แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[01:05] เป้าหมายสูงสุดที่เรียกว่าจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนานั้นก็คือ การสิ้นทุกข์ ศาสนาพุทธนี่มีไว้ก็เพื่อทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ก็มีหลักธรรมในคำสอนที่เราได้ยินอยู่เสมอๆ ว่า “ให้ละความชั่ว ทำความดี แล้วก็ทำจิตทำใจให้อยู่เหนือดีเหนือชั่วโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น ถอนความยึดมั่นถือมั่นทั้งความชั่วและก็ความดี” จิตจึงจะหลุดพ้นออกมาจากความทุกข์เสียได้ หลักสำคัญในคำสอนนี้ก็คือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น นี่ถือว่าเป็นหัวใจในทางพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ ศาสนาพุทธนี่ถ้าเราศึกษาไปจริงๆ แล้ว จากการอ่านก็ดี การฟังก็ดี การคิดก็ดี หรือการลงมือกระทำเลยก็ดี ท่านจะสอนให้เรารู้จักคิดนะ สอนให้เรามีวิธีการคิดที่จะไม่ยึดมั่นถือมั่น คิดในทางที่จะปล่อยวาง คิดเพื่อที่จะทำจิตทำใจเรานี่ให้พ้นออกไปจากปัญหา พ้นไปจากปัญหาแม้แต่ในความคิดนี่เราก็สามารถที่จะนำเอามาใช้ประโยชน์ได้ เราจำเป็นต้องใช้ความคิดนะ ความคิดนี่ถือว่านำพาชีวิตเรานี่ออกจากปัญหาได้เหมือนกัน ในบางปัญหานี่ใช้แค่ความคิดจิตก็หลุดออกมาได้แล้ว บางปัญหานี่คิดเอาก็ไม่ได้ ก็ต้องมีตัวการปฏิบัติ อย่างเช่นว่า ถ้าเค้าจะสอนให้เรารู้จักคิดในขณะที่เรามีปัญหาชีวิต คนที่ไม่รู้จักธรรมะไม่เข้าใจธรรมะเวลาชีวิตมีปัญหาความคิดก็เริ่มต่อต้านแล้ว ต่อต้านปัญหาไม่รู้จักยอมรับ อย่างเช่นว่า โอ..เรานี่แย่เลย ไม่ไหวแล้วเราคงจะไม่ไหวแล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมๆ ทำไมหนอเราทำไมต้องเป็นอย่างนี้ คำถามแบบนี้หาคำตอบไม่ได้หรอก ถ้ามีแต่คำว่าทำไมหาคำตอบไม่ได้ โทษสิ่งโน้นโทษสิ่งนี้ โทษคนอื่น ทำให้เราต้องมีปัญหาเพราะคนอื่น เกิดความโกรธ จิตใจเป็นทุกข์เลย อันนี้เป็นการซ้ำเติมตัวเอง ปล่อยจิตปล่อยใจให้จมแช่อยู่กับปัญหา ไม่คิดหาทางออก ทุกข์ก็มากขึ้นแล้วปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไขด้วย นี่แม้แต่ในความคิดนะคิดไปในทางลบนี่ไม่มีประโยชน์อะไรหรอก
แต่ในขณะเดียวกันถ้าชีวิตมีปัญหาคนที่รู้จักธรรมะเข้าใจธรรมะนี่จะคิดไปในเชิงบวกนะ คิดไปทางบวกก่อน ไม่แย่ ไม่เป็นไร แทนที่จะคิดว่าไม่ไหวแล้วเรานี่ ก็คิดไปเสียว่า..ไม่เป็นไร คิดไปในทางบวกซะ ไม่เป็นไร..เรายังมีโอกาส ความทุกข์แบบนี้ปัญหาแบบนี้เดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป ปัญหานี่มันไม่แน่นอนหรอก นี่..มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราไม่ต้องเข้าไปเป็นปัญหาก็ได้ ปัญหาไม่มีตัวไม่มีตนหรอกนี่ คิดไปทางบวกไว้ก่อนนะ คิดไปทางที่ว่า..สัจธรรมของชีวิตมีอะไรบ้าง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เพียงคิดแค่นี้ใจเราก็เริ่มผ่อนคลายเบาสบายแล้ว เพียงแค่คิดไปทางบวกนี่ก็มีประโยชน์แล้ว เป็นการตั้งหลักจิตใจ ตั้งหลักใจเอาตัวรอดได้ แต่ว่ายังไม่รอดตัวนะ แค่เอาตัวรอดออกจากปัญหาได้ชั่วคราว แต่ยังไม่รอดออกจากตัวคือความเป็นตัวเป็นตนอยู่แม้แต่ในความคิด นี่..สำคัญนะ โดยเฉพาะนักปฏิบัติธรรม ผู้ฟังนี่ก็เป็นนักปฏิบัติธรรมนะ นี่ส่วนมากก็ชอบการปฏิบัติ นี่มาพูดมาคุยเรื่องการปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมนี่ก็สำคัญ เวลาที่จิตใจมีกิเลสความโลภความโกรธความหลง อันนี้ถือว่าเป็นคู่อริกับนักปฏิบัติธรรมนะ จะปฏิบัติเพื่อเอาชนะกิเลส พอเจอกิเลสแล้วนี่คือศัตรูต้องฆ่าต้องฟัน ต้องทำลาย ต่อต้าน เราต้องวางจิตวางใจให้ถูกต้องนะกิเลสนี่ ถ้ากิเลสเกิดขึ้นมา ความโลภความโกรธความหลง ถ้าเราไปคิดทำลายต่อต้าน จิตแบบนี้เป็นจิตที่ไม่ดีนะ มันก็คือกิเลสอย่างหนึ่ง เอากิเลสเพื่อที่จะไปฆ่ากิเลส แต่ผลออกมามันก็จะเหลือกิเลส ไม่มีประโยชน์อะไรเท่าเดิม ไปต่อต้านกิเลส จิตก็คือกิเลสนี่เอง แล้วถ้าเราไม่ต่อต้านล่ะ เราจะไปตามเหรอ ทำตามกิเลส เอ้า..ยิ่งแล้วใหญ่เลย ถ้าไปคิดทำตามกิเลสเมื่อไหร่ล่ะก็ ก็เป็นการสั่งสมกิเลสและกองทุกข์ ก็ไม่ถูกต้องทั้งนั้น จะไปต่อต้านจะไปทำลายหรือจะไปตาม..ติดตามกับกิเลสจิตมันก็มีกิเลสเหมือนกัน
[06:50] เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักวางจิตวางใจให้ถูกต้อง ให้เราคิดเสียว่า โอ..กิเลสนี่มันเรื่องธรรมดานะ เราเองนี่เป็นปุถุชนก็ย่อมมีกิเลสบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แค่รู้จักยอมรับ แต่ว่าไม่ใช่ยอมรับแล้วต้องยอมจำนนกับกิเลสนะ การยอมรับนี่เป็นการตั้งหลักจิตใจเสียก่อน ยอมรับด้วยการมีสติรู้เท่าทัน รู้เท่าทันกิเลสด้วยจิตใจที่สงบเย็น ยอมรับ โอ..กิเลสนี่ก็คือครูสอนธรรมะนะ กิเลสมันก็ไม่เที่ยงหรอก ดูเถอะกิเลสในจิตใจนี่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีใครมีกิเลสทั้งวันทั้งคืนหรอก มันเกิดดับๆ ในตัวมันเองก็มีความทุกข์เหมือนกัน มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่แท้จริงหรอก เราสังเกตดูดีๆ ด้วยสติ เวลาเกิดกิเลสขึ้นมา เกิดกิเลสปั๊บมีสติรู้ทันแล้วก็ยอมรับมันซะ ดูอยู่ห่างๆ กิเลสก็จะค่อยๆ จางคลายหมดกำลังไปเอง..เห็นมั้ย แล้วใจเราก็จะสงบเย็นมากยิ่งขึ้น ทำใจให้เป็นกลางๆ เวลาที่สัมผัสกับอารมณ์ต่างๆ จะปล่อยวางอารมณ์นั้นได้ง่าย แต่เราไปทำไม่ได้หรอก แค่เพียงมีสติรู้เท่าทัน รู้เท่าทันด้วยจิตใจที่เป็นปกติ อารมณ์ต่างๆ จะเป็นกิเลสก็ดีหรือที่ไม่ใช่กิเลสก็ดี มันก็จะค่อยจางคลายไป สำคัญนะ อุปมาเหมือนอย่างกับว่าสมัยนี้เราไม่ค่อยได้ใช้ขวานใช้ฟืนหรอกในการต้มน้ำ เราก็ใช้ไฟฟ้าเสียบปลั๊กเอา เมื่อเสียบปลั๊กถึงจุดๆ หนึ่งแล้วน้ำก็จะเดือดพล่าน..ร้อน แต่ถ้าเราจะให้กาน้ำที่มีน้ำร้อนนั้นเย็นลงนี่ เราเพียงแต่ถอดปลั๊กชักปลั๊กออก แล้วก็รอเวลาสักหน่อยน้ำจะค่อยๆ เย็นลงๆ นะ ความร้อนก็จะหมดไป กิเลสในจิตใจก็เหมือนกัน ถ้ามันเกิดขึ้นเรามีสติรู้เท่าทันเลย อ้อ..ยอมรับเนาะ กิเลสก็เป็นเรื่องธรรมดานะ ก็เป็นธรรมะอย่างหนึ่งเหมือนกัน แค่รู้แค่เห็นด้วยจิตใจที่เป็นปกติ เค้าก็จะจางคลายไป อันนี้เพียงแค่วิธีคิดเท่านั้น การวางจิตวางใจนี่ก็ช่วยได้ แต่อย่างไรก็ตามพุทธศาสนานี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สอนให้เราเชื่อฟังเท่านั้น ก็ยังสอนวิธีการคิดเพื่อให้ปล่อยวาง ก็ยังไม่เพียงพอ ท่านยังชี้ให้ทำคือแนะวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ออกไปเสียจากปัญหา ออกไปอย่างสิ้นเชิงเลย
ไม่เพียงแค่ความคิดอย่างเดียวหรอก ไม่ใช่เพียงแค่คิดเพื่อจะเอาตัวรอด แต่มีการปฏิบัติเพื่อรอดออกไปจากตัวเลยล่ะ ก็คือพ้นจากตัวตนไปเลย ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ฟังเพื่อให้ถอนความยึดมั่นถือมั่น คิดเพื่อให้ถอนความยึดมั่นถือมั่น ยังไม่เพียงพอ ต้องปฏิบัติ มีตัวปฏิบัติ มีวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ออกจากความยึดมั่นถือมั่นแบบสิ้นเชิงเลย เพื่อเป็นสัมมาทิฏฐิก็ได้ วิธีปฏิบัตินั้นก็ง่ายๆ เพียงแต่มาเฝ้าสังเกตดูตัวเรา ดูกายดูจิตของเราด้วยความรู้สึกตัว รู้สึกตัวลงไปที่ตัวเรานี่ คอยสังเกต รู้บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่รู้เดี๋ยวเดียวนะต้องรู้ให้ต่อเนื่องบ่อยๆ หลงไปก็รู้ เผลอไปก็รู้ ไม่ได้เผลอก็รู้ว่าเผลอ..อะไรอย่างนี้นะ รู้บ่อยๆ เนืองๆ นี่ รู้แบบใจเย็นๆ ไม่รีบร้อน นี่เป็นความเพียรนะ รู้เรื่อยๆ อย่างนี้แหละ สังเกตดูตัวเราบ่อยๆ ด้วยใจเย็นๆ พอใจในสิ่งที่เรากระทำอยู่ แล้วก็พอใจในผลที่เกิดขึ้น จิตก็จะเริ่มผ่อนคลาย แล้วเราจะเห็นว่าทำไปนานๆ นี่ เรารู้เฉยๆ ไปนานๆ นี้ภาวะหนึ่งที่จะเกิดขึ้นมาในจิตใจเราก็คือ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความไม่มีทุกข์นี่ซึ่งมีอยู่แล้วในคนทุกคนนี่ก็จะปรากฏสภาวะนี้ในจิตใจขึ้นมาทันทีเลย..ใช่มั้ย เค้ามีอยู่แล้ว ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความไม่มีทุกข์นี่เค้ามีอยู่แล้วในจิตใจเรา เพียงแต่ว่าภาวะอย่างนี้ไม่มีโอกาสที่จะปรากฏตัวขึ้นมา เพราะว่าการปรุงแต่งในจิตใจของเรานี่เค้าบังความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความไม่มีทุกข์ซะหมดเลย เพราะการปรุงแต่งนี่แหละ อาจจะปรุงไปทางดีหรือไม่ดีนี่ มันก็เป็นการบังจิตบังใจให้เศร้าหมองได้เหมือนกัน แต่เนื่องจากว่าการปรุงแต่งนี่เราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาได้ เราห้ามไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร เพียงแค่เราเติมความรู้สึกตัวลงไปในจิตใจของเรา เมื่อมีความรู้สึกตัวนี่ความปรุงแต่งเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราขาดความรู้สึกตัวความปรุงแต่งก็จะเกิดขึ้นทันทีเลย ธรรมะสองด้านนี้จะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ถ้ามีความรู้สึกตัวการปรุงแต่งก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้ามีการปรุงแต่งความรู้สึกตัวก็จะไม่เกิดขึ้น สองอย่างนี่เหมือนกับความมืดกับความสว่าง ถ้ามีความมืดความสว่างก็ไม่มี ถ้ามีความสว่างความมืดก็หายไป
[12:58] แล้ววิธีการปฏิบัตินี่ง่ายๆ เพียงแค่เติมความรู้สึกตัวลงไปที่เนื้อที่ตัวของเรานี่ ที่กายที่จิตเรานี่ รู้สึกเฉยๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ นะ จิตก็จะเป็นปกติ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความสิ้นทุกข์ก็จะเกิดขึ้นในจิตใจเราทันทีเลย ปรากฏตัวเราขึ้นมาเลย เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจในส่วนนี้ คือต้องมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิคือมีความเห็นถูกต้อง แล้วการพูดจาก็จะถูกต้อง การปฏิบัติก็จะถูกต้อง ผลที่ออกมานี่ก็ถูกต้องคือไม่มีทุกข์ ถ้าไม่มีทุกข์นี่ถูกต้องเลย ถ้ายังมีความทุกข์อยู่นี่แสดงว่าจะต้องคิดไม่ถูกต้อง มีความเห็นไม่ถูกต้อง พูดจาคงจะไม่ถูกต้อง การกระทำไม่ถูกต้อง ผลที่ออกมานี่จึงไม่ถูกต้องคือเป็นความทุกข์นี่ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีสัมมาทิฏฐิ มีความเข้าใจถูกต้องแล้วการพูดก็ดี การกระทำก็ดี ผลจากการกระทำก็ดี ก็จะถูกต้อง และผลสุดท้ายการใช้ชีวิตนี่ก็พลอยถูกต้องคือ ไม่มีทุกข์ไปด้วย.