แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
แต่ทีนี้ ในเชิงปฏิบัตินี่ เพื่อจะให้ผู้ปฏิบัติเนี่ย ได้เห็นอะไรต่ออะไรจะแจ้งชัดเจนขึ้น มีขั้นมีตอน มีแนวมีทางอะไรในการปฏิบัติ ท่านก็เลยขยายเรื่องนามรูปไป ในเรื่องนามรูปนี่ มันก็เป็นเรื่องที่เราจะมาพิจารณาใช้ปัญญา มองเห็นในลักษณะอาการต่างๆ เห็นความจริง มันเป็นตัวที่จะชักโยงสื่อให้เข้าใจถึงความจริงเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลักษณะเป็นอาการอะไรต่างๆ นี้ ก็เลยเอารูปธรรมนามธรรมนี้มาจัดเข้าในลักษณะอาการต่างๆ ที่มันจะเป็นพื้นฐานที่เหมาะแก่การที่จะใช้ปัญญาพิจารณา
มันก็เลยกลายเป็นเรื่องจัดหมวดหมู่ธรรมะขึ้นมา มันก็จะทำให้ง่ายชัดเจนขึ้น แต่มันกลายเป็นว่าบางทีเราจำยากในเบื้องต้น คือจะให้ง่ายมันกลายเป็นยาก เพราะว่าเราต้องมารู้จักชื่อสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าชื่อเหล่านี้มันเป็นภาษาเหมือนกับภาษาวิชาการ เป็นภาษาธรรมะไปแล้ว เราไม่คุ้นกับชื่อเหล่านี้ ก็เลยกลายเป็นว่า เรามีภาระเพิ่มขึ้นที่จะต้องเรียน แต่ที่จริงนั้น ท่านต้องการให้เราง่ายขึ้น เราจะได้เห็นอะไรชัดขึ้น เป็นรูปธรรมนามธรรมนี่ บอกงี้ เราก็รู้เห็นแล้วแหละว่า อ๋อ ไม่มีอะไร พิจารณารูปธรรมนามธรรม แต่เสร็จแล้ว อ๋อ แค่นั้นต่อจากนั้น ก็มืดเลย ไม่รู้จะเอายังไง
เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่ว่าหยุดแค่รู้รูปธรรมนามธรรม ก็ต้องเห็นว่า รูปธรรมนามธรรมที่จะมาเรียนกันนั้น เอ้อ มันมีอาการมีลักษณะปรากฏอย่างไง จะเรียนกันแบบไหน นี่แหละคือ เรื่องที่ว่าจะทำให้ซับซ้อนขึ้น ศัพท์แสงก็มาละ นี้ท่านก็เลยบอกว่ารูปธรรมนามธรรม หรือรูปนามที่ว่าเนี้ย ที่จะมาเป็นอารมณ์ของวิปัสสนานี่เป็นพื้นฐาน เป็นพื้นเพ เรียกว่าเป็นภูมิของวิปัสสนา ที่เรียกภาษาศัพท์ธรรมะ เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ
วิปัสสนาภูมิก็คือ เรื่องรูปธรรมนามธรรมนั้นแหละ มาจัดมาอะไรต่ออะไร เข้าเป็นหมวดเป็นหมู่เป็นชั้นเป็นเชิงเป็นลักษณะเป็นอาการที่จะให้เราเข้าใจถึงความจริงได้ง่าย มาส่อแสดงความจริงในรูปแบบลักษณะต่างๆ อาการต่างๆ เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ
ก็เป็นหมวดธรรมต่างๆ เป็น 6 หมวด ก็เป็นว่า วิปัสสนาภูมินี่มี 6 ประเภทด้วยกัน ตอนนี้ก็กลายเป็นว่า ถ้าตอบอีกแบบหนึ่งก็บอกว่า อารมณ์ของวิปัสสนา หรือกรรมฐานวิปัสสนานั้นคืออะไร แทนที่จะตอบว่ารูปนามที่เป็นปัจจุบัน ตอบใหม่ ตอบแบบว่า จัดเป็นหมวดเป็นหมู่แล้ว ตอนนี้ตอบว่า ได้แก่ วิปัสสนาภูมิ 6 หมวด อ้าวนี่เป็นวิธีตอบอีกแบบ ที่จริงๆ อันเดียวกัน ทีนี้เป็นวิปัสสนาภูมิ 6 หมวดมีอะไรบ้าง ทีนี้ก็ต้องมาจำแนกกันละ
อาตมาจะให้หัวข้อก่อนล่ะ วิปัสสนาภูมิหมวดที่ 1 เรียกว่า ขันธ์ 5 นี่เป็นภูมิของวิปัสสนา เราจะใช้ภูมิแบบภาษาไทยก็ยังได้ มันก็เป็นภูมิรู้ของวิปัสสนา คนที่จะทำวิปัสสนานี้มีภูมิเรื่องวิปัสสนาก่อนนะ ภูมิของวิปัสสนาที่ 1 ก็คือ ขันธ์ 5 ต่อไป ที่ 2 ก็คือ อายตนะ อายตนะ 12 อายนะที่เป็นช่องทางรับรู้ของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พร้อมทั้งสิ่งที่มันรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสกาย และก็สิ่งที่คิดในใจ แล้วต่อไปอะไร หมวดที่ 3 วิปัสสนาภูมิ ก็ได้แก่ ธาตุ 18
ยังไม่ได้บอกว่า ธาตุ 18 คืออะไร เดี่ยวค่อยย้อนมาพูดอีกที ต่อไป หมวดที่ 4 ได้แก่อินทรีย์ 22 ก็ยังไม่บอกล่ะ ผ่านไปก่อน ต่อไปหมวดที่ 5 วิปัสสนาภูมิได้แก่ อริยสัจ 4 แล้วก็หมวดที่ 6 สุดท้าย วิปัสสนาภูมิ ได้แก่ ปฏิจจสมุปบาท เอาล่ะนี่ นี่คือ อารมณ์ของวิปัสสนา ที่เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ
จะเห็นว่า ต่างกันลิบลับกับเรื่องกรรมฐานของสมถะที่ผ่านมาแล้ว สมถะนั้นไปแบบหนึ่งเลย นี่มาวิปัสสนาไปอีกแบบหนึ่งเลย ชื่อไม่มีซ้ำกันเลย ทีนี้ก็จะขอขยายความเรื่องวิปัสสนาภูมินิดหน่อย ก็เริ่มตั้งแต่ขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ที่จริงก็ควรจะมีพื้นฐานมาบ้างแล้ว ขันธ์ 5 ขันธ์นั้น แปลว่า กอง หรือแปลว่า หมวดหมู่ หรือว่าพูดไทย ก็อาจจะว่า ประเภท นั่นเอง คือในทางธรรมะนั้น ถือว่า ชีวิตของคนเราเนี่ยเกิดขึ้นจากการประชุมกัน หรือมารวมกันเข้าขององค์ประกอบต่างๆ
ทีนี้ องค์ประกอบที่มารวมกันเข้าเป็นชีวิตนี้มีมากมาย ท่านก็บอกว่าถ้าแยกอย่างง่ายๆ มันก็เป็นรูปธรรมนามธรรม แต่นี้ว่าเราจะแยกให้มันเห็นความจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นมันเป็นประโยชน์ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น ก็ให้แยกกระจายให้ชัดออกไป ท่านก็จัดองค์ประกอบเหล่านั้นเป็นหมวดเป็นหมู่ได้ 5 กลุ่มด้วยกัน หรือ 5 กอง 5 ประเภท
หมายความว่าชีวิตของเราแยกแยะกระจายออกไปเป็นองค์ประกอบต่างๆ มากมาย จัดเข้าเป็นหมวดหมู่เป็นประเภทได้ 5 หมู่ 5 ประเภทด้วยกัน คือ
1. เรียกว่า รูป หรือ รูปขันธ์ เอาคำว่า ขันธ์ ไปต่อเข้าทุกอัน ก็ รูป ก็เป็น รูปขันธ์ ก็คือ กองรูป หรือ ประเภทที่เป็นรูป ก็รูปธรรมทั้งหลาย ถ้าแยกแบบภาษาเก่า เอาง่ายๆ ก็คือ ธาตุ 4 นอกจากธาตุ 4 แล้ว ก็ยังกระจายไปอีก บอกว่าธาตุ 4 นี้เป็นธาตุหลัก เป็นรูปหลัก นอกจากรูปหลักแล้ว ก็มีรูปย่อยๆ ออกไปที่อาศัยรูปหลักเนี่ยปรากฏตัวขึ้นไป รูปที่อาศัยอิงอยู่กับรูปหลักเหล่านี้มีอีก 24 ประเภท เรียกว่า อุปาทายรูป 24 รูปหลักนั้นเขาเรียกว่า มหาภูตรูป ก็เป็นรูป 28 ซึ่งในที่นี้ เราไม่จำเป็นต้องเรียน เอาเป็นว่าในส่วนร่างกาย รูปธรรมในชีวิตของเราทั้งหมดนี้ เรียกว่า รูปขันธ์ ก็แล้วกัน มันจะแยกไปเท่า ไรก็ชั่ง ทีนี้ ต่อไป
ขันธ์ที่ 2. หรือหมวดที่ 2 ก็คือ เวทนา เวทนาขันธ์ ก็คือ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ คือ ความรู้สึก เวลาเราได้รับรู้อะไรต่างๆ เราจะมีความรู้สึกว่า สบาย ไม่สบาย หรือสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์ นี้ก็จัดเป็นประเภทหนึ่ง เรียกว่า เวทนา ต่อไป
ต่อไปก็คือประเภทข้อมูลของความรู้ ก็คือ สิ่งที่เราจำหมายไว้ หรือการรวมทั้งการกำหนดหมาย การจำหมายสิ่งต่างๆ เช่นว่า เมื่อเราเห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ เราจะมีการกำหนดหมาย จำไว้ว่า อันนี้ เขียว ขาว นี้ดำ นี้แดง นี้เสียงทุ้ม เสียงแหลม เสียงคน เสียงสัตว์ นี้คนผู้ชาย คนผู้หญิง นั้นคนสูง คนเตี้ย นายดำ นายเขียว นายขาว อะไรต่างๆ นี้ อันนี้ก็คือ เป็นสิ่งที่จำหมายไว้ กำหนดหมายไว้เป็นข้อมูลของความรู้ ต่อไป อันนี้เรียกว่า สัญญาขันธ์ ที่เป็น จำหมาย บางทีก็เรียกกันว่า จำได้หมายรู้
ต่อไปก็คือ ความคิด กระบวนการความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย ความคิดปรุงแต่ง พร้อมทั้งคุณสมบัติของจิตใจที่มาปรุงแต่งความคิด เอ้า เช่นว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความอิจฉา ริษยา ความมีศรัทธา ความมีเมตตากรุณา อะไรต่างๆ คือ ทั้งดีทั้งชั่ว คุณสมบัติที่มีอยู่ในจิตใจ ซึ่งปรุงแต่งจิตให้ดีให้ชั่วมารวมตัวกันเข้าเป็นกระบวนการความคิดมีเจตนาเป็นตัวนำ เจตนานี้เป็นตัวนำในกระบวนการความคิด จะคิดอย่างไรก็แล้ว แต่เจตนาจะพุ่งจะนำไป เป็นประธานของคุณสมบัติเหล่านั้น หมายความว่า มีเจตนาอย่างไรก็นำเอาคุณสมบัติต่างๆ ที่มีอยู่นั้นมาปรุงมาแต่งบนความคิดขึ้น หมวดนี้เรียกว่า สังขารขันธ์ คือ ประชุมแห่งการปรุงแต่ง หรือ กระบวนความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติที่ปรุงแต่งความคิดนั้น หรือปรุงแต่งจิตใจนั้น ความดี ความชั่วอยู่ในหมวดนี้หมด การทำกรรมอะไรต่างๆ อยู่ในหมวดนี้หมด สังขารขันธ์ ต่อไป
หมวดสุดท้ายก็คือ ตัวความรับรู้ ตัวความรับรู้โดยตรง เวลาเราจะรู้นี่รู้ยังไง มันก็ต้องรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วก็ทางใจของเรา ไอ้การรู้ที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู นั่นแหละเรียกว่า วิญญาณ ถ้าเกิดทางตา ก็เรียกว่าวิญญาณทางตา คือ การเห็น ถ้าเกิดทางหู ก็เรียกว่า การรู้ทางหู ได้แก่ การได้ยิน ถ้าเกิดการรับรู้ทางจมูก ก็เป็นรู้กลิ่น ได้กลิ่น จนกระทั่งถึง คิดในใจ การรู้อารมณ์ รู้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรียกว่า การคิด หรือการรับรู้ในใจ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ คือการรู้ที่เข้ามาทางช่องทางต่างๆ เอาล่ะ ก็เป็น วิญญาณขันธ์ เป็นหมวดที่ 5
ตกลงว่าชีวิตของเรานี่ จัดองค์ประกอบต่างๆ เป็นหมวดหมู่เข้ากันได้ 5 ประการ ได้ 5 หมวดด้วยกัน เป็นขันธ์ 5
รูปขันธ์ หมวดรูปธรรม ร่างกาย แล้วก็
เวทนาขันธ์ หมวดความรู้สึกสุข ทุกข์ สบาย ไม่สบาย เฉยๆ
สัญญาขันธ์ หมวดความจำได้หมายรู้ข้ อมูลของความคิด แล้วก็
สังขารขันธ์ หมวดของความคิดกระบวนการความคิดพร้อมทั้งเครื่องปรุงแต่ง คือคุณสมบัติต่างๆ ที่ดี ชั่ว
แล้วก็ วิญญาณขันธ์ หมวดของความรู้ที่เข้ามาทางช่องทางต่างๆ ที่เป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส เป็นต้น จนกระทั่งรู้ทางใจ นี่แหละชีวิตของคนเราก็ประกอบด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ การเรียนรู้เรื่องขันธ์ 5 นี้เป็นสำคัญมาก เพราะว่า เราจะเข้าใจชีวิตของเรา แม้แต่เพียงแค่เรียนขันธ์ 5 นี้ก็ มันทำให้มีความจะแจ้งในชีวิตขึ้นมาก
อาตมาจะเน้นสักนิดหนึ่ง ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างขันธ์ 5 เหล่านี้ ในหมวดรูปขันธ์ ร่างกายของเรามีความจำเป็น ถ้าชีวิตเราไม่มีรูปขันธ์ เราก็อยู่ไม่ได้ แล้วนามขันธ์ ขออภัย คืออีก 4 ขันธ์ที่เหลือ 4 ขันธ์ที่เหลือนี่เราเรียกรวมเป็นพวกเดียวว่าเป็นนามขันธ์ เพราะว่าเป็นนามธรรมทั้งหมด เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
นามขันธ์ทั้ง 4 ที่เหลือนั้นต้องอาศัยรูปขันธ์ ต้องอาศัยร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกาย มันก็ทำงานไม่ได้ เพราะ ว่า ก็วิญญาณขันธ์นี่เป็นการรู้ทางช่องทางที่รับรู้ รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ถ้าเราไม่มีร่างกาย ไม่มีตา ไม่มีหู เราก็วิญญาณก็ไม่มีที่อาศัย แล้วการรับรู้ การเห็น การได้ยินก็เกิดไม่ได้ นี้พอมีการรู้ การเห็น การได้ยินแล้ว ความรู้ก็เกิดขึ้นได้ มีการรับรู้เข้ามา พอวิญญาณรับรู้ เช่น เห็น ได้ยินนี่ เอ้า
เอาตัวอย่างไว้ เห็น เห็นรูปสักอย่างหนึ่ง เห็นสีเขียว สีแดง เห็นรูปคน รูปสัตว์ พอเห็นเข้ามาแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น พร้อมกับการเห็นนั้นก็จะได้มีความรู้สึก คือเราจะเห็นอะไรก็ตามนั้น มันจะมีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย ที่เราเรียกว่า สุข ทุกข์ หรือไม่งั้นก็เฉยๆ ที่เรียกกันนี้แหละเรียก คือเวทนาเกิดขึ้นละ ทุกครั้งที่มีการรับรู้จะมีความรู้สึก ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แล้วพร้อมกันนั้นมีอะไรอีก
เราก็จะกำหนดหมาย ซึ่งสัมพันธ์กับการจำ แล้วมันก็ทำให้เกิดความจำด้วย เรากำหนดหมายไว้อย่างไร เราก็จำไว้อย่างนั้น นี้สัญญาขันธ์เป็นส่วนสำคัญของความจำ การกำหนดหมายนี่เรียกว่า สัญญา พร้อมกับการที่เราเห็นนั้น เราก็จะมีสัญญากำหนดหมายด้วยว่า เป็นคน เป็นสัตว์ แม้กระทั่งว่ากำหนดว่าเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ เป็นคนที่เรารู้จัก หรือไม่รู้จัก เป็นสีเขียว สีแดง สูง ต่ำ อ้วน ผอม อะไร เป็นต้น กำหนดหมายเสร็จ สัญญาก็มีแล้ว แล้วก็เราก็จะมีอะไรอีกต่อไป
เราก็จะมีความคิด เริ่มตั้งแต่ปฏิกริยาของจิตใจ ถ้าหากว่าสิ่งที่เราเห็นนั้น เรารู้สึกสบายเป็นความสุข เราก็ชอบใจ ความชอบใจนี้เป็นปฏิกิริยาของจิตใจเกิดขึ้นแล้ว หรือว่า ถ้าหากว่า สิ่งที่เราเห็นนั้น ทำให้เราไม่สบาย เราจะเกิดปฏิกริยาคืออะไร คือไม่ชอบใจ อันนี้จะเป็นอาการของจิตใจที่เราเรียกว่า สังขาร จากจุดของความชอบใจไม่ชอบใจก็คิดไป ชอบใจก็คิดไปอย่าง ไม่ชอบใจก็คิดไปอย่าง คุณสมบัติในจิตใจที่มีความชอบไม่ชอบ อยากได้ ไม่อยากได้ เกลียดชังอะไรต่างๆ มันก็ผสมอยู่ในนี้ พร้อมทั้งความรู้สึกอะไรต่างๆ อื่นๆ ซึ่งเรียกว่า สังขาร เพราะฉะนั้น แม้แต่ ในขณะเดียวกันเนี่ย ที่เรามีการรับรู้การเห็นการได้ยิน เป็นต้น เวลาเดียวกันเนี่ย ขันธ์ ๕ เกิดพร้อมกันหมด ตาของเรา ก็ใช้งาน เป็นรูปขันธ์ การเห็น วิญญาณขันธ์ก็เกิดขึ้น ความรู้สึกสบาย สุข ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งก็เกิดขึ้น การกำหนดหมายว่าเป็นอะไร อย่างไร ก็เกิดขึ้นเป็นสัญญา แล้วก็ความรู้สึกเป็นปฏิกริยาความคิด ความนึก ความปรุงแต่งต่างๆ ก็เกิดขึ้นเรียกว่า สังขาร นี้
ก็เป็นอันว่า สำหรับรูปธรรมนั้นเป็นที่อาศัยทำให้วิญญาณได้อาศัยเกิดก็เห็นชัดแล้ว ทำงานควบคู่กันไป เวทนา ก็มีความสำคัญ เวทนามีความรู้สึก เรามีความรู้สึกอย่างไร มีความรู้สึกสบาย ไม่สบาย มันก็จะเป็นตัวกำหนดให้เรามีสังขารอย่างนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกสบาย เป็นสุขเวทนา มันก็มีปฏิกริยาในสังขาร คือความคิดเริ่มตั้งแต่ชอบใจ ถ้าไม่สบายไม่ชอบใจ สังขารก็เกิดขึ้นอาศัยเวทนานั้นเป็นจุดเริ่มต้น เป็นตัวอิทธิพลสำคัญ
แล้วก็ถ้าเวทนานั้นทำให้เรามีความรู้สึกสบาย เราก็จะกำหนดหมายสิ่งที่เราเห็นนั้นไปอย่างหนึ่ง มันมีอิทธิพลต่อการกำหนดหมายการจำของเรา แล้วก็ความคิดของเราจะคิดต่อสิ่งนั้น เราต้องอาศัยสัญญา ต้องอาศัยข้อมูล ถ้าเราไม่มีการกำหนดหมายไว้ ไม่มีสัญญาว่า นี่เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นคนต่ำ คนผอม เป็นผู้หญิง เป็นชาย คนชื่อนั้น ชื่อนี้ ถ้าเราไม่มีสัญญานี้นะ ความคิดก็เดินไม่ได้ ความคิดต้องมีข้อมูล เพราะฉะนั้น สังขารก็ต้องอาศัยสัญญา ตกลงว่า ขันธ์ 5 นี้ทำงานอิงอาศัยซึ่งกันและกัน และทำงานด้วยกันตลอดเวลา
แล้วเวทนานี่ ถ้ามองดูจะเห็นว่าเหมือนกับว่า อ๋อ มันก็มีนิดเดียว รู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ รู้สึกสบายไม่สบาย เฉยๆ ทำไมถึงจัดเป็นถึงขันธ์หนึ่งเลย สัญญาก็เห็นชัดละว่า โอ้โห มากมายเหลือเกิน กำหนดหมายนี่ไม่รู้เท่าไรเลย สิ่งที่เป็นข้อมูลนั้นมันมากมาย นับไม่ไหว ทีนี้สังขารก็เห็นชัดแล้ว ว่าคิดปรุงแต่งไปต่างๆ มากมาย แต่ทีนี้ว่า เวทนาก็มีนิดเดียว ความรู้สึกสุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ ทำไมจัดเป็นประเภทหนึ่ง ขอให้เห็นความสำคัญของเวทนา
เวทนานี้เป็นตัวอิทธิพลที่บันดาลชะตากรรมของมนุษย์ทั้งชีวิตส่วนตนและส่วนรวม ทั้งสังคมตลอดกระทั่งโลกเป็นอย่างมาก มนุษย์เรานี่ที่ทำกิจกรรมต่างๆ คิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ นี่ ดำเนินชีวิตประกอบกิจกรรมอะไรทำอะไร แม้กระทั่งไปทำการต่อสู้ขัดแย้งกันกระทั่งเกิดสงครามเนี่ย มันมาจากอะไร จากอิทธิพลของการแสวงหาเวทนาใช่มั้ย คือการต้องการความสุข ต้องการหลีกเลี่ยงทุกข์เท่านั้นเอง
มนุษย์เนี่ยทำทุกอย่าง มนุษย์คิดทุกอย่าง พูดทุกอย่าง ทำทุกอย่าง เพื่อจะให้ได้สุขเวทนา เพื่อให้ได้ความสุข และเพื่อหลีกพ้นความทุกข์ เพราะฉะนั้น เวทนานี้เท่ากับเป็นเป้าหมายแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ปุถุชนเลย สังคมอะไรต่ออะไรเป็นไปต่างๆ นี่เวทนาเป็นตัวบันดาล มันเป็นจุดหมายด้วย แล้วมันเป็นตัวจุด เริ่มต้นด้วย เป็นตัวอิทธิพลที่บันดาล พอเราได้เวทนาอย่างไร เช่นว่า เราเห็นคนนี้ เรารู้สึกสบาย เรามีความสุข เราจะชอบคนนี้ และเราก็จะคิดกับคนนี้ไปอย่างหนึ่ง และเราอาจจะเพียรพยายามมากมายที่จะมีความสัมพันธ์กับบุคคลผู้นี้ จนกระทั่งชีวิตของเรานี่อาจจะเปลี่ยนไปเลย
ในทำนองเดียวกันถ้าเราไปเห็นบุคคลอีกคนหนึ่ง เรารู้สึกไม่สบาย เราก็จะเกิดปฏิกริยาอีกอย่างหนึ่ง เช่น ความโกรธ ความไม่ชอบ ความชัง แล้วกระแสความคิดของเรา การพูดการกระทำของเราก็จะไปอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเรื่องแรงมากๆ เวทนาแรง มันก็อาจมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา จนกระทั่งถึงกับว่าบางคนถึงกับเข้าคุกเข้าตารางไปก็ได้ แล้วทำให้โลกนี้ แย่งแข่งขันกัน จนกระทั่งทำสงครามกันก็เพราะเรื่องเวทนา
เพราะฉะนั้น เวทนานี้เป็นเรื่องใหญ่ มันเป็นจุดหัวต่อ การที่เรารับรู้จากโลกภายนอกเข้ามาแล้ว พอมีเวทนาเนี่ย มันจะเป็นตัวสำคัญที่จะเป็นจุดต่อให้วิถีแห่งความคิดจิตใจและกิจกรรมของเราไปทางไหน เพราะฉะนั้นท่านจึงเน้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ว่า เวทนาถ้าไม่มีสัญญามันก็คิดไม่ได้ และถ้าไม่มีกระบวนการความคิด มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มันก็ตันอยู่แค่นั้น เพราะฉะนั้นมันต้องอาศัยกันหมด นี้ขอให้เห็นความสำคัญเรื่องขันธ์ 5 และกระบวนการทำงานของมันที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เป็นระบบเป็นกระบวนการ เอาล่ะ อาตมาว่าขันธ์ 5 ก็พูดมามาก ต่อไป
หมวดที่ 2 ก็อายตนะ อายตนะ 12 ก็แบ่งเป็นภายใน 6 ภายนอก 6 ภายใน 6 คืออะไร อายตนะภายใน 6 ก็คือ เดี๋ยว อายตนะแปลว่าอะไรเสียก่อน อายตนะแปลง่ายๆ ก็คือ แดนเชื่อมต่อ แดนต่อความรู้นั่นเอง แดนต่อความรู้คือทำให้ความรู้เกิดขึ้น ตาของเราก็เป็นแดนต่อความรู้ ต่อกับแดนไหน ต่อกับรูป ต่อกับรูปก็ทำให้เกิดการเห็นรูปขึ้นมา แล้วก็หูของเราก็เป็นแดนหนึ่ง โสตประสาท ประสาทหูของเราก็เป็นแดนต่อความรู้เชื่อมกับเสียงก็ทำให้เกิดการได้ยิน ก็เป็นทางของการรับรู้ เพราะนั้นอายตนะแดนต่อความรู้ พูดภาษาสมัยใหม่ก็คือ ทางรับรู้นั่นเอง แต่ที่จริงมันเป็นแดนเลย ไม่ไช่เป็นแค่เป็นทาง เพราะว่าความรู้ของเรานี้แยกเป็นคนละแดนเลย ความรู้ที่มาทางตาก็เป็นแดนหนึ่ง ทางหูก็แดนหนึ่ง คนละแดนเลย มันเป็นความรู้ที่เรียกว่า ไม่เหมือนกันเลย เป็นคนละประเภททีเดียว รูปกับเสียงนี้ ไม่มีอะไรที่จะเทียบกัน
ทีนี้ แดนต่อความรู้ หรือช่องทางรับรู้ของเรา ก็ภายในก็มีอะไร มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตาก็รับรู้อะไร ก็ต่อกับแดนภายนอก อายตนะภายนอกคู่กันก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส แล้วก็สัมผัสทางกายเรียกว่า โผฏฐัพพะ ภาษาพระเรียกว่า โผฏฐัพพะ แล้วก็สิ่งที่ใจรับรู้ ทางพระเรียกว่า ธรรมารมณ์ ก็เป็น ๖ หกสองหกก็เป็น ๑๒ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับโผฏฐัพพะ หรือสัมผัสกาย แล้วใจหรือจิต คู่กับธรรมารมณ์ อารมณ์ในใจ
เรียกเป็นภาษาพระ ก็เรียกว่า อายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน แล้วก็ฝ่ายภายนอกก็ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ภาษาพระ เรียกว่า รูปะ สัททะ คันธะ รสะ โผฏฐัพพะ ธรรมะ อันนี้ไม่จำเป็นต้องจำศัพท์ อาตมาพูดให้ผ่านหูไว้เท่านั้นเอง
เอาละ นี่ โลกของเราเนี่ย อยู่ที่นี้เท่านั้นเอง อยู่ที่อายตนะ มนุษย์เรารู้จักโลก รู้จักสภาพแวดล้อมทางอายตนะ ถ้าไม่มีอายตนะก็หมดกัน โลกนี้ไม่มีความหมาย อันนี้ ถ้าใครขาดอายตนะไปสักอัน เช่น ไม่มีตาอย่างนี้ แดนความรู้นั้นก็หมดไปแดนหนึ่งเลย เพราะฉะนั้น อายตนะ 6 นี้ สำคัญมาก แล้วอาตมาอยากจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปที่ขันธ์ 5
ขันธ์ 5 นี่ทำงานได้ก็เพราะอายตนะ จริงอยู่อายตนะนั้นอาศัยขันธ์ 5 เมื่อกี้เราบอกว่า ขันธ์ 5 เริ่มด้วยรูปขันธ์ คือร่างกาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้อาศัยชีวิตในขันธ์ 5 นั้นเอง เริ่มตั้งแต่อาศัยร่างกาย ตา หู จมูก เราก็อยู่กับร่างกายนี้ อาศัยร่างกาย เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่า อายตนะได้เกิดขึ้นมาที่ขันธ์ 5 อาศัยขันธ์ 5 รวมอยู่ในขันธ์ 5 นั่นแหละ แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งแล้ว ขันธ์ 5 นี่ อาศัยอายตนะทำงานเป็นจุดเริ่มต้น เพราะว่า วิญญาณที่มีการเห็นนั้นอาศัยอะไร อาศัยอายตนะ คือ ตา การได้ยินที่เป็น โสตะวิญญาณ วิญญาณทางหูก็อาศัยหู เมื่อมีการรับรู้เข้ามา คือเริ่มต้นจากอายตนะนี่แหละ ความรู้สึกสุข ทุกข์ จึงเกิดขึ้น การกำหนดหมายด้วยข้อมูลของความรู้เป็นสัญญาจึงเกิดขึ้น การคิดปรุงแต่งต่างๆ นาๆ จึงเกิดขึ้น จุดเริ่มต้นอยู่ที่อายตนะนี่เอง นั่นมองในแง่หนึ่ง อายตนะนี่แหละเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตของมนุษย์
กิจกรรมของมนุษย์เริ่มมาจากอายตนะ การรับรู้ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่เรื่องอายตนะมาก การรับรู้นี้เป็นจุดเริ่มต้นการทำงานของขันธ์ 5 เราจะรู้สึกสุข ทุกข์ เราจะมีข้อมูลของความ คิด เราจะคิดปรุงแต่งอย่างไรนี่ มันเริ่มจากการเห็นการได้ยิน เป็นต้น ซึ่งอาศัยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่ง แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงแจกแจงชีวิต ชนิดที่เรียกว่า ให้มันสัมพันธ์กับเรื่องทางปฏิบัติของการที่จะดำรงชีวิตที่ดีได้อย่างไร และการเข้าใจชีวิตตามเป็นจริง
ต่อไปหมวดที่ 3 อาตมาไม่อยากให้ความสำคัญมากแล้วต่อจากนี้ คือสองอย่างนี้ แค่นี้ ถ้าหากเข้าใจดี ก็เรียกว่า เราก็มีข้อมูลในการพิจารณามากมาย ทีนี้ต่อไปธาตุ 18 นี่ก็หัวข้อก็มากด้วย 18 อย่าง ขอทำความเข้าใจนิดเดียวเพียงว่าคำว่า ธาตุ ในที่นี้ ไม่ใช่ที่ใช้ในความหมายสมัยใหม่ ท่านใช้ในความหมายของท่านเอง ซึ่งมีมาก่อน แล้วเรามาใช้ในความหมายใหม่ของเรา มันทำให้สับสน
ธาตุสมัยปัจจุบันนี้ เอามาใช้ในความหมายว่าสิ่งที่เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลาย เดิมว่าอย่างงั้น อ้าว พอใช้ว่าความหมาย ต้นเดิม ต่อมาปรากฏว่าไม่จริง คำว่าธาตุในสมัยปัจจุบัน ของวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเปลี่ยนคำจำกัดความใหม่ ความจริงนั้น ธาตุเดิมนั้น เวลาเรามาใช้ในภาษาปัจจุบัน เราใช้ในความหมายว่า สิ่งที่เป็นต้นเดิมของสิ่งทั้งหลาย ต่อมานี้ มันไม่ไช่เป็นต้นเดิมซะแล้ว เราค้นหาว่ามีอะไร ต้นเดิมกว่านั้น เราก็ต้องเอาคำจำกัดความ ธาตุ ซะใหม่ ว่า ธาตุ คือสิ่งที่ประกอบด้วยอะไร ปรมาณู หรืออะตอมอย่างเดียวกัน อย่างงี้เป็นต้น อันนี้ก็อย่าไปเอาความหมายของธาตุปัจจุบัน ไม่เอา
ธาตุในความหมายของท่าน ก็คือ สิ่งที่ทรงสภาวะลักษณะของมันอยู่ตามธรรมดา ตามกฎธรรมชาติ เรามีรูปลักษณะกิจอาการเป็นแบบหนึ่ง แบบหนึ่ง เฉพาะตัว แยกได้เป็นประเภทๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย นี่ให้ความหมายอย่างงี้ยาวเหลือเกิน เอาง่ายๆ ก็เป็นว่า ธาตุ ก็คือ สิ่งที่ทรงสภาวะลักษณะของมันอยู่เองตามธรรมดาธรรมชาติเป็นไปตามเหตุปัจจัย เท่านี้เอง และก็
จุดมุ่งหมายที่ท่านพูดเรื่องธาตุนี้ เพื่ออะไร เพื่อไม่ให้หลงผิดไปว่ามีผู้สร้างผู้บันดาล คือให้เห็นว่ามันเป็นธรรมดา ธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ธาตุคือสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา ธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัย แล้วพอเราเข้าใจอย่างงี้แล้ว เราก็ไม่หลง ว่า อ๋อ มีผู้สร้าง ผู้บันดาล แล้วก็ที่ไม่หลงผิดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า จะไม่หลงผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เรา เขา หมายความว่า ให้เห็นว่า เป็นของธรรมชาติ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า เรากำลังมองสิ่งทั้งหลายเนี่ย เป็นเรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ เป็นสภาพที่เป็นอย่างงั้น ตามเหตุตามปัจจัยของมัน
ทีนี้คำว่า ธาตุ อย่างงี้ก็เลยใช้กับสิ่งต่างๆ ได้หลายอย่างหลายแบบหลายประเภท ทีนี้ในกรณีเมื่อกี้นี้ เรากำลังพูดถึงอายตนะ อันนี้ในการที่จะมีการรับรู้ทางอายตนะเนี่ย มีองค์ประกอบอะไรที่เข้ามามีส่วนร่วมบ้าง ซึ่งจัดแยกเป็นประเภทๆ เป็นพวก ๆ อันนั้นแหละ ที่มันเป็นประเภทของมัน เป็นสภาพของมันแต่ละอย่างละอย่าง ทีนี้มันไม่ได้เป็นกลุ่มเหมือนขันธ์ แต่มันเป็นสภาวะที่เป็นอย่างนั้น เป็นแบบของมันเอง มีเป็นเหมือนกับเป็นส่วนที่เข้ามาร่วมอยู่ในกระบวนการรับรู้เนี่ย ท่านแยกเป็นสาม อ่า ท่านแยกเป็นธาตุ 18 ในทางรับรู้แต่ละทางนี่ก็เหมือนกับมาสามส่วน สามส่วน และก็มี 6 ทาง ก็เลยเป็น 18 ก็มีอะไรบ้าง
ธาตุอันที่ 1 ก็คือ เรื่องตา ตานี่ท่านถือว่าเป็นธาตุหนึ่ง หูก็เป็นธาตุหนึ่ง จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ ป็นธาตุหนึ่ง แต่ละอย่างนี้เป็นธาตุ เรียกว่าแปลกมาก ไม่ตรงที่เราใช้ในภาษาไทยเลย แต่มันเป็นแบบของมัน เป็นสภาวะตามธรรมชาติของมัน อันนี้สิ่งที่ตรงข้ามคู่กับมันก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส ก็เป็นแต่ละอย่าง ก็เป็นแต่ละธาตุ เหมือน กับรูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ คือรูปธาตุ เสียงธาตุ กลิ่นธาตุ รส เป็นต้น
ทีนี้ อีกอันหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในกระบวนการรับรู้ก็คือ ตัววิญญาณการรับรู้ การรู้นั้น ซึ่งถ้าไม่มีอันนี้ขึ้นมาก็อายตนะสองอันก็ไม่มีผลอะไร ก็ต้องมีธาตุจำพวกที่สามเข้ามาก็คือ พวกวิญญาณธาตุ ก็มีทางหู ทางตาก็เรียก จักขุวิญญาณธาตุ ทางหูก็เรียก โสตวิญญาณธาตุ ทางจมูกก็เรียก ฆานวิญญาณธาตุ ทางลิ้นเรียกชิวหาวิญญาณธาตุ ทางกายเรียก กายวิญญาณธาตุ ทางใจเรียกว่า มโนวิญญาณธาตุ เอาละ เจริญพร
นี่ก็ตกลงว่า เราก็ครบแล้ว เรียกว่าธาตุ 18 ธาตุ 18 ไม่ใช่อะไรเลย ก็คือ สภาวะตามธรรมชาติที่เข้ามามีส่วนในกระบวนการรับรู้ของเรา 3 กลุ่ม ทางรับรู้หนึ่งๆ ก็สาม 6 ทางก็เป็น 18 ไม่ต้องไปติดใจกับเรื่องชื่อ เอาพอได้เค้าความ ต่อไปก็ผ่านไป
หมวดที่ 4 เรียกว่า อินทรีย์ 22 อินทรีย์นี่แปลว่า สิ่งที่เป็นใหญ่ในกิจของตน คล้ายๆ เป็นหัวหน้าในการทำงาน หมายความว่า มันเป็นหัวหน้า ออกหน้าทำงาน แล้วเวลามันทำงานแล้ว อะไรที่เกี่ยวข้องกับมันจะต้องทำตามมันหมด ไปตามมัน ไปเป็นตัวประกอบให้แก่มัน ไปทำเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกับมัน ก็เรียกว่าสิ่งที่เป็นใหญ่ในการทำกิจของตน ทำให้ธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามตนในกิจนั้นๆ ในขณะนั้นๆ อันนี้เราเรียกว่า อินทรีย์
อินทรีย์เป็นตัวหัวหน้าในการทำกิจ หรือเราเรียกว่า ตัวเจ้าการ ตัวเจ้าการนี้ก็มี 22 ด้วยกัน
ก็หมวดที่ 1 ก็เป็นเจ้าการในกระบวนการรับรู้ ออกทำหน้าที่ในการรับรู้ด้านนั้นๆ ก็มีอะไรบ้าง
อินทรีย์ คือ ตา ตาถือว่าเป็นอินทรีย์หนึ่ง
อินทรีย์ คือ หู
อินทรีย์ คือ จมูก
อินทรีย์ คือ ลิ้น
อินทรีย์ คือ กาย
อินทรีย์ คือ ใจ
ที่จริงถ้าจะว่าให้ชัดแล้ว อินทรีย์ คือ ประสาทตา อินทรีย์ คือ ประสาทหู แต่เราพูดง่ายๆ ว่า อินทรีย์ คือ ตา อินทรีย์ คือ หู เนี่ยมันเป็นเจ้าการในการรับรู้ทางแดนนั้นๆ เลย จักขุก็เป็นเจ้าใหญ่ในการรับรู้ทางตา แล้วอะไรต่ออะไรที่ทำงานเวลานั้นจะไปตามมันหมดเลย ไปตามเพื่อการเห็นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเราก็จะมี
จักขุนทรีย์ อินทรีย์ คือ ตา
โสตินทรีย์ อินทรีย์ คือหู
ฆานินทรีย์ อินทรีย์ คือ จมูก
ชิวหินทรีย์ อินทรีย์ คือ ลิ้น
กายินทรีย์ อินทรีย์ คือ กาย
มนินทรีย์ อินทรีย์ คือ ใจ
นี่ก็ 6 แล้ว หมวดที่ 1
ต่อไป อินทรีย์ประเภทที่มีความเป็นใหญ่ในเพศภาวะในความมีชีวิต ก็คือ
อิตถินทรีย์ อินทรีย์ คือ ความเป็นหญิง นี่เป็นภาวะเพศ
ปุริสินทรีย์ อินทรีย์ คือ ความเป็นชาย
ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์ คือ ชีวิต อันนี้ก็เป็น เราก็เรียกว่า อินทรีย์ ภาวะที่มีชีวิต ทำให้มีชีวิตชีวา นี่ แหม มันก็เป็นรูปธรรมก็จริง แต่มันก็เป็นภาวะที่ละเอียดประณีต เป็นเหมือนกับนามธรรม ต่อไป
อินทรีย์ประเภทเกี่ยวกับความรู้สึกเป็นเจ้าใหญ่ในความรู้สึก ก็เป็นเวทนานั่นเอง ก็คือ
เวทนาที่เป็นสุขก็เรียกว่า อินทรีย์ที่เป็นสุข ก็สุขินทรีย์
ที่เป็นทุกข์ ก็เรียกว่า อินทรีย์ คือ ทุกข์ ก็ทุกขินทรีย์ ทีนี้ก็ ท่านต้องการเน้นในทางใจก็แยกเป็นว่า
ความสุขทางใจ เรียกว่า โสมนัส ความโสมนัสความสุขทางใจ เรียกว่า โสมนัสสินทรีย์ หรือ อินทรีย์ คือ โสมนัส แล้วต่อไป
อินทรีย์ คือ โทมนัส ความไม่สบายใจ โทมนัสสินทรีย์ และก็
เฉยๆ เป็นอุเบกขา เป็น อุเปกขินทรีย์ อินทรีย์ คือ อุเบกขา
ก็เป็นอันว่า มีอินทรีย์อยู่ 5 ทางด้านความรู้สึก สุข ทุกข์
ต่อไปก็อินทรีย์ ประเภททำงานเป็นเจ้าการในการทำงานปฏิบัติธรรม ในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เจ้าอินทรีย์พวกนี้เป็นเจ้าใหญ่เป็นหัวหน้าเจ้าการสำคัญ ซึ่งเราก็จะได้พูดถึงต่อไปอีก
อินทรีย์ 5 หมวดนี้ก็ ได้แก่ ศรัทธา ความเชื่อ แล้วก็ วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกได้ สมาธิ ความมีจิตตั้งมั่น แล้วก็ อ้อ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ แล้วสุดท้ายก็ ปัญญา อินทรีย์ คือ ปัญญา คือความรู้เข้าใจตามเป็นจริง
อันนี้ในปัญญา อินทรีย์ คือ ปัญญานี้ ยังมีขยายอีก เพราะในการปฏิบัติธรรมต่อไปนี้ อินทรีย์ในปัญญาที่จะเป็นตัวสำคัญๆ ในการทำกิจให้สำเร็จเป็นหัวหน้านี้ จะมีขึ้นไประดับสู่การบรรลุมรรคผล ก็จะมีอินทรีย์จำพวกปัญญาที่มีเข้ามาเพิ่มอีก 3 คือ
อินทรีย์ที่เป็นตัวให้สำเร็จโสดาปัตติมรรค อืม โสดาปัตติมรรค อันนี้ท่านเรียกว่า อนัญญตัญญัสสามีติน-ทรีย์ อันนี้ชื่อยาวที่สุด จำยาก บางทีก็เรียกว่า อนัญญาตัญญัสสามีตินทิยัง อันนี้ก็เป็นพูดง่ายๆ ก็คือ ปัญญาญาณของโสดาปัตติมรรคที่ให้สำเร็จกิจในการบรรลุโสดาบัน
ทีนี้ต่อไป ก็เป็นอินทรีย์ที่สูงขึ้นไปต่อจากโสดาปัตติมัคคญาณ ก็ไปถึงระดับโสดาปัตติผล แล้วก็ไป สกทาคามีมรรค สกทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตตมรรค ก่อนที่จะถึงสุดท้าย รองลงมาจนกระทั่งถึง เนี่ย เหนือขึ้นไประดับสูง โสดาปัตติมรรค ทั้งหมดเนี่ย อยู่ในระหว่างนี้มี 6 ก่อนถึง อรหัตตผล มี 6 รวมเรียกอันเดียวกันว่า อัญญินทรีย์ มีปัญญาในระดับที่สูงกว่าโสดาปัตติมรรคขึ้นไป จนถึงต่ำกว่าอรหัตตผล นี่เรียกว่า อัญญินทรีย์
และสุดท้าย คือ ตัวให้สำเร็จอรหัตตผล เป็นปัญญาญาณขั้นสูงสุดเรียกว่า อัญญาตาวิน-ทรีย์ เป็นผลญาณของพระอรหันต์ ก็จบ โดยรวมแล้ว เป็นอินทรีย์ 22 อันนี้เพียงแต่ให้ผ่านๆ หู ไม่ต้องไปจดไปจำชื่อให้ลำบาก ทีนี้ต่อไป
หมวดที่ 5 ก็อริยสัจ 4 อริยสัจ 4 นี่ถือว่าเรียนแล้ว ก็คือความจริงที่ประเสริฐ ความจริงที่มันเป็นเรื่องของชีวิตเราแท้ๆ ซึ่งจะทำให้แก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นทางการให้เข้าถึงสภาวะความเป็นจริงที่แท้ของชีวิต แล้วแก้ปัญหาให้ตรงกับความจริงนั้น ความจริงตามสภาพของชีวิต ไม่ไช่หลีกเลี่ยงหนีไปหาอะไรอื่น ก็คือ อริยสัจ ซึ่งมี 4 ประการ ก็ ทุกขสัจ ความจริงคือทุกข์ สมุทัยสัจ ความจริงคือสมุทัย นิโรธสัจ คือ ความจริงคือนิโรธ แล้วก็ มรรคสัจ ความจริง คือมรรค จะเรียกชื่อยาวก็ได้ ทุกขสัจจะ ทุกขสมุทัยสัจจะ ทุกขนิโรธสัจจะ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาสัจจะ แล้วเติมอริยะเข้าไปอีกก็ได้ ก็ยิ่งยาวไปกันใหญ่ เลยว่าเอาแค่ ทุกขสัจ สมุทัยสัจ นิโรธสัจ มรรคสัจ แค่นี้ก็พอ ก็เรียกว่ามีสัจจะ หรือ อริยสัจ 4 ประการ
อันนี้ก็จะไม่อธิบายในที่นี้ละ แต่เป็นเรื่องของเหตุ ของผล ทุกข์ก็เป็นผล เป็นปรากฏการณ์ของเราพบก่อนอื่นนี่เป็นตัวปัญหาที่ประสบ และก็สมุทัยก็สืบสาวลงไปก็ค้นหาเหตุ ก็เป็นจากผลก็ไปหาเหตุได้คู่หนึ่ง เอ้า ทีนี้ต่อไป นี่เป็นฝ่ายที่เราจะแก้ละ ทีนี้ทางฝ่ายที่เราปรารถนาเป็นผลที่พึ่งประสงค์ ก็มีนิโรธ ภาวะที่ไร้ทุกข์หมดสิ้นปัญหา พอหมดสิ้นปัญหาก็เป็นผลที่เราต้องการ เอ้า ทำไงจะสำเร็จก็ต้องปฏิบัติตามมรรค มรรคก็เป็นเหตุแก่นิโรธ ก็ได้ผลกับเหตุอีกคู่หนึ่ง เป็นผลเหตุ 2 คู่ เอาผลตั้ง เอาเหตุเป็นตัวที่ตามมา เพราะว่า ว่าไปตามทางปฏิบัติที่เป็นจริง ที่เราประสบก่อน แล้วก็เพื่อจะให้การสอนนี้ได้ผลดี ผู้เรียนจะได้เข้าใจได้ง่าย ก็เอาผลก่อนเหตุ ในแง่ของอริยสัจ รวมแล้วก็คือ พูดง่ายๆ ก็คือ เรื่องของผลกับเหตุ หรือเหตุกับผล เท่านั้นเอง ทีนี้อริยสัจ 4 นี่ก็ขอผ่านไปง่ายๆ ต่อไปก็
6 ก็ ปฏิจจสมุปบาท ปฏิจจสมุปบาทอันนี้ก็เป็นหลักธรรมที่หลายท่านคงเคยได้ยินชื่อแล้ว ก็เป็นกระบวนการทางเหตุปัจจัยนั่นเอง พูดกันแบบง่ายๆ ปฏิจจสมุปบาทก็คือ กระบวนการแห่งเหตุปัจจัย กระบวนการที่สิ่งทั้งหลายเกิดมีขึ้นตามเหตุปัจจัย แปลตามตัวว่าการอาศัยซึ่งกันและกันเกิดขึ้นพร้อม หมาย ความว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาเป็นปรากฏการณ์ให้เราเห็นให้เรารู้อะไรเนี่ย มันเกิดจากเหตุปัจจัยประชุมพร้อมกัน
ต้นมะม่วงจะขึ้นมาสักต้นนี่ มันก็เป็นกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ต้องอาศัยเมล็ดมะม่วง นอกจากอาศัยเมล็ดมะม่วงเป็นเหตุแล้ว ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ มีดิน มีน้ำ มีอากาศ มีอุณหภูมิ มีปุ๋ย อะไรต่างๆ ให้พอดี ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นพรั่งพร้อมแล้ว ก็ทำให้เกิดเป็นต้นมะม่วงเจริญงอกงามขึ้นมาได้
ชีวิตจิตใจของเรา อะไรทุกอย่างในโลก ในชีวิตของเราเนี่ย มันก็เป็นกระบวนการของปฏิจจสมุปบาท ทีนี้อันนี้มาสัมพันธ์กับเรื่องอริยสัจ ก็อริยสัจว่าไปแล้วก็จะให้เข้าใจชัดเจนก็ไปดูที่ปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง คือ ทุกสภาพที่เป็นอยู่ที่เป็นปัญหานี้ ที่เราเผชิญ สิ่งที่เราต้องเผชิญ ปรากฏอยู่นี้ เกิดขึ้นยังไง ก็เกิดขึ้นตามกระบวนการปฏิจจสมุปบาท เราเข้าใจสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ ก็ดูจากปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้นเข้าใจ อริยสัจคู่ที่ 1 จากทุกข์ไปสมุทัย ก็ไปดูปฏิจจสมุปบาทจึงจะเข้าใจ
ทีนี้ในทำนองเดียวกัน นิโรธ จุดหมายที่พึงประสงค์เป็นผลที่ต้องการ จะทำไงเกิดขึ้น อ๋อ ก็มันเกิดขึ้นอย่างไรก็ดับอย่างนั้น ก็แก้อย่างนั้น ก็เมื่อเรารู้กระบวนการของการเกิดขึ้นตามหลักเหตุปัจจัยของปฏิจจสมุป-บาท เราก็ไปแก้เหตุปัจจัยที่ปฏิจจสมุปบาท มันก็หาย เพราะฉะนั้น ท่านเรียกว่า การย้อน การย้อนแนว การย้อนทางของปฏิจจสมุปบาทก็ทำให้เกิดผล คือการแก้ปัญหาได้ แล้วเราก็จะประดิษฐ์ค้นวิธีการที่จะทำให้เกิดกระบวนการย้อนกลับนี้ ก็คือมรรค มรรคก็คือ วิธีการที่ทำให้มีผลเป็นกระบวนการย้อนกลับของปฏิจจสมุปบาทก็ทำให้นิโรธเกิดขึ้น งั้นการเข้าใจอริยสัจให้ลึกซึ้ง ก็ไปดูที่ปฏิจจสมุปบาททั้งฝ่ายทำให้เกิดทุกข์ และฝ่ายที่แก้ทุกข์ ดับทุกข์
อันนี้ในรายละเอียด อาตมาก็จะไม่กล่าวละ ก็ขอให้เข้าใจสาระสำคัญเป็นภาพกว้างๆ เพียงว่า ปฏิจจสมุปบาทก็คือ กระบวนการของการที่สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนั่นเอง เราก็มองด้วยสายตาปฏิจจสมุปบาทต่อสิ่งทั้งหลายว่ามองสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นตามกระบวนการของเหตุปัจจัย นี่ก็เป็นอันว่า จบเรื่อง วิปัสสนาภูมิ 6 ชุด
ถ้าหากว่าเข้าใจอันนี้แล้ว ก็เป็นอันว่า รู้เรื่องอารมณ์ของวิปัสสนา หรือ กรรมฐานของวิปัสสนา และก็ขอย้ำอีกอย่างหนึ่งว่า ทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นก็รวมอยู่ในรูปนามนั้นเอง คือวิปัสสนาภูมิทั้ง 6 หมวด เช่น ขันธ์ 5 เป็นต้น จะเห็นได้ชัดว่า ไม่มีอะไร รวมแล้วก็คือ รูปนาม
อย่างขันธ์ 5 นี่ ชัดเจนเลย ขันธ์ รูปขันธ์ ขึ้นก่อนก็เป็นรูปธรรม แล้วก็ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนามขันธ์ ก็เป็นนาม ก็เป็นนามธรรม ก็รูปนามเท่านั้น ถึงอื่นก็เหมือนกัน แต่ว่าแยกออกไปแล้ว ให้เห็นลักษณะอาการต่างๆ ในการที่มันมีกระบวนการขึ้น หรือเป็นระบบขึ้น ที่มันให้เห็นเข้าใจชีวิตของเราชัดเจนขึ้นแล้วก็นำไปใช้ในการแก้ไข ในการปฏิบัติเพื่อได้พัฒนาชีวิตจิตใจได้ผลดียิ่งขึ้น
เราก็เรียนกันในลักษณะอาการที่ว่านี้ เพราะฉะนั้นในเรื่อง วิปัสสนาภูมิทั้งหมดนี้ ก็เรียกง่ายๆ ว่า รูปนาม และก็ถ้าจะเรียนแบบง่ายๆ เพราะว่าบางทีวิปัสสนาภูมิ 6 นี้มันมากมาย เราก็อาจจะเอาขันธ์ 5 นี้เป็นตัวหลักตั้ง เอาขันธ์ 5 สักอย่างเดียวหมวดเดียว แล้วก็โยงไปหาได้ทั้ง 6 หมวดเลย อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ขันธ์ 5 โยงไปหาอายตนะก็ได้ ขันธ์ 5 โยงไปหาปฏิจจสมุปบาทก็สบายเลย เพราะกระบวนการขององค์ประกอบปัจจัยต่างๆ ที่เป็นไปในปฏิจจสมุปบาทนั้นก็มาจากขันธ์ 5 นั่นเอง ขันธ์ 5 นั้นก็เหมือนกับว่าเอาองค์ประกอบต่างๆ ตั้งรวมกันอยู่ พอมันเป็นกระบวนการขึ้นมา มันก็คือ ดำเนินไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
อันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราจะเรียนเบื้องต้นนี่ ก็เรียนเรื่องขันธ์ 5 ว่าถ้าหากว่าจะให้ชัดขึ้นอีกหน่อยก็เอาอายตนะด้วยก็ได้ เพราะอายตนะก็ไม่ยาก ก็เรียกว่าเรียนเรื่องขันธ์ 5 อายตนะนี่ก็เข้าใจโลกกับชีวิตมากทีเดียว แล้วโยงไปหาทุกอย่างอื่นได้
วันนี้ เรื่องวิปัสสนาภูมิที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานี้ เห็นว่าควรจะจบลงไว้เท่านี้ก่อน เวลาบัดนี้ก็ล่วงเลยมามากแล้ว ความจริงหัวข้อใหญ่ เรื่องหลักทั่วไปของวิปัสสนานี้ยังไม่จบ ยังมีต่อไปอีกสองสามหัวข้อ ได้พูดมาแล้ว 2 ข้อ คือความหมายของวิปัสสนา กับเรื่องวิปัสสนาภูมิ หรืออารมณ์ของวิปัสสนา หัวข้อต่อไป คือตัวทำงานของวิปัสสนา แต่ว่าในเมื่อเวลาล่วงเลยไปมากแล้วก็คงจะต้องตัดตอนไว้ก่อน แล้วแยกเรื่องนั้นไว้พูดคราวหลัง ความจริงนั้นตั้งใจว่า จะบรรยายเรื่องจากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐานให้จบเสียในคราวเดียว แต่ในเมื่อเวลาล่วงเลยไปมาก ก็จำเป็นที่จะต้องตัดตอนอย่างที่กล่าวแล้ว
เพราะฉะนั้นก็เป็นอันขอให้ทำความเข้าใจว่า หัวข้อเรื่องจากจิตภาวนาสู่ปัญญาภาวนาตามวิธีสติปัฏฐานนี้ยังไม่จบ แล้วก็หัวข้อที่ซอยลงไปว่า หลักทั่วไปของวิปัสสนา ก็ยังค้างอยู่ ในคราวหน้าเราก็จะได้มาพูดกันในเรื่อง ตัวทำงานของวิปัสสนา ซึ่งเป็นหัวข้อย่อยที่ 3 ของหลักทั่วไปของวิปัสสนา สำหรับคราวนี้ อาตมาก็ขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ก่อน ขอเจริญพร