แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมนั้นดังได้กล่าวแล้ว ก็คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบไว้ ว่าเห็นอย่างไรเป็นความเห็นชอบ และยังได้แสดงไว้ต่อไป ดังที่จะกล่าว ณ บัดนี้ คือภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงได้ถามท่านต่อไปว่า ยังมีอธิบายโดยปริยายคือทางอันอื่นอีกหรือไม่ ท่านพระสารีบุตรก็ได้ตอบว่ามี และก็ได้แสดงอธิบายปริยายคือทางอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ก็คือ ความรู้จักอาหาร รู้จัก อาหาระสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร รู้จัก อาหาระนิโรธ ความดับอาหาร และรู้จัก อาหาระนิโรธะคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นทางให้ถึงความดับอาหาร
คำว่า อาหาร นั้นเป็นคำที่ทุก ๆ คนก็เรียกกัน ถึงอาหารที่บริโภคเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกาย แต่ว่าคำว่าอาหารมิใช่หมายความถึงเพียงอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงอาหารอย่างอื่นอีกด้วย ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายอาหารไว้ ๔ ประการ คือ
๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
๒. ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ
๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ความจงใจ และ
๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ
คำว่า อาหาร นั้นตามศัพท์แปลว่านำมา ก็หมายถึงสิ่งที่เป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องอาศัยที่นำผลมา
ข้อที่ ๑ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว ก็หมายถึงอาหารที่บุคคลตลอดจนถึงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายบริโภค เป็นอย่างละเอียดก็มี เป็นอย่างหยาบก็มี ยกเอาคำข้าวขึ้นเป็นที่ตั้งเป็นชื่อ เพราะว่าข้าวนั้นก็ถือว่าเป็นอาหารหลักสำหรับที่จะบำรุงเลี้ยงร่างกาย ฉะนั้นจึงยกขึ้นเป็นชื่อของอาหารสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย อันหมายคลุมถึงอาหารทุกอย่างที่บริโภคสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกาย นี้คือ กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวข้อที่ ๑
ข้อที่ ๒ ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ หมายถึงอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ มาประชุมกันเรียกว่าสัมผัสหรือผัสสะ อันแปลว่ากระทบ เป็นอาหารแห่งนามธรรมทั้งหลาย คือแห่งเวทนา แห่งสัญญา แห่งสังขาร และแห่งวิญญาณเองที่เกิดสืบต่อไป กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าวข้อแรก เป็นอาหารของรูปธรรม คือร่างกายส่วนรูป ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะหรือสัมผัส เป็นอาหารของนามธรรม คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เกิดสืบเนื่องกันไป
ผัสสาหารอาหารคือผัสสะข้อที่ ๒ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า คือความประชุมของอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ โดยที่เมื่อตากับรูปประจวบกันก็ย่อมเกิดวิญญาณ คือความรู้ในรูป ที่เรียกว่าเห็นรูป อันการเห็นรูปดังที่พูดกัน ก็มักจะพูดกันว่าเห็นรูปด้วยจักษุคือตา แต่เมื่อแสดงตามทางอภิธรรม ท่านแสดงว่าเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ คือความรู้รูปทางจักษุ ตานั้นเป็นเพียงประสาทสำหรับเป็นที่อาศัยรับรูปที่มาประจวบกันเท่านั้น ถ้ายังไม่เกิดจักขุวิญญาณ การเห็นรูปก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา ก็คือรู้รูปทางตาที่เรียกกันว่าเห็นรูป เพราะฉะนั้นการเห็นรูปจึงมิใช่เห็นด้วยจักขุหรือจักษุ แต่ว่าเห็นด้วยจักษุวิญญาณ
เมื่อพูดตามธรรมดา ก็พูดว่าเห็นรูปด้วยจักษุ แต่ว่าเมื่อพูดตามทางอภิธรรม ก็จะต้องพูดว่าเห็นรูปด้วยจักษุวิญญาณ แม้ในอายตนะข้อต่อไปก็เช่นเดียวกัน หูกับเสียงมาประจวบกัน ก็เกิดโสตะวิญญาณ ได้ยินเสียง จมูกกับกลิ่นมาประจวบกัน ก็เกิดฆานะวิญญาณ รู้กลิ่นทางจมูก ลิ้นกับรสมาประจวบกัน ก็เกิดชิวหาวิญญาณ รู้รสทราบรสทางลิ้น กายกับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องมาประจวบกัน ก็เกิดกายวิญญาณ รู้สิ่งถูกต้องทางกาย
มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวมาประจวบกัน ก็เกิดมโนวิญญาณรู้เรื่องที่ใจคิดทางมโนคือใจ นี้เป็นปรกติของอายตนะภายในภายนอก และวิญญาณทางอายตนะทั้ง ๖ นี้ ซึ่งบังเกิดขึ้นเป็นปรกติแก่ทุก ๆ คน ทุก ๆ เวลา และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันจึงเรียกว่าเป็นสัมผัส ที่แปลว่าความกระทบ หรือเรียกสั้นว่าผัสสะ
และผัสสะหรือสัมผัสดังกล่าวมานี้เองเป็นอาหารของนามธรรมทั้งหลาย คือของเวทนา ของสัญญา ของสังขาร และของวิญญาณที่เกิดสืบจากสังขาร เพราะฉะนั้นตามอธิบายนี้วิญญาณจึงบังเกิดขึ้น ในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอก มาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นตามทางอายตนะ และเมื่อทั้ง ๓ มาประชุมกันเป็นสัมผัส จึงเกิดเวทนา เกิดสัญญา เกิดสังขาร แล้วก็เกิดวิญญาณสืบต่อกันไปอีก เพราะฉะนั้น วิญญาณจึงมาตรงที่ เมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน นั้นหนหนึ่ง และเมื่อมาประชุมกันเป็นสัมผัสหรือผัสสะ ก็เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร และก็เป็นวิญญาณขึ้นอีก วิญญาณก็มาบังเกิดขึ้นสืบจากสังขารอีกครั้งหนึ่ง และก็มาเป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร แล้วก็เป็นวิญญาณ แล้วก็วนกันไปอยู่ดั่งนี้ในอารมณ์ทั้งหลายที่จิตนี้รับ เริ่มมาจากทางอายตนะซึ่งเป็นฝ่ายรูป แล้วก็มาเป็นนามธรรม
เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันประกอบย่อเข้าเป็นรูปเป็นนาม รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นนาม รวมเป็นขันธ์ ๕ ย่อก็เป็นรูปเป็นนาม อันเรียกว่านามรูปนี้ จึงเป็นสิ่งที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จนเมื่อได้คลอดออกมาจึงมีความสมบูรณ์ แต่แม้เช่นนั้นก็ยังอ่อน เมื่อเติบโตขึ้นจึงเจริญขึ้นสมบูรณ์ขึ้น จนมีความสมบูรณ์เต็มที่ ดังรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ของบุคคลที่เติบโตขึ้น ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว ก็เป็นความสมบูรณ์ของขันธ์ ๕ ขึ้นมาโดยลำดับ
ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อส่วนรูปมีความสมบูรณ์ ส่วนนามก็สมบูรณ์ ดังเช่นเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย มนะคือใจสมบูรณ์ จึงรับอายตนะภายนอกต่าง ๆ ได้ฉับพลัน คล่องแคล่วว่องไว วิญญาณที่บังเกิดขึ้น สัมผัสที่บังเกิดขึ้น สืบมาถึงเวทนา สัญญา สังขาร และต่อไปวิญญาณอีก ก็สมบูรณ์ฉับพลัน
และตรงนี้ก็น่าที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า ในขันธ์ ๕ นั้นไม่จัดใส่วิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้เข้าไว้ จัดรูปเป็นที่ ๑ แล้วก็มาเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่อท้าย ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในระหว่างรูปกับเวทนาเสีย ถ้าหากว่าจะใส่ไว้ด้วยก็ไม่ใช่เป็นขันธ์ ๕ จะต้องเป็นขันธ์ ๖ ขันธ์ ๗ แต่นี่ไม่ใส่ไว้ ตัดเอาวิญญาณกับสัมผัสที่บังเกิดขึ้นในช่วงนี้ออกเสีย จึงเป็นขันธ์ ๕ แสดงวิญญาณไว้ข้างท้ายเท่านั้น
พิจารณาดูก็เพื่อสะดวกเป็นวิปัสสนาภูมิ คือเป็นภูมิแห่งวิปัสสนา คือเป็นกรรมฐานสำหรับวิปัสสนาในอันที่จะกำหนดพิจารณาให้รู้ให้เห็นได้สะดวก เพราะว่ารูปนั้นก็เป็นของหยาบ พิจารณาได้สะดวก มาเวทนาก็นับว่าเป็นนามธรรมที่หยาบ บังเกิดขึ้นทั้งทางกายทั้งทางใจ จึงมาเป็นที่ ๒....จึงมาถึงสัญญา ถึงสังขาร ซึ่งเป็นส่วนนามธรรมล้วน ๆ แล้วจึงมาวิญญาณซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ละเอียด ก็เอาคุมไว้ข้างท้าย สำหรับที่จะพิจารณาเป็นกรรมฐาน เป็นวิปัสสนาภูมิ ได้โดยสะดวก
ฉะนั้น ผัสสะจึงมีความหมายถึงความประชุมของทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวนั้น เป็นอาหารของเวทนา คือเป็นปัจจัยนำผลมา คือนำให้เกิดเวทนา ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ให้เกิดสัญญาคือความรู้จำได้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ได้ เป็นสังขารคือความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่าง ๆ และเมื่อคิดปรุงไปก็รู้ไปด้วยก็เป็นวิญญาณ แล้วก็วนเป็นวงกลมมาใหม่อีก ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ เป็นเรื่องของรูปและนามที่บังเกิดอยู่ในปัจจุบันของบุคคลทุก ๆ คน โดยที่รูปนั้นก็ต้องอาศัยอาหารคือคำข้าว หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ส่วนนามก็อาศัยอาหารคือผัสสะดั่งที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่ารูปไม่ได้อาศัยอาหารคือคำข้าวก็ดำรงอยู่ไม่ได้ นามไม่อาศัยอาศัยอาหารคือผัสสะหรือสัมผัส นามก็บังเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น อาหารคือคำข้าวจึงเป็นที่ ๑ อาหารคือผัสสะจึงเป็นที่ ๒
มาถึงข้อที่ ๓ มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือมโนสัญเจตนา ความจงใจ ตรัสว่าเป็นอาหารของกรรม และพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบายตามพระพุทธเจ้า เพราะว่ากรรมคือการงานที่บุคคลกระทำ ทางกายก็เป็นกายกรรม ทางวาจาก็เป็นวจีกรรม ทางใจก็เป็นมโนกรรม ย่อมเกิดจากมโนสัญเจตนาคือความจงใจ จะต้องมีมโนสัญเจตนา หรือเรียกสั้นว่าเจตนา ความจงใจเป็นเหตุ จึงได้กระทำทางกายเป็นกายกรรม กระทำทางวาจาเป็นวจีกรรม กระทำทางใจเป็นมโนกรรม
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาคือความจงใจว่าเป็นกรรม คือเป็นเหตุให้กระทำกรรม เพราะว่าบุคคลมีเจตนาคือความจงใจแล้ว จึงกระทำทางกายบ้าง กระทำทางวาจาบ้าง และกระทำทางใจบ้าง
ฉะนั้น กรรมที่บุคคลกระทำทุก ๆ อย่าง ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรือบุญกรรม ไม่ว่าจะเป็นอกุศลกรรมหรือบาปกรรม ย่อมมีเจตนาคือความจงใจ หรือมโนสัญเจตนา เป็นเหตุ คือเป็นอาหาร เป็นปัจจัยที่นำผลมา คือนำให้บังเกิดกรรม ฉะนั้น มโนสัญเจตนา หรือเจตนาคือความจงใจ จึงเป็นอาหารของกรรม นับเป็นข้อที่ ๓
มาถึงข้อที่ ๔ วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ อันวิญญาณนี้ที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้น ท่านเรียกว่าเป็นวิถีวิญญาณ เป็นวิญญาณในวิถี อันหมายความว่าเป็นวิญญาณที่บังเกิดขึ้นตามวิถีคือตามทาง วิถีคือทางก็คือวิถีของกายจิตนี้ที่ประกอบกันอยู่เป็นไปอยู่ อันนับแต่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกัน เป็นวิญญาณ เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นต้น ดังกล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่าเป็นวิถี คือเป็นทางแห่งความเป็นไปของกายและจิตที่อาศัยกันอยู่ ที่ประกอบกันอยู่ ที่ดำเนินไปอยู่ จึงเรียกว่าวิถีวิญญาณ
อีกอย่างหนึ่งปฏิสนธิวิญญาณ วิญญาณในปฏิสนธิ วิญญาณในปฏิสนธินี้ก็ได้แก่วิญญาณธาตุคือธาตุรู้ หรือจิตที่อาศัยอยู่ในกายนี้ ซึ่งบุคคลทุก ๆ คนนี้มีกายและจิตประกอบกันอยู่ ถ้าหากว่าไม่มีจิต กายนี้ก็ดำรงอยู่มิได้ต้องแตกสลาย เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงเอาไว้ในบางพระสูตรว่า เมื่อมีชาติคือความเกิด ตั้งต้นแต่เกิดขึ้นในครรภ์ของมารดา เริ่มก่อเกิดขึ้นก็มีปฏิสนธิวิญญาณ ซึ่งมีคำเรียกว่า คันธัพพะ คนธรรพ์ เข้ามาสู่ครรภ์ของมารดาอีกส่วนหนึ่ง มาประกอบเข้ากับส่วนประกอบที่เป็นรูป เมื่อเป็นดั่งนี้สัตว์จึงเริ่มมีชาติคือความเกิดขึ้นมา และเมื่อคันธัพพะ หรือปฏิสนธิวิญญาณเข้าสู่ครรภ์ของมารดา ในขณะที่ได้เริ่มก่อรูปขึ้น ตั้งต้นแต่เป็นกลละ และก็เริ่มเติบโตขึ้นแตกเป็น ปัญจะสาขา มีอายตนะที่บริบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ก็จะต้องมีปฏิสนธิวิญญาณประกอบอยู่ด้วยตลอด
ถ้าหากว่าปฏิสนธิวิญญาณ หรือว่าจิต หรือว่าคนธรรพ์ดังที่เรียกในพระสูตร พรากออกไปเสียเมื่อใด รูปที่ก่อขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั้น ก็เป็นอันว่าแตกสลาย ไม่ก่อเกิดขึ้นอีกต่อไป แม้ว่าเมื่อคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดาแล้ว กายและจิตนี้ก็ต้องประกอบกันอยู่ตลอดเวลา เรียกว่าปฏิสนธิวิญญาณที่มาตั้งแต่ในเบื้องต้นนั้นก็ต้อง จะต้องอยู่ ถ้าหากว่าปฏิสนธิวิญญาณที่มาตั้งแต่เบื้องต้นนั้น หรือว่าจิตออกไปเสียจากร่างกายนี้เมื่อใด ร่างกายอันนี้ก็เป็นอันว่าหยุดที่จะเติบโต แตกสลายที่เรียกว่าตาย จะดำรงอยู่ต่อไปมิได้ หรือจะเรียกว่าขันธ์ ๕ หรือรูปนาม เมื่อวิญญาณดังกล่าวไม่มีแล้ว ขันธ์ ๕ หรือรูปนามก็แตกสลาย
ได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ที่ใช้เป็นบทสำหรับพิจารณาว่า อจิรํ วัตยํ กาโย ไม่นานหนอกายนี้ ปฐวึ อธิเสสฺสติ จักนอนทับแผ่นดิน ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโน ปราศจากวิญญาณถูกทิ้ง นิรตฺถํว กลิงฺครํ ราวกับท่อนไม้ท่อนฟืนไม่มีประโยชน์ คาถาบทนี้ก็เป็นเครื่องแสดงว่ากายนี้ ทั้งรูปกายทั้งนามกาย คือขันธ์ ๕ หากปราศจากวิญญาณเสียแล้วก็จักต้องนอน หรือถูกทอดทิ้งให้นอนทับแผ่นดิน เหมือนอย่างท่อนฟืนท่อนไม้ไม่มีประโยชน์ กาย ทั้งรูปกาย ทั้งนามกาย หรือขันธ์ ๕ นี้ที่ยังดำรงชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะยังมีวิญญาณ ไม่ปราศจากวิญญาณ ฉะนั้น วิญญาณนี้จึงเป็นอาหารสำคัญของนามรูป หรือของขันธ์ ๕ หรือว่าของรูปกายนามกาย เมื่อวิญญาณนี้ยังอยู่ นามรูปก็ยังดำรงอยู่ แต่เมื่อปราศจากวิญญาณเสียแล้ว นามรูปก็เป็นอันว่าแตกสลาย ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นอาหารของนามรูป เป็นข้อที่ ๔
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอาหารไว้ ๔ อย่างดั่งนี้ และพระสารีบุตรก็ได้แสดงตาม สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอาหารทั้ง ๔ เหล่านี้ ว่าคำข้าวเป็นอาหารของกาย คือของรูปกาย ผัสสะหรือสัมผัสเป็นอาหารของนาม มีเวทนาเป็นต้น มโนสัญเจตนา หรือเจตนาความจงใจ เป็นอาหารของกรรม วิญญาณเป็นอาหารของนามรูป
ต่อจากนี้ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงอธิบาย ให้รู้จัก อาหาระสมุทัย เหตุเกิดแห่งอาหาร ก็ชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นเหตุแห่งอาหารทั้ง ๔ ดังกล่าว และแสดงต่อไปว่าความรู้จัก อาหาระนิโรธ คือความดับอาหาร ก็คือความรู้จักว่าดับตัณหาเสียได้ก็เป็นความดับอาหาร และปัญญาที่รู้จักดั่งนี้ก็เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ
ต่อไปก็แสดงว่าปัญญาที่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบสัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ปัญญาที่รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาหารดั่งนี้ เป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ
พิจารณาดูแนวอธิบายของท่านดั่งนี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า เพราะตัณหานี้เองเป็น โปโนพฺภวิกา เป็นเหตุให้ถือภพถือชาติใหม่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุให้แสวงหาอาหาร แห่งรูปธรรม นามธรรม แห่งกรรม และแห่งวิญญาณ อยู่ตลอดไป ซึ่งเมื่อมีอาหารเหล่านี้อยู่ก็เป็นอันว่าไม่มีที่จะจบภพจบชาติ เป็นแนวอธิบายในทางดับภพดับชาติ จึ่งได้แสดงว่าตัณหาเป็นตัวสมุทัยแห่งอาหาร และดับตัณหาเสียได้ก็เป็นการดับอาหาร คือเป็นการดับภพดับชาติ และก็มรรคมีองค์ ๘ นั้นแหละเป็นทางปฏิบัติ
แม้จะกล่าวว่าท่านแสดงมุ่งในทางดับภพดับชาติ แต่ก็เป็นสัจจะคือความจริง ว่าความสืบต่อภพชาติก็เพราะมีตัณหานี้เองเป็นตัวเหตุ เพราะสัจจะคือความจริงเป็นดั่งนี้ จึงได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า โลกอันตัณหาก่อขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อยังเป็นโลก ก็เพราะยังมีตัณหาอยู่เป็นตัวก่อให้เกิดขึ้น ดับตัณหาเสียได้ก็ดับโลก แล้วก็เป็นการดับทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริง แต่แม้เช่นนั้นเมื่อไม่ประสงค์จะดับโลก ไม่ประสงค์จะดับตัณหา ยังต้องการโลกอยู่ ยังอยู่กับโลก ก็ปฏิบัติในการแสวงหาอาหารทั้ง ๔ นี้ โดยทางที่ชอบ เพื่อจะได้ภพชาติที่ดี ที่ชอบ ภพชาติในปัจจุบันก็เป็นภพชาติที่ดีที่ชอบมีความสุข ภพชาติต่อไปก็มีความสุข ดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ท่านพระสารีบุตรจึงได้แสดงสัจจะคือความจริง และความที่มีปัญญารู้จักความจริงในเรื่องอาหาร ในเรื่องเหตุเกิดอาหาร ในเรื่องความดับอาหาร ในเรื่องทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาหาร ดั่งนี้แหละ คือเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ แม้จะเป็นข้อที่จะต้องพิจารณา เรียกว่ายากขึ้นไปจากประการแรก แต่ก็สามารถจะพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริงได้ และจะทำให้เข้าใจธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้แสดงว่า เมื่อมีสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ก็ย่อมจะมีความเห็นตรง ย่อมจะมีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม มาสู่พระสัทธรรมนี้
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป