แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อาตมาภาพได้พูดในเรื่องพุทธคุณ บรรยายมาบัดนี้ก็จบพุทธคุณทั้งเก้าแล้ว
ตอนนี้กลับมาสู่ธรรมะทั่วๆไป คำสอนของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่าธรรมะนั้นก็มีมากมาย ถ้าจัดเป็นหมวดหมู่ ในฝ่ายข้อปฏิบัตินั้น ก็รวมอยู่ในหลักที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา จากศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็แยกขยายออกไปเป็นหัวข้อธรรมะหรือองค์ธรรมต่างๆมากมายหลายประการ หยิบยกมาพูดกันได้ไม่รู้จักสิ้นสุด
ในบรรดาธรรมะเหล่านั้น วันนี้อาตมาภาพคิดว่าจะพูดหลักในหมวดที่เรียกว่า สมาธิ หรือเรียกตามภาษาของท่านแท้ๆ ท่านเรียกว่าในหมวด อธิจิตตสิกขา คือหมวดเกี่ยวกับการฝึกฝนอบรมจิตให้เจริญยิ่งขึ้น ในหมวดนี้ก็มีหลักธรรมหลายข้อ ที่เป็นข้อสำคัญๆก็มี สัมมาวายามะ ความเพียรพยายามชอบ สัมมาสติ ความระลึกชอบ หรือสติชอบ และก็สัมมาสมาธิ ความตั้งจิตมั่นชอบ
ในหัวข้อเหล่านี้ก็มีธรรมะปลีกย่อยต่างๆ ที่จะยกมาพูดในวันนี้ก็เอาเรื่อง ขันติ เพราะขันตินี้ ก็เป็นหลักธรรมที่อยู่ในประเภทที่ทำให้จิตใจเข้มแข็ง
และเข้าอยู่ในพวกสมาธิ เป็นตัวที่ใกล้ๆกันกับความเพียร ความเพียรนี่ วิริยะ ใจสู้ ใจแกล้วกล้า เข้มแข็ง และก็มีขันติ ความอดทน นี้ก็เป็นตัวเสริมมาช่วยกัน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคาถาที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ จะเห็นว่าทรงยก ขันติ นี่ขึ้นเป็นข้อแรก เป็นคำแรกในโอวาทปาติโมกข์เลย ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา (ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา) แปลว่าขันติเป็นยอดตบะ หรือตบะนั้นก็มีขันตินี่แหละเป็นอย่างสูงสุด
ขันตินี่เราก็แปลกันว่า ความอดทน หรือความทนทาน ความอดทนนี้มีหลายลักษณะ อาจจะจำแนกง่ายๆเพื่อความเข้าใจพื้นๆว่า เป็น ๔ ประเภท
อดทนอย่างที่หนึ่ง ก็คือ อดทนต่อความทุกขเวทนา ทุกขเวทนาก็ความเจ็บปวด ความเมื่อยขบ หรือเวลาเจ็บไข้ ก็มีความเจ็บปวด ความรู้สึกประเภทนี้เรียกว่า ทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ทนได้ยาก แต่สำหรับผู้มีธรรมะก็จำเป็นจะต้องอดต้องทน ความอดทนต่อทุกขเวทนา ความเจ็บปวดไว้ได้ ไม่แสดงอาการวิปริต หรือว่าไม่ทำให้ละเมิดความดีความงาม อันนี้ก็เรียกว่า เป็นความอดทน
อย่างคนเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่มีความอดทนซะเลย ตนเองก็ยิ่งมีความทุกข์ความเดือดร้อนมากขึ้น คนอื่นที่เฝ้ารักษาพยาบาล ก็พลอยลำบากลำบน เป็นคนที่พยาบาลรักษายาก แต่ถ้ามีความอดทนแล้ว ก็ทำให้การรักษาพยาบาลง่ายขึ้น เพราะคนที่ไม่อดทนนั้นก็อาจจะไม่ยอมปฏิบัติตามวิธีการที่แพทย์แนะนำ หรือตามที่คนรักษาพยาบาลบอกให้ทำ ก็เป็นคนรักษายาก ถึงเวลาจะรับประทานยาก็ไม่ยอมรับประทาน ถึงเวลาเจ็บปวดก็จะแสดงอาการออกมา เป็นความฉุนเฉียวต่างๆ คนที่อยู่ใกล้ชิดก็ลำบากลำบนไปด้วย ใจคอก็พลอยไม่สบาย ทั้งร่างกายและจิตใจไม่สบาย เพราะฉะนั้นความอดทนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการที่จะให้ผ่านทุกขเวทนาไปได้
นี้ประการที่สอง ก็คืออดทนเรื่องความตรากตรำ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการงาน การงานที่ยาก ที่ทำด้วยความลำบาก ที่มีความสลับซับซ้อน มีเรื่องวุ่นวายมาก ก็เป็นเครื่องยั่วยวนชวนใจที่จะทำให้ลุอำนาจธรรมะ ตัวลุอำนาจสำคัญก็คือ โทสะ ละก็ความโกรธ ถ้าทนไม่ไหวก็อาจจะแสดงอาการฉุนเฉียวออกมา หรืออาจจะหยุดเลิกงานนั้นไป งานนั้นก็ไม่สำเร็จ ฉะนั้นผู้ที่จะทำงานให้สำเร็จได้ก็จะต้องมีความอดทน ความอดทนต่อความตรากตรำ ความยากลำบากต่างๆในงานนี้ เป็นความเข้มแข็งที่จะทำให้ฝ่าฟันเอาชนะงานการที่ยากนั้นไปจนบรรลุความสำเร็จ
และต่อไป ความอดทนอย่างที่สาม ก็คือความอดทนต่อถ้อยคำของผู้อื่นที่ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ หรือกิริยาอาการที่กระทบกระแทกจิตใจ ตลอดจนกระทั่ง อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลาย อันนี้เราอยู่ในโลก ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องประสบสิ่งที่ปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง จะให้เป็นไปตามพอใจทั้งหมดนั้น เป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะในเมื่ออยู่ร่วมกัน ก็จะต้องมีปัญหานี้ คือ โดนกิริยา วาจา ของผู้อื่น โดยตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้างก็มีความกระทบกระทั่ง จำเป็นจะต้องมีความอดทน ถ้าอดทนไปได้ก็ทำให้ตนเองไม่ลุอำนาจธรรมะ ไม่มีความโกรธเป็นต้น และก็ไม่เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกัน ทำให้เหตุการณ์ที่อาจจะรุนแรงนั้นกลายเป็นเรื่องสงบเบาบาง หายไป เพราะฉะนั้นก็ต้องมีหลักเรื่องขันติ ความอดทนในลักษณะที่สามนี้เป็นเครื่องประกอบอีกแง่หนึ่ง
ละก็ประการสุดท้าย ความอดทน ได้แก่ความอดทนกับกิเลสในใจของตนเอง อันนี้เป็นตัวที่อยู่ภายในลึกซึ้งที่สุด เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นความอดทนอะไรก็ตาม เมื่อสืบมาถึงที่สุดแล้วก็อยู่ในใจของตัวเอง ก็กลายเป็นความอดทนต่อกิเลสในใจ อดทนต่อกิเลสคือ ความโลภ อดทนต่อกิเลสคือ ความโกรธ อดทนต่อกิเลสคือ ความหลง
เมื่อโลกเห็นว่าไม่ถูกต้องตามธรรมะ ก็อดทนไว้ได้ ไม่ทำตามอำนาจกิเลสนั้น ไม่ยอมให้กิเลสชักพาไป หรือว่า มีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ก็อดทน ระงับความโกรธไว้เสีย
เรื่องกิเลสนี้ก็มีมากมาย เป็นตัวรบกวน ยั่วยวน ล่อเร้าจิตใจอยู่เสมอ ให้ต้องใช้ความอดทน ถ้าอดทนได้สำเร็จก็แสดงว่ามีความเข้มแข็ง เราเป็นผู้ชนะ นี่ก็เป็นลักษณะต่างๆของหลักธรรมที่เรียกว่า ขันติ หรือความอดทน
ทีนี้ ขันติ หรือความอดทนนั้น ถ้าว่าเฉพาะตัวมันเองที่เรียกว่าเป็นความทนทานนั้น บางทีมันก็มีลักษณะที่เกิดปัญหาในใจของตัวเองเหมือนกัน เมื่อเราอดทน จะเป็นอดทนต่อทุกขเวทนาก็ตาม อดทนความลำบากตรากตรำก็ตาม หรืออดทนโดยเฉพาะอดทนต่อสิ่งที่มากระทบกระทั่งจิตใจ อันนี้ถ้าลำพังอดทนอย่างเดียว บางทีก็เกิดความกดดัน อัดอั้นในใจขึ้นมา แล้วกลายเป็นความทุกข์
เพราะฉะนั้น ความอดทนนี้ก็ทำให้มีปัญหาได้ คือความอัดอั้น ละก็จะเกิดความเดือดร้อนวุ่นวายใจตัวเองเป็นอันมาก
เพราะฉะนั้น ท่านก็เลยสอนหลักธรรมข้ออื่นๆมาช่วย เพื่อให้ขันตินี้ได้ผลดี ทั้งอดทนสำเร็จด้วย แล้วก็ไม่เกิดปัญหาในเรื่องความกดดัน อัดอั้น เดือดร้อนใจ
ธรรมะอะไรที่จะมาช่วยในเรื่องขันตินี้ ก็มีหลายอย่าง ธรรมะที่ท่านให้ใช้กับขันติเสมอๆ ในที่นี้ยกมา ๓ อย่าง เพราะเป็นตัวเด่นๆ
อันที่หนึ่ง ก็คือ หลักที่เรียกว่า โสรัจจะ โสรัจจะ นั้นแปลกันว่า ความเสงี่ยม หรือความเสงี่ยมงาม หมายถึง ความมีอัธยาศัยประณีต จิตใจรักความดีความงาม เมื่อเราประสบอารมณ์ที่ยั่วยวนจะทำให้ละเมิดธรรมะ ให้อดทนไว้ได้ เช่น ความโกรธ ความโกรธนั่นเป็นตัวเด่นที่สุดในเรื่องที่เป็นศัตรูกับเรื่องขันติ ถ้าเราแสดงอาการลุอำนาจความโกรธก็จะมีความฉุนเฉียว กิริยา วาจาก็ไม่งดงาม ถ้าไม่มีความอดกลั้นเสียเลย แสดงออกไปตามกิเลสโดยสิ้นเชิง ก็จะกลายเป็นคนที่ มีกิริยา วาจาที่ดูไม่ได้ อะไรทำนองนี้ ซึ่งอาจจะถึงกับน่าเกลียด
นี้ถ้าหากว่า มีโสรัจจะ ก็คือรักความประณีต รักความงดงาม ไอ้ตัวโสรัจจะ การที่รักความงามนี้ ใจจะมุ่งอยู่ ปักอยู่ที่ความงดงาม ความเรียบร้อย ก็ไม่อยากให้กิริยาอาการของตนเอง เป็นไปในลักษณะที่ไม่น่าดู ก็จะเป็นตัวฉุดดึงให้ขันติได้ผลด้วย และก็พอใจในการที่ตนเองนั้นรักษาความเรียบร้อยความดีงามไว้ได้ เมื่อตนเองรักษาความเรียบร้อยดีงามไว้ได้ ก็มีความสบายใจ ในเวลาที่จะต้องขันตินั้น ก็นึกถึงอยู่เสมอว่า เราจะรักษาความเรียบร้อย ความดีงาม กิริยาอาการที่ประณีตเอาไว้ ถ้าตั้งใจอย่างนี้แล้ว จะไม่เกิดความกดดัน ความอัดอั้นใจจากขันติมากนัก หรืออาจจะมีความสบายใจด้วยซ้ำว่า แม้มีเรื่องมายั่วยวนให้ลุอำนาจโทสะ แต่เราก็สามารถรักษากิริยาอาการของเราไว้ ให้เป็นปกติเรียบร้อยงดงามได้ ทำได้เช่นนั้นแล้ว จิตใจก็มีความแช่มชื่นเบิกบาน
อันนี้ก็เป็นคุณธรรมที่เข้ามาเสริมให้ขันติได้ผลดียิ่งขึ้น
ข้อที่สอง ธรรมะที่ช่วยขันติก็คือ วิริยะ วิริยะ ความเพียร ตัวนี้มักจะมาเสมอด้วยกันกับ ขันติ โดยเฉพาะในเรื่องธุรการงานแล้ว จะต้องอาศัยวิริยะความเพียรนี้เป็นเครื่องฝ่าฟัน วิริยะ แปลว่า ความแกล้วกล้า ความสู้งาน ใจที่สู้งานนี้ทำให้รวมเอาจิตใจนั้นมาอยู่กับงานของตนเอง เมื่อจิตใจมาอยู่กับงานแล้ว เรื่องที่ทำก็เรียกว่ามี วิริยะ เกิดขึ้นแล้ว แม้จะมีสิ่งที่จะต้องอดทน ก็จะไม่รู้สึกว่ามากดดัน เพราะว่าใจนั้นวิ่งแล่นไปข้างหน้า ไปตามวิถีทางที่วิริยะ ความเพียร จะผลักดัน จะชักจูงไป หรือว่า อย่างน้อยใจอยู่กับงาน เมื่อใจอยู่กับงาน ตั้งใจจะทำงานให้สำเร็จ ความรู้สึกที่จะต้องอดทนที่จะกลายเป็นความกดดันก็หายไป เพราะฉะนั้น วิริยะ ก็เป็นตัวช่วยอย่างที่สอง
ละตัวที่สามก็คือ ทมะ ทมะ แปลว่า การฝึกฝน ปรับปรุงตนเอง อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญญาด้วย เมื่อเรามี ใจของเรามุ่งอยู่ในเป้าหมายที่ว่า จะฝึกฝนตนเอง จะทำตนเองให้เจริญงอกงามในธรรมะยิ่งๆขึ้นไป เช่น เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ก็คิดว่า เราจะต้องปฏิบัติธรรมข้อนั้นข้อนั้น จะทำให้สำเร็จ ใจที่มุ่งจะฝึกฝนตนเองนี้ เมื่อมารับอารมณ์ที่ทำให้เกิดความยั่วยวน จะต้องอดทนแล้ว ก็จะรู้สึกว่า นี่ได้สิ่งที่มาฝึกฝนตนเอง ก็จะเกิดความปิติยินดีด้วยซ้ำ แทนที่จะเสียใจ หรือกดดัน อัดอั้นใจ ก็กลับดีใจว่า ได้เครื่องฝึกตน เอามาทดสอบตนเองถึงความเข้มแข็ง และใจที่พุ่งไปในเป้าหมายของตนเองนั้น บางทีก็ไม่เอาใจใส่ต่อสิ่งที่มากระทบกระทั่ง เพราะรู้สึกว่า เราจะทำสิ่งที่เราต้องการทำให้สำเร็จ เราจะฝึกตนให้ก้าวหน้าในธรรมะยิ่งขึ้นไป สิ่งนี้ไม่เกี่ยวกับงานของเรา ไม่เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของเรา เราไม่เอาใจใส่ ด้วยจิตใจที่มุ่งไปว่าได้ทดสอบตนเอง ให้ฝึกตนเองก้าวหน้าก็ดี หรือได้รู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราจะทำก็ดี ไม่ถือเป็นอารมณ์ อันนี้ก็ทำให้ความอดทนนั้นได้ผล หรือบางทีก็เลยไม่ต้องใช้ความอดทนด้วยซ้ำ เพราะว่าจิตใจนั้นมีความสบาย มีความพุ่งแล่นไปในธรรมะ อาจจะเกิดปิติดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นี่ก็เป็นหลักในข้อที่สาม เรียกว่า ทมะ มาช่วยในการที่จะอดทน
รวมก็มีธรรมะที่จะมาช่วยผู้ปฏิบัติได้ตั้ง ๓ อย่างแล้ว จะเลือกเอาข้อไหนก็ได้ จะเลือกเอาโสรัจจะก็ได้ จะเลือกเอาวิริยะก็ได้ จะเลือกเอาทมะก็ได้ หรือจะเอาทั้ง ๓ อย่างรวมกันไปก็ได้ ก็เป็นอันว่า ถ้ามี ๓ อย่างนี้แล้ว การประพฤติปฏิบัติ ขันติ ความอดทน ก็จะสำเร็จได้โดยง่าย นี้เมื่อได้ปฏิบัติบำเพ็ญขันติแล้ว ก็จะเกิดผลดี เรียกว่า อานิสงส์
อานิสงส์ขันติ ที่เราเห็นชัดๆ อันที่หนึ่ง ก็คือ ความเรียบร้อย ความดีงาม เรียบร้อยดีงามทั้งกายทั้งใจ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ที่มีขันติ อดทนไว้ได้ ก็ไม่แสดงอาการกิริยาที่วิปริตออกมา ก็ดำรงตนอยู่ในความเรียบร้อย ดีงาม เป็นความเรียบร้อยดีงามทั้งส่วนตัว และก็ส่วนรวม เพราะว่า ในแง่ของส่วนรวม ผู้ที่อยู่ร่วมกัน เมื่อมีขันติ มีความอดทนด้วยกันแล้ว ก็รักษาความสงบเรียบร้อย ความสามัคคีไว้ได้ เป็นผล เป็นอานิสงส์ประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง ก็สามารถดำรงธรรมะไว้ได้ เอาชนะกิเลสได้ เพราะว่าถ้าหากว่าไม่มีความอดทนซะอย่างเดียว ก็จะประพฤติธรรมะต่างๆไม่สำเร็จ ทำไปไม่ตลอดรอดฝั่ง หรือว่า กิเลสเกิดขึ้นแล้ว ก็เลยกลายเป็นลุอำนาจกิเลส กลายเป็นอยู่ในความครอบงำของกิเลส หรือเป็นทาสของกิเลสไป ถูกกิเลสชักพาไป ถ้ามีขันติแล้วก็เอาชนะกิเลสได้ อันนี้ก็เป็นผลดี เป็นประโยชน์อย่างที่สอง
และประการที่สาม ก็คือว่า ทำให้งานที่ตนกระทำนั้นสำเร็จ จะเป็นงานทั่วไป การประพฤติปฏิบัติในกิจการงานอาชีพ อาศัยความอดทนก็ทำได้สำเร็จ หรือเป็นการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญศีล บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญภาวนาก็ตาม เมื่อมีความอดทนแล้ว ก็ทำไปจนลุล่วง ได้บรรลุผลสำเร็จ ก็เป็นอันว่าขันตินี้ เป็นตัวนำมาซึ่งผลสำเร็จ เพราะฉะนั้น จึงมีพุทธภาษิตสรรเสริญคุณของขันติไว้เป็นอันมาก
อย่างพุทธภาษิตที่ว่า ขนฺติ ธีรสฺสลงฺกาโร (ขันติ ธีรัสสะ ลังกาโร) แปลว่า ความอดทนหรือขันตินี้ เป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ เพราะนักปราชญ์ก็มีปัญญาดีเลิศ แต่ปัญญานั้นบางทีปรากฏว่า ไม่ได้ช่วยนักปราชญ์ เพราะนักปราชญ์ขี้โกรธก็เยอะ นักปราชญ์ขี้โมโหโกรธง่าย พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นนักปราชญ์แล้ว โมโหง่ายไม่ดี หรือว่าบัณฑิตมักโกรธไม่ดี มีพุทธสุภาษิตอยู่ นี้ตรงข้าม ถ้าบัณฑิตนี้เป็นคนมีความอดทน ความอดทนนั้นก็เป็นอลังการ หรือเป็นเครื่องประดับของนักปราชญ์ ทำให้เป็นนักปราชญ์ที่มีความงามไปด้วย เพราะฉะนั้น ท่านก็สรรเสริญคุณของขันติไว้ในแง่นี้
และก็อีกประการหนึ่ง บอกว่า ขนฺติ หิตฺสุขาวหา (ขันติ หิตะ สุขา วหา) แปลว่า ขันติคือความอดทน นำมาซึ่งประโยชน์เกื้อกูลและความสุข ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า เมื่อปฏิบัติทำกิจหน้าที่ใดๆก็ตาม มีขันติ มีความอดทน ก็จะบรรลุผลสำเร็จได้ตามที่มุ่งหวัง และก็ ถ้าใครต้องการจะบำเพ็ญตบะ ตบะนั้นก็นี่แหละบำเพ็ญขันติ บำเพ็ญขันติ ก็คือบำเพ็ญตบะอยู่แล้วนั่นเอง เพราะเข้ากับลักษณะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในคาถา โอวาทปาติโมกข์ ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา (ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา) ก็หมายความว่า ตบะนั้นน่ะ ก็มีอย่างสูงสุดก็คือขันตินี่แหละ ไม่เหมือนขันติ??? แต่บางคน บำเพ็ญตบะขั้นไหนก็ตาม ก็ต้องอาศัยขันติ ความอดทน จึงจะสำเร็จ เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีขันติ ผู้นั้นก็เป็นผู้บำเพ็ญตบะอยู่ในตัว ไม่จำเป็นจะต้องออกไปบำเพ็ญพรตในป่า ก็สามารถบำเพ็ญตบะได้ คือการบำเพ็ญ ขันติธรรม นี้เอง
ละท่านก็บอกว่า ขนฺติ ตโป ตปัสฺสิโน (ขันติ ตะโป ตะปัสสิโน) ขันตินั้นเป็นตบะของผู้บำเพ็ญพรต
ก็เป็นอันว่า หลักธรรมเรื่อง ขันติ นี้มีความหมาย และมีอานิสงส์ คุณประโยชน์ดังที่อาตมาภาพแสดงมา วันนี้ก็คิดว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องขันตินี้ ก็คงเป็นประโยชน์แก่โยม เพราะว่าโยมก็ใช้หลักธรรมข้อนี้อยู่ อยู่เสมอๆ และก็การที่นำมากล่าว ก็จะช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติขันตินั้นได้เจริญเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไป ก็ขอให้โยมได้รับอานิสงส์ผลดีงามแห่งการบำเพ็ญขันติธรรมนี้ ตลอดจนกระทั่งได้บรรลุผลสำเร็จในการปฏิบัติธรรม สมความมุ่งหมายตลอดไป เทอญ