แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้รับประทานวิปัสสนา ธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อในวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ สืบเนื่องจากธรรมเทศนาเมื่อตอนบ่าย อันเป็นธรรมเทศนา ซึ่งเป็นการที่จะให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจให้แยบคาย เพื่อความเหมาะสมในการที่จะกระทำอาสาฬหบูชา ซึ่งในธรรมเทศนานั้นมีใจความว่า คำว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งทั้งหลายทั้งปวงคือสิ่งที่เป็นธรรมชาติ สิ่งที่เป็นกฎของธรรมชาติ สิ่งที่เป็นหน้าที่ ที่มนุษย์ต้องประพฤติตามกฎธรรมชาติ และผลลัพธ์อันจะพึงเกิดขึ้นจากการปฏิบัตินั้น เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า ทั้งเนื้อทั้งตัวเรานี้ก็คือธรรมและสิ่งที่แวดล้อมเราอยู่ทั้งหมดทั้งสิ้นทุกอย่างทุกประการก็คือธรรม แล้วเราก็เป็นคนคดโกง เรียกบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเพียงธรรมหรือธรรมชาตินั้น ว่าเป็น ตัวกูบ้าง ว่าเป็นตัว ว่าของของกูบ้าง เมื่อเป็นคนโกงเช่นนี้ ก็ต้องถูกธรรมลงโทษในฐานะที่เป็นคนโกง คือมีความทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ เราต้องกลายเป็นคนสุจริต ไม่คดโกง คืนสิ่งที่ตู่เอาว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกูนั้นให้แก่ธรรมชาติเสีย ให้เป็นเพียงธรรมชาติหรือที่เรียกว่าธรรมในภาษาบาลี เราจึงจะเป็นคนสุจริต บริสุทธิ์พอที่จะทำอาสาฬหบูชาในวันนี้ได้ ถ้ายังขืนเป็นคนโกง ปล้นเอาของของธรรมมาเป็นตัวกูเป็นของกูแล้ว ก็ไม่เป็นการสมควรเลย ที่จะมาเวียนเทียนประทักษิณบูชาสิ่งที่เรียกว่าธรรม เพราะว่าตนเป็นคนโกงอยู่สดๆ ร้อนๆ ต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรมดังนี้ นี้เป็นใจความสำคัญที่ท่านทั้งหลายจะต้องทำในใจไว้ให้ดี
ในขณะที่ทำอาสาฬหบูชา โดยเฉพาะคือการเวียนประทักษิณนี้ ต้องมีใจที่เป็นธรรม อย่าได้มีตัวกูของกูเหลืออยู่เลย พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ธรรมคีตา ธรรมสรณา มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นที่ระลึก อตฺตทีปา อตฺตสรณา มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นที่ระลึก คำว่า “ตน” ในที่นี้หมายถึงธรรม ไม่ใช่ตนชนิดที่เป็นตัวกูหรือเป็นของกู ดังที่รู้สึกกันอยู่ทั่วไป และธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น ท่านตรัสกำชับไว้ว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ซึ่งแปลว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา ดังนี้ คำว่า “ธรรม” ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็หมายถึงธรรมทุกอย่างทุกประการดังที่กล่าวมาแล้ว ว่าตัวธรรมชาติก็ดี ตัวกฎของธรรมชาติก็ดี หน้าที่ตามกฎธรรมชาติก็ดี ผลลัพธ์อันเกิดจากหน้าที่นั้นก็ดี รวมเรียกว่าธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา คำว่า “ยึดมั่นถือมั่น” ในที่นี้ หมายถึงความสำคัญมั่นหมายด้วยความโง่เขลา ว่าเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา คำว่า “ยึดมั่นถือมั่น” นั้น ก็เป็นคำธรรมดาสามัญ ที่อาจจะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของกิเลสและความทุกข์ก็ได้ หรืออาจจะใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดับความทุกข์ก็ได้ ตามธรรมดาคนเราเมื่อยังไม่หลุดพ้นจากกิเลสก็ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่บ้างเป็นธรรมดา แม้ว่าจะเป็นปุถุชนชั้นดีเพียงไร แม้แต่พระอริยเจ้าชั้นต้นๆ ก็มีความยึดมั่นถือมั่น แต่ความยึดมั่นถือมั่นนั้นประกอบด้วยปัญญา รู้ว่าอะไรจะเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ ก็ยึดมั่นถือมั่นไว้ในฐานะเป็นที่พึ่งเท่านั้น ไม่ได้ยึดมั่นถึงขนาดที่ว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของของกู ยึดมั่นว่าตัวกูแล้วก็ไม่ยอมใคร ยกหูชูหางพูดจาโผงผางไปตามประสาของคนยึดมั่นถือมั่นด้วยอวิชชาด้วยกิเลสตัณหา และยึดมั่นถือมั่น ว่าของกู เงินของกู ทองของกู ทรัพย์สมบัติของกู อะไรเหล่านี้เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นอำนาจของกิเลสตัณหามากจนถึงกับถูกลิงด่า ดังที่เคยเล่าให้ฟังมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ความยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้เป็นไปเพื่อกิเลส เป็นไปเพื่อความทุกข์ แต่ถ้ายึดมั่นถือมั่นด้วยสติปัญญานั้น เขาไม่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น เช่น ยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของคนแรกที่ยึดถือ อย่างนี้ก็ไม่ควรจะเรียกว่ายึดมั่นถือมั่น แต่ไม่มีคำจะเรียก จึงต้องเรียกว่ายึดมั่นถือมั่นไปทีก่อน แต่มันต่างกันลิบลับกับการที่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา เปรียบเทียบอย่างอื่นต่อไปอีก พึงรู้ไว้เป็นหลักทั่วๆ ไปว่า ตัวอย่างเช่น ความอยากหรือความต้องการ ถ้าอยากหรือต้องการไปด้วยกิเลสตัณหามีอวิชชา เป็นต้น อย่างนี้ความอยากนั้นเรียกว่าเป็นกิเลสเป็นความโลภหรือเป็นตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเครื่องเศร้าหมอง แต่ถ้าหากว่าความอยากหรือความต้องการนั้นประกอบไปด้วยปัญญา เช่น บุคคลได้ฟังธรรมเทศนา รู้ตามที่เป็นจริง ว่าอะไรเป็นอะไรแล้ว ต้องการจะดับเสียซึ่งความทุกข์อย่างนี้ ความต้องการอันนี้ ประกอบด้วยสติปัญญา ไม่ประกอบด้วยกิเลสตัณหา ความอยากชนิดนี้ไม่จัดเป็นกิเลส แต่เป็นเครื่องมือสำหรับทำลายกิเลส เรียกว่าความอยากด้วยกัน แต่ความอยากอย่างหนึ่งเป็นตัวกิเลสแท้ ความอยากอีกอย่างหนึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดกิเลสต่อไป แม้จะมีความทุกข์ยากลำบากบ้าง เพราะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นก็ไม่เรียกว่าความทุกข์อย่างที่เกิดมาจากกิเลสตัณหาเลย เมื่อเรารู้ว่าความอยากมีอยู่สองความหมายเช่นนี้แล้วก็รู้ได้ต่อไปว่า แม้คำว่าความยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็มีอยู่สองความหมายเช่นเดียวกัน
แต่สิ่งที่จะต้องสังเกตให้ละเอียดลงไปอีกก็คือว่าอย่าเผลอยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา เพราะว่าแม้ความยึดมั่นถือมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ของบุคคลบางคนนั้นก็ยึดมั่นด้วยกิเลสตัณหา คือยึดมั่นถือมั่นจะเอาเป็นของตัวเสียทีเดียว ยึดมั่นถือมั่นเป็นเครื่องมือแสวงหาลาภผลอย่างนั้นอย่างนี้ก็มีกระทั่งบนบานเพื่อจะให้ มีลูกมีเต้า เพราะไม่มีลูกกับเขา อย่างนี้ก็มี ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นไปในทำนองนี้แล้ว แม้ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็กลายเป็นกิเลสตัณหาได้ หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้เข้าใจคำว่า “ยึดมั่นถือมั่น” ในชั้นนี้ให้ถูกต้อง เข้าใจคำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” ให้ถูกต้อง ไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหาให้เป็นความทุกข์ แม้จะมีความยึดมั่นในหลักแห่งธรรม ในกฎแห่งธรรม ก็ยึดมั่นเพื่อว่า จะได้ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องและให้เคร่งครัดเท่านั้นเอง คำพูดเหมือนกันแต่ความหมายต่างกัน ดังนั้นจะต้องระวังให้ดี พระพุทธศาสนาทั้งหมดนั้นมีใจความสำคัญอยู่เพียงเท่านี้ คือว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คนที่ยังไม่รู้ยังไม่เข้าใจ ก็เข้าใจไปว่าพุทธศาสนามีมากมายจนศึกษาไม่ไหว ปฏิบัติไม่ไหว หรือคนบางคนเข้าใจไปว่าหัวใจของพระพุทธศาสนามีอยู่อย่างนั้นมีอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ แตกต่างกันไปหมดไม่รู้กันเลยว่า หัวใจพระพุทธศาสนามารวมกันอยู่ที่ประโยคนี้ คือประโยคที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ที่ว่าสอนไม่ให้ทำบาป ให้ทำความดี ให้ทำใจให้บริสุทธิ์ เป็นหัวใจพุทธศาสนานี้ ก็อยู่ที่ความไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหานั่นเอง
แม้แต่พูดว่าพุทธศาสนามีหัวใจเป็นเรื่องเหตุผล ไม่มีตัวตน มีแต่การเป็นไปตามเหตุผล อย่างนี้มันแสดงอยู่แล้วว่า ความเป็นไปตามเหตุผลนั่นแหละคือความที่ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่น หรือแม้จะพูดเป็นเรื่องอื่นไปอีก เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ ประการ เรื่องมรรคมีองค์ ๘ ประการ หรือเรื่องอะไรก็ตามที มันมีใจความสำคัญอยู่ตรงที่ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่จำแนกออกไปว่า เมื่อยึดมั่นถือมั่นก็เป็นทุกข์ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น และการปฏิบัติทั้งหมดนั้นก็ปฏิบัติเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ลองพิจารณาดูการปฏิบัติตามไตรสิกขาก็ดี ตามมรรคมีองค์ ๘ ก็ดี ล้วนแต่เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น ความรู้เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งถือว่าเป็นความรู้ขั้นสูงสุดก็ล้วนแต่แสดงถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นอย่างเดียวกันอีก เพราะเหตุเช่นนี้แหละจึงกล่าวว่าหลักพุทธศาสนานั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าคำพูดสั้นๆ ว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น เท่านั้นเอง นี่แหละคือการที่จะประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้องต่อธรรมทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นธรรมชาติหรือกฎธรรมชาติหรือหน้าที่ตามธรรมชาติหรือผลลัพธ์จากหน้าที่ตามธรรมชาติก็ตาม ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น ที่เป็นตัวธรรมชาติแท้ๆ เป็นร่างกายจิตใจรูปนาม ภายในภายนอก ก้อนกรวดก้อนหิน ก้อนดิน เงินทอง ข้าวของ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น แม้ธรรมที่เป็นกฎของธรรมชาติ เช่น พระธรรมที่สั่งสอนกันอยู่ ก็ต้องไม่มีความยึดมั่นถือมั่นด้วยกิเลสตัณหา ถ้าจะยึดมั่นถือมั่นก็ยึดมั่นด้วยสติปัญญาเพียงเพื่อเป็นหลักปฏิบัติ อย่างนี้ไม่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่นชนิดที่เป็นกิเลสหรือเป็นความทุกข์
หน้าที่ตามธรรมชาติที่คนเราจะต้องประพฤติปฏิบัติ เช่น หน้าที่ของบิดามารดาต่อบุตร บุตรต่อบิดามารดา หน้าที่ต่อคนอื่น ทุกอย่างทุกประการ หน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อตัวเราเอง การทำมาหาเลี้ยงชีพหรือการบริหารร่างกายเหล่านี้ ต้องไม่ทำไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ถ้าเกิดมีความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาแล้วก็เป็นเรื่องหนัก เหมือนกับภูเขาขึ้นมาท่วมทับจิตใจทันที คนนั้นจะทนทรมานเหมือนกับตกอยู่ในนรกทั้งเป็น แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นในหน้าที่ รู้แต่เพียงเป็นหน้าที่ตามธรรมชาติแล้ว ก็ประพฤติไปอย่างสนุกสนานเหมือนกับลองดีกับธรรมชาติ ไม่พ่ายแพ้แก่ธรรมชาติ การทำงานจึงกลายเป็นการเล่นกีฬาชนิดหนึ่งไปก็มี กลายเป็นความสนุกสนาน เพราะเหตุที่ไม่ได้ยึดอะไรเป็นตัวตนหรือเป็นของตน มันก็กลายเป็นของเล่นไปเพราะเหตุนั้นก็มี ทีนี้ก็มาถึงผลลัพธ์ของหน้าที่ที่เกิดขึ้นเป็นเงินทอง เป็นเกียรติยศชื่อเสียงก็ดี ถ้าไปเกิดยึดมั่นขึ้นมาแล้ว มันก็จะเป็นเหมือนกับของหนักๆ เช่น ก้อนหินเป็นต้น มาสุมอยู่บนศีรษะของบุคคลนั้น มีเงินก็มาสุมอยู่บนศีรษะ มีวัวควายไร่นา ก็มาสุมอยู่บนศีรษะ มีอะไรๆ ตามที่ตนรักตนพอใจ ก็ล้วนแต่มาสุมอยู่บนศีรษะ ลองคิดดูเถิดมันก็เป็นเปรตชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง คือเป็นเปรตที่ทูนภูเขาหลายๆ ลูกไว้บนหัว แล้วมันจะสนุกสนานอะไร ด้วยเหตุเช่นนี้แหละ ท่านจึงสอนว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆ ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นดังกล่าวแล้ว ความสำคัญมันก็อยู่ที่รู้เรื่องสิ่งเพียงสิ่งเดียว คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรม เพียงคำเดียวดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง ธรรมในฐานะเป็นธรรมชาตินั้น พุทธศาสนาเรียกว่าสภาวธรรม ธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาตินั้น พุทธศาสนา เรียกว่า สัจธรรม หน้าที่ตามกฎธรรมชาตินั้น พุทธศาสนาเรียกว่า ปฏิบัติธรรม ผลที่เกิดขึ้นตามกฎนั้นๆ ตามหน้าที่นั้นๆ เรียกว่า ปฏิเวธธรรม แม้จะเรียกว่าอะไรๆ ต่างกันอย่างไรก็สรุปอยู่ในคำว่า “ธรรม” เพียงคำเดียว ด้วยเหตุเช่นนี้แหละพุทธศาสนาจึงสอนแต่เรื่องธรรมเพียงคำเดียว แต่ในปริยายที่ต่างๆ กัน และสอนลัดไปสู่การปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์โดยตรงเท่านั้น นี้คือพระพุทธศาสนาแท้ นี้คือธรรมแท้
บัดนี้เรามาประชุมกันเพื่อจะทำ อาสาฬหบูชา เป็นที่ระลึกแก่พระธรรม เป็นการบูชาแก่พระธรรม หรือแก่พระพุทธศาสนา เราควรจะเข้าใจ สิ่งที่เรียกว่าธรรมนี้ให้ถูกต้อง ให้เป็นเครื่องชำระความโง่เขลา ความยึดมั่นถือมั่น หรือสิ่งเศร้าหมองต่างๆ ในใจให้หมดไปเสียก่อน จึงจะเป็นการทำอาสาฬหบูชาที่แท้จริง คำว่า “ธรรม” หรือ “พุทธศาสนา” ที่แท้นั้น น่าจะคิดน่าจะนึกกันอยู่บ้าง เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนเรามีความเข้าใจผิดไปในทางยึดมั่นถือมั่นกันเสียมาก เช่น พุทธบริษัทที่นั่งอยู่ที่นี่ ก็มักจะคิดว่าตัวดีกว่าพวกอื่น หรือว่าเห็นว่าพวกแขกพวกฝรั่งเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ เป็นมิจฉาทิฐิโดยประการทั้งปวง สู้ตัวเองพวกพุทธไม่ได้ อย่างนี้ก็มีอยู่มาก ถ้าใครมีความคิดเห็นอย่างนี้ก็ควรจะเลิกเสียดีกว่า เพราะว่าไม่เป็นความจริง ไม่ใช่ว่าคนเราจะผิดหรือจะถูกได้เพราะการบัญญัติเช่นนั้น มันจะผิดจะถูกมันอยู่ที่การรู้จริงหรือไม่จริง ปฏิบัติจริงหรือไม่จริง การที่ปฏิบัติจริงหรือไม่จริง รู้จริงหรือไม่จริงนี่แหละ เป็นเหตุให้เกิดแบ่งพวก ไปตามการกระทำนั้นๆ ไม่ใช่แบ่งกันตามที่ว่าเป็นภาพเป็นภาษา หรือที่บัญญัติกันเป็นนิกายนั่นนี่ ในชั้นนี้อยากจะขอบอกกล่าวกันสักอย่างหนึ่งว่า เรื่องนิกายเรื่องพวกนี้ เป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างยิ่ง เป็นการทำลายพุทธศาสนาไปในตัว เป็นการตู่พุทธศาสนาเป็นการทำความคดโกงให้แก่พุทธศาสนา ในการที่ไปกล่าวว่า พุทธศาสนาที่แท้ต้องเป็นเถรวาทบ้าง เป็นมหายานบ้าง เป็นหินยานบ้าง เป็นมหายานบ้างอย่างนี้เป็นเรื่องว่าเอาเองตามความโง่เขลาของคนๆ นั้น พุทธศาสนาที่แท้นั้น เก่าก่อนแต่ที่จะมีคำว่า “หินยาน” หรือ “มหายาน” เกิดขึ้น ดังนั้นพุทธศาสนาที่แท้จึงไม่ใช่ หินยานหรือมหายาน พุทธศาสนาที่แท้ไม่ใช่เถรวาท หรืออาจริยวาท จงพิจารณาดูให้ดี โดยเห็นความจริงที่ว่า ในสมัยพระพุทธเจ้านั้นไม่มีการแบ่งเป็นเถรวาทหรืออาจริยวาท การแบ่งอย่างนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาทีหลัง ใจความสำคัญของเถรวาทในชั้นหลังๆ นี้ คือขมวดเข้ามาให้เคร่งครัด จนกลายเป็นพวกที่เรียกว่า เคร่ง อย่างที่เรียกว่า พวก อนุรักษ์นิยม หรือ conservative ส่วนพวกมหายานหรืออาจริยวาทนั้น เป็นพวกที่ขยายออกไปตามอิสระ ขยายให้กว้างออกไปให้กว้างออกไปตามที่เป็นอิสระ อย่างที่เรียกว่า liberal อิสระนั้นมากเกินไปพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ ทั้งเถรวาท จึงไม่ใช่ทั้งอาจริยวาท พุทธศาสนาไม่ใช่ทั้งหินยาน และไม่ใช่ทั้งมหายาน แต่ว่ามันก็หลีกไปไม่พ้น เพราะว่าอาจจะหาพบได้ในส่วนที่เรียกว่าเถรวาทหรือมหายานนั่นเอง แต่อย่าเอาไปถือส่วนที่มันขมวดให้เข้มข้นเข้ามา หรือส่วนที่ขยายให้บานปลายออกไป พุทธศาสนาจึงมีแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เป็นหินยานหรือมหายานอย่างไรได้ ธรรมะนี้เป็นของธรรมชาติ เป็นเถรวาทไม่ได้ เป็นมหายานก็ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นธรรมะนี้จะเป็นของพุทธศาสนาก็ไม่ได้ เป็นของคริสต์ศาสนาก็ไม่ได้ เป็นของศาสนาของมูฮัมหมัดก็ไม่ได้ สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาตินี้ไม่เป็นของใคร สิ่งที่เรียกว่าธรรมก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน คนว่าเอาเองว่าเป็นของตนเป็นของพวกตน เป็นของพุทธไม่ใช่ของคริสต์ อย่างนี้เป็นคนขี้ตู่ ธรรมะหรือธรรมชาตินั้น เป็นของใครไม่ได้ แต่เป็นของผู้ที่รู้และปฏิบัติได้ เมื่อผู้ใดรู้และปฏิบัติได้ก็เป็นของคนนั้น ในศาสนาพุทธก็มีในศาสนาคริสเตียนก็มี ในศาสนาอื่นๆ ก็มี คือมีผู้รู้ธรรมะและปฏิบัติได้ตามสัดตามส่วนตามมากตามน้อย นี้เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมะหรือพระธรรมนั้นเป็นอะไรของใครไม่ได้ แต่เป็นตัวเอง เป็นของธรรมะเอง เราต้องรู้กันอย่างนี้จึงจะชื่อว่า เราไม่ตู่ธรรมะ หรือเราไม่ย่ำยีธรรมะเอาตามความพอใจของเรา
อยากจะกล่าวให้ฟังสักเล็กน้อยเท่าที่เกี่ยวกับพวกเราพุทธศาสนา ว่าเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ท่านก็สอนตัวธรรมชาติ ตัวกฎธรรมชาติ หน้าที่ตามธรรมชาติ ผลลัพธ์ตามธรรมชาติ ไปตามที่ท่านเห็นว่าควรจะสอนอย่างไร มันก็ไม่มากไม่น้อย เป็นไปตามพอดี พอที่จะดับทุกข์ได้ คำสอนของพระองค์มีอยู่อย่างนี้ จึงไม่เป็นเถรวาท จึงไม่เป็นมหายาน ทีนี้เรื่องมันจะค่อยๆ เป็นเถรวาทเป็นมหายานก็คือ พวกสาวกนั่นเอง พวกสาวกที่ขี้เกียจ ขี้คร้าน หรือเป็นคนพอดีพอร้าย ไม่อยากจะปฏิบัติ ตามคำสอนของพระองค์อย่างตรงไปตรงมา ความขี้เกียจบังคับบ้าง ความเห็นแก่ลาภสักการะบังคับบ้าง ความเห็นแก่กิเลสของตนเองชักจูงไปบ้าง จึงเกิดมีพวกที่อยากจะอวดเคร่งขึ้นมาพวกหนึ่ง และเกิดมีพวกที่จะเอาแต่ความสะดวกพอดีพอร้ายขึ้นมาอีกพวกหนึ่ง ในหมู่สาวกของพระองค์จึงได้เกิดการแตกแยกกันอย่างนี้ก่อน ดังที่เราได้ยินได้ฟังเรื่องเล่าไว้ในวินัยปิฎก...(0:24:45.8) เป็นต้น ว่าพวกหนึ่งเคร่งมาก และยกคำพูดขึ้นยึดถือไว้อย่างหนึ่ง พวกหนึ่งไม่ค่อยเคร่งก็ถือไปอีกอย่างหนึ่ง เรื่องเหลือน้ำไว้ในภาชนะสำหรับชำระในห้องส้วมนิดเดียวเท่านั้น ก็กลายเป็นเรื่องแตกแยกกัน เพราะพวกหนึ่งจะปรับอาบัติ ไม่ยอมประนีประนอมแต่ประการใด อีกพวกหนึ่งก็ไม่ยอมจึงเกิดการแตกแยกกัน ไม่สมัครสมานสามัคคีกัน ไม่ยอมร่วมอุโบสถสังฆกรรมกัน แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะได้ตรัสประนีประนอมให้ดีกัน ภิกษุสองพวกนั้นก็ยังไม่ยอม พระพุทธเจ้าท่านจึงหลีกไปเสีย ไม่อยู่ประทับในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น จนกระทั่งประชาชนทั้งหลาย เห็นความดื้อกระด้างของภิกษุสองพวกนั้น จึงพากันละทิ้งภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เอาใจใส่ ไม่บำรุงแต่ประการใด ในที่สุดภิกษุเหล่านั้นก็หันมาประนีประนอมกัน อย่างนี้เป็นต้น คิดดูเถิดว่าการแตกแยกชนิดนี้มีขึ้นได้อย่างไร และแม้แต่พระพุทธเจ้าเองเป็นผู้ประนีประนอมก็ยังไม่ยอม เพราะว่ามีกิเลสที่เป็นเหตุให้ถือว่าตัวกูหรือของกูมากไปจนไม่ยอมแม้แก่พระพุทธเจ้า จนถึงกับพระพุทธเจ้าต้องหลีกไปเสียคราวหนึ่ง พิจารณาให้ดีแล้วก็จะเห็นได้ว่า การที่จะแตกกันเป็นพวกนี้ ชั้นแรกก็มีมาจากมูลเหตุคือ พวกหนึ่งจะอวดเคร่ง พวกหนึ่งจะเอาพอดีพอร้ายตามสะดวกสบาย ก็เลยแบ่งเป็นพวกเคร่งและไม่เคร่ง นี้เกี่ยวกับการปฏิบัติ และการปฏิบัติเช่นนี้มันก็เกี่ยวกับการตีความหมายมาก่อน มีวินัยข้อนี้วางไว้อย่างนี้ พวกหนึ่งตีความหมายไปในทางเคร่ง พวกหนึ่งตีความหมายไปในทางหย่อน การตีความหมายนั้นก็ต่างกัน เรียกว่ามีทิฐิความเห็นต่างกัน ทิฐิที่เห็น ความเห็นที่ต่างกันนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดแบ่งแยกนิกาย เมื่อมีการแบ่งแยกนิกาย ทำนองนี้เพราะไม่มีทำนองอื่น อย่างนี้แล้วเราก็จะเห็นได้ว่า ธรรมะแท้ๆ หรือวินัยแท้ๆ นั้นไม่มีนิกาย ไม่อาจจะแบ่งแยกเป็นนิกาย แต่ว่าพวกคนที่ประกอบไปด้วยกิเลสนั่นแหละเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกนิกาย และแบ่งตัวเองเป็นนิกาย พวกอยากอวดเคร่งก็ทำไปในทางเคร่ง พวกหย่อนยานก็ทำไปในทางหย่อนยาน ถ้าว่าทำไปในทางถูกต้องพอดีแล้วมันก็ไม่มีทางจะแตกแยกอันใดกันได้ ดังนั้นจึงกล่าวว่า ธรรมะแท้ พุทธศาสนาแท้นั้น ไม่มีนิกาย ไม่เกี่ยวกับนิกาย ถ้าจะดูประวัติในพระพุทธศาสนานี้ เราจะเห็นได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วราวประมาณเกือบร้อยปี ก็มีการแบ่งแตกแยกในทำนองนี้กันโดยเด็ดขาด คือพวกหนึ่งเคร่งครัดออกกฎบัญญัติต่างๆ เป็นไปในทางที่จะให้เคร่งครัดมากขึ้นเป็นพวกเถรวาทขึ้นมา พวกหนึ่งก็เป็นไปในทางที่จะหาทางบรรเทาความลำบาก หรือความประพฤติปฏิบัติที่เคร่งครัดนั้นลงบ้างหรือว่าเพื่อให้เหมาะสมกับกาลเทศะบ้าง ก็ยิ่งหันหลังให้แก่กันและกันทุกที พวกนี้เรียกว่าพวกมหาสังฆิกะ เพราะว่าพวกนี้เป็นพวกที่มีมาก นิกายเถรวาทก็เกิดขึ้น นิกายมหาสังฆิกะก็เกิดขึ้น ต่อมาอีกสองสามร้อยปี การแตกแยกก็มีมากขึ้น คือในพวกเถรวาทเองก็แบ่งเป็นหลายพวกขึ้นมา ในพวกมหาสังฆิกะเองก็แบ่งเป็นหลายพวกขึ้นมา และมีบางพวกก้ำกึ่งระหว่างเถรวาทกับมหาสังฆิกะก็เกิดขึ้นมา จนกล่าวได้ว่าในระหว่างพุทธศักราชสามร้อยถึงห้าร้อยนั้น มีพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้วในประเทศอินเดียถึงสิบแปดนิกาย ลองคิดดูเถิดว่ามันมาจากอะไร ทีนี้ต่อมาอีกหน่อย คำว่า “หินยาน” กับ “มหายาน” ก็เกิดขึ้น โดยพวกมหาสังฆิกะเรียกตัวเองว่ามหายาน แทนที่จะเรียกว่ามหาสังฆิกะพวกใหญ่มาแต่เดิมก็มาตั้งชื่อใหม่เป็นพวกมหายาน แล้วก็เรียกพวกเถรวาทว่าเป็น หินยานขึ้นมา ยานหนึ่งเป็นยานใหญ่ยานดีอย่างสูง ยานหนึ่งเป็นยานเล็กยานแคบหรือยานต่ำ คำว่ามหายานและหินยานซึ่งเกิดกันโดยเด็ดขาดเมื่อพุทธศักราชตั้งหกเจ็ดร้อยแล้ว ทีนี้พวกมหายานยังเดินเรื่อยไปในทางที่เรียกว่าบานปลายออกไป พวกหินยานนี่ก็ยังโชคดีอยู่ที่ว่าขมวดให้เข้มข้นให้เคร่งครัดมากขึ้น แต่ในที่สุดก็มีการขมวดนั้นมากเกินไป จนเกิดความลำบากแก่ตัวเองก็มี และเมื่อทำไปไม่ได้ก็ต้องหาทางออกอย่างอื่นก็มี สิ่งที่เรียกว่าเถรวาท สิ่งที่เรียกว่าหินยานหรือมหายานนี้จึงกลายเป็นของใหม่ ที่เดินกันไปคนละทาง แยกกันไปคนละทาง จนเกิดไม่ร่วมมือกันได้ มองกันและกันในฐานะที่เป็นคู่ปรปักษ์ ทางฝ่ายมหายานบางแขนงได้เลย เดินเลยไปเป็นลัทธิที่เรียกว่า ตันตริก ซึ่งมีเหตุผลไปในทางถือเอากามารมณ์เป็นส่วนใหญ่ โดยหวังว่าคนส่วนมากนิยมอย่างนี้พอใจอย่างนี้ ลัทธิตันตริกของฮินดูจะได้เปรียบ พวกพุทธศาสนาก็ไม่ยอมก็ต้องตั้งลัทธิตันตริกขึ้นมาบ้าง เพื่อสนองความต้องการทุกอย่างทุกประการ เป็นอันว่าคำว่า “มหายาน” นั้นได้สร้างอะไรขึ้นมาครบทุกอย่างทุกประการเพื่อสนองความต้องการของคนทุกชนิด แม้แต่คนที่ยังลุ่มหลงในทางกามารมณ์ มีเล่ห์เหลี่ยมต่างๆ นานา ที่จะยกเอากามารณ์นั้นขึ้นมาเป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติธรรม
เท่าที่กล่าวมานี้ก็เป็นตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรม หรือสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนานั้นมันเป็นอย่างไร คนต่างหากที่ทำให้เกิดการแตกแยกเกิดนิกายเปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างไปต่างๆนานา ธรรมะแท้หรือพุทธศาสนาแท้นั้นไม่เกี่ยวกับการกระทำชนิดนั้น ยังคงเป็นเนื้อเป็นตัวของสิ่งที่แท้จริงอยู่ตามเดิม แต่ว่าถูกฉาบถูกหุ้มถูกห่อถูกประดับประดาตกแต่งไปเสียจนจำไม่ได้ แต่ในที่สุดความนิยมก็หันเหไปในทางที่จะสนองความต้องการของตนไปด้วยกันทั้งนั้น พวกเถรวาทหรือหินยานก็ต้องการประโยชน์จากความเคร่งครัด เคร่งครัดอวดคนเข้าไว้ไห้มากเท่าไรก็เป็นการดี พวกมหายานก็ยอมตามใจคน คนเขาจะเอาอย่างไรก็เอาอย่างนั้น แต่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ทั้งหินยานและมหายานอยู่ตามเดิม เราจะต้องมีจิตใจชนิดที่ไม่เป็นหินยานและมหายานด้วย จึงจะเรียกว่าเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ควรแก่การทำอาสาฬหบูชาในวันนี้ เพราะว่าการทำอาสาฬหบูชานี้ เราทำเพื่อบูชาพระธรรม อุทิศแก่พระธรรม พระธรรมนั้นเป็นหินยานไม่ได้ เป็นมหายานไม่ได้ เป็นอาจริยวาทหรือเป็นเถรวาทก็ไม่ได้ คงเป็นเพียงพระธรรมเฉยๆ เพื่อธรรมล้วนๆ ซึ่งมีหลักตามที่เราก็รู้ หรือรู้พอที่จะเลือกคัดได้ คือการไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด โดยความเป็นตัวกูหรือเป็นของของกู ปฏิบัติอยู่โดยลักษณะเช่นนั้น ไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้นมาได้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว อย่าทำตัวให้ลำบากมากเกินไป อย่าทำตัวให้หลวมจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เอาแต่การตามใจตัวเองไปเสียทั้งนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ เราแม้จะมีการศึกษาน้อย มีความรู้น้อยก็ยังสามารถที่จะเลือกเอาพระธรรมที่แท้จริง ที่ไม่เป็นหินยาน หรือมหายานได้เป็นแน่นอน และนั่นแหละคือธรรมะแท้ของพระพุทธเจ้าหรือพุทธศาสนาแท้ของพระพุทธเจ้า เป็นศาสนาหรือเป็นธรรมะที่เก่ากว่านิกาย ยังไม่เกิดนิกายแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง
เรามาทำในใจกันอย่างนี้ให้เกิดมีธรรมะแท้ไม่ถูกกิเลสตัณหาของผู้ใดลูบคลำทำให้เศร้าหมอง ให้เป็นธรรมะอย่างนี้อยู่ในใจ ไม่มีตัวกูไม่มีของกูเข้าไปลูบคลำธรรมะนั้นเลย ก็จะเป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นจิตใจที่เหมาะสมที่จะทำอาสาฬหบูชาต่อๆ ไปในวันนี้เป็นแน่นอน เราควรจะภาวนากัน ด้วยกันทุกคนว่า วันนี้เป็นสมัยที่ควรที่จะทำความเข้าใจกันได้แล้วในเรื่องนิกาย หรือว่าบัดนี้เป็นสมัยที่ควรจะทำความเข้าใจกันได้แล้วในการที่จะกลับไปหารูปเดิมของพระพุทธศาสนา คือไม่ต้องมีแบ่งเป็นนิกาย ถ้ายังมีเป็นนิกายอยู่ก็ยังเป็นของใหม่หยกๆ อยู่นี่เอง ต่อเมื่อความเป็นนิกายสูญหายไปเหลือแต่ธรรมะแท้แล้วนั่นแหละจึงจะเป็นของเก่าของพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้ ด้วยเป็นได้ตามที่เราต้องการนี้ จึงขอชักชวนย้ำหรือซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ท่านทั้งหลายจงได้พิจารณาดูให้ดี ถึงการที่ว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าสิ่งทั้ง ๔ คือตัวธรรมชาติ ตัวกฎของธรรมชาติ ตัวหน้าที่ตามธรรมชาติ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น เป็น ๔ อย่างด้วยกันดังนี้แล้ว เรียกว่าธรรม เราจงใช้สติปัญญาของเรา เพ่งเล็งไปยังสิ่งเหล่านี้ ตั้งรากฐานอยู่บนสิ่งเหล่านี้ ศึกษาให้รู้จักสิ่งเหล่านี้ตามที่เป็นจริง แล้วปฏิบัติเพื่อให้ดับทุกข์ได้จริง เราก็จะได้ธรรมะแท้ที่เป็นของเก่า ไม่เกี่ยวกับนิกาย ไม่เกี่ยวกับสิ่งใดๆ ที่เป็นของใหม่ ที่ขมวดให้สั้นเข้ามา หรือที่ขยายให้ยาวออกไปแต่ประการใดเลย
เพื่อให้เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้มันสับสนปนเปกันอย่างไร ทั้งเถรวาททั้งมหายาน ทั้งๆ ที่เราไม่อยากจะเป็นเถรวาทหรือมหายาน เราก็ยังจะมองดูว่ามันมีการสับสนปนเปกันอย่างไรเพื่อให้เรารู้จักสิ่งทั้งสองนี้ดี และไม่อยากจะเข้าไปพัวพันกับสิ่งเหล่านี้ ข้อนี้คือข้อที่ว่า ในที่สุดทั้งเถรวาทและทั้งมหายานก็หลีกอาการอย่างเดียวกันไปไม่พ้น เพราะว่าทั้งเถรวาททั้งมหายานก็ต้องการสิ่งที่เรียกว่า สวรรค์ด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าในฝั่งมหายานจะเรียกว่าสุขาวดีฝ่ายเถรวาทจะเรียกว่าสวรรค์เฉยๆ อะไรก็ตามที ความหมายมันก็ไม่แตกต่างกัน คือคนอยากก็จะมีสวรรค์ของเขาอย่างไร เขาก็บัญญัติเอาอย่างนั้น พวกมหายานพวกหนึ่งก็ต้องการสวรรค์หรือสุขาวดี พวกเถรวาทหรือหินยานนี้ก็เมาสวรรค์ไม่แพ้พวกนั้นเลย นี้ก็คือความที่ว่าถ้าบ้าก็บ้าด้วยกัน ถ้าโง่ก็โง่ด้วยกัน ถ้าฉลาดก็ฉลาดด้วยกัน ทีนี้มองต่อไปในทางความเข้มแข็งหรือการใช้กำลัง ทางฝ่ายมหายานก็มีการสอนให้เป็นโพธิสัตว์ ให้สละสุขส่วนตัว ให้เข้มแข็งในการที่จะช่วยผู้อื่น จนถึงกับอธิษฐานว่า ถ้ายังมีคนมีความทุกข์อยู่ในโลกนี้แล้วเรายังไม่อยากไปนิพพาน เรายังอยากจะอยู่ช่วยผู้อื่น ฝ่ายเถรวาทนี้ถึงสมัยหนึ่ง ถึงกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งก็ต้องการพุทธภูมิหรือโพธิสัตว์เช่นเดียวกัน แต่ส่วนมากต้องการพุทธภูมิ มีการอธิษฐานว่าให้เราเป็นพระพุทธเจ้ากับเขาด้วยองค์หนึ่ง จะนานเท่าไรจะอะไรก็ตามใจ ยังไม่ต้องการจะนิพพานตามธรรมดา ต้องการเป็นพระพุทธเจ้าหรือต้องการเป็นโพธิสัตว์ อย่างนี้ก็มีด้วยกันทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานของสมัยนี้ ทีนี้ก็มาถึงเรื่องปัญญา เรื่องปัญญานี้มันไม่มีทางออกเป็นอย่างอื่น มันมีแต่ว่าจะให้รู้อะไรตามที่เป็นจริง แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นทางฝ่ายมหายานที่ถูกต้องถ่องแท้ที่ยังมีอยู่นั้นก็สอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเรื่องสุญญตา ทางฝ่ายเถรวาทนี้ก็สอนเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูเถิดว่ามันต่างกันที่ตรงไหน ถ้าว่ามันเป็นพวกที่มีแต่ความเชื่อ ไม่มีปัญญาจะทำอะไรให้ดีกว่านั้น ก็ต้องการสวรรค์ด้วยกันทั้งสองพวก ถ้าเป็นพวกเข้มแข็ง มีความเสียสละ ก็ต้องการเป็นโพธิสัตว์ หรือเป็นพุทธเจ้าด้วยกัน แต่ถ้าหากเป็นพวกที่มีปัญญา มันก็ไม่มีอะไรที่จะต้องศึกษานอกจากเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่แล้วก็ยังมาแตกแยกกัน ขนาดที่เรียกว่าจะไม่มองหน้ากัน ต่างฝ่ายต่างเห็นกันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นผู้เห็นธรรมที่ตรงไหน จะเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
ทีนี้มองดูต่อไปอีกหน่อยก็จะพบว่าทั้งเถรวาททั้งมหายานก็ยังแบ่งเป็น ๒ อันดับ คืออันดับที่มีสติปัญญากับอันดับที่ไม่มีสติปัญญา สิ่งที่เรียกว่าศาสนาของตนๆ จึงลดมาอยู่เป็นชั้นๆ คือพวกมหายานชนิดที่มีสติปัญญาน้อยก็ปรารถนาได้แต่เพียงสวรรค์ พวกเถรวาทที่มีสติปัญญาน้อยก็ปรารถนาได้แต่เพียงสวรรค์ ไม่อาจจะอาจเอื้อมไปเป็นศาสนาโพธิสัตว์หรือพุทธภูมิ และไม่สามารถจะศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เอาแต่ท่องบ่นหรือทำบุญให้ทานเพื่อไปสวรรค์อย่างเดียวก็พอ นี้เรียกว่าศาสนาเดิมแท้ ซึ่งเป็นของเกี่ยวกับปัญญาโดยเฉพาะนั้นถูกลดอันดับลงมาเหลือเพียงเท่านี้ ลักษณะอย่างนี้ไม่ได้เป็นไปแต่ในพุทธศาสนา แม้ในศาสนาที่เรียกว่ามีสติปัญญาแหลมคมทัดเทียมกันกับพุทธศาสนาก็ยังเป็นอย่างนี้ ตัวอย่างเช่นลัทธิเต๋าของเล่าจื้อ ซึ่งเป็นเรื่องของสติปัญญาหลายอย่างหลายประการทัดเทียมกันกับพุทธศาสนา แต่ก็ในที่สุดก็ต้องลดลงมาเหลือเพียงพวกอาซิ้มที่จุดธูปไหว้หัวสิงโต ก็เรียกว่าเป็นลัทธิเต๋าด้วยเหมือนกัน เป็นเพียงเป็นเทวดา เป็นอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็ถูกบวกพ่วงขมวดเข้าไป ในลัทธิเต๋านั้น นี้เราก็เห็นได้ว่าของเดิมที่มีอยู่อย่างหนึ่งนั้น มันถูกลดลงมาอย่างไร เพราะอำนาจของการที่เข้าใจผิดหรือปล่อยไปตามอำนาจของความเข้าใจผิด และไปยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกูเพื่อให้เกิดประโยชน์สนองความต้องการของตนโดยเร็ว ในที่สุดมันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ด้วยกันทุกศาสนา ไม่ว่าศาสนาไหน พุทธศาสนาของเรา เราก็มองเห็นกันอยู่ว่า มีปัญหาอย่างนี้หนาแน่นขึ้นทุกที เราอย่าเอาพุทธศาสนาชนิดนี้เลย ทิ้งมันเสียเถิด ย้อนไปสนใจกับพุทธศาสนาอย่างของพระพุทธเจ้าที่แท้ ที่ท่านได้สอนไว้อย่างไม่ต้องมีนิกาย ไม่ต้องมีพรรค ไม่ต้องมีพวก สอนให้มีความรู้ ความคิด สติปัญญา ตั้งรากฐานอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า ธรรม หรือ ธรรมชาติ เพียงคำเดียว แล้วก็จำแนกเป็น ๔ ความหมาย ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น และธรรมในทุกๆ ความหมายนั้น ไม่มีส่วนใด ที่ควรจะยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวตนหรือของตน เมื่อจิตใจตั้งอยู่ในลักษณะเช่นนี้แล้ว สิ่งต่างๆ ก็จะเป็นไปด้วยดีในตัวมันเอง คือผู้ที่ไม่โง่เขลายึดมั่นอะไร สิ่งใดว่าเป็นตัวกูของกูนั้น คนชนิดนี้จะต้องมีศีลธรรมดี ฆ่าใครไม่ได้ ขโมยของของใครก็ไม่ได้ ล่วงเกินของรักของใคร่ของใครก็ไม่ได้ พูดเท็จก็ไม่ได้ ดื่มน้ำเมาก็ดื่มไม่ลง เพราะมันไม่โง่ถึงขนาดนั้น มันจึงเป็นไปเอง ในทางที่เป็นความถูกต้อง เกิดเป็นศีล เป็นสมาธิ ปัญญาขึ้นมาได้ ไปหาสายหลัก ในสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ หรือธรรมชาติ อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวกูหรือเป็นของกูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ข้อที่ว่าคนที่มีสติปัญญาน้อย ไม่ได้เรียนอะไรมาก จะมารู้สิ่งนี้ได้อย่างไรนั้น ในชั้นแรกก็จะต้องอาศัยความสังเกต ว่าถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นอะไรว่าเป็นตัวกูหรือของกูขึ้นมาเมื่อใด ภูเขาหลายหลายลูกก็จะขึ้นมาสูงทับอยู่บนศีรษะของบุคคลนั้นเมื่อนั้น เพียงเท่านั้นก็พอแล้วที่จะรู้จักเข็ดรู้จักหลาบ และรู้จักคิดนึกศึกษาต่อไปอย่าให้มีจิตใจชนิดที่มีของหนักมาท่วมทับเลย ให้เป็นจิตใจที่ว่าง ที่คล่องแคล่วที่เฉลียวฉลาดอยู่ในตัวตลอดเวลา เหมือนกับบุคคลที่ไม่ได้แบกไม่ได้ทูนอะไรหนักๆ เอาไว้ ย่อมแคล่วคล่องว่องไวต่อการเคลื่อนไหวฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจหรือสติปัญญาของเราก็จงไม่เป็นอย่างนั้น ด้วยเป็นอิสระและมีความแคล่วคล่องว่องไว ในการที่จะคิดจะนึก จะคิดพินิจพิจารณาหรือตัดสินสิ่งใดลงไปอย่าให้มีสิ่งใดมาผูกพัน จนสูญเสียความเป็นอิสระเลย เราก็สามารถที่จะคิดได้ด้วยสติปัญญาของเราว่าการที่จิตใจมีอะไรท่วมทับนี้ไม่เป็นของดี ไม่เป็นของสนุก ไม่เป็นไปเพื่อความสุข จิตใจของเราจะต้องปล่อย จะต้องโปร่ง จะต้องว่าง จะต้องเป็นอิสระ จึงจะสบาย จึงจะเป็นอยู่ได้อย่างที่เรียกว่าเป็นมนุษย์ หรือมีจิตใจสูง พอที่ความทุกข์จะครอบงำไม่ได้หรือความชั่วจะครอบงำไม่ได้ แต่บัดนี้คนเหล่านี้ไม่พิจารณาในทำนองนี้ แต่ไปหลงเห่อตามๆ เขาไปในเรื่องที่ไม่รู้ว่าอะไร ในเรื่องที่ต้องเชื่อคนอื่น ในเรื่องที่เขาบอกแล้วก็เชื่อ อย่างนี้มันก็ต้องเดินไปในทางที่เรียกว่าทำอะไรตามๆ กันไป เฮกันไปตามที่คนเหล่านั้นเขากระทำกันโดยไม่ต้องมีความคิดความนึกจึงเข้าใจผิดต่อสิ่งที่เรียกว่า ธรรมะ นั้นโดยประการทั้งปวง คือไปหลงยึดมั่นถือมั่น สิ่งที่กิเลสของตนต้องการว่าเป็นตัวตนหรือเป็นของตนขึ้นมาทันที มีกิเลสเป็นตัวตน ไม่ได้มีธรรมะเป็นตัวตน เรื่องมันก็เดินกันไปคนละทาง รับกิเลสขึ้นมาเอากิเลสขึ้นมาเป็นตัวตน และรับกิเลสนั้นจนไม่อาจจะเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าธรรมะได้ เป็นผู้มีกงจักรเป็นดอกบัว หรือเห็นงูเป็นปลาอยู่เสมอไปจนกระทั่งตาย เน่าเข้าโลงไปก็ไม่มีโอกาสไม่มีเวลาที่จะสำนึกได้ว่า อะไรเป็นกงจักรอะไรเป็นดอกบัว อย่างนี้ก็มีอยู่เป็นอันมาก ถ้าเรายังมีจิตใจอยู่ในลักษณะเช่นนี้ในระดับเช่นนี้ ก็ป่วยการที่จะมาพูดกันถึงธรรมะหรือพระธรรมแล้วทำอาสาฬหบูชาในวันนี้
เราต้องมีจิตใจที่ถูกต้องที่เป็นธรรมจริงๆ สูงขึ้นมาในระดับที่เรียกว่าประกอบด้วยธรรมอยู่จริงๆ เราจึงจะทำอาสาฬหบูชาให้มันสมกันกับที่ว่าเพื่อพระธรรม บูชาพระธรรมหรืออุทิศพระธรรมในวันเช่นวันนี้ ซึ่งเป็นวันสำหรับพระธรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว วันวิสาขบูชานั้นเป็นวันพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันพระธรรม และวันมาฆบูชานั้นเป็นวันพระสงฆ์ บัดนี้เราก็มาถึงสิ่งที่เรียกว่าวันของพระธรรมแล้ว จงกระทำทุกอย่างเพื่อให้เราเป็นผู้ที่มีธรรมอยู่ในใจ กำลังมีธรรมอยู่ในใจ แล้วธรรมนั้นจะได้เป็นเครื่องบูชาแก่พระธรรมที่เป็นส่วนรวม ถ้าไม่มีธรรมที่แท้จริงอยู่ในใจแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมาเข้ากันได้กับสิ่งที่เรียกว่าธรรม แม้เราจะบูชาจะเดินเวียนประทักษิณ มันก็ทำไปอย่างละเมอๆ อย่างดีที่สุดก็จะเป็นการเล่นละครชนิดหนึ่งเพื่อหลอกตัวเองหรือคนดูให้เข้าใจไปว่านี้เป็นพุทธบริษัทผู้เคร่งครัด ตามแบบของคนที่ชอบความเคร่งครัดเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น สิ่งที่เรียกว่าธรรมมีอยู่อย่างไรขอให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจ ให้ละเอียดให้แยบคายให้สุขุม จนในสิ่งที่เรียกว่าธรรมนั้น ปรากฎอยู่ในขณะที่เราบูชาต่อธรรม ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องรับการบูชา แล้วไม่มีผู้ที่ควรแก่การทำการบูชา มันก็เป็นเรื่องเหลว เป็นลมเป็นแล้งไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ แม้จะทำอาสาฬหบูชาชนิดนี้กันอีกสักกี่ปี กี่สิบปี กี่ร้อยปี มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น มันเป็นการซ้ำซากในเรื่องของลมๆ แล้งๆ ไปตามเดิม นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสลดสังเวชอย่างยิ่ง แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะไปโทษใคร หรือจะไปคิดค่าเสียหายเอาจากผู้ใด มันเป็นเรื่องที่เราทำไปจนห่างไกลๆ จากสิ่งที่เรียกว่าธรรมออกไปทุกทีๆ และด้วยตนเองเท่านั้น
ดังนั้นจึงได้กล่าวอารัมภกถาก่อนแต่การทำอาสาฬหบูชากันเสียอย่างยืดยาวเช่นนี้ รวมทั้งเมื่อตอนบ่ายด้วย รวมทั้งเวลานี้ด้วย ล้วนแต่เป็นการเสนอแนะในข้อที่เรียกว่าจะต้องทำจิตใจของเราอย่างไร การทำอาสาฬหบูชาจึงจะมีความหมาย หวังว่าท่านทั้งหลายคงจะได้นึกคิดให้มากในข้อนี้ โดยมาคิดเห็นว่าเรามีอายุล่วงเข้ามาทุกวันๆ ความเป็นพุทธบริษัทของเราก็ยังไม่ดีขึ้น ยังไม่ถูกต้องขึ้น ยังไม่เป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงขึ้น เราควรจะเสียใจให้มาก เป็นสิ่งที่จะต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เป็นปัญหาเฉพาะหน้า อย่าเสียเวลา อย่าเสียทีที่เรามาประชุมกันในลักษณะเช่นนี้ บางคนก็ลำบากมาก บางคนก็เหนื่อยมาก บางคนก็เสียเงินมาก ในการที่มาประชุมกันในที่นี้ ในเวลานี้ แต่ในที่สุดก็ไม่รู้ว่าเพื่อประโยชน์อะไร บางคนอาจจะคิดว่าคงจะเป็นเรื่องแปลกดี ก็จะมาร่วมประชุมด้วย บางคนก็จะเป็นเพียงถือโอกาสทัศนาจร ส่วนผลทางธรรมะนั้นเผื่อไว้ว่ามันอาจจะได้บ้างอย่างนี้ก็คงจะมี ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่เป็นหนทางที่จะแก้ไข สิ่งที่ตกต่ำอยู่นั้นให้ดีขึ้นมาได้ ขอให้ยกออกไปเสียให้เด็ดขาด อย่าได้มาเกี่ยวข้องกับการกระทำของเราเลย ให้การกระทำของเรา เป็นไปในลักษณะที่ถูกต้อง ตรงตามความหมายของคำว่า “ธรรม” ซึ่งมีอยู่เพียงอย่างเดียวเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เป็นความถูกต้องตามธรรมชาติ และตามกฎของธรรมชาติเท่านั้น ไม่มีใครตั้งขึ้นมา ไม่มีใครบัญญัติขึ้นมา พระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งกฎข้อนี้ขึ้น พระพุทธเจ้าเสียอีกกลับทรงเคารพสิ่งที่เรียกว่าธรรม ท่านทั้งหลายคงจะได้ยินได้ฟังมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์เคารพพระธรรม แม้แต่บทสวดของเราที่สวดมนต์แปลอยู่เป็นประจำนี้ ก็มีบทๆ นี้ ที่สวดอยู่ว่า พระพุทธเจ้าในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี พระพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้ก็ดี ล้วนแต่เคารพธรรม สิ่งที่เรียกว่าธรรมเป็นสิ่งสูงสุด เห็นป่านนี้จึงเป็นสิ่งที่ผู้ใดไม่ควรกระทำเล่นๆ กับสิ่งที่เรียกว่าธรรมเลย ถ้าเป็นผู้มองเห็นธรรม และเข้าถึงธรรมได้ก็เรียกว่าไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และนับถือพระพุทธศาสนาหรือเป็นพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนา เพราะว่าเขาได้เป็นพุทธบริษัทในพระพุทธศาสนาจริง ในพระพุทธศาสนาแท้ ที่เป็นธรรมแท้ ไม่เกี่ยวกับนิกายเป็นต้น ดังที่กล่าวแล้ว ไม่มีทางที่จะเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูเป็นของกู ไม่มีทางที่จะเกิดความรู้สึกเป็นเรา เป็นเขา เป็นพวกนั้นพวกนี้ขึ้นมาได้แล้วก็มีการแข่งขันกัน ในทางที่จะให้ดีกว่ากัน หรือในทางที่จะเหยียดเขาว่าเลวกว่าเราดังนี้เป็นต้น ถ้าไม่มีคู่เปรียบกับใครก็เปรียบกันกับคนนั่งๆ นั่งอยู่ข้างๆ นั่นแหละ ว่าคนนี้มีธรรมะมากกว่าเราหรือน้อยกว่าเรา คนนี้สวดมนต์ได้น้อยกว่าเรา คนนี้ว่าอะไรผิดๆ ถูกๆ ไม่น่าฟังเลย สู้เราไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น เป็นตัวอย่างที่จะมีอยู่เป็นประจำไม่ว่าในที่ใด ทุกหนทุกแห่งไปทีเดียว ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าในสถานที่เช่นนั้น ในบุคคลเช่นนั้นสิ่งที่เรียกว่าธรรมไม่มีอยู่เลย หนีเตลิดเปิดเปิงไปทางไหนหมดแล้วก็ไม่รู้ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าธรรมจะอาศัยอยู่กับบุคคลชนิดนี้ไม่ได้ จะมีอยู่ในการคิดนึกเช่นนี้ไม่ได้ เมื่อมีเรามีเขาเมื่อไรแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรมจะไม่ได้มีอยู่เลย เพราะว่าธรรมนั้นไม่เป็นเราเป็นเขาได้แต่ประการใด เป็นเพียงสิ่งเดียว เป็นธรรมแท้ๆ เป็นของที่ไม่เป็นของใคร เป็นของที่เป็นตัวมันเอง จิตใจของเรา ร่างกายของเรา ถ้าไม่ประกอบด้วยธรรม มันก็เป็นของฝั่งโง่ เป็นของกิเลส จึงได้เป็นความทุกข์ขึ้นมา ถ้าทำให้เป็นธรรมให้ประกอบด้วยธรรมแล้ว มันก็กลายเป็นธรรมไป ไม่กลายเป็น ไม่ตั้งอยู่ในฐานะเป็นของเรา จะไม่เรียกว่ากายจะไม่เรียกว่าใจด้วยซ้ำไป แต่จะเรียกว่าธรรมคือเป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม ซึ่งเป็นเพียงธรรมชาติอย่างหนึ่งเท่านั้น ถ้ารู้สึกอย่างนี้แล้วมันก็ไม่มีเรามีเขาขึ้นมาที่ตรงไหนได้ มันจึงเป็นธรรมไปหมด เมื่อทั้งเนื้อทั้งตัวเป็นธรรมไปแล้วปัญหามันก็หมด คือไม่มีความทุกข์ที่เกิดมาจากอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น ส่วนใดส่วนหนึ่งว่าเป็นตัวเราหรือของเราแต่ประการใดเลย ถ้าเราจะทำอย่างนี้ไม่ได้ตลอดเวลา เราก็จงทำให้ได้ชั่วขณะที่เรากำลังเดินเวียนประทักษิณ เพื่อทำอาสาฬหบูชาอันเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่ง สำหรับพุทธบริษัทเถิด ก็ยังจะได้ชื่อว่าได้สิ่งที่ดีที่สุดแล้ว คุ้มค่ากันแล้วกับการที่เหนื่อยยากลำบากหมดเปลืองในการที่มาประชุมกันที่นี่ เพื่อทำการบูชาสูงสุดต่อสิ่งที่เรียกว่าธรรม สูงสุดจนถึงกับพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ก็ยังทรงเคารพพระธรรม ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว ควรจะมีปีติปราโมทย์ในการกระทำนี้ แล้วกระทำไปให้สุดความสามารถของตนด้วยกันจงทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาที่เป็นอารัมภกถาสำหรับอาสาฬหบูชายุติลงด้วยความสมควรแก่เวลาเพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้