แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้เรื่องต่อไปนี้ ก็เป็นเรื่องที่ว่าจะเป็นการพูดเริ่มไว้สำหรับหัวข้อต่อไป คือเรื่องของกระบวนวิธีปฏิบัติและเทคนิค นี้การปฏิบัติสติปัฏฐานนี้ ตอนลงรายละเอียดวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเนี่ย จะมีเทคนิคหรือกลวิธีที่สำนักหรืออาจาร์ยต่างๆท่านวางกันไว้ ซึ่งอาจจะต่างๆ กันไปได้ ฉะนั้นในขั้นเทคนิคเนี่ย อาตมาก็จะไม่ขอพูดในที่นี้ จะยกตัวอย่างเช่นว่า ท่านบัณญัติคำว่า หนอขึ้นมา เอาคำว่าหนอมากำกับกับการที่พูดในใจ อย่างพูดในใจว่า ย่างหนอ หรือขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ หรือว่าแม้แต่ซอย???ไป อย่างการซอยอริยาบท เช่นในการจงกรมหรือการซอยจังหวะ บางสำนักก็ให้เดินตามธรรมชาติ บางสำนักก็ให้ซอย ให้ซอยยิ่งถี่เท่าไรหลายจังหวะ 3 4 5 6 7 จังหวะ อะไรมากยิ่งดีอะไรทำนองนี้เพื่อให้สติทัน ทีนี้เรื่องการซอยจังหวะนี้ก็ดี เรื่องการที่มีการกำหนดว่า หนอ กำกับเข้าไปก็ดี หรือว่าวิธีการกำหนดรูปนามอะไรต่างๆ อันเนี่ยมากมายก็เป็นรายละเอียดวิธีปฏิบัติเป็นเทคนิคของสำนักของอาจาร์ย อาตมาจะไม่กล่าวในทีนี้ เพราะพูดในหลักปฏิบัติทั่วไป โดยเฉพาะก็เน้นเรื่องข้อปฏิบัติที่มาจากพระไตรปิฎก อันนี้ก็อีกอันหนึ่งก็คือว่าวิธีกำหนดที่อาตมาพูดมาแล้วเนี่ย เราจะเห็นว่าการกำหนดสติปัฏฐานเนี่ยมันมีเป็นลำดับขั้นตอนลึกลงไป มันเหมือนกับส่งต่อกันไปเลย เมื่อกี้นี้ได้พูดแล้วว่า เวลาเรากำหนดเริ่มจากกายานุปัสสนา เช่นกำหนดการเคลื่อนไหวร่างกาย พอกำหนดไปแล้วมันมีเวทนาเกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวนั้นเอง เราก็กำหนดรู้ดูทันในเรื่องเวทนานั้น พอดูเวทนาแล้ว อ่่าว จิตใจของเราก็ถูกอิทธิพลจากเวทนาทำให้มีความขุ่นมัวเศร้าหมองหรือว่ามีความชอบใจ ไม่ชอบใจเกิดขึ้นก็ดูสภาพจิตใจนั้น ทีนี้สภาพจิตใจที่มีความชอบใจ ไม่ชอบใจ ตัวที่มันอยู่ในใจนั้น คือความชอบใจ ไม่ชอบใจ เราตามลงไปดูอีกก็เห็นธรรมะอีก ฉะนั้นมันส่งต่อกันไปตามลำดับครบชุดไปเลย อันนี้ อันนี้มันก็อาจจะเป็นการดูไปตามลำดับแบบหนึ่งก็อันไหนปรากฎขึ้นมาก็กำหนดพิจารณาอันนั้น ซึ่งมันก็เป็นลำดับส่งต่อไปเอง วิธีนี้ก็เหมือนกับว่าไปตามลำดับของธรรมชาติ นี้แบบหนึ่ง อันนี้อีกแบบหนึ่งก็คือจงใจ ผู้ปฏิบัติเนี่ย จงใจทำให้สิ่งที่จะพิจารณานั้น ปรากฎขึ้นมาให้พิจารณา อย่างสภาพจิตบางอย่างเนี่ย เราปฏิบัติไปนี้เราจงใจทำมันเลยให้มันเกิดขึ้นมา เช่นอย่างเราทำให้ลมหายใจของเรานี้สงบระงับละเอียดก็ได้ หรือเราทำให้เกิดปราโมทย์ เกิดความร่าเริงบันเทิงใจขึ้นมาในข้อปฏิบัติ แล้วท่านจะมีวิธีอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นการจูงใจทำสภาพอย่างนั้นเกิดขึ้นมาสำหรับเราพิจารณา ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นวิธีหนึ่งเหมือนกันซึ่งอาจจะเป็นไปตามลำดับหรือเราเนี่ยปฏิบัติไปตามลำดับ ตั้งแต่กายานุปัสสนา จนถึงธัมมานุปัสสนาได้ โดยการที่ว่า จงใจทำให้มันเกิดขึ้นมาเพื่อให้ดำเนินไปตามลำดับ แล้วลำดับนั้นจะได้มาถึงอย่างที่เราต้องการให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ฉะนั้นในหลักสติปัฏฐานแบบกลางๆ ทั่วไป อย่างในมหาสติปัฏฐานสูตรเนี่ย ท่านจะพูดแบบกว้างๆ เป็นกลางๆ อย่างพูดถึงเวทนา ก็พูดถึงเวทนาทั้งหมด เวทนาที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ที่มีอามิส ไม่มีอามิส อะไรต่างๆ เหล่านี้พูดอย่างเป็นกลางๆ บางตอนก็จะมีบ้างในการที่จะจงใจทำ แต่ว่าในบางสูตรในบางวิธีปฏิบัติเนี่ยจะเอาเรื่องการจงใจทำนี้ขึ้นมาชัดเจน ก็คือในหลักเรื่องอานาปานสติสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงนำมาสอนว่าให้เอาอานาปานสตินี้ มาใช้เป็นทางดำเนินของสติปัฏฐาน คือใช้อานาปานสติเป็นแกนนำเข้าสู่สติปัฏฐาน อันนี้ก็คือการที่ว่าจะได้ใช้เทคนิคแบบนีิ้ คือการที่ว่าจะจงใจสร้างสภาพจิตหรือสิ่งที่จะพิจารณาในสติปัฏฐานขึ้นมาและให้มันก้าวหน้าไปได้ ก็อย่างที่ว่าทำให้ได้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น ฉะนั้นก็เลยกลายเป็นวิธีตามธรรมชาติอย่างหนึ่งกับวิธีที่เข้าถึงลำดับในสติปัฏฐานโดยการที่จงใจทำขึ้นมา เช่นวิธีในการใช้อานาปานสติ 16 ขั้น คือการใช้อานาปานสติเป็นอุปกรณ์จงใจสร้างสิ่งที่จะพิจารณาขึ้นมา เช่นสร้างสภาพจิตแล้วก็การที่จะได้กำหนดธรรมะ ในขั้นธัมมานุปัสนาสติปัฏฐาน ซึ่งอันนี้จะได้เป็นหัวข้อต่อไป คือการที่ว่าจะได้เอาอานาปานสตินี้เป็นตัวโยงเข้าหาวิธีปฏิบัติตามสติปัฏฐานนี้เป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง เป็นอันว่าตอนนี้อาตมาคิดว่าควรจะพูดไว้เท่านี้ก่อน ในหัวข้อเรื่องของหลักการทั่วไปของสติปัฏฐานก็พอสมควร ในคราวหน้าก็จะได้ไปพูดจำเพาะลงไปในเรื่องของการใช้เทคนิค โดยเอาอานาปานสติมาเป็นอุปกรณ์ในการนำเข้าสู่สติปัฎฐาน สำหรับในคราวนี้ก็จะขอยุติการบรรยายไว้เพียงเท่านี้ ก็ขออนุโมทนาท่านผู้สนใจเจริญภาวนาทุกท่าน ขอจงเจริญงอกงามในธรรมโดยทั่วกันทุกท่าน เจริญพร