แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 15 กันยายน 2564
มีพ่อแม่หลายคนบอกว่า ในระยะหลังเจอคำถามหลายอย่างจากลูกแล้วบางทีก็อึ้ง จนตอบไม่ได้ เพราะไม่คิดว่าจะมีคำถามแบบนี้ เช่น คำถามว่า ทำไมต้องกตัญญูด้วย ไม่ว่าจะเป็นกตัญญูต่อพ่อแม่ หรือว่าผู้มีพระคุณ คำถามแบบนี้ คนที่เป็นพ่อเป็นแม่อาจจะไม่เคยเจอ หรือไม่เคยคิดอยู่ในใจ เพราะว่าเราถูกสอนมาให้มีความกตัญญูต่อบุพการีตั้งแต่เล็ก เป็นคุณธรรมที่ไม่เคยมีการตั้งคำถาม แต่เดี๋ยวนี้เด็กเขาตั้งคำถามกับอะไรต่ออะไรมากมาย แม้กระทั่งเรื่องที่เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐาน
พ่อแม่เจอคำถามแบบนี้ก็อย่าไปโกรธลูก บางทีไปโกรธลูกว่าทำไมลูกมีความคิดที่แย่แบบนี้ ทำไมลูกไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ขืนไปต่อว่าลูกแบบนี้ก็ทำให้เกิดปัญหายิ่งขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกยิ่งแย่ลง แล้วลูกก็รู้สึกแย่กับตัวเองด้วย ก็ต้องทำใจ เพราะว่าเดี๋ยวนี้เด็กตั้งคำถามกับคุณธรรมหลายอย่างที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ถือเป็นเรื่องธรรมดา ที่มันชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่า เป็นของดี เช่น ความประหยัด ความสมถะหรือว่าความรู้จักอดออม แต่เดี๋ยวนี้คุณธรรมเหล่านี้ถูกตั้งคำถามหมดจากเด็กหรือคนสมัยใหม่ แต่ก็คงจะไม่มีคำถามอะไรที่ทำให้พ่อแม่อึ้งเท่ากับว่า ทำไมลูกต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ด้วย
[02:54] ก็มีคำถามอาตมาว่า จะสอนลูกให้มีความกตัญญูได้อย่างไร ไม่ใช่กตัญญูกับพ่อแม่อย่างเดียว กตัญญูกับผู้มีพระคุณด้วย ก็ต้องมาดูว่า ความกตัญญูเกิดจากอะไร ความกตัญญูเกิดจากการที่เห็นคุณงามความดีของผู้อื่นที่มีต่อเรา เช่น ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อ ความเกื้อกูล อันนี้เรียกว่ารู้คุณ เมื่อรู้คุณ เห็นความดีของเขาแล้ว ก็เกิดความซาบซึ้งประทับใจ ตรงนี้สำคัญเลยทีเดียว เกิดความซาบซึ้งประทับใจ แล้วก็เกิดความขอบคุณในความดีที่ทำกับเรา พอมีความรู้สึกแบบนี้ ก็นำไปสู่ความรู้สึกอยากจะขอบคุณ เอ่ยคำขอบคุณ หรือว่าทำความดีเป็นการตอบแทน ถ้าไม่มีความสำนึกที่เรียกว่าความรู้คุณ หรือว่าซาบซึ้งประทับใจในความดีของผู้อื่นที่ได้ทำต่อเรา ความกตัญญูก็เกิดขึ้นได้ยาก
พ่อแม่ก็อาจจะชี้นำหรือชักชวนให้คิดในมุมนี้บ้างว่า เวลาลูกทำความดีกับใคร ช่วยเหลือใคร ก็อยากให้เขารู้สึกดีกับสิ่งที่เราทำ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อใครทำความดีกับเรา ช่วยเหลือเกื้อกูลเรา เราก็ควรที่จะรู้สึกดีรู้สึกซาบซึ้งประทับใจในความดีของเขา แล้วความรู้สึกนี้ก็นำไปสู่การอยากจะขอบคุณ แล้วก็อยากจะตอบแทนคุณ เรียกว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือว่าใจเขาใจเรา เราทำดี อยากให้เขาเห็นความดีหรือซาบซึ้งในความดีของเรา เพราะฉะนั้น เมื่อใครทำความดีกับเรา เราก็ควรจะรู้สึกขอบคุณ ประทับใจในความดีของเขา อันนี้ก็เป็นบันไดเบื้องต้นนำไปสู่ความกตัญญู ชี้ให้เด็กได้เห็นด้วยตัวเอง โดยการเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นพื้นฐาน ก็จะนำไปสู่ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นความดีที่ควรทำ
แต่ชี้ด้วยเหตุด้วยผลอย่างเดียวยังไม่พอ พ่อแม่ต้องทำตนเป็นแบบอย่างด้วย สมัยนี้เด็กไม่ค่อยเห็นแบบอย่างที่ดี มันก็เลยถูกตั้งคำถามหลายอย่างที่พ่อแม่ไม่นึกไม่ฝันว่า เด็กจะมีความคิดแบบนี้ แต่นั่นเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมซึ่งระยะหลัง หรือก็เป็นมานานแล้ว ที่เน้นเรื่องการเห็นแก่ตัว เอาใจตัว เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นจะกตัญญูกับคนอื่นทำไม พ่อแม่ก็ควรทำตนเป็นแบบอย่าง อันนี้เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตรเลย ทำตัวเป็นแบบอย่าง เช่น แสดงความรู้คุณ แสดงความกตัญญูต่อผู้บุพการี แสดงให้ลูกเห็นว่าควรจะกตัญญูต่อปู่ย่าตายาย ไปเยี่ยมท่าน ทำดีกับท่าน รับใช้ท่าน ดูแลท่านในยามเจ็บป่วย หรือแม้ในยามที่ท่านสุขภาพดี ก็ไปมาหาสู่อยู่เสมอ
เพราะเดี๋ยวนี้ พ่อแม่ลูกอยู่บ้านหนึ่ง ปู่ย่าตายายอยู่อีกบ้านหนึ่ง ความกตัญญูที่พ่อแม่แสดงต่อปู่ย่าตายายก็เห็นได้ยาก เพราะอยู่คนละบ้าน แต่แม้กระนั้น ถึงจะอยู่บ้านเดียวกัน ถ้าพ่อแม่ไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างแสดงตัวรำคาญบุพการีของตัว ไม่เอาใจใส่ เมินเฉย ไม่ดูแล แต่ว่าจ้างพี่เลี้ยงให้มาดูแลแทน อย่างนี้เด็กก็ไม่เห็นแบบอย่าง แต่ถ้าพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง ก็คือความกตัญญูต่อบุพการี มันก็เป็นหว่านเพาะความสำนึกในบุญคุณความรู้คูณให้กับเด็ก แต่เท่านั้นไม่พอ เวลาลูกทำอะไรดีๆ เช่น ช่วยเหลือพ่อแม่ล้างจาน กวาดบ้าน หรือแม้แต่เก็บที่นอนของตัวเอง ก็ถือว่าเป็นการช่วยพ่อแม่ พ่อแม่ก็ขอบคุณลูก ขอบคุณลูกที่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ช่วยรดน้ำต้นไม้ ช่วยให้อาหารกับสัตว์เลี้ยง
[08:37] ถ้าพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง ด้วยการแสดงความรู้สึกขอบคุณต่อลูก ที่ลูกได้ทำสิ่งดีๆ ให้กับส่วนรวม ให้กับพ่อแม่ เด็กก็จะเริ่มซึมซับเอาความดีอย่างนี้ไปจากพ่อแม่ ไม่ใช่กับความรู้คุณต่อบุพการีอย่างเดียว เวลาใครทำดี เช่น ไปห้างสรรพสินค้า มีพนักงานเขาช่วยเอื้อเฟิ้อ ช่วยขนของ ช่วยหาของมาให้ พ่อแม่ก็เอ่ยปากขอบคุณพนักงาน เจ้าหน้าที่หรือว่าคนเหล่านั้น อย่าไปคิดว่าเป็นหน้าที่ของเขา ฉันไม่สนใจ ถ้าพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่างด้วยความรู้สึกประทับใจในความดีที่ผู้อื่นได้ทำกับเรา แม้จะเป็นคนที่ไม่รู้จัก เป็นแม่ค้า เป็นพนักงานห้างสรรพสินค้า มันก็ทำให้ลูกเห็นว่าใครทำความดีกับเรา ใครช่วยเหลือเรา อย่างน้อยเราก็ควรจะขอบคุณ และถ้าจะให้ดีพ่อแม่ทำตัวเป็นแบบอย่าง ชวนลูกด้วย เวลาพนักงานห้างร้าน เขามีกะจิตกะใจต่อลูกค้า ต่อพ่อแม่ ต่อลูก พ่อแม่ก็ชวนลูกขอบคุณด้วย
ถ้าทำอย่างนี้เด็กก็จะเริ่มค่อยๆ ซึมซับ เมื่อใครทำดีกับเรา แม้จะไม่ใช่คนในครอบครัว เราก็ควรที่จะรู้จักสำนึกในความดีของเขา แล้วก็ขอบคุณ แล้วก็ขยายสำนึกนี้ออกไป แม้กระทั่งไปเที่ยวตามสวนสาธารณะ หรือว่าแม้กระทั่งในบ้าน เสียงนกร้อง นกให้ความสุขกับเรา เราก็ขอบคุณ ขอบคุณนกที่ร้องเพลงให้เราฟัง พ่อแม่ก็สอนลูกได้โดยเฉพาะลูกยังเล็กๆ ขอบคุณนก ขอบคุณต้นไม้ ขอบคุณดอกไม้ที่เติมแต่งความสวยงามให้กับธรรมชาติรอบตัวเรา อันนี้ก็เป็นวิธีการที่หว่านเพาะหรือบ่มเพาะความรู้สึกสำนึกในบุญคุณ จนกระทั่งเกิดความกตัญญู แต่ที่จริงนอกจากการทำตัวให้เป็นแบบอย่างแล้ว สิ่งสำคัญพื้นฐานก็คือทำให้เด็กเข้าใจว่าทำไมต้องกตัญญูด้วย ไม่ใช่แค่รู้ว่าสอนลูกให้กตัญญูอย่างไร พ่อแม่ก็ต้องชัดเจนด้วยว่า ทำไมจึงควรต้องกตัญญูด้วย บางทีพ่อแม่ก็ไม่มีคำตอบหรือชัดเจนในเรื่องนี้ ถ้าชัดเจน มันก็จะชี้แจงให้ลูกๆ เข้าใจได้
ทำไมเราควรจะกตัญญู ก็เพราะว่า เมื่อใครทำดีกับเรา เรารู้สึกสำนึกในบุญคุณของเขา เราขอบคุณ เราทำดีเป็นการตอบแทน ก็เป็นการให้กำลังใจเขา ทำให้เขาอยากทำความดี ไม่ใช่กับเราคนเดียว กับคนอื่นด้วย มันเป็นการส่งเสริมความดีในใจของผู้อื่น และกระจายกว้างขวางออกไป ขณะเดียวกัน เวลาเราทำความดีกับใคร เราก็อยากจะให้เขาคนนั้นทำดีกับเราเป็นการตอบแทน เพราะฉะนั้นอะไรที่เราอยากให้ใครทำดีกับเรา เราก็ควรทำอย่างนั้นกับผู้อื่น อยากให้คนอื่นทำความดีกับเรา เราก็ควรจะทำความดีให้กับผู้อื่น เช่นเดียวกัน ความกตัญญูก็เป็นความดี เราทำความดี เราอยากให้ผู้อื่นเห็นความดีของเรา ตอบแทนความดีของเรา อย่างน้อยก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณ หรือว่าประทับใจ เราก็ควรจะทำอย่างนั้นกับผู้อื่น อันนี้เป็นการมองจากมุมของตัวเอง เราอยากให้ใครทำดีกับเรา เราก็ควรทำสิ่งนั้นกับผู้อื่น แล้วก็ควรจะมองให้กว้างขวางออกไปด้วยว่า ความกตัญญูก็คือความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน มนุษย์เราจะอยู่ได้เพราะความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะส่งเสริมความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อนั้น ด้วยการทำตนเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่ทำดีกับเฉพาะคนที่ดีกับเรา กับคนอื่นก็เหมือนกัน เราก็ทำ เพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างราบรื่นสงบสุข และที่สำคัญก็คือว่า เราทำดีกับใคร เราก็มีความสุขด้วย
[14:00] อย่างไรก็ตาม จะอธิบายไปอย่างไรก็ตาม ปัญหาก็อาจจะเกิดขึ้นว่า เด็กเขารู้สึกว่า พ่อแม่ไม่น่ากตัญญู อันนี้เป็นคำถามใหญ่ คำถามที่เด็กตั้งขึ้นมาว่า พ่อแม่ไม่น่ากตัญญู อาจจะเป็นเพราะเด็กเห็นว่าพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไม่เอาใจใส่ลูก บางทีก็ใช้ความรุนแรงกับลูก ไม่มีเวลาให้กับลูก ให้แต่เงิน ให้แต่ข้าวปลาอาหาร แต่ไม่มีเวลาไม่มีการแสดงความรัก เด็กก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าพ่อแม่ไม่น่ากตัญญู ยิ่งพ่อแม่เมาหัวลาน้ำ หรือว่าทำตัวไม่น่าเคารพ เด็กก็เกิดคำถามขึ้นมา เพราะถ้าพ่อแม่ทำตัวให้น่ากตัญญู เด็กก็เกิดความกตัญญูรู้คุณโดยปริยาย เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นปัญหาของพ่อแม่แล้ว ไม่ใช่ปัญหาของเด็ก ถ้าพ่อแม่ทำตัวให้น่ากตัญญู เด็กก็จะเห็นความสำคัญของการกตัญญู หรือเกิดความรู้สึกน้อมใจไปในทางนั้นเองโดยไม่มีคำถาม อันนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องกลับมามองตัวเองด้วยว่า เราทำตัวให้น่ากตัญญูหรือเปล่า