แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
การปฏิบัติช่วงนี้ก็เข้าสู่ฤดูฝน ฝนก็ตก กลางคืนก็ตก ฉะนั้นเรามีการปฏิบัติกันเก็บอารมณ์ได้ 7 วัน วันนี้เป็นวันออก ออกมาสู่ภาคปกติ คือภาคการเป็นอยู่ตามกิจวัตร กิจวัตรประจำวัน กิจวัตรในการเป็นอยู่แบบไปตามเหตุปัจจัย ตามสมมติ ตามปรมัตถ์
การปฏิบัติธรรมคือ การกลับมาที่ความรู้สึกตัว ตัวที่จะทำให้เราเกิดสมาธิ เกิดปัญญา คือต้องมีการกลับมาสัมผัสกับความรู้สึกตัว ไม่ว่าจะเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องกลับมาที่ตัวรู้สึก
คือกลับมาที่การสัมผัสรู้ ความรู้ตัว จะเป็นการตรงเป้าหมาย ตรงจุดหมายของการจะเกิดสมาธิ เกิดปัญญา ถ้าเราไม่มาตรงนี้มันก็จะเป็นลักษณะไม่ตรงจุดหมาย ก็ปฏิบัติแต่ว่าจะให้ตรงเป้าหมายที่เราถือว่าจะเป็นการ
ได้เพิ่มหรือได้เติม เหมือนกับว่าจะเป็นคะแนนขึ้น ถ้าเรามาตรงเป้าหมายจะมีคะแนนขึ้น แต่ถ้าไม่ตรงมันก็อาจจะได้แต่ไม่ได้ชัดเจนไม่ได้เพิ่มขึ้นอะไรมาก นิดๆ หน่อยๆ
เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรม มีจุดหมายอยู่ประการเดียวเท่านั้น คือกลับมาที่ความรู้สึก ถ้าใครกลับมาที่ความรู้ตัว สัมผัสความรู้ตัวได้ ได้เท่าที่ทำหรือเท่าที่เป็นลักษณะประจักษ์ หรือแจ้งแก่ใจ หรือสัมผัสรู้ด้วยตัวเอง มันจะเป็นลักษณะเกิดสมาธิ หรือเกิดปัญญา หรือจะทำให้การปฏิบัติก้าวหน้า
คำว่าก้าวหน้าคือ ก้าวไปสู่ความหายสงสัย ก้าวไปสู่ความเข้าใจ หรือจะเกิดเป็นสิ่งที่จะประกอบกันขึ้นหรือมากขึ้น เกิดเป็นสมาธิเกิดเป็นปัญญามากขึ้น ถ้ามันได้สัมผัสบ่อยๆ มันจะทำให้ไปสู่จิตใจโดยตรง เพราะว่าการปฏิบัติธรรมเป็นการปฏิบัติที่จิต จะเรียกว่าเป็นการบำเพ็ญเพียรทางจิต
เพราะฉะนั้นเราทำทุกอย่าง ทำทางกายในรูปแบบภายนอก แต่ในการกำหนดรู้หรือจุดหมายของการเคลื่อนไหวก็เพื่อให้ไปรู้ที่จิต คำว่ารู้ที่จิตคือรู้สึกตัว ก็คือรู้สึกตัว เรียกว่ารู้ที่จิต เป็นการที่เรียกว่าไม่ต้องลังเล ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องรีรอ ไม่ต้องไปวิตกกังวล
เรามีความชัดเจนในเรื่องนี้ มันจะพัฒนาการเป็นความถี่ หรือเป็นความต่อเนื่อง หรือทำให้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เห็นทางด้านจิตใจก็เกิดขึ้น ทางด้านอารมณ์ ทางด้านโลภะ โทสะ โมหะ หรือทางเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นลักษณะอาการที่มันเกิด หรือสิ่งที่มันเป็น เป็นการเกิดโดยธรรมชาติ
เพียงแต่ว่าถ้าเราไม่มีสติ หรือไม่ได้ไปตามหลักของสติปัฏฐาน บางทีมันเกิดแล้วใจเราไม่อยู่กับปัจจุบัน มันก็ไม่เจอไม่เห็นกัน หรือเป็นลักษณะไม่รู้ประจักษ์ไม่รู้แจ้งตอนสิ่งที่มันเกิด มันก็จะเป็นลักษณะที่ไม่ตรงประเด็นไม่ตรงจุดหมาย จุดหมายมันจะไปที่ตัวรู้สึก พอตัวรู้สึกตัวเกิดขึ้นบ่อยๆ แล้วก็จะเป็นลักษณะเห็นที่เกิดกับจิต เห็นอาการที่เกิดกับจิต มันต้องมีอาการ
ธรรมชาติของคนเรามันต้องมีครบนั่นแหละ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาก็ต้องมี สัญญาก็ต้องมี สังขารก็ต้องมี วิญญาณก็ต้องมี เพียงแต่ว่าเราจะดูเห็นหรือมีฐานมีที่ตั้งมีที่อยู่มั่นคงแค่ไหน ถ้าเรากำหนดรู้ รู้สึก รู้ตัว
ทำอะไรก็แล้วแต่ แล้วกลับมาที่ความรู้ตัว จะอยู่ในรูปแบบหรือนอกรูปแบบ จะอยู่ในที่เก็บอารมณ์หรือไม่เก็บอารมณ์ จะอยู่คนเดียวหรืออยู่หลายคนก็แล้วแต่ ถ้ากลับมาสัมผัสกับความรู้สึกตัวได้ เรียกว่ามี “ตาใน”
ตาในคือตาสติ ทั้งที่ตานอกเราก็ทำงานทำการไปตามสิ่งที่เราทำกำลังกระทำ แต่ตาในมันจะกลับมาดูใจ ดูตัวรู้สึก เขาเรียกว่าสร้างให้เกิดตาสติขึ้นมา จากการที่เราต้องกำหนดรู้อยู่ในรูปแบบ หรือมีลักษณะที่มีการเน้นในการที่จะมารู้ตัว เป็นลักษณะสร้างหาประสบการณ์
แต่ถ้าเราชำนาญขึ้น มันอาจจะรู้โดยเราไม่อยู่ในรูปแบบ เรากำลังทำงาน เรากำลังนั่ง เรากำลังยืน หรือกำลังทำกิจกรรมต่างๆ ก็แล้วแต่ แต่ตัวรู้ตัวหรือตัวสติมันจะกลับมาดูความรู้ตัวให้เรา เหมือนกับว่ามันก็ง่ายต่อการที่จะต่อ สานต่อหรือเพิ่มพูนอะไร เรียกว่าต่อติด ทำให้มันติดทำให้มันเชื่อมติดกับกายกับความรู้ตัวได้ ในการปฏิบัติก็เป็นอย่างนั้น
ทำไปจนว่าเกิดเหตุสิ่งต่างๆ พอเห็นแล้วเราก็จะได้ทักท้วงหรือประจักษ์แจ้ง เช่นเห็นความโกรธ เห็นความหงุดหงิด มันเกิดขึ้นแล้วเราก็เห็นขณะมันเกิด เกิดความวิตก เกิดความเศร้าหมอง เกิดความขุ่นมัว เกิดความดีใจ เกิดความเสียใจ เกิดพอใจแล้วก็เป็นอาการอย่างนี้ เกิดไม่พอใจก็เป็นอาการอย่างนี้ เกิดความหงุดหงิดก็เป็นอาการอย่างนี้ เกิดความลังเลก็เป็นอาการอย่างนี้
คือสิ่งที่เกิดขึ้นเราเห็นตามความเป็นจริง คือเกิดแล้วก็มีอาการเรียกว่า “เห็น” เป็นภาษาปฏิบัติก็เรียกว่า “นามรูป” แต่ก่อนเราเห็นรูปนาม ที่เป็นวัตถุก็เรียกว่ารูป ที่เป็นจิตใจเราเรียกว่านาม
ต่อไปเราจะเห็นเป็นลักษณะนามรูป คือรูปของอารมณ์ รูปของจิตใจ รูปของสภาวะอาการ มันเป็นรูป เป็นรูปเช่นความหงุดหงิดก็เป็นรูปแบบหงุดหงิด ความกังวลก็เป็นรูปแบบกังวล ความวิตก ความดีใจ ความเสียใจ ทำให้เรารู้ได้ว่าเป็นอย่างนี้เรียกว่ารูป เรียกว่าอาการ เรียกว่าพอใจ หรือว่าไม่พอใจ หรือโกรธ โลภ หลง มันเกิดขึ้น เราก็เห็นได้
คือความรู้ตัวนี้ต้องเป็นหลักอยู่เสมอ เหมือนกับว่าเป็นลักษณะให้สิ่งที่เราเห็นนั้นมันเป็นวรรคเป็นตอน มันเป็นขณะๆ มันไม่ได้เป็นลักษณะมัว เป็นลักษณะสับสน หรือเป็นลักษณะไม่ชัดเจน แต่ที่เราเห็นความรู้สึกตัวที่กายไปด้วย เพื่อปรับการเห็นในสิ่งที่เกิดตามจิตใจของเราให้มันชัดเจน
เมื่อมันชัดเจนแล้วก็เหมือนกับว่า อะไรเกิดก็ไม่ไปกับมัน เพราะว่ามีตัวไถ่ถอนหรือมีตัวตั้ง คือตัวรู้สึกนั่นแหละเป็นตัวไถ่ถอนหรือเป็นตัวเริ่มต้นใหม่ คือถ้าเราไม่ได้กลับมาที่ความรู้สึก อะไรเกิดเราก็จะไหลไป ปรุงไปแต่งไป ยินดียินร้าย หรือไปถึงกับเป็นวาจาเป็นการกระทำ เขาเรียกว่าไปสู่วิบากกรรม
หรือจากกิเลส ตัณหา อุปทาน กรรม ก็จะไปสู่การกระทำ ไปสู่การแสดงออก ไปสู่การพูด ไปสู่การแสดงออกทางกาย มันออกมาเป็นรูปที่มันแสดงภายใน เช่นคนเราโกรธอย่างนี้มันก็แสดงออกลักษณะอาการกายแบบโกรธ เช่นเราดีใจก็เป็นลักษณะแสดงออกทางกายแบบเราดีใจ ความหงุดหงิดความรำคาญความวิตกความเศร้าหมองมันก็แสดงออก
การที่เราเห็นได้อย่างนั้นเรียกว่าเกิดเป็นนามรูป หรือเกิดเป็นการเห็น เห็นด้วยจิต เห็นด้วยใจ มันก็จะถี่ขึ้นเหมือนกับว่าต่อเนื่องขึ้น เหมือนกับว่าศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ ขันธ์แปลว่าถี่ แปลว่าที่รองรับ หรือขันธ์แปลว่าหมวดหมู่กลุ่มก้อน เป็นลักษณะที่มีความเห็นสิ่งที่เกิดดับ สิ่งที่เป็นอุปทาน หรือสิ่งที่เป็นการกระทำได้อย่างต่อเนื่อง
หรือมีการรับรู้ตามความเป็นจริง เรียกว่ารู้ตามความเป็นจริงในสิ่งที่มันเกิดภายใน แต่เราก็ยังไม่ทิ้งฐานคือความรู้ตัว ความรู้ตัวนี้จะต้องไปกับกาย ไปกับกายอยู่เสมอ เขาเรียกว่าเป็นที่ตั้ง เหมือนเป็นหลัก เป็นหลักเป็นฐาน เป็นที่อยู่เป็นที่กลับ เป็นที่จะเป็นจุดเริ่มต้น
ฉะนั้นความรู้ตัวจึงเป็นการที่เราจะต้องสัมผัส หรือสร้างขึ้น หรือว่าประจักษ์รู้ มันง่ายตรงที่ว่าที่เราไปไหนเราสามารถสัมผัสความรู้ตัวได้ เราจะอยู่ในรูปแบบหรือนอกรูปแบบ เราจะไปไหนความรู้ตัวก็ติดตัวเราไปด้วย
แค่เรากำมือ เหยียดมือ กระดิกนิ้วมือ หรือเราลุก เราเดิน เรานั่ง เรานอน มันจะมีความรู้ตัวอยู่เสมอ เพียงแต่ว่าใจเราจะสงบหรือใจเราจะนิ่งพอที่จะเห็นสิ่งที่เกิด หรือเห็นอาการที่มันเกิดแค่ไหน
จิตเราได้เหมือนกับว่าได้หมวดหมู่ ได้ประจักษ์ หรือได้ประสบการณ์ หรือได้เคยดึงมันกลับมาที่กาย หรือกลับมาที่ใจบ่อยๆ เข้า มันก็จะเป็นเหมือนว่าความคุ้นเคย หรือการรับรู้ด้วยตาใน เรียกว่าด้วยใจ คืออาการพวกนี้มันต้องรู้ด้วยใจ จะเป็นการแยกกัน
ความคิดก็เป็นอีกอันหนึ่ง แต่ก่อนเราปนกัน บางทีเราคิดรู้ หรือบางทีเราคิดเห็น หรือบางทีเราก็รู้แต่ว่ามันไม่เป็นพอที่จะเป็นลักษณะให้อยู่เป็นปกติ บางทีมันไหล บางทีมันเกิดแล้วเราไม่เห็น การไม่เห็นคือการไม่อยู่ในโหมดของภาวนา
เพราะฉะนั้นในคำภาวนาว่า “ภาวิตา พหุลีกตา” คือการเห็นบ่อยๆ เห็นธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นๆ อย่างแจ่มแจ้งไม่ง่อนแง่นคอนแคลน เขาควรพอกพูนอาการเช่นนั้นไว้ คำว่าพอกพูนคือรู้ไปเรื่อยๆ
คำว่ารู้ไปเรื่อยๆ เป็นลักษณะมันไม่เต็ม มันไม่เหมือนหน่วยความจำ มันเติมเข้าไปมันก็อยู่ในนั้นแหละ มันเติมได้ตลอดเวลาตัวรู้สึก มันก็ดีตรงที่ว่ามันมีที่เก็บมันมีที่เติมให้เราได้เติม มันไม่เต็ม ไม่เหมือนการ์ดหรือเมมโมรี่ (Memory) แมมโมรี่ถ้าเราเติมมากๆ มันก็เต็ม
แต่ว่าจิตใจของเราสามารถเติมได้ เติมไปเรื่อยๆ มันก็จะไปแปรสภาพ บางทีเราเติมตัวรู้สึก ตัวรู้สึกตัวสติแปรสภาพไปเป็นญาณ ไปเป็นปัญญา ไปเป็นนามธรรม ไปเป็นการสัมผัสรู้ เรียกว่าเป็นลักษณะที่รองรับ เป็นลักษณะมีที่เก็บ มีที่ที่จะทำให้เกิดความแปรสภาพจากการ “รู้จัก รู้จำ” ต่อไปจะเป็นการ “รู้แจ้ง รู้จริง”
แปลสภาพจากการรู้แบบ “คิดเห็น” ต่อไปเราจะ “เห็นคิด” คือเห็นความคิด เป็นลักษณะอะไรเกิดขึ้น ก็เห็น แล้วก็เป็นลักษณะประจักษ์แจ้ง คือรู้ว่า รู้กับประจักษ์ คือไม่ถึงกับไปแยกแยะ หรือไปปรุงไปแต่ง ไปวิพากษ์วิจารณ์ แค่รู้แล้วก็ผ่าน รู้แล้วก็ผ่าน คือไม่ไปแยกแยะว่าอันนี้เป็นโลภะอันนี้เป็นโทสะ แต่ว่ารู้ว่า อ้อ..อาการเกิดเฉพาะหน้า แล้วก็ดูอาการต่างๆ ที่มันเกิด.