PAGODA

  • ยังไม่เป็นสมาชิกใช่ไหม?
  • ลืมชื่อผู้ใช้ ?
  • ลืมรหัสผ่าน ?
Powered by The Krotek
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ
PAGODA
  • หน้าแรก
  • ฐานข้อมูล
  • เสียง
  • วีดิทัศน์
  • E-Books
  • กิจกรรม
  • บทความ

เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก

เข้าสู่ระบบ

  • ยังไม่เป็นสมาชิกใช่ไหม?
  • ลืมชื่อผู้ใช้ ?
  • ลืมรหัสผ่าน ?
Powered by The Krotek

Search

  • หน้าแรก
  • เสียง
  • หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
  • ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๔ มาทำลายทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่ทำให้ว่ายวนในทุกข์ ดุจฉายหนังม้วนเก่า
ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๔ มาทำลายทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่ทำให้ ... รูปภาพ 1
  • Title
    ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๔ มาทำลายทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่ทำให้ว่ายวนในทุกข์ ดุจฉายหนังม้วนเก่า
  • เสียง
  • 11006 ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๔ มาทำลายทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่ทำให้ว่ายวนในทุกข์ ดุจฉายหนังม้วนเก่า /lp-kanha/2022-06-13-05-08-03.html
    Click to subscribe
    • Share
    • Tweet
    • Email
    • Share
    • Share
ผู้ให้ธรรม
หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม
วัด/สถานที่บรรยายธรรม
ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
ชุด
ชีวิตของผู้สงบ
  • แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]

  • โอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
    ที่หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
    บรรยายธรรมโดย พระมหาอนุชน สาสนกิตติ (ป.ธ.๙, ดร.)

    ในวันจันทร์ที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
    ณ  วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
    เรื่อง ชีวิตของผู้สงบ ตอนที่ ๑๔ มาทำลายทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน ที่ทำให้ว่ายวนในทุกข์ ดุจฉายหนังม้วนเก่า

    (บางส่วนจากโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า)

    เราทุกคนผู้ที่มาบวช คือผู้ที่โชคดี เราได้ปฏิบัติ ให้ทุกคนมีความสุขให้ทุกคนตั้งใจ เพราะเวลาที่เป็นปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ทั้งพระเก่าพระใหม่ ทุกท่านทุกคนต้องตั้งใจเข้าถึงมาตรฐานของพระพุทธเจ้า มาตรฐานของธรรมวินัย ปรับกายปรับวาจาปรับใจเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ก็ความรู้ความเข้าใจทั้งหมด เราเอามาใช้เอามาปฏิบัติ ให้มีความสุข ด้วยกันทุกท่านทุกคน

    วัดก็คือศูนย์รวมของผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลพระนิพาน ให้ทุกท่านพากันเข้าใจอย่างนี้ ร่างกายของเราก็คือส่วนหนึ่ง ใจของเราก็ส่วนหนึ่ง ร่างกายของเราก็มีการกินการนอนการพักผ่อนเป็นอิริยาบถต่างๆ อาหารทางใจก็คือธรรมวินัยที่พระพุธทเจ้าตรัสรู้และมาสอนว่ามนุษย์เราต้องพัฒนาทั้งกายและใจเพื่อไปสู่ทางสายกลาง มีศีลสมาธิและปัญญา

    สิ่งที่เสพติดสิ่งที่หลงน่ะ มันนำทุกคนเวียนว่ายตายเกิด ทุกท่านทุกคนต้องรู้จักว่า เราต้องเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติด้วยความจำเป็น ทุกคนอย่าได้ขอโอกาสบริโภคกาม ก็จะฉายหนังม้วนเก่าย้ำแล้วย้ำอีก ด้วยความเคยชิน ทุกคนต้องจิตใจเข้มแข็งจิตใจตั้งมั่น มีสติสัมปชัญญะ หายใจเข้าก็รู้ชัดเจน หายใจออกก็รู้ชัดเจน หายใจเข้าสบาย หายใจออกก็สบาย มีความสุขในการรักษาศีล มีความสุขในการทำงานขยัน เสียสละ รับผิดชอบ เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘

    ทุกท่านทุกคนต้องกระฉับกระเฉง ทุกคนมันเก่งนะ ที่ไม่เก่งเพราะไม่เสียสละ ความเป็นพระมันอยู่ที่เราเสียสละ ทิฏฐิมานะอัตตาตัวตน  สิ่งที่มันเป็นสิ่งเสพติด เป็นสิ่งที่ทุกคนได้เสพทางจิตใจ เราก็ต้องเสียสละ เน้นที่ปัจจุบันเพราะว่าการปฏิบัติของเรามันอยู่ที่ปัจจุบัน อดีตเราก็ต้องลบมันให้เหลือ 0 ก็อยู่ที่ปัจจุบันนี่แหละ ใจเราก็จะโล่งสบาย... ละอดีตให้หมด เพราะอดีต มันเหมือนติดหนี้ติดสิน ถ้าเราทำอะไรให้มันติดก็เรียกว่า คาร์ ที่แปลว่ารถ มีรถมันก็เหมือนมีชาติ มีเกิดมีแก่มีเจ็บมีความตายความพลัดพราก เหมือนคนที่เขาชอบเดินทาง ว่าจะไปภาคเหนือเดี๋ยวนี้ ไปลงจังหวัดลำปางอย่างนี้แหละ เราก็เพลินไป เราไปนอนหลับ รถก็พาไปเชียงใหม่ อย่างนี้เขาเรียกว่าหลง หลงไปหลับไป

    ความเพลิดเพลินก็พาเราหลง ทุกท่านทุกคนก็ต้องพากันทวนกระแส ทวนอารมณ์ อานาปานะสตินี้ต้องรู้ เรามาบวชก็เพื่อมาฉลาด ถ้าเราไม่ฉลาด ก็ไม่ใช่พุทธะ ตั้งมั่นในระเบียบ มีข้อวัตรข้อปฏิบัติที่จะมาจัดการกับอวิชชากับความหลง ต้องใช้การประพฤติปฏิบัติติดต่อกันไป เรามาบวชข้อวัตรข้อปฏิบัติ ศีลสมาธิและปัญญา มันจะเปลี่ยนแปลงเรา เรามาบวชเราก็มาแก้ไขปัญหาในตัวเองจัดการกับตัวเองโดยเฉพาะ เราไม่ต้องไปมีตัวไปมีตนมีสักกายะทิฏฐิอีกแล้ว

    เราจะแก้ไขสิ่งภายนอกสิ่งต่างๆ ได้ ก็ต้องแก้จากตัวเองก่อน เราอย่าให้รูปครอบงำใจเรา เราอย่าให้เสียงครอบงำใจเรา เราอย่าให้กลิ่นครอบงำใจเรา เพราะเราต้องเสียสละ เพราะทุกอย่างนี้มันผ่านมาผ่านไป เราอย่าให้สิ่งต่างๆ ครอบงำใจของเรา พระพุทธเจ้าให้เราทำใจเหมือนกับน้ำบนใบบัว น้ำมันกลิ้งไปกลิ้งมาไม่สามารถติดที่ใบบัวได้ พระใหม่พระเก่าก็พากันประพฤติพากันปฏิบัติ เป็นประชาชนอยู่ที่บ้านก็พากันประพฤติพากันปฏิบัติ ไม่งั้นใจของเราก็จะกลับไปทางเก่า ต้องมีศีลเป็นเครื่องอยู่ มีมีสมาธิเป็นเครื่องอยู่ มีธรรมะเป็นเครื่องอยู่

    ผู้ที่มาบวช ๗ วัน ๑๕ วัน เดือนนึง ก็พากันตั้งใจเต็มที่ มาบวชไม่กะว่าจะสึก ก็ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ อย่าทำให้ประชาชนเสียเวลามากราบมาไหว้เรา ให้เรารู้เราเห็น มาเป็นพระแต่ไม่เอาศีล ก็ไม่สมศักดิ์ศรี ไม่เป็นพระก็ว่าตัวเองเป็นพระ ไม่เป็นสงฆ์ก็ว่าตัวเองเป็นสงฆ์ บวชมาไม่ได้มาเสียสละอะไรอย่างนี้ ก็ไม่เอานะเราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง อย่าไปคิดว่าซิกแซกไปซิกแซกมา เดี๋ยวก็ครบ ๑๕ วัน ๑ เดือน ๓ เดือนก็ไม่เอา ความคิดแบบนั้นเป็นความคิดของโจร

    คนเราจะเก่งเท่าไหร่ก็ไปไม่รอด ต่อให้มีใบปริญญาโทเอกก็ไปไม่รอด ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหามันอยู่ที่มิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด เข้าใจผิด เลี้ยงยักษ์เลี้ยงมารเลี้ยงอสูรกายในใจของเรานี้

    เราก็พากันทำงานปฏิบัติเป็นทีม ฝึกกันไว้  ฝึกอานาปานะสติ เราจะไปคุยกันเรื่องบ้านเรื่องหน้าที่การงาน เพราะเรามีเชื้อเก่าอยู่แล้ว ไม่ได้เนาะ มาปรึกษาหาความรู้กับหลวงพ่อใหญ่ พอฉันเสร็จก็มาปรึกษาหลวงพ่อใหญ่ทุกๆ วัน จะได้เก่งจะได้ฉลาด การจะเป็นคนดีได้ก็ต้องไปหาพระพุทธเจ้า ไปหาพระอรหันต์ ไปหาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพื่อเอามรรคผลนิพพาน คนที่ไม่เอามรรคผลนิพพานอย่าไปหา เพราะว่ามันไม่ถูก

    ชีวิตมันจะก้าวหน้าได้ อยู่กับพ่อแม่ที่เป็นคนดี มีเพื่อนฝูงที่เป็นคนดี คบบัณฑิต คนดีคนที่ฉลาด ข้อวัตรกิจวัตรเป็นสิ่งที่เราจะได้ฝึกการเสียสละ ทำวัตรกราบพระเสียงดังฟังชัด นั่งสมาธิก็ตั้งใจ นั่งหายใจเข้าก็ชัดเจน หายใจออกก็ชัดเจน อยู่กับตัวเองนี่แหละ ฝึกอานาปานะสติ ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ต้องสู้กับตัวเองชัดเจน ฟังแล้วมันจะได้ไม่หลับใน ตี ๓ ไม่อยากลุก เราก็ตองฝืนต้องทน บิณฑบาตก็ต้องไปบิณไปเดินให้สุดสาย พวกที่ไม่สุดสายคือพระแก่พระที่ป่วยพระที่จะกลับมาทำกิจสงฆ์ เราต้องรู้จักหน้าที่ของใครของมัน เพราะปัจจุบันให้ทุกคนเป็นคนฉลาด เพราะคนฉลาดมันอยู่ที่ปัจจุบัน ส่วนคนเรารู้มากมายก่ายกอง เราต้องอยู่ที่ปัจจุบัน เน้นที่ปัจจุบันเราจะได้จับประเด็น ปัจจุบันเราเอาตัวเองให้อยู่ว่ าคิดอย่างไรไม่ดี อันไหนไม่ดีก็ไม่ทำ อันไหนไม่ดีก็ต้องรีบฝืนรีบทน อย่าไปทำ เพื่อนที่เราอยู่ด้วยกันเข้ากันได้ เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ดูแลกันเทคแคร์กัน แต่อย่าไปทำชั่วอย่างเขา เข้ากับรุ่นพี่ครูบาอาจารย์เพื่อนรุ่นน้อง เราต้องเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราอย่าไปมีโลกส่วนตัว อย่าไปยึดมันถือมั่น อย่าไปคิดถึงพี่คิดถึงน้องคิดถึงหลาน มันต้องทำตัวเองให้มีความสุขมีความดับทุกข์ เอาปัจจุบันให้ดีที่สุด จิตใจของเราจะได้ก้าวไปเลย ก็พากันทำอย่างนี้ปฏิบัติอย่างนี้

    พวกห้องน้ำห้องสุขา ศาลาต้องดูแลความสะอาด ทะนุถนอมของใช้ของสงฆ์ ต้องรู้จัก อย่าไปทำอะไรเสียหาย ที่นอนก็ต้องเก็บให้สะอาดเรียบร้อย จะได้ฝึกให้เป็นนิสัย อย่าเห็นแก่ตัว บ้านก็เหมือนกับส้วม เป็นโกดังเก็บของเก่าสกปรกก็ไม่ได้ มันเป็นคนเห็นแก่ตัว เวลาพูดจากับผู้ที่บวชก่อนก็ประนมมืออ่อนน้อมถ่อมตน เหมือนกับพระพุทธเจ้า อ่อนน้อมถ่อมตนท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ถึงได้เป็นพระอรหันต์ พวกก๋าพวกกร่างมันเป็นคนพาล อุปถัมภ์อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ให้เป็น อย่ามัวแต่สงบ เวลาบิณฑบาตไม่รับบาตรใครมัวแต่สงบ เอาแต่ขวนขวายเพื่อที่จะได้ปฏิบัติ แต่ไม่ได้เสียสละ เอาแต่สงบบางทีมันก็ไม่สงบ เขาเรียกว่า เห็นแก่ตัว คนเราพูดดีๆ คิดดีๆ ก็สงบ สงบไม่ใช่ช้าๆ เซื่องๆ ซึมๆ เมื่อพูดดีคิดดีทำดีมันก็สงบได้ เราจะได้รู้หลักภาคประพฤติภาคปฏิบัติทางจิตใจอย่างนี้แหละ

    พ่อแม่ทุกคนส่วนใหญ่ก็เป็นคนรวยก็โอ๋ลูก จนเด็กเสียคนพ่อแม่บางคนลูกไปปล้นร้านทองก็ไปว่าร้านทองว่าโหดร้ายไปยิง แทนที่จะตบบ้องหูตัวเองว่าไม่ไปสอนลูก แล้วยังไปว่าเจ้าของร้านทองอีก เราจึงต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นเปลาะๆในปัจจุบันไปอย่างนี้นะ เราคิดดีๆ พูดดีๆ อย่างนี้แหละ พระพุทธเจ้าก็ไม่ว่าให้เรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ว่าให้เรา ความคิดเนี่ยมันเป็น sex ทางความคิดทางอารมณ์ เราต้องจัดการทางความคิดทางอารมณ์ เราอย่าคิดว่า เห้ย... อย่างนี้มันมากเกินไป อย่าไปคิด มันก็จะไม่มีเซ็กทางความคิด ไปมีเซกทางอารมณ์ ถ้างั้นก็บวชแต่กาย แต่ใจเราไม่ได้บวช มันก็ไม่ได้ผลอะไรจากการบวช 

    การฝึกใจให้สงบเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าเราจะอยู่วัดอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน อยู่ที่ทุกหนทุกแห่ง "เราต้องทำใจของเราให้สงบ"

    คนเราถ้าใจมันไม่สงบ 'สติสัมปชัญญะ' ของเราไม่สมบูรณ์การทรงตัวทางจิตทางใจมันก็ไม่แข็งแรงแข็งแกร่ง จิตใจของเรามันย่อมชวนเซไปกับสิ่งภายนอก สิ่งแวดล้อม ไปอยู่กับเรื่องอดีต มีความวิตกกังวล ไปอยู่กับอนาคตในเรื่องที่จะสร้างสรรค์ให้ชีวิตมันดีขึ้น ยิ่งดิ้นรนก็ย่อมมีทุกข์

    พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุกๆ คน กลับมามี...สติสัมปชัญญะ ให้ใจเราทุกๆ คน อยู่กับเนื้อกับตัว เราเดินก็อยู่กับการเดิน...เรานั่งก็อยู่กับการนั่ง...เรานอนก็อยู่กับการนอน "คำว่า 'อยู่' ก็หมายถึงใจของเราไม่ส่งไปที่อื่น"

    "คนเราน่ะขาดสตินาทีหนึ่งก็เป็นบ้านาทีหนึ่ง" การเจริญสติสัมปชัญญะนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่ประเสริฐมาก เป็นการพัฒนาชีวิตจิตใจของเรา เพื่อเราจะเป็นตัวของตัวเอง ความสุขอันไหนก็สู้ความสุขที่ใจของเราสงบเย็นไม่ได้ เพื่อเราจะได้เป็นตัวของตัวเอง

    เราทุกๆ คนน่ะ ใจมันร้อน ใจมันไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ใจมันไม่สงบ มันอยู่กับอนาคต มันอยู่กับความสงบไม่ได้ไม่เป็น อยู่กับเนื้อกับตัวไม่ได้ไม่เป็น

    ทุกท่านทุกคนต้องฝึกเพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ ถ้าใจของเราไม่สงบ ไม่เย็น ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เราจะไม่มีความสุข ไม่มีความดับทุกข์ ไม่มีความอบอุ่นทางจิตทางใจ

    ทุกวันนี้น่ะ...เราเอาความสุขความอบอุ่นจากคุณพ่อ คุณแม่ จากเพื่อนจากฝูง จากทรัพย์สมบัติ จากข้าวของ เงินทอง จากสิ่งภายนอกต่างๆ เราไม่ได้เอาความสุข...ความสงบ...ความดับทุกข์...ในการกลับมาหาเนื้อหาตัวหาจิตหาใจ เราจะทำอะไรน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เรามี 'สติสัมปชัญญะ' เป็นพื้นฐานของชีวิต

    ความสงบ ความดับทุกข์ ตัดกระแสกรรม กระแสเวร กระแสวัฏฏสงสารนี้ ทุกท่านทุกคน ต้องกลับมาหาความสงบ กลับมาหาสติสัมปชัญญะของเราให้มันสมบูรณ์ให้ได้ ใจของเรามันถึงจะเย็น

    เราวิ่งตามอารมณ์ วิ่งตามสิ่งภายนอกนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่จบไม่สิ้น มันมีความบกพร่องอยู่เป็นนิจ ได้เท่าไหร่มันก็ไม่พอ ถมเท่าไหร่มันก็ไม่เต็ม ชีวิตของเราน่ะมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ความยากลำบาก ไม่มีหลักไม่มีจุดยืน เป็นเพราะใจของเราไม่สงบน่ะ

    พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้เวทนา รู้แล้วเราจะไม่ได้ตามเวทนาไป ไม่ต้องไปนึกไปคิดอะไร มันจะสุขมันจะทุกข์ก็ให้มันเป็นแต่เพียงเวทนาเท่านั้น เราไม่ต้องไปดิ้นรน ไม่ต้องไปปรุงแต่ง เราจะไปเปลี่ยนแปลงสุขเปลี่ยนแปลงทุกข์มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามันเป็น 'สัจธรรม' เป็นความจริง สุขมันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น ทุกข์มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น

    พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราไปปรุงแต่ง พยายามให้ใจของเราหยุด ใจของเราไม่ปรุงแต่ง ธรรมชาติมันเป็นของบริสุทธิ์ เราอยากให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามใจของเรามันเป็นไปไม่ได้ เมื่อมันเป็นไปไม่ได้ ใจของเรามันก็ไม่สงบ เราจะมาเปลี่ยนแปลงธรรมะ เปลี่ยนแปลงธรรมชาติ มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หน้าที่ของเรา คือทำใจของเราให้มันสงบ อย่าได้วิ่งตามอารมณ์เพราะความสุขความดับทุกข์ มันอยู่ที่ใจของเราสงบ ความชอบมันก็ต้องเล่นงานเรา ความไม่ชอบมันก็ต้องเล่นงานเราถ้าเราไปตามอารมณ์ พระพุทธเจ้าท่านให้เรารู้ที่สุดสองอย่าง คือ ความชอบ ความไม่ชอบ รู้แล้วก็ให้มันเกิดสติเกิดปัญญาทุกๆ ครั้งไป เราจะได้พัฒนาจิตพัฒนาใจ

    ท่านให้เราฝึกจิตฝึกใจด้วยการเอาสิ่งเหล่านี้มาฝึกจิต ฝึกใจให้ใจของเราสงบในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่มีความสุข ถ้าไม่มีความทุกข์ ไม่มีความแก่ ความเจ็บ ความตายเราก็ไม่มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อฝึกจิตฝึกใจ เพื่อเราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ เพื่อจะได้ปล่อยได้วาง

    'ความทุกข์'ของเราเป็นสิ่งที่มีอยู่ ถ้าเราไม่เอามาคิด...มันก็ไม่มีทุกข์ 'ความสุข' ของเรามีอยู่ ถ้าเราไม่ไปหลงในความสุขนั้น...จิตใจของเราก็ไม่มีทุกข์ สุขหรือทุกข์ ย่อมเป็นสิ่งที่ผ่านไปผ่านมา เพื่อให้จิตใจของเราได้รับได้สัมผัส เพื่อจิตใจของเราจะได้อบรมบ่มอินทรีย์ คนเรามันต้องมีการอบรมบ่มอินทรีย์ ถ้าไม่มีการอบรมบ่มอินทรีย์ผลมันก็ย่อมไม่เกิด

    ความสุขทางสวรรค์ที่พวกเรากำลังแสวงหากันอยู่นี้ มันเป็นความสุขทางเนื้อหนังเป็นความสุขที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า... "ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของท่านในการที่ท่านมีเมตตาเผยแผ่ 'สัจธรรม' เพราะว่ามันยังเป็นการเวียนว่ายตายเกิดนะ"

    พระพุทธเจ้าท่านให้เราเพียงรับรู้ เราทุกคนต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อย่าได้ตามอารมณ์ไป อย่าได้พากันไปยึดไปถือ ถ้าเราไปยึดไปถือแล้วมันก็ย่อมให้โทษแก่เรา เราคิดมาก ปรุงแต่งมากมันจะทำให้เราเครียด ทำให้เราเป็นโรคประสาท เป็นโรคกระเพาะ เป็นโรคหัวใจ บางคนก็อาจจะเป็นโรคจิต ไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้าถึงเป็นธรรมะที่ให้เราทุกๆ คนปฏิบัตินะ ไม่ใช่เพียงเรียนรู้เฉยๆ ต้องอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆๆ ไม่ให้เราทุกคนตั้งอยู่ในความประมาท ไม่ให้เราเพลิน ท่านให้เรารู้จัก 'เหยื่อของโลก'

    เหยื่อของโลกมีอะไรบ้าง...?          เหยื่อของโลก ก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ลาภ ยศ สรรเสริญ ความได้ ความมี ความเป็น นี้เป็น 'เหยื่อภายนอก'

    'เหยื่อภายใน' ก็ได้แก่ เวทนาที่มันเป็นความสุข ความสะดวก  ความสบายที่พวกเราทั้งหลายกำลังพากันติดอยู่นี้ เมื่อมันติดสุขติดสบายแล้ว ทุกคนมันก็จะเอาแต่ความสุข ไม่อยากอบรมบ่มอินทรีย์ ความขี้กียจขี้คร้านมันมาครอบงำ มันจะเอาแต่การปล่อยการวาง มันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการปล่อยวาง ความรู้สึกที่ใจของเราติดในความสุขมันครอบงำจิตใจของเรา ให้เราทำความเพียรมีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ไปเรื่อยๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันย่อมผ่านไปผ่านมา  'ความสุข' มันตั้งไว้ไม่นานหรอกนะ ไม่เกิน ๗ วัน มันต้องผ่านไป 'ความทุกข์' ก็เหมือนกันมันตั้งอยู่ไม่นานหรอกนะ ไม่เกิน ๗ วัน มันต้องผ่านไป ให้เรารู้เราเข้าใจ พยายามอย่าไปปรุง ไปเสริม ไปแต่ง เพื่ออินทรีย์บารมีของเราจะได้แข็งแรง มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

    'ความคิด' ของเราก็เหมือนกัน คนเรามันยังไม่ตาย ยังมีลมหายใจอยู่ เค้าก็ย่อมคิดของเค้าตลอดเวลา ถ้าเราไม่คิดก็ชื่อว่าเราเป็นคนพิกลพิการ สมองเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

    พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราวุ่นวายตามความคิด มันจะคิดอะไรก็ช่างหัวมัน เราอย่าไปสานเรื่องสานราว ให้มันเป็นเรื่องเป็นราว เราอย่าไปวุ่นวายตามความคิด อย่าไปส่งเสริมอย่าไปตามความคิด เราจะฝึกสติสัมปชัญญะ เรามาหยุดตัวเอง...เบรกตัวเอง...ถ้าเราไม่ทำตามความอยาก เราไม่ทำตามความคิด การอบรมความดี อินทรีย์ของเรามันก็แก่ มันก็กล้า ใจของเรามันก็ต้องเย็นแน่นอน  มันคิดอะไรก็ช่างหัวมัน เราก็เฉยๆ คิดดี คิดชั่ว คิดถูก คิดผิดก็เฉยๆ ไว้ก่อน

    คนเรานี้...ชอบเพลิดเพลินในความคิด ชอบหลงในความคิด คิดแล้วก็ทำตามความคิดมันก็เป็นเรื่องเป็นราว เป็นตัวเป็นตน เป็นวัฏฏสงสาร เราอยู่ดีๆ มันไม่มีทุกข์ มันก็ไปเรื่องหาราว หาความทุกข์ให้ตัวเอง ว่าชีวิตนี้ทำไมมันยาก มันลำบากแท้ๆ        เราจะไปโทษใคร เพราะเราคิดแล้วก็ทำตามความคิดมันเลยมีลูกมีหลานมีเหลน มีอะไรสารพัดอย่าง แล้วเราก็มาโทษตัวเองว่าเรามันทุกข์ มันทุกข์แล้วก็ไปโทษสิ่งต่างๆ อีก ไปโทษว่า... ฝนมันตกมากเกินไป ฝนตกน้อยเกิน อากาศร้อนเกิน อากาศหนาวเกิน ไปพูดว่าลูกมันไม่ได้ตามใจ หลานมันก็ไม่ได้ตามใจ อยากรวยมันก็ไม่รวย มันมีแต่เจ็บแต่ป่วย แต่ไข้สารพัดโรค ไปโทษว่าคนโน้นคนนี้ไม่ดี ไปโทษปลายเหตุ ไม่ได้โทษตัวเอง เพราะตัวเองมันคิดแล้วก็ทำตามความคิด มันมีความเกิด แล้วก็มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากอย่างนี้แหละ มันมีความทุกข์เพราะว่าเราไปคิดแล้วก็ทำตามความคิด

    พระพุทธเจ้าท่านให้รู้จักความคิด อย่าให้ความคิดของเรามันมีอิทธิพลกดดันเรา ให้มี 'สติ' ให้มี 'สัมปชัญญะ' นี่แหละคือ 'การปฏิบัติธรรม'

    ความคิดเรานี้ถือว่ามันเป็นสิ่งเสพติดน่ะ ถ้ามันไม่ได้คิดมันจะตายให้ได้ มันจะชักดิ้นชักงอ พระพุทธเจ้าท่านให้เราอดเราทนเพื่อใจของเราจะได้สงบ ใจของเราจะได้เย็น ท่านให้เราฝึกเป็นคนมี 'สติสัมปชัญญะ'

    สติสัมปชัญญะนั่นแหละ คือ 'ศีล สมาธิ ปัญญา' ทุกอย่างมันจะมารวมอยู่ที่ 'สติ' ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะก็ชื่อว่า เรามีศีล สมาธิ ปัญญา การเจริญสติ ก็คือ การเจริญศีล สมาธิ ปัญญา การประพฤติปฏิบัติของเรานี้ ถือว่าเป็นหนทางอันประเสริฐ เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ สร้างบารมีสร้างความเพียร เรามาแก้ "ที่จิตที่ใจ' นี้ดีกว่าไปแก้สิ่งภายนอกไปแสวงหาสิ่งภายนอก

    ทำไป ปฏิบัติไป ให้ดับทุกข์ในหัวจิตหัวใจในปัจจุบันไปเรื่อยๆ

    คนเราน่ะ... เมื่อมันเข้าใจว่าร่างกายก็ไม่ใช่ของเรา คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ใช่ของเรา บ้านเรือน ทรัพย์สมบัติก็ไม่ใช่ของเรา อะไรๆ ก็ไม่ใช่ของเรา เข้าใจว่าทุกอย่าง...ไม่ใช่ของเรา เมื่อคิดอย่างนี้แหละ ใจของเรามันก็เบื่อ มันจะหมดกำลังจิตกำลังใจ เราก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

    เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา "เพราะคนเราน่ะ ที่เกิดมามันมีแต่จะเอา" เมื่อมันไม่ได้เอา มันเลยท้อแท้ เหี่ยวแห้ง ว่าเราอยู่ไปเพื่ออะไร เกิดมาเพื่ออะไร งานก็ไม่อยากทำ แขนขามันจะยกไม่ขึ้นแล้ว เพราะมันไม่มีเรา ไม่มีของเรา ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่เห็นผิด เป็นความคิดที่เห็นแก่ตัวน่ะ ชีวิตนี้มันหมดรสหมดชาติใช่มั้ย...?                ถ้าเรามันยังมี 'รส' มันก็มี 'ชาติ' 'ชาติ' ก็คือ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพราก

    เมื่อทุกอย่างมันไม่ใช่ของเรา ให้เรามาเข้าใจว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี เพื่อมาเจริญสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เกิดมาเพื่อเป็น 'ผู้ให้ ผู้เสียสละ' มีความสงบสุขในการเสียสละ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราไม่ทำตามอารมณ์ ตามความคิดของเราอีกแล้ว จิตใจของเราจะได้มีพลัง จะได้แข็งแรง ไม่ติดในความสุขความสะดวกสบายเหมือนแต่ก่อนน่ะ เพราะว่าความสุข ความสบายอย่างนั้นถือว่าเป็น 'ความหลง'

    นี้เรายังไม่ถึงขั้นปฏิบัติธรรมะนะ ที่เราเข้าใจว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวของเรา ที่นี้แหละเรามาปรับ 'ใจ' เข้าหาการเสียสละ เรามาปรับตัวเข้าหา 'ธรรมะ' ธรรมชาติเป็นของบริสุทธิ์ที่ปราศจากความโลภ ปราศจากความโกรธ ปราศจากความหลง ปราศจากตัว ปราศจากตน เรามาคืนทุกอย่างสู่ธรรมชาติ คืนสู่ดิน คืนสู่น้ำ คืนสู่ลม คืนสู่โฟ คืนสู่ธรรมชาติ ทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นเพียงปรากฎการณ์

    เราไม่ทำตามใจเหมือนแต่ก่อนแล้ว เอาศีลเป็นที่ตั้ง เอาธรรมะเป็นที่ตั้ง จิตใจของเรามันก็เป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจความหลง มี 'พุทโธ' ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

    พระพุทธเจ้าท่านให้เราอบรมบ่มอินทรีย์ไปอย่างนี้ เพราะเรารู้เท่านี้ไม่พอ เราต้องอบรมบ่มอินทรีย์ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ที่เรารู้ เราเห็น เราเป็นเพียงนักปรัชญาเท่านั้น เรายังต้องอบรมบ่มอินทรีย์ไปเรื่อยๆ นี้เป็นเพียงธรรมะเบื้องต้นที่เรา ทุกๆ คน จะต้องเข้าใจ         "ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้เป็นของลึกซึ้ง ละเอียด สุขุม ถ้าใจของเราสงบ ทุกท่านทุกคนถึงจะรู้ได้ด้วยตนเอง ใจของเราถึงจะมีความสุข มีความอบอุ่น

    ทุกๆ ท่าน ทำได้ปฏิบัติได้ ความสามารถของคนมันไม่ต่างกันหรอก ขอให้มีความตั้งมั่น ตั้งอกตั้งใจ การประพฤติปฏิบัติไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงเราได้ นอกจากการประพฤติการปฏิบัติของเราเอง

    เราทำดี...เราก็ย่อมได้ดี ถ้าเรามี 'สติสัมปชัญญะ' การปฏิบัติของเรามันก็จะถูกต้อง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ที่สติสัมปชัญญะ พระอรหันต์น่ะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ไม่ขาดตกบกพร่อง ท่านจึงเข้าถึง 'อริยบุคคล' คือ บุคคลผู้ประเสริฐ 'พระอรหันต์' ก็คือ บุคคลคนหนึ่ง แม้แต่ในอดีต หรือปัจจุบันมันก็คือบุคคลคนหนึ่งนั้น

    พระพุทธเจ้าท่านให้น้อมเข้ามาหาตัวเราที่จะเจริญสติสัมปชัญญะ เพื่อเอาศีลเอาธรรมเป็นที่ตั้งด้วยความไม่ประมาท

    ทีนี้แหละนะ.... พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาฝึกปล่อยฝึกวาง เพราะร่างกายเค้าก็บ่งบอกแล้วว่าเค้าไม่ใช่ของเรา ความเป็นเด็กมันก็หายไปจากเรา ความเป็นหนุ่มสาวมันก็หายไปจากเรา ความเป็นวัยกลางคนมันก็จากเรา สุดท้ายมันก็จากเราไปในที่สุด เพราะเค้าได้เผาเราไปเรียบร้อยเสียแล้ว

    เรามาปรับที่ 'ใจ' เอาความสุขความดับทุกข์อยู่ที่ใจ เราไม่ต้องไปเอาความสุขทางกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน ชีวิตของเราที่ยังอยู่นี้...ถือว่าเหลือน้อยแล้ว ต้องฝึกปล่อย ฝึกวาง เราทุกคนเกิดมาก็ไม่ได้เอาอะไรมา เวลาจากไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป เราจะมาตกนรกทั้งเป็นที่เรายังไม่ตายไปทำไม ลูกหลานน่ะมันจะรวยจะจนก็ช่างหัวมัน มันจะมีปัญหาอะไรก็ช่างหัวมัน ตัวเราก็ยังเอาตัวเราไม่รอดอยู่แล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรให้มันเป็นทุกข์อีก ร่างกายของเรามันจะเจ็บก็ช่างมัน มันจะแก่ก็ช่างมัน มันจะตายก็ช่างมัน ใครเค้าจะว่า เราดีเราชั่ว ว่าจะจนหรือรวยก็ช่างมันน่ะ ต้องมาฝึกปล่อย ไม่ต้องรู้มาก...ไม่ต้องคิดมาก...กลับมามีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ ท่องพุทโธๆ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

    เราแก่...เราต้องยอมรับในความแก่ของเรา เราเจ็บ เราก็ต้องยอมรับในความเจ็บของเรา เราตายก็ต้องยอมรับ ในความตายของเรา เราอยากไม่ให้แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เราก็ต้องตกนรกทั้งเป็น พระพุทธเจ้าท่านว่า... "เราไม่รู้จักธรรม" ตั้งแต่ก่อนนะเราเป็นเด็กทำมาหากิน เราแข็งแรง เราเอาความสุขทางร่างกาย เอาความสุขในการเล่นการเที่ยวได้น่ะ

    แต่นี้เราต้องตัดให้หมดเรื่องภายนอกน่ะ เพราะสุขอันไหนก็สู้ เรากลับมาหาความสงบไม่ได้...ไม่มี...เราถือว่าผลไม้มันกำลังสุกงอมแล้ว ถือว่าร่างกายของทุกคนมันแก่เฒ่าแก่ชราแล้ว สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือ เรามาเจริญสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์ อบรมบ่มอินทรีย์ สมองเรามันจำอะไรไม่ได้...ก็ช่างหัวมันน่ะ เพราะสัญญาทั้งหลายทั้งปวงมันไม่เที่ยง...มันไม่ใช่ตัวใช่ตน พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ให้ดับทุกข์ทางจิตทางใจในปัจจุบันให้มันได้

    เรานี้อย่าไปคิดว่าตัวเองมันจะแข็งแรง คิดว่าตัวเอง มันจะหนุ่มขึ้น มันเป็นไปไม่ได้ ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งแก่ ยิ่งเฒ่า ยิ่งหง่อมแล้ว อย่าไปแก้มันร่างกายน่ะ ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจของเราน่ะ "คนเราน่ะถ้าจิตใจมันสงบโรคภัยมันก็สงบ ถ้าจิตใจไม่สงบ โรคภัยมันก็กำเริบ" คนเราน่ะกายของเรามันแก่ มันเจ็บ มันตาย ถ้าเราเอาความแก่ ความเจ็บ ความตาย ทางร่างกายมาพัฒนาจิตใจของตัวเองเพื่อสร้างพระนิพพาน ให้เกิดขึ้นที่จิตที่ใจว่า เราตามความอยาก ตามความต้องการ ตามอารมณ์ไปไม่ได้ มันทำให้เราเวียนว่ายตายเกิด เราสงสารตัวเอง เราสลดสังเวชตัวเองที่ตัวเองเวียนว่ายตายเกิดน่ะ เราจะมารับจ้างเสพสุขเสพสบายในรูป เสียง กลิ่น รส แล้วทำ ให้เราเวียนว่ายตายเกิดน่ะ มันเป็นสิ่งที่สมเพชเวทนาตัวเอง

    ที่มันออกไปข้างนอกเยอะๆ น่ะ มันทำให้เราผิดศีลผิดธรรม ทำให้ทำร้ายคนอื่น ทำให้เราเป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรมน่ะ ตั้งแต่นี้ต่อไปน่ะเราจะเอาพระพุทธเจ้า เอาพระธรรม เอาพระอริยสงฆ์เป็นที่ตั้ง จะไม่เอากิเลส เอาความอยากความต้องการเป็นที่ตั้งแล้ว อดเอาทนเอาเพราะสร้างความดีสร้างบารมี

    ญาติโยม... พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า... เราพากันมาอยู่วัดมาอบรมบ่มอินทรีย์ เจริญสติสัมปชัญญะ พยายามอยู่กับเนื้อกับตัว อย่าพากันไปพูดกันมาก อย่าพากันคลุกคลีนะ เรื่องพูดเรื่องคุยน่ะมันไม่จบ เรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องอะไรต่างๆ นั้นมันไม่จบน่ะ ต้องกลับมาทบทวนตัวเอง ว่าตัวเองมันบกพร่องตรงไหน ต้องสมาทานแล้วจะได้ปรับปรุง เราจะได้เป็นแบบเป็นพิมพ์ให้ลูกให้หลาน ลูกหลานเค้าจะได้มีความสุข...ว่าพ่อแม่เค้ามีศีลมีธรรม...สงบเย็น พ่อแม่เค้าเดี๋ยวนี้ใจดีมาก ใจเย็นมาก มีหัวใจติดแอร์คอนดิชั่นแล้ว ไม่หลงเรื่องร่ำเรื่องรวย เรื่องไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี้แล้ว

    เพราะคนเราถ้าใจมันสงบ มันก็ไม่สนใจอย่างอื่นหรอก... เพราะความสุขความดับทุกข์มันอยู่ที่ 'ใจสงบ' บางทีคนเรามันคิดนะ เดี๋ยวมันแก่เกินมันจะไปเที่ยวเมืองนอกไม่ได้ อันนี้แสดงว่า เราไม่รู้จักเรื่องพระนิพพาน เรารู้จักแต่ความสุขทางภายนอก ถือว่าเรายังเป็นคนบาปอยู่ เป็นคนมืดอยู่ เป็นคนไม่สว่างไสวอยู่นะ

    เราอย่าไปหาสวรรค์ไกล...นิพพานไกล... บางทีก็ไปแสวงหาบุญโน้น ประเทศอินเดียโน้น สวรรค์นิพพานมันอยู่กับเราชีวิตปัจจุบันน่ะ ถ้าใจของเรามันมีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์นะ

     

logo

  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อเรา
  • จดหมายข่าว
  • Privacy Policy
  • Terms of Service