| |

บรรดาเครื่องแต่งคุณภาพของจิตทั้งหลายนั้น เจตนาเป็นตัวนำหรือเป็นหัวหน้า ดังนั้น ไม่ว่าเครื่องแต่งคุณภาพกี่อย่างจะเกิดขึ้นทำหน้าที่ในคราวหนึ่งคราวใด จะต้องมีเจตนาร่วมอยู่ด้วยเป็นแกนนำเสมอไปทุกคราว บางครั้งท่านถึงกับใช้คำว่าเจตนาเป็นคำแทนหมายถึงสังขารทั้งหมดทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงอาจให้ความหมายคำว่าสังขารได้อีกอย่างหนึ่งว่า “สังขารคือ เจตนาพร้อมทั้งสัมปยุตธรรม (ธรรมที่ประกอบร่วมหรือเครื่องประกอบ) ซึ่งแต่งจิตให้ดี หรือชั่ว หรือเป็นกลางๆ ปรุงแปรการตริตรึกนึกคิด การพูด การทำ ให้เกิดกรรมทางกาย วาจา ใจ”

บางครั้ง ท่านถึงกับใช้คำว่า เจตนาคำเดียวเป็นคำแทน หมายถึงสังขารทั้งหมด หรือแสดงความหมายทำนองจำกัดความคำว่าสังขารด้วยคำว่าเจตนา และเจตนาก็เป็นคำจำกัดความของคำว่ากรรมด้วย ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ คำว่า สังขาร เจตนา และกรรม จึงมีความหมายอย่างคร่าวๆ เท่ากัน เปรียบเหมือนว่า พระครูแก้ว เป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง เป็นผู้แทนวัดนั้นไปรับมอบพระไตรปิฎกร่วมกับผู้แทนของวัดอื่นๆ หลายวัด ในที่ประชุมนั้น จะออกชื่อว่า พระครูแก้ว เจ้าอาวาสวัดกลาง คณะวัดกลาง หรือว่าวัดกลาง ก็ได้ความหมายที่ประสงค์อย่างเดียวกัน

นอกจากความสำคัญที่กล่าวมาแล้ว เจตนายังเป็นตัวแสดงลักษณะพิเศษของสังขารที่ทำให้สังขารขันธ์ต่างจากขันธ์อื่นๆ อีกด้วย เจตนา แปลว่า ความจำนง ความจงใจ ความตั้งใจ ลักษณะพิเศษที่แตกต่างกัน ระหว่างสังขารขันธ์กับนามขันธ์อื่น ก็คือ นามขันธ์อื่น อันได้แก่ เวทนา สัญญา และวิญญาณ ทำงานกับอารมณ์ที่เข้ามาปรากฏอยู่แล้ว เป็นสภาพที่เนื่องด้วยอารมณ์ เกาะเกี่ยวกับอารมณ์ อาศัยอารมณ์จึงดำเนินไปได้และเป็นฝ่ายรับ แต่สังขารมีการริเริ่มเองได้ จำนงต่ออารมณ์และเป็นฝ่ายกระทำต่ออารมณ์ 37

เมื่อเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะมองเห็นเหตุผลว่า ทำไมความสบาย ไม่สบาย จัดเป็นเวทนา แต่ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ซึ่งเกิดถัดจากสบายไม่สบายนั้น จึงจัดเข้าในสังขาร ทำไมสัญญากับสติ ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องความจำด้วยกัน แต่กลับแยกอยู่คนละขันธ์ (สติอยู่ในสังขารขันธ์) ทำไมปัญญาซึ่งก็เป็นเรื่องของความรู้เช่นเดียวกับสัญญาและวิญญาณ จึงแยกไปอยู่ในสังขารขันธ์

สัญญา - สติ - ความจำ  |   |  

มักมีความเข้าใจสับสนกันในเรื่องความจำว่าตรงกับธรรมข้อใด คำว่า สัญญา ก็มักแปลกันว่า ความจำ คำว่าสติ โดยทั่วไปแปลว่าความระลึกได้ บางครั้งก็แปลว่าความจำ และมีตัวอย่างที่เด่น เช่นพระอานนท์ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางทรงจำพุทธพจน์ คำบาลีในกรณีนี้ท่านใช้คำว่าสติ ดังพุทธพจน์ว่า “อานนท์เป็นเลิศกว่าประดาสาวกของเราผู้มีสติ”38

เรื่องนี้ในทางธรรมไม่มีความสับสน ความจำไม่ใช่กิจของธรรมข้อเดียว แต่เป็นกิจของกระบวนธรรม และในกระบวนธรรมแห่งความจำนี้ สัญญาและสติเป็นองค์ธรรมใหญ่ ทำหน้าที่เป็นหลัก มีบทบาทสำคัญที่สุด

สัญญาก็ดี สติก็ดี มีความหมายคาบเกี่ยวและเหลื่อมกันกับความจำ กล่าวคือ ส่วนหนึ่งของสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสัญญาอยู่นอกเหนือความหมายของความจำ แม้สติก็เช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งของสติเป็นส่วนหนึ่งของความจำ อีกส่วนหนึ่งของสติ อยู่นอกเหนือความหมายของกระบวนการทรงจำ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง