พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 30 มีนาคม 2567
คนจำนวนไม่น้อยเวลาถูกความทุกข์รุมเร้า เช่น หงุดหงิด ขุ่นเคือง หรือว่าโกรธแค้น กังวล หนักอกหนักใจ สิ่งที่มักจะทำเพื่อแก้ปัญหา ก็คือไปจัดการกับคนหรือสิ่งที่ทำให้ตัวเองเกิดอารมณ์ที่ว่า
ถ้าเพื่อนร่วมงานชอบนินทา หรือว่าไม่รับผิดชอบกับงานการ ทำให้ตัวเองเกิดความหงุดหงิด ขุ่นเคือง ก็อาจจะใช้วิธีไปต่อว่า หรือทำอะไรก็ได้เพื่อให้เขาไม่ทำอย่างที่เคยทำ
ถ้าลูกมีพฤติกรรมที่ทำให้พ่อแม่วิตกกังวล ก็ทำยังไงก็ได้เพื่อที่จะกำราบหรือควบคุมให้เขาอยู่ในร่องในรอย ไม่ทำตัวให้พ่อแม่วิตกกังวล
ถ้าเพื่อนบ้านส่งเสียงดังรบกวนการหลับการนอน ก็คิดแต่ว่าจะไปจัดการเขาอย่างไรจะได้เลิกส่งเสียงรบกวน
แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่พยายามจัดการกับอารมณ์ที่มันรบกวนจิตใจ เช่น กดข่ม บังคับไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นมันมารบกวนจิตใจ ถ้าโกรธก็ไปกดข่มความโกรธ หรือว่าเศร้าเรื่องอะไรก็พยายามบังคับใจไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องนั้น หรือมิเช่นนั้นก็พยายามที่จะพาตัวออกห่างจากสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด ความหนักอกหนักใจ ความไม่พอใจ
ตรงนี้มันมีคนที่มาทำให้หงุดหงิด ทำให้ไม่สบายใจ ก็ไปอยู่ที่อื่น ย้ายไปที่อื่น มีเสียงดังรบกวนก็หลบไปอยู่ที่อื่น อันนี้ก็เป็นวิธีการที่ผู้คนใช้กันอยู่บ่อยๆ ยังไม่นับประเภทว่ากลบเกลื่อนปัญหาหรือว่าลืมปัญหาชั่วขณะ เช่น ไปกินเหล้า ไปเที่ยวคะนอง หรือไปหาอะไรกินให้มันหายเครียด หรืออาจจะไปช็อปปิง ดูหนัง ให้มันลืมๆ เรื่องพวกนี้ไป ซึ่งก็ยังดีกว่าไปพึ่งยาเสพติด
แต่ละคนก็มีวิธีการหลายอย่างในการที่จะจัดการกับความทุกข์ โดยเฉพาะเมื่อเกิดอารมณ์ที่มันมารบกวนจิตใจ แต่ที่จริงมันมีอีกวิธีหนึ่งที่มันเป็นเคล็ดลับหรือไม้เด็ดในการจัดการกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ นั่นก็คือ การมีสติรู้เท่าทัน หรือ เห็นมัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนใช้คำพูดทำนองนี้อยู่บ่อยๆ ว่า “เห็น อย่าเข้าไปเป็น”
การที่จะเห็น ไม่เข้าไปเป็นได้ ก็ต้องอาศัยสติ อันนี้เป็นไม้เด็ดในการจัดการกับอารมณ์ ซึ่งมันดีกว่าการไปสู้กับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่รบกวนจิตใจ ด้วยการไปกดข่มมันหรือว่าบังคับจิตไม่ให้คิด เพราะคิดแล้วมันก็เกิดอารมณ์ หรือบางทีมีความหนักอกหนักใจ แล้วคิดฟุ้งซ่านกังวลจนนอนไม่หลับ ก็พยายามห้ามใจไม่ให้คิด ไม่ให้ความคิดเหล่านั้นมันเกิดขึ้น
ถ้ามีแล้วก็พยายามกดข่มมัน รวมทั้งอารมณ์ต่างๆ เช่น ความเศร้า ความโกรธ พยายามกดข่มมันเข้าไป ซึ่งหลายคนก็พบว่ามันได้ผลชั่วขณะ แต่ว่าสุดท้ายมันก็มารบกวนจิตใจอีก อารมณ์บางชนิด ที่จริงทุกชนิดถ้าเรากดข่มมัน มันก็ไม่ได้ไปไหนหรอก มันก็ซุกซ่อนอยู่ แล้วคอยวันที่จะระเบิดออกมา
อย่างที่เขาเรียกว่าคนที่เก็บกดอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อยาก อยากกินเหล้า อยากช็อปปิง อยากซื้อของ หรือว่าอยากอะไรก็แล้วแต่ กดข่มมันเอาไว้ก็ได้ผลชั่วคราว แต่ว่าพอเผลอเมื่อไหร่มันก็ระเบิดออกมา บางคนกินเหล้าหลังจากที่อดเหล้ามานานเพราะว่าเข้าพรรษา พอออกพรรษาวันแรกเลยก็กินจนไม่เป็นผู้เป็นคน
หรือว่าบางคนเก็บกดในเรื่องทางเพศ พอเก็บกดไม่ไหว มันอัดแน่น มันก็ระเบิดออกมา ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องเสียใจในภายหลัง เพราะว่าเรียกว่าเกิดอาการที่เรียกว่าหน้ามืด หรือบางคนก็เก็บกดความโกรธความหงุดหงิดเอาไว้ จนถึงวันหนึ่งมันก็ระเบิดออกมา เพียงแค่มีคนมาสะกิดเบาๆ พูด อะไรไม่ถูกหูนิดหน่อยก็ปรี๊ดแตก
อาการปรี๊ดแตก เกิดจากการที่ไปกดข่มอารมณ์ เช่น ความหงุดหงิด ความไม่พอใจเอาไว้ เหล่านี้เราเรียกว่าการเก็บกด มันได้ผลชั่วคราวแต่ว่ามันสร้างปัญหาในระยะยาว บางคนก็พยายามที่จะทำให้ไม่ให้เกิดความคิดหรืออารมณ์ขึ้นมาซึ่งยาก ไม่ให้มีอารมณ์เกิดขึ้นกับใจเลยนี้เป็นเรื่องยาก จะพยายามปิดหู ปิดตา ไม่เกี่ยวข้อง อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นภาพหรือเห็นรูปปั้นลิงปิดหู ปิดตา ปิดปาก
ปิดปากมันอาจจะพอได้ แต่ปิดหู ปิดตา หลายคนก็พยายามทำ เพราะคิดว่าถ้าปิดหูปิดตาแล้ว มันไม่มีอารมณ์เกิดขึ้นเมื่อเห็นภาพหรือเมื่อได้ยินเสียง แต่เขาลืมไปว่าหรือไม่รู้ว่าจริงๆ แม้มีอารมณ์เกิดขึ้นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะทุกข์เสมอไป เพราะอารมณ์มันจะทำให้เราทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อมันครอบงำจิตใจ แต่ตราบใดที่มันยังเข้าไปครอบงำจิตใจเราไม่ได้ เราก็ยังไม่ทุกข์
ไม่ใช่ว่ามีอารมณ์ปุ๊บแล้วจะทุกข์ปั๊บ ไม่ใช่ มันต้องเป็นอารมณ์ที่เข้ามาควบคุมจิตใจ เหมือนกับผู้ร้าย ตราบใดที่มันยังเข้าเมืองไม่ได้ มันก็ไม่สามารถสร้างความเสียหายได้ สมัยก่อนจะเข้าเมืองได้ มันก็ต้องเข้าทางประตูเพราะว่าเมืองนี้เขามีกำแพง ผู้ร้ายแม้จะมีเยอะแต่ว่าเข้าเมืองไม่ได้ เมืองก็ยังปลอดภัย แต่จะไม่ปลอดภัยก็ต่อเมื่อมันเข้าเมืองได้แล้วไปก่อกวน
ก็เหมือนกับที่มีคนเขาเปรียบเทียบว่าเรือแม้ว่าจะมีน้ำอยู่รอบๆ มันก็ไม่เป็นอันตรายหรือไม่เป็นไร แต่เรือมันจะล่มหรืออับปางได้ก็ต่อเมื่อน้ำเข้าเรือ ไม่ใช่ว่ามีน้ำอยู่รอบๆ เรือ แล้วเรือจะเกิดโทษเกิดภัย ไม่ใช่ ตราบใดที่น้ำยังไม่เข้าเรือ เรือก็ไม่ล่ม เรือก็ไม่อับปาง
อารมณ์ก็เหมือนกัน แม้มันเกิดขึ้นกับใจ แต่ถ้ามันไม่สามารถมาครอบงำใจได้ ใจก็ยังไม่เป็นทุกข์หรือไม่ตกอยู่ในอำนาจของมัน แล้วอะไรที่จะทำให้อารมณ์เหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถครอบงำใจได้ ก็คือสติ สติมันทำยังไง สติก็มาทำหน้าที่รู้ทัน เห็นอารมณ์ แล้วไม่ปล่อยให้อารมณ์นั้นเข้ามาครอบงำใจ
ท่านจึงเปรียบสติเหมือนกับยามที่เฝ้าประตูเมือง ถ้ายามนั้นแข็งขัน ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ แล้วก็มีปฏิภาณ ไหวพริบ เฉลียวฉลาด ผู้ร้ายหรือว่าข้าศึกศัตรูแม้จะปลอมตัว แม้จะมีอุบายอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะลักลอบเข้าเมืองได้ ถูกยามสกัดกั้น แล้วเมื่อผู้ร้ายเข้าไปในเมืองไม่ได้ เมืองก็ยังปลอดภัย แม้ว่ามีผู้ร้ายหรือว่าศัตรูอยู่นอกเมืองเต็มไปหมด
จิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน แม้มันจะมีอารมณ์เกิดขึ้น แต่ว่าตราบใดที่มันยังเข้าไปรุกรานครอบงำใจเราไม่ได้ ใจก็ยังไม่ทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ ความเศร้า ความเครียด ที่มันเข้าไปไม่ได้หรือทำอะไรจิตใจไม่ได้เพราะมีสติเป็นตัวสกัดกั้น แล้วสิ่งที่สติทำนี้คือ ‘เห็น’ หรือ ‘รู้ทัน’
ที่หลวงพ่อคำเขียนท่านพูดอยู่เสมอ “เห็น อย่าเข้าไปเป็น” มันเป็นเคล็ดลับที่สำคัญในการที่จะรักษาใจให้ปลอดจากความทุกข์ แม้ว่าเราจะยังไม่ได้มีพัฒนาการถึงขั้นไม่ให้มีอารมณ์ใดเกิดขึ้นกับใจเลย ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน อารมณ์ก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่ว่ามันทำอะไรจิตใจไม่ได้เพราะมีสติเห็น
การฝึกสติให้เห็นความคิดและอารมณ์ มันจึงเป็นเป็นเคล็ดลับสำคัญที่จะช่วยรักษาใจของเราให้ปลอดจากความทุกข์ มันดีกว่าวิธีการกดข่มอารมณ์หรือว่าบังคับจิตไม่ให้คิด มันดีกว่าการหนีสิ่งกระทบด้วยการปิดหูปิดตา ไม่ข้องแวะ ซึ่งมันก็ได้ผลชั่วคราว แต่ว่าถึงเวลาเกี่ยวข้องกับมัน ยังต้องเห็น ยังต้องได้ยิน แล้วจะทำอย่างไร ก็ทำได้ถ้ามีสติ
แต่ว่าจำนวนไม่น้อยเลย แม้จะได้ยินคำเทศนาของหลวงพ่อหรือคำบรรยายของอาตมาในเรื่องคุณค่าหรือความสำคัญของ “การเห็น ไม่เข้าไปเป็น” แต่ว่าสังเกตดูมีน้อยคนที่จะสนใจทำจริงจัง ส่วนใหญ่ฟังก็ฟังอย่างอื่นมากกว่า แต่ว่าพอถึงขั้นที่จะปฏิบัติให้ “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่
ผลก็คือว่าไม่ว่าจะฟังเยอะแค่ไหน ฟังธรรมะบ่อยเพียงใด ก็ยังมีปัญหาเหมือนเดิม เจ้าอารมณ์ หรือว่าขี้หงุดหงิด หรือว่ามีความหนักอกหนักใจ ฟังธรรม ดู YouTube มาหลายปี ก็ยังแก้ปัญหาจิตใจของตัวเองไม่ได้
อันนี้ก็เพราะว่าได้แต่ฟังแต่ว่าไม่ได้ปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกจิตให้มีสติเห็นและไม่เข้าไปเป็น ทั้งๆ ที่นอกจากเป็นวิธีที่เรียกว่าเป็นไม้ตายหรือว่าเป็นเคล็ดลับในการจัดการกับอารมณ์ หรือความทุกข์ที่มาเกาะกุมรุมเร้าใจ มันยังเป็นวิธีที่ง่ายด้วย เป็นวิธีที่ง่าย
ง่ายก็คือว่ามันทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องหาเวลามาปฏิบัติ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงานก็ทำได้ แล้วก็ไม่ต้องอาศัยการบังคับจิตเลย ไม่เหมือนกับการมานั่งหลับตาบังคับจิตให้อยู่กับลมหายใจ ให้อยู่กับคำบริกรรมพุทโธ เจริญสติไม่ต้องการบังคับจิตเพื่อไม่ให้มีความคิดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้น
เพราะว่าไม่ว่าจะมีความคิดใดหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็ไม่มีปัญหาหรือว่าดีทั้งนั้น เพราะว่าสติก็ทำหน้าที่แค่รู้ เห็น ไม่เข้าไปทำอะไรกับความคิดและอารมณ์เหล่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องไปบังคับจิตไม่ให้คิด หรือว่าบังคับอารมณ์ไม่ให้ผุดไม่ให้โผล่ อะไรจะเกิดขึ้นก็สามารถจะเป็นอุปกรณ์ในการฝึกให้มีสติรู้หรือว่าเห็นมัน
และอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า มันไม่ต้องใช้ความพยายามเลยการที่จะเห็นความคิดและอารมณ์ หมายความว่ายังไง “ไม่ต้องใช้ความพยายาม” ก็คือว่ามันเป็นสิ่งที่เห็นเอง การที่มีสติเห็นความคิด หากเราใช้ความพยายามที่จะเห็นนี้มันไม่ได้ มันเห็นเอง แต่ว่ามันมีตัวช่วย มีตัวช่วยก็คือว่าการเตือนตัวเองอยู่เสมอ ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้เอาจิตมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าทำอะไรก็ตาม
แม้กระทั่งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ล้างหน้า ถูฟัน อาบน้ำ หรือทำครัว กินอาหาร ก็เตือนตัวเองอยู่เสมอให้ใจมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำในเวลานั้น แล้วก็ตั้งใจที่จะให้ใจนี้อยู่กับสิ่งนั้น อันนี้คือตัวช่วย เพราะว่าถ้าเกิดเราเตือนตัวเองบ่อยๆ ให้ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ให้มาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ แล้วก็ตั้งใจที่จะให้ใจอยู่กับสิ่งนั้น
ถึงเวลาใจมันลอย ใจมันลอยไหลเข้าไปในความคิด จมเข้าไปในอารมณ์ มันจะระลึกได้ มันจะนึกขึ้นมาได้ว่า “เอ๊ะ เราลืมกลับมาอยู่กับปัจจุบัน” การที่เรานึกขึ้นมาได้ว่าเราลืม กลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับกาย กลับมาอยู่กับสิ่งที่ทำ มันก็ไม่ต่างจากการที่เรานึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมโทรศัพท์มือถือ เราลืมกุญแจ เราลืมกระเป๋าเงิน
บ่อยครั้งเราไปทำงาน ออกไปข้างนอกแล้ว เราก็นึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมโทรศัพท์ เราลืมปิดบ้าน ปิดหน้าต่าง การที่เรานึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมนั่นลืมนี่ ถามว่ามันเกิดจากความตั้งใจหรือเปล่า มันไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ มันนึกขึ้นมาได้เอง การที่เรานึกขึ้นมาได้ว่า “เราลืมที่จะมาอยู่กับปัจจุบัน” มันก็เหมือนกัน
เพียงแต่ว่าเวลาเราลืม นึกขึ้นมาได้ว่าลืมกุญแจ ลืมปิดบ้าน ลืมปิดหน้าต่าง มันเป็นเรื่องนอกตัว แต่การที่เราลืม การที่เรานึกขึ้นมาได้ว่า “เราลืมที่จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน” มันก็คือการที่เราลืมตัว
เราไม่ได้ลืมโทรศัพท์ เราไม่ได้ลืมกระเป๋า ลืมกุญแจ แต่เราลืมตัว หรือจะพูดก็ได้ว่าเราลืมกาย เพราะว่าการที่เรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน ก็คือกลับมาอยู่กับกายที่กำลังทำนั่นทำนี่ เช่น อาบน้ำ ถูฟัน กินข้าว
การที่เรานึกขึ้นมาได้ว่า เราลืมตัว หรือ เราลืมกาย มันเกิดขึ้นเอง แต่ว่าถ้าเรานึกขึ้นมาได้บ่อยๆ นึกขึ้นมาได้บ่อยๆ เราจะนึกขึ้นมาได้เร็วขึ้น เราจะนึกได้เร็วขึ้น เราจะนึกได้เร็วขึ้น นึกได้เร็วขึ้น เป็นผลจากการที่ทำซ้ำๆ ปฏิบัติอยู่เรื่อยๆ หรือว่าเตือนตัวเองอยู่บ่อยๆ แล้วก็ตั้งใจที่จะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
แล้วเมื่อเรานึกขึ้นมาได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ อารมณ์หรือความคิดนี้มันก็จะมีอิทธิพลต่อจิตใจเราน้อยลง แต่ก่อนนี้เราคิดไป 7-8 เรื่อง ถึงนึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมตัว เราลืมกลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ แต่ตอนหลังมันจะนึกได้เร็วขึ้น นึกได้เร็วขึ้น
คำว่า “นึกได้เร็วขึ้น” ก็คือสตินั่นแหละ เพราะสติแปลว่าความระลึกได้ เพียงแต่เราไม่ได้นึกขึ้นมาได้ว่าลืมโทรศัพท์ ลืมปากกา ลืมกระเป๋า ซึ่งเป็นเรื่องนอกตัว แต่เรานึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมตัว
แล้วถ้านึกได้บ่อยๆ มันจะนึกได้เร็วขึ้น เร็วขึ้น จนกระทั่งบางทีคิดได้แค่ 1-2 เรื่อง ก็นึกขึ้นมาได้แล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร คือความรู้เนื้อรู้ตัว แล้วตอนนี้มันนึกขึ้นมาได้ ก่อนที่มันจะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาอยู่กับสิ่งที่ทำ มันจะเห็นความคิด มันจะเห็นอารมณ์ที่ใจเราถลำเข้าไป
ตรงนี้แหละ ถ้าเราเห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ เราจะเข้าใจ มันเกิดจากการที่เรานึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมตัว พอเรานึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมตัว มันจะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา จิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วตรงนั้นแหละมันจะเห็นความคิด
พอเห็นความคิด อย่างที่ว่าเห็นบ่อยๆ เห็นบ่อยๆ มันจะเห็นได้ไวขึ้น แล้วสิ่งที่ตามมาก็คือหลุดจากความคิด หลุดจากอารมณ์ ตรงนี้แหละคือการปล่อยวางที่เราสามารถจะทำได้
แล้วเราจะพบว่าการปล่อยวางความคิดและอารมณ์มันไม่ใช่เรื่องยาก หลายคนบอกว่าปล่อยวางมันยาก มันยาก ก็เพราะไม่ได้ฝึก เพราะไม่ได้ปฏิบัติ เพราะไม่สนใจ ได้แต่ฟังธรรม แต่ว่าไม่ได้คิดที่จะทำจริงจัง
หลายคนก็อาจจะลองทำ แต่ว่าทำไปสักพัก แหม มันยังไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่ ก็ยังลืมเหมือนเดิม ก็ยังเผลอเหมือนเดิม ก็เลยเลิกทำ ผลก็คือว่าก็ยังทุกข์อยู่เหมือนเดิม ยังถูกความคิดเล่นงาน ยังถูกอารมณ์ครอบงำรุมเร้า
แล้วก็บ่นโวยวายว่า “ทำไมทำดีแล้วยังไม่ได้ดี” หรือไม่ก็บอกว่า “ปล่อยวางมันเป็นเรื่องยาก” ที่จริงถ้าเกิดว่าทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ซึ่งไม่ได้เรียกร้องให้มาทำที่วัด ทำที่บ้าน ทำที่ห้องนอน ทำที่ห้องน้ำ แม้กระทั่งอุจจาระ ปัสสาวะ พระพุทธเจ้าก็บอกว่าให้ทำความรู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัวเวลากินดื่มเคี้ยวลิ้ม ทำความรู้สึกตัวเวลาสะพายบาตร พาดสังฆาฏิ ครองจีวร อันนี้พระ
ถ้าเป็นฆราวาส ก็คือแต่งเนื้อแต่งตัว สวมเสื้อ ใส่กางเกง ก็ให้มีความรู้สึกตัว หมายความว่าก็ให้ใจมาอยู่กับการกระทำเหล่านั้น และแน่นอนใจมันก็จะเผลอลอยไปโน่นลอยไปนี่ ไม่เป็นไร มันจะมีจุดหนึ่งที่มันนึกขึ้นมาได้ว่า “เอ๊ะ เราใจลอยแล้ว” นึกขึ้นมาได้ว่า “เราลืมตัวแล้ว” เคล็ดลับของการปฏิบัติก็คือว่าให้เกิดโมเมนต์แบบนี้บ่อยๆ คือนึกขึ้นมาได้ว่าเราลืมตัว นึกขึ้นมาได้ว่าเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำ
หรือพูดอีกอย่างก็คือว่านึกขึ้นมาได้ว่าลืมตัวหรือลืมกาย แล้วเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในภาวะที่นึกขึ้นมาได้บ่อย ๆ ต่อไปจะนึกได้เร็วขึ้น ๆ จนกระทั่งมันทันทีเลย อันนี้พอมันเกิดภาวะอย่างนี้บ่อยๆ มันจะเกิดภาวะที่เห็น เห็นความคิด เห็นอารมณ์ แล้วมันทำให้หลุดจากอารมณ์ หลุดจากความคิดได้
เรายังต้องเกี่ยวข้องกับผู้คน ยังต้องเกี่ยวกับคนที่ชอบทำตัวน่าระอา ยังต้องเจอกับเสียงดังจากเพื่อนบ้าน แต่ว่าใจไม่หงุดหงิดแล้ว หรือใจไม่ทุกข์เพราะความหงุดหงิดแล้ว ใจไม่ทุกข์เพราะความขุ่นมัวแล้ว ไม่ใช่ว่ามันไม่เกิด ความหงุดหงิดก็ยังเกิด ความขุ่นมัวก็ยังเกิด แต่ว่ารู้ทันแล้วก็ปล่อยวางได้เร็ว หรือว่าหลุดจากความคิด หลุดจากอารมณ์นั้นได้เร็ว
มีความหนักอกหนักใจเกิดขึ้น แต่ว่ามันจะไม่รุมเร้าจิตใจนานเป็นวันเป็นคืนเหมือนเมื่อก่อน แต่มันจะหลุดไปได้เร็ว เรียกว่าหลุดจากอารมณ์ ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์เกิดขึ้น แต่ว่าอารมณ์มันทำอะไรไม่ได้ มันดีกว่าวิธีกดข่มเยอะ
เคยมีคนถามหลวงปู่ดูลย์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นรุ่นแรกๆ แล้วเขาก็เชื่อว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ถามว่า “หลวงปู่ ทำยังไงจะตัดความโกรธให้ขาดได้” หลวงปู่บอกว่า “ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทันมัน” เมื่อรู้ทันมัน มันก็หายโกรธ หรือว่ามันก็ไม่โกรธอีกต่อไป
หรือท่านใช้คำว่า “เมื่อรู้ทันมัน มันก็ดับไป” อาการที่ดับไปบางทีเราก็เรียกว่าหลุดจากอารมณ์หรือว่าปล่อยวางจากอารมณ์นั้นได้ ปล่อยวางไม่ใช่เรื่องยาก เราสามารถจะปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
แล้วคราวนี้พอเราเห็นความคิดหรือเห็นอารมณ์อยู่เรื่อยๆ เห็นความคิดและอารมณ์อยู่เรื่อยๆ มันจะทำอะไรจิตใจเราได้น้อยลง มันจะเกิดภาวะที่เรียกว่าหลุดจากความทุกข์ หลุดจากอารมณ์
ที่เคยหนักอกหนักใจ มันก็จะไม่หนักอกหนักใจ ที่เคยหงุดหงิด รำคาญ เคียดแค้น จนจิตใจรุ่มร้อน มันก็จะเย็นขึ้น ก็ยังอยู่ที่เดิม ยังเจอกับลูกน้อง หรือว่าเจอกับเพื่อนร่วมงานคนเดิม หรือว่าเจอกับเพื่อนบ้านคนเดิม แต่ว่าใจมันไม่ทุกข์เหมือนก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าจะต้องไปจัดการกับคนเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องหาทางเอาคนเหล่านั้นให้มันหลุดออกไปจากชีวิต หรือว่าพ้นหูพ้นตา
หลายคนคิดแค่นั้น ก็คือว่าทำยังไงก็ได้ให้มันพ้นหูพ้นตาเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน แต่ว่าที่จริงเรามีวิธีที่ดีกว่านั้นที่ทำได้ ก็คือว่าทำให้อารมณ์เหล่านั้นมันไม่ครอบงำใจ หรือทำให้อารมณ์ที่เคยทำความทุกข์ให้กับเรามันพ้นไปจากใจของเรา ไม่ใช่พ้นหูพ้นตา แต่ว่าทำให้พ้นจากใจ ซึ่งวิธีนี้ทำได้ง่ายกว่าเยอะ ถ้าเรามีสติ เพราะว่าเราไม่ต้องทำอะไรกับใคร เราก็แค่มาทำให้ถูกต้องกับความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น อันนี้คือสิ่งที่จะช่วยทำให้เรายังคงความปกติสุขอยู่ได้.