แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ วิริยะความพากเพียรของพุทธบริษัททั้งหลาย ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา นั้นเป็นที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง จนกว่าจะสมควรแก่เวลา วันนี้ยังเป็นวันเนื่องกับอาสาฬหบูชา แม้ว่าจะเป็นวันเข้าพรรษาก็ยังเป็นวันที่ติดต่อกัน ดังมีความหมายของแต่ละวันเนื่องกันอยู่ ก็จะถือโอกาสกล่าวให้สัมพันธ์กันไป
ข้อแรกก็คือว่า วันนี้เป็นวันเข้าพรรษาเรียกกันโดยภาษาไทย เรียกว่าวันสูปานายิกา(นาทีที่ 2.49) โดยภาษาบาลี ใจความก็เป็นอย่างเดียวกันคือวันเริ่มจำพรรษา ทุกคนควรจะเข้าใจความหมายของคำว่าพรรษาหรือจำพรรษา และปรับปรุงเรื่องราวต่างๆของตนเองให้เข้ารูปเข้ารอยกันกับวันจำพรรษา ให้สำเร็จประโยชน์มากที่สุด เรื่องนี้คนโบราณรู้ดีจึงได้มีระเบียบ วิธีจำพรรษา
พรรษาคำนี้แปลว่าฝนตามฤดูกาล มีฝนตกต้องตามฤดูกาลอยู่ฤดูหนึ่ง เป็นเวลายาวนานประมาณ ๓ เดือน ในประเทศอินเดียฝนก็เริ่มตกแต่เดือนนี้ จนกว่าจะครบ ๓ เดือน ในเมืองไทยก็ล่าลงไปอีก คือยังไม่ตกในเดือนแรกแห่งพรรษา จะไปตกเดือนท้ายแห่งพรรษานู้น ลงทางใต้ ใต้ลงไปอีกที่ปลายแหลมมลายูนี่ก็คงจะล่าไปอีกสัก ๑ เดือน ถ้าลงไปอีกถึงเกาะลังกาเป็นต้น ก็ยังจะล่าต่อไปอีกสักเดือนสองเดือน จึงได้รับฝนประหลาดๆอยู่ คือในฤดูพรรษา กลางพรรษา ที่นั่นก็ยังมีฤดูร้อน มีความร้อนแห่งฤดูร้อน
แม้จะเป็นอย่างนี้เราก็เปลี่ยนไม่ได้ เราเปลี่ยนวัน กำหนดวันไม่ได้ โดยจะถือเอาตามภาษาบาลี คือตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ ไปถึงวันเพ็ญเดือน ๑๑ เราไม่อาจจะกำหนดวันเอาใหม่ว่าที่เมืองไทยเอาเดือนอะไร ที่เกาะลังกาจะเอาเดือนอะไร ให้มันตรงกับฤดูฝนจริงๆ นี่ยังไม่มีการทำหรือทำไม่ได้หรือไม่กล้าทำ นั้นก็เลยถือเอาตามชื่อของเดือนที่มีบัญญัติไว้ในวินัยว่าจะจำพรรษาเดือนอะไร มันก็มีผลอย่างนี้
เอาแล้วเป็นกันว่าที่ถูกที่แท้นั้นท่านหมายถึงฤดูที่ฝนตกชุก พอถึงฤดูที่ฝนตกชุก ประชาชนที่มีกิจกรรมต่างๆก็ต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงกิจกรรมการงานของตนให้เข้ารูปเข้ารอยกันกับฤดูฝน ดังนั้นมันจึงมีระเบียบหรือจะไม่ใช่ระเบียบก็สุดแท้ที่จะต้องทำอะไรให้มันเข้ารูปเข้ารอยกันกับฤดูฝน แม้แต่พ่อค้าทางไกล พ่อค้าเกวียน พ่อค้าม้า พ่อค้าอะไร พอถึงฤดูฝนเขาก็หยุดทั้งนั้นแหละ เขาก็หยุดเหมือนกับหยุดจำพรรษาเหมือนกัน หยุดอยู่ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเมื่อพ้นฤดูฝน แล้วก็ออกค้าขาย ออกเดินทางค้าขายต่อไป
ภิกษุนี้ก็จำเป็นที่จะต้องทำอย่างนั้น จะเป็นภิกษุในพุทธศาสนานี้หรือภิกษุในศาสนาอื่นก็เหมือนกันแหละ ตามปกติมันท่องเที่ยวไป ท่องเที่ยวไป ไม่อยู่เป็นที่ เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาของตนเองก็มี เพื่อประโยชน์แห่งการสั่งสอนก็มี แต่พอถึงฤดูฝนหรือพรรษานี้ก็หยุดกันหมด เป็นธรรมเนียมมาแต่ก่อน แต่ก่อนพุทธกาลโน้น จึงหลีกไม่พ้นที่ภิกษุในพุทธศาสนาก็ควรจะทำอย่างนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยว่าให้อยู่จำพรรษา อย่าได้ท่องเที่ยวไปเพราะมีความไม่เหมาะสมอยู่หลายอย่างหลายประการ ดูแต่พวกพ่อค้าม้าพ่อค้าวัวเกวียนเขาก็ยังหยุด แล้วภิกษุจะดันทุรังท่องเที่ยวไปในพรรษาอย่างไร มันไม่สะดวกและมันก็จะกลายเป็นคนโง่ไปก็ได้
นั้นมีคำกล่าวปลีกย่อยเบ็ดเตล็ดออกไปว่ามันไปเหยียบย่ำของเขียวให้ตายมากเกินไป ก็หญ้าบอน กระทั่งเหยียบข้าวกล้าในนาของชาวนาด้วย แม้แต่เหยียบย่ำของเขียวทั่วๆไปให้มันตายก็ไม่สมควรแก่ภิกษุเสียแล้ว เป็นอันว่าต้องปฏิบัติวินัยคืออยู่จำพรรษา ไม่จาริกเดินทางไกล เหมือนพวกพ่อค้าประชาชนเหล่าอื่นก็เหมือนกัน เขาจะต้องมีกิจการงานให้ถูกให้เหมาะให้ตรงกับเรื่องของธรรมชาติ เรื่องฝนฟ้านี่แหละ พวกพ่อค้าที่เขาเดินทางไม่ได้เขาก็หยุดในที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่จะทำอะไรก็ได้ให้เป็นประโยชน์แก่การค้าของเขา
นี้ภิกษุเราเมื่อต้องจำพรรษาต้องอยู่กับที่เป็นเวลานานขนาดนี้ ก็ต้องมีระเบียบการงาน ให้เข้ารูปเข้ารอยกัน คือให้เวลา ๓ เดือนฤดูฝนนี้มีประโยชน์ เป็นไปด้วยประโยชน์ พูดง่ายๆก็ว่าไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมแพ้ ฝนมันจะตกลงมาก็ตกลงมา ฉันก็ไม่ยอมแพ้ เป็นฤดูฝนฉันก็จะทำประโยชน์อะไรได้ แม้ในฤดูฝนการจำพรรษาจึงมีการทำประโยชน์ตามที่จะทำได้ ที่มันเหมาะสมกับที่ว่าเป็นฤดูฝน
แต่ไม่ใช่ว่าจะอาบน้ำฝนกันให้สนุก เหมือนผ้าอาบน้ำฝนที่ทำกันมาตามประเพณีนี้ นี่ผ้าอาบน้ำฝนมาวางอยู่ที่นี่แยะ คล้ายๆกับว่าพระนี่ก็จะไม่ทำอะไร จะอาบน้ำฝนเล่นกันให้สนุก ในการจำพรรษาก็มีประพฤติวัตรปฏิบัติอยู่ภายใต้หลังคา จะเป็นการศึกษาของตนก็ได้ หรือจะช่วยกันทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์ของส่วนรวมก็ได้ เราไม่ยอมแพ้
ในตอนนี้จะขอพูดเรื่องธรรมะบ้าง เกี่ยวกับฝนนี่ มีเรื่องอยู่ในพระบาลี มีคำท้าทายต่อฝน บอกว่าฝนเอ๋ยแกจะตกก็ตกลงมาเถิด เรือนของฉันมุงดีแล้ว มีคำกล่าวอย่างนี้ ภิกษุทุกองค์มุงเรือนของตัวเป็นอย่างดี คือคุ้มครองจิตใจ เปรียบจิตใจเหมือนกับเรือน ถ้ามีวัตรปฏิบัติคุ้มครองจิตใจเป็นอย่างดี ด้วยสมาธิ สมถภาวนา วิปัสสนา นี่คือมุงหลังคาเรือนเป็นอย่างดี ร้องท้าทายฝนคือกิเลสว่า ฝนเอ๋ยแกจะตกก็ตกลงมาเถิด เรือนของฉันมุงดีแล้วอย่างนี้
นี่เดี๋ยวนี้เราได้ทำกันอย่างนี้หรือเปล่า หรือทำได้หรือเปล่า ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ผู้อยู่จำพรรษาทำได้อย่างนี้หรือเปล่า คืออาจจะร้องท้าฝนว่าตกลงมาเถิด เรือนของฉันมุงดีแล้ว ก็หมายความว่าไอ้อารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์ทางตา อารมณ์ทางหู อารมณ์ทางจมูก อารมณ์ทางลิ้น อารมณ์ที่จะมากระทบผิวหนัง อารมณ์ที่จะมากระทบจิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ให้มันระดมเข้ามาเถิด เรือนของฉันมุงดีแล้ว มีสติ สมาธิ มีปัญญา เป็นเครื่องมุงดีแล้ว อารมณ์เหล่านั้นแม้จะมากมายเปรียบเสมือนหนึ่งฝนหนักๆ หนักๆเท่าไรก็ตามเถิด ก็มาเถิด หลังคานี้มุงดีแล้ว
นี้ก็หมายความว่าผู้อยู่จำพรรษาไม่ได้อยู่อย่างเหลวไหล ก็อยู่อย่างก้าวหน้า อบรมจิตใจ ก้าวหน้าในทางของจิตใจถูกต้องที่สุด พร้อมที่จะเผชิญกับฝนคืออารมณ์จากภายนอกที่จะเข้ามาสู่จิต หลังคามุงดีแล้ว ฝนก็ไม่รั่วรดจิต ฝนไม่รั่วรดจิต จิตไม่ถูกกระทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเลวร้าย เพราะอารมณ์ที่มากระทบนั้น แล้วจะคิดกันอย่างไรในเรื่องนี้ อาตมาเห็นว่าไม่มีทางอื่นนอกจากทำอย่างนั้น เอาอย่างอย่างนั้น
สำหรับภิกษุสามเณรก็มีระเบียบที่จะทำอยู่แล้ว นี้สำหรับฆราวาสที่อยู่ที่บ้านที่เรือนจะทำอย่างไร บรรพบุรุษในกาลก่อนท่านก็ทำ ทำกันอย่างนั้น คือว่าในระยะเวลาพรรษานี่จะประพฤติปฏิบัติหรือจะทำอะไรให้เคร่งครัดเป็นพิเศษผิดจากนอกฤดูฝน จะสมาทานวัตรปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดีที่สุด จนขนาดเรียกได้ว่าพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ สำหรับพรหมจรรย์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศ เรื่องกามารมณ์นะ แต่ก็รวมไปหมดแหละว่าถ้ามีการประพฤติปฏิบัติในระบอบระเบียบใดอย่างเคร่งครัดเป็นที่ถูกต้อง เป็นที่เป็นเวลายาว นั่นแหละคือตัวพรหมจรรย์
พูดอย่างต่ำที่สุด ถ้าว่ามันจะอดบุหรี่จริงๆสัก ๓ เดือนนี่ มันก็เป็นพรหมจรรย์ในความหมายหนึ่งด้วยเหมือนกัน มันจะไม่เล่นไพ่กันสัก ๓ เดือนหนึ่งจริงๆ มันก็เป็นพรหมจรรย์เหมือนกัน หรือว่ามันจะไม่ซื้อล็อตเตอรี่จริงๆสัก ๓ เดือนก็เป็นพรหมจรรย์เหมือนกัน หรือจะไม่ดื่มน้ำเมา ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่ดูการเล่น ไม่ทำอะไรต่างๆก็เมื่อทำถึงขนาดสูงสุด เต็มที่แล้วก็เป็นพรหมจรรย์
นี่ในทางที่จะกระทำ ก็จะกระทำอะไร กระทำการไหว้พระสวดมนต์ไม่ขาดสักวันหนึ่งตลอด ๓ เดือน จะตักบาตรไม่ขาดสักวันหนึ่งตลอด ๓ เดือน จะทำอะไรก็ตามใจที่ว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำ เรื่องที่ต้องละก็ละ เรื่องที่ต้องทำก็ทำ จะมาทำถึงขนาดจริงๆแล้วก็เรียกว่าพรหมจรรย์ได้
พรหมจรรย์แปลว่าการประพฤติอย่างประเสริฐ พรหมแปลว่าประเสริฐ จรรย์แปลว่าประพฤติ พรหมจรรย์แปลว่าประพฤติอย่างประเสริฐ ขอให้มีการประพฤติอย่างประเสริฐ ตลอดเวลา ๓ เดือน นี่ใครจะเลือกเอาอะไร จะถืออะไร จะถือปฏิบัติอะไร ที่มันเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส ที่กระทำนี่มันไปรวมจุดอยู่ตรงที่ขูดเกลากิเลส จะประพฤติอะไรก็ตามมันไปมีผลที่ขูดเกลากิเลส เราจะเว้นไม่ทำอะไรที่ไม่ควรทำเพื่อขูดเกลากิเลส เราจะทำอะไรที่ควรทำเพื่อขูดเกลากิเลส
ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่าพรหมจรรย์นั้น มันมีหน้าที่ขูดเกลากิเลส ก็เป็นอันว่าขูดเกลากิเลสกันตลอดเวลา ๓ เดือนก็ได้ ชาวบ้านเข้าพรรษาก็ได้ เข้าพรรษาในลักษณะอย่างนี้ เช่นเดียวกับที่ภิกษุหรือบรรพชิตเข้าพรรษาในอุปมาที่ว่ามุงหลังคาดีฝนรั่วรดไม่ได้ ทีนี้แม้แต่ชาวบ้าน ฆราวาส คฤหัสถ์ ก็ทำได้ จะประพฤติกรรมฐาน คุ้มครองจิตใจ อบรมจิตใจให้ดีที่สุด ในขั้นนี้ ในชั้นนี้ก็ได้เหมือนกัน ถ้ามันอำนวย อยู่ในบ้านในเรือนในครอบครัวที่อำนวย บางทีเขาก็แอบมาทำที่วัด แอบมาทำที่วัดก็ได้เหมือนกันแหละ ขอให้มีการกระทำก็แล้วกัน
ให้มันเป็นที่แน่นอนว่าเราไม่ยอมแพ้ ฝนมันจะตกลงมาสักเท่าไรเราก็มีการประพฤติกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตลอดฤดูฝน ฝนจึงไม่เป็นอุปสรรค ก็ดูจากการทำมาหากินของประชาชน ไม่ใช่ฤดูฝนเขาก็ทำมาหากินได้ ฤดูฝนเขาก็ทำมาหากินได้ ประพฤติกระทำให้มันถูกกับฤดูกาลมันก็กระทำได้ นี่เรียกว่าไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมเสียเวลาเปล่าๆปีละ ๓ เดือนในฤดูฝน กระทำการงานให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่ง เกิดผลกำไรอย่างยิ่ง ได้เหมือนกับเดือนที่ไม่ใช่ฤดูฝน
แต่เราก็ต้องเปลี่ยนงาน ต้องเลือกงาน ก็ต้องเปลี่ยนงานให้มีงานที่ทำได้หรือเหมาะสมที่จะทำในฤดูฝน นั่นแหละคือการท้าทายฝน ท้าทายฝน คุณจะตกก็ตกลงมา เราเตรียมพร้อมแล้ว แล้วก็ทำตามหน้าที่ของตนของตน เลยได้จำพรรษากันทุกคนในหมู่พุทธบริษัท แม้แต่เด็กตัวน้อยๆนี่ ถ้ามันอยากจำจะพรรษาขึ้นมาบ้าง ก็ไหว้พระสวดมนต์ไม่ให้ขาดแม้แต่เวลาเดียวตลอด ๓ เดือน มันก็ได้ หรือจะถือปฏิบัติอย่างไรก็ตามที่เหมาะสมที่จะถือได้
แม้ที่สุดแต่ว่าจะไม่ขาดโรงเรียนสักวันเดียวตลอดฤดูฝนมันก็ยังได้ มีความหมายสำคัญอยู่ตรงที่ว่าเอาจริง มีจิตใจเข้มแข็งแล้วก็เอาจริง ประกอบหน้าที่การงานให้ลุล่วงไปด้วยดี เอาละเป็นอันว่ายุติกันได้ทีหนึ่งก่อนว่า ฤดูฝนนี้เราไม่ยอมแพ้ เราจะทำอะไรให้เท่ากัน หรือให้ดีกว่าให้ยิ่งกว่าฤดูอื่นก็ได้ ทีนี้ก็จะพิจารณากันว่าจะทำอะไรดี
อาตมาเวลานี้มันเป็นโรคธรรมชีวีขึ้นสมอง อะไรๆมันก็นึกแต่เรื่องธรรมชีวี ธรรมชีวี ดังนั้นก็ขอเสนอระบบธรรมชีวีให้ท่านทั้งหลายทุกคนเอาไปประพฤติปฏิบัติให้เป็นอย่างดีตลอดฤดูฝน จะได้ผลอย่างยิ่ง ได้ผลมหาศาล ได้ผลทั้งในความหมายทางโลกๆ และได้ผลทั้งความหมายในทางธรรมะ ทางโลกุตตระเป็นการส่งเสริม จึงขอโอกาสพูดเรื่องธรรมชีวี ในลักษณะที่เหมาะสมกับที่จะใช้เป็นหลักสูตรสำหรับประพฤติ สำหรับปฏิบัติตลอดฤดูฝน เหมือนกับว่าจำพรรษาด้วยการเป็นธรรมชีวี มันไม่ขัดข้องใครจะทำอย่างอื่นด้วยก็ได้ ทำพร้อมกันไปก็ได้ แต่ขอให้ระเบียบธรรมชีวีนี่อย่าได้เสียไป อย่าได้สูญเสียไป
เอ้า...พิจารณากันไปตั้งแต่ถ้อยคำ ถ้อยคำ คำพูด ธรรมชีวีแปลว่ามีชีวิตเป็นธรรมะ หรือมีธรรมะเป็นชีวิต ภาษาบาลีเขาเป็นอย่างนี้ จะแปลไปจากทางหน้าก็ได้ ไปจากทางหลังก็ได้ ธรรมชีวีมีชีวิตเป็นธรรมะ ธรรมชีวีมีธรรมะเป็นชีวิต เรื่องมันก็ตรงกันแหละ ความหมายก็ตรงกันคือว่าให้มันมีชีวิตเป็นธรรมะ
ทีนี้ก็ดูถึงคำว่าธรรมะนั่นแหละเป็นหลัก ธรรมะคืออะไร เอามาเป็นชีวิต เอามาอยู่กับชีวิตได้อย่างไร เมื่อตะกี้บอกว่าวันนี้มันก็ยังเนื่องๆกันอยู่กับวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรม เป็นวันของธรรมะ ธรรมะแห่งพระบาลีธรรมจักรก็คือความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเป็นหนทางสายเดียว ความถูกต้องมี ๘ ประการเอามาฟั่นกันเหมือนกับฟั่นเชือก ๘ เกลียว เป็นเชือกเส้นเดียว ประกอบอยู่ด้วยองค์ ๘ ประการ โดยมากก็ได้ยินได้ฟัง บางคนก็ท่องจำไว้แม่นยำด้วย แต่บางคนก็ยังไม่รู้ว่าอะไรก็มีเหมือนกัน จึงขอพูดโดยใจความอีกสักครั้งหนึ่งว่า
ความถูกต้อง ๘ ประการนั้น ข้อแรกที่เรียงตามวิชา ตามหลักวิชาในพระบาลี ข้อแรกก็คือ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง ความเห็นในที่นี้หมายถึงความคิด หมายถึงความเชื่อ ความเข้าใจความอะไรรวมกันหมด จนอยู่ในรูปของความเห็น ความเห็นอันนั้นจะต้องถูกต้อง
ถูกต้องคือดับทุกข์ได้
คำว่าถูกต้องคือดับทุกข์ได้ อย่าไปเพ้อเจ้อตามนักลอจิก นักฟิโลโซฟี นักอะไรก็จนไม่รู้ว่าถูกต้องเป็นอย่างไร เถียงกันเป็นปีๆก็ไม่รู้ว่าจะเอาคำว่าถูกต้องในความหมายไหน เอาความถูกต้องในความหมายของพระธรรม ของพระบาลีนี้ คำว่าถูกต้อง ธรรมะคือความถูกต้อง ถูกต้องนั้นคือเพื่อดับทุกข์หรือดับทุกข์ได้ ทั้งของตนเองและผู้อื่น จึงจะเรียกว่าถูกต้องโดยสมบูรณ์
ถูกต้องนั้นไม่ทำอันตรายแก่ผู้ใด กลับจะให้เกิดคุณประโยชน์แก่ทุกคน นั่นน่ะคือความถูกต้อง ถ้าความคิดความเห็นของเราเป็นไปในลักษณะนี้ก็เรียกว่าความเห็นถูกต้องแหละ (นาทีที่ 2๘.2๓)ไม่ดับทุกข์กันอย่างไรโดยเฉพาะเป็นหลักสำคัญ มีความรู้ความเห็นความเข้าใจในเรื่องจะดับทุกข์กันอย่างไร แล้วก็เรียกว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ที่เกี่ยวกับหลักทั่วๆไป ก็คือรู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาอย่างไร นี้ก็เรียกว่าถูกต้องนะ ถูกต้อง
อิทัปปัจจยตานั้นสำคัญมาก มันมองแล้วมันบอกให้เห็นชัดว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของสิ่งนั้นๆ เหมือนกันหมดเลย แล้วก็เป็นเช่นนั้นเองน่ะ ไม่เป็นอย่างอื่น มันมีเหตุมีปัจจัยสำหรับปรุงแต่งด้วยกันทั้งนั้น ความดี ความชั่ว ความสุข ความทุกข์ อะไรก็ตามน่ะมันเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็เป็นเช่นนั้น เราจึงไม่หลงรักไอ้ที่มันน่ารัก ไม่หลงเกลียดไอ้ที่มันน่าเกลียด จะเป็นเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ เรื่องธรรมารมณ์อะไรก็ตาม เห็นแล้วมันเป็นอิทัปปัจจยตาเสมอกันหมด คือกลิ้งหมุนไปตามเหตุตามปัจจัย ว่าเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเอง
ความเกิดก็เป็นเหตุ เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นอิทัปปัจจยตา ความตายก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยและเป็นอิทัปปัจจยตา ก็เห็นเสมอกัน ไม่ต้องรักความเกิด ไม่ต้องเกลียดความตาย ไม่ต้องกลัวความตาย ไม่ต้องหลงความเกิด พูดตรงๆก็คือมันไม่บ้านั่นเองแหละ แล้วมันเลยไปจนถึงกับว่าไม่แปลก ไม่แปลก
ไอ้เสื้อลายสวยๆนั่น มันก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา เสื้อมอๆไม่มีลายลวดลายอะไรเลย มันก็เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตาเหมือนกันอย่างนี้ แต่คนทำไม คนทำไมว่าเสื้อตัวนี้สวย เสื้อตัวนี้ไม่สวย แล้วก็อยากได้เสื้อตัวสวยๆก็ซื้อมาแพงๆน่ะ เพราะมันไม่เห็นเช่นนั้นเองของอิทัปปัจจยตานี่แหละ
เกิดมาก็เป็นอย่างนี้แหละ พอเกิดมาจากท้องแม่เป็นเด็กๆก็มันถูกสอนให้แยกเป็นฝ่าย เป็นฝ่ายนั้นน่ะ ฝ่ายน่ารักกับฝ่ายไม่น่ารัก ฝ่ายอร่อยฝ่ายไม่อร่อย ฝ่ายไพเราะฝ่ายไม่ไพเราะ เอาอะไรไม่รู้มาแขวนรุงรังไปหมด ให้เด็กที่นอนอยู่ในเปลดู เอาเพลงขับกล่อมอะไรก็ไม่รู้มาขับกล่อมเด็กให้มันมีจิตใจเคลิบเคลิ้มสบายไป ก็ยังมีอย่างอื่นอีกประคบประหงมนวดเฟ้นอะไรก็สุดแท้ ล้วนแต่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกแยกเป็นฝ่ายที่น่ารักน่าพอใจ ฝ่ายที่ไม่น่ารักไม่น่าพอใจ เขาก็มีจิตใจแยกออกจากกัน สำหรับจะไปรักไอ้ที่น่ารัก ไปโกรธไปเกลียดไอ้ที่มันไม่น่ารัก
นี่ความยินดียินร้ายมันก็ตั้งต้น จนกระทั่งหนักเข้าก็เป็นนิสัยที่จะเกิดความยินดีที่น่ายินดี เกิดความยินร้ายที่น่ายินร้าย มันก็ให้ความทุกข์ความยากความลำบากในตอนหลัง เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นพ่อบ้านแม่เรือนอะไรขึ้นมา มันก็ไปหลงอยู่แต่เรื่องยินดียินร้าย มายินดีก็ยินดี มายินร้ายก็ยินร้าย นี่เรียกว่าปัญหา ทำอย่างไรจึงจะฉลาด
ทีนี้ก็มีอีกความหมายหนึ่งน่ะ คือแปลกหรือน่าอัศจรรย์ ถ้ามันไม่เห็นอิทัปปัจจยตา ไม่เห็นตถาตาว่าเป็นเช่นนั้นเองตามกฎแห่งเหตุแห่งปัจจัยแล้ว มันก็จะรู้สึกไปทำนองที่ว่าอย่างนั้นแปลก อย่างนั้นแปลกมาก น่าอัศจรรย์ อย่างนี้ไม่แปลกไม่น่าอัศจรรย์ แล้วก็อุตส่าห์ไปหาของแปลก ของน่าอัศจรรย์ ไปเที่ยวเกาะสมุย ไปเที่ยวภูเก็ต ไปเที่ยวอะไรให้มันโง่ ไปเที่ยวอินเดีย ไปดูทัชมาฮาลให้มันโง่ เพราะความรู้สึกนี่มันน่าอัศจรรย์ เพราะความที่มันไม่เห็นอิทัปปัจจยตาหรือตถาตา
อาตมาอ่านหนังสือโฆษณาท่องเที่ยวเรื่องน้ำตกไนแองกราที่อเมริกานู้น อ่านแล้วรู้สึกคลื่นไส้ จะอาเจียน เพราะคำบรรยายนั้นต้องการจะทำให้เราเคลิ้มไปว่ามันน่าอัศจรรย์ที่สุด น่าอัศจรรย์ที่สุด ให้ไปดู ไปดู แต่ว่ามันรู้สึกว่ามันจะวิเศษไปอย่างไรได้ จะอัศจรรย์ไปอย่างไรได้ จะแปลกประหลาดไปอย่างไรได้ ก็เพราะว่ามันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง
นี่ถ้าว่าไม่มีธรรมะข้อนี้ช่วยคงจะเสียเงินไปเที่ยวทั่วโลก เที่ยวรอบโลกกับเขามากด้วยเหมือนกัน เหมือนฝรั่งโงๆ เก็บเงินไว้เที่ยวรอบโลก มาที่สวนโมกข์นี่ก็แยะ มันจะมาดูของแปลก ดูของแปลก ดูของแปลก เพราะมันมีความรู้สึกว่ามันแปลก
ถ้ามันเรียนธรรมะมากพอแล้ว มันก็จะไม่มีอะไรแปลก มันก็ไม่ต้องไปท่องเที่ยวที่ไหนให้เหนื่อยให้เสียเงินให้เปลืองเงิน หาความสงบอยู่ได้ที่นั่น ไม่มีอะไรแปลก ไม่มีอะไรน่าอัศจรรย์ นี่แห่กันไปแห่กันมา ไปทัศนาจร เสียค่าน้ำมันของชาติ ขาดดุลการค้า เพราะพวกคนที่ทำอะไรที่ไม่ต้องทำ ทำสิ่งที่ไม่ต้องทำนี่มากมายเหลือเกิน เรื่องฟุ่มเฟือย เรื่องเอร็ดอร่อย เรื่องสวยงาม เรื่องสนุกสนาน เรื่องท่องเที่ยว ทำให้เสียเงินของประเทศชาติมากเหลือเกิน เพราะมันไม่รู้เรื่องอิทัปปัจจยตา คือเป็นมิจฉาทิฏฐินั่นแหละ
ถ้ารู้เรื่องอิทัปปัจจยตา ไม่ถูกกระทำให้ยินดียินร้าย ไม่เห็นว่าแปลกประหลาดน่าอัศจรรย์อะไร มันก็ไม่ต้องเสียเงินจำนวนนี้ ประเทศชาติก็ไม่ต้องขาดดุลการค้ามากมาย นี่เห็นมั้ยว่ามันเนื่องกันไปหมดแหละ เรื่องโลกก็ดี เรื่องธรรมะก็ดี และไอ้ความลับที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องอิทัปปัจยตาที่ยังไม่มี ถ้ามีความรู้เรื่องนี้ก็เรียกว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้อง เป็นองค์ประกอบองค์ที่หนึ่งของมรรค ของอริยมรรค ของอัฏฐังคิกมรรค
มรรคแปลว่าหนทางไปสู่จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วยองค์ ๘ องค์ที่ ๑ คือสัมมาทิฏฐิ ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิแล้วมันก็ไม่รู้จักทำอะไรถูกต้องได้ ที่จะทำอะไรต่อไปในองค์หลังๆต่อๆไปมันก็ไม่ถูกต้องได้ถ้าว่าองค์แรกนี้มันไม่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าจึงสรรเสริญสัมมาทิฏฐินี้เป็นอย่างยิ่งว่า มันเหมือนกับอาทิตย์อุทัย เปรียบกันได้กับอาทิตย์อุทัย ถ้าเราเห็นอาทิตย์อุทัยเหลืองเรื่อขึ้นมาทางทิศตะวันออก เราก็เชื่อได้ว่ากลางวันมาแล้ว กลางวันมาแล้ว เดี๋ยวก็จะมีแสงสว่าง กลางวันมีเวลาเที่ยง รู้ได้ด้วยมีอุทัย เป็นอันว่ามันจะมีกลางวันแน่
ข้อนี้ก็เหมือนกันแหละ ถ้ามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ รู้ถูกต้องในสิ่งต่างๆแล้ว มันก็เป็นที่แน่นอนว่าจะดับทุกข์ได้ จะดับทุกข์ได้ จะมีการดับทุกข์เกิดขึ้นเป็นแน่นอน ขอให้มีสัมมาทิฏฐิเถิด สัมมาทิฏฐิเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องทางถึงความดับทุกข์ รวมกันแล้วก็เรียกว่านั่นแหละคืออิทัปปัจจัยตา เพราะอย่างนี้มีอย่างนี้จึงมี เพราะอย่างนี้มีอย่างนี้จึงมี เพราะอย่างนี้ไม่มีอย่างนี้จึงไม่มี เพราะอย่างนี้เกิดขึ้นอย่างนี้จึงเกิดขึ้น เพราะอย่างนี้ดับไปอย่างนี้จึงดับไป แสดงลักษณะว่าเป็นปัจจัยแก่กันและกันอย่างยิ่ง
มองให้ลึกไปถึงเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งปวงแล้วก็จะทำอะไรได้ตามที่ควรจะทำ ตามที่ควรจะต้องการ อย่างเช่นต้องการจะดับทุกข์ก็ทำได้แน่ หรือแม้ที่สุดต้องการแต่จะรวยจะสวยอะไรมันก็ทำได้ หรือว่าแม้ที่สุดมันต้องการจะเลวก็เลวได้ ไปทำในทางที่เลวเข้ามันก็เลวได้ มีความทุกข์ได้ ถ้าทำไปถูกเรื่องที่ดับทุกข์มันก็ดับทุกข์ได้ มันเป็นอิทัปปัจจัยตาทั้งสองฝ่าย แต่ที่จริงมันเป็นอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เป็นสองฝ่าย เป็นอย่างเดียวคือว่าเหตุปัจจัยนี้อย่างนี้ แล้วก็ต้องมีผลอย่างนี้ มันไม่ได้มีแบ่งเป็นดีเป็นชั่ว ธรรมชาติไม่มีจิตใจที่จะรู้สึกว่าดีว่าชั่ว ว่าด้อยว่าเสีย ว่าสุขว่าทุกข์ มันมีอิทัปปัจจัยตาเพียงตัวเดียวว่าถ้าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จะต้องมี สิ่งนี้มีสิ่งนี้จะต้องมี
ทีนี้มนุษย์สิ มนุษย์สิ พอได้รับเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้แล้ว สิ่งใดถูกใจก็จะบัญญัติว่าดีว่าสุข สิ่งใดไม่ถูกใจก็จะบัญญัติว่าชั่วว่าทุกข์ นี้มันอยู่ที่บัญญัติของมนุษย์ ตัวแท้ของธรรมชาติคือตัวอิทัปปัจจัยตานั้น ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ไม่มีดีไม่มีชั่ว มีแต่ว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอย่างเฉียบขาด อย่างถูกต้องและแน่นอน นั้นคือลักษณะที่ไม่เป็นของแปลก อย่าไปรู้สึกเป็นของแปลกให้โง่แล้วก็รักฝ่ายนี้เกลียดฝ่ายนั้น
แม้แต่เรื่องดีชั่วก็อย่าไปติดทั้งดีและทั้งชั่ว ไปหลงใหลในความชั่วก็มีความทุกข์อย่างชั่ว ไปหลงใหลในความดีก็มีความทุกข์อย่างดี ยุ่งๆเท่ากัน ขึ้นไปเสียคนชั่วคนดีก็มีความสงบก็เป็นนิพพาน นี่พอมาถึงนิพพานแล้วจะหมดเขตของอิทัปปัจจัยตา ถ้าเป็นนิพพานหมายความว่ารู้สิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องจนจิตนี้ไม่ถูกปรุงแต่ง ปรุงแต่งไม่ได้ ปรุงแต่งให้โง่อีกไม่ได้ นี่ก็จะเรียกว่าเป็นโลกุตตระขึ้นเหนือโลก เป็นสังกะตะ(นาทีที่ 41.09) อะไรๆปรุงแต่งไม่ได้ เป็นวิสังขาระ อะไรๆปรุงแต่งไม่ได้ ก็คือดับทุกข์ นั้นต้องรู้เรื่องที่จะดับได้ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ นี่เรียกว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบเป็นองค์ที่ ๑
ทีนี้ก็มาถึงองค์ที่ ๒ สัมมาสังกัปโป ความดำริถูกต้อง สังกัปปะ สังกัปโป สังกัปปา อันนี้แล้วแต่ภาษาบาลี ตัวแท้ๆคือสังกัปปะ สังกัปปะแปลว่าความดำริที่เป็นความประสงค์ เป็นคำกลางๆ ไอ้ความประสงค์แห่งจิตนั่นแหละสังกัปปะ ถ้ามันประสงค์ด้วยอวิชชาด้วยความโง่ก็เรียกว่าตัณหาบ้าง โลภะบ้าง แต่ถ้ามันประสงค์ตามธรรมดาๆก็เรียกว่าสังกัปปา นี่เราทำสังกัปปาให้ถูกต้องว่าควรจะประสงค์อะไร
ทีนี้มันดีอยู่ที่ว่าถ้ามีสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิอย่างที่กล่าวแล้วในข้อที่ ๑ มันจะรู้เองว่าควรจะประสงค์อะไร ขอให้มีสัมมาทิฏฐิเพียงพอ ถูกต้องเพียงพอ มันก็จะมีสังกัปปาที่ถูกต้องและเพียงพอ มีความประสงค์แห่งใจ ความคิดชนิดที่เป็นความประสงค์แห่งใจ เป็นไปอย่างถูกต้อง ก็คิดไปในทาง ดำริไปในทางหรือประสงค์ไปในทางที่จะไม่เกิดทุกข์ ไม่ให้เกิดทุกข์ ที่จำแนกแจกไว้เป็นตัวอย่างก็ว่าไม่คิดไปในทางกามารมณ์ ไม่คิดไปในทางพยาบาท ไม่คิดไปทางเบียดเบียน
มันเป็นตัวอย่างเท่านั้นแหละ มันมีมากกว่านั้น คือมันต้องพูดว่า ไม่ดำริไปในทางที่เกิดความทุกข์ทุกๆชนิด แก่ทุกฝ่าย ทุกเวลา ทุกสถานที่ ความดำรินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปโปที่สมบูรณ์ ดังนั้นทุกคนจงระวังควบคุมกระแสความคิดของจิตที่ปรุงแต่งออกไปให้คิดให้นึกให้ต้องการให้ประสงค์น่ะ ว่าให้มันประสงค์อย่างถูกต้อง อย่าประสงค์อย่างผิดพลาด อย่าออกไปนอกแนวของความถูกต้อง
แม้ว่ามันจะเป็นอิทัปปัจจยตาด้วยกันก็ตามเถอะ แต่ว่าอิทัปปัจจยตาชนิดหนึ่งแต่มันมีผลชนิดที่เราเรียกว่าความทุกข์ ชนิดหนึ่งให้ผลที่เรียกว่าความไม่ทุกข์ ความดับทุกข์หรือความสุข เราควรจะรู้จักเลือกเอาฝ่ายที่ไม่เป็นความทุกข์ สำหรับอยู่เป็นสุข แต่ไม่ใช่เอามาสำหรับหลง ไม่ใช่เอามาสำหรับมัวเมา ไม่ใช่เอามาสำหรับยึดมั่นถือมั่น มันก็จะกลับโง่อีกแล้ว ขอให้ควบคุมความดำริแห่งจิตที่มันต้องการอะไร ให้มันเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นข้อที่ ๒
ทีนี้ข้อที่ ๓ สัมมาวาจา เมื่อข้อที่ ๑ ก็ถูกต้อง ข้อที่ ๒ ก็ถูกต้อง การพูดจามันก็ถูกต้องไม่ต้องสงสัย สัมมาทิฏฐิมันรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร สัมมาสังกัปปะก็รู้ประสงค์ต้องการอย่างถูกต้อง แล้วสัมมาวาจามันก็เป็นไปโดยง่าย พูดจาถูกต้อง พูดจาถูกต้องก็หมายความว่าไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ฝ่ายใด มีแต่ประโยชน์เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย ถึงจะเรียกว่าถูกต้อง วาจาถูกต้อง ก็เหมือนกันแหละ ทั้ง ๘ ถูกต้องมันมีความหมายตรงนี้ว่าไม่ทำอันตรายกับฝ่ายใด มีแต่ความสุขประโยชน์เกื้อกูลแก่ทุกฝ่ายแล้วก็เลยถูกต้อง
เรามีวาจาชนิดนั้นแล้วก็เรียกว่ามีสัมมาวาจา ตัวอย่างที่ให้ไว้มันไม่พอเป็นตัวอย่างว่าไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียดยุยงให้แตกกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ นี่เรียกว่าไม่นะ เมื่อไม่แล้วมันก็มาด้วยฝ่ายถูกต้อง แต่ต้องพูดขึ้นว่าทุกอย่างเลย ไม่ว่าวาจาชนิดไหนอะไร ถ้ามันเป็นไปเพื่อทำใครให้เดือดร้อน ทำตนเองให้เดือดร้อนด้วย เรียกว่าเป็นมิจฉาวาจา
ให้ทุกคนสำรวจตรวจสอบการพูดจาของตนเอง ให้เป็นสัมมาวาจาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไอ้คำที่จะพูดก็ขอให้มันถูกต้อง น้ำเสียงที่จะใช้พูดก็ขอให้มันถูกต้อง ท่าทางการพูด กิริยาพูดก็ให้มันถูกต้อง ถูกต้องไปหมด นี้จะเป็นวาจาที่ถูกต้อง ไพเราะ น่าฟัง แล้วก็เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่คนทุกฝ่าย อย่างนี้เรียกว่ามีสัมมาวาจา บางคนมีน้อยก็ควรจะรีบปรับปรุงแก้ไขให้มันถูกต้องเสีย นี่เป็นองค์ที่ ๓
ทีนี้องค์ที่ ๔ สัมมากัมมันโต มีการงานอันถูกต้อง สิ่งที่มีชีวิตต้องมีการงาน มีหน้าที่การงาน คนก็ต้องมีหน้าที่การงาน สัตว์เดรัจฉานก็มีหน้าที่การงาน ต้นไม่ต้นไร่ก็ต้องมีหน้าที่การงาน เพราะมันมีชีวิตด้วยเหมือนกัน สิ่งที่มีชีวิตเขามีหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อให้ชีวิตนั้นรอดอยู่ได้ นั้นน่ะคือการงาน จะเรียกอีกอย่างหนึ่งคือธรรมะก็ได้คือหน้าที่ที่ช่วยให้รอดอยู่ได้
การงาน การงานธรรมดาๆ ของชาวบ้านธรรมดา ทำไร่ทำนา ค้าขาย ทำราชการ เป็นกรรมกร แม้แต่ไปนั่งขอทานอยู่นั้นก็ต้องเรียกว่าการงาน เป็นการงานของคนทุพพลภาพ นี่เรียกว่าการงานชั้นต่ำทั่วไป
ถ้าเป็นการงานชั้นสูงมันก็กลายเป็นเรื่องทางจิตใจ คือทำกรรมฐาน ทำวิปัสสนา อบรมจิตใจต่างๆ ก็เรียกว่ากัมมัฏฐาน กัมมัฏฐานมันก็มีความหมายอย่างเดียวกับกัมมันตะหรือการงาน ผู้ที่อยู่ในฐานะสามารถที่จะทำการงานชั้นสูงเขาก็ทำการงานชั้นสูง หมดภาระในการทำการงานชั้นต่ำแล้วก็ทำการงานชั้นสูง พูดง่ายๆก็หน้าที่การงานทางฝ่ายวัตถุ ทางฝ่ายร่างกายนี้หมดแล้ว ก็ทำหน้าที่การงานฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณต่อไป แล้วมันจะมีสุขสะดวกสบายทั้งร่างกายและจิตใจ ก็เรียกว่าได้ผลดีแล้วสำหรับสิ่งที่เป็นการงาน
ไอ้การงานนี้ต้องถูกต้อง ถ้าถูกต้องนี้ก็คือเพื่อไม่มีทุกข์ เพื่อดับทุกข์ ก็ไม่เกิดทุกข์ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น การงานของเราต้องเป็นอย่างนั้นจึงจะเรียกว่าทำงานถูกต้อง ระบุว่าเป็นตัวอย่างว่าไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่าง อะไรๆที่มันเป็นไปในทางให้ใครเดือดร้อนเสียหายก็เรียกว่าไม่ถูก มันเป็นไปในทางให้ใครๆเขาได้รับประโยชน์ก็เรียกว่าถูก
ขอให้เราจัดการงานของเราให้เป็นไปในลักษณะเช่นนั้น ก็เรียกว่ามีความดีมีกุศล เป็นบุญเป็นกุศลอยู่ในตัวการงานนั้นเอง การงานต้องทำให้ถูกต้องเพื่อชีวิตมันจะรอดอยู่ได้ ถูกต้องในชั้นต้นก็รอดตาย ถูกต้องในชั้นที่ ๒ ก็คือรอดจากกิเลส รอดจากความทุกข์ยิ่งๆขึ้นไป เพียงแต่รอดตายแล้วอยู่ด้วยความทุกข์นี้ไม่มีค่าไม่มีความหมายอะไร มันรอดแต่เพียงกายนี้มันไม่พอ มันต้องรอดขึ้นไปถึงจิตถึงวิญญาณไม่มีอะไรเบียดเบียนย่ำยีจิต จิตสดชื่นแจ่มใส สะอาด สว่างสงบเย็น การงานมันถูกต้อง เป็นองค์ที่ ๔
องค์ที่ ๕ เรียกว่าสัมมาอาชีโว อาชีพ อาชีพ คำนี้แปลว่าดำรงชีพ อา อา แปลว่าดำรง ชีพ แปลว่าชีพ อาชีพแปลว่าดำรงชีพ การดำรงชีพนั้นต้องถูกต้อง ข้อนี้ท่านกล่าวให้กว้างออกไปแล้วก็เพ่งเล็งไปในทางที่จะดำรงชีพ จะต้องมีระบบต่างๆเพื่อการดำรงชีพนั้นถูกต้อง จะทำมาหากินอย่างไร จะทำนาทำสวน จะค้าขายหรือจะทำอะไรที่ว่ารวมกันแล้วเป็นเครื่องดำรงชีพ หามาเพื่อดำรงชีพ เก็บไว้เพื่อดำรงชีพ ใช้จ่ายเพื่อดำรงชีพ เหลือก็ช่วยคนอื่น เหลือก็ช่วยคนอื่นเพื่อดำรงชีพ คำว่าดำรงชีพมันกว้างออกไป ถูกต้อง ดำรงชีพถูกต้อง เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย มันก็สบาย ไม่ต้องพูดก็ได้ ไม่ต้องอธิบาย ดำรงชีพอยู่อย่างถูกต้องก็เป็นสุข สะดวกสบายด้วยกันทุกฝ่าย นี่เป็นองค์ที่ ๕
ทีนี้องค์ที่ ๖ เรียกว่าสัมมาวายาโมหรือวายามะหมายถึงความพากเพียร วายามะน่ะภาษาบาลี แปลรูปมาเป็นพยายาม พยายามะ วะยายามะนั่นน่ะในภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ตัวของมันตัวหนังสือน่ะมีความหมายว่าก้าวไปข้างหน้าอย่างดีอย่างวิเศษ คือรุดหน้าอย่างดีอย่างวิเศษเรียกว่าพยายาม
เรามีความพากเพียร มีความก้าวหน้า มีความไม่ถอยหลัง แล้วก็ไม่หยุดอยู่ มันมีแต่จะก้าวไปข้างหน้าให้มันถูกต้อง ที่แสดงไว้เป็นตัวอย่างก็ว่าพากเพียรในการจะละความชั่ว อันนั้นระวัง ระวังไม่ให้เกิดความชั่ว ละความชั่ว พากเพียรให้เกิดความดีแล้วก็รักษาความดี นี่แหละเป็นตัวอย่าง เป็นหลักใหญ่ๆ แต่อยากจะพูดว่าโดยหลักทั่วไปแล้วขอให้มันเกิดความก้าวหน้า ก้าวหน้าไปในทางที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ แล้วก็เรียกว่าความเพียรชอบ ชีวิตก้าวหน้าก็เรียกว่ามีความเพียรชอบ เป็นองค์ที่ ๖
ทีนี้องค์ที่ ๗ สัมมาสติ สติแปลว่าระลึก โดยเนื้อแท้นั้นมันเป็นการขนส่งทางวิญญาณ สติมันเป็นการขนส่งทางวิญญาณ มีสติ มีปัญญา มีปัญญา มีความรู้ คือศึกษาเล่าเรียนอบรมไว้มากๆ พอเกิดเรื่องอะไรขึ้นน่ะ สติมันไปวิ่ง วิ่งไปเอามา วิ่งไปเอาความรู้มา มาเผชิญกับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น เช่นว่า ตาได้เห็นรูป หูได้ฟังเสียง จมูกได้กลิ่นอะไรก็ตาม นี่มันเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาแล้ว แล้วสติมันก็ไปเอาปัญญา เอาความรู้ที่เราได้อบรมอยู่ไว้ก่อนๆน่ะมาจัดการ จะเป็นการป้องกันหรือเป็นการแก้ไขหรือเป็นการปรับปรุงหรือเป็นการอะไรก็ตามเกี่ยวกับเรื่องที่มันเกิดขึ้น
เพราะตาเห็นรูป เพราะหูฟังเสียง เพราะจมูกได้กลิ่น เพราะลิ้นได้รส ทั้งหกคู่แหละ นี่สติเขาแปลว่าระลึกได้ หมายความว่ามันแล่นไปเอาความรู้มาใช้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นคำว่าสติ สติตัวนี้มันแปลว่าแล่น แล่น วิ่ง วิ่งไปอย่างเร็ว ความหมายเดียวกับคำว่าศร หรือลูกศร ลูกศรมันวิ่งเร็ว ลูกศรมันวิ่งเร็ว ขอยืมเอาคำนั้นความหมายนั้นมาใช้ธรรมะข้อที่เรียกว่าสติ ระลึกเร็ว แล่นเร็ว เอาความรู้หรือปัญญามาทันเหตุการณ์ ไม่ให้เหตุการณ์นั้นดำเนินไปผิดๆ เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ลิ้มรส แล้วสติมาเอาปัญญามาควบคุมให้ การสัมผัส สัมผัสนี้ไม่ผิดและถูกต้อง ถูกต้องคือไม่เกิดความทุกข์
ไปศึกษาจากเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่เราเรียกว่าเบื้องต้นหรืออาทิของพรหมจรรย์นั่น พูดเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูปเสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่ต้องพบกันแล้วก็ปรุงแต่งอยู่เป็นประจำวันให้สติควบคุมไว้อย่าให้ผิดพลาดได้ ผิดพลาดแล้วให้แก้ไขได้ อีกทางหนึ่งมันก็คือเอาสัมมาทิฏฐิ ไอ้ความรู้ของสัมมาทิฏฐิที่เป็นปัญญา สติก็ขนเอามาทันเวลา แม้ว่าจะเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ หรือจะเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ
เรื่องนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าไอ้กระแสจิตกับไอ้กระแสฟ้าแลบ อันไหนจะไวกว่ากันไม่มีใครบอกได้ เพียงแต่ว่ามันเร็วที่สุด มันเร็วอย่างนั้น มันเร็วลักษณะอย่างนั้น ถ้ามันงุ่มง่ามอยู่มันก็เสียหายหมด ฉะนั้นสติต้องเร็วเป็นสายฟ้าแลบไปเอาปัญญามา ระลึกขึ้นมาได้ แล้วก็ไปขนเอามาสำหรับจะจัดการผัสสะ ผัสสะ ให้ผัสสะนี้ฉลาด ให้ผัสสะถูกต้อง ให้เกิดเวทนาถูกต้อง คือไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ ถ้ามีสติ เราก็จะป้องกันได้มาก จะแก้ไขได้ง่าย
สติเป็นสิ่งสำคัญมาก มีปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด เพราะมันขาดสติ เหมือนกับผู้ไปนำเอาปัญญามาใช้ คือสติเหมือนกับผู้ไปนำเอาปัญญามาใช้ ปัญญาก็ไม่เป็นหมัน มีแต่ปัญญาไม่มีสติ ปัญญามันก็นอนเป็นหมันอยู่เหมือนกับอาวุธที่ไม่ได้ใช้ มีสติก็เอามาใช้ ก็ไม่เป็นหมัน ถ้ามีแต่สติไม่มีปัญญาก็ไม่รู้จะไปค้นเอาอะไรมา เหมือนกับมีผู้ใช้อาวุธแต่ไม่มีอาวุธ เราต้องมีทั้งสติ ต้องมีทั้งปัญญา
แล้วน้ำหนักของสติหรือน้ำหนักของปัญญานั้นเขาเรียกว่าสมาธิ ตัวน้ำหนักที่มันจะมีกำลังมากๆเราเรียกว่าตัวสมาธิ สติที่เข้มแข็งก็คือมีสมาธิเต็มที่ ปัญญาที่เฉียบแหลมคมว่องไว ก็เพราะมีกำลังของสมาธิ นี่สติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสแห่งความเลวร้ายทั้งปวง
เมื่อมีผู้ทูลถามว่าอะไรเป็นเครื่องกั้นแห่งกระแส พระพุทธเจ้าท่านตอบว่าสติ กระแสปรุงแต่งแห่งอิทัปปัจจยตาก็เถอะ ถ้ามันไม่ควรจะเป็นไป มันจะผิดแล้วสติจะเป็นเครื่องกั้นกระแส จะหยุดกระแสปฏิจจสมุปบาทที่เป็นไปเพื่อทุกข์ให้หยุดเสีย ไม่เป็นไปเพื่อทุกข์ เรียกว่ากั้นกระแสแห่งความทุกข์ ถ้ามันเป็นกระแสแห่งความถูกต้องก็สติอีกนั่นแหละ มันช่วยให้กระแสแห่งความถูกต้องเป็นไปได้เต็มที่
แต่เดี๋ยวนี้ปัญหาของเรามันไม่ได้อยู่ที่ความถูกต้องนี่ ถ้าถูกต้องแล้วมันไม่เดือดร้อนอะไร ไม่เป็นปัญหาอะไร ปัญหามันอยู่ที่ความไม่ถูกต้อง มีกระแสแห่งความไม่ถูกต้อง มันปรุงแต่งกันเข้าแล้วมันไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป เราเอาสติมาเป็นเครื่องกั้น
ดังนั้นการฝึกสติ สมาธิ ภาวนานั้นละคือฝึกสติ การฝึกสตินั้นมันจะพร้อมทั้งฝึกสมาธิและฝึกปัญญา นี่หมายถึงระบบที่ถูกต้องหรือระบบอานาปานสติ อานาปานสติ มีสติทุกครั้งที่หายใจออกเข้า ถ้าฝึกตามแบบที่พระพุทธองค์ตรัสไว้โดยตรง คือ อานาปานสติ ๑๖ ขั้นที่เรามาสวดกันอยู่นั้น ถ้าฝึกระบบนั้น น่ะ ๑๖ ขั้นนั้น แล้วจะมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งสติ มีทั้งปัญญา มีอะไรอีกมากอย่างรวมอยู่ในระบบสตินั้น
การที่ตั้งใจจะทำการควบคุมจิตมันเป็นศีล การกำหนดจิตจดอารมณ์ใดมันก็เป็นสมาธิ มีสติทำให้มันกำหนดอารมณ์นั้นได้ ไม่หนีไปไหนเสีย แล้วก็รู้ตั้งแต่ต้นเลยว่าจะกำหนดอารมณ์อย่างไร แล้วเห็นอะไร รู้อะไร รู้ไปจนถึงรู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นปัญญาสมบูรณ์ ตัดกิเลส ตัดปัญหา อุปาทาน อานาปานสติระบบเดียว ไปปฏิบัติเสียเถอะ มันจะให้หมด ให้ทั้งศีล ให้สมาธิ ให้ปัญญา ให้สติ ให้สัมปชัญญะ ให้ศรัทธา ให้วิริยะ ให้ทุกอย่างที่จำเป็นแก่การดับทุกข์ เดี๋ยวนี้เราต้องการสตินะ ให้มีสติถูกต้องเพียงพอ เป็นองค์ที่ ๗ ของมรรค
ที่นี้องค์สุดท้าย องค์ที่ ๘ ก็คือสมาธิ สัมมาสมาธิ จิตใจนี้ถ้ามันรวนเร มันเลื่อนลอย มันไม่มีกำลัง ต้องให้มันหนักแน่นลงไปที่จุดใดจุดหนึ่ง นั่นแหละคือสมาธิ คือความเป็นสมาธิ รวบรวมกำลังจิตเป็นจุดเดียวให้มากพอ ลงไปที่จุดใดจุดหนึ่งที่จิตจะต้องทำการงานในหน้าที่ของจิต แล้วก็ดำรงไว้อย่างมั่นคง
มีสติกำหนดอยู่นั่นมันมีทั้งสติ ทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา หรือมีสมาธิในสิ่งใดมันก็มีทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา หรือมีปัญญาเห็นแจ้งอยู่ในสิ่งใด ก็มีทั้งสติ มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา สามเกลอนี้มันก็ทำหน้าที่ร่วมกันเสมอแหละเดี๋ยวนี้เราก็ได้สมาธิถูกต้อง คือสมาธิชนิดที่จะมีผลดับทุกข์ได้ เป็นสมาธิที่ประกอบอยู่ด้วยสติและปัญญา สามารถจะทำลายกิเลสหรือป้องกันกิเลส
ครบแล้ว ครบแล้ว ๘ องค์แล้ว ความถูกต้องของความคิดเห็น ความถูกต้องของความดำริต้องการ ความถูกต้องของการพูดจา ความถูกต้องของการทำการงาน ความถูกต้องของการดำรงชีวิต ความถูกต้องของความพยายาม ความถูกต้องของความมีสติ ความถูกต้องของความมีสมาธิ ๘ ถูกต้องรวมกันเป็นอันเดียว เรียกว่า มรรค อริยมรรค หนทางอันประเสริฐ อัฏฐังคิกมรรค หนทางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ อริยอัฏฐังคิกมรรค หนทางอันประกอบไปด้วยองค์ ๘ อันประเสริฐ
ชื่อมันไพเราะยืดยาวแหละ เรียกสั้นๆว่ามรรค คือหนทางไปสู่ความดับทุกข์ ประกอบอยู่ด้วยความถูกต้อง ๘ ประการ มีธรรมะ ธรรมะแปลว่าความถูกต้อง ธรรมจักร ธรรมจักร แปลว่า ล้อแห่งความถูกต้อง ๘ ประการ เรียกว่าธรรมะ ไอ้ธรรมะตัวนี้เราจะเอาแหละ เราจะเอาธรรมะตัวนี้มาเป็นคู่กับชีวิต เพื่อเป็นธรรมชีวี
จะเห็นได้ชัดในตัวธรรมจักรว่าธรรมะนั้นมันแปลว่าความถูกต้อง ๘ ประการ เรียกว่า ธรรมะ ธรรมะ คือ ความถูกต้อง เอาความถูกต้องทั้ง ๘ ประการ มาทำให้อยู่ที่เนื้อที่ตัวตลอดเวลาทุกๆอิริยาบถ นี่เรียกว่ามีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต
ขอให้ดูว่าไอ้ความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อนี้ถูกต้อง ความดำริใฝ่ฝันก็ถูกต้อง การพูดจาก็ถูกต้อง การงานก็ถูกต้อง การดำรงชีวิตก็ถูกต้อง ความพากเพียรก็ถูกต้อง ความระลึกก็ถูกต้อง ความตั้งใจมั่นก็ถูกต้อง ๘ ถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัว คอยจับ คอยระวัง คอยปรับปรุงน่ะ ให้มันมีความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัว ครบถ้วนทั้ง ๘ ประการนี้ จนพิจารณาดูแล้ว โอ้...มันถูกต้อง มันถูกต้อง อะไรๆก็ถูกต้อง ถูกต้องทั้ง ๘ ประการอยู่ที่เนื้อที่ตัว ไม่ว่าจะเป็นเวลาเดิน ยืน นั่ง นอน หรือไม่ว่าจะเป็นเวลาหายใจออกเข้าก็ถูกต้อง
ขอทบทวนไอ้ระยะที่จะต้องรักษาความถูกต้องนี้กันอีกสักทีหนึ่ง อย่าเพิ่งเบื่อ ตื่นนอนขึ้นมายังไม่ลุกจากที่นอน นึกถึงความถูกต้องซะก่อน มันมีความถูกต้องที่แล้วมาจึงได้รอดชีวิตมาคืนหนึ่ง นอนหลับสบายตื่นขึ้นมาแล้วนี้มันเป็นผลของความถูกต้องเมื่อวาน
ทีนี้ถูกต้องนี้เราจะต้องดำรงไว้สำหรับจะลุกขึ้นไปสู่ที่ต่างๆให้มันถูกต้อง จึงลุกขึ้นจากที่นอนด้วยความรู้สึกว่ามีความถูกต้อง การลุกขึ้นนี้ถูกต้อง การลุกขึ้นนี้จะไปทำสิ่งที่ควรทำ พอใจในการลุกขึ้นว่าถูกต้อง แล้วก็ยืนก็ถูกต้อง ก้าวขาไปทีละก้าวละก้าวก็ถูกต้องทุกก้าวๆไปที่ล้างหน้า ถูกต้องตลอดเวลาที่ล้างหน้า ถ้าสมมติว่าหยิบขันมาล้างหน้า มาถูหน้า มาอะไรก็ตามมันถูกต้องไปทุกกระเบียดนิ้วทุกวินาทีนั่น
ต้องเอากันถึงว่าทุกกระเบียดนิ้วนะ นี่ทุกพื้นที่ ทุกกระเบียดนิ้ว พูดถึงเวลา ทุกวินาที Time and space นั่นแหละ ทาง Time ก็ถูกต้องทุกวินาที ทาง Space ก็ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว เราเห็นความถูกต้องอยู่ที่เนื้อที่ตัวทั้งตลอดเวลาจนล้างหน้าเสร็จ อิ่มด้วยปีติ อิ่มไปด้วยปีตินะไม่ใช่กิเลส อิ่มด้วยกิเลส มันใช้ไม่ได้ มันสกปรกและมันกัด หากอิ่มไปด้วยปีติมันใช้ได้ ไม่เป็นพิษเป็นภัยอะไรควรจะพอใจ พอใจ พอใจ พอใจ รู้สึกพอใจ ถูกต้องพอใจ ถูกต้องพอใจ
ทีนี้ไปห้องส้วม ไปห้องน้ำก็ไปด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน ทุกก้าวย่างพอนั่งลงที่ส้วม ก็ถูกต้องแล้ว ถูกต้องแล้ว พอใจแล้ว จิตก็เป็นสมาธิด้วย ทำหน้าที่ถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาทีจนกว่าจะเสร็จ ออกมาก็ถูกต้อง ก็พอใจออกมา จะไปห้องแต่งตัวก็ถูกต้องตลอดเวลาในห้องแต่งตัว
จะหยิบผ้า จะนุ่งผ้า จะผลัดผ้า จะอะไรก็แล้วแต่ ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้ว ถูกต้องทุกวินาที ทีนี้ไปไหน ไปห้องกินข้าว ถูกต้องทุกก้าวย่างไปในห้องกินข้าว ถูกต้องแล้วก็นั่งลงแล้ว มีช้อนมีจานตักข้าวใส่ปากเคี้ยว ถูกต้องอยู่ทุกกระเบียดนิ้วและทุกวินาที อย่าเปิดโอกาสให้กิเลสเกิดขึ้น อย่างนี้จนกินข้าวเสร็จ ออกมาด้วยความถูกต้อง
ไปไหน ไปทำงาน จะลงบันไดไปทำงานทุกก้าวย่างให้ถูกต้อง ขึ้นรถก็ถูกต้องทุกวินาทีถูกต้อง ไปสู่ที่ทำงานก็ถูกต้องแล้วเข้าไปในห้องทำงาน ด้วยมีสัมมาทิฏฐิ รู้ไอ้งานงานงานนี้คือทางให้รอด การงานคือธรรมะ ธรรมะคือสิ่งที่ช่วยให้รอด ฉะนั้นขอบใจการงาน ยกมือไหว้ที่ทำงาน ไหว้ห้องทำงาน ไหว้โต๊ะทำงาน หรือไหว้เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานสักครั้งหนึ่งก็ยังดี
ถ้าสมมติว่าเป็นชาวนาไปไถนานี่ ยกมือไหว้ควาย ยกมือไหว้คันไถ ยกมือไหว้อะไรก็ได้ที่เป็นอุปกรณ์การทำนา เป็นการรู้บุญคุณของมัน สำรวมจิตใจ สำรวมสติสัมปชัญญะ ว่าการงานนั้นน่ะคือพระเจ้า การงานคือหน้าที่ หน้าที่มันช่วยให้รอด หน้าที่คือพระเจ้า พระเจ้าที่แท้จริงยิ่งกว่าพระเจ้าไหนก็คือหน้าที่การงานนั่นเอง
เมื่อเข้าไปในห้องทำงาน มันก็ยก หลับตาด้วย ยกมือไหว้ ประนมมือให้แก่ที่ทำงาน ให้เกียรติแก่ที่ทำงาน ถ้ามีเครื่องมือเครื่องใช้โดยเฉพาะก็ประนมมือให้เกียรติแก่เครื่องมือเครื่องใช้โดยเฉพาะ ไม่บ้าหรอก ไอ้คนโง่เท่านั้นที่มันจะเห็นว่าบ้า แต่คนนี้มันมีสติสัมปชัญญะ มีสติก่อนแต่ที่จะทำงาน เหมือนที่เขาเรียกว่าทำอะไรตั้งนะโมเสียก่อน ทำอะไรตั้งนะโมเสียก่อน คือสำรวมสติให้ดีเสียก่อนแล้วจึงลงมือทำงาน เขาสอนกันมาแบบนี้แต่สมัยโบราณแล้ว เด็กๆสมัยโบราณ สมัยอาตมานี้ยังเหลืออยู่
จะขึ้นต้นไม้ พนมมือกับต้นไม้ว่านะโม ตัสสะ ภะคะวะโต แล้วจึงขึ้นไป หมายความว่ามันขึ้นไปด้วยสติน่ะ มันสำรวมสติเสร็จแล้ว มันจึงพลาดยาก จะทำงานอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอันก็พนมมือว่านะโมซะก่อน ดูคล้ายกับบ้าสำหรับคนโง่ แต่ผู้มีสติปัญญาเขาจะว่าถูกต้องแล้วที่ทำอย่างนั้น มันคุ้มครองกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรโน่น มีสติสัมปชัญญะเมื่อทำการงาน บูชาการงาน แล้วก็ทำการงานสนุก เหงื่อออกมาก็กลายเป็นน้ำมนตร์เย็นเลย เหงื่อออกมากลายเป็นน้ำมนตร์เย็นเลย ก็ทำงานสนุก ทำงานได้มาก ถ้ามันมีความโง่มีจิตเป็นกิเลส พอเหงื่อออกมามันก็โกรธ โกรธ ทิ้งการงานไปขโมยดีกว่า ไปปล้น ไปจี้ ไปอะไรดีกว่า
เดี๋ยวนี้เรารู้ว่าไอ้หน้าที่คือสิ่งที่จะช่วยให้รอด เหมือนกับพระเจ้า แล้วก็มีสติทำการงานดีที่สุด ทุกระยะทุกขั้นตอนที่ออกทริปสำหรับทำงาน พอใจ ถูกต้อง พอใจ นี่อย่างนี้รู้สึกในตัวเสมอ ก็ทำการงานที่จะทำ บางคนคิดว่าจิตคิดสองอย่างพร้อมกันอย่างนี้ได้ ได้สิ จิตมันคิด รู้สึกสองอย่างพร้อมกันได้
ก็อย่างง่ายๆถ้าเราเกลียดใคร โกรธใครอยู่ในใจ มันก็อยู่ในใจ จะเดินไปไหนก็เกลียดอยู่ในใจ จะไปกินข้าวมันยังเกลียดอยู่ในใจ จะไปอาบน้ำมันยังเกลียดอยู่ในใจ ความรู้สึกที่เกลียดอยู่ในใจน่ะมันก็มีอยู่ แล้วก็ทำอะไรไปได้ นี่ก็เหมือนกันแหละ ไอ้ความถูกต้อง พอใจ อิ่มเอิบอยู่ด้วยปีติ ธรรมปีติที่อยู่ในใจ แล้วก็ทำงานไป ทำงานไป แล้วแต่ใครจะมีหน้าที่อะไร
อย่างคนไถนานี่ก็ไถนาไป ในใจรู้สึกถูกต้องและพอใจ อิ่มเอิบปีติอยู่เสมอ นี่คือธรรมะ ธรรมะ ธรรมชีวี ธรรมชีวี มีความรู้สึกว่าถูกต้อง ถูกต้องแล้วก็พอใจ ถูกต้องนั่นคือธรรมะ แล้วก็พอใจ เป็นธรรมชีวี เมื่อกำลังไถนาอยู่ เมื่อกำลังทำสวนอยู่ เมื่อกำลังค้าขายอยู่ เมื่อกำลังทำงานในออฟฟิศอยู่ เป็นกรรมกรล้างท่อถนน ถีบรถสามล้อ ก็พอใจ พอใจ ถูกต้องพอใจ
นั่งขอทานอยู่ก็ถูกต้องและพอใจ ไม่เท่าไรล่ะมันหมดปัญหา มันเจริญก้าวหน้าจนหมดปัญหา หมดความยากจน หมดปัญหา ทำงานเสร็จแล้วจะกลับมาบ้านก็อย่างเดียวกันอีก ถูกต้องพอใจทุกฝีก้าวย่าง ขึ้นบันไดเรือนก็ถูกต้องทุกขั้นบันได จะไปอาบน้ำ จะไปกินข้าว จะไปอะไรอีกก็ถูกต้องและพอใจ จนกว่าจะถึงเวลานอน
อย่าเพิ่งหลับ เข้าไปในห้องนอนแล้วก็ประมวลรวบยอดงบดุลวันนี้ มีแต่ถูกต้องและพอใจ ยกมือไหว้ตัวเองเสียที ยกมือไหว้ตัวเองเสียทีนั่นแหละ ความหมายแห่งธรรมชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ มีธรรมะเป็นชีวิต จึงพอใจในชีวิตชนิดนี้ แล้วยกมือไหว้ตัวเองเสียที ธรรมชีวีก็จบลงไปวันหนึ่ง ก็นอนฝันไม่ต้องฝันร้าย จนกว่าจะตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้น ก็ทำอย่างเดียวกันอีก ทำอย่างนี้ทุกวันๆเป็นธรรมชีวี ทำสัก ๓ เดือนติดต่อกันไม่บกพร่อง จะใกล้พระนิพพานเข้าไปตั้งครึ่งตั้งค่อน
หรือไม่แน่ถ้าบางคนมันเก่ง มันก็จะบรรลุพระนิพพาน สิ้นกิเลสเพราะความถูกต้องนั้นแหละ ความถูกต้องมันมีอยู่ตลอดเวลา กิเลสมันเกิดไม่ได้ ความถูกต้องมันห้ามกันไว้ กิเลสมันเกิดไม่ได้ ไม่ทัน ๓ เดือน เป็นพระอรหันต์ก็ได้ เอาละไม่ต้องเป็นอรหันต์ ที่อยู่ในบ้านในเรือน เรื่องบ้านเรื่องเรือนนี้จะถูกต้อง คือจะไม่ยากจน จะไม่เจ็บไข้ ไม่เป็นโรคประสาท เหมือนที่เขาเป็นๆกันอยู่ทั่วๆไป เป็นธรรมชีวี มันดีอย่างนี้ มันป้องกันแม้แต่กระทั่งว่าโรคประสาทก็ไม่มาเยี่ยมกราย
อาตมาได้พูดมาแล้วตั้งแต่ต้นว่าพรหมจรรย์อันไหนก็ได้นะ ๓ เดือนแต่เดี๋ยวนี้ขอเสนอพรหมจรรย์ที่เรียกว่าธรรมชีวี ธรรมชีวี ใครเห็นด้วยเอาไปลองเลย นี่มันเข้าฤดูพรรษาแล้วเป็นฤดูฝนแล้ว มีกำหนดไว้ ๓ เดือน ขอให้ ๓ เดือนนี้ทุกกระเบียดนิ้ว ทุกวินาทีเป็นธรรมชีวี เยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา พอใจตัวเอง ยกมือไหว้ตัวเองได้ตลอดเวลา
คำว่ายกมือไหว้ตัวเองได้มีหลายความหมาย ถ้าต้องการและพอใจก็เป็นสวรรค์ว่ายกมือไหว้ตัวเองได้ เกลียดตัวเองเมื่อไรเป็นนรกทันทีเหมือนกัน เคารพตัวเองได้ นับถือตัวเองได้ ยกมือไหว้ตัวเองได้เมื่อไร ก็เป็นสวรรค์ทันทีเหมือนกัน นี้ตามแบบของพระพุทธเจ้า
สวรรค์ที่อยู่บนฟ้า นรกที่อยู่ใต้ดิน ใต้บาดาลนั้นน่ะ นั่นเขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เรื่องพระพุทธเจ้ายกขึ้นมาสอนนะ เขาพูดกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด พอพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาก็มาพบว่าประชาชนเขาเชื่อกันอย่างนี้ เขาถือกันอยู่อย่างนี้ ก็ไม่เป็นไรก็ไม่คัดค้าน เพียงแต่เสริมอีกนิดหน่อยว่าอยากจะไปสวรรค์ก็ปฏิบัติดีๆอย่างนี้ อย่าปฏิบัติชั่วๆอย่างนั้นก็ไม่ไปนรก
แต่ว่าสวรรค์ฉันเห็นแล้วที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว นรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉันเห็นแล้ว นี่เรื่องนรกสวรรค์ของพระพุทธเจ้าที่ท่านพูดขึ้นใหม่ ไม่ซ้ำของเก่า เมื่อทำผิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยุ่งยากขึ้นมา ก็เป็นนรกที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำถูกต้องขึ้นมาที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้ความสุขสะดวกสบายขึ้นมา ก็เรียกว่าสวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกรวมๆกันว่าที่อายตนะ
นรกที่อายตนะ สวรรค์ที่อายตนะ นี่จริงแท้ เป็นสันทิฏฐิโก มองเห็นด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคนอื่นว่าอยู่ที่ไหนอย่างไร แล้วมันก็อยู่ที่นี่ ยังไม่ทันจะตาย ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว เรื่องนรกเรื่องสวรรค์นี่ไม่ต้องรอต่อตายแล้ว มันจริงยิ่งกว่าจริงอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สวรรค์ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำผิดเมื่อไรเป็นนรกเมื่อนั้น ทำถูกเมื่อใดเป็นสวรรค์เมื่อนั้น
ขอให้เราอยู่ด้วยสวรรค์คือความถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้อง ถูกต้องทางกาย ถูกต้องทางวาจา ถูกต้องทางจิต ถูกต้องทางใจ ถูกต้องทางความคิดความนึกความรู้สึก สติปัญญา ถูกต้องหมดเลย พอสำรวจดู พอเพ่งดู อ้าว! มันมีแต่ความถูกต้อง มีแต่ความถูกต้อง แล้วก็พอใจ จะนั่ง จะกิน จะยืน จะเดิน จะนอน จะอาบ จะถ่าย ไม่ว่าในอิริยาบถไหน อิ่มอยู่ด้วยธรรมปีติ ปีติด้วยธรรมะ ธรรมะคือความถูกต้อง ความถูกต้องทำให้เกิดปีติ ปีตินั้นเรียกว่าธรรมปีติ
ถ้ายินดีด้วยกิเลส พอใจด้วยกิเลส ไม่ใช่ธรรมปีติ อย่าเอาไปปนกัน หลงใหลในโลกธรรม ยินดีพอใจในโลกธรรมนั้นไม่ใช่ธรรมปีติ เป็นเรื่องของกิเลสชนิดหนึ่ง กระทั่งมีสติปัญญามองเห็นความถูกต้องของตนและพอใจ ไอ้ปีติหรือพอใจนี้เรียกว่าธรรมปีติ เป็นอุปกรณ์แก่ความก้าวหน้าไปสู่พระนิพพาน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงส่งเสริมจิตใจให้ดำรงอยู่ ให้เจริญงอกงามไปตามทางของพระนิพพาน เป็นเสบียงหล่อเลี้ยงการเดินทางสำหรับไปถึงพระนิพพาน เราควรจะมีตลอดเวลา
ถ้าเราทำถูกต้องอยู่ตลอดเวลา และเราก็ดู พิจารณาดูก็ถูกต้อง ถูกต้องก็ปีติ ก็ปีติในธรรมะ ธรรมปีติ มีธรรมปีติอยู่ตลอดเวลา นี่เรียกว่าธรรมชีวีโดยแท้จริง มีชีวิตอยู่ด้วยธรรมะ มีธรรมะอยู่ด้วยชีวิต เป็นชีวิตที่เย็น เย็น เย็น เพราะไม่มีไฟ คือ กิเลส อยู่กับนิพพานน้อยๆ นิพพานชั่วคราว นิพพานตัวอย่าง นิพพานชิมลอง อะไรก็ได้อยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงที่สุดเป็นนิพพานจริง
นิพพานอยู่ที่นี่และเดี๋ยวนี้ เมื่อใดจิตไม่มีกิเลสครอบงำเมื่อนั้นเป็นนิพพานอยู่ในจิตนั้น พอมีกิเลสเกิดขึ้นครอบงำ มันก็ไม่มีนิพพานแล้ว มีนรก มีวัฏสงสารอะไรเข้ามาแล้ว เมื่อเราบำเพ็ญตนเป็นธรรมชีวีอยู่อย่างนี้ กิเลสมันเกิดไม่ได้ ชีวิตนั้นมันก็มีแต่ความเย็นเป็นนิพพาน เป็นนิพพานน้อยๆ เป็นนิพพานล่วงหน้า เป็นนิพพานตัวอย่าง เป็นนิพพานชั่วคราวชั่วสมัย ก็เจริญงอกงามต่อไป นี่มีนิพพานอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นพื้นฐานแห่งจิตใจ อย่ารอต่อตายแล้ว อย่ารออีกหลายกัปหลายกัลป์ หลายหมื่นหลายแสนชาติ นั้นน่ะเป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ไม่อยากจะพูด ถ้าพูดต้องพูดกันยาว ไม่พูดดีกว่า
นิพพานที่แท้จริงเมื่อจิตว่างจากกิเลส พูดเป็นภาษาอีกภาษาก็ว่าว่างจากตัวกู ความรู้สึกประเภทตัวกูของกูนั้นเป็นกิเลส พอมีขึ้นมาเมื่อไหร่ในจิต จิตก็ร้อนเป็นไฟ นิพพานก็หายไป ต้องให้สิ่งเหล่านี้หายไปจากจิตเสียก่อน ว่างจากสิ่งเหล่านี้เสียก่อน จิตก็สงบเย็น ตามสภาพเดิมของจิตซึ่งเป็นประภัสสรตามธรรมชาติ สะอาด สงบเย็น อยู่ชั่วเวลาที่ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น พอกิเลสเกิดขึ้นก็หมดความเป็นประภัสสร ร้อนเป็นนรก
เอ้า... เดี๋ยวก็หมดเหตุ หมดปัจจัย ไม่ใช่ว่ากิเลสมันจะตั้งอยู่ได้ตายตัว ไม่ใช่ มันมีเหตุปัจจัยเหมือนกัน พอเหตุปัจจัยของกิเลสนั้นหมด มันก็ดับไปเอง แต่มันเกิดขึ้นมาอีก เราก็มีสติควบคุมอย่าให้มันเกิดได้ มีจิตสงบ สะอาด เป็นประภัสสร ตามธรรมชาติอยู่เรื่อยไปๆ
ในเวลาพร้อมกันนั้นก็เจริญก้าวหน้า เจริญก้าวหน้า เปลี่ยนเป็นชนิดที่ว่าจะเกิดกิเลสอีกไม่ได้ ถ้าเราอบรมจิตถูกต้องตามวิธีแล้ว จิตที่เคยเกิดกิเลสได้หรือเกิดกิเลสเก่งน่ะ มันเปลี่ยนเป็นจิตที่เกิดกิเลสไม่ได้ เกิดได้ยากที่สุด หรือถึงกับเกิดไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยไปไม่เท่าไรก็บรรลุมรรคผลนิพพาน
ประโยชน์ของธรรมชีวีคือเป็นอยู่อย่างเตรียมพร้อมเพื่อที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน แล้วก็ตลอดเวลานั้นสบายเยือกเย็น เป็นมรรคผลนิพพานชั่วคราว นิพพานน้อยๆ นิพพานล่วงหน้า นิพพานตัวอย่าง แล้วแต่จะเรียก แต่ก็เป็นนิพพานในความหมายของนิพพาน
เป็นสันทิฏฐิโก รู้สึกได้เอง เป็นอกาลิโก ไม่จำกัดเวลา ไม่จำกัดฤดูกาล
เอหิปัสสิโก มีอยู่จริง มีอยู่จริง มาดูสิ มาดูสิ ของฉันมีอยู่จริง มาดูสิ เอหิปัสสิโก
โอปนยิโก มีอยู่แล้วในจิต
ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูชนคนธรรมดา คนไม่โง่ไม่บ้า จะรู้จักได้ด้วยตนเองทุกคน ยกเว้นผู้ที่ไม่ใช่วิญญูชนเป็นคนโง่เป็นคนบ้าเป็นคนหลงเกินขนาด อย่างนี้รู้ไม่ได้ เห็นไม่ได้
นี่พระนิพพานมีคุณบทเหมือนกับพระธรรม สวากขาตัง สันทิฏฐิกัง อะกาลิกัง เอหิปัสสิกัง โอปนยิกัง ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง ปัจจัตตังวิญญูหิ เวทิตัพพัง
มีชีวิตเป็นนิพพานล่วงหน้าเรื่อยๆไป เรียกว่าเป็นอยู่โดยชอบ โดยถูกต้องที่สุดแล้ว ก็จะละได้ซึ่งกิเลสและการสะสมกิเลส ความเคยชินแห่งกิเลส อนุสัย อาสวะในสันดานมันบางไป บางไป บางไป เพราะเป็นอยู่อย่างธรรมชีวี ไม่ให้เกิดกิเลส ไม่ให้ส่งเสริมกิเลส ไม่ให้เหยื่อแก่กิเลส ธรรมชีวี ธรรมชีวี
ถ้าจะเห็นดีก็ขอให้อธิษฐานจิตเป็นพรหมจรรย์ตลอดพรรษา ไม่ใช่ว่ามันจะทำได้ดีที่สุดทันอกทันใจ แต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำตามที่จะทำได้ ทำไปเถิด ทำไปเถิด ทำได้เท่าไรก็ดีเท่านั้น ถ้ามีความตั้งใจจริงก็ทำได้มาก มีความเป็นธรรมชีวี มีชีวิตเป็นธรรมะ ถูกต้อง สงบเย็น รอดจากความทุกข์ อยู่ทุกทิพาราตรี
นี้เป็นการเสนอแนะพรหมจรรย์พิเศษข้อหนึ่ง สำหรับจะนำไปประพฤติปฏิบัติให้มีค่าที่สุดแก่ชีวิต และเหมาะสมสำหรับฤดูฝน ที่จะร้องท้าว่าฝนเอ๋ยจงตกมา แกจงตกลงมาเถิด หลังคาของฉันมุงดีแล้ว ถ้ามีธรรมชีวีอยู่เป็นปกตินั่นคือหลังคามุงดีแล้ว ฝนไหนจะตกรั่วรดไม่ได้ สมกับที่จะปฏิบัติ ประพฤติในพรรษาให้ตลอดพรรษา
หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้นำไปพินิจพิจารณาและประพฤติปฏิบัติให้เต็มตามสติปัญญา สามารถของตนด้วยกันจนทุกๆคน ธรรมเทศนาแนะนำเรื่องพรรษา แนะนำเรื่องสิ่งที่ควรประพฤติกระทำในพรรษาให้คุ้มค่า ให้ดีที่สุดนี้ก็สมควรแก่เวลาแล้ว ต้องยุติธรรมเทศนา เพื่อจะได้ประกอบกิจการอย่างอื่นสืบต่อไปตามเรื่องของการจำพรรษา จึงขอยุติธรรมเทศนาไว้แต่เพียงนี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้