แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะสมควรแก่เวลา ธรรมเทศนาเนื่องในอาสาฬหปุณณมีนี้ เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่า ควรจะเป็นธรรมเทศนา ที่กล่าวถึงเรื่องอริยสัจจ์ ๔ ประการ อันเป็นใจความสำคัญธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นสูตรที่กล่าวถึงการแสดงธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์
ในวันเช่นวันนี้ ซึ่งเรียกกันว่าวันอาสาฬหปุณณมี พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ทรงหยั่งเห็นว่าธรรมที่ตรัสรู้นั้นลึกซึ้ง ยากที่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มัวเมาอยู่ในราคะ เป็นต้น จะพึงเข้าใจได้ จึงน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่แสดงธรรม แต่แล้วอาศัยกำลังแห่งความเมตตา มาทำให้พระองค์ทรงดำริถึงสัตว์ต่างเหล่าที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อย อาจจะเข้าใจธรรมะนั้นได้ก็มีอยู่ ถ้าไม่แสดงธรรมสัตว์ทั้งหลายประเภทนี้ จะเสื่อมเสียจากธรรมที่พึงจะบรรลุ ถ้าอย่างไรก็จะแสดงธรรมเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายที่มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยนี้ แล้วจึงทรงดำริต่อไปว่า จักแสดงธรรมนี้แก่บุคคลใดดี
ในชั้นแรกที่สุด ก็ทรงระลึกถึงอุทกดาบสซึ่งเคยเป็นผู้แนะนำสั่งสอนพระองค์ในขณะที่ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ เที่ยวแสวงหาการตรัสรู้อยู่ ก็ได้ทราบว่าอุทกดาบสนั้นถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ก็ทรงระลึกถึงอาฬารดาบส คนที่เคยสั่งสอนก่อนหน้านั้นอีก ก็ทราบว่าถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงได้ระลึกถึงภิกษุปัญจวัคคีย์ซึ่งเคยอยู่เฝ้าอุปฐากพระองค์ในขณะที่บำเพ็ญทุกรกิริยา และได้ทราบว่ากำลังอาศัยอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันใกล้เมืองพาราณสี จึงทรงตั้งพระทัยว่าจะไปแสดงธรรมที่ตรัสรู้นี้แก่ทุกภิกษุปัญจวัคคีย์เหล่านั้น
ข้อนี้มีส่วนที่จะต้องพิจารณาอยู่ก็คือว่า การที่พระพุทธองค์ได้ทรงเลือกบุคคลเหล่านี้ไปตามลำดับ ก็เพราะเหตุที่ทรงทราบดีอยู่แล้วว่า คนเหล่านี้มีธุลีในดวงตาน้อยกว่าคนทั่วไป คือได้สนใจที่จะแสวงหาธรรม ทางดับทุกข์ แสวงหาความดับทุกข์เป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เป็นผู้ละแล้วซึ่งกามคุณ เป็นต้น กำลังแสวงหาอยู่ซึ่งธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร เป็นผู้ที่เหมาะสมแก่การที่จะฟังธรรมนั้น
นี้เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่จะฟังธรรมนั้น ด้วยความเหมาะสมนั้น จักต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจสูงขึ้นมาพอประมาณ คือไม่ลุ่มหลงในวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งกามคุณ พอที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีจิตใจสะอาดจากกามคุณ ยังเหลืออยู่ก็แต่เรื่องยึดถือว่าตัวว่าตนมีอยู่อย่างนั้นอย่างนี้ ต้องการจะมีตัวมีตน ที่ออกไปจากวัฏสงสารแล้วไปอยู่ในสภาพที่เรียกว่านิพพานตลอดกาลนิรันดร ความผิดหรือความเห็นผิดยังมีเหลืออยู่ตรงที่ว่ามีตัวมีตนที่จะยึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นของ ๆ ตน พระองค์จึงได้ทรงแสดงธรรมในขั้นนี้ คือ ขั้นที่จะให้เห็นว่าความทุกข์เกิดจากอะไรและจะดับไปอย่างไร
แต่ถึงกระนั้นก็ดี จากพระบาลีธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มีข้อความกล่าวชัดอยู่ว่า พระองค์ก็ยังทรงชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ควรละเว้นอีกอย่างหนึ่งซึ่งคู่กันกับกามคุณ คำตรัสของพระพุทธองค์ในเรื่องนี้จึงได้เริ่มต้นขึ้นด้วยเรื่องที่สุด ๒ อย่าง ที่เรียกว่า อันตา แปลว่า ที่สุดทั้งหลาย ถ้าอย่างเดียวเรียกว่า อันโต แปลว่า ที่สุด เดี๋ยวนี้มี ๒ อย่าง ภาษาบาลีจึงเปลี่ยนเป็น อันตา จึงมีข้อความว่า
เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่สุดแห่งการกระทำ ๒ อย่างเหล่านี้มีอยู่
ปพฺพชิเตน น เสวิตพฺพา เป็นสิ่งที่บรรพชิตไม่ควรข้องแวะเลย
โย จายํ กาเมสุ กามสุขลฺลิกานุโยโค ข้อแรกคือการประกอบตนพัวพันอยู่ด้วยความใคร่ ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งความใคร่ คือ กามทั้งหลาย
หีโน การกระทำอย่างนี้เป็นของต่ำทราม
คมฺโม เป็นการกระทำของพวกชาวบ้าน
โปถุชฺชนิโก เป็นการกระทำของคนที่เป็นบุถุชน คือคนที่มีธุลีในดวงตาหนาเต็มที่
อนริโย ไม่เป็นข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า
อนตฺถสญฺหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย
นี้หมายความว่าข้อแรกก็ทรงกล่าวถึงสิ่งที่เรียกว่ากามคุณ แม้ว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้งหลายเหล่านั้นได้ละมาแล้ว และได้ขยะแขยงหรือเกลียดชังอยู่เป็นปกติแล้ว พระองค์ก็ยังทรงเอ่ยถึงข้อนี้ เพื่อความหมดจด และเพื่อจะเป็นคู่เทียบกันกับอีกข้างหนึ่งซึ่งมันมากเกินไป
ดังนั้นจึงได้ตรัสที่สุดอันที่ ๒ โดยบาลีว่า
โย จายํ อตฺตกิลมถานุโยโค อีกอย่างหนึ่งคือการประกอบการทรมานตนให้ลำบาก
ทกฺโข เป็นการปฏิบัติที่นำมาซึ่งความทุกข์
อนริโย ไม่ใช่ข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้า
อนตฺถสญฺหิโต ไม่ประกอบด้วยประโยชน์เลย
นี้อีกอย่างหนึ่ง รวมก็เป็น ๒ อย่าง อย่างแรกเรียกว่าที่สุดไปในทางกามารมณ์ อย่างที่สองที่สุดไปในทางที่ตรงกันข้าม แต่ว่าเกินไปหรือเลยเถิดไป
การประกอบตนพัวพันอยู่ในกามคุณ เป็นที่สุดฝ่ายต่ำหรือฝ่ายอ่อนฝ่ายอ่อนแอ
ที่สุดในทางฝ่ายอัตตกิลมถานุโยคนั้น เป็นที่สุดฝ่ายที่แข็งกระด้าง เป็นการทรมานตนให้ลำบาก และมีความมุ่งหมายเพื่อให้ร่างกายนี้หมดสมรรถภาพในการที่จะไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์
ดังนั้นจึงเห็นได้ทันทีว่าเป็นของที่มันเป็นคู่กัน อย่างหนึ่งหลงใหลในทางกามารมณ์ อีกอย่างหนึ่งพยายามที่จะทำตนให้หมดสมรรถภาพในการที่จะไปเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ ด้วยการทรมานร่างกาย ถ้าจะเรียกก็เรียกว่า อันหนึ่งมันสุดเหวี่ยงไปในทางซ้าย อันหนึ่งมันก็สุดเหวี่ยงไปในทางขวา และก็ใช้ไม่ได้ทั้งสองทาง คือต้องการจะให้อยู่ที่ตรงกลาง ดังนั้นจึงได้ตรัสพระพุทธดำรัสต่อไปว่า
เอเต เต ภิกฺขเว อุโภ อนฺเต อนุปคมฺม มชฺฌิมา ปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อปฏิบัติที่เป็นทางสายกลาง ไม่เข้าไปข้องแวะกับที่สุดสองอย่างนั้นมีอยู่
ตถาคเตน อภิสมฺพุทฺธา เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้รู้เฉพาะแล้ว
จกฺขุกรณี เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดจักษุ
ญาณกรณี เป็นข้อปฏิบัติที่กระทำให้เกิดญาณ
อุปสมาย เพื่อความสงบ
อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง
สมฺโพธาย เพื่อความรู้พร้อม
นิพฺพานาย เพื่อนิพพาน
พระโอวาทตอนนี้ทรงแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่เหวี่ยงขวาสุด ไม่เหวี่ยงซ้ายสุด แต่อยู่ที่ตรงกลาง
เป็นการกระทำที่พอดี ดังนั้นมันจึงทำให้เกิดความรู้ ถ้าลุ่มหลงไปในเรื่องกาม มันก็โง่หรือมัวเมาไปในทางของกาม ถ้าลุ่มหลงไปในทางทรมานตนให้ลำบาก มันก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดกระวนกระวาย ทั้งสองอย่างนี้ไม่ให้เกิดความรู้
ต่อเมื่อไม่เข้าไปเกี่ยวกับสองอย่างนี้ จึงจะเป็นหนทางที่จะให้เกิดความรู้ ซึ่งในที่นี้เรียกว่าจักษุ คือ ดวงตา หมายถึงดวงตาสำหรับจะเห็นธรรม บางทีก็เรียก ญาณ หรือ ญานะ ซึ่งแปลว่าความรู้ บางทีก็เรียกว่าวิชชา ซึ่งแปลว่า ความรู้ บางทีก็เรียกว่า อาโลก ซึ่งแปลว่า แสงสว่าง และมีคำอื่น ๆ อีกมากซึ่งหมายถึงสิ่งสิ่งเดียวกัน คือ ความรู้ชนิดที่อาจจะดับทุกข์ได้
ดังนั้นจึงได้ตรัสกำกับไว้เสียเลยว่า อันเป็นไปเพื่อนิพพาน อันมีความสงบรำงับ เป็นความรู้ยิ่ง เป็นความรู้พร้อมอยู่ในข้อปฏิบัตินั้น การตรัสดังนี้ก็เพื่อจะให้ผู้ฟังเข้าใจในการที่จะดำรงจิตของตนไว้ในหนทางที่พระองค์ทรงประสงค์
สำหรับภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีจิตยึดมั่นถือมั่นในการทรมานตนให้ลำบากมาแต่เดิม ยังมีจิตไม่เหมาะไม่สมที่จะได้ฟังธรรมะนี้ พระองค์จึงได้ตรัสสิ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทรมานตน เพื่อให้ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้นเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ มาตั้งใจฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง คือสิ่งที่ไม่เข้าไปข้องแวะกับสิ่งทั้งสองนั้น นี้เป็นตอนต้นของพระโอวาท ที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ทีนี้ก็ได้ตรัสถึงสิ่งที่ไม่ค่อยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งสองนั้นโดยเฉพาะ ก็คือ ทางปฏิบัติสายกลาง ที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า หนทางอันประเสริฐ อันประกอบไปด้วยองค์ ๘ ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นอันถูกต้อง
สัมมาสังกัปโป ความใฝ่ฝันอันถูกต้อง
สัมมาวาจา การพูดจาที่ถูกต้อง
สัมมากัมมันโต การทำการงานที่ถูกต้อง
สัมมาอาชีโว การเลี้ยงชีวิตที่ถูกต้อง
สัมมาวายาโม ความพากเพียรพยายามที่ถูกต้อง
สัมมาสติ ความรำลึกที่ถูกต้อง
สัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นที่ถูกต้อง
เป็นความถูกต้อง ๘ ประการ รวมกันเข้าเป็นหนทางสายเดียว ที่หลีกออกมาเสียจากที่สุด ๒ อย่างนั้น แล้วจะเป็นไปเพื่อนิพพาน เพื่อความสงบรำงับ แห่งความทุกข์ทั้งหลาย สำหรับความถูกต้อง ๘ ประการรวมกันเป็นหนทางสายเดียวอันประเสริฐนี้ มีความหมายตามธรรมดา ก็พอจะเข้าใจกันได้ในข้อแรก ๆ หรือว่าจะใช้เป็นหลักทั่วไปสำหรับบุคคล แม้ที่จะเริ่มตั้งต้นการตั้งต้นปฏิบัติการงานในทางโลก ตามสามัญของชาวโลกก็ยังได้ เพราะว่าเป็นหลักธรรมะที่กว้าง ชนิดที่เรียกกันว่า ครอบจักรวาล สามารถจะใช้แก้ปัญหาทุกประการได้ ซึ่งท่านทั้งหลายพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นได้ด้วยตนเอง มีแนวที่จะพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นอันถูกต้อง คำว่า ความเห็น ในที่นี้ ขอให้เข้าใจว่า ไม่ใช่ความเห็นอย่างที่คนเราเรียกกันว่า ความเห็น ที่คนเราเรียกกันตามธรรมดาว่า ความเห็น นั้น มันเป็นการคาดคะเนก็ได้ คือเห็นผิดก็ได้ มันเป็นแต่เพียง ความเห็น ซึ่งไปตามความคาดคะเนหรือไปตามเหตุผล
ส่วนสิ่งที่เรียกว่าทิฏฐิในคำนี้ หมายถึง ความเห็นแจ้งด้วยประจักษ์แก่ใจ ไม่ต้องใช้เหตุผลอะไรอีกต่อไป ในภาษาไทย ไม่รู้ว่าจะใช้คำอะไร ก็ต้องใช้คำว่า ความเห็น เพื่อตรงตามตัวหนังสือในภาษาบาลีว่า ทิฏฺฐิ ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ตัวหนังสือบังคับให้แปลอย่างนั้น แต่เป็นความเห็นชนิดที่รู้สึกด้วยใจจริง ผ่านมาทางเหตุผล จนอยู่เหนือเหตุผล ยกตัวอย่างข้อนี้สักเล็กน้อยเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด
เหมือนกับว่าเราเป็นเด็ก ได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ไฟเป็นของร้อน เราก็เชื่อ เพียงแต่เชื่อว่า ไฟเป็นของร้อนเพราะผู้ใหญ่เขาว่าอย่างนี้ มันก็เป็นเพียงความเชื่อ ยังไม่ใช่ความเห็นที่แจ้งประจักษ์แก่ใจ ที่ต่อมาเราเห็นเด็กอีกคนหนึ่ง ขยำเอาไฟเข้า แล้วก็ร้อน ร้องไห้จ้าไปทีเดียว ไอ้ความเชื่อว่าไฟมันของร้อนนั้น มันก็เพิ่มมากขึ้นเป็นความเข้าใจหรือเป็นความแน่ใจ แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังเป็นเพียงความเห็นที่เนื่องอยู่กับเหตุผล ยังอยู่ใต้อำนาจของเหตุผล
ต่อมาเราเองไปขยำเอาไฟเข้า มันก็ร้อนและไหม้มือ จนมีความรู้สึกในใจอย่างประจักษ์แก่ใจว่าไฟเป็นของร้อน ความรู้อันนี้คือสิ่งที่เรียกว่า ความเห็นในคำนี้คือคำว่า ทิฏฐิ มันมีความเข้าใจถึงที่สุด มีความรู้สึกถึงที่สุด มีความเชื่อถึงที่สุด รวมกันทั้งหมดก็เรียกว่า ความเห็นหรือทิฏฐิ ที่เป็นไปถึงที่สุด ไม่ต้องเชื่อคนอื่น นี้อย่างหนึ่ง ไม่ต้องเชื่อเหตุผลที่ตนคำนึงคำนวณ นี้อย่างหนึ่ง แต่มันเชื่อความรู้สึกที่มันได้เกิดขึ้นจริง ๆ
สิ่งที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ นี้ เป็นของสำคัญมาก เพราะว่ามันเป็นตัวนำธรรมะอื่น ๆ ที่จะตามหลังมาอีกตั้ง ๗ อย่าง เหมือนที่เราพูดว่าสำคัญที่ผู้นำ ถ้าผู้นำมันดี ไอ้ที่ตามมาข้างหลังก็จะต้องดีด้วย สำหรับมรรคมีองค์ ๘ องค์ทั้ง ๘ นี้ องค์แรกคือ สัมมาทิฏฐิ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นผู้นำ ถ้ามันถูกแล้ว มันก็นำอีกไอ้ที่เหลืออีกทั้ง ๗ นั้นให้ถูกได้ เราจึงต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ พยายามศึกษา ค้นคว้า ทดลองอะไรทุก ๆ อย่างที่ให้มันมีความถูกต้องจริง ๆ พอมีสัมมาทิฏฐิอย่างนี้แล้ว องค์ที่ถัดไปมันก็ง่าย
สัมมาสังกัปโป คือ ความใฝ่ฝัน ซึ่งมักจะแปลกันว่า ความดำริ นี่ ถ้าความเห็นหรือความรู้หรือความเข้าใจมันถูกต้องเสียแล้ว ไอ้ความใฝ่ฝันหรือความดำริ มันก็ผิดไปไม่ได้ มันต้องใฝ่ฝันไปตามความรู้ที่ตนแน่ใจ ดังนั้นในความดำริความใฝ่ฝันหรือที่เรียกว่า สัมมาสังกัปโป ความใฝ่ฝันถูกต้องนี้ มันก็มีขึ้นมา นี้การพูดจามันก็ผิดไม่ได้ เพราะความรู้มันถูกเสียแล้ว การทำการงานมันก็ผิดไม่ได้ เพราะความรู้มันถูกเสียแล้ว การเลี้ยงชีวิตก็ผิดไม่ได้ ความพากเพียรพยายามก็ผิดไปไม่ได้
ทีนี้ก็เหลืออยู่แต่ สัมมาสติ สัมมาสตินี้เมื่อความรู้ถูกต้องแล้วสติมันก็ถูกต้อง นี้เป็นของแน่นอน แต่ปัญหายุ่งยากลำบากมันมีอยู่ที่ว่า มันไม่ค่อยจะมาทันแก่เวลา สิ่งที่เรียกว่า สติหรือความระลึกได้นี้ ถ้ามาช้าก็เท่ากับไม่มี คือไม่มีประโยชน์อะไร จึงต้องมีการฝึกฝนให้มันคล่องแคล่ว ให้มาทันแก่เวลาอยู่เสมอ
และในที่สุดก็มาถึงสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบ การตั้งใจมั่นก็คือกำลังของใจ กำลังของใจนี้ก็เป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะอำนาจของความรู้ที่ถูกต้องในข้อแรก แต่แล้วมันยังไม่ค่อยจะพอ จึงต้องบำเพ็ญให้มันมีมากพอ ถ้าสัมมาสมาธิมีกำลังมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิที่เป็นผู้นำ ก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นมันจึงส่งเสริมซึ่งกันและกัน ให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้นพร้อม ๆ กันทั้ง ๘ องค์
เมื่อองค์ประกอบเหล่านี้มีกำลังถึงที่สุดและกลมกลืนกันดีแล้ว ก็สามารถจะทำอะไรที่เป็นหน้าที่ให้ดีถึงที่สุดได้ โดยเฉพาะในที่นี้ก็เพื่อจะดับกิเลสคือดับทุกข์หรือเป็นไปเพื่อนิพพาน ทีนี้แม้แต่ว่าคนที่จะประกอบกิจการงานในทางโลก ๆ เช่น การทำมาหากิน ทำไร่ทำนา ค้าขายหรืออะไรก็สุดแท้ ถ้าประกอบอยู่ด้วยองค์ประกอบ ๘ ประการนี้แล้ว ก็ย่อมเป็นผลดีถึงที่สุดด้วยเหมือนกัน
ฉะนั้นขอให้สนใจว่า นี้คือตัวธรรมะที่สำคัญที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนคือไม่มีใครสอนแต่ตรัสรู้เอง หมายความว่าจากการค้นคว้าหรือเที่ยวศึกษาเที่ยวค้นคว้าเป็นเวลาเป็นปี ๆ นั้น สรุปแล้วก็ตรัสรู้ขึ้นมาเป็นอย่างนี้ว่า ธรรมะ ๘ ประการนี้รวมกันเข้าเป็นหนทางเอกแล้ว สามารถจะก้าวหน้าหรือลุล่วงอุปสรรค ผ่านอุปสรรคหรือความทุกข์ต่าง ๆ ไปได้
ทีนี้ความประสงค์ที่สำคัญที่สุดของนักบวชทั้งหลายในสมัยนั้น ก็คือเพื่อจะบรรลุนิพพาน ที่นิพพานนั้นแปลว่า ดับสนิท ดับก็คือดับของสิ่งที่ร้อน คือดับของความทุกข์ ถ้านิพพานแท้ก็ดับทุกข์แท้ ถ้านิพพานไม่แท้ก็ดับทุกข์ไม่แท้ คือดับทุกข์ชั่วคราวหรือบางส่วน คนเคยเข้าใจนั่นนี่ว่าเป็นนิพพานกันมาก่อนพระพุทธเจ้า ดังที่ได้ปรากฏอยู่ในสูตรทั้งหลาย มีอยู่หลาย ๆ ๆ ที่มา
แต่สรุปความว่า ครั้งหนึ่งเคยเข้าใจว่า ความสมบูรณ์ด้วยกามารมณ์ คือมีกามคุณอันเต็มเปี่ยมนี้เป็นนิพพานกันมายุคหนึ่งสมัยหนึ่ง จึงมีการบูชายัญหรือทำอะไร ๆ เพื่อนิพพานเพื่อนิพพานชนิดที่เป็นกามารมณ์ หรือสวรรค์ที่เต็มไปด้วยกามารมณ์ เป็นต้น ต่อมาก็เกิดความรู้ความเข้าใจกันถูกต้องว่าไม่ใช่ จึงเปลี่ยนมาเป็นเรื่องทางจิตใจ ทำจิตให้สงบ ปราศจากกิเลสรบกวนแล้วก็รู้สึกสบายเป็นสุข เหมือนกับว่าไม่มีทุกข์ จึงบัญญัติฌานหรือสมาบัติว่าเป็นนิพพานกันมายุคหนึ่ง
อาจารย์คนสุดท้ายของพระพุทธเจ้าคือ อุทกดาบส รามบุตรนั้น ก็ได้สอนพระพุทธเจ้าถึงฌานอันสุดท้ายที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ สงบระงับ ถึงขนาดที่เรียกว่า ตายก็ไม่ใช่ เป็นอยู่ก็ไม่ใช่ แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่พอไม่พอพระทัย คือไม่ยอมเชื่อว่านี้เป็นนิพพาน จึงออกไปจากสำนักนั้น ไปค้นคว้าของพระองค์เอง จนกระทั่งพบว่า ความหมดกิเลสคือตัณหา เป็นต้นนี้ จึงจะเป็นนิพพานที่แท้จริง
นี้ก็แสดงนิพพานไปตามทางของพระองค์ คือ มรรค มีองค์ ๘ ประการดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทีนี้เพื่อจะแสดงให้ชัดลงไปว่า มรรค มีองค์ ๘ ประการนี้จะทำหน้าที่ของมันอย่างไร พระองค์ก็ทรงยกเอาปัญหาข้อแรกขึ้นมาพูดก่อน ปัญหาข้อแรกก็คือ ความทุกข์ ปัญหาของคนเราไม่มีอะไรนอกจากความทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์ ไม่เป็นทุกข์เสียอย่างเดียวแล้ว ก็เรียกได้ว่ามันหมดปัญหา
เดี๋ยวนี้มันมีความทุกข์ที่เป็นปัญหา ไม่อย่างนั้นก็อย่างนี้ ไม่อย่างนี้ก็อย่างโน้น ไม่อย่างหยาบก็อย่างละเอียด ไม่อย่างเปิดเผยก็มันเป็นอย่างซ่อนเร้น ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์อย่างไรก็รู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ จึงทรงยกเอาสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ขึ้นมาเป็นหัวข้อข้อที่ ๑ สำหรับสั่งสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ในวันเช่นวันนี้ ตรัสว่า
อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์นี้มีอยู่
ชาติปิ ทุกฺขา แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์
ชราปิ ทุกฺขา แม้ความแก่ก็เป็นทุกข์
มรณมฺปิ ทุกขํ แม้ความตายก็เป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสาปิ ทุกฺขา ความโศกความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ แม้นี้ นี้ก็เป็นทุกข์
อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข ความพบกันเข้ากับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจเป็นทุกข์
ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์
ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ ความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น แม้นั้นก็เป็นทุกข์
สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกฺขา เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ปัญจุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ ปัญจุปาทานขันธ์แปลว่า ขันธ์ที่กำลังมีอุปาทานยึดครอง ๕ อย่างเป็นตัวทุกข์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๕ อย่างนี้ ในขณะที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของอุปาทานนั้นเป็นทุกข์
ท่านทั้งหลายต้องสังเกต ตั้งใจฟังให้ดีโดยที่มีบทบาลีปรากฏชัดอยู่ว่า สังขิตเตนะ คือโดยสรุปแล้ว เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว กล่าวโดยย่อที่สุดแล้ว ปัญจุปาทานขันธ์นั่นเป็นตัวทุกข์ ถ้าเราเข้าใจคำนี้คำเดียว เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็เป็นอันว่าจะเข้าใจความทุกข์ทั้งหมดทั้งสิ้น เมื่อไม่เข้าใจเรื่องนี้หรือคำนี้เพียงคำเดียว ก็จะเข้าใจคำอื่น ๆ ผิดหมด คำว่า โดยสรุปแล้ว อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์นั้น มันมีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องมีอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น มันจึงจะเป็นทุกข์
เบญจขันธ์หรือร่างกายกับใจนี้ ถ้าไม่มีอุปาทานเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีไม่เป็นทุกข์ ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ พอมีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องเมื่อใด เมื่อนั้นมันก็เป็นทุกข์ พูดอย่างภาษาธรรมดาสามัญสักหน่อยก็ว่า ร่างกายกับจิตใจที่รวมเรียกว่าชีวิตของเรานี่ ตามธรรมดาไม่ได้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเมื่อใดอุปาทานเกิดขึ้นหรือกำลังยึดครองอยู่ ชีวิตนั้นก็จะมีความคิดนึกที่รู้สึกว่าเป็นความทุกข์
อุปาทานนี่มันทำให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวเราอย่างหนึ่ง เป็นของเราอย่างหนึ่ง พอความรู้สึกเป็นของเราหรือเป็นตัวเราขึ้นมาเท่านั้น มันก็กลายเป็นของหนักและมีความทุกข์ ในบทที่เราสวดกันอยู่เป็นประจำว่า
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ
ภารหโร จ ปุคฺคโล คนนั่นแหละเป็นคนแบกของหนักนี้
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การแบกของหนักเป็นทุกข์ในโลก
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ สลัดของหนักออกไปได้เป็นความสุข
ขันธ์ทั้ง ๕ หรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกสั้น ๆ ว่า กายกับใจ กาย เรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๔ อย่างนี้เรียกว่าใจ กายกับใจนี้เป็นของหนัก คำว่าหนักนี้ไม่ได้หนักอยู่ตามธรรมชาติ มันหนักต่อเมื่อมีอุปาทานเกิดขึ้นในจิตนั้นว่าตัวเราหรือว่าของเรา มันจึงเป็นของหนักขึ้นมา ถ้าไม่เกิดขึ้น ถ้าอุปาทานไม่เกิดขึ้น มันก็ไม่มีใครหนัก ไม่มีใครแบกไม่มีใครหนัก แต่เดี๋ยวนี้มันยังมีธรรมชาติหรือเป็นธรรมชาติอยู่อย่างหนึ่งว่า คนธรรมดาสามัญหรือบุถุชนนี้แหละ จะเป็นผู้แบกของหนัก
บทที่ว่าบุคคลนั่นแหละเป็นผู้แบกของหนัก คำว่า บุคคล นั้น ก็มีความหมายลึกซึ้ง หมายความว่า ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นจึงจะเรียกว่าบุคคล ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังมามากพอสมควรแล้ว ก็เคยได้ยินได้ฟังว่า โดยเนื้อแท้ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่มีเรา ไม่มีเขา นี่ก็โดยเนื้อแท้หรือโดยความจริง แต่แล้ว สัตว์ บุคคล ตัวตนเรา เขา มันมีขึ้นมา เมื่อคนมันโง่โดยเข้าใจหรือสำคัญมั่นหมายเอาว่า เป็นตัว เป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล คือ เป็นกู เป็นสู เป็นของกู เป็นของสู เมื่อความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้นในจิต สิ่งที่เรียกว่าบุคคลจึงจะมีขึ้น นี่ตามหลักธรรมะเป็นอย่างนี้
แต่ภาษาพูดของคนธรรมดาก็จะเป็นอย่างอื่น คือพูดไปอย่างโง่ ๆ ตามประสาคนโง่บุถุชนในโลก บัญญัติคำว่าสัตว์คำว่าบุคคลขึ้นมาใช้ แล้วก็ใช้เป็นคำทั่วไปว่า นั่นก็เป็นสัตว์นี่ก็เป็นบุคคล นี่คือคนมันโง่ มีธุลีในดวงตาที่หนา แล้วก็สอนกันมาอย่างนี้ตั้งแต่อ้อนแต่ออก พอเด็กโตขึ้นมาได้ไม่เท่าไรมันก็รู้จักโง่ มันรู้จักโง่ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัว เป็นตน เป็นเรา เป็นเขา มันก็กลายเป็นบุคคลที่แบกของหนัก แบกของหนักมันก็ต้องเป็นทุกข์ จนกว่าจะสลัดของหนักทิ้งออกไปเสีย
เมื่อใดมันฉลาด มันทิ้งไอ้ความยึดมั่นหรือความสำคัญมั่นหมายว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ออกไปเสียได้ เมื่อนั้นมันก็เบา และเมื่อนั้นมันก็สบาย นี่ใจความสำคัญมันมีอยู่ที่ตรงนี้นิดเดียว ว่าโดยสรุปย่อแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ถ้าในเบญจขันธ์นั้นไม่มีความโง่คืออุปาทานนั้นแล้ว มันก็ไม่มีใครทุกข์ คนที่เป็นพระอรหันต์แล้ว มันก็ยังมีเบญจขันธ์อยู่นั่นเอง คือมันยังไม่ตายมันก็ยังมีเบญจขันธ์ รูป เวทนา สังขาร วิญญาณ แต่ในนั้นมันไม่มีความยึดมั่น ไม่มีอุปาทาน จึงไม่เป็นทุกข์ ส่วนคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ เบญจขันธ์ของเขาถูกความโง่ของเขายึดเอาเป็นตัวกูของกู แล้วก็แบกอยู่อย่างหนักที่สุดมันจึงเป็นทุกข์
พูดให้จำง่าย ๆ กันลืมก็ว่า เบญจขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีความยึดถือ มันก็ไม่เป็นของหนักและไม่เป็นทุกข์ ที่เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดถือคืออุปาทานนี้ หมายความว่าจิตนั้นโง่พอที่จะยึดถือว่า นี่ตัวกู นี่ของกู แล้วนั้นก็จะเป็นทุกข์ ดังนั้นเราจะต้องฟังคำตรัสของพระพุทธองค์ให้ดี ๆ แม้ว่าเราสวดอยู่ทุกวัน มันก็อาจจะเป็นนกแก้วนกขุนทองก็ได้
ที่เราสวดอยู่ทุกวันว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา นั้นต้องฟังให้ดี ๆ อย่ามองข้ามคำว่า ปัญจุปาทานักขันธ์ อุปาทานมันมีผสมอยู่ในคำนั้น ว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ไอ้นี่ก็พูดพล่าม ๆ ไปว่าเบญจขันธ์ ว่าเบญจขันธ์ ว่าเบญจขันธ์เป็นทุกข์ อย่างนี้มันก็ผิด มันต้องเป็นเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน จึงจะเป็นทุกข์ ดังนั้นถ้าใครเคยพูดว่าเบญจขันธ์เป็นทุกข์ ก็พูดเสียใหม่ ให้ถูกต้องว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน มันจึงจะเป็นทุกข์
ถ้าจะกันลืมกันตรงข้อนี้ ก็จะต้องยกตัวอย่างเหมือนกับว่าเรามีเงินมีทอง บางเวลาเราไม่ได้นึกถึงมันเลย หัวใจมันก็ไม่เป็นทุกข์ บางเวลาเราไปนึกถึงมันเข้า ว่าเงินของเราเท่านั้นเท่านี้ ฝากอยู่ที่ธนาคารนั้นธนาคารนี้ เพียงเท่านี้มันก็เป็นทุกข์แล้ว จากนั้นก็ทุกข์เพราะว่ามันมีอยู่ ที่ต้องรับรู้ ที่ต้องรับภาระหรือว่าจะเป็นห่วง วิตกกังวล ว่าเช่นธนาคารมันจะล้มหรือใครมันจะไปเซ็นชื่อปลอมเอาไปเสีย มันก็ล้วนแต่เป็นความทุกข์ พอเราลืมไปเสียหรือนอนหลับไปเสีย มันก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าว่ามันยึดมั่นถือมั่นมาก มันก็เอาไปฝันให้เป็นทุกข์ได้เหมือนกัน
นี่ถ้าวัวควายไร่นานั้นอยู่ในนา มันก็ไม่ทำให้เจ้าของเป็นทุกข์ แต่ถ้าวัวควายไร่นามันมาอยู่ในหัวใจของบุคคลที่เป็นเจ้าของแล้ว มันก็ต้องเป็นทุกข์ นี้เป็นตัวอย่างของคำ เป็นตัวอย่างที่จะให้เข้าใจคำว่า ปัญจุปาทานักขันธ์ ขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานคือความยึดถือนั้นต้องเป็นทุกข์เสมอ แต่คำสอนในทางธรรมะนี้จะไม่พูดถึงของภายนอกเช่น วัวควายไร่นา จะพูดถึงตัวข้างในคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อไรมันไปนึกถึงด้วยความยึดถือแล้ว มันก็มีความทุกข์เมื่อนั้น
มีความทุกข์ด้วยปัญหาที่เกี่ยวกับความเกิด ปัญหาที่เกี่ยวกับความแก่ ปัญหาที่เกี่ยวกับความตาย ปัญหาที่เกี่ยวกับความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ อะไรไปทุกอย่างหมด กระทั่งว่าพบกับของไม่รัก พลัดพรากจากของรัก ปรารถนาแล้วไม่ได้ อย่างนี้มันก็เป็นทุกข์ไปหมด ลองไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเถอะ แม้ความตายมันก็ไม่เป็นทุกข์ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย อะไรก็ไม่เป็นทุกข์
นี้ก็คือลักษณะของจิตใจของพระอรหันต์ ที่มีความรู้ความรู้แจ้งเห็นจริง เป็นความปล่อยวาง ไม่ไม่มีความรู้สึกว่า ความเกิดของเรา ความแก่ของเรา ความตายของเรา หรืออะไรของเรา ดังนั้นจึงไม่มีความทุกข์ แม้พระอรหันต์จะแก่ลงทุกวัน มันก็ไม่มีความทุกข์ แม้พระอรหันต์จะเจ็บไข้อยู่ ก็สลัดไอ้ความยึดมั่นถือมั่นนั้นออกไปได้ ว่ามันเป็นความเจ็บของสังขารของร่างกายไม่ใช่ของเรา แม้มันจะเจ็บปวดทนทรมานอย่างไร มันก็มีความรู้สึกไปในทางเป็นของธรรมชาติ แม้จะต้องตายไปในที่สุด ก็ไม่มีความทุกข์ชนิดที่คนธรรมดาสามัญมี
นี้เป็นการแยกให้เห็นชัดว่า ถ้ามีอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นแล้ว อะไร ๆ มันก็เป็นความทุกข์ไปหมด ตั้งต้นแต่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ถ้าไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว สิ่งเหล่านี้มันก็หมดความหมาย เป็นของน่าหัวเราะเยาะไปในที่สุด ทำได้อย่างนี้ก็เรียกว่า จิตมันหลุดพ้นอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความทุกข์ไม่ได้ เดี๋ยวนี้ยังไม่เป็นอย่างนี้ มันก็ต้องมีความทุกข์ มีปัญหาแก่ทุกคนเรื่อง ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เรื่องของรักของใคร่
พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงหยิบขึ้นมาเป็นข้อแรก เป็นปัญหาข้อแรก เป็นอริยสัจจ์คือความจริงที่แท้จริงข้อแรกคือ ความทุกข์ และสรุปว่ามันเกิดมันทุกข์อยู่ที่เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยความยึดมั่นถือมั่น นี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง ทีนี้ก็ต่อมาถึงเรื่องที่ ๒ คือเหตุให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า
อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์คือเหตุให้เกิดทุกข์นี้ก็มีอยู่
ยายํ ตณฺหา นั่นคือตัณหา
โปโนพฺภวิกา อันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดอีก
นนฺทิราคสหคตา ประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจของความเพลิน
ตตฺร ตตฺราภินนฺทินี เป็นเครื่องให้เพลินอย่างยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ
เสยฺยถีทํ ได้แก่ตัณหาเหล่านี้คือ
กามตณฺหา ตัณหาในกาม
ภวตณฺหา ตัณหาในความมี ความเป็น
วิภวตณฺหา ในความไม่มี ไม่เป็น
อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ นี้แสดง สมุทัย คือเหตุหรือมูลเหตุที่เป็นที่ตั้งขึ้นงอกขึ้นแห่งความทุกข์ ทรงระบุไปที่ตัณหา สิ่งที่เรียกว่าตัณหานี้ ในภาษาบาลีมีความหมายชัดเจนรัดกุม หมายถึงความอยากที่มาจากความโง่ สำหรับความอยากหรือความต้องการที่มาจากปัญญานั้นไม่ใช่ตัณหา แต่ในภาษาไทยนี้พอพูดว่าความอยากแล้ว มันกินความรวมไปหมด จะมาจากความฉลาดหรือมาจากความโง่ก็เรียกว่าความอยากไปหมด
ถ้าพูดว่าตัณหาคือความอยาก ความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มันก็เกิดทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกว่าเมื่อไรจะรู้ว่าไอ้ความอยากที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นี้ ต้องเป็นความอยากชนิดที่มาจากอวิชชา คือความโง่ ความไม่รู้ ปราศจากความรู้ นั่นแหละคือตัณหา แต่ถ้ามันมาจากปัญญา จากวิชชา จากความเข้าใจถูกต้องนี้ เขาไม่เรียกว่า ตัณหา แม้จะเรียกว่า สังกัปปะ อย่างที่เราเรียกเป็นองค์ที่ ๒ ของมรรค ก็เป็นความต้องการเหมือนกัน แต่มันเป็นความต้องการที่ถูกต้อง ความอยากที่ถูกต้อง เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะว่ามันมาจาก สัมมาทิฏฐิ ความรู้ความเข้าใจถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ทำให้เกิด สัมมาสังกัปปะ มีความดำริใฝ่ฝันหรือต้องการหรืออยากที่ถูกต้อง นี่เราไปเรียกเสียว่า สัมมาสังกัปปะ ไม่เรียกว่า ตัณหา
ฉะนั้นความอยากชนิดนี้ไม่ได้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ยังแถมจะเป็นความอยากที่จะดับทุกข์ จะทำลายความทุกข์ ดังนั้นคนไทยเมื่อพูดด้วยภาษาไทย เมื่อพูดว่าความอยากเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ต้องให้เข้าใจว่ามันเป็นความอยากที่หมายถึงตัณหาในภาษาบาลี แปลว่า ความอยากด้วยอำนาจของความโง่ คืออวิชชา ในที่นี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสด้วยภาษาบาลีแก่บุคคลที่ฟังภาษาบาลี ท่านก็ไม่จำเป็นที่ต้องพูดให้มันยืดยาด ว่าความอยากที่มาจากอวิชชา ท่านพูดว่ามาจากตัณหาสั้น ๆ ลุ่น ๆ มันก็พอแล้ว เพราะว่าคำว่าตัณหานั้นมันจำกัดความหมายของมันชัดอยู่ในตัวแล้วว่า เป็นความอยากที่มาจากอวิชชา ดังนั้นจึงตรัสว่าเหตุให้เกิดทุกข์นี้ก็คือ ตัณหา เท่านี้ก็พอแล้ว
แล้วก็มีบทประกอบทำให้ชัดยิ่งขึ้นมาอีกว่า
โปโนพฺภวิกา ตัณหาอันเป็นเครื่องทำให้มีการเกิดใหม่
นนฺทิราคสหคตา ประกอบอยู่ด้วยความกำหนัด เพราะมันเพลิดเพลิน เพลินอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ
นี้มันเห็นชัดว่า ความโง่ทั้งนั้น ไอ้ความอยากเกิดใหม่ อยากมีใหม่ อยากเป็นใหม่ อันนี้มันก็เป็นความโง่ และที่ไปเพลินอยู่นั้นมันก็เป็นความโง่ จึงเป็นความอยากของความโง่ ทีนี้ก็แบ่งความอยากของความโง่นี้ออกเป็น ๓ พวก เรียกว่า กามตัณหา ความอยากที่เป็นไปในเรื่องของ กามารมณ์ เป็นเรื่องระหว่างเพศ แล้วก็เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภวตัณหา ความอยากที่เป็นไปในทางความมีความเป็น จะเป็นนั่น จะเป็นนี่ และก็อันที่สามเรียกว่า วิภวตัณหา อยากในความไม่มีไม่เป็น
ความอยากในทางกามารมณ์นั้นเป็นที่เข้าใจกันได้โดยง่าย ความอยากในความมีนั่นเป็นนี่ก็เข้าใจกันได้ไม่ยาก แต่ความอยากในความไม่มีไม่เป็นนั้น มันต้องสังเกตดูให้ละเอียด จึงจะเห็นว่า บางทีมันก็มีปัญหาในเรื่องที่เราไม่อยากจะมีไม่อยากจะเป็น เช่นอยู่อย่างนี้ ไม่พอใจแล้วก็อยากจะตาย บางเวลาความโง่ครอบงำมากถึงขนาดหนักก็ไปฆ่าตัวตาย นั้นทำไปด้วยวิภวตัณหา คือ ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น ไม่อยากจะอยู่ ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ นี้สรุปความว่าบรรดาความอยากของมนุษย์เราในโลกนี้มีเพียงเท่านี้ คือมีเพียง ๓ อย่างเท่านั้น แต่ถ้าไปจำแนกแจกแจงโดยรายละเอียดแล้ว มันเป็นตั้งร้อยตั้งพันตั้งหมื่นตั้งแสน แต่ถ้าสรุปแล้ว มันมีแต่เพียง ๓ ชนิดนี้
ทั้ง ๓ ชนิดนี้รวมเข้าด้วยกันแล้วเป็นเพียงอย่างเดียวเรียกว่า ตัณหา อยากด้วยความโง่แล้วก็เกิดความทุกข์ หมายความว่า เมื่ออยากอย่างไรแล้ว มันมีตัวฉันที่เป็นผู้อยาก ความรู้สึกเป็นตัวฉันว่ามีผู้อยากนั่นแหละคืออุปาทาน เมื่ออุปาทานอันนี้เข้าไปมีในสิ่งใด อันนั้นก็เป็นความหนักใจ ทรมานใจ บีบทับจิตใจขึ้นมาทันที ไอ้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ มันก็ถูกยึดถือเอาเป็นตัวตนของตนด้วยอุปาทานอยู่บ่อย ๆ เพราะว่ามันมีของข้างนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มันเข้ามาเกี่ยวข้องทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รูปที่สวยหรือไม่สวย เสียงที่เพราะหรือไม่เพราะ กลิ่นที่หอมหรือเหม็น ไอ้รสที่อร่อยหรือไม่อร่อย สัมผัสที่นิ่มนวลหรือกระด้าง กระทั่งไอ้ความรู้สึกทางใจ ที่เป็นที่พอใจหรือไม่เป็นที่พอใจ
พอเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วมันก็เกิดการปรุงแต่งไปตามเรื่องราวของจิตใจ จนเกิดความอยากชนิดนี้ขึ้นมาได้ เช่น ตาเห็นรูปที่สวย มันก็เกิดความอยากที่จะยึดครอง เห็นรูปที่ไม่สวยมันก็เกิดความอยากที่จะทำลายเสีย อย่างนี้เป็นต้น ความอยากอย่างนี้ ทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นความอยากของความโง่ กระทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่าเป็นความทุกข์ ปริยายใดปริยายหนึ่ง ตัณหาจึงถูกจัดไว้ในฐานะเป็นสมุทัย คือที่เกิดขึ้นแห่งความทุกข์เช่นนี้ เพราะมันทำให้เกิดอุปาทาน พอมีอุปาทานในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นของหนัก บีบกดทับจิตใจของบุคคลนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอริยจ์สัจข้อที่ ๒
ทีนี้ก็มาถึงอริยสัจจ์ข้อที่ ๓ เรียกว่า ความดับแห่งความทุกข์ มีพระบาลีว่า
อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์คือความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ก็มีอยู่
โย ตสฺสาเยว ตณฺหาย อเสสวิราคนิโรโธ นั่นคือ ความดับสนิท เพราะความจางไปโดยไม่เหลือของตัณหานั้นนั่นเอง
จาโค เป็นความสลัดทิ้ง
ปฏินิสฺสคฺโค เป็นความสลัดคืน
มุตฺติ ความปล่อย
อนาลโย เป็นความกระทำไม่ให้มีที่ตั้งที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น
คำพูดมีหลายคำ แต่รวมความแล้วก็เหลือคำเดียว คือว่า ดับไปโดยไม่มีเหลือแห่งตัณหานั้น นั่นเป็นความดับแห่งเหตุของความทุกข์ ดังนั้นความทุกข์จึงดับไป ฉะนั้นจึงถือเอาความที่ดันตัณหาดับไปนั่นแหละเป็นความดับแห่งความทุกข์ จาโค คือความสลัดทิ้ง ปฏินิสสัคโค คือความสลัดคืน นี่หมายความว่ามันตรงกันข้ามกับอุปาทานที่กล่าวมาแล้วในข้อ ๒ อุปาทานมันต้องการจะเอาไว้ จะกอดรัดไว้ไม่ยอมปล่อย
ที่เข้ามาถึงข้อนี้ มันเป็นการดับแห่งตัณหา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นการปล่อย ปล่อยออกไปหรือสลัดกลับออกไป นี่เรียกว่าหลุดพ้น ไม่มีอาลัย หมายความว่าไม่มีที่ตั้งที่อาศัยแห่งตัณหานั้น ก็ไม่มีที่ตั้งที่อาศัยแห่งความทุกข์นั้น นี่เรียกว่าอริยสัจจ์ข้อที่ ๓ เป็นความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์
ทีนี้ก็ทรงแสดงอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ ต่อไปเป็นข้อสุดท้ายว่า หนทางให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งความทุกข์ มีพระบาลีว่า
อิทํ โข ปน ภิกฺขเว ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์คือข้อปฏิบัติที่ทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์นั้นก็มีอยู่
อยเมว อริโย อฏฺฐงฺคิโก มคฺโค นั่นคือข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางอันประเสริฐ ประกอบไปด้วยองค์ ๘ ประการ
เสยฺยถีทํ ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ
สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นถูกต้อง
สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริถูกต้อง
สมฺมาวาจา ดำริถูกต้อง
เหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกครั้งหนึ่ง ว่าเมื่อมีความถูกต้อง ๘ ประการนี้แล้ว ตัณหาไม่มีทางเกิด ก็คือ มีความหมายว่ามันดับอยู่ เมื่อดับอยู่ก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อมีความเข้าใจถูกต้อง มีความดำริถูกต้อง อะไรถูกต้องอยู่ ๘ อย่างนี้แล้ว ก็หมายความว่า ไม่มีโอกาสที่ตัณหาจะเกิด ความดับไปไม่เหลือฝั่งตัณหานั้น ก็เพราะอำนาจของสัมมาทิฏฐิ ซึ่งมีกำลังมากขึ้น ๆ เพราะว่าองค์มรรคองค์อื่น ๆ ช่วยสนับสนุน จึงถือว่า อริยสัจจ์ที่ ๔ ก็คือ มรรคมีองค์ ๘
เมื่อใดมีความรู้ความเข้าใจอย่างนี้ก็เรียกว่า รู้อริยสัจจ์ แต่ต้องเป็นการรู้ที่ได้ผ่านเข้าไปในจิตในใจ รู้ออกมาจากใจ เหมือนกับว่าเราไปขยำเอาไฟแล้วรู้ว่ามันร้อนอย่างไร หรือว่าวางเสียมันก็ไม่ร้อนอย่างนี้ เป็นความรู้ออกมาจากจิตใจไม่ใช่ความรู้จากการอ่านหนังสือหรือการฟังอย่างเดียว การอ่านการฟังนั้นถ้าไม่ทำให้เกิดความรู้แจ้งในใจแล้ว มันก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติ
การปฏิบัติก็คือ ทำให้มันมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี้แจ่มชัดออกมา ด้วยการนั่งสังเกตพิจารณาจากความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจจริง ๆ เมื่อใดความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อนั้นจึงจะมีโรงเรียนให้เรียน มีบทเรียนให้เรียน แต่นี้คนมันโง่ พอความทุกข์เกิดขึ้น จะเป็นโอกาสให้ได้เรียนมันไปร้องไห้เสีย มันไปฆ่าตัวตายเสีย ไม่ต้อนรับความทุกข์ในฐานะเป็นบทเรียนหรือเป็นโรงเรียน
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี มีอยู่ในร่างกายที่ยังเป็น ๆ ที่ยังยาวประมาณวาหนึ่งนี้ หมายความว่าในร่างกายของคนเป็นไม่ใช่ในร่างกายของคนตาย มีเรื่องให้เรียนถึง ๔ เรื่อง คือ เรื่องความทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับสนิทแห่งความทุกข์ เรื่องทางให้ถึงความดับสนิทแห่งความทุกข์
แต่ในสูตรนี้ ท่านไม่เรียกว่าทุกข์ ท่านเรียกว่า โลก เพราะให้มันน่ากลัวหรือว่าน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก ว่าโลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับสนิทแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งโลกก็ดี อยู่ในร่างกายของคนที่เป็น ๆ ที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้ ดังนั้นเราจะต้องเป็น ๆ คือยังไม่ตาย แล้วเราจะต้องมีไอ้บทเรียนที่แท้จริงคือตัวความทุกข์ เราจึงจะรู้จักความทุกข์ แล้วรู้จะรู้จักเหตุของมัน แล้วก็จะได้รู้จักไอ้ภาวะที่ตรงกันข้ามคือความไม่มีทุกข์ เพราะปฏิบัติถูกต้อง ๘ ประการนั้นอยู่เสมอ
ทีนี้เอาเป็นว่า เราเคยทุกข์กันมาแล้วทุกคน ถ้าเอาความทุกข์ที่เคยทุกข์มาแต่ก่อนนั่นแหละมาพิจารณา ก็จะเข้าใจความทุกข์นี้ได้มากยิ่งขึ้น จนรู้ว่าความทุกข์เป็นอย่างไร เหตุให้เกิดทุกข์เป็นอย่างไร นี่ได้เหมือนกัน แต่ยังไม่ดีเท่าไอ้ตัวความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่จริง ๆ แต่แล้วมันก็เสียตรงที่ว่าไอ้ความทุกข์ที่กำลังเกิดอยู่จริง ๆ นี้ มันไม่ค่อยให้โอกาสที่จะพิจารณาด้วยสติปัญญา มันไปมัวทุกข์ร้อน เดือดร้อน กระวนกระวาย ระส่ำระสายเสีย ไปโกรธ ไปร้องไห้ ไปอะไรเสีย ก็เลยไม่ได้เรียน
ถ้าว่าจะให้มีประโยชน์ ก็มีสติที่เรียกว่า สัมมาสติ นี้ให้ดี ๆ ให้มากพอ พอความทุกข์เข้ามา ก็ถือเอาเป็นบทเรียน หรือเป็นโรงเรียนให้ได้ รู้ว่ามันเป็นอย่างไร รู้ว่ามันเกิดมาจากอะไร แล้วมันเพื่ออะไร มันเพื่อเราดับมันต่างหาก เราก็ปฏิบัติเพื่อการดับเสีย ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ ๆ นี่แหละเรียกว่าเรียนความทุกข์ เรียนเหตุให้เกิดทุกข์ เรียนความดับทุกข์ เรียนทางถึงความดับทุกข์ ในร่างกายของตัวเองที่ยังเป็น ๆ ที่ยังมีชีวิตจิตใจอยู่
พระพุทธเจ้าท่านตรัสแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ เป็นเรื่อง อริยสัจจ์ ๔ ประการดังนี้ และท่านยังสรุปให้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า เรื่องแรกเรื่องความทุกข์นั่น จะต้องศึกษาให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ ๆ แล้วให้รู้ต่อไปว่าควรจะทำอย่างไรกับมัน คือให้รู้ว่ามัน มันจะรู้จักมัน และต่อไปอีกว่ารู้จักมันแล้ว รู้จักมันแล้ว เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์นี่ ก็เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องดูให้รู้ว่า เหตุให้เกิดทุกข์มันคือเป็นอย่างนี้ ๆ คือ ตัณหา มันเป็นอย่างนี้ ๆ และหน้าที่ของเราจะทำอย่างไร หน้าที่เราคือ ละมันเสีย และก็ต้องรู้ว่าเราเดี๋ยวนี้เราได้ละมันแล้ว ในหลักที่ ๓ ก็ว่า ความดับสนิทแห่งทุกข์นี้มันเป็นอย่างไร หน้าที่ของเราคืออะไร คือทำให้แจ้งให้ปรากฏ ให้แจ้งให้ปรากฏ กะจิต กระทั่งว่าเราได้ทำให้แจ้งแล้ว
อริยสัจจ์ที่ ๔ คือมรรค มีองค์ ๘ นี้ มันเป็นอย่างนี้ ๆ หน้าที่ของเราคือ จะต้องทำให้มันเกิดมีขึ้นมาให้ได้ ทั้งรู้ว่าเดี๋ยวนี้เราได้ทำให้มันเกิดมีขึ้นมาแล้ว อริยสัจจ์มีอยู่ ๔ ข้อ ในข้อ ๆ หนึ่งมีหน้าที่ ๓ ประการ คือรู้ แล้วรู้หน้าที่ที่จะต้องทำและรู้ว่าทำหน้าที่นั้นเสร็จแล้ว เราเรียกว่าอาการ ๑๒ ประการของอริยสัจจ์ รูปวงล้อธรรมจักร ถ้าเขียนถูกต้องตามแบบฉบับตามหลักพระบาลีนี้แล้ว จะต้องมีซี่ล้อ ๑๒ ซี่ เพราะว่าอริยสัจจ์มี ๔ อริยสัจจ์หนึ่ง ๆ มี ๓ อย่าง เรียกว่า สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ มันจึงเป็น ๑๒ อย่างหรือ ๑๒ อาการ ถ้าเราเห็นวงล้อภาพวงล้อ ๑๔ ๑๒ ซี่อย่างนี้แล้ว ก็คิดให้เข้าใจอย่างนี้ มันก็เป็นเรื่องอย่างนี้ เป็นเครื่องช่วยให้ไม่ลืม แล้วก็ช่วยให้เข้าใจและช่วยให้รู้แจ้งในที่สุด
วงล้อในภาษาบาลีเรียกว่าจักร จักรนั่นแปลว่าล้อ แม้ล้อเกวียนเขาก็เรียกว่าจักรของเกวียน หรือล้ออะไรกลม ๆ เขาก็เรียกว่าจักร แม้แต่ไนปั่นฝ้าย เขาก็เรียกว่า จักรปั่นฝ้าย เพราะว่าคำว่าจักร แปลว่า วงกลมที่หมุนได้ แต่นี้คำว่าจักรที่หมายถึงล้อนั้น มาเป็นชื่อของ พระธรรม เรียกว่า ธรรมจักร ก็หมายความว่า พระธรรมที่มีอาการ ๑๒ เป็นวงกลมที่จะหมุนไปสำหรับขยี้ความทุกข์ให้แหลกราญ และจะตัดความทุกข์ให้ขาดออกไปด้วยจักรอันนี้ เพราะเหตุฉะนี้คำสอนข้อนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตน คือเป็นการหมุนจักรธรรมะของพระพุทธเจ้า หมุนเพื่อจะดับทุกข์ ด้วยการ ๆ ๆ ตรัสความจริงอันประเสริฐข้อนี้ เป็นความจริงที่ใคร ๆ ค้านไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นพวกเทวดาหรือเป็นพวกมนุษย์ก็ค้านไม่ได้ ที่จะเป็นพวกมารพวกพรหมพวกอะไรทุก ๆ พวกก็ค้านไม่ได้ จึงได้เรียกว่า อนุตตรธรรมจักร จักรที่ไม่มีจักรอื่นยิ่งกว่า ที่ใคร ๆ จะโต้ให้หมุนกลับไม่ได้ มันมีแต่จะหมุนไปข้างหน้าเรื่อย นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า อริยสัจจ์ ตั้งอยู่ในฐานะเป็นจักรของธรรมะสำหรับหมุนไปตัดความทุกข์ โดยพระพุทธเจ้าเป็นผู้หมุน หมุนคือประกาศให้สัตว์ทั้งหลายได้เข้าใจและได้ปฏิบัติในสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ ภิกษุปัญจวัคคีย์ ในวันเช่นวันนี้
และในหมู่ภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น มีองค์หนึ่งเห็นแจ้งประจักษ์พยานคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็น ๆ บุคคลแรกที่ได้บรรลุมรรคผลในพุทธศาสนาก่อนคนอื่น เป็นพระอริยสาวกขึ้นมา นี้ส่วนที่จะประกาศให้เป็นไปเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่บุคคลอื่น ที่เรียกว่า การแสดงธรรมจักร ซึ่งกระทำไปในวันนี้ ที่เรียกว่า วันอาสาฬหปุรณมี ก็คือ การประกาศอริยสัจจ์นั่นเอง
ส่วนพระองค์เองนั้นยังได้มีตรัสปรารภถึงพระองค์เองว่า ถ้ายังไม่รู้เรื่องนี้ยังไม่ประกาศตัวเป็นพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อรู้เรื่องนี้ถึงที่สุด จึงจะประกาศตัวเป็นพระพุทธเจ้า คือประกาศตัวว่าเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งความดับทุกข์ ซึ่งอริยสัจจ์ ดังนั้นความเป็นพระพุทธเจ้าก็คือ ความรู้อริยสัจจ์ แล้วก็แสดงหรือประกาศให้บุคคลอื่นรู้ตามด้วย นี้เป็นใจความสำคัญของบาลี ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ทรงปฏิญญาณว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งรู้ว่าความทุกข์ไม่มีเหลืออยู่แล้ว มีบาลีในตอนนี้ว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ญาณทัศนะได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
อกุปฺปา เม วิมุตฺติ ว่าการหลุดพ้นจากความทุกข์ของเราไม่กลับคืนหลัง
อยมนฺติมา ชาติ ความเกิดนี้เป็นความเกิดสุดท้าย
นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ ความเกิดอีกย่อมไม่มี
แล้วก็จบเรื่อง ทีนี้ก็มีส่วนที่จะต้องทำความเข้าใจ ชนิดที่จะเป็นความดับทุกข์ได้ ผู้ที่ต้องการจะเข้าใจและดับทุกข์ได้จริง ๆ นั้น มันต้องมีความพยายามพากเพียรในการที่จะสังเกต คือจะต้องมีความการสังเกตก่อนเป็นเรื่องแรก ให้รู้จักสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ที่มีกำลังมีอยู่ในจิตใจนั้นจริง ๆ มีความทุกข์เกิดขึ้นก็มีสติกำหนดรู้ สังเกต เพื่อความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าทุกข์ และก็เหตุให้เกิดทุกข์ และก็สิ่งที่ตรงกันข้าม
ทีนี้ถ้าว่าจะต้องทำมากนักมันก็ไม่ไหว พระองค์ก็ได้ตรัสไว้ในที่อื่น ๆ สำหรับที่จะปฏิบัติได้โดยง่าย เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าจะมีวิธีป้องกันอย่างไร หรือเกิดขึ้นแล้วจะสลัดออกไปได้อย่างไร ก็เป็นการแสดงที่รวบรัดเฉพาะการเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน มีพระบาลีที่ตรัสไว้ในสูตรที่เป็นหลักฐาน มีอยู่หลาย ๆ สูตรด้วยกัน โดยเฉพาะระบุไปยังปัญจุปาทานักขันธ์ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ด้วยอริยสัจจ์ก็จะง่ายเข้า ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะมีแต่ปัญหา
ว่าเดี๋ยวนี้ปัญจุปาทานักขันธ์มันก็มีอยู่มีอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิด สิ่งที่เรียกว่าปัญจุปาทานักขันธ์อันเป็นตัวทุกข์นั้น มันเพิ่งจะเกิดและมันเกิดต่อเมื่อมีเหตุทำให้เกิดเป็นครั้งเป็นคราว ผู้ที่ยังไม่เข้าใจมาฟังให้ดี ๆ ให้รู้ว่าปัญจุปาทานักขันธ์นั้นเพิ่งเกิด ต่อเมื่อมีความโง่เกิดขึ้น ไปยึดมั่นในเวทนาที่มากับที่มีกระทบทางตาทางหู เป็นต้น แล้วเกิดเวทนาขึ้น แล้วก็ยึดมั่นเวทนานั้นโดยความเป็นเวทนาของเราแล้ว ปัญจุปาทานักขันธ์ก็จะเกิดขึ้นมาทันที
เรื่องนี้มันเป็นสิ่งที่ละเอียดสักหน่อย คงจะต้องการเวลาศึกษามากหน่อย แต่ควรจะรู้ไว้เป็นหลักสำคัญในขั้นต้นว่า สิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์ที่เป็นตัวทุกข์คือ ปัญจุปาทานักขันธ์ นั้นมันเพิ่งเกิด ถ้าพูดกันอย่างฟังง่ายกว่านี้ก็พูดว่า ตัวเรานี้เพิ่งเกิดเป็นคราว ๆ เมื่อมีการกระทบทางตาทางหู เป็นต้น ถ้าเราโง่ เมื่อนั้นแล้วมันจะเกิดตัวเรา ถ้าเราไม่โง่ มีสติปัญญาตามแบบของพระพุทธเจ้าอยู่เสมอแล้ว ตัวเราไม่เกิด ตัวเราไม่เกิดก็ไม่มีความทุกข์
ไอ้ตัวเราชนิดที่เกิดมาจากท้องแม่นั้น มันเสร็จเรื่องกันไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงอีก นั้นมันเป็นเพียงร่างกาย ๆ หรือทุกอย่างที่มันเกี่ยวกับร่างกาย เกิดออกมาจากท้องแม่เมื่อกี่สิบปีมาแล้วก็ตาม นั้นเกิดแล้วและมันก็เกิดเสร็จแล้ว และมันก็ยังรอไปกว่าจะถึงโอกาสอันหนึ่งซึ่งร่างกายมันจะแตกดับ นี้ไม่เกี่ยวกับความทุกข์ตามแบบของพระพุทธเจ้า
ความ ๆ ทุกข์ตามแบบของพระพุทธเจ้านี้ มันเป็นตัวเราอีกอันหนึ่ง คือตัวเราของอุปาทาน คือความโง่ ความหมายมั่นสำคัญว่าตัวเรา เกิดขึ้นเมื่อไรเป็นทุกข์ทุกที ตัวเราอย่างนี้เพิ่งเกิดมันจะเกิดบ่อย ๆ เมื่อตาได้เห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เป็นต้น มันก็จะปรุงกันไปจนเกิดเป็นเวทนา พอเป็นเวทนาขึ้นมาแล้ว ถ้าจิตมันยังโง่อยู่ ไปยึดมั่นในเวทนานั้น เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอะไรก็ตาม มันจะเกิดมีความรู้สึกที่เป็นตัวเราที่อยากอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเวทนานั้น
ถ้าเวทนามันเป็นสุขหรือมันอร่อย ใจมันก็มีตัวเราอร่อย ที่จะยึดที่จะเอาที่จะเป็นไปในทางที่อร่อย ถ้าไม่อร่อยมันก็มีความรู้สึกเป็นตัวเราชนิดที่เกลียดชัง มีความเกลียดชังเป็นตัวเราเกลียดชัง มันเป็นตัวเราด้วยกันทั้งนั้น และก็เรานั่นแหละเรียกว่าเกิดขึ้นมาแล้วและเพิ่งเกิดเมื่อหยก ๆ นี้เอง แล้วก็เป็นทุกข์ไปเรื่อย จนกว่าไอ้ความเข้าใจว่าตัวเรานี้จะดับหายไป จึงจะหยุดทุกข์กันอีกสักทีหนึ่ง
ทีนี้จะพูดให้ละเอียดต่อไป ตามหลักของพุทธศาสนาก็ว่า ตัวเรานั้นมิได้มี ตัวเรานี้เป็นเพียงความเข้าใจผิดสำคัญโง่ว่าเป็นตัวเรา จึงได้เชื่อเชื่อถือไปเตลิดเปิดเปิงไปว่ามีวิญญาณเป็นตัวเราคอยรู้สึกนั่นนี่ นั่นก็เป็นความโง่อวิชชาอีกประเภทหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ไอ้ที่เรียกว่าวิญญาณ ๆ นั้นมันเป็นของเพิ่งเกิด ต่อเมื่อมีเหตุให้เกิด คือ เช่นเมื่อตากระทบเข้ากับรูป ไอ้ความรู้สึกต่อรูปนั้นมันเป็นหน้าที่ของเส้นประสาทของอะไรก็ตามที่เราเรียกกันสมัยนี้ แต่ทางธรรม ๆ ตามทางธรรมะเขาเรียกว่า วิญญาณ ความรู้แจ้งทางตา เกิดขึ้นที่ตา สำหรับรู้แจ้งรูปที่เข้ามากระทบ
มันก็เกิดเป็นของ ๓ สิ่งขึ้นมา คือ รูปที่มากระทบอย่างหนึ่ง แล้วก็ตานี้อีกอย่าง แล้วก็วิญญาณที่เกิดขึ้นทางตาอย่างหนึ่ง รวมเป็น ๓ อย่าง นี้การกระทบกันระหว่างสิ่งทั้ง ๓ นี้ เขาเรียกว่า ผัสสะ เกิดจักษุสัมผัสขึ้นมา เมื่อมีผัสสะอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดมาจากสัมผัสนั้น เป็นเวทนาว่า ถ้าสมมติว่าทางตาก็เป็นรูปสวยหรือว่ารูปไม่สวย หรือว่าทั้งไม่ ๆ กล่าวได้ว่าสวยหรือไม่สวย มันมีเพียง ๓ อย่างเท่านั้น สวยก็เป็นสุขเวทนา ไม่สวยก็เป็นทุกขเวทนา ถ้าไม่กล่าวได้ว่าสวยหรือไม่สวย มันก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา
ที่ทางหูก็เหมือนกัน เสียงอย่างหนึ่ง หูอย่างหนึ่ง วิญญาณทางหูอย่างหนึ่ง ๓ อย่างกระทบกันเข้าแล้วก็เรียกว่า โสตสัมผัส สัมผัสทางหู มันก็เกิดเวทนาทางหู เสียงเพราะก็เกิดสุขเวทนา เสียงไม่เพราะเกิดทุกขเวทนา เสียงที่ไม่กล่าวได้ว่าเพราะหรือไม่ ๆ เพราะ มันก็เป็นอทุกขมสุขเวทนา คือไม่สุขไม่ทุกข์ นี้ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางก็เหมือนกัน มันจะมีการกระทบอย่างนี้ มีเวทนาอย่างนี้ เวทนาสำหรับให้รัก เป็นสุขเวทนา เวทนาสำหรับให้เกลียดให้โกรธเป็นทุกขเวทนา เวทนาที่ไม่เป็นทั้งสุขและทุกข์ก็มีอยู่ชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้โง่ต่อไปอีก
ที่เมื่อเกิดเวทนาอย่างนี้แล้ว มันก็เกิดความอยากคือ ตัณหานั่นน่ะ ไปตามเวทนานั้น ความสุขเวทนามันก็เกิดความอยากได้อยากเอา คือเกิดกามตัณหาหรือภวตัณหา เป็นต้น ถ้าไม่น่ารัก ไม่อร่อย ไม่ สำหรับเป็นทุกขเวทนา มันก็เกิดตัณหาที่เป็น วิภวตัณหา ที่ไม่อยากเอาไม่อยากเป็น
ดังนั้นเวทนาทั้งหลาย ย่อมให้เกิดตัณหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเกิดตัณหาแล้วก็ ๆ ๆ ต้องมีเจ้าของตัณหาน่ะ คือ มีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จิตมันก็คิดว่ากูเป็นผู้และอยากหรือผู้จะได้ตามที่อยากหรือผู้กระทำไปตามอยากกูเป็นผู้แล้ว พอมีกูอย่างนี้แล้ว ก็มีความทุกข์ ขนาดที่เรียกว่าเบญเบญจขันธ์ที่ประกอบด้วยอุปาทาน ได้เกิดแล้ว
ร่างกายในขณะนั้นเปลี่ยนเป็น รูปูปาทานักขันธ์ คือรูปที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
เวทนาที่เกิดอยู่จิตขณะนั้นกลายเป็น เวทนูปาทานักขันธ์ เวทนาที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
และความสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นในเวทนานั้น ก็เป็น สัญญูปาทานักขันโธ เป็นสัญญาที่มีอุปาทาน
คิดนึกอะไรออกไปในขณะนั้นก็เรียกว่า สังขารูปาทานักขันโธ เป็นสังขารที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
และจิตในขณะนั้นก็เรียกว่า วิญญาณูปาทานักขันโธ เป็นวิญญาณที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน
ดังนั้นเบญจขันธ์ ๕ ประการ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ได้เกิดขึ้นในขณะนั้น เมื่อนั้นเอง ไอ้ตัวกูก็เพิ่งเกิดเมื่อขณะนั้นเอง นี่คือข้อที่กล่าวไว้เป็นหลัก ว่าแม้ปัญจุปาทานักขันธ์ก็เพิ่งเกิด เกิดเดี๋ยวนี้เอง คือเกิดเมื่อมีอะไรมากระทบแล้วเกิดเวทนาขึ้นมา
อย่าได้เข้าใจว่า ปัญจุปาทานักขันธ์ เกิดอยู่ตลอดเวลา มันเกิดเป็นครั้งเป็นคราวอย่างนี้ เกิดเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น เกิดเมื่อไรเป็นทุกข์เมื่อนั้น นี้เกิดวันหนึ่งหลายหนก็เป็นทุกข์หลายหน เกิดน้อยหนมันก็เป็นทุกข์น้อยหน ไม่ยังไม่เกิดมันก็ไม่เป็นทุกข์ นี่ขอให้เข้าใจว่า ปัญจุปาทานักขันธ์ นั้นเพิ่งเกิดอย่างนี้ เกิดเมื่อมีตัณหาไอ้เวทนา เวทนาเกิดเมื่อมีการกระทบทางผัสสะ การกระทบทางผัสสะจะเกิดต่อเมื่อมีอายตนะภายใน อายตนะภายนอกและวิญญาณทางอายตนะนั้นกระทบกันเข้า
จำไว้เป็นตัวอย่างสักเรื่องหนึ่ง เช่น เรื่องทางตา รูปข้างนอกมากระทบตา เกิดจักษุวิญญาณขึ้น ๓ อย่างนี้ทำหน้าที่ร่วมกันแล้วเรียกว่า ผัสสะ ผัสสะนี้ทำหน้าที่แล้วก็เกิดเวทนา ทุกอย่างนี้มันมาด้วยความโง่ ปราศจากสติ ไม่รู้อะไรตามที่เป็นจริง ดังนั้นเวทนานั้นมันจึงถูกยึดมั่นถือมั่นด้วยความโง่นั้น เรียกว่า เวทนาถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน ตอนนี้ให้เกิดตัวกูบ้าง เกิดของกูบ้าง จะเกิดปัญจุปาทานักขันธ์บ้าง แล้วก็เป็นทุกข์
นี่เรียกว่า ชาติ หรือ ความเกิดใน ปฏิจจสมุปบาท เกิดได้อย่างนี้แล้วก็เป็นทุกข์อย่างนี้ เมื่อไม่เข้าใจเรื่องนี้ ก็เข้าใจเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ไม่ได้ เข้าใจเรื่อง อริยสัจจ์ ไม่ได้ แล้วก็ดับทุกข์ไม่ได้ ถ้าเข้าใจได้มันก็ดับได้ ดังนั้นขอให้จำไว้เป็นหลักว่า ตัวกูนี้เพิ่งเกิด
พูดอย่างภาษาธรรมะแท้ ๆ ก็ว่า ปัญจุปาทานักขันธ์นี้เพิ่งเกิด คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เพิ่งเกิดพร้อม ๆ กันทั้ง ๕ ทั้ง ๕ ทั้งชุดเป็นคราว ๆ ครั้ง ๆ ไป แล้วแต่ว่ามันมีอะไรมากระทบ อย่าได้เข้าใจว่า เกิดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่ นั้นเป็นเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เข้าใจผิดตลอดกาล อย่างนั้นมันไม่เกี่ยวกับความทุกข์ ต่อเมื่อมันมาเกี่ยวกับเวทนา ที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานนี้แล้ว มันจึงจะเป็นทุกข์
ทีนี้จะขอกล่าวเลยไปถึง อนุสัย เสียด้วยเหมือนกันเลย คำว่าอนุสัยคำนี้แปลว่าตามนอน นอนตามหรือตามนอน บางทีก็เรียกว่า สังโยชน์ ก็สอนกันอยู่ทั่ว ๆ ไปว่า อนุสัย นอนเนื่องอยู่ในสันดาน กิเลสอนุสัยชนิดนี้ นอนเนื่องอยู่ในสันดานอย่างนี้ เกิดความเข้าใจผิดว่า อนุสัยมันมีอยู่ตลอดเวลาในสันดานในส่วนลึกของจิตใจ นี่คือผิด นี่คือโง่ คือเข้าใจผิด ที่แท้สิ่งที่เรียกว่าอนุสัยนั้นก็เพิ่งเกิด
นี่เป็นพุทธภาษิตตรัสไว้ชัดเจนว่า สิ่งที่เรียกว่าอนุสัยก็เพิ่งเกิด เมื่อมีการกระทบอย่างเดียวกันนั่นแหละ เช่น กระทบทางตา มีรูปมากระทบตา เกิดจักษุวิญญาณ เกิดผัสสะแล้วเกิดเวทนา ความโง่ยังมีอยู่ ไปยึดถือเวทนานั้นด้วยอุปาทาน นี้ถ้าเวทนานั้นเป็นสุขเวทนา จึงจะมีราคานุสัยเกิดขึ้น ถ้าเวทนานั้นเป็นทุกขเวทนา จึงจะมีปฏิฆานุสัยเกิดขึ้น ถ้าเวทนานั้นเป็นอทุกขมสุขเวทนา จึงจะมีอวิชชานุสัยเกิดขึ้น
นี่อนุสัยไม่ใช่เกิดอยู่ตลอดเวลา คำกล่าวอย่างนั้นมันผิด ไม่มีอะไรที่จะเกิดอยู่ได้ตลอดเวลา สังขารทั้งหลายต้องเกิดดับ เกิดดับ ๆ อนุสัยก็เป็นสังขาร อย่าด้วยเข้าใจตาม ๆ เขาที่พูดผิด ๆ ว่า อนุสัยเกิดอยู่ตลอดเวลา เหมือนก้อนหินก้อนหนึ่งอยู่ในจิตใจอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ มันผิด ให้ถือว่ามันเพิ่งเกิด ตามที่เป็นจริงนั้นมันเพิ่งเกิด
เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นมันก็เกิด ราคานุสัย คือ อนุสัยที่จะเป็นความเคยชินในการที่จะรัก ถ้าเรียกว่าความ ถ้าเป็นความรักความพอใจ มันก็มีชื่อเรียกอย่างอื่น คือเป็นราคะหรือเป็นโลภะเป็นอะไรไป แต่ถ้าเล็งเฉพาะความเคยชินที่มันจะเป็นความเคยชินต่อไปข้างหน้า อย่างนี้เรียกว่า อนุสัย ถ้าเกิดสุขเวทนาเมื่อไร ยึดมั่นในเวทนานั้นแล้ว สิ่งที่เรียกว่า ราคานุสัย มันก็เกิดขึ้น เพื่อความเคยชินเพิ่มขึ้น
ถ้าเวทนานั้นเป็นทุกข์ มันก็เกิด ปฏิฆานุสัย ปฏิฆะ แปลว่า ไม่ชอบใจ ขัดแค้นใจ โกรธเคือง นี่อนุสัยในทางความเกลียด ความชัง ความโกรธ มันก็เกิดขึ้น ทีนี้ถ้าเวทนานั้นไม่กล่าวได้ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ อย่างนี้แล้ว ก็เกิดอวิชชานุสัยคือความโง่พื้นฐาน เรียกว่า อวิชชานุสัย มันพร้อมที่จะโง่ต่อไปอีก จะมีความเคยชินในการโง่ต่อไปอีก นี่พระพุทธภาษิตมีอยู่อย่างนี้
ให้ถือไว้เป็นหลักเพื่อประกันความเข้าใจผิดว่า แม้แต่อนุสัยนี้ก็เพิ่งเกิด เมื่อเวทนาถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน แปลว่า ปัญจุปาทานักขันธ์นี้ก็เพิ่งเกิด ต่อเมื่อเวทนามันถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน ฉะนั้นในขณะที่เวทนาใดก็ตามถูกยึดถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานแล้ว กิเลสก็เกิดส่วนหนึ่ง เขาจะเป็นความทุกข์ แล้วอนุสัยก็เกิดอีกส่วนหนึ่ง สำหรับความเคยชิน ที่มันจะเกิดกิเลสและความทุกข์ง่ายเข้าในโอกาสข้างหน้า
นี่ถ้ารู้อย่างนี้ ก็จะเห็นได้ทันทีว่าไม่มีอะไรที่จะเกิดได้อย่างเที่ยงแท้ถาวร ล้วนแต่เพิ่งเกิดทั้งนั้น ถ้าเข้าใจว่า มีเกิดอยู่เที่ยงแท้ถาวร ก็เป็น สัสสตทิฏฐิ เป็น มิจฉาทิฏฐิ เสีย ปรับกันเข้าไม่ได้กับเรื่องของพระพุทธเจ้า และไม่มีทางจะดับได้ ถ้าเป็นของที่เที่ยงแท้ถาวรแล้ว จะดับมันอย่างไรได้ แต่นี่มันเป็นสิ่งที่จะเพิ่งเกิด และเกิดง่าย ดับได้ เกิดง่ายดับง่าย เราจึงสามารถที่จะขจัดออกไปได้ หรือป้องกันได้ คือทำอะไรได้ เพื่อไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมานี่เรียกว่า เคล็ดลับที่จะจับต้นเหตุของความทุกข์ มันมีอยู่อย่างนี้
ระวังว่าเมื่อเกิดเวทนาขึ้นในใจแล้ว อย่าได้เกิดความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ว่าเวทนานี้ของกู ถ้าเวทนาเป็นสุขอร่อยก็อร่อยของกู ถ้าเป็นทุกข์ไม่อร่อยก็ไม่อร่อยของกู ถ้าระวังอย่างนี้อย่างเดียวเท่านั้น มันก็จะไม่เกิดไอ้ความทุกข์ขึ้นมาได้ พร้อมกันนั้นมันจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ อยู่ในตัว ที่เราควบคุมไม่ให้มีอุปาทานในเวทนานั่นแหละ มัน ๆ ๆ ๆ ทำให้ความทุกข์เกิดไม่ได้ และเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ พร้อมอยู่ในตัว
ก็มีพระบาลีที่อื่นตรัสไว้ คือบาลีที่ควรจะจำชื่อไว้ว่า สฬายตนวิภังคสูตร ใน มัชฌิมนิกาย ส่วนที่เป็น อุปริปัณณาสก์ คือ ๕๐ สูตรตอนหลัง มีใจความสำคัญว่า มรรคมีองค์ ๘ คือทั้ง ๘ องค์นั้นน่ะสมบูรณ์ในขณะที่ไม่มีการยึดมั่นในเวทนาด้วยอุปาทาน มันเลยเป็นเรื่องที่สั้นนิดเดียวและง่ายนิดเดียว ขึ้นมาทันที
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในจิตแล้ว มีสติเพียงพอ ไม่ยึดมั่นเวทนานั้นด้วยอุปาทาน ว่าเวทนาของเราหรือเราอยากอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อนั้นมีอัฏฐังคิกมรรคสมบูรณ์ การที่รู้ถึงขนาดไม่ยึดด้วยอุปาทาน ในเวทนานั้น ๆ เป็น สัมมาทิฏฐิ เมื่อสัมมาทิฏฐิมีอยู่อย่างนี้ ความดำริ ความใฝ่ฝันที่จะไปหาทุกข์มันไม่มี มันมีแต่จะเพื่อจะเป็นไปเองเพื่อจะหยุด เพื่อจะดับ
ในขณะนั้นถือว่าเป็นผลการแม้เป็นการแม้จะเป็นการพูดจาก็เป็นการพูดจาถูกต้อง เป็นการกระทำก็เป็นการกระทำถูกต้อง เลี้ยงชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง พากเพียรอยู่อย่างถูกต้อง มีสติอย่างถูกต้อง มีสมาธิอยู่อย่างถูกต้อง ในภาวะของการที่จิตไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทานในเวทนานั้น ๆ นี่พระพุทธภาษิตอย่างนี้ไม่ค่อยเอามาพูดกัน เป็นเรื่องที่เป็นเรื่องที่เรียก ๆ กันได้ว่า เคล็ดลับที่สุด สำคัญที่สุด ประพฤติเพียงอย่างเดียวเท่านี้ ทำให้มรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์อยู่ด้วย ความทุกข์เกิดไม่ได้ด้วย
ก็หมายความว่ามันครบเรื่องอริยสัจจ์อยู่ใน ๆ ๆ ๆ ข้อนี้ ในฝ่ายที่จะไม่เกิดความทุกข์ มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากโดยที่ว่าไม่ต้องไปนึกถึงอะไรอื่นมากนัก นึกระวัง มีสติแต่เมื่อมันมีเวทนาเกิดขึ้นในจิตแล้ว เป็นทุกขเวทนาก็ตาม สุขเวทนาก็ตาม อทุกขมสุขเวทนาก็ตาม อย่าได้เผลอไปโง่เข้าว่า เป็นเวทนาของเรา อย่าให้จิตเกิดความรู้สึกเป็นตัวเรา เป็นเจ้าของเวทนานั้น ให้เวทนาก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา และจิตนี่ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา คือไม่ไปยึดเอาเวทนานั้นเข้า การยึดเวทนาเป็นตัวตนก็มี เมื่อนั้นความทุกข์ไม่อาจจะเกิด เมื่อนั้นอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้
นี่คือเคล็ดลับที่เกี่ยวกับอริยสัจจ์ หรือการปฏิบัติที่เกี่ยวกับอริยสัจจ์ เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติดั่งนี้แล้ว ได้รับประโยชน์จากการตรัสรู้เรื่องอริยสัจจ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะพูดกันในวันเช่นวันนี้ คือ วันอาสาฬหบูชา สมเด็จพระบรมศาสดาได้ประกาศอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ และเรื่องที่จะดับทุกข์ เขาก็ดับทุกข์ได้ด้วยการรู้จักควบคุมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้มีสติ
เมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้ว ให้ผัสสะเป็นเพียงผัสสะ ให้เวทนาเป็นสักว่าเป็นเวทนา อย่าได้ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน คือ อย่าเกิดตัณหา อย่าเกิดอุปาทาน เวทนานั้นก็เป็นหมันไปเอง เป็นเวทนาที่สักแต่ว่าเวทนา ไม่ปรุงให้เกิดตัณหาอยากอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ปรุงเป็นตัวกูของกูผู้เป็นเจ้าของความอยาก หรือจะได้รับสิ่งที่อยาก หรือจะได้เสวยไอ้รสชาติของสิ่งที่อยาก ทำได้อย่างนี้ เวทนาก็จะเป็นสักแต่ว่าเวทนาแล้วสลายตัวไป ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ไม่เกิดความทุกข์
สรุปให้สั้นเข้ามาอีกก็ว่า มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เกิดอุปาทานคือความรู้สึกที่มั่นหมายเป็นตัวเราของเรา ยึดมั่นเป็นตัวเราของเรา เรื่องมันก็จบกันเท่านั้น ไม่มีอะไรมากกว่านั้น ในคำพูดสั้น ๆ นั้นมีอริยสัจจ์ครบถ้วน มีอริยมรรคครบถ้วน เป็นการดับทุกข์อยู่ตลอดเวลานั้น ถ้าว่ากำลังของอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือกำลังของการที่ไม่ยึดมั่นในเวทนานั้นมันมีมากพอ มันก็ทำให้เกิดการบรรลุมรรคผลขั้นใดขั้นหนึ่ง เป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี หรืออนาคามี หรืออรหันต์ก็ได้ แล้วแต่ไอ้ความมากน้อยของกำลังของอริยมรรคนั้น
ดังนั้นเราก็ถือหลักอันนี้ตลอดเวลาและก็มากเท่าที่จะทำได้ มันก็เป็นผู้ที่เรียกว่า นิพฺพานสฺเสว สนฺติเก คืออยู่ใกล้ต่อพระนิพพาน ง่ายต่อการที่จะบรรลุพระนิพพาน แล้วมันก็บรรลุเข้าวันหนึ่งเป็นแน่นอน ขอให้มีชีวิตอยู่อย่างนี้ ในลักษณะอย่างนี้ ให้สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ถ้าเป็นอยู่โดยชอบแล้ว โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์
เมื่อพระพุทธเจ้าจะนิพพานอยู่หยก ๆ แล้วท่านยังตรัสว่า สเจ ภิกฺขเว ภิกฺขู สมฺมา วิหเรยฺยํ อสุญฺโญ โลโก อรหนฺเตหิ อสฺส คือถ้าภิกษุถ้าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นอยู่โดยชอบไซร้ โลกไม่ว่างจากอรหันต์ นี่ถ้าถามว่าเป็นอยู่โดยชอบคือเป็นอยู่อย่างไร ก็ตอบว่าเป็นอยู่โดยชอบคือเป็นอยู่ชนิดที่มีสติสัมปชัญญะ ควบคุมการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เกิดเป็นเวทนาที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน นี้มันก็ชอบ ถูกต้องอยู่เสมอไป กิเลสเกิดไม่ได้ ความเคยชินของการเกิดกิเลสมีไม่ได้ มันก็มีแต่ความเคยชินจะไม่เกิด โอกาสหนึ่งมันก็ถึงขนาดที่เรียกว่าความเคยชินของการเกิดกิเลสมันขาดลง นี่ก็เป็นการบรรลุมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งขั้นใดขั้นหนึ่งเป็นแน่นอน
การปฏิบัติอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ นี้เรียกว่า เป็นอยู่โดยชอบในลักษณะอย่างนี้ ความหมายคือไม่ให้เกิดอุปาทานในเวทนาทั้งหลาย หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้เอาไปคิดไปนึก เพื่อเกิดความรู้ความเข้าใจแจ่มแจ้ง ถูกตรงยิ่งกว่าปีที่แล้วมา ให้เป็นการก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไปทุกปี ก็จะไม่เสียทีที่ว่าเราได้ขวนขวาย ได้พยายามและก็ทำวิสาขบูชา อาสาฬหบูชา มาฆบูชากันทุกปี ๆ มันควรจะดีขึ้น ๆ ในลักษณะอย่างนี้ ไม่มีเรื่องอะไร
อย่าไปเห่อเรื่องวิปัสสนา กรรมฐงกรรมฐานอะไร จนไม่รู้ว่าทำอะไร ยอดสุดของวิปัสสนาก็คืออยู่ที่ตรงนี้ เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาแล้วอย่าเผลอสติ ให้มันเกิดความรู้สึกที่เป็นอุปาทานเท่านั้นเอง นั่นแหละคือวิปัสสนาทั้งหมด เป็นรากเป็นฐานเป็นยอดเป็นอะไรอยู่ในนั้น แล้วเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานอยู่ที่นั่น
ขอให้ความเป็นอย่างนี้มันมากขึ้นทุกปี ก็จะเรียกว่ามีความก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายอยู่ทุกทิพาราตรีกาล
การทำอาสาฬหบูชาควรจะทำด้วยจิตใจที่ก้าวหน้าในลักษณะอย่างนี้จึงจะสมกัน คือจะสูงสุด สมกับที่พระพุทธเจ้าท่านทรงมีคุณธรรมสูงสุด มีบุญคุณสูงสุดแก่พวกเราทั้งหลาย มีอะไร ๆ ชนิดที่เป็นสูงสุดทั้งนั้น เราก็ต้องพยายามที่จะก้าวหน้าไปในทางที่มันจะทำให้สูงสุดไปตาม
ขอให้ไอ้ความหวังอันนี้เป็นผลสำเร็จเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยกันจงทุก ๆ คนเทอญ
ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้