พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็น วันที่ 20 เมษายน 2567
การสวดมนต์ การเจริญสติ การนั่งสมาธิ หรือแม้แต่การฟังธรรม และการออกกำลังกาย หลายคนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะให้ทำเองจะรู้สึกเป็นเรื่องยาก ทำในวัด หรือทำกับหมู่มิตร เช่น เวลามีคอร์สปฏิบัติธรรม ไม่ยากหรอก แต่พอทำคนเดียวที่บ้าน ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าดีมีประโยชน์ แต่ว่าหลายคนกลับทำไม่ได้ หรือว่าถ้าจะทำก็รู้สึกว่าต้องเคี่ยวเข็ญตนเองมาก โดยเฉพาะตอนที่เริ่มทำใหม่ ๆ
ถ้าทำจนเคยชินก็ไม่ยาก เพราะว่าอะไรที่ทำเป็นประจำจนเป็นนิสัยเป็นเรื่องง่าย ทำโดยที่ไม่ได้คิดอะไรมากก็สำเร็จ แต่ถ้าอะไรที่ไม่เคยทำแต่ว่าเห็นว่าควรทำเพราะว่าดี พอเริ่มทำเราจะรู้สึกว่ามีแรงต้านมากมาย เพราะว่าสิ่งที่ดี ๆ มักจะสวนทางกับกิเลสและความเคยชินของเรา
คนส่วนใหญ่พอมีเวลาว่างจะใช้เวลานั้นไปกับการเล่นโทรศัพท์มือถือ เล่นโซเชียลมีเดีย(Social Media) ไถหน้าจอ หรือถ้ามีเวลามาก ๆ นาน ๆ อาจจะดูหนัง ดูซีรีย์ หรือมิฉะนั้นก็คลุกคลีตีโมงพูดคุยกับผู้คน จะเอาเวลาส่วนหนึ่งหรือจะแย่งเวลาจากกิจกรรมเหล่านี้ไปทำสิ่งที่ควรทำอย่างที่ว่ามาได้ยากมาก จะมีข้ออ้างเยอะ
หลายคนจะอ้างว่าไม่มีเวลา ๆ ไม่มีเวลาเจริญสติ ไม่มีเวลาฟังธรรม ไม่มีเวลาสวดมนต์ ไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ว่ามีเวลาให้กับโทรศัพท์มือถือ ให้กับ Social Media ให้กับการสังสรรค์ การคลุกคลีตีโมง วันหนึ่งหลายชั่วโมงทีเดียว เพราะว่าถูกใจกิเลส
พอถูกใจกิเลสจึงทำเป็นประจำจนเป็นนิสัยความเคยชิน พอจะทำอะไรใหม่ ๆ แม้จะรู้ว่าดี ไม่มีข้อโต้แย้ง แต่เริ่มทำไม่ได้สักที รู้สึกว่าการเริ่มทำเป็นเรื่องยากมาก และพอทำแล้วจะรู้สึกฝืนทำ เรื่องง่าย ๆ จึงกลายเป็นเรื่องยาก เพราะว่าใจไม่คล้อยตามใจ ใจยังหวนนึกถึงสิ่งที่ชอบมากกว่า Social Media, Line, Facebook หรือว่าทำอย่างอื่นที่เพลิดเพลิน ฉะนั้น หลายคนเวลาทำสิ่งดี ๆ อย่างที่ว่ามาจะรู้สึกว่าต้องขับเคี่ยวกับกิเลสของตัว ต้องฝืนใจทำสิ่งเหล่านั้น
ในเมื่อเป็นเรื่องยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ อย่าไปเพิ่มเติมความยากให้มากขึ้น พยายามทำให้เป็นเรื่องง่ายเท่าที่เราจะทำได้ แม้ว่าจะฝืนกับกิเลส ฝืนกับความเคยชินก็ตาม เช่น เวลาจะทำสิ่งเหล่านี้ ลองเลือกทำในช่วงเวลาที่เรารู้สึกสบาย ในช่วงเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย สดชื่นแจ่มใส
เวลาไหน อาจจะเป็นเวลาเช้า ตื่นเช้าขึ้นมาเรายังสดชื่น เรายังรู้สึกสบาย ๆ การที่เราจะทำสิ่งเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเดินจงกรม นั่งสมาธิ สวดมนต์ ฟังธรรม หรือออกกำลังกาย เพราะว่าอากาศหรือช่วงเวลาเป็นใจ หรือมิฉะนั้น ช่วงเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลาย อย่างเช่น ใกล้นอน เลิกงาน แดดร่มลมตก หลายคนรู้สึกผ่อนคลาย เป็นช่วงเวลาที่เราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย
แล้วพอเราเริ่มลงมือทำสักครั้งหนึ่ง ครั้งที่ 2 จะตามมาได้ไม่ยาก และครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ทำไปเรื่อย ๆ จะกลายเป็นกิจวัตร กลายเป็นนิสัย พอกลายเป็นนิสัยแล้ว จะทำได้ง่ายแล้ว
แต่นอกจากการเลือกช่วงเวลาที่สบาย ๆ ผ่อนคลาย สิ่งที่เราตั้งใจจะทำ ถ้าเราเริ่มต้นจากการทำน้อย ๆ จะเป็นเรื่องง่ายที่จะเริ่มทำให้ต่อเนื่อง อย่างเช่น การเจริญสติ หลายคนหลังจากเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมมา 7 วัน ตั้งใจว่า “กลับไปบ้าน ฉันจะปฏิบัติให้ได้อย่างน้อยวันละชั่วโมง หรือว่าจะเจริญสติทุกเช้าครึ่งชั่วโมง เย็นครึ่งชั่วโมง”
หลายคนคิดว่าไม่ยาก เพราะว่ามาปฏิบัติธรรมที่วัด ทำทั้งวัน 7-8 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น กลับไปบ้านทำแค่ครึ่งชั่วโมง จะยากอะไร แต่พอลองทำดูจะพบว่าไม่ใช่ง่าย เพราะว่าข้ออ้างเดิมจะตามมาว่า ไม่มีเวลา ๆ มีอะไรให้ทำเยอะแยะไปหมด ตามความเคยชินเดิม ๆ ซึ่งเราไม่ค่อยได้แยกแยะว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ เพียงเพราะว่าเป็นกิจวัตรที่ทำอยู่เป็นประจำจึงต้องทำ หรือว่าทำโดยที่ไม่ได้คิดอะไร จนทั้งวันไม่มีเวลาว่างที่จะให้สิ่งใหม่ ๆ ดี ๆ แทรกเข้าไปหรือเพิ่มเติมเข้าไป
ส่วนหนึ่งเพราะว่าไม่ได้ตั้งใจจริงจังกับสิ่งที่เราอยากจะทำ แต่ถ้าเกิดว่าเราลองทำให้เป็นเรื่องง่ายสักหน่อย คือว่า เริ่มต้นจากสัก 5 นาที 10 นาที อย่าไปดูแคลน 5 นาที 10 นาที ขอให้ทำทุกวันก็แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นสวดมนต์ หรือว่านั่งสมาธิ หรือแม้แต่ฟังธรรม รวมทั้งออกกำลังกายด้วย
เริ่มต้นจากน้อยไปหามาก อันนี้ง่ายกว่าเริ่มมาก ๆ แล้วสุดท้ายทำได้น้อยลงไปเรื่อย ๆ จนเลิกทำในที่สุด เพราะว่าไม่มีเวลา ตรงข้าม ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่ง่ายก่อน คือทำน้อย ๆ ทำไม่นาน แต่ทำทุกวัน ๆ พอเป็นนิสัยแล้ว จะขยายจาก 5 นาที เป็น 10 นาที ไม่ใช่เรื่องยาก แล้วพอทำไปสักพัก ขยายจาก 10 นาที เป็น 15 นาที เป็นเรื่องง่ายขึ้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การเริ่มต้นทำ แล้วธรรมชาติคนเราจะเริ่มต้นทำอะไรควรจะเป็นการเริ่มต้นที่ง่าย
ฉะนั้น นอกจากเริ่มจากการทำไม่นาน หรือว่าเริ่มต้นจากการทำด้วยความรู้สึกสบาย ๆ แล้ว การทำใจให้ผ่อนคลายก็สำคัญ ทำอะไรควรจะทำด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย มีความสุข เพราะสิ่งดี ๆ ถ้าหากว่าเราทำด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ๆ จะมีแรงจูงใจให้ทำไปเรื่อย ๆ ทำได้ทุกวัน เพราะว่าความสุขเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงความดีที่มีประสิทธิภาพมาก
ทำความดี ทำสิ่งดี ๆ แต่ไม่มีความสุข กล้ำกลืนฝืนทน ในที่สุดก็ทำได้ไม่นาน แต่ถ้าเราทำอะไรมีความสุข ทำได้นาน เช่น เรียนหนังสืออย่างมีความสุข ทำให้เรารักการอ่าน รักการเรียน มีความเพียร คะแนน เกรดจะมีความหมายน้อยลง เพราะว่าแค่ได้อ่าน ได้ศึกษา เราก็มีความสุขแล้ว
การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราทำด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ๆ ออกกำลังกายก็เหมือนกัน สวดมนต์ก็เช่นเดียวกัน ระหว่างที่ทำเราทำด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ๆ ทำให้วันรุ่งขึ้นหรือวันต่อไปอยากจะทำอีก และถ้าเราอยากจะทำแบบนี้ไปทุกวัน ๆ ก็กลายเป็นนิสัยได้ไม่ยาก
การที่เราจะรู้สึกสบาย ๆ ส่วนหนึ่งเพราะว่าเราลดความคาดหวังลง เช่น เวลานั่งสมาธิ อย่าไปคาดหวังว่าจะต้องสงบ บางคนทำไปไม่กี่วัน บอกว่า “เลิกทำแล้ว” “ทำไมหรือ” “มันฟุ้งเหลือเกิน นั่งสมาธิ ทำทีไรทีไรก็ฟุ้งทุกที” ถามว่า “ทำนานเท่าไร” “ทำ 5 นาที”
ทำ 5 นาทีแล้วฟุ้งเป็นเรื่องธรรมดามาก หรือไม่อาจจะทำ 10 นาที ยังฟุ้งอยู่ เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรายอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา นั่งสมาธิแล้วฟุ้ง เจริญสติแล้วใจเตลิด ถ้าเราไม่คาดหวังว่าจะต้องนิ่ง จะต้องสงบ จะต้องรู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลา การทำก็ไม่ใช่เรื่องยาก
ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือว่า หวังสูง หวังผลเร็ว ทำได้ไม่กี่วัน พอใจไม่สงบก็เลิกทำ ท้อ เพราะคิดว่าได้ผลช้า แต่ถ้าเราทำแบบสบาย ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวดมนต์ นั่งสมาธิ หรือว่าออกกำลังกาย แทนที่จะวิ่งวันละครึ่งชั่วโมง เริ่มต้นจาก 5 นาทีก่อน 10 นาที ระหว่างที่วิ่งจะมีความเหนื่อยอย่างไรก็อย่าไปคาดหวังมากว่ามันจะดีขึ้นหรือว่าจะสมบูรณ์แบบในเวลาไม่กี่วัน
ฉะนั้น ถ้าเราวางใจแบบนี้กับการนั่งสมาธิ กับการเจริญสติ รู้บ้าง หลงบ้าง ไม่เป็นไร แต่ขอให้ทำทุกวัน ทำเล่น ๆ ไป
คำแนะนำที่อาตมาได้รับจากหลวงพ่อเทียน วันแรกที่ไปปฏิบัติที่วัดสนามใน คือ ท่านแนะว่าให้ “ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ” คือ ทำทั้งวัน แต่ว่าให้วางใจสบาย ๆ อันนั้นทำได้เพราะว่าอยู่ในวัด ใคร ๆ เขาก็ทำ ใคร ๆ เขาก็เดิน แต่ถ้าเกิดว่าเรากลับไปทำที่บ้าน จะให้ทำทั้งวันเป็นเรื่องยาก แต่ว่าให้ทำเล่น ๆ อันนี้ง่ายกว่า
ถ้าเราเริ่มจากการทำสิ่งดี ๆ ที่ควรทำ ที่อยากทำเป็นประจำ ด้วยการทำให้เป็นเรื่องง่าย ใช้เวลาไม่นาน ทำด้วยความรู้สึกสบาย ๆ ไม่หวังผลมาก ไม่เอาคุณภาพ แต่ว่าเอาให้ได้ปริมาณที่ตั้งเอาไว้ เริ่มต้นจากน้อยไปหามาก เราจะมีกำลังใจในการทำทุกวัน ๆ ๆ จนกระทั่งกลายเป็นนิสัย พอเราทำเป็นนิสัยหรือทำเป็นประจำ ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว
สิ่งที่จะต้องตระหนักคือว่า อย่าให้กลายเป็นเรื่องของการทำไปตามรูปแบบ หรือว่า สักแต่ว่าทำ ถึงจุดหนึ่งเราต้องกลับมาพิจารณาว่า ที่เราทำจิตใจเป็นอย่างไร หลายคนสวดมนต์ พอสวดมนต์ไปทุกวัน ๆ กลายเป็นว่า ปากว่าไป แต่ใจไม่รู้อยู่ไหน เพราะว่าสวดเป็นประจำ จึงเป็นการสวดแต่รูปแบบ แต่ว่าใจไม่ได้มีสติกับการสวด
หรือบางคนหนักกว่านั้น สวดไปหงุดหงิดไป ไม่ใช่หงุดหงิดเพราะมีเสียงรบกวน ไม่ใช่มีคนมาขวาง มีคนมารบกวน เช่น ลูกมารบกวน หรือว่ามีเสียงโทรศัพท์มารบกวน แต่ว่าหงุดหงิดเพราะว่าบทสวดนาน โดยเฉพาะคนที่เริ่มต้น สวดบทยาว ๆ หรือถึงแม้จะไม่ได้เพิ่งเริ่มต้นสวด ไม่ใช่เพิ่งสวด แต่ว่าสวดเป็นประจำ แต่ตอนหลังรู้สึกหงุดหงิดเพราะว่ายาว อันนี้เรียกว่าวางใจไม่ถูก
ถามว่าทำไมถึงยังสวดอยู่ เพราะว่าทำเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว จึงต้องทู่ซี้สวด อันนี้ไม่ถูก หรือไม่เช่นนั้นก็เพราะว่า ตั้งเป้าว่าจะสวดให้ได้ 108 จบ มีบางคนสวดมนต์ตั้งเป้า ทุก ๆ คืนจะสวด อิติปิโส 108 จบ ปรากฏว่าพอสวดไปได้แค่ 60 จบ 70 จบ ก็รู้สึกหงุดหงิดแล้วว่าเมื่อไรจะจบสักที ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่าวางใจผิดแล้ว เพราะว่าการสวดกลายเป็นหน้าที่
ถ้าหากรู้สึกว่าใจไม่พร้อมที่จะสวด 108 จบ ก็สวดเท่าที่พอจะสวดได้ ที่จริงสวดจบเดียวก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่บางคนไปเข้าใจว่าส่วน 108 จบ จะขลัง สวดเอาความขลัง จึงต้องทู่ซี้สวดให้ได้ 108 จบ แต่ว่าสวดไป ๆ ก็เบื่อ สวดไปก็หงุดหงิดไปว่าเมื่อไรจะจบ เมื่อไรจะจบเสียที
อันนี้ไม่ต่างจากคนที่เดินจงกรม ตั้งเป้าว่าจะเดินให้ได้ชั่วโมงหรือครึ่งชั่วโมง เดินไปก็บ่นไป เดินไปก็หงุดหงิดไป เมื่อไรจะครบชั่วโมงเสียที เมื่อไรจะครึ่งชั่วโมงสักที ถ้าทำอย่างนี้ ถ้ารู้สึกแบบนี้ เลิกดีกว่า เพราะว่าเราทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้ใจสงบ ทำเพื่อให้ใจเป็นกุศล แต่ทำแล้วใจหงุดหงิด เพราะว่าไม่ยอมเลิกสักที หรือคิดแต่ว่าเมื่อไรจะเสร็จ ๆ
ต้องถามตัวเองว่าเราทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้ใจสงบ แต่ถ้าหากว่าใจเกิดไม่สงบเพราะการทำสิ่งนั้น แสดงว่าวางใจผิดแล้ว เรามาปฏิบัติธรรม เจริญสติ สวดมนต์เพื่อให้ใจสงบ แต่ใจกลับรุ่นร้อนทุกครั้งที่ทำ นั่นเป็นเพราะว่าเราวางใจผิด เป็นเพราะว่าเราไปให้ความสำคัญหรือไปติดที่รูปแบบมากกว่าเนื้อหาหรือจุดมุ่งหมาย
กลับมาทำใจให้สบาย ๆ ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ ยังไม่ต้องคิดถึงว่าเมื่อไรจะเสร็จ ๆ เพราะนั่นเป็นเรื่องอนาคต ถ้ารู้สึกว่าสวด 108 จบ นานไป สวดทีไรก็หงุดหงิดทุกที เพราะได้แต่นึกว่าเมื่อไรจะเสร็จ ๆ สวดจบเดียวก็พอแล้ว แต่ขอให้สวดทุกวัน และสวดแต่ละครั้งก็สวดด้วยใจที่สดชื่นเบิกบาน เป็นกุศล ดีกว่าสวด 108 จบ หรือสวด 30 จบ แล้วจิตใจขุ่นมัว อันนี้สู้สวดจบเดียวแล้วจิตใจสบายไม่ได้
หลายคนมีปัญหาอีก เวลาสวดมนต์ หรือว่าเวลาฟังธรรม หรือว่าเวลาเจริญสติ ใจนึกถึงสิ่งที่จะทำต่อไป เดี๋ยวจะต้องไปเช็ค Mail เดี๋ยวจะต้องโทรศัพท์ไปคุยกับแม่ พอใจคิดถึงเรื่องที่จะต้องทำต่อไปหรือทำลำดับถัดไป เกิดความรุ่มร้อน อยากจะรีบทำให้เสร็จ ๆ จะได้ไปทำสิ่งที่อยากจะทำในลำดับถัดไป
อันนี้เราต้องวางใจ คือ ต้องวางสิ่งที่อยากจะทำลำดับถัดไป คืออะไร สำคัญแค่ไหน วางเอาไว้ก่อน ให้เราเอาใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเจริญสติ ทำสมาธิ สวดมนต์ ฟังธรรม หรือว่าออกกำลังกาย ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าสักแต่ว่าทำ แต่ว่าเป็นแค่รูปแบบ แต่ว่าใจไม่ได้อยู่กับสิ่งที่ทำ
แล้วขณะเดียวกัน ต้องตระหนักว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคกับการทำสิ่งดี ๆ ก็คือ กิจวัตรเดิม ๆ ซึ่งเป็นการทำเพื่อสนองกิเลส หลายคนไม่สามารถทำสิ่งดี ๆ ได้ เพราะว่าใจยังติดอยู่กับ หรือหวนนึกถึงการเล่นเกม การดูหนัง การออนไลน์ แล้วหลายคนจะพบว่าห้ามใจลำบาก รู้ว่าไม่ดี แต่ว่าห้ามลำบาก
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะการทำวัตรสวดมนต์ การเจริญสติ การออกกำลังกาย แม้กระทั่งการทำงาน หลายคนไม่มีสมาธิกับการทำงาน ไม่มีสมาธิกับการศึกษาหาความรู้เลย ไม่ว่าเตรียมสอบ หรือเตรียมทำวิทยานิพนธ์ เพราะว่าติดเกม ติดโทรศัพท์มือถือ รู้ว่าไม่ดี แต่ห้ามไม่ได้
ถึงตอนนี้ต้องรู้จักทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องยาก สิ่งดีต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย สิ่งไม่ดีต้องทำให้เป็นเรื่องยาก
อย่างเช่น มีบางคนบอกว่าอดไม่ได้ที่จะต้องเล่น Social Media เวลาทำงาน วิธีแก้ก็คือ ให้เพื่อนหรือให้แฟนเป็นคนกำหนด Password ตัวเองไม่รู้ คนที่รู้ก็คือเพื่อน หรือว่าแฟน หรือบางทีก็เป็นลูกน้อง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ไม่สามารถจะเข้าไปใช้สื่อออนไลน์ได้ เพราะไม่รู้ Password เพราะคนที่กำหนด คนที่ตั้งคือคนอื่น
จนกระทั่งถึงวันศุกร์ เขาถึงจะบอก Password มาให้ ทำให้สามารถออนไลน์ได้เย็นวันศุกร์จนกระทั่งถึงเช้าวันจันทร์ และนอกนั้นก็ออนไลน์ไม่ได้ เข้า Social Media ไม่ได้ เขาพบว่าดีมาก ทำให้เขามีเวลาที่ทำงาน มีเวลาทำงานได้เยอะ เพราะไม่อย่างนั้น อดไม่ได้ที่จะต้องไปใช้ Social Media ไปเล่นเกมบ้าง อะไรบ้าง
หรือบางคนนอนดึกเพราะว่าติดเกม ติดออนไลน์ ห้ามใจเท่าไรก็ห้ามไม่ได้ ต้องเข้านอนตี 1 ตี 2 ทุกคืน เสียงานเสียการ จึงใช้วิธีตั้งเวลากับเครื่องปล่อย WiFi ที่เขาเรียกว่า Router พอถึง 4 ทุ่มปุ๊บ WiFi หยุดทำงาน ออนไลน์ไม่ได้ แปลว่าได้เวลานอนแล้ว
หรือบางคนเป็นคนที่ชอบชอปมาก ชอปจนกระทั่งไม่มีเงินเหลือ เป็นหนี้เป็นสิน มีบัตรเครดิตก็เอาเงินจากบัตรเครดิตมาใช้จนกระทั่งหมดวงเงิน เขาทำอย่างไรรู้ไหม ในเมื่อห้ามใจไม่ได้ เขาเอาบัตรเครดิตใส่ไว้ในขวดแก้วที่มีน้ำเต็ม แล้วเอาขวดนั้นไปเข้า Freezer ให้แข็งเลย ถึงเวลาจะช้อปออนไลน์ อยากได้อะไร ต้องไปหยิบเอาบัตรเครดิตมา แต่หยิบไม่ได้ เพราะว่ามันแข็งเสียแล้ว ต้องรอให้น้ำแข็งละลายก่อน กว่าน้ำแข็งจะละลาย 15 นาที ถึงตอนนั้นก็ได้สติแล้ว
หรือบางคนชอบไปเข้าห้างแล้วซื้อโน่นซื้อนี่ ซื้อแล้วซื้ออีก จนกระทั่งเป็นหนี้เยอะแยะ เขามีวิธีก็คือว่า ไม่พกเงินสด ไปห้างก็ไม่พกบัตรเครดิตด้วย อาจจะพกเงินสดสัก 200-300 บาท ฉะนั้น ไปห้างก็จ่ายเงินได้แค่ 200-300 อันนี้เป็นวิธีการที่บังคับตัวเองไม่ให้ทำตามความเคยชินหรือตามใจกิเลส
เราต้องทำแบบนี้บ้าง อะไรที่ไม่ดีต้องทำให้เป็นเรื่องยาก จะใช้วิธีการควบคุมจิตใจบางทีควบคุมไม่ได้ ทำให้เป็นเรื่องยากเสียเลย หรือทำได้ลำบาก
ส่วนเรื่องที่ดีต้องทำให้เป็นเรื่องง่าย เราจะได้ทำได้ทุกวัน ทำได้เป็นประจำ ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ สิ่งดี ๆ ที่เราอยากจะทำจะทำได้ง่ายเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการทำวัตรสวดมนต์ การเจริญสติ การนั่งสมาธิ หรือแม้แต่การออกกำลังกาย.