แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ถ้าไม่มีคำถามก็จะพูดต่อไปถึงเรื่อง การกระทำเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม นี่ก็ยังเป็นเพียงอาทิตย์ที่สอง แต่ว่าพูดอันนี้ไว้ก่อน ก็เพื่อจะได้รู้ว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไร เพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เพราะว่าเมื่อเข้ามาปฏิบัติธรรมมาประพฤติพรหมจรรย์ก็เชื่อว่าทุกคนปรารถนาที่จะเจริญก้าวหน้าในการประพฤติธรรมนั้นให้ยิ่งขึ้นๆ ที่จริงก็มีหลายเรื่องมีมากในการที่จะกระทำเพื่อความก้าวหน้าแต่จะขอพูดย้ำสักเรื่องเดียว ก็คือ จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบการปฏิบัติของตนเองอยู่เสมอนี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แล้วก็จำเป็นทีเดียวเพื่อความก้าวหน้าของการประพฤติธรรม ทั้งนี้ก็คงจะทราบแล้วว่าไม่ว่าในการทำการงานสิ่งใดทุกคนผ่านการงานในชีวิตมาแล้ว เพราะว่าไม่ใช่อยู่ในวัยเด็กเด็กเป็นวัยผู้ใหญ่กันแล้วก็ผ่านการงานมาทุกอย่าง ในการทำการงานของแต่ละชีวิต ถ้าชีวิตใดไม่มีการตรวจสอบ ทบทวนการทำงานของตนก็ยากที่งานนั้นจะก้าวหน้าอาจจะย่ำเท้าอยู่กับที่บ้างถอยหลังบ้าง หรือจะก้าวก็ก้าวไปอย่างช้าๆ อย่างคืบคลาน เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติธรรมก็ต้องการการสำรวจตรวจสอบ ทบทวนการประพฤติปฏิบัติของตนเองอยู่เสมอ เพื่ออะไร ก็เพื่อจะได้มองเห็นว่า สิ่งที่เป็นอันตรายเป็นอุปสรรคเป็นปัญหาของการปฏิบัติธรรมของเรานี้มันคืออะไร มันมีอะไรบ้าง คือสำหรับของเราทุกคนในขณะนี้ ก็คือตรวจสอบทบทวนการประพฤติพรหมจรรย์ที่เรากำลังกระทำอยู่ เพื่อจะให้รู้จักว่ามีอันตรายอะไรที่มันปกปิด คำว่าอันตรายปกปิดนี่ มันมองดูเหมือนกับไม่มีอันตรายไม่มีภัยแต่ว่าที่จริงมันปกปิดมันซ่อนเร้น เช่น ความประมาทต่อศีล เราคิดว่าศีลของเราไม่ด่างพร้อย บริสุทธิ์สะอาด ครบถ้วนบริบูรณ์ ทั้ง 5 ข้อ ทั้ง 8 ข้อ นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ใช้เวลาเพื่อทบทวนพิจารณาเรื่องของศีลแต่ละข้อๆ อย่างรอบด้าน รอบด้าน ไม่ใช่เอาแต่เพียงคำแปล ปาณา ก็ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อทินนา ก็ไม่ลักขโมย กาเม ก็ไม่ผิดสามีภรรยาเขา ไม่ได้เอาเพียงดุ้นๆ แค่นั้น แต่ว่าพิจารณาอย่างรอบด้านในรายละเอียดของศีลแต่ละข้อ ถ้าเราพิจารณาอย่างรอบด้านทุกอย่าง แล้วก็ไม่มีอะไรหนักใจ ไม่มีอะไรด่างพร้อย มันมองดูแล้วมันสะอาดบริสุทธิ์ ติตัวเองไม่ได้ในเรื่องศีล ก็สบายใจเกิดปีติปราโมทย์เป็นกำลังใจในการปฏิบัติต่อไป
หรือการตกเป็นทาสของกิเลสมีบ้างไหม เราก็ว่าเราไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง แต่จริงๆ แล้วมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ในความโลภความโกรธความหลงนั้นบ้างไหม บางทีโลภใหญ่ๆ นี่ไม่มี คือโลภอย่างชนิดไปยื้อแย่งเบียดเบียนซึ่งๆ หน้าไม่เป็นแล้ว คนที่เข้ามาปฏิบัติธรรมอยู่ในธรรมะ ก็จะเป็นผู้ที่มีหิริโอตตัปปะมีความละอายมากพอสมควรจะไม่ทำเรื่องกิเลสหยาบๆ อย่างนั้น แต่แล้วกิเลสละเอียดๆ ล่ะ อย่างเช่นที่เรียกว่าอุปกิเลสสิบหกมีบ้างไหม ขณะนี้ยังไม่ได้เรียนเรื่องอุปกิเลสสิบหกหรือบางท่านยังไม่รู้เรื่องอุปกิเลสสิบหกแต่ก็ฟังเอาไว้ก่อน เหมือนอย่างเช่นไม่โลภหรอกไม่โลภมากๆ ไม่โลภใหญ่ๆ ไม่ถึงกับยื้อแย่ง น่าเกลียดทางกายวาจา แต่ว่าเคยมีความนึก มองเห็นใครเขามีอะไร เห็นใครเขาได้อะไร นึกอยากได้อย่างเขาบ้าง มีไหมในใจ ทำไมเราไม่ได้บ้างนะ ทำไมสิ่งนี้ไม่มีกับเราบ้างนะ นั่นเป็นตัวอุปกิเลสสิบหกตัวหนึ่ง ที่ชื่อว่าอภิชฌาวิสมโลโภ คือใจมันเพ่งเล็งอยากได้ของคนอื่น ก็ไม่ไปยื้อแย่ง ไม่ไปเอาของเขา คือหมายความว่าไม่ออกอาการกิริยาไปทำ แต่จิตมันมี มีไหม นี่แหละ ถ้าจิตมันมี ก็เรียกว่า เป็นทาสของกิเลสไปแล้ว ไม่มาก แต่ถ้าหากว่าสั่งสมเอาไว้มากๆ มันก็กลายเป็นมากขึ้นได้ในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็ต้องพิจารณาให้ทั่ว ทั้งกิเลสหยาบหยาบ โลภ โกรธ หลง แล้วก็กิเลสละเอียด อุปกิเลสสิบหก ซึ่งเมื่อเรียนรู้ไปแล้ว ก็ค่อยๆ มองดูไปทีละข้อ เพราะเป็นสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า กิเลสทั้งสิบหกนี่ ทำให้จิตเศร้าหมอง แล้วก็เป็นอุปัททวะ ในการปฏิบัติธรรม อุปัททวะก็คือเป็นความเสียหาย เป็นความเสียหายในการปฏิบัติธรรม ไม่สามารถจะทำให้การประพฤติธรรมนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อยงดงามได้ หรือตกเป็นทาสของนิวรณ์ 5 วิตกกังวลวุ่นวายอยู่ในใจ มีอะไรมันมาครุ่นคิดคำนึงอยู่ในใจตลอดเวลา เป็นไปในทางกามบ้าง เป็นไปในทางโทสะพยาบาทบ้าง เป็นไปในทางครุ่นคิด ปรุงแต่ง ไปข้างหน้าบ้าง ไปข้างหลังบ้าง อ่อนเพลียละเหี่ยใจ หมดเรี่ยวหมดแรง บางทีก็อยู่ในความลังเลสงสัย เป็นไหม ตกอยู่ภายใต้นิวรณ์อย่างนี้ไหม นี่ต้องพิจารณาอยู่เสมอเพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ พวกศีล กิเลส นิวรณ์ อุปกิเลสเป็นต้น เหล่านี้มันเหมือนกับเป็นอันตรายปกปิด
คำว่าอันตรายปกปิดเพราะมองดูเหมือนกับว่าเราไม่มี เราไม่เป็น เราเรียบร้อย แต่ถ้าหากว่าเราพิจารณาลงไปให้ลึกซึ้งก็จะมองเห็น ถ้าไม่ลึกซึ้งไม่เห็น ถ้าลึกซึ้งแล้วก็ยังไม่เห็น ก็ดีใจปิติยินดีกับตัวเองได้อนุโมทนากับตัวเองได้ แต่ก็ต้องหมั่นพิจารณาอยู่เสมอ ท่านใช้คำว่าอันตรายเหล่านี้ถ้าหากว่าปล่อยให้มันเกิดมันจะครอบงำ นี่ท่านใช้คำเหล่านี้เลยนะคะ ครอบงำแล้วก็ท่วมทับ แล้วก็ปกคลุม คือปกคลุมก็ปกคลุมจิตใจนั่นแหละ หุ้มห่อจิตใจ เบียดเบียน ไม่ให้มองเห็นแสงสว่างมันครอบงำ มันท่วมทับ มันปกคลุม มันหุ้มห่อก็ให้ตกอยู่ในความมืด มืดของการเป็นทาสของกิเลสตัณหาอุปาทานตลอดจนนิวรณ์อุปกิเลส แล้วแน่นอนไม่ต้องสงสัยศีลนี่ก็ด่างพร้อยหลุดรุ่ยไปเลยก็เป็นได้ นี่ท่านใช้คำอย่างนี้เราจะเห็นว่าเวลาที่ท่านพูดในเรื่องของทางธรรมนี่ท่านใช้คำอย่างนี้ ซึ่งเป็นคำให้เห็นว่ามันน่ากลัวนะ มันไม่ใช่ของเล่นๆ เพราะเหตุว่าถ้าปล่อยให้มันเกิดแล้วล่ะก็สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความเสื่อมในการประพฤติพรหมจรรย์ เพราะกุศลธรรมทั้งหลายที่ทำมานี่มันก็จะเกิดการเสื่อม หมายความว่าจากกุศล อกุศลมันก็จะเข้ามาแทรกแซง
ทีนี้วิธีการสำรวจตรวจสอบที่มีคุณประโยชน์อย่างมากแล้วก็สมควรกระทำอย่างยิ่งก็คือ การทำปัจจเวกขณ์ ก็คงทราบแล้วการทำปัจจเวกขณ์คืออะไร ก็อย่างที่สวดปัจจเวกขณ์เวลารับทานอาหารนี่ ปัจจเวกขณ์นี่ก็หมายถึงการเพ่งดูลงไปตรงๆ ในสิ่งนั้นๆ สิ่งเดียวในแต่ละครั้งของการปัจจเวกเพื่อไม่ให้สับสน เพ่งดูจดจ่อด้วยใจลงไปในสิ่งนั้นๆ เพื่ออะไร ที่ดูในสิ่งนั้นๆเพียงอย่างเดียวแต่ละครั้งละครั้งก็เพื่อมุ่งผลให้เกิดสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์ เมื่อเพ่งดูอย่างตรงๆ อยู่เสมอ สติก็เกิดขึ้น สมาธิก็เกิดขึ้นความรู้ตัวทั่วพร้อมก็จะมีอยู่ และท่านก็บอกว่าถ้าทำได้อย่างนี้จะทำให้เกิดเป็นกรรมฐานอุปกรณ์ของกรรมฐานหลัก กรรมฐานหลักคือการภาวนา คือการทำสมาธิภาวนา ท่านเรียกว่าเป็นกรรมฐานหลัก อย่างที่ทุกคนเคยทำกันมานั่นแหละจะเป็นแบบใดก็ตาม
ทีนี้กรรมฐานอุปกรณ์นี้ก็เป็นสิ่งส่งเสริม ถ้าหมั่นพิจารณาเพ่งดูตรงๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะช่วยส่งเสริมให้การทำสมาธิภาวนาที่เป็นหลักที่มุ่งตั้งใจมาทำ เป็นไปได้ราบรื่นขึ้นดีขึ้น การปัจจเวกขณ์จะมีส่วนส่งเสริม นี่พูดถึงปัจจเวกขณ์ในธรรมดาๆ ไปก่อนอย่างที่ทำอยู่ที่เราทำกันอยู่ในสิบกว่าวันที่มานี่นะคะ ก็มีการปัจจเวกขณ์ในเรื่องของอาหารเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็ได้ทำการปัจจเวกขณ์เพื่อเลียนแบบการปัจจเวกขณ์ของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ก็คือในปัจจัยสี่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะก็คือที่อยู่อาศัยถ้ากลับไปบ้านก็หมายถึงบ้านเรือน คิลานเภสัชก็ยารักษาโรคต่างๆ นี่ก็จะเพ่งไปทีละอย่าง คือไม่ใช่พูดสับสนกันว่าปัจจเวกขณ์ทีเดียวรวมหมดสี่เรื่อง แต่จะพูดทีละเรื่องๆๆ ทั้งที่ถ้อยคำนั้นก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการปัจจเวกขณ์ที่ถูกต้องเป็นการป้องกันไม่ให้โทษเกิดขึ้นจากการบริโภค คือจากการรับประทาน ไม่รับประทานด้วยความอยาก เกิดความหิวมาก ลืม บางทีความตั้งใจจะกินให้มากกว่าที่เป็นอยู่มันก็เกิดขึ้น ขอโทษ อย่างที่เขาใช้คำว่าตะกละตะกลาม ไม่ได้ตั้งใจ โดยปกติก็ไม่ใช่คนอย่างนั้น แต่เผอิญมันเป็นไปตามสันชาตญาณในบางครั้ง แต่ถ้าเราปัจจเวกขณ์อยู่ แม้ว่าจะหิวกระหายจนท้องจะกิ่ว ก็ยังมีสติที่จะระงับได้ ก็เรียกว่าเป็นการป้องกันไม่ให้โทษเกิดขึ้นในการบริโภค แล้วก็ไม่กินจนอิ่มจนเกิดทุกขเวทนาใหม่ พอดีๆ แล้วก็สบายๆ ไม่ให้โทษเกิดขึ้นในการใช้เครื่องอุปโภคต่างๆ เช่น จีวร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เสนาสนะที่อยู่อาศัย หรือคิลานเภสัช หยูกยา เป็นต้น เรียกว่า ถ้าปัจจเวกขณ์ถูกต้องล่ะก็เหมือนกับเป็นการตัดไฟแต่หัวลม อย่างไฟไหม้มานี่ เขาไม่ต้องการให้ไหม้ต่อๆ ไปที่ยังไม่ไหม้ เขาก็ไปตัดไฟตรงต้นลม ที่รู้ว่าลมจะมาตรงนี้ แล้วไฟก็อาจจะหยุดได้
เพราะฉะนั้นการปัจจเวกขณ์ที่ถูกต้องก็เหมือนกับเป็นการตัดต้นตอของโทษที่จะเกิดขึ้นในเรื่องต่างๆ ที่ต้องไปเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็มักจะเป็นเรื่องที่ มันมีส่วนเกื้อกูลกับชีวิตของผู้ประพฤติธรรม ผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็มีไม่มากแล้วนะคะ ก็ลดน้อยลงทุกที นี่ก็เรียกว่าเป็นการปัจจเวกขณ์ในสิ่งที่กระทำอยู่สี่อย่างในปัจจัยสี่ ซึ่งจะไม่พูดซ้ำเพราะว่าเชื่อว่าทราบแล้ววิธีหรือความหมาย ทีนี้ก็มีการปัจจเวกขณ์ที่ควรที่จะต้องพิจารณาให้มาก ในที่นี้ก็คือการปัจจเวกขณ์ลงไปยังงานที่กระทำ งานของพวกเราขณะนี้ก็คือการประพฤติพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้นก็ปัจจเวกขณ์เพ่งตรงลงไปดูในเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ของเราว่าเป็นอย่างไร ดูก็เพื่อที่จะสำรวจมีข้อบกพร่องบ้างไหม มีข้อพลั้งพลาดบ้างไหม มีก็คือแก้ไขทันที ถ้าหากว่าไม่มี หรือมีแล้วแก้ไขได้ก็จะส่งเสริมให้เกิดปีติปราโมทย์ ปีติปราโมทย์นี่ท่านถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากในการปฏิบัติธรรม ถ้าหากผู้ใดปฏิบัติธรรมไปแล้วมีแต่ความแห้งแล้งแห้งใจเหี่ยวแห้งตลอดเวลา อยู่ไม่ได้นานหรอก ไม่ช้าก็ต้องออกไปหนีไปเพราะมันไม่มีอะไรหล่อเลี้ยงเลย ก็มองเห็นอยู่แล้วว่าการปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่ชีวิตที่สะดวกสบาย ถ้าเปรียบกับทางโลกใช่ไหมคะ ชีวิตบ้านเรือนที่เราเคยอยู่นะเปรียบกันไม่ได้ การกินการอยู่การนอน การสนุกสนานตามใจไม่มีให้ในชีวิตของผู้ประพฤติธรรม ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าจะมองดูก็เหมือนกับว่าข้างนอกนี่ไม่มีอะไรส่งเสริมหล่อเลี้ยง
เพราะฉะนั้นในการประพฤติธรรมท่านจึงถือว่าการที่พยายามประพฤติปฏิบัติจนมองเห็นความเจริญก้าวหน้าให้เกิดความปีติปราโมทย์ นี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญมากจะทำให้บุคคลผู้นั้นสามารถอยู่ได้นานในชีวิตของการประพฤติพรหมจรรย์ หรืออยู่ได้จนถึงที่สุด จนตลอดชีวิตของตน เหมือนอย่างถ้าเราดูบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายนี่ อย่างท่านโกณฑัญญะ ซึ่งเป็นพระอรหันต์องค์แรกในโลก ในโลก หมายความว่า หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมเทศนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ท่านพระโกณฑัญญะก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนองค์อื่น แล้วท่านอยู่ที่ไหน รู้ไหม พออ่านแล้วรู้สึกประทับใจจริงๆ พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถตั้งสังฆมณฑลขึ้นได้พอสมควร คือหมายความว่า สังฆมณฑลนั้นมีหลักฐาน มีหลักฐานที่ออกจะไปสั่งสอนชี้แจงผู้อื่น แล้วก็มีผู้หันมาศรัทธามากขึ้นมากขึ้น ท่านพระโกณฑัญญะก็ขออนุญาต กราบทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้า ออกไปอยู่องค์เดียวในป่าโน้น ในป่าไกลลึกเลย ไปอยู่กับตามน้ำ ตามเขา ตามป่า กับพวกบรรดาสัตว์ป่าอะไรทั้งหลาย แล้วก็มีความสุขอยู่อย่างนั้น อาหารก็คือพวกผลไม้อะไรต่ออะไรต่างๆ ที่จะเก็บได้ตามป่า เครื่องนุ่งห่มเคยแต่งกายอย่างไร สมัยโน้นก็ยังไม่ได้มีจีวรครองอะไรสวยๆ อย่างสมัยนี้ ท่านก็แต่งตัวอย่างชนิดพอเป็นพอไปพออยู่ได้เหมือนอย่างที่ปัจจเวกขณ์นั่นแหละไม่มีผิดเลย แล้วก็วันหนึ่งท่านก็เดินเข้ามาในเมือง เพื่อมากราบทูลลาพระพุทธเจ้าว่าท่านจะปรินิพพาน พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับพระป่าเดินเข้ามาในบ้านเมืองบรรดาพระสงฆ์ที่เป็นพระพุทธสาวกที่อยู่กับพระพุทธเจ้า ก็ไม่รู้จักนั่นเหมือนกับพระบ้านนอกนี่พูดดังคำของเรานะ เหมือนกับพระบ้านนอก แต่งตัวก็ดูรุ่มร่ามแล้วก็กิริยาท่าทางก็ไม่ละมุนละไม เหมือนกับพระที่เป็นพระพุทธสาวกที่อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ว่าเป็นใครนะ นั่นเป็นใครมาจากไหน ไต่ถามกัน พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่านั่นแหละพี่ชายคนโตของเธอ นี่แหละเป็นพี่ชายคนแรกคือเป็นพระอรหันต์องค์แรก แล้วก็มากราบทูลลาเพื่อจะปรินิพพาน พอพระพุทธเจ้าประทานอนุญาตก็กลับเข้าป่าไปปรินิพพานอยู่กลางดงกลางป่าที่ท่ามกลางแผ่นหินท่ามกลางน้ำฟ้าน้ำภูเขานั่น นี่น่าประทับใจไหม ที่พูดง่ายๆ ว่าไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องให้บำรุงความสุข เชิดชูใจ แล้วทำไมท่านถึงอยู่ได้ อยู่ได้อย่างมีความสุของค์เดียวอยู่ในป่าตั้งแต่ตรัสรู้แล้วไม่เคยคิดไปอยู่อื่น เพราะอะไร ก็เพราะความปีติปราโมทย์ในธรรมที่เกิดขึ้นในจิตของท่าน ที่ท่านประพฤติปฏิบัติแล้วก็มีแต่ความสะอาด สว่าง สงบ มีความเยือกเย็น ผ่องใส มีแต่ความว่างที่เรียกว่าเป็นสุญญตาธรรมอยู่ในจิตตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเกือบจะว่าไม่ต้องกินอะไรก็ยังอยู่ได้เพราะความปีติยินดี อันนี้มันเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงใจให้ชุ่มชื่นเบิกบานอยู่ได้จนตลอด
ฉะนั้นในการที่เราจะปัจจเวกขณ์แล้วก็มาดูในการประพฤติพรหมจรรย์ของเรานี่ ก็ดูมีอะไรบกพร่อง แก้ไขทันที แก้ไขได้เกิดปีติปราโมทย์มีความสุข แล้วก็ที่เราจะมีความสุขนี่ก็เมื่อส่องเพ่งตรงลงไปดูแล้วก็เห็นว่าการประพฤติปฏิบัติของเรานี้อยู่ในร่องในรอยของพระอริยบุคคล ถึงแม้เรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลแต่ก็อยู่ในร่องในรอย เรียกว่าตามทางดำเนินของพระอริยบุคคล มันก็เกิดความปลื้มปีติ มีกำลังใจเข้มแข็งขึ้นอยากจะปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นๆ จนกระทั่งไหว้ตัวเองได้ เคารพตัวเองได้นั่นแหละ ฉะนั้นการปัจจเวกขณ์ลงไปที่การงานของตนนี่ก็ต้องพิจารณาดูในทางนี้ในลักษณะนี้ ทีนี้เมื่อมองดูลงไปที่ตัวเองนี่ก็จะมีข้อคิด หรือข้อที่น่าคิดว่าจะมองดูลงไปที่ตัวเองในขณะที่เราประพฤติพรหมจรรย์นี้ ในลักษณะไหนเพื่อเป็นการเตือนตัวเองด้วยก็น่าจะบอกตัวเองว่า ขณะนี้เราอยู่ในสถานะที่ต่างจากผู้ครองเรือน เราเป็นอนาคาริกา แม้แต่จะสี่เดือนเท่านั้นก็ฝึกเอาไว้ ฝึกเอาไว้ให้อยู่ในจิต เราเป็นผู้ไม่มี ไม่มีอย่างไรก็พูดกันมาแล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ ถ้าเรานึกในแง่ที่ว่า เราเป็นผู้ไม่มีนะ จะเกิดอะไรขึ้นในจิต จะเกิดธรรมข้อไหนขึ้นในจิต สันโดษใช่ไหม จะมีความสันโดษ จะมีความมักน้อย ความอยาก คือตัณหา ความอยากมันค่อยๆ หดไปเอง หดไปโดยอัตโนมัติ นอกจากนั้น พอนึกว่าเราเป็นผู้ไม่มี ถ้านึกว่าเราเป็นเศรษฐีนี่ เคยเห็นท่าทางเศรษฐีไหม ยโสแค่ไหน มักจะนึกว่าเรามีมากกว่าคนอื่น เอาเงินฟาดหัวได้ หว่านได้ แต่พอนึกว่าเราเป็นผู้ไม่มีนี่ ขันติ โสรัจจะ โสรัจจะก็คือความเสงี่ยม เรียกว่าความเสงี่ยมนี่เหมาะที่สุด ความเสงี่ยมเจียมตัวแต่ไม่ใช่หมายความว่า หมดศักดิ์ศรีไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ ศักดิ์ศรีมีอยู่ในความเสงี่ยมอันนั้น มองดูแล้วงดงามน่ารัก มีขันติความอดทน แต่สิ่งที่ได้พบ ไม่ว่าจะยั่วยุ จะเป็นผัสสะกระเทือนรุนแรงแค่ไหนก็ไม่กระทบ ไม่เป็นอะไร มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้ เขาจะเป็นใครก็ตาม แต่เมื่อเขาให้ ก็ทำให้เรามีความเป็นไปได้ เหมือนอย่างท่านพระสารีบุตรอีกเหมือนกัน
เอ่ยถึงท่านมีแต่ทำให้เราปลื้มปีติไปด้วย เช่นมีคราวหนึ่ง มีชายผู้ยากจนอายุมากแล้วชื่อ ราธะคงเคยได้ยินอยากจะบวชเหลือเกิน ก็มากราบทูลขอพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามบรรดาพระภิกษุสงฆ์พระพุทธสาวกว่าใครจำคุณงามความดีอะไรของราธะผู้นี้บ้าง ก็ไม่มีใครนึกออกเพราะเป็นคนจนมาก ไม่สามารถจะทำอะไรบริจาคอะไรหรือให้อะไรแก่ใครได้เยอะๆ ไม่มี แต่ท่านพระสารีบุตรนี่จำได้ว่าครั้งหนึ่งท่านเคยได้รับบาตร คือได้รับบิณฑบาตนี่ เป็นข้าวหนึ่งทัพพีจากราธะท่านยังจำได้ท่านยังนึกกตัญญูต่อราธะ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เลยรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นเธอเอาราธะนี่ไปบวชคือเป็นพระอุปัชฌาย์ นี่ก็เรียกว่ามีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้ไม่ว่าผู้ให้คนนั้นจะเป็นใครแม้แต่จะเป็นยาจก แต่เขายังอุตส่าห์เจียดสิ่งที่เขามีน้อยมาแบ่งปันให้ ถ้าหากว่านึกว่าเราเป็นผู้ไม่มี เป็นผู้อยู่ด้วยผู้อื่นจะเกิดความกตัญญูกตเวทีแล้วการปฏิบัติตามโคตมีสูตรก็จะเป็นไปได้โดยง่ายด้วย
นอกจากนี้ก็พิจารณาดูกิจที่กำลังทำ โดยเฉพาะการประพฤติพรหมจรรย์ ให้สำนึกได้ว่าเราจะต้องเร่งการกระทำเช่นนี้ ให้ยิ่งขึ้นกว่าที่กระทำอยู่เพียงใด ดูกำลังของการปฏิบัติ ที่เราได้ทำอยู่นี่ เราเร่งสตรีมของเราขึ้นมาอีกสักหน่อย เพื่อประกอบความเพียรให้ยิ่งขึ้น จะได้เร็วขึ้น หรือว่าเร็วขึ้นทำยังไง หายใจเป็นเรื่องการประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ไปมัวนึกคิดในเรื่องโน้นเรื่องนี้ เรื่องงานเรื่องการ เรื่องบ้านเรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องคนอื่น คนรักคนชัง ขอทิ้งไว้ก่อน สี่เดือนนี่ขาดกันก่อนนะ ตอนนี้ขอเป็นอนาคาริกาให้บริบูรณ์หน่อย ก็มาดูอีกว่าที่เราทำมาแล้วเราต้องเร่งความเพียรอีกไหม ควรทำไหม ทำได้ไหม ให้ยิ่งขึ้น แล้วเราจะต้องใช้สติปัญญาความสามารถของเราให้ยิ่งขึ้นกว่านี้อีกไหม หรือเราใช้อย่างเพลาๆ มือไม่เต็มที่เลย เราจะต้องหาศิลปะหาอุบายที่จะเคี่ยวเข็ญอบรมตัวเราในการประพฤติธรรม ให้ประณีตให้แยบคายยิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะจะต้องฝึกให้มีสัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ สัจจะก็คือสัจจะความจริง ที่ปฏิญาณแล้วว่าจะเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ รักษาไว้ให้มั่นคงแน่วแน่ ไม่ให้ซวนเซรวนเร ทมะข่มใจ ข่มบังคับใจอย่างยิ่งยวด เมื่อนึกอยากจะออกไปนอกทางของการประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อความคิดปรุงแต่งมันสอดแทรกเข้ามาสารพัด ตัวยังอยู่หรอก แต่ใจมันไม่อยู่ ต้องแก้ไข ตัดมันออกไปให้ได้ หาธรรมะที่จะชูใจ เอามาข่มขี่บังคับขับไล่มันไป ทมะนี่ต้องเรียกว่าต้องขบฟันกัดฟัน เอาชนะให้ได้ ขันติก็ทราบแล้ว อดทน อดกลั้นทั้งทางกายทางใจ จาคะ ก็คือกับการบริจาค สิ่งที่จะมาถ่วงดึงให้เราถอยหลัง ให้เราตกออกไปจากกุศลธรรมนั่นก็คือ เรื่องของตัณหาอุปาทาน ที่เป็นไปตามแรงผลักดันของกิเลส โลภ โกรธ หลง ต้องจาคะบริจาคมันไปทิ้งมันไปอย่างแรงก็คืออย่างสุดกำลัง นี่ไม่ต้องไปซื้อมาหา ไม่รู้มันมาได้ยังไง มันชอบมาอยู่มาเกาะ มันฝังนักอยู่ในใจ เพราะฉะนั้นต้องดึงมันให้หลุด แล้วก็เหวี่ยงทิ้งมันไปให้ได้ เพราะฉะนั้นจาคะอะไรก็ไม่สำคัญ แล้วก็ไม่ได้บุญไม่ได้กุศลเท่ากับจาคะ โลภ โกรธ หลง จาคะตัณหาอุปาทาน นี่แหละเป็นจาคะที่วิเศษที่สุด แล้วจะพาตนให้หลุดพ้นจากความมืดสู่ความสว่าง จากชีวิตที่ไม่มีความหมายเป็นชีวิตที่มีความหมาย สู่ชีวิตที่ประเสริฐที่สุด เพราะฉะนั้นการเพ่งดูลงไปที่ตัวเองก็คือดูความบกพร่องในส่วนศีล อย่างที่พูดมาแล้ว มีหรือไม่ พ่ายแพ้แก่กิเลส ตัณหาอุปาทานมากน้อยเพียงใด ดูไป หมั่นดูสม่ำเสมอ ทุกวันเวลา นี่เป็นการเพ่งดูเบื้องต้นของการปัจจเวกขณ์ที่ตัวเอง อย่างพื้นๆ นะคะ ที่พูดนี่เป็นการปัจจเวกขณ์ ดูอย่างพื้นๆ ถ้าหากว่าจะไปดูอย่างเบื้องสูง นั่นก็คือ ปัจจเวกขณ์เบื้องสูง ยิ่งขึ้นขึ้นไป ก็คือการพยายามฝึก อบรมจิตให้อยู่เหนือเวทนา เวทนาของความรู้สึกสูญเสียพลัดพราก ซึ่งค่อนข้างจะลึกลงไปในหัวใจของมนุษย์ นี่หมายความว่าเมื่อเราผ่านพ้นเบื้องต้นที่พูดแล้ว ถ้ายังผ่านพ้นเบื้องต้นไม่ได้ยังไม่ต้องไปนึกถึง เอาเก็บไว้ก่อน หรือว่าอยู่เหนือกรรม ที่เราชอบติดอยู่ในบ่วงของกรรม ให้รู้จักว่ากรรมนั้นน่ะ กรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนก็คืออยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่ว เหนือกรรมดำกรรมขาว นี่ก็คือเป็นการเพ่งดูตัวเอง ปัจจเวกขณ์ของตัวเองให้สู่การกระทำที่เป็นเบื้องสูงยิ่งขึ้น เผอิญก็พูดยังไม่จบอีกเหมือนกัน ก็คงต้องเอาไว้คราวหน้า แล้วก็หวังว่า จะได้ใช้วันเวลาที่ผ่านไปรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า รำลึกถึงพระคุณของ พระธรรมพระสงฆ์ เพื่อให้เป็นกำลังใจในการประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ธรรมสวัสดีค่ะ
ธรรมสวัสดีค่ะ หัวข้อที่เราค้างไว้ ก็คือการกระทำเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม คือในการทำงานทุกอย่างทั้งทางโลกและทางธรรมก็คงทราบว่า งานใดที่ไม่มีการติดตามผลงานหรือสำรวจตรวจทาน ยากเหลือเกินที่งานนั้นจะเจริญก้าวหน้าไปได้ มันมีแต่อยู่กับที่กับเสื่อม เพราะฉะนั้นการกระทำเพื่อความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องมีการตรวจสอบทบทวน ตรวจทานการประพฤติปฏิบัติของตนเองอยู่เสมอ อย่างของเรานี่ที่ทำๆ กันอยู่ในทางโลก ช่างคิดโครงการกันช่างทำโน่นทำนี่แต่ไม่เคยคิดถึงการติดตามที่เรียกว่า follow up ไม่ค่อยมี ทำเสร็จคิดเสร็จ เสร็จ แต่ไม่ได้ดูผลงานออกมาอย่างไร เพราะฉะนั้นบางทีก็มีเยอะที่เป็นความสูญเปล่า ทีนี้เราอุตส่าห์สละชีวิตเข้ามาอยู่ 4 เดือน ก็เป็นการเสียสละไม่ใช่น้อยนะคะที่เข้ามานี่ ถึงได้บอกในวันแรกว่าขออนุโมทนาที่อุตส่าห์สละเข้ามานี่ เพราะฉะนั้นก็อย่าให้สูญเปล่า ถ้าจะไม่ให้สูญเปล่านี่แหละคือคำแนะนำอย่างหนึ่ง อาจจะมีคำแนะนำอื่นๆ อีกเยอะ แต่นี่เป็นคำแนะนำอย่างหนึ่งหรือวิธีหนึ่ง ในการที่จะกระทำเพื่อความก้าวหน้าในการประพฤติพรหมจรรย์ของเราไม่ให้การปฏิบัติธรรมของเราสูญเปล่า นั่นก็คือต้องสำรวจตรวจสอบการปฏิบัติของตนเองอยู่เสมอ เสมอนี่เกือบจะเรียกว่าทุกข์ลมหายใจนะคะ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งก็เอาสักห้านาที หรือชั่วโมง ไม่พอ ต้องตรวจสอบดูเรื่อยทุกข์ลมหายใจ เรียกว่าทุกอิริยาบถ ถัดเข้ามาอีกทุกข์ลมหายใจ ว่าเราทำอะไรผิดพลาดบ้าง เราทำอะไรผิดพลาดบ้าง เราทำอะไรดีขึ้นบ้าง เราทำอะไรเป็นที่น่าปีติยินดีบ้าง เราก้าวหน้าตรงไหนนะ นี่เพิ่มกำลังใจที่จะให้สนุกเพลิดเพลินในการปฏิบัติต่อไป ซึ่งจะรู้ได้ก็จากการสำรวจตรวจสอบตนเอง อย่างที่ได้พูดเอาไว้ในวันก่อนว่า การสำรวจตรวจสอบตนเองเพื่ออะไร นี่เน้นในเรื่องของการประพฤติพรหมจรรย์หรือการปฏิบัติธรรม ก็เพื่อให้เห็นและรู้จักอันตรายที่ปกปิด ที่ท่านเรียกว่าเป็นอันตรายที่ปกปิดก็เพราะว่ามองเผินๆ เหมือนกับมันไม่มีอะไร เรียบร้อยหมดทุกอย่าง ศีลฉันบริสุทธิ์ เพราะไม่เคยตรวจ พอตรวจก็มองปราดอย่างผู้เชี่ยวชาญ ข้อหนึ่งถึงข้อห้า ข้อหนึ่งถึงข้อแปดจบเรียบร้อย ไม่ได้ นั่นแหละรุงรังไม่เรียบร้อย เพราะมันจะต้องสำรวจตรวจสอบทีละข้อ ละข้อ ละข้อ อย่างรอบด้าน ตรวจสอบนี่ตรวจสอบอย่างรอบด้าน
ข้อหนึ่งนี่ ที่บอกว่าไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มันแค่นั้นเหรอ อ้าวถ้าวันนี้เราไม่ได้ฆ่าอะไรเลย มดสักตัวเราก็หลีกเลี่ยง ไม่ได้ฆ่ายุงเราก็ไม่ได้ตบยุงเลย แค่นั้นเหรอ ทุกอย่างนี่มันเนื่องด้วยใจเท่านั้น ใจคิดประทุษร้าย อย่างที่เขาคิดฆ่ากันอาชญากรรมต่างๆ นะคะ ลงมือแล้วล่ะตำรวจถึงจะเห็น แต่ก่อนจะลงมือนี่ต้องคิดตระเตรียมเอาไว้ใช่ไหม จะใช้วิธีไหนจังหวะไหนถึงจะเหมาะ จะอาวุธอะไร แล้ววิธีล่ะ ถ้าสมมติฆ่ามันได้แล้วจะทำยังไงเราถึงจะไม่ผิด นี่แหละไม่ใช่ปาณาตอนลงมือฆ่า ใช่ไหมคะ มันไม่ใช่ปาณาตอนลงมือฆ่า มันปาณาตั้งแต่คิดตรึกเอาไว้ตลอดเวลา นั่นน่ะข้อหนึ่ง หมดแล้ว ศีลข้อหนึ่งไม่เหลือแล้ว เพราะฉะนั้นจะมาคิดเอาแต่เพียงว่า ลงมือกระทำ เพราะศีลนั้นสำคัญอยู่ที่เจตนา เจตนาจะรับศีล ทีนี้จะรับยังไงล่ะ รับอย่างอุปาทาน หรือรับอย่างสมาทาน รับอย่างสมาทานนี่เป็นผู้ที่รับอย่างรู้เรื่อง อย่างเข้าใจ เข้าใจความหมายของศีล เข้าใจความสำคัญของศีล เข้าใจคุณค่าของการเป็นผู้มีศีล เพราะฉะนั้นจึงจะสมาทานไว้ด้วยความเคารพ เรียกว่ายกเอาไว้บูชาด้วยความเคารพ จะประพฤติปฏิบัติอย่างละเอียดลออรอบด้านด้วยความระมัดระวังพร้อมด้วยสติและปัญญา ถึงแม้ท่านจะบอกว่าเรื่องของศีลเป็นเรื่องของกายวาจา
แต่ถ้าเว้นคือจะทอดทิ้งใจเสียแล้วละก็ ยากนักแหละที่จะบริสุทธิ์สะอาดหมดจดไม่ด่างพร้อย เพราะฉะนั้นมันต้องเนื่องด้วยใจที่จะต้องมีปัญญาพิจารณาดูรอบด้านอยู่เป็นนิจทีเดียว เพราะฉะนั้นที่ปกปิดนี่เรื่องของศีลซึ่งมองดูเหมือนกับเรื่องกล้วยๆ ง่ายๆ แต่มันผิดกันได้มันด่างพร้อยกันได้ แล้วถ้าสมมติว่ามันด่างพร้อยเข้า แล้วเราก็ไม่สนใจ ก็เหมือนกับเราปล่อยของสกปรก มุมของบ้านนี่เวลากวาดทำความสะอาด ตรงมุมไม่เป็นไรไม่ค่อยมีคนเห็นกวาดตรงกลางๆ แล้ววันหนึ่งไปดูมุมก็เต็มไปด้วยขยะ ความสกปรกก็หนาแน่นต้องขัดกันเป็นการใหญ่เชียว นี่แหละมันปกปิดที่ท่านบอกว่าเป็นอันตรายที่ปกปิด ปกปิดแล้วมันก็ครอบงำ ท่วมทับ ปกคลุม หุ้มห่อ ทำให้เจ้าของมองไม่เห็น คิดว่าบริสุทธิ์สะอาดแล้ว เพราะฉะนั้นการที่จะสำรวจตรวจสอบต้องทีละอย่างๆๆ กิเลสก็เหมือนกันกิเลสสาม ก็รู้จักกัน โลภะ โทสะ โมหะ วันนี้ฉันไม่โลภ ดี นี่เข้าใจความโลภแค่ไหน โลภะนี่แค่ไหน โลภะทางวัตถุทรัพย์สินเงินทองสิ่งของที่ดินอะไรทั้งหลายที่เป็นรูปธรรม อาจจะมีน้อยลง เข้ามาประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมก็มีน้อยลง ความหวงแหนก็อาจจะน้อยลง ทางรูปธรรมน้อยลง ก็ไม่ไปถึงกับไปแย่งชิงเบียดเบียนกันซึ่งๆ หน้ากับใคร แต่โลภทางนามธรรมมีบ้างไหม นี่สำคัญ รักฉันคนเดียวนะ รักคนอื่นไม่ได้ นี่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นคู่รักคู่ใคร่หรอกนะคะ หมายถึงความรักธรรมดานี่ เช่นที่เล่าให้ฟังวันก่อนนี่ที่ท่านครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งท่านบอกว่าเอาธรรมเถอะ อย่าเอาคนเลย นั่นเพราะอะไร ลูกศิษย์ก็มะรุมมะตุ้ม อยากให้ท่านอาจารย์ฉันของดิฉันนะเจ้าคะของผมนะครับ ไปโน่นนะครับ ที่นี่จะดี ผมรับรอง อะไรทุกอย่าง ต้องผมต้องฉัน นี่แหละโลภไหมโลภะไหม นี่มันละเอียดอย่างนี้ โลภหรือเปล่า โลภใช่ไหม อยากให้ครูอาจารย์รักฉันคนเดียว โปรดปรานฉันคนเดียว อะไรๆ ก็ฉันคนเดียว ฉันจะเหนื่อยสายตัวแทบขาดก็ไม่เป็นไร ยอม อย่าให้คนอื่นเข้ามายุ่ง โลภหรือเปล่า นึกดู แล้วศีลเป็นยังไง ศีลเป็นยังไง มันพลอยด่างพร้อยไปด้วยรึเปล่า เพราะในขณะที่มีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ศีลข้อไหนเข้ามาเกี่ยวล่ะเข้ามาพ้องพานโดยไม่ได้นึก เจ้าตัวไม่ได้นึก ข้อไหน ข้อสี่หมายความว่ายังไง ข้อสี่ อธิบายสิ ที่ว่าข้อสี่ใครพูดข้อสี่เมื่อกี้ ว่ายังไง ก็อาจจะพูดจาอะไรที่ไม่น่าฟัง ก็เป็นได้ ด่างพร้อย แล้วข้อไหนอีกละ ลองนึกดูสิ
ข้อห้า เป็นยังไง มัวเมา ก็มัวเมา เป็นได้ ตกอยู่ในความหลง เพราะฉะนั้นศีลข้อห้าอย่าคิดว่าเฉพาะต้องไปกินเหล้าเมายา อย่างที่เขาบอกเสพติด ไม่เฉพาะกินเหล้าเมายา ไปหลงใหลอยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนกระทั่งขาดสติ นั่นแหละอนุโลมอยู่ในข้อห้าได้ด้วย เช่นเด็กๆ หลงรายการโทรทัศน์ ติดเกม เล่นแต่เกมอย่างเดียว ไม่อยากกินข้าวกินปลา การบ้านการเรียนก็ไม่อยากทำ นั่นแหละ ข้อห้า หลงติด หรือว่าหลงใหลผู้คนไม่ว่าในลักษณะใดมันก็ขาดสติแล้วใช่ไหมคะ เพราะว่าหลงอย่างไม่มีเหตุมีผลเอาแต่อารมณ์อย่างเดียว แล้วข้อหนึ่งเป็นยังไง ศีลข้อหนึ่งเป็นยังไง มันก็มีด้วย แหม เกลียดขี้หน้านายคนนี้ หรือแม่คนนี้มาพัลวันอยู่นั่น เมื่อไหร่จะไปเสียให้พ้นจริง นี่ใจคิดว่าประทุษร้ายไหม เขาเรียกว่าประทุษร้ายไหม โดยไม่ได้ตั้งใจเพราะไม่รู้ไงคะ เพราะไม่เคยมาสำรวจตรวจทาน นี่แหละการสำรวจตรวจทานสอบทานมันถึงต้องละเอียดอย่างนี้ ถึงได้บอกว่าแนะนำวิธีการตรวจสอบทานด้วยวิธีการของปัจจเวกขณ์ คือเพ่งดูลงไปแต่ละอย่างๆ ไม่ใช่พร้อมกัน ทีละอย่างๆ ลงไปตรงๆ เหมือนอย่างที่ปัจจเวกขณ์ปัจจัยสี่ จีวร อาหารบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช นั่นก็สำหรับพระภิกษุโดยตรง แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระภิกษุเป็นผู้ประพฤติธรรมก็จะอนุโลม ไม่ใช่อนุโลมหรอกจะนำเข้ามาเพื่อพิจารณาในลักษณะใด ของเราก็เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคนี่ก็เป็นเรื่องของวัตถุที่เกื้อกูลต่อชีวิตที่มาใช้เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ มันก็เป็นเรื่องของภายนอก แต่ที่ละเอียดแล้วก็ลึกซึ้งยิ่งขึ้นน่ะมันเรื่องของภายใน ถ้าภายในมันละเอียด มันสะอาดเท่าใด ข้างนอกจะละเอียดไหม ข้างนอกจะสะอาดไหม ข้างนอกจะเกลี้ยงขึ้นไหมนึกดู ก็แน่นอน เพราะฉะนั้นใช้วิธีปัจจเวกขณ์นี่เราก็จะเห็นว่า ในทางธรรมน่ะพอพูดถึงเรื่องของจีวร ก็พูดถึงเรื่องของจีวรอยู่อย่างเดียว บิณฑบาตก็พูดอย่างเดียวทั้งๆ ที่คำพูดและวิธีที่จะบอกให้ระมัดระวังให้สอบสวนตรวจทานเหมือนกันไม่มีผิดกันเลยใช่ไหมคะ พูดง่ายๆ ก็สวดซ้ำเปลี่ยนแต่เพียงชื่อเท่านั้นเอง เปลี่ยนเป็นชื่อจีวรเป็นบิณฑบาตเป็นเสนาสนะเป็นคิลานเภสัช นี่ในเรื่องวัตถุนี่ท่านแสดงตัวอย่างไว้ให้ว่าปัจจเวกขณ์คือเพ่งตรงลงไป เฉพาะอย่างเฉพาะอย่าง ไม่เอาหลายๆ อย่างพร้อมกัน เพราะอะไร เพราะมันจะเกิดความพร่ามัว แล้วก็เลยลวกๆ ไม่ละเอียดถี่ถ้วน ก็จะมีการปกคลุมหุ้มห่อเป็นอันตรายที่ปกปิดโดยไม่รู้ตัว แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจ เพราะฉะนั้นปัจจเวกขณ์นี่ มีคุณค่าอย่างสูงมากเพราะอะไร จะช่วยทำให้คนหยาบเป็นคนละเอียดขึ้น คนที่ชอบทำอะไรลวกๆ จะเป็นคนที่ทำอะไรอย่างระมัดระวัง ไม่ผิวเผิน คนที่ทำอะไรสักแต่ว่าเสร็จ ก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น เห็นคุณค่าของการที่จะต้องทำอะไรให้สมบูรณ์ ให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นปัจจเวกขณ์นี่มีคุณประโยชน์ ไม่เฉพาะแต่ในเรื่องของการบวชเรียนนะคะ นำเอาไปใช้ได้ในเรื่องชีวิตทุกเรื่องค่ะ ที่ทำงานทำการอยู่ข้างนอกที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้างนอกเมื่อกลับไปแล้วนี่ถ้าเรานำมาปัจจเวกขณ์ทีละอย่างๆ ที่ว่านี่ ทีละอย่างเฉพาะอย่างไม่พร่ามัวรวมกันไปหมด เราก็จะเห็นข้อบกพร่อง ข้อที่ควรแก้ไข ข้อที่หละหลวมข้อที่มันยังขาดอยู่หลายๆ อย่างเลย ถ้าเราหยิบมาดูแล้วก็ด้วยจิตที่พิจารณาไตร่ตรอง เพราะฉะนั้นวิธีการของปัจจเวกขณ์ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะผู้บวชหรือพระภิกษุสงฆ์ แต่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่รู้จักใช้วิธีวิธีนี้ในการทำงานในการดำรงชีวิตของตน ก็จะเป็นผู้ที่มีชีวิตที่ละเอียดประณีต ใจก็แน่นอนใจนี่ต้องละเอียดประณีตแล้วมันก็ออกมาข้างนอก แล้วก็ทำให้การงานชีวิตก็เจริญรุ่งเรือง เพราะฉะนั้นนี่อย่างกิเลสนี่เห็นไหมคะ โลภะ เอาล่ะวัตถุไม่โลภ หรือโลภก็อาจจะโลภ ดูอีกวัตถุนี่ที่ทนไม่ได้ เรียกว่ายอมไม่ได้อันนี้ ยอมให้ไม่ได้ ฉันจะต้องเอามีไหม นี่เขาจะตรวจให้ละเอียด เอาล่ะฉันไม่ค่อยโลภวัตถุแต่มีอะไรไหมที่ฉันไม่ยอมปล่อยให้ใครเลย มีไหม นี่ดูไปอีกทีละอย่างละอย่างแล้วดูอย่างสุจริตใจ ไม่มี ก็ถึงค่อยๆ ชื่นใจตัวเอง
ทีนี้โลภะนามธรรมล่ะ อันนี้แหละก็น่ากลัว โลภะนามธรรมนี่มันน่ากลัวตรงไหน ไม่มีใครเห็น และตัวเองก็ไม่รู้ด้วย ต้องรักฉันคนเดียว ต้องให้ฉันคนเดียว ต้องชมฉันคนเดียว อะไรๆ ก็ฉันคนเดียว พอถึงเวลาทำงานการจะเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง สองขั้นนี่มันต้องเป็นของฉัน ไม่ใช่ของคนอื่น คนอื่นไม่ได้ นี่ก็อีกเหมือนกัน โลภหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันมีรายละเอียดมากนะคะ และโลภะนี่มันก็ยังมีคำประกอบกันอีก คือราคะ โลภะราคะนี่จะอยู่ด้วยกัน แต่มักจะพูดกันแต่เพียงว่าโลภะ เพราะโลภะนี่ก็จะเป็นความโลภความอยากได้ที่เรียกว่า ก็จะว่าเบามันก็ไม่เชิงเบา มันก็หนักเหมือนกัน แต่ราคะนั้นมันมีความหมายลึกไปถึงความกำหนัดย้อมใจ คือใจมันยึดเหนี่ยว เหนี่ยวอยู่กับสิ่งนั้นน่ะ มันเหนี่ยวเหนียวแน่นอย่างปล่อยไม่ได้ ท่านก็จะเรียกว่า นั่นน่ะราคะ หรือไปถึงขนาดที่ว่าราคะก็คือ มีความกำหนัดยินดีในเรื่องของทางเพศ กามารมณ์ ฉะนั้นลราคะมันก็อยู่ในในในกลุ่มของโลภะด้วยกัน ฉะนั้นก็ต้องพิจารณาของเราเองทุกอย่าง บางคนก็ว่า ฉันไม่มี ฉันไม่อะไรละ เรื่องกามฉันไม่มี จริงหรือเปล่า มีความกำหนัดยินดีในอะไรอยู่จริงหรือเปล่า นี่นึกดูให้ดี มีไหม พอเรื่องกามนี่ก็นึกไปถึงในศีลข้อไหนเข้ามาประกอบกันด้วย นี่ก็ลองพิจารณาเอง หรือโกรธ ส่วนมากก็จะบอก เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยโกรธแล้ว ดีขึ้นเยอะ ประโยคนี้ไม่ดีนะ ดีขึ้นเยอะค่อยยังชั่วขึ้นมาก ไม่ดี ไม่ดีเพราะอะไร มันทำให้ประมาท ทำให้คนพูดประมาทว่าดีขึ้นแล้ว ค่อยยังชั่วขึ้นมาก ก็เลยภูมิใจในความที่ดีขึ้นไม่คิดปรับปรุง เพราะฉะนั้นถ้ามองดูอยู่อย่างนี้จะไม่ต้องพูดประโยคนี้จะมองเห็นแต่เพียงว่าควรจะต้องแก้ไขปรับปรุงอะไร
แล้วก็ขณะที่มองนี่มองอย่างผู้รู้ คือรู้จักรู้จุดประสงค์ที่จะทำเพื่อไม่ให้จิตใจเศร้าหมอง โกรธ ก็ดูอีก ถ้าเราไม่ค่อยโกรธ เราโกรธน้อยลงแล้ว แต่เรื่องไหนที่เราทนไม่ได้ พอเรื่องนี้เข้ามากระทบแล้วก็จี๊ดขึ้นมาเลย ต้องเพ่งสติไปที่สิ่งที่เป็นทำให้โกรธ คือผัสสะอันนี้ให้ยิ่งขึ้น จะได้มีความระมัดระวัง แล้วก็นำเอาธรรมะที่รู้ที่เราพูดกันแล้วทั้งหมดนี่ เข้ามาแก้ไขพิจารณาให้เห็นมันเป็นเพียงสิ่งสักว่า มันไม่มีอะไรเป็นตัวตนที่แท้จริง ก็ว่าไปเถอะ แม้แต่จะพูดก็ยังดี เตือนใจตัวเองเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งก็จะซึมซาบมากขึ้น พอมาถึงโมหะ เยอะเหลือเกิน คนที่มาพูดให้ฟังเกือบจะว่า 99% น่ะหลง ฉันไม่ค่อยหลงหรอกค่ะ ไม่ค่อยมี หลง ทำไมถึงพูดอย่างนี้ ก็เพราะไม่รู้ว่าหลงนั้นมันคืออะไร ไม่รู้ว่าโมหะนี่คืออะไร ก็เลยบอกฉันไม่มี คำว่าฉันไม่มีนี่แหละคือ ฉันเป็นไงแล้ว ฉันหลงแล้ว ที่ว่าฉันไม่มีคือฉันหลงแล้ว หลงเพราะไม่รู้ว่าโมหะนี่มันคืออะไร มันมีลักษณะอย่างไร เพราะฉะนั้นก็มีชีวิตอยู่ด้วยความหลง แต่ไม่รู้ว่าหลงแล้ว เพราะความหลงนี่ ท่านก็บอกแต่เพียงว่า มันวนเวียน มันวนเวียน ว่ายวนอยู่ข้างในนั่น มันสลัดไม่ออก เหมือนกับว่าเป็นพายเรือในอ่างหรือพายเรืออยู่ในบ่อแคบๆ หาทางขึ้นได้ยาก ออกได้ยากนี่มันเป็นความหลง แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันหลงอะไรมันหลงอย่างไร หลงในกาม หลงในอำนาจ ในสรรเสริญหรือพูดง่ายๆ คือหลงในโลกียธรรม โลกธรรมแปด อย่างใดอย่างหนึ่ง หลงวนเวียนอยู่นั่น พอจะต้องเสียอะไรไปบ้างเสียดายเสียไม่ออก ไม่อยากเสียนั่นเพราะความหลง หลงว่าสิ่งนั้นมีค่า ปล่อยไม่ได้ ให้ไม่ได้ เพราะงั้นหลงทุกอย่าง ซึ่งต้นเหตุของความหลง รากเหง้าของความหลงที่ร้ายกาจ ก็คือความหลงในตัวตนนั่นแหละ เพราะความยึดมั่นในความเป็นตัวตน จึงหลงอยู่ตลอดเวลา ปล่อยไม่ได้ และคนที่หลงอย่างนี้ สังเกตไหมคะว่าเป็นคนยังไง เป็นคนมีลักษณะนิสัยอย่างไร ไม่ค่อยชอบดูตัวเอง แล้วก็มักจะคิดว่า รู้หมดแล้ว ฉันรู้หมด อะไรๆ ฉันก็รู้หมด รู้มากจนหลงไง ลองเอาไปคิดดู รู้มากจนหลงเป็นยังไง หลงไปหลงมาก็เลยไม่รู้อะไรแล้วก็เลยยิ่งหลงใหญ่ เพราะฉะนั้นการที่ไม่ดูทดสอบตัวเองนี่แล้วก็ทะนงตัวว่ารู้แล้วเข้าใจแล้วนี่อันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพราะการปฏิบัติธรรมเป็นงานละเอียดงานประณีตอย่างที่ว่าแล้ว ไม่ใช่งานลวกๆ ของคนหยาบหรือคนทะนงตนว่ารู้แล้ว เรื่องของความหลงนี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมากนะคะ ขอให้สำเหนียก สำนึก สังวร ระวังให้มากๆ คนที่หลงว่ารู้กับคนที่หลงว่าไม่รู้ คือฉันนี่เป็นคนไม่รู้อะไรเลย บางทีอาจจะเป็นว่าถ่อมตัว แต่ในใจฉันรู้ แต่ฉันทำเป็นถ่อมตัวก็มี จะหลงว่ารู้ หรือหลงว่าไม่รู้ เรียกว่าพอๆ กัน เพราะว่าโมหะนี่มันเป็นหัวหน้าสมุนของอวิชชา อวิชชานี้เป็นพญามารตัวใหญ่ เนื่องจากอันนี้เอง มันจึงมีวิธีหลบซ่อนตัวทำให้มนุษย์นี่รู้จักมันได้ยากตามหาตัวมันได้ยาก
ฉะนั้นถ้าเรามาดูว่าลักษณะอาการของความหลงที่มันออกมานี่คือ เมื่อจิตมันหลงแล้วนี่มันออกมาเป็นลักษณะอาการอย่างไร ก็ลองไปดูที่นิวรณ์ นิวรณ์ห้า กิเลสนี่ท่านก็เปรียบเหมือนเสือตัวใหญ่ มันตะปบทีหนึ่งก็ตายหรือปางตาย เพราะมันเป็นสัตว์ใหญ่แล้วก็ดุร้ายมีเขี้ยวเล็บ แต่ท่านผู้รู้ท่านก็เปรียบนิวรณ์เหมือนแมลงหวี่ตัวเล็กๆ บินว่อนไปมาตอมหูตาตอมตาตอมหัว มองดูเหมือนไม่น่ากลัว ใครเห็นแมลงหวี่ก็ไม่ได้วิ่งหนี แต่เมื่อเปรียบความร้ายของแมลงหวี่กับเสือนี่จะว่าไปแล้วพอๆ กัน บางคนอาจจะบอกว่าพอๆ กันยังไง เสือตะปบทีเดียวตายน่ากลัวกว่าตั้งเป็นกอง นี่ถ้าพูดเล่นๆ นะคะก็ต้องบอกว่า ตายเสียรู้แล้วรอดไปยังดีกว่าที่จะมาอยู่อย่างครุ่นๆ กรุ่นๆ อยู่กับนิวรณ์แล้วมันก็จะรบกวนไปจนตาย พอถึงเวลาจะสิ้นลมหายใจ สติไม่ทัน เพราะจิตมันเกิดไปประหวัดอยู่กับสัญญาอะไรก็ไม่รู้ ที่มันเป็นที่ไม่ถูกใจไม่พอใจ แล้วก็ปัญญามาไม่ทัน สติก็มาไม่ทัน เพราะจิตมันไปประหวัดอยู่กับนั้น ในนาทีสุดท้ายที่กำลังจะหยุดหายใจ มันร้ายกาจตรงนี้ เพราะอะไร อุตส่าห์ศึกษาประพฤติธรรมดีมาตลอด แต่เพราะไม่ตรวจสอบให้ถี่ถ้วนนี่ พอถึงตอนสุดท้ายเข้ามันควรที่จะอยู่กับดีๆ ไปตลอด มันกลับไปประหวัดกับสิ่งที่มันฝังอยู่ที่มันปกปิดอยู่โดยไม่เคยสำรวจ เลยห้อยต่องแต่งอยู่ตรงนั้น ไม่ได้ไปในที่ที่ควรจะไป เห็นไหม ไม่ใช่ของง่าย ของดูถูกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่านิวรณ์นี่เหมือนแมลงหวี่นี่ ก็นี่แหละดูตัวเองเถอะไหนใครไม่มีนิวรณ์บ้าง ใครเป็นผู้ปลอดจากนิวรณ์บ้าง มีไหม ไม่มี เพราะผู้ที่จะปลอดจากนิวรณ์คือใคร พระอรหันต์เท่านั้น เรานี่เพิ่งต้นทาง เพิ่งเข้ามาสู่ต้นทางเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นนิวรณ์นี่จะรบกวนจิตใจอยู่ตลอด ที่บางทีก็นั่งซึมๆ แล้วก็บอกตัวเอง วันนี้มันเป็นอะไร หาเหตุไม่ได้ ทำไมมันถึงทำให้ซึมๆ บางทีมีเศร้าๆ ปนอยู่ด้วย เคยเป็นไหมคะ ก็เคยกันทุกคนแหละ บ่อยบ้างไม่บ่อยบ้าง นี่บางทีมันมีอารมณ์อย่างนี้ขึ้นมา หาเหตุก็ไม่ได้ แล้วบางทีบางวันมันก็เหนื่อย เพลีย ทั้งที่ร่างกายแข็งแรง หมอก็ตรวจแล้วก็ไม่ได้มีสุขภาพอะไรที่น่าเป็นห่วง แต่มันไม่อยากลุก ไม่อยากขยับเขยื้อน อยากนั่งจมอยู่แห่งเดียว เคยเป็นไหม ลืมตาตื่นขึ้น หมดแรงเสียแล้ว เปลี้ย จะทำอะไรทีหนึ่งก็ ทำดีหรือไม่ดี เรื่องนี้ทำดีหรือไม่ดี คิดอยู่นั่นแหละ ถามคนนั้นบ้างถามคนนี้บ้าง แล้วก็ถามตัวเองบ้างสามวันเจ็ดวันก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ ไปดีหรือไม่ดี จนกระทั่งเรื่องเล็กๆ แต่งตัวชุดนี้ดีไหม ทาเล็บสีนี้ดีไหม สั่งอาหารจานนี้ดีไหม ต้องบอกว่าเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งขอโทษ ก็ยังลังเลอยู่นั่น ตัดสินใจไม่ได้ บางคนก็อาจจะบอกว่า แล้วมันเป็นยังไง ก็ไม่เห็นเป็นยังไง มันก็ไม่เป็นยังไงหรอก แต่มันเสียเวลาไหม ถึงแม้จะนิดๆ หน่อยๆ มันเสียเวลาไหม สะสมเวลาที่เสียไป ทีละครึ่งนาที 1 นาที 3 นาที 5 นาที หรือเป็นชั่วโมง พอมาคิดแล้ว 24 ชั่วโมงวันนี้ เราทำอะไรจริงๆ บ้างที่เป็นงานเป็นการจะเป็นทางโลก ที่เราอยู่ทางโลก เห็นไหมคะ นี่คือตกอยู่ภายใต้ความหลง โมหะ แล้วมันมาอยู่ในนิวรณ์ ตรงไหน
ก็นิวรณ์สามตัวหลังนั่นแหละ ถีนมิทธะ เพราะงั้นอย่าจำแต่ชื่อนะ จำชื่อได้ดีมากแล้ว แต่ต้องเข้าใจความหมาย และลักษณะอาการของมันแต่ละอย่างด้วย แล้วจะแก้ยังไง แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอนมึนซึม ถ้าหมอเขาตรวจว่า คนนี้เป็นโรค sleeping sickness ก็ไปให้หมอเขารักษาเสีย แต่ถ้าไม่ได้เป็นโรค sleeping sickness ก็อย่าหาโรคนี้ง่วงเหงาหาวนอนเข้ามาใส่ตัว นั่นมันเรื่องของคนขี้เกียจ ขี้เกียจน่ะ มันโรคขี้เกียจมากกว่าอย่างอื่น แต่มันก็ต้องมีสาเหตุ ทำไมถึงขี้เกียจ ทำไมถึงพอตื่นขึ้นมามันเปลี้ยไปหมด มันหมดเรี่ยวหมดแรง เห็นไหมคะ เรื่องของธรรมะต้องหาสาเหตุเสมอ พระพุทธเจ้าจะต้องตรัสทุกอย่างมีเหตุ นี่ทุกอย่างมีเหตุ อิทัปปัจจยตานี่เข้ามา ถึงได้บอกว่าเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องทุกวงจรของชีวิต ทุกอย่างต้องมีเหตุ ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันเกิดขึ้น คนที่เปลี้ยหมดเรี่ยวหมดแรง ทั้งที่บางทีเคยเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว กระฉับกระเฉง เป็นคนเก่ง แต่วันหนึ่งมันเกิดเปลี้ยขึ้นมาเฉยๆ ไม่อยากทำอะไร เหตุลองหาสิคะ ใครเคยเป็นบ้าง เหตุทำให้เปลี้ยหมดแรงไม่อยากไปทำงาน ไม่อยากเห็นหน้าเจ้านาย ไม่อยากเห็นหน้าเพื่อนร่วมงาน ต้องเรียกว่าพาลไปหมดนะ มันมาจากอะไรลองนึกสิ นี่ถ้าเรารู้จักคิดถึงชีวิต ชีวิตนี่อยู่กับความซ้ำซาก แต่ทีนี้เราเป็นมนุษย์เป็นสัตว์โลกผู้ประเสริฐ เราสมควรไหมล่ะที่จะปล่อยให้ชีวิตของเราตกจม อยู่กับความเบื่อหน่ายในความซ้ำซากซึ่งใครสร้างให้ ก็ตัวเองสร้าง แล้วถ้าตัวเองไม่แก้แล้วใครจะแก้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่อ่อนเปลี้ยเพลียใจไม่อยากทำอะไร มาจากอะไร นึกดูสิต้นเหตุของความเครียดต้นเหตุของอันนี้มาจากอะไร ก็ไม่ได้อย่างใจตัวเองก็มาจากอะไรล่ะ อยากหรือเปล่า นั่นน่ะสิอยากเด่นอยากดัง อยากมีชื่ออย่างคนอื่นเขาบ้าง อยากมีรูปใหญ่ๆ ในหนังสือพิมพ์ อยากให้โทรทัศน์มาถ่ายไปออกบ้าง โธ่ ไม่มีใครเขามาเลย มันก็เลยรู้สึกซ้ำซากใช่ไหม ชีวิตก็เลยดูไม่มีรสชาติ นี่ ก็เกิดจากอะไร สมหวังหรือผิดหวัง ผิดหวังใช่ไหม นี่แหละคนที่เปลี้ย เบื่อ เหนื่อยหน่ายชีวิตนี่ มาจากความไม่สมหวัง ความผิดหวัง แล้วมันก็มาจากต้นเหตุคืออะไรล่ะ ก็ตัณหาความอยากนั่นแหละใช่ไหม นี่แหละสมุทัย ความเครียดก็คือความทุกข์ ก็มาจากตัณหาความอยาก นี่แหละเพราะฉะนั้น อยาก แต่มือไม่กระดิก สมองก็ตาย และความอยากมันจะเกิดเป็นผลสมปรารถนาขึ้นมาได้อย่างไร เมื่ออยากมันก็ต้องขวนขวาย ลับสมองให้คม ทำใจให้ว่องไว กระฉับกระเฉง มือเท้าไม่อยากกระดิกก็อย่างน้อยกวาดบ้านถูเรือนขุดดินเอาให้เหงื่อมันออก เลือดลมเดินเข้ามันจะได้กระฉับกระเฉงหมดความซ้ำซาก ไม่เห็นยากเลยที่ว่าคนที่เปลี้ยนี่ มันเพราะอะไร ที่พอตื่นขึ้นมาก็เปลี้ย ไม่อยากกระดิกกระเดี้ยตัวไม่อยากทำอะไร เห็นโลกมันหม่นมัวไปหมดเลยเพราะอะไร มันต้องสูญเสียความหวังอย่างที่ว่าไม่ได้อย่างใจ แต่ทีนี้ต้องเอาไปให้ชัด มันต้องหวังอะไรไว้ แล้วเกิดไม่ได้อย่างที่หวัง มันก็เลยเกิดหมดกำลังใจ อ่อนเปลี้ย เคยเป็นคนเก่ง เคยเป็นคนฉลาดก็ไม่เอาแล้ว ไม่อยากใช้ความเก่งความฉลาดของตัวแล้ว นี่แหละ ถีนมิทธะมันเกิดจากเหตุนี้ เพราะฉะนั้นที่บอกว่าถีนมิทธะนี่ก็คือง่วงเหงาหาวนอน ไม่สำคัญหรอก ง่วงก็ไปนอนเสีย15 นาที 20 นาที หายง่วงก็ออกมาใหม่ แจ่มใสใหม่ นั่นเพราะมันง่วงกาย ง่วงทางกาย แต่ถ้าง่วงทางใจนี่ ไปนอนก็ไม่หาย แล้วนอนก็ไม่หลับด้วย ใช่ไหม ไถลไปไถลมาบนที่นอนนั่นแหละ นอนก็ไม่หลับด้วย เพราะงั้นง่วงทางกายไม่สำคัญ ง่วงทางใจนี่สิ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข ท่านถึงเปรียบความง่วงทางใจ ถีนมิทธะนี่ เหมือนกับน้ำที่มีแหน มีจอกบังอยู่ข้างบน ก็ทำให้คนมองลงไปที่บ่อนั้นสระนั้นไม่เห็นน้ำ น้ำนี่ใสหรือน้ำนี่ขุ่นไม่เห็นมีจอกมีแหนนี่มันบังอยู่เต็ม
เพราะฉะนั้นเพียงแต่เอื้อมมือไปกวาดจอกแหนออกไปเท่านั้นแหละเป็นยังไง ก็มองเห็นถ้าจะว่าไปมันก็ไม่ยากเกินที่จะแก้ไข เพียงแต่จะกระดิกมือเอื้อมมือไปหน่อยกวาดจอกแหนที่อยู่ข้างบนก็จะมองลงไปเห็นน้ำ น้ำมันใสหรืออะไรนั่นก็คือว่าขณะที่เปลี้ยจนกระทั่งไม่อยากจะกระดิกกระเดี้ยไม่อยากลุกนี่แข็งใจลุกขึ้นหน่อย อย่างน้อยก็เอาวิ่งรอบบ้าน บ้านนี่มีที่วิ่งก็วิ่งในบ้านนี่แหละ มีที่เท่าไหร่ก็วิ่งไป วิ่งออกแรงให้มันเหนื่อย เรียกว่าสมองเริ่มทำงานเลือดฉีดแล้ว ดีขึ้น แล้วก็ออกไปขุดดินขุดหญ้านี่ดีที่สุด หรือมิฉะนั้นต้องเล่นกีฬาว่ายน้ำตีเทนนิส นี่ถ้าพูดก็มีฐานะดีหน่อยก็ไปออกกำลังออกกำลังจนกระทั่งเหงื่อตก อย่างที่คนที่เขาออกว่าต้องถึงพีค พีคก็คือว่าจนสุดยอดของการออกกำลังเหงื่อแตก รำกระบองนี่แหละดีนัก เพราะฉะนั้นถ้าเกิดอาการอย่างนี้เมื่อไหร่ คว้ากระบองได้รำเลย รำคนเดียวก็ไม่เป็นไร เพราะเรารู้วิธีอยู่แล้วใช่ไหมคะ นี่เป็นวิธีแก้ วิธีแก้ที่ความซึมความเปลี้ย ความไม่อยากยุ่งอะไรกับใครมันจะหายได้ นี่เป็นวิธีแก้ที่ชะงัดมาก ถ้าเราต้องแก้ตัวเอง แต่ถ้าหากว่ามีกัลยาณมิตรที่จะช่วยมันก็เป็นอีกแรงหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องทำความหมองหม่นอะไรต่ออะไรเหล่านี้ออกไปให้ได้ แล้วก็พยายามมองสูง คิดอะไรในสิ่งที่ดีๆ ที่มันมีอุดมคติมีเป้าหมายของชีวิต การอ่านอัตชีวประวัติ หรืออ่านหนังสือชีวประวัติของบุคคลที่เขาเป็นคนเก่ง ที่เขาได้ทำอะไรๆ ที่สำคัญที่ยากที่ไม่นึกว่าจะทำได้ อ่านเข้ามันทำให้เราเกิดกำลังใจ ทำไมเขาทำได้ ทำไมเขาไปอย่างงั้นได้ เป็นนักไต่เขา แสนยากแสนลำบาก แล้วก็อยู่คนเดียวด้วยนะ คือมันอาศัยกำลัง กำลังแขนขาของตน แล้วก็กำลังใจอย่างยิ่งของตนคนเดียว ทำไมเขาทำได้ ประวัติของบุคคลสำคัญ มีเยอะทั้งในทางประวัติศาสตร์ ในทางวิทยาศาสตร์ แล้วก็ในทางอื่นๆ น่ะ มีทุกเรื่อง นี่หนังสือชีวประวัติช่วยได้มาก หรือมิฉะนั้นก็เราเคยศรัทธาในบุคคลผู้ใด ก็ลองนำการประพฤติปฏิบัติของท่านผู้นั้นมาใคร่ครวญดู ท่านทำยังไงนะ ท่านถึงเป็นบุคคลที่ใครๆ ก็นิยมชมชอบยกย่อง ท่านทำยังไง เราก็ลองเอาอย่างบ้าง นี่ปลอบตัวเอง ให้กำลังใจตัวเอง เรียกว่ามองสูงให้เสมอ มองสูงเอาไว้ อย่ามองลงดินอยู่เรื่อยๆ ถ้ามองลงดินอยู่เรื่อยๆ ก็จะทำให้เรานี่ยิ่งจิตใจห่อเหี่ยว คำว่าอย่ามองลงดินนี่ไม่ได้สอนให้เป็นคนเห่อเหิม ไม่ยอมที่จะมองอะไรที่เตี้ยต่ำกว่าตน ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ในขณะที่กำลังใจกำลังเตี้ยต่ำนี่ เราต้องดึงกำลังใจขึ้นด้วยการมองสูง
ฉะนั้นถีนมิทธะนี้น่ากลัวมาก แล้วก็เคยปรากฏกับคน ยิ่งสมัยนี้ยิ่งมีมากในสังคมทุกวันนี้ โดนถีนมิทธะเล่นงานกัน แล้วก็เป็นโรคประสาทกันเยอะ โรงพยาบาลประสาทไม่พอรับ ถ้าหากว่าไม่ระมัดระวัง จากโรคประสาทก็ไปสู่โรคจิต โรงพยาบาลโรคจิตก็ไม่พอรับคนไข้อีกเหมือนกัน แล้วถ้าเราไปดูคนไข้ที่อยู่ในโรงพยาบาลประสาท โรงพยาบาลโรคจิต เราจะเห็นสุขภาพแข็งแรงทั้งนั้นแหละ บางคนก็ล่ำสันบึกบึน คือสุขภาพกายนี่แข็งแรง แต่สุขภาพจิตนี่อ่อนเปียก ซึ่งเป็นที่น่าเป็นห่วง ถ้าหากว่าสังคมมีบุคคลเช่นนี้มากๆ ก็เป็นภาระกับสังคม ฉะนั้นการเข้าหาธรรมะนี่เป็นการช่วยสังคมอย่างยิ่ง หรือช่วยกันเผยแผ่ธรรมะนี่ก็ช่วยสังคมในระดับที่สำคัญทีเดียว เพราะจะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้เข้มแข็งขึ้น มีมานะขึ้น นี่ก็เป็นถีนมิทธะ แล้วก็อุทธัจจะ มองสูง ฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งไปจนฟุ้งซ่าน นี่แหละคนที่ชอบปรุงแต่ง ชอบคิดอะไรต่ออะไร ไปเรื่อยๆ ถ้าคิดอย่างมีเหตุผล แล้วก็มีรากฐาน มีพื้นฐาน ไม่เป็นไร แต่ถ้าคิดตามอารมณ์นี่แหละ น่ากลัวมาก มันก็จะฟุ้งซ่าน เหมือนสร้างวิมานในอากาศนั่นแหละ ดึงไม่ค่อยกลับ ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะ จิตตก ตกลงไปต่ำถึงตาตุ่มเลย
แต่ฟุ้งซ่านนี่ ขึ้นๆๆ ลอยเป็นว่าว จนขาดลมลอยไปเลยถ้าดึงไม่กลับ น่ากลัว ส่วนกุกกุจจะก็มองไปข้างหลัง คิดไปข้างหลัง นั่นก็ไม่ควร นี่ก็ไม่ควร นั่นคืออดีตที่ผ่านมาแล้ว ในการกระทำหรือในการพูด เราไม่ควรพูดอันนั้นเลยนะ บางทีปรารภกับเพื่อน บางทีก็ปรารภกับตัวเอง ฉันไม่ควรพูดอันนั้นเลย พูดประโยคนั้นแหม มันเสียไปเลย เสียเรา เสียเพื่อน คนฟังเสียน้ำใจ ไม่ควรเลย แต่ก็ดึงกลับมาไม่ได้ หรือบางทีให้ของคน คนนี้ควรจะให้เขามากหน่อย ไม่น่าเลยไปให้เขานิดเดียว คนนั้นควรจะให้น้อยหน่อย ให้มากเกินควร นี่เรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งนี่เหมือนกัน เอามาคิดมานึก นี่ไปนึกถึงอดีต ถึงการกระทำที่ผ่านมาแล้วที่แก้ไขไม่ได้แล้ว คำพูดที่แก้ไขไม่ได้แล้ว แล้วก็มาเสียใจมาละอาย นี่ก็กุกกุจจะ มันดึงกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมันมีลักษณะเหมือนกันก็คือฟุ้งซ่านนั่นแหละ คิดในสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องคิด อุทธัจจะก็คิดในสิ่งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะปรุงแต่งไปเองมันไม่มีวันเป็นจริง กุกกุจจะ ก็คิดไปเองในสิ่งที่ได้กระทำผ่านมาแล้ว แก้ไขปรับปรุงไม่ได้อีกแล้ว ที่ทำอย่างนั้นก็เพราะขาดสติ
เพราะฉะนั้นขณะที่คิดอย่างนั้นควรจะมีสติว่า ไว้เตือนตัวเองเป็นแบบฝึกหัดนะ จะไม่ทำอย่างนี้อีก เป็นแบบฝึกหัดจำเอาไว้คราวหน้าจะไม่ทำอย่างนี้อีก ส่วนคราวนี้มันผ่านไปแล้ว ปล่อย อย่าไปเสียเวลากับมันอีก อย่าไปหลง นี่หลงเห็นไหม หลงคิดซ้ำคิดซากคิดวนเวียน ท่านจึงเปรียบอุทธัจจะเหมือนกับน้ำกระเพื่อม เพราะมันคิดอยู่เรื่อย มันปรุงแต่งอยู่เรื่อยมันไม่เคยหยุดนิ่ง พอวิจิกิจฉาเข้าลังเลสงสัย นี่ก็ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ผู้ปกครองพ่อแม่ปู่ย่าตายายหรือครูบาอาจารย์ ควรที่จะอบรมเด็กๆ จะเป็นลูกหลานก็ตามลูกศิษย์ก็ตามตั้งแต่เล็กๆ ทีเดียว ถ้าสอนให้เป็นคนมีเหตุผลให้เป็นคนรู้จักทำหน้าที่ ให้เป็นคนรู้จักว่าทำอะไร ทำอย่างใดผลเป็นอย่างนั้นนะ นี่พูดง่ายๆ อิทัปปัจจยตาอย่างง่ายที่สุด พูดกับเด็กๆ ทำสิลองทำดู ตั้งใจทำอย่างไรผลมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ ลองให้เขาทำงานสักชิ้นแล้วก็มาดูงานที่เกิดขึ้นแล้วก็คุยกัน นี่แหละเรียนอิทัปปัจจยตาแต่เด็กๆ โดยไม่ต้องเอ่ยคำว่าอิทัปปัจจยตาเพราะมันยากเกินเขา แต่ให้เขารู้จักการกระทำก็จะเป็นคนมีเหตุผลแล้วก็จะรู้จักตัดสินใจ คนที่อยู่ในวิจิกิจฉาก็เพราะตัดสินใจไม่เป็น ตัดสินใจไม่ได้ บางทีก็พ่อแม่เป็นคนเก่ง พี่น้องเป็นคนเก่งเขาทำอะไรเก่งเขาเด่นเขาตัดสินให้เราหมด ยิ่งเป็นลูกคนเล็กไม่ต้องทำอะไร เขาคิดให้หมดทุกอย่างก็ขาดการตัดสินใจพิจารณาใคร่ครวญเอง นี่แหละก็เป็นอิทัปปัจจยตาของเด็กคนนั้น ที่มีพ่อแม่อบรมแบบนั้นก็เลยทำให้ลูกหลานกลายเป็นคนโลเลลังเลตัดสินใจเองไม่ได้ วิจิกิจฉาก็เกิดขึ้นวิจิกิจฉานี่มันก็มีเหตุปัจจัยมาทํานองอย่างนี้นะคะ ถ้าหากว่าอีกอย่างหนึ่งโตขึ้นไปแล้ววิจิกิจฉาก็จะเกิดขึ้น เช่นในการทํางานวิจิกิจฉาในการทํางาน วิจิกิจฉาในเรื่องส่วนตัว ว่าจะตัดสินใจอะไรอย่างไรวิจิกิจฉาในการปฏิบัติธรรมอย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นเพราะเราขาดประสบการณ์ในเรื่องนั้น ขาดความรู้ในเรื่องนั้นยังไม่เพียงพอ ก็แก้ไขไม่ยากเลยก็รีบหาความรู้จากการอ่านการฟังไต่ถามใครๆ ที่เป็นผู้รู้ ถ้าตัวตนมันไม่ออกมามากศักดิ์ศรีไม่มีมากถามได้ แล้วเราก็จะได้รับความรู้เพิ่มเติมเสียอีก แทนที่จะมาอมภูมิอยู่ถือศักดิ์ถือศรีอย่างไม่มีเหตุผล
ในการประพฤติธรรมก็เหมือนกันถ้าหมั่นตรวจสอบตนเองอยู่อย่างนี้ ก็เท่ากับว่าจะเป็นการบอกให้รู้ เพราะถ้าเราลังเลสงสัยเพราะว่าการประพฤติธรรม พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสว่าต้องประจักษ์ด้วยใจเอง ถ้าฟังถูกต้องคือคำสอนถูกต้องแล้วก็มาประพฤติถูกต้องผลมันจะต้องถูกต้อง ถ้าหากว่าคำสอนถูกต้องแต่มาประพฤติแล้วผลยังไม่ถูกใจเราว่ามันถูกต้อง ก็มาดูว่าเราได้กระทำครบหรือเปล่า ถี่ถ้วนหรือเปล่า ถ้ามันยังไม่ถี่ถ้วนก็ต้องแก้ไข แล้วลังเลสงสัยหรือวิจิกิจฉาก็จะหายไป จะเป็นคนที่มีความมั่นใจหนักแน่นมากขึ้น สำคัญมากเลย วิจิกิจฉาท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำในที่มืด มองไม่เห็น ถ้าอยู่ในที่สว่างๆ เราก็รู้ว่าน้ำนี้มีอะไรบ้าง มีจระเข้อยู่หรือเปล่า มีงูอยู่หรือเปล่า มีหมาเน่าลอยมาไหม หรือมีดอกกุหลาบหรือใครเขาทำทองมาหล่นอยู่ก้นน้ำนี่อะไรอย่างนี้ ถ้าเป็นน้ำใสมันก็มองเห็นแต่ถ้าเป็นน้ำในที่มืดอันตราย เพราะงั้นในห้าข้อของนิวรณ์นี่ท่านว่าวิจิกิจฉานี่เป็นข้อที่น่ากลัวมากเลย แล้วก็จะว่ามันเป็นต้นเหตุไปถึงข้อที่สี่และข้อที่สามก็ได้อีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ถ้าใครชอบมีวิจิกิจฉาก็ควรพยายามรีบปรับปรุงตนเองให้รู้จักตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ดูอิทัปปัจจยตาเสมอ แล้วถ้าเราตัดสินใจแล้ว แล้วก็เราลงมือทำแล้วแต่ผลไม่เป็นอย่างนั้น ทั้งที่เรารอบคอบด้วยสติทุกอย่าง ด้วยความรู้ทุกอย่างก็ต้องอย่าลืมนึกถึงอะไร ไตรลักษณ์ใช่ไหมคะ มันไม่เป็นอย่างที่เราได้ตระเตรียมตั้งใจอย่างดีแล้วนี่ ไม่เห็นเป็นเลย อย่าลืมไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ยังมีอยู่ ก็มันไม่มีอะไรนี่ที่จะต้องเป็นไปอย่างที่คิดอย่างที่ตั้งใจ มันเปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัย ดูไตรลักษณ์เพื่อไม่ให้เสียใจ ให้มีกำลังใจให้เห็นเป็นธรรมดาพร้อมๆ กับกลับมาดูอิทัปปัจจยตาของตน คือเหตุปัจจัยที่ได้กระทำที่คิดว่าดีแล้วถูกแล้วนี่มันอาจจะมีจุดอ่อนอยู่ตรงไหนก็ได้นะ ที่เรามองข้ามไปแล้วเราก็จะไม่เสียกำลังใจ พร้อมที่จะลุกขึ้นใหม่ ทั้งในการปฏิบัติธรรมและทั้งในการทำงานทางโลก นี่สามข้อหลังนี่แหละแสดงถึงลักษณะอาการของโมหะความหลง พอหลงแล้วนี่มันวนเวียนลักษณะแบบนี้ แบบถีนมิทธะ แบบอุทธัจจะกุกกุจจะ แบบวิจิกิจฉามันวนเวียนอยู่นั่นแหละ ก็คนลังเลสงสัยเห็นไหมคะ เห็นชัดจากข้อนี้
ฉะนั้นก็ให้เห็นด้วยว่าโมหะมันร้ายแค่ไหนมันถึงมีลูกน้องเป็นนิวรณ์ตั้งสามตัว ส่วนโลภะมีลูกน้องตัวเดียวกามฉันทะ โทสะก็มีลูกน้องตัวเดียวคือพยาบาท เพราะมันมองง่ายมันดูง่ายแต่รายละเอียดของมันยังมีอีกเยอะนะคะ เพราะฉะนั้นการที่จะดูให้รู้ให้ละเอียดต้องดูเป็นข้อๆๆ พอเรานั่งอยู่อย่างเฉยๆ อย่างนี้ก็รู้สึกสบายๆ แต่จิตมันเกิดมีอะไรขึ้นมามันไม่สงบมันไม่เย็นมันไม่ว่าง ไม่ต้องนึกถึงอื่นน่ะค้นนิวรณ์ทันที ค้นหานิวรณ์ในใจของตัวเองทันที ค้นอย่างไร ก็ดูอาการ อาการอันที่เกิดขึ้น ถ้ากามฉันทะก็ทราบแล้วมันมีอาการอยากได้จะเอา เช่นเดียวกับโลภะอยากจะดึงเข้ามาอาการอย่างนี้เกิดขึ้นอีกแล้ว มันมีกามฉันทะในเรื่องอะไรรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส หรือไปวนประหวัดถึงเรื่องของทางเพศ ถ้ามันมีอาการอย่างนี้กามฉันทะอีกแล้วแล้วก็ดูให้ละเอียดเรื่องไหนแล้วก็แก้ไขของตน
ท่านก็บอกว่าให้ดูสิ่งที่ตรงกันข้ามนั่นแหละ คนชอบทำกินของอร่อยไปดูถังขยะในครัวบ่อยๆ หรือขยะที่เขาเอาไปทิ้งเหมือนกันอย่างเดียวกันจะได้เลิกนึกอยาก เห็นไหมนี่เป็นทางแก้ หรือคนที่รักสวยรักงามก็ไปดูศพที่พองอืด ที่กำลังแตกหนองแตกตัวหนอนขึ้นเต็ม จะได้เกิดความสะอิดสะเอียน สวยงามแค่ไหนผลที่สุดแค่นี้ แค่นี้เอง มันเตือนใจ พยาบาทก็แผ่เมตตา เขาไม่ฉลาด ถ้าเขาฉลาดเขาคงไม่ทำอย่างนี้ เห็นใจเมตตาก็จะทำให้ความไม่ชอบใจลดลงไปได้ นี่เรื่องของธรรมะไม่ใช่เรื่องหยาบนะคะ เพราะฉะนั้นเราที่พูดนี่คือวิธีของการปฏิบัตินะจะสังเกตหรือเปล่า วิธีของการปฏิบัติเมื่อเราจะใคร่ครวญค้นหาขุดคุ้ยในตัวของเราเอง ตัวคือที่จิตที่ข้างในเราใช้วิธีอย่างนี้ แล้วแทนที่จะเสียเวลาไปปรุงแต่งเราก็ไม่ต้องไปปรุงแต่ง แต่เราจะได้ประโยชน์ทางใจของเรายิ่งขึ้น ก็ต้องขอจบแค่นี้ก่อนนะคะ ธรรมสวัสดีค่ะ