มีนิพพานสัปปายธรรมประจำอยู่ในชีวิต
(พิจารณาเห็นอายตนิกธรรม ๓๐ โดยไตรลักษณ์)
มีวิธีที่จะปฏิบัติอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ละสิ่งที่ควรละเพื่อให้เกิดสิ่งที่ควรเกิดก็มีหลักปฏิบัติเรียกว่ามีนิพพานสัปปายธรรม คงยาก จำยาก จำเป็นไทยๆ ว่ามีธรรมะที่สบายแก่พระนิพพาน มีธรรมะเป็นที่สบายแก่พระนิพพาน หมายความว่า เราประพฤติปฏิบัติอย่างไรอยู่แล้ว มันง่ายที่จะเกิดนิพพาน นั่นคือธรรมเป็นที่สบายแก่นิพพาน
.
ขอให้ทุกคนมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะที่เป็นที่สบายแก่พระนิพพาน คือง่ายที่พระนิพพานจะเกิด อันนี้ต้องรู้จักสิ่งที่ควรรู้จักอย่างยิ่ง ๕ หมวด ในบาลีเรียกว่า "อายตนิกธรรม"
.
อายตนิกธรรม แปลว่า ธรรมที่เนื่องกันอยู่กับอายตนะ สิ่งที่เนื่องกันอยู่กับอายตนะ มีอยู่ ๕ หมวด หมวดที่หนึ่งคืออายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เรียกว่า "อายตนะภายใน"
.
หมวดที่สอง รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ นี้ "อายตะภายนอก" ๖ เหมือนกัน
.
หมวดที่สาม วิญญาณทางตา วิญญาณทางหู วิญญาณทางจมูก ฯลฯ วิญญาณทางอายตนะภายใน ๖ นั่นแหละ หมวดวิญญาณมีอยู่ ๖
.
ทีนี้ครั้นวิญญาณแล้วมันก็มีผัสสะ ผัสสะก็มี ๖ ผัสสะทางอายนะภายใน ๖ คือผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ผัสสะ ๖ นี้ หมวดที่สี่
.
เมื่อมีผัสสะแล้วก็มีเวทนา ก็มีเวทนา ๖ ตามผัสสะแจกไปตามอายตนะภายใน คือเวทนาที่เกิดจากผัสสะทางตา เวทนาที่เกิดจากผัสสะทางหู เวทนาที่เกิดจากผัสสะทางจมูก เวทนาที่เกิดจากผัสสะทางลิ้น เวทนาที่เกิดจากผัสสะทางกาย เวทนาที่เกิดจากผัสสะทางใจ เวทนาก็มี ๖ นี้เป็น หมวดที่ห้า นี่คือเนื้อตัวของเราแท้ๆ ตัวธรรมะที่ต้องรู้จักอย่างยิ่งคือธรรมะ ๕ หมวดนี้.
.
ธรรมะ ๕ หมวดนี้ ถ้าใครไม่รู้จักธรรมะ ๕ หมวดนี้ ๕ หมวดๆ ละ ๖ ไม่รู้จักธรรมะ ๕ หมวดนี้แล้ว ก็ยากที่จะธรรมะ ยากที่จะศึกษาธรรมะ มีประโยชน์อย่างยิ่งที่จะท่องจำไว้ ศึกษาไว้ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง มีประโยชน์ยิ่งกว่าสูตรไหนๆ หรือว่าหลักเกณฑ์อะไรๆ ที่เอามาท่องจำกันให้ยุ่งไปหมด อายตนิกธรรม ๕ หมวดๆ ละ ๖ รวมเป็น ๓๐ อย่าง นี้ให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง ให้รู้จักก่อน ให้รู้จักว่ามันมีอยู่อย่างไรก่อน
.
ทีนี้ดู ๓๐ อย่างนี้ แต่ละอย่างละอย่างเป็นอนิจจัง คือเปลี่ยนๆๆๆ แต่ละอย่างๆ นั้นน่ะมีลักษณะแห่งความทุกข์หรือว่าไปจับฉวยเอาเป็นของเราแล้วจะเป็นทุกข์คือ มันจะกัดเอา มันพร้อมที่จะให้เกิดทุกข์ มันมีลักษณะแห่งการความมิใช่ตัวตน เพราะมันไม่เที่ยงและมันพร้อมที่จะเป็นทุกข์ อย่างนี้เราจึงว่า เป็นอนัตตา-ไม่ใช่ตน แง่สำคัญๆ ที่จะต้องดูก็มีอยู่ ๓ แง่ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
.
ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูสิ่งทั้ง ๓๐ นี้ ให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน หรือตามที่มีเวลาว่าง ถ้าเวลาทำงานยุ่ง ดูไม่ได้ก็ดูเวลาว่าง ถ้าจิตมันยังพอระลึกนึกถึงได้ก็ดู เพราะว่าเวลาที่ทำงานมันก็มีสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน เวลาที่เราทำงานเหน็ดเหนื่อยอยู่ ก็มีเรื่องของรูป มีเรื่องของตา มีเรื่องของวิญญาณ มีเรื่องของผัสสะ ของเวทนา เพราะผัสสะมันเกิดเมื่อไรก็ได้ เวทนามันเกิดเมื่อไรก็ได้ กำลังทำงานอยู่ก็ได้ นั่งพักผ่อนอยู่ก็ได้ ถ้ามันเกิดขึ้นมาเมื่อไรแล้วก็เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของมัน เมื่อนั้นในทุกสิ่งทุกอย่าง ๓๐ อย่างนี้ ทุกหนทุกแห่งมันจะเกิดขึ้น
.
เมื่อทำอยู่อย่างนี้เรียกว่าอยู่ด้วยธรรมะที่สบายแก่พระนิพพาน หรือทำสิ่งที่สบายแก่พระนิพพาน สิ่งที่สบายแก่พระนิพพาน คือดูสิ่งทั้ง ๓๐ อย่างนี้ ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เป็นประจำ ทั้งวันทั้งคืน ตลอดเวลาที่มีความรู้สึก นี่เรียกว่า "อยู่ด้วยสิ่งที่ สบายแก่พระนิพพาน" พระนิพพานจึงเกิดง่ายๆ เพราะว่าเราอยู่ด้วยสิ่งที่สบายแก่พระนิพพาน พูดเปรียบเทียบก็เหมือนกับว่า เรามีสิ่งที่นกมันชอบใจ เอามาล่อนก เป็นเหยื่อดักนก มันก็ได้นก มันเป็นสิ่งที่สบายแก่พระนิพพาน ถ้าทำอยู่อย่างนี้พระนิพพานคือความดับทุกข์ ความดับทุกข์จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย พร้อมที่จะเกิดในที่ทุกหนทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกสถานที่ เพราะว่าเราอยู่ด้วยสิ่งซึ่งเป็นที่สบายแก่พระนิพพาน นี่ก็เป็นวิธีปฏิบัติ
.
หัวใจนิพพาน : พุทธทาสภิกขุ (น.๒๘๔)