แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
มีคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องหนึ่ง เรียกว่าวิธีปฏิบัติต่อทุกข์ เราเคยได้ยินที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องกิจในอริยสัจ ข้อแรก ทุกข์เป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ หรือว่าเมื่อมีทุกข์แล้ว เราก็ควรจะรู้ทุกข์ เข้าใจทุกข์ อันนั้นก็อันหนึ่ง แต่ว่าในคำสอนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อทุกข์ มีข้อหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าให้ทุกข์มาทับถมตน หรืออย่าเอาทุกข์มาทับถมตน
อันนั้นก็ฟังดูง่าย แต่ว่าบางทีก็เข้าใจผิดไปว่า การทำอะไรที่ยากลำบาก มันเป็นสิ่งที่ควรจะหลีกเลี่ยง เช่น การถืออุโบสถศีล ไม่กินข้าวไม่ฉันมื้อเย็น หรือว่าออกธุดงค์ไปเดินจาริกในป่า ไปเจอความยากลำบากไปเจอความทุกข์ อันนี้ไม่เกี่ยว เพราะว่าความยากลำบากที่ว่านี้ มันเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน การพัฒนาตน
มันต่างจากที่พระพุทธเจ้าตรัสที่ว่า ไม่เอาทุกข์มาทับถมตน คนส่วนใหญ่เอาทุกข์มาทับถมตนโดยไม่รู้ตัวเอาทุกข์มาทับถมตนอย่างไร ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านก็หาทุกข์มาใส่ตัวอย่างไร อย่างเช่น การไม่รักษาศีล การผิดศีล คนที่ผิดศีลนั้นในใจเขาคิดแต่อยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะชนะ มันทำให้เขาไปทำร้ายผู้อื่น หรือว่าถึงกับฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือถึงกับลักขโมย ประพฤติผิดในกาม หรือว่าโกหกหลอกลวง
ก็เพราะอยากจะได้ อยากจะเอา อยากจะมี อยากจะเอาชนะ รวมทั้งอยากจะทำร้าย ซึ่งแม้แต่จะทำได้สำเร็จ สนองตามความปรารถนา แต่ว่าสุดท้ายก็ต้องเจอทุกข์ ต้องเจอความเดือดเนื้อร้อนใจ อาจจะถึงกับถูกเขาแก้แค้นทำร้ายเอาคืน ทำให้เจ็บตัว ถึงแม้จะไม่ได้ถูกกระทำอย่างนั้นก็เกิดความรู้สึกวิตกกังวลวิตกเดือดเนื้อร้อนใจ เพราะกลัวถูกเขามาทำร้าย ถูกตำรวจจับ กลัวความผิดจะถูกเปิดโปรง
อันนี้ก็คือการหาทุกข์มาใส่ตัว เพราะคนเราไม่จำเป็นจะต้องทำอย่างนั้นก็ได้ การคบเพื่อนชั่ว ก็เป็นการหาทุกข์มาใส่ตัวเหมือนกัน เพราะบางคนแม้ไม่ประพฤติชั่วแต่คบเพื่อนชั่วก็โดนลูกหลงถูกตำรวจจับ พลอยติดร่างแหไปด้วย เพื่อนค้ายา ตัวเองก็โดนไปด้วย เพราะว่าอยู่ในแก๊งในก๊วนเดียวกัน มีเยอะเลยที่ถูกจับข้อหาค้ายาทั้งที่ตัวเองไม่ได้ แล้วก็ถูกเพื่อนซัดทอดกลั่นแกล้ง หรือว่าบางทีตำรวจก็เหมาคุมไปเอง
อย่างไรก็ตาม คนที่สนใจธรรมะนี้ ไม่ได้ทำสิ่ง 2 สิ่งนี้คือ ผิดศีล หรือศีล 5 หรือว่าการคบเพื่อนชั่ว แต่ว่าเราก็อาจจะหาทุกข์มาใส่ตัวโดยไม่รู้ตัวในลักษณะอื่นได้ ที่เป็นกันเยอะและก็ทำกันโดยไม่รู้ตัวก็คือ การมองลบ มองลบในความหมายหนึ่งคือว่า มองหาแต่สิ่งที่ตัวเองไม่มี ที่มีเยอะ แต่ว่าไปมองว่าฉันไม่มีโน่นไม่มีนี่
เขามีโทรศัพท์รุ่นใหม่ เขามีรถคันใหม่ เขามีสินค้าแบรนด์เนม ฉันไม่มีเลย หรือวัยรุ่นหลายคนเป็นทุกข์เพราะว่าเห็นเพื่อนเขามีแฟน แต่ฉันไม่มีแฟน รู้สึกว่าตัวเองแย่เหลือเกิน เกิดความทุกข์ เกิดความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว อันนี้เรียกว่าเป็นการมองลบ พอมองไม่เป็นขณะที่ตัวเองก็มีความสุขดี แต่พอมองเห็นสิ่งที่ตัวเองไม่มีก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา
การมองลบยังมีหมายถึงการมองเห็นแต่ความไม่ดี ของคนรอบข้าง ของเพื่อนร่วมงาน เห็นว่าเขาเอาเปรียบ เห็นแก่ตัว ขี้บ่น ชอบเอาเปรียบ ชอบเลี่ยงงาน คนที่เห็นแต่ด้านลบหรือเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดีของเพื่อนร่วมงาน ก็เกิดความทุกข์ เพราะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ
หรือยิ่งกว่านั้นเห็นว่าเขาทำไม่ดีกับตัวเองหรือคิดไม่ดีกับตัวเอง ซึ่งบางทีเกิดจากความระแวงก็ได้ เห็นเขากระซิบกระซาบกันก็นึกว่าเขานินทาเรา เห็นเขาพูดอะไรในทางที่ไม่ดีเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็คิดว่าเขากำลังหมายถึงเรา หรือกำลังแขวะเรา พอคิดอย่างนี้เข้าก็เป็นทุกข์เลย เกิดความขุ่นเคือง คิดว่าเขากำลังจะเลื่อยขาเก้าอี้เรา แทงเราข้างหลัง
จริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่ว่าพอคิดอย่างนี้เข้า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความระแวง ก็เลยเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา เกิดความรู้สึกโกรธ ขัดเคือง ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นอกุศลวิตกอย่างหนึ่งเรียกว่าพยาบาทวิตก ก็คือ พยาบาทสังกัปปะนั่นแหล่ะ เป็นมิจฉาสังกัปปะอย่างหนึ่งคือ ความนึกคิดที่ประกอบไปด้วย ความขัดเคือง และเพ่งโทษมองในแง่ร้าย หรือจ้องมองในแง่ร้าย
อันนี้ก็คือลักษณะของการมองลบอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นกับใคร ก็จะมีความทุกข์ได้ง่าย เหมือนกับว่าหาทุกข์มาใส่ตัว ถ้าเจออย่างนี้ก็ต้องรู้จักทักท้วงความคิดของตัว อย่าไปเชื่อความคิดของตัวเองมากเกินไป เพราะว่ามันอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ได้ หรือว่าให้เรามองเขาในแง่ดีบ้างว่า เขามีด้านดีอะไรบ้างเพราะคนเราก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่ด้านลบไปเสียหมด
ถ้ารู้จักมองบวกบ้าง หรือรู้จักทักท้วงความคิดของตัวบ้าง จิตใจก็จะไม่รุ่มร้อน ไม่หงุดหงิด ไม่รำคาญ ไม่ขัดเคือง อกุศลวิตกมันก็จะค่อยๆพัฒนาเป็นกุศลวิตกหรือความนึกคิดในทางกุศลได้
คิดลบอีกอย่างหนึ่ง คือมองเห็นแต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันนี้เรียกว่าขี้ระแวง เป็นความขี้ระแวงแบบหนึ่ง นอกจากระแวงคนนั้นคนนี้แล้ว ก็ยังระแวงเหตุการณ์ ว่าจะเลวร้าย จะมีปัญหารออยู่ข้างหน้าอย่างที่ตอนนี้คนกำลังวิตกกันมากเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์โควิด ความตื่นตระหนกทำให้คนระแวง คิดลบคิดร้ายเกี่ยวกับอนาคต เรียกว่ามโนหรือจินตนาการ อันนี้เรียกว่าหาทุกข์มาใส่ตัว
คนที่ขี้ระแวงคนที่ขี้กังวล ก็จะเป็นอย่างนี้ คนขี้กังวลคือคนที่ชอบมองอนาคตไปในทางลบทางร้ายหรือว่ามองว่ามันมีแต่ปัญหาที่อยู่รอบตัวเรา จะทำอะไรก็เห็นแต่ปัญหา ไม่เห็นโอกาส เห็นแต่อุปสรรค พอคิดแบบนี้เข้า มันก็จะทำให้กลายเป็นทุกข์ได้ง่าย ความเครียดความวิตกกังวล ก็จะเกิดจากการที่คิดการมองแบบนี้
ซึ่งบางทีเราก็ต้องเตือนตัวเองว่ายังไม่เกิดขึ้น อาจจะไม่เกิดก็ได้กับสิ่งที่มโน มันก็จะช่วยทำให้คลายความเครียดคลายความวิตกลงได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะว่าบางครั้งการคิดแบบนี้ ก็กลายเป็นนิสัยไปแล้ว และมันก็จะโน้มเอียงไปในทางนั้นตลอดเวลาคือการคิดลบคิดร้ายหรือว่าระแวง กังวล
แต่ถ้าเราฝึกอยู่บ่อยๆ อย่าไปเชื่อความคิดมาก มันยังไม่เกิดขึ้น อย่าไปเหมา หรือว่าไปสรุปว่ามันคือความจริงที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
นอกจากการหาทุกข์มาใส่ตัวแล้ว บ่อยครั้งเราก็ยังซ้ำเติมตัวเองด้วย ตัวอย่างที่พูดมาทั้งหมดเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งๆที่ชีวิตก็ราบรื่น ปกติ แต่ก็ยังมองลบมองร้าย แต่บางครั้งชีวิตคนเราก็เจอสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ไม่พึงปรารถนา อันนั้นก็เรียกว่าทุกข์ชั้นหนึ่งอยู่แล้ว แต่บ่อยครั้งเราก็อดไม่ได้ที่จะซ้ำเติมตัวเองด้วยการเติมความทุกข์ให้กับตัวเอง
อย่างเช่น เวลาของหายหรือเสียทรัพย์ เงินถูกโกง แทนที่จะเสียอย่างเดียว คือเสียทรัพย์แต่ปล่อยให้ใจเสียด้วย คือเสียใจ กลุ้มใจ ใจเสียไม่พอ บางทีปล่อยให้ความเสียใจมารุมเร้าพลอยให้สุขภาพย่ำแย่ ป่วยเสียสุขภาพอีก เสียเงินไม่พอเพราะว่าถูกโกงก็ดี หรือว่าทองเพชรหายก็ดี เสียทรัพย์ไม่พอเสียใจ เสร็จแล้วก็เสียสุขภาพ
หรือหนักกว่านั้น เสียเพื่อน เพราะว่าพออารมณ์เสีย อารมณ์ไม่ดี ใครมาพูดผิดหู ก็โกรธเขา ตอบโต้ด่าเขากลับไป บางทีเพื่อนร่วมงานเขามาแซวเราตอนที่อารมณ์ไม่ดี กำลังเสียใจกับการเสียทรัพย์ เขาแซวมาเราด่ากลับ ก็เลยเกิดการทะเลาะกัน ก็เสียเพื่อน แทนที่จะเสียหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการฝีมือคนอื่นหรือเหตุการณ์ที่สุดวิสัย เราก็กลับเพิ่มเติมความทุกข์ให้กับตัวเอง เรียกว่าซ้ำเติม เสียใจ เสียสุขภาพ แล้วก็เสียงานเสียการ หรือเสียเพื่อน
เวลาเจอรถติด เป็นเพราะวางใจไม่เป็น แทนที่จะเสียเวลาเพราะรถติดเท่านั้น ก็เสียอารมณ์ด้วย คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดหรอกว่า ถ้าจะเสียก็ควรจะเสียอย่างเดียวคือเสียเวลา แต่ว่าอย่าให้ใจมันเสีย หรือเสียอารมณ์ พอปล่อยให้เสียอารมณ์จนกระทั่งเครียด หงุดหงิด แล้วบางทีก็มาระบายใส่อารมณ์กับคนข้างๆที่นั่งรถมาด้วย ใส่ลูก ใส่ภรรยา สามี ก็กลายเป็นว่าเสียอีกหลายอย่าง อันนี้เพราะอะไร
เพราะว่าขาดสติ เพราะว่าการไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเราไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเสียทรัพย์ หรือว่ารถติด มันก็ย่อมเกิดความหงุดหงิด ปล่อยให้ใจมันบ่นโวยวายตีโพยตีพาย ความหงุดหงิดที่ครองใจก็พาให้เป็นทุกข์มากขึ้น แล้วก็สร้างความทุกข์ให้กับตัวเองมากขึ้น โดยการระบายใส่คนอื่น
เวลาป่วยกาย แทนที่จะป่วยกายอย่างเดียว ก็ป่วยใจด้วย ป่วยใจเพราะยอมรับความเจ็บป่วยไม่ได้ หรือเป็นเพราะว่าความยึดติดยึดมั่นในร่างกายนี้ว่า มันต้องสุขสบาย แต่พอมันไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วยอมรับไม่ได้ โวยวายตีโพยตีพายว่า ทำไมต้องเป็นฉัน หารู้ไหมว่ากำลังทำให้ใจป่วยด้วย ไม่ใช่แค่ป่วยกาย ป่วยใจด้วย ไหนๆจะป่วยทั้งทีให้ป่วยอย่างเดียว ป่วยกายแล้วอย่าให้ป่วยใจด้วย
ก็ต้องมีสติรู้เท่าทัน ใจที่มันบ่นโวยวาย ใจที่มันต่อต้านผลักไส ไม่ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าหมั่นดูใจ รักษาใจให้ดีเวลาเจอปัญหาเจออุปสรรค มันก็จะไม่ซ้ำเติมตัวเอง เวลาทำงานมันก็จะเหนื่อยอย่างเดียวมันจะไม่เหนื่อยสองอย่าง
เมื่อสัก 10 ปีก่อน มีรายการสารคดีรายการหนึ่งของไทยพีบีเอส ชื่อรายการพลเมืองเด็ก สำหรับเด็กวัยต่างๆ กัน 8-9 ขวบบ้าง 10 -12 ขวบบ้าง มาออกรายการครั้งละ 3 คน มาทำกิจกรรม แล้วก็ดูว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไร ทำงานร่วมกันอย่างไร คราวหนึ่งก็เอาเด็กประมาณ 10 -12 ขวบ มาทำกิจกรรมหนึ่งคือ ขนของขึ้นรถไฟ ผู้หญิง 1 ผู้ชาย 2 รถไฟมีเวลาออกที่แน่นอน เพราะฉะนั้น ต้องช่วยกันขนให้ทัน
ปรากฏว่าวันนั้น มีรายการถ่ายทอดสดทางทีวี สมจิตร จอหอ ขึ้นชก เขาเป็นนักชกเหรียญทองโอลิมปิก เด็ก 2 คนในทีมก็ทิ้งงานไปดูสมจิตรชกที่ร้านกาแฟที่สถานี ปล่อยให้ผู้หญิงขนของคนเดียว เธอก็ขนของด้วยความใส่ใจ พิธีกรก็ไปถามว่าคิดอย่างไรที่เพื่อนทิ้งงานไปดูสมจิตรชก เธอก็บอกว่าก็เห็นใจเขา เพราะว่าเขาเป็นแฟนสมจิตร นานๆจะได้เห็นสมจิตรชก หนูนี่ไม่ใช่แฟนมวย หนูก็ทำงานของหนูไป
พิธีกรก็ยังไม่พอใจคำตอบ ก็แหย่คำถามไปอีกว่า แล้วหนูไม่คิดจะโกรธเขาหรือที่ทิ้งให้หนูทำงานคนเดียว เธอตอบดีว่าหนูขนของขึ้นรถไป หนูก็เหนื่อยอย่างเดียว ถ้าหนูไปโกรธไปด่าเขาด้วย หนูก็เหนื่อย 2 อย่าง เธอเลือกที่จะเหนื่อยอย่างเดียวก็คือ เหนื่อยกายกับการขนของขึ้นรถไฟ ส่วนเหนื่อยใจนั้นเธอไม่เอา อันนี้เรียกว่าฉลาด รู้จักไม่ซ้ำเติมตัวเอง เพราะว่าเหนื่อยอย่างเดียวคือเหนื่อยกายก็แย่แล้ว
แต่คนเรามักจะซ้ำเติมตัวเองคือ เหนื่อยทั้งกายเหนื่อยทั้งใจ เพราะว่าใจ มันไม่อยู่กับการขนของหรือการทำงาน แต่ไปจดจ้องอยู่กับคนที่เขาทำตัวไม่สมควร เช่น เลี่ยงงาน หรือหนีงาน หรือว่าอู้งาน หรือบางทีก็อาจจะทำงานไม่ได้เรื่อง พอไปจดจ่ออยู่อย่างนั้น ก็กลายเป็นว่าเหนื่อยทั้งกายเหนื่อยทั้งใจ ทั้งๆที่ถ้าให้เลือก คนเราก็จะเลือกเหนื่อยอย่างเดียวทั้งนั้นแหล่ะ อันนี้เมื่อคิดด้วยเหตุด้วยผล
แต่พอเอาเข้าจริงๆก็เหนื่อยทั้งสองอย่าง เพราะว่าไม่รู้ตัว เพราะไม่รู้ทันจิตใจที่มันไปจ้องไปเพ่งเพื่อนร่วมงานจนกระทั่งเกิดความโกรธขึ้น เพราะว่าเขาปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง เราซ้ำเติมตัวเองด้วยวิธีนี้แหละ การไม่มีสติ การไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลามีอะไรมากระทบ เราก็จะไม่ทุกข์แค่ชั้นเดียวแต่ทุกข์สอง ชั้น เช่น เมื่อมีคนเขาติฉินนินทาต่อว่าด่าทอ เสียงมากระทบหูเรา ก็เกิดความโกรธ เกิดความเจ็บ
เท่านั้นไม่พอ เมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ก็ยังเก็บเอาคำพูดของเขามาทิ่มแทงจิตใจตัวเอง ทั้งๆที่เจ้าตัวคนที่พูด เขาอาจจะลืมไปแล้ว แต่เราก็ยังอดไม่ได้ที่จะเอาคำพูดของเขามาทิ่มแทงให้เกิดความเจ็บปวดเกิดความเจ็บแค้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันไม่ต่างจากเปรียบเสมือนกับว่ามีคนมาพ่นเศษแก้วเศษตะปูใส่เรา พอถูกกระทบตัวเราก็จริง แต่คนเราก็มักจะไม่ยอมให้เจ็บครั้งเดียว กลับจะเจ็บหลายครั้ง
เจ็บครั้งแรกเพราะเขาพ่นตะปูเศษแก้วใส่เรา แต่เจ็บครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 จนกระทั่งไปถึง 30 -40 เป็นเพราะเราเอาเศษแก้วเศษตะปูตกลงพื้นมาทิ่มแทงต่อ ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางที 10 ปี 20 ปีก็ยังไม่เลิก ทำอย่างนี้เรียกว่าอะไร เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง
และที่ทำอย่างนั้นเพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่รู้ตัว เพราะเผลอ ถ้าเกิดว่าเรามีสติ แล้วเรารู้จักปล่อยรู้จักวาง สติกับการปล่อยวางมันคู่กัน ถ้ามีสติมันก็วาง ไม่เอาเรื่องเก่าๆ คำพูดที่เจ็บช้ำน้ำใจมาทิ่มแทงตัวเอง ปล่อยให้มันผ่านเลยไป รู้ตัวเมื่อไรว่าคิดขึ้นมา ก็กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เพราะอันนั้นเป็นอดีตไปแล้ว
เรายังซ้ำเติมตัวเองหลายอย่างนอกจากที่พูดมาแล้ว ที่มักจะทำกันบ่อยๆก็คือว่า ชอบเอาปัญหาของคนอื่นมาสร้างความทุกข์ให้กับเรา หรือว่ามาเป็นความทุกข์ของเรา ปัญหาที่ว่านี้อาจจะหมายถึงพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเขา ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย เช่น เห็นวัยรุ่นแต่งตัวไม่สุภาพ มากอดกันบนท้องถนน เห็นแล้วก็รู้สึกขุ่นมัว โกรธ วางใจไม่ได้ กลับไปบ้านก็เอาเรื่องนี้มาบ่นให้คนในบ้านฟัง
หรือว่าบางทีเห็นคนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ การกระทำเหล่านี้ไม่สมควร แต่ว่าก็เก็บเอามาทำร้ายตัวเอง สร้างความขุ่นเคืองให้กับตัวเอง อันนี้เรียกว่าเอาปัญหาของคนอื่นมาเป็นความทุกข์ของเรา เจอการกระทำที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม มันขัดหูขัดตาทั้งๆที่ไม่เกี่ยวกับเราเลยก็เก็บเอามา เหมือนกับไฟที่สุมรุมเผาลนจิตใจของเรา ทำให้เกิดความหงุดหงิด เกิดความรำคาญ เกิดความขัดเคือง
เวลาทำงานแม้กระทั่งทำงานในวัดก็ดี เราทำงานของเรา แต่คนอื่นไม่ทำ ก็เกิดความไม่พอใจเขาขึ้น นึกบ่นในใจว่าเขาไม่มาช่วยงาน ทำไมเขาไม่ทำงาน ทำไมเขาไม่กวาดลานวัด ทำไมเขาไม่ปิดไฟ ทำไมไม่ปิดกระจกหน้าต่าง ปล่อยให้เราทำคนเดียว ที่เราทำแบบนี้ดีแล้ว แต่พอเราส่งจิตออกนอกไปจับจ้องอยู่กับพฤติกรรมที่มันอาจจะไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง เก็บเอามาสร้างความทุกข์ให้กับจิตใจของเรา
อย่างนี้เรียกว่าซ้ำเติมตัวเอง เหมือนกันเราทำงานแต่ทำไมเขาไม่ทำ แม้กระทั่งลูกที่ดูแลพ่อแม่ แต่ว่าคนอื่นไม่ช่วยดูแล เขาไม่ดูแลพ่อ เก็บเอามาคิด โกรธโมโห ดูแลพ่อแม่ก็เหนื่อยอยู่แล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่าเหนื่อยกาย เจออย่างนี้เข้าเรียกว่าเหนื่อย 2 ต่อ เพราะเหนื่อยใจซ้ำเติมด้วย
นักปฏิบัติธรรมบางคน ขยันขันแข็งแต่ว่าพอเห็นคนอื่นไม่ปฏิบัติ นั่งเล่น บางทีก็นั่งหลับ ก็โมโห ทำไมเขาไม่ปฏิบัติเลย อย่างนี้เรียกว่าหาทุกข์มาใส่ตัว หรือว่าซ้ำเติมตัวเอง เขาไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา เราทำดีแล้ว แต่อย่าเอาปัญหาของเขามาสร้างความทุกข์ให้กับเรา แต่เป็นเพราะว่าการติดดีก็ได้ แถมชอบส่งจิตออกนอก พอเห็นเขาทำไม่ดี ใครทำไม่เหมาะก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมา สุดท้ายใครทุกข์ ก็เป็นเราทุกข์
แต่ถ้าเรามองว่า เขาไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา เขาไม่ปฏิบัติธรรม เขาก็เสียโอกาส หรือว่าเขาไม่ช่วยพ่อช่วยแม่ ไม่มาดูแลพ่อแม่ ต่อไปเขาก็เดือดร้อนเอง เสียใจในภายหลังว่าตอนที่พ่อแม่อยู่ไม่ดูแล พ่อแม่ตายก็มาเสียใจว่า ฉันไม่ได้ดูแลตอนที่ท่านป่วย ถ้าไม่ทำก็เป็นเรื่องของเขา เขาก็รับกรรมของเขาเอง แต่ว่าเรายังทำสิ่งที่ควรทำต่อไป ทำด้วยความรู้สึกที่เป็นสุข ทำอย่างมีสติ
อันนี้ก็ช่วยทำให้เราแม้จะเหนื่อยกาย แต่ใจไม่เหนื่อย หลีกเลี่ยงที่จะซ้ำเติมตัวเองด้วยเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง คนบางคน เห็นเพื่อนชอบตำหนิคนนั้นคนนี้ ก็เกิดความไม่พอใจขึ้นมาว่า ทำไมแกชอบตำหนิเขา แกชอบบ่น ไม่อยากให้เขาตำหนิ ไม่อยากให้เขาบ่น เห็นว่าการตำหนิ การบ่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ตัวเองทำเสียเองคือตำหนิเขาอยู่ในใจ ตำหนิเพื่อนที่ชอบตำหนิคนอื่น
อันนี้ก็ไม่ต่างกับเพื่อนที่ตำหนิ แล้วก็บ่นออกมาให้คนอื่นได้ยิน แต่ตัวเองบ่นในใจ จะว่าไปก็ไม่ต่างกันเท่าไร แต่ในขณะที่ไปบ่นเขา ตำหนิเขา ตัวเองก็เป็นทุกข์เสียเอง ถ้าเรามองว่า เขาทำไม่สมควรก็เป็นเรื่องของเขา เขาก็รับกรรมเขาเอง แต่เราจะทำสิ่งที่ดี สิ่งที่สมควรทำ ทำสิ่งที่เป็นหน้าที่ของเราต่อไป อันนี้เรียกว่าเราได้ทำความดี ในขณะเดียวกันก็ไม่หาทุกข์มาใส่ตัว หรือว่าไม่ซ้ำเติมตัวเองด้วย
- พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 16 กันยายน 2564