พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็น วันที่ 21 เมษายน 2567
การที่พวกเราได้มาอยู่ที่นี่เป็นวัน ๆ และไม่ใช่แค่มาเฉย ๆ มาปฏิบัติ บทเรียนอย่างแรก ๆ ที่เราจะได้เรียนรู้คือว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นไปตามใจของเราเสมอไป ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น ความร้อนของอากาศ แต่ยังรวมถึงความเป็นไปในจิตใจของเราด้วย
เราควรมาเพื่ออยากให้ใจสงบ แต่สิ่งที่พบก็คือความว้าวุ่นฟุ้งซ่าน บางทีตั้งใจจะปฏิบัติให้เต็มที่ แต่โดนความง่วงเล่นงานจนไม่อยากจะทำอะไรเลย และแถมยังมีความหงุดหงิด เพราะอากาศร้อนบ้าง หรือเพราะว่าหวนไปคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ทั้งอดีตและอนาคต ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ไม่มีใครชอบ แล้วไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้น แล้วเกิดขึ้นบ่อยด้วย
อันนี้ถ้าเราไม่รู้จักใคร่ครวญก็จะเกิดความทุกข์ เกิดความหัวเสียหรือหงุดหงิดมากขึ้น ที่อะไร ๆ ไม่เป็นดั่งใจ แต่ถ้าเราใคร่ครวญสักหน่อยก็จะพบว่า นี่แหละคือสัจธรรม คือความจริง อากาศร้อน เราทำอะไรไม่ได้ อันนี้อาจจะเป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าสิ่งที่อยู่ในใจของเรา เช่น ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก เราอาจจะเคยคิดว่าจัดการได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ แล้ว จัดการได้น้อยมาก
อยากจะบังคับจิตให้นิ่งก็ไม่นิ่ง อยากจะห้ามความคิดก็ยังคิด แล้วไม่ได้คิดแค่เรื่องเดียว คิดหลายเรื่อง ยืดยาว อยากจะมีความรู้สึกตัว แต่กลับถูกความหลงเล่นงาน ไม่อยากจะคิดเรื่องนั้นก็ดันคิด แล้วคิดเป็นวรรคเป็นเวร
ถ้าเราไม่เข้าใจ เราจะทุกข์ที่ความคิดและอารมณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ชอบผุดขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้าเราใคร่ครวญให้ดีจะพบว่า อันนี้แหละคือสัจธรรม ไม่อยู่ในอำนาจของเราเลย ไม่ใช่แค่ดินฟ้าอากาศอย่างเดียว แม้กระทั่งจิตใจที่เราคิดว่าเป็นของเรา ที่จริงแค่จะรู้ล่วงหน้าว่าจะคิดอะไรยังทำไม่ได้เลย แม้จะตั้งใจว่าจะไม่คิด เผลอไปไม่ถึง 10 วินาทีก็คิดเสียแล้ว แล้วจะคิดเรื่องอะไรก็ไม่รู้
อันนี้คือบทเรียนสำคัญที่แสดงถึงสัจธรรมความจริงของใจ ที่จริงไม่ใช่เฉพาะใจของเราอย่างเดียว ร่างกายเรา รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจที่เราจะควบคุมได้ เราอาจจะเสริมเติมแต่ง จัดการได้บ้าง แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะอยู่ในอำนาจของเราล้วน ๆ
แต่ไม่เพียงแต่เราจะได้เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่อยู่ในอำนาจของเรา แม้กระทั่งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก แต่ว่าอย่างหนึ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้หรือฝึกหัดก็คือ การยอมรับสิ่งที่ไม่เป็นดั่งใจ สิ่งที่ไม่ถูกใจ ที่ไม่อยู่ในอำนาจของเรา อันนี้คืออย่างแรก ๆ ที่เราสามารถจะเรียนรู้ได้ ฝึกได้
สติเราอาจจะยังไม่เติบโต ความรู้สึกตัวอาจจะยังไม่ดีขึ้นเท่าไร เพราะว่าเพิ่งมาไม่กี่วัน แต่ถึงแม้สติยังไม่ได้พัฒนาจนเห็นผล ความรู้สึกตัวยังไม่เกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะได้ฝึก ได้เรียนรู้ แล้วเห็นผลได้ไม่ยากคือการยอมรับ ยอมรับความคิดฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้น ยอมรับความโง่ที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็ยอมรับความหงุดหงิดที่ตามมา
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะยอมรับอารมณ์เหล่านี้ได้ เพราะว่าที่เรามาก็เพื่อจะจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ไม่ใช่หรือ แต่ว่าถ้าเราวางจิตวางใจดี ๆ เราก็สามารถจะฝึกให้เกิดตรงนี้ได้ คือการยอมรับ
ยอมรับ ต่างจาก ความอดทน อดทนเหมือนกับว่า กล้ำกลืนฝืนทนแต่ใจไม่ยอมรับ แต่อดกลั้นเอาไว้ มีความคิดหงุดหงิด มีความรู้สึกรำคาญ มีความรู้สึกว้าวุ่น จนกระทั่งอยากจะตะโกนออกมา แต่ก็ห้ามเอาไว้ อดกลั้นเอาไว้ อันนี้เรียกว่าอดทน แต่ข้างในยังทุกข์อยู่ แล้วความอดทนที่ว่ายังเกิดขึ้นลึก ๆ เพราะยังไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ยังพยายามกดข่มเอาไว้จึงอดทนได้
แต่ยอมรับ ไปไกลกว่านั้น ไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่ต้องอดทน เพราะทันทีที่เรายอมรับก็ไม่เกิดการผลักไส ไม่เกิดการกดข่ม การยอมรับ หมายถึงว่า การยอมให้อารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะว่ารู้ดีว่าเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ไม่สามารถบังคับจิตให้สงบได้ ไม่สามารถบังคับให้หยุดคิด ห้ามคิดได้ ดังนั้น เมื่อเกิดขึ้นก็ยอมรับ
การยอมรับนำไปสู่การไม่ผลักไส ไม่กดข่ม ซึ่งทำให้ไม่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับตน อะไรก็ตามที่เราผลักไส ความทุกข์จะเกิดขึ้นทันที ทีแรกเกิดขึ้นเพราะยอมรับไม่ได้ ไม่ชอบจึงผลักไส การที่ยอมรับไม่ได้ก็ทำให้ทุกข์ พอผลักไสแล้วไม่ไป พยายามห้ามคิด แต่ยังคิด พยายามฝึกบังคับจิตให้นิ่งก็ไม่นิ่ง เป็นทุกข์ขึ้นมาที่มันไม่เป็นไปดั่งใจ ผลักไสแล้วไม่ไป ยิ่งทุกข์
เหมือนกับได้ยินเสียงดัง เสียงโทรศัพท์ดังในศาลา เสียงคนพูดคุยข้างล่าง เสียงมอเตอร์ไซค์ข้างนอก ถ้าเรายอมรับได้ ใจสงบ แต่ถ้าเรายอมรับไม่ได้ก็จะเกิดการต่อต้าน เกิดความหงุดหงิดที่ไม่หายไปสักที หรือบางทีก็หงุดหงิดเจ้าตัวหรือต้นเสียงว่าทำไมจึงมาส่งเสียงอย่างนั้นในเวลานี้
แต่ถึงแม้ไม่พอใจก็จะอดกลั้นเอาไว้ ไม่โวยวายออกไป อดทน แต่ว่าข้างในรุ่มร้อน เพราะยอมรับไม่ได้ แต่ถ้าเรายอมรับได้ว่ามันไม่สงบ อย่างน้อยก็ไม่เป็นการซ้ำเติมเพิ่มทุกข์ให้กับใจ
และนี่คือสิ่งที่เราสามารถฝึกได้ตั้งแต่วันแรก ๆ แม้ว่าสติยังไม่เติบโต ความรู้สึกตัวยังไม่ต่อเนื่อง หรือความสงบยังไม่เกิดขึ้น แต่เราได้ฝึกการยอมรับ ยอมรับความร้อน ยอมรับความหงุดหงิด ยอมรับความว้าวุ่น ความไม่สงบในใจ ยอมรับความคิดต่าง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจคิด
อาจจะยอมรับไม่ได้ภายในวันสองวัน แต่มันจะค่อย ๆ น้อมใจยอมรับได้เรื่อย ๆ แล้วตรงนี้จะมีคุณค่ามาก แม้จะยังไม่รู้ทันความคิดได้เร็ว แต่ถ้าเรายอมรับอะไรต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เราจะเป็นทุกข์น้อยลง เป็นทุกข์น้อยจากการพยายามผลักไสกดข่ม หรือการปฏิเสธสิ่งต่าง ๆ แต่การยอมรับได้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราวางความคาดหวัง
อะไรก็ตามที่เราคาดหวังและพอไม่ได้ เราจะไม่ยอมรับเราจะผิดหวัง เราจะเสียใจ เราจะขุ่นมัว เราจะคับแค้น อันนี้เป็นธรรมดา แต่ถ้าเราวางความคาดหวังลง เช่น คาดหวังความสงบ คาดหวังให้ใจนิ่ง คาดหวังว่าว่าสติจะเติบโตไว ๆ หรือว่าเกิดความสงบ เกิดสมาธิ ถ้าเรายังยึดในความคาดหวัง พอมีความคิดว้าวุ่น มีความฟุ้งซ่าน จะหงุดหงิดมาก เพราะไม่เป็นไปดังความคาดหวัง
แต่ถ้าเราวางความคาดหวังลง หรือวางความปรารถนา ความอยากลง อะไรเกิดขึ้นเราจะยอมรับได้ง่ายขึ้น ความว้าวุ่น ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิด หรือใจที่มันชอบกระโดดไปนั่นกระโดดไปนี่
บางทีเราก็ใช้คำว่า อนุญาต การมาปฏิบัติที่นี่ หรือแบบนี้ เราต้องอนุญาตให้อารมณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ จิตใจเราเหมือนกับศาลา จะเป็นศาลาที่พักคนเดินทางหรือศาลาหอไตรนี้ก็ได้ ใครจะขึ้นมาศาลานี้ก็ได้ จะเป็นพระ จะเป็นนักบวช จะเป็นผู้ร้าย จะเป็นนักการเมือง หรือว่าจะเป็นคนที่เกียจคร้าน ขี้เมา ขึ้นมาพักบนศาลาได้ เพราะว่าห้ามไม่ได้อยู่แล้ว
จิตใจเราก็เหมือนกับที่สาธารณะ ที่ความคิดอารมณ์ใด ๆ ก็สามารถจะมาเยือน หรือเกิดขึ้นได้ ถ้าเราเข้าใจความจริงอย่างนี้ เราก็จะยอมรับได้ง่ายขึ้น
ถ้าเราหวงแหนจิตใจว่า ไม่อนุญาตให้ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดลบ การหวนอาลัยในอดีต ความกังวลในอนาคต ไม่อนุญาตให้มาหรือเข้ามาได้ แต่เราห้ามไม่ได้ พอเกิดขึ้นหรือเข้ามาในใจเรา เราก็ย่อมเกิดทุกข์ขึ้นมา เกิดความไม่พอใจ แต่ถ้าเราอนุญาตให้ทุกอารมณ์ ทุกความคิดเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นธรรมชาติของใจ เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ถึงเวลามันเกิดขึ้น มันเข้ามาเยือนจิตยืนใจเรา เราก็ยอมรับได้ง่ายขึ้น
ฉะนั้น แม้ว่าเราจะมาที่นี่ด้วยความคาดหวังนานาประการ โดยเฉพาะความสงบ การมีสติ ความรู้สึกตัว แต่ทันทีที่เราลงมือปฏิบัติ ต้องวางความคาดหวัง เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติ และจะทำให้การปฏิบัติเต็มไปด้วยความทุกข์ เพราะว่าสิ่งที่ไม่คาดหวัง สิ่งที่ไม่เป็นไปดั่งใจหวังจะเกิดขึ้นกับใจเรามากมาย จะดีกว่าถ้าเรายอมรับ และวางความคาดหวัง
เมื่อเราวางความคาดหวัง การทำเหมือนจะเป็นการทำเล่น ๆ ต่างจากการทำจริง ๆ ทำจริง ๆ เต็มไปด้วยความคาดหวังเยอะ แต่พอเราวางความคาดหวังก็เหมือนกับทำเล่น ๆ ทำเล่น ๆ คือว่า ไม่หวังผล ทำไปเรื่อย ๆ จะเกิดผลอย่างไรก็ช่างมัน ไม่คาดหวัง
เหมือนกับเวลาเราเล่นฟุตบอล เราเล่นหมากฮอส เราเล่นหมากรุก ถ้าเราทำเล่น ๆ หรือเล่นกับเพื่อน แพ้ก็ไม่เป็นไร สนุก ได้ความสนุก แต่ถ้าเราเอาจริงเอาจัง พอแพ้จะเกิดความขุ่นมัว อาจจะทะเลาะ อาจจะไม่พอใจเพื่อนที่เอาชนะเราได้ เกิดความรู้สึกที่ไม่ค่อยดี แต่ถ้าเป็นการเล่นแบบเล่น ๆ เล่นไปหัวเราะไปถึงแม้จะแพ้
ให้เราลองทำใจแบบนี้ดูขณะที่เราปฏิบัติ ทำเล่น ๆ แต่ว่าทำไม่หยุด ต่างจากเวลาเราอยู่ที่อื่น อยู่ที่อื่นทำเล่น ๆ เราอาจจะทำประเดี๋ยวประด๋าว แต่ว่าที่นี่ สิ่งแวดล้อม หรือว่ากติกา กฎเกณฑ์ ทำให้เราทำเล่นก็จริง แต่ต้องทำจริง ๆ คือทำทั้งวัน
แต่ทำทั้งวันก็ตาม ข้อสำคัญคือว่า อย่าไปเน้นคุณภาพ เอาปริมาณไว้ก่อน อันนี้เป็นหลักสำหรับนักปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่ เอาปริมาณไว้ก่อน อย่าเพิ่งเอาคุณภาพ เพราะถ้าเอาคุณภาพจะเครียด เพราะนั่นเรากำลังหวังผล ปฏิบัติใหม่ ๆ อย่าไปหวังผลเลย แต่ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ ทำเยอะ ๆ ทำบ่อย ๆ ทำมาก ๆ ฉะนั้น ถ้าเราเน้นทำเรื่อย ๆ ทำเยอะ ๆ จะไม่ค่อยเครียดเท่าไร แต่ถ้าเราเน้นคุณภาพจะเครียด เพราะว่าจะไม่เป็นไปดังใจ
เดินจงกรม สร้างจังหวะชั่วโมงหนึ่ง 60 นาที อาจจะรู้ตัว มีสติแค่ไม่กี่นาที ถ้าวัดในเชิงคุณภาพแล้วถือว่าต่ำมาก แต่ว่าเราก็น่าจะภูมิใจ คือว่าตลอด 60 นาทีนี้ เราทำไปเรื่อย ๆ ทำไม่หยุด อาจจะมีพักบ้าง ระหว่างที่พักเราก็นั่งสร้างจังหวะ พอหายเมื่อยเราก็เดิน
การทำเอาปริมาณไว้ก่อนมีข้อดี คือ 1) ไม่เครียด แล้วข้อที่ 2) ถ้าเราทำเยอะ ๆ ในที่สุดจะเกิดคุณภาพขึ้นมา
ตอนที่เราเป็นทารก ตอนที่เราเป็นเด็ก ๆ เราเขียนหนังสือไม่เป็นตัวหรอก ทำอย่างไรจึงจะเขียนเป็นตัว ต้องเขียนบ่อย ๆ เขียนเยอะ ๆ ก ไก่ ต้องเขียนเป็นร้อยเป็นพันครั้งถึงจะสวย ถ้าเขียนทีแรกจะเอาสวยเลย เป็นไปไม่ได้ แล้วจะหงุดหงิดมากถ้าเขียนไม่กี่ครั้งจะเอาให้สวยเลย แต่ถ้าเราตั้งใจว่าเขียนไปเรื่อย ๆ ไม่สวยไม่เป็นไร แต่เขียนไว้ก่อน เขียนไปสักพันครั้ง ตัวหนังสือจะสวยเลย ปริมาณสามารถจะแปรเป็นคุณภาพได้
มีอาจารย์คนหนึ่งสอนนักศึกษาวิชาถ่ายภาพ วิธีสอนแปลก แกแบ่งนักศึกษาเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เน้นปริมาณ คือบอกนักศึกษาว่า “ให้ถ่ายรูปมา ยิ่งได้เยอะก็ยิ่งได้คะแนนดี ถ้าถ่ายรูป 100 ภาพ ให้ A ไปเลย ถ้า 90 ก็ได้ B ถ้า 80 รูปก็เอา C ไป” ปริมาณคือ ใครถ่ายเยอะจะได้คะแนนดี
อีกกลุ่มหนึ่งเน้นคุณภาพ อาจารย์บอกนักศึกษาว่า “ไม่ต้องถ่ายมาก เอาแค่ภาพเดียว แต่ต้องถ่ายภาพให้ดีเลยนะ” อาจารย์จะให้คะแนนกลุ่มนี้โดยวัดจากคุณภาพ
แก assign งานตั้งแต่วันแรกของการเปิดเรียน พอถึงวันสุดท้าย แกมาตรวจดูว่าผลงานของนักศึกษาเป็นอย่างไร สิ่งที่แกพบคือว่า กลุ่มที่เน้นปริมาณผลงานภาพถ่ายจะดีกว่ากลุ่มที่ 2 ภาพถ่ายที่ดีที่สุดมาจากกลุ่มแรก
ทั้ง ๆ ที่กลุ่มแรกอาจารย์ให้ทำเชิงปริมาณ เอาปริมาณไว้ก่อน แต่ปรากฏว่านักศึกษาที่ถ่ายเยอะ เป็นร้อย ถ่ายไป ๆ ผลงานดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอะไร เพราะทักษะ เพราะประสบการณ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ดี กะว่าจะถ่ายให้เยอะ ๆ แต่ยิ่งถ่าย ๆ ฝีมือยิ่งดีขึ้นเรื่อย ๆ อาจารย์จึงพบว่า นักศึกษาที่ถ่ายเยอะเท่าไร ผลงานจะออกมาดีเท่านั้น
ตรงข้าม กลุ่มที่ 2 ที่อาจารย์บอกให้ถ่ายเน้นคุณภาพ ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะพวกนี้ พอจะเน้นเรื่องคุณภาพ จะตั้งท่านานเหลือเกิน เพราะจะเอาให้มันดีเลย ตั้งท่านานจึงไม่ได้ทำสักที ได้แต่ศึกษาทฤษฎี ทำอย่างไรจะให้ภาพสวยที่สุด องค์ประกอบภาพออกมาดีที่สุด แสงเงาวิเศษ ศึกษาแต่ทฤษฎี แต่ไม่ได้ทำ พอลงมือทำและถ่ายได้แค่รูปเดียว ผลงานจะดีได้อย่างไร ผลงานสู้อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเน้นปริมาณไม่ได้ เพราะว่ายิ่งทำเยอะ ยิ่งถ่ายมาก ทักษะประสบการณ์ยิ่งมาก ผลงานก็ดี
การปฏิบัติธรรมของพวกเราก็เหมือนกัน คนที่ทำมากจะได้เปรียบ เพราะว่าสติจะเติบโตได้เร็ว ถึงแม้ว่าใหม่ ๆ จะฟุ้งเสียเยอะ ทำเล่น ๆ แต่ทำเรื่อย ๆ ทำเยอะ ๆ กว่าจะรู้ตัวก็คิดไปแล้ว 10 เรื่อง แต่ว่าพอทำเยอะ ๆ บ่อย ๆ จะเห็นความก้าวหน้า
แต่ก่อน คิด 10 เรื่องถึงจะรู้ตัวว่าเผลอไปแล้ว แต่พอทำไป ๆ ความคิดสั้นลง คิดไปได้ 8 เรื่องก็รู้ตัวแล้ว ทำไปอีก เดินจงกรมไปอีกหลายร้อยเที่ยว คราวนี้ความคิดสั้นลง เหลือแค่ 5 เรื่องก็รู้ตัวแล้ว และสุดท้าย คิดเรื่องเดียวยังไม่ทันจะจบเลยก็รู้แล้ว นี่เรียกว่าสติเร็ว รู้ทันความคิดได้เร็ว โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ปล่อยให้สติทำงานเอง ไม่ได้คิดจ้อง ไม่ได้จ้องความคิด ไม่ได้พยายามบังคับความคิด เพราะทำเล่น ๆ
ทำเล่น ๆ แต่ว่าทำเยอะ ๆ ทำบ่อย ๆ ก็รู้เอง สติได้โอกาสทำงานบ่อย ๆ พอสติได้ทำงานบ่อย ๆ หรือว่าถูกใช้งานบ่อย ๆ ก็จะคล่องแคล่ว กลายเป็นว่า ทีแรกเอาปริมาณไว้ก่อน เน้นปริมาณเป็นหลัก แต่ผลสุดท้ายได้คุณภาพ จิตมีคุณภาพ คือ มีสติ
อันนี้ยังไม่ต้องเชื่อ ลองไปทำดู ทำเล่น ๆ แต่ทำเยอะ ๆ ทำมาก ๆ แล้วยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แล้วเราจะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับใจเราในที่สุด.