แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
นี่ก็มาคุยกัน ก็ไม่รู้จะคุยอะไรดี เรื่องมันเยอะแยะเหลือเกิน ก็เลยชักเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ แล้ว ว่าไงท่าน ถือไมค์ไว้แล้ว เตรียมจะถามอะไร
พระนวกะถาม: กราบขออนุญาตครับ ตั้งแต่กราบเรียนไว้ครั้งที่แล้วว่า ตอนที่เราพูดกันถึงว่า จะทำอย่างไรกับปัญหาการเมืองในปัจจุบันครับ พระเดชพระคุณหลวงพ่อบอกว่า เรายังค้างไว้อีก 2 ประเด็นที่ยังไม่ได้กล่าวถึง วันนี้จะขออนุญาตให้หลวงพ่อพูดถึงประเด็นที่ยังค้างไว้ จะได้จบ
หลวงพ่อ: ชักลืมแล้วนะ ไป ๆ มา ๆ เพราะเรื่องอื่นเข้ามา มีคำถามอื่นเข้ามา มันก็อยู่ในเรื่องระบบการพัฒนามนุษย์ แต่ผมนึกไม่ออกทั้งหมดนะ ตามที่ว่า 2 อย่าง มันปนเปกันไปหมดเลย เรื่องการพัฒนาคน แล้วก็ได้บอกว่า
[0:58] การพัฒนาปัญญา ที่ไม่ขึ้นต่อศรัทธา และไม่ติดที่ทิฏฐิ
ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า การพัฒนาที่สำคัญที่สุด หรือสุดยอดของการพัฒนาก็คือ การพัฒนาปัญญา เพราะมนุษย์จะเอาดีได้ด้วยปัญญา แม้แต่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ด้วยปัญญา พัฒนาปัญญาไปจนเป็น "โพธิ" นั่นเอง โพธิเป็นชื่อหนึ่งของปัญญา เรียกว่าโพธิปัญญา ปัญญาตรัสรู้ เพราะปัญญาเป็นตัวที่โยงมนุษย์เข้าไปถึงความจริง ปัญญาทำให้เรารู้ความจริง และความรู้ความจริงทั้งหมดก็จบ
ทีนี้ว่าทำอย่างไรจะพัฒนาปัญญา เรื่องใหญ่มาก ก็เลยโยงมาเรื่องประชาธิปไตยว่า เป็นระบบการปกครองที่มนุษย์แต่ละคนที่เราเรียกว่าประชาชน แยกไปเป็นแต่ละคน ๆ ได้มีส่วนร่วมในการปกครอง เมื่อมีส่วนร่วมในการปกครอง ก็ต้องมีความสามารถในการคิด พิจารณาตัดสินใจ การที่จะคิดพิจารณาตัดสินใจอะไรได้ดี ก็ต้องมีปัญญา ต้องมีความรู้ รู้ในระดับต่าง ๆ จนกระทั่งเข้าถึงความจริง ถ้าขาดความรู้ก็คิดผิด ตัดสินใจผิดหมด ประชาธิปไตยต้องเน้นการพัฒนาคนโดยเฉพาะพัฒนาปัญญา ก็เลยคล้าย ๆ กับมาบรรจบกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็เน้นเรื่องการพัฒนาปัญญา
การพัฒนาปัญญาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก มนุษย์เดิมนั้นก็เมื่อยังไม่ค่อยพัฒนาไม่มีปัญญาไม่มีความรู้ เราก็อาศัยคนอื่น เช่น คนเกิดก่อน คือผู้ใหญ่ เป็นต้น ที่เขามีประสบการณ์ มีความรู้เข้าใจดีกว่า แล้วคอยฟัง หาความรู้จากเขา ทีนี้ตัวที่จะเชื่อมโยงระหว่างผู้ฟังกับผู้พูดผู้แนะนำก็คือ ศรัทธา ความเชื่อ ก็เหมือนเราฝากปัญญาของเราไว้ที่เขา เพราะเราไม่มีปัญญา เราจึงเชื่อปัญญาของเขา ก็เป็นแบบพึ่งพา ระบบศรัทธาเป็นระบบพึ่งพา ต้องขึ้นต่อผู้อื่นในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ ก็คือขึ้นต่อเขา ในเรื่องปัญญาก็เอาศรัทธาเป็นตัวไปฝากความเชื่อมั่น หรือการพึ่งพาปัญญาเอาไว้ สังคมมนุษย์จะอยู่ด้วยระบบศรัทธานี้มาก บางทีเลยลืมไปเพราะว่าเพลิน แล้วระบบสังคมก็ซับซ้อน ตนเองพอฝากปัญญาไว้กับผู้อื่นด้วยศรัทธา ก็ต้องคอยพึ่งพาอาศัยปัญญาของเขา ตัวเองก็ประมาท ปล่อยเรื่อยเปื่อย ไม่พัฒนาปัญญา ต้องคอยพึ่งเขา ให้เขาบอกนะ ระบบศรัทธาแบบนี้เป็นไปในแง่ของตัวคนทั่วไปนี้ด้วย ที่ประมาท และไม่มีวิธีการพัฒนาปัญญาด้วย แต่อันนั้นเป็นรายละเอียด
ทีนี้ฝ่ายผู้ที่เขาฝากศรัทธา มาพึ่งพาปัญญา ตัวเองก็มีกิเลสนะ ไป ๆ มา ๆ ก็โยงไปเรื่องอื่น เช่น ความมีอำนาจ พอมีสถานะอะไรต่าง ๆ ขึ้นมา ก็ชอบที่จะให้คนอื่นมาพึ่งพา ต้องมาอาศัยปัญญาของเขา ไป ๆ มา ๆ ก็มีมนุษย์อีกแบบหนึ่ง คือว่า [05:02] คนที่เป็นคนเจ้าปัญญา มีความรู้ขึ้นไป ก้าวหน้าไปในการค้นคว้าหาความจริง ก็อาจจะได้ความจริงเป็นระดับ ๆ พอได้ถึงความจริงระดับหนึ่ง ๆ แล้ว มักจะเกิดความเห็นว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนกับไปสรุปความจริงจากการที่ตนได้รู้ไปส่วนหนึ่งแง่หนึ่ง ก็สรุปว่าเป็นความจริงแล้ว อย่างนี้ท่านเรียกว่า ‘ทิฏฐิ’ ก็เอาความเห็นของตัวเอง ข้อสรุปของตัวเองว่าเป็นความจริงไป พอตัดสินว่าเป็นความจริงแล้วก็หยุดแล้ว ไม่เดินหน้าแล้ว เพราะนึกว่าตัวเองถึงความจริง ทีนี้ก็เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้อีก ใครมาเห็นอย่างอื่นก็เกิดความขัดแย้ง เกิดมีปัญหาเรื่องความยึดถือที่เป็นกิเลสของคนเข้าไปอีก ก็เลยซับซ้อน ต้องการให้เขาเชื่ออย่างที่ตัวเชื่อ ต่อมาจึงขยายไปเป็นเรื่องของความเชื่อที่เป็นของหมู่ชนมากมาย เพราะเหตุที่ว่าหวงแหนความยิ่งใหญ่สถานะของตน เป็นต้น ก็ไม่ยอมให้คนเชื่ออย่างอื่น ถึงกับต้องบังคับกัน เข่นฆ่า
ต่อมาก็เป็นปัญหาเรื่องทิฏฐิที่พูดมาว่า ปัญหาอยากได้ผลประโยชน์ อยากได้ลาภก็ทำให้คนทะเลาะกันขัดแย้งกัน ฆ่าฟันกัน ทำสงครามกันจนกระทั่งถึงระหว่างประเทศ มานะต้องการความยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจ ก็เช่นเดียวกัน ทำให้คนขัดแย้งกัน จนกระทั่งถึงรบในสงครามใหญ่ และตัณหามานะก็มาประสานเข้าด้วยกันอีก ทำให้แรงยิ่งขึ้นทั้งตัณหาทั้งมานะ พอได้ผลประโยชน์มากก็มีอำนาจมาก มีอำนาจมากก็ยิ่งหาผลประโยชน์ได้มาก ซ้ำซ้อนเข้าไป ทำให้รบราฆ่าฟันเข่นฆ่าขัดแย้งกันมาก พอมาเรื่องทิฏฐิก็เอาไปเข้าอีกเรื่องหนึ่ง คนก็ขัดแย้งกันด้วยเรื่องทิฏฐิ จนกระทั่งเป็นระบบความเห็นใหญ่ ๆ ก็คือเป็นลัทธิศาสนา เป็นอุดมการณ์ แบ่งค่ายแบ่งอะไรกัน เกิดสงครามระหว่างประเทศแทบจะเป็นสงครามโลกเลย เรื่องทิฏฐิก็เป็นเรื่องใหญ่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ในการที่พัฒนาปัญญาก็มีตัวนี้ด้วย คือว่าเอาละ คนไปฝากศรัทธาไว้กับผู้มีปัญญา นั่นเรื่องหนึ่ง ทีนี้ผู้นั้นก็เกิดติดทิฎฐิก็มีปัญหาขั้นหนึ่ง พอท่านบอกว่าต้องให้คนรู้จักคิดพิจารณาเข้าถึงความจริงด้วยตนเอง พอเข้าสู่ระบบที่แสวงหาปัญญา แต่ละคน ๆ ก็มีปัญหาที่ว่าจะมาติดทิฏฐิอีก เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาก็จะต้องมาวางระบบการพัฒนามนุษย์ว่า นอกจากจะไม่ขึ้นต่อศรัทธาแล้ว ยังไม่มาติดทิฏฐิของตัวเองอีก เมื่อติดทิฏฐิของตัวเอง ที่ตอนแรกไปยึดถือศรัทธาเขา ไปเชื่อทิฏฐิของคนเดียวใช่ไหม ก็ยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่ คนนั้นเป็นเจ้าทิฏฐิ เป็นเจ้าลัทธิ เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาทั้งหมด ทุกคนไปเชื่อที่เดียวกัน ก็มีกำลังรวมสามัคคีได้ แต่ก็มีอย่างที่ว่ามีโทษมาก แต่ละคนไม่พัฒนาแล้วทำให้หมู่ชนนี้ ที่มีคนนี้เป็นต้นเป็นหัวหน้าเชื่ออย่างนี้ แล้วขัดแย้งกับผู้อื่นรุนแรงมาก เกิดสงครามอะไรต่าง ๆ มีโทษกับทั้งชีวิตตนเองและกับทั้งสังคม
แต่เมื่อให้มาเข้าสู่ระบบปัญญา แสวงปัญญา ก็ชักอาศัยศรัทธาน้อย พอเข้ามาสู่ระบบปัญญา พอตัวเองชักคิดไป มองไป เห็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ "ติด" ทิฏฐิของตัวเองอีก ก็กระจัดกระจาย ทีนี้ยิ่งทะเลาะกันใหญ่อีกใช่ไหม พวกนี้ทะเลาะกันวุ่นไปหมดเลย สามัคคีกันไม่ได้ เพราะฉะนั้น พวกพัฒนาปัญญาต้องระวังติดทิฏฐิ ก็เกิดปัญหาไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ท่านจึงต้องวางระบบการพัฒนามนุษย์อย่างมาก อย่างคราวที่แล้ว ยกตัวอย่างไว้มากใช่ไหม พุทธศาสนาเน้นมากเรื่องการพัฒนาปัญญา เอาง่าย ๆ ก็คือว่า การแสวงหาปัญญา ไม่ให้ใช้ความรู้สึก โดยเฉพาะความชอบใจไม่ชอบใจ ความชอบชัง หรือที่เราเรียกว่าอารมณ์ต่าง ๆ เข้ามาครอบงำ พวกนี้ถ้าเป็นแว่นตาก็เหมือนสีทำให้เห็นผิดเพี้ยนไป จึงบอกว่าไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจความรู้สึกหรืออารมณ์ โดยเฉพาะชอบใจไม่ชอบใจ ยกตัวอย่างเช่น อย่างหยาบ ๆ ที่พูดไปแล้ว ซึ่งคนเดี๋ยวนี้ ขนาดขั้นนี้ก็ยังแก้ไม่ได้ เพราะว่าเราชอบคนไหนหรือชอบพวกไหน คนนั้นพวกนั้นฝ่ายนั้น ทำอะไรดีหมด เราไม่ชอบคนไหน ฝ่ายไหนพวกไหน คนนั้นฝ่ายนั้นพวกนั้น ทำอะไรเสียหมด นี่คืออคติเกิดแล้ว กล่าวง่าย ๆ ก็คือเรื่องกิเลส ความชอบใจไม่ชอบใจ ความรู้สึก เข้ามามีอิทธิพล ทำให้การแสวงปัญญาไม่ก้าวหน้า คือทางพระจะเน้นเรื่องเห็นตามที่เป็นจริง แต่ที่จริงภาษาของท่านไม่ใช้อย่างนี้ด้วยซ้ำ เรามาแปลกันเองว่าเห็นตามเป็นจริง ภาษาของท่านก็คือเห็นตามที่มันเป็น มันเป็นอย่างไรก็เห็นไปตามนั้น คือต้องรู้เข้าใจมองเห็นตามที่มันเป็น ถ้าเห็นตามที่เราคิดให้มันเป็นอย่างนี้ละก็ ยุ่ง แล้วมนุษย์จำนวนมากจะมีปัญหาเรื่องนี้ คือเห็นตามที่คิดให้มันเป็น ถ้าอยู่ในประเภทพวกนี้ ก็คิดตามที่เชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น จึงเอาความเชื่อเป็นตัวตั้ง มันก็ขัดขวาง เอาละ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่พูดไปแล้วว่า ดูง่าย ๆ แค่ระหว่างมนุษย์ เราไม่สามารถถอนตัวออกมาให้พ้นจากอิทธิพลของเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ แล้วตัวนี้จะนำไปสู่ศรัทธาที่เป็นปัญหา และที่เราชอบคนนี้ก็เหมือนกับว่าชักจะเข้าทางศรัทธาแล้ว พอเชื่อแล้ว คนนี้พูดอะไรก็เชื่อหมด ดีหมด
[12:06] เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงให้ระวังว่า อย่างพระอรหันต์มีลักษณะอย่างหนึ่ง อสัทโธ แปลว่าผู้ไม่มีศรัทธา อ้าว ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เหมือนกับไม่เชื่อใครแล้ว อย่างพระสารีบุตร เรื่องนี้เคยเล่าบ่อย ๆ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ตอนนั้นพระสารีบุตรอยู่ด้วย พระองค์ตรัสถามธรรมะว่า ธรรมะข้อนี้หลักการข้อนี้เป็นอย่างนี้อย่างนี้ใช่หรือไม่ พระสารีบุตรก็ว่าใช่ พระองค์ตรัสถามอันนั้นอันนี้ใช่หรือไม่ พระสารีบุตรก็ว่าใช่ ถามไปถามมาพระองค์ตรัสถามว่า เอ้อ สารีบุตร ที่เธอพูดนี่ เธอพูดด้วยความเชื่อฉันหรือเปล่า พระสารีบุตรทูลว่า ข้าพระองค์มิได้พูดอย่างนี้เพราะเชื่อพระองค์ แต่เพราะว่าข้าพระองค์ได้เห็นว่ามันเป็นอย่างนั้น นี่คือพระอรหันต์ หมายความว่า พระพุทธเจ้าสอนจนกระทั่งพระสารีบุตรได้ฝึกตนเองและได้เข้าถึงความจริง มองเห็นสิ่งนั้นด้วยตัวท่านเองเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเห็นแล้ว พระสารีบุตรพูดอย่างนั้นก็เพราะว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสตรงกับความจริง ความจริงเป็นอย่างนั้น ท่านก็ว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าพูดอย่างนั้นเพราะพระพุทธเจ้าตรัส ไม่ใช่จริงเพราะพระพุทธเจ้าตรัส แต่จริงเพราะพระพุทธเจ้าตรัสตรงกับความจริง อย่างนี้นะ เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาต้องไปถึงขนาดนี้ ก็เป็นอิสระด้วยปัญญา มีปัญญารู้ความจริงด้วยตนเอง ว่าเป็นอิสระทางปัญญาด้วย ท่านจึงมีคำว่าเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ พระอรหันต์ต้องได้ทั้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ คือทางจิตก็หลุดพ้นเป็นอิสระ ปัญญาก็หลุดพ้น เราสามารถเป็นเจโตวิมุติได้ด้วยการบำเพ็ญฌาณ หลุดพ้นได้ด้วยกำลังจิต ด้วยกำลังสมาธิ ก็คือหลุดพ้นจากกิเลส ทำให้จิตใจสงบ แล้วก็ผ่องใส แต่มันไม่เด็ดขาด ต้องมีปัญญาวิมุติ หลุดพ้นด้วยปัญญา จึงจะจบ แต่ว่าท่านที่เก่งในทางเจโต ในทางจิต ในทางฌาณ ก็ยังเรียกต่อไปเรื่อย แม้แต่ตรัสรู้แล้ว โดยถือว่าท่านเก่งถนัดในทางเจโตวิมุติ ก็เลยให้ชื่อเจโตวิมุติ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ยังเรียกเจโตวิมุติ แต่ที่จริงนั้นคือต้องมีปัญญาวิมุติด้วย ตัวทำให้ตรัสรู้อยู่ที่ตัวทำให้เป็นพระอรหันต์ อยู่ที่ปัญญาวิมุติไม่ใช่เจโตวิมุติ แต่เพราะท่านเด่นทางนั้นก็เลยเรียกเจโตวิมุติ แต่พระอรหันต์ที่ไม่ได้เก่งทางเจโตทางฌาณอะไรเลย ได้แค่ปฐมฌาณ คือเดิมไม่ได้ฌาณอะไร ตอนตรัสรู้จิตจะดิ่ง จะเป็นฌาณเอง นี่ก็เรียกว่าเป็นพระอรหันต์ปัญญาวิมุติ คือท่านที่ไม่ได้บรรลุได้ฌาณได้อะไร ได้แค่ปฐมฌาณ เมื่อตรัสรู้ก็เป็นปัญญาวิมุติ เป็นพระอรหันต์ และหลุดพ้นด้วยปัญญา นี่ผมพูดไปก็ลึกลงไปแล้ว
[15:21] สภาพจิตที่ขัดขวางการพัฒนาปัญญา
แต่จุดสำคัญเมื่อกี้ก็คือว่า ให้เห็นตัวอย่างว่า จิตของเรา เมื่อถูกครอบงำแล้ว จิตก็ไม่เหมาะกับการใช้ปัญญา กลายเป็นว่าตัวเอง หรือสภาพจิตของตัวเองมาขัดขวางการพัฒนาปัญญา และมนุษย์จะเป็นอย่างนี้ กิเลสในใจนี้เองมาเคลือบคลุม ปิดบังปัญญา นอกจากว่าชอบใครหรือชอบฝ่ายไหน อะไรก็พวกนั้น คนนั้น ฝ่ายนั้น ทำอะไรก็ดีหมด ถูกหมด ไม่ชอบใครก็เสียหมด ผิดหมด นี่ก็อย่าง ทีนี้ยังมีอีก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอีกแห่งหนึ่ง บอกว่า คนที่เราชอบเรารัก แล้วคนไหนมาชอบคนนั้น มาสนับสนุนคนนั้น มาเอาอกเอาใจคนที่เราชอบเรารัก เราก็พลอยชอบคนนั้นด้วย คนไหนมาทำไม่ดี เช่น มาพูดว่ากล่าว มาเถียงกับคนที่เรารักที่เราชอบ เราก็พลอยโกรธคนที่มาเถียง ที่มาไม่เข้ากับคนที่เรารักเราชอบด้วย มันไม่จบแค่นั้น เท่านี้ใช่ไหม เอาอีก นี่ก็ลำเอียงอีกแล้ว อคติเกิด ทีนี้คนที่เราไม่ชอบ เกิดมีคนมาชอบคนนั้น ชอบคนที่เราไม่ชอบ เราเลยพลอยไม่ชอบคนที่ชอบคนที่เราไม่ชอบ ใช่ไหม ทีนี้คนไหนไม่ชอบคนที่เราไม่ชอบ เราพลอยชอบคนที่ไม่ชอบคนที่เราไม่ชอบ ใช่ไหม เอาอีก นี่ก็อคติเกิดอีก ซับซ้อนขึ้นไปอีก ท่านก็ให้ระวังอีกนะ เป็นเรื่องที่ขัดขวางกระบวนการพัฒนาปัญญาทั้งสิ้น นี่แค่ขั้นความรู้สึก เรื่องของอารมณ์ กิเลส ภาวะทางจิตใจตัวเอง จึงต้องพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิเพราะอะไร เพราะเมื่อจิตเป็นสมาธิ จะสงบจากอารมณ์ กิเลส ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ความโกรธ ความเกลียด กามฉันทะ พยาบาท ระงับหมด เพราะจิตผ่องใสแล้วจึงมองเห็นได้ตามที่มันเป็น มิฉะนั้น ก็เกิดปัญหา เอาละนะ ชอบใคร ก็กลายเป็นว่าคนนั้นว่าอย่างไรดีหมด ไม่ชอบใครคนนั้นว่าอย่างไรเสียหมดผิดหมด และก็ยังซับซ้อนที่ว่า คนไหนมาชอบคนที่เราชอบ เราก็พลอยเห็นด้วยกับคนนั้น คนไหนไม่ชอบคนที่เราชอบ เราก็พลอยไม่เห็นด้วยกับคนนั้น คนไหนมาชอบคนที่เราไม่ชอบ เราก็พลอยไม่เห็นด้วยกับคนนั้น คนไหนไม่ชอบคนที่เราไม่ชอบ เราพลอยชอบไปเห็นด้วยกับคนนั้น ออกไปมีอิทธิพลในทางสังคม นี้ในจิตของตนเอง
พระพุทธเจ้าตรัสเตือนบ่อย เช่น บอกว่า กุทฺโธ อตฺถํ น ชานาติ (กุทฺโธ ธมฺมํ น ปสฺสติ - ในเทปกล่าวซ้ำบทเดิม ๒ ครั้ง ในที่นี้ยกภาษิตที่ต่อกันมาแสดงแทนให้ตรงกับคำแปลภาษาไทย) โกรธขึ้นมาแล้วใจมืดมัว มองไม่เห็นอรรถ มองไม่เห็นธรรม นี่ก็เช่นเดียวกัน คนเราโกรธขึ้นมา มองผิดเป็นถูก ถูกเป็นผิดหมด ก็เกิดปัญหานะ ไม่รู้ดีรู้ชั่วแล้ว พระพุทธเจ้าจึงเน้นว่า แม้แต่เป็นราชา เป็นผู้ปกครองต้องมี อโกธโน ไม่โกรธ และอย่าตัดสินใจในเวลาที่โกรธ ต้องให้หายโกรธก่อน ถ้ากำลังกริ้ว ตัดสินใจก็พลาดเลย ใช่ไหม อาจจะสั่งประหารชีวิตปุบปับขึ้นมา นี่ก็เรื่องของจิตกับปัญญา สัมพันธ์กันมาก จะต้องทำจิตให้เอื้อต่อการพัฒนาปัญญา ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ ออกไปทางสัมพันธ์กับสังคมอะไรต่ออะไรด้วย ทีนี้ในกระบวนการคิดอีก มาเน้นในแง่ของการใช้ปัญญา ก็อย่างที่เราพูดไป คือต้องระวังการคิดที่เป็นไปด้วยอำนาจความชอบใจไม่ชอบใจ หรือความรู้สึกต่าง ๆ ก็ต้องตัด ต้องแก้ปัญหานี้ อย่างน้อยก็มีสติมาคอยเป็นตัวยับยั้ง หรือทำให้เราสามารถป้องกัน กำจัด ไล่พวกความรู้สึกออกไป ไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจความรู้สึก
[20.08] การคิดเป็นส่วนหนึ่งของการแสวงปัญญา
ทีนี้ตัวปัญญาที่จะคิดพิจารณา ก็ต้องระวังว่าในการแสวงปัญญานั้นจะมีการคิด การคิดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแสวงปัญญาที่ว่า หนึ่ง คิดโดยไม่มีข้อมูล ไม่หาความรู้ นี้ก็เป็นปัญหามาก ในยุคปัจจุบันเป็นปัญหามาก คิดไป คิดไปก็คิดเรื่อยเปื่อยเหมือนคนพูดเพ้อเจ้อ ก็คิดไป ไม่มีข้อมูล ไม่มีความรู้เป็นฐาน ถ้าไม่มีความรู้สึกชอบใจไม่ชอบใจเข้ามานำพาก็คือเพ้อเจ้อ คิดฝันอะไรไป เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เพราะฉะนั้น ท่านต้องเน้นเรื่องการคิดบนฐานของความรู้ อย่างน้อยมีข้อมูล ต้องค้นข้อมูลให้ได้ชัดเจน ว่าตอนนี้การใช้ผัสสะก็จะมาช่วย ตาดู หูฟัง ก็ให้มันได้ สิ่งที่รู้ด้วยการเห็นโดยใช้ตาก็ให้เห็น สิ่งที่จะรู้ด้วยการได้ยิน ก็ให้ได้ยินได้ฟังอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ใช่คิดเอา บางคนคิดเอา สิ่งที่จะรู้ได้ด้วยตาก็ไปคิดเอาด้วยใจ สิ่งที่จะรู้ได้ด้วยหูก็ไปคิดเอาด้วยใจ อะไรอย่างนี้ ก็พลาดอีก เป็นปัญหาของมนุษย์อีก แม้แต่เรื่องนิพพาน ตอนนี้เป็นปัญหาว่า มนุษย์จะต้องรู้เข้าใจด้วยการเห็นประจักษ์ คือจะต้องไปถึงขั้นประจักษ์ ในกรณีที่ตัวเองยังไม่สามารถประจักษ์สิ่งนั้นก็ต้องคิดเอา นี่จะเกิดปัญหาอีก เพราะฉะนั้น อย่างที่ท่านเล่าไว้ เรื่องว่านิพพานเป็นอย่างไร คนธรรมดาไม่เคยเห็นนิพพาน เมื่อไม่เห็นนิพพานก็ต้องคิดเอา การคิดของคนคือเทียบกับสิ่งที่ตนเคยมีประสบการณ์ เหมือนกับเราคิดว่า เออ ช้างเป็นอย่างไร คนที่เห็นแล้วก็จบไป หมดเรื่อง คนที่ไม่เคยเห็นช้าง ก็เอาละ มีคนมาเล่าว่าได้เคยเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งเรียกว่าช้าง คนนี้ไม่เคยเห็นก็ถามว่า เออ ช้างเป็นอย่างไร ตอนนี้จะประสบปัญหาแล้ว ที่ว่าไม่ได้ประจักษ์ ไม่ได้เห็นตามที่มันเป็นด้วยตนเอง ช้างคืออะไร ก็บอกเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง อ้าว ก็อาศัยอย่างที่เรียกว่า คอนเซ็ปต์ (concept แนวคิด) ที่มีอยู่ ตัวเองมีอยู่แล้ว คอนเซ็ปต์ว่า สัตว์ ก็นึกขึ้นมาแล้ว เอาแล้ว ได้ภาพสัตว์ขึ้นมาแล้ว ก็จำกัดขอบเขตของสิ่งที่ตัวเองคิดและมอง เป็นว่าจะได้ข้อสรุปความจริงแคบเข้ามา ก็นึกถึงตั้งแต่มดขึ้นไปจนถึงปลาวาฬ สัตว์ เออ มันก็อยู่ในขอบเขต ต่อมาเขาบอกมาว่า ไม่ใช่เป็นสัตว์เฉย ๆ เป็นสัตว์ใหญ่ ว่าอย่างนั้นนะ เอ้า สัตว์ใหญ่ ก็นึกขึ้นไปแล้ว พ้นมดขึ้นไปแล้วตอนนี้ ก็ยังไม่รู้ขนาดไหน บอกมันใหญ่กว่าวัวอีก เอาละสิ ทีนี้ละก็ได้ภาพแล้วนะ ก็คิดเป็นชั้น ๆ มันเป็นสัตว์บก สัตว์บกก็ได้ภาพอีกขั้นหนึ่ง เป็นสัตว์บกสี่เท้าก็ได้อีกนะ ว่าไปเรื่อย ก็วาดภาพ เอาละ ตอนนี้ จนกระทั่ง ในที่สุดตอนนี้บอกว่ามันมีงา ตอนนี้นึกไม่ออกแล้ว ไม่มีตัวเทียบ แล้วมันมีงวง เอาละ ต้องถามแล้ว งาเป็นอย่างไร งวงเป็นอย่างไร หาตัวเทียบไม่ได้ พอหาเทียบไม่ได้ก็คิดไม่ออก ก็วาดภาพเอา วาดภาพในใจ ตอนนี้แหละคนที่ฟังด้วยกันที่มาถึงขั้นนี้ก็จะได้ภาพต่างกัน ไม่เหมือนกัน ตอนนี้เรียกว่าเกิดทิฏฐิ พอเกิดทิฏฐิก็ยุ่งแล้วนะ เถียงกันละทีนี้ อาจจะทะเลาะกัน ดีไม่ดีตีกันเลย แค่ช้างรูปร่างเป็นอย่างไร ตีกันได้เลย เพราะว่าต่างคนต่างก็ไม่เห็นตามเป็นจริง จนกระทั่งเอาช้างมาให้ดู แล้วเรื่องอย่างนี้ก็มีในพระไตรปิฎก เรื่องตาบอดคลำช้าง เคยได้ยินใช่ไหม พระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง พระองค์ก็ชอบสนุก วันหนึ่งเอาคนตาบอดมาในวังหลายคน แล้วเอาช้างมาให้คนตาบอดจับ เอ้า เอาช้างมาให้ ช่วยกันหน่อย ไปสัมผัสช้างกันแล้วมาบอกซิว่า มันเป็นอย่างไร รูปร่างเป็นอย่างไร เอาละทีนี้ก็จับ ช้างใหญ่นี่ใช่ไหม ก็จับได้ไม่ทั่ว จับได้คนละส่วนสองส่วน เอ้า จับพอหรือยัง บอกว่าพอแล้ว พระองค์ตรัสถามทีละคน เอ้า คนนี้ช้างเป็นอย่างไร คนนี้คลำขา ก็ว่า ช้างเหมือนเสา อีกคนไปคลำที่งวง บอกช้างเหมือนอะไร บอกเหมือนอะไรก็ไม่รู้ ผมจำไม่ได้แล้ว ก็ว่ากันไปคนละอย่างสองอย่าง จับที่หู ก็ว่าเหมือนกระด้ง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น โอ้โฮ พระองค์ตรัสถามต่าง ๆ พอพระองค์ตรัสถามอย่างนี้ใช่ไหม คำตอบก็ต่างกัน พอคำตอบต่างกันชักฉุนแล้ว พวกที่ตอบไม่เหมือนกันน่ะ ก็เราคลำมาหยก ๆ ว่ามันอย่างนี้ นายคนนั้นทำไมว่าเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ ชักเถียงกันแล้วนะ เอาแล้วคนตาบอดเถียงกัน เถียงกันว่า แกผิด มันเป็นอย่างนี้ ตาคนนั้นบอกอย่างนี้ แกสิผิด เถียงกันไปกันมา ลุกขึ้นจะตีต่อยกัน พระราชาทรงพระสรวลหัวเราะเอิ๊กอ๊าก ๆ ใหญ่เลย นี่แหละเรื่องเป็นอย่างนี้ นี่แหละครับ นี่คือทิฏฐิ คือเราไม่เห็นความจริง เราเห็นความจริงบางส่วนแล้วสรุป นี่แหละครับ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่าอย่าไปติดทิฏฐิ เมื่อเห็นตามที่มันเป็นเมื่อไหร่จึงจะใช่ ตอนนี้เรายังเห็นตามที่เราคิดให้มันเป็นนะ เพราะเรายังเห็นไม่จบใช่ไหม มนุษย์จะติดทิฏฐิแล้วทะเลาะกัน ปัญหาในโลกนี้เป็นปัญหาเรื่องทิฏฐินี้มาก
[26.39] สังคมประชาธิปไตย ฟังกันง่าย หาความรู้ ตัดสินใจด้วยปัญญา
เพราะฉะนั้น การปกครองแบบประชาธิปไตยที่พัฒนาปัญญา ให้มนุษย์คิด พิจารณา ตัดสินใจด้วยความรู้ของตนเอง มีความคิดใช้ปัญญา จึงยากมาก มันจะไปติดทิฏฐิ เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดปัญหา ในขั้นต้นท่านต้องหาหลักมาช่วยไว้ก่อน ว่าอย่าสรุปง่าย ๆ นะ ให้หาข้อมูลให้เต็มที่ก่อน เพื่อเป็นฐานความรู้และอย่าเพิ่งยึดติด ให้รับฟังคนอื่น จึงให้หลัก สุวโจธรรมกามตา ไว้ให้รับฟัง การฟัง พูดด้วยง่าย ไม่ติดทิฏฐิของตนเอง และแม้ติดทิฏฐิก็อย่าละเมิด อย่าไปเอาทิฏฐิเป็นเหตุให้ทำร้ายฆ่าแกงกัน ต้องยับยั้งได้ ที่จริงท่านมีอีก ในชาดกน่ะ แล้วเอามาเล่าเป็นไทย แล้วมีคนพูดในระยะนี้ด้วย ผมเอามาเล่าสักหน่อยก็ได้ คือพระราชาให้หาตัวชนิดหนึ่ง ภาษาไทยแปลว่าตัวห่า ว่างั้นนะ ภาษาบาลีก็ลืม อาจารย์นึกไม่ออกแล้วนะ คือว่าเรื่องเป็นอย่างนี้ พระราชาพระองค์นี้ ตามที่จับความตอนนี้ ผมก็ไม่ได้ไปทวนดูอีกนะ ว่าพระราชาองค์นี้เคยเสด็จไปที่เมืองหนึ่ง แล้วเห็นความงามรุ่งเรืองมาก พระองค์ก็ประทับพระทัย ติดใจ ต่อมาวันหนึ่งอยากจะไปดูอีก ปรากฎว่าเมืองนั้นพินาศล่มจมไม่มีเหลือแล้ว แหลกลาญหมดแล้ว โห น่าเศร้า เลยถามคนแถวนั้น หาคนก็แทบจะไม่มี ตายกันหรือหนีกันไป เจอคนหนึ่งก็ถามว่า เอ้อ เป็นอย่างไรบ้านเมืองนี้ เราเคยมาเมื่อเจริญรุ่งเรือง น่าอยู่ดีเหลือเกิน งดงาม สวยเหลือเกิน นายคนนี้บอกว่าห่าลง ว่าอย่างนั้นนะ เอ๊ะ ห่าลงนี่เป็นอย่างไร ไม่รู้จักนะ ตาคนที่บอกนั้นก็อธิบายไม่ได้ พระราชากลับมาเมือง โอ้ ตัวห่านี่ร้ายจริงนะ ทำให้บ้านเมืองพังพินาศหมดเลย ต้องหา รู้จักมันให้ได้ มิฉะนั้น เดี๋ยวมันมาบ้านเมืองเราจะทำอย่างไร จะป้องกันอย่างไร ประมาณนี้ พระองค์เลยบอกพวกอำมาตย์ให้ไปหาตัวห่ามา ว่ามันเป็นอะไร เราจะได้แก้ไขปัญหา ให้เวลาไปช่วยกันหา ตอนแรกไปหาแล้วไม่เจอ เลยให้เวลา ต้องหาให้ได้ในวันนั้น อำมาตย์ไปหากันใหญ่ หาอย่างไรก็ไม่สำเร็จ จะหมดกำหนดแล้ว ถึงวันสุดท้ายแล้ว แย่แล้วสิ จะตายแน่แล้วนะ เพราะว่าพระราชานี่กฎเกณฑ์ พระราชอาชญาแรงมาก ก็ไปจนถึงในป่า แล้วในที่สุดก็หมดหวัง ทอดอาลัย นึกว่าตายแน่แล้วเรา ค่ำแล้ว วันรุ่งขึ้นครบกำหนด ไม่มีตัวห่าไปให้นี่ พระราชาคงสั่งประหารชีวิตแน่ เลยนอนทอดอาลัย พอดีไปอยู่ที่อาศรมพระฤๅษี เอ้อ เจอพระฤๅษีก็ดีใจ ถามพระฤๅษีว่า จะเรียกว่าหลวงพ่อ หลวงปู่หรืออะไรก็แล้วแต่นะ ว่าหลวงปู่รู้จักตัวห่าไหม อ้าว ท่านถามเรื่องอะไรเป็นอย่างไร บอกพระราชาท่านให้มาหา ผมจะแย่ถ้าไม่ได้ไป ฝ่ายพระฤๅษีก็เลยเอ้า ๆ มานี่ให้เอากระบอกไม้มา กระบอกยาว ๆ เอากระบอกมาให้ท่าน ท่านเข้าไปในอาศรม แล้วก็เสร็จเรียบร้อยเอามาให้ นี่ตัวห่าอยู่ในนี้ ท่านปิดไว้ บอกอย่าเปิดนะ เอาไปให้พระราชา อย่าเปิด ก็ดีใจแล้ว เพราะฤๅษีมีสัจจะ มีศีลธรรม ไม่หลอกเราแน่ละ ดีใจเหลือเกิน ก็กลับไป เอาไปถวายพระราชาวันรุ่งขึ้น บอกได้มาแล้ว ตัวห่า อ้าว พระราชาบอกว่า แล้วมันเป็นอย่างไร ตัวห่าน่ะ อ้าว พระฤๅษีท่านไม่พูด ตอนนี้พระราชาเป็นใหญ่นี่ บอกเปิดดูซิ ก็ให้พวกอำมาตย์เปิดดู บอกดูซิมันเป็นอย่างไร มันอยู่ในกระบอก เปิดดูแล้วกระบอกยาวก็เห็นไม่ชัดเจน มัว ๆ มืด ๆ อำมาตย์คนนี้ดูแล้วบอกว่ารูปร่างเหมือนกบ เอ้า ๆ คนโน้นดู แกดูซิ อำมาตย์อีกคนหนึ่งบอกว่าเหมือนจิ้งเหลน อีกคนหนึ่งบอกเหมือนตัวนู้นตัวนี้ ไป ๆ มา ๆ ชักทะเลาะกันแล้ว ทิฏฐิเกิดแล้วนะ ฉันว่าเหมือนอย่างนี้ ฉันว่าเหมือนอย่างนั้น แกบอกว่าเหมือนอย่างนั้น แกไม่ถูก ต่อมา ๆ ชักลืมตัว ทั้ง ๆ ที่อยู่ต่อหน้าพระพักตร์พระราชา ด่ากันแล้วสิ บางคนก็เป็นผู้ใหญ่ เด็กกว่ามาว่าไม่เหมือนตัวเองว่าก็โกรธเลย จะทุบจะตีกัน เออ พระราชาเลยบอกนี่เอง ตัวห่าเป็นอย่างนี้เอง ตัวห่าอยู่ที่นี่ นี่ละ ถ้าเป็นอย่างนี้บ้านเมืองพินาศแน่ พระราชาให้เอากระบอกมาเปิดดูซิเป็นอะไร เทกระบอกออกมาเป็นชานหมากของพระฤๅษี ท่านเอาไอ้ที่เคี้ยวหมากเสร็จใส่กระบอกปิดไว้ นี่ก็เลยเป็นตัวห่า เห็นกันไม่ชัดทั้งนั้น สรุปนี่คือทิฏฐิ เห็นคนละนิดคนละหน่อยก็สรุปว่า ตัวนี้เป็นอย่างนั้น อย่างนั้น สรุปออกมาเป็นทิฏฐิแล้วก็ยึด ยึดแล้วก็เกิดทะเลาะวิวาทขัดแย้งกัน ขัดแย้งเพราะทิฏฐินี้ร้ายแรงมาก มนุษย์แม้แต่ผู้มีปัญญาก็จะมาติดปัญหาเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ที่มีทฤษฎีอะไรต่ออะไรกัน คิดกันในประชาธิปไตยต้องระวังให้ดี ตัวเองยังไม่ได้เห็นชัดว่าดีแน่หรือไม่ดีแน่ ใช่ไหม ตอนนี้ก็เป็นทิฏฐิของฉันขึ้นมาแล้ว ฉันจะเอาอย่างนี้ วางระบบอย่างนี้ แกไม่เห็นด้วยไม่ได้แล้ว เดี๋ยวทะเลาะกันแล้ว เอามาเป็นคตินะ แม้แต่เวลาปัจจุบัน ใช้ได้ไหมครับ ได้เลยนะ คนมาติดทิฏฐิ เพราะฉะนั้น บ้านเมืองก็พังพินาศแน่นอนถ้าถึงขนาดนี้ เพราะคนติดทิฏฐิ ในระดับชาติ ระดับโลกได้ทั้งนั้นเลย เรื่องใหญ่มาก
[33.44] พัฒนาชาวพุทธ พัฒนาประชาธิปไตย ให้รู้จักพูด รู้จักฟัง แสวงปัญญา ไม่ติดทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่า เอ้า ไม่ติดทิฏฐิ ก็หาความรู้ไป ฟังกันไป รับฟังกันไปนะ มีหลักในการอยู่ร่วมกัน เราแสวงปัญญาร่วมกัน แล้วพูดกันดี ๆ ถ้าพูดไม่ดีท่านก็กำกับไว้อีกในกระบวนการหาปัญญา ต้องใช้คำพูดให้ดี เพื่อจะได้ให้คำพูดไม่มาเป็นตัวขัดขวางกระบวนการแสวงปัญญา ถ้าพูดไม่ดี โกรธกัน จิตก็ไม่เที่ยง ไม่ตรง ขุ่นมัว ก็ไม่เห็นตามเป็นจริงอีก อย่างคนที่พูดด้วยความโกรธที่ท่านให้ 1. วจีสุจริต 4 คือ 1. พูดจริง ก็มีตัวประกอบเพราะหาความจริง บางทียังไม่ได้ก็พูด ไม่พูดคำหยาบ พูดวาจาสุภาพ แล้วก็ไม่พูดคำส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดคำที่พูดด้วยความคิด พูดแต่พอประมาณ เป็นตัวช่วยกำกับวาจาจะมาช่วยกำกับจิตอีกที ถ้าเราพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายก็ยั่วยุอารมณ์ แล้วตัวเองอีก ถ้าพูดอย่างนั้น จิตก็โกรธ ใช่ไหม ท่านก็กันไว้ บอกคนที่โกรธแล้วมองไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม เอ้า ก็คุณโกรธอย่างนี้ จิตก็บังตัวเอง มันมืดมัว มันเอนเอียง มองไม่เห็นความจริง ก็คุณพูดกำลังโกรธ ฉันยังเชื่อไม่ได้ ฉันรับฟังแต่ฉันยังไม่ยอมเอาหรอก ให้คุณหยุดโกรธก่อน ให้คุณสบายใจดีก่อน แล้วเตือนได้ อย่างนี้เราเรียกว่า เราเรียกร้องธรรมะจากคนนั้น คนไหนพูดด้วยความโกรธ เราบอกว่าฉันยังไม่รับนะ ที่คุณพูด เพราะว่าหลักบอกไว้และความจริงก็เป็นอย่างนั้น พูดด้วยความโกรธอยู่ แสดงว่าจิตมีกิเลสครอบงำอยู่ เพราะฉะนั้น จะไม่เห็นตามความเป็นจริงแน่ เรามีสิทธิที่เราจะไปท้วงได้ แล้วกลายเป็นว่า ถ้าเราพัฒนาการเป็นประชาธิปไตย หรือพัฒนาคนในระบบพัฒนาประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง จะเป็นการพัฒนาชาวพุทธไปด้วย
ถ้าบ้านเมืองนี้เป็นชาวพุทธใช่ไหม เมื่อเขาต้องการประชาธิปไตย เขาจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการแสวงปัญญา หลักการเหล่านี้จะมาคุมให้เขาปฏิบัติตัวให้ถูก เมื่อเขาปฏิบัติตัวให้ถูก ก็เข้าหลักของพุทธศาสนาที่พัฒนาปัญญาอยู่แล้ว เลยพัฒนาความเป็นชาวพุทธไปด้วย เราก็ได้ทั้งสองอย่าง นี้ก็คือวิกฤติเป็นโอกาสเหมือนกัน วิกฤติเป็นโอกาสคือ ได้โอกาสพัฒนาชาวพุทธในฐานะที่เป็นคนที่อยู่ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าพัฒนาคนหรือคุณภาพคนในระบบประชาธิปไตยดี เราก็พลอยได้ชาวพุทธดีด้วย แต่ที่จริงพัฒนาชาวพุทธก็เป็นการพัฒนาคนในสังคมประชาธิปไตย แต่ว่าเราประมาทกัน เรื่อยเปื่อย ความเป็นชาวพุทธไม่ค่อยได้พัฒนา ก็เลยแย่ ถ้าพัฒนาชาวพุทธให้ดี เราน่าจะได้ประชาธิปไตยที่ดีด้วย อ้าว อันนี้ก็เลยมาปัญหาเรื่องทิฏฐิ เรื่องทิฏฐินี่ เรื่องเยอะแยะเหลือเกิน ปัญหาหนัก หนักที่สุดในสังคมที่มีการเจริญพัฒนา เพราะจะมาติดตรงนี้
แม้แต่ประชาธิปไตยอย่างที่พูดวันก่อนก็มาติดเรื่องทิฏฐิว่า ต้องเอาระบบเศรษฐกิจแบบนั้นแบบนี้ไปกำกับอยู่กับระบบประชาธิปไตยอีก แล้วประชาธิปไตยก็เหมือนกับว่าไม่บริสุทธิ์ ต้องไปโยงไปเอียงข้างทิฏฐิไหน เหมือนอย่างที่พูด อย่างอเมริกันปัจจุบันนี้บอกว่า ต้อง free-market democracy เป็นประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี กลายเป็นว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้องต้องเป็นแบบทุนนิยม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ต้องเป็น people’s democracy เป็นประชาธิปไตยของประชาชน แล้วว่ากันว่าประชาธิปไตยของประชาชน หรือของนั้นเป็นอย่างไร แต่ตราบใดที่สภาพจิตยังไม่บริสุทธิ์ จะเป็นประชาธิปไตยที่บริสุทธิ์ไปไม่ได้ เพราะปัญญาก็ไม่บริสุทธิ์ ไม่หลุดพ้น ปัญญาไม่หลุดพ้นจากตัวแฝง ตัวมาป้าย มาคลุม ทำให้เกิดสีสันต่าง ๆ การพัฒนาปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ถ้าเราพัฒนาคนกันจริงจังตามหลักพุทธศาสนาในเรื่องปัญญา เราจะได้ประชาธิปไตยที่ดี แต่เราไม่ค่อยได้เอาใจใส่เท่าที่ควร
เอานะวันนี้ ถ้ามีโอกาสก็มาคุยเรื่องนี้ต่อหน่อยก็ดี เป็นการที่ได้มองกว้าง ๆ ไม่มีอะไรสงสัยนะ ไม่มีนะ ถ้าไม่มีสงสัยก็เอาเท่านี้ก่อน