปอีก อาจารย์หลวงพ่อมหาปานก็บอกว่า ถ้าเกิดใหม่แล้วจะมานั่งหรือเดินมาตรงนี้ได้อย่างไร เกิดใหม่ก็ต้องแบเบาะก็ต้องเป็นทารก
หลวงปู่เทียนท่านก็เลยว่า ผมไม่ได้หมายถึงการเกิดทางด้านร่างกาย แต่ผมหมายถึงการ “เกิดทางด้านจิตใจ”ครับ เกิดทางด้านจิตใจ คือเกิดสติขึ้นมา ท่านก็ตอบมาอย่างนี้
อาจารย์ท่านก็เลยถามอีก ถามว่าเกลือเค็มไหม หลวงปู่เทียนท่านก็ตอบว่าเกลือไม่ได้เค็มครับ อ้าว..อาจารย์ก็ซักเหมือนว่าทำไมเกลือจะไม่เค็ม หลวงพ่อเทียนก็ว่าขณะนี้คือเกลือไม่ได้อยู่ในลิ้นของผม เกลืออยู่ที่โรงครัวหรืออยู่ที่อื่น ผมจึงไม่รู้สึกหรือไม่ได้เค็ม
เหมือนกับว่าอาจารย์ท่านเอาสมมุติมาถาม ก็ถามความจริงนั่นแหละ เพียงแต่ว่าถ้าเราตอบเป็นปรมัตถ์ หรือตอบเป็นสภาวะธรรม ก็จะเป็นลักษณะที่ต้องเอาความจริงขณะที่เรากำลังเป็น กำลังมี กำลังสัมผัสอยู่ มาตอบ
คือตอนนี้ลิ้นเราไม่ได้สัมผัสกับเกลือ เราก็เลยตอบว่าเกลือไม่เค็ม เป็นลักษณะหลวงปู่เทียนท่านนำมาตอบว่าเกลือไม่เค็มครับ อาจาร์ยท่านถามว่า พริกเผ็ดไหม พริกมันก็ไม่เผ็ดครับ มันไม่ได้อยู่ที่ลิ้นผมมันอยู่ที่โรงครัว น้ำตาลหวานไหม น้ำตาลก็ไม่หวานครับ
คือตอบปรมัตถ์ ตอบสิ่งที่มี ขณะกำลังมี อันนี้คือภาษาของการเข้าถึงธรรม หรือการตอบในลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม
จากนั้นอาจารย์ท่านก็ถามถามต่อไปอีก เป็นลักษณะถามว่า สมมุติว่าวัดรังสีมุกดาราม คือช่วงที่ท่านไปปฏิบัติที่วัดรังสีมุกดาราม อยู่ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เป็นสถานที่ที่ท่านไปปฏิบัติ สมมุติว่าวัดรังษีมุกดารามเป็นป่าอยู่หน้าวัดหรือเป็นป่ารอบวัด
ทีนี้โยมอยู่ฝั่งนู้นฟากป่าทางนู้น ทีนี้กลางป่ามันมีเสือดุร้าย เป็นเสือที่โดนคนยิงหรือถูกทำร้ายมันจึงมีความดุร้ายมาก ทีนี้เสืออยู่ระหว่างป่าแต่โยมอยู่ฟากป่าด้านนู้น ถ้าอาจารย์บอกให้โยมมาหา โยมจะมาไหม หลวงปู่เทียนก็ตอบว่ามาครับ ถ้ามาก็ต้องโดนเสือกัดนะ
คืออาจารย์ท่านจะถามเหมือนกับว่าสร้างเรื่องขึ้นมาถามให้หลวงพ่อเทียนตอบแบบไม่เป็นปรมัตถ์ คือตอบว่าถ้ากลัวเสือก็ต้องไม่กล้ามาคือไม่เป็นปรมัตถ์ แต่หลวงปู่เทียนท่านตอบเป็นปรมัตถ์ คือเดี๋ยวนี้ผมยังไม่เจอเสือ ถ้าเจอเสือผมจะสู้กับเสือได้หรือก็จะหลบหลีกได้
ที่อาจารย์ถามคือถามเหตุยังไม่มี แต่ว่าเอาเรื่องสมมุติมาถาม หลวงปู่เทียนท่านก็ตอบไปตามหลักของปรมัตถ์ ทีนี้อาจารย์ก็ว่าถ้ามาจะมาตามทางหรือจะลัดเลาะตามป่ามา หลวงปู่เทียนว่าผมต้องมาตามทางครับเผื่อเจอเสือหรือเห็นเสือจะได้หลบได้สู้กับเสือได้ เป็นลักษณะคำถาม แล้วอาจารย์ก็ถามต่ออีก
เมื่อจบตอนนี้ก็ถามเรื่องอื่นๆ ถามว่าสีอะไรดำที่สุด หลวงพ่อเทียนก็ตอบว่าดำที่สุดก็คือดำ ไม่มีอะไรเกินดำ คำว่าดำที่สุด ที่สุดของดำก็คือดำ มันจะไปเอาอะไรมาดำกว่าดำไม่ได้ อะไรแดงที่สุด แดงที่สุดก็คือแดง ไม่มีอะไรเกินแดง เป็นลักษณะที่เรียกว่าหาความเป็นที่สุด อะไรขาวที่สุด ขาวที่สุดก็คือขาว
ฉะนั้นความเป็นที่สุดของที่สุด ก็คืออยู่ในตัวของมัน หลวงปู่เทียนท่านอธิบายตอนนี้ว่า เหมือนอาจารย์กำลังจะถามหาความเป็นที่สุดของที่สุด
ของที่สุดที่อยู่ในกายเรา ก็คือการรู้ประจักษ์ หรือเหมือนกับว่าการเข้าใจความทุกข์หรือสิ่งเป็นสัจธรรมที่มีอยู่ในตัวเราที่สุดมันอยู่ตรงไหน ที่สุดของสัจธรรมก็อยู่ในตัวเรา ก็เหมือนกับว่าดำที่สุดก็คือดำ ฉะนั้นที่สุดของการประจักษ์แจ้งในสิ่งนี้ก็คือในสิ่งที่มีจริง เพียงแต่ว่ามันเป็นที่สุดของที่สุด
อาจารย์ท่านก็เลยว่าอนุโมทนาได้ด้วยนะโยม อาจารย์เคยถามคนมาเป็นร้อยคนพันคนก็ไม่มีตอบเหมือนโยม หลวงปู่เทียนท่านก็ว่าก็ไม่ดีใจไม่เสียใจที่อาจารย์พูดอย่างนั้น แล้วก็อยู่ต่อมาท่านก็เลยอยู่จนออกพรรษาคือวัน 10 ค่ำ 11 ค่ำจวนจะเข้าพรรษา เพราะ 15 ค่ำคือวันเข้าพรรษา ท่านก็อยู่จนวันออกพรรษา ไปกราบลาอาจารย์กราบลาสำนัก กลับที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ท่านก็เริ่มเผยแผ่
เผยแผ่แล้วก็เปลี่ยนเป็นคนละคน แต่ก่อนหลวงปู่เทียนก็เป็นพ่อค้า พอเปลี่ยนมาเป็นผู้รู้ประจักษ์ในธรรมก็เปลี่ยนเป็นผู้ให้ ผู้เสียสละ ผู้ที่ต้องการนำสิ่งนี้ไปสู่เพื่อนร่วมโลก
เป้าหมายแรกๆ คือญาติพี่น้องท่านพูดกับญาติท่านว่า สมมุติเราได้สิ่งที่ดีมาเราจะให้ใครก่อน ท่านก็เลยตอบตัวท่านว่าการจะให้ก็คือให้กับคนที่เรารัก คนที่เรารักคนที่เราสนิทคนที่เรารู้จัก คือมาให้คณะญาติๆ ให้ภรรยาของท่าน
ท่านเริ่มสอนตอนเป็นฆราวาส สอนอยู่ 2 ปีกับ 8 เดือน แล้วก็ตัดสินใจบวชเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2503 แล้วก็เริ่มเผยแผ่ขยายมาสู่เมืองหลวงคือกรุงเทพฯ แล้วก็ออกสู่ต่างประเทศ
เพราะฉะนั้นหลวงปู่ทองท่านก็ได้ไปรับธรรมะอันนี้มาจากหลวงปู่เทียนเมื่อปี 2510 แล้วก็นำมาทำหน้าที่จนวาระสุดท้ายของท่าน จนมาถึงปี 2567 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ท่านก็มรณะ ช่วงนี้เราก็ได้มาร่วมงานรำลึกถึงหลวงปู่ทอง
ซึ่งหลวงปู่ทองก็ได้รับธรรมะนี้มาจากหลวงปู่เทียนซึ่งท่านเคารพท่านศรัทธา ท่านปรารภถึงหลวงปู่เทียนอยู่เสมอว่า พวกเราเป็นศิษย์หลวงปู่เทียน พวกเราทำอะไรก็ไม่มีความละเอียดหรือความเป็นแบบหลวงปู่เทียนได้ หลวงปู่เทียนท่านมีความละเอียด แม้แต่การกินการฉันการอยู่การนอน
หลวงปู่ทองท่านพูดให้อาตมาฟังเรื่อยๆ แบบที่เรียกว่าความเป็นหลวงปู่เทียนนี้เป็นคนพิเศษ พวกเราเป็นศิษยานุศิษย์เราก็เคารพเหมือนกับว่าเอาหลักคำสอนที่เป็นสัจธรรม ซึ่งหลวงปู่ทองท่านก็ยืนยันว่า สิ่งที่ท่านได้สิ่งที่ท่านได้สัมผัส ทำให้ท่านอยู่อย่างไม่มีทุกข์ หรืออยู่กับชีวิตอย่างเรียกว่ามีความมั่นใจ ไม่สงสัยในหลักของศาสนา ในหลักของชีวิต จนท่านได้มาทำหน้าที่จงวาระสุดท้าย พวกเราก็ได้มาปฏิบัติ
อาตมาเองก็ได้เข้ามาปฏิบัติตั้งแต่ปี 2530 ที่จริงก็ปฏิบัติมาหรือได้ยินได้ฟังมาก่อนหน้านั้น เพราะอาตมาได้รับธรรมะจากศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่เทียน ที่เป็นหลวงพ่อบุญธรรมหลวงพ่อคำเขียนซึ่งอยู่บ้านเดียวกันการ การได้ยินได้รับธรรมะก็ได้ซึมซับได้มีการเกี่ยวข้องได้สังเกตดู
ก็เลยได้เข้ามาปฏิบัติเมื่อปี 2530 ปลายปี ได้จำพรรษาที่วัดสนามในเมื่อปี 2535 ปี 2536 จนได้มาปฏิบัติแล้วก็ได้มาทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลวงปู่ทอง หลวงปู่ทองก็เลยให้ไปอยู่ที่วัดทับมิ่งขวัญ วัดทับมิ่งขวัญอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งเป็นวัดสุดท้ายของหลวงปู่เทียน ที่ท่านไปก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2526 ปี 2527
ในปี 2525 ท่านเริ่มป่วย หลวงปู่เทียนท่านป่วยโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร มะเร็งที่ลำไส้ ท่านก็มองหาสถานที่จะพักผ่อนที่จะเป็นที่ปฏิบัติแบบให้ได้อยู่กับธรรมชาติ ท่านก็เลยมองไปที่ทับมิ่งขวัญที่จังหวัดเลย ท่านก็เลยเริ่มที่จะไปบุกเบิกหรือไปเปิดเป็นสำนักเล็กๆ อยู่ริมน้ำเลย อยู่ที่บ้านติ้ว จังหวัดเลย ปี 2529 ท่านไปเปลี่ยนทางน้ำเลยแล้วก็ไปสร้าง ปี 2531 ท่านก็มรณะ
เพราะฉะนั้นอาตมาได้มาปฏิบัติก็เลยได้เกี่ยวข้องแล้วก็ได้ปฏิบัติตามแนวนี้ เจริญสติก็ทำให้รู้ว่าเป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของชีวิตเท่าที่อาตมาได้สัมผัสมา ธรรมะแบบหลวงปู่เทียนเป็นธรรมะที่เป็นสัจธรรม เหมือนเปิดโลก เปิดโลกเหนือความคิดหรือเปิดโลกผ่าโลกให้เราได้รู้ว่าสิ่งที่อยู่กับโลกคืออะไรบ้าง
อาตมาเฝ้าเพียรปฏิบัติ เข้าใจรูปเข้าใจนาม อาตมาเข้าใจรูปเข้าใจนามอยู่ในช่วงของการเข้ามาบวชเข้ามาปฏิบัติ น่าจะเป็นช่วงประมาณ 2 เดือนอาตมาเข้าใจ เดือนธันวาคมอาตมาบวช เดือนมกราคมมาปฏิบัติ เดือนกุมภาพันธ์ได้เข้าใจตรงนี้เข้าใจรูปเข้าใจนาม
จากนั้นก็เข้าใจตามลำดับมาตามเส้นทาง ที่เป็นหลักสูตรที่เป็นเส้นทางหลวงปู่เทียน คือเห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นปรมัตถ์ เห็นอาการ เห็นสิ่งที่เป็นภายในก็ตามลำดับมานี่แหละ สติแนบแน่นขึ้น
สติหรือสมาธิก็แนบแน่นขึ้นอยู่เสมอ จนในที่สุดในปัจจุบันนี้ จิตที่อาตมาเกี่ยวข้อง คือสิ่งที่กระทบทางตาทางหูทางอายตนะ มันไม่ไปทำให้จิตของเราวุ่นวาย มันไม่ทำให้จิตของเราสับสน มันทำให้เราเหมือนกับว่ามันหลุดออกจากจิต มันไม่เข้าไปชนที่จิต ไม่ไปเป็นแรงดึงแรงโน้มแรงเข้าไปหาจิตเหมือนเก่า
แต่ก่อนนี้มีอะไรมันจะมีแรงดูดเข้าไป เหมือนมีแม่เหล็กดูดเข้าไปหาจิต พอปฏิบัติมาปฏิบัติมา มันหลุดออกไป เหมือนกับว่ามันมีตัวกั้นให้เรา ตัวกั้นที่ว่าหมายถึงตัวที่มันเกิดปัญญา เกิดญาณ เกิดสิ่งที่มาเป็นเครื่องปรับเป็นเครื่องย่อยสลาย ที่เราได้ยินคำว่าสิกขา ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา
อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา อาตมาก็เลยมาเข้าใจตรงนี้ มันถลุง มันย่อย มันทำให้ชีวิตเบา ทำให้เกิดการอยู่กับสิ่งต่างๆ ก็ไม่เปรอะไม่เปื้อน
คือตั้งแต่แรกของการเห็นรูปเห็นนามก็มาเห็นความคิด ในการที่เราเห็นความคิดคือเราต้องมีจุดยืน เราต้องมีจุดที่จะมีเป็นจุดสังเกต เพื่อเราจะได้มีที่ตั้งมีที่อยู่ จากนั้นความคิดมันจะผุดขึ้นมาหรือมันจะไหลไปตามเส้นทาง เราจะก็จะได้มีจุดยืนอยู่ในที่ตั้ง แล้วเราก็จะมองดูความคิด
การที่เรามีจุดยืนแล้วมองเห็นความคิดอย่างนี้เรียกว่าอยู่นอก อยู่นอกความคิด ก็เลยกลายเป็นว่าเป็นผู้เห็นความคิด คือเป็นลักษณะที่ถอยออกมาหาที่ตั้ง แล้วความคิดก็เป็นเหมือนตัวที่มันผ่านมาโดยธรรมชาติ
เหมือนกับเรายืนอยู่บนริมฝั่ง น้ำไหลเรามีจุดยืนอยู่บนฝั่ง น้ำไหลมามันจะมีขยะจะมีกิ่งไม้หรือจะมีใบไม้หรืออะไรมันไหลมา เราก็เป็นผู้ดู แต่เราก็ไม่มาเปียกมาเปรอะเปื้อนหรือมาลงแช่อยู่ในน้ำไหลนั้น เราก็มีที่ตั้งมีที่ยืน แล้วก็เลยไม่ทำให้เราต้องลำบาก เพราะฉะนั้นการที่เราอยู่กับสติ ที่เราเห็นความคิด มันจะเป็นเหมือนเราถอยออกมานอกความคิด
เพราะฉะนั้นการเกิดปัญญาตรงนี้ จึงเป็นปัญญาที่มีจุดยืนหรือที่มีที่ตั้ง แล้วก็มองดูสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ อารมณ์นี้เป็นเหมือนเพื่อนกับความคิดมาด้วยกัน ความคิดเกิดอารมณ์ยินดียินร้ายก็เกิด หรือการปรุงแต่งเป็นสังขารก็เกิด อันนี้มันก็จะมาด้วยกัน แต่ทีนี้เรามีจุดยืนเรามีที่ตั้ง
แล้วเราก็จะมองดูสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบวกฝ่ายลบ ฝ่ายโลภะ ฝ่ายโทสะ ฝ่ายโมหะ ก็จะเป็นผู้ดู เห็นอาการที่เกิดขึ้น แต่เรามีที่ตั้ง ที่ตั้งที่ว่านี้ก็คือสติจากความรู้สึกตัว
แต่ความรู้สึกตัวก็มีการพัฒนาขึ้น จากรู้สึกที่เรากำหนดจากการเคลื่อนไหว จากการที่เรายกมือ เดินจงกรม สร้างจังหวะ หรือกำหนดรู้ในที่เราหาที่ที่จะเป็นที่อยู่ที่ตั้ง ต่อไปความรู้สึกตัวก็พัฒนาแปรสภาพไปเป็นการละเอียดขึ้น คือไปเป็นรู้ประจักษ์ในสิ่งที่เกิดขึ้น
แปรมาเป็นความรู้สึกตัว เช่นเห็นความคิด เห็นอารมณ์ เห็นอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราก็จะรู้ได้ว่าเป็นอย่างไร รูปร่างอย่างไร ซึ่งตอนนี้เราจะเรียกภาษาว่าเป็น “นามรูป” จากแรกๆ ที่เราเห็นเราเรียกว่า “รูปนาม” ต่อไปเราจะเห็นนามเป็นรูป เห็นอาการต่างๆ เป็นรูป ซึ่งเราก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข หรือนำมาเป็นปัญญาญาณ
ตัวปัญญาญาณนี้หมายถึง การที่เกิดความรู้เท่ารู้ทันรู้กันรู้แก้ ในสิ่งที่เป็นโลภะ โทสะ โมหะ หรือแม้แต่คำว่ากิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม เราจะต้องเห็นประจักษ์กับสิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นตามความเป็นจริง ท่านเรียกว่ายถาภูตญาณ คือการรู้เห็นธรรมชาติตามความเป็นจริง จนไปนำจนไปสู่การรู้ว่าอาสวะ
อาสวะแปลว่ายินดีในอารมณ์ ถ้าเราไปยินดีในอารมณ์ก็คือเป็นยางเหนียว เป็นเหมือนในภาษาที่เราเรียกว่า อุปทานคือยางเหนียว มันจะเหมือนแม่เหล็กดูดเข้าไปสู่ใจของเรา เป็นโลภะเป็นโทสะเป็นโมหะ ก็จะดูดเข้าไปปรุงแต่ง
การปรุงแต่งก็ทำให้จิตของเราแปรปรวน หรือจิตของเราข้องแวะ หรือถูกครอบงำด้วยฝ่ายของการปรุงแต่ง ให้เป็นอารมณ์ยินดียินร้าย ให้เป็นพอใจไม่พอใจ มันก็จะเกิดตัวที่เราเรียกว่าอาสวะ
คือการเห็นว่าไม่ควรยินดีในอารมณ์ คือเราไม่ไปตามแก้ที่ปลายเหตุ แต่ว่าก็เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมหรือสัปปายะ เพียงแต่เรามาแก้ที่ด้านใน มันจะเกิดตัวปัญญา เกิดมาแก้ที่ด้านใน เราจะเกิดความโกรธความหงุดหงิด อย่างนี้เราไม่ได้ไปแก้ที่ภายนอกหรือแก้ที่คนอื่น
แต่เรามาแก้ที่ใจ ตรงนี้มันต้องเกิดต้องมีตัวที่เขาเรียกว่า เกิดตัวที่จะเป็นเหมือนเป็นโปรแกรมเหมือนเป็นลักษณะที่เป็นสูตร ถ้าเกิดตรงนี้แล้วจะไปแก้ตรงนี้ มันเป็นสูตรเป็นโปรแกรมที่ธรรมชาติเขาบัญญัติไว้แล้ว เพียงแต่ว่าใครจะเข้าถึงหรือไม่เข้าถึง ใครจะไปรับรู้ตรงนั้นได้
แต่วิธีการของหลวงปู่เทียนคือ การเคลื่อนไหวแล้วรู้สึก การเคลื่อนไหวรู้สึก ทำให้เกิดการเข้าไปดูตรงนั้นได้ หรือเกิดการเห็นประจักษ์
พอเห็นพวกอาสวะเราก็จะไปเข้าใจคำว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา อธิแปลว่ายิ่ง หรือว่ายิ่งใหญ่ หรือว่ายิ่งยวด หรือว่ายิ่งยอด คือความเป็นพิเศษ อธิศีลแล้วก็มีคำว่าสิกขา สิกขาท่านแปลว่าถลุง
หลวงปู่เทียนท่านนำมาพูดว่า เจ้าคณะจังหวัดเลยเจ้าคุณสีหนาทภิกขุ ท่านแปลคำว่าสิกขาแปลว่าถลุง ถลุงก็เหมือนกับย่อย เช่นเราเอาแร่ที่เป็นก้อนหินเอาเข้าไปโรงงานที่ถลุงให้เป็นแร่เหล็กแร่ตะกั่วแร่สังกะสีออกมาให้เราใช้ มันถลุงมันเปลี่ยนแปลง เหมือนเราเอาเข้าไปโรงสี จากข้าวเปลือกมันถลุงเปลือกออกเป็นข้าวสาร เป็นลักษณะนั้น
เพราะฉะนั้นคำว่า อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา มันจึงถลุงสิ่งที่เข้ามาสู่ใจ จะเป็นโลภะโทสะโมหะ หรือจะเป็นรูปเสียงกลิ่นรสอะไรก็แล้วแต่ มันจะถลุงย่อยให้เป็นผู้ดู ไม่ได้ให้เข้าไปเป็นผู้เป็น ให้ออกจากที่มืด ออกจากความคิด ไม่ได้ไปถูกความคิดครอบงำ เป็นลักษณะที่มีตัวญาณเกิดขึ้น
ที่มันเป็นไปได้คือมันมีญาณเกิด ไม่ใช่เอาความคิด คิดจนแตกหัก คิดจนหลุดพ้นนี่ไม่ใช่ แต่มันต้องมีญาณเกิดขึ้น ตัวญาณตัวนี้เราเรียกว่าสติปัญญาญาณ ที่เป็นญาณหยั่งรู้ ญาณตัวนี้ท่านเรียกว่าญาณหยั่งเข้าไปรู้ อะไรเกิดขึ้นมันจะมีญาณตัวนี้หยั่งรู้ ท่านเรียกว่าเป็นผู้รู้ในกองสังขาร
ตรงนี้แหละก็จะเห็นว่าการเป็นอยู่การเกี่ยวข้อง ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ คือเราต้องกายมีวาจามีใจ ทีนี้การที่จะไปเกี่ยวข้องกับการกระทำ หรือการที่เราจะเกี่ยวข้องฝ่ายกุศลฝ่ายอกุศลด้วยกายด้วยวาจาด้วยใจ จะมีหลายระดับให้เราเลือกได้ ทำด้วยกาย หรือทำด้วยวาจา หรือทำด้วยใจ
บางทีใจคิดนึกทั้งที่ตาไม่เห็นก็มี ปรุงแต่งทั้งที่ความคิดนี้มันไปได้ไกล มันเอามาปรุงมาแต่งจนเป็นเรื่องว่า สังขารมันปรุงจนเป็นเรื่องเป็นรูปเป็นร่าง ทำให้รบกวนจิต บางทีใจไม่ได้คิดแต่การกระทบด้วยวัตถุด้วยกายด้วยตา หรือบางทีมันจะแยกกัน
ทีนี้เราจะไปมองออกว่า ถ้าไปเกี่ยวข้องอย่างนี้มันจะไปมีผลอย่างไร หรือว่าสิ่งไหนที่จะเป็นฝ่ายของการอยู่แบบปกติ หรือสิ่งไหนที่จะไปอยู่แบบเป็นลักษณะครอบงำ มันก็จะเป็นลักษณะที่เห็นอาการเกิดเห็นอาการดับ เรียกว่าเกิดแล้วก็ดับ
เป็นการกระทำที่เรียกว่า อยู่กับโลกหรืออยู่กับสิ่งแวดล้อม แต่ใจไม่เป็นทุกข์ มันจะมีหลายระดับหรือมีตัวกั้นให้เรา ซึ่งเราเรียกว่าเป็นญาณของปัญญา ฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมมันต้องมีที่รองรับ ที่เราได้ยินคำว่า จิตหลุดแล้วญาณย่อมมี มันต้องมีเหตุ มีปัจจัย มีที่ตั้ง เป็นลักษณะนั้น.