แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : กลับมาพบกันอีกครั้งทุกวันศุกร์สัปดาห์ที่ ๒ ของแต่ละเดือน ในการสนทนากับท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ว่าด้วยเรื่องพุทธวิธี (ลัดตรง) สร้างสุข (ที่นี่และเดี๋ยวนี้) สัปดาห์นี้เป็นครั้งที่ ๗ หลังจากมีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ฝ่ายที่สำคัญที่สุด คือ ฝ่ายที่ช่วยถ่ายทอดออกไปถึงท่านทั้งหลายที่อาจจะไม่ได้มาที่นี่ และได้รับฟังอยู่ที่บ้าน คือ มูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ ได้ให้ความกรุณามาร่วมสนับสนุนงานของมูลนิธิหมอชาวบ้าน ซึ่งเป็นอีกเจ้าภาพหลัก นอกจากนั้นแล้วอีกส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนผสม คือ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ โดยใช้พื้นที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือสวนโมกข์กรุงเทพแห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่นัดพบกัน
หลายท่านน่าจะมากันหลายครั้งแล้ว บางท่านก็มาครั้งนี้ ครั้งนั้น นางนัดก็อาจจะอยู่ที่บ้าน นัดนี้ท่านคงจำได้ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ได้มีการเกริ่นนำมาตามลำดับ เมื่อสองครั้งก่อนท่านกล่าวเรื่องสมาธิน้ำเย็น ภาวนาน้ำเย็น ครั้งที่แล้ว สมาธิแบบเหวี่ยง คราวนี้ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี จะเข้าสู่เรื่องอานาปานสติ ภาวนา ๑๖ ขั้นตอน
ก่อนที่จะเชิญอาจารย์ผมขอยกคำของท่านอาจารย์พุทธทาสนิดหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านอาจารย์พุทธทาส ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ของไทย โดยสมเด็จเจ้าคุณญาณสังวร เป็นหัวหน้าคณะจัดอบรมพระธรรมทูต และการอบรมครั้งนั้นมีความหมายมากเพราะว่าเป็นการริเริ่มของคณะสงฆ์ไทยที่เตรียมพระไทยออกไปเป็นพระธรรมทูต แต่ที่มีความหมายพิเศษ ทำไมผมถึงผมมาอ่านก่อน เนื่องจากเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา เพิ่งครบ ๙๖ พรรษา ของสมเด็จพระสังฆราช แห่งวัจราชบพิธ ทางคณะสงฆ์วัดราชบพิธมีการพิมพ์หนังสือออกมาเล่มหนึ่งว่าด้วย “ธรรมาทูตาพิวุธ” เนื่องจากสมเด็กพระสังฆราช ท่านเป็นหนึ่งในธรรมทูตรุ่นแรก ท่านอาจารย์พุทธทาสได้กล่าวปิดการอบรมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ด้วย ย้ำว่า “ที่ตั้งอกตั้งใจก็คือเรื่องอาปานาสติภาวนา ๑๖ ขั้น แห่งอานาปานสติสูตร ซึ่งขอให้สนใจเป็นพิเศษ เพราะว่าได้อาศัยเป็นหลักทั้งในการประพฤติ ปฏิบัติของตนเอง และการสั่งสอนผู้อื่น ดังที่ได้พร่ำบอกแล้ว พร่ำบอกอีกว่า ไม่เห็นมีแนวไหนที่จะดีกว่าแนวนี้ จึงถือว่าเป็นกรรมฐานหลัก ส่วนกรรมฐานอื่น ๆ นั้น เป็นเรื่องประกอบ เช่น พุทธานุสติก็ทำ เมตตาก็ทำ มรณสติก็ทำ อสุภ หรือปฏิกูลสัญญาก็กระทำ นั้นเป็นเรื่องประกอบทั้งนั้น ประกอบเข้าตามส่วน ตามโอกาส บางเวลาที่จิตใจปั่นป่วนรวนเรออกไปนอกลู่นอกทางบ้าง ไม่โปร่ง ไม่สดใส ไม่เหมาะสม ที่จะทำอานาปาสติแล้วก็ใช้กรรมฐานเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ เหล่านั้นเป็นเครื่องช่วยประกอบแก้ไข ให้สิ่งที่เป็นอุปสรรคเล็ก ๆ น้อยๆ เหล่านั้นหายไป เมื่อใจคอปกติแล้ว ก็ทำกรรมฐานหลัก คือ อานาปานสตินั้นไปตามเดิม นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ากรรมฐานบทไหนก็ตามยังคงเป็นประโยชน์อยู่ทั้งนั้น สำหรับจะแก้ข้อขัดข้องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเกิดขึ้นแทรกแซงในการปฏิบัติกรรมฐานหลักตลอดกาล คือ อานาปานสตินั้น”
ท่านอาจารย์พุทธทาสมีรายละเอียดนิดเดียวก่อนที่ผมจะนำเรียนเรียนเชิญท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ในการอบรมพระธรรมทูต เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่คณะสงฆ์ได้ส่งพระ ๒๖ รูป ไปยังสวนสวนโมกขพลาราม ในระยะเวลา ๑๕ วัน ท่านเตรียมอานาปานาสติแบบเสริมเติมในเชิงเทคนิค ซักซ้อมเรื่องการปฏิบัติ แต่ปรากฏว่าท่านพบว่าพระที่ไปแต่ละรูปเป็นมหาเปรียญทั้งนั้น ปรากฏว่าพระที่ไปทั้ง ๒๑ รูป ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านได้พูดว่า ก็พบว่ายังไม่ได้ศึกษาเข้าใจเรื่องอานาปานสติเท่าที่ควร ทำให้ท่านปรับหลักสูตรเพิ่มเวลาอานาปานสติยาวขึ้นในเชิงสาระมากกว่าเชิงปฏิบัติ โดยหลักการอานาปานสติถูกลืม ถูกเลยกันมาพอสมควร วันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้ฟังอาจารย์หมอประเวศที่จะชวนพวกเราเรียนรู้ตามไปแล้วก็ ผมหวังว่าอาจารย์จะชวนให้ลองทำอานาปานสติไประหว่างทางด้วยขอเรียนเชิญท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ขอคุณคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช สวัสดีท่านผู้ที่สนใจในพุทธวิธีทั้งที่อยู่ในห้องนี้และออนไลน์ หรืออาจจะดูย้อนหลังก็ตาม วันนี้ตามที่ได้เกริ่นไว้ว่าจะพูดเรื่องอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน แต่ว่าก่อนที่จะพูดถึง ก็มีเรื่องค้างที่มีผู้ถาม ค้างไว้ ๒ ครั้งแล้วว่า สติกับสัมปชัญญะต่างกันอย่างไร สติ หมายถึงคำแปล หมายถึง การระลึกรู้เรื่องในอดีตในปัจจุบัน ในอนาคตอะไรก็ตาม สัมปชัญญะ แปลว่า การรู้ตัว ตรงกับภาษาอังกฤษที่เรียกว่า consciousness เหมือนคนรู้ตัว ถ้าคนถูกว่ายาสลบก็จะไม่รู้ตัว หรือว่าหลับ หรือว่าตาย เพราะฉะนั้นคำว่าสัมปชัญญะ คือ การรู้ตัว มีความใกล้เคียงกันมากและมักนำมาใช้คู่กัน สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ แต่ในที่สุดก็หมายถึงรู้อยู่กับปัจจุบัน ใช้ทั้งสติและสัมปชัญญะ พูดคำว่า “สติ” จะสั้นกว่า แต่บางครั้งก็พูดแยกกันว่าสัมปชัญญะ หมายถึงการรู้อิริยาบถย่อย ถ้ารู้อิริยาบถหยาบก็เป็นสติ อิริยาบถย่อย เช่น การหัน การก้ม การเงย การเคี้ยว การกลืน เรียกว่า สัมปชัญญะ แต่ว่าเอาว่าไปด้วยกันก็แล้วกัน ก็พูดคู่กันไปหรือพูดคู่สติอย่างเดียว แต่หมายถึง สัมปชัญญะด้วย เป็นอย่างนี้ ผมได้เอกสารมาเพื่อไม่กี่วัน เป็นภาษาอังกฤษ นักวิทยาศาสตร์อเมริกา และในประเทศยุโรปประมาณ ๔,๐๐๐ กว่าคน จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ กำลังเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวเขาเรียกว่า IDG ย่อมาจาก Inner development goals หมายถึงการพัฒนาภายใน หมายถึง การพัฒนาจิตใจ การพัฒนาคือการวิวัฒน์ ที่สหประชาชาติชูเรื่อง SDG ที่ใคร ๆ ก็อ้างถึง เป้าหมาย SDG เป้าหมาย ๒๐ ประการ หมายถึง Sustainable Development Goals : SDGs ดูจะไม่สำเร็จไม่ไปถึงไหนถ้าปราศจากการพัฒนาภายใน เขาจึงมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้กัน ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องการเจริญสติ เป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นเรื่องการเจริญสติตอนนี้กำลังเป็นกระแสใหญ่ที่เรียกว่า เมกะเทรนด์ (Mega trend) อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกามีการสอนเรื่องการเจริญสติจำนวนมาก บางที่ก็เรียกตรงเลยว่า Buddhism my fullness meditation การเจริญสติแบบพุทธ หรือบางครั้งฝรั่งเรียกว่าวิปัสสนาก็มี มีคนทำกันจำนวนมาก และมีการวิจัยเยอะมากอย่างที่เคยเล่าให้ฟัง เพราะเห็นผลดีเห็นการเปลี่ยนแปลงในสมอง เพราะฉะนั้นคงเกิดเป็นจริงขึ้นว่ามนุษย์ทั้งโลกจะเจริญสติ เพราะมีแรงจูงใจสูงมาก เพราะว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด คือ ความสุข แต่หาไม่ค่อยเจอ การพัฒนาทางวัตถุ ก็สนองส่วนหนึ่งแต่ไม่จีรังยั่งยืนไม่ลึกพอ ผมเขียนลักษณะความสุขทางวัตถุไว้ ๑๐ ประการด้วยกัน เช่นมันตื้น มันไม่ยั่งยืน อะไรต่ออะไร และทำให้ไปสู่ความโลภได้ง่าย ส่วนสุขภาวะทางจิต ตรงข้ามกับสุขภาวะทางวัตถุทุกอย่าง ทั้ง ๑๐ ประการ วันหลังนำบทความที่เขียนเรื่องนี้มาแจกที่นี่ ถ้าเป็นอย่างนั้นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งการเจริญสติ คนไทยที่เจริญสติหลายแสนอาจจะถึงล้านคน มาจากสายต่าง ๆ สายพระป่า อาจารย์มั่น อาจารย์ชา พระวิริยังค์รู้สึกว่าเป็นแสนคนแล้วนะ สอนในต่างประเทศก็สอนต่าง ๆ นา ๆ แล้วมีหลายสาย ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าก็มี ขณะเดียวกันตอนนี้ก็มีสายแบบทิเบตวชิรญาณมีการตั้งที่หัวหิน อาจารย์กฤษฎาวรรณ มีสถูป สอนการพัฒนาจิตแบบธิเบต มีนานาเพราะประเทศไทยใจกว้างมาแต่ไหนแต่ไรแล้วซึ่งดี เพราะฉะนั้นตรงนี้เรียนคุณหมอบัญชาว่าที่สวนโมกข์ กรุงเทพ น่าจะทำแผนกภาพยนต์ เป็นสวนโมกข์ซีนีม่าแล้วในอนาคตวันหนึ่งทำภาพยนต์ใหญ่แบบสปีลเบิร์กทำฉายทั่วโลกชื่อว่า Thailand a my full countries อาจจะฉายทุกตำบลก็ได้ ที่ตำบลมีศูนย์ศิลปะตำบลมีประมาณ ๘,๐๐๐ กว่าตำบล ควรมีภาพยนตร์ดี ๆ ไปฉาย เพราะคนทุกชาติทุกภาษาชอบดูหนัง เพราะฉะนั้นควรมีหนังดี ๆ ฉาย มหาวิทยาลัยทุกมหาวิยาลัยควรที่น่าจะทำภาพยนตร์เพราะมีฝ่ายศิลปะฝ่ายสื่อสาร ควรจะทำภาพยนตร์นะ และสวนโมกข์ก็ควรมีสวนโมกข์ซีนีม่าหรือจะมีการรวมตัวกันทำภาพยนตร์ใหญ่ ไปฉายทั่วโลก Thailand a my full countries
กลับมาเรื่องการเจริญสติ ธรรมในพระพุทธศาสนามีเยอะ จนกระทั่งเรียกกันว่า ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อาจจะศึกษากันไปไม่ทั่วถึง แต่ว่าท่ามกลางความมากมายของธรรมท่านก็วางปึงไปเลยว่าถ้าจะทำทำอย่างนี้ คือ การเจริญสติ เป็นวิธีที่ practical มาก ถ้ามีเรื่องอะไรที่ซับซ้อนที่ยาก มี่ใหญ่ แต่ว่ามีวิธีที่ง่ายว่าทำอย่างนี้ไปเลย พระพุทธเจ้าได้ลงมือสอนเองเลยในพระไตรปิฎกมีหลายครั้งมากมายที่พระพุทธเจ้าบรรยายเองหรือเจริญสติท่านลงรายละเอียดเลย อย่างอานาปานสติลงรายละเอียดไปเลย ท่านสอนหลายครังในพระไตรปิฎกเต็มไปด้วยเหล่านี้ ท่านอาจารย์พุทธทาสนำมาเขียน เวลาท่านเทศน์มีคนนำไปพิมพ์หลาย copy หลายสำเนาด้วยกัน อันที่น่าสมบูรณ์เขาเรียกอานาปานสติฉบับสมบูรณ์ ฉบับย่อก็มี ฉบับอะไรก็มี
คราวนี้ผมได้เว้นไว้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ เพราะพูดตั้งแต่ต้นจะยากถ้าไม่เคยลองก่อน สมมุติถ้าไม่เคยลองก่อนแล้วอ่านจะไค่อยเข้าใจหรอก ๑๖ ขั้นตอนต้องเคยลองปฏิบัติ ก็เลยทอดเวลามา จะสังเกตเห็นว่าพูดถึงเรื่องสติทุกครั้ง ทอดว่าลองไปลองดูแบบลูกทุ่ง ยังไม่ต้องมีทฤษฎีหรือว่ามีอะไร ไปลองดูแบบลูกทุ่งก่อน ต่อมาเป็นแบบคลาสสิกเรียกว่าคลาสสิกเอาไว้ที่หลัง ถ้าไปเริ่มคลาสสิกตั้งแต่ต้นจะไม่เข้าใจ เข้าใจยาก ตอนนี้ล่วงมาเป็นเดือนที่ ๗ ก็จะลองพูดดูตรงนี้ แล้วหวังว่าคงไปศึกษากันมาแล้ว ที่เรียกว่า ๑๖ ขั้นตอน แบ่งออกเป็น ๔ หมวด หมวดหนึ่งมี ๔ ขั้นตอน รวมเป็น ๑๖ ขั้นตอน ที่แบ่งออกเป็น ๔ หมวด ชาวพุทธจะรู้กันเลยเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ มีฐานอยู่ใน ๔ เรื่อง ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม
สติปัฏฐาน ๔ หมวดแรก กาย คือ ฐานกาย หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดต่อมาคือ ฐานเวทนา หรือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง การเสวยอารมณ์ ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกชอบไม่ชอบ หรือเฉย ๆ หมวดที่สามคือ ฐานจิต หรือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือที่คุ้นเคยกับคำว่า การดูจิต การดูจิตก็คือการมีสติระลึกรู้เท่าทัน พิจารณาความนึกคิด อารมณ์ที่เข้ามาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งราคะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน ทั้งในด้านมืดและด้านสว่าง และหมวดที่สี่ ฐานธรรม หรือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลาย ได้แก่ นิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ โพชฌงค์ ๗ อริยสัจ ๔ ชาวพุทธรู้จักดีเรื่องสติปัฏฐาน ๔
หมวดแรก คือ ฐานกาย หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมายถึง ลม ลมก็เป็นกาย ลมหายใจเข้า-ออก เข้า-ออก ถือเป็นเรื่องกาย อาจเรียกว่ามีกายลมกับกายเนื้อ ง่ายกว่าที่เรียกว่ามหาสติปัฎฐาน อันนั้นจะลงรายละเอียดมากเรื่องกาย เรื่องศพ เรื่องอะไรต่าง ๆ เยอะแยะมากมาย ท่านพุทธทาสบอกว่าเรื่องอานาปานสติเป็นเรื่องที่กระชับดีกว่า หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว คือ การตามรู้ เราเคยเข้า-ออก มากกว่าออก-เข้า เข้ายาวก็ตามรู้ เข้ายาว-ออกยาว เข้ายาว-ออกยาว ขั้นตอนที่ ๑ คือ หายใจยาว หายใจเข้ายาวก็ตามรู้ว่าหายใจเข้ายาวเป็นการตามรู้ตลอดที่ลมเดิน หายใจออกยาวก็รู้ ที่ยาวยาวขนาดไหน โดยทั่วไปก็จะยาวจากจมูกที่ลมเข้าไปจนถึงท้อง ที่จริงลมไม่ได้ไปถึงที่ท้องจะอยู่ที่ปอด แต่ความรู้สึกมันไปถึงที่ท้อง จะเอาที่ท้องตรงสะดือก็ได้ ตรงนั้นเป็นความรู้สึกแล้วไม่ใช่ลมจริง ๆ บางคนเอายาวกว่านั้นอีก เอายาวจากศีรษะถึงเท้าเลยอย่างท่านมิซูโอะที่พูดเนี้ย ขั้นตอนที่ ๒ เป็นแบบสั้น บางคนอาจจะไม่เข้าใจหายใจทางเท้าเหมือนสูบยาวเลย แต่ว่าไม่ได้ทำครั้งเดียวนะการพูดพูดครั้งเดียว หายใจเข้ายาวก็รู้ หายใจออกยาว ถ้านับก็ประมาณ ๑๐ – ๒๐ นาที ถ้านับก็เป็นร้อย เข้าหนึ่ง ออกหนึ่ง เข้าสอง ออกสอง ถ้าใครจับยากก็นับไปด้วย เพราะว่าบางคนทำยาก อย่างผมเนี้ยทำยาก เพราะคอยคิดเรื่องโน่นเรื่องนี้ตลอดตั้งแต่เด็กแล้ว คิดว่าจะทำอย่างไรทำเรื่องดี ๆ อะไรทำนองนี้ หรือคิดเขียนบทความคิดตลอดเวลา มันทำได้ยาก ก็ต้องใช้การนับ อันหนึ่งที่ผมคิดว่าช่วย ผมนับนิ้วไปด้วยเข้าหนึ่ง-ออกหนึ่ง เข้าสอง-ออกสอง เข้าสาม-ออกสาม จับจิตไว้อยู่ ไปจนถึงสิบ แล้วก็ย้อนกลับมาใหม่ เข้าสิบ-ออกสิบ เข้าเก้า-ออกเก้า ย้อนกลับมาจนถึง ๐ แล้วก็มา แล้วก็ย้อนกลับไป-กลับมาอีก ช่วยในการจับจิตค่อนข้างดีที่เดียว บางที่ลอย ๆ แล้วคอยแวบไปทางอื่นก็มีอย่างนี้ ตอนที่เข้ายาว-ออกยาวมีความรู้สึกสบายในตัวอย่างท่านมิซูโอะที่ท่านมีหนังสือสามเล่ม อานาปานสติ ท่านบอกว่าเข้าสบาย-ออกสบาย เข้าสบาย-ออกสบาย มันสบายจริง ๆ ก็กำลังดีนะง่าย ๆ ไม่ต้องเสียเงินเลย เข้าสบาย-ออกสบาย ไม่ต้องตั้งใจทำให้สั้นเดียวมันสั้นเอง อาจจะไปสัก ๑๐๐ หรือ ๒๐๐ สักประมาณ ๑๐ นาที หรือ ๒๐ นาที เดียวมันสั้นของมันเอง ทีแรกยาวแล้วจะสั้นเข้าเรื่อย ๆ จะสั้นเข้าเรื่อย ๆ เป็นช่วงที่สองแล้ว หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น เป็นขั้นตอนที่ ๒ ไปสักพักหนึ่งก็จะรู้สึกสบาย สบายมากบางครั้งมีความรู้สึกความสุขแพร่ซ่านไปในตัว ขั้นตอนที่ ๓ ตรงนี้ต้องมีการตีความ เพราะท่านบอกไว้ว่าในบาลี “สัพพะกายะปะฏิสังเวที” คำว่า “ปะฏิสังเวที” แปลว่ารู้เฉพาะ คำว่า “สัพพะกายะ” แปลว่ากายทั้งปวงให้รู้กายทั้งปวง ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ พอมาขั้นตอนที่ ๓ บอกว่า สัพพะกายะปะฏิสังเวที ให้รู้กายทั้งปวง “สัพพะกายะ” แปลว่ากายทั้งปวง ตีความว่ากายทั้งปวงแปลว่าอะไร มีคนแปลความว่าตั้งแต่ต้นลมจนสุดแปลว่ากายทั้งปวง และปฏิบัติดูจะรู้ว่าคำแปลไหนจะถูกต้องกว่ากัน ต้องเทสด้วยการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็สอนแล้วถ้ามีปัญหาเรื่องการตีความให้ปฏิบัติดูมันต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติ อีกความหมายหนึ่ง สัพพะทั้งปวง แปลว่าทุกชนิด ไม่ใช่ทางลม อันนี้เป็นชนิดเดียวกันตั้งแต่ต้นถึงปลายแปลว่าทั้งหมด ถ้าทั้งปวงแปลว่าทุกชนิด ตรงนี้ใช้คำว่าสัพพะแปลว่าทุกชนิด คราวนี้ทุกชนิด ท่านอาจารย์พุทธทาส แปลว่ากายมี ๒ ชนิด คือ กายลมกับกายเนื้อ ถ้าทุกชนิดแปลว่ากายลมและกายเนื้อ พอดีมีคนแปลตรงนี้ว่าอย่างนี้ว่า รู้สึกตัวทั่วพร้อม หายใจเข้ารู้สึกตัวทั่วพร้อมหายใจออก ที่แปลว่าต้นลม กลางลม และปลายลม มันไม่เข้าเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติหรอก เพราะปฏิบัติมาจนเหลือสั้นแล้ว แล้วจะย้อนไปที่โน่นอีกอย่างไร แต่ว่าถ้ารู้กลายทั้งปวง คือ หายใจเข้า หายใจออก ตอนนี้จะสบายมาก จะมีความสขแพร่ไปที่กายเนื้อทั้งตัวเลยให้รู้ตัวทั่วพร้อมหายใจเข้า รู้ตัวทั่วพร้อมหายใจออก ตอนนี้จะสบายมากเลยนะ ตอนนี้ทั้งเนื้อทั้งตัวสบายมากเลย ที่เรารู้ตัวทั่วพร้อม “สัพพะกายะปะฏิสังเวที” รู้ตัวทั่วพร้อมหายใจเข้า แล้วก็ทำอยู่อย่างนั้นนะ ก็เลยกลายเป็นรู้อยู่กับปัจจุบัน เหมือนปัจจุบันขณะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม มีการรู้ลมหายใจเข้าออก ตอนนี้ลมหายใจเข้าออกสั้นแล้วนะ สั้นแล้วเหลือนิดเดียว ตลอด ๑๖ ขั้นตอน จับที่ลมหายใจตลอดนะทุกขั้นตอน แต่ว่าเบาเหลือนิดเดียว แต่ว่ายังจับอยู่ หายใจเข้า หายใจออก พอถึงขั้นที่ ๒ จะสั้นแล้ว พอขั้นที่ ๓ ก็หายใจเข้าออก ที่แรกมันยาว แล้วก็สั้นเข้า สั้นเข้า สั้นเข้า ตอนแรกเหลือเป็นจุด ที่มันเคยอย่างนี้นะ กลายเป็นอะไรรู้ไหม กลายเป็นสมาธิ จะเห็นสติกับสมาธิมีการเชื่อมต่อกัน จากเดิมตามรู้ คือ สติ เหมือนที่เคยยกตัวอย่าง เหมือนวัวที่มีความคึกคะนองแล้วเอามาผูกเชือก ปักไว้ที่หลักแล้ววิ่งรอบ วิ่งไปที่ไหนเชือกก็ตามไป พอหนักเข้าก็รู้มันตรงหยุดนิ่ง คือ สมาชิกแล้ว พอวิ่งไปวิ่งไปหนักเข้ามันเหนื่อย มันจะหยุดนิ่ง เป็นขั้นตอนที่ ๓ สัพพะกายะปะฏิสังเวที หายใจเข้า หายใจออก รู้ตัวทั่วพร้อม เป็นการรู้อยู่กับปัจจุบันขณะตอนนี้จะมีความรู้สึกว่าสบายมาก วัน ๆ หนึ่งถ้ารู้อย่างนี้เราจะสบายมาก เหมือนที่เคยเล่าให้ฟังว่าฝรั่งคนหนึ่งที่เขียนเรื่อง The power of now มหัศจรรย์แห่งปัจจุบันขณะ มีคนพูดถึงเยอะมากเรื่องมิราเคลเรื่องมหัศจรรย์แห่งปัจจุบันขณะ ถ้าเรารู้อยู่กับปัจจุบันก็จะไม่มีความทุกข์อะไรเลยเพราะอยู่กับปัจจุบันความทุกข์เกิดจากความคิดหรือสังขาร ที่เคยกล่าวไป ขั้นตอนที่ ๔ ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง คำว่า “กายะสังขารัง” หมายถึง ลม กำลังอยู่ในหมวดกาย กายสังขารการปรุงแต่งทางกาย คือ ลม ปัสสัมภะยัง แปลว่า สงบ ระงับ เป็นการทำลมให้หายใจสงบ ระงับ ขั้นที่ ๔ สงบระงับเหลือนิดเดียว แต่ยังรู้หายใจเข้า หายใจออกอยู่ “อัสสะสิสสามีติ” ยังรู้อยู่ ลมหายใจเข้าออกนิดเดียว เกือบเป็นจุดแล้ว และเบามากระงับอยู่ ตรงนี้จะเป็นสมาธิแล้ว แต่เดิม ๒ ขั้นตอน เป็นสติตามรู้ยาว ตามรู้สั้น และมีสติอยู่ทั้งตัว สัพพะกายะ เสร็จแล้ว “ปัสสัมภะยัง” แปลว่าสงบ ระงับลมหายใจ กายะสังขารแปลว่าลม เบา เป็นสมาธิแล้ว จากสติมาสมาธิแล้ว ตอนนั้นรู้สึกมีความสุขมากเลย แผ่ซ่านไปทั้งเนื้อ ทั้งตัว เป็น ๔ ขั้นตอน ในเรื่องรู้กาย
หมวดที่สอง คือ ฐานเวทนา หรือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นขั้นตอนที่ ๕ หรือขั้นที่ ๑ ของหมวดที่ ๒ เป็นเวทนา มีความต่อเนื่องกันมาเมื่อสักครู่ว่า แล้วเกิดเป็นสมาธิสุข เวลาเกิดสมาธิจะมีความสุข ขั้นตอนที่ ๕ ปีติปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ คำว่า “ปีติปะฏิสังเวที” คือ การรู้เฉพาะ เป็นการนำมาก่อน เป็นตัวนำของความสุข คำว่า “ปีติ” คือ ความอิ่มใจ มีความปีติ เราก็เคยปีติ คือ การรู้เวทนา คือ สุข ทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ มีปีติเป็นรางวัล ปีติเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ปีติบางคนบอกว่าเป็นความรู้สึกแบบหยาบ ๆ บางครั้งยังโลดโผนอยู่ ขั้นตอนที่ ๖ สุขะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ รู้เฉพาะซึ่งสุข มีความต่อเนื่องกันมาจากปีติ ปีติกับสุข เมื่อสักครู่ที่ได้กล่าวถึงขั้นตอนที่ ๔ ที่บอกว่า “ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง” เป็นสมาธิถ้าตรงนั้นใครอยากไปทางสมถะ คือ ทางสมาธิก็ตรงนั้นแหละเป็นจุดไปฌาน ๑ ๒ ๓ และ ฌาน ๔ แต่ไม่จำเป็นเพราะว่าเรามาทางวิปัสสนา ถ้าคนเล่นสมถะไปฌาน ๑ ๒ ๓ และฌาน ๔ ปีติกับสุขเป็นส่วนหนึ่งของฌาน ถ้าใครรู้ว่าฌาน ๑ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็มีวิตก วิจารณ์ ปีติสุข เอกัคคตา มีลักษณะ ๕ อย่างที่เรียกว่า ฌาน ๑ ตรงนี้เป็นส่วนของฌานแล้ว แต่ว่าไม่ไปทางสมาธิลึกแล้ว จะไปทางวิปัสสนา ตรงนี้เป็นจุดแยกกันมา เพราะตั้งแต่ตรงนี้ไปเป็นวิปัสสนาแล้ว จากเวทนา จิต ธรรม ช่วงแรกเป็นสติกับสมาธิ รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข เป็นขั้นที่ ๖ คือ สุขก็รู้ว่าสุข ตรงนี้เดี๋ยวจะไปขั้นต่อไป ขั้นที่ ๗ ที่ ๘ เพราะตรงนี้อาจจะติด เพราะว่ามันสุขมาก ปีติกับสุขจะสุขมากคนจะติดใจ จะติดอยู่ที่ตรงนั้น เขาเรียกวิปัสสนูปกิเลส เกิดกิเลสติดอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหนแล้วเพราะว่ามันชอบมันติดสุข คือ มีความสุขจริง ๆ มันเหมือนคนติดฝิ่น ติดอยู่ตรงนั้นไม่ไปทางปัญญาต่อไป ท่านก็มีแก้ตรงนี้ไว้ ขั้นตอนที่ ๗ จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ เวทนาเขาเรียกว่า จิตตะสังขาร เป็นการปรุงแต่งทางจิต เพราะว่าเวทนาเป็นจิต จำได้ไหมขันธ์ ๕ มีรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ อันนี้เป็นจิตแล้ว อันแรกรูปเป็นกายรูป ขันธ์ ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เพราะฉะนั้นมาขึ้นเวทนาเป็นเรื่องของจิตแล้ว เขาเรียกว่าเป็นจิตตะสังขาร เป็นการปรุงแต่งทางจิตแล้ว เพราะฉะนั้นขั้นที่ ๗ ปะฏิสังเวที ให้รู้เรื่องจิตตสังขาร แปลว่าให้รู้ปีติกับสุขเป็นจิตตสังขารว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ ดับ ไป มันไม่เที่ยง ให้รู้มันมันจะได้ไม่ติด ตรงนี้เป็นปัญญาเข้ามากำกับตรงนี้แล้ว ไม่ให้ไปหลงติดอยู่ตรงนั้น เรียกว่า จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที ให้รู้จิตตะสังขารเป็นการรู้เท่าทันปีติดกับสุข อย่าไปติดใจมัน อย่าไปติดที่นั่นให้รู้มัน ขั้นตอนที่ ๘ ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง ให้มันสงบระงับจิตตะสังขาร คือ การสงบระงับปีติกับสุขนั่นเองจะได้ต่อไป จะได้ไม่ติดอยู่ตรงนั้น คำว่า “ปัสสัมภะยัง” แปลว่า สงบ ระงับ “ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง” จิตตะสังขาร คือ ปีติกับสุขนั่งเอง ระงับเสียจะได้ไปต่อ จบหมวดเวทนา มี ๔ ขั้น คือ ขั้นที่ ๕ คือ ปีติ ขั้นที่ ๖ คือ สุข ขั้นที่ ๗ คือ รู้ทันมันว่าเป็นจิตตะสังขาร และขั้นที่ ๘ คือ ระงับมัน สงบ ระงับ ที่ปรุงแต่งจิต คือ ปีติกัลป์สุขนั่นแหละ (จบ จตุกกะที่สอง)
หมวดที่สาม คือ ฐานจิต หรือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ขั้นตอนที่ ๙ จิตตะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ คำว่า “ปฏิสังเวที” คือ การรู้เฉพาะ ซึ่งจิตเป็นอย่างไรก็รู้มัน จิตมีกิเลศหรือไม่มีกิเลศ มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีนิวรณ์หรือเปล่า รู้ทุกลักษณะของจิต ให้รู้จักจิตทุกแง่มุมของจิต จะได้รู้ทันจิต ไม่อย่างนั้นมันพาเราไปโดยไม่รู้ตัว อันนี้เป็นการหัดรู้ตัว ว่าจิตเป็นอย่างไร เป็นขั้นที่ ๙ ที่ว่า “จิตตะปะฏิสังเวที” ขั้นตอนที่ ๑๐ อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง ปราโมทย์อย่างยิ่ง อภิปราโมทย์ทำจิตให้ปราโมทย์ ทำจิตให้บันเทิง เป็นขั้นที่ ๑๐ แล้ว ทำจิตให้บันเทิง เป็นการจับเอาปีติกับสุขมาก็ได้หรืออื่น ๆ ก็ได้ ที่อะไรที่ทำให้เราบันเทิง นำถึงความดีที่เราทำเรื่องอะไรก็แล้วแต่ หรือถ้าเรารู้ทันทางปัญญา รู้เรื่องอนัตตา รู้เรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่มันทำให้จิตบันเทิงก็นำมาที่ตรงนี้ เป็นกำไรอีกแล้วจิตบันเทิง ซึ่งจะนำมาอย่างไรถ้าเข้าใจหลักจะเห็นในที่อื่น ๆ คือ ก่อนที่จิตเป็นสมาธิ ถ้าไปดูเรื่องโพชฌงค์ ๗ ซึ่งคราวหน้าไปโพชฌงค์ ๗ ไปเรื่องธรรมโอสถ จะเห็นว่าโพชฌงค์ ๗ ประกอบด้วย (๑) สติ (สติสัมโพชฌงค์) ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง (๒) ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ความเฟ้นธรรม ความสอดส่องสืบค้นธรรม (๓) วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) ความเพียร (๔) ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) ความอิ่มใจ (๕) ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ (๖) สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความมีใจตั้งมั่น จิตแน่วในอารมณ์ และ (๗) อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง ดังนั้นปีติหรือความบันเทิงทำให้จิตสงบไปเข้าสู่สมาธิ อันนี้สำคัญตามหลักทา
พุทธศาสนา จะเห็นตัวนี้ ตัวนี้นำมาก่อน ที่เรียกว่า “อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง” ทำจิตให้บันเทิงก็เรียกว่ากำไรอีกเหมือนกัน ปราโมทย์ก็ใกล้ ๆ กับเรื่องปีติทำจิตให้บันเทิง เราก็ทำและมีความสุขกับตรงนี้ไปด้วย เพราะว่าจิตมันบันเทิง ถัดจากขั้นตอนที่ ๙ มาเป็นขั้นตอนที่ ๑๐ เป็นความบันเทิงก็แล้วแต่ใช้เวลาอยู่นานเท่าไร อยากเสพความบันเทิงสักพักหนึ่งก็อยู่กันตรงนี้ไป พอจิตเกิดความบันเทิงจิตจะสงบ ระงับ ขั้นตอนที่ ๑๑ สะมาทะหัง จิตตัง หรือเป็นขั้นที่ ๓ ของจิต “สะมาทะหัง จิตตัง” การทำจิตให้เป็นสมาธิ ความบันเทิงนำมาก่อน จิตสงบไปถึงสมาธิ “สะมาทะหัง” จิตแน่วแน่เป็นสมาธิอยู่ที่ตรงนั้น อยู่กับสมาธิอยู่นานเท่าไรก็อยู่กับตรงนั้น ขั้นตอนที่ ๑๒ วิโมจะยัง จิตตัง หรือเป็นขั้นที่ ๔ ของจิต แปลว่าเป็นการเปลื้องจิต “วิโมจะยัง” แปลว่า เปลื้องจิต แปลว่าเปลื้องกิเลศตัณหาต่าง ๆ ให้จิตเกลี้ยง ปราศจากกิเลสตัณหา คือ วิโมจะยัง จิตตัง ทำจิตให้เกลี้ยงเกลา เป็นการล้างจิต ล้างมลพิษออกไป อาจเรียกว่าจิตประภัสสรก็ได้ หรือบางคนเรียกว่าจิตเดิมแท้ไม่กิเลส ไม่มีมลพิษเข้ามาเจือป่นเข้ามาครอบงำ จิตเป็นประภัสสร บางที่เรียกว่าจิตเดิมแท้ ท่านอาจารย์มั่นท่านเรียกว่าจิตต้น จิตประภัสสร จิตเดิมแท้ ถ้าไปอ่านเรื่องมหายาน เรื่องเว่ยหล่าง เรื่องฮวงโป พูดตรงนี้เยอะมากจิตเดิมแท้หรือจิตประภัสสร ตามปกติจิตเดิมแท้มันประภัสสร ยังไม่ถูกมลพิษเข้ามาเจือป่น หรือครอบคลุมอยู่ ความหมาย คือ จิตเกลี้ยง เกลี้ยงจากกิเลสตัณหา มลพิษทั้งหลาย เป็นจิตประภัสสร คือ วิโมจะยัง จบจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาถึงขั้นนี้ก็ไปไกลแล้ว
หมวดที่สี่ ฐานธรรม หรือ ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นขั้นเพชฌฆาตลงดาบเลย เป็นเรื่องธรรมแท้ ๆ แล้ว ขั้นตอนที่ ๑๓ อะนิจจานุปัสสี คือ อนิจจา ว่าลักษณะธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา เรียกว่าลักษณะ ๓ ประการ ของความเป็นจริง คือ เป็นอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา พอพูดอนิจจังอันเดียวก็สามารถไปได้ทั้ง ๓ อันเลย เป็นตัวแทน คือ ขั้นนี้ คือ อะไรเข้ามาเนี้ย เพราะว่าตอนนั้นอาจจะมีอะไรแวบเข้ามาได้จากเวทนา สัญญา สังขาร หรือว่าอะไรก็ได้เนี้ย ก็ให้รู้ว่าเป็นอนิจจัง อนิจจา เรียกว่าเป็นธรรม คือ ให้รู้ธรรม คือ รู้ความจริง ขั้นตอนที่ ๑๔ วิราคานุปัสสนา ให้รู้ความจางคลาย จางคลายของกิเลส พอรู้อนิจจังก็จางคลาย จางคลายจากราคะเรียกว่า “วิราคา” จางคลายของราคะ ที่จริงธรรมเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด คือ อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา ขั้นตอนที่ ๑๕ นิโรธานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือ นิโรธ สงบ ระงับไปหมดแล้ว ตัณหาก็สงบระงับไปหมดแล้ ก็เหมือนอริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ประกอบด้วย (๑) ทุกข์ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความทุกข์ (๒) สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุให้เกิดทุกข์ (๓) นิโรธ คือ ความจริงที่ว่าด้วยความดับทุกข์ และ (๔) มรรค คือความจริงที่ว่าด้วยทางแห่งความดับทุกข์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค วิธีทำให้เกิดมรรค ๘ นิโรธ คือ ความสิ้นไปของตัณหา ถ้าย้อนกลับไปดูตรงนั้น ท่านก็จะบอกว่า “ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ” คำว่า “อเสสะ” แปลว่าไม่มีเศษเหลือเลย คำว่า “วิราคะนิโรโธ” คือ การสิ้นไปของตัณหา “ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ” การสิ้นไปดับไปของตัณหาอย่างไม่เหลือเศษเลย ก็ยังย้ำอีกใน ขั้นตอนที่ ๑๖ ปะฏินิสสัคคานุปัสสนา คำนี้ก็จะใช้บ่อยมาก คำว่า “ปะฏินิสสัคโค” แปลว่าไม่เอาแล้วสลัดคืนไปทั้งหมด ตัณหา ราคะ ทุกชนิดสลัดคืนทั้งหมด คือ นิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นท่านถึงได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วอานาปานสติทำให้ทุกอย่างบริบูรณ์ ไปถึงโพชฌงค์ ๗ ก็บริบูรณ์ อริยสัจ ๔ ก็บริบูรณ์ ไปจนถึงนิพพานเลย เริ่มตั้งแต่ลมหายใจพอสุดท้ายก็นิพพานไปเลย “ปะฏินิสสัคคานุปัสสนา” การสัดคืนไปหมดแล้ว เป็นของขั้นตอนที่ ๑๖
สิ่งเหล่านี้ก็ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อยากจะลัดขั้นตอนก็มี มาถึงขั้นตอนที่ ๔ ของกาย ก็ลัดไปปัญญาตรงโน่นเลยก็ได้ไม่ต้องผ่านเวทนากับเรื่องจิตก็ได้ ไปอนัตตาเลยก็ได้ ถ้าแบบเต็มที่คลาสสิกก็มีอย่างนี้ ๑๖ ขั้นตอน แต่ก็มีการดัดแปลงมีเคล็ดมีอะไรต่าง ๆ นานากัน ถ้าเจออันไหนผมก็เอามาดู เพราะอาจารย์ก็มีเคล็ดมีอะไรที่ต่าง ๆ กัน คราวนี้มีหลวงพ่อเอี้ยน (พระครูวินัยธร มหาทรงศักดิ์ วิโนทโก) ณ สำนักวิปัสสนาวังสันติบรรพต อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง คราวก่อนหลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล ภาวนาน้ำเย็น แต่ของหลวงพ่อเอี้ยน ร่วมด้วย พุทโธ พุทโธ พุทโธ เลยแทน เห็นหลักทางพุทธเลยว่า สติ สมาธิ ปัญญา สติตามรู้สมาธิ จิตแน่วแน่แล้วก็ปัญญา เข้าถึงความจริง คือ ธรรม เข้าถึงความจริงที่ไม่มีทั่วตน หลวงพ่อเอี้ยนก็บอกว่าเอาเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ ให้รู้เลยว่าพุทโธ คือ สติ สมาธิ ปัญญา แล้วก็ให้อยู่กับความว่าง ท่านเป็นพระอรหันต์ด้วย ท่านเรียกว่าวิญญาณอมตะสู่นิพพาน วิญญาณของท่าน คือ ธาตุรู้ คำว่าอมตะที่ของพุทธเจ้าใช้ ท่านจะไปนึกถึงตัวร่างกาย ท่านบอกคนที่เข้าถึงธรรม ที่เคยเกิดก็จะไม่เกิด ที่เคยแก่ก็จะไม่แก่ ที่เคยตายก็จะไม่ตาย ถ้าใครเข้าถึงธรรมเรียกว่าเป็นอมตะ ไม่ตายก็ว่าเอ๊ะ! พระพุทธเจ้าก็ยังตายนี้ นั่นคือ ร่างกายตาย แต่ว่าจิตการเกิดเนี้ย อันนี้ก็แปลกันผิด ๆ เยอะ รวมทั้งพุทธโฆษาจารย์ที่เขียนวิสุทธิมรรคด้วย ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านบอกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เกิดข้ามชาติอะไรไป ท่านบอกว่าเกิดเป็นตัวกู ของกู เกิดเป็นอัตตาขึ้นมาแปลว่าการเกิด เพราะการเกิดอะไรก็ต้องมีการเสื่อม แล้วก็มีการตาย เพราะการพูดจะพูดกันว่า “ชาติ ชรา มรณะ” คือ ชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่) มรณะ (ความตาย) มีการพูดกันเป็นประจำจนเหมือนเป็นคำเลยที่แปลว่าความทุกข์ แต่ที่นี้หมายถึง การเกิดตัวกู ของกู การเกิด แต่พอไม่มีตัวกูของกูก็ไม่มีการเกิดก็ไม่มีการตาย ที่เรียกว่า “อมตะ” อาจารย์เอี้ยน ท่านใช้คำนี้ที่เป็นคำแปลก ท่านคิดขึ้นมาเองท่านเรียกวิญญาณอมตะ วิญญาณ คือ ธาตุรู้ จิต คือ ธาตุรู้ คือ วิญญาณ พอธาตุรู้ไปรู้ความว่าง มันไม่มีตัวกูของกู ก็ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย ท่านถึงเรียกว่าวิญญาณอมตะ ท่านก็ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วเอาพุทโธเข้าสู่ความว่างเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ อันนี้ก็สั้นกว่า ๑๖ ขั้นตอน ใช้พุทโธแทนสติ สมาธิ ปัญญาเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถึงได้บอกว่าให้บริกรมอย่างสายอาจารย์มั่น จะบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ ท่านก็สอว่าทำไร่ ทำนา ก็พุทโธ พุทโธ พุทโธ พยายามอย่าให้กิเลสมันเข้า ให้พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปเรื่อย ๆ อันนี้ก็เป็นความจริงนะ ถ้าใครไม่สบายอก สบายใจ ให้พุทโธ พุทโธ พุทโธ เดี๋ยวมันก็หายไป คราวหน้าจะพูดถึงเรื่องธรรมโอสถ การบริกรรมถึงมีทุกศาสนา ทุกศาสนาเลย เป็น meditation คือ ภาวนา แล้วก็มาบริกรรมอย่างพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าธรรมกายเป็น สัมมาอรหัง สัมมาอรหัง สัมมาอรหัง ซ้อมแล้วเกิดสมาธิ แล้วเกิดดวงแดง ๆ ขึ้นในท้อง แล้วท่านเรียกว่าธรรมกาย แล้วอย่างที่เคยเล่าคนธิเบต ที่บอกว่าบริกรรม โอม มณี ปัทเม หูม (Om Mani Padme Hum) จะมีการบริกรรมอย่างนั้นตลอดเวลา แล้วก็มีที่ปั่นเป็นลูกกลมแล้วก็กล่าว โอม มณี ปัทเม หูม ไปด้วยตลอดเวลา ถ้าเราเข้าใจถือว่าเป็นตัวแทน สติ สมาธิ ปัญญาไปเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามีการพุทโธเมื่อไรเราก็นึกถึง สติ สมาธิ ปัญญา คือ หลักของการภาวนา อย่างที่เราเห็น ๑๖ ขั้นตอน คือ สติ สมาธิ ปัญญา ถ้ามาเหลือสั้นก็อย่างที่ว่านี้ ท่านพุทธทาสก็เคยสอนว่าให้จิตว่างอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเข้าท่านก็ทรงตรัสว่า วัน คืน ตถาคตเป็นอยู่ด้วยสุญญตา ตถาคตอยู่ด้วยจิตว่างตลอดเวลา เรื่องจิตว่างก็มีการขยายตัวออกไปได้เยอะ เมื่อตอนที่ท่านพุทธทาสมาสอนใหม่ ๆ เรื่องสุญญตา “จิตว่าง” ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็โจมตีท่านเยอะ ท่านบอกว่ายิ่งทำให้คนสนใจเรื่องจิตว่างเร็วขึ้น ที่ท่านคึกฤทธิ์ ปราโมช โจมตีท่าน อันนี้ก็อย่างที่ว่า ๑๖ ขั้นตอน ก็เหลือ ๓๐ นาทีพอดีที่บอกว่ากินเวลา ๔๕ นาทีไป
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ในที่นี่ยังไม่ใครได้เคยพยายามเรื่องอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอนบ้างครับ พอฟังอาจารย์ประเวศ วะสี ทั้งกายที่ว่าด้วยลมหายใจ เรื่องเวทนาที่ว่าด้วยปีติ จิต และเรื่องของความจริงที่ทำให้ เป็นการทบทวนเรื่องความจริง ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านบอกว่าถ้าหากว่าแบบลัดสั้น คือ มาถึงขั้นที่ ๔ แล้วก็มาขั้นตอนที่ ๑๓ ขั้นตอนที่ ๑๔ ขั้นตอนที่ ๑๕ และ ขั้นตอนที่ ๑๖ เลยก็ได้ ท่านบอกว่าอย่างนั้น
ท่านใดมีข้อสงสัยหรือข้อคำถาม เมื่อสักครู่เห็นบางคนก็เจริญจิตไปด้วย ฟังไปก็เหมือนกับท่านมานำภาวนาให้ ฟังไปด้วย เจริญจิตไปด้วย มีข้อยากจะถามไหมครับ เพราะความเป็นจริงแล้วมันซับซ้อนกว่านี้เยอะ อาจารย์พูดแบบลื่นไหลอยู่ในใจหมดเลย ผมต้องเอามาเปิดดู ไม่ได้มาเช็คครับไม่กล้า แต่ดูว่าอย่างนี้นี่เอง มีไรไหมครับแลกเปลี่ยน หรือสอบถาม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ถ้าศึกษาแต่ทฤษฎีจะไม่เข้าใจนะ ๑๖ ขั้นตอนถ้าไม่เคยเจริญสติมาก่อน ถ้ายังไม่เข้าใจตลอดก็ไม่เป็นไร แล้วก็พยายามเรื่อย ๆ ไป
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : หรือแม้กระทั่งการฟัง บางที่ก็ไปไม่ถูก ถ้าไม่เคยทำ ผมมีความรู้สึกอย่างนั้นนะ ถ้าท่านใดจะสอบถามขอเรียนเชิญครับ
ผู้ฟังที่สวนโมกข์กรุงเทพ ชั้น ๑ : กราบเรียนท่านอาจารย์ครับ อาจารย์พูดเหมือนกับง่ายแต่ในทางปฏิบัติจริงง่ายเหมือนกับที่ท่านอาจารย์พูดไหมครับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ก็ยากครับถึงต้องได้ลองเรื่อย ๆ ลองทำล้มแล้วทำใหม่ ล้มแล้วทำใหม่ แต่จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในที่สุดแล้วจะได้เหมือนที่ผมเคยกล่าวเหมือนคนหัดว่ายน้ำ ใหม่ ๆ ก็ยากว่ายน้ำ ที่เราจะดำหรือว่าเราจะทำอะไรมันยากจริง ๆ แต่ในที่สุดก็ว่ายได้ทุกคน คือพยายามเรื่อยไป มองไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายอยู่
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช :ผมขอถามต่ออย่างตอนนี้อยู่กับลมหายใจเข้า-ออก หายใจเข้า-ออกยาว อาจารย์นับนิ้วนะ จนกระทั่งถึงสิบ ไปกี่จบแค่นี้น่าจะเป็นขั้นพื้นฐานที่ง่ายที่สุด อาจารย์ทำอย่างนี้อยู่สักเท่าไร
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ของผมทำยากทำอย่างไรให้มันได้ เพราะจิตคอยไปคิดอยู่เรื่อย ๆ ก็อย่างที่ว่าพยายาม อย่างที่เคยพูดไว้ก่อนหนึ่งก็นับมันช่วยให้มีเป้าหมาย เช่น เช่นเอาให้ได้ ๑๐ ที่แรกก็ตั้งเป้าหมาย ๕ ก่อน ง่าย ๆ มันยังไม่ค่อยเช้าถึง เอาแค่ ๕ ก่อน ถ้าได้ ๕ เราก็เพิ่มเป็น ๖ เป็น ๗ ตัวที่เพิ่มตรงนี้ คือ ตั้งใจเอาจริง ตั้งใจเอาจริง ถ้าเราอ่อนแอมันจะล้ม ต้องเอาจริงที่ตรงนี้เขาเรียกว่าวิริยะ เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าอินทรีย์ ๕ พละ ๕ จะเห็นตรงนี้ พละ ๕ (๑) ศรัทธาพละ ความเชื่อ กำลังแห่งความเชื่อ ความศรัทธา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อศึกษาจะเห็นคุณของพระธรรม พระสงฆ์ ถ้าศึกษาให้เข้าใจมีคุณมากจริง ๆ พระพุทธเจ้านี้ไม่รู้คนะรรมดาเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร พระพุทธเจ้าแค่อายุ ๓๕ ปี แต่รู้ได้ละเอียดลออหมด นึกถึงคุณมีศรัทธา (๒) วิริยะพละ ความเพียร กำลังแห่งความเพียรพยายาม คือ ความกล้าหาญเอาจริงเอาจัง ถ้าอ่อนแอจะแพ้มัน เพราะฉะนั้นวิริยะถึงมีความสำคัญ (๓) สติพละ ความระลึกได้ กำลังแห่งสติ ระลึกรู้ (๔) สมาธิพละ ความตั้งใจมั่น กำลังแห่งใจที่ตั้งมั่น และ (๕) ปัญญาพละ ความรอบรู้ กำลังแห่งความรู้ที่เกิดจากปัญญาญาณ อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธาวิริยะนำมาก่อน แล้วก็สติ สมาธิ ปัญญา อินทรีย์ ๕ คำว่า “อินทรีย์” ในที่นี้หมายความว่า “เป็นใหญ่” แล้วท่านก็ซ้ำอีกเป็นพละ ๕ คือ อันเดียวกัน คือ ๕ อัน แต่ว่ามันกลายเป็นพลังไปแล้ว ที่แรกมันหมายถึงความเป็นใหญ่ คือ ทำได้ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ก็ต้องพยายามหลายอย่าง ที่พยามทำทำให้เข้าธรรมต่าง ๆ ขึ้นด้วยไม่อย่างนั้นเราท่องผ่าน ๆ ไป
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : อาจารย์ทุ่มเทจนถึงขั้นที่ว่ารู้พร้อมเฉพาะ แล้วก็สงบ ระงับอยู่ มันอย่างไรอาจารย์ระหว่างไปถึงจุดนั้น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ผมใช้เวลานานมากนะ ผมไปกรรรมฐานกับพระสังฆราชอัมพรที่อีสานตั้งแต่ยังหนุ่ม ๆ อายุ ๓๐ กว่า ๆ ก็ล้มลุกคลุกคลานมาเรื่อย ๆ แล้วเราก็ไปทำงานวิชาการเสียเยอะ ส่วนอันนี้ก็ล้มคลุกคลานมาเรื่อย ๆ แต่ว่ามันก็มีผล ผลแรก ๆ ซึ่งปกติคนธรรมดา มันจะมีความหงุดหงิดรำคาญอยู่ในสมองอยู่เสมอ มีความหงุดหงิดรำคาญที่ท่านเรียกว่าปฏิฆะมันหายไปนะ เสร็จแล้วมีความรู้สึกว่าสบายจริง ๆ นะ เราไม่มีความหงุดหงิดรำคาญ ความหงุดหงิดรำคาญเป็นความโกรธอ่อน ๆ มันไม่พอใจ อะไรก็แล้วแต่มันไม่พอใจคนนั้น คนโน่น คนนี้ การทำดินฟ้า อากาศ อะไรก็แล้วแต่ มันจะมีความหงุดหงิดรำคาญเป็นเจ้าเรือนธรรมดา แต่ถ้าเราทำไปเรื่อย ๆ อันนี้มันหายไป เราก็รู้สึกสบายดีกว่าหงุดหงิดรำคาญ ค่อย ๆ มาเรื่อย ๆ
คุณวัชรี เผ่าเหลืองทอง : ไปปฏิบัติธรรมาหลายสำนัก แต่ก็ไปเจอท่านหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อคำเขียนพูดคำเดียวกลับบ้านเลยค่ะ ท่านบอกว่างานยุ่งหรือใจยุ่งว่าเราไม่เข้าใจ อาจารย์ค่ะอย่างที่คุณหมอบัญชาถามว่า คือ กระบวนการต้องเป็น ๑๖ ขั้นตอนเสมอไปหรือเปล่าค่ะ คือ เป็นคนที่ทำงานทางด้านสังคมมาก่อนเยอะมาก เคยไปที่สวนโมกข์ก็ง่วงนอนมากไปปฏิบัติที่วัดธารน้ำไหล ๑๐ วัน เข้าคอร์สก็ง่วงนอนมาตอนนี้ก็อายุเยอะแล้ว ก็มาปฏิบัติเหมือนสายพุทโธ แต่ก็ว่า คือ ให้ท่องคำภาวนาซ้ำ ๆๆๆ แต่ใช้คำว่า “รู้” คำเดียวเพราะท่านอาจารย์บอกว่าคำว่า “รู้” กับพุทโธเหมือนกัน เคยถามอาจารย์เหมือนกันเพราะว่าในสติปัฏฐานสูตรเคยบอกว่าจะต้อง ๑๖ ขั้นตอน อาจารย์บอกไม่ต้องมาถามมากปฏิบัติไปเถอะ จะทำต่อเนื่องได้อย่างไร แม้กระทั่งการท่องคำภาวนาอาจารย์บอกว่าคุณต้องทำให้ได้ต่อเนื่องให้ได้ หรือแม้กระทั่งทำอาหาร ซักผ้า ขับรถ ต้องมีคำภาวนานั้นอยู่ในใจอาจารย์บอกว่าต้องทำให้ได้ ที่อาจารย์บอกว่าวิริยะ แม้ว่าจะท่องคำภาวนาก็ต้องผ่าน ๑๖ ขั้นตอนของอานาปานสติหรือเปล่าค่ะ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : อันนี้ไม่ต้องรู้ก็ได้ ๑๖ ขั้นตอน อาจารย์คำเขียนเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ หลวงพ่อเทียนไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ทฤษฎีอะไรเลย เป็นคนจังหวัดเลย ท่านไปลองมาหลายอย่างแล้ว แล้วท่านไปเจอเรื่องการเคลื่อนไหวมือ คือ การให้รู้มือเคลื่อนอย่างไรก็รู้ ท่านมีการทำมือแล้วก็รู้ คือ มันง่ายกว่าลม ลมจับยากจึงมีคนดัดแปลงไปต่าง ๆ นา ๆ แล้วอีกอันหนึ่ง คือ รู้ อันนี้ก็รู้กายเหมือนกัน รู้กลาย คือ การเคลื่อนไหว อาจารย์คำเขียนทำแบบนี้จนกล้ามขึ้นเลย เพราะเคลื่อนไหวเราก็รู้ หนักเข้ามันก็รู้อยู่ตลอดเวลา นี่คือ สติรู้ รู้อยู่กับปัจจุบัน แล้วท่านก็บอก ก็รู้แค่นั่นแหละรู้แล้วก็ไม่ต้องไปคิด ผมก็เคยไปฝึกกับหลวงพ่อเทียนนะ หนักเขาก็รู้อยู่กับปัจจุบัน คอยดูความคิด ท่านบอกเหมือนแมวคอยตะปบหนูถ้าความคิดโพล่งขึ้นมาคอยตะปบเลยมันก็หยุด คือ รู้เนี้ยมันรู้ “รู้” มันเหมือนแมว ถ้าหนูโพล่งมาคือความคิด “ความคิด” ก็คือ สังขาร ความคิดปรุงแต่ง ปกติปรุงแต่งตลอดเวลามาจากความจำบ้าง มาจากการรับรู้วิญญาณ พอเคลื่อนไหวมันคอยตะปบ รู้อยู่อย่างนั้น รู้ซื่อ ๆ อันนี้ คือ การรู้อยู่กับปัจจุบัน ไม่มีทฤษฎี ไม่มี ๑๖ ขั้นตอนอะไรเลย สามารถบรรลุธรรมได้ตรงนี้นะ คือ สังขารปรุงแต่ง ไม่เกิด ที่เรียกว่าวิสังขาร ในหนังสือที่คุณหมอบัญชาพิมพ์ เรื่อง ๙ พระสูตรปฐมโพธิการ ยังมีอยู่เปล่าเล่มนั้นร่วมไว้เยอะนะ มีตอนหนึ่งหลังจากที่พระพุทธเจ้าบรรลุธรรมแล้ว “วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะมัชฌะคา” จิตของเราได้ถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุแต่งไม่ได้อีกต่อไป มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา คือ การไม่ปรุงแต่งคือการดูความคิดที่แมวตะปบหนู อาจารยคำเขียน หลวงพ่อเทียน ท่านก็ยังนั้นนะ รู้ซื่อ ๆ รู้อยู่อย่างนี้ หลวงพ่อเทียนรู้อยู่ตลอดเวลา แล้ววันหนึ่งก็ขาดผึงไปเลย มันไม่กลับมาอีก ที่เรียกว่ามหัศจรรย์แห่งปัจจุบันขณะ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็น เพราะมีเทคนิคหลายอย่างด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องรู้ ๑๖ ขั้นตอนก็ได้
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ผมขออนุญาตเติมประเด็นเป็นกรณีศึกษาที่ผมเองก็ระลึกถึงเสมอ ทุกท่านคงรู้จักท่านเขมานันทะ อาจารย์เขมานันทะมีความตั้งใจไปบวชศึกษาและเป็นผู้บรรยายของสวนโมกข์ วันหนึ่งที่ท่านบรรยายอยู่วัดชลประทานอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน ปรากฏว่าวันหนึ่งที่ท่านบรรยายอยู่ก็หลวงพ่อเทียนก็ไปเหมือนกัน หลวงพ่อเทียนนั่งฟังอยู่ข้างล่าง ทางหลวงพ่อปัญญาให้หลวงพ่อเทียนขึ้นไปบรรยาย หลวงพ่อเทียนบอกว่าบรรยายไม่ได้ แล้วมีวันหนึ่งหลวงพ่อเทียนท่านไปนำภาวนา แล้วอาจารย์เขมานันทะนั่งฟัง อาจารย์เขมานันทะท่านบอกว่าใช้ตามทฤษฎีไม่ก้าวหน้า สุดท้ายท่านเขมานันทะสึก แล้วไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเทียน ทฤษฎี ก็คือ ทฤษฎี แต่การปฏิบัติต้องพยายาม และอย่าตายตัวกับทฤษฎี เพราะอาจจะก็ได้เราอาจจะไปอีกแนวหนึ่งได้หรือเปล่า ที่ผมพูดมาตลอดพูดแบบลูกทุ่ง ไม่ต้องคลาสสิกอะไร ไม่อยากบรรยายคลาสสิกเพราะว่ามันจะยาก
คุณธน จันทร์เกษม : ขณะที่ฟังอาจารย์พูดผมก็ดูจิตตนเองไปด้วยทั้ง ๑๖ ขั้นตอน นั่งดูใจว่าเวลาอาจารย์พูดแต่ละขั้นตั้งแต่ ๑ – ๑๖ ขั้นตอน มีสภาวะในใจที่เกิดขึ้นว่าเดียวก็สงสัย พออาจารย์พูดขั้นต่อไปคลายความสงสัยในใจของผมได้ จิตความรู้สึกก็สว่างขึ้นในใจ พอพูดขั้นต่อไปเรื่อย ๆ เดียวก็เกิดความสงสัย เดียวเกิดความเข้าใจ ผมเห็นสภาวะจิตของผมที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป พอสิ่งที่อาจารย์พูดกระทบหูผมเกิดสัญญา เกิดการจำได้หมายรู้ นั่นหมายว่าสิ่งที่ผมกำลังพูดอยู่ตอนนี้ใช้ธัมมานุปัสนาหรือเปล่า คำถมที่สอง คือ การจะบรรลุธรรมเราต้องพึ่งขันธ์ ๕ หรือสัญญาความจำได้หมายรู้ ให้สัญญาเกิดขึ้นในใจเราก่อน แล้วเราจึงค่อยละขันธ์ ๕ อะไรอย่างนี้หรือเปล่าครับ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : ที่เล่ามาก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัวนะก็ดี คือ มันไม่สามารถเรียนรู้จากข้างนอกได้มันต้องดูในตัวของตัวเอง เขาถึงเรียกภายใน Inner development ต่างจากการเรียนรู้ทั่ว ๆ ไป เพราะการเรียนรู้ทั่ว ๆ ไปเรียนรู้ที่เขาเรียกว่า “สุตะมยปัญญา” จากการฟัง คือ ข้อมูลนั่นเอง เดี๋ยวนี้ข้อมูลเยอะ ข้อมูลเต็มไปหมดเลย เป็นขยะ นึกว่ามีข้อมูลเยอะแล้วคนจะดีขึ้น ไม่ใช่นะกลับเสื่อมลง เพราะแยกไม่ออก ข้อมูลเยอะ อดีตรองประธานาธิบดีของอเมริกันคนหนึ่งชื่อ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เขาบอกเขาอยู่มาก่อนสมัยมีโทรทัศน์ ตั้งแต่มีโทรทัศน์คุณภาพของคนเหลวลง เพราะแต่ก่อนนี้ที่มีการสื่อสารได้มีน้อย มีแต่ปรมาจารย์ พระศาสดา แต่ตอนนี้ทุกคนสื่อสารได้หมด ตอนนี้จะลำบากมาก ถ้าไม่ดึงไปสู่การปฏิบัติ จะไม่รู้เลยว่าอะไรดีหรือไม่ดีเพราะว่ามันเยอะไปหมด อันนี้ที่เรียกว่า “สุตะมยปัญญา” คือ ข้อมูล แต่ก่อนได้จากการฟัง แต่เดี๋ยวนี้มาทางช่องทางต่าง ๆ เรียกว่าระดับ “สุตะ” ระดับ “จินตามยปัญญา” คือ ปัญญาจากการพิจารณาการใช้เหตุผล ตรรกะเรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องความรู้เรื่องอะไรต่าง ๆ เป็น “จินตามยปัญญา” มันก็ยังเป็นเรื่องภายนอกอยู่ดี พอมาถึง “ภาวนามยปัญญา” เป็นเรื่องภายใน ต้องศึกษาดูว่าอะไรเกิดขึ้นภายในใจ แต่พอเรามีหลังและตามรู้ว่าชีวิต คือ ขันธ์ ๕ รูป คือ ร่างกาย เวทนา คือ ความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ สุข ทุกข์ คือ เวทนา สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ สังขาร คือ การคิด ปรุงแต่ง วิญญาณเป็นการรับรู้เข้ามา ทุกอย่างเป็นพลวัฒน์ เป็น dynamic โดยที่เราไม่รู้ตัวจะมีอุปาทานนึกว่าพวกนี้ คือ ตัวตนของเรา ซึ่งเราก็จะมีตามปกติเป็นอย่างนั้น แต่พุทธเจ้าท่านเก่งจริง ๆ ท่านเห็นตรงนี้แล้วก็นำมาสอน มันสอนไม่ได้ด้วยทฤษฎี คิดไม่ได้ มาจากการปฏิบัติแล้วเห็นอย่างที่เล่า แล้วมันเห็นเอง ถึงได้นำมาสอนได้ เพราะฉะนั้นตรงที่เล่าทำให้เรารู้เท่าทันมัน ว่านี่ คือ สัญญา อ่อนี้ คือ สังขาร อ่อนี้ คือ วิญญาณ รับมาจากภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น รับจากภายนอก รับเข้ามาแล้วก็จำได้หมายรู้ เข้ามาปรุงแต่งต่าง ๆ เป็นไปตลอดเวลา แต่เราไม่รู้มัน พอรู้เท่าทัน คือ ทางพุทธ คือ การรู้ รู้ความจริงเท่าทันมัน รู้ว่านี้เป็นอย่างไร สัญญาเป็นอย่างไร และมีอุปาทานอย่างไร ที่ท่านบอกว่าสังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา อุปาทานในขันธ์ ๕ เป็นความทุกข์ไล่ดูก็จะจริง ถ้าเรายึดมั่น ถือมั่น ในตัวตนเของเรานั่นคืออุปาทาน ซึ่งมันไม่ใช่ ปกติไม่มีตัวตนเป็นธรรมชาติ ไปดูธรรมชาติไม่มีตัวตนหรอก แต่มนุษย์มีตัวตน ต้นไม้ ใบหญ้า สัตว์ เป็นไปตามธรรมชาติ พระพุทธเจ้าท่านเก่งจริง ๆ ที่เห็นตรงนี้ ไม่น่าจะคนรู้ด้วยท่านรู้แล้วท่านก็นำมาสอน ก็ต้องดู เป็นภาวนามยปัญญา เป็นภายในแล้ว ไม่เหมือน สุตมยปัญญา กับ จินตามยปัญญา วิทยาศาสตร์อยู่ในตรงนั้น ถ้าเราฟังเรื่องกาลามสูตร อย่าปลงใจเชื่อเพราะเหตุ ๑๐ ประการ อย่าปลงใจเชื่อเพราะเล่าลือกันมา อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะดี เพราะเป็นจินตามยปัญญา แม้แต่ผู้พูดเป็นศาสดาของเราก็อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ กาลามสูตร แต่ทำไมละก็ต้องลองปฏิบัติดู แล้วจะรู้ว่าอันไหนเชื่อได้ ตรงนี้จะช่วยบอกปัจจุบัน
ปัจจุบันนี้ เรื่องการสื่อสารมันเยอะมาก แล้วคนไม่รู้หรอกว่าอันไหนจริงหรือไม่จริงมีเต็มไปหมด และการศึกษาของเราก็อย่างที่ว่าไปเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ผมถือว่าเรื่องการปฏิบัติจำเป็น ต้องปฏิบัติถึงจะรู้ว่าเชื่อได้หรือไม่ได้ ที่ผมพยายามพูดเรื่องปัญญาอยู่ตอนนี้ ผมถึงได้เขียนยุทธศาสตร์ทางปัญญาตอนนี้เห็นผู้คนแล้วกลัวตกเป็นเหยื่อ โทรทัศน์ก็ออก วิทยุ โซเซียลมีเดีย อะไรต่ออะไร แล้วคนจะเอาตัวรอดได้อย่างไร ต้องปฏิบัติ ผมเขียนหลักสูตร เราต้องมีหลักคิด ผมอยากสอนคนรุ่นใหม่ที่ไปต่อในอนาคตมันต้องมีหลักคิด ถ้าไม่มีหลักคิดแล้วศึกษาในปัจจุบันแล้วไปไม่รอดหรอก ทำอะไร ผมอ้างคำพูดของจีน คนจีนเขาพูดว่า “ชีวิตคนประดุจฟ้า” ชีวิตคนสูงประดุจฟ้า สำคัญที่สุด ที่จริงมาจากหลักอย่างนี้ หลักที่ว่าธรรมชาติ คือ สิ่งสูงสุด ธรรมชาติ คือ ธรรมะ ธรรมชาติเป็นเหตุเป็นผลที่สุด ธรรมชาติฉลาดที่สุด อย่างธรรมชาติสร้างมนุษย์มาไม่มีใครสร้างได้ แต่ธรรมชาติสร้างได้ สิ่งร่างกายมนุษย์เป็นสิ่งที่วิจิตรที่สุดในโลกจักรวาล ถ้าใครรู้ชีววิทยา รู้เซลล์ รู้ดีเอ็นเอ มีความวิจิตรมาก วิจิตรจริง ๆ ไม่มีใครวิจิตรเท่านี้นะ คือ ธรรมชาติ เพราะฉะนั้นชีวิตคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเอาหลักธรรมชาติ และทำอะไรต้องเรียนรู้จากธรรมชาติ หรือเลียนแบบธรรมชาติ อย่าไปคิดเอาเองว่าเราเก่งกว่าธรรมชาติ อันนี้จะพลาดเสมอ เอาธรรมชาติเป็นตัวตั้งต้องเอาอะไร เอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง ถ้าเราเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้งจะพลาดเสมอ เช่น เศรษฐกิจไปเอาประสิทธิภาพกับความมั่งคั่งเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง ก่อความเหลื่อมล้ำทั่วโลกเลยพลาดแล้ว คนที่ได้รับรางวัลโนเบล บอกว่าระบบเศรษฐกิจอย่างนี้ดี ผมบอกว่าไม่เชื่อถ้าคุณไม่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง มันไม่ใช่ถึงคุณได้รางวัลโนเบลผมก็ไม่เชื่อ อย่างในอเมริกาลองมาแล้ว ๓๐ ปี ปรากฏว่าไม่จริง ที่มิลตัน ฟรีดแมน รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี ๑๙๗๖ ที่พูดไว้ไม่จริง แต่เวลาล่วงไป ๓๐ ปี สหรัฐอเมริกาแย่ไปเลย
การศึกษาก็เช่นเดียวกันไปเอาวิชามาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง เรียกว่าพลาดเกิดความเสียหายใหญ่โต คนไม่รู้หรอกว่าเสียหายแค่ไหน การศึกษาแบบนี้เสียหาย เราสร้างคนมาทำอะไรไม่เป็น ถ้าเราไปดูมาว่าชีวิตมันเรียนรู้อย่างไร เราต้องไปดู ชีวิตไม่ได้เรียนรู้ให้ท่องเป็น แต่ชีวิตเรียนรู้ให้ทำเป็น เด็กเกิดมาต้องดูดนมเป็น ต้องร้องไห้เป็นถ้าต้องการให้คนช่วย ต้องเคลื่อนไหวเป็น ต้องนั่งเป็น ยืนเป็น เดินเป็น ต้องทำอะไร อะไรเป็น หนักเข้าก็ต้องทำงานเป็น คิดเป็น จัดการเป็น ล้วนให้ทำเป็นไม่ใช่เรียนเพื่อท่องวิชา เพราฉะนั้นจัดหลักสูตรตรงนี้ ผมเรียกว่าเป็นฝรั่งหน่อยเพื่อให้คนคิดว่ามันโก้ WBL การเรียนรู้โดยเอางานในฐานการทำงาน เรียนรู้ให้ทำงานเป็น วันหลังเอาบทความนี้มาแจก หลักสูตรการเรียนรู้ในฐานการทำงาน และการทำงานอย่างน้อย ๑๐ ประการ ผมอธิบายไว้ ทำงานแล้วมีผลดีอย่างไร ๑๐ ประการด้วยกัน แล้วก็มาอ้างอาจารย์พุทธทาส ว่าการทำงาน คือ การปฏิบัติธรรมเห็นชัดเลย ถ้ามีการนำหลักสูตรนี้ไป ใช้ในทุกโรงเรียน ทุกสถาบัน ไม่ต้องเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ต้องปฏิรูปองค์กร ใครทำอะไรก็ทำอย่างเดิมเพียงแต่เพิ่มหลักสูตรนี้มา ว่าหลักสูตรนี้เรียนรู้จาการทำงาน แล้วมีรายได้ไปด้วย ระหว่างที่เรียนมไม่มีตกงาน พอเรียรู้ไปเกิดการพัฒนาคุณลักษณะ ๑๐ ประการ เห็นชัด ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยพูดไว้ การเรียนรู้ คือ การปฏิบัติธรรม
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : WBL คือ Work base learning สมควรแก่เวลาแล้วท่านใดที่จะถาม อีกสักคำถามไหมครับสำหรับวันนี้ จากการที่ผมฟังอาจารย์บรรยายอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน ผมอยากถามอีก ๒ – ๓ อย่าง แต่ผมคิดว่ามันไม่มีคำตอบที่ตายตัวและอาจารย์ก็คงไม่ตอบตรง ปีติกับปราโมทย์ของอาจารย์ปรากฎแบบไหนแล้วจัดการอย่างไร ถึงจะอธิบายอย่างไรก็เท่ากับการทำเองแล้วจะตอบ ส่งท้ายด้วยประเด็นอานาปานสติภาวนา ในแวดวงพระศาสนา ยกว่าอานาปานสติภาวนา ยกให้สวนโมกข์เป็นต้นเค้าในการนำเอานาปานสติกลับมา เวลามีสัมมนาสังฆาธิการเรื่องของวิปัสสนา ก็ยกให้อาจารย์พุทธทาสเป็นหลัก แต่หลักสูตรที่ลงตัวถึงวันนี้มาอยู่ที่นี่และประสานกับที่สวนโมกข์ เรามีความรู้สึกว่าหลักสูตรอานาปานสติ ๑๖ ขั้นตอน ยังไม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลักสูตรของท่านอาจารยโกเอ็นก้าที่นิยมกว้างขวาง ดูวาล ที่เขียนหนังสือโฮโมเซเปียนส์ ก็อุทิศให้อาจารย์โกเอ็นก้า นั่นก็เป็นหลักสูตรอันหนึ่ง อานาปานสติไปได้ไกลแล้ว แต่ของทางสวนโมกข์ ถ้าหากท่านมีความสนใจตอนนี้มีสักประมาณ ๓ – ๔ กรอบกรณีให้ท่านทดลองได้ หนึ่ง คือ ไปที่สวนโมกข์นานาชาติ มีหลักสูตรคนไทย และหลักสูตรฝรั่ง หลักสูตรฝรั่งทุกวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๑๐ หลักสูตรคนไทยวันที่ ๒๑ – วันที่ ๒๗ ของทุกเดือน หรือสนใจไปที่ทีปภาวันธรรมสถาน เกาะสมุย เคยคุยหลักสูตรกับท่านพระอาจารย์ชยสาโร อย่างน้อย Regis center ของสวนโมกข์ ที่สวนโมกข์นานาชาติทำมาแล้ว ๔๐ ปี ทำทุกเดือนไม่เคยงดยกเว้นช่วงโควิด-๑๙ ทำตลอดมาคนผ่านเยอะมาก และเท่าที่ทราบครูบาอาจารย์ระดับโลก ที่เป็นครูบาอาจารยสอนภาวนาในอเมริกันผ่านคอร์สนี้กันทุกคน แม้หลักสูตรเป็นหลักสูตรพื้นฐานฟังเทปแล้วภาวนา อันที่สอง ที่กำลังทำมีการทำอยู่ ๓ โมดูล โมดูล ๑ ภาวนาอานาปานสติวันอาทิตย์ หรือวันพระใหญ่ ขยาชญานุโยค ที่อาจารย์จักรีที่สวนโมกข์ และที่สวนโมกข์กรุงเทพกำลังพยายามทำอยู่ อีกรอบหนึ่ง คือ ขอให้อาจารย์สันติกโร ซึ่งเคยทำเรื่องนี้กับท่านอาจารย์พุทธทาสมามาก พัฒนาคอร์สและเดโมมาแล้วประมาณ ๒ – ๓ รุ่น เป็นภาคภาษาไทย ท่านสามารถติดตามได้ประจำ ท่านสามารถไปค้นในรายละเอียดได้ ตอนนี้มีการนัดกันทบทวนวิชาแล้วก็ฝึกซ้อมกันเองเดือนละครั้ง มีกลุ่มอยู่ท่านลองไปค้นได้ อีกกลุ่มหนึ่งท่านพระอาจารย์ฟูกิจ ชุติปัญโญ ศรัทธาอานาปานสติและไปบวชอยู่กับอาจารย์มิตซูโอะ จนอาจารย์มิตซูโอะสึกไป แต่อาจารย์ฟูกิจ ชุติปัญโญ ยังมั่นคงในอานาปานสติ ท่านออกแบบคอร์สสำหรับคนรุ่นใหม่ ท่านกำลังพัฒนาอยู่ สักระยะหนึ่งอาจก่อตัวมีเครื่องมือมาเสริม ก่อนเลิกผมขออ่าน paragraph ถัดมาที่อาจารย์พระพุทธทาสกล่าวไว้ ตอนอบรมพระธรรมทูตเมื่อ ๕๕ ปีที่แล้ว
“เราต้องถือว่ายังไม่ถึงที่สุดแห่งการปฏิบัติ ประพฤติ ก็คือยังไม่จบกิจพรหมจรรย์อยู่เพียงใด สิ่งที่เรียกว่าอานาปานสตินั้น ก็ยังจำเป็นอยู่เพียงนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องทำตลอดไปจนกว่าจบกิจ หรือว่าจะสิ้นชีวิต ขอให้นึกไปทำนองนี้ จัดเตรียมให้ดีอยู่เสมอ เวลามีน้อยไม่สามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ท่านกล่าวถึงคณะพระธรรมทูตที่ไปอยู่ ๑๕ วัน คือ ไม่สามารถช่วยเหลือซักซ้อมในส่วนที่เป็นการกระทำ หรือการปฏิบัติโดยตรงให้เต็มที่ได้ เพราะทำความเข้าใจในเรื่องหลักก็หมดเวลาเสียแล้ว เนื่องจากว่ามีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันมาก เพราะปรากฏว่าไม่เคยสนใจกันมาก่อนเลย นี่ก็เป็นการคาดผิดของผมอยู่มากเหมือนกัน คือ เข้าใจว่าคงมีความเข้าใจในเรื่องนี้ในส่วนหลักมาพอสมควรแล้ว และลงมือปฏิบัติได้เลย แต่เมื่อได้ทราบว่าไม่เข้าใจกันมาก่อนเลย ก็ต้องเสียเวลาในส่วนหลัก เวลาก็หมดไป จึงช่วยได้ในเรื่องนี้แต่เพียงเท่านี้ ขอให้สนใจไปหาเวลา หาโอกาสต่อไปข้างหน้าที่ใดก็ได้ เมื่อไรก็ได้ เพื่อปฏิบัติต่อไป มีอะไรขัดข้องขึ้นก็ปรึกษาไต่ถามกัน และถามท่านผู้รู้ การปฏิบัตินั้น ๆ ก็จะเป็นไปได้” ตอนนั้นท่านอาจารย์พระพุทธทาสได้ทิ้งไว้ ตอนที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ไปอบรมกับท่านอาจารย์ประเวศมีอะไรส่งท้ายสักนิดหนึ่ง
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี : พูดถึงคราวหน้านะครับ ครั้งที่ ๘ เป็นการพูดถึงเรื่องธรรมโอสถ ธรรมช่วยรักษาโรคอะไรอย่างไรโดยทั่วไป และพูดถึงคีรีมานนทสูตรกับโพชฌงค์ ๗ เป็นการทบทวน และทบทวนอะไรต่าง ๆ มาอีก ก่อนที่จะจากไปสู่เรื่องอื่นต่อไป เราจะมีทั้งหมดครบ ๑๒ ครั้ง ครบ ๑ ปี
นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช : ถ้าเช่นนั้นก็สมควรแก่เวลา ถ้าใครสนใจหนังสือหรือบางเรื่องก็เชิญหนังสือแจก ท่านเมื่อสักครู่สอบถามก็กราบลาพระ ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ประเวศ วะสี อย่างยิ่ง และขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม ที่สวนโมกข์แห่งนี้ และที่ออนไลน์ถ่ายทอดโดยมูลนิธิศักดิ์พรทรัพย์ ขอบพระคุณทุกท่านครับ สวัสดีครับ