พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 14 ตุลาคม 2567
ท่านอาจารย์พุทธทาสท่านเคยพูดถึงคำสอน หรือว่าวิธีการฝึกของพระพุทธเจ้าว่ามี 2 ประเภทที่น่าสนใจแล้วควรที่จะรู้เอาไว้สำหรับคนที่ใฝ่ธรรม ท่านบอกว่าสำหรับสัตว์ที่ยังอ่อน สัตว์โลกที่อ่อนท่านหมายถึงว่าเพิ่งฝึกฝนตน หรือว่ายังฝึกฝนไม่มาก
สำหรับสัตว์โลกที่อ่อน พระพุทธเจ้าก็ทรงให้ขังอยู่ในคอกไว้ ส่วนสัตว์โลกที่แก่กล้า แก่กล้าคืออินทรีย์แก่กล้าหรือว่าฝึกฝนมาดีแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงชี้ทางให้บินไป
ทั้งสองประเภทดูขัดแย้งกัน ขังคอกหมายถึงว่าไม่มีอิสระ อยู่ในกรอบ ส่วนชี้ทางให้บินไปหมายถึงอิสระ แต่จะว่าไปก็ไม่ได้ขัดแย้งกันเพราะว่ามันเป็นเรื่องของขั้นตอน
การขังคอกหรือการตีกรอบ เพื่อเป็นวิธีการสอนสำหรับคนที่ยังฝึกฝนไม่มากพอ ท่านเรียกว่าอินทรีย์อ่อน แต่คนที่ฝึกฝนมาดีแล้วก็จะชี้ทางให้เป็นอิสระ
ถ้าเราไม่เข้าใจตรงนี้ เราจะสับสนว่าพระพุทธเจ้าสอนขัดแย้งกันหรือเปล่า ที่จริงไม่ได้ขัดแย้ง เพียงแต่ว่าทรงสอนสำหรับคนที่มีระดับขั้นการฝึกฝนที่ต่างกัน
คำว่าขังคอกในที่นี้ ดูให้เข้าใจง่าย ๆ เช่น ให้อยู่ในศีล อยู่ในกรอบ คนที่เพิ่งเริ่มมาฝึกฝน พระพุทธเจ้าก็ให้สมาทานศีล ศีลก็เหมือนกับเป็นกรอบให้คนยึดถือเพื่อนำไปปฏิบัติ เพราะถ้าไม่มีศีลก็มักจะเตลิด เหมือนกับสัตว์ถ้าไม่อยู่ในคอกก็จะเตลิดไป ออกไปเพ่นพ่าน แล้วก็ตกเป็นเหยื่อของสัตว์ร้าย หรือมิฉะนั้นก็ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน
พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคนเรายังฝึกฝนไม่มากพอ ก็จำเป็นต้องอยู่ในกรอบของศีล จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกิเลส เพราะถ้าไม่อย่างนั้นกิเลสจะชักพาให้ทำตามอำนาจของมัน แล้วก็เกิดความเดือดร้อนตามมา เช่น อยากได้อะไรก็ขโมย โกรธแค้นใครก็ทำร้ายถึงตาย หรือเอาชีวิตของเขาเพื่อเป็นประโยชน์ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเพื่อประโยชน์ส่วนตัว นี้เป็นวิสัยของคนที่อยู่ในอำนาจของกิเลส
ถ้าหากว่าไม่ประพฤติยึดมั่นในศีลข้อ 3 ก็ไปก่อความเดือดร้อนให้กับลูกเมียคนอื่น แล้วคนอื่นไม่ได้เดือดร้อนอย่างเดียว ตัวเองก็เดือดร้อนด้วยเพราะว่าถูกเขาแก้แค้นทำร้ายเอา
เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นที่ยังฝึกใจไม่ได้ ก็ต้องอยู่ในกรอบของศีล ก็เหมือนกับพระ พระท่านต้องอยู่ในกรอบของพระวินัย เพราะไม่งั้นก็ทำอะไรตามใจชอบ ทำให้ญาติโยมเสื่อมศรัทธา หรือทำให้เกิดความวุ่นวายในหมู่สงฆ์ ฉะนั้นพระก็ต้องอยู่ในกรอบเหมือนกับถูกขังไว้ในคอก
แต่ว่าเมื่อฝึกฝนดีแล้ว พระพุทธเจ้าจะสอนอีกแบบหนึ่งก็คือว่า อย่าไปยึดติดในกรอบ อย่างเช่นศีล ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นโทษ มีคำสอนเรื่องอุปาทาน ความยึดติดถือมั่นที่พึงละเว้น อุปาทานประเภทนี้คือสีลัพพตฺปาทาน การยึดมั่นในศีล แต่การยึดศีลนี้ไม่ใช่ว่าจะดีเสมอไปสำหรับสัตว์โลกที่ยังอ่อนอยู่
ศีลนี้ดีแต่ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นมากที่เรียกว่าสีลัพพัตตฺปาทาน คือการยึดมั่นถือมั่นในศีลพรต พรตหมายถึงว่าเป็นการปฏิบัติ ฉะนั้นถ้าคนเราไปยึดมั่นในศีลในพรต มันก็เป็นอุปสรรคของการบรรลุธรรมหรือการหลุดพ้นจากความทุกข์
คนที่ได้บรรลุธรรมขั้นต้นท่านถึงบอกว่าเป็นเพราะท่านละสังโยชน์ข้อหนึ่งได้คือสีลัพพตปรามาส ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในศีล ในข้อห้ามข้อปฏิบัติ ตราบใดที่ยังยึดมั่นในศีลในพรตนี้ ก็ไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมเป็นอริยบุคคลเบื้องต่ำได้
เพราะฉะนั้นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะสงสัยว่า มันขัดแย้งกันหรือเปล่า บางครั้งก็ทรงสอนให้ยึดในศีล แต่บางครั้งก็ให้ปล่อยวาง อย่างเช่นมีคำสอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น สำหรับคนที่ยังเป็นผู้ใหม่ต่อการปฏิบัติ ขืนเอาธรรมะข้อนี้ไปใช้ ก็เสียผู้เสียคน เพราะว่ายังไม่มีการฝึกฝนตนที่ดีพอ
พระพุทธเจ้าเคยตรัสอุปมาว่า เหมือนกับคนที่จะข้ามฝั่ง จะข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง ก็เอากิ่งไม้เอาท่อนไม้มามัดเป็นแพ แล้วก็ถ่อแพนั้นข้ามฝั่ง เมื่อข้ามฝั่งแล้ว ควรหรือที่จะแบกแพนั้นขึ้นฝั่งด้วย ผู้ที่มีปัญญาก็ย่อมทิ้งแพเอาไว้ตรงฝั่งน้ำ แล้วขึ้นไปตัวเปล่า ฉันใดก็ฉันนั้นธรรมที่พระองค์ทรงแสดงจึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นับประสาอะไรกับอกุศลธรรมยิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเข้าไปใหญ่
นี้เป็นคำสอนสำหรับสัตว์โลกที่แก่กล้า สามารถครองตัวได้แล้ว ที่ว่าครองตัวหรือครองตนนี้หมายความว่า อยู่ในศีล อยู่ในวินัย โดยที่ไม่รู้สึกว่ามันเป็นการรัดรึงหรือเป็นเครื่องพันธนาการ
สำหรับคนที่ยังใหม่เวลามาสมาทานศีล ก็รู้สึกว่าเป็นเครื่องร้อยรัดทำให้ไม่มีอิสระ หลายคนที่มาบวชพระก็รู้สึกว่าพระวินัย 227 ข้อ เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว หลายคนรู้สึกว่าทำให้ไม่มีอิสระ เป็นฆราวาสดีกว่ามีอิสระ แต่ที่จริงแล้วมันก็คือคอก ที่คอยกันไม่ให้สัตว์ร้ายมาทำร้ายเรา หรือไม่ให้เราออกไปทำอะไรเพ่นพ่าน สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและผู้อื่น
สำหรับสัตว์โลกที่ยังอ่อนอยู่ ศีลก็เป็นเหมือนคอก เหมือนกรอบ พระวินัยก็เหมือนกับกรอบ แต่พอฝึกฝนดีแล้ว ไม่รู้สึกว่ามันเป็นกรอบแล้ว กลับรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขได้ ทำให้ไม่เสียพลังงานไปกับเรื่องไร้สาระหรือสิ่งที่เป็นโทษ
คราวนี้พอรู้สึกว่าพระวินัยหรือศีลไม่ได้เป็นกรอบอีกต่อไปแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปก็คือการเป็นอิสระ ตรงนี้แหละที่พระพุทธเจ้าสอนธรรมะขั้นสูงที่เรียกว่าโลกฺตตรธรรม ให้ปล่อยวาง
สำหรับคนที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น สัมมาทิฏฐิเป็นข้อที่สำคัญ อย่างที่เราสวดเมื่อสักครู่ มรรคมีองค์ 8 ข้อแรกคือสัมมาทิฏฐิ หรือความเห็นชอบ แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องปล่อยวางความยึดมั่นในทิฏฐิหรือในความเห็นนั้น
อุปาทานที่บอกไปตัวแรกคือสีลัพพตฺปาทาน ตัวที่ 2 คือ ทิฏฐฺปาทาน หมายถึงถ้ายึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ แม้จะเป็นความเห็นที่ถูก มันก็เป็นอุปสรรค ต้องปล่อยวาง ต้องละความยึดมั่นถือมั่น แม้แต่การยึดมั่นในสัมมาทิฏฐิก็อาจจะเป็นโทษได้
หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก ท่านพูดไว้ดี ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านบอกว่า ความเห็นของเราแม้จะถูก แต่ถ้ายึดเข้าไว้มันก็ผิด ความเห็นของเราแม้จะถูกเพราะเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นมันก็ผิด
เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้ ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นแล้วมันก็เปิดช่องให้กิเลสเข้ามาว่า ต้องถูกแบบของกู ใครที่คิดไม่เหมือนกู ใครที่คิดต่างจากกู ก็เป็นคนไม่ดี เป็นคนชั่ว เพราะความคิดของกูมันถูกแล้ว ถ้าคิดต่างจากกูก็คือผิด แล้วไม่ใช่แค่เพียงผิดอย่างเดียวเท่านั้น ยังเลวด้วย มันไปถึงขนาดนั้น
ฉะนั้นการละทิฏฐิ หรือการปล่อยวางทิฏฐิ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้คนเราเป็นอิสระ แล้วทำให้เราไม่ตกเป็นทาสหรือเป็นเหยื่อของอุปาทานหรือกิเลสได้ แต่เรื่องนี้คนที่ยังไม่ค่อยมีการฝึกฝนที่ดี ก็ยังต้องละไปก่อน ให้รู้จักมีสัมมาทิฏฐิก่อน
แล้วอุปาทานประเภทที่ 3 ซึ่งเป็นตัวที่แยบคายมาก ละเอียดอ่อนมาก คือ อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่ามีตัวกู ความยึดมั่นถือมั่นว่ามีอัตตา หรือความยึดมั่นในความคิดว่ามีอัตตา อันนี้ต้องละซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก
แต่สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นหรือผู้ซึ่งเพิ่งเริ่มปฏิบัติ ท่านจะสอนว่าให้รักอัตตาก่อน ให้เชื่อว่ามีตัวมีตน อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน บุคคลพึงรักตน ท่านสอนให้รักตนก่อนเพราะเชื่อว่ามีตัวตน แล้วคนเราถ้าหากว่ามีความรักตนที่ถูกต้อง หรือรู้จักฝึกตน มันก็ทำให้อยู่ในร่องในรอย อยู่ในทำนองคลองธรรม ถ้าคนเราไม่รู้จักรักตน หรือรักตนไม่ถูกต้อง มันก็พาไปสู่ความเสื่อมได้
ฉะนั้นสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นของการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ยังไม่ได้สอนว่าให้ละตัวตน แต่ว่าให้รู้จักฝึกตนก่อน อย่างที่แปลบทสวดว่า บุคคลผู้รักตน หวังอยู่เฉพาะคุณเบื้องสูง จึงพึงเคารพพระธรรม
อันนี้ก็เป็นการสอนสำหรับคนทั่วไปว่า ให้รู้จักรักตนในทางที่ถูกต้องก่อน รักตนด้วยการฝึกตน ด้วยการมองตนอยู่เสมอ เรามีกรรมเป็นของตน ฉะนั้นถ้าเราอยากจะให้ตนเจริญก็ต้องหมั่นทำกรรมดี ถ้าอยากจะให้ตัวเรามีความสุขก็ต้องหมั่นรักษาศีล
ฉะนั้นการที่คนเรายังมีความเชื่อเรื่องตัวตน ก็เป็นเรื่องที่อาจจะมีประโยชน์ถ้าหากว่ารู้จักรักตัวตนอย่างถูกต้อง รู้จักรักตนด้วยการฝึกตน
หลายคนไม่กล้าทำชั่วเพราะกลัวตัวเองจะเดือดร้อน ตัวเองจะเสียชื่อเสียง ไม่กล้าโกหกเพราะว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ตัวตนเสียหายในสายตาของคนอื่น ทำให้ตัวเองไม่เป็นที่รักของผู้คน คนเรามักจะเริ่มต้นหรือว่าใฝ่ในการทำความดีก็เพราะรักตน แต่ว่าพอถึงจุดหนึ่งท่านก็สอนให้รู้จักละวางความยึดมั่นในตน ให้เห็นว่ามันไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเรา ให้เห็นว่าตัวกูของกู เป็นกิเลสที่จะชักนำเรา ชักนำพาชีวิตให้ไปสู่ความทุกข์ได้
ฉะนั้นพอถึงจุดหนึ่งพระพุทธเจ้าจะสอนให้เข้าใจเรื่องอนัตตา ว่ามันไม่มีอะไรที่เป็นตัวตน ไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเรา แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องรู้จักรักตนก่อน หรือว่ารู้จักฝึกตนก่อน รู้จักมองตนก่อน แล้วพอมองไปลึก ๆ ก็จะพบว่ามันไม่มีตัวตนเลย กายและใจก็ไม่ใช่ตน ไม่มีตัวเราหรือตัวกูซ้อน หรือครองกายและใจ รูปและนาม
อันนี้เรียกว่าเป็นคำสอนเพื่อชี้ทางให้บินไป เพื่อให้เป็นอิสระ เพราะตราบใดที่ยังมีอัตตวาทุปาทาน มีความยึดมั่นในอัตตา มันก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์ได้ ก็ยังหลงวนอยู่ในสังสารวัฏ
ฉะนั้นบางคนพอไม่เข้าใจก็ถามว่า ทำไมพระพุทธเจ้าสอนมีตัวตน แต่อีกที่หนึ่งสอนว่าไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อันนั้นเพราะว่าพระองค์สอนสำหรับคนหรือสัตว์โลกที่ระดับขั้นแตกต่างกัน และคำสอนแบบนี้สำหรับคน 2 ประเภทก็จะมีอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งถ้าไม่เข้าใจก็จะนึกว่าทรงสอนขัดแย้งกัน
เช่น สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติ พระพุทธเจ้าก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ก็จะสอนว่า ให้รู้จักข่มใจ อย่าส่งจิตออกนอก ให้รู้จักบังคับจิตนะ ยับยั้งชั่งใจข่มใจเอาไว้นะ เพราะไม่งั้นมันก็จะถูกกิเลส ถูกราคะโทสะชักจูงครอบงำ แต่พอถึงจุดหนึ่ง ท่านก็จะสอนว่าไม่ต้องบังคับจิต ก็แค่ดูมัน หรือรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นก็พอ
หลวงปู่สีตอนที่ท่านเป็นพระหนุ่ม ท่านเคยถามหลวงพ่อชาว่า เวลานั่งสมาธิ จิตมันเตลิดฟุ้ง ภาวนาอย่างไรจิตจึงจะสงบ ก็คงเป็นคำถามของหลายคน
หลวงพ่อชาตอบว่า เตลิดก็ช่างมัน เดี๋ยวมันขี้เกียจคิด มันก็หยุดคิดไปเอง หมายความว่าท่านไม่ได้แนะนำให้ไปบังคับจิต
แต่บางคนก็บอกว่า เอ๊ะ ทำไมครูบาอาจารย์สอนว่าให้รู้จักข่มใจ อย่าส่งจิตออกนอก
อันนั้นสำหรับสัตว์โลกที่ยังอ่อน หรือว่าคนทั่วไปที่ชอบปล่อยใจไปตามกิเลส ชอบส่งจิตออกนอก ท่านก็เลยบอกว่า อย่าไปส่งจิตออกนอก อย่าไปตามใจมัน ต้องรู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักข่มใจ คำว่าธรรมะซึ่งบางทีแปลว่าฝึกใจ จะแปลว่าข่มใจก็ไม่ถูก แต่ว่าก็แปลกันอย่างนั้น เพราะว่ามันดูเหมือนจะเข้าได้กับความเห็นของคนทั่วไป
ฉะนั้นสำหรับคนที่ปล่อยใจไปเรื่อยเปื่อย ก็ต้องรู้จักดึงออกมา รู้จักบังคับจิต รู้จักยับยั้งชั่งใจ แต่สำหรับคนที่มาภาวนาถ้ายังใช้วิธีนี้อยู่เรื่อย ๆ บังคับจิต ข่มจิต ก็จะเกิดปัญหา ท่านก็เลยสอนว่า อย่าไปบังคับจิต ถ้ามันเตลิดก็ช่างมัน ก็แค่รู้ทันมันก็พอ
ซึ่งจะว่าไปก็เป็นวิธีการที่จะช่วยทำให้เกิดความสมดุล คนที่ชอบส่งจิตออกนอกก็ต้องรู้จักบังคับจิตให้มันอยู่กับเนื้อกับตัว แต่คนที่ชอบบังคับจิต ท่านก็สอนว่าให้ปล่อย ๆ มันไปบ้าง
หลวงพ่อเทียนก็บอกว่าอย่าไปห้ามความคิด ท่านยังบอกด้วยซ้ำว่ามันยิ่งคิด มันยิ่งรู้ คือไม่ต้องห้าม ไม่ต้องบังคับ อันนี้สำหรับคนอีกประเภทหนึ่งที่ตั้งใจจะมาฝึกตน พอจะมาฝึกตนก็ต้องรู้จักความพอดี ก็คืออย่าไปบังคับมัน
หลวงปู่ดูลย์ก็ยังบอก ความคิดมันเหมือนกับลมหายใจ ห้ามไม่ได้ การปฏิบัติไม่ใช่เพื่อดับความคิด เอาแค่ว่าพอจิตมันรับรู้อารมณ์ใด แล้วมันปรุงแต่ง ก็รู้ทันมันเท่านั้นเอง รับรู้อารมณ์ หมายความว่ารับรู้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วปรุงแต่งความชอบ ไม่ชอบ ความพอใจ ไม่พอใจ ก็รู้ว่ามันปรุงแต่งเท่านั้นก็พอแล้ว อันนี้สำหรับคนที่อีกระดับหนึ่งที่มุ่งฝึกฝนตนแต่ว่าก็ให้รู้จักวางใจให้พอดี เป็นการชี้ทางให้บินไป ชี้ทางที่เป็นอิสระ ไม่ใช่กดข่ม
ฉะนั้นสำหรับคนทั่วไป พระพุทธเจ้าก็จะสอน หรือครูบาอาจารย์ก็สอนให้ทำดี ทำดี ละเว้นความชั่ว แต่พอพัฒนาไปสู่จุดหนึ่ง หรือพอก้าวหน้าไประดับหนึ่ง ท่านก็จะสอนว่าให้ทำใจ หรือฝึกจิต อย่างในโอวาทปาติโมกข์ก็จะเห็นชัด การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม อันนี้เป็นขั้นต้น บางทีเราก็พูดง่าย ๆ ว่า ละชั่ว ทำดี คนก็จำได้
แต่ที่จริงแล้วมีข้อที่ 3 ด้วยคือ การชำระจิตให้ขาวรอบ ทำจิตให้ผ่องใส เกิดปัญญา เดี๋ยวนี้คนจำนวนไม่น้อยเวลามีคนถามพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็จะตอบไปแบบนี้ว่า ละชั่ว ทำดี อันนี้ก็ถูก ถูกสำหรับผู้ปฏิบัติขั้นต้น แต่ผู้ที่ปฏิบัติขั้นก้าวหน้าจะต้องรู้จักฝึกใจด้วย ฝึกใจในที่นี้รวมถึงการรู้จักปล่อยวาง
ที่ว่าละชั่ว ทำดี เพราะว่ากลัวตนจะทุกข์ร้อน กลัวไม่ปรารถนาจะหาเรื่องเดือดร้อนมาใส่ตัว ยังมีตัวตนอยู่ ยังยึดมั่นในตัวตนอยู่ แต่ว่าพอฝึกจิตนี้มันก็ไปถึงขั้นว่าต้องละวางความยึดในตัวตน หากจะไปสอนเรื่องนี้กับคนทั่วไปมันก็อาจจะเกิดปัญหาได้
ที่ว่าอาจจะเกิดปัญหาได้ เพราะเอะอะอะไรก็ไม่มีตัวตน เอะอะอะไรก็เป็นแค่สมมติ อย่างเช่นพ่อแม่ก็ไม่ใช่พ่อแม่ของเรา เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องดูแลท่าน ไม่จำเป็นต้องไปเคารพนบนอบท่าน ไม่ต้องกตัญญูต่อท่านก็ได้ ก็มีคนคิดแบบนี้ ไปฟังคำสอนเรื่องทุกอย่างเป็นสมมติ พ่อแม่ก็สมมติ เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องดูแลท่าน ไม่ต้องสนใจท่านก็ได้
อย่างนั้นเรียกว่าข้ามขั้นตอน เพราะว่าในขั้นเบื้องต้นนี้ ต้องมีความกตัญญูก่อน กตัญญูรู้คุณต่อพ่อแม่ แต่พอปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ก็รู้ว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่สมมติ แต่ถึงแม้เป็นสมมติก็ยังมีความเคารพนบนอบอยู่ เหมือนพระอรหันต์ทั้งหลายก็ยังเคารพนับถือพระพุทธเจ้า ก็ยังมีการเคารพภันเต แต่เป็นการเคารพโดยไม่ยึดติดถือมั่น เพราะเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์
บางคนยึดมั่นกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องอนัตตา ที่ว่าไม่มีตัว ไม่มีตน พอเห็นคำสอนเรื่องว่า เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เขาก็บอกว่าไม่ใช่พระพุทธพจน์นะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนี้ เพราะพระพุทธเจ้าสอนทุกอย่างเป็นอนัตตา อ้างว่าคำประโยคนี้มันไม่ใช่พุทธภาษิต
แต่ที่จริงเป็นพุทธภาษิต เราทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน แต่ว่าเป็นคำสอนที่สำหรับคนที่ยังมีความเชื่อเรื่องตัวตนอยู่ ก็ให้รู้ว่าถ้าหากว่าอยากจะให้ตัวเราดีก็ต้องทำกรรมดี ไม่อยากให้ตัวเราเดือดร้อนก็ต้องเว้นความชั่ว เว้นกรรมชั่ว แต่ถ้าเข้าใจเรื่องอนัตตาอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะทำดี เว้นความชั่วไปเอง โดยที่ไม่ได้ทำเพราะความยึดมั่นถือมั่นในอัตตา ไม่ได้รู้สึกว่าการทำความดีเป็นเครื่องรัดรึง หรือว่าไม่รู้สึกว่าถูกตีกรอบ หรือถูกล้อมคอกอีกต่อไป
ฉะนั้นให้เราทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งอาจารย์พุทธทาสสรุปไว้ได้ดีมาก สำหรับสัตว์โลกที่อ่อน พระพุทธเจ้าทรงขังคอกเอาไว้ แต่สำหรับสัตว์โลกที่แก่กล้า พระองค์ทรงชี้ทางให้บินไป อันนี้เป็นสิ่งที่พึงระลึกอยู่เสมอเวลาเราปฏิบัติธรรม ต้องถามตัวเองว่าเราอยู่ในขั้นไหน เป็นสัตว์โลกที่ยังอ่อนอยู่ หรือเป็นสัตว์โลกที่แก่กล้าแล้ว.