พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 17 เมษายน 2567
ระหว่างที่เราสวดมนต์ทำวัตร รวมทั้งระหว่างที่เราฟังธรรม หรือแม้แต่ทำกิจอย่างอื่นในชีวิตประจำวัน ทั้งก่อนที่จะมาทำวัตรหรือว่าหลังทำวัตร ให้ลองสังเกตดู มันจะมีหลายครั้งทีเดียวที่ใจเราไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไหร่ ตอนนั้นเราเรียกว่าไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือรู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ อาจจะเป็นช่วงสั้น ๆ หรืออาจจะเป็นช่วงยาวเป็นนาที
ถามว่าตอนนั้นใจเราอยู่ไหน ส่วนใหญ่ก็จะไหลหรือแว่บไปตามที่ต่างๆ ซึ่งที่จริงก็คือไหลไปตามความคิด แว่บไปอยู่กับเรื่องราวต่างๆ ที่คิดขึ้นมา ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ผ่านไปแล้ว แล้วคุ้ยขึ้นมาใหม่ ก็เป็นเรื่องอนาคตที่ปรุงแต่งสร้างภาพขึ้นมา แล้วไปแต่ละทีก็ไปนาน หรือบางทีก็ไปจากเรื่องนั้นไปสู่เรื่องนี้ ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของความคิดทั้งนั้น
ให้เราสังเกตดูว่า ที่ใจเราไหลไปตามความคิด ก็เพราะว่ามันหลงเชื่อความคิด มีความคิดอะไรเกิดขึ้น มันก็สามารถที่จะโน้มน้าวใจเราให้ไหลไปเป็นคุ้งเป็นแควได้ ถ้าเราจะฝึกให้เกิดความรู้สึกตัว หรือเห็นความสำคัญของความรู้สึกตัว ก็จำเป็นที่จะต้องรู้ทันความคิด โดยเฉพาะความคิดที่มันผุดขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจหรือแบบไม่รู้ตัว เพราะถ้าเราไม่รู้ทันความคิด มันก็จะลากใจเราไป ทำให้เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ใจเรามันหลงเชื่อความคิดได้ง่ายๆ ถ้าหากว่าเราไม่ได้ฝึกให้หมั่นรู้ทันความคิด ความคิดมันก็จะพาใจเราออกจากความรู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งก็หมายความว่าอาจจะทำอะไรผิด ๆ พลาด ๆ หรือถ้าเป็นการฟังก็อาจจะฟังได้ไม่ปะติดปะต่อ
แล้วมันไม่ใช่แค่นั้น พอใจไหลไปตามความคิดแล้วก็จะเกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา เช่น ความเศร้า ความอาลัย เวลาเรานึกถึงคนรัก ของรักที่สูญเสียไป จะเป็นทรัพย์สินเงินทอง ข้าวของเครื่องใช้ สัตว์เลี้ยง หรือว่าคนรัก ซึ่งมีทั้งจากตายและจากเป็น มิเช่นนั้นก็เกิดความโกรธ นึกถึงคนที่เขาโกหกเรา หักหลังเรา หลอกลวงเรา เอาเปรียบเรา ต่อว่าด่าทอเรา
หรือบางทีก็เกิดความเครียด เกิดความหนักอกหนักใจ เมื่อนึกถึงงานที่ยังค้างคาอยู่ นึกถึงปัญหาที่คาดว่าจะเกิด นึกถึงหนี้ที่ยังไม่ได้ชำระ ปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ มันจะเกิดอารมณ์ต่างๆ ซึ่งเราเรียกว่าความทุกข์ ก็ล้วนแต่เกิดจากความคิด
แต่ความคิดมันทำอะไรเราไม่ได้ ถ้าหากเรารู้ทันมัน ปัญหาคือเราไม่รู้ทันมัน แล้วเราก็หลงเชื่อเมื่อมันผุดขึ้นมา ความคิดมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน มีประโยชน์มากด้วย มันช่วยเราแก้ปัญหาต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการทำมาหากิน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูแลคนรักพ่อแม่ ลูกหลาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการวางแผนชีวิต เพื่อให้เกิดความปกติสุขความเจริญงอกงาม
แต่ว่ามันก็มีความคิดบางประเภทที่มันไม่ได้เกิดจากปัญญา มันไม่ได้เกิดจากเมตตา แต่มันเกิดจากกิเลส เกิดจากความหลง ความคิดแบบนี้แหละ ถ้าหากเราไม่รู้ทัน มันก็พาเราไปจมอยู่ในอารมณ์หรือห้วงแห่งความทุกข์ โกรธ เศร้า น้อยอกน้อยใจ เครียด เกลียด คับแค้น แล้วพอเรามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ใจมันก็จะถอนจากอารมณ์เหล่านั้นได้ยาก เพราะว่าความคิดมันจะสรรหาเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราคล้อยตาม แล้วก็หลงจมอยู่ในอารมณ์นั้น
เช่นเวลาโกรธ โกรธใครก็ตาม ทั้งที่ความโกรธมันเผาใจเราให้รุ่มร้อน แต่ก็ยังอยากจะโกรธต่อไป เพราะมันมีความคิดว่าต้องโกรธมัน เพราะว่ามันแย่ เราจะให้อภัยมันได้อย่างไร มันเลว บางทีก็คิดไปถึงวิธีการที่จะตอบโต้และสั่งสอน จะปล่อยให้มันทำอย่างนี้กับเราไม่ได้ มันก็จะได้ใจ มีเหตุผลมากมายที่จะชักจูงโน้มน้าว หรือแม้กระทั่งล่อหลอกให้เราหลงเชื่อ แล้วก็จมอยู่ในอารมณ์นั้น
เวลาเศร้าก็เศร้าดิ่งลงไปในความโศก บางทีก็มีเสียงทักท้วงว่าอย่าเศร้ามากไปเลย เราต้องเดินหน้าต่อไป แต่มันก็จะมีอีกเสียงหนึ่งบอกว่าต้องเศร้า เพราะเรารักเขา ถ้าเราไม่เศร้าก็แสดงว่าเราไม่รักเขาสิ ถ้าเราไม่ร้องไห้ฟูมฟาย ก็แสดงว่าเราไม่ได้ซาบซึ้งในบุญคุณของเขาสิ มันมีความคิดแบบนี้ ว่าต้องเศร้าเพื่อยืนยันหรือเพื่อแสดงว่าเรารักเขา มันก็เป็นเหตุผลที่ความเศร้ามันก็สรรหามาเพื่อที่มันจะได้ครองจิตครองใจเราต่อไป
ความอยากก็เหมือนกัน เวลาเราอยากจะซื้ออะไรทั้งๆ ที่มีเสื้อหลายตัวแล้ว มีรองเท้าหลายคู่ ความอยากมันก็จะสรรหาเหตุผลมามากมายว่าน่าซื้อเพิ่ม น่ามีอีก เพราะว่ามันราคาถูก เพราะว่าอาจจะมีโอกาสได้ใช้ในวันข้างหน้า เพราะว่ามันเป็นรุ่นใหม่ มันจะมีเหตุผลมากมายที่ทำให้เราใจอ่อน ยอมซื้อมาอีก ทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้ใช้เพราะว่ามีของเดิมอยู่แล้วมากมาย
บางทีอยากจะเลิกเหล้า แต่ว่าพอเห็นเหล้าแล้ว มันก็มีเหตุผลมากมายที่จะกินเหล้า เขาอุตส่าห์ชวน ปฏิเสธเขามันน่าเกลียด หรือไม่ก็บอกว่าเอาหน่อย ครั้งนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว การพนันก็เหมือนกัน ทั้งที่อยากจะเลิกแต่ก็เลิกไม่ได้ มันมีเหตุผลมากมายที่กระตุ้นให้ต้องเล่นต่อ เพื่อเอาคืนหรือมีหวังว่าจะได้คืน มันก็หาเหตุผลมาล่อหลอกให้เราทำตามอำนาจของมัน
ทั้งหมดนี้มันก็มาในรูปของความคิดหรือเหตุผล แล้วถ้าเราเกิดหลงเชื่อคล้อยตามความคิดเหล่านั้น ก็เท่ากับเราตกเป็นเหยื่อตกเป็นทาสของกิเลสต่อไป หรือว่าทำให้เราไม่สามารถจะออกจากอำนาจของมันได้ เหตุผลมันไม่ใช่ว่าดีเสมอไป เพราะบางครั้งมันก็ไม่ใช่เหตุผลที่มาจากปัญญา แต่เป็นเหตุผลของกิเลสที่เกิดขึ้นเพื่อให้เราสนองตอบมัน ปรนเปรอมัน หรือปกป้องมัน
มีคุณยายคนหนึ่งก็อายุมากแล้ว จะ 90 แล้ว ลูกก็อยากจะดูแลแม่ให้มีสุขภาพดี มีอายุยืนยาวไปนานๆ ก็เลยพิถีพิถันในเรื่องของการกินการดื่มของแม่ จะซื้ออาหารก็ซื้อแต่ที่มันมีน้ำตาลน้อย มีไขมันน้อย แต่ยายหรือแม่ชอบของหวาน แต่ลูกก็ไม่ค่อยซื้อมา แม่ก็ขอร้องว่าแม่อยากกินข้าวเหนียวทุเรียน แม่อยากกินขนมหม้อแกง ให้แม่กินหน่อยเถอะ วิงวอนลูก ลูกก็อ้างสุขภาพของแม่ แม่ก็บอกว่าให้แม่กินหน่อยเถอะ แม่ก็คงจะอยู่ได้ไม่นาน พอมาไม้นี้ ลูกก็ยอมซื้อให้แม่ ยอมหาซื้อของหวานให้แม่กิน
แต่ครั้นวันหนึ่งลูกอยากจะชวนแม่เข้าวัด ฟังธรรม วัดมีการปฏิบัติธรรม มีการฝึกเรื่องการเจริญมรณสติ ลูกก็เห็นว่าแม่ก็อายุมากแล้ว ถ้าได้ฟังธรรมะเรื่องแบบนี้ ก็จะได้ตั้งจิตอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมพร้อมสำหรับความตายที่จะมาถึง พอชวนแม่แม่ก็ปฏิเสธ แม่บอกว่าเอาไว้วันหลังเถอะ แม่ยังอยู่ได้อีกนาน ตอนจะกินของหวาน จะกินข้าวเหนียวทุเรียน ก็บอกว่าแม่จะอยู่ได้ไม่นานแล้ว ให้แม่กินเถอะ แต่พอจะชวนแม่ฟังธรรม เข้าหาธรรม ก็บอกว่าแม่ยังอยู่ได้อีกนาน
เหตุผล 2 ข้อนี้มันขัดกัน แต่ว่ามันก็ออกมาจากปากของคนได้ง่ายๆ เพราะว่ามันเป็นเหตุผลที่กิเลสมันสรรหาขึ้นมา เพื่อที่มันจะได้กินได้เสพสิ่งที่อยาก แล้วขณะเดียวกันก็จะได้มีข้ออ้างในการผลักไสสิ่งที่ไม่ชอบ พอจะกินของหวาน ก็บอกว่าแม่อยู่ได้ไม่นาน แต่พอจะเข้าวัดฟังธรรม ก็บอกว่าแม่ยังอยู่ได้อีกนาน บางทีตัวยายอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพูดอะไรไป หรือว่าสรรหาเหตุผลที่ขัดแย้งกัน เพราะว่าตกอยู่ในอำนาจของกิเลส มันสรรหาเหตุผลมา ก็คล้อยตามมันง่ายๆ ไม่รู้จักทักท้วง
คนเราถ้าหากว่าหลงเชื่อกิเลส คล้อยตามกิเลส มันก็ยากที่จะออกจากความทุกข์ หรือว่ามีชีวิตที่ผาสุกตั้งมั่นได้ ฉะนั้นจำเป็นมากที่เราต้องรู้เท่าทันความคิด เพราะถ้าเรารู้ทันความคิด ต่อไปเราก็จะรู้ทันกิเลสที่อยู่เบื้องหลังความคิดต่างๆ หรือที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลนานาชนิดที่ดูสวยหรู
แล้วถ้าเรารู้ทันความคิดต่อไปเราก็จะรู้ทาง จับทางได้ว่ากิเลสมันจะมาไม้ไหน เราก็จะไม่เชื่อมันง่ายๆ เพราะถ้าเราเชื่อมัน ก็ยากที่เราจะหลุดจากความทุกข์ได้ หลงเชื่อกิเลสเมื่อไหร่ มันก็พาเราไปสู่ความโศกความเศร้า ความโกรธ ความคับแค้นในที่สุด ยังไม่ต้องพูดถึงความเจ็บความป่วย หรือว่าความทุกข์ทางกายภาพ
ความคิดของคนเราโดยเฉพาะที่มันถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจของกิเลส อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องรู้เท่าทัน และกิเลสที่ว่ามันไม่ใช่มีแค่โทสะ โลภะอย่างเดียว ความสำคัญมั่นหมายในตัวกู หรือที่พระท่านเรียกว่ามานะ ก็สำคัญ เพราะว่าคนเราถ้าหากว่าไม่รู้เท่าทันตัวกิเลสอัตตาหรือมานะ ก็จะหลงเชื่อเหตุผลและความคิดที่อัตตามาปรุงแต่งขึ้น รวมทั้งความคิดที่เราไปยึดว่าเป็นเราเป็นของเรา
ความคิดใดถ้าหากว่าเรายึดว่าเป็นของเรา เราก็จะมองเห็นแต่ว่าเป็นของดี ไม่เห็นข้อบกพร่องเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นความคิดของคนอื่นที่ต่างจากความคิดของเรา เราจะเห็นข้อบกพร่องเต็มไปหมดเลย แล้วเราก็จะอาจจะแย้งความคิดเหล่านั้น พร้อม ๆ กับที่ปกป้องความคิดของเรา ซึ่งที่จริงแล้วคือการทำตามอำนาจของอัตตา ตัวกูก็มักจะบอก มันจะยืนยันว่ากูเก่ง กูถูก กูดี ความคิดของกูเป็นความคิดที่ดี
เขาเคยมีการสอบถาม เป็นการทดลองกับคนกลุ่มหนึ่ง ให้ทำโจทย์ง่ายๆ เป็นคำถามง่ายๆ แล้วก็ให้แต่ละคนตอบคำถามนั้น คำถามก็อาจจะมีสัก 10 ข้อ แล้วก็ตอบเป็นการแสดงความเห็น อย่างเช่นว่า ทำไมคนเราจึงควรออกกำลังกาย ทำไมคนเราจึงไม่ควรสูบบุหรี่ อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็ให้แสดงความเห็น
แต่ละคนก็แสดงความเห็นไป สั้น ๆไม่ยาว เสร็จแล้วเขาก็จะให้ลองทบทวนดูว่าคำตอบหรือความเห็นที่ว่ามา มีอะไรจะแก้ไขไหม ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าดีแล้ว คำตอบหรือความเห็นที่ให้ไปถือว่าดีแล้ว ไม่มีอะไรแก้ไข
ผ่านไปสักพักหนึ่ง ก็คงเป็นหลายชั่วโมง ผู้วิจัยก็เลือกคำถามบางคำถามมาให้แต่ละคนได้ดูพร้อมกับคำตอบ คำตอบหรือความเห็นของตัวเองที่เคยตอบไปแล้ว เอามาดูใหม่พร้อมกับคำตอบหรือความเห็นของคนอื่นที่แตกต่างจากของตัว แต่มีทริกตรงที่ว่าคำตอบที่ว่าเป็นของคนอื่น
แต่ที่จริงก็คือคำตอบหรือความเห็นของตัวเองนั่นแหละ ส่วนที่บอกว่าเป็นคำตอบหรือความเห็นของเขา ที่จริงเป็นความเห็นของคนอื่น
แล้วเขาก็ถามว่าหลังจากที่เห็นคำตอบหรือความเห็นของตัวแล้ว และเห็นความเห็นหรือคำตอบของคนอื่นแล้ว มีอะไรจะแก้ไขไหม ประมาณครึ่งหนึ่งก็จะเอะใจแล้ว คำตอบหรือความเห็นที่บอกว่าเป็นของคนอื่น มันของฉันที่ฉันพึ่งตอบไปเมื่อสัก 2-3 ชั่วโมงที่แล้ว และคำตอบหรือความเห็นที่บอกว่าเป็นของฉัน มันไม่ใช่ของฉัน ฉันจำได้ว่าฉันไม่ได้ตอบแบบนี้ ครึ่งหนึ่งเขาจะเริ่มผิดสังเกต
แต่อีกครึ่งหนึ่งก็ไม่มีความสงสัยอะไร แล้วเขาก็จะวิจารณ์คำตอบหรือความเห็นที่อ้างว่าเป็นของคนอื่น บอกว่าเป็นความเห็นที่มีข้อบกพร่องผิดพลาดอย่างโน้นอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้เลยว่าความเห็นที่ตัวเองวิพากษ์วิจารณ์ หรือชี้ว่ามีข้อบกพร่อง ที่จริงก็คือความเห็นของตัวเอง เมื่อ 2-3 ชั่วโมงที่แล้วเอง
การทดลองนี้เขาต้องการที่จะบอกว่า ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าบอกว่าเป็นความเห็นของเรา เราจะปกป้อง เราจะเห็นว่ามันถูก แต่ถ้าบอกว่าเป็นความเห็นของคนอื่น เราจะวิพากษ์วิจารณ์ เราจะเห็นข้อบกพร่อง อันนี้มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความยึดมั่นในความเห็นของตัว
คนเราถ้าเป็นความเห็นของฉัน มันก็ดีหมด แต่ถ้าเป็นความเห็นของคนอื่นมันจะมีข้อบกพร่อง ทั้ง ๆ ที่เป็นความเห็นของตัว ถ้าอ้างว่าเป็นความเห็นของคนอื่น จะวิพากษ์วิจารณ์แหลกเลย จะเห็นข้อบกพร่องเต็มไปหมด อันนี้เขาต้องการชี้ให้เห็นว่าคนเรามีอคติ มีความโนมเอียงที่จะเห็นว่าความเห็นของตัวเองถูก ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากออกมาจากปากของคนอื่น จะรู้เลยว่ามันไม่ถูก มันผิด แต่ถ้าเป็นความเห็นของฉันเมื่อไหร่ มันจะถูกเสมอ
อันนี้ก็เป็นเรื่องของอคติที่มันผูกโยงกับความยึดมั่นว่าของกู ๆ
ฉะนั้นคนเราพอมีความคิดหรือความเห็นในเรื่องใดก็ตาม พอไปยึดว่าเป็นของกู ๆ มันจะเห็นว่าเลิศประเสริฐเลย แล้วจะไม่ยอมเปลี่ยนง่ายๆ แม้จะมีข้อมูลหรือเหตุผลที่ดีกว่ามาหักล้าง แต่ก็จะไม่เปลี่ยน
เขาเคยทดลองเอาคนที่มีความเห็นต่างกัน เช่น คนหนึ่งบอกว่ากัญชาเสรีดี อีกคนบอกว่ากัญชาเสรีไม่ดี คนที่บอกว่ากัญชาเสรีดี เขาก็จะเอาข้อมูลทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาให้ดู คนที่บอกว่ากัญชาเสรีไม่ดีเขาก็จะเอาข้อมูลทั้งสองฝ่ายมาให้ดู แล้วพบว่าข้อมูลที่ให้กับ 2 ฝ่าย มันไม่มีผลในการเปลี่ยนความเห็นของทั้งสองฝ่ายเลย
คือคนที่คิดว่ากัญชาเสรีดีอยู่แล้ว แม้จะได้เห็นข้อมูลที่ชี้ถึงโทษของกัญชาเสรี ก็ไม่เปลี่ยนใจ กลับปักใจยืนยันว่ากัญชาเสรีดี ยืนยันหนักแน่นกว่าตอนแรก เพราะว่าได้เห็นข้อมูลที่พูดถึงประโยชน์ของกัญชาเสรีด้วย คือโทษของกัญชาเสรีไม่สนใจ สนใจแต่ข้อมูลที่พูดถึงข้อดีของกัญชาเสรี ก็ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นว่าการใช้เสรีดี
ส่วนคนที่บอกว่ากัญชาเสรีไม่ดี แม้จะเห็นข้อมูลที่บอกว่าก็ชาเสรีมันดี เขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจแต่ข้อมูลที่บอกว่ากัญชาเสรีไม่ดี ข้อมูลเหล่านี้ก็ไปย้ำทำให้เขามั่นใจว่ากัญชาเสรีไม่ดี
อันนี้ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราเมื่อมีความเชื่อ มีความคิดใดก็ตาม แม้จะเจอข้อมูลที่หักล้าง ที่ขัดแย้งก็ไม่เปลี่ยนใจ ข้อมูลไม่ได้ช่วยทำให้คนเราเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนความเห็นได้เลย เพราะว่าเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าความคิดของฉันดี เจอข้อมูลที่แตกต่างที่ขัดแย้งก็ไม่สนใจ สนใจแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความเห็นเดิมของฉัน คนเราเป็นอย่างนี้
ซึ่งมันชี้ให้เห็นว่า คนเรามีความยึดมั่นในความคิดความเชื่อของตัวมาก และมีโอกาสที่จะคล้อยตาม คล้อยตามยังไม่พอ ปกป้องด้วย ทั้ง ๆ ที่อาจจะเป็นความเห็นที่ผิดก็ได้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องระวัง
เพราะฉะนั้นการที่เรารู้ทันความคิด แล้วรู้จักทักท้วงความคิด มันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเลย เพราะไม่อย่างนั้นเราจะหลงเชื่อความคิดตะพึดตะพือ เพียงแค่ว่าเป็นความคิดของฉันก็หลงเชื่อแล้ว และก็ปกป้องทั้งที่มันอาจจะผิดก็ได้ การเจริญสติทำให้เรามีโอกาสที่จะรู้ทันความคิด แล้วก็ทักท้วงความคิดด้วย ไม่หลงเชื่อง่าย ๆ แล้วก็ทำให้เราสามารถจะเป็นอิสระจากความคิด หรือว่าเปิดโอกาสให้ความคิดหรือความเห็นที่มาจากปัญญาจริง ๆ มันทำงาน เข้ามาเป็นตัวนำพาชีวิตเราไปสู่ทางที่ถูกต้องได้
ไม่ใช่หลงเชื่อแต่ความคิดหรือเหตุผลที่กิเลสสรรหา หรือปกป้องความคิดที่มันผิดพลาด เพียงเพราะเป็นความคิดของกูเท่านั้น.