พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 29 มีนาคม 2567
ผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 50 วันหนึ่งไปเที่ยวกับครอบครัว จู่ๆ ก็มีอาการอ่อนเพลียแล้วก็เป็นไข้ ไข้ขึ้นสูงมาก หายใจลำบาก ต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน ปรากฏว่าเป็นโรคปอดติดเชื้อ เชื้อก็ลามเร็วมาก ความดันตกจนโคม่า
ปรากฏว่าเลือดก็ไม่ไหลไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ที่สำคัญได้ ประกอบกับเธอก็กินยาแก้โรคข้ออักเสบ ก็ไปทำให้ความสามารถในการจัดการกับเชื้อที่ทำลายปอด ทำได้น้อยลง
แล้วพอความดันตก เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงร่างกายทุกส่วนได้ ก็จำเป็นจะต้องดึงเอาเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ ปอด หัวใจ สมอง แล้วก็ตับ ก็ต้องใช้ยาหลายขนานเพื่อจะดึงเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญ ผลก็คือแขนและขาของเธอมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเนื้อก็เริ่มตาย ปลายเท้าปลายแขนก็เริ่มดำ แล้วก็ดำขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะมันตาย ไม่มีเลือดไปเลี้ยง
สุดท้ายขาเริ่มเน่า แขนก็เริ่มเน่า ในที่สุดก็ต้องตัด ตัดขาทั้ง 2 ข้าง แขนทั้ง 2 ข้าง ตัดขาตั้งแต่เข่าลงมา ส่วนแขนก็ตัดตั้งแต่ข้อศอกลงมา กลายเป็นคนพิการตลอดชีวิต รอดตาย แต่ว่าต้องเสียแขนแล้วก็ขา ไม่สามารถที่จะเดินเหินไปไหนมาไหนได้เหมือนก่อน มือก็ใช้อะไรไม่ค่อยได้แล้ว ต้องใช้ขาเทียม แขนเทียม
ชีวิตพลิกผันไปเลย แต่ว่าเธอก็สามารถที่จะปรับใจกับสภาพใหม่ได้ ก็มีหลายคนแปลกใจว่าทำไมเธอจึงยิ้มแย้มได้ ทั้งที่กลายเป็นคนพิการไปแล้ว เธอก็บอกว่าเธอเลือกที่จะมีความสุข มากกว่าที่จะไปสนใจความทุกข์ยากลำบากที่เกิดจากแขนและขาที่พิการ
ความลำบากมันเกิดขึ้นแน่แต่ว่าเธอเลือกที่จะไม่สนใจมัน แล้วก็มาสนใจกับความสุขที่เธอยังมีอยู่ แขนขาเธอทำอะไรไม่ได้เหมือนเดิม แต่เธอก็ยังมีตาที่มองเห็นได้ปกติ หูก็ยังใช้การได้ปกติ สมองทุกอย่างก็ยังใช้การได้ แล้วก็สามารถที่จะซึมซับรับความสุข ฉะนั้นเธอจึงมีความสุขอยู่ได้
นี้เป็นตัวอย่างของคนที่แม้จะเจ็บป่วย แล้วก็เกิดภาวะทุพพลภาพ ร่างกายมันไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่ว่าใจก็ยังมีความสุขได้ เพราะเธอเลือกที่จะไม่สนใจความทุกข์ ความยากความลำบากที่เกิดขึ้น แต่ว่าหันมาสนใจเปิดรับความสุขที่ยังมีอยู่ แล้วยิ่งความยากความลำบากที่เกิดจากความพิการนี้ พออยู่ไปนานๆ เข้าก็ปรับตัวได้
พอมีขาเทียม มีแขนเทียม ก็สามารถจะใช้ขาใช้แขนได้ แม้จะไม่เหมือนเดิม 100% แต่ว่ามันก็ไม่ลำบากเท่าไหร่แล้ว เพราะว่าคนเรามีความสามารถในการปรับตัวได้
สิ่งสำคัญกว่า หรือ สิ่งที่ยากกว่า คือการปรับใจ ถ้าใจมัวแต่บ่นโวยวายตีโพยตีพายกับความปกติที่มันหายไปหรือมันลดน้อยถอยลง อันนี้คือปัญหา แต่ว่าเธอเลือกที่จะไม่สนใจความยากลำบาก หันมาจดจ่อใส่ใจกับความสุขที่ยังมีอยู่หรือยังมีได้
อันนี้ก็คล้าย ๆ กับผู้หญิงคนหนึ่งเป็นหญิงไทย เธอเกิดมาก็มีโรคร้าย ธาลัสซีเมีย โรคนี้เป็นโรคเลือดที่ติดต่อทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่ พ่อไม่เป็น แม่ไม่เป็น แต่ว่าลูกเป็น เพราะว่ารับความบกพร่องทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่คนละ 50 พอมาถึงตัวลูกก็ครบ 100 พอดี ก็เลยเป็นอย่างหนัก
หมอบอกว่า “ลูกคุณคงจะอยู่ได้ไม่ถึง 20 หรอก เพราะว่าเลือดบกพร่องมาก” ตอนที่เติบโตขึ้นมาก็ตัวแคระแกร็น ตาโปน แล้วก็กระดูกเปราะ หกล้มทีไร ไม่แขนหักก็ขาหัก ต้องใส่เฝือกมาเป็น 10 ครั้ง อายุ 30 กว่าใส่เฝือกมาเกือบ 20 ครั้งแล้ว แต่เธอเป็นคนที่มีความสุข
เธอบอกว่า “แม้เลือดฉันจะแย่ แต่ฉันก็ยังมีตามองเห็นสิ่งสวยงาม มีจมูกดมกลิ่นหอม มีหูไว้ฟังเสียงเพลง กินอะไรก็ยังอร่อย ไปไหนมาไหนก็ยังได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” คือเธอก็คล้าย ๆ กับผู้หญิงคนนั้น ไม่สนใจเลือดที่ไม่ดีเลือดที่มีปัญหา ไม่สนใจภาวะผิดปกติที่เกิดกับร่างกายเพราะเลือดไม่ดี แต่ว่าสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากตาหูจมูกลิ้นกายที่ยังทำงานได้ปกติ
พอเปิดใจรับความสุข ไม่สนใจความทุกข์ ก็อาจจะมีความสุขยิ่งกว่าคนที่สุขภาพดีด้วยซ้ำที่มัวแต่ไปจดจ่อใส่ใจกับความเจ็บความปวด ความไม่สมบูรณ์แบบ หรือความพร่อง
ฉะนั้น มุมมองที่ต่างกัน มันก็มีผล ถ้าไม่สนใจความทุกข์ยาก ความลำบาก แต่ว่ามาสนใจความสุขที่สามารถมีได้จากร่างกายหรือว่าจากการใช้ชีวิต มันก็สามารถจะสุขได้ไม่ยาก แม้จะเจ็บป่วย แต่ก็ป่วยแค่กาย
มีผู้ชายคนหนึ่งเป็นมะเร็งที่ช่องท้อง แม้จะรักษายังไง ปรากฏว่ามันก็ยังหยุดก้อนมะเร็งไม่ได้ ตอนหลังก้อนมะเร็งโตขึ้นๆ จนกระทั่งไปเบียดอุ้งเชิงกราน แล้วก็ไปเบียดเส้นประสาทแถบนั้น ส่งผลไปถึงขาทั้งข้างเลย พอเส้นประสาทมันถูกเบียด มันก็เจ็บปวด ร้าวตั้งแต่ช่องท้องลงมาถึงปลายเท้า ปวดมาก ชนิดที่ว่ามอร์ฟีนก็ดีหรือว่ายาบล็อกสันหลังก็ดี มันก็ไม่ช่วยทำให้ความปวดทุเลาเลย
ทีแรกทรมานมาก แต่ว่าหลังจากที่ทำสารพัดแล้ว ก็ยังไม่หายปวด สุดท้ายก็เลิกที่จะเอาชนะความเจ็บความปวด เลิกดิ้นรนที่จะทำนั่นทำนี่ แล้วก็ยอมรับมัน ไม่คิดจะเอาชนะมันต่อไป ปรากฏว่าสามารถอยู่กับความเจ็บปวดได้
ต่อมามีช่วงหนึ่งไปฉายแสง ก็มีอาการแพ้ คือว่าเป็นไข้ อาเจียน ไข้ขึ้นสูง อาเจียนเป็นลิตรเลย ก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดไข้ แล้วก็แก้อาเจียน แต่ระหว่างที่อาการยังไม่หาย แล้วพยายามทำนั่นทำนี่ เขาสังเกตว่าตัวเองนี้มีความทุกข์มาก ทุกข์มากกว่าตอนที่ปวดขา ปวดช่องท้อง เพราะกล้ามเนื้อมันไปเบียดไปกดเส้นประสาท แล้วตอนนั้นอาการหนักมาก แต่ว่าใจไม่ทุกข์มากเท่ากับตอนที่มันมีไข้ แล้วก็มีอาเจียน
ทั้งที่ไข้และอาเจียนนี้อาการมันเบามาก เมื่อเทียบกับความปวดเพราะกล้ามเนื้อมันไปกดเส้นประสาท แต่ทำไมใจจึงเป็นทุกข์มาก เขาก็พบว่าเป็นเพราะว่าตอนที่เป็นไข้แล้วก็อาเจียน มีความหวังว่ามันจะเยียวยารักษาให้หายได้ มีความหวังว่าถ้าเช็ดตัว กินพารา หรือทำโน่นทำนี่ มันจะหายหรือบรรเทาได้ เพราะว่าอาการนี้มันไม่ได้เลวร้ายเท่าไหร่
ความคิดที่จะเอาชนะ ไม่ว่าจะเป็นไข้ก็ดี ไม่ว่าจะเป็นอาเจียนก็ดี มันเป็นตัวทำให้ใจเป็นทุกข์มาก เพราะมันมีความอยากจะหาย แล้วมันมีความหวังว่าจะหาย มันก็มีความพยายามที่จะสู้กับความเจ็บป่วย อาการหรือท่าทีอย่างนี้ที่ทำให้ใจเป็นทุกข์ ยิ่งกว่าตอนที่ปวดขา ปวดช่องท้อง ทั้งที่ตอนนั้นมอร์ฟีนก็เอาไม่อยู่ บล็อกสันหลังก็ไม่ช่วยเท่าไหร่ แต่ทั้งที่ปวดมากนี้แต่ทำไมใจมันไม่ทุกข์ เหมือนกับตอนหลังเมื่อเป็นไข้แล้วก็อาเจียน
เขาพบว่าเป็นเพราะว่าตอนนั้นมันไม่คิดจะเอาชนะแล้ว ไม่คิดจะเอาชนะความเจ็บปวดเพราะรู้ว่าทำไม่ได้ พอไม่คิดจะเอาชนะ ก็สามารถที่จะอยู่กับความเจ็บปวดได้ เพราะว่าตอนนั้นมันไม่มีความอยากจะหายแล้ว ในขณะที่พอเป็นไข้และอาเจียน มันมีความอยากจะหาย มีความหวังว่าจะหายได้ มันมีความคิดที่จะเอาชนะความเจ็บปวด แต่ในเมื่อความเจ็บปวดยังอยู่ก็เลยมีความทุกข์
สุดท้ายพบว่าเป็นเพราะว่าความคิดอยากจะเอาชนะ ถ้ามีความคิดอยากจะเอาชนะความเจ็บปวด มันจะทุกข์ใจมากเลย ถ้าหากว่าความเจ็บปวดไม่หายหรือยังไม่หาย แต่ถ้าไม่มีความคิดที่จะเอาชนะ เพราะรู้ว่าทำเท่าไหร่ๆ ก็ไม่ได้ผล มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ยอมรับ’ ยอมรับความเจ็บปวด ไม่คิดต่อสู้ แล้วพอยอมรับได้ใจมันก็ทุกข์น้อยลง
นี่คือคำตอบที่ชายคนนี้พบ ความอยากที่จะหาย หรือ ความคิดที่จะเอาชนะความเจ็บปวด มันคือตัวการที่ทำให้เกิดความทุกข์ใจ อันนี้ก็ตรงกับที่หลวงปู่ขาวท่านเคยพูด อันความอยากหายจากทุกขเวทนา ท่านบอกว่า อย่าอยากหาย เพราะถ้าอยากหาย มันจะเป็นตัวเพิ่มสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ ทำให้ทุกข์มากขึ้น
ท่านบอกว่า ถ้าจะอยาก ให้อยากเห็นสัจธรรมที่เกิดกับกายและใจ เห็นสัจธรรมจากทุกขเวทนาที่เกิดกับกายและใจ อยากแบบนี้ดีกว่าเพราะมันคือตัวมรรค ที่ทำให้พ้นทุกข์หรือว่าห่างไกลจากความทุกข์ได้
คนเราพอมันอยากหายแล้ว มันคิดจะเอาชนะความเจ็บปวด คิดจะต่อสู้ แล้วพอไม่หายก็มีอาการทุกข์ ทุกข์เพราะผิดหวัง ตรงนี้ที่มันสร้างความทรมานให้กับใจ ยิ่งกว่าตอนที่ยอมรับความทุกข์ เพราะว่ารู้ว่ามันเอาชนะไม่ได้ เกิดภาวะที่เรียกว่ายอมรับ ยอมรับความเจ็บปวด
การยอมรับความเจ็บปวด มันช่วยลดความทุกข์ไปได้มากเยอะ เพราะคนเราไม่ตระหนักนะว่าเวลาเจ็บปวด มันไม่ได้ปวดแต่กาย มันปวดใจด้วย แล้วที่ปวดใจนี้เกือบจะร้อยทั้งร้อยเลยเป็นเพราะว่ามันไม่ยอมรับความเจ็บปวด มันพยายามต่อสู้กับความเจ็บปวด
พอความเจ็บปวดไม่หาย มันก็เกิดอาการผิดหวัง แล้วเกิดความหงุดหงิด เกิดความโกรธ แต่ทันทีที่เลิกหรือหยุดอยาก ยอมรับมันได้ ความทุกข์ใจก็จะลดลง แล้วพอความทุกข์ใจลดลง ก็เหมือนกับทุกข์มันเหลือแค่ 1 ใน 3 จะรู้สึกเบาลงไปเลย
อย่างมีผู้หญิงคนหนึ่งไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม เธอไม่เคยเข้าคอร์สแบบนี้ คือต้องนั่งปฏิบัติทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น เรียกว่าแม้จะเดินจงกรมก็แทบไม่ค่อยได้เดินเท่าไหร่ คนที่ไม่เคยนั่งนานเป็นชั่วโมงนี้ มันทุกข์มาก ปวด เมื่อย วันแรกก็แล้ว วันที่ 2 ยิ่งหนักกว่าเดิม พอถึงวันที่ 3 นี้มันจะไม่ไหว ทุกข์มาก “ไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้ว..”
แล้วก็พยายามสู้ พยายามข่มใจ “ทนอีกหน่อย อีกสักชั่วโมงนึง” เพราะคิดว่าผ่านไปแล้วอีก 1 ชั่วโมง เดี๋ยวอาจจะมีการพัก มีการยืดเส้นยืดสาย แต่ที่ไหนได้ ก็ยังต้องนั่งต่อไป ถึงตอนนั้น ใจมันบอกว่า “ไม่ไหวแล้ว จะตายแล้ว จะตายแล้ว ตายแน่ๆ ถ้านั่งต่อไปอย่างนี้” มันปวดเหมือนกับว่า กระดูกขานี้มันจะแยกออกจากกันเลย ขนาดนั้นเลย
แต่แล้วก็มีช่วงหนึ่ง ที่มีเสียงในหัวดังขึ้นมาว่า “ตายก็ตายวะ” เท่านั้นแหละปรากฏว่าใจมันเย็น ใจมันเบาเลย พอพูดขึ้นมาว่า “ตายก็ตายวะ” ใจเบาเลย ความปวดทุเลาลงไปเยอะเลย ที่จริงความปวดก็ยังอยู่หมายถึงความปวดกาย แต่ความทุกข์ใจมันลดลงแล้ว เพราะอะไร เพราะมันยอมรับได้
การที่บอกว่า ตายก็ตายวะ ก็คือยอมแล้ว ยอมตาย เลิกดิ้นรน เลิกต่อสู้ เลิกหวัง เลิกพยายาม มันเกิดอาการยอมรับ บางคนเขาใช้คำว่า ‘ศิโรราบ’ ศิโรราบต่อความเจ็บปวด ไม่คิดจะเอาชนะอีกต่อไป ไม่คิดอยากจะหาย พอยอมรับได้นี้ ความทุกข์มันลดลงเพราะจิตมันหยุดดิ้น
เวลาเราทุกข์ใจนี้ มันก็ทุกข์เพราะใจมันดิ้น แล้วมันก็ดิ้นด้วย 2 สาเหตุ 1) ดิ้น เพราะอยากได้ อยากเอา อยากมี 2) ดิ้นเพราะอยากผลักไส
แต่พอหยุดดิ้นเมื่อไหร่ เช่น ในกรณีนี้ก็คือหยุดดิ้นในลักษณะที่ผลักไส ไม่ผลักไสความเจ็บความปวด ไม่คิดจะเอาชนะ จิตมันสงบเลย พอจิตสงบ ความปวดที่มีอยู่มันก็เหมือนกับลดเหลือ 1 ใน 3 เธอก็เลยรู้สึกเบาลงไปเยอะเลย แล้วปรากฏว่าสามารถจะนั่งได้ตลอดทั้งวัน แล้วก็นั่งได้จนครบคอร์สนะ 7 วัน
อันนี้มันชี้ให้เห็นเลย ว่าคนเราถ้าหากว่ามีความเจ็บปวด ถ้าเราอย่างน้อยรู้จักรักษาใจหรือวางใจให้เป็น มันก็ช่วยลดความทุกข์ ความเจ็บ ความปวด ความทรมานได้ ใจนี้ถ้าวางไว้ไม่ถูก มันก็ไปซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ แต่ถ้าวางไว้เป็น มันก็ช่วยลดความทุกข์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการไม่สนใจความทุกข์อย่างผู้หญิงคนแรกที่เป็นปอดติดเชื้อ หรือว่าไม่คิดจะเอาชนะความทุกข์ ความเจ็บ ความปวด หลังจากที่พยายามมาจนกระทั่งรู้ว่าไม่สำเร็จ อย่างชายคนที่เป็นมะเร็งช่องท้อง
หรือพอทำใจยอมรับได้กับความปวดที่เกิดขึ้น ก็ขนาดยอมตายได้หรือตายก็ตายได้วะ มันก็คืออาการของการยอม ยอมศิโรราบ “ตายก็ตายวะ” คำนี้มันช่วยคนหลายคนได้เยอะแล้ว บางคนนี้ไปที่สูง ขึ้นไปแบกเป้ปีนเขา Trekking แถวเนปาล พอขึ้นเขาสูงเกินกว่า 3000 เมตร ถึงระดับ 4000 เมตรนี้ บางคนจะตายให้ได้ เพราะว่าอากาศมันเบาบางมาก ออกซิเจนก็น้อย สมองก็ขาดออกซิเจน ก็เริ่มรวน หายใจติดขัด อ่อนเพลีย เกิดอาการตื่นตระหนก
ยิ่งตื่นตระหนก อาการก็ยิ่งแย่ พอกินยาไม่หายก็ยิ่งทรมานมาก นึกถึงความตายขึ้นมาเลย พอนึกถึงความตายมันก็ยิ่งตื่นตระหนกเข้าไปใหญ่ เพราะยังยอมรับไม่ได้ ยังไม่อยากตาย แต่พอถึงจุดหนึ่ง มันมีคำพูดขึ้นมา “ตายก็ได้” หรือ “ตายก็ตายวะ” ปรากฏว่าความทุกข์มันหายไปเลย หายไปเยอะเลย
อาการตื่นตระหนกมันลดลง การหายใจก็เริ่มกลับมาเป็นปกติ หายใจแม้จะหายใจได้น้อยแต่ก็ไม่ทรมานมาก เพราะมันไม่มีอาการตื่นตระหนก คนเราถ้าตื่นตระหนกแล้ว มันหายใจแบบเฮือก มันหายใจแบบกระเสือกกระสนมาก ซึ่งยิ่งทำให้ร่างกายแย่ลง ใจก็แย่ด้วย แต่พอยอมได้คือ ยอมตาย ตายก็ตายวะ ความตื่นตระหนกมันสยบลงไปเลย
หายใจแม้จะหายใจลำบากแต่ว่าก็เริ่มหายใจได้ทีละนิด ทีละนิด สุดท้ายร่างกายก็ค่อยปรับตัว แล้วก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งกลับมาเป็นปกติ เพราะว่าร่างกายนี้มันก็ค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับอากาศที่บางเบาลงได้ อันนี้เรียกว่ารอดได้เพราะใจ ร่างกายนี้มันพอจะไหวอยู่แล้วถ้าให้เวลามัน แต่ถ้าใจตื่นตระหนกเพราะความกลัว ทนไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มันยิ่งทำให้ร่างกายแย่ลง เรียกว่าใจมันฉุดกายให้แย่ลง
แต่พอใจนี้ยอมรับได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะไม่กลัวแล้ว จะตายก็ตาย ใจก็สงบ กายก็ค่อยๆ ดีขึ้น ยิ่งถ้าเกิดว่ารู้จักเจริญสตินะ สตินี้มันช่วยทำให้ความตื่นตระหนกมันบรรเทาเบาบางลง แล้วยิ่งถ้ารู้จักเอามาใช้ในการมองพิจารณาความเจ็บความปวดยิ่งมีประโยชน์นะ เวลามันหงุดหงิด โมโห เพราะความเจ็บความปวด เห็นมัน เห็นมันตื่นตระหนก
อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนพูดอยู่บ่อยๆ เห็นมันกลัว เห็นมันตื่นตระหนก เห็นมันผลักไส อันนี้เรียกว่า ‘เห็นจิต’ หรือว่าเอามาดูเวทนา เห็นมันปวด เห็นมันปวด พอเห็นมันปวดนี้ มันก็ไม่เกิด ‘ผู้ปวด’ ขึ้นมาแล้ว พอเห็นมันตื่นตระหนก ความเป็น ‘ผู้ตื่นตระหนก’ ก็จะหายไป จิตก็เริ่มกลับมาเป็นปกติ
เห็นมันปวด การผลักไสความปวด หรือ การเข้าไปเป็นผู้ปวด ก็จะเบาบางลง พอไม่เป็นผู้ปวดแล้ว ไอ้ความทุกข์ใจมันก็น้อยลง ฉะนั้นถ้าเราเอาสติมาใช้นะกับใจ กับทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้ใจนี้เป็นปกติได้ แล้วมันทำให้ยอมรับ ให้ยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับกายและใจ แม้กระทั่งเวลาใจตื่นตระหนกก็ยอมรับได้ว่า “เออ มันเป็นเช่นนั้นเอง”
บางทีเราไม่เพียงแต่ต้องรู้จักยอมรับความเจ็บความปวดเท่านั้น แต่ต้องยอมรับใจที่มันยังไม่สามารถจะยอมรับความเจ็บปวดได้ บางทีใจมันตื่นตระหนก นักปฏิบัติหลายคนก็ผิดหวัง ทำไมใจเราเป็นอย่างนี้ เราปฏิบัติมาตั้งนาน ทำไมใจเรายังตื่นตระหนก ทำไมใจเรายังว้าวุ่นฟุ้งซ่าน ทำไมใจของเรายังกระวนกระวาย ถ้ายอมรับอาการของใจไม่ได้ ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่
แต่ถ้ายอมรับได้ว่า เออ ใจมันเป็นอย่างนี้ คุมไม่ได้ ความทุกข์ก็น้อยลง ความผิดหวังในตัวเองหรือในการปฏิบัติก็จะน้อยลง แล้วมันก็ทำให้ทุกข์น้อยลงไปด้วย ฉะนั้นการรู้จักยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เริ่มแต่ความเจ็บ ความปวด หรือยอมรับอาการตื่นตระหนกตกใจ ยอมรับอาการที่ใจมันไม่เป็นปกติ อันนี้จะช่วยทำให้ใจนี้กลับมาเป็นปกติ หรืออยู่กับความเจ็บความปวดได้ พูดง่ายๆ ก็คือว่า กายป่วย แต่ว่าใจไม่ทุกข์.