พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 8 ตุลาคม 2567
อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ท่านเป็นผู้ที่ประสบเคราะห์ร้ายก็ว่าได้ เพราะว่าพิการตั้งแต่คอลงมาตั้งแต่อายุ 20 ต้น ๆ แล้วพิการอย่างนี้ต่อเนื่องไป 40 ปีได้ จนเสียชีวิต
ช่วง
10 ปีท้าย ท่านได้ทำคุณประโยชน์มาก เพราะว่าท่านได้สอนธรรมให้กับผู้คน ไม่ใช่เฉพาะคนที่พิการอย่างท่าน แต่รวมถึงคนที่มีร่างกายปกติ เรียกได้ว่าเป็นอาจารย์กรรมฐาน หรืออาจารย์ทางธรรมที่ไม่ค่อยเหมือนใครเท่าไร ท่านไม่ค่อยเรียกตัวเองว่าเป็นอาจารย์ ท่านใช้คำว่าท่านเป็นอุปกรณ์สอนธรรม
อุปกรณ์ที่ว่านี้ หมายถึงร่างกายของท่านที่พิการ สามารถจะสอนธรรมให้กับผู้คนได้ ธรรมที่ว่านี้ก็คือความไม่เที่ยง ความเป็นอนิจจัง เพราะว่าท่านไม่ได้เกิดมาพิการตั้งแต่กำเนิด แต่ว่ามาพิการในภายหลังเมื่อเป็นครูแล้ว
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมความจริงได้ว่า ร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยงเลย อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้กับร่างกายของเรา วันดีคืนดีก็กลายเป็นร่างที่พิการ จะสอนเรื่องทุกข์ก็ได้ ร่างกายมันเป็นตัวทุกข์
แต่ว่าท่านยังสอนได้มากกว่านั้น สอนให้เห็นว่าแม้กายจะพิการ แต่ว่าจิตใจสามารถจะเบิกบานแจ่มใสได้ หรือที่ท่านเขียนหนังสือชื่อเรื่องว่า จิตสดใสแม้กายพิการ อันนี้ไม่ใช่แค่เป็นชื่อเรื่องเท่านั้น แต่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของท่าน
ก็คือว่า กายพิการแต่จิตสดใสได้ ก็เป็นสัจธรรมความจริงอย่างหนึ่งว่า กายทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ที่จริงคำว่าอุปกรณ์สอนธรรม ท่านไม่ได้หมายถึงการสอนธรรมให้กับผู้อื่นเท่านั้น ร่างกายที่พิการนี้ก็สอนธรรมให้กับตัวท่านเองด้วย
แต่ก่อนท่านก็เห็นว่าร่างกายที่พิการคือเคราะห์ที่เกิดขึ้นกับท่าน แต่ตอนหลังท่านก็พบว่ามันเป็นอุปกรณ์สอนธรรมให้กับท่าน สอนเรื่องทุกข์ ไม่ใช่ว่าร่างกายเป็นตัวทุกข์เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นว่าความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับใจ เป็นเพราะความยึดความหลงว่ากายนี้เป็นเรา เป็นของเรา
ท่านทุกข์แบบนี้มาเกือบ 20 ปีได้ เพราะไปหลงคิดว่ากายนี้เป็นเรา เป็นของเรา และคิดว่าที่พิการนี้คือ เราพิการ
จนกระทั่งได้มาปฏิบัติธรรม ก็พบว่าไม่ใช่ ที่พิการคือกายพิการ ใจไม่ได้พิการด้วย แต่พอไปคิดว่าเราพิการ หรือกูพิการ ใจก็เลยพลอยทุกข์ไปด้วย จนได้เห็นความจริงว่า จริงๆ แล้วที่พิการคือกายต่างหาก พอเห็นตรงนี้เข้า ท่านบอกว่าจิตออกจากความพิการ ออกจากความทุกข์เลย
จะว่าไป ก็เรียกว่าเป็นเพราะทุกข์ที่เกิดกับกายของท่าน ที่ทำให้ท่านได้เห็นธรรม ซึ่งก็อาศัยการเจริญสติ จนกระทั่งเห็นว่าจริงๆ แล้วทุกข์ที่เกิดขึ้นกับท่าน ทุกข์กายก็เรื่องหนึ่ง แต่ทุกข์ใจเป็นเพราะความยึดติดถือมั่นว่า กายนี้เป็นเรา เป็นของเรา พอเห็นความจริงว่ากายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ที่พิการเป็นกายพิการ ไม่ใช่เราพิการ จิตออกจากความทุกข์เลย
แล้วท่านก็บอกว่า ขอบคุณความทุกข์ เพราะความทุกข์ทำให้เรารู้จักทุกข์ แล้วก็รู้ทางออกจากทุกข์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้มาจากร่างกายที่พิการ เพราะฉะนั้นท่านจึงพูดว่า ร่างกายที่พิการก็เป็นอุปกรณ์สอนธรรมได้เหมือนกัน ไม่ได้สอนธรรมให้กับใคร สอนธรรมให้กับท่านเอง จนกระทั่งท่านออกจากทุกข์ได้
ไม่ใช่เฉพาะความพิการ ความเจ็บความป่วยอย่างอื่น ก็สามารถจะสอนธรรมให้กับเราได้ เวลาเจ็บป่วยอย่าไปมองว่ามันเป็นเคราะห์ มันเป็นโชคร้าย ถ้ามองแบบนั้นก็ยิ่งเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเองเข้าไปใหญ่ จริงๆ แล้วมันเป็นสิ่งที่สอนธรรมให้กับเรา สอนให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร สอนให้รู้ว่าสังขารเป็นตัวทุกข์
ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่เสมอว่า ความเจ็บไข้มาเตือนให้เราฉลาด ฉลาดในเรื่องของสังขาร ในเรื่องของสัจธรรม ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ เจ็บทีไรก็ได้ปัญญา อย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านพูดว่า ป่วยทุกทีก็ให้ฉลาดทุกที ฉลาดในเรื่องของสังขาร
ไม่ใช่ฉลาดเฉพาะเรื่องของความเจ็บป่วยว่า มันมีที่มาจากอะไร จะรักษาเยียวยาได้อย่างไร อันนั้นก็มีประโยชน์ อาจจะช่วยเยียวยาร่างกาย โรคส่วนกาย แต่ว่าถ้าจะเยียวยาใจให้ออกจากทุกข์ มันก็ต้องเห็นว่าความเจ็บป่วยทำให้เราเห็นสัจธรรมความจริงของสังขาร จนกระทั่งวางใจได้ถูก ก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่น
ไม่ใช่เฉพาะความเจ็บไข้ อย่างอื่นก็เหมือนกัน ความสูญเสีย ความพลัดพราก ความล้มเหลว แม้กระทั่งเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ เช่น รถติด เพื่อนผิดนัด หรือว่าเพื่อนบ้านทำตัวไม่น่ารัก พวกนี้มันสอนธรรมให้กับเราได้ทั้งนั้นแหละ
มีผู้หญิงคนหนึ่งสูญเสียทรัพย์ไปมากมายเหลือเกินช่วงนั้นท่วมใหญ่ ไม่ใช่น้ำท่วมปีนี้ เมื่อปี 54 ปีนั้นหนักหนาสาหัสจริงๆ ทรัพย์สินของเธอสูญไปเยอะ ทั้งรถยนต์ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ โทรทัศน์ สารพัด
ทีแรกเธอก็เศร้า แต่ตอนหลังเธอก็ได้คิดว่าเหตุการณ์นี้มันสอนสัจธรรมให้กับเธอว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริงเลย ทุกอย่างนี้มันอยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว แล้ววันดีคืนดีก็มีน้ำท่วม มีไฟไหม้ หรือว่ามีคนเอาไป มันก็สอนให้รู้ว่าของทั้งหลายที่เรามี มันชั่วคราว มันไม่ใช่ของเราเลย
ก็ถือว่าเธอได้ปัญญา เพราะเห็นสัจธรรมความจริงว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันไม่อาจจะยึดว่าเป็นของเราได้ แม้แต่ทรัพย์สินที่ซื้อมาก็อยู่กับเราเพียงแค่ชั่วคราว ก็ทำให้ใจเธอไม่ทุกข์ เสียทรัพย์แต่ว่าได้ปัญญา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ได้กำไร เพราะว่านอกจากทำให้ไม่ทุกข์กับการสูญเสียครั้งนี้แล้ว ต่อไปถ้าสูญเสียหนักกว่านี้ก็จะไม่จมดิ่งอยู่ในความเศร้า สามารถยกจิตอยู่เหนือความทุกข์ได้
ถ้าเรามองแบบนี้เวลาเงินหาย ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือมิจฉาชีพมาแฮ็กเอาเงินไป เราก็จะได้เรียนรู้ ไม่ใช่ได้เรียนรู้ถึงอุบายของพวกมิจฉาชีพเท่านั้น แต่จะได้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันกำลังแสดงสัจธรรมให้เห็น เห็นว่าได้กับเสียเป็นของคู่กัน มีกับหมดมันคู่กัน แล้วก็อาจจะสอนให้เห็นว่า แม้ทรัพย์จะเสีย แต่ใจไม่เสียก็ได้ ถ้าไม่ยึดติดถือมั่นกับมัน
เพราะจริงๆ แล้วความสูญเสียไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่เหตุที่ทำให้ทุกข์ที่แท้จริงคือความยึดมั่นในสิ่งนั้น ของที่สูญหายไปถูกลักขโมยไป ถ้าเราไม่ยึดว่าเป็นของเรา มันก็ไม่ทุกข์ ยิ่งตั้งใจว่าจะเอาไปบริจาคอยู่แล้ว ใจนี้สละความเป็นเจ้าของตั้งแต่ตอนก่อนที่จะถูกขโมยแล้ว ใครเขาขโมยไปก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้เสียใจอะไร เพราะว่ามันไม่ได้เป็นของเรา หรือว่าปล่อยวางมันเสียแล้ว
ความสูญเสียไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ว่าความยึดติดในสิ่งที่สูญเสียไปต่างหากที่ทำให้เราทุกข์ นี้คือสัจธรรมที่เราสามารถจะเก็บเกี่ยวได้จากเหตุร้าย คนเราต้องรู้จักมอง เหตุร้าย ๆ ไม่ว่าเกิดขึ้นกับทรัพย์ของเรา เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา เกิดขึ้นกับงานการของเรา หรือว่าเกิดขึ้นกับคนที่เรารักที่ผูกพัน พวกนี้เมื่อมันเกิดขึ้นอย่าไปมองว่ามันเป็นเคราะห์ เป็นความซวย แต่ว่าจริงๆ แล้วมันกำลังสอนธรรม
มีผู้หญิงคนหนึ่ง สวย สาว แล้ววันดีคืนดีก็ถูกผู้ชายเอาน้ำกรดสาดหน้า เสียโฉมไปเลยเพราะเขาผิดหวัง ที่จริงมันเป็นความเข้าใจผิดของเขาเอง แต่ว่าพอเธอถูกน้ำกรดสาดหน้า เธอก็รู้สึกทุกข์มาก คนที่เคยให้ค่ากับหน้าตา ขนาดเป็นดาวมหาวิทยาลัย พอมาถูกน้ำกรดสาดหน้าเสียโฉม ตาบอดไปข้างหนึ่ง ก็มีความทุกข์ถึงขั้นว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม
เธออยากจะฆ่าตัวตาย อับอายขายหน้า แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนใจ ได้คิด นึกถึงแม่ นึกถึงพ่อ แต่ก็ยังทำใจไม่ได้ ก็เลยบอกพ่อแม่ว่าขอย้ายไปอยู่ที่อื่น ไปในที่ ๆ ไม่มีใครรู้จักเธอมาก่อน เพราะว่าเธออับอายหากว่ายังอยู่ที่เดิม จะต้องเจอคนที่มาทัก เจอคนรู้จักที่มาสอบถาม
แต่ว่าผ่านไปไม่กี่ปีเธอก็ทำใจได้ แล้วก็ไม่ปิดบังหน้าตาของเธอ มีคนถามเธอว่า คิดยังไงกับผู้ชายที่เขาสาดน้ำกรดใส่เธอ เธอบอกไม่โกรธเลยกลับอยากจะขอบคุณเขาด้วยซ้ำ ที่เขาทำให้เราเป็นแบบนี้ เพราะว่าหลังจากเหตุการณ์นั้น เธอก็มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น แล้วก็คิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
เธอบอกว่าแต่ก่อนจะทำอะไร เธอก็ยึดติด แต่พอเจอเหตุการณ์นี้มันทำให้เรารู้ว่าทุกอย่างมันไม่เที่ยง แม้กระทั่งหน้าตาของเธอที่สวยงาม มันก็เป็นของชั่วคราว แต่ใช่ว่ามันมีวันหมดอายุ ถ้าไม่เจอเหตุการณ์นี้ พอแก่ตัวไปความสวยงามก็ต้องสูญหายไปอยู่วันยังค่ำ เมื่อเจอเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้ปล่อยวาง ไม่ยึดติดในหน้าตา แล้วก็ไม่ยึดติดในเรื่องอื่นด้วย
อันนี้เรียกว่าเหตุร้ายมันสอนสัจธรรมให้กับเธอ หรือไม่เธอก็มองว่ามันแสดงธรรมให้เราเห็นว่า ทุกอย่างมีวันหมดอายุ หน้าตาที่สวยงามก็เหมือนกัน ก็นับว่าฉลาดในการมองแม้จะใช้เวลา พอเห็นสัจธรรมแบบนี้แล้ว ใจก็ไม่ทุกข์ แล้วก็พลอยไม่ทุกข์เรื่องอื่นด้วย เธอบอกว่าแต่ก่อนทำอะไรก็ทุกข์ง่ายเพราะยึดติด ใครพูดอะไรก็หวั่นไหว แต่เดี๋ยวนี้ไม่สนใจ ปล่อยวางได้
เธอไม่ใช่ปล่อยวางเฉพาะเรื่องหน้าตา ปล่อยวางเรื่องถ้อยคำของผู้คน ที่จริงคำต่อว่าด่าทอนินทาว่าร้าย มันก็สอนธรรมให้กับเรา ให้เห็นว่ามันเป็นธรรมดาโลก ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ก็ต้องมีคนนินทาว่าร้าย
มีภาษิตฝรั่งเศสบอกว่า ไม่ว่าเราจะทำดีแค่ไหน มันก็ต้องมีอย่างน้อย คนที่มองว่าเราเป็นมนุษย์อุบาทว์ ถ้าเราศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้า ก็จะพบว่าพระพุทธเจ้าทรงทำความดีมามากมาย แม้แต่จะคิดร้ายยังไม่มี ก็ยังมีคนนินทาว่าร้าย ถึงกับใส่ร้าย แล้วมุ่งร้ายเอาชีวิตเลยทีเดียว
ฉะนั้นเรื่องนินทาว่าร้าย มันไม่ใช่อะไรอื่น ก็เป็นสิ่งที่แสดงสัจธรรมของโลกว่า สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน เมื่อวานนี้เขายังชมเราเลย เพราะเราทำถูกใจเขา แต่วันนี้เขาว่าเราเสียแล้ว เพราะว่าเราทำไม่ถูกใจเขา แล้วคนเรานี้จะทำให้ถูกใจคนทั้งโลกนี้เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าจะมีใครสักคนหนึ่งมาเห็นว่า เราเลวร้ายเป็นมนุษย์อุบาทว์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา นี่ก็เป็นสัจธรรมที่เราเห็นได้จากสิ่งที่เรียกว่าอนิฏฐารมณ์ ก็คือเหตุร้ายที่ไม่ถูกใจ หรือว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ไม่เป็นที่ถูกใจของเรา
นอกจากสอนธรรมแล้ว เหตุร้ายต่างๆ ก็ยังมีประโยชน์ในแง่ของการฝึกใจเราด้วย ฝึกใจให้มีความอดทน ฝึกใจให้มีสติ เวลามีคนมาต่อว่าด่าทอเรา แล้วเราจะมีสติ ไม่หลงไปกับความโกรธได้ไหม เวลารถติด เราจะมีสติรู้ทันความวิตกกังวลที่มันจู่โจมไหม
บางคนไม่รู้ทันความคิด จิตปรุงแต่งไปสารพัด เกิดความวิตกกังวลว่า จะตกเครื่องบิน จะไปที่ประชุมสาย จะผิดนัดกับลูกค้า จะส่งลูกไปโรงเรียนไม่ทัน คิดไปโน่นเลย ทั้งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่พอเรามีสติปุ๊บ เราวางเลย กลับมาอยู่กับปัจจุบัน
สิ่งที่ไม่ถูกใจเรามันสอนเราได้ทั้งนั้น ยุงกัด มดกัด มันก็สอนเราให้มีสติ ไม่ใช่เอาแต่หงุดหงิดโมโห สำหรับพวกเราก็เป็นโอกาสที่ได้มาดูกาย เวลามันมีความคัน กายเป็นอย่างไร มือมันอยากจะป่าย อยากจะไปตบ หรือว่ามันเกิดการหายใจติดขัด เพราะว่าความกลัว บางทีกลัวว่าเดี๋ยวจะติดเชื้อ
ความกลัวก็เป็นแบบฝึกหัด หรือเป็นอุปกรณ์สอนธรรมให้กับเราเหมือนกัน คือมาสอนให้เรามีสติ มีสติเห็นกาย มีสติเห็นความคิด มีสติเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่คันเพราะยุงกัด ก่นด่ามันก็เห็นมันไหม หรือว่าเอาสติมาดูเวทนา ดูความคัน ทำยังไงจะเห็นความคัน ไม่เป็นผู้คัน ฝึกตั้งแต่ตอนนี้ เพราะว่าเราต้องเจออะไรหนักๆ ในวันข้างหน้า หนักกว่ายุงกัด
ถ้าไม่ฝึกดูเวทนาเพราะยุงกัดแล้ว ต่อไปเวลามันป่วยด้วยโรคร้าย มีเวทนาบีบคั้นจะเอาสติที่ไหนมาดู มาช่วยกอบกู้ใจให้ไม่ทุกข์ ให้ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย นอกจากฝึกใจแล้ว มันยังเป็นบททดสอบเราที่จะเจอเหตุร้ายด้วย เป็นบททดสอบว่าเราปฏิบัติธรรมก้าวหน้าแค่ไหน บางคนปฏิบัติแล้วก็เพลินกับความสงบ แต่พอมีคนมาพูดไม่ถูกหูก็โกรธ อันนี้ถือว่าสอบตก
เราสามารถจะเอาคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าสิ่งที่ไม่ถูกใจมาเป็นเครื่องทดสอบว่า เราปฏิบัติธรรมได้ก้าวหน้าแค่ไหน ถ้าใจยังหวั่นไหว โกรธแค้น หงุดหงิดกับอนิฏฐารมณ์ที่มากระทบ ก็แสดงว่ายังไม่ก้าวหน้า แต่คนฉลาดเขาจะเอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นเครื่องทดสอบ หรือเครื่องชี้ว่าปฏิบัติได้ก้าวหน้าแค่ไหน
มีคราวหนึ่งหลวงพ่อพุธสมัยท่านยังหนุ่ม ท่านบิณฑบาตในเมือง ก็เห็นผู้หญิงคนหนึ่งรอใส่บาตร ท่านก็เดินไป ข้างๆ ผู้หญิงคนนั้นมีลูกชายอายุ 5 ขวบ พอท่านเดินเข้าไปใกล้ เด็กคนนั้นก็ตะโกนเสียงดังเลยว่า มึงบ่แม่นพระดอก มึงไม่ใช่พระ
หลวงพ่อพุธพอได้ยินก็โกรธเลย แต่ว่าสักพักก็มีความคิดผุดขึ้นมาว่า เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก เพราะถ้าเราเป็นพระ เราต้องไม่โกรธสิ พอมีความคิดนี้ผุดขึ้นมา ความโกรธดับเลย แล้วท่านก็เดินไปรับบาตรจากผู้หญิงคนนั้น โดยที่ไม่ได้มีความโมโหแม้กระทั่งกับเด็ก
ท่านมองว่าการที่ท่านมีความโกรธเมื่อได้ยินเด็กพูด มันแสดงว่าท่านยังไม่มีความเป็นพระเพียงพอ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียใจ แต่เป็นเรื่องที่ต้องเอาไปฝึกฝนต่อ ตอนหลังท่านก็พูดถึงเด็กคนนี้ว่าเป็นอาจารย์ของท่าน เพราะว่าทำให้ท่านรู้ว่าท่านยังมีการบ้านที่ต้องฝึก
นี้เป็นแบบอย่างที่ดีของนักปฏิบัติธรรม หรือผู้ใฝ่ธรรม เวลาเจอแรงกระทบแบบนี้ จิตกระเพื่อมขึ้นมา ก็แสดงว่าเราต้องไปฝึกต่อ เรียกว่ารู้จักเอาคำต่อว่าด่าทอมาเป็นบททดสอบว่าเราปฏิบัติได้ก้าวหน้าแค่ไหน
ถ้าเราคิดแบบนี้ อะไร ๆ ที่เกิดขึ้นกับเราแม้มันจะแย่ ๆ ในสายตาคนทั่วไป แต่มันกลับดีเพราะล้วนแต่เป็นสิ่งที่สอนใจเราให้เห็นธรรม สอนให้เราให้มีความอดทน ให้มีสติ ฝึกให้รู้จักปล่อยรู้จักกวาง หรือมิฉะนั้นก็เป็นบททดสอบว่าเราก้าวหน้าแค่ไหน หรือว่าเรายังบกพร่องในเรื่องใด เพราะฉะนั้นชาวชาวพุทธเราโดยเฉพาะที่เป็นผู้ใฝ่ธรรม ต้องมีท่าทีแบบนี้
แต่บางทีเราก็เผลอ อยากจะสบาย อยากจะเจออะไรที่มันถูกอกถูกใจ อันนี้เป็นท่าทีแบบผู้ใฝ่เสพ อยากจะได้ความสบาย ถูกใจ แต่ว่าจริง ๆ แล้วชาวพุทธหรือผู้ใฝ่ธรรม ต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ไม่ได้รู้ไม่ได้เรียนจากคำสอนของครูบาอาจารย์ จากหนังสือ แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ โดยเฉพาะสิ่งที่มันเป็นอนิฏฐารมณ์
คำต่อว่าด่าทอ ดินฟ้าอากาศที่ไม่ถูกใจ ทุกขเวทนา ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย สิ่งเหล่านี้มีอะไร ๆ ให้เราได้เรียนรู้มากมาย อย่างที่ว่าทั้งสอนธรรมให้กับเรา ทั้งฝึกใจเรา แล้วก็เป็นบททดสอบการปฏิบัติของเรา หรือทดสอบว่าเรามีธรรมะแค่ไหน
บางคนเข้าวัดมา 10 ปี 20 ปี บางคนปฏิบัติมา 20 ปี แต่ว่าใครพูดอะไรไม่ถูกก็ยังโกรธ อันนี้ก็เรียกว่ายังสอบตก ก็ไม่เป็นไร ถ้าหากรู้ ยอมรับ ก็พยายามพัฒนาตัว ถ้าเรามีท่าทีแบบนี้คือใฝ่รู้ใฝ่เรียน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรามันก็ดีทั้งนั้น มันมีประโยชน์
หลวงพ่อคำเขียนท่านสอนย้ำอยู่เสมอว่า นักภาวนาต้องเป็นผู้ฉวยโอกาสในการฝึกสติ คือเอาทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน มาเป็นบททดสอบ มาเป็นเครื่องฝึกใจ มาเป็นเครื่องสอนธรรม ท่านบอกว่า แม้ถูกด่าก็ยังเห็นสัจธรรมได้ คนทั่วไปพอถูกด่าก็โมโหโกรธา แต่ผู้ใฝ่ธรรมนักภาวนาถูกด่า แล้วเห็นสัจธรรม ก็ถือว่าได้กำไร แต่ถ้ายังโมโหโกรธา ยังไม่เห็นสัจธรรม ก็ต้องฝึกฝนให้เพิ่มขึ้น.