พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 1 พฤษภาคม 2567
เมื่อเรามาปฏิบัติธรรม ขอให้เข้าใจชัดถึงจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติ การปฏิบัติก็มีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล และภาวนา ปฏิบัติแค่ทานก็ยังไม่พอ ต้องปฏิบัติในระดับศีลคือกาย วาจา ฝึกกาย วาจาให้เป็นปกติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
แต่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นแล้วก็อาจจะยังมีความทุกข์ เพราะเบียดเบียนตน เบียดเบียนตนด้วยความหลง ด้วยกิเลส ด้วยอารมณ์อกุศล ฉะนั้นก็ต้องภาวนาด้วย การภาวนาก็มี 2 ระดับ เบื้องต้นก็ให้เกิดความสงบ แล้วต่อไปก็ให้เกิดปัญญา
ส่วนใหญ่เวลาพูดถึงการภาวนาหรือการทำกรรมฐาน หลายคนมาที่นี่ก็เพราะอยากจะปฏิบัติให้เกิดความสงบ ความสงบจัดว่าเป็นเรื่องของสมาธิ เราต้องเข้าใจว่าสมาธิหรือความสงบไม่ใช่จุดหมายสูงสุดของการปฏิบัติในพุทธศาสนา ถึงแม้ว่ามันจะทำให้เกิดความเย็นในจิตใจ ทำให้เกิดความสุข หรือบางทีก็ทำให้เกิดความสามารถพิเศษ เรียกว่าอภิญญา
แต่ว่าอันนั้นยังไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุดของการภาวนา หรือการทำกรรมฐานในพุทธศาสนา แม้ว่ามันจะทำให้เกิดความสุข ทำให้เกิดความเคลิ้ม ทำให้เกิดความยินดี แล้วก็มีสิ่งที่อาจจะตื่นเต้นเร้าใจ เช่น เห็นแสงเห็นสี เห็นนิมิต แต่ว่านั่นยังไม่ใช่จุดหมายสูงสุด จุดหมายสูงสุดก็คือฝึกจิตให้เกิดปัญญา
เพราะว่าถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นแจ้งแทงทะลุในสัจธรรม ความสงบที่เกิดขึ้นหรือความสุขที่เกิดขึ้นมันก็แค่ของชั่วคราว บางทีท่านก็เปรียบเหมือนกับหินทับหญ้า หินทับหญ้า หญ้ามันก็แห้งเหลือง แต่พอเอาหินออกหญ้าก็ขึ้นมาใหม่ เขียว แล้วก็อาจจะแพร่ออกไป
หมายความว่าการฝึกสมาธิ ทำใจให้สงบ ถ้าหากว่ายังไม่ลดละหรือว่าถอนกิเลส ความหลง อวิชชา มันก็มีโอกาสที่จะทุกข์ได้อีก อาจจะสงบชั่วคราวขณะที่ปฏิบัติ พอออกไปเจอผู้คน ออกไปทำงานทำการ เจอโลกภายนอก ก็ว้าวุ่นรุ่มร้อน เจอความเจ็บความป่วยก็เกิดความทุกข์ทางกายและใจ เจอความพลัดพรากสูญเสียก็ยังมีความทุกข์อยู่ ถูกต่อว่าด่าทอก็ยังเกิดความรุ่มร้อน
ต่อเมื่อภาวนาจนเกิดปัญญา จนเห็นว่าไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้เลย ไม่มีอะไรที่จะยึดว่าเที่ยง หรือยึดว่าเป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะผู้มีปัญญาเข้าใจความจริงของรูปนาม เข้าใจว่าทั้งเนื้อทั้งตัวนี่มันก็มีแต่ขันธ์ 5 หาตัวกูไม่เจอ และขันธ์ 5 มันก็ไม่สามารถจะยึดว่าเป็นตัวกูของกูได้ ตรงนี้มันก็ช่วยให้ใจไม่ไปยึดมั่นสำคัญหมายให้ร่างกายหรือสำคัญมั่นหมายว่าตัวกูเป็นไปอย่างที่ปรารถนา เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับความปรารถนาหรือการบงการของเรา
เพราะฉะนั้นความสงบมันก็เป็นแค่ทางผ่านไปสู่ปัญญา เป็นสิ่งที่เกื้อกูลให้เกิดปัญญา ถ้าไปหยุดที่ความสงบ ก็แปลว่ายังปล่อยให้ความทุกข์มีโอกาสครองใจได้อีก แต่หลายคนเนื่องจากเจอปัญหาชีวิต เจอความไม่สมหวัง เจอความพลัดพราก จิตใจร้อนรุ่มฟุ้งซ่าน หลายครั้งหรือบ่อยครั้งก็คิดแต่เพียงว่าขอให้มีความสงบใจ ปราศจากสิ่งรบกวนอันเนื่องมาจากอารมณ์เหล่านี้ แล้วจึงมาปฏิบัติ
แต่ก็ให้ระลึกว่าหรือให้ตระหนักว่าเมื่อมาปฏิบัติและปรารถนาความสงบ ให้ตระหนักว่าความสงบมันก็ยังเป็นเป้าหมายที่ยังอยู่ข้างหน้า แล้วก็อาจจะอยู่ไกล ก่อนที่จะบรรลุถึงความสงบอย่างที่ต้องการ มันมีอะไรให้เราได้เรียนรู้มากมายระหว่างทาง
บางคนตั้งหน้าตั้งตาจะเอาความสงบให้ได้ พอความสงบยังไม่เกิด ก็ผิดหวัง เสียใจ หงุดหงิด ทั้ง ๆ ที่มันมีอะไรให้เราได้เรียนรู้มากมาย ถึงแม้ว่าจิตจะยังไม่สงบก็ตาม และสิ่งที่เราได้เรียนรู้ระหว่างทางจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุน ไม่ใช่แค่ให้เกิดความสงบในวันข้างหน้า แต่ว่ายังนำพาให้เกิดปัญญาอย่างที่ได้พูดถึงด้วย
อะไรที่เราสามารถจะเรียนรู้หรือควรจะเรียนรู้ก่อนที่ใจจะพบกับความสงบ อย่างแรกคือความรู้ว่าจิตนี้มันควบคุมไม่ได้ ที่เรียกว่าจิตของเราๆ จริงๆ มันควบคุมไม่ได้เลย ไม่อยากให้มันคิด ไม่อยากให้มันโกรธ ไม่อยากให้มันหงุดหงิด ไม่อยากให้มันเศร้า มันก็ยังคิดฟุ้งซ่าน หรือว่าหงุดหงิด หรือว่าโกรธ หรือว่าเศร้า
สั่งให้มันหยุดคิด มันก็ไม่หยุด คิดโน่นคิดนี่ มันจะทำอะไร มันจะคิดอะไรนี่ เราไม่รู้เลย หรืออย่างน้อยเราไม่รู้ล่วงหน้า เราไม่รู้ว่าอีก 10 วินาทีข้างหน้า อีก 30 วินาทีข้างหน้า มันจะคิดอะไร ขณะที่เราตั้งใจฟัง เราก็อยากให้มันหยุดคิดเรื่องอื่น แต่ฟังไปได้ประเดี๋ยวเดียว ไปแล้ว คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ ส่งจิตออกนอก หรือแม้แต่ไปคิดเรื่องที่ผ่านไปแล้ว หรือไปนึกภาพถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง มันบังคับไม่ได้จริงๆ แล้วก็รู้ไม่ได้ว่ามันจะคิดอะไร
นี่คือความรู้ที่สำคัญเลย เพราะว่ามันทำให้เราคลายจากความหลง ความหลงว่าจิตนี้มันสามารถบังคับได้ ฉะนั้นถ้าเราตั้งใจว่ามาปฏิบัติเพื่อจะบังคับจิตให้สงบ เพื่อบังคับจิตให้นิ่ง อันนี้ก็เพราะเราไม่รู้ ว่าจิตนี้มันบังคับไม่ได้ แต่ฝึกได้ เหมือนกับหมา เราบังคับมันไม่ได้ แมวยิ่งแล้วใหญ่ เรียกให้มันมา มันก็ไม่มา สั่งให้มันอย่าออกไปนอกบ้าน อย่าไปจับนก มันก็ยังทำ แต่ว่าเราฝึกได้ สั่งไม่ได้ แต่ฝึกได้
เหมือนกับเราสั่งต้นไม้ให้โต ก็ทำไม่ได้ สั่งให้มันออกดอกออกผลไม่ได้ แต่ว่าเราสร้างเหตุปัจจัยส่งเสริมให้มันโตไว ๆ หรือว่าออกดอกไว ๆ อันนี้ทำได้ แต่มันก็ไม่ได้ว่าจะเป็นไปดั่งใจเราเสมอไป ความรู้ว่าจิตบังคับไม่ได้นี่สำคัญมาก เพราะว่าเวลามันไม่สงบ มันฟุ้งซ่าน เราก็จะไม่หงุดหงิดหัวเสียกับอาการที่ว่าง่าย ๆ
ที่เราหงุดหงิดหัวเสีย ไม่พอใจเวลาปฏิบัติแล้วจิตไม่สงบ ก็เพราะเรามีความคาดหวังว่ามันสั่งได้ บังคับได้ ทำให้เป็นไปดั่งใจได้ แต่พอเรารู้ว่าสั่งไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดมันจะฟุ้ง มันจะว้าวุ่นบ้าง ก็เป็นเรื่องที่จำต้องยอมรับ
แต่ความรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติมันไม่ใช่ว่าจะรู้ทันที มันค่อยๆ สะสมจากการสังเกต หรืออาจจากความผิดหวังก็ได้ อยากให้มันสงบแต่ไม่สงบ อยากให้มันหลับแต่มันไม่หลับ เราก็เรียนรู้จากความไม่สมหวังนี่แหละ ความไม่สมหวังที่บังคับจิตไม่ได้มันสอนเรา
แต่บางคนก็ไม่ยอมเรียนรู้ เพราะคิดแต่จะเอาให้ได้ๆ จะบังคับจิตให้ได้ พอคิดแต่จะบังคับจิตให้ได้ มันก็เลยไม่เปิดใจเรียนรู้ถึงธรรมชาติของจิตเบื้องต้นเลยว่าจิตมันสั่งไม่ได้
ขณะเดียวกันถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นว่าจิตนี่มันเกิดดับ อาจไม่เห็นชัดเจนว่าจิตเกิดดับ แต่เห็นความคิดและอารมณ์ซึ่งเป็นอาการของจิต หรือว่าเป็นการปรุงแต่งของจิต มันเกิดดับ ๆ ความคิดกำลังคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ เดี๋ยวมันแวบไปเรื่องอื่นแล้ว นี่ขนาดเป็นความคิดที่ตั้งใจ
ความคิดที่ไม่ตั้งใจก็เหมือนกัน โผล่มาขณะที่เราภาวนา กำลังคิดนึกถึงเรื่องที่ทำให้เกิดความสุข เกิดความยินดี นึกถึงวันวานอันหวานชื่น เสร็จแล้วก็แวบไปคิดถึงวันคืนอันขื่นขม คิดถึงความพลัดพรากสูญเสีย คิดถึงคนที่ทรยศหักหลัง เหมือนกับหนังคนละม้วนเลย แล้วต่อกันเลย ในชั่วไม่กี่วินาที มันแวบไปคิดเปลี่ยนเรื่องทันที
อันนี้ในแง่หนึ่งก็คือมันไม่อยู่ในอำนาจของเรา แต่ขณะเดียวกันมันก็ชี้ให้เห็นว่าความคิดทั้งหลายทั้งปวงนี่มันไม่เที่ยงเลย เกิดแล้วก็ดับ อาจจะดับเพราะว่ามีเรื่องอื่นมาแทนที่ มีความคิดอื่นมาแทนที่
อารมณ์ก็เหมือนกัน อารมณ์กำลังดีใจ แต่พอเจอคำพูดของใครบางคน หรือเจอข้อความบางอย่างทางโทรศัพท์มือถือ กลายเป็นโมโหไปเลย หรือกำลังเศร้าโศกเสียใจ แต่ว่าจู่ ๆ ก็เกิดดีใจขึ้นมา เพราะว่าถูกลอตเตอรี่ รางวัลที่ 1 ด้วย เมื่อกี้ยังหงุดหงิดหัวเสียอยู่เลย ถูกคนเขาต่อว่า แต่ตอนนี้ดีใจแล้ว ลิงโลดเลย ถูกลอตเตอรี่
อันนี้เรียกว่าความคิดและอารมณ์มันไม่เที่ยง มันเกิดแล้วก็ดับ แต่มันไม่ใช่เกิดดับเพราะว่ามีความคิดอื่นมาแทรกมาแทนที่ หรือมีอารมณ์อื่นมาแทนที่ มันจึงดับไป ที่สำคัญคือมันดับเพราะเรามีสติเห็นมัน กำลังคิดอยู่เพลิน ๆ แล้วเกิดมีสติเห็นความคิดนั้น
มันเป็นอาการคล้าย ๆ กับระลึกได้ แต่ไม่ใช่ระลึกได้ว่าวางโทรศัพท์ไว้ที่ไหน หรือระลึกได้ว่าไม่ได้ปิดประตูบ้าน หรือระลึกได้ว่าลืมโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน หรือระลึกนึกได้ว่าไปเสียบปลั๊กชาร์จโทรศัพท์เอาไว้ที่ร้านอาหาร โน่น กลับบ้านแล้วถึงค่อยนึกขึ้นมาได้ หรือระหว่างทางนึกขึ้นมาได้ แต่มันเป็นความระลึกนึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่
กำลังเดินจงกรมอยู่ แต่ว่าเผลอคิดโน่นคิดนี่ พอระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ มันเห็นความคิดเลย เห็นความคิดที่กำลังเพลิน กำลังไหลเพลิน พอเห็นปุ๊บนี่มันหยุดเลย มันดับไปเลย ใหม่ๆ มันไม่ดับทันที ไม่เหมือนกับห้ามความคิด ถ้าไปห้ามความคิด เบรกความคิดนี่ มันหยุดชะงัก หยุดกึกเลย
แต่ว่าตอนที่เราคิดเพลิน ๆ แล้วก็เห็นความคิด หรือระหว่างที่เรากำลังฟังธรรมอยู่ แล้วใจเราคิดไปถึงลูก คิดไปถึงพ่อแม่ คิดไปถึงเพื่อน คิดไปถึงงาน แล้วอยู่ ๆ มันนึกขึ้นมาได้ว่ากำลังฟังคำบรรยายอยู่ ในช่วงเวลาที่เป็นลำดับใกล้ ๆ กัน มันเห็นความคิดเลย แล้วความคิดนั้นก็หยุด หรือค่อย ๆ เลือนหายไป
ใหม่ ๆ มันก็จะเป็นลักษณะของการเลือนหาย แต่ตอนหลังสติมีกำลังมากขึ้นมันก็จะหยุดเลย แล้วจิตก็กลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับสิ่งที่กำลังทำ ที่นึกไปไหลไปถึงบ้าน กลับมาที่หอไตร นี่เราก็เห็นเลย ความคิดหรืออารมณ์มาดับได้ ถ้าเห็นมัน อารมณ์ด้วย กำลังโกรธ ๆ พอมีสติเห็น ความโกรธมันหายเลย ความคิดและอารมณ์พวกนี้มันดับได้ เมื่อมีสติเห็นมันหรือรู้ทันมัน
นี่ก็เป็นความรู้ ความรู้นี้อาจจะเกิดขึ้นเสริมกับสิ่งที่ได้พบว่าถ้าไปห้าม มันไม่หาย ถ้าไปกดข่มมัน มันอาจจะซุกซ่อนอยู่ เผลอเมื่อไหร่ก็โผล่มาใหม่ แม้แต่ความคิดที่แรง ๆ อารมณ์ที่แรง ๆ พอเราเห็นมัน มันก็เลือนไป แต่ประเดี๋ยวโผล่มาอีกแล้ว แต่ว่ามันจะเบาลง เหมือนกับรถที่แล่นเร็ว ๆ แล้วเราแตะเบรค อาจจะไม่ถึงกับหยุด แต่มันก็ชะลอ พอปล่อยเบรกมันก็แล่นต่อ ต้องเหยียบซ้ำอีกหลายครั้งจนกว่ามันจะหยุดความคิดและอารมณ์ที่แรง ๆ ก็เหมือนกัน
นี่ก็เป็นความรู้ เป็นความรู้ที่เราสามารถจะเก็บเกี่ยวได้ในระหว่างที่ปฏิบัติ แม้ว่ายังไม่พบกับความสงบ แต่ถ้าเอาแต่ผิดหวังหงุดหงิดหัวเสียที่ไม่สงบเสียที ก็พลาดโอกาสที่จะได้ความรู้เหล่านี้ แล้วต่อไปก็จะพบว่าอารมณ์และความคิดแม้มันเกิดขึ้น แต่มันไม่ใช่ว่าเกิดแล้วใจเราจะเป็นทุกข์ทันที
แม้จะเป็นความคิดลบ อารมณ์อกุศล จะทุกข์ก็ต่อเมื่อเผลอ แต่ก่อนนี่เริ่มเห็นว่าทุกข์เพราะความคิด แต่ตอนหลังพบว่ามันไม่ใช่ทุกข์เพราะความคิดหรอก ทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด ทุกข์เพราะไปหลงคิดมากกว่า หรือไม่ได้ทุกข์เพราะอารมณ์ที่เป็นลบ แต่ทุกข์เพราะไปหลงเข้าไปในอารมณ์นั้น
หมายความว่าเพียงแค่มีความคิดและอารมณ์เกิดขึ้น เรายังไม่ทุกข์ อยู่ที่ว่าเราปฏิบัติมันอย่างไร ถ้าเราปฏิบัติถูกก็ไม่ทุกข์ เช่น มีความคิดเกิดขึ้นก็เห็นมัน แม้มันจะคิดลบคิดร้ายก็ไม่ทุกข์ มีอารมณ์ที่เป็นอกุศลก็ไม่ใช่ว่าเราจะทุกข์ทันที ถ้าหากว่าเราเห็นมันเสียก่อน มันก็ชะงัก ไม่สามารถครอบงำใจได้ ต่อเมื่อเราเผลอหลงเข้าไปในความคิด หลงเข้าไปในอารมณ์ หรือแม้แต่เข้าไปกดข่มผลักไสมัน อย่างนี้ต่างหากจึงจะทุกข์
แปลว่าความคิดอารมณ์เกิดขึ้น เรายังไม่ทุกข์ อยู่ที่ว่าเราจะปฏิบัติกับมันอย่างไร ถ้าปฏิบัติถูกก็ไม่ทุกข์ ถ้าปฏิบัติผิดก็ทุกข์เลย
นี่ก็คือความรู้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการปัญญา จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่ามีสมาธิก่อนแล้วจึงจะเกิดปัญญา ก่อนที่จะถึงสมาธิ ก่อนที่จะถึงความสงบ ปัญญาก็เกิดขึ้นได้ แต่มันเป็นปัญญาในระดับย่อย ยังไม่ใช่เป็นปัญญาชนิดที่จะรื้อถอนความทุกข์ได้ แต่ก็เป็นปัญญาที่สำคัญ เพราะเป็นพื้นฐาน เป็นเหมือนกับอิฐก้อนแรก ๆ ที่เป็นฐานให้กับปัญญาที่สำคัญในระดับที่เรียกว่าวิปัสสนา
อันนี้คือสิ่งที่นักปฏิบัติต้องช่างสังเกต อย่าไปมองแต่เป้าหมายข้างหน้าคือ ความสงบ ระหว่างทางมีอะไรให้เราได้เรียนรู้เยอะแยะเลย เหมือนกับคนที่เป็นนักเดินทาง เขาจะไม่มุ่งจดจ่อที่จุดหมายปลายทาง แต่เขาจะสนใจเส้นทางหรือระหว่างทางด้วย ทัศนียภาพระหว่างสองข้างทางมีอะไรให้เรียนรู้ มีอะไรให้ชื่นชมเยอะ
ไม่ใช่ว่าจะต้องไปถึงจุดหมายแล้วถึงจะได้พบกับสิ่งดี ๆ สองข้างทางหรือสิ่งที่เป็นปัจจุบัน มันก็มีอะไรให้เราได้เรียนรู้มากมาย อันนั้นแหละคือปัญญาอย่างหนึ่งเหมือนกัน ที่มันจะมีคุณค่าต่อการปฏิบัติและต่อชีวิตของเรา.