แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [ลองพูดคุยกับ AI ทาง Line]
ก็นึกถึงคำหนึ่งซึ่งสมัยก่อนไม่เคยได้ยิน คำนี้เกิดเมื่อไหร่ ... สมาธิสั้น ... เกิดเมื่อไหร่ ใครบัญญัติคำนี้ นึกออกไหม? คือบรรดาคุณหมอพยาบาลอะไรอย่างนี้..ทราบไหม? สมาธิสั้นนี่ เขาบัญญัติกันเมื่อไหร่? แต่ได้ยินในปัจจุบันนี่นะคะ แต่ก่อนไม่เคยได้ยินเลยคำว่าสมาธิสั้น แล้วได้เคยสังเกตไหมคะว่า ลักษณะอาการของสมาธิสั้นนี่เป็นอย่างไร ช่วยอธิบายหน่อยสิคะ อาจจะมีลูกหลานสมาธิสั้นกันบ้าง ลูกศิษย์สมาธิสั้น คนไข้สมาธิสั้น เป็นอย่างไรลักษณะอาการของสมาธิสั้น ลองช่วยอธิบายสิคะ ช่วยกันก็ได้ คนละคำสองคำ คุณหมอว่าไงคะ อยู่ไม่นิ่ง อยู่ไม่นิ่งนี่พิจารณาทางไหน? มองที่มองเห็นชัดคือทางกายไม่นิ่ง ลุกลี้ลุกลนอะไรทั้งหลายนั้นรึเปล่าคะ แล้วมีอะไรอีกคะ ลักษณะอาการที่สมาธิสั้น เผอิญไม่มีจิตวิทยา นักจิตวิทยาอยู่ในนี้ใช่ไหมคะ ว่าเมื่อถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้นนี่ ผู้วินิจฉัยเขาคงจะต้องมีเกณฑ์เขาละนะคะ ว่าลักษณะอย่างไหนที่เขาจัดไว้เป็นสมาธิสั้น แต่ก็พูดได้ง่ายๆ อย่างที่คุณหมอพูดว่า คนสมาธิสั้นนี่คือคนที่ไม่จดจ่อ ใช่ไหมคะ ไม่จดจ่อกับคำพูดที่ใครพูด ไม่จดจ่อกับเรื่องราว ไม่จดจ่อกับภาพอะไรที่กำลังเห็นกำลังดู แล้วก็อาจจะพูดได้ว่าไม่จดจ่อกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเหมือนกับเอาใจใส่หรือไม่เอาใจใส่บอกไม่ถูก แล้วมีอะไรอีกคะลักษณะของสมาธิสั้น..เท่าที่เห็น เหม่อลอย อันนี้อยู่ในนิวรณ์ตัวไหน นึกออกไหม ที่เราพูดกันถึงเรื่องนิวรณ์ ๕ ตัวนะค่ะ นี่แหละนิวรณ์นี่เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ อะไรนะ? อุทธัจจกุกกุจจะ แล้วมีอะไรอีกคะ มีลักษณะไหนอีก ลักษณะอาการอย่างไร..คนสมาธิสั้น หงุดหงิดง่าย เพราะ..ถ้าหากว่าต้องฟังอะไรนานๆ ก็รู้สึกหงุดหงิด ไม่ถูกใจ พูดง่ายๆ ว่าคนสมาธิสั้นนี่ เป็นคนนึกถึงแต่ตัวเองด้วยหรือเปล่าคะ นึกถึงแต่ตัวเอง เอาแต่ใจของตัวเองด้วยหรือเปล่า คนสมาธิสั้นนี่ เพราะฉะนั้นอะไรๆ ถึงไม่ค่อยถูกใจ
แล้วเราจะว่าเฉพาะเด็กที่เป็นสมาธิสั้นใช่ไหมคะ? ผู้ใหญ่ก็มี แล้วถ้าผู้ใหญ่สมาธิสั้นนี่ เรียกว่าอาละวาดได้มากกว่าเด็กสมาธิสั้น เพราะว่าอาจจะเป็นคนมีอำนาจ มีตำแหน่ง มีลูกมีหลานบริวารที่จะขู่ตะหวาดได้อะไรอย่างนี้นะคะ ก็จัดได้ว่าสมาธิสั้น แต่ถ้าใครไปบอกเขาว่าสมาธิสั้น เขาก็โกรธอีกแหละ เขาก็ไม่รับอีกแหละว่าเขาสมาธิสั้น และคนที่มีสมาธิสั้นนี่ จะมีความสบายในการทำอะไรๆ ไหมคะ ไม่ว่าเขาจะทำการงาน หรือไม่ว่าเขาจะทำอะไรในเรื่องส่วนตัวก็ตามคนสมาธิสั้น จะร้อนรน เรียกว่าความสำเร็จอย่างชนิดที่ชื่นๆ ใจ อย่างชนิดที่ถูกใจ แล้วก็สำเร็จอย่างบริบูรณ์เรียบร้อย ก็ยากเหมือนกันสำหรับผู้ที่สมาธิสั้น เพราะฉะนั้นที่พูดถึงสมาธิสั้นนี้ก็คือ อยากจะชวนให้ลองคิดว่า สมาธิสั้นมันดีหรือไม่ดีนะ ควรเพาะปลูกให้มากขึ้นไหม ควรขยายพืชพันธุ์ไหมสมาธิสั้นนี่ เราก็ไม่ควรขยายพืชพันธุ์ของสมาธิสั้น ถ้าเราสามารถแก้ไขตัดทอนให้มันน้อยลงไปได้เท่าไหร่นี่ มันก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับชีวิตของครอบครัว ของการงาน ของสังคม โดยเฉพาะก็แก่ตัวคนนั้นเอง แก่ตัวเขาเอง ตั้งแต่เขาเล็กก็ตาม หรือเขาโตขึ้นก็ตาม ฉะนั้นลักษณะอาการของคนสมาธิสั้นนี่ เราพบ..เห็นจะบอกว่าพบมากขึ้นในปัจจุบันนี้..ใช่ไหมคะ ในยุคนี้
ลองเทียบดูเมื่อสมัยสัก ๒๐ ปีมาแล้วนะคะ พบไหม พบบ่อยๆ ไหม? สัก ๒๐ ปีมาแล้ว พบบ่อยไหมคะ คนสมาธิสั้น พบบ่อยไหม คืออย่างคุณแม่นี่ ต้องบอกว่า ๓๐ ปีมาแล้ว ก็ยังไม่ค่อยได้ยิน เพราะเดี๋ยวนี้ อายุมัน ๘๓ แล้ว ปีนี้ย่าง ๘๓ แล้ว เพราะฉะนั้น ก็บอกได้ว่า ๓๐ ปีมาแล้วนี่ ไม่ค่อยได้ยินเลย ไม่เคยได้ยินคำว่า..สมาธิสั้น เพิ่งมาได้ยินสมัยนี้แหละ เพราะใครพามาวัดนะ ก็มักจะบอก..คนนี้สมาธิสั้น ก็เลยพามาวัด ให้วัดต่อให้ยาว เคยพบไหม คือที่มีมานานแล้วนี่ เชื่อว่ามีมานานแล้ว แต่ถ้าเรานึกถึงปริมาณที่พบนะ ที่เราพบอยู่ในเหตุการณ์ประจำวันนี่ คงจะน้อยกว่าสมัยปัจจุบัน ทีนี้บางคนก็อาจจะบอกว่า ก็พลเมืองเดี๋ยวนี้มากกว่าเมื่อก่อนนี่ มันก็พบมากขึ้นสิ ถ้าอย่างนั้นเหตุที่มีประชากรมากนี่ เลยเป็นเหตุทำให้คนสมาธิสั้นด้วยหรือเปล่า? นี่ถ้าเราจะคิดให้กว้างนะคะ วันนี้อภิปรายกันได้ไม่จบนะ..จริงไหม เรื่องนี้ไปได้อีกหลายเรื่องเลย มีอีกหลายปัจจัยเลย เพราะว่าประชากรเยอะนี่มันก็จริงนะ ที่ทำให้คนสมาธิสั้นเพราะอะไร? เพราะมันมีปริมาณมากขึ้น มันต้องทำไมกันละ แก่งแย่งกัน มันแย่งกันทุกอย่างนะ แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ แย่งกันเรียน บางทีพอแม่ท้องรีบไปฝากลูกไว้ก่อน ยังไม่โผล่ออกมาจากท้องเลย เพราะว่าเดี๋ยวจะไม่มีที่เรียน แย่งกันทำงาน แย่งกันมีชื่อเสียงเกียรติยศ แย่งกันทุกอย่าง มันก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งเหมือนกัน ที่ทำให้คนเราเมื่อต้องรีบร้อนแล้วก็ต้องแย่งชิงกันอยู่ตลอดเวลานี่สมาธิมันก็สั้นแหละ สั้นเพราะอะไร เพราะต้องรีบร้อน กลัวจะไม่ทันเขาๆ นี่ก็เลยทำให้สมาธิสั้น แต่ใครเป็นคนบัญญัติคำนี้..ก็ไม่รู้นะ บัญญัติเก่งนะ แต่ต้องบอกว่าถ้าพูดในทางธรรมนี่ สมาธิสั้นนี่..มีสมาธิไหม? อยากจะบอกว่าไม่มีสมาธิ โดยเฉพาะสมาธิในทางธรรม อาจจะมีสมาธิตามธรรมชาติอยู่บ้าง
คือทุกคนนะ ที่ไม่วิปลาสนะคะ ไม่ถึงขนาดวิปลาสไปอยู่โรงพยาบาลนี่ ก็มีสมาธิกันทั้งนั้นแหละ มากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าว่าสมาธิในทางธรรมที่ท่านหมายถึงนะ ก็บอกว่าไม่มี แต่ว่าเขาก็บัญญัติเก่งนะ เพราะว่าทำให้มองเห็นภาพ เมื่อเรามาเปรียบเทียบกัน ทีนี้ลองดูสิคะว่า มีเหตุอะไรที่ทำให้ลักษณะอาการของความมีสมาธิสั้นของคนปัจจุบันนี่มากขึ้น มาจากเหตุปัจจัยอะไร ลองช่วยกันคิดซิ ซักคนละข้อก็ได้ มาจากเหตุปัจจัยอะไร ที่ทำให้มีสมาธิสั้น มันมาจากไหนละ ความเร่งรีบในหน้าที่การงานนี่ ถ้าพูดถึงว่าชีวิตของคนนี่นะคะ พอเกิดมานี่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบใหญ่ๆ ในชีวิตอะไรบ้าง? บ้าน โรงเรียน ก็คือหมายถึงการศึกษา วัด สังคม นี่พูดอย่างคร่าวๆ นะคะ อย่างหยาบๆ บ้าน โรงเรียน สังคม วัด เอาวัดไว้ทีหลัง ทีนี้ลองนึกดูสิว่า บ้าน โรงเรียน สังคม วัดนี่ ปัจจัยไหนหรือองค์ประกอบไหน ที่เสริมสร้างให้คนเรามีสมาธิสั้นมากขึ้น มันก็มีส่วนเกี่ยวข้องกันแหละนะคะ เราจะตัดขาดทีเดียวไม่ได้ ว่าเพราะบ้าน เพราะโรงเรียน เพราะวัด หรือว่าเพราะสังคม เราจะตัดขาดไม่ได้ มันก็มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ในสมัยก่อนโน้นนะ สมัย ๓๐ - ๔๐ ปีมาแล้วนี่ ผู้ใหญ่ในทางการศึกษาบางท่าน ท่านก็จะบอกว่าการศึกษาสมัยโน้นนี่ อาจจะบอกว่าแคบ..แต่ว่าลึก การศึกษาสมัยนี้กว้าง..แต่ว่าตื้น ใครที่สนใจการศึกษาจะเข้าใจความหมายอันนี้ ว่าหมายความว่าอย่างไร สมัยก่อนนะ อาจจะบอกว่าแคบแต่ลึก สมัยนี้กว้างรู้ทุกอย่าง พูดอะไรไม่มีไม่รู้ รู้หมด แต่ว่าตื้น ลองนึกดูสิคะว่า การศึกษาที่กว้างแล้วก็ตื้น แคบแล้วก็ลึกนี่ ต่างกันอย่างไร
แน่นอนละจะพูดผลดีผลเสียนะ พูดได้ทั้งสองอย่าง ทั้งสองระบบเลย พูดได้ทั้งสองระบบ อย่างการศึกษาแคบแต่ลึก ก็หมายความว่าผู้ที่รับการศึกษานั้นเป็นอย่างไร? เขาเรียนอะไร? แล้วเขาเป็นอย่างไร? รู้จริง..เขารู้จริง สมัยก่อนโน้นไม่ว่าจะเรียนวิทยาศาสตร์ จะเรียนภาษาอังกฤษ จะเรียนภาษาไทย จะเรียนอะไรนะ เขาอาจจะไม่รู้กว้างขวางทั่วโลก แต่เขารู้จริง รู้จริงอย่างชนิดที่เอามาใช้ได้ อย่างภาษาอังกฤษสมัยก่อนโน้นนะ ครูอาจารย์ที่มาจากเมืองนอกก็ไม่มากเป็นดอกเห็ดเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ว่าการเรียนภาษาอังกฤษของเขา เขาก็ใช้การได้ คือพอออกมาเพียงแค่จบมัธยม ๘ สมัยก่อน สมัยก่อนโน้นมัธยม ๘ พอออกมามัธยม ๘ เขาก็ใช้การได้ ส่วนใหญ่ทีเดียวนะคะ จะใช้การได้พูดได้พอสมควร เขียนได้พอสมควร หรือจะเป็นวิชาอะไรอย่างอื่นก็ตามที นี่ท่านเรียกว่าอาจจะแคบ สมัยก่อนโน้นนะเขาเรียกว่าแคบแต่ลึก แล้วส่วนสมัยนี้กว้างแต่ตื้น ก็ลองดูวิธีการเรียนจะเป็นอย่างไร การเรียนของนักเรียนสมัยนี้ อย่างหลายคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ก็เป็นผลิตผลของการศึกษาระบบปัจจุบันใช่ไหม ใช่หรือเปล่า แล้วรู้สึกอย่างไรคะ การเรียนแบบกว้างแต่ตื้นนี่เป็นอย่างไร ในวิธีของการเรียนนี่เป็นอย่างไรคะ ในวิธีของการเรียนเป็นอย่างไร ต้องรีบร้อนไหม ลองตั้งคำถาม ต้องรีบร้อนไหม ต้องรีบร้อนมาก วิชามันมากเหลือเกินที่จะต้องเรียนให้ทัน แล้วก็อย่าพูดแต่นักเรียนเลยแม้แต่ครูนะคะ ถ้าเราจะมาพูดคุยกันว่า ทำไมไม่มีการสอดแทรกความรู้รอบตัวที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ ที่จะทำให้เด็กนักเรียนมีความรอบรู้เข้าไปด้วย หรือการอบรมให้มีจริยธรรม ให้มีคุณธรรม ทำไมไม่สอดแทรก ครูที่เป็นครูที่มีความตั้งใจดีนะ ก็มักจะตอบว่า อยาก..อยากทำ แต่ไม่สามารถจะทำได้เพราะเวลามันไม่มี เพียงแต่จะเอาสอนให้ทันหลักสูตรยังไม่ไหวเลย ครูจะอุทธรณ์อย่างนี้
แล้วก็เห็นใจอีกเหมือนกัน เห็นใจว่ามันเป็นความจริง เพราะฉะนั้นครูก็รีบร้อน เรียนให้ทัน ทำให้ทันหลักสูตร บางทีครูก็สอนๆๆๆ เพื่อให้ทันหลักสูตร ลูกศิษย์ก็ฟังๆๆ จดๆ รับๆ ได้บ้างไม่ได้บ้าง วิ่งไปเรียนพิเศษ รีบร้อนเพื่อไปเรียนพิเศษ เพราะฉะนั้นชีวิตการเรียนอย่างนี้..เครียดไหม? เครียดแน่ๆ เลย พอมันนำความเครียดมาสู่ พึ่งสอบจบมาใหม่ๆ นี่รู้นะว่าเครียดแค่ไหน นี่ยังต้องวิ่งไปเรียนกับเขาอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้มีเวลาพักจิตพักใจพักสมองเลย ก็เลยกลายเป็นคนรีบร้อน ลุกลี้ลุกลน ยกเว้นคนพิเศษนะที่จะรู้จักปรับตัวเอง นอกจากนั้นก็จะขอรู้อะไรเพียงเอาพอรู้ หรือบางทีขอเอาเพียงให้ได้ประกาศ..แผ่นกระดาษนั่นมาก็เอาแล้ว และฉันจะรู้หรือไม่รู้ช่างหัวมัน..ไม่เป็นไร นี่แหละการเรียนที่บอกว่ากว้างแล้วก็ตื้น สมัยก่อนโน้นถ้าเวลาถือกระเป๋าไปโรงเรียนมันก็พอแบกสำหรับแรงของเด็กแต่ละคน..พอแบก แต่เดี๋ยวนี้ตัวเอียงกันทุกคนเลย เพราะอะไรละ หนังสือหนังหามันมาก แล้วในการจัดการเรียนนั้น ในการจัดตารางสอนของหลักสูตรแต่ละวันทุกอย่างนะต้องยัดลงไปหมด เกือบจะทุกวิชาอยู่ในวันนั้น ไม่มีโอกาสให้โปร่งสบายเลย ฉะนั้นถ้าจะว่าทำไมละ..เด็กๆ นะ ทำไมถึงสมาธิสั้นมากขึ้น มันก็พูดได้ว่าภาวะของการเรียนในโรงเรียน หลักสูตร การสอน การศึกษา ในปัจจุบันเป็นเหตุปัจจัยอันหนึ่ง มันไม่ใช่อันเดียวหรอก แต่มันเป็นอันหนึ่ง ที่กระตุ้นหรือกระทำให้เด็กๆ นี่มีลักษณะของอาการสมาธิสั้น ซึ่งเขาก็คงไม่อยากเป็น เขาอยากจะสบายๆ มากกว่า
ฉะนั้น เมื่อทางโรงเรียนเป็นอย่างนี้ แล้วหันมาดูทางบ้านเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ทางบ้านเดี๋ยวนี้ผู้ปกครองส่วนใหญ่เลย พอเอาลูกไปฝากโรงเรียนแล้ว ก็ยกให้ ใช่ไหมคะ..ยกให้ครู แล้วแต่ครูจะปั้นไปอย่างไรก็แล้วแต่ครู เพราะฉะนั้นพ่อแม่ที่จะมามีเวลาดูแลอบรมลูกที่บ้าน หรือจะพิจารณาดูว่าลูกได้อะไรจากโรงเรียน แล้วลูกขาดอะไรบ้าง ที่เราจะต้องเติมเพื่อให้ลูกเรานี่เต็มขึ้นมา ไม่ให้เป็นคนกระพร่องกระแพร่ง พ่อแม่ก็ไม่มีเวลา ถ้าเป็นพ่อแม่ที่มีการศึกษาก็ไปไหนละ เวลาไปไหน ไปทำงาน ต้องหารายได้เพิ่ม เพราะว่าต้องช่วยกันทำงาน เศรษฐกิจไม่พอ ถ้าเป็นพ่อแม่อย่างชาวบ้านนี่นะ บ้านอย่างชาวบ้านที่ได้สัมผัสกับเขานี่ เขาก็น่าจะมีเวลา เขาจะหนักเหน็ดเหนื่อยก็เฉพาะหน้านาใช่ไหม ถ้าทำนาก็หนักเหน็ดเหนื่อย แต่หน้าที่ไม่ใช่ทำนานะก็มีเวลาว่าง แต่พ่อแม่ก็ไม่คิด พ่อแม่เดี๋ยวนี้ก็ไม่คิดนะ ถ้าเรานึกถึงปู่ย่าตายายสมัยก่อน ซึ่งก็ทำมาหากินกับเกษตรกรรมนี่ แต่ก็ยังแบ่งเวลากินข้าวพร้อมกัน พ่อแม่ลูก ปู่ย่า ตายาย แล้วก็ได้เล่านิทานพื้นบ้านตามภูมิปัญญาของชาวบ้านให้ลูกหลานฟัง แล้วก็ยังจะได้เล่าอะไรๆ ที่จะทำให้ลูกหลานรู้จักพื้นเพของตัวเอง รู้จักวัฒนธรรมของตัวเอง แล้วก็มีความรักใคร่กลมเกลียวสมานสามัคคีกัน แต่ชาวบ้านเดี๋ยวนี้เขาก็ไม่เอา แล้วแต่ครู ครูว่าอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น แล้วแต่ครู ครูก็ยังเป็นผู้วิเศษอยู่ แต่ความเป็นจริงปัจจุบันครูก็ไม่ได้ทำตัวเป็นผู้วิเศษ ไม่มีเวลาจะทำ นี่มันก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงต่อๆ กันใช่ไหมคะ
ทีนี้พอมาดูสังคมก็ยิ่งเห็นใหญ่ สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมอะไร วิ่งหรือเดิน วิ่งยังน้อยไปนะ กระโดด..กระโดดด้วยซ้ำไป สังคมทุกวันนี้เป็นสังคมกระโดด..กระโดดข้ามๆๆๆ ข้ามไปเรื่อยนะ ขอให้ได้ข้ามไปอยู่ข้างหน้าเป็นใช้ได้ ถ้าไปอยู่ข้างหน้าเมื่อไหร่ใช้ได้ ถ้าหากว่ายังอยู่กลางๆ หรืออยู่ข้างหลังก็ต้องถีบตัวเองออกไป นี่สังคมก็กระตุ้น กระตุ้นเพราะอะไร จากสิ่งแวดล้อม ที่กระตุ้นอยู่ทุกอย่าง ทั้งในการเลื่อนตำแหน่งการงาน ทั้งในวิถีของชีวิ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มีอีกมากนะ..ถ้าจะพูดนี่อีกเยอะเลย แต่ที่นี่พูดถึงว่าเป็นเพียงปัจจัยที่เราจะเอ่ยพอมาเป็นตัวอย่างได้ ทีนี้ก็มาถึงวัด ถ้าหากว่าพอเข้าไปที่วัดไหน นี่นะโยมจะก่อสร้างอันโน้นอันนี้ จะต้องใช้เงินเท่านั้น ๕ ล้าน ๑๐ ล้าน โยมเย็นไหม นี่ถามจริงๆ โยมเย็นไหม โยมร้อนอีกเหมือนกัน..ใช่ไหมคะ? เพราะฉะนั้นจึงขึ้นอยู่กับวัดแต่ละแห่งอีกเหมือนกัน ว่าท่านจะทำให้ญาติโยมที่เข้ามา อุบาสกอุบาสิกาที่เข้ามา เย็นหรือร้อน สมาธิสั้นหรือยาว ในขณะที่ให้นั่งสมาธินะ โยมอาจจะนึก เอ..เราต้องไปหาเงินที่ไหนนะมาช่วยทำบุญกับท่าน เราจะได้ไปสวรรค์ เพราะว่าการทำบุญนี่มีจุดมุ่งหมายไปสวรรค์ เราก็อยากไปสวรรค์กับเขา นี่มันหลายปัจจัย ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านไม่เคย ท่านไม่เคยที่จะเรียกร้องเอาอะไรเลย เพราะว่าสถานที่ที่พุทธองค์ท่านทรงอยู่และทรงใช้ตลอดชีวิต คืออะไรทราบไหมคะ? คืออะไร คือธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งคือแผ่นดิน ท่านเกิดกับแผ่นดิน ท่านก็ไปเที่ยวแสวงหาสัจธรรมอยู่ในป่านะ..ก็กับแผ่นดินอีกเหมือนกัน นอนกับแผ่นดิน เกลือกกลิ้งกับแผ่นดิน ไม่ได้ไปนอนฟูก นอนเสื่อ นอนหมอนอะไรกับเขาเลย
พอท่านตรัสรู้แล้ว ท่านไปเที่ยวประกาศพระธรรมสั่งสอนทั่วบ้านทั่วเมืองทั้งหลาย ท่านก็ทรงดำเนินด้วยพระบาทเปล่า ไม่ได้มีรถอย่างเรานะ ร่มก็ไม่มีนะ ไปแต่พระบาทเปล่าเท่านั้นเอง ตลอดเวลา ไม่มีอะไรอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่พุทธองค์ท่านทรงใช้ที่จะเป็นอุปกรณ์ในการที่ประกาศธรรมะ สอนธรรมะ ก็คือแผ่นดิน คือธรรมชาติต้นหมากรากไม้อะไรทั้งหลายทั้งนั้น ถ้าเราอยู่อย่างนั้นได้สมาธิจะยาวหรือจะสั้น ลองนึกดูสิคะ ถ้าเราอยู่อย่างนั้นได้สมาธิเราจะยาวหรือจะสั้น น่าจะยาวนะ เพราะมันเย็นใช่ไหม มันได้อยู่กับธรรมชาติ..มันก็ได้เย็น มันมีความเย็น ฉะนั้นที่พูดมานี่ก็เพื่ออยากจะให้เราช่วยกันคิดว่า สมาธิสั้นนี่มีโทษหรือมีคุณกับชีวิต การมีสมาธิสั้นนี่มีโทษหรือมีคุณกับชีวิต มีโทษนะ มีโทษเหลือเกิน เพราะฉะนั้นเด็กๆ ทั้งหลายนี่ ไม่ควรจะเป็นคนโชคร้าย ที่เกิดมาแล้วก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เร่งเร้า ให้เขาต้องลุกลนแล้วก็รีบร้อนเร่งรัดกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีเวลาที่จะผ่อนคลายหรือว่าเย็นสบายได้เลยสักนิดเดียว ต้องถือว่าเขาโชคร้าย แม้เขาจะเกิดในครอบครัวที่ไม่อดอยาก พูดง่ายๆ ว่าเงินทองทรัพย์สินมี ไม่ลำบาก แต่ทีนี้ในส่วนภาวะที่สำคัญของชีวิตนั่นคืออะไร คืออะไร ก็ชีวิต องค์ประกอบของชีวิตคืออะไรคะ กายกับใจใช่ไหม องค์ประกอบของชีวิตนี่คือกายกับใจ ที่จะลุกลนรีบร้อนเร่งรัดนี่มันที่ไหนละคะ ใจ มันที่ใจ หรือที่เราเรียกว่าจิตนี่แหละ
เพราะฉะนั้น เขาก็ควรจะได้มีโอกาสที่จะได้พัฒนาในทางด้านจิตของเขานี่ตั้งแต่เขารู้ความ หรือตั้งแต่เขายังเล็กๆ อยู่ อย่างนี้จะถือว่าเด็กคนนั้นนะมีโชคดีมากเลย แล้วเขาจะยากดีมีจนนี่เกือบจะว่าไม่สำคัญ หรือไม่เป็นไร เพราะภาวะของจิตที่เย็น ยาว ยืนอยู่ได้ ไม่เร่งร้อนเร่งรัดนี่ มันเป็นต้นทุน ต้นทุนที่ดีใช่ไหมคะ ต้นทุนที่ดีที่จะก้าวต่อไป ฉะนั้นถ้าหากว่าเราอยากจะช่วยในเรื่องของลดความมีสมาธิสั้น เท่าที่สามารถจะทำได้ ถ้าสมมุติว่าเป็นที่บ้าน บ้านควรจะเป็นอย่างไร ถ้าจะชดเชย ชดเชยให้กับเด็กๆ นี่ ที่เขามีสมาธิสั้น ควรจะทำอย่างไร ก็ที่เขาสั้น เขาร้อน เขาลุกลน เร่งรัด เพราะอะไร? เพราะในใจเขาเป็นอย่างไร ในใจเขารู้สึกร้อนนั่นแหละ เขารู้สึกอะไรๆ มันจะไม่ทันๆๆ มันต้องรีบๆๆ บางคนก็รีบอย่างชนิดมีจุดหมายว่าจะต้องทำให้สำเร็จ แต่บางคนรีบโดยไม่รู้ว่าจะรีบอะไร รีบไปทางไหน เพราะเขาไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ ไม่รู้จักตัวเองเพียงพอ นี่อันนี้ เพราะฉะนั้นบ้านนี่จะเสริมสร้างได้ด้วยการสร้างบรรยากาศในบ้านให้เป็นอย่างไร ให้เป็นบ้านที่..เย็น..ใช่ไหมคะ อย่างที่เพลงที่เขาบอก Home Sweet Home นะ หลายคนคงเคยฟังเพลง Home Sweet Home ฟังแล้วจับใจไหม หรือไม่ได้ฟังแล้วสมัยนี้ สมัยนี้เขาไม่ฟังกันแล้ว เขาฟังแต่เรื่อง House .. House is a House .. is a House อะไร? นี่คือบ้าน..บ้าน เป็นคอนกรีต เป็นไม้ เป็นตึก เป็นอะไรต่ออะไร มีความหมายไหม ถ้าเราย่างเข้าไปในบ้านที่เป็นเพียง House แต่ไม่ใช่ Home มีความหมายไหม นี่สองคำนี่ก็แปลว่าบ้านเหมือนกันแหละ แต่ความหมายของมันตรงกันข้ามทีเดียว
เหมือนอย่างที่เด็กบางคนนี่พ่อแม่ก็ร่ำรวย นี่เราได้อ่านในหนังสือด้วยนะ ก็แต่พอเขาบอกเขาเข้าไปในบ้านแล้วนี่ เขารู้สึกว่ามันมีแต่ฝาผนังนะ มันมีแต่ฝาผนัง หรือพอเปิดตู้เย็นมันก็มีแต่อาหาร มีขนม ผลไม้ จะให้กิน แต่มันไม่มีความรัก มันไม่มีความอบอุ่น มันไม่มีความใกล้ชิดอะไรต่างๆ ที่จะให้ ที่เขาจะได้รับ เพราะฉะนั้นบางคนนี่เด็กที่วิ่งออกไปจากบ้าน ก็เห็นจะเป็นเพราะว่าเขาเห็นว่าบ้านเขาวังเวงก็ได้ เขาก็เลยไปหาอะไรที่เขาคิดว่าเย็นๆ แต่เผอิญในสังคมทุกวันนี้มันไม่มี มันหายากเหลือเกิน ฉะนั้นสิ่งที่บ้านจะช่วยได้นี่ก็คือต้องเสริมสร้าง เสริมสร้างความเย็นความอบอุ่นให้เกิดขึ้น เพราะเด็กจะหวังจากโรงเรียนยากเหลือเกิน เกือบจะว่าเท่าที่ได้คุ้นเคยมาบ้างกับเรื่องของการศึกษานี่ ๑๐% จะได้ไหม? ไม่แน่ใจ ว่าเราจะหวังจากโรงเรียนนี่สัก ๑๐% จะได้ไหม เคยได้รับความชื่นใจจากโรงเรียนในการเรียนจำได้ไหม มีไหม มีบ้าง แล้วก็อยากจะกลับไปที่โรงเรียนนั้นอีกนะ..มีไหมคะ อ้อ..อย่างนั้นก็เรียกว่าโชคดี ยังโชคดี ถ้าไปถามเด็กนักเรียนเดี๋ยวนี้นะคะว่า จำได้ไหมที่ครูอาจารย์คนไหนที่ได้เคยสอนมาแล้ว..ประทับใจ ยังจำได้ อยากจะกลับไปหาครูคนนั้นอีก ยาก หาคำตอบยาก อย่างในส่วนตัวเองก็จะตอบได้แต่เพียงว่า ไม่เคยนึกเกลียดครูคนไหนเลย ตั้งแต่เราเรียนหนังสือมา ไม่เหมือนอย่างเด็กเดี๋ยวนี้ ที่เขาเกลียดกัน เขาด่าว่า จนถึงฆ่าฟันครูนะ เราไม่เคยมีอย่างนั้น เราก็มีครูแต่ที่เรารู้สึกว่านับถือได้เคารพได้ เพราะว่าเป็นครูที่พยายามเป็นครู จะให้อะไรแก่ลูกศิษย์อย่างเต็มที่ นั่นนะ ถ้าหากว่ามีโรงเรียนอย่างนี้ ความเป็นสมาธิสั้นของเด็กก็ลดลง เพราะอย่างนั้นเด็กสมัยก่อนนี่ก็ไม่ค่อยมีนะ เพราะที่จะบอกว่า..ให้ทันนะๆ เธอต้องทำให้ทันนะ ไม่ค่อยมี
ฉะนั้นถ้าหากว่าจะมีการลดคำพูด..เร็วๆ เข้าหน่อยสิ .. เร็วๆ เข้าหน่อยสิ ซึ่งอันนี้พ่อแม่ก็ชอบพูดที่บ้าน ครูอาจารย์ก็ชอบพูดที่โรงเรียน แล้วก็ออกไปทำงานเจ้านายหรือเพื่อนฝูงก็อาจจะพูดอย่างนี้อีก คำว่าเร็วๆ เข้าหน่อยสิ เราก็เห็นว่ามันเป็นคำธรรมดานะ เร็วๆ เข้าหน่อยสิลูก เร็วๆ เข้าหน่อยสิเธอ เร็วๆ เข้าหน่อยสิแก นี่อันนี้มันโกรธมากแล้วมันช้าจริงๆ เพราะฉะนั้นอย่างนี้เป็นต้น มันก็ทำให้เด็กนี่เกิดความรู้สึกทีละน้อย ตอกเข้าไปทีละน้อย ตอกย้ำความรู้สึกเข้าไปทีละน้อยๆๆ เพราะฉะนั้นไม่ช้าไม่นาน จากเด็กที่รื่นเริงแจ่มใสก็กลายเป็นเครียดโดยไม่รู้ตัว อย่างที่เขาบอกว่าเด็กอนุบาลเดี๋ยวนี้ก็เครียดแล้ว มันน่าสมเพชน่าสังเวชแค่ไหนเด็กอนุบาลไปโรงเรียนเครียดแล้ว ไม่ทราบว่าให้กินยาประสาทรึเปล่านะคะ ที่เขารักษากันเดี๋ยวนี้ แต่ได้ยินหลายแห่งเลยที่เขาเป็นแล้วขณะนี้ ฉะนั้น เรื่องของสมาธิสั้นนี่ คิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ นะ ไม่ใช่เรื่องเล่นนะเป็นเรื่องอันตราย อันตรายของสังคม แล้วก็อันตรายของชาติบ้านเมือง ก็ลองคิดดูเถอะ ถ้าในประเทศประกอบไปด้วยพลเมืองที่สมาธิสั้น บ้านเมืองเป็นอย่างไร วาดภาพออกไหม นึกถึงภาพได้ไหม ว่ามันจะเป็นอย่างไร ก็คงนึกกันได้นะคะ ทีนี้ถ้าที่บ้านจะมีเพิ่มเติมบรรยากาศที่อบอุ่น ที่เย็นๆ แล้วก็ลดคำพูดที่จะเร่งร้อน โรงเรียนก็เช่นเดียวกัน สอนให้สนุก สอนให้มีชีวิตชีวา อย่าไปเร่งลูกศิษย์ให้ไปเรียนพิเศษ เท่านี้ลูกศิษย์ก็คงจะมีความสุขขึ้นในการเรียน แล้วคนเหล่านี้เมื่อออกไปสู่สังคม เขาก็คงจะรู้ว่าชีวิตต้องการอะไร เขาคงจะช่วยกันสร้างสังคมให้เป็นสังคมที่เย็น ให้เป็นสังคมที่มีความสุขขึ้นมาได้
ฉะนั้น ถ้าหากว่าจะลองช่วยกันคิดว่า ถ้าเราแก้ไข จะแก้ไขหรือว่าพัฒนาจากการสมาธิสั้นให้ลดลง เราควรจะชวนเขาอยู่กับอะไร เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าท่านทรงอยู่ อยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น เข้าใกล้ธรรมชาติให้มากขึ้น เอาธรรมชาติเป็นห้องเรียนก็ได้ ออกมาเรียนกับธรรมชาติบ้าง เขาจะได้ธรรมชาตินี่เป็นครูที่แท้จริง แล้วก็เป็นครูที่ชี้ให้เห็นอะไรจริงๆ อีกด้วย เพราะว่าพระพุทธเจ้าที่เป็นพระบรมครู ท่านทรงเรียนจากธรรมชาติ เมื่อใครไปถามท่านว่า ครูของท่านคือใคร ท่านก็เลยตอบว่า..พระธรรม พระธรรมอันนี้มาจากไหน จากที่ท่านศึกษาจากธรรมชาติ ไม่ใช่ศึกษาจากที่อื่น เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราเป็นลูกศิษย์ท่าน เราเป็นชาวพุทธก็ควรจะเจริญรอยตามท่าน ทำไมเราไม่เจริญรอยตามท่าน อย่างที่มีท่านผู้รู้หลายท่าน ท่านพูดเปรยๆ ว่า ถ้าเผอิญองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาในโลกนี้นะคะ แล้วก็เยี่ยมวัดนั้น เยี่ยมวัดนี้ เยี่ยมวัดโน้น ท่านจะจำได้ไหมว่า..นี่คือพุทธศาสนา เป็นศาสนาของเรา จำได้ไหม? ลองนึกคาดคะเนเอาเถอะ ก็แน่นอนละจำไม่ได้ เพราะสมัยท่านไม่มีนี่ โบสถ์ วิหาร การเปรียญมโหฬาร อะไรต่ออะไรต่างๆ เครื่องอุปโภคบริโภคอย่างครบครัน แล้วก็เกินความครบครัน แล้วญาติโยมก็ทำบุญเพื่อหวังสวรรค์ ในขณะที่ทำบุญก็ทำบาปไปพร้อมๆ กันด้วย..ใช่ไหม อย่างหลวงพ่อท่านอาจารย์ชาพูดประโยคหนึ่งนี่ติดใจเหลือเกิน ท่านบอกไม่ต้องไปสอนเขาหรอกว่าให้ทำบุญ สอนเขาอย่างเดียวว่าอย่าทำบาป เท่านั้นเองพอแล้ว นี่สอนญาติโยม อุบาสกอุบาสิกา สอนอย่าทำบาป เพราะถ้าไม่ทำบาปนี่มันก็คืออะไร คือบุญ ก็ทำแต่บุญใช่ไหมคะ แล้วก็ได้บุญอยู่แล้วในการหลีกเลี่ยง
เพราะฉะนั้นอันนี้ถ้าหากว่าเราจะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเราก็ควรจะศึกษา ศึกษาเรียนรู้สิว่าพระองค์ทรงอยู่อย่างไร พระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไร แล้วพระองค์จึงบรรลุถึงซึ่งสัจธรรม แล้วก็นำมาสอนพวกเราทั้งหลาย ถ้าหากว่าพระองค์ทรงอยู่ไกลจากธรรมชาติ พระองค์จะทรงพบหรือว่ากฎของธรรมชาตินี่ว่าอย่างไร กฎของธรรมชาติคืออะไรละคะ กฎของธรรมชาติคืออะไร ที่เราเคยพูดถึง กฎไตรลักษณ์..นี่แหละเป็นกฎของธรรมชาติ ก็ยังมีกฎอื่นอีก แต่กฎไตรลักษณ์นี่เห็นชัดเจนเลย แล้วก็กฎอิทัปปัจจยตา..ที่แสดงถึงเหตุและผล ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ มีไหมคะ ท่านผู้ใดจะยกมือว่านี่ไงมันเกิดขึ้นลอยๆ ในชีวิตฉันนะ ฉันอยู่เฉยๆ มันก็ลอยมา..มีไหมคะ ใครจะเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างมีไหม ไม่มีนะ ไม่มีอะไรที่มันเกิดขึ้นลอยๆ มันล้วนแล้วแต่มาจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น มันมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น เพราะว่าสิ่งที่พระองค์ทรงสอน..ที่พระอัสสชินำมาสอนท่านพระสารีบุตร เคยได้ยินไหม ท่านพระสารีบุตรที่เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นพระอัครสาวกผู้ฉลาด..เฉลียวฉลาดมาก จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมว่า พูดง่ายๆ ว่า..พูดอย่างคำธรรมดาคือฉลาดเท่าท่าน ถ้าว่าอย่างนั้นนะคะ แสดงธรรมอะไรก็แหลมหลักวิจิตรพิสดารไม่ผิดกับที่พระองค์ทรงแสดง แต่ก็แน่นอนละ ที่จะเท่านะไม่เท่าหรอก แต่นี่แสดงถึงความเฉลียวฉลาดแหลมหลักของท่านพระสารีบุตร
แล้วก็ครั้งแรกที่ท่านแสวงหาโมกขธรรม คือท่านก็ไปเป็นลูกศิษย์ของปริพาชกคนหนึ่ง เรียกว่าลัทธิอื่น .. ของสัญชัยที่เป็นครู แล้วก็ไม่จุใจเพราะเป็นคนฉลาด ฟังธรรมแล้วก็ไม่จุใจ แล้วก็รู้ว่าธรรมที่ได้ฟังจากท่านสัญชัยนี่ยังไม่จบ ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ก็แสวงหาโมกขธรรม แล้ววันหนึ่งก็เข้าไปในเมืองก็พบท่านพระอัสสชิ ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ นึกออกไหมคะ ปัญจวัคคีย์คืออะไร พระปัญจวัคคีย์ ก็ปัญจะก็คือ ๕ นี่สำหรับผู้ที่จำไม่ได้ ปัญจะก็คือ ๕ พระปัญจวัคคีย์นี่ก็เป็นผู้ปฏิบัติธรรม ๕ องค์ แล้วก็เริ่มแรกก็สนใจในทางธรรมะก็พากันมาปฏิบัติ ๕ คนด้วยกัน แล้วก็ใน ๕ คนนั่นนะ ก็มีท่านหนึ่งชื่อว่าโกณฑัญญะ ท่านโกณฑัญญะนี่ก็เป็นพราหมณ์ เป็นพราหมณ์คนหนึ่งที่ได้มาทำนายพระพุทธลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะตอนที่ประสูติ ยังเด็กๆ อยู่เลยยังทารกนะ แล้วพอถึงเวลาทำการเฉลิมฉลอง พระเจ้าสุทโธทนะก็เชิญท่านพราหมณ์ผู้ใหญ่ ฤษีอะไรที่เรียกว่ามีความแม่นยำ แล้วก็เก่งที่จะให้มาเป็นมงคลกับโอรสของพระองค์ โกณฑัญญะนี่ก็เป็นหนึ่งในพราหมณ์ ๕ ในพราหมณ์หลายคนที่มา แล้วก็หนุ่มที่สุดด้วย พราหมณ์ผู้ใหญ่ทั้งหลาย คนอื่นๆ นี่ล้วนแล้วแต่ทำนายเป็นสองอย่าง ถ้าอยู่ครองราชย์จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกว่าใหญ่ยิ่งทั่วโลกไม่มีใครเทียมเท่า แต่ถ้าออกปฏิบัติธรรมก็จะได้เป็นพระศาสดา คนอื่นนะทำนายสองอย่าง แต่โกณฑัญญะทำนายอย่างเดียวว่า จะต้องออกไปเป็นพระศาสดาแน่นอน ไม่มีอย่างอื่น แล้วโกณฑัญญะนี่ก็เป็นหนึ่งในปัจจวัคคีย์อยู่กับพระอัสสชิ
ทีนี้วันนั้นท่านพระสารีบุตรก็เข้าไปในเมือง ก็พบพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาตอยู่ ก็ประทับใจเหลือเกิน พอมองเท่านั้นนะประทับใจในความสงบ ความสงบ ความเย็น ความผ่องใส ที่พอมองไปที่ใบหน้า ท่วงท่า กิริยา ที่เดินอะไรต่ออะไร รู้สึกประทับใจ แล้วก็เชื่อว่าท่านองค์นี้ต้องบรรลุธรรมวิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่เชียว ก็คอยจนกระทั่งท่านพระอัสสชิบิณฑบาตเสร็จ พอบิณฑบาตเสร็จก็เข้าไปกราบเรียนถามว่า คำสอนของพระศาสดาของท่านนี่สอนว่าอย่างไร ท่านพระอัสสชิก็ตอบว่า ท่านยังเป็นผู้ใหม่ คือเพิ่งเข้ามาในพระพุทธศาสนา เพราะว่าตอนนั้นก็ยังใหม่ คือพระปัญจวัคคีย์ก็เป็น ๕ องค์แรกที่ได้บรรลุธรรม ที่จริงท่านก็ถ่อมตัว ท่านพระสารีบุตรก็บอกว่า ไม่เป็นไร จะยาวหรือจะสั้นก็ไม่เป็นไร แต่ขอฟังธรรมสักนิดหนึ่ง ท่านก็บอกว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านี่ท่านก็ตรัสว่า สิ่งใดเกิดแต่เหตุ ท่านทรงแนะนำให้ดับเหตุนั้น ท่านพระสารีบุตรฟังแค่นี้นะ ประโยคเดียวนะบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน นี่เราฟังแล้วคงต้องแปลอีกหลายตลบ แต่นี่ท่านฟังครั้งเดียวเท่านั้น ท่านบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน แล้วก็เกิดศรัทธาแก่กล้า ก็ก้มลงกราบ แล้วก็ถามว่าพระบรมศาสดานี่ประทับที่ไหน พอทราบแล้วก็กราบเรียนว่า ขอท่านไปก่อน คือหมายความว่า..นิมนต์ท่านไปก่อน แล้วส่วนท่านพระสารีบุตรนี่ก็จะไปตาม โดยจะไปชวนเพื่อนก่อน เพราะเพื่อนที่สนิทกันมากก็คือท่านพระโมคคัลลานะที่สนิทกันมาก..ก็จะไปชวน เพราะได้สัญญากันไว้ว่าถ้าใครพบอะไรที่เป็นสัจธรรมต้องมาบอกกัน เพราะฉะนั้นก็กลับไป นี่ที่พูดอันนี้ โยงกลับไปถึงนะที่พูดค้างไว้เมื่อกี้เรื่องอะไร โยงกลับไปได้ไหมว่าพูดค้างไว้เมื่อกี้เรื่องอะไร ที่บอกเป็นหลักที่พุทธเจ้าท่านทรงสอนคืออะไร อิทัปปัจจยตา ว่าอย่างไรคะ ทุกอย่างในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ ต้องมีเหตุปัจจัยทั้งสิ้น ต้องมีเหตุปัจจัยที่เกิด
เพราะฉะนั้นเมื่ออะไรเกิดขึ้น การปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา หรือแก้ปัญหาด้วยวิธีของพระพุทธศาสนา ท่านจึงทรงสอนว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นนะคะ..จงดูที่เหตุทันที พูดง่ายๆ คือสาวไปหาเหตุ บางทีเหตุอันนี้คลับคล้ายคลับคลา..แต่ยังไม่ใช่จริง สาวไปอีกๆ จนพบเหตุ ต้นเหตุจริงๆ แล้วแก้ที่เหตุนั้น คือถ้าเราแก้ที่เหตุนั้น เหตุนั้นดับ ความทุกข์ปัญหาก็หมดไป ก็ดับด้วย เพราะฉะนั้น นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านทรงพบก็คือ ทรงพบ..กฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งเราจะเรียกง่ายๆ ว่า..กฎแห่งเหตุและผล ถ้าแปลตามตัวท่านบอกว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี ก็หมายความว่าอะไร สิ่งนี้มี ที่จริงท่านไม่ได้พูดสิ่งเดียวนะ แต่ตัวเองเห็นมันยาวก็เลยย่อเหลือสิ่งเดียว ท่านพูดเต็มว่า เมื่อสิ่งนี้ สิ่งนี้มี สิ่งนี้ สิ่งนี้จึงมี นี่คือหมายความว่าอะไร ถ้าสิ่งนี้ สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ สิ่งนี้ก็ไม่มี ก็คือแสดงอะไรละคะ แสดงอะไร สิ่งที่ไม่มีนี่มันมาจากอะไร คือสิ่งที่มีมันก็มาจากอะไร มาจากอะไร มันมีเองเหรอคะ มันไม่ได้มีเอง มันมาจากอะไร มาจากเหตุนะ สิ่งนี้..สิ่งนี้มี สิ่งนี้..สิ่งนี้จึงมี พูดง่ายๆ ว่า ทำเหตุอะไรมันต้องมีผลทั้งนั้น เพราะฉะนั้นพอผลเกิดขึ้นถ้าดีใจก็ลิงโลด บางทีคนอื่นเขาทำทิ้งเอาไว้ก็รวบมาว่าฉันทำเอง เอามาเป็นของเราหมด..ถ้าดีนะ แต่พอไม่ดีเข้า..โกรธ ใครนะมันแกล้งเรา มันอย่างนั้นมันอย่างนี้ โดยไม่ไปสาวหาเหตุ นี่ไงคะท่านจึงแสดงว่า กฎของธรรมชาตินี่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างต้องมาจากเหตุ คือสิ่งที่มีนี่มาจากเหตุ ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากว่าสิ่งนี้..สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้..สิ่งนี้ก็ไม่มี ก็หมายความว่า ถ้าเหตุนั้นดับ ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็ดับไปด้วย นี่แหละคือเรื่องของทางพุทธศาสนา ฉะนั้นถ้าหากว่าอะไรเกิดขึ้นต้องสาวหาเหตุ แล้วก็แก้ไขเหตุนั้น หรือดับเหตุนั้นเสีย และนี่ถ้ามามองดูในอริยสัจ ๔ ที่ท่านทรงสอน ท่านก็ทรงสอนถึงเรื่องความทุกข์ แล้วก็เหตุของทุกข์ ท่านจึงสอนให้หาเหตุของทุกข์ แล้วก็ดับเหตุของทุกข์นั้นเสีย เหตุของทุกข์คือตัณหาก็ดับเหตุของทุกข์ คือดับตัณหาเสีย อย่าเป็นคนอยากให้มากเกินไป แล้วความทุกข์ก็จะไม่มี หรือมีก็น้อยลง
ฉะนั้น นี่เป็นหลักของพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงพบด้วยพระองค์เอง ในขณะที่ทรงแสวงหาสัจธรรมอยู่ในป่าเป็นเวลา ๖ ปี และในขณะเดียวกันก็ได้ตรัสถึงเรื่องของกฎไตรลักษณ์ ลักษณะอันเป็นธรรมดา ๓ ประการ คือหมายความว่าอย่างไร มีอะไรบ้าง ๓ ประการ อนิจจัง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง แปรปรวน อยู่เป็นนิจ เห็นไหม เห็นหรือยังว่าทุกอย่างนี่เปลี่ยนแปลง แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างเลยไม่ว่าของเล็กของใหญ่..เห็นไหม? ในชีวิตเรานี่ทุกอย่างตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่าตัวเราเดี๋ยวนี้..คงที่ไหม? คงที่ไหมคะ ตั้งแต่เกิดมาจนเดี๋ยวนี้ใครคงที่บ้าง พอออกจากท้องคุณแม่ก็อย่างนี้ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ก็ไม่ใช่นะ..ใช่ไหม มันก็เปลี่ยนมาเรื่อยตามลำดับๆ นี่แหละคือเอาให้ชัดๆ ก็คือตัวเรา แล้วก็รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ที่เราผ่านมาหรือที่เรามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนอื่น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสังคม..ไม่มีอะไรคงที่ มันเปลี่ยนมาตลอดเลย แต่ว่ามันไม่ได้เปลี่ยนเอง ไม่ได้อยู่ดีๆ เปลี่ยน มันมีอะไร มีเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนี่นะคะ..ให้ทำความเข้าใจอย่างนี้ เหตุนี่คือเหตุใหญ่ ต้นเหตุใหญ่ เราจะเรียกว่าเหตุ ทีนี้ในเหตุนี่มันก็แยกออกไปได้หลายปัจจัย คือรายละเอียดของเหตุ เหมือนอย่างเป็นต้นว่าเหตุของความทุกข์นี่คือตัณหา ความอยาก นี่เป็นตัวเหตุ แต่มาแจกแจงปัจจัยที่เกี่ยวกับความอยาก นับถ้วนไหม? นับไม่ถ้วน นี่เราแยกออกมา เดี๋ยวก็อยากรัก เดี๋ยวก็อยากโกรธ เดี๋ยวก็อยากได้เงิน เดี๋ยวก็อยากได้ตำแหน่ง เดี๋ยวก็อยากได้หน้าได้ตา นี่แหละมันเป็นปัจจัย ปัจจัยมันเยอะ มันหลายอย่าง
แล้วก็ดูในเรื่องชีวิตของเรานะ ก็ลองเอามาแจกแจงดูเอง เราก็จะพบ ฉะนั้นให้เข้าใจความหมายนะคะ ถ้าพูดถึงเหตุนี่คือเหตุใหญ่ และในเหตุใหญ่นั้นก็มีแยกออกเป็นปัจจัยนั้นปัจจัยนี้นับไม่ถ้วน แต่ละเรื่องๆ ถ้ามาเรียงกันแล้วเราก็ โอ้โห..เป็นพันเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านกระมัง แต่ละคนละคนนี่นะ เพราะมันหยุดกันไม่ได้ ฉะนั้นอันนี้ก็บอกว่า นี่ยกตัวอย่างอันนี้นะคะที่จะแสดงถึงเหตุปัจจัย ทีนี้เหตุปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้น ตัณหา ตัณหาความอยาก พูดนี้ง้ายง่าย พูดนี่จบแล้ว ถ้าพอพูดเสร็จทำตามได้ บรรลุกันหมดเลย ที่นั่งอยู่นี่บรรลุกันหมดทุกคน แต่ถ้าเอาไปคิดนะ เอาไปคิดใคร่ครวญทุกวันทุกเวลาอยู่เสมอ เพราะอยากนะมันจึงทุกข์ พอมันทุกข์ขึ้นมามันไม่ไรนะ มันทุกข์ มันขัดเคือง มันไม่สบาย มันเจ็บปวด รวดร้าว ขมขื่น อะไรก็ตามที พอนึก พอมันเป็นขึ้นมามันรู้สึกขึ้นมา โธ่..นี่เพราะอยากนะๆ พอเราบอกว่าเพราะอยากเท่านั้นนะ มันได้สติรึเปล่า สติเกิดขึ้นใช่ไหม มันเตือนตัวเอง มันจะค่อยๆ ลดความอยากที่มีอยู่นี่ ให้ลดลง เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกว่าในพุทธศาสนานี่ อะไรเกิดขึ้นสาวหาเหตุ พบเหตุแล้วดับเหตุนะ นี่พระอัสสชิท่านแสดงสั้นๆ แค่นี้ ท่านพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม คือตกกระแสเป็นพระโสดาบัน มีแต่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามี จนถึงพระอรหันต์ แล้วก็กฎของไตรลักษณ์นี่ก็ที่บอกว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เปลี่ยนแปลงเอง นี่ถ้าหากว่าใครดูหลักอันนี้นะ อ้อ..มันไม่มีอะไรคงที่ มันเปลี่ยนแปลงแปรปรวนตลอดเวลา แล้วก็ต่อด้วยตามเหตุตามปัจจัย ถ้าหากว่าใครมีหลักอย่างนี้ จะเที่ยวเพ่งโทษคนอื่นไหม นึกดูสินี่หยุดการเพ่งโทษเลยใช่ไหม
การเพ่งโทษนี่ทำให้เกิดนิวรณ์ใช่ไหม? เราได้เคยพูดกันแล้ว นี่แหละเพราะเพ่งโทษคนนั้น เพ่งโทษคนนี้ เพ่งโทษคนโน้น มันก็มากรุ่นอยู่ในใจ แล้วพอเพ่งโทษเข้านี่มันจะไปอยู่ในนิวรณ์ตัวไหนคะ ๕ ตัวนะ พยาบาท โดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ฉันเป็นคนใจดีมีเมตตานี่แหละ แต่ก็พยาบาทเขาโดยไม่รู้ตัว เพราะสติมาไม่ทัน เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราดูหลักอย่างนี้เสมอ อ้อ..อะไรที่มันเกิดขึ้นมันเปลี่ยนแปลงไป เพราะเหตุปัจจัยมันเป็นอย่างนี้ ก็พยายามแก้ไขที่เหตุปัจจัยนั้น เพื่อให้มันเป็นเหตุปัจจัยที่ถูกต้องเสีย มันจะได้ไม่ต้องเกิดทุกข์ แล้วก็ไม่ต้องเพ่งโทษใคร เพราะไม่ต้องเพ่งโทษใครเท่านั้นนะ จิตใจก็สบาย สมองก็คงแจ่มใส ก็จะคิดอะไรๆ ได้ตลอด เพราะฉะนั้นคนที่ชอบเพ่งโทษคนอื่นนี่ อะไรก็เพราะเขานะ เขาทั้งนั้น ทำไอ้นั่นผิด ทำไอ้นี่ผิด ทำไอ้โน่นผิด ฉันนี่ทำถูกอย่างเดียว คนดีอย่างเดียวนี่ อันนี้แล้วใครทุกข์ละ คนที่ทำถูกคนเดียวนี่แหละทุกข์ ไม่ใช่คนที่ทำผิดแล้วก็ทุกข์ อันนี้ต้องระมัดระวัง ถ้าหากว่าเราจะมองไปเห็นว่า อ้อ..เพราะคนนั้นเพราะคนนี้ แต่ถ้าเราไม่ดูเหตุปัจจัย ความทุกข์จะเกิดขึ้น แต่ถ้าดูเหตุปัจจัย แก้ได้ หรือมาปรึกษาหารือกัน พูดกันก็แก้ไขได้ ความทุกข์อันนั้นก็จะหายไป ทีนี้ในไตรลักษณ์อันแรกก็คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง แปรปรวนเปลี่ยนไป ตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น มันก็แสดงให้เห็นทุกขัง ทุกขังของไตรลักษณ์ก็คือ ตั้งอยู่ไม่ได้ ดำรงอยู่ไม่ได้ เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลง มันเป็นกฎธรรมชาติ เมื่อมันเปลี่ยนแล้วมันจะดำรงอยู่ได้อย่างไรละ มันก็ต้องลับหายไปละ มันตั้งอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อมันตั้งอยู่ไม่ได้ มันก็แสดงไปถึงอนัตตา นี่แหละ..ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน เรียกว่าพุทธศาสนานี้แตกต่างจากคำสอนในศาสนาอื่นก็ตรงอนัตตานี่
เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้ก็บางศาสนาที่มาอ้าง เขาก็จะอ้างว่าเอาอนัตตานี่ไป มันเป็นของเขาสอน เราก็ไม่ว่าเราก็ดีใจนะ ถ้าหากว่าใครสอนเรื่องอนัตตากันมากๆ เป็นอย่างไร โลกนี้ก็จะลดความเห็นแก่ตัว เพราะอนัตตานี่มันแสดงถึงความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีตัวตนให้ยึดมั่นถือมั่น มันเป็นแต่เพียงสิ่งสมมุติที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยใช่ไหมคะ เราทุกคนที่นั่งอยู่นี่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยใช่เปล่า ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่อยู่ดีๆ เกิดขึ้นเอง เราเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นอันนี้คือกฎสูงสุด หรือว่าเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน นี่ก็ไม่ได้ตั้งใจจะพูดถึงเรื่องของไตรลักษณ์ แต่ก็พูดเอาไว้อย่างนี้ดี บ่อยๆ จะได้จำหน่อย แล้วจะได้รู้สึกติดใจขึ้นมาในใจ โอย..ไม่มีอะไรเที่ยงนะ ไม่มีอะไรเที่ยง ถ้าพอเตือนอย่างนี้เท่านั้นนะจิตจะรู้สึกอย่างไร รู้สึกอย่างไร รู้สึกอย่างไรคะ สิ่งที่กอดรัดไว้เหนียวแน่นนี่จะเป็นอย่างไร คลาย ค่อยๆ ปล่อย แต่ไม่ได้ทิ้งนะคะ คำว่าปล่อยนี่ ไม่ได้ทิ้ง เป็นลูกเป็นหลาน เป็นทรัพย์สมบัติ การงานอะไรของเรา เราก็ยังคงทำต่อไป โปรดเข้าใจให้ถูกต้อง คนที่เข้าใจไม่ถูกต้องนะกลัวจะหมดตัว หมดตัวอย่างทางโลก ไม่ใช่หมดตัวอย่างทางธรรม กลัวจะหมดตัว ไม่หมด อะไรมีก็มีอยู่ อะไรเป็นก็เป็นอยู่ แต่ตอนนี้จะมีอย่างทุกข์หรือไม่ทุกข์ ยังไม่ต้องทุกข์เพราะมันคลาย มันปล่อย มันไม่เอา
หรือจะเป็นอะไรอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม ก็ยังเป็นอยู่ แต่เป็นอย่างไม่เป็นทุกข์อีกเหมือนกัน เพราะไม่ได้ยึดว่า..นี่ชั้นเป็นผู้อำนวยการนะ ผู้อำนวยการสั่งอย่างไรต้องเป็นอย่างอย่างนั้น หากมันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นยอมไม่ได้ เอาเป็นเอาตายเลย ใครทุกข์อีกละ ก็ผู้อำนวยการนั่นแหละทุกข์ ไม่ใช่คนอื่นทุกข์..ใช่ไหม คนอื่นเขาก็ทุกข์เหมือนกันแหละ แต่ถ้าว่าที่ทุกข์มากนี่ คือผู้อำนวยการนี่เอง ฉะนั้นอันนี้ถ้าหากว่ามองเห็นกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนแล้วละก็ จิตใจก็จะเยือกเย็นผ่องใส จะผ่อนคลาย คลายจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทาน คือต้นเหตุของความทุกข์ จำให้แม่นนะ ที่เราพูดกันนี่พูดหลักของพระพุทธศาสนาทั้งนั้นนะ ไม่ใช่พูดเรื่องตื้นๆ นะ ถ้าจะว่าไป เราพูดเรื่องลึกที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอน เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา แต่ว่าพูดด้วยคำง่ายๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ไม่ได้เอาภาษาบาลีมาพูดให้ฟัง ถ้าเอาภาษาบาลีมาพูดให้ฟังอาจจะฟังดูขลัง แหม..คุณแม่พูดขลังดี แต่ว่าไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องว่าคุณแม่พูดอะไร เพราะฉะนั้นไม่เอาขลังดีกว่า เอาเข้าใจ เอาพูดกันเข้าใจง่ายๆ แต่นี่คือแก่นของพระพุทธศาสนา ฉะนั้นเมื่อกี้ก็พูดถึงว่าถ้าเราอยากจะลดสมาธิสั้นให้ลดลงนะ เราควรจะชวนกันพาลูกหลานเข้าสู่ธรรมชาติให้มากๆ พาไปเที่ยวป่า เที่ยวน้ำ เที่ยวเขา เที่ยวทะเล แต่ไม่ใช่ไปเที่ยวเพื่อบวชกันอย่างที่เขาไปนะคะ ไปเที่ยวเพื่อจะศึกษาธรรมชาติ แล้วธรรมชาติให้อะไรกับเราบ้าง แล้วก็ไปเอาความเย็นของธรรมชาติ อย่างเราที่อยู่วัดนี่เราโชคดี..จริงไหม? เราโชคดี..เราได้อยู่กับความเย็น อยู่กับป่าอยู่กับต้นไม้ อยู่กับหินกับดินกับทรายตลอดเวลา เราโชคดี วันนี้ออกไปในเมืองกับคุณเลี้ยงนี่ ยังพูดกับคุณเลี้ยงว่า แหม..เรานี่อยู่ในสวรรค์จริงๆ นะ ที่เราอยู่ในวัดเราอยู่ในสวรรค์ พอเราออกเข้าไปในเมืองเท่านั้น อืม..มันครึ่งนรกเลย เราก็เลยเห็นใจคนที่เขาอยู่ในเมืองตลอดเวลานี่ เขาต้องร้อนดิ้นรนเพียงใด เพราะว่าภาวะสังคมมันบีบคั้น ฉะนั้นถ้าเราจะแก้ไขได้นี่ เราควรจะต้องชวนกันเข้าหาธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติให้มากขึ้น ก็ไม่อธิบายนะคะไม่ต้องแจกแจง นึกเอาเอง
แล้วก็อยากจะเสนอสักอย่างหนึ่งว่า ลองฝึกลูกหลานหรือลูกศิษย์หรือคนที่เราคุ้นเคยนี่ ให้เขารู้จักทำอะไรๆ อย่างแช่มช้า เข้าใจความหมายของคำว่าแช่มช้าไหม แช่มช้ากับเชื่องช้าเหมือนกันไหมคะ ลองคิดดูสิเหมือนกันไหม? แสดงว่ายังไม่แน่ใจ ถึงบอกว่าไม่น่าจะเหมือน ถ้าแน่ใจก็ตอบมาได้ทันทีเลยว่า..ไม่เหมือนค่ะ ..เชื่องช้านี่เข้าใจว่าทำได้ดี.. แน่นอน เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่า ชวนกัน..ชวนกันให้รู้จักทำอะไรอย่างแช่มช้า หมายความว่าอะไร แช่มช้า ลองอธิบายสิแช่มช้าเป็นอย่างไร..อาการแช่มช้านี่..คะ แช่มนี่เป็นอย่างไร แช่ม..แช่มเป็นอย่างไร แช่มชื่น แช่มนี่มันนำไปสู่ความแช่มชื่น แช่มชื่นเบิกบาน แต่ว่าไม่ต้องรีบร้อนลุกลน ลุกลนเป็นอย่างไร เคยเห็นคนลุกลนไหม หลกๆๆๆๆๆ โอย..นั่นแกจะ..เขาเรียกว่าไฟจุดก้นใช่ไหม ตามมานั่นนะ นั่นแกจะไปไหนของแก นั่นนะ..มันดีไหมละ มันก็ไม่ดีนะใช่ไหม แต่แช่มช้านี่มันเรียบร้อย ราบรื่น ผ่องใส ชื่นบาน อยู่ในการกระทำนั้น แล้วก็ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยจนเหลือเกินด้วย พูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องวิ่งซ้ายวิ่งขวา วิ่งหัวถลาออกไปข้างหน้าข้างหลัง อะไรอย่างนี้ไม่ต้อง เพราะฉะนั้นฝึกให้แช่มช้า ลูกหลานหรือว่าลูกศิษย์ หรือว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครองอะไรของเรานี่ก็แล้วแต่ มันจะช่วยได้มากเลย เพราะฉะนั้นคำว่าเร็วๆ แล้วก็อยู่กับน้ำเสียงด้วยนะ ถ้าบอกเร็วๆ หน่อยสิลูก ค่อยยังช่วยนิดหนึ่ง ถ้าบอก..นี่เร็วๆ หน่อยสิเธอ ตอนนี้ก็จะเป็นลูกหรือเป็นหลานหรือเป็นใครก็แล้วแต่ ในอกนี่มันตึกๆๆๆ ใช่ไหม มันตึกๆๆ ละ เพราะฉะนั้นนี่ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ จะเป็นพ่อแม่เป็นผู้ปกครองเป็นครูบาอาจารย์ หรือจะเป็นปู่ย่าตายายอะไรก็ตาม ถ้ารู้จักใช้ถ้อยคำที่จะ..เขาเรียกว่าลด stream เหรอ ลด stream ของความเร็วนะ ความลุกลน ความเร่งร้อนนี่ลง มันก็จะไปช่วยผ่อนคลายโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ ทำอย่างไรถึงจะฝึกได้อีกสักอย่างหนึ่งว่า ให้เขารู้คุณค่าของการฟัง พูดอย่างนี้เข้าใจไหมคะ ให้รู้คุณค่าของการฟัง นี่อย่าคิดว่าไม่ได้พูดธรรมะนะ นี่พูดธรรมะ รู้คุณค่าของการฟัง สังเกตไหมในสังคมทุกวันนี้นะคะ มีคนพูดมากหรือคนฟังมาก นี่แย่งกันพูดอย่างเดียวใช่ไหมคะ แย่งกันพูด จะหาคนฟังยาก ทำไมละคะ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นละ คนที่ฟังไม่เป็นนี่เป็นคนที่เป็นอย่างไร คนที่ฟังไม่เป็น ก็ถูกนะไม่อยากฟังอย่างนี้ก็ถูก แต่ทีนี้ที่ฟังไม่เป็นเพราะอะไร อย่างนั้นก็ถูกอีกเหมือนกัน ก็เขาไม่ฟังนะ..เขาจะมาคิดพิจารณาได้อย่างไร..ใช่ไหมคะ เขาไม่ฟัง..เขาก็เลยไม่รู้ว่าเนื้อความที่พูดนี่มันอะไร เพราะฉะนั้นจะเอามาคิดพิจารณาก็ไม่คิด อย่างนั้นคนที่ไม่ฟังนี่คือคนที่ขาดอะไร เราพูดกันแล้วเมื่อคราวที่แล้ว ขาดอะไร ขาดธรรมะข้อไหน นึกออกไหมคะ เราพูดกันไว้คราวที่แล้วว่าขาดอะไร ถึงอาจารย์หยกไม่ได้มาก็ตอบได้ ขาดอะไรคะ จำได้ไหม ขาดขันติใช่เปล่า นึกออกไหม..ขันติ อย่างที่ชอบพูดกันนะ มานั่งสมาธิ แต่ไม่ได้อะไร แต่อย่างน้อยก็ได้ขันติ คืออุตส่าห์ทนนั่ง ทนนั่งไปเถอะ ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง แต่ว่าไปไหนก็ไม่รู้ จิตนะไปไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้เป็นสมาธิเลย เพราะฉะนั้นในเรื่องฟังนี่ก็เหมือนกันแหละ ถ้าหากว่าไม่รู้คุณค่าของการฟัง ฟังไม่เป็น ฟังไม่ได้ ก็เพราะขาดขันติ แล้วแน่นอนสิ่งที่อยู่เบื้องหลังอันนี้คืออะไร ที่มันผลักออกมาว่า..ฟังไม่ได้ ฉันต้องพูด คืออะไร นึกออกไหม ธรรมะละ คืออะไร อัตตา ไม่ต้องหรือเปล่าละ ใช่ ก็คืออัตตานะสิ อัตตาที่มันซ่อนอยู่ เพราะว่าการพูดนี่ มองเผินๆ มันเด่นกว่าการฟังใช่ไหม การพูดมันเด่นกว่าการฟัง มันดูว่าเป็นคนเก่ง คนฉลาด คนอะไรก็แล้วแต่ จะไปนึกเถอะ เพราะอย่างนั้นคนก็เลยแย่งกันพูด ทั้งๆ ที่บางคนพูดแล้วเราอยากบอกว่า หยุดที ลงไปเสียทีเถอะ ให้คนอื่นเขาพูดแทน อะไรอย่างนี้ แต่เขาก็คิดว่าเขาพูดเก่ง เขาพูดน่าฟัง เพราะอัตตา อัตตาคือความมีตัวตนที่ซ่อนอยู่ข้างใน ที่อยากจะอวด อยากจะเก่งว่าฉันเป็นคนเก่งเท่ากัน เพราะอย่างนั้นฟังไม่ได้ ฉะนั้นในโลกนี้พูดคำว่าในโลกก็ได้ไม่เฉพาะในสังคม คนพูดมากกว่าคนฟัง
ที่จริงก็ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือแล้ว ได้อ่านในเรื่องของสิทธารถะ ได้เขียนในหัวข้อว่า วาสุเทพผู้รู้จักฟัง อันนี้เขียนอยู่ในหนังสือชีวภาพชีวิตจากนวนิยาย เพราะอะไร เพราะว่าใครๆ ก็อยากพูด แล้ววาสุเทพนี่ก็เป็นคนแจวเรือจ้าง คนแจวเรือจ้างรับข้ามฟากจากฟากนี้ไปฟากโน้น แต่ใครๆ ก็อยากลงเรือของวาสุเทพ เพราะว่าพอลงเรือของวาสุเทพแล้วนี่ นอกจากว่าเขาจะแจวเรืออย่างนุ่ม นิ่มนวล นั่งสบายอะไรต่างๆ แล้ว พอใครลงเรือก็มีอะไรอยู่ในอกนั่นนะจะระบายๆๆ ออกไป วาสุเทพก็ฟังอย่างสบายๆ นะ ด้วยความแช่มชื่นเบิกบาน แล้วถ้าตอนใดที่เขาควรจะเสนอแนะหรือให้ข้อคิดอะไรบ้าง เขาก็จะพูด แต่เขาจะไม่แย่งพูดเลย แล้วเขาก็จะปล่อยให้ผู้พูดนี่พูดระบายจนกระทั่งพอใจ แล้วก็ถึงฝั่งก็ขึ้นเรือไป แค่นี้ก็พอใจแล้ว เพราะอะไร เพราะที่มันอัดอยู่ในอกนะมันทิ้งไว้ในเรือ ทิ้งไว้ให้วาสุเทพ วาสุเทพเขาก็ไม่ได้รับหรอกคือเขาฟังแล้วเขาก็ปล่อย นี่เขาเป็นคนที่ .. คือพออ่านหนังสือเรื่องนี้แล้วก็ แหม..ติดใจ ที่จริงคนที่เป็นพระเอกนี่คือสิทธารถะ นั่นเป็นพระเอกเก่งหมดทุกอย่าง แต่ก็ไม่ติดใจ ไปติดใจวาสุเทพ เพราะวาสุเทพรู้จักฟัง แล้วก็ฟังอย่างฉลาดนะ ไม่ใช่ฟังอย่างคนโง่ เขารู้ว่าคนที่เล่านี่เล่าเรื่องอะไร แล้วเขาจะสอดแทรกเมื่อไหร่ เขาจะแนะนำเมื่อไหร่ จะพูดอะไรเมื่อไหร่ มันถูกต้องเหมาะเจาะ มีเหตุมีผล เพราะฉะนั้นผู้ที่ลงเรือจ้างก็ไม่ใช่คนไม่รู้ประสีประสา ไม่ใช่คนโง่คนเง่า ก็เป็นคนที่มีความรู้ คนฉลาดเยอะแยะนี่ แต่ว่าเขาก็ยอมรับฟัง จนกระทั่งนายสิทธารถะเองนี่ ที่เป็นพระเอกเก่งนักหนา ผลที่สุดมาตกอยู่ในเรือของวาสุเทพนี่ คือตัวเองก็ แหม..จากความเก่งความวิเศษอะไรต่ออะไรต่างๆ บรรลุความสำเร็จจนนับไม่ถ้วน ผลที่สุดก็ความสำเร็จอะไรเหล่านั้นในทางโลก ไม่ได้ช่วยให้มีความสุข วันหนึ่งก็ไม่รู้จะไปไหนจะทำอย่างไรกับชีวิต ก็มาลงเรือของวาสุเทพนี่แหละ พอลงเรือก็เล่าอะไรต่ออะไรๆ ไป วาสุเทพก็พูดอย่างน่าฟัง อย่างที่เขาเคยพูด แล้วเขาก็รู้ว่าสิทธารถะนี่มีจิตใจที่พร้อมที่จะรับฟังต่อไป แล้วก็เป็นจิตใจที่พร้อมที่จะซึมซับกับสิ่งที่เป็นความสงบความเย็น เขาก็บอกว่าถ้าหากว่าไม่มีที่พักที่ไหนอะไรอย่างนี้จะไปอยู่กับเขาก็ได้ ผลที่สุดนายสิทธารถะก็เลยไปอยู่กับวาสุเทพ แล้วก็ช่วยแจวเรือจ้างผลัดกัน มาเป็นคนแจวเรือจ้าง แล้วก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ เรียนรู้ความแช่มช้านี่แหละ แช่มช้าอย่างแช่มชื่นอย่างผ่องใสอย่างมีความสุข และผลที่สุดวันหนึ่งจิตของเขาก็เข้าถึงความสงบได้จริง
นี่ก็พูดเพื่อที่จะบอกว่าคุณค่าของการฟังนี่มันมหาศาล แล้วเคยสังเกตบ้างไหมคะว่า คนบางคนนี่แม้มีคนอยากไปหาเขามากจัง เขาก็ไม่ใช่คนมีหน้ามีตามีอะไรหรอก แต่ใครๆ ก็อยากจะไปหาคุณ ก อยากจะไปหาคุณ ก เคยได้สังเกตไหม ว่าคุณ ก นั้นเป็นอย่างไร หรือไม่เคยพบ เพราะเขาเป็นอย่างไร เขาเป็นคนรู้จักฟัง เขาช่างฟัง เพราะฉะนั้นการฟังนี่บางทีเป็นการให้กำลังใจใช่ไหมคะ นอกจากว่าจะยอมรับเป็นบ่อขยะ รับขยะที่เขาเททิ้งๆๆๆ เอาไว้จากไหนก็แล้วแต่ แต่ในขณะเดียวกันให้กำลังใจ แล้วเขาก็จะรู้สึกว่าในโลกนี้ยังมีคนเห็นใจนะ ยังมีคนมีน้ำใจ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นที่รู้จักฟังนี่จะเป็นคนที่มีคนรักมาก คนชอบมาก ถึงแม้ไม่เด่นไม่ดัง ไม่มีชื่อมีเสียง เพราะเขาได้ทำบุญอย่างหนึ่งเหมือนกัน การฟังนี่คือการทำบุญ อย่าไปเบื่อหน่าย ยกเว้นว่าถ้ามันเกินเหตุเราก็หาหนทางค่อยๆ ตัดอย่างชนิดที่ไม่ให้มันเด็ดขาดเกินไป ก็ต้องใช้ศิลปะของการตัด นี่ก็พูดถึงเรื่องของสมาธิสั้น เพื่อจะชี้ให้เห็นว่ามันมีโทษทุกข์แค่ไหน โทษทุกข์เกิดขึ้นกับเจ้าตัวเอง โทษทุกข์เกิดขึ้นแก่พ่อแม่ พี่น้อง ครูบาอาจารย์ โทษทุกข์เกิดขึ้นแก่สังคม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีคนที่มีสมาธิสั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ ในสังคมนั้น หรือในชุมชนนั้นเป็นของแน่นอน เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้เราจึงควรมาพูดถึงเรื่องของสมาธิภาวนาของพระพุทธเจ้า..ใช่ไหมคะ เพราะอะไร เราถึงควรมาพูดสมาธิภาวนาของพระพุทธเจ้า เพราะอะไร เพราะสมาธิจะได้ยืดยาวออกไป สมาธิจะได้ไม่สั้น จะได้มีสมาธิที่เย็นนิ่ง
เพราะว่าลักษณะของจิตที่เป็นสมาธิ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะ มีคุณลักษณะ ๓ อย่าง บางท่านอาจจะทราบแล้ว ๑ ปริสุทโธ..คืออะไร คืออะไร ปริสุทโธ พอจะเดาได้ใช่ไหม บริสุทธิ์ จิตนั้น..จิตที่เป็นสมาธิ มีความบริสุทธิ์ บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีไฝฝ้าราคี ไม่ถึงขนาดนั้นหรอกนะ แต่ไฝฝ้าราคีที่พูดถึงนี่หมายถึงอะไร หมายถึงอะไร ตัวร้ายที่เราพูดกันมาตั้ง ๒ ครั้ง ๓ ครั้งนี่ คืออะไร โธ่..พูดย้ำแล้วย้ำอีกว่า คืออะไร เมื่อคราวที่แล้วก็พูดตลอดเลย นิวรณ์ นั่นแหละ นี่แหละตัวร้าย มันเป็นโจรฉกรรจ์นะนิวรณ์นี่ มันจะขโมยความสำเร็จ ความตั้งใจ อุดมคติในชีวิตอะไรมันมาบดบังหมด มันจะไม่ให้ได้สำเร็จได้ มันจะเป็นตัวอุปสรรคที่มาขัดขวางความสำเร็จทุกอย่างทุกประการ ทั้งที่เป็นในทางธรรมและทั้งที่เป็นในทางโลก เพราะฉะนั้นที่บอกว่าบริสุทธิ์นี่อย่างน้อยต้องบริสุทธิ์จากนิวรณ์ ในขณะนั้นนิวรณ์ไม่รบกวน ไม่ใช่มันหมดเกลี้ยง แต่ในขณะที่จิตเป็นสมาธิที่สามารถฝึกปฏิบัติได้ จนกระทั่งเป็นสมาธินี่ มันจะมีปริสุทโธ คือความบริสุทธิ์
แล้วก็อันที่ ๒ สมาหิโต สมาหิโตก็คือตั้งมั่น คือจิตนั้นจะตั้งมั่น มั่นคง หนักแน่น เข้มแข็ง แกร่งกล้าละว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่หวั่นไหวไม่คลอนแคลน เรียกว่าอาจจะบอกว่าเป็นจิตที่ถ้าหากว่าเป็นสมาธิมากจริงๆ อาจจะเป็นจิตที่มีความแข็งเหมือนกับภูเขาก็ได้ เหมือนกับหินผาว่าอย่างนั้นเถอะ เพราะอย่างนั้นสมาหิโตนี่ เป็นสิ่งที่พอบริสุทธิ์แล้ว ก็เกิดสมาหิโตคือความตั้งมั่นโดยอัตโนมัตินะตามมา อันที่ ๓ ก็คือ กัมมนีโย กัมมนีโยก็หมายความว่า คล่องแคล่วว่องไวในการทำงาน ถ้าหากว่าเป็นการกำลังปฏิบัติสมาธิอยู่ก็จะคล่องแคล่วว่องไวในการที่จะใช้พื้นของจิตที่กำลังเป็นสมาธิขณะนี้ พิจารณาใคร่ครวญธรรมที่เรียกว่า วิปัสสนา เรียกว่าจะทำวิปัสสนาได้ในพื้นของจิตที่อยู่ในระดับนี้ มีทั้งปริสุทฺโธ สมาหิโต แล้วก็กัมมนีโย คือคล่องแคล่วว่องไว พร้อมที่จะทำการงานในทางจิต เรียกว่าพอจะพิจารณาไตรลักษณ์ ซึ่งต้องทิ้งไม่ได้นะเรื่องไตรลักษณ์นี่ พิจารณาไปเถิดจนตาย หรือจนบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถึงบรรลุแล้วท่านก็ยังพิจารณาอยู่นั่น เหมือนกับเป็นเครื่องเล่นของท่าน ท่านจะพิจารณาอยู่เรื่อย ทีนี้ในขณะที่จิตเป็นสมาธิ มีพร้อมทั้งความบริสุทธิ์สะอาด มีพร้อมทั้งความมั่นคง หนักแน่น เข้มแข็ง แกร่งกล้า แล้วก็มีพร้อมทั้งกัมมนีโย เจ้าตัวจะรู้เองว่าตอนนี้มันพร้อมที่จะวิปัสสนา มันจะสงบ มันจะดิ่ง มันจะว่องไว มันจะมีความเฉลียวฉลาดอะไรเกิดขึ้นนะ ในตัวเองนะ ในจิตขณะนั้น ซึ่งเจ้าตัวนี่จะรู้ พอพิจารณาไปก็จะมองเห็นชัดขึ้น จะค่อยๆ ได้สัมผัส สัมผัสกับความไม่เที่ยง คือสัมผัสกับสภาวะของความไม่เที่ยง มันจะเกิดขึ้นในใจ
เขาเรียกว่ามันจะโพลงอยู่ในใจ มันจะได้สัมผัสสภาวะอย่างนี้เอง ถ้าจะเปรียบก็อาจจะว่าเรามองเห็นแมวสักตัวหนึ่ง แหม..ขนมันนุ่มสวย ถ้าหากว่าเราได้ลูบมันลูบขนมันสักหน่อยมันคงนุ่มจริงๆ นะ แล้วเราก็ได้ลูบมัน เผอิญมันเดินมาใกล้เราก็เอามือนี้ได้ลูบขนมัน โอ..มันทั้งนุ่ม ทั้งละเอียด น่าจับ จับต้องแล้วมันเพลิน..นี่อุปมา อุปมาให้ฟังว่า การที่ว่าจิตจะสัมผัสนี่กับสภาวะของความไม่เที่ยงก็ดี หรือความตั้งอยู่ไม่ได้ก็ดี หรือความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนที่เรียกว่าเป็นอนัตตาก็ดี สภาวะของการที่จะได้สัมผัส มันจะอยู่ในลักษณะนี้ ในลักษณะอย่างนี้ หรือความที่จะได้สัมผัสว่า โอ..ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยนะ นี่แหละจำให้แม่นค่ะ แล้วจะมีความสุขตลอดชีวิต เพราะไม่ต้องไปเพ่งโทษใคร ไม่ต้องไปทุกข์ อ้อ..มันเป็นอย่างนี้เอง นี่มันบอกตัวเอง ไม่ต้องมีใครบอก อ้อ..มันเป็นอย่างนี้เอง อ้อ..นี่มันเกิดขึ้นจากที่ได้สัมผัสจริงๆ ที่ข้างใน ไม่ใช่เพราะคิดหรือไม่ใช่เพราะไปอ่านมา ไปฟังมา รู้มา ให้รู้ท่วมหัวเท่าไหร่มันก็อยู่ในหัว แต่มันไม่เข้ามาที่จิต เพราะฉะนั้นอันนี้คือการสัมผัสเอง นี่ก็เพียงเริ่มต้นด้วยสมาธิภาวนาเท่านั้นเอง มีคำถามอะไรไหมคะ? หรือจะออกความเห็นอะไรบ้าง พูดได้ เดี๋ยวจะเบื่อฟัง มีไหมคะ อาจารย์มีหนังสือเรื่องกิเลสหรือเปล่า ที่เคยให้ไป อาจารย์ลองไปเปิดเรื่องกิเลสที่ให้ไป ในกิเลสนั่นแหละ เพราะกิเลสนี่มันคือลูกน้องของนิวรณ์ เอย..ขอโทษ..นิวรณ์นี่มันคือลูกน้องของกิเลส ในเล่มนั้นนี่ก็พูดถึงกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ มันคือสิ่งที่ทำความเศร้าหมองให้แก่จิต แต่กิเลสนี่มันแรง มันมาแล้วมันแรง มันแรงเหมือนเสือ ที่เขาเปรียบไว้ ถ้ากิเลสเกิดขึ้นนี่ มันตะปบเหมือนกับว่ามันตะปบเอาตายเลย
เพราะฉะนั้น พอกิเลสโกรธเกิดขึ้นถึงฆ่ากัน หรือว่าโลภะเกิดขึ้นถึงแย่งชิงกัน อย่างปราศจากความละอาย หรือพอโมหะเกิดขึ้นก็หลงวนเวียนๆ หยุดไม่ได้ก็เป็นบ้า นี่คือกิเลสมันแรงมาก ทีนี้บางคนก็ขัดเกลา รู้ว่ามันไม่ดีใช่ไหมคะ ก็ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความโลภ ขัดเกลาความโกรธ ขัดเกลาความหลง ให้มันเบาบางลง มันก็ไม่ออกมาแสดงข้างนอก แล้วก็มันก็ค่อยๆ เบาไป พอมีสิ่งที่เคยโกรธมากๆ ตอนนี้ก็อาจจะโกรธนิดหน่อย พอโกรธนิดหน่อยนี่มันเข้ามาเป็นนิวรณ์ในลักษณะที่เราเรียกว่าหงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ นิวรณ์นี่มันต่างกับกิเลสตรงที่ กิเลสนี่มันพุ่งๆๆๆ ขึ้นมานะคะ แต่นิวรณ์นี่มันกรุ่นๆ คำว่า..กรุ่น เข้าใจใช่ไหมคะ เหมือนกับไฟมันจะดับหรือยังไม่ดับ มีขี้เถ้าอะไรอยู่น้อยๆ นั่นนะ นั่นแหละมันก็กรุ่นๆ อยู่ นี่คือนิวรณ์ ทีนี้ถ้าสังเกตดูวันหนึ่งๆ นี่เวลาของเรานี่ของมนุษย์เรานี่หมดไปเพราะนิวรณ์ไม่น้อยเลย หมดไปนี่หมายความว่าไง ก็คือมันทำให้การงานที่ควรจะทำได้ ๑๐๐% มันอาจจะเหลือ ๕๐% บางทีอาจจะเหลือ ๒๕ บางวันทำอะไรไม่ได้เลย..เคยเป็นไหม บางวันทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งๆ ที่รู้นะมีความรู้ว่าสิ่งที่จะทำนี่คืออะไรแล้วจะทำอย่างไร ทำไม่ได้ บังคับใจตัวเองให้ทำไม่ได้ นี่ทีนี้ถ้าหากว่าได้ศึกษาธรรมมา อย่าอยู่เฉยๆ คุ้ยเข้าไปเลยข้างในใจของเรานี่ ที่ความรู้สึกนี่นิวรณ์ตัวไหนนะกำลังมากลุ้มรุมทำร้ายเราอยู่เวลานี้ คุ้ยไปดูถ้ามันมีอาการดึงเข้ามา..นี่คืออะไรจำได้ไหมคะ ถ้ามีอาการดึงเข้ามาอยู่ข้างใน นี่กำลังพูดถึงนิวรณ์ไม่ได้พูดถึงกิเลส นี่นักเรียนเก่าควรจะตอบได้หน่อยคะคืออะไรคะ กามฉันทะใช่ไหม กามฉันทะ..ความพอใจในกามารมณ์หรือกามคุณ ๕ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ไปพอใจอยู่กับอันนี้
เพราะอย่างนั้นถ้าหากว่ามันรู้สึกว่าจะดึงเข้ามา เอ..นี่เรากำลังอยากได้อะไร วิธีที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมนะคะ โปรดจำเถอะ ซักถามตัวเอง นี่เรากำลังอยากได้อะไรนะ ก็ไม่ต้องพูดดังก็ได้พูดค่อยๆ อย่างนั้นแหละไม่มีใครเขาว่าหรอก ถ้าพูดดังเดี๋ยวเขาจะว่ายายคนนี้เพี้ยนอะไรอย่างนี้ เอ..นี่กำลังอยากได้อะไร คุ้ยไปก็จะได้คำตอบว่ามันอยากได้อะไร ถ้าอยากได้อะไรเราก็พิจารณาดูสิ..ควรไหมละ สิ่งที่อยากนี่สมควรไหม ควรแก่เหตุแก่ผลไหม ถ้ามันไม่ควร มันอยากเพราะ เพราะมันอยาก ตัณหามันแรง ก็อย่าเอาสิ ต้องหักห้าม ทีนี้จะหักห้ามด้วยวิธีไหน ท่านก็แนะนำให้ไปทำสิ่งตรงกันข้าม ถ้ากามฉันทะเกิดขึ้น ท่านบอกว่าให้พิจารณาอสุภะ คือสิ่งอะไรที่มันสกปรก มันน่าขยะแขยง น่ารังเกียจ ไม่น่าดูเลย อย่างถังขยะที่เขาทิ้ง เหม็นเวลาอยู่ในครัว นึกดูสิคะ แหม..เราซื้ออะไรละ หอยปูปลามา ผักสวยๆ งามๆ ผลไม้ แล้วก็ทำอย่างดี อะไรไม่ใช่เราก็ใส่ถังขยะ พอมันเป็นขยะทั้งนั้นนะเป็นอย่างไร ใครๆ ก็รังเกียจ ไม่อยากจะเอาไปเท ไม่อยากจะจับต้อง เหม็น ทั้งๆ ที่มันของสิ่งเดียวกันนะ เราก็เป็นคนไปซื้อเสียสตางค์มา นี่เห็นไหม เห็นความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่เรามองไม่เห็น ว่านี่เป็นสิ่งธรรมดาอย่างนี้เอง เราไม่ยอมมอง ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านสอน ทีนี้ถ้าสมมุติว่ามันจะผลักออกไป ไม่เอาๆ นิวรณ์ตัวไหน พยาบาท ตัวที่ ๒ ซึ่งเป็นลูกน้องของโทสะ พยาบาท หงุดหงิด อึดอัด ขัดใจ หมั่นไส้ เขม่น ซึ่งมันก็ไม่ร้ายกาจอะไร แต่มันรบกวนเวลาใช่ไหม มันเอาเวลาของเราไป แทนที่จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ มันก็ไม่เกิด มันเสียเวลาเปล่าๆ เสียเวลาของชีวิต
ทีนี้อีก ๓ ตัว ซึ่งเป็นลูกน้องของโมหะ ๓ ตัวนี้สำคัญมาก เพราะมองไม่ค่อยเห็น ถีนมิทธะ หดหู่ เหี่ยวแห้ง เศร้าหมอง จิตตก เรียกว่าตกลงไปถึงดินเลย หรือว่าลงไปใต้ดินอีกก็มี..ถ้ามันมาก อุทธัจจกุกกุจจะ ฟุ้งเฟ้อ เพ้อฝัน ฟุ้งซ่าน ขึ้นไป..ล่องลอยไปไหนก็ไม่รู้..ดึงไม่ค่อยกลับ อันที่ ๓ ก็คือ วิจิกิจฉา ลังเลสงสัยจะทำอะไรก็ไม่แน่ใจ เหมือนอย่างเราจะให้ของใครเขาสักคน วางอยู่ตรงข้างหน้า..ให้ดีไม่ดี รอไว้ก่อน เอ..หรืออันนี้ให้คนนั้นดีกว่า เหมาะกว่า เคยเป็นไหมคะ นี่แหละวิจิกิจฉา แต่ไม่คิดใช่ไหมคะ ว่านี่คือวิจิกิจฉา นี่แหละคือสิ่งที่มันทำให้เราเสียเวลา นี่วิจิกิจฉานี่เป็นตัวร้ายที่สุด อย่างที่ได้พูดว่า ท่านจึงเปรียบวิจิกิจฉาเหมือนน้ำ..จำได้ไหม เหมือนน้ำ น้ำอะไร น้ำในที่มืด พูดดังๆ ได้ ไม่ผิด เหมือนน้ำในที่มืด เพราะฉะนั้นน้ำในที่มืดเป็นอย่างไร เรามองไม่เห็น เพราะฉะนั้นเมื่อเรามองไม่เห็นนี่ เราไม่รู้ว่าน้ำนี่ที่มืดมันมีจระเข้อยู่รึเปล่า มันมีหมาเน่าอยู่รึเปล่า หรือมีศพคนตาย หรือมีอะไรที่น่าเกลียดน่ากลัว ที่เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นวิจิกิจฉานี่ท่านจัดไปเป็นตัวร้ายมาก และมันรบกวนมนุษย์อยู่ทุกวัน ตลอดเวลาด้วย ทุกเวลาเปล่า ต้องรีบถอนตัวๆ อย่าปล่อยให้มันเข้ามาครอบงำเราได้ น่ากลัวมากเลย ก็ต้องใช้ปัญญา ใช้ปัญญาหาเหตุผล หาเหตุผลว่าวิจิกิจฉา ลังเลสงสัย ส่วนมากนี่ก็เพราะเราไม่แน่ใจ..ใช่ไหมคะ วิจิกิจฉาเกิดขึ้นเพราะไม่แน่ใจ
ไม่แน่ใจในอะไร นี่ แนะนำกันตามทางโลกๆ ก็อาจจะไม่แน่ใจในความรู้ ในประสบการณ์ ในสิ่งที่จะกระทำอันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราไม่แน่ใจ เราก็ต้องขวนขวายหาความรู้ หาประสบการณ์ จนกระทั่งเราแน่ใจว่ามันใช่ มันถูกต้อง ทีนี้เราก็จะทำโดยไม่ต้องถาม แล้วก็ไม่ต้องลังเลไปมา แล้วเสร็จแล้วเราก็จำสิ่งที่ผ่านมาแล้วเป็นบทเรียน ที่เราเคยลังเลไว้อย่างนั้นมันเป็นอย่างไร มันเสียเวลาแค่ไหน แล้วมันนอกจากเสียเวลาบางทีเป็นผลเสียหาย มาเสียดายว่า โอ..เราควรจะทำอย่างนั้นให้มันเสร็จๆ ไปแล้ว จนกระทั่งคนอื่นเขาแย่งไปทำหมดแล้ว เราเลยไม่ได้ทำอะไร อย่างนี้เป็นต้น มันเสียไปหมดหลายอย่าง ฉะนั้นวิจิกิจฉานี่เป็นตัวร้ายที่สุด อาจารย์ไปเปิดกิเลสดูเถอะ อาจารย์จะพบ แล้วนี่คนเราเสียเวลาในชีวิตเพราะนิวรณ์ แล้วถ้าใครหวังจะบรรลุธรรมนะคะ บรรลุธรรมขั้นสูงนะ ถ้าไม่ละนิวรณ์ ไม่รู้จักมัน แล้วก็ไม่ขจัดมันออกไปให้ได้ ไม่มีวัน เพราะว่าขั้นสุดท้ายนี่คือ อาสวักขยญาณ หมายความว่าจะต้องทำลายอาสวะที่เป็นกิเลสอย่างละเอียดๆ ละเอียดมาก ให้หมดไป มันจะหมดไปไม่ได้ ในเมื่อนิวรณ์มันใหญ่กว่า มันยังอยู่ เพราะอย่างนั้นนิวรณ์นี่เป็นสิ่งที่ต้องรู้จัก รู้จักแล้วก็กําจัด..ไม่ใช่เอาไว้เป็นเพื่อน มีอะไรอีกไหมคะ มีไหมอาจารย์ มีหรือเปล่า..กิเลส ถ้าไม่มีก็จะได้หาให้สักเล่ม อ้อ..รู้สึกว่าจะมี เพราะกิเลสนี้นานแล้ว ไม่ใช่ใหม่ ไม่ใช่พิมพ์ใหม่ แต่จะดูให้ อันนี้ยังไม่แจกเอาไว้ก่อน เอาไว้พูดคราวหน้า ถ้าไม่มีอะไรก็คงจะพอแค่นี้นะคะ.