พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 7 ตุลาคม 2567
ได้กับเสีย เป็นของคู่กัน และชีวิตนี้เราก็ต้องเจอทั้ง 2 อย่าง ได้กับเสีย แล้วก็เป็นธรรมดาที่ผู้คนก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เสีย แม้จะต้องบนบานศาลกล่าวหรือพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์
หลายคนมาทำบุญก็อธิษฐานว่าขออย่าได้เสียนั่นเสียนี่ แต่ถึงแม้ว่าไม่เสีย แถมได้ ก็ไม่ใช่ว่าได้แล้วจะมีความสุขถ้าเกิดว่าได้น้อย คนจำนวนไม่น้อยแม้จะไม่เสียเลย แล้วได้ แต่ว่าได้น้อยก็ทุกข์
เพราะฉะนั้นนอกจากไม่เสียแล้ว หรือได้มาแล้ว ก็ต้องได้มากด้วย ชีวิตของผู้คนก็วนเวียนอยู่กับเรื่องอย่างนี้ รวมทั้งความทุกข์ความสุขด้วย ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องนี้คือได้กับเสีย แม้จะไม่เสียเลย ได้มาแต่ถ้าได้น้อยก็ทุกข์ ต้องได้มากหรืออย่างน้อยก็ต้องได้เท่า ๆ กัน ถ้าไม่ได้มากกว่าคนอื่น ก็อย่าได้น้อยกว่าคนอื่น ต้องได้เท่า ๆ กัน
มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านเล่าว่าตัวท่านเองเป็นผู้อำนวยการสถาบันแห่งหนึ่ง ซึ่งทำงานวิจัยแล้วผลงานก็ดี มีคราวหนึ่งท่านได้เงินมาก้อนหนึ่ง เป็นรายได้จากการพิมพ์รายงานวิจัย ก็กันเงินที่ว่านี้ส่วนหนึ่งตั้งใจว่าจะจัดสรรให้พนักงานพิมพ์ดีด ในสถาบันมีพนักงานพิมพ์ดีดอยู่หลายคน
วิธีจัดสรรเงินก็คือว่า จัดสรรให้กับพนักงานพิมพ์ดีดตามปริมาณงานที่แต่ละคนพิมพ์ได้ พิมพ์มากก็ได้มาก พิมพ์น้อยก็ได้น้อย ก็ดูยุติธรรมดี
แต่ว่าพอเลขานุการสถาบันทราบก็ท้วงเลย บอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องได้เท่า ๆ กัน และไม่ใช่เฉพาะพนักงานพิมพ์ดีดเท่านั้น พนักงานคนอื่นด้วยก็ควรจะได้ เพราะถ้าได้ไม่เท่ากัน ก็จะเกิดความขัดแย้ง และถ้าเกิดว่าได้แต่พนักงานพิมพ์ดีด แต่ว่าพนักงานส่วนอื่นไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหา เกิดความขัดแย้งกัน
ก็เลยกลายเป็นว่าต้องเอาเงินก้อนนี้มาให้เป็นกองกลาง แล้วก็แบ่งให้พนักงานทุกคนเท่า ๆ กัน แม้บางคนจะไม่ใช่พนักงานพิมพ์ดีด หรือแม้บางคนเป็นพนักงานพิมพ์ดีดแต่ว่าทำน้อยแต่ก็ต้องได้เท่ากับพนักงานพิมพ์ดีดที่ทำมากกว่า หรือพิมพ์งานได้มากกว่า
คือความยุติธรรมในสายตาของคนทั่วไปก็คือว่า ได้เท่า ๆ กัน ไม่ใช่ว่าทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย อันนี้ก็เป็นความยุติธรรมเหมือนกันในสายตาของผู้อำนวยการสถาบัน แต่ว่าเลขาสถาบันรู้จักคนไทยดีกว่า ก็บอกว่า “ต้องได้เท่า ๆ กัน ถึงจะเรียกว่ายุติธรรม”
เวลาเอาของไปแจก เช่น ผ้าห่มที่เอาไปแจกให้กับชาวบ้านในช่วงหน้าหนาว ถ้าบ้านไหนได้ 2 แต่บางบ้านได้ 1 นี้เป็นเรื่อง คนแจกบางทีก็ถูกต่อว่า ว่าให้ไม่เท่าเทียม ไม่ยุติธรรม ทั้งที่บ้านที่ได้ 1 ผืนนั้นมีฐานะ คนแจกก็เห็นว่าบางบ้านยากจน ก็แจกให้ 2 ผืน แต่ว่าเกณฑ์แบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน ต้องได้เท่ากัน จึงจะเรียกว่ายุติธรรม แต่ว่าเวลาจ่ายก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อสัก 30-40 ปีก่อน สมัยที่ยังไม่มี อบต. หรือเทศบาล มีหมู่บ้านหนึ่งเจอคันโยกของปั๊มน้ำกลางหมู่บ้านเกิดเสีย พัฒนากรซึ่งเป็นนักศึกษาจบใหม่ก็เห็นว่าควรจะเรี่ยไรเงินชาวบ้านเพื่อเอาซ่อมคันโยก เก็บบ้านละ 10 บาท ก็ไม่มาก ถึงแม้ว่าสมัยนั้นค่าเงินมันจะยังสูงอยู่
ปรากฏว่ามีชาวบ้านหลายคนจำนวนมากไม่ยอม อ้างเหตุผลว่าอยู่ไกลปั๊มน้ำใช้น้อย เมื่อใช้น้อยก็ควรจะจ่ายน้อย คนที่อยู่ใกล้ปั๊มน้ำใช้มากก็ควรจะจ่ายมากคือ 10 บาท แต่ถ้าอยู่ไกลก็ควรจะจ่ายน้อย อย่างนี้ถึงจะเรียกว่ายุติธรรม
ฉะนั้น ยุติธรรมในความหมายของชาวบ้าน หรือที่จริงก็ในความหมายของคนไทยจำนวนไม่น้อย เวลาได้ต้องได้เท่ากัน แต่เวลาจ่ายต้องจ่ายไม่เท่ากัน มันก็ดูแปลก
และมันไม่ใช่แค่นั้น นอกจากได้ ได้เท่ากันแล้ว เวลามีการได้ขึ้นมาแล้วเกิดได้ไม่เท่ากัน เช่น แจกโบนัสหรือว่าให้เงินเดือน ถ้าคนหนึ่งพบว่าตัวเองได้น้อยกว่าคนอื่น จะเป็นโบนัสหรือเงินเดือน ก็จะไม่พอใจ หาว่าเจ้านายไม่ยุติธรรม ก็อาจจะเรียกร้องอย่างน้อย ต้องได้โบนัสหรือเงินเดือนเท่ากับเพื่อน แต่ถ้าบังเอิญได้มากกว่าคนอื่นโดยเฉพาะโบนัส ลืมไปเลยเรื่องความยุติธรรม
คือความยุติธรรมสำหรับคนจำนวนไม่น้อยก็คือว่า ฉันต้องได้เท่ากับคนอื่น ได้น้อยกว่าไม่ได้ แต่ถ้าได้มากกว่าคนอื่น ความยุติธรรมก็หายไป เป็นเรื่องของความสามารถไป เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความยุติธรรมในทัศนะของคนทั่วไปหรือว่าคนไทยมี 2 มาตรฐาน คือถ้าได้ ต้องได้เท่ากัน อันนี้อย่างน้อย แต่ถ้าจ่าย จ่ายไม่เท่ากัน และขณะเดียวกันถ้าได้น้อยกว่าก็เรียกว่าไม่ยุติธรรม แต่ถ้าได้มากกว่า ก็ลืมไปเลยเรื่องความยุติธรรม
คือหมายความว่าจะเรียกร้องความยุติธรรมก็ต่อเมื่อได้น้อย แต่ถ้าได้มากกว่าคนอื่นก็ไม่สนใจที่จะเฉลี่ยให้คนอื่นได้เท่ากับตัวเอง ฉะนั้นจะว่าไป แม้ความยุติธรรมจะเป็นหลักการที่ดี แต่ว่าพอถ้าเราไม่เท่าทัน ไม่เท่าทันกิเลส ไม่เท่าทันความคิดที่เห็นแก่ตัว หรือจิตที่คิดอยากจะได้ มันก็จะเป็นหลักการที่เจือไปด้วยกิเลส เอามาใช้เฉพาะในยามที่ตัวเองจะได้ผลประโยชน์ แต่ถ้าตัวเองเสียผลประโยชน์ เช่น จ่ายมากกว่า หรือว่าได้น้อยกว่า ก็จะไม่สนใจ
ที่จริงไม่ใช่เฉพาะได้มากกว่าคนอื่นแล้วพอใจ หรือถ้าเกิดว่าได้น้อยกว่าคนอื่นก็จะไม่พอใจ เวลาซื้อของก็เหมือนกัน หลายคนจะมีความทุกข์มากถ้าหากว่าซื้อของแพงกว่าคนอื่น เคยพาเคยนำคณะบุญจาริกไป 4 สังเวชนียสถาน ตั้งแต่สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และแสดงปฐมเทศนา
และสถานที่สุดท้ายที่ไปก็คือ เมืองพาราณสีซึ่งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่แสดงปฐมเทศนา ธัมเมกขสถูป เมืองพาราณสีมีชื่อเสียงเรื่องผ้ากาสี คนไทยหลายคนก็จ้องเลยที่ไปพาราณสี ก็จะไปซื้อผ้าเนื้อดี แล้วหลายคนก็ดีใจ ภูมิใจ ภูมิใจไม่ใช่เพราะว่าได้ผ้าดีอย่างเดียว เพราะได้ซื้อของถูกด้วย ผ้าราคาตั้งราคาไว้ 1,000 ต่อได้ 700 ดีใจ เอาขึ้นรถมาโชว์เพื่อน แต่เพื่อนบอกว่า “ฉันซื้อมาได้แบบเดียวกันเลย ฉันซื้อได้ 500”
ปรากฏว่าคนที่ซื้อได้ 700 ที่เคยยิ้มเรียกว่าซีดไปเลย เสียใจ เสียใจที่แม้จะซื้อถูกแล้วแต่ก็ยังแพงกว่าคนอื่น อันนี้มันไม่ใช่เรื่องความยุติธรรมแล้ว แต่ว่ามันก็ใกล้เคียงกันก็คือว่า การที่ไปให้ค่ากับมากหรือน้อย ไม่ใช่เฉพาะเวลาได้หรือเสีย หรือไม่ใช่เฉพาะเวลาที่ได้เหมือนกัน แต่ได้น้อยกว่า ถ้าหากว่าซื้อของแพงกว่า ก็ไม่พอใจเหมือนกัน
มีหลายคนจ้องที่จะซื้อของราคาถูกในห้างออนไลน์ บางแพลตฟอร์มเขาเชิญชวนให้ซื้อสินค้าของเขาด้วยการมีโปรโมชั่น เช่น ถ้าซื้อวันที่ 6 เดือน 6 หรือวันที่ 7 เดือน 7 หรือวันที่ 8 เดือน 8 หรือวันที่ 9 เดือน 9 จะได้ของถูก แล้วมีผู้ชายคนหนึ่งก็รอจ้องซื้อแท็บเล็ต ใช้เวลาเลือกอยู่นานว่ายี่ห้อไหน ร้านไหน สเปคไหนดีที่สุด แต่ว่าถูกที่สุด
พอถึงวันที่ 8 เดือน 8 ดูแต่เช้าตรู่เลยจะได้สั่งซื้อทันที เพราะกลัวว่าของจะหมด ก็ได้ราคาที่ลดต่ำกว่าราคาวางตลาด ลดไปได้ 2-3 พันเลย ดีใจ ตื่นเต้นว่าทำได้ แล้วก็รอวันที่แท็บเล็ตจะมาถึง
แต่พอตกบ่าย คิดยังไงไม่รู้ลองไปเปิดดูอีกทีห้างออนไลน์ ปรากฏว่าแท็บเล็ตยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ขายลดราคาต่ำกว่าอันนั้นอีกถึง 2-3 พันเลยทีเดียว แถมโน่นแถมนี่ด้วย จิตตกเลย เพราะว่าเห็นคนอื่นเขาซื้อได้ถูกกว่าเรา
ที่จริงเราก็ซื้อได้ถูกอยู่แล้ว แต่ถ้าคนอื่นเขาซื้อถูกกว่าเราทุกข์เลย ยังดีที่เป็นแท็บเล็ตราคาลดโปรโมชั่นมันเป็นแค่ระดับพัน แต่บางคนซื้อรถ EV รถไฟฟ้า เซลล์บอกว่าถ้าซื้อช่วงภายในสิ้นเดือนเมษา จะได้ลด 2 หมื่น ก็รอจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนเมษาก็ซื้อเลย
ปรากฏว่าหลังเมษาไปแล้วราคาก็ยังคงเดิม ไม่ได้กระเตื้องขึ้นเลย มิหนำซ้ำพอถึงเดือนมิถุนามันลดต่ำกว่าเดิมอีกเป็นแสนเลย คนที่ซื้อไปช่วงเดือนเมษาบอกว่าเครียดมากเลย ร้องไห้ทุกคืนเพราะว่าเหมือนกับเสียรู้ หรือเพราะว่าซื้อแพงกว่าคนอื่น จนเกือบจะเป็นโรคซึมเศร้า ไม่สามารถจะมูฟออนต่อไปได้
ที่จริงรถที่ตัวเองซื้อมา มันก็คุณภาพดี แล้วก็ราคาถูกกว่าท้องตลาด หรือถูกกว่าราคาที่เขาตั้งไว้แต่เดิม แต่พอเห็นคนอื่นเขาซื้อได้ถูกกว่า มันทุกข์มากเลย
ย้อนกลับไปเรื่องที่พูดถึงสถาบันที่ว่า ซึ่งมันมีรายได้เข้ามา เดี๋ยวนี้องค์กรหลายองค์กรก็มักจะมีรายได้เข้ามา โรงพยาบาลก็จะมีรายได้ที่ตกมาถึงคนทำงาน โดยเฉพาะช่วงที่ทำงานหนักที่เกิดในช่วงแพร่ระบาดโควิด หลายคนทำงานหนักมาก พอมาถึงตอนนี้ก็มีรายได้ มีเงินพิเศษมาให้กับหน่วยงาน
ตรงนี้แหละที่มันเริ่มเป็นปัญหาแล้วว่า เงินที่ได้มาจะจัดสรรกันอย่างไร ถ้าหากว่าจัดสรรไม่ดีก็จะเกิดความขัดแย้ง เพราะว่าคนที่มีสถานะที่ดีกว่า สูงกว่า ก็ถือสิทธิ์อาจจะเอาเงินทั้งก้อนไปเลย หรือแบ่งให้เฉพาะพวกกันเอง ในขณะที่มีคนอีกมากมายที่เขาร่วมทุกข์ร่วมสุข หรือว่ายอมเสี่ยงอันตรายทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล นักการ ช่างเทคนิค มีเยอะ
เรื่องแบบนี้ จริง ๆ มันควรมีการพูดคุยตกลงกันมาก่อนที่เงินจะมา ว่าจะทำยังไงกับเงินก้อนนี้ จะแบ่งกันอย่างไร แล้วที่จริงถ้าหากว่ามีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนพ้อง มันจะคุยกันง่ายขึ้น เพราะว่าคนไทยเราพอเป็นเพื่อนเป็นพ้อง เป็นพี่เป็นน้องแล้ว ก็อะลุ่มอล่วย บางทียอมจ่ายหรือยอมเสียสละด้วยซ้ำ
ลองสังเกตดูเวลาไปกินข้าวด้วยกัน ถ้าเป็นเพื่อน ๆ กันจะแย่งกันจ่าย จะออกแทนคนอื่นคือยอมเสียถ้าเป็นเพื่อน แต่ถ้าไม่ใช่เพื่อน จะไม่ยอมเลย อาจจะเรียกว่าให้แบ่งครึ่ง หรือว่าหารตามจำนวนคนที่เรียกกันว่าอเมริกันแชร์ คือจ่ายเท่า ๆ กัน แต่ถ้าเป็นไทยแชร์ ก็แย่งกันจ่าย เพราะว่าพอเป็นเพื่อนกันแล้ว มันพร้อมจะเสียสละ หรือว่าพร้อมที่จะแบ่งปัน ไม่ได้คิดถึงประโยชน์
ความเป็นองค์กร มันมีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องเป็น เป็นเพื่อนพ้อง จะเป็นหมอ พยาบาล นักการ เจ้าหน้าที่ เภสัชกร เขาก็จะเห็นอกเห็นใจกัน แล้วก็ยอมที่จะแบ่งปัน ไม่คิดจะเอามาก ๆ ความคิดว่าฉันต้องได้มากกว่าคนอื่น ก็จะน้อยลง และที่สำคัญคือแต่ละคนถ้ารู้จักวางใจให้ดี ถึงแม้ว่าได้น้อย แต่ว่าถ้ามีเมตตา กรุณา มีมุทิตาจิต มันก็ไม่รู้สึกทุกข์
อย่างคนที่เขาได้รู้สึกว่าที่พบว่าตัวเองได้โบนัสน้อยกว่าเพื่อนอีกคนหนึ่ง บางคนเขาก็ไม่ทุกข์เลย เขามองว่าเราไม่มีครอบครัว ไม่มีลูก แต่เพื่อนเราเขามีลูก เขามีครอบครัว เขามีพ่อแม่ พ่อแม่ก็ป่วย ก็ควร ดีแล้วที่เขาได้โบนัสมากกว่าเรา เพราะเขามีรายจ่าย เขามีความจำเป็นมากกว่าเรา
ความคิดแบบนี้ ทำให้เกิดมุทิตาจิต หากจะคิดแต่เรื่องของความยุติธรรมเท่าเทียมกันอย่างเดียว มันไม่พอ มันต้องมีความคิดเรื่องเมตตา กรุณา มุทิตาจิต รวมทั้งความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนพ้อง ก็จะช่วยทำให้ความคิดในเชิงเปรียบเทียบกัดกินใจเราน้อยลง
ทุกวันนี้ความคิดเรื่องเปรียบเทียบมันทำให้คนทุกข์มาก เปรียบเทียบว่าเขาได้โบนัสมากกว่าเรา เขาซื้อของได้ถูกกว่าเรา แม้กระทั่งเวลาโพสต์ข้อความ รูปภาพ เรื่องราวทาง facebook ก็เปรียบเทียบว่าเขามียอด like มากกว่าเรา เขามี follower มากกว่าเรา เขาจะได้มี engagement มากกว่าเรา มีคนชมคลิปของเขามากกว่าของเรา
ความคิดแบบคิดเปรียบเทียบแบบนี้ เดี๋ยวนี้มันติดฝังอยู่ในใจผู้คนมาก จะเป็นเพราะโลภะ คือความโลภ หรือจะเป็นเพราะว่ามานะ คือความอยากเด่นอยากดังกว่าคนอื่น ถ้าเราปล่อยให้ความคิดแบบนี้ครองใจ การคิดที่จะมองแต่เปรียบเทียบมาครองใจเรา เราจะทุกข์มาก แล้วจะไม่มีความสุข
แต่ถ้าเรารู้จักมีมุทิตาจิต หรือมีความรู้สึกเป็นพวกพ้อง เป็นหนึ่งเดียวกัน เราก็จะไม่ถือสา ใครได้มากกว่า เราก็ยินดี
แล้วเรื่องของการเปรียบเทียบ เป็นทุกข์เพราะว่าได้น้อย หรือเสียมาก มันฝังในใจของผู้คน แม้กระทั่งคนที่สนใจธรรมะ นักปฏิบัติธรรม เคยไปแสดงธรรมที่องค์กรหนึ่ง คนที่มาฟังก็เป็นคนสนใจธรรมะ พอแสดงธรรมเสร็จก็ได้เวลาแจกหนังสือ บอกเขาว่าหนังสือมีไม่พอนะ บางคนอาจจะไม่ได้นะ
พอได้เวลาแจกหนังสือ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งรีบมารับหนังสือก่อนเลย อาตมาก็แจกไปห่อหนึ่ง พอขึ้นห่อที่ 2 หนังสือที่เอามาแจกเล่มใหญ่กว่าห่อแรก ก็แจกหมด แต่คนที่ได้รับหนังสือห่อแรกจากที่ทีแรกดีใจ ดีใจที่ฉันได้นะ เพราะว่าถ้าไม่รีบมาอาจจะไม่ได้ แต่พอพบว่าตัวเองได้หนังสือเล่มเล็กแต่คนอื่นได้เล่มใหญ่ ทุกข์เลย มาขอเปลี่ยน “ขอเอาเล่มใหญ่ได้ไหม”
เขายังไม่ทันอ่านเลย รู้ได้ยังไงว่าเล่มใหญ่ดีกว่าเล่มเล็ก ก็เพราะคิดเปรียบเทียบ ขนาดคนที่มานี้สนใจธรรมะ แล้วเรื่องที่บรรยายในวันนั้นก็พูดเรื่องสันโดษ พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ แต่มันฝังอยู่ในใจนักปฏิบัติธรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งพระหรือว่าชี กับความรู้สึกเปรียบเทียบอยากได้มากกว่า
อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องมีสติรู้ทัน ต้องไม่ปล่อยให้มันครองใจเรา การเจริญสติมันจะช่วยทำให้เราเห็นตัวกิเลสตัวนี้ ไม่ว่ามันจะชื่อตัณหา หรือมานะ
ตัณหาคืออยากได้มาก ได้แล้วก็ยังไม่พอ อยากได้มากอีก และถ้าได้ก็ต้องได้ดีกว่า ใหญ่กว่า หรือว่าใหม่กว่า ส่วนมานะก็เป็นความอยากจะให้ตัวเองเด่นกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นยอด like ก็ต้องมากกว่า engagement ก็ต้องมากกว่า ยอด view ก็ต้องมากกว่าของคนอื่น ถ้าน้อยกว่าคนอื่นจะเสียเซลฟ์มาก ฉะนั้นต้องรู้ทันกิเลส 2 ตัวนี้
สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจธรรมะ ไม่ได้สนใจการฝึกจิต ก็จะปล่อยใจหลงวนอยู่กับการเปรียบเทียบ ได้มาก เสียน้อย แต่ถ้าเขามองว่าความคิดแบบนี้ทำให้ทุกข์ ลองคิดถึงเรื่องของการเสียสละแบ่งปันดู มีมุทิตาจิต ให้กับนักการภารโรง พยาบาล เภสัชที่เขามีรายได้น้อยกว่าเรา แต่ว่าเขาได้ส่วนแบ่งจากเงินก้อนนี้มากกว่าเรา ก็ดีแล้ว
ถ้ามีความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มันก็ไม่ถือสา ก็ไม่ได้หวงแหน จิตที่คิดจะเอามันก็จะไม่มาครองจิตครองใจ แล้วมีจิตที่คิดจะให้มันมาแทนที่ อันนั้นเป็นเรื่องของคนที่เขาอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมเท่าไหร่ แต่ถ้าสนใจเรื่องการปฏิบัติธรรมอย่างน้อยก็ต้องเห็น เห็นตัวกิเลส กิเลสที่มันอยากได้ อยากได้มากกว่าคนอื่น หรือว่าอยากเด่นกว่าคนอื่น
ข้อดีของคนที่ปฏิบัติธรรมคือ มันมีสิ่งนี้ มีธรรมะที่จะช่วยทำให้จิตใจอยู่เหนือการได้การเสีย อยู่เหนือการเปรียบเทียบ แล้วถ้าอยู่เหนือการได้การเสีย อยู่เหนือการได้มากได้น้อย อยู่เหนือการเปรียบเทียบ มันก็จะมีความสุขง่าย ใครเขาจะได้มากก็ไม่ทุกข์อะไร เพราะเราก็พอใจสิ่งที่มี หรือเราไม่ปล่อยให้ตัวตัณหาหรือมานะครอบงำใจ.