แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
สันดานจิต ชอบเวียน เปลี่ยนเสมอ
มันเฝ้าเพ้อ หาใหม่ ใฝ่กระสัน
จะเปลี่ยนรส เปลี่ยนที่ เปลี่ยนสิ่งอัน
แวดล้อมมัน เปลี่ยนเวลา เปลี่ยนอารมณ์
รสของความ เปลี่ยนแปลง แฝงเจืออยู่
จึงได้ดู เป็นรส ที่เหมาะสม
เป็นรสแห่ง อนิจจัง ช่างลับลม
ไม่รู้ถึง จึ่งงม ว่าเลิศดี ฯ
ท่านพุทธทาสภิกขุ
[01:15] หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่เราไม่ควรจะมองข้าม และก็ควรศึกษาเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ชัดเจนก็คือ หลักของกรรม ถือว่าสำคัญมาก ถ้าเราทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม เราก็ต้องได้รับผลของกรรมอันนั้นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันนี้ถือว่าเป็นกฎแห่งกรรม ก็เป็นกฎของธรรมชาติก็ได้ กฎหมายเราสามารถที่จะแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงได้ แต่กฎแห่งกรรมนี่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ กฎหมายเราอาจจะหนีพ้น แต่กฎแห่งกรรมนี่เราหนีไม่พ้นหรอก เพราะฉะนั้น เราอย่าไปเชื่อคนอื่นว่า คนโน้นคนนี้จะแก้กรรมให้กับเราได้ เราทำกรรมอะไรไว้นี่มันต้องแก้ด้วยตัวของเราเอง คนอื่นแก้ให้เราไม่ได้หรอก กรรมใครกรรมเขา ต้องแก้ไขเอาเอง สมมติว่าในอดีตนี่เราเคยกระทำกรรมที่ไม่ดีกับใครไว้ หรือใครก็ตามเคยทำกรรมไม่ดีกับเราไว้ เราทำให้เขาหรือเขาทำให้เรา ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี นั่นในอดีต แต่ในปัจจุบันนี่ถ้าเราคิดขึ้นมาได้ เราพอมีความคิดถึงเรื่องกรรมไม่ดีในอดีตขึ้นมานี่ จิตใจเราก็จะเศร้าหมองทันทีเลย จิตใจเศร้าหมอง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ใจเป็นทุกข์ เลยพลอยให้ร่างกายเป็นทุกข์ไปด้วย ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจเลย เราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากกรรมนี้ได้ ท่านผู้ฟังอาจจะเคยเป็นอย่างนี้บ้างมั้ย อาจจะเคยนะ คิดถึงกรรมไม่ดีแล้วรู้สึกเศร้าหมอง ทำยังไงจะพ้นกรรมอันนี้ อันนี้เป็นคำถามนะ แต่ก็มีคำตอบที่น่าสนใจก็คือ ไม่ว่าเราจะทำกรรมหนักสักปานใดก็ตาม แล้วต้องเป็นไปตามกรรมอย่างนี้แล้วนี่ มันก็ยังมีทางออก มีทางที่จะปฏิบัติให้ออกจากกรรมนี้ได้ ให้พ้นกรรมได้
[03:37] พระพุทธองค์ท่านทรงตรัสไว้ว่า .. ผู้ใดก็ตามถ้าอาศัยเราเป็นกัลยาณมิตร แล้วก็นำเอาหลักธรรมคำสอนไปศึกษาและก็ปฏิบัติตาม ก็จะสามารถพ้นจากกรรมเหล่านี้ได้ .. นี่เรายังมีทางออกนะ จะต้องอาศัยพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร คือเป็นครูบาอาจารย์ แล้วก็นำเอาวิธีการปฏิบัติที่ท่านแนะนำไว้นี่เอามาปฏิบัติให้มีขึ้นในตัวเรา เราก็สามารถที่จะพ้นจากกรรมเหล่านั้นได้ เนี่ย..เรายังมีทางออกนะ อย่ามัวแต่ว่า เอ้อ..เราต้องเป็นไปตามกรรมเนาะ แล้วก็ร้องไห้ฮือๆ นี่อย่าไปคิดอย่างนั้นเรายังมีทางออก มีทางแก้ไข อย่างเช่นว่ากรรมใดก็ตาม ความชั่วความผิดใดก็ตาม ที่เราเคยทำเอาไว้แล้วในอดีตนี่ ถ้าเราสำนึกผิดรู้จักยอมรับ แล้วเราก็ไม่ทำกรรมอันนั้นความผิดอันนั้นซ้ำลงไปอีก คือไม่ทำกรรมเพิ่ม แล้วก็ไม่ยินดีพอใจในกรรมไม่ดีที่เราทำเอาไว้ ไม่พอใจ ไม่ยินดี มันจะได้ไม่สั่งสมกรรมใหม่ไง ไม่สั่งสมกรรมไม่ดีเอาไว้ ถ้าเราไปพอใจยินดีในสิ่งที่เราทำไม่ดีนี่ โอ้..จะเป็นการสั่งสมกรรมเอาไว้นะ เราก็จะเป็นทุกข์เลย แต่ในขณะเดียวกันนี่ เราต้องสร้างกรรมดี ทำความดีให้มากๆ เป็นการทดแทน ทำความดีให้มากเข้าไว้ เมื่อความดีมันมากขึ้น กรรมดีมากขึ้นนี่ บางทีกรรมชั่วที่เราทำไปแล้วนี่ บางทีเค้าตามไม่ทัน บางทีอาจจะไม่มีโอกาสส่งผลเลยก็ได้ เรียกว่าอโหสิกรรมไปเลย อุปมาเหมือนอย่างกับว่า เรามีเกลืออยู่ในโอ่ง เรามีน้ำเกลือซึ่งมันเค็มมากเลยในโอ่ง แต่ว่ามันมีแค่ติดก้นโอ่งเท่านั้นนะ ถ้าเราเอาน้ำจืดๆ ที่ไม่มีรสเค็มนี่ใส่เข้าไปมากๆ มากๆ น้ำในโอ่งที่มันล้นโอ่งที่มีเพียงน้ำเค็มเพียงน้อยๆ แล้วก็มีน้ำที่จืดๆ เยอะๆ นี่ น้ำเค็มหรือเกลือก็จะทำให้น้ำนั้นเค็มไปไม่ได้หรอก เพราะน้ำจืดมันมีมากกว่า..ใช่มั้ย น้ำเค็มเปรียบเสมือนกรรมชั่ว น้ำจืดเปรียบเสมือนกรรมดีนะ ใส่เข้าไปมากๆ คือทำความดีนะ เพื่ออะไร เพื่อผลักดันความชั่วออกไป มันก็ยังมีโอกาสที่จะลบเลือนไปได้ ไม่ลบล้างนะ แต่ลบเลือนทำให้ความชั่วนี่ไม่มีโอกาสที่จะส่งผล
และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งใดที่เราทำไปแล้วซึ่งเป็นความผิด เราก็อย่าเอาสิ่งนั้นน่ะมาครุ่นคิดจนนอนไม่หลับ จนเป็นทุกข์ อย่าเก็บเอามาคิด มันเป็นเรื่องอดีตไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องปัจจุบัน ปัจจุบันนี่เราก็ไม่ได้ทำอย่างนั้นนะ เราเป็นเพียงแค่คนเคยทำความผิดเท่านั้น แต่ปัจจุบันนี่เราไม่ได้ทำความผิด เราสำนึกได้แล้ว เราทำความดีแล้วนะ เพราะว่าทุกครั้งที่เกิดความคิดขึ้นมานี่ ถ้าเจตนาคิดมันก็เป็นกรรมน่ะ เค้าเรียก มโนกรรม เจตนาคิดมันก็เป็นกรรม กรรมส่งผลทันทีเหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งใจคิด ไม่เจตนาคิด จะเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้นมา ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นว่า อ๋อ..ไอ้ความคิดนี้เป็นเรา เราเป็นผู้คิด ความคิดนี่เป็นตัวเป็นตนของเรานี่ โอ้..เกิดความยึดมั่นถือมั่นในความคิดนั้นว่าเป็นเรานี่ เราก็ต้องรับผลกรรมทันทีเหมือนกัน ความคิดก็ดี ความยึดมั่นถือมั่นก็ดี เจตนาก็ดี อันนี้ถือว่าทำให้เกิดกรรมได้ อันที่จริงแล้วนี่ความคิดหรือการปรุงแต่งต่างๆ มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนหรอก เป็นเพียงนามธรรม เป็นเพียงอาการของจิตทั้งนั้นแหล่ะ เราอย่าได้ไปยึดมั่นถือมั่นมันเลย ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นเมื่อไหร่ล่ะก็ มันก็จะกระโจนกัดใจเราเมื่อนั้น..ใช่มั้ย เราก็จะเป็นทุกข์ทันทีเลย กรรมก็ส่งผลทันที อันนี้กรรมทางจิตนะ เป็นทุกข์ทันทีเลย
แม้แต่ร่างกายเราเช่นเดียวกันนะ อย่างเช่นว่าเราเป็นทุกข์ว่าร่างกายเรามีโรคภัยไข้เจ็บ เจ็บไข้ได้ป่วยเรื้อรัง มีความพิการถาวร โอ๋..เป็นทุกข์เพราะร่างกาย อันนี้เกิดจากว่าเราขาดสติปัญญา ไปยึดมั่นถือมั่นว่า อ้อ..กายนี่เป็นเรา เป็นตัวเป็นตนของเรานี่ เราก็เป็นทุกข์ทันทีนะ เพราะว่า โอ๋..เราเป็นผู้มีโรคภัยไข้เจ็บ เราเป็นผู้พิการ..ใช่มั้ย ออกจากความทุกข์ไม่ได้เพราะความยึดมั่นถือมั่น แต่ถ้าเรามีสติปัญญาซะหน่อย อ๋อ..นี่ร่างกายเราเป็นเพียงรูป เป็นเพียงขันธ์ เป็นรูปขันธ์ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาหรอก เป็นเพียงแค่รูป เราเห็นแค่นี้แล้วนี่แม้แต่สิวเม็ดเดียวที่เกิดขึ้นที่ใบหน้า อ๋อ..นี่มันเป็นเพียงแค่เรื่องของรูป เรื่องของกาย ไม่ใช่เรื่องของเรา ความพิการก็ดี โรคภัยไข้เจ็บที่เบียดเบียนเราก็ดี สิวหนึ่งเม็ดในใบหน้าของเราก็ดีนี่ มันก็มีค่าเท่ากันแหล่ะ คือเป็นเรื่องของกาย ไม่ใช่เรื่องของเรา..ใช่มั้ย เรารู้เท่าทันแล้วเราไม่ยึดมั่นถือมั่น เราก็ปล่อยวาง กรรมทางกายมันก็หมดไปได้เหมือนกันนะ คือหมดได้เพราะอะไร เพราะจิตเราไม่ยึดมั่นถือมั่น กายก็เป็นไปตามเรื่องของกาย จิตเราไม่ยึดมั่นถือมั่น วิบากของกาย กรรมของกาย ก็เป็นอย่างนั้นแหล่ะ แต่ว่าไม่มีผลในทางจิต คือจิตใจเราไม่มีความทุกข์ เพราะใจเราไม่ยึดมั่นถือมั่น แล้วก็พ้นจากกรรมไปได้ แค่มีสติรู้นี่มันก็หลุดแล้วนะ หลุดออกมาจากกรรมนี่..เห็นมั้ย
[09:10] รู้นี่คืออะไร คือ รู้สึกตัว แค่รู้มันก็หลุด พ้นออกมาจากกรรมทั้งหลายทั้งปวง นี่แหล่ะเป็นหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนาซึ่งเรานำมาปฏิบัติ โดยอาศัยพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะทำในปัจจุบันนี้ก็คือ สิ่งที่ผ่านไปแล้วขอให้มันผ่านไป เราเคยทำกรรมใดไว้กับใครก็ตาม หรือใครทำกรรมกับเราไว้ก็ตาม จงลืมซะ จงให้อภัยเค้า จงให้อภัยตัวเรา เพราะในปัจจุบันนี้มันไม่ใช่เช่นนั้นแล้ว แล้วก็มาสร้างกรรมใหม่ซึ่งเป็นกุศลกรรม ซึ่งเป็นกรรมดี เป็นกรรมเหนือกรรมด้วย คือนำเอาหลักธรรมคำสอนในทางพุทธศาสนามาปฏิบัติ คือการเจริญสติ เจริญสติทำความรู้สึกตัว ให้รู้สึกตัว รู้กายรู้ใจในปัจจุบันนี่ ให้รู้ความจริง ให้เห็นแจ้งประจักษ์แก่ความจริง เมื่อมีความรู้สึกตัวแล้วมันจะเกิดปัญญา เห็นว่า อ๋อ..[10:13]กายใจนี่มันไม่ใช่ตัวเราของเราหรอก มันเป็นเพียงแค่ก้อนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ไม่ใช่ตัวตนของเราเลย ถ้าเราสามารถปล่อยวางความยึดติดยึดมั่นในตัวตนเสียได้ ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งล่ะก็ เราจะพ้นจากกรรมทั้งปวงเลยนะ พระพุทธเจ้าเป็นหลักประกัน เพราะฉะนั้นคำถามที่มักจะถามว่า [10:40]ทำอย่างไรเราจึงจะพ้นกรรม ก็จะขอตอบแบบลัดๆ สั้นๆ เป็นตัวปฏิบัติว่า .. ก็ทำความรู้สึกตัวไง .. อันนี้ทำให้เราพ้นกรรม เป็นคำตอบสุดท้าย.