พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 เมษายน 2567
วันสงกรานต์ถือว่าเป็นวันปีใหม่ไทย ถ้ามันจะเป็นวันปีใหม่ไม่ว่าไทยหรือว่าสากล มันก็ควรจะมีความหมายกับเรา ไม่เพียงแค่ความสนุกสนานรื่นเริงแต่ว่าควรจะมีอะไรใหม่ๆ ที่ดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา
ถ้ามองย้อนกลับไปที่วันปีใหม่สากล 1 มกราคม หลายคนก็อาจจะจำได้ว่ามีความตั้งใจอะไรที่จะทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตน สิ่งดีๆ ที่ว่านี้บางคนก็เรียกว่า ‘ปณิธานปีใหม่’ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสติ การปฏิบัติธรรมให้เพิ่มขึ้น การออกกำลังกาย บางคนก็ตั้งใจว่าจะสวดมนต์เป็นประจำทุกเย็นหรือทุกค่ำ หรือบางคนก็ตั้งใจจะฟังธรรมให้ได้ทุกวัน
จากวันนั้นมาถึงวันปีใหม่ไทยมันก็ร้อยวัน มันก็น่าพิจารณาว่าที่ตั้งปณิธานเอาไว้หรือมีความตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆ เราได้ทำจริงหรือเปล่า แล้วทำมากน้อยเพียงใด หลายคนก็พบว่าตั้งใจก็จริง แต่ว่ามาถึงวันนี้ไม่ค่อยได้ทำเท่าไหร่ หรือว่าอาจจะทำแค่ช่วงต้นๆ แต่พอมาถึงตอนนี้ก็ลืมเสียแล้ว เลือนไปเสียแล้ว
อันนี้มันก็น่าคิดว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร อันนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนทั่วไป จนเป็นเรื่องที่รู้กันเลยว่าปณิธานปีใหม่ก็ทำได้แค่ไม่กี่วัน เสร็จแล้วก็เลิกทำ แล้วก็เสียดายเสียใจว่าทำไมเราทำไม่ได้ พอถึงปีใหม่ครั้งหน้าก็ตั้งใจอีก แต่พอผ่านไปไม่กี่วัน ไม่ถึงเดือน ก็ทำไม่ได้ เหลวอีกตามเคย เป็นอย่างนี้บ่อยมากเลย แล้วก็เป็นกับคนทั้งโลกก็ว่าได้
คราวนี้ในเมื่อปีใหม่ไทยมาถึง ก็ควรที่จะมารื้อฟื้นปณิธานปีใหม่ที่เคยตั้งเอาไว้ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ปีใหม่ไทยมาถึงก็ควรที่จะรื้อฟื้นปณิธาน แล้วก็ทำให้มันได้จริง ๆ เสียที มันถึงจะเรียกว่าเป็นปีใหม่ไทยสมชื่อ ไม่ใช่แค่วันหยุดยาว
การที่เราจะทำให้ปณิธานที่ตั้งเอาไว้มันเป็นจริง ไม่ใช่แค่ความฝันลมๆ แล้งๆ นับแต่นี้ไปมันก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าเป็นเพราะอะไร ทำไมตั้งใจไว้แล้วทำไม่ได้ อาจจะบอกว่าเป็นเพราะยังตั้งใจไม่พอ แต่มันก็มีปัจจัยมากกว่านั้น หลายคนก็ตั้งใจจริงๆ แต่ว่าพอทำไป ๆ ก็ค่อย ๆ ลืม ค่อย ๆ เลือน แล้วก็ทำไม่ได้ซึ่งมันก็ชี้ว่าความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ
เพราะเหตุว่าสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ความตั้งใจของเรามันเป็นจริงได้ มันมีเยอะมากเลย แล้วที่สำคัญก็คือว่า ความเคยชินเดิม ๆ บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเพราะวิถีชีวิตเดิม ๆ ชีวิตที่เร่งรีบ ชีวิตที่มีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนมากมาย ทำให้ 1) ไม่มีเวลาที่จะทำอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะมันมีอะไรให้ทำเยอะแยะไปหมดเลย หรือ 2) มันมีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนให้ทำอย่างอื่นจนลืมทำสิ่งที่ตั้งใจทำ
อันนี้คือสิ่งที่หลายคนก็คงตระหนัก อย่างหลายคนมาเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม 7 วัน ตั้งใจเลยว่ากลับไปนี้ฉันจะเดินจงกรมให้ได้อย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เช้า-เย็น เช้า-เย็น หรือตั้งใจว่าจะฟังธรรมวันละ 1 เรื่อง 1 กัณฑ์ แต่พอกลับไปถึงบ้าน กลับไปสู่ความเคยชินเดิม ๆ มันก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แค่ 2-3 วัน เพราะว่าความเคยชินเดิม ๆ รวมทั้งจังหวะชีวิตเดิม ๆ มันรุนแรง มันเหมือนน้ำที่เชี่ยว
สิ่งที่เราตั้งใจว่าจะทำมันเป็นของใหม่ บางทีมันก็ไปสวนทางกับความเคยชินเดิม ๆ ก็เหมือนกับว่าไปทานกระแสน้ำเชี่ยวก็ทานได้ไม่เท่าไหร่ สุดท้ายก็ยอมแพ้ก็ต้องไหลไปตามกระแสน้ำ หรือความเคยชินเดิม ๆ เช่น หมดเวลาไปกับการดูโทรศัพท์มือถือ เล่นโทรศัพท์มือถือ หมดเวลาไปกลับการดูหนัง ฟังเพลง การเล่นโซเชียลมีเดีย หรือการทำงาน การพูดคุยกับคนสารพัด
อันนี้แสดงว่าเพียงแค่ความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ตามความตั้งใจนี้ก็สำคัญแต่อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีตัวช่วย
ตัวช่วยอย่างหนึ่งที่หลายคนพบว่าได้ผล ก็คือว่าการตั้งใจหรือปักหมุดลงไปเลยว่าสิ่งที่อยากจะทำ แล้วอยากจะทำทุกวัน แต่ละวันนี้ฉันจะทำกี่นาที ทำเวลาไหนกี่โมงถึงกี่โมง แล้วก็ทำที่ไหน คือทำให้ความตั้งใจของเรานี้มันออกมาเป็นรูปธรรม แม้จะยังอยู่ในกระดาษก็ตาม
หลายคนบอกว่า “ฉันจะทำให้ดีที่สุด” คนที่พูดแบบนี้มักจะทำไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ เพราะว่าไม่มีการปักธงหรือปักหมุดให้มันชัดเจนว่าจะทำอย่างไร กี่นาที ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง แล้วก็ที่ไหน ตรงไหน การที่เรากำหนดให้มันชัดเจนว่าทำวันละกี่นาที เช่น จะเดินจงกรมวันละกี่นาที ช่วง 7 โมงเช้า ถึง 7 โมงครึ่ง อาจจะในห้องนอน หรือว่าจะชั้นล่าง หรือว่าในสวน
การที่กำหนดชัดเจนอย่างนี้มันเป็นการย้ำความตั้งใจ แล้วคนเราพอย้ำความตั้งใจ พอถึงเวลาที่กำหนด เช่น 7 โมง มันก็จะลืมยาก แต่ถ้าไม่กำหนด บอกว่า “ทำเมื่อว่าง” อันนี้เสร็จแน่เลย เพราะว่าเราจะพบว่ามันไม่มีเวลาว่างสักที
อย่างที่หลายคนมักจะบอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลา ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ก็เพราะว่ากิจวัตรความเคยชินเดิมๆ นี้มันท่วมท้นจนกระทั่งหาเวลาว่างที่จะทำอย่างอื่นเพิ่มเติมไม่เจอ
แต่ถ้ากำหนดไปชัดเจนเลยว่าจะทำวันละกี่นาที ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง ทำที่ไหน จะฟังธรรมตรงไหน จะสวดมนต์ตรงไหน ห้องนอน ห้องพระ ชั้นล่าง ชั้นบน พอถึงเวลาหรือพอเห็นสถานที่นี้มันก็จะนึกออก แล้วก็เกิดความตั้งใจที่จะทำแม้ว่ามันจะมีอะไรต่ออะไรที่จะมาชวนให้เราทำอย่างอื่นมากกว่า
เคยมีการทดลองทำกับคนประมาณ 200 กว่าคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม เพื่อจะดูว่าการออกกำลังกายจะทำให้สม่ำเสมอได้ไหม หรือว่าจะทำให้เกิดขึ้นบ่อยได้ไหม
กลุ่ม 1 ให้คำถามว่า “คุณออกกำลังกายบ่อยไหมใน 1 อาทิตย์” แล้วก็แนะนำว่าให้ออกกำลังกายบ่อยๆ
กลุ่มที่ 2 ก็ทำเหมือนกัน แต่ว่ามีการเพิ่มแรงจูงใจ ให้อ่านบทความ หรือว่าดูคลิปสารคดีว่าการออกกำลังกายมันมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร อันนี้เรียกว่าเพิ่มแรงจูงใจให้เห็นว่าออกกำลังกายมันดี ทำให้แข็งแรง ทำให้หายเจ็บหายป่วย ทำให้อายุยืน ทำให้สุขภาพกายสุขภาพใจดี เป็นการสร้างแรงจูงใจ
กลุ่มที่ 3 ทำเหมือนกลุ่มที่ 2 แต่ว่าไม่ได้เพิ่มแรงจูงใจด้วยการให้ดูคลิปวีดีโอหรือว่าอ่านบทความอะไรที่พูดถึงประโยชน์ของการออกกำลังกาย แต่ให้แต่ละคนวางแผนเลยว่าแต่ละวันจะออกกำลังกายเวลาไหน เมื่อไหร่ ที่ไหน และนานเท่าไหร่
เสร็จแล้วพอผ่านไป 3 อาทิตย์ พบว่ากลุ่ม 1 กลุ่ม 2 ก็มีแค่ประมาณ 30-35% ที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนกลุ่มที่ 3 มี 90% ที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ว่าที่ตั้งใจว่าจะออกกำลังกายนี้มันทำได้อย่างที่ตั้งใจ เพราะว่ามีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะออกกำลังกายนานเท่าไหร่ เมื่อไหร่ แล้วก็ที่ไหน
อันนี้เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนสามารถทำอย่างที่ตั้งใจได้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ว่าทำแค่วันสองวันแล้วก็อ่อนแรง ความตั้งใจก็อ่อนแรง หรือไม่ก็พ่ายแพ้ต่อความเคยชินเดิม ๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคยชินเดิม ๆ มันเป็นอุปสรรคมากที่ทำให้เราไม่สามารถจะทำสิ่งใหม่ที่ดีได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การกินอาหารสุขภาพ การปฏิบัติธรรม การเจริญสติ การสวดมนต์ การฟังธรรม หรือแม้กระทั่งการศึกษาหาวิชาความรู้
แล้วพบว่าตัวช่วยอีกตัวหนึ่ง ก็คือการที่เราผูกสิ่งที่จะทำ เอาสิ่งที่ตั้งใจจะทำไปผูกติดไว้กับสิ่งที่เราทำอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว เช่น กินข้าว อาบน้ำ ล้างจาน อันนี้เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าเราเอาสิ่งใหม่ที่เราอยากจะทำไปผูกติดไว้กับสิ่งนั้น เช่น ตั้งใจว่ากินข้าวเสร็จก็จะเดิน เดินสบายๆ ออกกำลังกาย หรือล้างจานเสร็จ ฉันก็จะไปนั่งสมาธิ หรือว่าอาบน้ำเสร็จ ฉันก็จะไปเดินปฏิบัติธรรมหรือฟังธรรม
การที่เราเอาสิ่งใหม่ที่อยากจะทำไปผูกติดไว้กับสิ่งที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว มันทำให้เราหลงลืมได้ยาก แล้วเป็นการเอานิสัยหรือการกระทำเดิม ๆ ที่ทำเป็นประจำมาเป็นตัวช่วย หากเราไม่เอาสิ่งเหล่านี้มาผูกติดกับสิ่งที่เคยทำไว้เดิมอยู่แล้ว มันก็ลืม แต่ถ้าเกิดว่าเราตั้งใจว่ากินข้าวเสร็จก็จะเดินออกกำลังกาย หรือว่าล้างจานเสร็จ ฉันก็จะไปนั่งฟังธรรม ฟังบรรยายสัก 15 นาที หรืออาบน้ำเสร็จ ฉันก็จะไปเดินจงกรม เราจะไม่ลืม
ใหม่ ๆ ก็อาจจะเตือนใจตัวเองสักหน่อย แต่ต่อไปก็จะทำได้ดีขึ้นๆ หรือบางคนอาจจะคิดว่าทุกครั้งที่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ ก่อนที่จะไปรับโทรศัพท์ ฉันก็จะตามลมหายใจสัก 1 ครั้ง หายใจเข้าหายใจออกสัก 1 ครั้ง หายใจเข้าหายใจออกสัก 2 ครั้ง ฉันถึงจะไปรับโทรศัพท์
วิธีนี้ก็เปิดโอกาสให้เราได้เจริญสติสั้นๆ ทุกวัน แล้วก็วันละหลายครั้ง เพราะส่วนใหญ่ก็มีเสียงโทรศัพท์ดังหลายครั้งใน 1 วัน ดังทุกทีก็กลับมาตามลมหายใจ กลับมาทำความรู้สึกตัว แม้ชั่วแวบเดียว แต่ถ้าทำบ่อย ๆ ทำทุกวัน วันละหลายครั้ง มันก็มีอานิสงส์มาก
อย่างที่เคยพูดไว้วันก่อนว่าเพียงแค่เราตั้งใจจะทำดี ทำสิ่งดีๆ สักวันละ 1% หรือเพิ่มขึ้นจากวันก่อน 1% ครบปีนี้มันเพิ่มขึ้นเป็น 37 เท่า จาก 1% มันเพิ่มเป็น 37 เท่า อันนี้ก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้เราสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ เรียกว่า ‘โหน’ โหน เอาของใหม่ที่อยากจะทำนี้โหนกับนิสัยเดิมที่ทำอยู่แล้ว
แล้วตัวช่วยอีกอย่างหนึ่งก็คือการใช้สถานที่ให้เป็นประโยชน์ เวลาเราตั้งใจจะทำสิ่งใดที่เป็นสิ่งใหม่ ควรจะทำในสถานที่ที่มันเอื้อ มันเกื้อกูล สถานที่มันก็มีผล เช่นตรงไหนที่เราใช้ดูหนัง ใช้เล่นโทรศัพท์มือถือ ตรงนั้นถ้าเราตั้งใจว่าจะนั่งสมาธิหรือว่าฟังธรรมะ มักจะเหลว เพราะว่าห้องนั้น ที่นั้น โต๊ะนั้น เก้าอี้นั้น พอเรานั่งทีไร มันก็ชวนให้นึกถึงสิ่งที่เราทำเป็นประจำ คือ เล่นโทรศัพท์ ดูหนัง
คนเราเวลาทำอะไรเป็นนิสัยในที่ใด พอไปเจอที่นั้นหรืออยู่ตรงนั้น มันก็จะหวนนึกถึงสิ่งที่เราทำเป็นประจำ ซึ่งถ้าหากว่าเราอยากจะทำสิ่งใหม่ เราก็ต้องเลือกที่ที่จะทำ ไม่ใช่ทำที่เดิม ถ้าอยากจะนั่งสมาธิ อยากจะสวดมนต์ ก็ควรทำในสถานที่ที่เราไม่ได้ใช้กับการทำงาน เล่นโทรศัพท์ หรือว่าออนไลน์ เพราะขืนไปตรงนั้น ห้องนั้น บริเวณนั้น มันก็จะนึกถึงแต่สิ่งที่เคยทำเป็นประจำ
ความเคยชินเดิม ๆ มันก็จะถูกกระตุ้นเร้า แล้วก็ทำให้ความเคยชินใหม่มันเกิดขึ้นไม่ได้สักที อันนี้ก็เช่นเดียวกัน มีผู้รู้เขาก็แนะนำว่าคนที่นอนไม่หลับ ควรจะเข้านอนก็ต่อเมื่อง่วงหรือต่อเมื่อเหนื่อย ถ้ายังไม่ง่วง ยังไม่เหนื่อย ก็อย่าเพิ่งเข้านอน ไปนั่งทำอะไรที่ห้องอีกห้องหนึ่งเสียก่อน จนกว่าจะง่วง จนกว่าจะเหนื่อย
คล้ายๆ เป็นการสอนให้ร่างกายมันรู้ว่าเตียงนี้มันมีไว้เพื่อนอน เพื่อพักผ่อน แต่บางคนถ้าเกิดว่าใช้เตียงนั้นเพื่ออ่านหนังสือ เพื่อโทรศัพท์พูดคุย หรือใช้เล่นโซเชียลมีเดีย เขาก็ไม่แนำ บอกว่าคนที่มีปัญหาเรื่องการนอน ถ้าจะดูโทรศัพท์ จะเล่นโทรศัพท์ จะพูดคุยกับใคร จะอ่านหนังสือ ให้ไปทำที่อื่น อย่าไปทำบนเตียง ให้สงวนเตียงไว้สำหรับการนอนอย่างเดียว
อันนี้เป็นคำแนำสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอน เพื่อให้ร่างกายมันรับรู้ว่าเตียงนี้มีไว้สำหรับนอน หรือให้เชื่อมโยงเตียงเข้ากับการนอน ร่างกายคนเรามันเรียนรู้ อย่างเช่น เวลานั่งสมาธิ เขาถึงบอกไงว่าให้นั่งหลังตรง อย่าพิงเสา ถ้าพิงเสามันจะง่วงเพราะว่าร่างกายเรามันถูกสอนมาว่าเมื่อง่วงนอนก็ให้พิงเสา หรือเมื่อพักผ่อนก็ให้พิงเสา พอถึงเวลาเราพิงเสานี้ มันทำท่าจะง่วง มันทำท่าจะอยากจะนอนท่าเดียว จะไม่ค่อยมีความรู้สึกตัว
เพราะฉะนั้นสถานที่ก็สำคัญสำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการนอน ถ้าจะดูโทรศัพท์ ถ้าจะคุยกับใคร ถ้าจะทำงาน อ่านหนังสือ ก็ให้ไปทำที่อื่น อย่าไปทำบนเตียง หรืออย่าไปทำบนที่นอน เช่นเดียวกัน คนที่ตั้งความตั้งใจว่าจะกินอาหารสุขภาพแต่ว่าทำไม่ได้สักที ชอบกินชอบซื้อแต่ของหวาน มีไขมัน
เขาก็แนำว่าเวลาไปซื้อของ ให้ไปซื้อร้านใหม่เลย อย่าไปซื้อร้านเดิม เพราะถ้าไปร้านเดิม มันก็จะไปที่เดิม ไปตรงจุดเดิมที่เคยซื้อของที่ชอบ ของที่หวาน ของที่มีไขมัน มันก็เลยเลิกไม่ได้สักที เพราะความเคยชินมันถูกสร้างเอาไว้แล้วว่าให้มันผูกติดกับสถานที่
ถ้าต้องการสร้างนิสัยใหม่ ก็ต้องไปใช้อาศัยสิ่งแวดล้อมใหม่ เช่นไปร้านใหม่ พอไปร้านใหม่ มันก็จะไม่ไปมองหาแต่ของชอบที่เคยกิน แต่ว่าอยากจะเลิกกินเพราะว่าไม่ดีต่อสุขภาพ นี่ก็เป็นตัวช่วยซึ่งมันทำให้นิสัยความเคยชินใหม่ๆ นี้เกิดขึ้นได้
มันก็คล้าย ๆ กับคนที่เวลามาวัด แล้วเลิกบุหรี่ได้ เลิกเหล้าได้ แต่พอกลับไปบ้านทีไร หวนกลับไปสู่นิสัยเดิม เพราะว่านิสัยเดิมมันไปผูกติดกับสถานที่ พอกลับไปสถานที่เดิม นิสัยเดิมก็เกิดขึ้น มันก็ถูกกระตุ้นเร้าทันที
เขาจึงบอกว่าถ้าอยากจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกการพนัน มันต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าไปอยู่สิ่งแวดล้อมเดิม นิสัยเดิมก็จะเลิกยาก นิสัยใหม่ก็จะสร้างขึ้นได้ยากเหมือนกัน อันนี้เป็นตัวช่วยที่ควรจะเอามาใช้เพื่อเสริมความตั้งใจ อย่าไปคิดว่าความตั้งใจอย่างเดียวมันจะพอ มันต้องมีตัวช่วยที่จะทำให้เราสามารถทำอย่างที่ตั้งใจได้ รวมทั้งการสร้างสิ่งแวดล้อม
อันนี้คือเหตุผลที่พระจึงมีวินัยซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยทำให้ความตั้งใจของพระที่มาบวชมันสัมฤทธิ์ผล มีความตั้งใจอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีสิ่งแวดล้อมที่มันเกื้อกูลด้วย แต่ว่าฆราวาสจะให้มีสิ่งแวดล้อมแบบพระก็ยาก
แต่ว่าเราสามารถที่จะสร้างตัวช่วยของเราเอง ที่จะทำให้เราสามารถทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ได้ ทำให้ปณิธานนี้มันเป็นจริง ไม่ว่าเป็นการออกกำลังกาย การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ การเจริญสติ หรือว่าการฟังธรรม.