แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา ของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียร ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงาม ก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลง ด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้ ปรารภอาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบกันอยู่แล้ว แต่ก็มี สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นพิเศษ ที่จะต้องทำความเข้าใจกัน เนื่องจากวันนี้เป็นวันที่ท่านทั้งหลาย หมู่หนึ่งก็มาจากที่ไกล มาสู่สถานที่นี้ และก็เพื่ออาสาฬหบูชานั่นเอง แต่ว่ายังมีส่วนที่จะต้องนึก เกี่ยวกับสถานที่นี้ บ้างเป็นพิเศษว่า ท่านมาถึงที่นี่ ท่านควรจะได้อะไร พูดกับต้นไม้ พูดกับก้อนหินเป็นหรือเปล่า เอาอะไรมาเท่าไร แล้วเอาไป กลับไปเท่าเดิม อย่างนั้นหรือเปล่า นี่แหละ นับว่าเป็น เออ, สิ่งที่น่าจะนึก หรือน่าจะพิจารณากัน
การที่มาถึงที่นี่ เราควรจะได้อะไรนั้น หมายความว่า อุตส่าห์ลำบากหมดเปลือง มาจนถึงที่นี่ มันจะได้อะไรที่จะคุ้มกัน โดยมากก็ไม่ได้นึกถึงข้อนี้กันนัก เพราะนึกเพียงอยากมา ได้มาแล้วมันก็หมดเรื่อง ไม่ค่อยนึกถึงว่า อืม, ควรจะได้อะไร เท่าไร อย่างไรจึงจะคุ้มกัน ที่จริงเรื่องนี้ก็เคยพูดกับบางคนมาแล้ว แต่ว่า ก็ยังมีอยู่เรื่อยไป อีกเรื่อยไป ที่ว่าบางคนยังไม่เคยได้ฟัง ว่าการมาที่นี่ควรจะได้อะไร ให้สมกับการมาที่นี่ ซึ่งมันคงจะไม่เหมือนกับที่อื่นบ้าง
เมื่อพูดถึงสถานที่นี้ มีชื่อที่ เรียกว่า สวนโมกขพลาราม แปลว่า ป่าเป็นกำลังแห่งโมกษะ คือ ความหลุดรอด คือ ความรอดพ้น ป่าไม้เป็นกำลังแห่งความรอดพ้น รอดพ้นจากอะไร ก็ควรจะรู้กัน ได้แล้ว ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท รอดพ้นก็รอดพ้นจากอุปาทาน อุปาทาน คือ เครื่องยึดถือ ผูกมัด รัดรึง นี้เป็นกำลังอย่างไร นี่แหละ เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องพูดกันมากสักหน่อย โดยเหตุที่ว่า สถานที่นี้จัดขึ้น โดยมีความมุ่งหมาย ไม่ใช่ว่าสักว่าทำ ๆ ไป โดยไม่ได้คิด ได้นึก หรือไม่มีความมุ่งหมายอะไรเป็นพิเศษ ความมุ่งหมายในที่นี้ ก็คือ ความรอดพ้น ทำให้รอดพ้น รอดพ้นจากอุปาทาน ส่วนการจัดสถานที่นั้น ก็คือ การจัดให้ช่วยอำนวยความสะดวก หรือว่าเพิ่มความสะดวก หรือว่าช่วยแวดล้อม ช่วยกระตุ้น ช่วยส่งเสริม ให้เกิดการ เออ, รอดพ้น
ทีนี้เราจะต้องนึกดูว่าความทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ก็ดี มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ แม้ว่าจะเรียกว่า ธรรมหรือพระธรรม มันก็ยังมีความหมายเป็นธรรมชาติอยู่นั่นเอง ไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ความทุกข์ก็ตาม เหตุให้เกิดทุกข์ตาม ความดับทุกข์ก็ตาม ทางถึงทางดับทุกข์ก็ตาม ล้วนแต่เป็นธรรมชาติ เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นการกระทำไป ตามหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ แล้วก็ได้รับผลตรงตามที่ธรรมชาติ มันจะอำนวยให้ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของธรรมชาติ ด้วยเหตุที่ธรรมชาติมีความสำคัญอย่างนี้ เราจึงมีหลักสำคัญ ในการที่จะจัดสถานที่นี้ คือ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ
เราจะนึกถึงพระพุทธเจ้ากันดูบ้าง ในข้อที่ว่า ท่านประสูติกลางพื้นดิน ท่านตรัสรู้กลางพื้นดิน ท่านแสดงธรรมจักร อย่างในวันเช่นวันนี้ ท่านก็แสดงกลางพื้นดิน แล้วท่านก็นิพพาน ปรินิพพานกลาง พื้นดิน เวลาส่วนมากของท่านก็อยู่กลางพื้นดิน จนตลอดพระชนมชีพ นี่แหละคือ การที่เป็นเกลอกับ ธรรมชาติมากที่สุด เราทั้งหลายก็ควรจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราควรจะรู้จัก ธรรมชาติให้ถูกต้อง แล้วก็เป็นเกลอกับธรรมชาติให้ถูกต้อง มันก็ไม่มีอะไรยากลำบาก ในการที่จะเข้าใจ ธรรมชาติ เข้าถึงธรรมชาติ และได้รับผลเต็มตามกฎของธรรมชาติ ดังนี้เป็นต้น
เดี๋ยวนี้ เราก็กำลังนั่งอยู่กลางพื้นดิน ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง ซึ่งแสดงว่า ใกล้ธรรมชาติ ใกล้ชิดกับ ธรรมชาติ หรือเป็น อ่า, มิตรสหาย เป็นเกลอกับธรรมชาติ ยิ่งกว่าที่จะไปนั่งบนศาลา หรือบนตึก เราเอาไอ้พื้นดินเป็นที่นั่ง มีต้นไม้เป็นเหมือนกับฝาเรือน มี อ่า, ใบไม้เป็นหมือนกับหลังคาเรือน มันก็ต้องผิดกันแน่นอน กับที่จะไปนั่งอยู่บนศาลา หรือโบสถ์ วิหาร ก็ตรงที่ว่า มันเป็นสิ่งที่ใกล้ชิด อ่า, ธรรมชาติที่สุด หรือว่าใกล้ชิดธรรมชาติมากกว่ากัน เมื่อธรรมะแท้ ๆ เป็นเรื่องของธรรมชาติ การใกล้ชิด ธรรมชาติ ก็สะดวกในการที่จะรู้ธรรมะ
ทีนี้เรามามองดูกันว่า มันมีความลับ หรือความสำคัญอยู่ที่ตรงไหน เรื่องนี้เป็นที่รับรองกันทั่วไปว่า สิ่งแวดล้อมนั้นมีอิทธิพลมาก สิ่งไรแวดล้อมอยู่อย่างไร มันก็ทำให้เกิดผลสมตามสิ่งความแวดล้อมของสิ่งนั้น เมื่อเราอยู่ในท่ามกลางความแวดล้อมของธรรมชาติ เราก็ถูกแวดล้อมไปในทางของธรรมชาติ มากกว่าที่จะ เป็นไปในทางฝืนธรรมชาติ เราก็ได้รับกำไร หรือมีการได้เปรียบโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อเรานั่งอยู่กับก้อนหิน ต้นไม้ กรวด ดิน อะไรเหล่านี้ ซึ่งเป็นธรรมชาติ ความคิดของเราก็จะต้องเป็น ไปในทำนอง ที่เข้ากันได้กับธรรมชาติ หรือตามที่ธรรมชาติ จะแวดล้อมให้คิดไป ให้นึกไป หรือให้รู้สึกขึ้นมา
ถ้าเรานั่งอยู่ เออ, บนบ้าน บนเรือน บนปราสาท บนสถานที่พิเศษ ซึ่งจัดขึ้นไกลจากธรรมชาติ สิ่งเหล่านั้นมันก็แวดล้อมจิตใจให้รู้สึก คิดนึกไปในทางอื่น ซึ่งไม่เหมือนกัน ความรู้สึกคิดนึกที่เกิดขึ้น ในจิตใจนั้น ๆ เรียกว่า เป็นผลที่เกิดมาจากธรรมชาติ แวดล้อมจากสิ่งที่แวดล้อม มันต่างกัน อ่า, อย่างที่เห็น กันได้ชัด ๆ ความรู้สึกที่รู้สึกขึ้นในใจเหล่านี้ เราเรียกอีกอย่างหนึ่ง เป็นทำนองเปรียบเทียบอุปมา ว่าเป็นคำพูด ของสิ่งนั้น ๆ เรานั่งไปที่ก้อนหินในที่สงบสงัด ความคิดบังเกิดขึ้นมา ตามอิทธิพลของสิ่งนั้น เราเรียกว่า ก้อนหินมันพูด แล้วเราก็ได้ยิน มักจะเป็นไปในเรื่องหยุด ๆ เออ, เย็น ๆ สงบ ไม่เดือดร้อนวุ่นวาย
แต่ถ้าเราไปนั่งอยู่บนปราสาท ที่จัดขึ้นเพื่อการบำรุงบำเรอ ความรู้สึกคิดนึก มันก็ไปในทางอื่น นั่นเราเรียกว่า เป็นคำพูดของปราสาท พูดกระซิบเรา ให้เรารู้สึกคิดนึก หรือต้องการไปตามนั้น ก้อนหินมัน ก็ต้องพูดไปอย่างหนึ่ง ฟูก เบาะ เมาะ หมอน พรม เตียงบนปราสาท มันก็ต้องพูดไปอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน อันไหนจะเป็นอย่างไร จะมีประโยชน์ต่างกันอย่างไร ก็ไปคิด เออ, ไปเดาเอาเองก็ได้
ส่วนในที่นี้ ต้องการแต่ท่าน ๆ ทั้งหลาย พูดแต่ต้นไม้ พูดกับก้อนหิน ก้อนดิน ก้อนกรวด มด แมลง นก หนู อะไรต่าง ๆ บรรดาที่มีอยู่ ในสถานที่นี้ จึงถามว่า พูดกับต้นไม้เป็นรึเปล่า พูดกับก้อนหินเป็นรึเปล่า หมายความว่า ท่านจะสามารถไปนั่งกับต้นไม้ ที่โคนต้นไม้ แล้วเกิดความรู้สึก คิด นึก อะไรที่มันดี มีประโยชน์ ไปในทางความดับทุกข์บ้างหรือเปล่า หรือไปนั่งกับก้อนหิน แล้วบังเกิดความรู้สึกคิดนึก เหมือนกับความหมายของก้อนหิน คือ สงบ เย็น หยุดนิ่ง ไม่วิ่งวุ่น ไม่วิ่งว่อน เป็นต้นหรือเปล่า
ถ้าหากว่า สามารถไปนั่งที่นั่นแล้ว เกิดความรู้สึก ความรู้แจ้ง ความเห็นจริง ความอะไรขึ้นมาในใจ มีประโยชน์แก่การดับทุกข์แล้ว ก็เรียกว่า ท่านได้ยินต้นไม้ ก้อนหินมันพูด แล้วท่านก็พูดกับต้นไม้ ก้อนหิน ตอบ คือ คิด นึก ทบทวน ศึกษา เออ, กันเรื่อยไป อย่างนี้เรียกว่า พูดกับต้นไม้เป็น พูดกับก้อนหินก็เป็น แล้วลองคิดดูต่อไปว่า มันมีประโยชน์หรือมีราคา มีคุณค่ากับอะไร กับคนที่ไม่สนใจ เออ, ที่จะพูดกับต้นไม้ หรือก้อนหิน หรือว่าต้นไม้ ก้อนหิน มันจะร้องตะโกนศัพท์อะไรก็ไม่ได้ยิน เป็นคนยิ่งกว่าหูหนวก หูหนัก อย่างนี้มันจะต่างกันอย่างไร
การมาที่นี่ ถ้าต้องการจะเอาประโยชน์ ซึ่งมีให้โดยเฉพาะ จากสถานที่นี่แล้ว มันก็มีแต่สิ่งนี้เท่านั้น สิ่งอื่นไม่มี และไม่ใช่ความมุ่งหมายของสถานที่นี้ ท่านมาที่นี่ท่านควรจะได้อะไร อาตมาบอกว่า ควรจะได้ยิน ก้อนหินพูด ต้นไม้พูด เรื่องความหยุด ความสงบ ความไม่อยากเอาอะไร ไม่อยากเป็นอะไร ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น อยู่อย่างเป็นอิสระ มีอำนาจเหนือสิ่งนั้นดีกว่า ธรรมชาติพูดอย่างนี้เสมอ ไม่ว่าธรรมชาติ อะไร โดยเฉพาะก้อนหิน ต้นไม้ นี่ยิ่งพูดดังกว่า พูดชัดกว่า สิ่งอื่น ๆ ในข้อที่ว่า ไม่มีอะไรที่น่าเอา ไม่มีอะไร ที่น่าเป็น ไม่ควรจะยึดมั่นถือมั่นสิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยความเป็นตัวเราหรือเป็นของเรา นี้ก็เป็นความมุ่งหมาย ของพระธรรมอันหนึ่ง ที่จะแสดงตัวเอง แก่มนุษย์ทางก้อนหิน ทางต้นไม้ ทางอะไร ที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ ไม่มีการปรุงแต่ง นั้นขอให้ท่านทั้งหลายทุกคน ได้รับสิ่ง ๆ นี้กลับไป
ทีนี้ถามว่า เอาอะไรมาเท่าไหร่ เอากลับไปเท่าเดิมอย่างนั้นหรือ หมายความว่า มีความยึดมั่นถือมั่น ตัวก ูของกู มาในลักษณะอย่างไรและเท่าไร เอามาแล้วไม่รู้จักทิ้งไว้เสียที่นี่บ้าง เอากลับคืนไปหมดตามเดิม เท่าเดิมอย่างนั้นหรือ อย่างนี้มันยังมีปัญหาที่ว่า เออ, มันจะมองกันในแง่ไหน ขอพูดตรง ๆ ว่า เอาความโง่ ติดตัวมาเท่าไร แล้วจะไม่สมัครใจทิ้งไว้ที่นี่เสียบ้างเชียวหรือ จะเอากลับไปบ้านหมดตามเดิมอย่างนั้นหรือ ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ตรงกับความประสงค์ของการมีสถานที่นี้ คือ สวนโมกขพลาราม ป่าไม้เป็นกำลังแห่งโมกษะ เพราะว่าจัดไว้ เป็นที่สำหรับทิ้งความโง่ สำหรับทิ้งความหลง สำหรับทิ้งความยึดมั่นถือมั่น
เข้ามาที่นี่แล้วช่วยทิ้งกันไว้ที่นี่ให้มาก ๆ อย่าเอากลับไปบ้านเท่าเดิม นี่ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ตามใจ แต่ความประสงค์ของเราที่นี่มีอย่างนี้ จึงถามว่าเอามาเท่าไหร่ จะเอากลับไปเท่าเดิมเชียวหรือ ถ้าหากว่า ได้พูดกับต้นไม้บ้าง ได้พูดกับก้อนหินบ้าง ก็คงจะทิ้งไว้ที่นี่บ้าง ไม่เอากลับไปเท่าเดิม เพราะว่าต้นไม้นั้น มันขอร้อง มันบอกความจริง แล้วมันขอร้อง ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ควรเอาไว้ ไม่ควรมีไว้ เป็นการถาวร หลงใหลมัวเมาชั่วครู่ชั่วยาม ก็เป็นความดีแล้ว รู้สึกขึ้นมาก็ระบายออกไป ระบายออกไป ก้อนหินเป็นตัวอย่างของความสงบเย็น ถือเป็นภาพความหมายของความสงบเย็น เพราะว่า มันไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไรเป็น มันจึงสงบเย็น
คนนี่ร้อน ร่างกายก็ร้อน ใจก็ร้อน เพราะว่า เต็มไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น หรือว่าถูกยึดมั่นถือมั่น อีกทีหนึ่ง มันเป็นเรื่องตรงกันข้ามทีเดียวกับธรรมชาติ ธรรมชาติเดิมแท้นั้นมันหยุด มันเย็น มันสงบ คือ มันยังไม่ทันจะปรุงแต่ง แต่ถ้าธรรมชาติใหม่ ๆ นี้ ล้วนแต่เป็นการปรุงแต่ง ปรุงแต่งอย่างนั้น ปรุงแต่งอย่างนี้ ค่อยไกลธรรมชาติเดิมออกไปทุกที มันจึงกลายเป็นสิ่งตรงกันข้าม ถ้าของเดิมเป็นเรื่องเย็น ของใหม่ก็ต้องเป็นของร้อน อย่างนี้ เป็นต้น
หวังว่าท่านทั้งหลายจะมองดูกันในแง่นี้บ้าง ว่าธรรมชาติแท้จริงนั้นเป็นอย่างไร ธรรมชาติใหม่ ๆ หลอก ๆ จนเสีย สูญเสียธรรมชาติไปนั้น มันเป็นอย่างไร ถ้าที่อื่นไม่สะดวกที่จะดูหรือจะคิด ก็ที่นี่คงจะ สะดวกบ้าง เพราะว่าเราได้ขวนขวายกันถึงที่สุดแล้ว ที่จะคงสภาพธรรมชาติต่าง ๆ ไว้ให้มากได้ ต้นไม้ ก้อนหิน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านก็ดูเอาเอง ว่าเราได้พยายามอย่างไร ที่จะคงสภาพตามธรรมชาติไว้ นับกระทั่งถึงมด แมลง นก หนู สัตว์เล็ก ๆ น้อย ๆ ต่าง ๆ ตามที่มีอยู่ ก็พยายามจะรักษาไว้ ให้มีอยู่ ตามธรรมชาติเหมือนกัน
สิ่งเหล่านี้ เออ, ทุกอย่างนี้ จะบอกให้เราได้ ว่าตามธรรมชาตินั้นเป็นอย่างไร ผิดจากธรรมชาตินั้น เป็นอย่างไร และบางทีมันจะร้องเอาด้วยซ้ำไป หรือยิ่งกว่านั้นมันคงจะด่าเอาบ้าง เหมือนกับลิงล้างหูใส่หน้า คน หรือว่าสุนัขด่าคน ว่าความเป็นคนมันเป็นอย่างนี้เอง นี่แหละ ระวังดูให้ดี ๆ ว่าไอ้สิ่งที่เรามองข้ามกันเสีย ไปหมด ไม่ค่อยสนใจนั้น มันมีความหมายมาก ท่านจะคิดว่าก้อนหินนี้ มันช่างโง่เป็นก้อนหินเสียเหลือเกิน มนุษย์เป็นผู้ที่เก่งกล้าสามารถอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ไม่สนใจกับก้อนหิน
แต่ถ้ามองกันอีกทางหนึ่งแล้ว ก้อนหินมันมีอะไรที่ไม่เป็นอย่างนั้น คือ มันก็พูดเป็น แต่มันพูดอีก ภาษาหนึ่ง ที่คนฟังไม่รู้เรื่อง อย่างน้อยมันก็คงจะหัวเราะเยาะคนที่กำลังมีจิตใจร้อนเป็นไฟ ยึดมั่นถือมั่น อะไรเข้าไว้มาก ๆ จนรู้จักแต่ความทุกข์อย่างเดียว มองดูคนที่ไม่มีความทุกข์ไม่ออก เช่น มองดูก้อนหิน มองดูต้นไม้ไม่ออก ว่าต้นไม้นี่ ก้อนหินนี่ มันจะทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อมันไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ถึงมันจะมี ความรู้สึกอยู่ มันก็ไม่ได้มีความยึดมั่นถือมั่น เหมือนที่คนยึดมั่นถือมั่น ต้นไม้มันอาจจะรู้สึกร้อน หนาว หรือว่าหิว กระหายอะไรได้เหมือนกัน แล้วมันก็จะทำอะไรไป ตามที่ธรรมชาติมีอยู่เพียงเท่านั้น ไม่ทำด้วย ความยึดมั่นถือมั่น จะหาอาหาร จะกินอาหาร หรือจะทำอะไรมันก็ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เหมือนมนุษย์ หาอาหาร หรือกินอาหาร หรือสะสมอาหารไว้
เมื่อเป็นดังนี้แล้ว เราอาจจะกล่าวได้ว่า ต้นไม้ก็หาอาหาร กินอาหาร มนุษย์ก็หาอาหารและกินอาหาร แต่แล้วมันก็ไม่เหมือนกัน อันหนึ่งมันร้อนเป็นไฟอยู่ตลอดเวลา อันหนึ่งมันเย็นเป็นน้ำอยู่ตลอดเวลา และใครจะเป็นอย่างไร ทำไมไม่มาปรึกษากันดูบ้าง นี่แหละ ควรจะมองดูว่าถ้ามนุษย์ร้อนเป็นไฟ มานั่ง อยู่ข้างก้อนหินก้อนนี้ ก้อนหินมันก็จะชวนกันหัวเราะเยาะอยู่ในใจว่า ช่างเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์อะไรกัน มีความร้อนอยู่เป็นประจำ นี่ทำไมไม่รู้จักเจ็บ ไม่รู้จักอาย อย่างนี้ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ไอ้ก้อนหินก็ตาม ต้นไม้ก็ตามที่มีไว้ จัดไว้เหล่านี้ มีไว้สำหรับท่านทั้งหลาย จะได้รับ ประโยชน์ เออ, ชนิดที่จะหาไม่ได้ง่ายนัก แต่ให้ที่นี้ จะให้ความสะดวก สำหรับจะพูด จะปรึกษาหารือ กับต้นไม้ กับก้อนหินกันเสียบ้าง ปะเหมาะเข้าก็จะรู้สึกละอาย แก่ก้อนหินหรือต้นไม้บ้าง แล้วจะรู้สึกกลัว ต่อความทุกข์บ้าง แล้วก็จะพยายามเอาอย่างต้นไม้ เอาอย่างก้อนหินนั่นเอง ในการที่จะไม่มีความร้อน
ถ้าเป็นอย่างนี้ เป็นการยืนยันได้ว่า เอาความโง่ติดมา ๓ กระบุง ทิ้งไว้ที่นี่เสีย ๒ กระบุง เอากลับไป บ้านเพียงกระบุงเดียว ได้กำไรหรือขาดทุน มันแล้วแต่จะมอง คนหนึ่งอาจจะมองไปในแง่ขาดทุนก็ได้ เพราะเหลือกลับไปน้อย อีกคนหนึ่งอาจจะมองไปในแง่ว่าได้กำไรมาก นี่คือข้อที่ท่านทั้งหลายที่มาที่นี่ ทุกพวก ทุกครั้งจะต้องนึก จะต้องคิด จะต้องสนใจ ว่าท่านควรจะได้อะไรจากการมาที่นี่ ว่าพูดกับต้นไม้ กับก้อนหินเป็นหรือเปล่า ว่าเอาอะไรมาเท่าไร เอากลับไปเท่าเดิมหรือเปล่า ถ้าหากว่า ตอบปัญหาเรื่องนี้ได้ หรือจัดการกับสิ่ง ๆ นี้ได้ โดยถูกต้องตามความประสงค์ของสถานที่นี้แล้ว ก็คงจะได้อะไรมากทีเดียว ไม่เพียงแต่ได้ทัศนาจร เหมือนกับที่เขามา ๆ กัน มาทัศนาจร ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ไม่คุ้มค่าความ เหน็ดเหนื่อย หรือหมดเปลือง เพราะไปทัศนาจรที่อื่น ที่ใกล้ ๆ และก็สะดวกสบายกว่านี้ ก็ยังดีกว่า
ส่วนความประสงค์ของการทัศนาจรในสถานที่นั้น ในสถานที่นี้นั้น ต้องการให้เป็นทัศนาจร ในทางจิต หรือทางวิญญาณ คือ ให้จิตใจมันเดินลึกลงไปถึงธรรมชาติ ให้รู้ความหมายของธรรมชาติ อะไร ๆ ที่เป็น ความจำเป็นจากธรรมชาติ ที่มนุษย์จะต้องรู้จะต้องได้นั้น นั่นแหละ จึงจะเรียกว่า เป็นผู้ทัศนาจร มีการทัศนาจรในทางวิญญาณ จึงได้ผลในทางจิตในทางวิญญาณ คือ มีความรู้ ความแจ่มแจ้ง ความสะอาด สว่าง สงบ อะไรขึ้นมา นี้เป็นข้อแรก หรือสิ่งแรก ที่จะพูดกับท่านทั้งหลาย ทุกพวก ทุกครั้งที่มา
ทีนี้เรื่องต่อไป ก็คือ เรื่องวันอาสาฬหบูชา ในการที่ท่านมา เพื่อทำอาสาฬหบูชาที่นี่ ท่านก็จะต้องรู้ ให้ดีสักหน่อยว่า อาสาฬหบูชานั้น มันคืออะไรกันแน่ โดยมากก็เข้าใจเอาเองว่า เป็นพิธีอย่างหนึ่ง แล้วเราก็ไป ร่วมทำพิธีกับเขาให้เสร็จ ๆ ไป อย่างน้อยเราก็ได้รับความสบายใจที่ได้ทำพิธี แล้วก็เหมาเอาเองว่า ได้บุญมากมายนับไม่ไหว คำนวณไม่ไหว เท่านี้พอแล้ว แล้วก็เท่านี้เป็นส่วนมาก ที่จริง เออ, เราควรจะทำอะไร ให้ได้ประโยชน์มากออกไปกว่านั้น โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติม ข้อนี้ก็ได้แก่การที่ มีความรู้ มีความเข้าใจ ในเรื่องอาสาฬหบูชานี้ ให้มากออกไปกว่า ที่แล้ว ๆ มา จนกระทั่งถึงรู้ถึงที่สุดว่า มันเป็นอะไร
สำหรับวันนี้ เรียกโดยชื่อก็เรียกว่า วันอาสาฬหปุรณมี คือดิถีที่เป็นที่เต็มแห่งพระจันทร์ ในเมื่อมัน เสวยอาสาฬหฤกษ์ จึงเรียกว่า อาสาฬหปุรณมี วันเพ็ญในเดือนอาสาฬหะ พูดอย่างนี้ มันเป็นเรื่องปฏิทิน ยังไม่ใช่เรื่องของพุทธศาสนา คือ มันบอกแต่เพียงว่า ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนอาสาฬหะ ถ้าจะให้เป็น เรื่องทางศาสนาขึ้นมา เราเรียกวันนี้ว่า วันพระธรรม เราเรียก วันเพ็ญวิสาขะ ว่าวันพระพุทธเจ้า
เรียก วันเพ็ญอาสาฬหะ ว่าวันพระธรรม เรียก วันเพ็ญมาฆะว่า วันพระสงฆ์ เรื่องนี้บางคนก็ไม่ยอมรับ นับถืออย่างนี้ แต่อาตมามีความเห็นอย่างนี้ ใครจะ อ่า, เห็นเหมือนกันหรือไม่ก็ตามใจ ที่ว่าวันวิสาขบูชา เพ็ยเดือนหก เป็นวันพระพุทธเจ้านั้น พอพูดขึ้น ก็คงจะไม่มีใครค้าน เพราะว่าเพ็ญวันนั้น เป็นวันที่ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน นั้นจึงเป็นวันพระพุทธเจ้าไปได้ทันที
ส่วนวันอาสาฬหะ วันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ คือ เดือน ๘ นี้ อาตมาถือว่า เป็นวันพระธรรม ไม่ใช่ว่า เพราะว่ามัน เป็นวันถัดมา ต่อมาจากวันวิสาขะ แล้วก็จะเรียกว่า วันพระธรรมอย่างนี้ไม่ใช่ หรือไม่เชิง ที่เรียก วันนี้วันพระธรรม ก็เพราะว่า เป็นวันที่พระองค์ทรงแสดงธรรม เป็นครั้งแรก จนเราเรียก การแสดงนี้ว่า ธัมมจักกัปปวัตน คือ การยังธรรมจักรให้เป็นไป เป็นวันที่ทรงแสดงอริยสัจ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็น หลักธรรมสำคัญ ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ แล้วก็นำมาแสดงในวันนี้ ดังนั้นจึงถือวันนี้ว่า เป็นวันพระธรรม
ต่อไปอีก จนถึงเดือน ๓ ก็เป็นวันที่ทรงประชุมสงฆ์ตั้ง ๑๒๕๐ องค์ ล้วนแต่บรรดาได้เข้าถึง พระธรรมนั้นแล้ว แล้วพระองค์ทรงย้ำโอวาทปาติโมกข์ ให้เป็นคำพูดสั้น ๆ เป็นหัวใจของพระธรรมทั้งหมด แก่พระสงฆ์ ๑๒๕๐ รูปนั้น ซึ่งมาประชุมกันเป็นครั้งแรก อาตมาจึงเห็นว่า ควรจะเรียกวันนั้นว่า เป็นวันพระสงฆ์ คือ พระสงฆ์ได้ประดิษฐานคณะสงฆ์ขึ้นในโลก เป็น เออ, ปึกแผ่นครั้งแรกในวันนั้น
ดังนั้น เราจึงได้วันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธ วันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันพระธรรม และวันมาฆบูชานั้น เป็นวันพระสงฆ์ ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตามใจ แต่ว่าเหตุผล ที่อาตมาอยากจะให้ท่านทั้งหลาย ไปคิด ไปนึกนั้น มันมีอยู่อย่างนี้จริง ๆ
สมมุติว่า ท่านทั้งหลายเชื่อตามที่อาตมากล่าว ก็เป็นอันว่า เราจะถือว่าวันนี้เป็นวันพระธรรม เดี๋ยวนี้ เรามานั่งอยู่ที่นี่ในฐานะที่เป็นวันพระธรรม มาที่สวนโมกข์ให้ตรงกับวันนี้ ก็เพื่อจะมีวันพระธรรม ที่สวนโมกข์ด้วยกันสักวันหนึ่ง และเดี๋ยวนี้ก็กำลังเป็นอย่างนั้นแล้ว แล้วท่านก็ต้องระวังดูให้ดี ๆ ว่า วันพระธรรมวันนี้ ก็ให้เป็นวันพระธรรมกันจริง ๆ อย่าให้เป็นไปแต่ปาก หรือให้เป็นไปอย่างละเมอ ๆ ถ้าจะให้เป็นวันพระธรรมกันจริง ๆ ก็จะต้องทำอย่างไร มันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่า ที่จะทำอะไร ๆ ให้ตรงกับความประสงค์ หรือวัตถุประสงฆ์ของการมีสวนโมกข์ ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง เป็นเกลอกับธรรมชาติ ได้ยินก้อนหินพูด ได้ยินต้นไม้พูด มันพูดว่าอะไร มันพูดว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เหมือนที่ พระพุทธเจ้าท่านพูด ว่าธรรมชาติโดยบริสุทธิ์แล้วมันพูดอย่างนี้ทั้งนั้น ก้อนหินก็แสดงอาการที่ไม่ยึดมั่น ถือมั่นอะไร อาการที่แสดงออกมานั่นแหละ คือ คำพูดของมัน นั้นเราต้องฟังและได้ยิน และรู้ว่า มันก็พูดว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เหมือนที่พระพุทธเจ้าพูด
ที่เรามานั่งใกล้ก้อนหิน ต้นไม้ ก้อนดินอะไรในวันนี้ ได้ยินสิ่งนี้พูด ว่าอย่างนี้แล้ว ก็ดูเหมือนจะ พอแล้ว ว่าวันพระธรรมของเรานั้น มีความหมาย เพราะว่าพระธรรมนั้นไม่มีอะไร มากไปกว่าความไม่ยึดมั่น ถือมั่น พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนั้นว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง อันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน หรือว่าของตน เดี๋ยวนี้ เราเป็นวันพระธรรม เราก็ต้องมี พระธรรม คือ มีธรรมข้อนี้กันจริง ๆ ถ้าที่อื่นหรือเวลาอื่นเรามีไม่ได้ เดี๋ยวนี้ เราต้องมีให้ได้ นั่งอยู่ที่นี่ ในลักษณะอย่างนี้ ในวันเช่นนี้ เราต้องมีให้ได้ ถ้าไม่อย่างนั้น มันไม่เป็นวันพระธรรม มันก็เป็นวันอื่น ไปเสียอีก
ถ้าอย่างไร เจอกันเข้าในวันนี้ คือ วันพระธรรมกันจริง ๆ สักทีเถิด คือ มีความตั้งอกตั้งใจให้ดี ๆ ระมัดระวังในข้อที่ว่า อย่าได้เกิดความยึดมั่นถือมั่นใด ๆ ขึ้นมาในวันนี้เลย จงนึกถึงความน่าละอาย อ่า, ความน่ากลัวในการที่จะไปยึดมั่นถือมั่น สิ่งใดว่าตัวกู ว่าของกู โดยว่าโดยที่แท้แล้ว ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกูของกู นั่นแหละ ทำให้ถูกสุนัขด่า ทำให้ถูกลิงด่า หรือถูกอะไร ๆ ด่า อ่า, ไปหมด ว่ามนุษย์นี้มีแต่ ความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวกู ว่าของกู ไม่มีอะไรบริสุทธิ์สะอาด ที่ตรงไหนเลย
เดี๋ยวนี้ วันหนึ่ง คืนหนึ่งนี้ เรียกว่า เป็นวันพระธรรมแล้ว ช่วยกันชำระชะล้าง อย่าให้เกิดสิ่งที่ไม่ใช่พระธรรมขึ้นมาในจิตในใจ กล่าวคือ ความยึดมั่นถือมั่น แต่ให้มีพระธรรม คือ ความไม่ยึดมั่นถือมั่น อยู่เป็นประจำ แล้วเอิบอาบ ซึมซาบ เยือกเย็นอยู่ ด้วยรสของพระธรรมนั้นเถิด ถ้าทำอะไรไม่เป็น ก็ทำตาม อย่างก้อนหิน ต้นไม้ก็แล้วกัน ไปหาที่สงบแล้ว นั่งดูมัน ว่ามันแสดงอาการอย่างไร แล้วก้มหูลง อ่า, ฟังมัน ว่ามันพูดอย่างไร แล้วก็พยายามทำตามที่มันพูด หรือมันแสดงให้ดู ก็จะถูกต้องตามครรลองของพระธรรม ทุกอย่าง ทุกประการโดยไม่ต้องสงสัยเลย นี่แหละ มันสะดวกดาย ง่ายดายหรือเปล่า ในการที่จะมี วันพระธรรม กันที่นี่ ในลักษณะแห่งความใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างนี้ ซึ่งเป็นการจัดไป ตามวัตถุประสงค์ ของการมีสวนโมกข์ ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้
วันอาสาฬหปุรณมี ในทางศาสนา มีความหมายว่า เป็นวันพระธรรมในลักษณะอย่างนี้ วันนี้จึง กลายเป็นวันทางศาสนาขึ้นมา ไม่ใช่เป็นวันในปฏิทินแล้ว เมื่อเป็นวันทางศาสนาขึ้นมาแล้ว ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ สำหรับ เออ, ที่จะเป็นเครื่องระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือว่าจะเป็น เครื่องตักเตือนตนด้วยตน หรือว่าจะเป็นการเอาชนะ สิ่งซึ่งเป็นข้าศึกไปได้ ถ้าเราจะเรียกกันอย่าง ภาษาชาวบ้าน เดี๋ยวนี้ ซึ่งเขาชอบ เรียกกันว่า ชัยชนะ ชัยชนะ แม้ว่าคำนี้จะเป็นคำพูด ที่พูดไปด้วย ความยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็เป็นคำที่มีความหมายดีอยู่ ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกวิธี มันก็จะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ เพราะว่า ชนะนั้นดีกว่าแพ้แน่นอน แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนไปอีกอย่างหนึ่ง ว่าอย่ารู้จักแพ้ อย่ารู้จักชนะเลย ให้อยู่เหนือความแพ้และความชนะ เสมอไป นั่นแหละ คือ ความหมายของคำว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่น
แต่เดี๋ยวนี้ สมมุติว่า เราอยู่กับพวกคนที่เค้า ยังไม่ถึงขนาดที่จะอยู่เหนือแพ้และชนะ ยังต้องการชนะกันอยู่ ก็เอาพลอยชนะกับเขาไปด้วยก็ได้ แต่ว่าชนะให้มันถูกทาง ให้มันเป็นชนะจริง ๆ วันพระธรรมก็เป็น วันชนะ ชนะอะไร ก็ชนะข้าศึก อะไรเป็นข้าศึกที่สุด ก็คือ กิเลส หรือความยึดมั่นถือมั่น ด้วยความเขลา ความหลงว่า "เรา" ว่า "ของเรา" นั่นเอง ชนะสิ่งนี้ได้เป็นการชนะทั้งหมด และชนะประเสริฐที่สุดด้วย วันนี้ต้อง เป็นวันชนะ วันพระธรรมต้องเป็นวันชนะ คือ พระธรรมชนะแก่อธรรม หรือว่าความดับทุกข์ชนะ ความทุกข์ ก็เหมือนกันหมด คือมีความหมายเหมือนกันหมด
ทีนี้ มีเรื่องที่น่านึกอยู่เรื่องหนึ่ง เมื่อวันในระยะนี้ มันคล้องกับสมัยที่ว่า มนุษย์สามารถไปดวงจันทร์ แล้วกลับมาได้ เค้าตะโกนกันทั่วโลก อย่างระบือลือชากันทีเดียวว่า ชัยชนะของมนุษย์ ชัยชนะของ มนุษย์ ชัยชนะสูงสุดของมนุษย์ ไม่เชื่อก็ไปฟังดูทางวิทยุ ทางทีวี ทางอะไรต่าง ๆ เถอะ ก็ได้ยินแต่คำว่า ชัยชนะของมนุษย์ ส่วนคนที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ฟังวิทยุ ก็ไม่รู้ก็ตามใจ แต่ว่ามนุษย์ ส่วนมากในโลก เวลานี้ พูดถึงชัยชนะของมนุษย์ที่ไปดวงจันทร์ได้ จะเรียกว่า ชนะดวงจันทร์ นี้มันก็แสดงว่า มนุษย์นี้ก็มัวเมา ในชัยชนะ ต้องการชัยชนะ พอมองเห็นลู่ทางที่จะ พูดออกมาได้ว่า ชนะ ชนะแล้ว ก็เป็นพูดทันที แล้วก็พูดกันมาก พูดกันอย่างยิ่งว่าชัยชนะของมนุษย์ บางคนพูดไปถึงว่า ชนะดวงจันทร์ พิชิตดวงจันทร์ได้ อะไรทำนองนี้ ก็ล้วนแต่เป็นชัยชนะของมนุษย์
ทีนี้ เราก็มาพอดีกันเข้ากับวันนี้ซึ่งเป็นวันพระธรรม เป็นวันชนะของมนุษย์เหมือนกัน นี่ อาตมา ขอเถียง ขอแย้ง ขอทวงสิทธิอะไรก็ตามใจ วันนี้เป็นวันชัยชนะของมนุษย์เหมือนกัน พวกนั้นเขาพูดว่า ไอ้วันที่ไปดวงจันทร์ได้นั้น ก็เป็นวันแห่งชัยชนะของมนุษย์ มันเลยมาพบกันเข้าว่า ชัยชนะของมนุษย์ นี้ มันยังไงกันแน่ อาตมาถือว่าวันที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ ชนะกิเลส เอาธรรมะนี้มาสอนให้มนุษย์ ปฏิบัติตามได้ นี่แหละคือ วันชนะของมนุษย์ โดยเฉพาะ คือ วันอาสาฬหบูชานี่เอง อาตมาถืออย่างนี้
นี่พวกหนึ่งเค้าถือว่าชนะสูงสุดของมนุษย์ คือ ไปดวงจันทร์ได้ แล้วก็พึ่งมีไม่กี่วันนี่เอง นี่ท่านทั้งหลายจะเอาอย่างไหน จะเอาชัยชนะอย่างไหน หรือจะเห็นด้วยกับฝ่ายไหน จะร่วมวง ร่วมมือกันกับฝ่ายไหน ดู ๆ ไป ก็คล้าย ๆ กับว่า สมัครเข้าพวกไปดวงจันทร์เสียมากกว่า อ่านหนังสือพิมพ์กัน เป็นยกใหญ่ ดูทีวีกันยกใหญ่ ฟังวิทยุกันยกใหญ่ ถ้าร่วมแรงกันกับพวกไปดวงจันทร์ทั้งนั้น ก็หมายความว่า คนเหล่านั้น กำลังหลงชัยชนะของมนุษย์ ในทางวัตถุ คือ ไปดวงจันทร์นั่นเอง
เป็นที่น่านึกน่าคิด แล้วก็คิดต่อไปว่า มันน่าหัวเราะ หรือว่ามันน่าบูชาเลื่อมใสอย่างไร กันแน่ ดู ๆ มันออกจะสับสนกันไปหมด บางทีก็เป็นพุทธบริษัท เป็นพระ เป็นเณรด้วยซ้ำไป ก็พลอยไป ชัยชนะ ของมนุษย์ที่ดวงจันทร์นั้น ด้วยเหมือนกัน ลืมพระพุทธเจ้า ลืมพระธรรม ลืมพระสงฆ์ไปหมดเลย ไม่รู้ว่าชัยชนะของมนุษย์ และเป็นชัยชนะสูงสุด และแท้จริงนั้น มันอยู่ที่ไหน ถ้ายอมรับชัยชนะด้วยกัน ทั้งสองฝ่าย มันก็ต้องแบ่งแยกกันว่า เป็นชัยชนะทางวัตถุอย่างหนึ่ง และก็เป็นชัยชนะทางจิตใจอีกอย่างหนึ่ง การไปดวงจันทร์ได้ และชนะดวงจันทร์ได้นั่น มันก็คือ ชนะทางวัตถุ เพราะว่าดวงจันทร์นั้นเป็นวัตถุ และความประสงค์ของผู้ที่จะไปดวงจันทร์ ก็เป็นเรื่องทางวัตถุล้วน ๆ ถึงชัยชนะที่ไปดวงจันทร์ได้ เป็นชัยชนะทางวัตถุ ชนะวัตถุดูมันก็น่าหัว เพราะมันไม่เกี่ยวกับความทุกข์ ความทุกข์นั้นมันเป็นเรื่องจิตใจ ทีนี้เราต้องการสันติภาพ สันติภาพมันเป็นเรื่องของจิตใจ แล้วจะไปชนะดวงจันทร์ซึ่งเป็นวัตถุ มันจะเข้ารูป กันได้อย่างไร ก็ลองไปคิดดู
ในที่สุดก็ต้องหันมามองกัน ในแง่ในทางจิตทางใจ ในทางวิญญาณว่า ความชนะก็ตามสันติภาพก็ตามมันต้องเป็นเรื่องทางจิตใจ เพราะฉะนั้น วันนี้น่าสนใจกว่าไปดวงจันทร์ตั้งหลายร้อย หลายพันเท่า ถ้าเราจะตั้งคำถามขึ้นมาได้ง่าย ๆ ว่า อะไรจะนำมาซึ่งสันติภาพ? ชัยชนะชนิดไหนจะนำมาซึ่งสันติภาพ? ชัยชนะกิเลส ชัยชนะต่อกิเลส ชนะตัวเอง บังคับตัวเองได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่มีกิเลสอีกต่อไป นี้เรียกว่าชนะของมนุษย์สูงสุด นำมาซึ่งสันติภาพหรือไม่ ถ้าไปดวงจันทร์ได้นั้น มันนำมาซึ่งสันติภาพ หรือไม่
อาตมาเห็นว่า การไปดวงจันทร์ได้ ยังไม่นำมาซึ่งสันติภาพ แล้วเป็นการพ่ายแพ้แก่ดวงจันทร์ แล้วการกระทำนี้ เป็นการกระทำเพื่อขู่ขวัญกัน เพื่ออวดฝีมือกันในโลกนี้ เป็นอย่างมากเท่านั้นเอง แล้วมันจะนำมา ซึ่งสันติภาพอย่างไร ความรู้สึกของเราที่เป็นพุทธบริษัท รู้สึกว่านี่แหละ คือ วันที่พ่ายแพ้แก่ดวงจันทร์ถึงที่สุดแล้ว เมื่อก่อนนี้ดวงจันทร์ยังไม่ทำอะไร ให้เราลำบากมากเหมือนอย่างนี้ ไม่เสียเวลามาก เหมือนอย่างนี้ ไว้ดูเล่นสวย ๆ ในท้องฟ้า ในลักษณะที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็เรียกว่า พระจันทร์ ดวงจันทร์นั้น เราไม่ได้เรียกว่า ดวงจันทร์ เราเรียกว่า พระจันทร์ ใส่คำว่า พระ เข้าไปให้ มันก็เป็นเรื่องสูง เรื่องประเสริฐ เรื่องอะไรไปทีเดียว ไม่ได้เคยไปแตะต้องกับพระจันทร์ พระจันทร์ก็ยังไม่ทำอะไรแก่ใครมาก
เดี๋ยวนี้คนเก่งขึ้นทุกที ขึ้นทุกที ก็ยอมลำบาก ยอมหมดเปลือง ยอมเป็น ยอมตาย ยอมอะไร ทุกอย่าง ที่จะไปถึงพระจันทร์ให้ได้ แต่เมื่อไปถึงได้ก็จริง ก็เรียกว่า ชนะพระจันทร์ เพราะว่าเขาไปได้ แต่ถ้าได้มองดู อีกแง่หนึ่งแล้วว่า ข้อที่เราพ่ายแพ้แก่กิเลสมาก ถึงขนาด เออ, ลงทุนลงแรง ยอมเหน็ด ยอมเหนื่อย อะไรทุกอย่าง ไปจนถึงพระจันทร์ได้นั้น มันเป็นความพ่ายแพ้แก่พระจันทร์ คือ ว่าพระจันทร์เป็นฝ่ายทำ ให้มนุษย์นี้ต้องมีความทุกข์ ที่เรียกว่า ทุกโข นำมาซึ่งทุกข์ เรื่องไปดวงจันทร์นี้ เป็นเรื่องนำมาซึ่งความลำบาก อะนะริโย (นาทีที่ 45:43) ไม่เป็นของ ๆ พระอริยเจ้า คือ พระอริยเจ้าไม่เคย พยายามไปดวงจันทร์ ให้เหน็ดเหนื่อย เสียเวลา หรือหมดเปลือง อะนัตถะสัญหิโต (นาทีที่ 45:52) ไม่ประกอบไปด้วยประโยชน์เลย ทุกโขเป็นทุกข์ อะนะริโย (นาทีที่ 45:57) ไม่ประเสริฐ อะนัตถะสัญหิโต (นาทีที่ 45:59) ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย
นั้นเรายอมหมดเปลืองไปในลักษณะเช่นนี้ เพราะความหลงที่จะได้ชื่อว่า ชัยชนะต่อดวงจันทร์นี้ เราก็คิดว่าชนะ ถ้ามองดูในด้านจิตด้านวิญญาณแล้ว มันเป็นความพ่ายแพ้ เช่นเดียวกับว่า เราจะมองกัน ทางหนึ่ง เราก็เห็นเป็นคนจัดดอกไม้ ถ้ามองอีกทางหนึ่งก็เห็นชัดว่า ดอกไม้มันจัดหัวใจคน นี่แหละ เราชนะดวงจันทร์ ซึ่งเป็นก้อนดินได้ แต่ดวงจันทร์นั้น ชนะหัวใจของมนุษย์ได้ บังคับให้มนุษย์ทำทุกอย่าง ทุกอย่าง ทุกอย่าง โดยไม่กลัวตายได้ นี้เรียกว่า ดวงจันทร์จัดหรือชนะหัวใจมนุษย์ มนุษย์ก็ชนะได้แต่ก้อนดินที่มีอยู่ ตามดวงจันทร์หรือเป็นตัวดวงจันทร์
เดี๋ยวนี้อยากจะเรียกว่า ไอ้จันทร์ มันเสียแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรมากไปว่าโลกร้าง ๆ เล็ก ๆ ดวงหนึ่ง ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย มนุษย์ไปถึงแล้ว ก็พบความจริงว่า ไอ้ดวงจันทร์สวย ๆ ที่เราเคยเรียกว่า พระจันทร์นั้น ควรจะเรียกว่า ไอ้จันทร์เสียดีกว่า เพราะว่าเป็นโลกร้าง ๆ เป็นดินร้าง ๆ ไม่มีประโยชน์อะไร กลางวันก็มีความร้อนสูง จนเผาไหม้ไปหมด กลางคืนก็เย็นจนถึงกับตาย แล้วก็ไม่มีอะไรที่จะมนุษย์ใช้ ประโยชน์ได้ เป็นซากเศษของก้อนหิน ก้อนดิน ของโลกที่ร้างแล้ว ควรจะเรียกว่า ไอ้จันทร์ ไม่อยากจะเรียกว่า พระจันทร์อีกต่อไป เหตุผลที่มันได้ มันเป็นเพียงอย่างนี้ มันจะนำความรู้ ความสงบสุข หรือชัยชนะอะไร มาให้ได้ ท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิด
เราจะไปหลง ในเรื่องฝ่ายวัตถุชนิดนั้นไม่ได้ เพราะว่าความมุ่งหมายของพุทธบริษัทนั้น ต้องการจะดับทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องทางฝ่ายจิตฝ่ายวิญญาณ ทีนี้เขาทำกันไปในลักษณะที่ว่า จะอวดฝีมือกัน ว่าจะขู่ขวัญกัน ให้ฝ่ายหนึ่งยอมแพ้ทางจิตใจ ใครไปดวงจันทร์ได้ก่อน ก็ขู่ฝ่ายหนึ่งได้ หรืออวดฝีมือกันได้ อย่างนี้มันเป็น เรื่องทางวัตถุทั้งนั้น ถ้าเป็นชนะก็ชนะทางวัตถุ ตามประสาของคนที่นิยมวัตถุ แต่ถ้ามองดู ในเรื่องของจิตใจ แล้ว มันเป็นความพ่ายแพ้ คือ ดวงจันทร์หรือไอ้จันทร์ นั่นแหละ มันเป็นฝ่ายชนะมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์จะเป็น ผู้ชนะพระจันทร์ไปได้เลย
ถ้าท่านทั้งหลายจะเป็นพุทธบริษัทกันให้ถูกต้อง หรือยิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้ว จะต้องมองดูสิ่งต่าง ๆ ในทางจิต ทางวิญญาณ หรือในทางนามธรรมอย่างนี้เสมอไป อย่าได้ไปมองดูในทางฝ่ายวัตถุล้วน ๆ เลย และรู้จักความหมาย ของคำว่า ชนะหรือรอดพ้นอะไรทำนองนี้ไว้ให้ดี ๆ ว่าถ้าชนะจริงแล้ว ก็ต้องดับทุกข์ทางจิตทางใจได้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่ใช่ชนะ มันเป็นเรื่องทำอะไรได้แปลก ๆ หรือว่าถ้าจะพูด ให้ตรงกว่านั้น มันเป็นเรื่องการกระทำของคนบ้าถึงขนาดหนักเท่านั้นเอง มันจึงทำ ทนทำของลำบาก ยุ่งยาก หมดเปลืองอยู่ได้ แต่ถ้าว่าจะต้องการความดับทุกข์ หรือสันติภาพโดยตรงกันแล้ว มันไม่ต้องมากมาย ถึงอย่างนั้น มันไม่ต้อง ลงทุนมากถึงอย่างนั้น มันไม่ต้องลำบากมากถึงอย่างนั้น ก็ยังทำให้มีสันติภาพ หรือความสงบสุขอันแท้จริงได้
นี่แหละ เป็นความแตกต่างกันระหว่าง เรื่องทางวัตถุกับเรื่องทางวิญญาณ สำหรับชัยชนะนั้น มามองดูกันให้ดี ๆ มันจะมีอยู่หลายแง่ หลายมุม หลายนัย หลายนัย เช่น การชนะวัตถุล้วน ๆ นี้มันก็ อย่างหนึ่ง การไปที่ก้อนดวงจันทร์ก้อนนั้นได้ มันเป็นการชนะวัตถุล้วน ๆ ชนะอย่างนี้ ไม่นำมา ซึ่งสันติภาพหรือไม่เกี่ยวกับสันติภาพ หรือว่าอาจจะเป็นข้าศึกแก่สันติภาพก็ได้ ถ้าหากว่าทำเพื่อขู่ขวัญกัน หรือเพื่ออวด ฝีมือกัน ที่จะทำไปด้วยบริสุทธิ์ใจก็เพียงให้มีความรู้ ในเรื่องวัตถุมากขึ้นเท่านั้นเอง ความรู้ทางวัตถุจะมากขึ้น เท่าไร ก็ไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ ไม่ชนะกิเลสได้ เพราะฉะนั้นการชนะวัตถุล้วน ๆ คือ ชนะก้อนดวงจันทร์ นั้น ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ เพราะว่าสันติภาพเป็นเรื่องทางจิตใจ คนต้องมีจิตใจเป็นสันติ โลกนี้จึงจะมีสันติ จึงกล่าวได้ว่า ชนะวัตถุไม่นำมาซึ่งสันติภาพ
ทีนี้ชนะผู้อื่นซึ่งเป็นมนุษย์เป็นผู้ปรปักษ์ หรือเป็นผู้แข่งขันกันนี้ ก็ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ จงฟังดูให้ดี ๆ ว่า ชนะวัตถุล้วน ๆ เช่น ก้อนดวงจันทร์เป็นต้นนั้น ก็ไม่น่านำมาซึ่งสันติภาพ และชนะมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งเป็นผู้ปรปักษ์ ผู้แข่งขัน ผู้อะไรก็ตาม มันก็ไม่นำมาซึ่งสันติภาพ เพราะว่ามันทำให้สร้างความเสียด เกลียดชัง อาฆาตจองเวรอะไรกันมากขึ้น และก็กลับแพ้ กลับชนะ อย่างรุนแรงกันไปมา ไปมายิ่งขึ้นไปกว่าเดิม ดังนั้นการชนะคู่ปรปักษ์นั้น ไม่นำมาซึ่งสันติภาพแต่การชนะตน หรือกิเลสของตนเท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งสันติภาพ
ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงตรัส ยกขึ้นมาไว้เป็นต้นว่า อัตตาหะเว สิตังละโย (นาทีที่ 52:18) ชนะตนนั้นแลเป็นดี อัตตะภันตัง สุขาวหัง (นาทีที่ 52:24) บังคับตนได้แล้ว ย่อมนำมาซึ่งความสุขดังนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ชนะตนนั่นแลเป็นดีเลิศ นี่หมายความว่า ชนะตัวเอง อะไรเป็นตัวเอง ในที่นี้ ก็หมายถึง ความโง่ ว่าตัวกูว่าของกู นั่นแหละ คือ ตน อุปาทานว่า ตัวกู ว่าของกู นั่นแหละ คือ ตน อุปาทานนั้น คือ กิเลส เพราะฉะนั้น กิเลสนั่นแหละ คือ ตนนี้ชนะกิเลสหรือตนเสียให้ได้ ก็จะนำมาซึ่ง ความสุขหรือสันติภาพแก่ตน
ดังนั้นทุกคน ๆ จะต้องพยายามชนะตน หรือชนะกิเลสของตนให้ได้ แล้วการชนะนั้นจะนำมาซึ่งสันติภาพ กล่าวคือ เป็นนิพพาน ในปริยายใด ปริยายหนึ่ง ในลักษณะใด ลักษณะหนึ่ง หรืออันดับใด อันดับหนึ่ง ไม่มากก็น้อย มันจึงเป็นสันติภาพขึ้นมา การชนะตนเท่านั้นนำมาซึ่งสันติภาพ
นี้ดูต่อไปอีก การชนะน้ำใจผู้อื่น หลังจากที่ชนะตนแล้ว ให้เหมือนกับที่ตนชนะตนเท่านั้น จะยิ่งนำมาซึ่งสันติภาพของสากลโลก หรือของสากลจักรวาล ข้อนี้หมายความว่า เมื่อเราชนะตัวเราเอง ได้แล้ว จริง ๆ แล้ว หมดความเห็นแก่ตนแล้ว เราชนะน้ำใจผู้อื่น ให้เขามีความหมด ความเห็นแก่ตัว อย่างเราบ้าง เหมือนกับที่เราได้หมดแล้ว นั่นแหละ จะนำมาซึ่งสันติภาพของสากลโลก สากลจักรวาล และการที่เราจะชนะน้ำใจของผู้อื่นได้นั้น เราจะต้องชนะตนเองเสียก่อน เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่าน เป็นพระอรหันต์แล้ว ชนะตนเองแล้ว ท่านจึงชนะน้ำใจผู้อื่น ถ้าไม่มีสาวก หรือผู้ที่ประพฤติตามท่านมาจำนวนมาก แล้วก็ทำให้เกิดสันติสุขขึ้นมาในโลกนี้
นั้นการชนะน้ำใจผู้อื่น หลังจากที่ตนชนะตนเองแล้วเท่านั้น จะนำมาซึ่งสันติภาพของสากลโลก ส่วนการชนะโลกร้างเล็ก ๆ เช่น ก้อนดวงจันทร์ซึ่งเป็นบริวารของโลก โลกนี้นั้นมันเป็นการชนะที่น่าหัวเราะ มากกว่าการชนะที่น่าบูชา ดูดี ๆ เถิดว่า ไอ้การชนะโลกร้างเล็ก ๆ คือ ก้อนดวงจันทร์ ที่เป็นบริวารของโลกนี้ มันน่าหัว มันไม่นำมาซึ่งสันติภาพของโลก หรือของสากลโลก แม้แต่ชนะข้าศึกศัตรู มันก็ไม่นำมาซึ่ง สันติภาพ แต่การชนะตน นำมาซึ่งสันติภาพอย่างน้อยส่วนตน การชนะน้ำใจผู้อื่นหลังจาก ที่ชนะตนแล้ว นั่นแหละ มันนำมาซึ่งสันติภาพของมนุษย์ทั้งมวล
ทีนี้จะมองดู ไอ้การชนะโลกร้างเล็ก ๆ ก้อนดวงจันทร์นี้ มันก็เป็นสิ่งที่น่าหัว แสนจะน่าหัว แต่ทีนี้เรามาพูดกันใหม่ โดยภาษาธรรมว่า ชนะดวงจันทร์ ชนะดวงอาทิตย์ ชนะดวงดาวอะไรทั้งหมด ด้วยอีก อีกด้วย แต่ว่าพูดกันในภาษาธรรม ไม่ใช่ภาษาโลก หรือภาษาคน ถ้าพูดในภาษาธรรม การชนะดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ หรือดวงอะไรก็ตามนั้น เราชนะดวงดาวเหล่านั้นได้ โดยที่เราไม่มีตัณหา อุปาทานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวเหล่านั้น
ตรงนี้ ท่านฟังดูให้ดี ๆ สักหน่อย ว่าอาตมากำลังพูดว่า เราจะชนะดวงดาว ทั่วสากลจักรวาลได้ ก็โดยที่เราไม่มีตัณหา อุปาทานใด ๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับดวงดาวเหล่านั้น ถ้าดวงดาวเหล่านั้น ก็ไม่ยีหัวใจเรา ไม่บังคับจิตใจเรา ไม่ทำให้เราเกิดความทะเยอทะยาน หิวกระหายอย่างใด อย่างหนึ่งเลย อย่างนี้แหละ เรียกว่า เราชนะดวงอาทิตย์ ชนะดวงจันทร์ ดวงดาวอังคาร ดาวพระศุกร์ ดาวทุกอย่างดวง บรรดามีในสากลจักรวาล นี้คือ การชนะสิ่งเหล่านั้น ตามภาษาธรรม ในพระพุทธศาสนา และเป็นการชนะสิ่งเหล่านั้นจริง คือ เราเป็นฝ่ายชนะ เป็นฝ่ายที่ไม่ทุกข์ ไม่มีความทุกข์ เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นอีกต่อไป อย่าได้มีตัณหา อุปาทาน ในสิ่งเหล่านั้น ว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา อย่าได้มีความอยาก มีความต้องการ ในสิ่งเหล่านั้น ในฐานะเป็น สิ่งที่อยากได้ อยากเอา หรืออุปาทานใด ๆ ทั้งหมดทั้งสิ้น ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว นั่นเรียกว่า มีโมกขในจิตใจ คือ จิตใจหลุดพ้นแล้ว จากความผูกพันโดยประการทั้งปวง เราต้องการโมกขหรือโมกษะ คือ ความรอดพ้น ออกไปได้ จากการผูกพันของสิ่งทั้งปวง
เรามีวิธีของเรา โดยเฉพาะตามที่พระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ได้สอนไว้ คือ อย่ามีตัณหา อุปาทาน ในสิ่งใด ก็เป็นอันว่าชนะสิ่งนั้น เดี๋ยวนี้ เราไม่มีตัณหา อุปาทานในธรรมทั้งปวง คือ ในสิ่งทั้งปวง เราก็เป็นอันว่า ชนะสิ่งทั้งปวง ดวงจันทร์ก็กลายเป็น ของขี้เล็บของขี้ฝุ่นไป เพราะว่าสิ่งทั้งปวง ยังมีมาก กว่านี้มาก
ท่านทั้งหลาย ต้องฟังดูดี ๆ ว่าอาตมากำลังพูดว่า ชนะสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงนั้นมันมากเท่าไร ถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกับดวงจันทร์ ซึ่งเป็นก้อน ๆ หนึ่งเล็ก ๆ ในจักรวาลนี้ เราชนะทั้งหมดในจักรวาลนี้ มันก็มากกว่า ที่จะไปชนะ วัตถุก้อนเท่าดวงจันทร์ก้อนหนึ่ง พุทธบริษัทจะต้องมีจิตใจเป็นโมกข คือ พ้นจากความครอบงำ ผูกพัน หน่วงเหนี่ยว อะไรต่าง ๆ ของสิ่งทั้งปวง จากสิ่งทั้งปวง นั่นแหละ คือ ความรอด คือ สันติภาพ หรือชัยชนะที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และถูกต้อง
วันนี้เป็นวันพระธรรม และวันนี้ก็เป็นวันชัยชนะ ของพระธรรม ที่จะชนะโลก หรือพระธรรม จะครอบงำโลก ให้โลกนี้คงอยู่แต่ในสภาพที่สะอาด สว่าง สงบ พระธรรมชนะโลกในวันนี้ คือ วันอาสาฬหบูชานี้ เราก็ต้องช่วยกันทำให้ดี ๆ ให้เข้ารูปกันกับความหมายอันนี้ ว่าเราจะต้องชนะสิ่งทั้งปวง ดวงจันทร์กลายเป็นของขี้เล็บ ขี้ฝุ่นนิดเดียวไปเท่านั้นเอง ไม่ต้องพูดถึง แต่เราจะต้องชนะสิ่งทั้งปวง ทั้งหมด ทั้งสิ้น และที่มันใหญ่หลวงยิ่งกว่าสิ่งใดก็คือ ตัวกู ของกู คำพูดเพียงสองคำ เล็ก ๆ นี้ แต่ตัวมันใหญ่มาก ใหญ่กว่าสากลจักรวาล เราต้องชนะสิ่งนี้ สิ่งเดียวเท่านั้น แล้วก็จะเป็นอันชนะหมดทุกสิ่ง ไม่มีอะไรเหลือ ชนะแล้วก็โมกข หรือโมกษะ คือ รอดพ้น หลุดพ้นออกไปได้ ตามความมุ่งหมายของพระธรรม ที่จะช่วย ปลดปล่อยสัตว์ทั้งหลาย ให้รอดพ้นออกไปได้จากความทุกข์
สรุปความทั้งหมด ตามที่กล่าวมา ท่านทั้งหลายควรจะเข้าใจว่า วันนี้เป็นวันสำคัญสำหรับพวกเราทุกคน ในฐานะที่เป็นวันอาสาฬหบูชา ท่านมาที่นี่ก็เพราะความหมายอันนี้ ว่าจะมาทำอาสาฬหบูชาที่นี่ อาตมากลัวไปว่า ท่านทั้งหลายจะได้อะไรน้อยเกินไป ในการมาที่นี่ จึงได้กล่าวอย่างนี้ โดยไม่ต้องเกรงอก เกรงใจว่า จงระวังให้ดี ๆ ให้ได้อะไรที่นี่ ตรงตามความประสงค์มุ่งหมาย และให้มาก ให้พอสมควรแก่กัน จึงจะไม่เสียทีที่มา ไม่เหนื่อยเปล่า ไม่เปลืองเปล่า ด้วยกันทุกคน ทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวเพื่อการเตรียมตน เพื่อจะทำให้ได้ซึ่งสิ่งที่กล่าวแล้ว คือ การทำอาสาฬหบูชาในอันดับต่อไป ในเย็นวันนี้
เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลาย จงเตรียมจิต เตรียมใจ เตรียมความรู้สึกคิดนึก ไว้ให้พร้อม ให้เหมาะสม ที่จะทำอาสาฬหบูชาด้วยกันจงทุก ๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้