แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
คือพระประธานนั้นก็ ข้อสำคัญคือท่านเป็นเครื่องสื่อพุทธคุณ สื่อพุทธคุณก็คือ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณ และที่เราย้ำกันมากก็คือ พระเมตตากรุณา เวลามาที่พระประธาน แล้วมากราบมาไหว้นมัสการ ทำให้จิตใจของเราเบิกบานผ่องใส มีความสุข เราอาจจะมีจิตใจว้าวุ่นเดือดร้อน ขุ่นมัวมา จากบ้านจากที่ภายนอก พอเข้ามาวัดแล้ว มาที่พระประธาน จิตใจของเราสบาย นั่นก็คือพุทธคุณเกิดผลแก่จิตใจของเรา คือว่าให้เมตตามามีผล จิตใจของเราสบาย มีความสุขขึ้น มีปีติ มีความอิ่มใจ หรือมีความสงบ แล้วก็ ท่านมีลักษณะสงบด้วยยิ้มด้วยเมตตาด้วยมีลักษณะหลุดพ้น เป็นอิสระ ไม่ยึดติดในโลกอะไร เป็นต้น ถ้าพระพุทธรูปสื่อพุทธคุณอย่างนี้ได้ ก็จะเกิดผลต่อจิตใจของผู้นมัสการ ก็ทำให้เกิดบุญกุศลอย่างน้อยก็คือ “ปสาทะ” ปสาทะเนี่ยเป็นบุญข้อแรกที่จะมีขึ้นในจิตใจของพุทธศาสนิกชน เวลาสัมผัสกับพระศาสนา โดยเฉพาะกับพระสงฆ์เป็นต้น ที่เราเรียกว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ ได้เห็นสมณะ พอเห็นสมณะแล้ว ก็ให้จิตใจผ่องใส อันนี้บุญกุศลก็เริ่มตั้งต้นได้ ถ้าจิตใจไม่ผ่องใส ขุ่นมัวเศร้าหมองแล้ว บุญก็เกิดยาก และตัวความผ่องใสของจิตใจก็เป็นบุญอยู่ในตัวแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องบุญเรื่องกุศลเนี่ยก็มีทางทำให้เกิดขึ้นได้มากมายหลายประการ แต่ว่าข้อสำคัญก็คืออยู่ที่จิตใจของโยมเอง แต่ทีนี้ว่าเราต้องการให้จิตใจผ่องใสขึ้นมา อะไรจะมาช่วยทำให้ผ่องใสได้ ตอนนี้เราอาศัยพระประธาน แต่ว่าพระพุทธเจ้าสอนไว้ มีวิธีการ วิธีปฏิบัติหลายอย่างที่จะทำให้เกิดบุญกุศล วันนี้ก็เลยอยากจะพูดเรื่องบุญนิด ๆ หน่อย ๆ เพราะว่า คำว่าบุญนี้เป็นคำสำคัญในพระพุทธศาสนา และเวลานี้ความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “บุญ” นี้ก็แคบมาก หรือบางทีก็ถึงกับเพี้ยนไป
ยกตัวอย่าง ที่ว่ามีความแคบหรือเพี้ยน อย่างเราพูดว่า ไปทำบุญทำทาน
หนึ่ง โยมก็นึกถึงว่าทำบุญ มองไปในแง่ของการถวายข้าวของแก่พระสงฆ์ บุญเลยมักจะจำกัดอยู่แค่ทาน การให้ แล้วก็ต้องถวายแก่พระเท่านั้นจึงเรียกว่า บุญ ถ้าไปให้แก่ชาวบ้าน ไปให้แก่คนยากจน คนตกทุกข์ยากไร้ เราเรียกว่าให้ทาน ภาษาไทยตอนหลังนี้เหมือนกับแยกกันระหว่างทำบุญกับให้ทาน ทำบุญคือถวายแก่พระ ให้ทานคือให้แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน คนตกทุกข์ได้ยาก เป็นต้น แต่นานๆ คงต้องมาทบทวนกัน ความหมายนี้กลายเป็นความหมายในภาษาไทยที่บางทียอมรับกันไปด้วยซ้ำจนคิดว่าถูกต้อง พอตรวจสอบด้วยหลักพระศาสนาแล้วก็ไม่จริง เพราะว่าทานนั้นเป็นคำกลาง ๆ ก็เวลาถวายของแก่พระ ที่เราเรียกว่าทำบุญนั้น เวลาว่าเป็นภาษาบาลี โยมจะเห็นชัดว่าต้องเรียกว่าทานทั้งนั้น ทำบุญอย่างดีที่ถวายของแก่พระ ก็เช่น สังฆทาน อย่างถวายกฐินก็เรียกกฐินทาน ถวายผ้าป่าก็เป็นจีวรทาน บังสุกุลจีวรทาน ไม่ว่าถวายอะไรก็เป็นทานทั้งนั้น ถวายเสนาสนะ สิ่งก่อสร้างในวัด อะไรก็เรียก เสนาสนะทาน วิหารทาน ทานทั้งนั้น หมายความว่าทานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำบุญ นี้เราไปพูดว่าบุญคือถวายของ มันกลายเป็นว่าบุญก็เลยแคบมาเหลือแค่ทานอย่างเดียว เลยเราลืมนึกไปว่ายังมีวิธีทำบุญอื่นอีกหลายอย่าง อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งแล้ว
สอง ก็คือความแคบที่ไปคิดว่า แล้วไปให้แก่คนตกทุกข์ได้ยากหรือชาวบ้านก็เป็นทานแล้วไม่เป็นบุญก็จะยุ่งกันใหญ่ ที่จริงให้แก่ใครก็เป็นบุญทั้งนั้น เพียงแต่ว่าบุญมากบุญน้อยเท่านั้นเอง การวัดที่บุญมากบุญน้อย อย่างในเรื่องทานนี้ ท่านมีเกณฑ์มีหลักวัดอยู่แล้วว่า
1) ตัวผู้ให้ คือ ทายกทายิกา เจตนาเป็นอย่างไร
2) ผู้รับ: ปฏิคาหก ปฏิคาหก เป็นผู้มีศีล มีคุณธรรม มีคุณงามความดี ถ้าหากว่าเป็นผู้มีศีลมีคุณธรรมความดีก็ได้บุญมากขึ้น ถ้าเป็นคนไม่มีศีลอย่างเป็นโจร ผู้ร้าย อย่างนี้ เราก็ได้บุญน้อย เพราะดีไม่ดีให้ไปแล้ว แกกลับอาศัยผลจากที่เราให้ เช่นได้อาหารไปแล้วร่างกายแข็งแรงก็ไปทำการร้ายซะอีก ก็กลับเกิดโทษ
3) วัตถุ สิ่งของที่ถวาย สิ่งของที่เป็นประโยชน์ ก่อประโยชน์แก่ผู้ที่รับไป สมควรแก่พระสงฆ์ใช้ และแล้วแต่คนที่รับ
รวมความก็คือ ตัวผู้ให้มีเจตนา ที่เป็นบุญ เป็นกุศล ตั้งใจดี และเจตนานั้น ยิ่งประกอบด้วยปัญญา มีคุณสมบัติดีประกอบด้วยบุญมากก็ยิ่งได้บุญมาก ฉะนั้นเรื่องการให้ก็เป็นทานทั้งสิ้น จะให้แก่พระ จะให้แก่คฤหัสถ์ชาวบ้าน อันนี้ก็อาจจะต้องมาทบทวนความหมายกันใหม่ พอบอกว่าบุญไม่ใช่แค่ทาน ทีนี้ก็ต้องมาดูกันว่า บุญนั้นแค่ไหน
การทำบุญท่านเรียกว่า บุญกิริยา หรือเรียกยาวว่า “บุญกิริยาวัตถุ” เป็นเรื่องของการทำบุญ ญาติโยมที่คุ้นวัดจะนึกออกว่า บุญกิริยาวัตถุนั้นมี 3 อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา ทานก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ศีลก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง ภาวนาก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง แล้วว่าสูงขึ้นไปตามลำดับด้วย ศีลเป็นบุญที่สูงกว่าทาน ภาวนาเป็นบุญที่สูงกว่าศีล แต่ว่าเราสามารถทำไปพร้อมกัน เหตุใดจึงเรียกการถวายของแก่พระที่วัดเป็นการทำบุญ แล้วก็ให้แก่ชาวบ้านเป็นทานเฉยๆ อันนี้ก็อาจจะเกิดมาจากการที่ว่า เวลาเราไปถวายที่วัด เราไม่ได้เฉพาะให้ทานเท่านั้น เวลาโยมถวายจตุปัจจัย สิ่งของ เครื่องไทยธรรมที่วัดนั้น ศีลโยมก็ได้รักษาไปด้วย สำรวมกาย วาจา เรามีระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณี เรื่องมารยาท กิริยา การสำรวมวาจาต่าง ๆ นี้เป็น “ศีล” ทั้งสิ้น เวลานั้นเรางดเว้นเรื่องความไม่สุจริตทางกาย วาจา ความไม่เรียบร้อย การเบียดเบียนอะไรต่างๆ ในทางกาย วาจา เราละเว้นหมดเป็นศีล เราอยู่ในกาย วาจาที่ดีงาม ที่ประณีต ที่สำรวม ที่ควบคุม แล้วก็จิตใจของเราจะด้วยบรรยากาศของการทำบุญก็ตาม หรือด้วยจิตใจที่เรามีความเลื่อมใส จิตใจของเราก็ดี เช่น มีความสงบ มีความเบิกบาน ผ่องใส มีความอิ่มใจ อันนั้นเราก็ได้ “ภาวนา” ไปด้วย ยิ่งถ้าพระได้อธิบายให้เข้าใจถึงการทำทานนั้นว่าทำเพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร เรามองเห็นคุณค่าประโยชน์นั้น “ปัญญา” ก็ได้ด้วย ก็เลยกลายเป็นว่าเราไปที่วัดนี่ ถวายทานอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เราได้หมด ทานเราก็ทำ ศีลเราก็พลอยได้ ภาวนาเราก็ได้ จิตใจ ปัญญา ได้หมด ฉะนั้นเมื่อเราไปที่วัด เราไม่ได้ถวายทานอย่างเดียว เราได้มาครบ เราตั้งใจไปถวายทานอย่างเดียว แต่ได้มาครบทั้งสาม ที่นี้เราจะบอกว่า เราไปถวายทานมา เราก็พูดไม่เต็ม ก็เลยเป็นเราพูดว่าไป “ทำบุญ” เพราะว่าเราได้ทั้งสามอย่าง อันนี้ก็เป็นเหตุให้การถวายทานอย่างเดียว กลายเป็นมีความหมาย เป็นทำบุญ ไป แต่ทีนี้ว่าโยมเมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วต่อไปเวลาไปถวายทานที่วัดก็ต้องทำให้ได้ครบสามอย่าง คือถวายทานอย่างเดียว แต่ต้องให้ได้ทั้งศีลและภาวนาด้วย แล้วอย่างนี้เรียกว่า “ทำบุญ” ที่แท้จริง เราก็อาจจะมาตรวจสอบตัวเราว่า ทานของเรานี่ได้ผลสมบูรณ์ไหม จิตใจ เจตนาของเรา ดีไหม เจตนาก็ยังแยกออกอีก
1) บุพเจตนา เจตนาก่อนให้ ตั้งใจไปตอนแรก เริ่มต้นตั้งใจดี จิตใจเลื่อมใส จิตใจเบิกบาน มีความตั้งใจจริง แข็งแรง มีศรัทธามาก ต่อไปตอนถวาย
2) มุญจนเจตนา เจตนาขณะถวายก็จริงจัง ตั้งใจทำด้วยความเบิกบานผ่องใส
3) อปราปรเจตนา ถวายไปแล้ว ระลึกขึ้นเมื่อไรก็จิตใจเอิบอิ่มผ่องใส ว่าที่เราทำไปนี้ดีแล้ว ทานนั้น เกิดผลเป็นประโยชน์ ถวายบำรุงพระศาสนา พระสงฆ์จะได้มีกำลัง ท่านจะได้ปฏิบัติศาสนกิจ ช่วยให้พระศาสนาเจริญงอกงามมั่นคงเป็นปัจจัยให้สังคมของเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุข นึกขึ้นมาเมื่อไร ท่านบอกว่า “อนุสรณ์ด้วยโสมนัส” ถ้าโยมอนุสรณ์ด้วยโสมนัสทุกครั้งหลังจากทำบุญไปแล้ว โยมก็ได้บุญทุกครั้งที่อนุสรณ์นั่นแหละ คือระลึกขึ้นมาปั๊บได้บุญ นี่คือตัวเจตนา 3 กาล นี่สำหรับทายก
และ “ปฏิคาหก” ก็ ถ้าเป็นผู้มีศีล มีคุณธรรมต่างๆ มาก ก็ถือว่าเป็นบุญเป็นกุศลมาก เพราะจะได้เกิดประโยชน์ เพราะพระท่านเป็นผู้ทรงศีล ทรงไตรสิกขา ท่านก็สามารถทำให้ทานของเราเกิดผลงอกเงยออกไปกว้างขวาง เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดำรงพระศาสนาได้จริง และวัตถุที่ถวายก็เป็นของสมควรเกิดประโยชน์ นี่เป็นองค์ประกอบต่างๆ ที่จะเป็นเครื่องพิจารณา แล้วเรายังได้อย่างที่ว่าเราไปทำทานอย่างเดียว เราได้ทั้งศีลทั้งภาวนาด้วย อย่างนี้ก็เรียกว่าทำบุญกันจริงๆ พูดเต็มปาก มิฉะนั้นโยมก็จะได้แค่ทำทานเฉย ๆ แล้วก็ไปเรียกว่าทำบุญ เพราะฉะนั้น โยมไปวัดแล้วบอกว่า ฉันไปทำบุญมา ตรวจดูด้วยว่า เอ.. ที่จริงเราได้แค่ทานหรือเปล่า หรือเราได้ครบจริง ๆ เป็นบุญ ถ้าเป็นบุญ ก็แปลว่าได้ทั้ง 3 ประการอย่างที่ว่าไปแล้ว นี่อาตมาก็ยกมาให้โยมได้ฟัง ก็เลยขอถือโอกาสเล่าความหมายของคำว่า “บุญ” นิดหน่อย คำว่า “บุญ” นั้นเป็นศัพท์ภาษาบาลีเรียกว่า “ปุญฺญ” ปุญญ แปลว่าอะไรบ้าง
1) แปลว่า ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ใจของเรากำลังเศร้าหมอง ขุ่นมัวอะไรต่างๆ มา พอทำบุญอย่างเช่นถวายทาน จิตใจของเราก็สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใสขึ้นมา นี่ก็เป็นความหมายของบุญความหมายที่หนึ่ง
2) แปลว่า ทำให้เฟื่องฟูขึ้นมา คนที่ทำบุญ ทำความดีจิตใจก็เฟื่องฟู เฟื่องฟูขึ้นในคุณงามความดี เพิ่มพูนคุณสมบัติที่ดีๆ ให้แก่ชีวิตจิตใจของตนเอง เราทำบุญ เพราะบุญท่านบอกว่ามีเยอะแยะ เดี๋ยวอาตมาจะพูดต่อไป ยิ่งเราทำบุญมากเราก็เพิ่มคุณสมบัติที่ดีให้แก่ชีวิตของเรา ภาษาสมัยนี้มีคำหนึ่งเรียกว่า “คุณภาพชีวิต” คนสมัยโบราณ เขาไม่ต้องมีคำนี้ เพราะเขามีคำว่า “บุญ” อยู่แล้ว คำว่าบุญนี้มันคลุมหมด บุญทำทีหนึ่งก็เพิ่มคุณสมบัติให้กับชีวิตของเรา คุณสมบัติในกาย ในวาจา ในใจ กายของเราก็ประณีตขึ้น จิตใจ วาจาของเราประณีตขึ้น ปัญญาของเราดีขึ้น เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อันนี้ก็เป็นความหมายของคำว่าเฟื่องฟู
3) และต่อไปท่านบอกว่า “น่าบูชา” บุญนั้นทำให้น่าบูชา คนที่มีบุญก็เป็นคนที่น่าบูชา เพราะเป็นคนที่มีคุณธรรม มีความดี ถ้าไม่มีคุณความดีก็ไม่น่าบูชา “บูชา” ก็คือยกย่อง หรือเชิดชู คนที่ทำบุญทำกุศล จิตใจดีงามมีคุณธรรมมาก ก็เป็นคนที่น่าเชิดชู น่ายกย่อง แล้วก็ทำให้เกิดผลที่น่าเชิดชูบูชาด้วย ต่อไปอีกเดี๋ยวจะพูดความหมายของบุญมากไป ขอพูดแต่ละอย่างน้อยๆ ให้เห็นว่าที่จริงศัพท์เหล่านี้มีความหมายเยอะแยะ
4) ความหมายอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็บอกว่าบุญนั้นเป็นชื่อของ “ความสุข” พอทำบุญแล้วจิตใจก็สุขเอิบอิ่มเป็นความสุขที่ประณีตลึกซึ้ง เราทำบุญนี่มันเป็นสุขที่มีผลระยะยาว อย่างอาหารที่รับประทาน สิ่งภายนอกบำรุงบำเรอกาย พอผ่านไปแล้วก็หมด ความสุขก็สิ้นไป หายไป บางทีพอนึกใหม่กลายเป็นทุกข์ เพราะมันไม่มีอยู่ด้วย ต้องหาใหม่ แต่ว่าบุญนี้เป็นสุขก็คือว่ามันเข้าไปถึงเนื้อแท้ของจิตใจ เป็นความสุขที่เต็มอิ่ม ปีติในบุญ แล้วก็เราทำไปแล้วมันไม่หมด นึกถึงเมื่อไรก็ใจเอิบอิ่มผ่องใสเรื่อยไป เป็นความสุขที่ยั่งยืนยาวนาน
5) และอีกอย่างหนึ่งก็คือ ข้อสุดท้ายเค้าบอกว่า เป็นสิ่งที่พึง “ศึกษา” พระพุทธเจ้าบอกให้ศึกษาบุญ คำว่า “ศึกษา”ก็คือให้ฝึกนั่นเอง หมายความว่า บุญเราก็ต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่พูดเมื่อกี้ว่า มันเป็นคุณสมบัติ มันเป็นความดี ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง รวมไปถึงทางปัญญา เราต้องเพิ่ม ฝึกขึ้นมา ฝึกกาย วาจา ชีวิตของเราก็จะประณีตงอกงามขึ้นเรื่อย เรียกว่าเป็นการพัฒนา เพราะฉะนั้น บุญนี้อย่าไปยุติ หยุดอยู่ ต้องศึกษา บุญ มีบุญอะไร คุณสมบัติความดีอะไรที่เราควรจะทำเพิ่มเติม เพื่อให้ชีวิตของเราดีขึ้นและทำให้เกิดประโยชน์กว้างขวางออกไป มิฉะนั้นเราจะติดอยู่ จมอยู่ หรือว่าชะงัก ตันอยู่แค่เท่าเดิม คนที่ทำบุญไม่ควรจะติดอยู่เท่าเดิม ควรจะก้าวหน้าไปในบุญนั้นด้วย
นี้เป็นความหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบุญ อาตมาก็นำมาเอามาพูดพอให้โยมได้เห็นแนวทาง ของความจริงแต่ละอย่างก็สามารถขยายออกไปได้เยอะ แต่ว่าให้เห็นเค้าว่าตั้งต้นอย่างนี้ นี้ต่อไปก็ที่บอกเมื่อกี้ว่าบุญนั้นมีเยอะ การทำบุญไม่ใช่เฉพาะทานเท่านั้น
พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยสรุปอย่างสั้นที่สุดว่ามี 3 คือ บุญกิริยาวัตถุ 3 มี ทาน ศีล ภาวนา อย่างที่พูดไว้ตอนต้นแล้ว ที่นี้ต่อมาพระอรรถกถาจารย์ ท่านคงอยากจะให้ญาติโยมเห็นตัวอย่างขยายความหมายให้กว้างออกไปอีก จะได้เห็นช่องทางในการทำบุญเยอะๆ ท่านก็เติมเข้าไปอีก 7 ข้อ รวมเป็น บุญกิริยาวัตถุ 10 ก็ขอนำเอามาทบทวนกับโยม ในฐานะที่โยมเป็นผู้ที่ทำบุญอยู่เสมอ ต่อจากบุญ 3 คือ ทาน ศีล ภาวนา
ข้อ 4 อปจายนมัย ทำบุญด้วยการที่ให้ความเคารพ มีความอ่อนโยน สุภาพอ่อนน้อม อันนี้ก็ถือเป็นบุญอย่างหนึ่งเหมือนกัน ก็เป็นการให้เกียรติ ให้ความเคารพยกย่องแก่ท่านผู้มีความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นผู้สูงด้วยคุณธรรมความดี เป็นต้น หรือที่นิยมกันในสังคมของเรา จะเป็น วัยวุฒิ ชาติวุฒิ คุณวุฒิ แต่ในทางพระศาสนาก็ถือว่า คุณวุฒินั้นสำคัญที่สุด นี้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการช่วยกันรักษาสังคมนี้ ให้สังคมของเราอยู่กันด้วยความร่มเย็น ถ้าสังคมของเราไม่มีการให้เกียรติ ไม่มีความเคารพกัน มันจะวุ่นวายมาก จิตใจก็แข็งกระด้าง พอเรามีความเคารพ ให้เกียรติแก่กัน มีความสุภาพอ่อนโยน จิตใจของเราก็นุ่มนวล การเป็นอยู่ร่วมกันก็ดี บรรยากาศก็ดีงาม เป็นสุข บุญก็เกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง
ข้อ 5 ไวยาวัจจมัยกุศล หรือ ไวยาวัจจมัย บุญญกิริยาวัตถุ คือ การช่วยเหลือ รับใช้ บริการ คนที่ไม่มีเงินก็ไม่ใช่ว่าทำบุญไม่ได้ ไวยาวัจจมัยกุศลนี้ก็ช่วยเหลือ อย่างสมัยก่อนนี้ก็นิยมกันเวลามีงานส่วนรวม ส่วนรวมนั้นโดยมากสังคมมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด มีงานวัดก็มาช่วยกัน ช่วยเหลือ รับใช้ ทำอะไรต่ออะไรกันคนละอย่างสองอย่าง ให้กิจกรรมส่วนรวมที่วัดนั้นสำเร็จด้วยดี อย่างวันนี้ก็เป็นตัวอย่าง จำนวนมากหลายท่านมาทำบุญด้วยไวยาวัจจมัยกุศล พรรณนาไม่มีที่สิ้นสุดเลยวันนี้ วันนี้ทำไวยามัจจมัยกันเยอะเลย นอกจากทาน คือมาช่วยเหลือรับใช้บริการ บำเพ็ญประโยชน์ อันนี้ก็เป็นบุญเป็นกุศลอย่างสำคัญ ไม่ว่าตำรวจ ทหารเรือ ทหารทั้งหลาย หรือว่าเด็กๆ นักเรียน ญาติโยม วันนี้ก็มาทำกันทั้งนั้น หรือแม้ก่อนนี้มาช่วยกันปลูกต้นไม้ มาทำความสะอาด มาทำถนน ฯลฯ ทุกอย่างนี่ ถ่ายรูปนี่ก็เป็นไวยาวัจจมัยกุศลเหมือนกัน ช่วยกัน คือเจตนาที่จะมาบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยเหลือ รับใช้ ทำกิจส่วนรวม ให้สำเร็จ ก็เป็นบุญ
ข้อ 6 ปัตติทานมัยกุศล หรือปัตติทานมัยบุญญกิริยาวัตถุ ทำบุญด้วยการให้ส่วนบุญ “ให้ส่วนบุญ” หมายความว่า ให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมได้ด้วย เปิดโอกาสเวลาเราทำความดีอะไรสักอย่างไม่หวงแหนไว้ เปิดโอกาสให้คนอื่นได้มีส่วนร่วมทำบุญด้วยกัน ทำความดีด้วยกัน ทั้งฝ่ายผู้มาร่วม ทั้งฝ่ายผู้ให้โอกาสร่วม ได้บุญเพิ่มทั้งสองฝ่าย คนที่ให้เขาร่วม ตัวเองก็ไม่ได้บุญลดลง เดี๋ยวจะนึกว่าเขามาแย่งบุญ เปล่า กลับยิ่งได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า คนที่ทำบุญด้วยตนกับคนที่รับทำบุญด้วยตนแล้วยังชวนคนอื่นมาทำ ทำความดีนั่นเอง บุญกุศลก็ยิ่งมากให้ส่วนร่วมแก่ผู้อื่นมาทำความดีด้วยกัน
ข้อ 7 ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการอนุโมทนา ชื่นชมยินดี แสดงความยินดี ยอมรับ เห็นชอบในการทำความดี ของผู้อื่น ในการทำบุญของผู้อื่น เมื่อเขาทำบุญ ทำความดี เราก็ชื่นใจด้วย อนุโมทนาด้วย สมัยก่อนนี้ เวลาญาติโยมบางท่านไปทำบุญที่วัด เวลาไปก็อาจจะเดินไป ก็ผ่านบ้านโน้นบ้านนี้ พอเดินผ่านบ้านนี้ โยมที่ไปทำบุญก็เห็นบ้านอื่นที่รู้จักกัน ก็บอกว่า ฉันไปทำบุญมานะ แบ่งส่วนบุญให้ด้วย บ้านที่ได้ฟังก็บอกว่า ขอโมทนาด้วยนะ นี่ถือคติแบบนี้ นี่คือเป็นการฝึกนิสัยจิตใจให้เราพลอยยินดีในการทำความดีของคนอื่น จิตใจชื่นบานด้วยการเห็นคนอื่นทำความดี เราพลอยชื่นบาน อนุโมทนาด้วย เราก็ได้บุญด้วย ก็เป็นบุญที่เกิดจากการอนุโมทนา
ข้อ 8 ธรรมสวนมัยบุญญกิริยาวัตถุ ทำบุญด้วยการฟังธรรม เรื่องธรรมะเรื่องสำคัญที่จะทำให้เรามีปัญญา ทำให้เราสามารถมีหลักในการประพฤติปฏิบัติ ดำเนินชีวิตที่ดี ถ้าหากว่าเราไม่มีการฟังธรรม ไม่มีการอ่านหนังสือธรรมะ เป็นต้น ความก้าวหน้าในธรรมของเราอาจจะชะงักก็ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะเจริญในบุญก็เลยจะเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีข้อนี้มาช่วย ท่านก็เลยบอกว่าให้มีธรรมสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรม พอฟังธรรมแล้วรู้หลัก ได้เห็นช่องทางในการทำบุญ เพิ่มขึ้น เป็นต้น
ข้อ 9 ธรรมเทศนามัย แสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังก็เป็นบุญ เวลาแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟังต้องตั้งใจให้ถูกต้อง ท่านว่าถ้าเจตนาหาลาภ เจตนาไม่ดี เป็นเรื่องส่วนตัว จะไม่ค่อยมีผลมาก แต่ถ้าเจตนาว่า แสดงธรรมไปเพื่อให้โยมได้รู้เข้าใจถูกต้อง ให้มีสัมมาทิฐิ ให้โยมได้รับประโยชน์ ให้โยมได้พัฒนาชีวิตขึ้นไป ผู้ที่แสดงธรรมก็ได้บุญด้วย ถึงโยมก็เหมือนกัน ถ้าธรรมเทศนามัยนี้ไปบอก ไปเผื่อแผ่ ไปสอนลูกสอนหลาน อะไรที่ถูดต้องดีงาม ให้เขาเจริญในทาน ศีล ภาวนาด้วย ไปแนะนำในครอบครัว เป็นต้น โยมก็ทำบุญไปด้วย ทำบุญกับลูกกับหลานก็ได้ ด้วยธรรมเทศนามัย
ข้อ 10 ทิฏฐุชุกรรม ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง ให้ถูกต้อง ความเห็นให้ถูกต้องนี้ต้องทำกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไร กิจกรรมทุกอย่าง เราทำด้วยความรู้เข้าใจถูกต้องหรือเปล่า อย่างทำทาน ทำด้วยความเข้าใจถูกต้องไหม เป็นได้มากว่าโยมอาจจะเข้าใจผิดอยู่ก็ได้ พอทำความเข้าใจของเราก็สมบูรณ์ขึ้น ไม่ว่าอะไร เช่น รักษาศีล บางที่รักษาไปตามตัวบทพยัญชนะ ตามยึดถือกันมา ไม่เข้าใจจริง พอเราไปฟังธรรม เราก็มาปรับความเห็นของตัวให้ถูกต้อง การทำบุญของข้ออื่นๆ ก็ถูกต้องด้วย เพราะฉะนั้น เรื่องทิฏฐุชุกรรม หรือการทำความเห็นให้ตรงให้ถูกต้องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องพัฒนาอยู่เสมอ ไม่ว่าทำอะไรทั้งสิ้น ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบอยู่
นี้รวมเป็น 10 ข้อด้วยกัน นี้ 10 ข้อนี้ ที่เป็นหลักก็คือ ทาน ศีล ภาวนา ส่วนที่เติมมา 7 ข้อนั้นเป็นการขยายจาก 3 ข้อต้น เพื่อให้โยมเห็นช่องทางเพิ่มขึ้น ข้อที่ขยายเพิ่มขึ้นนั้น อปจายนมัย ก็ดี ไวยาวัจจมัย ก็ดี อยู่ในหมวดศีล คือ การที่มีความสุภาพ อ่อนโยน อ่อนน้อม ให้เกียรติแก่กันและกัน ก็เป็นเรื่องของศีลด้วย ไวยาวัจจมัย การช่วยเหลือ รับใช้ บริการ ก็อยู่ในหมวดศีลด้วย ตอนนี้เรียกว่าสงเคราะห์ คือจัดประเภท ต่อไป ปัตติทานมัย การให้ส่วนบุญแก่ผู้อื่น หรือให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมบุญนี้จัดอยู่ในทาน จะเห็นว่าทานมีความหมายกว้างไม่ใช่เฉพาะการให้ของเท่านั้น แต่ให้การมีส่วนร่วมในการทำความดี หรือให้โอกาสผู้อื่นในการทำความดี ก็เป็นบุญ เป็นการให้ทานชนิดหนึ่งเหมือนกัน แม้แต่ อนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำ ก็อยู่ในหมวดทานด้วย ต่อไป ข้อสุดท้าย ทิฏฐุชุกรรม ท่านบอกว่าเข้ากับทุกข้อเลย เวลาทำบุญทุกอย่างให้มี ทิฏฐุชุกรรม ประกอบว่ามีความเห็นที่ถูกต้องด้วย มิฉะนั้น บางทีบุญของเราก็เลยบกพร่อง บางทีเวลาที่เราทำบุญ ใจของเราบุญได้ซีกหนึ่ง อีกซีกหนึ่งมีโลภะ เป็นต้นปนอยู่ นึกถึงบุญแต่ใจประกอบด้วยความโลภ อยากได้ผลตอบแทนอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างนี้บุญก็ได้แต่บาปก็ได้ด้วย คือมีโลภะประกอบอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องระวังเหมือนกัน แต่ถ้าเรามี ทิฏฐุชุกรรม ประกอบอยู่ ทำความเห็นให้ตรง ก็จะแก้ตรงนี้ได้ คือทำบุญด้วยความเข้าใจว่า ทานนี้ทำเพื่ออะไร พอรู้เข้าใจว่าทานทำเพื่ออะไรแล้ว ความเห็นของเราถูกต้อง บุญของเราก็สมบูรณ์ แล้วบุญนั้นจะมีความหมายที่ครบ กาย วาจา จิต ปัญญา กาย โยมก็ทำ ชัดแล้ว วาจาโยมก็เปล่ง เช่น ชักชวนกัน พูด กล่าว ถวาย จิตก็สงบผ่องใส มีเจตนาประกอบด้วยศรัทธาเป็นต้น ปัญญาก็มีความรู้เข้าใจ ว่าสิ่งที่ตนทำนี้ทำเพื่ออะไร ยิ่งถ้ามองเห็นความหมาย ประโยชน์ชัดเจนนั้น โยมจะยิ่งมีจิตใจกว้างขวางบุญกุศลก็ยิ่งเพิ่ม อย่างเวลาเราทำทานนี่ เรารู้เข้าใจมองว่า อ๋อ ที่ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ถวายทุนแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่อะไร โยมถามตัวเอง ก็เห็นว่า พระสงฆ์ท่านมีหน้าที่เล่าเรียนพระธรรมวินัย มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามหลักธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนนั้น แล้วก็มีหน้าที่ที่จะเผยแพร่ธรรมะ อ้อ... ท่านมีหน้าที่ใหญ่ 3 อย่างนี้ ที่เราถวายปัจจัยท่านไป ก็เพื่อให้ท่านมีกำลังไปทำศาสนกิจ หน้าที่ 3 อย่างนี้ พอท่านทำหน้าที่ 3 อย่างนั้น ท่านก็เจริญงอกงามในไตรสิกขาด้วย ธรรมะที่ท่านได้รู้ได้เรียนก็จะมาเกิดประโยชน์แก่ประชาชนกว้างขวางออกไป แล้วเป็นอย่างไร พระศาสนาของเราก็อยู่ได้ เราได้มีส่วนช่วยพระศาสนา การที่เราทำบุญนี้ เราได้ช่วยดำรงพระศาสนาให้เจริญ มั่งคง แข็งแรง บุญของเราไม่ได้อยู่เฉพาะแค่พระที่เราถวายเท่านั้น บุญนี่ถึงพระศาสนาทั้งหมด เมื่อพระศาสนาอยู่ได้ ธรรมะอยู่ได้ ธรรมะก็เผยแพร่ออกไปก็เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ประชาชนได้ประพฤติปฏิบัติรู้ธรรมะ สังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข สังคมอยู่ได้นี่ ก็เพราะยังมีคนประพฤติปฏิบัติธรรม รู้ธรรมกันอยู่บ้าง อย่างน้อย ก็ยังพอประคับประคองกันไหว เมื่อโยมนึกว่า ทานที่เราถวายนี้ ให้แก่พระองค์เดียวนี้ มีผลไปถึงประชาชนสังคมทั้งหมดด้วย เมื่อมองด้วยความเข้าใจอย่างนี้ ใจก็ยิ่งปลอดโปร่งกว้างขวาง มีปิติอิ่มใจ นึกขึ้นมาเมื่อไรก็ยิ่งมีความสุข นี่แหละที่เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม เกิดจากมีปัญญาประกอบเข้ามา บุญก็ยิ่งกว้างขวาง ต่อไปมันจะเป็นปัจจัยให้เราเห็นทางทำบุญที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ว่าทำบุญอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์คุณค่ากว้างขวางอย่างนี้ ก็จะพิจารณาว่าธรรมอันไหนดี โยมก็จะได้ “วิไจยทาน” คือทานที่เกิดจากการวิจัยขึ้นมาด้วย คือพิจารณาไตร่ตรองแล้วจึงให้ทาน
ทั้งหมดนี้ก็ขอนำมากล่าวให้โยมได้ฟัง ในวิธีทำบุญ ที่จริงไม่มีที่สิ้นสุด และมีที่ควรทราบอีกเยอะ แต่เราฟังกันไปทีละน้อย ๆ โยมก็จะเห็นแนวทางปฏิบัติในการทำบุญมากขึ้นทุกที ๆ เพราะฉะนั้นเวลาโยมทำบุญเสร็จแล้ว พระก็จะอนุโมทนา ที่อนุโมทนาก็คือ แสดงความยินดี พลอยยินดีด้วยกับโยมที่ได้ทำบุญ เพราะโยมทำดีงามถูกต้องแล้ว พระก็ยอมรับ ในการอนุโมทนานั้น พระก็จะบอกว่า บุญที่ทำนี้เกิดผล เกิดอานิสงค์อย่างไร ทานเกิดผลอย่างไร ศีลเกิดผลอย่างไร เราเรียกสั้นๆ ว่า “อนุโมทนา” แต่พระจะพูดเมื่อโยมทำแล้ว ว่าที่โยมทำจะเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ มีผลดีจนกระทั่งว่าทั้งในโลกนี้และโลกหน้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงอานิสงค์ของบุญ ของทาน ของศีลไว้ หมายความว่า บุญประเภททานก็ดี บุญประเภทศีลก็ดี บุญประเภทภาวนาก็ดี พระองค์ได้แสดงอานิสงค์ไว้ อานิสงค์นั้นพระพุทธเจ้าตรัสเน้นประโยชน์ที่มองเห็นก่อนแล้วจึงลงท้ายด้วยผลในภพหน้า ว่าตายแล้วไปสวรรค์ เช่นเรื่องศีล พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสอานิสงค์ของศีล 5 เป็นอย่างไร คือ
1) คนที่มีศีล จะอาศัยความไม่ประมาท ทำให้เกิดโภคะได้มาก คนไม่มีศีล จะเป็นคนที่เต็มไปด้วยอบายมุข ก็ปล่อยชีวิตให้ตกต่ำ หมกมุ่นวุ่นวายมัวเมาในเรื่องของสิ่งเหลวไหล เพราะฉะนั้นก็ไม่ขยันทำมาหากิน แต่คนที่มีศีล เว้นจากทุจริต เว้นจากเรื่องชั่วช้าเสียหายแล้ว ทีนี้ก็มีความไม่ประมาท แล้วก็ขยันหมั่นเพียรทำการงาน เป็นต้น ประกอบอาชีพ ก็ทำให้เกิดโภคะได้มาก
2) กิตติศัพท์อันดีงามก็ระบือไป คนที่ประพฤติดีมีศีล มีความสุจริต คนก็นิยมชมชอบ ยิ่งสังคมปัจจุบันนี้เราถือเป็นสำคัญ ในบ้านในเมืองนี้ ทำอย่างไรจะหาคนที่มีศีล คือเป็นคนสุจริตมาบริหารบ้านเมือง เป็นต้น ถ้าคนไหนมีศีล มีความบริสุทธิ์ มีความซื่อสัตย์ ก็มีทางที่ว่าจะได้กิตติศัพท์ดีไปด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด อย่างน้อยด้านศีลก็ได้กิตติศัพท์เป็นเครื่องที่ประดับตัวเองขึ้นมา เป็นฐานที่สำคัญ
3) ศีลทำให้มีความแกล้วกล้า ถ้าเรามีศีล เป็นคนประพฤติซื่อสัตย์สุจริตแล้ว จะเข้าสมาคมไหนก็มีความแกล้วกล้าไม่ครั่นคร้าม
4) เวลาตายก็ไม่หลงตาย มีสติ
5) ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์
5 ข้อนี้เป็นตัวอย่าง พระพุทธเจ้าทรงแสดงอานิสงค์แบบนี้ พระก็อาจจะเทศน์หรืออาจจะพูดขยายให้โยมฟังว่า ทำบุญแล้วเกิดผลอะไร ก็ให้โยมมีจิตใจที่ชื่นบานผ่องใส บุญก็จะมากขึ้น และได้เกิดความเข้าใจมีปัญญาด้วย แต่ถ้าพระไปพูดก่อน ไปพูดให้โยมทำบุญ ชวนว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้แล้วก็ กลับเป็นตรงข้ามถ้าพูดก่อน ถ้าพูดทีหลัง นี่เป็น “อนุโมทนา” แต่ถ้าพูดก่อนกลายเป็นเสี่ยงต่อ “อเนสนา” “อเนสนา” คืออะไร โยมทราบมั๊ย อเนสนา แปลว่าการหาเลี้ยงชีพโดยทางไม่ถูกต้อง ทางพระท่านเรียกว่าเป็นมิจฉาชีพ คำว่ามิจฉาชีพนี่ใช้ได้ทั้งพระ ทั้งคฤหัสถ์ แต่สำหรับพระ มิจฉาชีพก็จำพวกที่เรียกว่า อเนสนา แสวงหาด้วยทางไม่ถูกต้อง ไปพูดล่อ ไปพูดจูง ให้โยมมาถวายของหรืออะไรอย่างนี้ เสี่ยงมาก เพราะฉะนั้นก็ใช้คำสั้นๆ ถ้าพูดทีหลัง เป็นอนุโมทนา ถ้าพูดก่อน เสี่ยงต่อ อเนสนา ไปพูดชวนให้โยมทำอย่างนั้นอย่างนี้ อันนี้โยมควรทราบไว้ พระปกติก็ได้แต่อนุโมทนา ถ้าโยมทำบุญ
เวลาทำบุญ เราสามารถทำบุญ 3 อย่างพร้อมกันอย่างที่ว่า แล้วก็ควรจะเป็นอย่างนั้นด้วย ไม่ใช่ว่าต้องทำเฉพาะทาน หรือทำเฉพาะศีล หรือทำเฉพาะภาวนา ทำที่เดียวพร้อม 3 เลย อย่างที่อาตมาพูดตั้งแต่ต้นแล้วว่า มาถวายทานที่วัด อย่าให้ได้แต่ทานอย่างเดียว ต้องให้ได้ศีล ได้ภาวนาด้วยพร้อมกันหมด แล้วเราจึงจะพูดได้เต็มปากว่า “ทำบุญ” มิฉะนั้นก็ได้แค่ส่วนหนึ่งของบุญคือทานเท่านั้น และไม่ว่าทำอะไรทำบุญ 3 อย่างได้พร้อมกัน ไม่เฉพาะถวายทานที่วัด แม้แต่ในการประกอบการงานท่านยังอธิบายไว้เลยว่า อาชีพการงานทั้งหลายที่โยมทำนี้ ก็ทำบุญไปด้วยพร้อมกัน 3 อย่าง เช่น ถ้าโยมทำอาชีพการงาน พอได้ของ ได้เงิน โยมก็คิดขึ้นมาตั้งใจว่า โอ..นี่เราได้ทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้นแล้ว เราจะได้เอาทรัพย์นี้อย่างน้อยส่วนหนึ่ง ไปให้ทาน ไปทำบุญกุศล ไปช่วยเหลือเผื่อแผ่เพื่อนมนุษย์ ทำให้เป็นประโยชน์ขึ้นมา จิตใจดีงามผ่องใส เป็นทานเจตนาเกิดขึ้นแล้ว ขณะทำอาชีพอยู่ ขณะนั้นก็มีทานไปด้วย ศีลคืออย่างไร เวลาทำการงานนั้น ทำด้วยความตั้งใจให้เป็นไปโดยสุจริต ทำงานของเราให้ตรงต่ออาชีพ ให้ตรงถูกต้องตามจรรยาบรรณ ทำด้วยความตั้งใจตรงตามหน้าที่ของตนเอง โดยสัตย์สุจริต นั้นเรียกว่าเป็นศีล แล้วเวลาทำงานนั้น ฝึกใจของตนเองไปด้วย ทำจิตใจของเราให้สงบ ให้มีสติ แม้มีอารมณ์เข้ามารบกวน ก็ฝึกใจให้สงบมั่นคงได้ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นภาวนาไปในตัว ภาวนาอย่างนี้เป็นส่วนของจิต ภาวนาในส่วนปัญญาก็คือว่า ทำด้วยวิจารณญาณ พิจารณาไตร่ตรอง ทำอย่างไรจึงจะได้ผลดี ทำอย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ที่แท้จริง มองโลกด้วยความเข้าใจ ทำงานไปแล้วเกิดความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตนี้มากขึ้น
ถ้าคนทำถูกต้อง อย่างคุณหมอ ไปสัมพันธ์กับคนไข้ มองคนไข้คนโน้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นหน้าบึ้งคนนี้หน้ายิ้ม คนนี้พูดไปแล้วมาดี คนนี้พูดไปแล้วไม่เอาไหน เราก็ได้รู้เห็นชีวิตเป็นไปต่างๆ เกิดความเข้าใจโลกและชีวิตตามความเป็นจริง จิตใจแทนที่จะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี ก็เกิดปัญญา วางใจถูกต้อง โอ้ โลกนี้เป็นอย่างนี้เอง อย่างนี้ได้ปัญญาภาวนาอีก
อย่างเป็นผู้สื่อข่าวนี่ก็เห็นชัด ผู้สื่อข่าวอย่างที่มาที่วัดมาทำข่าว ก็ทำด้วย 1) ตั้งใจว่าเราจะเผยแพร่ข่าวสาร ให้ข่าวสารให้ความรู้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ตั้งใจดีอย่างนี้ ได้เลย เป็นทานแล้ว คือไม่ใช่คิดแต่เพียงว่าเราจะมาทำอาชีพของเรา วันนี้จะได้เงินเท่าไร ทำอย่างไรจะได้เงินมากๆ คือคิดแบบนั้นอย่างเดียว บุญไม่เกิด แล้วเวลาเราทำ เรามีจิตใจอย่างนี้อยู่ด้วย เราตั้งใจว่า เราจะให้ข่าวสารให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ประชาชนจะได้รู้ข้อมูล มีปัญญามากขึ้น เมื่อตั้งใจอย่างนี้ ข้อ 1 ทานมาแล้ว 2) ทำหน้าที่ของเราโดยซื่อสัตย์สุจริต เราจะลงข่าวให้ถูกต้อง ให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่ให้มีบิดเบือน ไม่ให้มีผิดพลาด ทำโดยสุจริต นี่ศีลมาแล้ว ต่อไป เวลาเราไปนี่อาจจะกระทบกระทั่งฝ่ายนั้นฝ่ายนี้เค้าไม่พอใจ อะไรกระทบกระทั่งมา เราฝึกใจของเราให้มั่นคง เราไม่วู่วาม ได้ไหม ถ้าเราฝึกจิตใจของเราให้เข้มแข็งมั่นคงได้ รับกระทบได้ทุกอย่าง เรายังตั้งตัวอยู่ในสติมั่นคง อยู่ในกิริยาอาการที่ดีได้ อ้าว นี่เราได้แล้วนะ “จิตภาวนา” และ “ปัญญาภาวนา” แน่นอน อาชีพของเราเกี่ยวกับการใช้ปัญญา เราจะพยายามทำข่าวสารของเรา ให้เป็นไปด้วยวิจารณญาณ เลือกประเด็นจับประเด็นให้ถูกต้อง สื่อออกไปให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง ยิ่งใช้ปัญญาเท่าไหร่ ก็เกิดประโยชน์มากเท่านั้น อย่างปัญญาภาวนาอย่างสำคัญที่ผู้สื่อข่าวมีโอกาสจะได้มาก ดูเหมือนจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆ ก็คือนักข่าวนั้น ได้พบเห็นผู้คนต่างๆ นานา มากมาย มีนิสัยใจคอต่างๆ กัน มีพฤติกรรมต่างๆ กัน มีความดีความชั่วไม่เหมือนกัน ความคิดเห็นต่างๆ กัน และเหตุการณ์ต่างๆ ก็มากมาย ถ้ารู้จักไตร่ตรองพิจารณามองด้วยท่าทีที่ถูกต้อง ก็จะทำให้เข้าใจผู้คน ทำให้มองเห็นความจริงของโลกและชีวิต แล้วก็ทำให้สามารถวางใจต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ชีวิตของตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ผู้สื่อข่าวจึงได้ทำทั้งทานทั้งศีลและภาวนา เพราะฉะนั้นตามที่พระท่านพูดนี่ ท่านให้ทางไว้เยอะ เรื่องบุญมากมาย คลุมหมดเลย คำว่า “คุณภาพชีวิต” เป็นต้น ก็อยู่ในบุญหมดเลย เพราะฉะนั้นคนโบรานไม่มีอะไรจะพูด ใช้คำเดียวว่า “บุญ” คำเดียวจบเลย เพราะมันคลุมหมดทุกอย่าง ฉะนั้นสำคัญที่เราเองอย่าไปทำให้มันแคบ เวลานี้คำว่าบุญ มีความหมายแคบเหลือนิดเดียว และตอนนี้ด้วยปัญญา การทำความเข้าใจ ความหมายของบุญก็จะเพิ่มพูนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นี่อาตมาภาพก็พูดมายืดยาวแล้ว ควรจะจวนจบได้แล้ว ขอย้ำข้อสุดท้ายที่ว่า ทิฏฐุชุกรรม ให้มีประกอบกับการทำบุญทุกครั้ง เพราะมันเข้ากันได้ทุกข้อเลย ทำบุญข้อทานเราก็มีทิฏฐุชุกรรม ถามตัวเองว่า เรามีความเห็นถูกต้องไหมในการทำบุญ เราเข้าใจถูกต้องไหม อย่างน้อยรู้ว่าการทำทาน เป็นต้น มีความมุ่งหมายเพื่ออะไร พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า เราจะถวายสังฆทาน คุณค่า ประโยชน์จุดมุ่งหมายมันอยู่ที่ไหน อันนี้ก็ 1) ใจของเราจะกว้างขึ้น บุญเราก็เพิ่มขึ้น 2) เราจะมีการพัฒนา เราจะไม่จมติดอยู่แค่เดิม เพราะฉะนั้น ทิฏฐุชุกรรมนี้ ก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง วันนี้ก็เป็นเพียงเอามาพูดเป็นเค้าไว้ให้โยมทราบว่า ต้องพยายามให้ประกอบกับการทำบุญทุกอย่าง ให้มีความเข้าใจรู้เห็นถูกต้อง แล้วเราก็ปรับทิฐิของเราอยู่เสมอ การที่จะปรับทิฐิได้ถูกต้องก็คือต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ต้องฟังธรรมอ่านธรรมอยู่เสมอด้วย
แล้วก็ขอพูดเพิ่มอีกนิดหนึ่งสั้นๆ ว่า บุญนี้ท่านยังแบ่งอีกว่ามี 2 ประเภท คือ โอปธิกบุญ กับ อโนปธิกบุญ
“โอปธิกบุญ” คือ บุญที่ยังมีอุปธิ ยังก่อให้เกิดขันธ์ หมายความว่าเป็นบุญของคนที่ยังอยู่ในโลกียะ ยังมีจิตใจ ยังมีหวังผลอย่างนั้นอย่างนี้อะไรอยู่ ยังเป็นบุญที่ระคนด้วยกิเลส ยังก่อเกิดขันธ์ ยังมีอุปธิอยู่ แต่ท่านก็ยอมให้สำหรับญาติโยม แต่ต้องบอกว่า อย่าลืมว่า เราต้องเดินหน้าต่อ อีกขั้นหนึ่งเราต้องเดินต่อไปว่าเราจะต้องไปถึง
“อโนปธิกบุญ” บุญที่ไม่ประกอบด้วยอุปธิ เป็นบุญที่บริสุทธิ์ เกิดจากเจตนาที่ไม่มีกิเลส มีความผ่องใส ทำบุญด้วยจิตใจบริสุทธิ์จริงๆ ตรงตามความมุ่งหมาย ทำเพื่อความมุ่งหมายของบุญ เช่นของทาน เป็นต้นนั้น อย่างแท้จริง ไม่มีกิเลสเข้ามาเจือปน ไม่มีโลภะ ไม่มีโมหะ แต่อย่างน้อยก็ฝึก แต่ที่จะไม่ให้มีโมหะนี้ มันต้องทำไปเรื่อยๆ แต่ว่าอย่าหยุดก็แล้วกัน เดินหน้าไป แล้วบุญที่จะทำให้เราหมดอุปธิก็แน่นอน ตัวสำคัญก็คือ “ปัญญา” ปัญญาเป็นตัวสำคัญ บุญแปลว่าชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แต่บุญนั้นจะชำระจิตใจได้จริง บุญนั้นต้องมาถึงขั้นปัญญา จึงจะชำระได้จริง ฉะนั้น บุญมารวมคำว่าปัญญาอยู่ด้วย ที่นี้บุญขั้นสูงสุดก็เลยมาเป็นปัญญา “ปุญญปัญญา” เลยมาบรรจบกัน ถ้าเมื่อไรโยมได้ทั้งปุญญ ได้ทั้งปัญญาแล้วก็ พระพุทธศาสนาเดินหน้าในตัวโยม และโยมก็เดินหน้าในพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเราทำบุญไป ก็อย่าได้เฉพาะปุญญ ให้ได้ปัญญาด้วย ให้ปุญญกับปัญญามาบรรจบกัน แล้วปัญญาจะมาเป็นตัวทำให้บุญของเรานี้มีผลสมบูรณ์อย่างแท้จริง จนกระทั่งไปบรรลุเป็นบุญที่สูงสุด คือเป็นอโนปธิกบุญ
วันนี้ก็เลยพูดกับคุณโยมมายืดยาวพอสมควรในเรื่องบุญ ก็ให้เห็นตัวอย่างว่า เรื่องของถ้อยคำ กิจกรรมสิ่งที่เราทำในพระพุทธศาสนา ยังมีเรื่องที่ควรจะศึกษาอีกมาก ท่านจึงบอกให้ศึกษาบุญ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรว่าด้วยบุญกิริยาวัตถุ 3 พระองค์ตรัสว่า บุญกิริยาวัตถุ 3 มีอยู่ 3 อย่างนะ 1) ทานมัย บุญกิริยาวัตถุ 2) ศีลมัย บุญกิริยาวัตถุ 3) ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ แล้วพระองค์ตรัสเป็นคาถาสรุปท้ายยาวเหมือนกัน แต่ท่อนต้นบอกว่า ปุญฺญเมว โส สิกฺเขยฺย บุคคลนั้นพึงศึกษาบุญ ศึกษา เรียนรู้ ฝึกทำให้ก้าวหน้าต่อไป อย่าหยุดอยู่ในแค่บุญที่เราทำอยู่จนชินเท่านั้น แล้วก็บุญนี้ก็จะเกิดผลสมบูรณ์อย่างที่อาตมภาพได้กล่าวมา ก็ได้แสดงธรรมกถา เรื่องบุญก็มาพอสมควรแก่เวลา อาตมภาพก็ขออนุโมทนาคุณโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง ในการที่โยมได้มาปรารภเหตุการณ์หนึ่ง แล้วก็มาร่วมกันทำบุญขึ้นมา แล้วก็วันนี้เราก็ได้ทำกิจกรรมนี้สำเร็จเรียบร้อยดีแล้ว ก็ขอให้คุณโยมได้มีปีติ มีความอิ่มใจ ในบุญกุศลที่ได้ทำไปแล้ว แล้วก็ให้มองเห็นคุณค่า ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นเหตุให้โยมได้ไประลึกถึงในเบื้องหน้า ด้วยจิตใจที่มีปีติโสมนัสอีกต่อไป ขอให้โยมระลึกเมื่อไหร่ก็มองเห็นคุณค่าประโยชน์ของทานเป็นต้น ที่เป็นบุญที่เราได้ทำไว้ แล้วก็ชื่นชม มีความอิ่มใจในบุญนั้น เป็นอปราปรเจตนา แม้ตอนนั้นโยมไม่ต้องทำอะไร โยมก็ได้บุญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อปราปรเจตนา เกิดเมื่อไร บุญก็เพิ่มเมื่อนั้น อย่างน้อยภาวนามัยก็เกิดขึ้นไปด้วยในตัวเลย ก็ขอให้โยมได้บุญอย่างที่กล่าวมานี้ บุญก็จะเป็นปัจจัยแก่บุญต่อๆ ไป ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็ขอให้โยมเจริญงอกงาม ในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยการเจริญบุญ ที่มีในขั้นต่างๆ ดังที่กล่าวมา จนถึงบุญที่สูงสุดนี้ แลให้โยม พร้อมทั้งครอบครัว ลูกหลาน ญาติมิตร ตลอดจนกระทั่ง สังคม คนไทย และชาวโลกทั้งหมดนี้ได้รับประโยชน์ มีความสุขโดยทั่วกัน เพื่อให้โลกของเรานี้มีสันติสุข มีความร่มเย็น ก็ขอให้โยมเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย บรรลุประโยชน์สุข ยั่งยืนนาน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ ..สาธุ