แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
หัวข้อย่อยๆเนี่ย จะต้องสัมพันธ์กันในลักษณะที่ส่งผลต่อกัน เป็นปัจจัยส่งผลต่อ เพราะฉะนั้นการพิจารณาธรรมะในพุทธศาสนาเนี่ย เราถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของไตรสิกขา ซึ่งเป็นระบบสัมพันธ์แห่งองค์ธรรมที่เป็นปัจจัยหนุนเนื่องต่อกันไปสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้นองค์ธรรมทุกข้อจะต้องมีความหมายในเชิงเป็นปัจจัยส่งต่อข้ออื่น ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วด้วนลอยอยู่ ทำให้อยู่กับที่แสดงว่าผิด อันนี้คือหลักใหญ่ที่ใช้วินิจฉัน เพราะธรรมทุกข้อไม่พ้นไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา คือว่า ไม่ว่าท่านจะเอาหลักธรรมข้อไหนมานะ จะเมตตา กรุณา หรือจะเอาอะไร สติ เอาสมาธิ เอาอะไรต่ออะไรมา ข้อไหนก็ตามเนี่ย ทุกข้อมันอยู่ในไตรสิกขาหมด เมื่อมันอยู่ในไตรสิกขา มันอยู่ในระบบ มันอยู่ในกระบวนการคืบหน้า ที่ต้องเดินไปสู่จุดหมายนั้น เพราะฉะนั้นทุกข้อจะต้องส่งผลต่อกัน ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ถ้าปฏิบัติธรรมข้อใดแล้วทำให้หยุด ทำให้ด้วนลอย แสดงว่าผิด ทีนี้พอเราปฏิบัติสมาธิแล้วมันมากล่ม มันมาด้วน มันมาเพลินสงบอยู่ มันก็หยุด แสดงว่าไม่ส่งผลต่อแล้ว กระบวนการไตรสิกขาไม่เดินหน้า ผิด ถ้าปฏิบัติถูกมันก็ส่งผลในไตรสิกขาใช่ไหม สมาธิเป็นปัจจัยแก่อะไร หลักใหญ่ง่ายๆ สมาธิเป็นปัจจัยแก่ปัญญา พอสมาธิทำให้จิตสงบแต่ว่า ลักษณะที่จิตสงบคือ จิตมันพร้อมจะทำงาน ท่านเรียกว่า พอมีสมาธิแล้ว ลักษณะสำคัญของจิตนั้นคือ เป็นกัมมะนียัง ตัวนี้เป็นตัวสำคัญเลย ตัวที่พระพุทธเจ้าต้องการคือจิตเป็นสมาธิปั๊ป เป็นกัมมนียังทันที กัมมะนียัง แปลว่าเหมาะแก่การใช้งาน ต้องเอาไปใช้ อย่าไปหยุดอยู่ พอจิตเป็นสมาธิแล้วหยุด สบาย แสดงว่าไปแล้ว พลาดแล้ว พระพุทธเจ้าต้องการให้เป็นกัมมะนียัง เอาไปใช้งาน ไม่ใช่ให้คุณเอามานอนอยู่เฉยๆ ไม่ใช่ว่าพอคุณได้สมาธิแล้วคุณนอนเสวยสุข อย่างนี้แสดงว่าผิด พอจิตเป็นสมาธิก็เป็นกัมมะนียัง ก็เหมาะแก่การใช้งานทีนี้ก็ใช้งานอะไรล่ะ ใช้งานก็ที่สำคัญก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา สมาธินี้เป็นองค์ที่สองใช่ไหม ระดับที่สอง ก็ส่งผลหนุนเนื่องให้เกิดปัญญา ก็เอาไปใช้งานทางปัญญา นี่แหละคือประโยชน์ข้อที่สองที่อาตมาบอก บอกว่าคุณลักษณะของจิตที่สำคัญข้อที่สองก็คือ มันทำให้จิตนี้ใส ไม่มีอะไรรบกวน มันก็ใช้งานในทางปัญญาได้เต็มที่ คนเรานี้ยิ่งเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้งเท่าไรนี้ ยิ่งต้องการจิตที่แน่วแน่มากเท่านั้น ถ้าหากว่าเรื่องที่มันไม่ละเอียดอ่อน ไม่ลึกซึ้งนะ เราก็ไม่ต้องใช้ปัญญามาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนกับว่าเราใช้สายตาเนี่ย ตาเรานี่เหมือนปัญญา ปัญญามองเห็น แต่การที่ปัญญามองเห็น หนึ่ง สิ่งนั้น ถ้าเป็นน้ำก็ต้องใส เอาในแง่นิ่งก็ได้ เช่นว่า มีภาพป้ายอะไรสักป้ายหนึ่ง อยู่ข้างหน้าเรา แขวนอยู่ เราจะดูภาพหรือตัวหนังสือบนป้ายนี้ หรือบนแผ่นผ้าที่เขาเขียนไว้ เป็นอะไรก็ตาม เป็นโปสเตอร์เป็นอะไรสักอย่าง ถ้าหากว่าลวดลายนั้น ภาพนั้นมันหยาบเนี่ย ภาพนั้นแม้จะแกว่งบ้างเล็กน้อยเราก็เห็นใช่ไหม ยังเห็นอยู่ ยังดูออก แต่ถ้ามันไม่นิ่งเลย ยังแกว่งไกวมาก มันดูไม่เห็นเลยใช่ไหม เหมือนกับว่าจิตนี้ไม่มีสมาธิบ้างเลย มันมองไม่รู้เรื่อง พอมันเริ่มแกว่งน้อยลง ไหวน้อยลง นิ่งมากขึ้นแม้มันจะยังไม่นิ่งสนิทเราก็เห็นดูได้ว่านี่ภาพคน ภาพแมว ภาพสุนัข หรือว่าตัวหนังสือ ก ข ค ง ดูออก แต่ทีนี้ถ้าเกิดเป็นรายละเอียดล่ะ ลวดลายละเอียดถี่ยิบเลย ตอนนี้แหละ ถ้าภาพไม่นิ่งสนิท ดูไม่ออกเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดูนั้น ยิ่งละเอียดลออ ลึกซึ้งเท่าไร ยิ่งต้องการจิตที่แน่วแน่สนิทเป็นสมาธิมากเท่านั้น การที่จะเข้าถึงความจริงสัจธรรมลึกซึ้งเนี่ยต้องการปัญญาที่ลึกละเอียดมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องการสมาธิมากถึงระดับหนึ่งที่เรียกว่า แน่วแน่ทีเดียว เพราะฉะนั้นสมาธิจึงเป็นสิ่งที่ต้องการในการปฏิบัติธรรม แต่มันไม่ใช่เพราะการปฏิบัติธรรมเท่านั้นแหละ จิตที่พร้อมจะใช้งาน แม้แต่ดูหนังสือ โยมไม่มีสมาธิเลยดูได้ไหม อ่านหนังสือ บางคนนี้มีเสียงคนอื่นพูดอยู่ใกล้ๆเท่านั้น อ่านหนังสือไม่รู้เรื่องแล้วใช่ไหม บางคนมีสมาธิดีกว่านั้น ใครจะเดินไปเดินมาฉันไม่เอาด้วย จิตฉันอยู่กับหนังสืออ่านได้ แม้แต่การทำงานทำการ แม้แต่ฟังครูอาจารย์สอนบรรยาย ถ้าเราไม่มีสมาธิบ้างเลยเนี่ย ไม่รู้เรื่องใช่ไหม ปัญญาไม่เกิด เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำงานได้ ต้องอาศัยจิตเป็นสมาธิ มากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่เรื่องนั้นจะละเอียดลึกซึ้งแค่ไหน ตกลงว่าสิ่งที่ต้องการในพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ข้อนี้ คือการที่มีสมาธิแล้วจิตมันพร้อมจะใช้งาน แล้วงานที่สำคัญที่ต้องการใช้คือปัญญาที่จะรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย จนเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ ที่ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายเป็นอย่างไร รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นจริง มันเป็นอย่างไรรู้ตามนั้น นี่แหละเป็นสิ่งที่ต้องการ ถ้าไม่รู้ถึงอย่างนี้แล้ว กิเลสไม่หมด ฉะนั้นจึงต้องมาต่อระหว่างสมาธิกับปัญญา ตอนนี้ถ้าต้องการพูดก็เพื่อให้เห็นว่า ต้องระวังเหมือนกันเรื่องสมาธิเนี่ย ว่าถ้าหากว่าเราไม่เข้าใจหลักการพุทธศาสนาชัด อาจจะเขวได้ เพราะคุณประโยชน์สามประการแค่นี้ก็เห็นแล้วว่า มันมีช่องทางการใช้ต่างๆ แต่ตอนนี้ขอสรุปขั้นหนึ่งก่อนว่า คุณสมบัติหรือคุณประโยชน์ของสมาธิสำคัญสามประการก็คือ หนึ่งลักษณะจิตที่มันมมีพลัง เมื่อเกิดสมาธิ ซึ่งอาจจะไปใช้ในทางเรื่องของฤทธิ์ เรื่องของปาฏิหาริย์ อะไรต่ออะไร เป็นพลังจิต เรื่องที่สอง คือเรื่องของการที่ทำให้จิตนี้ใส ที่ทำให้เห็นอะไรชัดเจน เกื้อกูลต่อการใช้ปัญญา และสามทำให้จิตนี้สงบ ทำให้เกิดความสุข แล้วทีนี้เวลานี้ ในสังคมที่มีปัญหาทางจิตใจมาก เพราะปัญหาทางวัตถุนิยมนี้ก็จะไปหวังประโยชน์จากสมาธิในข้อที่สามมาก ซึ่งยังไม่ใช่จุดหมายของพุทธศาสนาแต่เอามาใช้ได้นะ อย่างที่บอกแล้วว่า เหมือนยากล่อม คนที่เขาเป็นโรคนอนไม่หลับอย่างแรงตอนแรกเราต้องใช้ยากล่อมประสาทช่วยก่อน แต่อย่าให้หยุดอยู่แค่นั้น ทีนี้ถ้าหากว่า คนที่นอนไม่หลับนั้นน่ะ ถ้าสามารถฝึกสมาธิไม่ต้องใช้ยากล่อมประสาทก็ยิ่งดีใหญ่ ใช่ไหม ยิ่งดีกว่าการใช้ยากล่อมประสาทอีก แต่เราจะให้เขาหยุดอยู่แค่ใช้สมาธิเพื่อประโยชน์นี้เท่านั้นน่ะ ไม่ถูกต้อง เพราะมันเป็นการกล่อมไป ถ้าใช้แค่กล่อมก็จะผิดหลักความไม่ประมาทหนึ่ง แล้วผิดหลักไตรสิกขาหนึ่ง ฉะนั้นหลักการสำคัญพุทธศาสนาถ้าปฏิบัติธรรมอะไรแล้วทำให้เกิดความประมาท ผิด ปฏิบัติธรรมอะไรแล้วไม่ส่งผลในระบบกระบวนการของไตรสิกขา ให้คืบเคลื่อนไปสู่จุดหมาย ผิด ฉะนั้นต้องระวังให้ดี ทีนี้ก่อนที่จะย้อนกลับมาพูดเรื่องของสมาธิในแง่ของจุดมุ่งหมายในพุทธศาสนา ก็จะพูดถึงผลพลอยได้พิเศษบางอย่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ในยุคปัจจุบัน แต่ว่าเป็นประโยชน์ข้างเคียง ผลพลอยได้ ซึ่งอย่าไปเอาว่าเป็นจุดหมายของพุทธศาสนา คือจิตที่มันเป็นสมาธิได้เนี่ย มันเป็นจิตที่อยู่ตัว ลงตัว เรียกว่าจิตเข้าที่ จิตของเรานี้มันวุ่นวายฟุ้งซ่าน มันคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่เป็นอันอยู่กับที่ ท่านบอกว่าเหมือนกับลิง ลิงนี้มันอยู่ที่ไม่ได้ มันอยู่ไม่สุข ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้ กระโดดจากกิ่งไม้นี้ ไปกิ่งไม้โน้นอะไรต่างๆ ออกจากเรื่องนี้ไปเรื่องโน้น ทีนี้มันมีเรื่องราวมากมาย มันไปจับเอาเรื่องที่ไม่ควรคิดมาคิด ไอ้เรื่องที่ผ่านไปแล้วกระทบกระทั่งใจเอามาคิดเอามาปรุงแต่ง เรื่องที่ยังไม่มีมา ก็ไปวิตกกังวล ทีนี้จิตมันก็ไม่สบาย จิตไม่สบายอย่างนี้ พอจิตไม่สบาย จิตไม่อยู่ตัวนี้ ทุกข์ทางใจนี้ส่วนหนึ่งเลย แต่ว่าจิตใจเนี่ย ทำงานสัมพันธ์กับร่างกาย เราต้องระวังนึกถึงหลักนี้เสมอ ชีวิตของเรานี้ประกอบด้วยกายกับใจ ใจกับกายนี้ทำงานประสานกันสัมพันธ์กัน ส่งผลกระทบต่อกัน ถ้าจิตไม่ปกติ จิตไม่ลงตัว กายมีปัญหาด้วย เพราะฉะนั้น การทำงานของร่างกายก็ไม่เข้าที่ด้วย เกิดอารมณ์ขึ้นมาเช่นโกรธ เอาล่ะสิ พอจิตโกรธ กายเป็นไง หัวใจเต้นแรง หายใจดัง ยิ่งโกรธมากยิ่งหายใจดังเลยใช่ไหม หายใจดังแรงยังกะฟืดฟาด ยังกะคนขึ้นเขา อารมณ์กลัวเป็นไง อารมณ์กลัวหน้าซีดเลย ใช่ไหม บางทีหยุดกลั้นหายใจ เลือดลมเดินไม่ปกติ สภาพร่างกายแปรปรวนหมด นี่ทำให้เกิดปัญหาทางร่างกาย ทีนี้ถ้าเป็นบ่อยๆล่ะ จิตเครียดอยู่ตลอดเวลา จิตเครียดกายเครียดด้วยนะ สภาพจิตกับกายตรงนี้ จุดสำคัญที่เป็นรอยต่อ คือตอนเครียดถ้าจิตเคียดกายจะเครียดด้วย เพราะกายเครียด การทำงานของร่างกายวิปริตหมด สุขภาพเสียแล้วโรคภัยไข้เจ็บก็มา เพราะฉะนั้นผลพลอยได้ที่สำคัญก็คือ พอเราทำสมาธิได้ จิตมันำงานดี มันลงตัว มันราบรื่น เข้าอยู่ในดุลยภาพหมด เรียกว่าสมดุลเลย จิตอยู่ในภาวะสมดุลโปร่งโล่ง การทำงานของร่างกายเช่นลมหายใจเป็นต้น ปรับดีด้วยสม่ำเสมอ ทีนี้ถ้าจิตนี้ เป็นสมาธิลึกเข้าไปละเอียดเข้าไป ก็สงบมาก พอสงบมากการใช้พลังงานก็น้อยลง เพราะว่าการทำงานของจิตก็ไปอาศัยสมอง สมองก็ทำงานก็ต้องใช้เลือดเลี้ยงอะไรต่างๆ ปรากฏว่าเมื่อจิตเป็นสมาธิดีขึ้น การเผาผลาญของร่างกายก็น้อยลงการต้องการออกซิเจนมาก็น้อย การหายใจก็ประณีตขึ้น ซึ่งหลักก็มีบอกไว้ว่า ถ้าเข้าสมาธิถึงฌานที่สี่ไม่หายใจเลย คือหมายความว่า วัดด้วยมาตรฐานคนปกติเนี่ย ไม่หายใจ เอามือมาแตะไม่ปรากฏลมหายใจเพราะว่าลมหายใจมันประณีตมาก มันต้องการออกซิเจนหายใจนิดเดียว ฉะนั้นมันเลี้ยงร่างกายไปได้นานเลย ออกซิเจนที่เข้าไป ฉะนั้นคนที่เข้าสมาธิลึกๆ จิตสงบมาก ก็ต้องการพลังงานน้อย การเผาผลาญร่างกายน้อย ก็มีผลต่อร่างกายเช่นว่าสุขภาพดี แล้วก็เลือดลมเดินคล่อง ทำให้อายุยืน อย่างสมาธินี้จะออกไปในรูปต่างๆเช่นเจริญเมตตา พรหมวิหาร ทำให้จิตใจชุ่มเย็น ก็ทำให้หน้าตาอิ่มเอิบ ผ่องใส ก็แก่ช้า อะไรทำนองนี้ เป็นต้น สภาพทางด้านกายจิตใจสัมพันธ์กัน ทีนี้ถ้าหากว่าเราตรงข้าม อย่างที่พูดเมื่อกี้เนี่ย เช่น อย่างคนโกรธ พอโกรธขึ้นมาก็ปัญหาทางกายก็ตามมาทันที ก็ต้องการพลังงาน การเผาผลาญมาก ก็ต้องหายใจแรงๆ หัวใจก็เต้นแรงแล้วก็ปอดก็หายใจฟืดฟาดๆ ใช้ลมมากอย่างที่บอกเมื่อกี้ อย่างกับคนเดินขึ้นเขา วิ่งเหนื่อยมากอย่างนั้นน่ะ เนี่ยก็เป็นสภาพของร่างกายกับจิตใจ พอเราได้หลักนี้ก็กลายเป็นว่า อ้าว สมาธิก็มีผลในเรื่องของสุขภาพ ก็เลยมาใช้ในเรื่องการรักษาโรค อันนี้เป็นผลพลอยได้อย่างหนึ่ง เวลานี้ก็ปรากฏว่า ในเมืองอเมริกานี้เอง ก็มีการนำสมาธิมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค รักษาโรคที่แก้ไขไม่หาย เมื่อวานนี้คุณหมอสัมพันธ์เอาหนัง เอาวิดิโอไปให้ดู เอาวิดิโอเป็นเรื่องของ University of Massachusetts ที่ได้เปิดคลินิกขึ้นมาเลย ยอมรับเลย ท่านบอกว่าทางรัฐบาลก็ยอมรับให้ Medicare เลย ให้เงินมาสำหรับการรักษาโรคด้วยวิธีของการใช้สมาธิประสานกันกับการบริหารร่างกายไปด้วย นี่อาจารย์ที่ชำนาญสมาธิ ก็ไปทำงาน เป็นจริงเป็นจังเป็นกิจการแล้วมหาวิทยานี้ก็ยอมรับ แล้วก็กลายเป็นกิจการไปแล้ว นี่เป็นคลินิกในโรงพยาบาลไปแล้ว เป็นที่ยอมรับแล้ว แล้วอย่างที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวานนี้คุณหมอท่านหนึ่งก็เล่าให้ฟังว่า ก็เปิดการสอนสมาธิในการรักษาโรค เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นผลพลอยได้ แต่ว่าที่จริงมันก็เรื่องเดียวกันถ้าโยงดูแล้ว ทั้งหมดที่ว่ามานี้ มันก็เรื่องเดียวกันทั้งนั้น พอจิตอยู่ตัว พอจิตเป็นสมาธิ จิตมันก็ได้ดุลเลย เหมือนจิตก็คือมันลงตัวของมันน่ะ ไม่มีอะไรมากวนแล้ว จิตของคนที่ไม่มีอะไรมากวนได้เนี่ยมันจะสบายแค่ไหนใช่ไหม พอมันไม่มีอะไรมากวน สภาพจิตมันดี สภาพร่างกายก็ปรับเข้ากัน อย่างที่ภาษาไทยโบราณเราเรียกว่าเลือดลมเดินดี ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ร่างกายเป็นปกติ มันไม่เครียดไม่มีตัวมากีดมากั้นการทำงานของเลือดลม อะไรต่างๆ มันก็เลยสุขภาพดีรักษาโรคไปได้ ฉะนั้นการใช้เรื่องสมาธินี้ โยมเอาง่ายๆ แม้แต่ว่า ในชีวิตประจำวันเนี่ย เวลาไหนที่เราเกิดใจไม่สบาย แม้แต่เช่นโกรธหรือกลัวขึ้นมา หรือจะประหม่าหรือจะขึ้นไปพูดอะไรแบบนี้ ก็มีสตินึกขึ้นมานิดหนึ่ง หายใจยาวๆสักหน่อยจะดีขึ้นทันทีเลย อย่างโกรธขึ้นมานะ มาหายใจยาวๆซะ ตั้งใจหายใจสบาย หายใจเข้ายาว ออกยาว แบบสบายๆ แล้วยังมีสติเนี่ย ความโกรธนั้นจะเบาลง แล้วสภาพร่างกายที่ไม่สบายก็จะผ่อนไปด้วย หรือจะมีอะไรเรื่องที่เป็นปัญหาทางอารมณ์เนี่ย ให้เอามาใช้ทันทีเลยเนี่ย วิธีการง่ายๆ ใช้แม้แต่ลมหายใจของเรา ลมหายใจนี้ก็เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างกายกับจิต อย่างที่บอกเมื่อกี้เนี่ย อย่างทางกาย คนเดินขึ้นเขา เหนื่อย ก็หายใจแรง แต่ว่า ไม่ได้ไปขึ้นเขาสักหน่อย ไม่ได้ใช้แรงกายสักหน่อย โกรธขึ้นมา ก็หายใจแรงอย่างกับคนเดินขึ้นเขา เนี่ยแสดงว่ากายกับจิตมันสัมพันธ์กันอยู่ พอจิต อารมณ์ไม่ดี เกิดความโกรธหายใจแรงฟืดฟาดไม่ดีแล้ว เราย้อนกลับ เอากายมาช่วยปรับจิต คือว่า ลมหายใจเราไม่ปกติแล้วนี่ เราปรับลมหายใจของเราให้ดีซะ เราปรับลมหายใจให้สม่ำเสมอเนี่ย สติมันมาโดยไม่รู้ตัวเพราะว่าเวลาที่เราหายใจอย่างนั้น เราต้องมีสติ พอสติมาอย่างนี้ สตินั้นก็เป็นฝ่ายองค์คุณธรรมฝ่ายจิตใช่ไหม กายกับจิตสัมพันธ์กัน มันมาปรับสภาพจิตอีก ทำให้ความโกรธเบาลง แล้วมีปัญญาเริ่มมองเห็นอะไรต่ออะไรพิจารณาได้ ถ้าคนที่โกรธเอาแต่อารมณ์ปล่อยอารมณ์ไปไม่มีสติเนี่ย จะทำอะไรไม่รู้จักยับยั้ง แล้วพลาดเสียเลย ฉะนั้น ท่านมองว่าคนโกรธเนี่ย ไม่มีปัญญา ปัญญามันหายไป คนโกรธไม่รู้ดำรู้แดง ไม่รู้ดีรู้ชั่ว ฉะนั้น คนโกรธนี่ฆ่าได้แม้กระทั่งแม่ตัวเอง ท่านว่าอย่างนั้น ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างนั้น ความโกรธ ฉะนั้นเราเกิดความโกรธขึ้นมาเราก็อาศัยวิธีง่ายๆ หายใจซะ ตอนนั้นเราไม่รู้ตัวว่าเราเนี่ยแทบไม่หายใจ หรือหายใจแรงเกินไป เราก็ปรับลมหายใจ หายใจสบาย หายใจยาวๆ เข้ายาวออกยาวอารมณ์ของเราก็จะบรรเทาลง จิตสงบลง สติดีขึ้น ปัญญาก็จะมา คิดอะไรต่ออะไรได้ดีขึ้น ฉะนั้นแม้แต่ในชีวิตประจำวันเนี่ย เรื่องเหล่านี้มีประโยชน์เอามาใช้ได้ทั้งนั้นเลย ถ้าหากว่าเราไม่มีอะไรจะทำ แม้แต่ไม่เกิดอารมณ์โกรธ เครียดเนี่ย นั่งอยู่เฉยๆจิตมันก็จะฟุ้งซ่าน เราก็ไม่มีอะไรจะทำก็มานั่งดูลมหายใจ หายใจเข้าหายใจออกสบายๆ อย่างมีสติ ให้จิตของเราอยู่กับลมหายใจแค่นี้มันก็ได้ประโยชน์แล้ว ฉะนั้นเรื่องของการทำสมาธินี้ ในชีวิตประจำวัน ก็มีประโยชน์มากมาย แต่ว่าประโยชน์นั้นมีหลายขั้นหลายตอนอย่างที่ว่าไปแล้ว ประโยชน์ที่แท้จริงที่ตรงตามหลักการของพระศาสนาก็คือ ประโยชน์ในไตรสิกขา ซึ่งเป็นตัวส่งผลต่อปัญญา ต้องเป็นปัจจัยในกระบวนการที่ว่า เมื่อสมาธิมาแล้วก็ทำให้จิตนี้เหมาะกับการใช้งานแล้วก็เอามาใช้งานทางปัญญา มาพิจารณา ก็จะเข้าถึงพระไตรลักษณ์ รู้ความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย แล้วก็จะถึงจุดหมายของพุทธศาสนา อันนั้นแหละเป็นตัวจริงที่ต้องการ ฉะนั้นเวลานี้ที่คนมาพูดเรื่องสมาธิกันเนี่ย เราก็จะต้องพิจารณาเหมือนกันว่า เขากับเราพูดถึงสมาธิในความหมายคุณค่าประโยชน์ในแง่ใด แล้วถูกต้องตามหลักพุทธศาสนาหรือไม่ อาตมาก็อยากจะย้ำว่าเวลานี้ในสังคมตะวันตกเนี่ย มานึกถึงสมาธิในความหมายแบบที่ว่าเนี่ยเยอะ คือมุ่งแค่ว่ามาแก้ปัญหาจิตใจที่เครียดที่มีความทุกข์เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะกลายเป็นสิ่งกล่อมอย่างทีว่า แล้วพอกล่อมแล้วก็อาจจะมีโทษต่อชีวิตและสังคมได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะมีผลดีนะ เพราะว่าอย่างที่บอกแล้วเนี่ย สมาธิท่านบอกไว้เลยในคัมภีร์เนี่ย ท่านบอกว่าสมาธิ มีทั้งคุณและโทษ โทษของสมาธิคืออะไร ท่านบอกไว้เลยทำให้ขี้เกียจ ทำไมจึงขี้เกียจ ก็พอสมาธิจิตมันสงบ มันก็สบาย สบายมันก็เฉื่อยล่ะสิ ชักเฉื่อยชาไม่อยากทำอะไรใช่ไหม คนมีความสุข สบายนี้ไม่อยากทำอะไรหรอก แม้แต่ในการปฏิบัติท่านจึงต้องระวังมาก ท่านจึงต้องเรียกว่ามีดุลยภาพ ท่านเรียกว่ารักษาอินทรีย์ให้สม่ำเสมอ หรือรักษาอินทรีย์ให้เสมอกัน หรือถ้าใช้ภาษาปัจจุบันเรียกว่า รักษาอินทรีย์ให้มีดุลยภาพ หรือรักษาความสมดุลของอินทรีย์ อินทรีย์ห้าก็คือหัวข้อธรรมะสำคัญในการปฏิบัติธรรม มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธาเป็นความเชื่อใจโน้มไป มีความซาบซึ้งอะไรต่ออะไรง่าย นี่ก็เป็นข้อดีที่ทำให้จิตใจมีพลัง คนมีศรัทธามีความเชื่อเนี่ย เชื่ออะไรแล้วมีกำลัง ถ้าเราไม่มีศรัทธา เราไม่มีกำลัง โยมไม่มีศรัทธา โยมไม่มีกำลังมาวัดนี้หรอก สมมติว่าเรามีศรัทธา ยิ่งศรัทธาแรงเท่าไรเนี่ย เรายิ่งมีกำลังมากเท่านั้น แม้วัดนี้จะอยู่ห่างไปตั้งร้อยกิโล ห้าร้อยกิโลเนี่ย ถ้าศรัทธายิ่งแรง ไปได้ใช่ไหม ศรัทธานี่ทำให้มีพลังมาก แต่ถ้าโยมหมดศรัทธาเมื่อไร แม้แต่วัดอยู่ข้างบ้านก็ไม่ไปใช่ไหม เพราะฉะนั้น ไม่มีศรัทธา ก็หมดแรงทันที ศรัทธานี้ทำให้มีกำลังเพราะฉะนั้นสำคัญมาก แต่ว่าศรัทธานี้ท่านบอกว่า ต้องมีตัวดุลนะคือปัญญา ปัญญาเป็นตัวที่ทำให้มีเหตุมีผล ทำให้ต้องรู้ความถูกต้อง ความสมควร ความเหมาะสม ความจริงหรือไม่จริง สิ่งที่เท็จ สิ่งที่ผิดที่ถูก ถ้าหากไม่งั้นแล้ว ศรัทธาดิ่งซาบซึ้งไปง่ายๆ ไม่มีปัญญาประกอบก็เชื่อหลงๆไหลๆ ไปเลย แล้วมีกำลังไปทำสิ่งที่ไม่ดีก็มีกำลังไปทำสิ่งที่ร้าย เช่นเบียดเบียนกัน เช่นศาสนาต่างๆ ที่เอาแต่ศรัทธาใช่ไหม มีกำลังมากทำให้สามารถไปฆ่าคนศาสนาอื่นได้เลย ด้วยศรัทธานั้นมีกำลังมาก ฉะนั้นท่านบอกว่าต้องระวัง ศรัทธาต้องมีปัญญาคุม ฉะนั้นอินทรีย์ห้าก็มีศรัทธาคู่กับปัญญา ถ้าศรัทธาแรงไปไม่ได้ ต้องเอาปัญญามาคุมแล้วจะได้มีดุลยภาพ แต่ถ้าไม่มีศรัทธามีแต่ปัญญา ปัญญานี้ชอบรู้นู่นรู้นี่ แล้วรู้ไม่เอาจริงเอาจังสักอย่าง เรียกว่าปัญญาจับจด เรื่องนั้นก็รู้ เรื่องนี้ก็รู้ ไม่เอาจริงสักเรื่องก็เสียอีก ทีนี้พอมีศรัทธาแล้วมันทำให้จับดิ่ง พอศรัทธาเป็นตัวจับ เป็นตัวพุ่งดิ่งไปในเรื่องนั้น พอเราศรัทธาในเรื่องใด ใจเราก็พุ่งดิ่งไปเรื่องนั้น ทั้งมีกำลังด้วย ทั้งมีทิศทางชัดเจน พอมีทิศทางแล้วปัญญาที่จะศึกษาเรื่องนั้นมันก็เจาะดิ่งในเรื่องนั้นเลย ปัญญากับศรัทธาก็เสริมกัน ศรัทธาในเรื่องไหน ปัญญาก็พิจารณาในเรี่องนั้นเช่นว่า ศรัทธาในธรรมะข้อนี้ใช้ไหม ก็เลยใช้ปัญญาศึกษาอย่างจริงจัง ศรัทธาก็มาเสริมปัญญา ทำให้ปัญญามีทิศทางชัดเจน แล้วก็เอาจริงเอาจังแน่นแฟ้นจนกระทั่งประสบความสำเร็จก้าวหน้า ฉะนั้นก็เลยคู่กัน จนกระทั่งเมื่อไรปัญญามันถึงจุดหมายรู้จริงแล้ว ศรัทธาเลิก ไม่ต้องอาศัยศรัทธาอีกต่อไป แต่เวลาปฏิบัตินี้ต้องอาศัยนะจะไปบอกว่าไม่มีศรัทธาไม่ได้ ต้องมี ศรัทธาก็ช่วยเป็นอันว่าศรัทธานี้หนึ่งกำหนดทิศทางให้ สองทำให้มั่นแน่วในเรื่องนั้น สามทำให้มีกำลัง แล้วก็ปัญญาก็เป็นตัวไปพิจารณาในเรื่องที่ศรัทธาจับ ดิ่งพุ่งไปทางนั้นอีกที ทำให้เกิดความแจ่มแจ้ง แต่ว่าศรัทธาบางชนิดนี่มันเป็นศรัทธาบังปัญญา ขัดปัญญา คือไปเชื่อแล้วห้ามถาม ในบางลัทธิ บางศาสนาเนี่ย ถ้าศรัทธาแล้วต้องเชื่อ ห้ามถาม ถามแล้วผิด อย่างนี้ท่านไม่เอาด้วย ท่านเรียกว่าศรัทธาที่ขัดขวางปัญญา ศรัทธาตาบอด ศรัทธาตาบอดก็แย่สิใช่ไหม ก็เลยไม่เกิดปัญญา ฉะนั้นศรัทธาต้องเสริมปัญญา ศรัทธานี่แหละต้องช่วยให้ปัญญาเกิด พอปัญญาเกิดในที่สุดแล้วศรัทธาก็จะหมดหน้าที่ ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งนั้นก็จบกัน ศรัทธาปัญญาคู่หนึ่งแล้ว สองวิริยะกับสมาธิ วิริยะก็คือความเพียร สมาธิก็ที่เราพูดกันไปแล้ว จิตที่มั่นคงแน่วสงบ สองอันนี้ต้องมาเสริมกัน มาช่วยพยุงกัน มาช่วยดุลกัน เพราะว่าวิริยะความเพียรจะเดินหน้าเรื่อย วิริยะคือความเพียร ความเพียรนี้มาจากคำว่าวีระ วีระแปลว่าแกล้วกล้า หมายความว่า จะเดินหน้าเอาชนะเห็นอะไรท้าทายไปหมด จะต้องเอาชนะให้ได้ ทำให้สำเร็จให้ได้ ฉะนั้นเจ้าวิริยะนี้ความเพียรนี้จะเดินหน้าไปเรื่อย เดินหน้าๆท่าเดียวนะ อย่างนี้ทำให้เกิดความกระวนกระวายได้ แล้วก็ไม่หนักแน่น เพราะฉะนั้นท่านเลยให้มีสมาธิมาช่วย สมาธิมาก็ทำให้เกิดความสงบ ก็เกิดความพอดีขึ้น ในระหว่างวิริยะกับสมาธิ พอสมาธิไม่มีวิริยะสมาธิก็เลยเฉื่อยนอนสบาย หลับเลย นอนเสวยความสุข เพราะฉะนั้นก็ขี้เกียจ ท่านจึงบอกว่าสมาธินั้นมีโทษนะ ทำให้เกิดความเกียจคร้าน เพราะฉะนั้นต้องมีวิริยะมาช่วยพยุง วิริยะก็ความเพียรนี้มาคอยพยุงให้เดินหน้าต่อไป เดินหน้าอย่างมั่นคงใช่ไหม ไม่ใช่เดินหน้าอย่างกระสับกระส่าย ถ้ามีวิริยะอย่างเดียวก็เดินหน้ากระสับกระส่าย กระวนกระวายเร่าร้อน พอมีสมาธิก็เดินได้อย่างมั่นคงแน่วไปเลย ดีไปเลย เพราะฉะนั้นสองคู่นี้ หนึ่งศรัทธาปัญญาต้องคู่กัน คุมกันอยู่ให้พอดี สองวิริยะสมาธิต้องคู่กัน คุมกันให้พอดี แล้วมีสติคอยดู คอยตรวจ สติก็คอยบอกให้รู้ว่าตอนนี้อันนี้มันจะหย่อนแล้วนะ เอาตัวนี้ไปเติม อันนั้นมันเกินไปแล้วลดสักหน่อย สติจะคอยดูคอยระวังตลอดเวลา ท่านเรียกว่าอินทรีย์ห้า ในการปฏิบัติ หรือแม้จะทำการทำงานอะไรต่างๆต้องใช้ตลอดเวลา เมื่อมันมีความสม่ำเสมอสมดุลแล้วก็จะทำให้การปฏิบัติธรรม การทำกิจการงานนั้นเดินหน้าสำเร็จไปด้วยดี นี่ก็เป็นเรื่องของการพูดงอกออกไปจากเรื่องสมาธิ ตกลงว่าสมาธิเนี่ย มีประโยชน์มากมายเป็นองค์ธรรมสำคัญในพุทธศาสนา แต่ฐานะในพุทธศาสนานั้นชัดเจนก็คือสมาธินั้นอยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา หรืออยู่ในระบบสัมพันธ์ของการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าไตรสิกขา ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่องค์ธรรมทุกข้อต้องสัมพันธ์ส่งผลต่อกัน คืบหน้าไปสู่จุดหมาย ถ้าไม่ถึงจุดหมายแล้วหยุดไม่ได้ แล้วองค์ธรรมทุกข้อต้องส่งผลอย่างที่ว่า จะมาเป็นองค์ธรรมด้วนๆลอยๆปฏิบัติไปมีผลเฉพาะตัวไม่ได้ ต้องให้เห็นเลยว่าธรรมะข้อนี้ส่งผลไปสู่ธรรมะข้อไหนอย่างไร ถ้าโยมตีข้อนี้ไม่ออกนะ แสดงว่า ยังไม่เข้าใจธรรมนั้นชัด ฉะนั้นธรรมทุกข้อเนี่ย จุดนี้ต้องสำคัญ เพราะมันเป็นหลักการของไตรสิกขา ที่บอกว่า องค์ธรรมทุกข้อเป็นหน่วยหนึ่งในกระบวนการปฏิบัติที่สัมพันธ์กัน ต้องส่งผลหนุนเนื่องกันไปสู่จุดหมาย ฉะนั้นในจุดๆนี้เป็นตัวที่มักจะพลาดเพราะเราไปมองความหมายของธรรมะ มักจะมองแต่ละข้อ พอมองแต่ละข้อแล้วก็หยุดอยู่แค่นั้นแหละ มันไม่ไปสัมพันธ์กับข้ออื่น ทีนี้แม้แต่ว่าความหมายนี้เอง ถ้ามองไม่สัมพันธ์กับข้ออื่นแล้ว ความหมายมันก็ไม่ชัด อย่างเช่นสันโดษเป็นต้น เคยพูดบ่อยๆ สันโดษนี้ปฏิบัติไปทำไม ต้องมีว่า ปฏิบัติไปทำไม ไม่ใช่ถามว่าสันโดษคืออะไร แต่บางคนบอกว่า ปฏิบัติไปแล้วเพื่อจะได้มีความสุข คืออะไร สันโดษอย่างง่ายๆ ก็คือบอกว่า ยินดีพอใจในสิ่งของเท่าที่มีที่ได้ หรือยินดีพอใจในสิ่งของที่เป็นของตน เนี่ยอันนี้เราเรียกว่าสันโดษ คนที่สันโดษย่อมมีลักษณะที่สุขง่ายในวัตถุน้อย เพราะฉะนั้นมีวัตถุแค่ไหนก็สุขได้หมด เป็นคนที่สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ตรงข้ามกับคนไม่สันโดษ ไม่รู้จักมีความสุข สุขไม่ได้ในวัตถุที่มีหมายความว่าสุขอยู่ที่สิ่งที่ยังไม่ได้ นี่เรียกว่าคนที่ยังไม่สันโดษ คนไม่สันโดษคือ สุขด้วยสิ่งที่ยังไม่มี เพราะฉะนั้นก็ยังไม่สุขสักที ก็สุขที่ยังไม่ถึง ยังไม่ได้ คนที่สันโดษก็คือสุขง่ายในวัตถุน้อย สุขด้วยสิ่งที่มี อะไรที่มีแล้วสุขได้ทั้งนั้น แต่ว่าความสุขไม่ใช่ผลที่ต้องการของสันโดษ ถ้าใครไปเข้าใจตรงนี้แล้ว สันโดษน้อยก็จะเป็นสันโดษแบบสมาธิเมื่อกี้เนี่ย สมาธิแบบที่ไม่ส่งผลต่อกระบวนการของไตรสิกขา ก็ทำให้นอนเสวยความสุข สันโดษก็เหมือนกันแบบที่ว่า สันโดษด้วยวัตถุน้อยทีนี้ก็นอนไม่ต้องทำอะไร ก็สุขแล้ว ก็ไม่ส่งผลต่อกระบวนการไตรสิกขา ไตรสิกขามันต้องเดินหน้า แล้วสันโดษจะส่งผลอย่างไรในกระบวนการของไตรสิกขา โยมต้องมีคำตอบ ดูสิว่ามันส่งผลอย่างไร ความสุขนี้เป็นผลพลอยได้จากสันโดษเป็นผลที่มีมาในตัวมันเอง พอเราสันโดษเราก็มีสุข ทำให้จิตสงบ ไม่กระวนกระวาย ไม่เร่าร้อน แล้วมากลับเป็นตัวเสริมอีก พอเราสุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ใจเราสบาย สงบแล้ว ทำให้เราเนี่ย ไม่ทุรนทุรายแล้วเราจะพร้อมที่จะมาช่วยในกระบวนการปฏิบัติ สันโดษทีส่งผลในกระบวนการปฏิบัติคืออย่างไร ลองดู นี่ก็นอกเรื่องไปนิดนะ เพราะออกจากสมาธิมาแล้วมาเรื่องสันโดษ เรามาดูคนไม่สันโดษก่อน คนไม่สันโดษนี้แกอย่างที่ว่าน่ะ แกจะมีความสุขด้วยวัตถุที่ยังไม่ได้ใช่ไหม แกก็ต้องร่านรน วิ่งหาสิ่งที่ยังไม่มี แกก็วิ่งหาวัตถุที่ยังไม่มีอยู่นี้ไม่สุขสักที หนึ่งความสุขจากวัตถุแกก็ยังไม่มี สอง ทีนี้แกก็ต้องวิ่งร่านหาความสุขหนึ่งใช้เวลาในการที่จะไปหาวัตถุเสพหาความสุข สองใช้แรงงานให้หมดเปลืองไปในการหาสิ่งเสพบำรุงความสุข สามครุ่นคิดอยู่นั่นแหละจะหาอะไรมาเสพ พรุ่งนี้จะไปเสพอะไรที่ไหนหาสิ่งอะไรบริโภคให้มีความสุข ตกลงแกใช้เวลาแรงงานและความคิดหมดเปลืองไปกับการที่ทะยานหาโลดแล่นหาความสุขจากวัตถุเสพ หมดเวลาแรงงานและความคิดไปเลย ทีนี้เวลาแรงงานและความคิดแกไม่พอที่จะหาสิ่งเสพบำเรอสุข เวลาไม่พอแกก็ไปเบียดบังเวลาทำการทำงานทำหน้าที่ของแก ไปหาสิ่งเสพบำเรอสุข บางทีสิ่งเสพมันต้องใช้เงินทอง เงินทองไม่พอ ก็ต้องไปเบียดบังทุจริตอีกใช่ไหม เอาเงินทุจริตมาเพื่อจะไปหาสิ่งเสพอีก เสียหมดเลย ยิ่งกว่านั้นที่สำคัญก็คือเวลาแกทำงานเนี่ย แกทำงานใจไม่อยู่กับงาน เพราะแกจะไปหาสิ่งเสพ แกยังไม่ได้ความสุขที่แกต้องการ แกก็ทำงานด้วยความฝืนใจสิ ทุกข์ทรมานใจในการทำงาน ตกลงว่าความสุขจากวัตถุก็ยังไม่ได้ เวลาทำงานก็ทรมาน ทำงานด้วยความทุกข์ ทุกข์ทรมานใจ เวลาแรงงานและความคิด หมดเปลืองไปกับการทะยานหาสิ่งเสพ หมดเลยมีแต่เสียคนไม่สันโดษ คนสันโดษเป็นอย่างไร คนสันโดษ สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย มีอะไรแกสุขได้ทันที วัตถุที่แกมีแกทำให้มีความสุขทางวัตถุได้แล้วใช่ไหม หนึ่งความสุขจากวัตถุก็ได้แล้ว ที่สำคัญก็คือว่า แกไม่ต้องเอาเวลาแรงงานและความคิดนี้ไปใช้ในการทะยานโลดแล่นหาความสุขจากการเสพวัตถุ เวลาแรงงานและความคิดแกเหลือเฟือเลย แกออมไว้ได้ เวลาแรงงานและความคิดที่ออมไว้ได้เนี่ยแหละที่เราต้องการ ก็เอาเวลาแรงงานและความคิดนี่แหละมาทุ่มเททำสิ่งที่ดีงามที่ทางพระเรียกว่ากุศลธรรม ถ้าเป็นชาวบ้านญาติโยมก็ทำงานทำการทำหน้าที่ทำประโยชน์อะไรทำไปใช่ไหม เวลาเราสันโดษแล้วเรามีเวลาแรงงานและความคิดเหลืออยู่นี่ เราเอามาทุ่มเทให้กับการทำงาน เราก็บำเพ็ญกิจหน้าที่ของเราได้เต็มที่ เสร็จแล้วยังมีความสุขจากการทำงานอีก เพราะเรารักงานนี่ เราชอบงาน มีจิตใจพอใจในกุศลธรรม ในการทำสิ่งที่ดีงาม เราทำงานเรามีความสุข สุขจากวัตถุเสพเราก็ได้แล้ว สุขจากการทำงานทำการเราก็ได้ แล้วเรายังมีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือในการมาทำงาน ทำสิ่งที่ดีงามสร้างสรรค์อีก ดีอย่างเดียวเลยใช่ไหมคนสันโดษ แต่ทีนี้สันโดษมันจะพลาดตรงที่ว่าไม่มีจุดหมาย มันด้วนลอย มันด้วนในตรงที่ว่า สันโดษแล้วจะมีความสุขก็เลยนอนสบายเลย อย่างนั้นก็สันโดษก็ขี้เกียจ ใช้ไม่ได้ สันโดษที่ว่านี้มันส่งผลในกระบวนการไตรสิกขา โยมจะเห็นเลย พอเราสันโดษถูกต้องปั๊ป มันจะส่งผลให้เรายิ่งพร้อมที่จะบำเพ็ญกุศลธรรมใช่ไหม เพราะเรามีเวลาแรงงานและความคิดเหลือเฟือ เราเอาเวลาแรงงานและความคิดมาทุ่มเทให้ แก่การทำกิจหน้าที่ ทำความดีสร้างสรรค์ บำเพ็ญกุศลธรรมก็ก้าวหน้าไปในไตรสิกขาไปกันใหญ่ดีเลย นี่แหละที่มันส่งผลต่อกันมันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสสันโดษไว้ที่ไหน พระองค์จะไม่ตรัสไว้ด้วนๆ พระองค์จะตรัสต่อ เช่นอย่างในหลักธรรมชุดหนึ่งท่านเรียกว่าอริยวงค์สี่ ภิกษุสันโดษด้วยจีวร ภิกษุสันโดษด้วยบิณบาฑอาหาร ภิกษุสันโดษด้วยที่อยู่อาศัย และสี่ภิกษุยินดีในการละอกุศลธรรมและบำเพ็ญกุศลธรรม สามข้อต้นมาหนุน พอท่านสันโดษแล้วท่านก็มีเวลาแรงงานและความคิดที่จะมาบำเพ็ญในข้อสี่ เพราะฉะนั้นสันโดษ ถ้าไม่ตรัสการบำเพ็ญกุศลธรรมและอกุศลธรรม พระพุทธเจ้าก็จะตรัสไว้คู่กับความเพียร ในหลักธรรมชุดไหนมีสันโดษ ชุดนั้นจะมีความเพียรด้วย อันนี้จะเป็นหลักทั่วไป เพราะว่ามันจะมาหนุนกัน คนที่สันโดษก็พร้อมที่จะเพียร และพระพุทธเจ้าก็จะตรัสสัมทับไว้อีกอันว่าให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม อันนี้โยมต้องจำไว้เลยว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนแต่สันโดษ ถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษใช่ไหม ถ้าถามอย่างนี้แล้วกำกวม โยมต้องตอบว่ายังไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ถูกนะ ถ้าไปตอบว่าพระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษ เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนทั้งสันโดษ และไม่สันโดษ ท่านเรียกว่าวิภัชวาส คือตอบต้องจำแนกแยกแยะให้ถูก พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษใช่ไหม บอกว่าใช่ก็มี ไม่ใช่ก็มี เพราะฉะนั้นต้องตอบอย่างนี้ ที่ว่าใช่ยังไง คือพระพุทธเจ้าสอนให้เราสันโดษในวัตถุเสพ ในวัตถุบำรุงบำเรอ ให้สันโดษ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะเราไม่สันโดษในกุศลธรรม เราจึงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เราเห็นคุณของธรรมสองประการที่เราได้ตรัสรู้ คือหนึ่งความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย สองความเพียรไม่ระย่อ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงบรรยายที่พระองค์ไม่สันโดษและมีความเพียรใช่ไหม ถ้าพระพุทธเจ้าสันโดษพระองค์ไม่ตรัสรู้หรอก เพราะไปสำนักอาฬดาบสที่อาตมาได้เล่าไปแล้ว ได้อากิญจัญญายตนะสมาบัติ ไปสำนักอุทกดาบสรามบุตร ได้เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ จบสมาบัติแปดเกิดสันโดษพอใจจบ พระพุทธเจ้าก็ไม่มาตรัสรู้ แพระพุทธเจ้าไม่สันโดษ ไม่อิ่มไม่พอในกุศลธรรม ถ้าไม่บรรลุจุดหมายแล้วไม่มีหยุด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงออกจากสำนักของพระอาจารย์เหล่านั้นแล้วก็มาบำเพ็ญเพียรต่อ พระพุทธเจ้าจึงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสว่าที่พระองค์ได้ตรัสรู้นี้ได้เห็นคุณค่าของความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ทีนี้ถ้าเราสันโดษในวัตถุเสพ มันก็จะมาหนุนให้เราไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ เราก็จะมาเพียรพยายามเอาเวลาแรงงานและความคิดมาทุ่มเทให้กับการบำเพ็ญกุศลธรรมให้ดีงามยิ่งขึ้นไป เพราะฉะนั้นหลักธรรมพุทธศาสนานี้สอดคล้องกันหมด แม้แต่ความสันโดษกับไม่สันโดษยังสอดคล้องกันเลย สันโดษกับไม่สันโดษมันตรงข้ามกันนี่ มันน่าจะขัดแย้งกัน เปล่า มันกลายเป็นหนุนกัน สันโดษมันหนุนความไม่สันโดษ เพราะเราสันโดษในสิ่งเสพ เราจึงสามารถไม่สันโดษในกุศลธรรมได้ พอไม่สันโดษในกุศลธรรมก็เดินหน้าในกุศลธรรม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อีกครั้งหนึ่ง เป็นหลักการของพระศาสนาที่บอกว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรม เราสรรเสริญอย่างเดียว แต่ความเดินหน้าต่อไปในกุศลธรรมทั้งหลาย นี่คือหลักพุทธศาสนา หลักความไม่ประมาทจะมาหนุนอันนี้ อย่าไปเพลินแม้แต่กับสมาธิ ติดอยู่ กล่อมใจให้สบาย ไม่เอา ถ้ามันทำให้กล่อมแล้วหยุดไม่ได้ ใช้ไม่ได้ ต้องต่อ ถ้ากล่อมพอแล้วถ้าเราทุกข์มากไปก็เอามากล่อมสักหน่อยพอให้หายทุกข์หายกลุ้ม แต่พอหายกลุ้มแล้วอย่าหยุด ถ้าไปเพลินกับตัวกล่อมล่ะก็ เราก็ประมาททันที แล้วไตรสิกขาไม่เดินหน้า เพราะนั้นเป็นตัวเอื้อให้เดินหน้า ให้ไตรสิกขาไปสำเร็จให้ได้ ทีนี้วันนี้ก็ได้พูดมาเป็นเวลาเยอะแยะ ความจริงคุณวุฒิชัยบอกว่าอยากให้พูดเรื่องสติปัฏฐานด้วย ความจริงก็อยู่ในเรื่องนี้แหละ พอเราได้สมาธิถูกต้องนะ ก็มาเป็นตัวเอื้อปัญญาใช่ไหม บอกแล้วนี่ จุดหมายของธรรมะในพุทธศาสนานั้น มันอยู่ในกระบวนการของไตรสิกขา สมาธิเพื่อเป็นปัจจัยแก่การใช้ปัญญา ปัจจัยของการใช้ปัญญาก็ก้าวจากสมาถะหรือสมาธิไปสู่วิปัสสนา วิปัสสนานี้ วิธีปฏิบัติสำคัญเราเรียกว่าสติปัฏฐาน ก็เอาสติมาใช้ในการที่จะกำหนดอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิต อะไรต่ออะไรของเราเนี่ย สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอยู่เนี่ย สติไปจับทันหมด แล้วก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา สติปัญญาทำงานคู่กัน เราจะมองอะไรเนี่ย สิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้าใช่ไหม เหมือนกับตาเรานั้นมีปัญญา สิ่งนั้นต้องอยู่ต่อหน้า ถ้าสิ่งนั้นมันเลื่อนลอยหายไปนั้น เรามองไม่ได้ ปัญญาก็ต้องมองเห็นสิ่งที่อยู่ต่อหน้า ต่อหน้าจิต ทีนี้สิ่งนั้นจะอยู่ต่อหน้าจิตได้อย่างไร ไอ้สิ่งที่จับไว้ก็คือสติ สติจับสิ่งนั้นให้อยู่ต่อหน้า แล้วปัญญาก็เหมือนตาที่มองดูสิ่งนั้น ฉะนั้นในวิธีปฏิบัติวิปัสสนาก็จะมีสติเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวจับสิ่งนั้นไว้ให้ปัญญาดู สติปัญญาก็ทำงานคู่กัน สติก็ดูทุกอย่างอะไรเกิดขึ้นเป็นไปในปัจจุบัน สติก็ทันดูสิ่งนั้น สติจับปัญญาดู ปัญญาดูรู้ตามเป็นจริง จนกระทั่งว่า เกิดปัญญาเห็นความเปลี่ยนแปลงความเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่เราเห็นตามความเป็นจริงนี่ มันจะมีอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป สิ่งเป็นอาการของอนิจจังตลอดเวลา พอเราดูโดยไม่มีอะไรมาบังตาใช่ไหม มันก็เห็นตามเป็นจริง เห็นสภาพที่เป็นอย่างนั้น ต่อไปก็เห็นความเปลี่ยนแปลงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ซึ่งจะดูทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งในด้านร่างกาย ความเคลื่อนไหวของร่างกาย การเดิน การยืน การนั่ง การนอน การกิน การดื่ม ทุกอย่าง การกินรับประทานอาหารนี่ สติจับดูหมด ปัญญาก็รู้ตามเป็นจริง อาการที่เกิดขึ้นเป็นไปในจิตใจ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความคิดที่เกิดขึ้นในชีวิตจิตใจของเราเนี่ย ทุกอย่าง สติจับให้ปัญญาดูหมด ที่เป็นปัจจุบัน อันนี้ก็จะเข้าเรื่องของสติปัฏฐาน แต่วันนี้เอาแต่เพียงว่านี่เป็นช่วงต่อว่า ตอนนี้เราเข้าใจเรื่องสมาธิก่อนว่าให้รู้เรื่องสมาธิเนี่ย ว่าจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนาเป็นอย่างไร ประโยชน์คุณค่ามันมีทั้งผลพลอยได้และผลที่ต้องการที่แท้จริง แต่ก่อนพุทธกาลเขาใช้กันมานานแล้วสมาธิอย่างที่พอ ฤาษี โยคี ดาบสนี่เขาได้ฤทธิ์ ได้ปาฏิหาริย์ ได้อภิญญากันมาอย่างที่ว่า แต่เขาใช้สมาธิ พวกหนึ่งก็ใช้เพื่อปาฏิหาริย์ พลังจิตแล้วก็ไม่สามารถหมดกิเลสได้ เพราะสมาธิกำจัดกิเลสไม่ได้ แต่ช่วยให้จิตพร้อมที่จะทำงานต่างหาก สมาธิไม่ได้กำจัดกิเลสนะโยม สมาธิช่วยให้จิตสงบจากกิเลสชั่วคราว แล้วทำให้จิตพร้อมที่จะทำงานแล้วก็เอาจิตนี้ไปใช้งานอีกทีหนึ่ง จึงจะไปกำจัดกิเลสได้ ไม่ใช่สมาธิกำจัดกิเลส อีพวกหนึ่งก็เอาสมาธิมาใช้ในแง่เป็นตัวกล่อมทำให้ใจสบายมีความสุข เพราะฉะนั้นฤาษีโยคีในสมัยก่อนพุทธกาลแกก็ปลีกตัวแยกจากสังคม ไม่เอากับใครแล้ว ไปอยู่ในป่าสบาย แกมีความสุขจากฌานสมาบัตินี่ แกก็เสวยสุข เขาเรียกว่าเป็นพวกตัดขาดจากสังคม พวก isolate ปลีกตัวออกไปเลย ไม่เอากับใครทั้งนั้น แล้วทำไงแกก็เล่นฌานกีฬา ศัพท์พระเรียกว่าเล่นฌานกีฬา เล่นฌาน มีความสุขกับฌานสมาบัติมีความสุขดี แต่พวกนี้เป็นอย่างไร ไม่ได้เอาเรื่องเอาราวกับชีวิตจริง นี่ก็เสียผลเหมือนกัน พระพุทธเจ้าจึงไม่เอาด้วย ออกมาแล้ว พุทธศาสนาของเราไม่ใช่อย่างนั้น พุทธศาสนาเราไม่ใช่ลัทธิ ฤาษี โยคี ดาบส เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ได้นะ บางทีเราเอาพุทธศาสนาไปปนกับลัทธิฤาษี โยคี ดาบสก็มี เพราะฉะนั้นก็ผิดอยู่เหมอืนกัน นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะต้องแยกให้ถูก แม้แต่ลักษณะของพระในพุทธศาสนาก็ไม่ใช่ฤาษีชีไพร มีหลักการที่แยกกันเด่นชัด ดีไม่ดีเอาพระนี้ไปเป็นฤาษีอีก ก็จะยุ่ง ต่างกันมาก หลักการวินัยของพระนี่ พระพุทธเจ้าวางไว้กันเด็ดขาดเลย ไม่ให้พระไปเป็นฤาษี แต่ว่าเราใช้ศัพท์ฤาษีมาใช้ในความหมายใหม่ เช่น เรียกพระพุทธเจ้าว่า เป็นมหามุนี เป็นมหาฤาษีเนี่ย แต่เราไปเลียนศัพท์เขามาใช้ในความหมายใหม่ หมายความว่า อิสี อิส ฤาษี แปลว่าผู้แสดงหาคุณความดีที่ยิ่งใหม่ ว่างั้น มหาฤาษี พระพุทธเจ้าเป็นมหาอิสิ แปลว่าผู้แสวงคุณอันยิ่งใหญ่ แต่ว่าไม่ใช่ฤาษีแบบโบราณในอินเดีย เพราะพวกนั้นมีมาก่อนพุทธกาลนานเนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงไปทดลองมาหมดแล้ว เห็นว่าไม่ใช่ทางที่ถูกต้องจึงได้ละทิ้งมาก เพราะฉะนั้นพวกเราถ้าไม่ระวังให้ดีเนี่ย เราจะไปตกกับเข้าไปเป็นลัทธิฤาษีชีไพรไปตามเดิม ก็เอาเป็นว่าวันนี้พูดเรื่องสมาธิ พอให้เห็นความหมาย พอให้เห็นคุณประโยชน์ การใช้ที่ถูกต้องตามหลักการของพุทธศาสนา พร้อมทั้งการใช้เพื่อประโยชน์อย่างอื่นที่ข้างเคียง ซึ่งเรา ถ้าเรารู้เท่าทันแล้วประโยชน์ข้างเคียงเนี่ย เราเอามาใช้ได้หมด ไม่ใช่หมายความว่า จะไม่ให้โยมใช้ แม้แต่เป็นตัวกล่อมก็ใช้ได้ ใช้ได้ในขอบเขตที่ว่า อย่าให้เกิดความประมาท อย่าให้ดึงเราให้หยุดอยู่ ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าชั่วคราวผ่านไปใช้เพื่อพลังจิตก็ใช้ได้ อย่างน้อยรวมจิตไม่ให้มันฟุ้งซ่าน เตลิดเปิดเปิงก็ยังดี แต่ว่า อย่าลืมก้าวต่อไปในการใช้ประโยชน์ที่แท้ ก็คือ ประโยชน์ตามจุดมุ่งหมายของพุทธศาสนา ที่จะกำจัดกิเลสให้รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย ให้รู้ถึงความที่สิ่งทั้งหลายนี้เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาอย่างไร แล้วรู้จักโลกและชีวิตตามเป็นจริงจนกระทั่งวางจิตวางใจต่อชีวิตและโลกได้ถูกต้อง เป็นจิตที่สงบราบเรียบ เพราะไม่มีกิเลส ไม่มีอะไร ความเป็นไปในโลกที่จะมาทำให้จิตหวั่นไหวได้ เพราะปัญญามันเข้าถึงความจริงนั้น อันนี้แหละคือตัวสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งจะสำเร็จด้วยการที่มาควบส่งต่อกันถ้าเราจะเอา mediation สองอย่างที่พูดมาแต่ต้น มี tranquility mediation ก็เป็นสมถภาวนา แล้วก็ insight mediation คือวิปัสสนาภาวนา ก็มาประสานกันโดยให้สมถภาวนาส่งผลไปสู่วิปัสสนาภาวนา แล้วก็จะบรรลุถึงจุดหมายที่แท้จริง วันนี้อาตมาภาพก็ได้พูดมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับสมาธินี้พอให้เป็นแนวทาง ก็คิดว่าเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ขออนุโมทนา โยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน ที่ได้มีศรัทธามาฟังธรรมะในวันนี้ ไม่เฉพาะในกรณีนี้ แต่ว่ามีศรัทธามาช่วยกันส่งเสริมค้ำจุนกิจการพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ ไม่เฉพาะตัวโยมญาติมิตรเอง แต่เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อสังคมด้วย ซึ่งถูกต้องตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ให้เราบำเพ็ญ ทั้งประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน หรือประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น โยมได้ปฏิบัติอย่างนี้แล้วก็ขอให้มีความอิ่มใจ มีปิติในคุณความดีที่ตนได้บำเพ็ญทั้งส่วนทาน ศีล ภาวนา และเมื่อมีปิติอิ่มใจอย่างนี้ จะเป็นสภาพจิตที่ดี เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ อาตมาก็ขอทวนอีกทีว่า ผู้ปฏิบัติธรรมแล้วควรจะทำสภาพจิตห้าประการต่อไปนี้ให้เกิดอยู่เสมอ หนึ่งปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ สองปิติ ความอิ่มใจ สามปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่เครียด สี่สุข แล้วก็ห้าสมาธิ จิตอยู่ตัว ลงตัวเข้าที่ สงบราบเรียบ ไม่มีอะไรรบกวนได้ สภาพจิตห้าประการนี้รักษาไว้ให้ดี แล้วปลูกฝัง ปรุงแต่ง ให้เกิดขึ้นในจิตอยู่เสมอ จะทำให้ชีวิตนี้มีความสุข และก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมด้วย และให้สมาธิตัวที่ห้านั้นส่งผลต่อปัญญาต่อไป ก็จะถึงจุดหมายของพุทธศาสนา ขออนุโมทนาโยมทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ขออาธนาคุณพระศรีรัตนตรัยอวยชัยให้พร ฯ (ให้พร...)
(ถาม) อยากจะให้พระ อ. ช่วยแนะนำว่า ทำอย่างไรถึงจะสร้างกุศลธรรม (???) (เสียงเบามากนาทีที่ 46.30 )
(ตอบ) อันนี้พูดถึงเรื่อง relaxation ก่อน เมื่อกี้นี้อาตาบอกแล้วว่ามันมีสภาพจิตห้าอย่าง ซึ่งอยู่ในสายของสมาธิ แล้วตัวหนึ่งมันคือ relaxation ที่บอกว่าปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ เนี่ยสภาพจิตห้าประการนี้ ถ้าผู้ปฏิบัติธรรมก้าวหน้าแล้วนี่ มีหวังว่าจะได้ห้าตัว ปราโมทย์ความร่าเริงเบิกบานใจ ภิกษุที่มากด้วยปราโมทย์ ท่านบอกอยู่ใกล้พระนิพพานแล้วนะ ปิติอิ่มใจ ปัสสัทธิ นี่ตัวผ่อนคลาย ปัสสัทธินี้ตรงข้ามกับเครียด พระพุทธเจ้าเล่าว่า เมื่อพระองค์เองไปบำเพ็ญทุกรกริยา ทรมานพระองค์เอง เครียดทั้งกายทั้งจิตเลย ท่านเรียก สารัตทะ คือเครียด ที่บอกว่าเครียดนี้คือ กายกับจิตนี้สัมพันธ์กันมาก ถ้าจิตเครียดกายจะเครียดด้วย การบำเพ็ญสมาธิเนี่ย พอเราเข้าสู่แนวทางของมันเนี่ย มันจะมีพวกสภาพจิตเหล่านี้เกิดขึ้น ซึ่งอันหนึ่งก็คือปัสสัทธิเนี่ย ปัสสัทธิที่สงบเย็นผ่อนคลาย พอสมาธิเกิดมันผ่อนคลายแล้ว พอปัสสัทธิมาสุขเกิด สมาธิตามมา สุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ เพราะฉะนั้น relaxation ก็อยู่ในกระบวนปฏิบัติของการที่จะเกิดสมาธินี้เอง การที่จะเกิดสมาธินี้ก็มีวิธีเยอะแยะ ในทางพุทธศาสนา ท่านบอกหลักการสำคัญก็คือจะทำอย่างไรก็ตามให้จิตอยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการได้ วิธีปฏิบัติก็เลือกเอา เช่น อย่างที่เรานิยมกันมากก็ อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ เช่นอย่างที่อาตมาบอกเมื่อกี้ เกิดอารมณ์ไม่ดี เกิดความประหม่า เกิดความกลัว เกิดความโกรธขึ้นมานี่ เครียดแล้ว สภาพจิตไม่ดี เพียงแค่ว่า หันมากำหนดลมหายใจ มันคือหันมาหายใจ ตั้งใจหายใจ สติมาแล้ว พอเราระลึกได้ว่าจะหายใจ สติก็เกิดแล้ว แล้วเราหายใจตามนั้นเวลานั้นแล้วมีสติ ก็หายใจยาวๆ หายใจเข้าหายใจออก เครียดแทบจะหายแล้วนะ นี่แค่ในชีวิตประจำวันแบบง่ายๆ ถ้าเราทำได้เสมอ ฝึกมันก็กลายเป็นเรื่องของการสร้างสภาพจิตเลย คือว่า สภาพจิตของเรานี้ ก็เหมือนกับอาการกริยาทางกายเหมือนกัน มันขึ้นต่อความเคยชิน การสั่งสมการทำให้คุ้น ท่านเรียกว่า เสพคุ้น หรือทำให้มาก พอทำให้มากนี้มันจะชิน เราเคยเดินยังไง เราเคยทำอะไรยังไง ก็มีนิสัยอย่างนั้น ทีนี้จิตของเราเหมือนกัน เราชอบปรุงแต่งเรื่องอารมณ์กระทบกระทั่ง เก็บเอาสิ่งที่ไม่ดีมาคิดมาปรุงแต่ง ก็เกิดความเครียด เกิดความกังวลกระวนกระวายใจใช่ไหม พอทำอย่างนี้บ่อย ชินเลยคราวนี้ จิตลงร่อง คราวนี้พอไปนั่งไหนปั๊ป มีความโน้มเอียงจะเครียดทันที อารมณ์ไม่ดีเกิดไม่สบายใจทันที เรามีสติตอนแรกเราตัดกระแส สติเป็นตัวตัดกระแสก่อน หยุด หันมาปรุงแต่งดี ปรุงแต่งใจให้สบาย ทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบานผ่องใส สบายหายเครียดไปเลย ตัวที่จะมาช่วยทางกายเช่นว่า เอาอะไรสักอย่างมากำหนดให้จิตกำหนด สัมพันธ์ระหว่างกายกับจิตเช่นว่าลมหายใจงี้ใช่ไหม พอลมหายใจมันดีนี้มันปรับสภาพร่างกายด้วย มันเอื้อต่อการทำงานของจิตที่ดี แล้วจิตก็มีสติกำหนดด้วย ก็เลยหายเครียดไปเลย เพียงแค่นี้ก็ได้แล้ว แต่ท่านบอกว่าไม่จำเป็นต้องเอาลมหายใจหรอก เอาอย่างอื่นก็ได้ เอาอะไรที่มันดีๆ อย่างชาวพุทธนี้นับถือพระรัตนตรัยใช่ไหม เอาเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์มาพิจารณา มาระลึกถึงพระคุณของท่าน ไตร่ตรองพิจารณาอะไรต่างๆ ทำให้จิตมันสบาย มันก็หายเครียดไป ตอนแรกอยู่ที่สตินี้มาก่อน ถ้าเราเกิดสภาพจิตไม่ดี จะเครียดขึ้นมาปั๊ป เรารู้ตัว คือนึกได้ สติก็คือนึกได้ พอนึกได้ว่า อ้อ ไม่ได้แล้ว เป็นแล้ว หยุดๆ ไปเอาดีมาแทน ก็ไปเอาสภาพจิตที่ดีเข้ามาแทน ไปทำอะไรซะเช่นกำหนดลมหายใจ มันก็เปลี่ยนไป อย่างที่ว่าแหละ ต้องสร้างให้เป็นนิสัยของจิตเลย จนกระทั่งว่าเราเนี่ย ไปนั่งที่ไหนแล้วก็นึกแต่เรื่องทำให้ใจให้สบายจนกระทั่งเคย เพราะฉะนั้นเขาก็มีอุบายของคนโบราณเช่นว่าทำบุญบ่อยๆ ทำบุญยังไงเพราะว่ามันจะได้มีตัวบริขันธ์ของจิต ตัวปรุงแต่งจิต พอไปทำแล้วจิตมันจะได้เอาสิ่งนั้นมานึกใช่ไหม นึกบ่อยๆ พอนึกแต่เรื่องอย่างนี้ต่อไปจิตมันชิน จิตมันอยู่ตัว มันไปนั่งที่ไหน มันไปนอนมันแต่นึกแต่เรื่องดีๆทั้งนั้นเลย พอนึกแต่เรื่องดีๆ มันก็ไม่มีความเครียด จิตมันมีกุศลตลอดเวลา มันก็ตรงข้ามกับคนที่สั่งสมการปรุงแต่งเอาแต่เรื่องที่ไม่ดี เป็นทุกข์ มีกังวล มีความกลุ้ม มีความเครียด คนสมัยนี้ใช้ความสามารถผิด คือมนุษย์นั้นมีความสามารถพิเศษกว่าสัตว์อื่นก็คือความสามารถในการปรุงแต่ง มนุษย์เรานี้เก่งกว่าสัตว์อื่น สัตว์อื่นมันปรุงแต่งไม่เป็น มันก็อยู่ไปตามเรื่องของมัน รับรู้หากินอะไรต่ออะไรไป ปรุงแต่งไม่เป็น มนุษย์นี้ปรุงแต่งเก่ง แต่เอาความคิดมาปรุงแต่ง สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เป็นวัตถุออกไปภายนอก แต่ภายในใจของตัวเองนี้ไม่เรียนวิธีปรุงแต่ง ก็เลยปล่อยความสามารถนี้ไปในทางร้าย ปรุงแต่งเหมือนกันแต่ปรุงแต่งทุกข์ให้กับตัวเอง จะเห็นว่าคนส่วนมากปรุงแต่งทุกข์ให้ตัวเองทั้งนั้น ปรุงแต่งความกลุ้ม ความกังวล ความเครียด ความอะไรต่างๆ หวาดหวั่นคิดไป เอาแต่เรื่องร้ายๆ ปรุงแต่งไม่ดีทำให้เกิดทุกข์กับตัวเอง ถ้าเรามีสติ มาเรียนวิธีของพระพุทธเจ้า ท่านให้เราใช้ความสามารถนี้ ในทางที่ถูกต้อง แทนที่คุณจะปล่อยความสามารถนี้ไปในทางเรื่อยเปื่อย แล้วทำให้เกิดผลเสีย ปรุงแต่งทุกข์ คุณมาปรุงแต่งสุขซะ เนี่ยท่านก็ให้กรรมฐานวิธีต่างๆเหล่านี้ ถ้ามองในความหมายของสุขก็คือการปรุงแต่งความสุขนั่นเอง จนกระทั่งในที่สุดเนี่ย เหนือปรุงแต่ง คือความสุขนี้มันมีความสุขขั้นปรุงแต่ง กับความสุขขั้นเหนือปรุงแต่ง ถ้าขั้นของพวกเราธรรมดาเนี่ย อยู่ในขั้นใช้สมถะเป็นความสุขขั้นปรุงแต่ง พอเราเลยจากนี้ไป เป็นขั้นวิปัสสนาแล้ว ท่านเรียกว่าสุขเหนือปรุงแต่ง ตกลงว่าทั้งสองอย่างนี้ทำลายเครียดทั้งนั้นเลย
(ถาม) ??? 53.30 (ไม่ได้ยิน)
อ๋อ อันนี้มันแต่ละจิตละใจ ความต้องการความปรารถนาของคนมันไม่เหมือนกัน เราต้องยอมรับความจริงใช่ไหม เราก็ต้องมีวิธีการปฏิบัติซึ่งมันอยู่ที่ตัวเอง เราก็ต้องมีสติคุมตัวเองด้วย เราก็ต้องเรียนรู้เขา เขามีลักษณะมีนิสัยมีความต้องการ มีความปรารถนาอย่างไร เราปฏิบัติต่อเขาแค่ไหน มันจึงจะพอดีใช่ไหม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงให้องค์ธรรมไว้ปฏิบัติมากมาย ในยามนี้ต้องใช้เมตตา ในยามนี้ต้องใช้กรุณา ในยามนี้ต้องใช้มุฑิตา แต่ในอีกกรณีหนึ่งต้องใช้อุเบกขา บางครั้งเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองไปตามเหตุปัจจัย ในความเป็นจริงของโลกและชีวิต ตอนนี้เราจะไปมัวเมตตากรุณาอยู่ไม่ได้ ต้องอุเบกขา แต่ว่าต้องมีปัญญานะ คนที่จะมีอุเบกขาได้นี่ต้องมีปัญญา คือต้องรู้ต้องเข้าใจสถานการณ์ แล้วรู้ว่าต้องให้เขารับผิดชอบตามเหตุตามผล แล้ววางอุเบกขาปั๊ป ได้ที่เลย แล้วเขาจะเรียนรู้ บางทีเราต้องฝึกคนอย่างนั้น ไปเมตตากรุณาตลอดไปไม่ได้ เสีย อย่างพ่อแม่เลี้ยงลูกนะ เอาแต่เมตตากรุณา แม้กระทั่งมุฑิตา เด็กนี่ไม่รู้จักโตนะ เป็นพ่อแม่ที่โอ๋เด็ก เมืองไทยเนี่ย ชอบเลี้ยงลูกด้วยสามข้อต้นคือเลี้ยงลูกด้วยเมตตากรุณา มุฑิตา อุเบกขาไม่รู้จักใช้ ทีนี้ลูกก็ไม่โตสิ ทำอะไรต่ออะไรไม่เป็น อุเบกขานี้สำคัญที่สุดเลยนะ เป็นตัวคุมท้ายเลยในธรรมะสี่ข้อของพ่อแม่ พ่อแม่เลี้ยงลูกต้องให้ครบสี่ข้อ ข้อที่สี่อุเบกขา อันนี้ก็เลยถือโอกาสพูดอีกทีหนึ่ง ย้ำ หนึ่งลูกเป็นปกติเรามีเมตตา ให้ความรักความอบอุ่น เลี้ยงดู ให้เป็นสุข ให้เขาอยู่เป็นปกติ สองลูกเดือดร้อน เป็นทุกข์ เขาเรียกว่าตกต่ำลงไป เรามีกรุณา ช่วยเหลือปลดเปลื้องความทุกข์ให้เขา ให้พ้นจากความทุกข์ สาม เขาได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จ เช่นสอบได้ดีอะไรต่างๆเหล่านี้ เราก็มุฑิตาพลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน สามข้อแรก สามข้อนี้ พ่อแม่ไทยทำง่าย พร้อมเพราะรักลูก แต่ข้อสี่เนี่ย พ่อแม่ไทยไม่ค่อยทำ ข้อสี่คืออะไร คือหนึ่ง เมื่อลูกสมควรจะต้องรับผิดชอบตนเอง ฝึกทำอะไรต่ออะไรให้เป็น อันนี้ต้องอุเบกขา องได้แต่ดู ดูแล้วให้เขาทำ ไม่ใช่ไปทำแทน ถ้าไปทำแทนแล้วเด็กทำไม่เป็น แล้วไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง ทีนี้ข้อสี่นี้ ต้องใช้ปัญญาเพราะว่าพ่อแม่ต้องรู้ว่าอะไรที่เด็กควรจะหัดทำ เพราะพ่อแม่ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดชีวิต อุเบกขาก็คือการที่ให้เขารับผิดชอบต่อความเป็นจริงของโลกและชีวิต สามข้อแรกนี้ มันเป็นการเอื้อกันระหว่างคนต่อคน เมตตาก็คนต่อคน กรุณาคนต่อคน มุฑิตาคนต่อคน แต่อุเบกขานี้ คนมองความเป็นจริงของโลกกับชีวิตว่า ว่าเขาจะต้องไปรับผิดชอบต่อความจริงของโลกและชีวิต โลกและชีวิตเนี่ย มันไม่เอากับใครหรอก มันเอาเหตุเอาผลใช่ไหม เพราะฉะนั้น เด็กจะต้องพร้อมที่จะไปอยู่กับความเป็นจริง พ่อแม่ก็มาช่วยตรงนี้ ตอนที่ว่า ดูว่าอะไรที่เขาจะต้องหัดทำเอง ให้เป็น ต้องรับผิดชอบตัวเองได้ต่อไป ต้องปล่อยให้เขาทำ อย่าไปทำแทน นี่คืออุเบกขา หนึ่งล่ะ สอง เมื่อลูกจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขา ครอบครัวเป็นสังคมเล็ก เป็นตัวแทนสังคมใหญ่ ต่อไปลูกโตแล้วต้องไปอยู่ในสังคม สังคมมีกฎมีเกณฑ์มีกติกา ทำอะไรถูกก็ต้องรับผลดี ทำอะไรผิดต้องรับผิดร้าย ก็ต้องหัดให้รับผิดชอบรู้จักความจริงของโลกและชีวิตในสังคมนี้ เพราะฉะนั้นในครอบครัวต้องมีกฎเกณฑ์กติกา ทำถูกเป็นถูก ทำผิดเป็นผิด กฎต้องเป็นกฎ รับผิดชอบในการกระทำของเขา นี่เรียกอุเบกขาในกรณีที่สอง สามเมื่อลูกโตแล้วรับผิดชอบตัวเองได้แล้วคือ จบการศึกษา (จบ)