พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 28 มีนาคม 2567
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วเปิดเผยหรือเผยแผ่ให้กับพวกเราตลอด 45 พรรษา นับว่ามากมาย เฉพาะที่ถอดมาแล้วบันทึกในพระไตรปิฎกก็มีถึง 45 เล่ม เฉพาะที่จดจำได้ ที่จดจำไม่ได้แล้วไม่ได้มีการถ่ายทอดหรือบันทึกเป็นตัวอักษรก็มีไม่น้อย
45
เล่มนี้ ถ้านับเป็นหน้าก็เกือบ 2 หมื่นหน้า ถ้านับเป็นคำก็มากกว่า 2 ล้านคำ แม้ว่าจะตัดไปแล้วในส่วนที่เป็นพระวินัย หรือกฎระเบียบที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสำหรับพระภิกษุหรือภิกษุณี ส่วนที่เหลือคือ ธรรมะ ก็ไม่ใช่น้อยเลย อย่างที่คนเฒ่าคนแก่มักจะใช้คำว่า 84,000 พระธรรมขันธ์
แต่ที่จริง ถ้าจะสรุปย่อ ๆ ทั้งหมดทั้งมวลก็เหลือแค่ 2 ส่วนแรกเราเรียกว่า จริยธรรม จริยธรรม ก็คือ ข้อที่ควรประพฤติปฏิบัติ เช่น เรื่องมรรคมีองค์ 8 หรือว่า พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 พวกนี้คือข้อที่ควรปฏิบัติ ไม่ว่าจะในระดับกาย วาจา หรือระดับจิตใจ หรือความคิด
แม้กระทั่งบทกาลามสูตร ที่เราเพิ่งสาธยายเมื่อสักครู่นี้ ก็จัดว่าเป็นจริยธรรม คือข้อควรปฏิบัติว่า เราไม่ควรเชื่อเพียงเพราะว่าได้ยินเสียงเล่าลือมา ไม่ควรเชื่อเพียงเพราะว่าสิ่งที่เห็นมีรูปลักษณะที่น่าจะเป็นไปได้ อย่าเชื่อเพราะมันเข้าได้กับความเห็นของเรา อันนี้เป็นเป็นธรรมะในส่วนที่เรียกว่าเป็นจริยธรรมหรือข้อควรปฏิบัติ เอามาใช้ในการกำกับชีวิต
อีกส่วนหนึ่งก็คือ สัจธรรม สัจธรรมก็คือความจริง ความจริงของชีวิต ความจริงของมนุษย์ ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือไม่ ก็เป็นอย่างนี้มา อย่างเช่น ธรรมะเรื่องไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยเฉพาะอนิจจังซึ่งเราคุ้นเคยกันดี ก็ชัดอยู่แล้วว่า อะไร ๆ ก็ไม่เที่ยง อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ และทุกอย่างเป็นทุกข์ แล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
แต่ธรรมะบางอย่างก็เข้าใจได้ง่าย เช่น เรามีความแก่เป็นธรรมดา จะล้วงพ้นความแก่ไปไม่ได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ และมีความตายเป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้ เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งนั้น รวมทั้งเรามีกรรมเป็นของตน ทำดีจะได้ดี ทำชั่วจะได้ชั่ว พวกนี้ก็คือ สัจธรรมหรือกฎธรรมชาติ คือความจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น
รวมทั้งเรื่องโลกธรรม 8 ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา สุขกับทุกข์ เป็นของคู่กัน นี่คือความจริง ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ก็หนีไม่พ้น
จริยธรรม เป็นเรื่องของความดี ความดีก็คือสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพราะถ้าเราปฏิบัติแล้วจะประสบกับความสุข ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติในขั้นศีล ควบคุมกาย วาจา การปฏิบัติในระดับสมาธิ หรือการฝึกจิต เช่น ให้มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา หรือว่าการฝึกให้เกิดปัญญา ปัญญาก็คือการเข้าใจสัจธรรมความจริงของชีวิต
ซึ่งส่วนใหญ่เวลาพูดถึงจริยธรรม เราก็นึกถึงความดีในระดับศีล พอเราทำความดีหรือเราคิดว่าเราควรจะทำความดีให้มาก ๆ ให้ต่อเนื่อง เราก็อดไม่ได้ที่จะคาดหวังผล เช่น
ทำดีแล้วก็ควรจะมีคนยกย่องสรรเสริญ ทำดีแล้วก็น่าจะมีคนเห็นความดีของเรา หรือทำดีแล้วก็ควรจะมีความสุขความเจริญ ถ้ามีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียรก็น่าจะประสบความสำเร็จหรือว่าชีวิตมีความเจริญ
นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อเราได้ทำความดี รวมทั้งทำความดีแล้วก็ควรจะมีสุขภาพดี มีอายุยืนยาว บ่อยครั้งเราก็คาดหวังต่อไปว่า ทำความดีแล้ว ครอบครัวเราทุกคน ญาติพี่น้องก็จะประสบความสุขความเจริญ
แต่ว่าบางครั้งเราก็พบว่า ทำความดีแล้วแต่ว่าไม่มีคนชื่นชมสรรเสริญเราเลย หรือว่าคนชื่นชมเรา มีแต่น้อย บางคนก็พบว่าทำดีแล้วแต่เจ้านายไม่เห็นความดีของเราเลย ทำดีแล้วทำไมพ่อแม่ไม่เห็นความดีของเรา คิดแบบนี้ก็มี พอคิดแบบนี้แล้วก็เกิดความทุกข์ เกิดความน้อยใจ เกิดความผิดหวัง เกิดความท้อแท้ ทำดี ซื่อสัตย์สุจริต แต่งานการไม่สำเร็จมันล้มเหลว ธุรกิจก็ไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเท่าไร ทั้ง ๆ ที่เราซื่อสัตย์ จ่ายภาษีไม่เคยเลี่ยง
หลายคนมีความทุกข์เพราะเหตุนี้ ทุกข์เพราะว่าสิ่งที่ควรจะเกิด สิ่งที่น่าจะเกิด ไม่เกิด ทำดี รักษาศีลมา ก็คิดว่าน่าจะมีสุขภาพดี แต่ปรากฏว่าเกิดเจ็บป่วย แล้วโรคที่เกิดขึ้นบางครั้งก็เป็นโรคร้ายที่ทำให้อายุไม่ยืน มีหลายคนเป็นทุกข์เพราะว่าเมื่อเราทำสิ่งที่ควรทำแล้วแต่ทำไมผลที่ควรจะเกิดไม่เกิดกับเรา หรือบางทีสิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ว่าไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก
ทำดีแล้ว แต่ว่าทำไมลูกของเรา หลานของเรา พี่น้องของเราจึงต้องมีอันเป็นไป บางคนรู้สึกว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นเลย ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี อันนี้เป็นเพราะว่าทำดีก็จริง แต่ว่ามองข้ามสิ่งที่เป็นความจริงหรือสัจธรรม
สัจธรรมที่สำคัญก็คือว่า อะไร ๆ ก็เกิดขึ้นได้ อะไร ๆ ก็ไม่เที่ยง และไม่ว่าเราจะทำดีหรือว่าทุ่มเทเพียงใด ผลก็อาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่เราคาดหวัง หรือไม่เกิดขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นในความคิดของเราก็ได้ เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทำดีแต่ไม่มีคนเห็น ไม่มีคนชื่นชม อันนี้เป็นเพราะอะไร
เป็นเพราะว่าคนเราก็นานาจิตตัง คนเรามีความคิดเห็น มีมุมมองแตกต่างกันไป ไม่ใช่ว่าคนเขาจะมองเห็นแบบเดียวกับเราหรือคิดแบบเดียวกับเรา นี่คือความจริงอย่างหนึ่ง พอฉันทำดีแล้วอาจจะไม่มีคนเห็น แถมมีคนตำหนิติเตียน
ถ้าเราเข้าใจเรื่องสัจธรรม เราจะพบว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่า อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัส ไม่ว่าทำอะไรก็ยังมีคนตำหนิอยู่เสมอ คนชมก็มี แต่คนตำหนิก็มี หรือว่าแม้อยู่เฉย ๆ ก็ยังมีคนตำหนิได้ อันนี้คือความจริงของโลก
ถ้าเราไม่เข้าใจความจริงข้อนี้ เราก็จะคาดหวังในสิ่งที่สวนทางกับความจริงได้ เช่น ทำดีแล้วต้องมีคนชื่นชม คาดหวังอย่างนั้น ต้องมีคนชื่นชมสรรเสริญเรา หรือทำความดีแล้วต้องมีคนเห็นความดีของเรา จะต้องไม่มีใครมาต่อว่า ตำหนิ หรือใส่ร้ายเราเลย ถ้าคิดแบบนี้ก็แสดงว่า ไม่เข้าใจสัจธรรมหรือความจริงของโลก
หรือว่า ทำดีแล้วแต่ทำไมเจ็บป่วย อันนี้ก็เกิดขึ้นได้ เพราะความเจ็บความป่วยไม่ได้อยู่ที่การทำความดีเท่านั้น เพราะแม้แต่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ พระองค์ทรงทำความดียิ่งกว่าเราหลายสิบหลายร้อยเท่า แต่พระองค์ก็ยังประสบกับโรคาพาธ เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย เพราะอะไร เพราะนี่คือความจริงของชีวิต ไม่เกี่ยวกับความดี
เหมือนกับคนที่ดูแลสุขภาพดี ออกกำลังกายเป็นประจำ กินอาหารชีวจิต หรืออาหารแม็คโครไบโอติก (Macrobiotic) โคคิวเท็น (Co-Q 10) ราคาแพงเท่าไรก็ซื้อ อาหารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) อาหารออร์แกนิค (Organic) ที่ไม่มีสารเคมีก็กินเป็นประจำ แต่ทำไมถึงเจ็บป่วย แถมไม่ได้ป่วยธรรมดา เป็นมะเร็ง มันก็เกิดขึ้นได้ เพราะว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้คนเราป่วยเป็นมะเร็งมีมากมายที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมของเรา
เราดูแลสุขภาพดี อันนี้ดีแล้ว แต่ว่าถ้าเหตุปัจจัยอย่างอื่นไม่เอื้อเฟื้อ ความเจ็บป่วยก็เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่น สูดไปนาน ๆ เข้าก็เกิดผลเสียต่อปอด ต่อหัวใจ ต่อสมอง ถึงไม่เป็นโรคมะเร็งก็อาจจะเป็นโรคอื่นแทน ทำให้เจ็บป่วยอายุสั้น ดูแลสุขภาพดีอย่างไรก็มีสิทธิ์เจ็บป่วยได้ เช่นเดียวกัน ทำความดีอย่างไรก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วย
อันนี้ไม่ได้แปลว่าทำดีไม่ได้ดี ทำดีก็ได้ดี คือจิตใจแจ่มใสเบิกบาน แต่ว่าความเจ็บป่วยก็ดี หรือว่าคำชื่นชมสรรเสริญก็ดี อันนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ซึ่งถ้าเราเข้าใจเรื่องของสัจธรรม เราก็จะไม่ทุกข์มาก เพราะเรารู้ว่ามันเกิดขึ้นได้
ทำดีแค่ไหนก็มีคนตำหนิติเตียน อาจจะเคยมีคนชม แต่ว่าวันต่อมาหรือไม่นานเขาก็เปลี่ยนเป็นตำหนิ เพราะนี่คือโลกธรรม 8 มันคือสัจธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธเราควรจะเข้าใจ มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ แม้จะขยันขันแข็ง ประสบความสำเร็จในการงาน ร่ำรวย มีชื่อเสียง แต่วันดีคืนดีก็สูญเสียทรัพย์ หรือว่าเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือว่าชื่อเสียงจางหายไป
ฉะนั้น คนที่เข้าใจเรื่องของสัจธรรมเขาจะไม่ทุกข์ เพราะเขารู้ว่ามันเป็นธรรมดา เวลาเขาทำดีเขาก็จะไม่คาดหวังสิ่งที่มันเกินเลยจากความจริง หรือไม่คาดหวังในสิ่งที่สวนทางความจริง และเมื่อสิ่งไม่ดีที่เขาเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ เช่น ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ความล้มเหลว คำต่อว่าด่าทอ เกิดขึ้นก็ไม่ท้อ ยังทำความดีเรื่อยไป
ตรงกันข้าม ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสัจธรรม ทำความดีได้ไม่นานก็ท้อ ก็บ่นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำไมฉันทำดี ทำบุญ รักษาศีล ทำไมบ้านจึงถูกน้ำท่วม ทำไมบ้านจึงถูกไฟไหม้ อย่างนี้เรียกว่าทำดีไม่ได้ดี บุญไม่รักษา ธรรมะไม่คุ้มครอง อันนี้ก็เพราะไม่เข้าใจความจริงว่าอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยก็เป็นธรรมดาโลก
ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจความจริงของโลก เมื่อมันเกิดขึ้นก็ไม่ทุกข์ ยังมั่นคงในการทำความดีต่อไป ไม่มีคำว่าท้อ ไม่มีการประกาศว่าต่อไปนี้ฉันจะไม่ทำความดี ไม่รักษาศีลแล้ว เพราะทำแล้วน้ำท่วม ไฟไหม้บ้าน เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา อันนี้เรียกว่าเมื่อเราทำความดีแล้ว เราเข้าใจความจริงหรือเข้าใจสัจธรรมด้วย ก็ทำให้เราทำความดีได้อย่างยั่งยืน และผลดีก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับใคร เกิดขึ้นกับเรา
เพราะฉะนั้น สัจธรรมจึงเป็นสิ่งที่คู่กับจริยธรรม เราจะเรียนรู้หรือปฏิบัติตามหลักจริยธรรม อันนี้ดีแล้ว แต่ก็ต้องเข้าใจเรื่องสัจธรรมด้วย
ถึงเวลาเจ็บป่วยก็ไม่โวยวาย ตีโพยตีพายว่า ทำไมฉันทำดีแล้วจึงต้องมาเจ็บป่วย ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บต้องป่วยทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเมื่อไร บางคนก็มาป่วยตอนแก่ บางคนก็มาป่วยตอนที่ยังหนุ่มยังสาว แต่ทีนี้ ถ้าเข้าใจสัจธรรมความจริงแล้วก็ไม่ทุกข์ ป่วยแต่กาย แต่ใจไม่ทุกข์ แถมยังสามารถจะใช้ประโยชน์จากความเจ็บป่วยให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งในสัจธรรม เกิดปัญญาขึ้นมา
คนที่สนใจเรื่องการปฏิบัติ แล้วเห็นว่าการที่คนเราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องเข้าใจเรื่องสัจธรรม เข้าใจจนถึงขั้นว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเราของเรา หลายคนปฏิบัติด้วยความมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงภาวะอนัตตา เพราะว่าสัจธรรมสูงสุดก็คือว่าไม่มีอะไรที่เป็นตัวเป็นตน ท่านเรียกว่า อนัตตา คือไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ถ้าเข้าถึงภาวะหรือเข้าใจอนัตตาได้ ก็ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
หลายคนปฏิบัติ เจริญภาวนา เพื่อที่จะได้แจ่มแจ้งในสัจธรรมที่ว่านั้น แต่การที่คนเราจะเข้าถึงสัจธรรมในระดับที่เรียกว่าเป็นโลกุตระ ถึงขั้นพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่ว่าจะทำได้โดด ๆ ต้องมีจริยธรรมเป็นตัวรองรับด้วย
ก็คือว่า ทำความดี ลดละความเห็นแก่ตัว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพราะว่าถ้ามีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ก็ช่วยลดความเห็นแก่ตัว รวมทั้งไม่ยกตนข่มท่าน ไม่โอ้อวด รู้จักระงับใจในเวลาที่ถูกกระทบกระแทก อันนี้เป็นเรื่องของจริยธรรม การที่เรามีความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่คุยโวโอ้อวด หรือว่ารู้จักรักษาใจให้สงบ ไม่โกรธ อันนี้เป็นความดีพื้นฐานที่จะนำไปสู่การเข้าใจหรือการเข้าถึงสัจธรรมขั้นสูง
แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่สนใจเรื่องของการฝึกจิต หรือการปฏิบัติตนในระดับจริยธรรม เวลามีคนชักชวนให้ไปช่วยเหลือเอื้อเฟื้อใครก็บ่ายเบี่ยง ปฏิเสธ บอกว่า ฉันจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ การที่จะไปช่วยเหลือใคร ฉันไม่สนใจ แม้แต่กิจส่วนรวมก็ไม่เอาใจใส่ อย่างนี้ก็ถือว่าบกพร่องในเรื่องของจริยธรรม
ถ้าหากว่าทำอย่างที่ว่านั้น ก็เท่ากับเปิดช่องให้กิเลสครอบงำ หรือว่าอาจจะทำไปด้วยอำนาจของกิเลส คือ ความเห็นแก่ตัว หรือบางคน แม้บอกว่าฉันไม่มีตัวไม่มีตน แต่ชอบคุยโวโอ้อวดว่าฉันเป็นคนที่เข้าถึงธรรมะแล้ว เวลาพูดกับใครก็จะพูดแต่เรื่องนิพพาน เรื่องอนัตตา พอใครพูดเรื่องที่เป็นระดับจริยธรรมก็หาว่าไม่รู้ ไม่สนใจธรรมะขั้นสูง หรือว่าสนใจแต่เรื่องโลกียะ ไม่สนใจเรื่องโลกุตระ ท่าทีแบบนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่ยังมีกิเลส ยังมีอัตตาอยู่
การที่ยกตนข่มท่านก็ชี้ชัดว่า การปฏิบัติระดับจริยธรรมยังไม่ก้าวหน้า หรือว่าเวลามีใครมาตำหนิติเตียน หรือว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดของตัว ก็โกรธ โมโหเป็นฟืนเป็นไฟ อย่างนี้ก็แสดงว่ายังไม่รู้จักรักษาจิต ยังมีอัตตาสูง ยังปล่อยให้อัตตาครอบงำ อันนี้ถือว่ายังบกพร่องในระดับจริยธรรม
หรือบางคน อย่าว่าแต่เรื่องของความยึดถือในตัวตนเลย บางทีแม้กระทั่งความโลภ ก็ยังไม่ได้ดูแลควบคุมให้ดี เวลาเห็นใครมีมากกว่า ได้อะไรดีกว่า ก็รู้สึกขัดเคืองใจ
ตัวอย่างที่เคยเจอ ให้หนังสือธรรมะกับบางคนที่มาปฏิบัติที่บอกว่าปฏิบัติธรรมขั้นสูง ฉันเข้าใจเรื่องอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน พอได้หนังสือที่ให้ เล็กกว่าเล่มที่คนอื่นได้ เกิดความไม่สบายใจ อยากได้เล่มใหญ่ หรือว่าบางคนได้เล่มเดียว คนอื่นได้ 2 เล่ม ก็ไม่สบายใจ หรือบางทีให้ไปแล้ว เอาอีกเก็บไว้ ไม่แจกจ่ายให้คนอื่น หวง เพราะอยากจะไปแจกจ่ายให้กับพวกของตัว
อันนี้เรียกว่าแม้แต่ระดับของการรู้จักมอง แบบไม่เปรียบเทียบ หรือว่าแบบรู้จักพอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้ หรือ สันโดษ ซึ่งเป็นจริยธรรมในระดับของจิตใจ ก็ยังทำไม่ได้เลย หรือไม่ใส่ใจ แล้วจะไปภาวนาให้ถึงขั้นที่เข้าใจเรื่องอนัตตา หรือว่าไม่มีตัวไม่มีตน ไม่ยึดถือในตัวตนได้อย่างไร เพราะแม้กระทั่งกิเลสในระดับพื้น ๆ ก็ยังไม่รู้ทัน หรือเอาชนะไม่ได้ หรือไม่ใส่ใจที่จะจัดการกับมัน
ยังไม่นับถึงความยึดมั่นในตัวตนหรือว่าการมีมานะ ฉันเก่ง ฉันแน่ พอใครมาพูดต่อว่าก็เอาตัวตนหรืออัตตาเข้ารับ ก็เกิดความโกรธ รู้สึกเสียหน้า ความโกรธเวลาถูกกระทบ หรือถูกต่อว่า หรือว่ามีคนไม่เห็นด้วย นั่นเป็นเพราะยังมีความยึดติดในหน้าตา หรือว่ายึดติดในความคิดว่าเป็นของกู ๆ พอมีคนไม่เห็นด้วยกับความคิด หรือพอมีคนต่อว่าก็โกรธขึ้นมา อันนี้แสดงว่าการปฏิบัติในระดับจริยธรรมยังไม่พัฒนาหรือยังไม่มากเพียงพอ
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าเราต้องการที่จะเข้าถึงสัจธรรมความจริง ก็อย่าทิ้งธรรมะในระดับจริยธรรม ต้องฝึกด้วย จะเป็นบันได เป็นพื้นฐานให้เข้าถึงความจริงขั้นสูง
และเช่นเดียวกัน เวลาเราทำความดีหรือปฏิบัติธรรมในระดับจริยธรรม ก็จำเป็นที่เราจะต้องมีความเข้าใจเรื่องสัจธรรมความจริงด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะท้อในการทำความดี ทำความดีไม่ตลอด
เพราะฉะนั้น จริยธรรมกับสัจธรรม จึงเป็นของคู่กัน สัจธรรมเป็นตัวทำให้การปฏิบัติระดับจริยธรรมหรือการทำความดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และนำความสุขสวัสดีมาให้กับเราเป็นลำดับ
ขณะเดียวกัน เมื่อจะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงสัจธรรมขั้นสูงแล้ว การปฏิบัติระดับจริยธรรมก็อย่าไปมอง อย่าไปดูแคลนว่าเป็นเรื่องต่ำ เพราะอันที่จริงก็เป็นพื้นฐานที่จะช่วยรองรับให้จิตใจของเราพัฒนา จนกระทั่งเข้าถึงภาวะที่ไม่มีตัวไม่มีตน หรือไม่มีความยึดถือในตัวตนได้ เรียกว่าเข้าสู่ภาวะที่เป็นปรมัตถ์ หรือเข้าใจเรื่องปรมัตถ์ได้อย่างแท้จริงซึ่งก็ทำให้พัฒนาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้.