แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:57] ชีวิตนี่ใครก็มีได้ แต่ถ้ามีชีวานี่มันต้องมีความสุข ชีวิตต้องมีความสุข อย่างพวกเพื่อนร่วมทุกข์หรือญาติธรรมก็มาด้วยกันหลายแห่ง หลายที่ หลายอาชีพ บางคนก็มีอาชีพเป็นคุณหมอคุณพยาบาล อาชีพผู้ดูแล บางคนก็อาชีพผู้ป่วยไข้ ทุกคนนี่ไม่ว่าจะต่างกันด้วยเพศวัย หรืออาชีพ หรือสถานที่ แต่เรามีสิ่งๆ หนึ่งที่เหมือนกัน เท่าเทียมกัน ไม่มีใครเหนือกว่าใครหรือด้อยกว่าใคร รู้มั้ยคืออะไร คือความเป็นธรรมดาไง ความเป็นธรรมดานี่เท่าเทียมกันทุกๆ คน จะเป็นพระ เป็นโยม เป็นคนป่วยไข้ เป็นคนพิการ มีความเป็นธรรมดา เท่าเทียมกันหมดเลย
ใครรู้มั้ย .. ว่าความเป็นธรรมดานี่คืออะไร ความเป็นธรรมดาที่เรามักจะสวดบ่อยๆ เรียกว่า อภิณหะปัจจะเวกขณะ เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้, เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้, เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้, เรามีกรรมเป็นของๆ ตน ทำกรรมไว้ก็ต้องได้รับผลแห่งกรรมนั่น, เรามีความพลัดพรากเป็นธรรมดา เห็นมั้ย ๕ อย่างนี่ทุกคนมีเท่าเทียมกันหมด บางคนก็ได้ประสบแล้ว บางคนก็กำลังประสบอยู่ ทั้งผู้พูดทั้งผู้ฟังเหมือนกันหมดเลย อันนี้มันเป็นสัจธรรมของชีวิต นี่พูดเรื่องจริง เป็นสัจธรรมของชีวิตที่มีอยู่ในคนทุกคน เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ในตัวเราทั้งนั้น ในกายในใจเรา
กายกับใจนี่เป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์ ทุกๆ คนเสมอกันหมด ถ้าเราสามารถปล่อยวางกายปล่อยวางใจเสียได้ล่ะก็ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ใจจะไม่เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป” นี่เราเกิดมาเป็นคนนี่มันต้องเป็นทุกข์ แต่ .. วิธีปล่อยวางนั้นก็คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นกายใจว่าเป็นเราเมื่อไหร่ล่ะก็ แม้ว่าทุกข์ทางกายจะหนักรุนแรงแค่ไหนก็ตาม แต่ใจก็ย่อมไม่เป็นทุกข์เลย
วิธีการออกมีนะ ออกจากความทุกข์มีทั้งนั้นเลย คือไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราซะ ทุกขเวทนารุนแรงแค่ไหนใจจะไม่เป็นทุกข์ เมื่อจิตไม่เป็นทุกข์แล้วนี่ก็จะมีความสุขเข้ามาแทนที่ อันนี้สำคัญมาก เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าใครทำความเข้าใจ แล้วก็ศึกษาเรียนรู้ถึงเรื่องชีวิตเรื่องกายเรื่องใจเมื่อไหร่ล่ะก็ เราจะรู้จักยอมรับ ถ้าเราทำความเข้าใจและก็ยอมรับ และก็คิดแก้ไข แค่เรายอมรับแค่นี้ ใจก็จะผ่อนคลายแล้วนะ ที่เราเป็นทุกข์ทุกวันนี้เป็นเพราะเรายังไม่ยอมรับ ถ้ายอมรับแล้วใจจะผ่อนคลาย ... ความทุกข์ก็จะเจือจางลงไป แต่ยอมรับอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เราต้องหาทางแก้ไขด้วย เมื่อป่วยไข้ซึ่งเราสามารถมองเห็นได้ชัดจากตัวเรา สิ่งที่พูดวันนี้ขอให้เราดูที่ตัวเรา มันมีในตัวเราทั้งนั้นแหล่ะ ทั้งความสุขทั้งความทุกข์ เมื่อเราป่วยไข้เราก็ต้องทำหน้าที่รักษา ต้องแก้ไขไปตามอาการ เป็นเรื่องธรรมดา ความป่วยทางด้านร่างกายนั้นเราก็ยกให้กับคุณหมอให้ช่วยเหลือเรา หมอ ยา ต้องพึ่งหมอพึ่งยา นี่คือด้านร่างกายนะ เพราะคุณหมอท่านเรียนมาเยอะเรียนมามาก มีประสบการณ์ มีความรู้ แนะนำได้ในส่วนของร่างกาย แต่จิตใจนั้นเราต้องช่วยตัวเรา ไม่มีใครช่วยใจเราได้หรอก เราต้องช่วยใจเรา ต้องช่วยใจเรา ร่างกายก็รักษากันไปตามอาการ แต่ใจนี่เราต้องรู้จักวางจิตวางใจให้ถูกในการรักษา วางใจในผลของการรักษา เราต้องวางใจไว้เป็นกลางๆ มันหายก็ดี มันไม่หายก็ไม่เป็นไร หายก็เอา ไม่หายก็เอา หมายถึงการรักษานะผลน่ะ คือต้องยอมรับทั้งสองด้าน แล้วใจจะไม่เป็นทุกข์หรอก หายก็ได้ไม่หายก็ไม่เป็นไร ใจเราต้องทำอย่างนี้ต้องรักษาอย่างนี้ แล้วมันก็จะค่อยๆ ผ่อนคลาย แต่ถ้าเราหวังว่ามันต้องหาย สร้างความหวังไว้มากเกินไป แต่ถ้าไม่หายขึ้นนี่เราจะเป็นทุกข์เลย อยู่ที่การกระทำ เหตุปัจจัยถึงพร้อมนี่ทุกอย่างก็ลงตัวได้ อันนี้รักษาไปเถอะร่างกายและก็ใจอย่าลืม รักษาใจด้วย ต้องทำใจเป็นกลางๆ เข้าไว้ ช่วยเหลือใจเรา แต่อย่างไรก็ตามการจะรักษาตัวเองรักษาใจไม่ให้เป็นทุกข์นี่ ผมมีวิธีหนึ่งที่จะแนะนำก็คือการปฏิบัติธรรมนี่ การปฏิบัติธรรมะ จะเรียกว่าเป็นยาที่ถูกกับโรค โรคแบบนี้ โรคความทุกข์ แต่ที่พูดนี่ไม่ได้พูดกับเฉพาะคนใดคนหนึ่งนะ พูดกับทุกๆ คนที่กำลังฟังอยู่ โรคของความทุกข์ต้องรักษาด้วยยาคือธรรมะโอสถ อันนี้น่ะเป็นยาที่มันทันกับโรค แล้วหายขาดเลยนะ ธรรมะโอสถ ขนานเอกคือ การปฏิบัติธรรม
การปฏิบัติธรรมนี่เราอย่ามองว่าต้องไปวัด จะต้องบวช จะต้องทิ้งบ้านทิ้งเรือนไปไหน ไม่ต้องหรอก อยู่ในโรงพยาบาลก็ปฏิบัติได้ อยู่บ้านก็ทำได้ อยู่ที่ไหนๆ ก็ทำได้การปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร เพื่อให้มารู้จักตัวเรา ให้รู้ความจริงของตัวเรา ถ้ารู้ความจริงของตัวเราเมื่อไหร่ล่ะก็ทุกข์จะไม่เกิดเลย ตอนนี้เราอาจจะรู้ แต่แค่รู้จำรู้จัก รู้จากที่คนอื่นบอกว่าตัวเราเป็นอย่างไรใช่มั้ย เรายังไม่เห็นแจ้งยังไม่เห็นจริง จะเห็นจริงได้นั้นจะต้องมีการฝึกตัวเรา โดยการฝึกเจริญสติ ฝึกสติให้มาดูตัวเรา ดูกายดูใจของเรา ถ้ามีสติรู้จักตัวเราล่ะก็ นี่เป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว อย่างตอนนี้ถ้าเรามีความรู้สึกตัวว่าเรากำลังนั่งอยู่ รู้สึกตัวว่าเรากำลังนั่ง ... รู้มั้ย? อ้านี่ .. ปฏิบัติธรรมแล้ว ตอนนี้ใจไม่มีอะไรแล้ว ใจยังไม่ทุกข์ไม่เครียดหรอก เรากำลังรู้ตัวอยู่ว่ากำลังนั่งกำลังฟังนะ แต่ถ้าใจเราคิดปรุงแต่งละก็เดี๋ยวทุกข์มาแล้ว รู้สึกตัวว่าเรากำลังนั่ง นี่เริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม นี่การเจริญสติแล้ว เรายืนเราก็รู้ตัวว่าเรายืน เดินก็รู้ว่าเรากำลังเดิน จะทำอะไรก็ตาม จะดื่มน้ำ ทานข้าว ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ก็เรารู้สึกตัวอยู่นี่ อันนี้เป็นการปฏิบัติธรรม ทำได้ทุกที่เลยมั้ย ให้มีปัจจุบันอยู่กับตัวเรานี่ สตินี่เค้าทำหน้าที่ระลึกรู้ ไม่ปล่อยให้จิตใจมันเลื่อนลอยไปปรุงแต่งไปฟุ้งซ่าน ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันอยู่กับการฟังนี่ คิดไม่เกินศาลานี่ทุกข์จะไม่เกิดหรอก แต่ถ้าความคิดแลบออกไปนอกศาลาละก็ ไม่มั่นใจนะ ทุกข์อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าอยู่กับการฟังนี่ทุกข์ไม่เกิดตอนนี้ ปัจจุบันนี้
อยู่กับปัจจุบันด้วยความรู้สึกตัว อยู่ที่การนั่งของเรานี่ อยู่ที่การฟังนี่ ใจมันจะเริ่มสบาย เพราะเรามีความรู้สึกตัวเมื่อไหร่ละก็ มันจะมีสมาธิ จิตจะตั้งมั่น ถ้ามีสมาธิละก็มันทำให้จิตใจได้ผ่อนคลาย จิตใจจะผ่อนคลายมันไม่เครียด สุขภาพจิตดีตรงนี้ ตรงมีสติทำให้เกิดสมาธินี่แหล่ะ สุขภาพจิตจะดี ถ้าเราตามรู้จักรู้ตัวเราเรื่อยๆ นี่ มันจะเริ่มเข้าใจเรื่องของตัวเรา เรื่องของกายเราโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอก ไม่ต้องมีใครมาถามว่าวันนี้เป็นอย่างไร อาการเป็นอย่างไร คุณหมอต้องมาถามเรา แสดงว่าเราต้องรู้ตัวเราก่อน เรื่องของกายนี่ถ้ารู้บ่อยๆ ดูบ่อยๆ นี่ ร่างกายเค้าจะบอกความจริงนะ เค้าจะบอกความจริงในตัวเราว่าเป็นอย่างไร เรื่องของกายนี่มีอะไรเกิดขึ้นรู้มั้ย อย่างตอนนี้เรานั่งอยู่นี่ รู้สึกอะไรขึ้นมาบ้างในกายเรา เมื่อยมั้ย เมื่อยนี่เป็นทุกข์หรือเป็นสุข ทุกข์แล้ว ทุกข์ของใคร ทุกข์ของกายหรือทุกข์ของเรา อย่าขี้ตู่นะ นี่มันทุกข์ของร่างกาย ตอนนี้เรากลายเป็นผู้ดูกายนะ เราเปลี่ยนเป็นผู้ดูแล้วนะ ไม่ใช่ผู้เข้าไปเป็น เพราะเรารู้ตัวว่ากำลังนั่ง การนั่งเป็นเพียงสิ่งหนึ่ง แต่การรู้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ใช่มั้ย โอ้..นี่แยกรูปแยกนามนะนี่ ธรรมะชั้นสูงเลยนะ รู้ตัวว่ากำลังนั่ง อ้อ..นี่ทุกข์ นี่ทุกข์ของกาย ใจไม่ต้องเป็นทุกข์ นี่เริ่มต้นจากพื้นฐานเลย แต่ก่อนเราไม่มีสติ เราไม่มีความรู้สึกตัว พอร่างกายปวดใจเราก็ปวด ใช่มั้ย ปวดทั้งกายปวดทั้งใจ มันก็ไม่มีชีวิตอยู่แล้วตอนนี้ ทุกข์หมดเลย หมดเนื้อหมดตัวไปกับความทุกข์ แต่ถ้าเราระลึกรู้ว่า อ๋อ... นี่กายเป็นทุกข์ เห็นกายเป็นทุกข์ แต่ไม่ได้เข้าไปเป็นผู้ทุกข์ จิตมันก็หลุดออกมาขณะหนึ่ง
ถ้าเราตามดูตามเห็นบ่อยๆ นี่ กายน่ะจะไม่ใช่ของเรานะ เป็นเพียงแค่เครื่องอาศัย เป็นเพียงแค่สิ่งที่อาศัยระลึกรู้เท่านั้น ร่างกายนี่ถ้าดูไปนานๆ แล้วมันไม่มีความสุขหรอก ไหนร่างกายใครเป็นสุขบ้าง สุขทุกข์นี่กายบอกไม่ได้ แต่จิตผู้รู้นี่เค้าบอกได้ กายคือเครื่องอาศัยใช่มั้ย แยกจิตผู้รู้ส่วนหนึ่ง กายที่ปวดที่เมื่อยที่ทุกข์น่ะส่วนหนึ่ง คนละอันกัน ดูดีๆ นะ ของสองอย่างนี้มันแยกกันอยู่แล้ว แต่เราไม่เข้าใจ เพราะเราขาดสติ เรารวมเป็นหนึ่งเดียวกันเลย พอกายหิวใจก็โมโห กายเมื่อยใจก็เป็นทุกข์ เวลามีความป่วยไข้ทางร่างกายนี่ใจก็เป็นทุกข์ เวลากายแก่ใจก็แก่ เวลากายตายใจก็ตายไปด้วยนี่ รวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ถ้ามีสตินี่มันจะแยกๆ กัน ถ้าเมื่อยแล้วทำอย่างไร มีโรคภัยไข้เจ็บทำอย่างไร ก็แก้ไข ทุกข์บางอย่างนี่เราต้องแก้ไข รู้แล้วต้องแก้ไข บางอย่างแก้ไขไม่ได้ก็มีนะ อย่างความแก่นี่แก้ไขได้มั้ย พยายามแก้ไขนี่มันก็ชั่วคราว เดี๋ยวก็แสดงความแก่ให้เห็นใช่มั้ย ความเมื่อยล้าอ่อนแรง ตีนเหยี่ยวตีนกา ตีนตะขาบ เต็มหน้าเต็มตา มันแก้ไขไม่ได้หรอก มันเป็นแค่ปกปิด อันนี้เรารู้ไว้ อ๋อ..เป็นธรรมดาใช่มั้ย ธรรมดาแล้ว แต่ความปวดความเมื่อย ความหิวความกระหาย โรคภัยไข้เจ็บ เราสามารถแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ อันนี้เราต้องทำหน้าที่ตรงนี้ กายคือผู้ป่วย จิตใจคือผู้ดูแล สติปัญญาเป็นนายแพทย์เป็นพยาบาล คอยให้กำลังใจ คอยตัดสินปัญหา คอยจ่ายยา ไม่มีตัวเรานะ มีแต่กายคือผู้ป่วยใจคือผู้ดูแล สติปัญญาเป็นเพียงนายแพทย์เป็นพยาบาล ให้ความรู้ความเข้าใจเรา มันแยกกันนะ
แล้วชีวิตเราก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราต้องคอยแก้ไขให้ร่างกาย เดี๋ยวมันกิน เดี๋ยวมันถ่าย เดี๋ยวมันนอน ใช่มั้ย ต้องคอยดูแลมันอยู่เรื่อยไป จิตใจคือผู้ดูแล แต่ใจจะต้องมีสติปัญญาด้วย ถ้าขาดสติปัญญานี่ มันดูแลไปทางที่ไม่ดีนะ พาไปฆ่าตัวตายมั่ง พาไปดื่มสุรา พาไปให้ร่างกายมันเครียด นอนดึก จิตต้องมีสติปัญญาคอยช่วยดูแล อันนี้มันเป็นชีวิตของเราจริงๆ ทีนี้ถ้าหากว่า ร่างกายที่มีทุกข์รุนแรง อย่างเช่นความเจ็บปวด ใครเคยเป็นมั้ยความเจ็บปวด เป็นเสมอเท่าเทียมกัน ความเจ็บปวดนี่จะเอาชนะได้อย่างไร ไม่มีใครจะเอาชนะความเจ็บปวดได้ได้ดีไปกว่าความอดทน อดทนดีกว่าโอดครวญ ทุกข์ทางกายนี่จะไม่รุนแรงมากนัก แต่ถ้าไม่อดทนไปโอดครวญล่ะก็มันเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับร่างกายเรา เพราะจิตใจเป็นทุกข์แล้ว ถ้าอดทนนี่ใจนี่จะมีคุณธรรม อดทน เข้มแข็ง ทุกข์ทางกายก็จะไม่รุนแรง เพราะมีความอดทน แต่ถ้าโอดครวญบ่นเพ้อรำพันทุกข์หนักเข้าไปอีก เพิ่มทุกข์เพิ่มโทษ ทุกข์ทั้งกายทุกข์ทั้งใจ ต้องรู้จักอดทน ใครเคยอดทนบ้าง? อดทนนี่ดีนะเนี่ย สองคำนี่ สบายเลย สร้างความเคยชิน สร้างนิสัยที่อดทนเอาไว้ แล้วอันนี้เป็นแบบฝึกอย่างดี เป็นบทเรียนของชีวิตเลย ถ้าผ่านทุกขเวทนาทางกายได้ เราจะทนได้อีกหลายอย่าง แล้วประโยชน์คือได้กับตัวเรา
ความอดทน .. บางทีเราก็ต้องย้ายจุดนะ เช่น มันปวดมากมันทรมานมาก ย้ายจุด ย้ายจิตไปรู้อย่างอื่นซะบ้าง ถ้าเราอดทนอย่างเดียวนี่ มันไม่ไหวหรอก ย้ายจิตไป อย่างผมเคยมีประสบการณ์ สมัยก่อนนี่ไม่เคยสนใจธรรมะ ตอนที่พิการใหม่ๆ โอ้ .. ทุกขเวทนารุนแรงมาก มีทั้งอาการชาทั้งตัวนี่ นี่ผมชาทั้งตัวเลยนะ ยกเว้นศีรษะ มือนี่ก็ชา นิ้วมือนี่ก็จะชาเหมือนมันเป็นเหน็บน่ะ มีความสุขมั้ยคนเป็นเหน็บ สมัยก่อนเราเคยเอาหนังสติ๊กรัดที่เท้า แหม .. รัดทำไม มันชาดี .. มันชาแล้วมันรำคาญมาก อาการของกระเพาะอาหาร ท้องอืดท้องเฟ้อ หายใจลำบาก วันนี้ก็เป็นอยู่นะ ทุกเวลาร่างกายมีอยู่เรื่อยๆ อันนี้เป็นเพื่อนที่แสนดีซื่อสัตย์ต่อเรา อยู่คู่กับเราไปเรื่อยๆ ผมใช้วิธีแบบไหนรู้มั้ย แต่ก่อนนี้ผมไม่มีข้อมูลเรื่องธรรมะเลย ไม่รู้จะคิดยังไงให้เป็นธรรมะ ผมก็นึกเวลามันปวดมันชามากๆ นึกไปถึงสิ่งที่เราชอบ เรื่องกีฬา เรื่องฟุตบอล เรื่องเที่ยวที่โน้นที่นี้ นึกส่งจิตออกไปในความคิดของเรา บางทีนึกถึงเสียงเพลงที่เราชอบ เพลงที่เราชอบร้องชอบฟัง แต่ต้องเป็นเพลงดีๆ นะ อย่าไปนึกเพลงทำไมถึงต้องเป็นเรา มันก็ทุกข์ไปจนตายล่ะ ร้องเพลงดีๆ โอ้..ไม่เป็นไร บอกเลยว่าไม่เป็นไร เป็นก็เป็นไม่เห็นจะเป็นไร บางทีก็อย่างนี้ต้องลาออก โอ๊ย..สะใจไปเลย จิตมันก็ออกได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่มันชั่วคราว เป็นอารมณ์ที่ไม่ใช่กุศลหรอก
แต่ต่อมานี่เริ่มสนใจธรรมะ เวลามันเกิดทุกขเวทนาใหม่ๆ ทำกรรมฐานยังไม่เป็น เจริญสติไม่เป็น ก็คิดในทางที่เป็นกุศล คิดว่า อ๋อ..ชีวิตเรานี่มันไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง มันบังคับบัญชาไม่ได้ มันเป็นทุกข์เป็นไตรลักษณ์ไปเลย คิดเอา ก็ได้เพราะเป็นอะไรที่เป็นกุศลเหมือนกัน ต่อมาก็ใช้วิธีการสวดมนต์ เวลามันทุกข์มากๆ ก็สวดมนต์เลย นึกคำสวดมนต์ ... อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน ... สวดมนต์ไปอย่างนั้นล่ะ สวดแบบนกแก้วนกขุนทอง มันก็พรากจิตออกจากอารมณ์ได้ชั่วขณะหนึ่ง ต่อมาเริ่มเข้าใจเรื่องกรรมฐาน ก็บริกรรมพุทโธ หายใจออก..พุท หายใจเข้า..โธ พุทโธเรื่อยๆ ส่งจิตส่งใจไปในอารมณ์พุทโธๆ เป็นคำบริกรรม มันก็สามารถดึงจิตดึงใจออกจากทุกขเวทนาทางกายได้เหมือนกันชั่วขณะที่เราบริกรรมอยู่ อันนี้น่ะเป็นวิธีการทำกรรมฐานส่วนหนึ่ง แต่ก็ได้เพียงชั่วคราว ได้เพียงชั่วคราวเป็นการตั้งหลักจิตใจ ต่อมานี่ใช้วิธีการเจริญสติ ทำความรู้สึกตัวนี่ อย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ มีสติรู้กายไปเรื่อยๆ ตามรู้กายเรื่อยๆ เราก็จะเห็นทุกข์ของกาย ทีนี้เห็นทุกข์ของกายนี่มันไม่ได้เข้าไปเป็นผู้ทุกข์แล้ว เป็นผู้เห็นร่างกายมันเกิดทุกขเวทนา มีสติรู้นี่แค่รู้เฉยๆ แค่รู้เฉยๆ นี่ จิตมันก็ไม่ปรุงแต่ง สำคัญนะ ทำไมเราจึงมีความทุกข์มาก เพราะจิตมันปรุงแต่งใช่มั้ย ปรุงแต่งเพราะขาดสติ ถ้ามีสติอยู่นี่การปรุงแต่งเกิดไม่ได้
สังเกตมั้ยเวลาที่เรามีร่างกายเป็นทุกข์มากๆ นี่ ไอ้ทุกข์ทางกายนี่ไม่เท่าไหร่หรอก แต่ทุกข์ทางจิตที่มันปรุงแต่ง โอ้..มันเวรกรรมอะไรของเราหนอ เมื่อไหร่มันจะหายซะที ถ้าเราไม่หายจะทำอย่างไร กังวลสิ่งโน้นกังวลสิ่งนี้ ทำไมถึงต้องเป็นเรา คนอื่นไม่เป็นอย่างเรา นี่สิ่งเหล่านี่มันทำให้จิตใจมันปรุงแต่งมากและทุกข์มากยิ่งขึ้น ไม่มีใครช่วยใครได้ เศร้าหมองนี่เพราะจิตมันปรุงแต่ง แต่ถ้าเรามีสติรู้ตัวอยู่ รู้เฉยๆ แบบไม่ต้องไปบังคับอะไร ไม่ต่อต้านในความทุกข์ ไม่ต่อต้านนะ คือเราต่อต้านน่ะจิตจะเครียด ยอมรับ ยอมรับ อ๋อ..นี่เป็นธรรมดา นี่การยอมรับกับทุกข์ทางกายนี่ จิตมันจะเริ่มผ่อนคลายแล้ว มันเทียบกับเราดูคนอื่นที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่เรา ทำไปนานๆ นี่มันแยกเลยนะ เห็นร่างกายมันเป็นทุกข์เหมือนคนอื่นที่ไม่ใช่เรา เป็นเพียงผู้ดู เราแค่เป็นผู้ดูเฉยๆ มันแยกเลยนี่ อย่างนี้แหล่ะมันออกจากความทุกข์ความเจ็บปวดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แยกจิตแยกกายออกไป นี่ถ้าฝึกมากๆ มีผลมากเลย
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า เวทนาความเจ็บปวดจะมากขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเรารักษาจิตเอาไว้ให้เป็นปกติ ไม่ปล่อยให้มันปรุงแต่งมากนี่ ความเจ็บปวดต่างๆ นี่จะอยู่ในระดับที่เราทนได้ เราจะทนได้ ไอ้ทนไม่ได้เพราะเราไปปรุงแต่งต่อเติมมากยิ่งขึ้น อันนี้สตินี่ช่วยได้เวลาทุกขเวทนาเกิดขึ้น เราจะรู้จักทนได้ในอาการเหล่านี้ แล้วถ้าเรามีสติคอยช่วยรักษา มีปัญญาด้วย คอยปล่อยวางๆ บ่อยๆ นี่ ทุกข์ทางกายจะรุนแรงแค่ไหนนี่ก็ไม่มีผลทางด้านจิตใจ เนี่ย..เรื่องของกายแต่ว่ามาทำความสบายที่จิตใจเราได้ จิตก็จะเป็นอิสระ ถ้าจิตอิสระเมื่อไหร่ล่ะก็สุขภาพจิตดีละ ยิ้มแย้มแจ่มใสสดชื่น มีความสดชื่นเพราะสุขภาพจิตดี แล้วมองอะไรๆ ก็ดีนะ มองอะไรก็ดี จะคิดก็ดี เริ่มจากการเจริญสตินี่ อยู่กับเนื้อกับตัวเรานี่ แล้วที่สำคัญก็คือการพูดจาพูดคุยกับคนรอบข้างก็พลอยดีไปหมด เพราะว่าในโลกนี้เราไม่ได้อยู่คนเดียวหรอก เราอยู่กับคนรอบข้าง คนใกล้ตัวเรา โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลเราอยู่ .. ใช่มั้ย .. เราจะไม่หงุดหงิดกับเค้าเลย จะอยู่กับเค้าโดยที่เป็นปกติ ช่วยได้มาก เกิดคุณธรรมหลายอย่าง จะเข้าใจตัวเราและเข้าใจคนอื่น ที่เข้าใจเพราะอะไร เพราะว่าเข้าใจความคิดของเรา รู้ทันในความคิด เวลาจิตมันคิดก็ให้รู้ทันมัน เนี่ย..สติทำหน้าที่รู้จักกายรู้จักใจ รู้จักตัวเรามากยิ่งขึ้น
ในที่นี้มีใครเป็นผู้ดูแลบ้าง ผู้ดูแลนี่ถือว่าเป็นผู้ที่ทำบุญนะ นี่เป็นผู้ที่มาทำบุญ ช่วยเหลือเค้า เพราะว่าคนไข้บางทีเค้าอาจจะเป็นทุกข์ทางด้านร่างกาย แต่จิตใจนี่สามารถจะมีความสุขได้นะ เค้าสามารถจะมีความสุขได้ทางด้านจิตใจ และเค้าก็ไม่ได้ป่วยเฉพาะร่างกายหรอก บางทีใจก็ป่วยมาก ลักษณะของผู้ป่วยนี่ จิตใจนี่จะสังเกตดูซิว่ามีอาการอะไร น้อยเนื้อต่ำใจ เศร้าหมอง หงุดหงิด เจ้าอารมณ์ ขี้โมโห แล้วก็บางทีชอบร้องไห้แอบไปร้องไห้ บางทีชอบประชดประชันตัวเอง ไม่กินยาไม่กินข้าว ทำหน้าปึง เนี่ยมีอาการแบบนี้ หรือบางทีอยากตายให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย อันนี้เป็นอาการของคนไข้ จะไม่สดชื่นทางด้านจิตใจ ผู้ดูแลก็ต้องเข้าใจ เข้าใจ คุยกับเค้าตามปกติ ให้ความสำคัญคือให้ความหวัง ให้กำลังใจ ให้ความสุขด้วยจิตใจที่เมตตากรุณา พูดจาไพเราะอ่อนหวานหน่อย บางทีเราคุยกับเค้านี่ ขอให้คุยกับคนอย่าคุยกับโรค คุยกับคนนะอย่าคุยกับโรค ปล่อยให้คุณหมอคุยกับโรค คุยกับเค้าเหมือนเค้าไม่เป็นอะไร ตามปกติ หาเรื่องสนุกๆ ขบขันมาเล่าให้ฟัง อย่าคุยเรื่องร้ายๆ คุยเรื่องดีๆ สุขภาพจิตจะได้ดีด้วย อย่าไปถามว่าวันนี้เป็นยังไง อาการดีมั้ย ..โอ.. น่าเบื่อคำถาม วันนี้อาการดีมั้ย บางทีมันไม่ดีไม่รู้จะบอกยังไงนะ บางทีดีก็ขี้เกียจพูด ไม่ต้องไปถาม สังเกตดูนะ ผู้ดูแลสังเกตดูเค้า ถ้าเค้ายิ้มแย้มแจ่มใสแสดงว่าอาการดี ถ้าเค้าเศร้าหมองแสดงว่าอาการไม่ดี เราก็รู้อยู่ อย่าไปถามบางทีเค้าจะรำคาญ
คุยกับคนตามปกติ อย่าคิดว่าเค้าป่วยเค้าเป็นอะไร ธรรมดาใช่มั้ย จะได้เสมอๆ กัน บางทีคนไข้เค้าอาจแสดงอาการที่ทุรนทุรายเป็นทุกข์นี่เราก็ต้องเข้าใจ บางทีอาจจะใช้คำพูดที่ไม่ดี อาจจะแสดงอาการไม่ดี ต้องเข้าใจคนไข้ อ้อ..นี่เป็นเรื่องของเค้า เป็นกรรมของเค้า เป็นทุกข์ของเค้า เราคือผู้ดูแลนี่ไม่ต้องทุกข์ด้วย อย่าไปติดโรคความทุกข์จากเค้ามาสู่ตัวเรา เราก็ทำหน้าที่ไป หน้าที่เป็นเรื่องของเรา เป็นหน้าที่ของเรา แต่ไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องเป็นทุกข์ด้วย รู้จักแบ่งแยก การทำหน้าที่เป็นเรื่องของเรา แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเป็นทุกข์ด้วย..ใช่มั้ย ต้องรู้จักแบ่งแยก เพราะฉะนั้น ผู้ดูแลก็ต้องปฏิบัติธรรมด้วยนะ ต้องเจริญสติด้วย รักษาจิตใจไม่ต้องเป็นทุกข์ ถือโอกาสเรียนรู้คนไข้ไปเลย เรียนรู้คนไข้นี่ คนไข้นี่เป็นแหล่งวิชานะ ให้เราเรียนรู้ได้ ให้เราเรียนรู้ เรียนรู้ความทุกข์จากคนไข้ เตรียมตัวเราไว้ เพราะว่าบางทีเวลาเราป่วยไข้นี่ว่าจะทำอย่างไร ทำใจอย่างไร เตรียมตัวเอาไว้ จะทำอย่างไรเวลาเราป่วยไข้ เพราะฉะนั้นถือว่าเราทำบุญ ถ้าเราทำแล้วนี่ใจไม่ต้องเป็นทุกข์หรอก
เราทำความดีแล้วไม่ต้องเป็นทุกข์ เราจะต้องมีสติคอยรักษาจิตใจเรา เวลาใจมันโกรธก็รู้ว่ามันโกรธ ใจมันเบื่อก็รู้ว่ามันเบื่อ ให้รู้ทันใจเราเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย ผู้ป่วยก็ต้องทำหน้าที่ให้ถูกต้อง หน้าที่ของผู้ป่วยคืออะไร ก็คือความอดทน อดทนแล้วก็สงบเสงี่ยม ช่วยเหลือตัวเอง แล้วก็เจริญสติเสมอๆ นี่ อันนี้เป็นหน้าที่ ผู้ดูแลก็ต้องแบบเดียวกัน ต้องมีความอดทน มีสติเฝ้าดูจิตใจเรา เมตตากรุณา ช่วยเหลือกันนี่ ถ้าต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่นี่ ปัญหาจะไม่ค่อยเกิดขึ้นนะ สิ่งๆ หนึ่งที่เราเสมอกันนั่นคือ ถ้าเรามีความรู้สึกตัวขณะใช้ชีวิตนี่ ทั้งคู่นี่ก็จะมีหนึ่งเดียวกัน ใจจะเป็นหนึ่งเดียวอยู่ที่ความรู้สึกตัว ปัญหาใจเราก็จะไม่เกิดขึ้น และปัญหากับคนรอบข้างก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราจะอยู่ในฐานะใดก็ตามจะเป็นคนไข้ เป็นผู้ดูแล หรือเป็นใครก็ตามไม่สำคัญหรอก สำคัญที่ว่าการวางจิตวางใจ สำคัญที่ใจนะ ใจสำคัญกว่า ถ้าเราทำจิตทำใจแบบ โอ..เบื่อหน่าย เซ็ง ชีวิตนี้มีแต่ความเศร้าหมอง โทษเวรโทษกรรม อือ..มันทำไมเป็นกรรมของเราหนอ เนี่ย..โทษคนโน้นโทษคนนี้ มีความโกรธความเครียด มันก็ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา เราก็เป็นทุกข์อยู่ตลอดไป แต่ถ้าเราทำหน้าที่ หรือใช้ชีวิตแบบยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น และก็มีสติ มีสตินี่จิตใจก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ มันจะเริ่มเข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต และเข้าใจคนอื่นด้วย เห็นปัญหาแล้วก็แก้ปัญหาได้ ความทุกข์มันก็จะคลายลงไป จิตใจก็อยู่เหนือปัญหา เราอยู่แบบนี้ดีกว่า อยู่วางจิตวางใจที่ยอมรับและแก้ไขด้วยการปฏิบัติธรรมนี่แหล่ะ
เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่ถือว่าเป็นยาที่ถูกกับโรคของความทุกข์ ผมเองนี่เมื่อไม่สนใจกับธรรมะผมก็เป็นทุกข์ แต่ความทุกข์นี่มันกดดันทำให้ผมต้องเกิดศรัทธาต้องปฏิบัติธรรม หลังจากที่พยายามแก้ปัญหาทางด้านร่างกายมา พิการจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็พยายามแก้ปัญหา ไปหาหมอรักษามาหลายแห่ง โรงพยาบาล ก็ช่วยอะไรไม่ได้ ร่างกายนี่คุณหมอก็ช่วยเราไม่ได้ จนกระทั่งเราต้องช่วยเหลือตัวเองแล้ว ช่วยร่างกายไม่ได้ช่วยจิตใจไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็อาศัยการปฏิบัติธรรมนี่แหล่ะมาเป็นเครื่องอยู่ มาเป็นยารักษาใจ ก็อยู่ด้วยการเจริญสตินี่ เนี่ย..ผมมีการเคลื่อนไหวเพียงแค่มือเท่านั้น อยู่ว่างๆ แทนที่จะปล่อยจิตไปให้มันฟุ้งซ่านเพิ่มทุกข์เพิ่มโทษให้แก่จิตใจเรา ก็มานอนเจริญสติ นอนพลิกมือเล่น เนี่ย..หลวงพ่อคำเขียนนี่เป็นผู้ที่แนะนำ อ้อ..อยู่ว่างๆ นะจะปฏิบัติธรรมไม่ต้องมาที่วัด นอนอยู่บนเตียงน่ะ นอนพลิกมือเล่นและก็รู้สึกตัวไป พลิกมือหงายรู้สึก พลิกมือคว่ำรู้สึก คือเจริญสติไปกับการเคลื่อนไหวของกาย ให้รู้สึกตัว เมื่อมีสติแล้วนี่จิตมันไม่ฟุ้งซ่าน มันอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นการศึกษาชีวิตศึกษาตัวเองเลย รู้สึกตัวเวลากายเคลื่อนไหวก็รู้สึก เวลาใจมันคิดก็รู้สึก ให้มีสติตามรู้อย่างนี้ มันหลงมันเผลอไปก็ไม่เป็นไร เริ่มต้นรู้สึกตัวใหม่ นี่มันเป็นการทำบุญได้ทุกวันเลย พลิกมือรู้สึก คว่ำมือรู้สึก เดี๋ยวใจมันก็ไปแล้ว คิดแล้ว คิด..อ๋อ..นี่มันคิดนี่ ไม่เอา ทิ้งไป แล้วกลับมารู้สึกใหม่
เห็นมั้ย..กลับมาอยู่ที่ฐานที่ตัวเราบ่อยๆ นี่ ทำอย่างนี้ทำเรื่อยๆ นี่ ยิ่งนานวันเข้านี่สติมันก็มากขึ้นๆ เมื่อสติมากนี่ความทุกข์นี่มันลดลงโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจเลย เพียงเจริญสติในแต่ละวันนี่ทุกข์มันก็ลดลงได้ อยู่อย่างน้อยอยู่กับปัจจุบันนะจิตมันก็ไม่คิดอะไร มันก็ไม่เครียด มันไม่ต้องเสียดายอดีต หรือกังวลถึงอนาคตว่าจะอยู่อย่างไร เพราะอยู่กับปัจจุบันนี่ปัญหาไม่เกิดขึ้น เนี่ย..เริ่มแก้ปัญหาใจเรา และยิ่งทำไปๆ มันเริ่มเข้าใจตัวเอง เข้าใจเรื่องของกาย อ๋อ..นี่กายมันไม่ใช่เรา มันเป็นสิ่งที่เราอาศัยอยู่เท่านั้นเอง เห็นมั้ย..มันลาออกจากความพิการเลย ความพิการทางกาย ความแก่ทางกาย โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ลาออกเลย มันไม่ใช่เรื่องของเรา เป็นเรื่องของกาย แยกมันออกซะ ปัญหาเรื่องของจิตเรื่องของความคิด เนี่ย..น้อยเนื้อต่ำใจ เศร้าหมอง มันก็เรื่องของความคิด ไม่ใช่เรื่องของเราอีกล่ะ เป็นเพียงแค่อาการของจิตของใจ มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วมันก็ดับไป ก็ไม่ต้องไปยึดถือมัน จิตก็เป็นอิสระ อยู่ด้วยการศึกษาชีวิต อาศัยความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี่มาเป็นวิชชาให้เราศึกษา ศึกษาความทุกข์จากตัวเรานี่มันเป็นการศึกษาของจริงนะ ในตำราไม่มีบอกนะ แต่ตัวเรานี่เค้าบอก กายกับจิตนี่เค้าบอกความจริง เอากายกับจิตนี่มาเป็นบทเรียนให้เราได้ศึกษา ก็เลยมองเห็นว่า อ๋อ..ความพิการนี่มันไม่ใช่ปัญหา ความป่วยไข้ทางกายมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหานี่มันต้องแก้ไขได้..ใช่มั้ย ปัญหาต้องมีการแก้ไข แต่ความพิการนี่มันแก้ไขไม่ได้ แสดงว่ามันไม่ใช่ปัญหา มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นธรรมดาของเค้า เลยไม่ต้องแก้ไขอะไร
พอเข้าใจตรงนี้นะ ใจเราก็ดีขึ้น..ใช่มั้ย เมื่อใจเราดีนี่มองอะไรๆ ก็ดีหมดเลย ความคิดออกมาก็คิดมองโลกในแง่ดี มองโลกในแง่ของความเป็นจริง แทนที่จะเป็นทุกข์หรือผลักดันความทุกข์ในกาย แต่กลับเอาทุกข์มาเรียนรู้ซะ มันก็ได้ปัญญาได้ความรู้..นะ ก็เลยโชคดีไป เรียนรู้ความทุกข์ที่อยู่ในตัวเรานี่จะได้ของจริง แต่การรู้นี่อย่ารู้แบบเข้าไปอยู่หรือไปบังคับไปผลักไส รู้ตามที่เค้าแสดงออก ต่อไปเราก็จะเบื่อมันจะไม่ยึดมั่นถือมั่นมัน แต่ใช้มันให้เป็นประโยชน์ และเข้าใจตัวเองเลยนะ เข้าใจตัวเองมากขึ้น และเข้าใจคนอื่นโดยเฉพาะผู้ดูแลผู้ใกล้ตัวนี่ แต่ก่อนนี่ผมเป็นคนที่ยิ้มไม่ได้หรอก เศร้าหมองมากทุกข์เพราะร่างกายนี่ แต่พอปฏิบัติธรรมแล้ว โอ้..หน้าตามันสดชื่น มันยิ้มได้ พอเรายิ้มได้คนเดียวนี่ คนใกล้ตัวนี่พลอยมีความสุข คุณแม่ผมนี่สมัยก่อนถือว่าเป็นผู้ดูแลชั้นหนึ่งเลย เราเห็นท่านนี่เราสงสารท่าน เค้าเอายามาให้เราทาน เปลี่ยนเสื้อผ้าให้เรา เอาอาหารมาให้เราทาน ช่วยเราทุกอย่าง จนเราทานข้าวทานยาเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยแล้ว ก็นอนหลับไป แล้วตื่นขึ้นมานี่คุณแม่ยังกวาดเช็ดถู โอ้..น่าสงสารท่าน ทำไมท่านต้องมาลำบากเพราะเราอย่างนี้ อยากจะช่วยท่าน แต่ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ก็นึกขึ้นมาได้ อ๋อ..ถ้าเราพยายามช่วยตัวเอง ช่วยตัวเองให้มากๆ เท่ากับเป็นการช่วยเหลือท่านด้วย โอ้..เรามาช่วยตัวเองมากๆ ทีนี้กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือตัวเองให้มากๆ เกิดความขยันเกิดความอดทนที่จะกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือตัวเอง เป็นการแบ่งเบาภาระให้กับคนอื่นด้วย เนี่ย..มันเข้าใจคนอื่น
และคุณแม่นี่ก็เวลาเข้ามาหาผมแต่ละครั้งนี่ ท่านจะมีคำพูดที่เป็นการปลอบใจให้กำลังใจ คำๆ หนึ่งที่ท่านพูดเสมอๆ ว่า โอ้..ลูกเอ๋ย เมื่อเป็นได้มันก็หายได้ เจอหน้าก็เวลาท่านไม่รู้ว่าจะพูดอะไร ท่านก็อาศัยมุกเก่า มันเป็นได้ก็หายได้ โอ..บางทีเราก็เบื่อนะ แต่เราเข้าใจท่าน โอ..นี่หวังดีเจตนาดี บางทีก็เบื่อคำพูดซ้ำๆ มันไม่เห็นหายซะทีนึง เห็นพูดมาหลายปีแล้ว แต่เราก็เข้าใจ คำพูดปลอบใจให้กำลังใจ เนี่ย..ทำให้เรามีกำลังใจเหมือนกัน บางทีเราก็หงุดหงิดนะสมัยก่อนยังไม่ปฏิบัติธรรม ท่านเดินเข้ามานี่พอดีคนพิการนี่ขานี่เราจัดเองค่อยไม่ได้ ต้องมีคนอื่นมาจัดให้ ขาของเรานะแต่คนอื่นต้องมาจัดให้ บางทีนอนนี่ขามันกางออก อีกขานึงมันจะตกเตียงอยู่แล้ว คุณแม่เดินมา อ้าว..จะออกไปไหนเหรอนี่ นี่เตรียมจะหนีเที่ยวสินี่ เราก็ขำอ่ะนะ จะหนีเที่ยวใช่มั้ย เดี๋ยวอย่าเพิ่งๆ แกก็จับขามาวางกับที่ พอดีขาคนที่พิการนี่มันจะสั่น พอจับปั๊บมันสั่น แม่บอกเดี๋ยวอย่าเพิ่งๆ เดี๋ยวไปหารองเท้ามาให้ใส่ก่อน อย่าเพิ่งรีบไป เราเดินไม่ได้ เนี่ย..ขามันสั่นบอกอย่าเพิ่งๆๆ เดี๋ยวจะไปหารองเท้ามาก่อน มาให้ใส่ ท่านพูดขำๆ ตลกๆ เราก็พลอยที่จะสนุกสนานไปด้วย ต่อมาเราก็บอกว่า ไม่เป็นไรแม่หารองเท้ามานะ เดี๋ยวเอากางเกงมาด้วย เสื้อด้วย สตังค์อีก จะได้ไปเที่ยว เอาให้สนุกสนานไปเลย เปลี่ยนบรรยากาศ จากความเครียดเป็นความสุขเพราะเริ่มเข้าใจ
ปฏิบัติธรรมแล้วเข้าใจตัวเรามากยิ่งขึ้น แล้วเข้าใจคนอื่น กระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือตัวเอง เนี่ย..มันดีอย่างนี้ เรียนรู้ความทุกข์และเข้าใจ ใจมันก็มีความสุขเพราะว่ารู้ทันซะแล้ว..ใช่มั้ย อันนี้เป็นส่วนที่ดีนะ เพราะฉะนั้น พลังชีวิต กำลังจิตกำลังใจนั้น ไม่มีอะไรเกินพลังธรรมะหรอก พลังธรรมะสร้างพลังชีวิต เหมือนอย่างกับว่าเรานี่ได้เติมส่วนที่มันขาดให้มันเต็มสมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติธรรมนี่ ชีวิตเราอยู่ด้วยกำไรชีวิต ทุกวันนี้ใช้กำไรชีวิตนะ อยู่ด้วยกำไรชีวิต ก็เลยนำกำไรนี่มาแบ่งพวกเรา เอากำไรชีวิตแบ่งพวกเราให้เกิดการเรียนรู้บ้าง ก็จะมาชวนพวกเรามาทำประกันชีวิตด้วยธรรมะ สนใจมั้ย ประกันชีวิตด้วยธรรมะนี่ยิ่งใหญ่นะ เราอาจจะทำประกันมามากมายทำไปเถอะไม่เป็นไร อันนั้นเป็นประกันแค่เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ แต่ประกันชีวิตด้วยธรรมะนี่มันประกันถึงภพหน้าชาติหน้า อยู่ก็มีความสุข ตายก็ไม่ตกอบายภูมิ ไม่ตกนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ปิดประตูอบายภูมิเลย ถ้าประกันชีวิตด้วยธรรมะนี่ เงื่อนไขก็คือ ให้ทาน รักษาศีล ภาวนานี่ สามอย่างนี่ไม่ต้องส่งเบี้ยประกัน ทานศีลภาวนานี่ ประกันข้ามภพข้ามชาติเลย ประกันชีวิตในโลกนี้บริษัทไหนก็ตามนี่ ประกันแค่เราตายไปแล้ว แล้วก็ไม่ได้บอกว่าประกันแล้วจะมีความสุขด้วย แต่ประกันชีวิตด้วยธรรมะนี่ อยู่ก็มีความสุข ตายก็มีความหวัง แล้วก็พ้นทุกข์ได้ในที่สุดเลย ทำประกันชีวิตกับบริษัทพุทธบริษัท
มาชวนพวกเราทำดู แม้เราจะมีความแก่ความเจ็บความตาย ความพลัดพรากเป็นธรรมดา ไม่สามารถจะล่วงพ้นได้ก็ไม่เป็นไรนะ อย่าไปเสียใจอย่าไปเศร้าใจ เรายังมีความหวังอยู่ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าใครคบหาพระพุทธองค์เป็นกัลยาณมิตร คนที่มีความแก่ความเจ็บความตาย ความพลัดพรากเป็นไปตามกรรมเป็นธรรมดา หรือเป็นทุกข์เป็นธรรมดานี่ สามารถพ้นจากอาการเหล่านี้ได้ ถ้าคบกับท่านเป็นกัลยาณมิตรแล้วก็นำธรรมะมาปฏิบัติ เรายังมีทางออกอยู่ เพราะฉะนั้น ทางออกให้เลือกนี่เรายังสามารถเลือกได้ ก็ลองปฏิบัติธรรมดู ลองปฏิบัติธรรมเจริญสตินี่แหล่ะ ให้ทานมามากแล้ว เราลองเจริญสติดูมั่งซิ ทำความรู้สึกตัว ใช้ชีวิตแบบรู้สึกตัว เมื่อมีความรู้สึกตัวมากขึ้นนี่ มีความรู้มากขึ้น ความหลงลืมตัวหรือความทุกข์ก็จะค่อยคลายลงไป เป็นทุกข์เพราะเราลืมตัว ถ้ามีสติเราจะมีความสุข สนใจมั้ย เนี่ย..อันนี้ทำหน้าที่เหมือนเซลส์นะ เหมือนขายตรงนะนำธรรมะมาเสนอ แต่ไม่ได้ขายนะ เพื่อให้เราลองไปพิจารณา และนำไปปฏิบัติดูนะ ได้ผลมาหลายคนแล้ว.