แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ฟังธรรมกันนะ ซ้ำอีกสักทีหนึ่ง เราสาธยายพระสูตร พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ จนถึงบทพระสูตร อนัตตลักขณสูตร เป็นสูตรที่ว่าด้วยการรื้อถอนในโครงสร้างของสังขารที่ทำให้เกิดแก่เจ็บตาย จนถึงพระสูตรที่ว่าด้วยเทคนิคการกระทำหรือว่าวิธีการต่างๆ เพื่อจะทำให้เกิดความสำเร็จในการงานอันสูงสุด ถ้าจะพูดแล้วก็บอกตรงๆ ว่ากุศล อกุศล ได้อย่างนั้น ถ้ากุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป อกุศลคือบาป คือความไม่ดีทำให้เกิดแก่เจ็บตาย แล้วก็สร้างกุศลคือความดี ความไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย ที่ยังไม่มีให้มีขึ้นมา ที่มีแล้วให้เจริญขึ้น มันก็มีเท่านี้ ถ้าจะพูดก็มีบุญมีบาป มีสุขมีทุกข์ มีผิดมีถูก ชีวิตของเราอันที่เป็นความผิดก็เป็นทุกข์เป็นโทษ อันที่เป็นความถูกก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น มันก็อยู่กับเราทั้งหมดแล้ว
บัดนี้เราก็มาทำมาละอกุศลคืออย่างไร สร้างกุศลคืออย่างไร เรามาเจริญสติ เรียกว่าความเพียร ความเพียรก็คือความขยันรู้ สติก็คือหน่อโพธิ อันนี้ทำให้งอกให้งามขึ้นมา ทำให้มากขึ้น มีสติก็ละความชั่ว มีสติก็ทำความดี มีสติจิตก็บริสุทธิ์แล้วไปในตัวเสร็จ ถ้าจะเป็นอกุศลก็ละอกุศลถ้ามีสติ ถ้าเป็นกุศลก็สร้างกุศลเพราะทำดีอยู่แล้ว มีสติก็ละความชั่ว ทำความดี จิตบริสุทธิ์ มีสติความชั่วก็ไม่เกิด เพราะมันหลงที่ใดก็รู้ มันเกิดขึ้นไม่ได้ เปลี่ยนหลงเป็นรู้เรียกว่าสร้าง ถ้าหลงเป็นหลงไม่ได้สร้าง ไม่พัฒนา หายนะ เป็นความเสื่อมเป็นความต่ำ เราก็มีงานแบบนี้เรียกว่าปฏิบัติ
ปฏิบัติก็คือเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น เรียกว่าละอกุศล มันก็มีอยู่ในชีวิตของเรา แต่ก่อนเราใช้ชีวิตไม่เป็น ผิดพลาด ไปใช้ให้สุขให้ทุกข์ ไปใช้ให้โกรธให้โลภให้หลง ไปใช้ให้ผิดให้เป็นทุกข์เป็นโทษ เคยโกรธ เคยเสียใจ เคยดีใจ เคยสุข เคยทุกข์ ใช้กายใช้ใจให้เป็นสุขเป็นทุกข์ เคยใช้แบบนั้นก็เลยเปรอะเปื้อนมาเป็นรอย รอยผิด รอยถูก รอยสุข รอยทุกข์ รอยโกรธ รอยโลภ รอยหลง รอยเสียใจ รอยอะไรต่างๆ พอเรามาทำก็เห็นเหมือนมาซ่อม เหมือนรถมือสองที่เข้าอู่ ที่มันไม่ดีตรงไหนก็ซ่อมให้มันดีฟิตให้มันดี พอเรามาทำก็เห็นจริงๆ เห็นอะไร เห็นความหลง มันหลงอะไร หลงได้หลายอย่าง ถ้าจะให้มันรู้ กายานุปัสสนา มีสติเห็นกายในกาย มันไม่เห็น มันไปเห็นอย่างอื่น มันหลงไปทำอย่างอื่น ไปคิดอย่างอื่น เพราะมันเคยเป็นไปทางนั้น
เราก็มาทำตรงนี้ มีสติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง วินาทีหนึ่งรู้ทีหนึ่ง มันก็ไม่รู้ทุกวินาที ตามรูปแบบของกรรมฐาน หายใจเข้าหายใจออกมันก็มาดูที่ลมหายใจ มันก็พัดไปในความหลงความรักความชังความสุขความทุกข์ เคยชินมาอย่างไรก็ไหลไปแบบนั้น ไปทางอดีตไปทางอนาคต ปัจจุบันเลยไม่รู้ อดีตก็ไม่จริง อนาคตก็ไม่จริง มันยังไป เคยรักก็มี มันก็ฉายออกมา เคยโกรธก็ฉายออกมา เคยหลงก็ฉายออกมา เคยทุกข์ก็ฉายออกมา มันไป สิ่งที่มันไปก็ไปทางตาทางหูจมูกลิ้นกายใจรูปรสกลิ่นเสียง มันเคยไป ถ้ามันไปก็กลับมา เปลี่ยนความหลงให้เป็นความรู้ มันไปทีไรก็เปลี่ยนมันทุกที เรียกว่าก้าว ถ้าหลงเป็นหลง ไม่ได้ก้าวสักก้าว ไม่ได้ไป ไม่ได้เปลี่ยนอกุศลเป็นกุศล หลงเป็นอกุศล รู้สึกตัวเป็นกุศล ไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้ หลงก็เลยเป็นหลง ทุกข์ก็เป็นทุกข์ โกรธก็เป็นโกรธ มันก็มีเท่านี้
อกุศลก็มีไม่มาก พระพุทธเจ้าก็บอกไว้แล้วว่า หลักการของอกุศลมูลมี 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ เมื่อมีโลภะ โทสะ โมหะ อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น เมื่อมีอกุศล 3 อย่างนี้ อกุศลอื่นที่ไม่เกิดก็เกิดขึ้นมา มากขึ้นๆ จนเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์ จึงมีนรกมีเปรตมีอสุรกายมีสัตว์เดรัจฉานไปทางต่ำ เพราะไม่เปลี่ยนอกุศลให้เป็นกุศล ก็คือไม่เปลี่ยนหลงเป็นรู้ เริ่มต้นก้าวแรกอยู่ที่นี่ เราจึงทำกับมือของเราแท้ๆ ไม่ได้คิดมโนภาพ ไม่ได้งมๆ ซาวๆ (คว้า) มันเห็นอยู่ต่อหน้าต่อตา เวลาเรารู้ก็เจอความหลงทันทีเพราะว่ามันตรงกันข้าม ความหลงไปทางหนึ่ง ความรู้ไปทางหนึ่ง เราไม่เคยเปลี่ยนตรงนี้ เราจึงมาทำ มาเปลี่ยนเป็นการเป็นงานเรียกว่ากรรมฐาน เป็นการงานชอบ ไม่มีใครไม่เห็นตรงนี้ เห็นหมด อยู่ในเพศใดวัยใดนิกายใดลัทธิใดเห็นกันทั้งนั้น เห็นความรู้ เห็นความหลง อันเดียวกันแท้ๆ ไม่ได้หา ไม่ได้ใช้ความคิด ไม่ใช้เหตุใช้ผล มันเกิดขึ้นมาเราก็เห็น ก็โชคดี
เหมือนกับเราเจ็บไข้ได้ป่วยไปหาหมอ หมอก็หาโรคหาสมมติฐานของโรค ถ้าหมอเห็นโรค หมอก็รักษาหาย แล้วก็มีวิธีที่หาโรคให้พบ เอ็กซเรย์ สแกน อัลตร้าซาวด์ อะไรต่างๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเห็นเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ถ้าเห็นโรคก็รักษาโรคได้ตามสมมติฐานของโรค แต่ว่าโรคที่เกิดแก่เจ็บตายนี้ไม่ต้องอาศัยเครื่องมืออะไร มันมาพร้อมกันหมดอยู่ในเรานี้ ต้องมารู้ มันก็เห็นโรคเห็นหลงคู่กันไป เห็นทุกข์ก็เห็นไม่ทุกข์ เห็นความโกรธก็เห็นไม่โกรธ ไม่ได้ยากอะไร ปฏิบัติได้ให้ผลได้ ถ้าเห็นหลงก็มีรู้ ใช้ความรู้สึกตัว ถ้าไม่มีจริงๆ ก็กำหนดกายเคลื่อนไหว มีสติ เรียกว่ามีสติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ
ถ้ามันหลงไปกลับมาที่ตั้ง ตั้งไว้ที่นี่ที่กายนี้เรียกว่ากรรม เรียกว่าฐาน ฐานคือที่ตั้ง กรรมคือการกระทำ ให้รู้อยู่เสมอถ้าทำได้ ถ้ามันหลงเปลี่ยนหลงเป็นรู้ กลับมาได้ ถ้ามันโกรธเปลี่ยนโกรธเป็นไม่โกรธ ถ้ามันทุกข์เปลี่ยนทุกข์เป็นไม่ทุกข์ นี่เรียกว่าละอกุศลให้เป็นกุศล มันก็ทำได้อย่างนี้ จึงว่าปฏิบัติได้ ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล หลงวินาทีนี้ก็รู้ได้ในวินาทีนี้ เป็นปัจจัตตัง ไม่ได้รอ การมีความรู้สึกตัวไปในกายก็ไม่ต้องรอ เป็นปัจจัตตัง หายใจทีไรก็รู้ได้ เคลื่อนไหวมือก็รู้ได้ทันที ไม่เหมือนเราสร้างอย่างอื่น เราปลูกข้าวครึ่งปี ค่อนปี หนึ่งปี จึงได้กิน ปลูกพริกปลูกมะเขือ หนึ่งเดือนสองเดือนจึงได้กิน แต่ปลูกสตินี้ทันที ปัจจัตตังทันที พอกำหนดรู้ก็รู้ได้ทันที เรียกว่ามนุษย์สมบัติ มันจึงเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างนี้ น่าจะขยัน น่าจะมีความเพียร น่าจะประคองตั้งจิตไว้ อะไรมันเกิดขึ้น เปลี่ยนได้ ถอนออกไป จึงว่ามีสติเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ ถอนความพอใจและความไม่พอใจออกมา มันสุขก็ถอนออกมารู้ มันทุกข์ก็ถอนออกมารู้ ก็ทำอย่างนี้ ฝึกเอาเอง แก้ไขเอาเอง เปลี่ยนตัวเอง มีสติเอาเอง สติก็ไม่ต้องไปขอใคร มีได้ ทำได้
เวลามันหลงเรามีสิทธิที่ไม่หลง สิทธิที่ไม่หลงเราก็ไม่ต้องขออนุญาตจากใคร เราใช้สิทธิของเราโดยชอบธรรม เวลามันโกรธเรามีสิทธิที่ไม่โกรธ เราใช้ได้สิทธิอันนี้เป็นสิทธิโดยชอบธรรม แต่เราไม่ค่อยใช้สิทธิ ให้ความโกรธนอนอยู่กับเราข้ามวันข้ามคืน ให้ความหลงอยู่กับเราข้ามวันข้ามคืน สละสิทธิ์ รับสารภาพ รับมันทุกอย่างเป็นสาธารณะ
จิตใจของเราชีวิตของเราใช้เป็นสาธารณะ ไม่รักนวลสงวนตัว ฟุ่มเฟือย โสเภณี สำส่อน กายก็สำส่อน ใจก็สำส่อน โกรธก็เอา รักก็เอา เกลียดก็เอา สุขก็เอา ทุกข์ก็เอา เอาทั้งหมด กินเหล้าก็กิน สูบบุหรี่ก็สูบ ทั้งๆ ที่มีทุกข์มีโทษ ก็ยังใช้ โกรธก็เอา ไม่รู้จักชักสะพาน ไม่ต้อนรับ เหมือนกับเราอยู่บ้านเป็นเจ้าของบ้านเฝ้าบ้าน ไม่ใช่รับทุกอย่างที่มันอยู่บ้าน งูขึ้นมาบ้านก็ไล่มันหนี เราจะให้เป็นบ้านที่บริสุทธิ์ เราก็มีสติเป็นเจ้าของกาย มีสติเป็นเจ้าของจิตใจ การปฏิบัติธรรมก็ดูแลกายใจให้มันคุ้ม อย่าปล่อยกายปล่อยใจทิ้งไปเป็นทุกข์เป็นโทษ ดูแลให้ปลอดภัยจะไม่มีภัยต่อกายต่อใจ ภัยกายภัยใจคือความทุกข์ความโกรธความโลภความหลง ที่เป็นทุกข์นั่นแหละคือเรียกว่าภัย นี่เราก็ทำได้อย่างนี้
เวลามันหลงทีไร รู้ มันก็ไปจากความหลง ความรู้สึกตัวมันไปนะ เวลามันโกรธให้รู้สึกตัว มันก็ไปจากความโกรธ เวลามันทุกข์รู้สึกตัว มันก็ไปจากความทุกข์ ก้าวสองก้าวสามก้าวไป จนไกลจากกิเลส อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ผู้ไกลจากกิเลส คือไกลจากข้าศึก ไกลจากความโกรธความโลภความหลงอย่างนี้ มันก็มีอย่างนี้จริงๆ ถ้าเปลี่ยนหลงเป็นรู้ มันก็ต่างกันอยู่ ความหลงไม่เป็นธรรม รู้สึกตัวเป็นธรรม ความโกรธไม่เป็นธรรม ความไม่โกรธเป็นธรรม ความทุกข์ไม่เป็นธรรม ความไม่ทุกข์เป็นธรรม มันก็ทำได้อย่างนี้ สัมผัสได้อย่างนี้ มันต่างกัน สัมผัสกับอกุศลมันก็เป็นทุกข์ สัมผัสกับกุศลมันก็เป็นไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงสอน มันก็มีเท่านี้ เปลี่ยนอกุศลเป็นกุศลซะ เปลี่ยนธรรมดำเป็นธรรมขาว มันก็มีแบบนี้
สิ่งที่มีน้ำก็มี สิ่งที่ไม่มีน้ำก็มี ไม่ต้องไปมุดอยู่ในความสุขความทุกข์ ขึ้นฝั่ง ไม่ต้องสุขต้องทุกข์ก็ได้ เหนือสุขเหนือทุกข์ เป็นอิสระ ชีวิตไม่ใช่ใช้แบบนั้น เราใช้กายให้เป็นสุขเป็นทุกข์ เราใช้ใจให้เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็เป็นสังขาร สุขก็เป็นสังขาร ทุกข์ก็เป็นสังขาร แล้วสังขารก็ไม่เที่ยง สิ่งใดเป็นสังขารสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งไหนเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เราหลง ที่จริงชีวิตเราไม่มี ไม่มีทุกข์ ไม่เป็นอะไร เสียเปรียบความทุกข์ เสียเปรียบความโกรธมามากแล้ว คืนมา บางทีความโกรธพาให้เราเสียหาย ทะเลาะกัน เข่นฆ่ากัน แตกร้าวสามัคคีกันเพราะความโกรธ ทั้งๆ ที่มันไม่มีอะไร ไม่ใช่ตัวใช่ตนก็ยังไปเสียเปรียบ มันเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจเท่านั้นเอง เมื่อเรามาเห็นมัน มันก็ไม่มีอะไร มันไม่ยาก การปฏิบัติธรรมนี้มันเป็นสิ่งที่จำเป็นนะ ไม่ใช่เกิดมา เรามาเกิดแก่เจ็บตายเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้
หลวงตาเคยพูดแล้วพูดอีกว่า ถ้ายังหลงอยู่ ถ้ายังโกรธอยู่ ถ้ายังทุกข์อยู่ ถือว่าล้าสมัย ไม่มีค่าอะไรเลยชีวิตของเรา เขาไม่โกรธกันแล้ว เขาไม่หลงกันแล้ว เขาไม่ทุกข์กันแล้ว เขาไม่เบียดเบียนตัวเอง เขาไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่เรายังเบียดเบียนตัวเอง ยังหลงอยู่ ยังโกรธอยู่ ยังทุกข์อยู่ ถ้าเรายังหลงยังโกรธอยู่ยังทุกข์อยู่ ก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ พึ่งกันก็ไม่ได้ ปฏิบัติธรรมน่ะมันดี จะพึ่งพาอาศัยกันได้ เราจึงฝึกหัด ไม่ใช่เรามาทำอะไรที่ไม่มีสาระ มีสาระแน่นอน เราก็มีกายก็มีใจอยู่นี่ เวลามีสติดูกายก็เห็นกายเห็นใจที่เป็นสุขเป็นทุกข์ มันก็เกิดที่นี่ เราก็ละได้ที่นี่ มันเป็นความโกรธความโลภความหลงเกิดที่นี่ จนเรามาเห็นมาดูมาเห็นอยู่ ไม่มีที่ให้ตั้ง ไม่มีที่ให้วาง ในใจในกายของเรานี้เรามีสติเป็นเจ้าของ ความสุขความทุกข์ความรักความชังความโกรธความโลภความหลงไม่มีที่ให้นั่ง ไม่มีที่ให้อยู่ เหมือนเก้าอี้ตัวเดียวถ้าเรานั่งอยู่แล้วคนอื่นก็มานั่งไม่ได้ เหมือนเราขึ้นรถขึ้นเรือมีนัมเบอร์ที่นั่ง ถ้าเรานั่งอยู่เรามีสิทธิ คนอื่นก็มาแย่งไม่ได้ ถ้าเขานั่งอยู่เราก็มีสิทธิบอกให้เขาลุกหนี
ความหลงไม่จริง ความไม่หลงมันจริง สิทธิมันต้องชอบธรรม ของไม่จริงก็อยู่ไม่ได้ ความโกรธไม่จริง ความไม่โกรธจริง มันก็อยู่ไม่ได้ ทนต่อความพิสูจน์ไม่ได้ มีสติเป็นเจ้าของชีวิต จนปลอดภัย ทั้งเบื้องต้นมีสติ ท่ามกลางมีสติ ที่สุดก็มีสติ ฌานอย่างยิ่งที่สุดก็คือสติ เห็นไหมตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น ถอนความพอใจถอนความสุขความทุกข์ มีสติแล้วแลอยู่ ไม่มีสุขมีทุกข์ มีสติแล้วแลอยู่ มีแต่เห็นมัน ไม่เป็นกับมัน มันสุขเห็นมันสุข ก็พูดแล้วพูดอีก มันทุกข์เห็นมันทุกข์ ไม่เป็นผู้ทุกข์ มีแต่เห็น การเห็นอย่างนี้เรียกว่าปัญญาเห็นแจ้ง เรียกว่าวิปัสสนาญาณ ถ้าเราเดินก้าวสักก้าวก็เห็นทางล่ะ เรียกว่าวิปัสสนาญาณ
ผู้ปฏิบัติธรรมเจริญสติปัฏฐานได้กระแสแห่งพระนิพพาน เวลามันหลงเห็นความไม่หลง นี่กระแสไปทางนั่นละ เวลามันโกรธเห็นความไม่โกรธ ไปทางนั้นเป็นกระแสไปอยู่ พยายามไป หลงที่ใดรู้ที่นั่น โกรธที่ใดรู้ที่นั่น ไปทางนั้น ไปทางนั้น ทีแรกมันก็อาจจะทวนกระแสสักหน่อย บางคนก็พอใจในความโกรธ บางคนโกรธพอใจ พอใจที่จะโกรธ พอใจที่จะทุกข์ ไม่รู้จักปล่อยวาง จนแสดงออกน้ำตาไหลร้องไห้เสียใจ พอใจอยู่เช่นนั้น อันความไม่โกรธก็มีแต่เขาไม่รู้ เขาไม่พอใจเพราะเขาไม่เคยทวนกระแสในลักษณะนี้ เหมือนน้ำจากที่สูงไหลลงสู่ที่ต่ำ จิตใจของเรานี้มันไปง่าย อันหลงมันง่าย ถ้ามีสติก็เหมือนกับทิ้ง ถ้าเป็นคลองน้ำ น้ำมันไหลอยู่ก็ทิ้งกระสอบทรายลงไป หนึ่งกระสอบก็ยังไม่เห็นอะไรหรอก ทิ้งลงไป ทิ้งลงไป แต่กระสอบทรายทิ้งลงไปในน้ำนั้นไม่หนีไปไหน มันยังทำหน้าที่ของมันอยู่ ถ้าหลายกระสอบหลายถุงเข้าไป มันก็เต็มขึ้นมาได้กลายเป็นเขื่อนน้อย ถ้ามันเป็นเขื่อนมันมีมากก็แข็งแรงสามารถกักขังน้ำได้
สติก็เหมือนกัน ขยันรู้เรียกว่า ฉันทาภาเวติ วิริยาภาเวติ จิตตาปชานาติ เหมือนที่เราสวดนะ ความเพียรเป็นการฆ่า ถ้าเปลี่ยนความหลงเป็นความรู้เรียกว่าเพียร ฉันทะคือความพอใจ พอใจที่ทำแบบนี้ มีศรัทธา ถ้าเห็นมันหลง มีศรัทธาไม่ให้หลง ให้รู้ มีจิตใจเอาใจใส่ ไม่ทอดไม่ทิ้ง อย่าวางธุระ มีปัญญา ไปทางนี้ปฏิบัติตรง ถ้ามันหลงไปทางไม่ตรง ถ้ามันสุขมันทุกข์ไม่ตรง ถ้ามันสุขมันทุกข์อย่าไปทางสุขทางทุกข์ ให้ไปทางไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้ามันหลงไปทางไม่หลง มันตรง ถ้าหลงเป็นหลง ไม่ตรง ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติออกจากทุกข์ ถ้ามันหลงก็รู้ มันตรงแล้ว ถ้าอะไรที่มันไม่ใช่สติก็กลับมา สติเป็นตัวเฉลย รู้สึกตัวนี้รู้สึกกายนี้เรียกว่าตรง เป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นมรรค
มรรคคือทาง ไม่ใช่มรรคคือความคิด ทางก็ไม่ใช่ความคิด ทางคือภาวะที่เห็นที่ดูนี่คือทาง มันสุขเห็นมันสุข นี่แหละทาง มันทุกข์เห็นมันทุกข์ นี่คือทาง มันโกรธเห็นมันโกรธ นี่คือทาง เมื่อเห็นโกรธก็ไม่เป็นผู้โกรธ พ้นจากความโกรธก็ไปแล้ว ไปแล้ว เรียกว่าทางคือมรรค เมื่อมีมรรคก็มีผล เห็นมันหลง ไม่เป็นผู้หลง พ้นจากความหลง มันก็พ้นอยู่ มันหลงก็พ้นหลง มันโกรธก็พ้นโกรธ มันทุกข์ก็พ้นทุกข์ เพราะมันเห็น พอเห็นก็ไม่เป็น พอไม่เป็นก็เรียกว่าหลุดพ้น เป็นผล หลงเป็นเหตุ ไม่หลงเป็นผล ทุกข์เป็นเหตุ ไม่ทุกข์เป็นผล เหมือนหน้ามือหลังมือ มันตรงกันข้าม มันมาพร้อมกัน ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายก็มาพร้อมกัน ในความเกิดก็มีความไม่เกิด ในความแก่ก็มีความไม่แก่ ในความเจ็บก็มีความไม่เจ็บ ในความตายก็มีความไม่ตาย จนชำนิชำนาญในเรื่องนี้เรียกว่าปริญญา
พระพุทธเจ้าก็เรียกว่าปริญญารอบรู้ชำนาญมาก ญาตปริญญา กำหนดรู้ รู้แล้ว นี่คือหลง รู้แล้ว คำว่ารู้แล้วคือมันไปข้างหลังแล้วไม่อยู่ข้างหน้าแล้ว คือภาวะที่รู้นี่แหละ ติลักขณปริญญา แจกแจง เมื่อเห็นหลงก็เห็นไม่หลง แจกออกได้แล้ว มาพร้อมกันเหมือนหลังมือหน้าอย่างนี้ หลงมันหลังมือ ไม่หลงมันหน้ามือ แจกแจง เหมือนสิทธัตถะมองเห็นความเกิดต้องมีความไม่เกิดอย่างนี้ ต้องมีอย่างนี้แน่นอน ติลักขณปริญญา แจกแจงออก ย่อยออก ไม่เป็นดุ้นเป็นก้อน ชี้หน้ามันเลย จนปหานปริญญาทำให้หมดไป หมดไป หมดไปคือไว้ข้างหลัง ผ่านไว้ข้างหลัง ไม่อยู่ข้างหน้า ผ่านหลง ผ่านทุกข์ ผ่านโกรธ ผ่านปัญหาเป็นปัญญา
ถ้าปัญหาเป็นปัญหาเรียกว่าไม่ทำอะไร งอมืองอเท้า จำนนจำยอม ขี้เกียจ เดรัจฉานขวาง มนุษย์เดรัจฉาโน หน้าตาเป็นมนุษย์แต่จิตใจขวางไว้ให้หลงเป็นหลง ไปทางขวาง เรียกว่าเดรัจฉาน ให้หลงเป็นความโง่ ให้หลงเป็นความขี้ขลาด ไม่กล้า เป็นอสุรกาย มันเป็นภูมิต่ำๆ แบบนั้น ไม่กล้าสู้ ไปบอกอย่าโกรธเถิดเพื่อน ไม่โกรธไม่ได้ ขี้ขลาด เดรัจฉาน อสุรกาย ไม่ดีนะ “โกรธไม่ดีนะ อย่าโกรธเถิดเพื่อน ช่างหัวมันเถอะ” “ไม่ยอม ไม่ยอม ถ้ากูได้โกรธ กูไม่ยอม กูต้องต่อยมันสักหน่อย”
เคยไปอบรมสามเณรภาคฤดูร้อนภาคใต้ เณรน้อยทะเลาะกันแล้วก็จะต่อยกัน เราก็บอกให้คนที่เขาโกรธให้ ที่ทำผิดให้มาขอโทษ “ขอโทษ” ขอโทษเท่าไรก็ไม่ยอม เขาไม่ยอม “ให้ผมต่อยมันสักหน่อย ผมจึงจะยอม” ก็เลยจับมือไปตีหน่อยๆ มันก็ไม่ยอม “จะต่อยมันให้มากๆ กว่านี้” เล่นต่อยกันเลยนะ บางคนมันก็ขนาดนั้นนะ มันอสุรกาย มันโง่ ทำตามความโกรธ มีบ้างไหมพวกเรา ถ้าได้โกรธเราก็ไม่ยอมนะ ต้องด่ามันให้ได้ บางทีรีบ รีบไปไหนล่ะ รีบไปด่ากัน ทำไมจึงรีบละ กลัวจะหายโกรธกลัวจะไม่ได้ด่ากัน อสุรกาย ขี้ขลาด ไม่สู้ แค่นี้ก็ไม่สู้นะ จะไปทำอะไรได้ พึ่งอะไรกันได้ ผัวเมียพึ่งกันที่ไหนได้ แค่นี้ก็ยอมมัน ผัวเป็นสามีของตน ภรรยาก็เป็นเมียของเรานะ ทำไมไปทำอย่างนั้น ไปยอมแค่นี้เหรอ เขามีความดีมากกว่านี้ เอาความชั่วไปชนะกันแล้ว ไม่ใช่ นี่ปฏิบัติธรรมมันเป็นอย่างนี้จริงๆ นะ ชีวิตของเรามีค่าอย่างนี้ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ อย่าให้เสียชาติสิพวกเรา มีวิธีนี้แน่นอน ไม่มีวิธีใดหรอก ไปคนเดียว ปฏิบัติคนเดียว ไปทางเดียวกับพระพุทธเจ้า ไปถึงที่เดียวกัน ถึงจุดหมายปลายทางที่เดียวกัน นี่คือชีวิตของเรา
สมควรแก่เวลา กราบพระพร้อมกัน