พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต แสดงธรรมก่อนฉันเช้าวันที่ 17 เมษายน 2568
คำว่า ปัญญาประดิษฐ์ เดี๋ยวนี้คนไทยจะไม่รู้สึกคุ้นเท่ากับคำว่า AI ทั้ง ๆ ที่ AI เป็นภาษาอังกฤษ แต่ว่ามันสั้น กระชับดี และคำว่า AI กลายเป็นคำที่พูดกันเยอะ และต่อไปคงจะติดปากคนไทยเหมือนคำว่า อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ ไวไฟ ไม่นับคำอื่น ๆ อีก เช่น อินฟลูเอนเซอร์ หรือว่า วินโดว์ส แม้กระทั่งคำว่า ชอป หรือว่าคำว่า แชร์ เดี๋ยวนี้เราใช้กันจนกระทั่งลืมไปแล้วว่าเป็นภาษาอังกฤษ
ไม่ต้องแปล
AI เป็นนวัตกรรมล่าสุด อาจจะไม่ล่าสุดแบบอันดับต้น ๆ หรือสุด ๆ แต่ว่ามันเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตคนมานานแล้ว แต่อาจจะไม่รู้ตัว เมื่อแต่ก่อนมันอยู่เบื้องหลังแอปที่เราใช้กัน เช่น เฟซบุ้ก, ยูทูป หรือว่า กูเกิล แมป ไม่ต้องพูดถึง กูเกิล พวกนี้มี AI เป็น Backup อยู่ข้างหลัง แต่เดี๋ยวนี้มันอยู่ข้างหน้าแล้ว เพราะว่าคนทั่วไปสามารถจะใช้ได้โดยตรงแล้ว
โปรแกรมอย่างเช่น Chat GPT, Deep Seek พวกนี้เป็นโปรแกรมที่ผู้คนทั้งหลายเข้าถึงง่ายแล้ว ใช้ได้โดยตรง และใช้ได้สารพัด ไม่ใช่แค่ตอบคำถาม แต่ว่ายังให้ทำงานแทนเราได้ เขียนบทความ เขียนรายงาน เขียนนิยาย เขียนเรื่องสั้น วาดภาพ หรือว่าเสกสรรค์ภาพที่ดูเหมือนจริง สร้างเป็นภาพการ์ตูนก็ได้
แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า AI ไม่ว่ารุ่นไหน มันใช้ทรัพยากรเยอะมาก ทรัพยากรที่ว่านี้ไม่ใช่โลหะ ไม่ใช่แค่ซิลิกอน แต่รวมถึงไฟฟ้า และน้ำ เพราะว่า AI ต้องอาศัยฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ถึงแม้ว่าแต่ละคนจะใช้มัน แต่ว่าข้อมูลทั้งหมดต้องถูกส่งไปที่ศูนย์กลาง
ศูนย์กลางเป็นคลังข้อมูล เขาเรียกว่า Database ซึ่งต้องใช้ไฟเยอะมาก และเมื่อใช้ไฟก็หมายความว่าต้องใช้น้ำในการผลิตไฟ และที่สำคัญคือใช้น้ำในการระบายความร้อนของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำเป็น Database ซึ่งเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ และบางทีก็หลายเครื่อง หลายเครื่องทำงานกัน ประสานงานกัน สิบ ๆ เครื่องเลย
เขาบอกว่า เพียงแค่การฝึกAIรุ่นหนึ่งชื่อว่า GPT-3 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดหรือรุ่นใหม่ เพราะว่ามีที่ใหม่กว่านี้แล้ว การเทรน คือ การให้ข้อมูลสารพัดเพื่อให้มันรู้เรื่อง รู้เรื่อง หมายความว่า รู้ข้อมูลต่าง ๆ นานาชนิด ต้องป้อนข้อมูลนานาชนิดให้มัน
การเทรนอย่างเดียวพบว่าใช้น้ำถึง 185,000 แกลลอน ถ้าคิดเป็นลิตรก็ประมาณ 750,000 ลิตร มหาศาลมาก พอ ๆ กับน้ำที่ใช้หล่อระบายความร้อนเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู เตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ใช้ผลิตไฟฟ้าความร้อนสูงมากต้องใช้น้ำระบายความร้อน การฝึก GPT-3 ใช้น้ำมากพอ ๆ กับที่ระบายความร้อนเตาปฏิกรณ์ปรมาณู
หรือถ้าพูดให้เป็นเป็นรูปธรรมชัดเจนอีกหน่อยคือว่า พอ ๆ กับการผลิตรถบีเอ็มดับบริว 370 คัน แต่ละคันใช้น้ำเยอะมาก แต่เราไม่รู้ เพราะมันอยู่เบื้องหลังการใช้ไฟฟ้า และอยู่เบื้องหลังการระบายความร้อนเครื่องจักรต่าง ๆ ที่ใช้ในโรงงานผลิตรถนี้ 370 คันมากพอ ๆ กับน้ำที่ใช้สำหรับการฝึก GPT-3
และมีคนถามว่า แล้ว Chat GPT ที่เราใช้กันอยู่ในมือถือแต่ละเครื่อง ๆ ใช้น้ำเท่าไร ดูเหมือนเล็กน้อย แต่ก็ไม่น้อยทีเดียว เขาบอกว่าแค่ให้ Chat GPT ตอบคำถาม 20 คำถาม ใช้น้ำประมาณครึ่งลิตร น้ำครึ่งลิตรไม่ได้อยู่ใกล้ตัวเรา อยู่ที่อื่น แต่หมดไปกับการตอบคำถามของเรา 20-25 คำถาม ดูเหมือนน้อย แต่ถ้าเกิดว่าคนถามหรือคนใช้ Chat GPT เป็นแสน ก็หมายถึงน้ำสูญไป 50,000 ลิตร นี่ไม่น้อยเลย
และเดี๋ยวนี้เวลาเราทำอะไร ใช้อะไร แม้กระทั่งการกินก๋วยเตี๋ยวเราก็ควรจะรู้ว่าใช้น้ำเยอะ ก๋วยเตี๋ยว 1 ชามใช้น้ำ 1,000 ลิตร บางคนสงสัยว่าชามก๋วยเตี๋ยวมีน้ำนิดเดียว ไม่กี่ซีซี แต่ทำไมถึง 1,000 ลิตร ก็เพราะว่า 1,000 ลิตร เอาไปใช้สำหรับการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยว ที่ต้องมาจากการปลูกข้าว ทำแป้ง ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว และผัก เครื่องปรุง
แม้กระทั่งเนื้อสัตว์ก็ต้องใช้น้ำในการผลิต เพราะว่าสัตว์ต้องกินอาหารสัตว์ อาหารสัตว์มาจากไร่สวน ซึ่งต้องใช้น้ำในการปลูก ก๋วยเตี๋ยวยังไม่เท่าไร ทำแฮมเบอร์เกอร์ แค่ใส่เนื้อ 1 ชิ้น ใช้น้ำไปเกือบ 12,000 ลิตรในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเดียว ถ้าเทียบกับถังน้ำมันก็เท่ากับ 60 ถังน้ำมัน เฉพาะแฮมเบอร์เกอร์ชิ้นเดียว เพราะว่าน้ำต้องใช้ในการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ให้กับวัวในการกิน และยังใช้น้ำในการปลูกธัญพืชต่าง ๆ มากมาย
ยังไม่นับการทำลายป่า แฮมเบอร์เกอร์ 1 ชิ้น นอกจากใช้น้ำถึง 12,000 ลิตรแล้ว ยังทำให้ป่าเขตร้อนถูกตัดไปประมาณ 5 ตารางเมตร เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นตัวที่ทำลายทรัพยากรมาก
ฉะนั้น เวลาเราบริโภคอาหารพวกนี้ แม้ว่าจะเอร็ดอร่อย แต่ว่าอย่าลืมว่าเบื้องหลังของมันคืออะไร
เรื่องแบบนี้สมัยก่อนไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ เพราะว่าคนน้อย และเราก็บริโภคกันไม่มาก แต่เดี๋ยวนี้บริโภคกันมาก พฤติกรรมบางอย่างพอมาถึงยุคใหม่ต้องเปลี่ยนแล้ว
คนแต่ก่อนเวลากินอะไร วัสดุที่ใช้ห่อโยนทิ้งได้เลย โยนข้างทางได้เลย เพราะอะไร เพราะมันเป็นใบตอง พอโยนทิ้งข้างทางไม่นานก็สูญสลาย ชาวบ้านสมัยก่อนเวลาเขากินอะไรเสร็จเขาทิ้งเลย ไม่มีถังขยะ เพราะไม่จำเป็น เนื่องจากสิ่งที่ทิ้งเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้
แต่พอเปลี่ยนวัสดุมาเป็นพลาสติก แต่นิสัยยังเหมือนเดิม คือกินแล้วทิ้ง ๆ โยนข้างทาง โยนเอาไว้หน้าบ้าน หรือว่าในบ้าน มันกลายเป็นขยะ แต่ก่อนไม่เป็นขยะ เพราะว่ามันเสื่อมสลาย เนื่องจากเป็นใบตอง แต่เดี๋ยวนี้เป็นพลาสติก วัสดุเปลี่ยน แต่นิสัยไม่เปลี่ยน ก็สร้างปัญหา
เหมือนกับการกินแฮมเบอร์เกอร์ หรือว่าการใช้มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก่อนเราอาจจะคิดว่าไม่ได้เสียหายอะไรมาก เพราะไม่ได้ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่ตอนหลังคนมีเยอะมากขึ้น แถมบางทีเครื่องแรงขึ้น คอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้ร้อนเร็วมาก เพราะใช้ชิปที่ความเร็วสูง ซึ่งทำให้มีความร้อน พวกนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะรู้ และรู้จักวิธีที่จะลดทอนความเสียหายที่เกิดขึ้น
สมัยนี้เรารู้แล้วว่ากินของอะไร วัสดุหีบห่ออย่าทิ้งข้างทาง คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ทำได้ แต่รุ่นนี้ทำไม่ได้แล้ว ต้องเอาไปทิ้งถังขยะ และแต่ก่อนทิ้งเฉย ๆ แต่เดี๋ยวนี้ต้องแยกขยะ
นี่คือความรู้ใหม่ที่เราจำเป็นต้องรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะว่าโลกไม่เหมือนเดิมเรื่อง AI ก็เหมือนกัน เป็นของใหม่ก็จริง แต่ว่าควรจะรู้ว่ามันใช้ทรัพยากรมากเพียงใด และทำอย่างไรเราจะลดการใช้ทรัพยากรนั้น เพื่อให้การบริโภคของเรา การใช้ชีวิตของเราไม่ก่อปัญหากับสิ่งแวดล้อมมาก.