แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ อารมณ์หรือสิ่งที่ใช้เป็นกรรมฐานสำหรับให้กำหนด ให้พิจารณาในการเจริญภาวนานั้นมีอะไรบ้าง ตอนนี้ก็มาถึงคำถามข้อนี้ ที่เราบอกว่ากรรมฐาน ๔๐ ตอนนี้เราจะต้องทำความเข้าใจกว้าง ๆ ก่อน ขอให้มองคำว่ากรรมฐานนี้ทั้งในแง่สมถะและวิปัสสนา สิ่งที่ใช้สำหรับให้จิตได้กำหนดหรือสิ่งที่เป็นอารมณ์สำหรับจิตกำหนดในการเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถะก็ดี วิปัสสนาก็ดีนี้ มันก็จะต่างกันไป คือ ถ้าเป็นจิตภาวนาก็อาจจะใช้อารมณ์อย่างหนึ่งหรือใช้กรรมฐานแบบหนึ่ง ถ้าเป็นวิปัสสนาก็ใช้อารมณ์หรือกรรมฐานอีกแบบหนึ่ง ทำไมจึงต่างกัน เพราะต่างกันโดยวัตถุประสงค์ โดยกล่าวแล้วบอกว่า สมถะนั้นต้องการมุ่งให้จิตเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่เอามาให้กำหนดหรือกรรมฐานที่เอามาให้จิตกำหนด ก็เป็นกรรมฐานประเภทที่ว่ามุ่งเพื่อจะให้จิตได้รวมอยู่อันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งนั้น นี้โดยวัตถุประสงค์นี้ มันก็จะทำให้สิ่งที่เรามาใช้นี้ต่างไป ไปแบบหนึ่ง ส่วนวิปัสสนานั้น เรามุ่งที่การเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นความจริง สิ่งที่มาให้พิจารณาหรือสิ่งที่เรียกว่าเป็นอารมณ์หรือกรรมฐานนี้ก็จะไปอีกแบบหนึ่ง อันนี้เรียกว่าต่างโดยวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์เป็นตัวกำหนดทำให้สิ่งที่ถูกใช้นี้ต่างกันไปด้วย รวมความก็คือว่า สมถะนี้จะใช้กรรมฐานหรืออารมณ์ที่เอามากำหนดให้จิตแน่วแน่อยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียว ส่วนวิปัสสนานั้น จะใช้กรรมฐานหรืออารมณ์ซึ่งเอามากำหนดให้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริง เอาละ ทีนี้ตอนนี้เราก็จะมาจำกัดลงไปอีกว่ากรรมฐานที่เราพูดถึงในที่นี้ เราจะพูดถึงเฉพาะสมถะกรรมฐานเท่านั้น ก็คือเราจะพูดถึงกรรมฐานที่ใช้ในการเจริญสมถภาวนาหรือทำสมาธิ ทีนี้ กรรมฐานหรืออารมณ์ที่เอามาใช้ในการเจริญสมถะทำสมาธินี้ ก็คือเข้ากับหัวข้อที่ตั้งไว้ข้างต้นว่ามี ๔๐ อย่าง ที่เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐ ก็คือกรรมฐานแบบที่นำมาใช้ในการเจริญสมถะ ทำจิตภาวนาให้เกิดสมาธินั่นเอง ทำไมจึงมี ๔๐ ที่จริงนั้นอะไรก็ได้ ที่เอามาให้จิตกำหนดแล้วจิตจะเป็นอันหนึ่งอันเดียว อยู่กับสิ่งนั้น ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เลื่อนลอยไป แต่เหตุที่มี ๔๐ ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท่านได้ทดลอง ได้พิสูจน์ ได้ใช้กันมาแล้ว ว่าได้ผลดี มีผลจากประสบการณ์ของคนเก่า ๆ โดยเฉพาะพระพุทธเจ้าก็ทรงนำมาแนะนำไว้ เพราะฉะนั้นก็ทำให้เราไม่ต้องไปลองผิดลองถูกอีก เพราะสิ่งที่จะนำมาใช้ให้จิตกำหนดในการเจริญสมถะเพื่อให้จิตเป็นสมาธินี้ ควรจะเป็นสิ่งที่ช่วยจูงจิตใจให้สงบ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ไม่จูงใจให้แขว ไม่จูงใจให้คิดฟุ้งซ่าน เพราะถ้าเราเอาบางสิ่งบางอย่างมาพิจารณา จิตมันจะถูกพาล่อให้คิด ให้ปรุงแต่ง ให้ฟุ้งซ่านไป แล้วก็ทำให้การเจริญสมาธิไม่ได้ผล นี้ สิ่งที่ท่านได้ใช้กันมาแล้วก็พิสูจน์แล้ว ทดลองแล้ว ว่าได้ผลดีในการที่ทำสมาธิ ก็มี ๔๐ อย่างด้วยกัน ท่านก็เลยเอามาจัดวางไว้ให้เรา เหมือนกับเป็นการเสนอ หรือเป็นการสอนเรา เป็นรูปที่ค่อนข้างสำเร็จ เราจะได้สะดวก ก็เอาเป็นว่า กรรมฐานที่ท่านจัดมาให้เรานี้ แนะนำเราไว้นี้มี ๔๐ อย่างด้วยกัน เป็นอารมณ์ ๔๐ อย่าง ต่อไปเราก็จะต้องมาดูว่า กรรมฐาน ๔๐ นี้มีอะไรบ้าง แต่ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นนั้น ก็ขอทำความเข้าใจกันอีกนิดหน่อยว่า สมถะนี้ไม่เหมือนกับวิปัสสนา วิปัสสนานั้นมุ่งไปที่รู้แจ้งความจริงอย่างที่กล่าวเมื่อกี้แล้ว แล้วการใช้อารมณ์ ใช้กรรมฐานเข้าไปแบบหนึ่ง ส่วนสมถะนี่เป็นการจัดการกับจิตใจ จะทำจิตใจให้สงบ บางทีก็เป็นจิตใจที่ฟุ้งซ่าน เป็นจิตใจที่ดิ้นรน เป็นจิตใจที่กวัดแกว่ง ไม่อยู่ในการควบคุม ทีนี้ วิธีปฏิบัติต่อจิตนี้ ท่านก็ฉลาดในการที่ว่า มีทั้งปลอบ ทั้งขู่ มีทั้งผ่อนอนุโลมตาม มีทั้งการข่มบังคับมัน ก็จุดมุ่งหมายก็คือว่าเป็นอุบายที่จะทำให้มันสงบนั่นเอง ฉะนั้นสิ่งที่นำมาใช้ในการฝึกสมถะนี้ จะมีทั้งสิ่งที่สบายใจ ทำให้ใจรู้สึกชุ่มฉ่ำก็มี เป็นสิ่งที่ดูเหมือน ๆ สำหรับคนธรรมดา สิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวก็มี ถ้าเห็นสิ่งเหล่านั้นแล้ว ได้ยินชื่อก็ให้เข้าใจว่ามันเป็นความมุ่งหมายในการที่ว่าจะนำมาใช้ให้เหมาะในการที่จะปฏิบัติต่อจิต ในการให้ได้ผลหรือให้เกิดความสงบ ซึ่งจิตนี้มีลักษณะต่าง ๆ กัน ก็จะต้องมีอุบายหรือวิธีการปฏิบัตินั้นต่างกันไปด้วย แต่จุดหมายสำคัญก็คือทำให้จิตสงบนั่นเอง เอาละ ทีนี้มาทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว จะมาเข้าสู่เรื่องกรรมฐานที่ท่านจัดไว้ ๔๐ ว่ามีอะไรบ้าง กรรมฐาน ๔๐ อย่างเพื่อจะให้ง่ายเข้า เพราะมากเหลือเกินตั้ง ๔๐ อย่าง จะทำให้สับสน ก็เลยขอจัดเป็นหมวด ๆ ถ้าจัดเป็นหมวดเป็นกลุ่ม ก็จะได้ ๗ กลุ่มด้วยกัน กลุ่มที่ ๑ มี ๑๐ อย่าง เรียกว่า กสิณ ๑๐ กสิณก็เป็นวัตถุสำหรับเพ่ง เช่น สีแดง สีเขียว สีขาว อะไรเป็นต้นนี้ เดี๋ยวก็จะพูดรายละเอียดต่อไป อันนี้เรียกว่ากสิณ มี ๑๐ อย่าง ทีนี้ต่อไป หมวดที่ ๒ เรียกว่า อสุภะ มี ๑๐ อย่างเหมือนกัน อสุภะนี้ก็คือซากศพ ที่อยู่ในสภาพต่าง ๆ กัน ๒ ละ เป็น ๒๐ ต่อไป หมวดที่ ๓ เรียกว่า อนุสสติ มี ๑๐ เหมือนกัน อนุสสตินี้ก็คือสิ่งที่นำเอามาให้ใจระลึกถึง หมั่นระลึกถึงบ่อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่ดีงามที่ให้ใจเราเอามาระลึกไว้ในใจ พิจารณาในใจของเราบ่อย ๆ ทีนี้ต่อไป อย่างที่ ๔ อย่างที่ ๔ นี้ก็เรียกว่าอัปปมัญญา อัปปมัญญามี ๔ อย่าง อัปปมัญญานี้สำหรับคนทั่วไปก็ให้รู้จักกันในชื่อว่าพรหมวิหารนั่นเอง พรหมวิหารคือท่าทีของจิตใจของเราต่อมนุษย์ ต่อเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายทั่ว ๆ ไป ซึ่งมี ๔ อย่างด้วยกัน เอาละ ต่อไปก็อย่างที่ ๕ อย่างที่ ๕ นี้เป็นข้อเดียว ท่านเรียกเป็นภาษาพระว่าอาหาเรปฏิกูลสัญญา แปลว่าการกำหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร คือให้กำหนดหมายมองให้เห็นอาหารเป็นปฏิกูล ต่อไปอย่างที่ ๖ เรียกว่าจะ-ตุ-ธาตุ-วะ-วัฏ-ฐานหรือจะ-ตุ-ธา-ตุ-วะ-วัฏ-ฐาน (จตุธาตุววัฏฐาน) แปลว่าการกำหนดพิจารณาธาตุ ๔ หมายความว่าให้กำหนดพิจารณาร่างกายของเรานี้ให้เห็นว่าเป็นที่ประชุมของธาตุ ๔ อย่างเท่านั้น คือไม่ให้มองเห็นยึดถือเป็นตัวเป็นตน เป็นบุคคลอะไรต่าง ๆ ให้มองเป็นว่า เป็นที่ประชุมของธาตุ ๔ มากองมารวมกันเข้า และก็สุดท้ายหมวดที่ ๗ เรียกว่าอรูป ๔ อรูป ๔ ก็คือภาวะในอรูปฌาน ซึ่งในที่นี้จะยังไม่อธิบาย เป็นเรื่องจำเพาะ เอาละ นี่คือกรรมฐาน ๔๐ ที่จัดเป็นกลุ่ม ๆ มี ๗ กลุ่มด้วยกัน จะได้มองเห็นภาพง่ายขึ้น ก่อนที่จะแจกแจงในเรื่องกรรมฐาน ๔๐ ก็จะขอพูดข้อสังเกตสักนิดหน่อยก่อน เป็นการทำความเข้าใจกันไว้ว่า เวลาเราจะใช้ปฏิบัติจริงนี้ กรรมฐานที่มี ๔๐ หรือ ๗ หมวดนี้ ก็ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าเวลาที่จิตกำหนดพิจารณาทำภาวนาต้องเอาอย่างเดียว ก็เลือกเอาอันใดอันหนึ่งไป มีวิธีเลือกอย่างไรก็จะพูดกันในภายหลัง แล้วก็เอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้ใน ๔๐ อย่างนี้มาให้จิตกำหนดจับจนกระทั่งจิตอยู่แน่วแน่กับสิ่งนั้น ก็เรียกว่าเป็นสมาธิ ก็เกิดเป็นผลสำเร็จในการทำภาวนา ทีนี้ ในปัจจุบันนี้จะต้องรู้กันอีกอย่างหนึ่งว่า ในทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กรรมฐาน ๔๐ เราเอามาใช้กันไม่กี่อย่าง เหตุที่ว่านำมาใช้น้อยอย่าง ก็เพราะว่าเกี่ยวกับสภาพชีวิตและสังคม สภาพแวดล้อมที่ทำให้บางทีก็ไม่สะดวกในการใช้กรรมฐานบางอย่างบ้าง แล้วก็เกี่ยวกับความนิยมในวงการด้วย หมายความว่าวงการสอนการปฏิบัตินี้นิยมกันอย่างนั้น ก็ทำให้กรรมฐานบางอย่างนี้ถูกมองข้ามละทิ้ง หรือว่าหลงลืมไป หรือไม่นำมาใช้ ฉะนั้น เราก็จะต้องทำเข้าใจไว้ก่อนว่า แม้จะพูดถึงกรรมฐานทั้ง ๔๐ แต่ในทางปฏิบัติที่แท้จริงในปัจจุบัน มีไม่กี่อย่างหรอกที่เอามาใช้กันจริง ๆ จัง ๆ แต่เราก็จำเป็นจะต้องรู้ไว้ อย่างน้อยก็ให้เห็นภาพรวม แต่เพราะเหตุที่ไม่ได้ใช้กันจริงจังมาก อาตมาก็จะไม่พูดในรายละเอียด หรือว่าพูดเพียงพอให้เห็นภาพรวมเกิดความเข้าใจเบื้องต้น ตกลงว่าที่เราใช้กรรมฐานแต่เพียงบางอย่างเป็นที่นิยมกัน ก็เพราะเกี่ยวกับความสะดวกบ้าง เกี่ยวกับสภาพชีวิตและสังคม หรือสภาพแวดล้อมที่มันไม่เอื้อต่อกรรมฐานบางอย่างบ้าง อีกอย่างก็คือความชำนาญและความพอใจของพระอาจารย์ พระอาจารย์ที่สอนกรรมฐานนั้น บางทีก็มีความชำนาญในกรรมฐานอย่างหนึ่งอย่างเดียว ท่านก็สอนแต่กรรมฐานที่ท่านชำนาญ มันก็เลยเป็นเรื่องธรรมดาอย่างนั้น ว่าท่านไม่ได้ถนัดกรรมฐานอื่น ท่านก็เอากรรมฐานที่ท่านถนัดมาสอน มันก็เป็นเหตุให้ผู้เรียนนี้ได้กรรมฐานจำกัด เอาแล้ว เมื่อทำความเข้าใจกันเบื้องต้นอย่างนี้ก็มาเข้าสู่รายละเอียด