พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมเย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2567
มีชายหนุ่มคนหนึ่ง แกรู้สึกว่าชีวิตของแกย่ำแย่มาก ล้วนแต่เจออะไรที่ไม่ได้เป็นดั่งใจ ไม่ว่าจะเป็นการงาน นอกจากเงินค่าจ้างได้น้อยแล้ว ยังเป็นงานที่ไม่ค่อยมีเกียรติ ไม่ชอบเลย อุปสรรคก็เยอะ มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน กับผู้คน รวมทั้งกับพี่น้องในบ้าน เป็นคนที่ไม่มีความสุขเต็มไปด้วยความเครียด ความวิตกกังวล หงุดหงิด กราดเกรี้ยว รู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่เป็นดั่งใจ
ทุกวันแกต้องนั่งรถเมล์ไปทำงาน ไกลเสียด้วย ไปกลับก็ 4 ชั่วโมง ระหว่างที่นั่งรถไปทำงานแกก็เซ็ง บ่นโน่นบ่นนี่ รถใช้เวลานาน รถติด ถ้ามีงานทำที่อื่นเงินเดือนดี ก็คงจะไปทำที่นั่นแล้ว แต่นี่ไม่มีที่จะไปเลยต้องจำใจไปทำงานที่นี่ เสียเวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง
วันหนึ่งแกก็บ่นให้แม่ฟัง แม่เลยบอกว่าเอาหนังสือไปอ่านดีกว่า แทนที่จะอยู่เปล่าๆ บนรถเมล์วันละ 4 ชั่วโมง อย่างน้อยก็ได้อะไรบ้าง ถ้าไม่ได้ความรู้ อย่างน้อยก็ไม่หงุดหงิดหัวเสียกับการที่นั่งอยู่บนรถเปล่าๆ ปกติแกก็ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่ว่าไม่มีอะไรทำ ก็เลยอ่านหนังสืออยู่บนรถเมล์ 4 ชั่วโมง ก็อ่านไปได้ไม่น้อย
จนกระทั่งวันหนึ่งแกเปิดอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเจอข้อความซึ่งสะดุดใจอย่างมาก เป็นข้อความของจักรพรรดิกรุงโรมเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงด้วย มาร์คุส ออเรลิอุส คนที่สนใจเรื่องปรัชญาจะคุ้นกับชื่อของจักรพรรดิองค์นี้
จักรพรรดิองค์นี้พูดถึงชีวิตของตัวเองว่ามีเป้าหมายอย่างหนึ่งก็คือ อยากจะเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว เหมือนกับหินผาที่โดนคลื่นสาดซัดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังไม่ขยับเขยื้อน ขณะคลื่นแตกกระจาย ดุจดังความบ้าคลั่งของทะเล ก็แปรเปลี่ยนกลายเป็นความสงบอยู่รอบๆ หินผานั้น
แกสะดุดใจตรงนั้นก็เพราะว่า ชีวิตของแกมันเต็มไปด้วยปัญหามากมาย แต่ก่อนแกคิดว่า ทำยังไงถึงจะหลีกหนีปัญหา ไปอยู่ในที่ที่ไม่มีปัญหา หรือมิฉะนั้นก็หาทางจัดการกับสิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้กลายเป็นปัญหา แต่ว่าทำเท่าไรๆ ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
คำพูดของจักรพรรดิองค์นี้ทำให้แกฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า คนเรานี้แม้จะเจอปัญหา แต่ว่าถ้าจิตใจมั่นคงเหมือนหินผา ปัญหาก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนคลื่นที่ซัดสาดเข้าใส่หินผาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่หินผาก็ยังสงบนิ่งไม่ขยับเขยื้อน เป็นสิ่งที่เขาไม่เคยคิดมาก่อนเลย
แกคิดแต่ว่าชีวิตเต็มไปด้วยปัญหา ก็คิดว่าทางเดียวที่จะไม่ทุกข์คือ ไปอยู่ในที่ที่มันไม่มีปัญหา หรือแม้กระทั่งจัดการปัญหาให้มันหมดไป แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันเป็นไปไม่ได้ ก็เหมือนกับหินผาที่อยู่ริมทะเล ยังไงก็ต้องหนีคลื่นไม่พ้น
สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อคลื่นซัดสาดใส่กระหน่ำ หินผาก็ยังสงบนิ่งอยู่ได้ ส่วนคลื่นก็มีแต่แตกกระจาย น้ำที่เคยปั่นป่วนก็สงบลง แกก็เลยเกิดความคิดว่า ถ้าเราอยากมีชีวิตที่มีความสุข ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีความหงุดหงิดกราดเกรี้ยว เราน่าจะฝึกใจเรา ฝึกใจเราให้มั่นคงเข้มแข็งเหมือนหินผา
อันนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ชายหนุ่มคนนี้หันมาสนใจเรื่องการฝึกจิตฝึกตน แทนที่จะคิดหนีปัญหา หรือแทนที่คิดจะแสวงหาชีวิตที่ไม่มีปัญหารบกวน ที่จริงก็เป็นแนวคิดเดียวกับทางพุทธศาสนา ในมงคล 38 ประการ มี 4 ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องนี้ ที่มีการแปลว่า เมื่อมีโลกธรรมเกิดขึ้นหรือมีโลกธรรมมากระทบ จิตก็ไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศก ไร้ธุลีกิเลส เป็นจิตเกษมศานต์
จะว่าไป ก็ควรจะเป็นจุดหมายชีวิตของชาวพุทธคือว่าฝึกจิตจนกระทั่ง ไม่ว่ามีโลกธรรมบวกหรือลบมากระทบแต่ว่าจิตก็ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม
ชีวิตคนเรานี้จะให้ไม่มีปัญหาเลยนั้นยาก เราอาจจะทำได้ด้วยการทำให้ปัญหาบรรเทาเบาบาง แต่ยังไงก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้น มันอยู่ที่ว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ใจก็ยังมั่นคง จิตก็ไม่หวั่นไหว สงบอยู่ได้ เปรียบไปก็เหมือนกับหินผา หรือในทางพุทธศาสนาท่านเปรียบเหมือนกับภูเขา
ไม่ว่ามีอะไรมากระทบก็ไม่กระเทือน อยู่ริมทะเลนี้จะไม่ให้มันมีคลื่นกระทบเลย ไม่มีคลื่นซัดสาดเลยนี้มันยาก แต่อยู่ที่ว่าทำยังไงเมื่อถูกคลื่นซัดถูกคลื่นสาดแล้ว ยังมั่นคงอยู่ได้
ก็เหมือนกับชีวิตเราทุกวันนี้ จะไม่ให้เจอหรือสัมผัสเชื้อโรคเลยนี้เป็นไปไม่ได้ สมัยหนึ่งเราเคยเชื่อว่าจะสามารถกำจัดเชื้อโรคให้หมดไปจากโลกได้ เพราะตอนนั้นเรามีความหวังกับวัคซีน มีความหวังกับยาปฏิชีวนะมาก เช่น เพนนิซิลิน แต่เดี๋ยวนี้ก็รู้แล้วว่ามันไม่มีทางที่จะกำจัดเชื้อโรคให้หมดไปจากโลกนี้ได้
หรือแม้แต่ยาปฏิชีวนะก็ทำท่าจะรับมือกับเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไม่ไหวเพราะว่ามันก็พัฒนาภูมิต้านทานยาปฏิชีวนะขึ้นมา เขาเรียกว่า super bug เดี๋ยวนี้มีโรคที่มันมีภูมิต้านทานสูงมากชนิดที่ยาที่ดีที่สุดของมนุษย์ ก็เอาชนะไม่ได้
ยังไม่ต้องพูดถึงไวรัสซึ่งมีมากมายสารพัด แม้แต่เอดส์ก็ยังจัดการสยบมันไม่ได้เต็มที่ ไม่ต้องพูดถึงโควิด แล้วก็โรคอีกมากมายที่ตามมา อีโบล่า ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนรักษา Marburg ไวรัสใน MPox (ฝีดาษลิง) แล้วก็อีกมากมาย
เพราะฉะนั้นเป็นอันว่า มันไม่มีทางที่จะทำให้โลกนี้ปราศจากเชื้อโรคได้ แต่ถึงแม้มีเชื้อโรคอยู่รอบตัว หรือแม้กระทั่งอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เราทำได้คือ การสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายหรือภูมิคุ้มกันโรคที่ทำให้โรคมันทำอะไรร่างกายเราไม่ได้ อย่างทุกวันนี้เราก็มี 1 ใน 4 ของประชากรโลกก็มีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย แต่ก็มีคนส่วนน้อยที่เป็นวัณโรค เพราะว่าเรามีภูมิคุ้มกันสามารถรับมือกับเชื้อวัณโรคแม้อยู่ในร่างกายเราได้
เช่นเดียวกันกับชีวิตของคนเราแต่ละคนไม่ว่าจะรวยแค่ไหน ยิ่งใหญ่เพียงใด ก็ไม่สามารถจะหลีกหนีปัญหา ไม่สามารถจะหลีกหนีโลกธรรมฝ่ายลบ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ หรือว่าการนินทาว่าร้าย รวมทั้งความเจ็บความป่วย ความล้มเหลว ที่เราเรียกรวมๆ ว่าอนิฏฐารมณ์ ไม่มีทางหนีพ้น แต่ว่าสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าเราสามารถฝึกใจ ชนิดที่ว่าเมื่อเจอสิ่งเหล่านี้แล้ว ใจก็ยังมั่นคงไม่หวั่นไหว คือไม่ทุกข์ได้
และแน่นอน เราก็ต้องหาทางทำทุกอย่างเพื่อให้ปัญหามันมีน้อยลง อย่างเช่นเราควรสมาทานศีล อย่างน้อยศีล 5 เหตุผลสำคัญก็คือ เพื่อให้ปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิตของเราน้อยที่สุด เพราะถ้าเรามีศีล เช่น ศีล 5 เรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็จะเกิดขึ้นน้อยลง เพราะไม่ไปสร้างความทุกข์ ไม่ไปเบียดเบียนใคร
แต่ศีลอย่างเดียวก็ไม่พอ เราต้องทำอย่างอื่นด้วย เช่น ถ้าไม่อยากให้บ้านถูกไฟไหม้ ทรัพย์สินถูกขโมย ก็ต้องติดสัญญาณกันไฟ ติดกล้องวงจรปิด หรือว่าปิดประตูหน้าต่าง มีประตูหน้าต่างที่เข้มแข็งแน่นหนา มีกำแพงล้อมรอบถ้าทำได้ อันนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องของศีล เป็นเรื่องทางโลกที่เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้น
รวมทั้งการดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี กินอาหารถูกสุขลักษณะ รู้จักประมาณในการบริโภค นี้เรียกว่าพยายามทำให้ปัญหาเกิดขึ้นกับเราน้อยที่สุด หรือว่าจัดการให้สิ่งต่างๆ ให้ไม่กลายเป็นปัญหา
แต่ไม่ว่าเราจะทำยังไง มันก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นกับเราจนได้ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียทรัพย์ ยังไม่ต้องพูดถึงการสูญเสียคนรัก ทั้งจากเป็น จากตาย คำต่อว่าด่าทอ หรือสิ่งรบกวนใจ และเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังมีวิธีการที่จะช่วยให้รักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ ทำให้ใจยังสงบมั่นคงอยู่ได้ สงบได้มั่นคงได้
ไม่ใช่เพราะไม่มีอะไรมากระทบ แต่เพราะว่ามีวิธี มีธรรมะในการรักษาใจ อย่างแรกก็คือการรู้จักที่จะเมินเฉยบ้าง ช่างหัวมัน ไม่เอาใจใส่ เพราะถ้าเราไปใส่ใจกับมัน เราก็จะเกิดความหงุดหงิด เกิดความโมโหขึ้นได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่น เสียงดัง ถ้าเราไปใส่ใจมัน เราหงุดหงิดเลย แต่พอเราไม่ใส่ใจ มันก็ทำอะไรเราไม่ได้
จะเป็นเสียงดังจากเพื่อนบ้าน เสียงหมาเห่า คนเราต้องรู้จัก รู้จักเมินบ้าง บางทีมีแมลงมารบกวน ถ้าเราไปใส่ใจกับมัน เราหงุดหงิดเลยโดยเฉพาะที่นี่ มันจะกัดบ้างก็อย่าไปสนใจมัน นี่เขาเรียกว่าเมิน
หรือเวลาสวดมนต์ บางคนหรือคนที่นั่งอยู่ใกล้ๆ สวดเสียงสูงบ้างต่ำบ้าง ไม่ตรงกับเรา ไม่สอดคล้องกับหมู่คณะ ถ้าเราไปสนใจ ไปใส่ใจนี้ เราก็หงุดหงิดหัวเสีย แต่ถ้าเราไม่สนใจ มันก็ไม่มีอะไร แต่ที่บางคนหงุดหงิดก็เพราะอะไร ก็เพราะว่าไปใส่ใจกับเสียงที่อยู่ข้างๆ
หรือขณะที่บรรยายอยู่นี้ เกิดมีบางคนนั่งไถโทรศัพท์มือถือ หรือนั่งสัปหงก หรือบางทีอาจจะกระซิบกระซาบคุยกัน ถ้าคนพูดไปใส่ใจกับภาพเหล่านี้ มันก็หงุดหงิด จะให้ทุกคนตั้งใจฟัง มันยาก อาจารย์ที่บรรยายในชั้นเรียน เวลานักศึกษาไม่สนใจ นั่งไถมือถือ บางทีก็พูดคุยกัน ถ้าไปใส่ใจ เราก็ไม่มีสมาธิ เกิดความหงุดหงิด บางทีก็เลยบรรยายไม่รู้เรื่อง แต่พอไม่ใส่ใจ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นการที่รู้จักเมินกับสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา มันก็ทำให้จิตใจเราสงบได้ ไม่ใช่เพราะทุกคนทำตัวเรียบร้อย ไม่ใช่เพราะทุกคนตั้งใจฟัง แต่เป็นเพราะเราไม่ใส่ใจ บางคนก็ใช้คำว่าช่างหัวมัน
ในชีวิตเรามันก็ต้องมีเรื่องพวกนี้ แล้วปัญหาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจจะกลายปัญหาใหญ่เกิดขึ้น จากบางทีที่เราเผลอไปใส่ใจมัน เกิดความหงุดหงิดขึ้นมา มีคนพูดคุยกัน หรือมีเสียงโทรศัพท์ดังในศาลานี้ บังเอิญเราเกิดไปใส่ใจมันขึ้นมา จนเกิดความหงุดหงิด แต่ว่าก็ยังไม่สาย เรายังมีสิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือมีสติรู้ทัน
การที่จะไม่ให้มีอารมณ์เกิดขึ้นในใจ เป็นเรื่องยากสำหรับปุถุชน แต่ถ้าอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว ใจไม่ทุกข์นี้ทำได้ถ้ารู้ทัน มันเกิดก็เกิดไป แต่ว่าทำอะไรใจไม่ได้ อันนี้เรียกว่ามีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยให้มันครอบงำใจ มันเหมือนกับเรือ เรืออับปางได้ไม่ใช่เพราะน้ำที่อยู่รอบๆ ถึงแม้จะมีน้ำอยู่รอบๆ เรือก็ยังลอยอยู่ได้ แต่เรือจะอับปางได้เพราะอะไร ก็เพราะปล่อยให้น้ำเข้ามาในเรือ
ฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือ การระวังไม่ให้น้ำเข้ามาในเรือ พูดอีกอย่างก็คือว่ารักษาใจไม่ให้อารมณ์เข้ามาท่วมท้นจิตใจ หรือมารบกวนจิตใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราหงุดหงิดหัวเสียเป็นทุกข์ นั่นเป็นเพราะว่าเราเผลอปล่อยไปให้อารมณ์พวกนี้เข้ามาในใจ
แต่ถ้าเรามีสติ อารมณ์พวกนี้ก็เข้ามาไม่ได้ มันก็อยู่ห่างๆ เหมือนกับกองไฟที่แม้จะเป็นไฟที่เป็นกองไฟกองใหญ่ แต่ว่าก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเราอยู่ห่างจากมัน เวลาคนไปดับไฟในป่า บางทีไฟนี้มันสูง ท่วมตั้ง 5 เมตร 10 เมตร แต่ทำไมผู้คนไม่ถูกไฟไหม้ ก็เพราะอยู่ห่างจากมัน ถ้าเข้าไปใกล้มันเมื่อไหร่ นั่นแหละถึงจะเดือดร้อน
ไฟอารมณ์ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นในใจแต่มันทำอะไรจิตใจไม่ได้ เพราะว่าสติพาใจถอยห่างจากอารมณ์เหล่านั้น นี้คือสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ บางทีท่านก็เรียกว่าไม่ไปยึดมัน มีความโกรธแต่ไม่ไปยึด มีความเศร้าเกิดขึ้นแต่ว่าก็แค่ดูมันเฉยๆ ไม่เข้าไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรือไม่ยึดว่าความโกรธเป็นเรา ความเศร้าเป็นเรา
ถ้าเราไปยึดว่า ความเศร้าเป็นเรา ความโกรธเป็นเรา ความหงุดหงิดเป็นเราเมื่อไหร่ ใจมันทุกข์เลย แต่ถ้าไม่ยึด มันก็ไม่ทุกข์ พูดอีกอย่างก็คือว่ารู้จักปล่อย ปล่อยให้มันเกิดขึ้น หรือปล่อยให้มันมาแล้วก็ไป
หรือถ้าเกิดเผลอยึดเข้าไปแล้ว ก็ปล่อยมันเมื่อรู้ตัว อันนี้จึงต้องอาศัยสติ คำว่าปล่อยความหมายแรกคือ ปล่อยให้มันผ่านเลยไป ไม่เข้าไปยึด ซึ่งควรฝึกทำเป็นอาจิณ แต่คราวนี้ถ้าเกิดเผลอไปยึดเข้าไปแล้ว ก็ให้รู้ตัวโดยไว ว่ายึดเข้าแล้ว แล้วก็ปล่อยมัน
ในเมื่อมันเป็นขยะ คำพูดของใครบางคน การกระทำของใครบางคนเป็นขยะ ทำไมเราจึงไปหยิบเข้ามาใส่ไว้ในใจเรา คำพูดบางอย่างมันเหมือนกับเศษแก้ว หรือว่าเศษตะปู ที่พ่นออกมาจากปากเขา บางทีก็ถูกตัวเรา แต่บางทีก็ไม่ถูก แต่ตกลงพื้น ทำไมเราต้องหยิบมากรีดแทง ทิ่มแทงตัวเรา ถ้ามีสติเราไม่ทำอย่างนั้น แต่ส่วนใหญ่ไม่มีสติ ไปเก็บมันมาจากพื้น หรือจากปากของเขา แล้วก็มาทำร้ายเรา
บางทีก็ไปเอาขยะ สิ่งที่เรามองว่าเป็นขยะ มาสุมมาใส่ไว้ในบ้านของเรา บ้านที่ว่านี้คือจิต แล้วพอมันเหม็น ก็บอกว่าทำไมขยะมันเหม็นอย่างนี้ เหม็นเหลือเกิน คำถามก็คือ แล้วเอาขยะมาใส่ไว้ในบ้านทำไม เวลาเศษแก้ว เศษตะปู มันทิ่มมันแทงตัวเรา ก็บอกเจ็บโอ้ยๆ คำถามคือ แล้วไปหยิบมันมาทิ่มมาแทงใจเราทำไม นี่เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติเราจะไม่ทำอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการเจริญสติจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะช่วยทำให้จิตใจเราสงบเย็นมั่นคงได้ แม้ว่าจะมีเรื่องร้ายๆ มากระทบ หรือมีโลกธรรมฝ่ายลบเกิดขึ้น ยิ่งถ้าเรารู้จักวางใจให้เป็น ไม่คาดหวัง ไม่ยึดมั่นกับความคาดหวัง
อย่างเช่น คาดหวังลูกว่าต้องเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ ต้องเรียนให้ได้ดี ต้องเรียนคณะที่พ่อต้องการ มีอาชีพที่แม่ต้องการ หรือมีคนรักที่พ่อแม่เห็นดีด้วย แต่แล้วก็ทุกข์เพราะเขาไม่เป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่ ตราบใดที่ยังไปยึดมั่นถือมั่นในความคาดหวัง หรือความต้องการของตัวเอง พ่อแม่ก็ทุกข์
เพราะว่าสิ่งที่ลูกเลือก มันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้าย แต่ที่มันทำให้พ่อแม่ทุกข์เพราะไปคาดหวัง อันนี้เรียกว่ายึดมั่นในความคาดหวัง ถ้าคลายความคาดหวังลง มันก็ไม่ทุกข์ พูดอีกอย่างก็คือว่า เหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ใจของผู้เป็นพ่อแม่ แล้วถ้าความทุกข์มันเกิดขึ้นกับเรา ก็อาจจะเป็นเพราะเหตุผลเดียวกันคือ ไปยึดในความคาดหวัง
คาดหวังดินฟ้าอากาศ คาดหวังผู้คน คาดหวังพ่อแม่ คาดหวังครูบาอาจารย์ คาดหวังลูกศิษย์ แล้วพอไม่ได้เป็นไปดั่งใจ ก็โกรธโมโห ก็โทษสิ่งนั้น โทษเขา แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าเขาจะทำอะไร มันไม่ทำให้เราทุกข์ถ้าเราไม่ได้คาดหวังในสิ่งที่เขาไม่ได้เป็นไปตามนั้นที่เราหวัง
การปล่อยวางอีกอย่างหนึ่งก็คือ การปล่อยวางไม่ใช่ด้วยสติ แต่ด้วยปัญญา การที่เรามีความโกรธ มีความโศกมีความเศร้า เมื่อมีเหตุร้ายมากระทบ หรือเมื่อมีอนิฏฐารมณ์เกิดขึ้น เป็นเพราะแรกเริ่มเรามีความคาดหวังในสิ่งต่างๆ มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ยึดมั่นว่าเที่ยง อันนี้เป็นเพราะว่าไม่รู้ความจริงว่ามันไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้เลย
ถ้าเราไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ เมื่อสิ่งนั้นมันแปรเปลี่ยนไป เงินทองถูกลักขโมย ร่างกายเกิดเจ็บป่วย หรือว่าเกิดแก่ชรา หรือคนรักล้มหายตายจากไป เราก็ไม่ทุกข์ หลายคนไปคิดว่าทุกข์เพราะเงินหาย ทุกข์เพราะเจ็บป่วย ทุกข์เพราะคนรักตายจากไป ที่จริงไม่ใช่
ที่มันทุกข์เพราะไปยึดว่าสิ่งเหล่านั้น คนเหล่านั้นว่าเที่ยง ว่าเป็นของเรา อันนี้เรียกว่าไม่รู้ความจริง เป็นความหลงชนิดหนึ่ง ซึ่งจะแก้ได้ก็ต้องมีปัญญา ปัญญาทำให้รู้ความจริง
ส่วนความหลงอีกอย่างหนึ่งคือไม่รู้ตัว ก็เลยไปยึดเอาอารมณ์ที่มันเป็นลบ อย่างที่เปรียบเทียบว่าไปหยิบเอาเศษแก้วเศษตะปูมาทิ่มแทงตัวเอง ไปหยิบเอาขยะมาสุมกองในบ้านตัวเอง นี้เรียกว่าไม่รู้ตัว ขาดสติ ถ้าเรารู้ตัวมีสติ ถ้าเรารู้ความจริงเพราะมีปัญญา อะไรเลวร้ายเกิดขึ้นกับเรา กับร่างกายของเรา กับทรัพย์สินของเรา กับคนรักของเรา มันก็ไม่ทุกข์
แม้กระทั่งคำว่าของเรา สุดท้ายมันก็ไม่มี ก็รู้ว่ามันไม่ใช่ของเราเลย เพราะฉะนั้นแม้จะมีโลกธรรมฝ่ายลบเกิดขึ้น มีความสูญเสียพลัดพรากเกิดขึ้น จิตใจก็ยังเป็นปกติได้ นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ใจมั่นคงเข้มแข็งเหมือนกับหินผาที่คลื่นจะซัดสาดยังไง หินผาก็ยังสงบนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อน มีแต่คลื่นที่แตกกระจายไป
เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกใจแบบนี้ มันจะช่วยลดความทุกข์ไปได้เยอะ มีทุกข์กายก็จริงแต่ใจไม่ทุกข์ เสียทรัพย์แต่ว่าใจไม่เสีย แล้วมันทำให้เราสามารถจะเข้าถึงสิ่งที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นมงคลสูงสุด คือเมื่อโลกธรรมถูกต้องแล้ว จิตก็ไม่หวั่นไหวใจก็ไม่กระเพื่อม สงบนิ่งมั่นคงอยู่ได้.