แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมสวัสดีค่ะ ในรายการวรรณกรรมกับธรรมะเมื่อคราวที่แล้วนะคะ ท่านผู้ชมคงจะจำได้ว่าเราได้พูดกันถึงเรื่อง ชีวิตคือการแสวงหา ถ้าหากว่าเราอยากจะแสวงหาแล้วก็ให้ได้ผลตามที่ต้องการจะแสวงหานั้น โดยเรียกว่าไม่ให้เกิดความผิดหวังขึ้นแล้วล่ะก็ ก่อนที่จะทำการแสวงหาใดๆ น่าที่เราจะได้มีเป้าหมายเอาไว้ล่วงหน้า แล้วการแสวงหานั้นก็จะได้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ในวันนี้นะคะก็อยากจะขอนำวรรณกรรมเล่มหนึ่งมาเล่ากับท่านผู้ชมเพื่อที่ว่า จะได้ลองดูสิว่าเมื่อท่านผู้ใดก็ตาม ท่านเริ่มที่จะดำเนินการแสวงหา แล้วท่านมีความเข้าใจในจุดของความสงสัยในใจของท่านอย่างแน่นอนว่าคืออะไร แล้วก็ตั้งเป้าหมายเอาไว้แล้วก็ดำเนินการแสวงหาไปสู่จุดหมายนั้นอย่างมีระบบ แล้วก็อย่างมีความพากเพียรอย่างแรงกล้า ผลที่สุดนั้นนี่ก็เกิดผลสำเร็จขึ้นมาได้อย่างไร
หนังสือเล่มที่จะนำมาพูดในวันนี้ก็คือพุทธประวัติสำหรับยุวชน เผอิญฉบับที่ดิฉันถืออยู่นี้เป็นฉบับที่พิมพ์ในงานศพของท่านผู้หนึ่ง ในงานฌาปนกิจศพของท่านผู้หนึ่งแต่ว่าหนังสือพุทธประวัติสำหรับยุวชนนี้ก็ได้มีสำนักพิมพ์ นำมาพิมพ์ในภายหลังดูเหมือนจะเป็นสำนักพิมพ์แพร่พิทยา แล้วก็ให้ใช้ชื่อว่าพุทธประวัติสำหรับนักศึกษา เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าท่านผู้ชมได้เห็นหนังสือพุทธประวัติสำหรับนักศึกษานะคะก็ขอได้โปรดเข้าใจว่าเป็นเล่มเดียวกันกับพุทธประวัติสำหรับยุวชนนั่นเอง
ท่านผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้เป็นชาวอังกฤษ แล้วก็ได้บวชเป็นพระภิกษุมีชื่อในทางเพศพระภิกษุว่าท่านพระภิกษุศีลาจาร นะคะ ท่านได้แต่งขึ้นเพื่อที่จะใช้สอนเด็กในประเทศลังกาตามคำขอร้องของชาวลังกาผู้หนึ่ง ท่านแต่งเสร็จเรียบร้อย ออกใช้เมื่อพ.ศ. 2484 ต่อมาท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ท่านก็ได้อ่านพบหนังสือพุทธประวัติเล่มนี้แล้วก็มีความพึงพอใจมาก ท่านมีความชื่นชม แล้วก็ยกย่องว่าวิธีการเขียนของท่านพระภิกษุศีลาจารนั้น เขียนได้น่าอ่านมาก คือมีทั้งสาระแก่นสาร แล้วก็ให้ทั้งความเพลิดเพลินแก่เยาวชนผู้อ่านด้วย แม้แต่เป็นผู้ใหญ่ เมื่อไปอ่านอย่างดิฉันอย่างนี้นะคะ ก็ยังรู้สึกเพลิดเพลินแล้วก็พอใจในเนื้อหาสาระนั้น เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านจึงไม่ได้คิดที่จะแต่งขึ้นเองใหม่ ด้วยองค์ท่านเอง เพราะท่านเห็นแล้วว่าฉบับที่เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษนี้ ก็เป็นฉบับที่เขียนได้ดีน่าอ่าน ท่านจึงนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาไทย เมื่อพ.ศ. 2497 โดยมีจุดประสงค์ก็เพื่อที่จะให้ยุวชนชาวไทยได้มีหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ที่น่าอ่านขึ้นมาอีกสักเล่มหนึ่ง เนื่องจากว่าในช่วงยุคเมื่อ 30 กว่าปีมาแล้วนั้น เราจะหาหนังสือสำหรับเยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางพุทธศาสนานั้น หาได้ยากมากนะคะ
เพราะฉะนั้นท่านผู้เรียบเรียงก็เรียบเรียงขึ้นจากต้นฉบับของท่านผู้เขียนชาวอังกฤษคือท่านพระภิกษุศีลาจาร แต่ทว่าในการเรียบเรียงนี้ท่านได้มีการปรับปรุงบ้างในบางประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้งกับการศึกษาพุทธประวัติในประเทศไทย ประเด็นที่ไม่ตรงกันนี้นะคะมีอยู่ประมาณยี่สิบเจ็ดเรื่องซึ่งท่านผู้เรียบเรียงท่านได้ให้คำอธิบายชี้แจงเอาไว้ที่ในบันทึกท้ายเล่มของหนังสือ นอกจากนั้นท่านผู้เรียบเรียงยังได้จัดทำดัชนีเพื่อให้เป็นการสะดวกต่อการค้นคว้าอยู่ที่ท้ายเล่มต่อจากบันทึก แต่ท่านเรียกว่าปทานุกรมนะคะ พุทธประวัติสำหรับยุวชนหรือพุทธประวัติสำหรับนักศึกษาเล่มนี้เป็นหนังสือที่ท่านผู้เขียนตั้งใจทีเดียวว่าจะเขียนเพื่อให้เหมาะแก่ความสนใจของยุวชน แล้วก็พยายามที่จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นให้ละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ท่านก็เริ่มต้นตั้งแต่ประวัติในวัยเยาว์คือหมายความว่าตั้งแต่เริ่มประสูตินะคะ ตั้งแต่เริ่มประสูติแล้วก็เจริญวัย แล้วก็วัยรุ่นวัยหนุ่มจนกระทั่งเกิดมีความรู้สึกทรงเบื่อหน่ายต่อสภาวะของความเป็นไปของโลกแล้วก็สละโลกออกมา จากนั้นก็เมื่อได้สละโลกแล้วก็ได้ใฝ่หา ค้นคว้าศึกษาด้วยองค์ของท่านเองจนกระทั่งท่านสามารถตรัสรู้ได้ประสบความสำเร็จ แล้วก็ได้ประกาศธรรมะที่พระองค์ได้ทรงค้นพบ ทรงโปรดหมู่สัตว์ทั้งหลายตราบเท่าปริณิพพาน ก็เรียกว่าหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมพุทธประวัติไว้อย่างละเอียด ให้ทั้งความรู้ในเรื่องพุทธประวัติและก็ความเข้าใจในหลักของพุทธศาสนา ส่วนท่านผู้เรียบเรียงนั้นก็ได้จัดทำสารบัญลำดับเรื่องอย่างละเอียดอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเพียงแต่ว่าเราเปิดขึ้นที่หน้าสารบัญเท่านั้นนะคะ ก็จะทราบเหตุการณ์ในพระชนม์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างละเอียดละออ
ถ้าหากว่าเราอ่านหนังสือพุทธประวัติสำหรับยุวชนหรือพุทธประวัติสำหรับนักศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด แล้วก็ติดตามใคร่ครวญก็จะมองเห็นว่า ในพระประวัติของพระพุทธองค์นั้นได้ทรงแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดทีเดียวว่า ความสำเร็จของพระองค์ที่เกิดขึ้นจากการที่ศึกษาค้นคว้าจนกระทั่งสามารถตรัสรู้ได้นั้น เพราะทรงมีเป้าหมายในการแสวงหาอย่างชัดเจน ในครั้งแรกท่านผู้ชมก็ได้ทราบดีอยู่แล้วว่า ในฐานะที่ทรงเป็นบุคคลอย่างเราๆ แล้วก็มีพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะนั้น ท่านก็ได้ประสบกับสิ่งที่เรียกว่าเป็นความสุขอย่างที่คนชาวโลกใฝ่คว้าหากันอยู่เป็นประจำวันนะคะ ทรงมีทุกอย่าง รูป ยศ ทรัพย์ บริวารแล้วก็สิ่งที่ท่านทรงต้องการทุกอย่างทุกประการ ตลอดจนกระทั่งพระชายาที่งามเลิศแล้วก็พระโอรสที่น่ารัก แล้วก็ตลอดพระชนม์ของพระองค์ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นพระรัชทายาทนั้น ก็ได้รับการเรียกว่าถวายการบำรุงบำเรอเพื่อที่จะให้ทรงติดสุขนี่อย่างถึงขนาด แต่ถึงกระนั้นเจ้าชายสิทธัตถะก็มิยอมติดอยู่ในความสุข อาจจะเป็นด้วยพระปัญญาที่ทรงมีมาแต่นาน ในพระนิสัยอันอยู่ในธรรมชาตินั้นของพระองค์ท่านนั้นเอง จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบองค์ท่าน ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของความสุขนั้นอันที่จริงแล้วนี่มันหาใช่เช่นนั้นไม่ พระองค์ทรงมองทะลุออกไปถึงว่าจากความหนุ่มความสาว ที่พระองค์ทรงมีอยู่เป็นเจ้าของอยู่ในปัจจุบันนี้มันยังมีอะไรที่จะมาต่อจากความหนุ่มความสาวบ้าง แล้วก็ทรงมองเห็นว่าสิ่งที่จะมาต่อจากความหนุ่มความสาวก็คือความแก่ซึ่งไม่มีผู้ใดที่จะสามารถหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อความแก่นั้นมาถึง วันหนึ่งความเจ็บก็จะต้องมาเยือน แม้แต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ความเจ็บก็ยังมาเยือนมาถามหาอยู่บ่อยๆ ยิ่งเข้าสู่วัยชราด้วยแล้วนั้นเป็นของแน่นอนทีเดียวว่าจะหลีกเลี่ยงพ้นความเจ็บไม่ได้ และเมื่อความเจ็บมาถึงที่สุดเมื่อใด ความตายก็มาถึง แล้ววันนั้นแหละพระองค์จะได้ทรงอยู่กับผู้ที่เป็นที่รักอย่างพระราชาบิดาหรือพระชายาหรือพระโอรสหรือ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงนำมาใคร่ครวญในพระทัย แล้วก็มองเห็นทีเดียวว่าความสุขที่อยู่ล้อมรอบพระองค์ในขณะนี้ แท้ที่จริงน่ากลัวว่ามันจะไม่ยั่งยืน มันน่าจะมีทางใดที่จะมีความยั่งยืนมากกว่านั้นเพราะฉะนั้นก็จึงได้ทรงตั้งเป้าหมายเอาไว้ในพระทัยว่าจะต้องทรงแสวงหาสิ่งที่จะนำความสุขที่ยั่งยืนมาให้ได้มากกว่า ความสุขที่ยั่งยืนนั้นก็หมายถึงความสุขที่จะไม่กลับกลายเป็นความทุกข์ได้อีกนะคะ แล้วก็ทรงมองเห็นว่าความสุขที่ยั่งยืนนั้นน่ะมันจะต้องเกิดมาจากความรู้สึกที่เราสามารถที่จะประหารสิ่งที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ออกเสียได้ แล้วก็เมื่อทรงใคร่ครวญดูก็มองเห็นว่าสาเหตุของความทุกข์นั้นเห็นจะไม่มีจากอะไรนอกจากเรื่องของความอยาก เรื่องของความอยากที่เราพูดกันในภาษาทางธรรมก็ใช้คำว่าตัณหา
แต่คำว่าตัณหานั้นถ้าพูดในทางชาวโลกเรามักจะไปนึกว่าหมายถึงความต้องการในทางเพศหรือทางกามารมณ์ แต่ความเป็นจริงนั้นมันกว้างไปกว่านั้น มันหมายถึงความอยากในทุกๆ อย่างแม้แต่ความรู้สึกอยากที่จะไม่อยากเป็นทุกข์มันก็เป็นความทุกข์ขึ้นมาแล้ว เพราะเมื่ออยากแล้วมันยังไม่ได้สมปรารถนาตามที่อยาก เพราะฉะนั้นความทุกข์ก็เกิดขึ้น ฉะนั้นพระองค์ก็ทรงใคร่ครวญแล้วก็คิดค้นหาวิธีการหลายอย่างมากมายทีเดียวที่จะเอาชนะความอยากให้จงได้ ทีนี้เมื่อพูดถึงเรื่องของความอยากนี่นะคะก็มักจะมีปัญหาถามกันขึ้นบ่อยๆ ว่าทำไมล่ะถ้าไม่อยากแล้วเราก็ไม่อยากทำดีสิ เราก็ไม่อยากทำอะไรเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นสิ ความอยากถ้าหากว่าเรากำจัดมันไปเสียหมดสิ้น มันจะมิเป็นการทำให้เรานี่เป็นคนเฉื่อยชาแล้วก็มืออ่อนเท้าอ่อนไม่อยากทำอะไรเลยเช่นนั้นรึ ความเป็นจริงนั้นน่ะมันก็ไม่ใช่ แล้วเราจะพูดกันถึงในประเด็นนี้ต่อไปข้างหน้านะคะ แต่สำหรับในขณะนี้นั้นนี่อยากจะเชิญชวนท่านผู้ชมให้ลองใคร่ครวญดูว่าความอยากนี้มันเป็นต้นเหตุของปัญหาของความทุกข์จริงหรือเปล่า
ดิฉันอยากจะเล่าหนังสือเด็กสักเรื่องหนึ่ง คือวรรณกรรมสำหรับเด็กสักเรื่องหนึ่งที่ได้เคยอ่านมาหลายปีแล้ว แล้วก็มันแสดงภาพให้เห็นได้ชัดเลยทีเดียว ในเรื่องของความอยาก เผอิญเป็นเรื่องของต่างประเทศแต่ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็แปลว่าเรื่องแมวเป็นล้านล้านตัวนะคะ ในเรื่องแมวเป็นล้านล้านตัวนี้ก็ผู้เขียนคือแวนด้าแก๊กนี่ได้เล่าถึงสามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งย่างเข้าสู่วัยชราแล้ว อยู่กันสองคนสามีภรรยาเรียกว่าอยู่กันสองคนตายาย ยายก็เกิดความเหงา เพราะเหตุว่าไม่มีลูกไม่มีหลานอยู่ใกล้ๆ เหมือนอย่างในครอบครัวคนไทยเรา ก็บอกตาว่าตาลองไปหาแมวมาเลี้ยงสักหน่อยหนึ่งสิ จะได้มีอะไรเป็นเพื่อนเล่นแก้เหงา ตาก็ทำตามคำที่ยายขอร้อง ก็ออกจากบ้านนะคะเดินทางไป ในขณะที่เดินทางไปนั้นน่ะตาก็เฝ้าคิดในใจว่าเราจะต้องพยายามหาแมวตัวที่สวยที่สุดให้ได้ ตาก็เดินไปไม่ช้าก็พบแมวฝูงใหญ่เลยมันไม่ใช่มีอยู่ตัวสองตัวมันมีอยู่กันเป็นฝูงใหญ่ ตาก็ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจเลือกตัวไหนดีเพราะว่ามองตัวนั้นก็สวยตัวนี้ก็สวยตัวนู้นก็สวย แล้วแมวมันก็ร้องเงี้ยวง้าวเข้ามาใกล้ๆ ตัวตา ตาก็หยิบตัวโน้นบ้างอุ้มตัวนี้บ้างแล้วก็วางไม่ลง
ผลที่สุดก็ตัดสินใจไม่ได้ก็อุ้มตัวที่อยู่ในแขนที่จับเอาไว้แล้วนั่นออกเดิน เจ้าแมวฝูงนั้นน่ะก็เดินตามมาด้วย พอผ่านหนองน้ำแห่งหนึ่งเจ้าแมวฝูงนั้นก็ร้องบอกว่าหิวน้ำ ตาก็บอกว่าก็ลงไปกินสิน้ำในหนองน้ำนั่นยังไงล่ะ เจ้าแมวพวกนั้นก็วิ่งกรูลงหนองน้ำ ตัวละอึกเท่านั้นนะคะน้ำแห้งผากไปหมดทั้งหนองเลย เดินต่อมาอีก ก็เจ้าแมวพวกนั้นก็บ่นว่าหิว ผ่านทุ่งหญ้าตาก็บอกว่านั่นน่ะไปกินสิหญ้านั่นน่ะเจ้าแมวก็วิ่งกรูไปกิน เพียงแต่ตัวหนึ่งก็กินหญ้าได้คำเดียวเท่านั้นเองหญ้าก็เกลี้ยงไปอีกทั้งทุ่ง เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมก็คงจะคาดคะเนในใจได้ว่าเจ้าแมวฝูงนี้มันจะมีจำนวนมหาศาลเพียงใด ฟังดูก็เหลือเชื่อนะคะ
แต่โปรดอย่าลืมว่านี่เป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก เด็กนั้นอยู่ในวัยที่ชอบจินตนาการ เพราะฉะนั้นผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็กก็พยายามจะเขียนให้มันสอดคล้องกับจินตนาการของเด็ก เพื่อที่จะจูงความสนใจของเด็กไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันนี่ นักเขียนวรรณกรรมที่ดีสำหรับเด็กก็จะสอดแทรกสิ่งใดที่เป็นคติเตือนใจเล็กๆ น้อยๆ เอาไว้ในหนังสือเล่มนั้นด้วยนะคะ ทีนี้ข้างฝ่ายตาก็พาเจ้าแมวฝูงนี้เดินตามมาเรื่อยๆ นะคะพอเดินตามมาจนกระทั่งถึงบ้าน ก็บอกยายว่า ยายมาดูสิแหมมีแมวเยอะเลย ยายก็เปิดประตูออกมา พอพบแมวฝูงมหึมาอย่างงั้นยายก็ตกใจ ก็ถามตาบอกว่าตายจริงตาทำไมถึงเอาแมวมาตั้งฝูงใหญ่อย่างนี้ล่ะเราจะไปเลี้ยงอะไรได้หวาดไหว ทำไมตาไม่เลือกเอาตัวที่สวยๆ มาสักตัวหนึ่ง ตาก็บอกว่าก็ฉันเลือกไม่ถูกนี่ มันมีเยอะแยะเหลือเกิน แล้วฉันไม่ได้ชวนมานะ มันตามมามันตามมาเองต่างหาก ทีนี้ยายก็บอกตาว่าถ้าอย่างงั้นตาก็เลือกเอาสิตัวไหนที่สวยน่ะเลือกเอามาสักตัวนึง ตาก็แทนที่จะเลือกนะคะ ว่าตัวไหนสวยก็หยิบขึ้นมาสักตัวแล้วก็ไล่ตัวอื่นๆ กลับไปเสีย ตาก็กลับร้องถามเจ้าแมวฝูงนั้นว่า ไหนตัวไหนสวย ตัวไหนสวย ท่านผู้ชมก็คงจะคาดคะเนได้นะคะ เจ้าแมวตัวนั้นก็ต่างก็ร้องกันใหญ่ ฉันสวย ฉันสวย ฉันสวย เพื่อที่จะให้ตาเลือก พอร้องไปมากๆ เข้า มันก็เลยหมั่นไส้กันเอง เรียกว่าเกิดขเม่นกันเอง เจ้าแมวตัวที่ร้องตะโกนว่าฉันสวย ฉันสวย เพื่อจะให้ตาเลือกเอาไปเลี้ยงในบ้านนี่ก็เลยโกรธ พอโกรธกันมากๆ เข้า เสียงก็ดังเข้า ดังเข้า ในที่สุดมันก็กระโจนเข้าฟัดกัดกันเป็นการใหญ่ เพราะฉะนั้นท่านผู้ชมก็คงนึกได้ว่า เสียงแมวฝูงมหึมา ที่ดื่มน้ำเพียงตัวละอึกก็แห้งทั้งหนอง กินหญ้าตัวละคำ หญ้าก็เกลี้ยงไปทั้งทุ่งนี่ เมื่อมันมากัดกันอย่างชนิดเป็นขบวนการหมู่พวกอย่างนี้ เสียงมันจะดังปานฟ้าถล่มดินทลายอย่างไรนะคะ ฉะนั้นยายกับตาสองคนพอเห็นแมวมันกัดกันชุลมุนอย่างมโหฬารอย่างนั้นก็กลัว ก็เลยแอบหนีเข้าบ้าน แล้วเสร็จแล้วก็นั่งคอยอยู่ในบ้าน ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่มีปัญญาทำ ก็ได้แต่นั่งคอยอยู่ในบ้าน สักครู่ใหญ่ๆ เอ๊ะ เสียงมันก็เงียบหายไป ทั้งตายายนี่ก็ค่อยเปิดประตูโผล่ออกมา ก็น่าแปลก ไม่เห็นแมวเหลือเลยสักตัว เกลี้ยงไปหมดเลย แล้วก็สองคนสามีภรรยานี่ก็สันนิษฐานว่าน่ากลัวว่ามันกัดกันเองแล้วมันก็เลยกินกันเองด้วยความหิวจนกระทั่งเกลี้ยงไปไม่เหลือเลยสักตัว ยายก็บอกน่าเสียดายนะเราเลยไม่มีแมวเลี้ยงสักตัวหนึ่ง
ทันใดนั้นน่ะก็ได้ยินเสียงร้องเมี้ยวๆ อยู่ใกล้ๆ พุ่มไม้ยายก็หันไปมองดูตาก็ไปเที่ยวหา ก็พบลูกแมวขี้เหร่ตัวหนึ่งซ่อนอยู่ที่พุ่มไม้นั่น ตาก็ไปอุ้มมาแล้วก็ถามว่าอ้าวทำไมเจ้าไม่ไปกัดกับเขาจนตายไปด้วยกันเหมือนอย่างตัวอื่นล่ะ ลูกแมวก็บอกว่าก็ฉันรู้ว่าฉันไม่สวยนี่ เพราะฉะนั้นฉันก็เลยไม่ไปเถียงทะเลาะกับเขา ไม่ต้องไปแข่งกับเขา ยายก็ดีใจก็อุ้มลูกแมวขี้เหร่นั้นเข้าบ้าน แล้วก็อาบน้ำอาบท่า เช็ดตัวสะอาดแปรงขนฟูแล้วก็หานมมาให้ลูกแมวนั้นกิน เจ้าลูกแมวผอมโซนั่นก็กินเอาๆๆ แล้วก็กินนมอย่างนั้นน่ะกินนมกินอาหารของมันทุกวัน กินอย่างเรียกว่ากินอย่างไม่ยั้งเพราะมันอดโซมา ไม่ช้ามันก็อ้วนท้วนแข็งแรงแล้วก็เป็นลูกแมวที่น่ารัก ผลที่สุดเจ้าลูกแมวขี้เหร่ตัวนั้นก็กลายเป็นลูกแมวที่น่ารักแล้วก็ได้อยู่กับตายายเป็นสุขสืบมา เรื่องนี้ก็จบลงชื่อว่าแมวล้านๆ ตัวท่านผู้ชมได้มองเห็นคติที่เราพูดถึงว่าชีวิตคือการแสวงหาและการแสวงหานั้นมันก็เริ่มต้นมาจากความอยากนะคะ มันเริ่มต้นมาจากความอยาก ความอยากเป็นต้นเหตุให้เกิดการแสวงหา แล้วก็การแสวงหาของตากับยายในเรื่องแมวล้านๆ ตัวนี้มันก็เนื่องมาจากความอยากเหมือนกัน แต่ความอยากอันนั้นนี่มันก่อให้เกิดปัญหาหรือมันนำไปสู่ความสำเร็จอย่างใดบ้างซึ่งเราจะได้พูดกันในคราวหน้านะคะ สำหรับวันนี้ธรรมสวัสดีค่ะ