แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ ไม่ใช่เมื่อวานนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ วันนี้คือวันนี้ เกี่ยวกับวันนี้ยังไง สำคัญมาก วันนี้เป็นวันอะไร พวกเราคงจะรู้กัน เพราะว่าแสดงออกหลายอย่าง ที่วันนี้พวกเราก็มารวมกันที่นี่โดยไม่ได้นัดหมายอะไร ต่างคนต่างสำนึกขึ้นมาเอง จากทุกภาคของประเทศก็ว่าได้ ก็ไม่มากแต่ว่าพอสมควร แล้วก็มาทำหน้าที่ของเรารวมกันที่นี่ที่เป็นสาระ
วันนี้ก็เป็นวันอาสาฬหบูชา เวียนมาครบอีกรอบหนึ่ง ชีวิตของเราก็ยังพอมี ยังไม่ตาย เรียกว่าโชคดีที่เราจะได้ประกอบกิจอันสูงสุดที่ให้เกิดเพิ่มเติมขึ้นแก่เราอีก ให้มันมากขึ้น เหมือนหัวเผือกหัวมันที่อยู่ในดิน มันก็โตขึ้นเรื่อยๆ โตกว่าปีที่แล้ว คุณธรรมที่มีอยู่ในชีวิตเรา ก็อาจจะโตขึ้น ถ้าเราเพียรพยายามประกอบอยู่เสมอ เป็นไปได้
วันอาสาฬหบูชาในวันนี้เกี่ยวกับพวกเราทั้งนั้น คือพระพุทธเจ้าแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นไปเพื่อเทวดา มาร พรหม และมนุษย์ เทวโลก พรหมโลกทั้งมวล ได้ประโยชน์ จนมาถึงพวกเราทุกวันนี้ เราได้ประกอบพิธีในวันนี้ จากที่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่วันเพ็ญเดือนหก ยังไม่เคยแสดงธรรม มาแสดงวันนี้ วันเพ็ญเดือนแปด ให้แก่คนห้าคนฟัง เรียกว่าปัญจวัคคีย์ อย่างที่เราสาธยายพระสูตรจบลงไป
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นสูตรที่วิ่ง หมุนจักรธรรมให้เกิดขึ้นจนแหลกไปเลย เหยียบย่ำไปเลย ในทุกข์ ในสมุทัย ในนิโรธ มรรค แหลกไปเลย สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สิ่งใดเป็นทางดับทุกข์ สิ่งใดทำให้หมดทุกข์ได้ สำเร็จไปเลย พอได้เป็นไปแล้ว อย่างน้อยเป็นไปแก่ปัญจวัคคีย์ โกณฑัญญาผู้มีอายุ ให้รู้เรื่องนี้ขึ้นมา เป็นเชลยคนที่หนึ่ง เรียกว่า พระสงฆ์เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาในวันนี้ ที่โกณฑัญญาพราหมณ์
โกณฑัญญาพราหมณ์คือใคร คือพราหมณ์ทั้งแปด ที่ไปทำนายลักษณะของสิทธัตถะตั้งแต่ประสูติใหม่ ทำนายลักษณะก็ทำนายได้แม่นยำว่า สิทธัตถะนี้ออกบวชแน่นอน ตรัสรู้เป็นอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสดาเอกในโลก ทำนายไว้อย่างนี้ โกณฑัญญาเป็นพราหมณ์หนุ่ม ส่วนพราหมณ์เหล่านั้นทำนายเป็นสองลักษณะว่า ถ้าสิทธัตถะครองฆราวาส จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกในโลก สองลักษณะ ส่วนโกณฑัญญาพราหมณ์นี้ทำนายเป็นลักษณะเดียว ต้องออกบวชแน่นอน เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน
รอจนสิบหกปี พระเจ้าสุทโธทนะสร้างปราสาทสามฤดูให้ กลัวว่าสิทธัตถะจะออกบวช จึงสร้างโลกให้น่าอยู่ หาอัครมเหสีคือพิมพาสาวงามมาเป็นอัครมเหสี มีสนมกำนันในตลอดเวลา จนไม่เห็นอะไร อยู่ในแต่ปราสาทสามฤดู ฤดูร้อนอยู่หลังหนึ่ง ฤดูหนาวอยู่หลังหนึ่ง ฤดูฝนอยู่หลังหนึ่ง โกณฑัญญาพราหมณ์ก็ยังไม่หมด ยังเชื่อมั่นในการลักษณะของสิทธัตถะ จนรอไปถึงพระชนม์ชีพได้อายุยี่สิบเก้าพรรษา ออกบวชจริงๆ
ตอนนั้น โกณฑัญญาพราหมณ์เลยชวนเอาลูกของพราหมณ์ที่ไปทำนายลักษณะในวันนั้นด้วยกัน เอาลูกของพราหมณ์ ส่วนพราหมณ์ที่ไปทำนายลักษณะด้วยกันนั้น หมดชีวิตไปแล้ว เป็นคนเฒ่าคนแก่ เลยชวนเอาลูกของพราหมณ์ เรียกว่า วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ไปด้วยกัน ออกติดตาม เพื่อให้สิทธัตถะออกบวชแล้วจะได้ตรัสรู้ลงโปรดพวกเรา ก็ตามไปนั่น จนอยู่ถึงหกปี ตามสิทธัตถะออกบวช จนหนีจาก เห็นมากินข้าวกินน้ำ ปัญจวัคคีย์หนีจาก ออกจากพุทธคยา ออกจากบ้านนางสุชาดา ใกล้ๆ กับพุทธคยา ลิ้นมันแข็งนะ หนีไปอยู่ป่าอิสิปตนโน่น เมืองพาราณสี พุทธคยาจากเมืองพาราณสีนี่ไกลกันนะ อย่างน้อยต้องสามร้อยกว่าโล สี่ร้อยกว่าโล เท่ากรุงเทพฯ กับชัยภูมินี่แหละ
พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้วในวันเพ็ญเดือนหกนั่น ได้หาคนที่จะสอน จะสอนใครหนอเรื่องนี้ จึงคิดเห็นปัญจวัคคีย์ พอมีนิสัย ผู้ที่จะฟังธรรมเรื่องนี้ได้ ทีแรกก็คิดเห็นอุทกดาบส อาฬารดาบส ซึ่งเป็นอาจารย์คนแรก แต่ว่าหมดไปแล้ว ไม่มีแล้ว จึงมั่นใจเดินรอนแรมจากพุทธคยามาอิสิปตนนี้ ได้แสดงธรรมในวันนี้แก่ปัญจวัคคีย์ คือทั้งหมดแล้ว สมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่การตรัสรู้ การปรินิพพาน ตลอดทั้งการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จบลงไปในธรรมเทศนากัณฑ์เดียวนี้ ทั้งหมด แล้วเกี่ยวกับเรายังไง การตรัสรู้ การแสดงธรรม เกี่ยวกับพวกเรายังไง
เราปฏิเสธไม่ได้ ชีวิตของเราก็คือเรื่องนี้ เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แน่นอน เรื่องความ เวียน ว่าย ตาย เกิด ที่มันทำให้เราวนเวียนอยู่นี่ มันจึงเป็นเรื่องของเรา เราปฏิเสธไม่ได้ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระธรรมคำสอน มาพร้อมกัน อันเป็นไปเพื่อความออกจากทุกข์ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อปรินิพพาน มาพร้อมกันหมดครบถ้วน เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ดั่งที่เราได้สาธยายพร้อมกันนี้ ไม่ควรจะสงสัย แล้วมันคืออะไร คือเราก็เห็นอยู่ มีสติ มันก็มีได้ทุกคน
สติคืออะไร คือความรู้สึกตัว เมื่อมีสติก็เห็นอะไร เห็นความหลง เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายกับใจ ได้เห็นแล้วเราทำยังไง เห็นหลง ให้หลงเป็นหลง มันก็ไม่ใช่เห็น เห็นหลง ไม่เป็นผู้หลง เปลี่ยนหลงเป็นรู้ พอทำได้ ไม่ทอดทิ้งตรงนี้ เราได้ทำแล้ว พระพุทธเจ้าบอกว่าทำแล้ว สิ่งใดที่ทำให้เกิดทุกข์ เรารู้แล้ว เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เราทำแล้ว ทางที่ทำให้ออกจากทุกข์ เราได้ทำแล้ว ความพ้นทุกข์ เราได้พ้นไปแล้ว เหมือนเราเห็นงู ไม่ต้องเจ็บเพราะงูกัด เห็นทุกข์ ก็ไม่ต้องทุกข์เพราะความทุกข์ นั่นก็เป็นเรื่องของเรา
ถ้าเราไม่เปลี่ยนตรงนี้ มันจะมีค่าอะไร มันจึงทำได้ทุกชีวิต ทุกชีวิตก็มีอยู่อย่างนี้ เรามามีสติมาดูเนี่ย มาเห็นเนี่ย นานเท่าไหร่ ชีวิตของเรานี่ระหว่างรู้ระหว่างหลง มันมากกว่ากันเท่าไหร่ เราจะปล่อยให้หลงอยู่เช่นนั้นหรือ เพียงแต่เรามาเดินจงกรม มายกมือเคลื่อนไหว ชั่วโมงหนึ่งก็หลงไปเท่าไหร่ เรารู้ไปเท่าไหร่ มันสมดุลกันไหม ถ้าเราไม่ช่วยเตือนตนเอง ก็ไม่รู้จะช่วยอะไร ไม่ใช่มีค่าอะไรเลย ฉะนั้น เราเปลี่ยนหลงเป็นไม่หลง มันมีค่าขึ้นมาแล้ว มันก็ดี เวลามันหลง รู้ขึ้นมาได้ประโยชน์ เวลามันทุกข์ รู้ขึ้นมาได้ประโยชน์ เวลามันโกรธ รู้ขึ้นมาได้ประโยชน์ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ
ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ อะไรที่เป็นชีวิตของเรา เวลาที่เราใช้ไป มันเป็นยังไง สัมผัสดู สัมผัสกับความไม่หลง สัมผัสกับความไม่ทุกข์ สัมผัสกับความไม่โกรธ ทุกคนมีเรื่องนี้ ไม่ใช่ไม่มี เราไม่ได้ปฏิเสธ ไม่หลงเรื่องใด ก็หลงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง บางทีก็หลงมาก บางทีก็หลงน้อย เสียเปรียบความหลง เสียเปรียบความโกรธ เสียเปรียบความทุกข์ จนเป็นร่องเป็นรอยในหัวใจของเรา รอยรัก รอยแค้น รอยผิด รอยถูก รอยอะไรต่างๆ เราจึงไม่ควรจะเสียเปรียบ
มันเกิดจากเท่านี้ มีเหตุมีปัจจัย ทุกสิ่งๆ เกิดแต่เหตุ เราก็จะดับ จะแก้ก็แก้ที่เหตุไปสิ เหตุมันคือตรงไหน คือไม่รู้ ความไม่รู้เหมือนป่า ถ้ารู้ก็เหมือนทาง เราก็เคยหลง ยังหลงอยู่ เคยโกรธก็ยังโกรธอยู่ ยังหมกมุ่นอยู่ในป่า แทนที่จะไม่หลงเป็นทางไป หลงเป็นหลง หรือว่าอยู่ในดงในป่า ถ้ามีป่าก็ต้องมีอะไรอยู่ที่นั่น มีของที่ไม่สะดวก มีพิษ มีภัย โบราณท่านจึงว่า
ณ ที่ใดมีป่าอย่าประมาท เสืออุบาทว์มีอยู่คู่สถาน
คอยจับจ้องมองเหยื่อทุกวันวาร ใครเดินผ่านไม่ระวังมีหวังตาย
ป่าคืออวิชชา คือไม่รู้ ความรู้ไม่ใช่มีป่า โล่ง เห็น เราอยู่ทุกวันนี้ก็อยู่ในที่มันมีทาง เดินไปในที่มีทาง ชีวิตเราก็ต้องมีทาง จะไปที่ใดต้องมีทาง จึงถึงจุดหมายปลายทาง ไม่ใช่ด้นเดาไป มันมีทางไป แผนที่ทางเดิน อย่างพระพุทธเจ้าแสดงธรรม พระสูตรต่างๆ เป็นแผนที่ ขีดเส้นไว้ หลงทีใดรู้ที่นั่น กลับไปทางให้มันถูก ถ้าไปทางมันหลงอยู่ก็หมกมุ่น แล้วก็หลงเรื่อยไป หลงแล้วไม่ใช่หลงน้อยๆ หลงเพิ่มขึ้น จนเกิดอะไรต่างๆ มากขึ้นมา
นี่คือพระธรรมคำสอนในวันนี้ มีหลักมีฐาน มีตัวมีตน สัมผัสได้ ชีวิตของเราสัมผัสได้ ไม่ใช่อยู่คนละโลก มันอยู่กับเราทุกชีวิต ถ้าเราได้ทำตรงนี้ให้มันถูกจากสิ่งที่ผิด มันก็คุ้มค่า จึงน่าจะกระตือรือร้นในเรื่องอย่างนี้กัน การปฏิบัติก็ทำได้ทุกคน ไม่ใช่ทำไม่ได้ ไม่ใช่คนละเรื่อง เห็นกันอยู่ ปฏิบัติได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ผู้ปฏิบัติก็ย่อมรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็นตามสมควรแก่ผู้ปฏิบัติ ถ้าใครมีสติก็หลงน้อย ถ้าใครไม่มีสติก็หลงมาก เหมือนแสงหิ่งห้อยสว่างนิดหน่อย แสงตะเกียงก็สว่างขึ้นนิดหน่อย แสงนีออนก็สว่างขึ้นนิดหน่อย มากขึ้นกว่าแสงตะเกียง ถ้าแสงดวงอาทิตย์ก็รู้แจ้งโลก โลกะวิทู อันที่มีอยู่ในกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบ รู้หมด ไม่ใช่ไม่รู้ เรียนให้มันจบตรงนี้ เรียกว่ารู้รอบ มีสติเป็นหน้ารอบ
การมีสติเป็นหน้ารอบในรูป ในนาม ในกาย ในใจ ท่านเรียกว่าพระอรหันต์ อุชุ กายัง ปริมุขัง สะติง อุปัฏฐะเปตฺวา ผู้มีสติเป็นหน้ารอบ ขีณาสพ คือพระขีณาสพ ขีณาสพคือใคร คือพระอรหันต์ มันอยู่ที่ไหนล่ะ อยู่ที่เราเนี่ย สร้างขึ้นมา ประกอบขึ้นมา มันจะมีขึ้นก็ต้องประกอบ ไม่ใช่เพ้อฝัน ไม่ใช่อ้อนวอน ไม่ใช่เรื่องอื่น ต้องประกอบ สติมันจะเกิดก็ประกอบ ไม่ใช่ท่องจำด้วยซ้ำไป ต้องประกอบขึ้นมา สัมผัส เอากายไปสัมผัส เอาใจไปสัมผัสกับความรู้สึกตัว เดี๋ยวนี้กายสัมผัสอะไร ใจมันสัมผัสกับอะไร อาจจะสัมผัสกับอารมณ์ กับความหลงมากจนเป็นเจ้าบ้านเจ้าเรือน หมักหมม เป็นจริตเป็นนิสัย เพราะไม่เคยสอนตน เตือนตน แก้ไขตนเอง เลยอยู่นั่น พอกพูนไปจนมาก เหมือนดินพอกหางหมู เป็นเจ้าอารมณ์ โทสจริต โมหจริต ราคจริต โมฆจริต จนมากมาย คิดอะไรออกหน้าออกตา ไม่มีคุณธรรมแก่ชีวิตของเรา อาศัยไม่ได้ มีใจก็พึ่งใจไม่ได้ ให้รู้ว่าใจเป็นอย่างไร มั่นใจตัวเอง
มันจะอยู่กันยังไง มันก็มีสิ่งที่ทำได้อยู่ พึ่งได้อยู่ มันไม่เกิดลี้ๆ ลับๆ มันโง่ๆ ความหลงก็โง่ๆ ความโกรธก็โง่ๆ ความทุกข์ก็โง่ๆ แสดงออกได้ เวลาที่มันทุกข์ ก็แสดงออกมาทางใบหน้า ทางกายทางใจ เราไม่เห็น คนอื่นก็เห็น หน้าบูดๆ หน้าบึ้งๆ พูดจาก็ไม่เพราะ จับศาสตราอาวุธประหัตประหารได้ แต่เราก็เห็นอยู่ ถ้าไม่เห็นตัวเอง ก็เวลามันโกรธไปส่องกระจกดู มันจะน่าดูไหม ไปยืนส่องกระจกดูหน้าตัวเองดูสิ เป็นแม่คนไหม เป็นเมียคนไหม เป็นผัวคนไหม เป็นลูกคนไหม เป็นพี่น้องกับใครไหม เวลามันโกรธ เป็นมิตรกับใคร แม้แต่ตัวเองก็ทำลายตัวเองไปแบบนี้แล้ว เหมือนลูกระเบิด ก่อนที่มันทำลายคนอื่น มันต้องทำลายตนเองก่อน มันแตกก่อน มันถึงจะทำลายคนอื่น ความโกรธเหมือนกับระเบิด ที่มันทำลายตนเองจนหมดสิ้นไปแล้วซึ่งความดี มันก็ไปทำลายคนอื่นได้
เราจะเป็นอยู่อย่างนี้หรือ ชีวิตของเรา ตัวเองก็พึ่งตัวเองไม่ได้ จึงมาประกอบขึ้นมาในความดี สร้างขึ้นมา ให้มันมีกับชีวิตเรานี้ในวันนี้ วันนี้มันเป็นอย่างนี้ พรุ่งนี้ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าวันนี้เรามีสติ พรุ่งนี้ก็มีสติ ทำให้เราหลง พรุ่งนี้ก็หลง แน่นอนที่สุด เพราะมันไม่มีบุญวาสนา ไม่ได้วาด ไม่ได้เขียน ไม่ได้ขีดเส้นให้ตัวเอง วิชากรรมฐานเป็นวิชาที่ขีดเส้นให้กับตัวเอง เดินอยู่ในเส้นเนี่ย ให้มันชำนิชำนาญ กรรมฐานเป็นการขีดเส้น เดินชีวิตของเรา มันมีทาง เรียกว่าอริยมรรค อริยมรรคเป็นทางไปสู่ มรรคผลนิพพาน คือธรรมวินัยนี่
อย่างได้พูดเมื่อวานนี้ ธรรมวินัยเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ถ้ามีธรรมวินัยอยู่ก็มีมรรคมีผลอยู่ ธรรมวินัยก็คือเส้นด้ายก็ว่าได้ ร้อยชีวิตของเราให้เป็นอันเดียวกัน ชีวิตของเรานั้นก็เป็นคนละดอก ต่างต้น ต่างสี กระจุยกระจายกัน ต่างต้น ต่างสี ต่างกิ่ง กระจุยกระจายกัน เมื่อเอาเส้นด้ายไปร้อยเข้ากัน ก็กลายเป็นพวงมาลัย นี่คือธรรมวินัย กลายเป็นอันเดียวกัน แม้จะเป็นสี เป็นกิ่ง เป็นต่างต้น สวยงามขึ้นมาได้ ถ้าเราเป็นอันเดียวกันอย่างนี้ ก็ว่ามีมรรคผลนิพพาน เรียกว่าเรียบ เรียบ อันเดียวกันเลย
แผ่นดินเรียบไม่ใช่แผ่นดิน คือชีวิตของเราเป็นคนๆ เดียวกัน แผ่นดินเรียบ เหมือนหน้ากลองไซ ศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ หมายถึงเรื่องนี้ ต่อเมื่อใดเราเอาธรรมะไปปฏิบัติ มาสอนตัวเอง แก้ไขตัวเอง เตือนตัวเอง ไม่มีใครเห็นเราได้ นอกจากเราเห็นเรา ไม่มีใครสอนเราได้ สอนให้เราเป็น คนอื่นสอนให้รู้ แต่สอนให้เป็นเราต้องสอนตัวเรา สอนให้รู้ก็ยังใช้ไม่ได้
นิพพานคือใจดีๆ ถ้านรกคือใจร้ายๆ นิพพานคือใจเย็นๆ สวรรค์คือใจดีๆ นรกคือใจร้ายๆ อ้าว มันคืออะไร มันคือเรื่องของใจนี่เอง ใจก็เป็นใหญ่แบบนี้ จะนรก จะตกนรก ก็คือใจ จะได้สวรรค์ก็คือใจ จะได้นิพพานก็คือใจ มันก็เป็นใหญ่แบบนี้
เราเลยช่วยเหลือ ช่วยจิตใจไป ปล่อยให้หลงอยู่ข้ามวันข้ามคืน ปล่อยให้ทุกข์อยู่ข้ามวันข้ามคืน ปล่อยให้โกรธอยู่ข้ามวันข้ามคืน จะช่วยไหม ช่วยจิตใจไหม ยกขึ้นมาไหม ถ้าไม่ช่วยให้มันไม่มีภัย มันก็จะต้องมีภัย หน้าบูด หน้าบึ้ง ตัวเองตกนรกอยู่ ก็ไม่รู้จักนรก กลัวนรกต่อเมื่อตายไปแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ไม่กลัว มันก็เป็นไปได้อย่างนั้นหรือ มันกลัวต่อเมื่อตาย อยากมีสวรรค์ต่อเมื่อตายไปแล้ว อยากมีนิพพานก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว มันก็ไม่ใช่ พระพุทธเจ้าสอนเป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตัง รู้เดี๋ยวนี้ เป็นเดี๋ยวนี้ หมดเดี๋ยวนี้ พ้นเดี๋ยวนี้ ถ้าใจเย็นๆ ได้นิพพานชิมลอง ถ้าใจดีๆ ก็ได้สวรรค์ชิมลอง ได้ใจร้ายๆ ก็ได้นรกชิมลอง เคยชิมไหม พ่อทายกเปรม เคยชิมนรกไหม (หัวเราะ)
เวลามันทุกข์ มันโกรธเสียยังไง กินข้าวได้ไหม นอนหลับไหม บางคนได้โกรธตายไม่ลืม ปานนั้นหนอคนเรา ดึงขึ้นมาแล้วลงไปอีก เหมือนหนอน อยู่ในคูถ เขี่ยขึ้นมาแล้วยังดิ้นลงไปอีก อย่าโกรธเถอะพ่อ อย่าโกรธเถิดลูก อย่าโกรธเถอะเพื่อน ไม่โกรธไม่ได้ ไม่โกรธไม่ได้ กูไม่ยอม กูไม่ยอม ปัดโถ มันมืด บาป มันมืด ไม่เห็น บุญคือสว่าง เห็นทิศเห็นทาง ช่วยตัวเองเป็น พระพุทธเจ้าสอนเรื่องนี้ สวรรค์ในอก นรกในใจ นิพพานอยู่ที่ใจ อยู่ที่ไหนมีนิพพานอยู่ที่นั่น ดูคนทุกคนเหมือนพระพุทธเจ้า ฟังเสียงทุกเสียงให้เหมือนเสียงพระสวดมนต์ ดูคนทุกคนให้เหมือนพระพุทธเจ้า อยู่ที่ไหนมีนิพพานอยู่ที่นั่น
นี่คือชีวิตแท้ๆ ล่ะ ไม่มีอะไรที่เป็นทุกข์เป็นโทษ เขานินทาก็ไม่เป็นทุกข์เป็นโทษ เขาสรรเสริญก็ไม่เป็นทุกข์เป็นโทษ มีแต่เห็น มันเป็นรสของโลก นี่คือโลก นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ได้ เสีย เป็นรสของโลก สมบัติของโลก มีมาก่อน ถ้าเราไม่เหนือตรงนี้ จะถูกโลกทับถม พอที่เจ็บปวด ต้องเป็นสิงห์ เป็นเสือเป็นสิงห์ ใจสิงห์ใจเสือ เขียนลายให้ตัวเอง อย่างที่หลวงตาพูดเมื่อวานนี้ว่า ตกลงว่าเป็นเสือแล้ว ลายไม่ลายก็ต้องเขียนเติมขึ้นมา เขียนให้เป็นลายก็ได้ เวลามันหลง รอยเสือก็ไม่หลง สิงห์คือมั่นใจ ไม่มีแพ้ จะว่าสิงห์เสือ
เคยไปดูสิงห์ สิงโต สวนสัตว์ดุสิตเคยไปดูไหม เราไปเรียกสิงห์ให้มันมองเรา มันไม่มองใครหรอก มันก็เดินโชว์เฉย อยากจะยื่นมือ จะอะไรให้มันดู มันไม่ดูเราหรอก ใจสิงห์ไม่หวั่นไหวอะไร ชีวิตนี้ลุยมันเลยโลกนี้ เขานินทาก็ไม่หวั่นไหว เขาสรรเสริญไม่หวั่นไหว สุขก็ไม่หวั่นไหว ทุกข์ไม่หวั่นไหว ได้ เสีย ไม่หวั่นไหว เราฝึกจิตใจของเรา ผู้ที่ฝึกฝนจิตใจดีแล้ว ไม่หวั่นไหวเพราะนินทา สรรเสริญ พระพุทธเจ้าพูดเรื่องนี่ว่า ภูเขาศิลาแท่งทึบไม่สะเทือนเพราะลมฉันใด บัณฑิตผู้ฝึกฝนตนดีแล้ว ไม่หวั่นไหวเพราะนินทา สรรเสริญฉันนั้น
นี่คือชีวิตของเราจริงๆ เราจะอาศัยกันได้ มั่นคง พึ่งพาอาศัยกันได้ เราก็พึ่งใจเราได้ ใจของเรามันไม่ไปไหนแล้ว หมดพิษหมดภัยแล้ว เราฝึกอย่างนี้ ในธรรมเทศนาวันนี้ อาสาฬหบูชาเวียนมาถึงพวกเรา เอาให้เกิดประโยชน์ เหมือนกับโกณฑัญญาพราหมณ์ ฟังเทศนาในธรรมจักรเรื่องนี้เข้า เป็นพระสงฆ์ขึ้นมาทันที เพราะเกี่ยวกับเราเอง มันหลง ไม่หลง เหมือนพระพุทธเจ้าสอนไป เฉพาะหน้านี้แล้ว มันทุกข์ ไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าบอกอยู่ มาทางนี้ๆ นี่คือทาง ความหลงไม่ใช่ทาง กลับเข้ามาทางไม่หลง มันโกรธ ไม่โกรธ กลับมา มันทุกข์ ไม่ทุกข์ กลับมา กลับได้เรียกว่าปฏิบัติ
ปฏิบัติคือกลับ กลับมาหาทาง มันผิดกลับมาหามันไม่ผิด มันทุกข์กลับมาหามันไม่ทุกข์ มันโกรธกลับมาหาไม่โกรธ เรียกว่าทาง สัมผัสดู มันเป็นธรรมไหม ความโกรธ ความไม่โกรธ เป็นธรรมไหม อะไรมันสะดวก อย่าหมกมุ่น สัมผัสดู ความโกรธไม่เป็นธรรมเลย ความไม่โกรธเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม ความหลงไม่เป็นธรรม ความไม่หลงเป็นธรรม เลือกได้อย่างนี้ ชีวิตเราเรียกว่าสัตว์ประเสริฐ หรือว่ามนุษย์ ส่วนเดรัจฉาน มันยังเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่ กี่ปีๆ ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน พัฒนาไม่ได้
มนุษย์เรานี่เป็นสัตว์ประเสริฐ มีรูป มีนาม มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ รู้อะไรได้ มีธาตุรู้ มีดิน น้ำ ไฟ ลม มหาภูตรูป มาอาศัยได้เหมือนพ่วงแพ มหาภูตรูปคือดิน น้ำ ลม ไฟ นี่ พ่วงแพ มีขันธ์ทั้งห้าเหมือนกับ มันรู้อะไรได้ พ่วงแพสำหรับขี่ข้ามฟาก มีรูปก็เอามือมาลูบมาทำอย่างนี้ ยกมือไหว้ วาจาก็เป็นบอกความเท็จความจริง อย่าเอารูปไปทำอย่างนี้ มีวาจาก็เอาวาจามาพูดอย่างนี้ เป็นรูปนาม ทำดี ให้รูปมันทำดี ให้นามมันทำดี แล้วก็มีอยู่ในเรานี่ ทุกคนก็มีรูป มีนาม ทุกคนก็เปลี่ยนเท่านี้ เหมือนกันหมด ก็ในโลกนี้มีเท่าไหร่ ประชากรในโลกเนี่ย หา จำไม่ได้
ทุกคนก็เริ่มต้นจากเรา ก็เป็นคนๆ เดียวกันทันที นับหนึ่งจากเรา คนดีอยู่ที่ไหน อย่าขี้แพ้ใคร คนดีต้องอยู่ที่เรานี้เสนอตัวเราขึ้นมา ลูกพ่อนี้แม่นี้ เราคนหนึ่งล่ะ ยิ่งเรามีสามี ภรรยา มีเพื่อน มีการเมือง ก็เราคนหนึ่งล่ะ เสนอตัวเราขึ้นมา ตั้งต้นจากเราก่อน ทุกคนนับหนึ่ง ก็มีสอง มีสามไป จากโกณฑัญญาพราหมณ์เป็นพระสงฆ์ มาถึงพระสงฆ์พวกเรา ในธรรมวินัย ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมวินัยตรัสไว้ดีแล้ว จงปฏิบัติตามธรรมนั้นเถิด ปฏิบัติตามธรรมอันหลง อย่าไปตามหลง มาปฏิบัติตามความไม่หลง บอกไว้แล้ว
มันโกรธ อย่าไปตามความโกรธ ให้กลับมาหาความไม่โกรธ มันทุกข์ อย่าไปตามความทุกข์ กลับมาหาความไม่ทุกข์ ทุกคนทำได้ ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร หลวงตา ฉันโกรธ หนูโกรธ ผมโกรธ ขออนุญาตไม่โกรธได้ไหม ไม่มีคำพูดอย่างนี้ ขออนุญาตไม่โกรธ ขออนุญาตไม่ทุกข์ ไม่มี มีแต่เราเอง ที่ทำเอาเอง สัมผัสดูแล้ว ไม่ถูกจริงๆ นี่คือการกระทำ การกระทำแบบนี้เรียกว่าปฏิบัติ ขยันรู้เรียกว่าภาวนา ชั่วโมงหนึ่ง นาทีหนึ่ง วินาทีหนึ่ง รู้ทีหนึ่ง นี่ภาวนา ขยันรู้เอา
โดยเฉพาะกรรมฐาน สิบสี่จังหวะ สิบห้าจังหวะ เรียกว่าเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติไปในกายเคลื่อนไหว เอากายเคลื่อนไหว เอามือเคลื่อนไหว เอาขาเคลื่อนไหว มือเคลื่อนไหวคือสร้างรูปแบบ กายเคลื่อนไหวคือมันเดิน ใจมันเคลื่อนไหวคือมันคิด ให้เห็น มันก็ตั้งต้นในนี้ ที่มันเคลื่อนไหว ให้รู้
ถ้าเราจะภาวนา ให้รู้ พอมันเห็น เพราะมันมีรูป ก็มีแต่เรื่องให้แก้ พระสิทธัตถะก็แก้ เราก็แก้เห็น เห็นอะไร เห็นความหลง หลงไปทางไหน เยอะแยะ อาจจะหลงถึงพิมพาราหุล คนเคยมีลูกมีเมีย อาจจะคิดถึงลูกถึงเมียบ้าง ใช่ไหม คนเคยอยู่ปราสาทสามฤดูมาอยู่ต้นไม้ อาจจะคิดถึงปราสาทสามฤดู เคยอยู่กับหมู่สนม กำนันนางใน ไม่มีบุรุษเจือปนเลย อาจจะคิดถึงบุรุษ คิดถึงบริวาร มาอยู่ลำพังคนเดียวเนี่ย บางทีก็เจ็บๆ ออดๆ แอดๆ ตากฟ้าตากฝน อาจเป็นไข้ เป็นร้อน เป็นหนาว กลัวตาย มีความคิดเหมือนกัน
สู้ อย่าเอาเรื่องนั้นมาต่อรอง เรามีสติแล้ว เอาลงไป กลับมามีสติเวลานี้ ไม่ใช่เรามาคิด ไม่ใช่เรามากลัว ไม่ใช่เรามาวิตกกังวลอะไร เรามาภาวนา มีสติ ตัดสินใจ มันหลงทีใด ตัดสินใจไม่หลง รู้ มีรอยยิ้มนิดหน่อย เห็น ถ้าหลงเป็นหลง มันก็ไม่ทำมันเลย ถ้าหลงเป็นรู้ ทุกข์เป็นรู้ อะไรเป็นรู้ มันก็กรรม กรรมมันศักดิ์สิทธิ์ ลิขิตชีวิตเราได้ จากเคยหลงมาเป็นรู้ จากเคยทุกข์มาเป็นไม่ทุกข์ได้ จากเคยผิดมาเป็นไม่ผิดได้ เรียกว่า ปฏิบัติธรรม