แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาปรารภวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ได้ทราบกันอยู่เป็นอย่างดีแล้ว การที่ท่านทั้งหลายบางคนบางคณะได้มาจากที่ไกลสู่สถานที่นี้เพื่อจะทำวิสาขบูชา มีอยู่มากมายหลายหมู่หลายคณะด้วยกัน ดังนั้นควรจะได้ปรารภกันถึงสถานที่นี้พอเป็นเครื่องประดับสติปัญญาในเบื้องต้นด้วย สถานที่แห่งนี้มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีทั่วไปอยู่แล้วว่า สวนโมกขพลาราม แต่บางคนก็ยังไม่ทราบว่าความหมายของคำว่า สวนโมกขพลาราม นี้คืออะไร สำหรับท่านผู้ที่ยังไม่ทราบไม่เข้าใจ ควรจะได้ทราบ และถ้าได้ทราบแล้วก็จะเข้าใจธรรมะที่จะได้แสดงต่อไปได้โดยง่ายด้วย คำว่า โมกขพลาราม นั้นประกอบขึ้นด้วยคำคือ โมกขะ พละ อาราม ๓ คำด้วยกัน โมกขะ แปลว่า รอดพ้น พละ แปลว่า กำลัง อาราม แปลว่า สวนป่า เราจะพิจารณากันถึงคำว่าสวนป่าหรืออารามนี้ก่อน
คำว่า อาราม ตามตัวหนังสือนั้นแปลว่าเป็นที่มายินดีอย่างยิ่ง ป่าใดเข้าไปแล้วรู้สึกสบายใจหรือยินดีปรีดาในธรรมชาติอันมีอยู่ ณ ป่านั้น ป่านั้นก็ชื่อว่าอาราม ในภาษาบาลีเรียกว่า อาราม ในภาษาไทยอาจจะมีความหมายเพี้ยนไปบ้างก็ได้ เพราะคำว่าอารามในภาษาไทยมักจะหมายถึงวัด โดยเนื้อแท้นั้นคำว่าอารามมิได้หมายถึงวัด แต่แปลว่าป่าเป็นที่มายินดีของบุคคลผู้เข้าไป นี้จะต้องทราบไว้ก่อนว่าในครั้งพุทธกาลนั้นสิ่งที่เรียกว่าวัดนั้นไม่เหมือนกับวัดในบัดนี้ สิ่งที่เรียกว่าวัดในสมัยพุทธกาลก็คือสิ่งที่เรียกว่าอารามนั่นเอง คือเป็นสวนป่าที่น่ารื่นรมย์ของบุคคลผู้มีอำนาจวาสนา มีอิทธิพล เช่นพระราชาหรือคฤหบดี เป็นต้น ต่างก็จัดสวนป่าสำหรับไว้เป็นที่เที่ยวเล่นแห่งตนๆ ครั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปถึงที่นั้นๆ ก็มีบางคนที่ได้ถวายป่าหรือสวนป่านั้นแก่พระพุทธเจ้าเป็นที่ประทับแรม และถวายเป็นของสงฆ์สำหรับสงฆ์จะมาอาศัยเมื่อใดก็ได้ ที่เคยเรียกว่าสวนป่าหรืออารามมันก็กลายเป็นวัดขึ้นมา แต่ก็คงอยู่ในสภาพเดิมคือเป็นสวนป่าที่เยือกเย็น ไม่มีสิ่งก่อสร้างอะไรมากมายเหมือนวัดในประเทศไทยเราในสมัยนี้ จึงมีความเยือกเย็นอยู่ตามเดิมเรียกว่าอาราม แปลว่าป่าเป็นที่มายินดีของบุคคลผู้เข้าไปในสถานที่นั้น นี้คือความหมายของคำว่าอาราม และสิ่งที่เรียกว่าอารามนี้จะอยู่นอกเมือง คืออยู่นอกกำแพงเมือง พอตกค่ำลงประตูเมืองเขาปิด พระจะเข้ามาในเมืองไม่ได้ เพราะว่าอารามแต่ละแห่งก็อยู่นอกกำแพงเมืองทั้งนั้น ก็มีระยะไกลพอสมควรด้วย มิได้มีวัดอยู่ในท่ามกลางหมู่บ้านเหมือนอย่างในสมัยนี้ จึงไม่มีความคลุกคลีกันในระหว่างบรรพชิตและคฤหัสถ์เหมือนอย่างสมัยนี้ และพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้อย่างชัดเจนและรัดกุมสำหรับภิกษุจะไม่เข้าไปในเมือง และประตูเมืองก็ปิดด้วย ยังเหลืออยู่ก็แต่บ้านเล็กบ้านน้อยเป็นกระท่อมของชาวไร่ชาวนา นี้ก็นับว่าไม่มีความหมายอะไร และชาวบ้านส่วนใหญ่ก็อยู่ในเมืองทั้งนั้น ทีนี้คำว่า โมกขะ นี้แปลว่าความรอดพ้นหรือความหลุดพ้น หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ถ้าหมายถึงกิริยาอาการก็หมายถึงการหลุดพ้น ถ้าหมายถึงผลก็คือความสุขที่เกิดมาจากความหลุดพ้นนั้น ในที่นี้หมายถึงการปฏิบัติเพื่อทำความหลุดพ้น ส่วนคำว่า พละ หรือกำลังนั้น ก็เป็นไอ้ความหมาย เป็นคำที่มีความหมายตามธรรมดาคือว่าเป็นกำลัง
ทีนี้ป่าไม้เป็นกำลังของความหลุดพ้นนั้นก็หมายความว่าป่าไม้ชนิดนี้ช่วยได้เป็นอย่างมาก ในการที่จะทำให้เกิดการหลุดพ้นขึ้นมา เพราะว่าป่าไม้ตามธรรมชาตินั้นก็เย็นสบาย และยิ่งกว่านั้นมีอิทธิพลอะไรบางอย่างซึ่งท่านทั้งหลายมักจะไม่ค่อยสังเกต เหมือนกับที่อาตมาเคยบอกกล่าวแก่ผู้มาในสถานที่นี้ว่าที่นี่ต้นไม้ก็พูดได้ ก้อนหินก็พูดได้ เม็ดกรวดเม็ดทราย มดแมลงอะไรต่างๆก็ล้วนแต่พูดได้ คนก็ไม่เข้าใจว่าพูดได้นี่หมายความว่าอะไร บางคนก็เข้าใจเตลิดเปิดเปิงไป เหมือนกับว่ามีผีหรือมีเทวดาที่พูดได้ แล้วเขาก็ตั้งใจจะพูดหรือได้ตั้งใจจะฟังเพื่อจะขอหวยเบอร์ไปเสียอย่างนี้ มันเป็นเรื่องคนละเรื่องกันทีเดียว ที่ว่าต้นไม้พูดได้ ไอ้ก้อนหินพูดได้มีความหมายว่า ถ้าเรามานั่งนอนอยู่ใกล้ต้นไม้ใกล้ก้อนหินเหล่านี้แล้ว ความรู้สึกในใจหรือแม้แต่ความคิดความนึกก็ตามจะเกิดขึ้นมาในจิตใจ อย่างที่เรียกว่าแปลกประหลาดหรือผิดธรรมดา อย่างน้อยที่สุดความคิดนึก ความรู้สึกก็จะเป็นไปในทางที่มีความสงบเย็น และเป็นไปได้มากถึงขนาดที่ไม่ต้องรู้สึกตัวด้วย เมื่อผู้คนย่างเข้ามาสู่สถานที่เช่นนี้ อิทธิพลของความสงบสงัดหรือวิเวกตามธรรมชาตินี้ย่อมจะครอบงำจิตใจของเขาให้รู้สึกในความวิเวกอันนี้ เขาก็ลืมความทุกข์ความร้อน ลืมความกังวลหม่นหมองที่ติดมาแต่บ้านเรือน กลายเป็นจิตใจอันใหม่ ไม่มีความทุกข์เลย เพราะว่าเขาลืมไปหมดสิ้น คือลืมกระทั่งตัวเองว่าตัวเองมันก็มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เวลานั้นจิตว่างจากความรู้สึกว่าตัวเอง ว่าตัวกูว่าของกู มันจึงเกิดความรู้สึกที่สบายอย่างยิ่งขึ้นมา เขาก็ไม่รู้ว่านี่เป็นเพราะเหตุไร นี่แหละคือข้อที่ว่าต้นไม้พูดได้ก้อนหินพูดได้ จะบอกให้รู้จักสลัดความวุ่นวายความหม่นหมอง ความวิตกกังวล ความทุกข์ความร้อนต่างๆออกไปได้ ด้วยการทำให้เกิดความรู้สึกอย่างใหม่ ให้เกิดความคิดนึกอย่างใหม่ ถ้าเราไม่เดินมา เข้ามาในสถานที่นี้ ไม่มานั่งมานอนอยู่ที่นี่ ความคิดอย่างนี้มันไม่เกิดคือความเยือกเย็นสบายใจอย่างนี้มันไม่เกิด มันเกิดต่อเมื่อมาสู่สถานที่อย่างนี้ ได้รับอิทธิพลจากต้นไม้จากก้อนหิน จากดินจากทรายจากกรวดอะไรก็ตาม ซึ่งล้วนแต่มีอยู่ที่นี่ แม้ที่สุดแต่จะมีนก มีหนู มีแมลง มีมดดำมดแดงอะไรก็สุดแท้แต่ที่มันจะมี แต่ว่าทั้งหมดนี้ล้วนแต่จะแวดล้อมจิตใจให้ลืมสิ่งที่หม่นหมอง ให้ลืมแม้กระทั่งตัวเองได้ มาเพลิดเพลินอยู่กับสิ่งเหล่านี้ มีความสำคัญอยู่ที่ว่าเวลานั้นมันว่างจากตัวกูหรือของกู ความรู้สึกหรือความคิดนึกประเภทตัวกูของกูไม่ปรากฏในจิตใจ ไม่เกิดขึ้นมาในจิตใจได้จึงมีความรู้สึกอย่างนี้ อีกทีหนึ่งถ้าว่าเป็นพวกที่มีความคิดนึกละเอียดลออเหมือนพวกศิลปิน เข้ามาในสถานที่อย่างนี้แล้วก็จะอ่านออกคืออ่านลักษณะของต้นไม้ ลักษณะของก้อนหิน ลักษณะของบรรยากาศที่นี่ว่ามันหมายความว่าอย่างไร ตัวเองมีความร้อนรุ่มอยู่ในจิตใจมาจากบ้าน พอมาถึงที่นี่ ต้นไม้หรือก้อนหินก็ตามมันจะพูดว่าไอ้คนบ้า รู้จักหยุด รู้จักเย็น รู้จักยอมกันเสียบ้าง ถ้าคนหูหนวกก็ไม่ได้ยิน ถ้าคนหูปกติดีมันก็ได้ยิน และมันก็ละอายก้อนหิน มันก็ละอายต้นไม้ เพราะก้อนหินมันก็อยู่สงบเย็น ต้นไม้มันก็อยู่สงบเย็น อะไรๆก็มันอยู่ที่สงบเย็น ตัวเองมันบ้าไปคนเดียว มีจิตใจร้อนรุ่มระส่ำระสายนั่นนี่มาแต่บ้าน พอมาถึงนี่มันก็ละอายต้นไม้ก้อนหินที่ร้องตะโกนว่าหยุดกันเสียบ้าง ยอมกันเสียบ้าง อย่าให้มันมากไปนักเลย หรืออะไรก็แล้วแต่ว่าจะได้ยินอย่างไร หมายความว่าความรู้สึกมันปรุงแต่งขึ้นมาในจิตใจของบุคคลนั้น ด้วยอำนาจที่มองเห็นสิ่งแวดล้อมเหล่านี้อยู่รอบๆตัว ถ้าเป็นผู้มีจิตใจอย่างศิลปินมาก หรืออย่างกวี นักประพันธ์หรือกวีนิพนธ์มากก็จะยิ่งได้ยินสิ่งเหล่านี้มาก ได้ยินต้นไม้พูด ได้ยินก้อนหินพูด ได้ยินมดแมลงพูด ล้วนแต่พูดอย่างเดียวกันทั้งนั้น คือมันหัวเราะเยาะมนุษย์ที่มีความงุ่นง่าน มีความทุกข์ทนหม่นหมองอยู่ในจิตใจ ไม่สมแก่คำว่ามนุษย์เลย มนุษย์ต้องมีใจสูง ถ้ามีใจสูงจริงก็ต้องไม่เศร้าหมอง ไม่หม่นหมอง ไม่มีกิเลสมาครอบงำย่ำยีได้ เดี๋ยวนี้ใจมันต่ำ อะไรๆมันก็มาทับถมลงไปบนจิตใจ เงินทองก็ทับถมอยู่บนจิตใจ บุตร ภรรยาสามีก็ทับถมอยู่บนจิตใจ อาชีพการงานมันก็ทับถมอยู่บนจิตใจ เกียรติยศ อำนาจวาสนาอะไรๆก็ล้วนแต่มาทับถมอยู่บนจิตใจเพราะใจมันต่ำ มันก็เลยเกิดความรู้สึกคิดนึกได้ว่ามดแมลงมันก็ด่า ก้อนหินมันก็ด่า ต้นไม้มันก็ด่า ว่ามนุษย์นี้ช่างไม่เป็นมนุษย์กันเสียเลย เรามีรูปภาพอยู่ในตึกหลังนี้อยู่รูปหนึ่ง คือต้นหญ้ามันร้องด่าว่าเมื่อไรมนุษย์จะรู้จักหยุด รู้จักเย็นมาเต้นรำอย่างเราบ้าง ในรูปเขียนรูปนั้นก็มีต้นหญ้าที่กำลังปลิวไสวไปตามลม และก็มีใบไม้แห้งเหลือแต่ใย เหลือแต่เส้นใยอยู่ใบหนึ่ง ใบไม้แห้งนั่นเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงจิตที่ไม่มีตัวกูของกู เพราะมันเหลือแต่เส้นไฟเบอร์โปร่งๆเท่านั้นเอง เมื่อจิตมันไม่มีตัวกูของกูอย่างนี้เป็นจิตว่าง หรือแล้วแต่จะเรียกนี้อย่างนี้แล้วมันก็ได้ยินต้นหญ้าพูด มันก็รู้ความจริง แล้วมันก็รู้จักละอายแทนมนุษย์ทั้งหลายที่ไม่ได้ยิน ต้นหญ้ามีอาการเหมือนกับเต้นรำร่ายรำอยู่ท่ามกลางสายลม มันร้องด่าก็ได้ ร้องเพลงก็ได้ มันแล้วแต่มันจะร้อง แต่มันร้องมีความหมายว่าเมื่อไรมนุษย์จะหายบ้า หายหลง หายโง่ หายเร่าร้อนระส่ำระสายมาสงบเย็นเต้นรำอยู่เหมือนกับพวกเราบ้าง นี้ก็เป็นภาพที่เรียกว่าภาพปริศนาธรรม ภาพหนึ่งในบรรดาภาพทั้งหลายที่มีอยู่ในตึกหลังนั้น นี่คือคำอธิบายที่ว่าต้นไม้พูดได้ ก้อนหินก็พูดได้ ถ้าคนนั้นมันไม่หูหนวก คือไม่มีหูหนวกตามแบบของพระพุทธเจ้า หรือตามความหมายของภาษาธรรม หูไม่หนวกคือมีสติปัญญาที่จะได้ยินไอ้สิ่งที่หูตามธรรมดาไม่ได้ยิน คือได้ยินเสียงของธรรม หรือเสียงของธรรมชาติที่ร้องตะโกนดังๆอยู่เสมอ ทางต้นไม้บ้าง ทางก้อนหินบ้าง ทางอะไรก็ตามว่าหยุดกันเสียบ้าง เย็นกันเสียบ้าง ยอมกันเสียบ้าง เดี๋ยวนี้มันไม่รู้จักยอมแก่กันและกัน มันยกหูชูหางเข้าใส่กัน มันจึงมีความยุ่งยากลำบากที่เกี่ยวกับการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถ้ามันรู้จักยอมก็หมายความว่ามันรู้จักหยุด หยุดบ้าง และมันก็เย็นลงเอง มนุษย์ยิ่งมีจิตใจสูงตามแบบของมนุษย์มันก็ยิ่งมีไอ้ความคิดนึกมากออกไป แปลกออกไป แต่เป็นไปในทางที่จะทำตัวให้ลำบาก คือมันรู้ไปแต่ในทางที่จะยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูเป็นของกู แล้วก็เห็นแก่ตัวยิ่งขึ้นๆตามวิวัฒนาการที่มันสูงขึ้น มนุษย์สมัยปู่ย่าตายายของเราไม่เห็นแก่ตัวมากเหมือนอย่างมนุษย์ปัจจุบันนี้ ขอให้เอาเรื่องนี้ไปพิจารณาดูกันให้ดีๆสักหน่อย ปู่ย่าตายายของเราอาจจะโง่ แต่แล้วก็มีความเห็นแก่ตัวน้อยกว่าลูกหลานที่ฉลาด เราอาจจะกล่าวได้ว่าบิดามารดาของปู่ย่าตายายถอยหลังลงไปอีก ก็จะยิ่งมีความเห็นแก่ตัวน้อยลงไปอีก เพราะไม่ค่อยรู้อะไร แล้วถ้าลองถอยหลังลงไปถึงสมัยที่ยังเป็นคนป่า สมัยหิน สมัยแรกเริ่มเดิมทีนั้นมันก็ยิ่งไม่มีสติปัญญาที่จะเห็นแก่ตัวอย่างลึกซึ้งเหมือนคนสมัยนี้ ต่างคนก็ต่างอยู่ ต่างคนก็เก็บอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติเลี้ยงชีวิตไปวันหนึ่งๆเท่านั้นเอง จึงมีปัญหาน้อย มีความยุ่งยากลำบากน้อย มนุษย์มันยิ่งเจริญขึ้นเท่าไรก็ยิ่งมีอาการที่เรียกว่ารู้มากก็ยากนาน ยิ่งรู้มากก็ยิ่งยากนานมากขึ้นเพียงนั้น มนุษย์สมัยนี้ก้าวหน้ามากมาย แต่ก็ยิ่งทำให้ลำบากมากมายด้วยเหมือนกัน เพราะมันก้าวหน้าไปแต่ในทางที่จะทำให้ลืมตัว ให้เห็นแก่ตัว เข้าใจผิดในสิ่งที่ไม่จำเป็นก็กลายเป็นสิ่งที่จำเป็น นี่คือไอ้บาปของมนุษย์นั่นเองที่ทำให้มนุษย์ต้องมีความทุกข์มากขึ้น ก็มีความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น นี่ถ้าเราจะมาคิดกันเสียใหม่ คือจะถอยหลังกลับไปให้มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น เราก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆเหล่านี้ได้ดี จนรู้ว่าเท่าไรพอดี คือไม่เกิน ก็จะมีความสุขได้ง่ายกว่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ เดี๋ยวนี้มันต้องการไม่มีขอบเขต ไม่มี ไม่รู้จักความหมายของคำว่าเกิน เพราะมันต้องการไม่มีขอบเขต เพราะมันไม่มีความรู้สึกว่าพอ เพียงแต่ความรู้สึกว่าพอก็ไม่มีเสียแล้วมันก็ไม่มีความรู้สึกว่าเกิน เกินเท่าไรๆมันก็ไม่รู้สึกว่าเกิน มันก็ไม่รู้สึกว่าพออยู่นั่นเอง นี่ก็คือมนุษย์ที่กำลังวิ่งไป วิ่งไปในทางจิตใจหรือในทางวิญญาณแล้วก็จะลงไปในเหวหรือนรกของความร้อนใจยิ่งขึ้นไปทุกที นี่มานั่งคุยกับก้อนหินเสียบ้าง มานั่งคุยกับต้นไม้เสียบ้าง อย่าเอ็ดตะโรไปก็คงจะได้ยินต้นไม้ ก้อนหินมันกระซิบใส่หูว่าไอ้พวกคนโง่หยุดกันเสียบ้าง เย็นกันเสียบ้า ยอมกันเสียบ้างอย่ารบราฆ่าฟันกันไปนักเลย ความมุ่งหมายของการมีสถานที่อย่างนี้หรือแม้จะไม่มุ่งหมายก็ตามที สถานที่อย่างนี้มันมีประโยชน์อย่างนี้ มีอานิสงส์อย่างนี้ ดังนั้นจึงเป็นกำลังของการที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เรียกว่า โมกขะ พละ แล้วก็ อาราม ป่าไม้เป็นกำลังของความพ้นทุกข์อย่างนี้
พระพุทธเจ้าท่านมีโชคดีคือท่านเกิดก็เกิดในป่า ในป่าไม้ ในสวนป่าที่เรียกว่าสวนลุมพินี มีแต่ต้นไม้ที่เขาจัดไว้สำหรับไปเที่ยวเล่นในฤดูกาลที่ต้นไม้มันมีดอก พระพุทธองค์ประสูติในป่าต้นสาละ ที่เรียกกันว่า สวนลุมพินี ข้อนี้ก็น่าจะพิจารณากันด้วยเหมือนกัน เพราะว่าตามตัวหนังสือหรือตามเรื่องราวที่เราทราบกันนั้นมันยังมีอะไรไขว้เขวอยู่มาก ถ้าถือเอาตามใจความที่มีอยู่ในรูปภาพโดยเฉพาะในหินสลักเป็นต้น พระมารดาอยู่ในท่าที่เขาเรียกกันว่าสาลภัญชิกา สาลภัญชิกาแปลว่าหักกิ่งสาละ สาลภัญชิกาเป็นชื่อแห่งนักขัตฤกษ์ ซึ่งมีขึ้นในฤดูที่ดอกสาละบาน อุทยานนี้เต็มไปแต่ต้นสาละ พอมันออกดอกบานพร้อมสะพรั่งกันทั่วไปทั้งอารามอย่างนี้มันจะเป็นอย่างไร ก็ลองคิดดูถึงฤดูที่ดอกพะยอมบานในเมืองไทยเรา อย่างที่สวนโมกข์เก่าก็มีต้นพะยอมเต็มไปหมด พอถึงฤดูดอกพะยอมมันก็เป็นดอกขาวตั้งแต่ต้นจนถึงโคน เข้าไปก็หอมหวลไปทั้งหมด หรือว่าดอกไม้บางชนิดในประเทศญี่ปุ่นเรียกกันว่าดอกซากุระหรืออะไรทำนองนั้น ดูรูปถ่ายแล้วมันก็คล้ายกับเมืองสวรรค์ อุทยานสาละนี้ก็เหมือนกัน พอถึงฤดูดอกก็เป็นอย่างนั้น ประชาชนก็บัญญัตินักขัตฤกษ์ เล่นดอกสาละเรียกว่าสาลภัญชิกา คนทั้งหลายก็ไปที่นั่น หักกิ่งสาละที่มีดอกดกๆมาฟาดกันหรือมาโรย เอามันมาสั่นให้ร่วงลงไปบนพื้นกัน เล่นสนุกสนานกันตลอดวันเรียกว่าสาลภัญชิกา เป็นโอกาสหรือว่าเป็นความบังเอิญอะไรอย่างใดก็ตาม พระพุทธมารดาได้เสด็จผ่านอุทยานนั้น ในเวลาที่เขามีนักขัตฤกษ์สาลภัญชิกานี้ จึงได้ไป จึงได้ยืดพระองค์ขึ้นหักกิ่งสาละ เพื่อจะเล่นกีฬาสาลภัญชิกานี้กับเขาด้วย ก็เผอิญว่ามีการปั่นป่วนในพระครรภ์ที่จะสูตร ที่จะประสูติพระโอรสคือพระพุทธเจ้า ทีนี้อยากจะคิดต่อไปว่าการที่พูดว่ายืนเหนี่ยวกิ่งสาละประสูติในขณะนั้นๆ มันจะเป็นเรื่องที่ตรงตามตัวหนังสือหรือไม่ ที่แท้มันจะเป็นไปเพียงว่าพระพุทธเจ้าประสูติในฤดูหรือในเวลาที่เขากำลังเล่นสาลภัญชิกาเท่านี้ก็พอ แต่ทีนี้มันต้องบันทึกเรื่องราวเอาไว้ มันก็มีความลำบากเพราะไม่มีหนังสือเขียน ก็ต้องบันทึกด้วยรูปภาพ ฉะนั้นจึงมีหินสลักที่สลักเป็นรูปภาพที่ผู้หญิงยืนเหนี่ยวกิ่งไม้ในท่าทางที่สวยงาม เรียกว่าสาลภัญชิกาไปทั้งนั้น บันทึกภาพการประสูติของพระพุทธเจ้าด้วยผู้หญิงอยู่ในท่าสาลภัญชิกา อย่างนี้ก็หมายความแต่เพียงว่าได้ประสูติในฤดูที่ดอกสาละบานเท่านั้น มิได้หมายความตามตัวหนังสือเหมือนที่เขียนภาพกันอยู่ในบัดนี้ว่าประสูติในขณะที่กำลังเหนี่ยวกิ่งสาละอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่เมื่อเชื่อกันอย่างนั้นแล้วมันก็เชื่อกันอย่างนั้น แล้วก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปแก้ไขความเชื่ออันนี้ มันศักดิ์สิทธิ์ดีอยู่แล้ว มันขลังดีอยู่แล้ว ก็ปล่อยไปตามนี้ แต่ผู้ที่มีปัญญาอาจจะถือเอาความได้ว่าพระพุทธมารดาประสูติพระโอรสนี้ในอุทยานนั้น ในท่าทางหรือในสถานะที่เหมาะสม ไม่จำเป็นจะต้องยืนประสูติในท่าที่เหนี่ยวกิ่งไม้ แล้วมีอะไรเข้ามาบังมาล้อมกันเหมือนภาพเขียน นี่แหละขอให้นึกดูให้ดีว่าสิ่งต่างๆที่เราได้เล่าเรียนกันมา ได้จดจำกันมานั้นมีความซับซ้อน จะต้องถือเอาความหมายให้ถูกต้องจึงจะเข้าถึงธรรมะได้ แล้วก็ต้องรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าเขาไม่มีหนังสือจะใช้ ไม่มีเครื่องบันทึกเสียงหรือไม่มีอะไร จะบันทึกภาพก็ต้องใช้ภาพเขียนหรือภาพหินสลัก ซึ่งมันแสดงความหมายบางอย่างไม่ได้ ต้องประดิษฐ์ภาพให้มีความหมายอย่างนั้นขึ้นมา ถ้าใครไปตีความหมายผิดก็ได้เรื่องราวผิด ควรจะสำเหนียกกันไว้ในข้อนี้ ในวันเช่นวันนี้เป็นเวลาเที่ยงวัน พระพุทธเจ้าได้ประสูติในทางรูปประกาย พระมารดาได้ประสูติพระพุทธเจ้าในทางรูปประกายที่สวนป่าสาละ ก็แปลว่าพระพุทธเจ้าประสูติในป่า เอาความได้แต่เพียงเท่านี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในป่า ตรัสรู้นี้เป็นกิจการสำคัญ ตรัสรู้ในป่าในที่เงียบสงัด แม้ก่อนตรัสรู้ก็อยู่แต่ในป่า เมื่อตรัสรู้แล้วก็อยู่แต่ในป่า แล้วก็ปรินิพพานในอุทยานซึ่งเป็นสวนป่า อะไรๆมันก็เป็นป่าไปเสียทั้งนั้นในกรณีที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ขอให้พิจารณาดูให้ดีๆว่าป่านี้มีความหมายอย่างไรเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า แล้วก็ขอให้ช่วยกันรักษ์ป่าให้มากสักหน่อย ให้นับถือป่า ให้ๆเกียรติแก่ป่า อย่ามัวทำลายป่าเพราะเห็นแก่ประโยชน์ตัวเพียงเล็กน้อยเลย โยมช่วยบอกลูกหลานเหลนให้เข้าใจกันทั่วๆไปว่าป่านั้นเป็นของโปรดของพระพุทธเจ้า แล้วว่าป่านั้นมันเป็นบ้านเป็นเรือนของพระพุทธเจ้า อย่าช่วยกันทำลายเลย แล้วเราก็จะมีวัดชนิดที่เป็นสวนป่าที่เรียกว่าสวนโมกขพลาราม เพื่อเป็นอนุสรณ์อันนี้ เพื่อว่าคนทั้งหลายจะเข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็ยินดีที่จะอยู่ใกล้ชิดกับป่าที่เรียกว่าเป็นเกลอกับธรรมชาติ ข้อนี้สำคัญมาก การเป็นเกลอกับธรรมชาตินั้นจะช่วยให้รู้ธรรมะเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ เพราะท่านเป็นเกลอกับธรรมชาติ ท่านเกิดในป่า ท่านพอใจในการสัมผัสป่า ออกบวชอยู่ในป่า ตรัสรู้ในป่า บวชแล้วก็อยู่แต่ในอารามป่า จนกระทั่งนิพพานในอารามป่า ก็เรียกว่าท่านเป็นเกลอกับธรรมชาติอย่างที่สุดแล้ว พระสาวกของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนั้น จึงมีการเป็นอยู่ที่สงบสุข มีการบรรลุมรรคผลได้โดยง่าย เดี๋ยวนี้พวกเราในสมัยนี้แทบจะไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าป่า เพราะว่าช่วยกันทำลายเสียให้มันหมด เพื่อประโยชน์อย่างนั้น เพื่อประโยชน์อย่างนี้ก็ช่วยกันทำลายป่าไปเรื่อยๆ จนไม่มีป่าที่จะดู หรือไม่มีป่าที่จะสะดวกในการที่จะเข้าไปอยู่เพื่อเป็นเกลอกับธรรมชาติ เหมือนครั้งพุทธกาล
ทีนี้ข้อเท็จจริงมันมีอยู่ต่อไป คือข้อเท็จจริงที่ว่าเราจะเข้าถึงความรู้สึกคิดนึกหรือดวงจิตดวงวิญญาณของท่านผู้ใด เราจงพยายามเป็นอยู่ให้เหมือนท่านผู้นั้น ข้อนี้มีความสำคัญมาก เราจะนั่งฟังท่านผู้นั้นพูด ท่านผู้นั้นสอนมันก็ยังไม่ดีเท่ากับว่าเราเป็นอยู่ให้เหมือนท่านผู้นั้นเสียเลย แล้วเราก็จะเข้าใจความรู้สึกคิดนึกของท่านผู้นั้นโดยไม่ต้องพูดต้องสอนกันก็ได้ ดังนั้นเราจงเป็นอยู่ให้เหมือนพระพุทธเจ้าท่านอยู่ แล้วเราจะเกิดความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาในจิตใจของเราเอง เหมือนที่เกิดแก่จิตใจของพระพุทธเจ้าได้มากทีเดียว นี่จึงเป็นเกลอกับธรรมชาติเหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านเป็น เราก็จะมีจิตใจที่พร้อมที่จะเข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ และในบางสิ่งบางอย่างบางกรณีมันจะเป็นได้เอง โดยไม่ต้องได้ยินได้ฟังมาจากที่ไหนด้วยซ้ำไป นี่ขอให้พยายามเป็นเกลอกับธรรมชาติให้สุดความสามารถของแต่ละคนละคน เดี๋ยวนี้ก็ตั้งใจอยู่ว่าจะให้ความสะดวกแก่ท่านทั้งหลายให้มากเท่าที่จะมากได้ ซึ่งจะพยายามจัดวัดนี้ให้เป็นแบบวัดป่า เพื่อความสะดวกที่จะเป็นเกลอกับธรรมชาติให้มาก แล้วก็จะเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นได้ตามความมุ่งหมายทีแรกนั้น นี่ก็คือความหมายของคำว่าสวนโมกขพลาราม ซึ่งมีความตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมทีว่าขอให้มันเป็นอย่างนี้เพื่อว่าเป็นกำลังแก่การเข้าใจธรรมะ และเป็นความหลุดพ้นโดยอาศัยธรรมชาตินี้แผนกหนึ่งหรือสายหนึ่งหรือสาขาหนึ่ง ซึ่งให้ธรรมชาติช่วย ทีนี้อีกสายหนึ่งหรือสาขาหนึ่งนั้นคือที่เราจะต้องพยายามทำโดยน้ำมือของมนุษย์ จึงมีความมุ่งหมายเกิดขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ว่ากิจการของผู้อยู่ในสวนโมกขพลารามนี้ คือการช่วยทำสิ่งที่ยากให้ง่าย ช่วยทำสิ่งที่ลึกตื้น หรือว่าช่วยทำสิ่งที่มันคว่ำอยู่ให้มันหงายขึ้นมา รวมความแล้วก็คือว่าช่วยเหลือในการที่จะให้เกิดความรู้ความเข้าใจหรือความหลุดพ้นตามหลักการของพระพุทธศาสนา จึงได้มีการค้นคว้า มีการเผยแผ่ มีการโฆษณาหรืออะไรก็ตามด้วยความมุ่งหมายที่ว่าจะช่วยให้เกิดความง่ายแก่พุทธบริษัททั้งหลายในการที่จะเข้าถึงพระธรรมโดยวิธีใดก็ตาม นี้คือความมุ่งหมายสายหนึ่งที่รวมอยู่ในคำว่าโมกขพลาราม บริเวณป่าไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลผู้มีความตั้งใจ มีเจตนาที่จะทำสิ่งที่ยากให้เป็นของง่าย ซึ่งรวมความแล้วก็คือเป็นกำลังสำหรับจะให้หลุดพ้นจากความทุกข์ได้โดยง่ายนั่นเอง ท่านทั้งหลายบางคนบางคณะต้องมาจากที่ไกล มาสู่สวนโมกข์นี้ด้วยความมุ่งหมายอย่างไรอาตมาก็ไม่ทราบโดยครบถ้วน จึงอยากจะบอกให้เข้าใจว่าความมุ่งหมายของคำว่าสวนโมกข์หรือโมกขพลารามนี้มันเป็นอย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายถือเอาประโยชน์จากการมาที่นี่ให้ได้มากที่สุด ถ้าเพียงสักว่าเดินเข้ามาในสถานที่นี้ ก็ขอให้สถานที่นี้มันช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่เรียกว่าสงบเย็น ซึ่งเป็นความหมายของคำว่านิพพาน โดยได้รับอิทธิพลจากต้นไม้ ก้อนหินก้อนดิน ซึ่งรวมกันเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยวิเวกทางกายนี้เป็นประการแรกก่อน ทีนี้ก็เข้าไปในโรงหนัง ได้ดูภาพ หรือดูไอ้สิ่งต่างๆที่มีแสดงอยู่ ก็ยังถือเอาประโยชน์ให้ได้ว่านั่นมันมุ่งหมายจะทำความง่ายในการที่จะเข้าใจสิ่งที่ลึกซึ้ง จงพยายามดูภาพเหล่านั้นให้เข้าใจ ด้วยเวลาอันไม่นานเลยก็จะเข้าใจธรรมะที่ลึกซึ้งเหมือนกับพยายามจะศึกษาค้นคว้ามาเป็นปีๆทีเดียว บางคนพยายามอ่านหนังสือมาตั้งปี ก็ไม่ได้ความ ก็ไม่ได้ความรู้ความเข้าใจสว่างไสว เหมือนดูภาพบางภาพเพียงสองสามนาทีอย่างนี้เป็นต้น แต่ถ้าไม่ฉลาดก็ไม่สามารถจะถือเอาประโยชน์อันนี้ได้ ต้องพยายามทำให้เข้ารูปเข้ารอยกัน เหมาะสมกันจึงจะได้รับประโยชน์จากอันนี้ ในตึกนี้ก็มีภาพมากมาย ที่ฝาผนังด้านนอกก็มีภาพอีกมากมาย ถ้าดูกันอย่างผิวเผินก็แทบจะไม่มีประโยชน์อะไร แต่ถ้าดูกันให้เกิดความเข้าใจแล้วมันจะช่วยประหยัดความลำบากหรือเวลาได้มากทีเดียว แล้วยังแถมสนุกด้วย การศึกษาธรรมะนั้นตามที่ปรากฏอยู่ก็ว่าเป็นของน่าเบื่อน่าระอา ฟังเทศน์ก็ง่วงนอน หลับไปเมื่อไรก็ไม่รู้ เดี๋ยวนี้ก็มีคนหลับบ้างแล้วก็ได้ มันไม่สนุกเหมือนดูหนังดูสไลด์หรือดูภาพในตึกนั้น เพราะฉะนั้นจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะให้มีอะไรๆที่กระตุ้นใดให้มีความสนุกสนานในการศึกษาธรรมะ จึงได้เรียกมันว่าโรงมหรสพทางวิญญาณ หนักเข้าก็เรียกว่าโรงหนังทางวิญญาณ ขี้เกียจเรียกยาวๆก็เรียกว่าโรงหนังเฉยๆ ความมุ่งหมายมันอยู่ที่จะช่วยประหยัดเวลา ประหยัดความเหนื่อยยากลำบาก แล้วก็ให้ความสนุกด้วยเพื่อให้เข้าใจธรรมะ นี้เรื่องสิ่งต่างๆในโรงหนังที่เป็นฝีมือที่มนุษย์ทำขึ้น
ทีนี้ออกจากโรงหนังก็เที่ยวตามที่ต่างๆ ไปดูสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้น มิได้เป็นไปตามธรรมชาติเอง นี้ก็คือสระนาฬิเกร์ มีต้นมะพร้าวอยู่ต้นหนึ่งอยู่กลางสระนี้ไม่ใช่เป็นธรรมชาติ ไม่เหมือนกับต้นไม้ ก้อนหินก้อนดินแถวนี้ซึ่งเป็นฝีมือของธรรมชาติ สระนาฬิเกร์นั้นเป็นฝีมือของมนุษย์ ทำขึ้นด้วยเจตนาจะให้เป็นอนุสรณ์แก่ความดีอันสูงสุดของบรรพบุรุษของเราที่เข้าใจธรรมะอย่างสูง จนถึงกับว่าเอาเรื่องของนิพพานมาทำเป็นบทเพลงสำหรับกล่อมลูกให้นอน บางคนยังไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร บางคนก็เข้าใจแล้ว เพื่อคนที่ยังไม่เข้าใจจะได้เข้าใจ จะขออธิบายเรื่องนี้สักเล็กน้อย ว่ามีบทกล่อมลูกให้นอนหรือกล่อมน้องให้นอนของพื้นเมืองนี้มาแต่โบราณกาลว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย บทกล่อมลูกชนิดนี้จะมีตั้งแต่หลังสวนลงมาถึงไชยา ถึงนครศรีธรรมราช ถึงพัทลุงเป็นแน่นอน แต่ทางนครศรีธรรมราช ทางพัทลุงได้ปล่อยให้สูญหายไป ทางไชยาทางหลังสวนยังเหลืออยู่ กลัวว่ามันจะสูญหายไปในที่สุด ทำอนุสาวรีย์ไว้ให้สักหน่อย คือต้นมะพร้าวต้นหนึ่งอยู่กลางสระที่เหมือนกับทะเลขี้ผึ้ง มะพร้าวนาฬิเกร์นี้มันเป็นธรรมดาที่ว่าเราใช้ภาษาไทย อยากจะให้มะพร้าวนั้นมีลักษณะพิเศษสักหน่อย ก็เรียกว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ ที่จริงคำว่านาฬิเกร์ในภาษาบาลีก็แปลว่ามะพร้าวเท่านั้นเอง แต่ว่ามันอาจจะเป็นมะพร้าวพันธุ์ที่เอามาจากอินเดียหรืออะไรทำนองนั้นก็ได้ เดี๋ยวนี้มะพร้าวนาฬิเกร์เราจำกัดเฉพาะมะพร้าวที่มีสีเหลือง ลูกเหลือง ใบเหลือง ดอกเหลือง ก้านเหลือง นี่เรียกว่ามะพร้าวนาฬิเกร์ แต่ภาษาบาลีหมายถึงมะพร้าวเท่านั้น ต้นมะพร้าวอยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง หมายที่ตรงนั้น ไม่มีอะไรไปแตะต้องได้ เป็นสัญลักษณ์ เป็นลักษณะของนิพพานที่ปัจจัยอะไรๆปรุงแต่งไม่ได้ คือพ้นความเป็นสังขาร ไม่มีอะไรไปกระทบกระทั่งสิ่งนั้นได้ จึงเรียกว่าฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึงหรืออะไรทำนองนั้น ทีนี้ว่าทะเลขี้ผึ้ง อันนี้ไม่ใช่มะพร้าวนาฬิเกร์ซึ่งหมายถึงนิพพาน ทะเลขี้ผึ้งนี้หมายถึงวัฏฏะสงสาร วัฏฏะสงสารนี้เปรียบเหมือนทะเลขี้ผึ้งถูกต้องที่สุด และเป็นคำกล่าวที่ฉลาดที่สุด ทะเลขี้ผึ้งนั่นหมายความว่าเมื่ออุณหภูมิอย่างหนึ่งมันเป็นของเหลว เมื่ออุณหภูมิอย่างหนึ่งมันเป็นของแข็ง ที่จริงของเหลวกับของแข็งนั้นคือสิ่งเดียวกัน เพราะอุณหภูมิต่างกันมันจึงปรากฏเป็นของคนละอย่าง นี่คือความดีความชั่วหรือกุศลกับอกุศล ถ้าเรามองไม่เป็นจะเห็นว่ามันต่างกันอย่างตรงกันข้าม ถ้ามองเป็นจะเห็นว่ามันเหมือนกันตรงที่เป็นสังขารปรุงแต่งมนุษย์ให้เวียนว่ายตายเกิดไปในวัฏฏะสงสาร กุศลหรือความดีก็ให้ไปเกิดดี อกุศลหรือความชั่วก็ให้ไปเกิดชั่ว แต่ว่าจะเกิดชั่วหรือเกิดดีมันเป็นทุกข์ทั้งนั้น ต้องไม่เกิดจึงจะไม่มีทุกข์ ฉะนั้นการที่จะจมอยู่ในทะเลขี้ผึ้งเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวเหลวเดี๋ยวแข็งนี่มันเหมือนกับว่าเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะสงสาร เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวดีเดี๋ยวชั่ว เดี๋ยวบุญเดี๋ยวบาป เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ อย่างนี้มันไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนาแต่เราก็ยังปรารถนา เหมือนกับปรารถนาเอาขั้นดีขั้นสวยขั้นรวย หารู้ไม่ว่ามันเป็นการเวียนว่ายอย่างหนึ่ง ดังนั้นจะต้องมองให้เห็นว่าคนดีก็มีความทุกข์ไปตามแบบคนดี คนชั่วก็มีความทุกข์ไปตามแบบของคนชั่ว เหนือดีเหนือชั่วคือไม่เป็นอะไร นั่นแหละจึงจะไม่มีความทุกข์ ถ้ายังอยู่ในโลกนี้ยังมีดีมีชั่วแล้วมันก็ยังมีความทุกข์ ถ้าขึ้นไปเหนือโลกได้เป็นโลกุตตระแล้วจึงจะเหนือความทุกข์ หลักพระพุทธศาสนาจึงมีว่าเราจะต้องหมดความรู้สึกนึกคิดที่ว่าเราเป็นเรา หรือเป็นตัวตน เป็นตัวตนของเรา ที่เรียกง่ายๆว่ามีตัวกูมีของกูนี่ ถ้าหมดความรู้สึกอันนี้จึงจะไม่มีตัวตน เมื่อไม่มีตัวมีตนแล้วมันก็ไม่เป็นดีเป็นชั่วอะไรได้ เพราะมันไม่มีอะไรจะเป็น นี้เป็นอุบายอันหนึ่งที่จะอยู่เหนือดีเหนือชั่ว เหนือสุขเหนือทุกข์ เหนือบุญเหนือบาป คือไม่จมอยู่ในทะเลขี้ผึ้ง แต่จะโผล่พ้นจากทะเลขี้ผึ้งเหมือนมะพร้าวนาฬิเกร์ คำว่ามะพร้าวนาฬิเกร์อยู่นอกทะเลขี้ผึ้งหรือกลางทะเลขี้ผึ้ง นี่หมายความ ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน หมายความแต่เพียงว่ามันอยู่ที่กลางทะเลขี้ผึ้ง แต่มันไม่ใช่ทะเลขี้ผึ้ง เพราะฉะนั้นเราจะต้องศึกษาให้เข้าใจความหมายข้อนี้ว่าเราจะหาสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้นก็ต้องหาจากสิ่งที่มันตรงกันข้ามนั่นเอง เช่นเราจะหาความดับทุกข์ เราต้องหาจากความทุกข์ มันต้องมีความทุกข์ก่อนเราจึงจะดับความทุกข์นั้นได้ ถ้าไม่มีความทุกข์แล้วมันจะดับความทุกข์ได้อย่างไร มีคนไม่เข้าใจก็ไปเที่ยวหากันคนละแห่ง คนละทิศคนละทาง ความทุกข์สมมติว่าอยู่ทางทิศตะวันออก ความดับทุกข์อยู่ทางทิศตะวันตก มันก็หาไม่พบ เพราะว่าไอ้ความดับทุกข์นั่นมันอยู่ที่ตัวความทุกข์นั่น ถ้าใครไม่เข้าใจข้อนี้ก็ไม่มีทางจะพบกันกับไอ้ความดับทุกข์ ปู่ย่าตายายของเราฉลาด จึงบอกว่ามะพร้าวนาฬิเกร์อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง มันต้องไปหาที่กองไฟนั่นแหละจึงจะพบไอ้ความดับไฟ เพราะว่าความดับไฟมันอยู่ที่ไฟ ถ้าไปหาที่อื่นมันไม่พบความดับไฟหรือการดับไฟ ต้องหากันที่ตรงไฟที่ลุก พวกนิกายเซนเขายังพูดดีกว่านั้นอีกว่าให้หาความเย็นที่สุดที่ท่ามกลางเตาหลอม ในเตาหลอมเหล็กมันก็มีความร้อนสูงสุด เราหาความเย็นที่สุดต้องไปหาไอ้ตรงที่มันร้อนที่สุด มันจึงจะพบไอ้ความเย็นที่สุด นี้ก็เป็นความหมายอย่างเดียวกันกับ มะพร้าวนาฬิเกร์ที่อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ทะเลขี้ผึ้งนั่นแหละมันร้ายกาจที่สุด จะไปหาสิ่งที่ตรงกันข้ามก็ต้องหาที่นั่น แต่หาตรงที่ต้นมะพร้าวนาฬิเกร์ ซึ่งมันติดกันอยู่ที่นั่น แต่ไอ้เรื่องทางวัตถุนี้มันยังทำให้เข้าใจผิดได้ เราเห็นต้นมะพร้าวอยู่กลางสระแล้วคิดว่ามันติดกัน แต่ถ้าว่าพูดเป็นนามธรรมแล้วมันก็ยังผิดกันไปอีก ไปกว่านั้น เช่นว่าหาไอ้ความเย็นที่ความร้อน นี่ก็หมายความว่าความเย็นกับความร้อนมิได้เป็นสิ่งเดียวกัน มีความร้อนมาทำให้ดับไปก็มีความเย็นอยู่ที่นั่น จึงหาพบว่าเย็นที่สุดที่กลางเตาหลอมได้ มะพร้าวนาฬิเกร์คือจุดเย็นที่สุด อยู่กลางเตาหลอมคือทะเลขี้ผึ้ง ที่ว่าฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึงนั้นมันคือที่ต้นมะพร้ามนาฬิเกร์ ไอ้ฝนตกๆ ตก ฟ้าร้องๆอะไรก็อยู่ที่ทะเลขี้ผึ้ง คือความทุกข์ทั้งหลายมันอยู่ที่ส่วนที่เป็นทะเลขี้ผึ้ง มันมิได้มีที่ส่วนที่เป็นมะพร้าวนาฬิเกร์ แต่แล้วมันก็อยู่ด้วยกัน ความไม่มีมันก็อยู่ตรงที่ความมีนั่นแหละ หรือความมีมันก็ต้องอยู่ที่ตรงความไม่มีนั่นแหละ มันซ้อนกันอย่างสนิทยิ่งกว่าสนิทอย่างนี้ ถ้าศึกษาข้อนี้เข้าใจแล้วก็จะหาพบไอ้พระนิพพานที่ท่ามกลางวัฏฏะสงสารโดยไม่ต้องแยกกัน มัวแต่เอาแยกกันทีนี้ก็หาไม่พบ ก็เลยล้อหรือด่าอยู่ในตัวว่ามันเป็นคนโง่ หาไม่พบเพชรเม็ดเอกที่มีอยู่ที่หน้าผากแล้วทุกคน เมื่ออยู่ที่หน้าผากมันมองไม่เห็น แล้วมันก็คลำไม่เป็น มันก็หาไม่พบ นี้คือคำสอนที่ว่าให้หานิพพานท่ามกลางวัฏฏะสงสาร เป็นความคิดที่ลึกที่สุด ด้วยหวังว่าอย่าให้มันสูญหายไปเสียเลย สร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้สักหน่อย ก็ลงทุนขุดสระไอ้สระนั้น แล้วก็มีมะพร้าวอยู่ต้นหนึ่งเหลือไว้ที่กลางสระนั้น นี่คือมะพร้าวนาฬิเกร์ในทะเลขี้ผึ้งที่มีอยู่ในสวนโมกข์ รวมอยู่ในความมุ่งหมายที่ว่าจะให้เกิดการศึกษาชนิดที่ใช้เวลาน้อย ใช้ความลำบากน้อย แล้วก็สนุกด้วย แล้วก็รู้สิ่งที่ลึกซึ้งด้วย อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึ้ง ต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย ก็หมายความว่ามันอยู่ตามลำพัง เดี่ยวโดดไม่มีอะไรเป็นคู่เปรียบ นี้เป็นลักษณะหรือความหมายของวิสังขารหรือของอสังขตธรรม คือนิพพานนั้นมันจะเดี่ยวอย่างไม่มีอะไรเข้าไปเทียบคู่ ถ้ายังเป็นคู่ๆอยู่แล้วมันก็ยังไม่ใช่นิพพาน เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องดีเรื่องชั่ว เรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องสุขเรื่องทุกข์ เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องแพ้เรื่องชนะอะไรเหล่านี้มันยังเป็นคู่ๆ ยังไม่ใช่ลักษณะอันแท้จริงของนิพพานคือเดี่ยวโดดไม่มีคู่ เขาจึงแสดงลักษณะของนิพพานไว้ด้วยคำพูดประโยคสุดท้ายว่าต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย ทีนี้ได้ยินบางคนไม่ร้องว่าต้นเดียวเปลี่ยวลิงโลดเอย แต่พูดว่ากลางทะเลขี้ผึ้งถึงได้แต่ผู้พ้นบุญเอยก็มี บางคนทำให้เพี้ยนไปว่าถึงได้แต่ผู้มีบุญเอยก็มี อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน ว่าถ้ามีบุญมากเข้าแล้ว บุญมากเข้าแล้วมันก็ไม่รู้จะเอาไปไหนมันก็เหนือบุญ พ้นบุญ มันก็ถึงมะพร้าวนาฬิเกร์ได้เหมือนกัน คนที่จะพ้นบุญได้ก็ต้องมีบุญมากจนเอือมระอาไปแล้วทั้งนั้น มันจึงจะพ้นบุญได้ ฉะนั้นจึงพูดว่าไปถึงได้แต่ผู้พ้นบุญอย่างนี้ก็ได้ หรือไปถึงได้แต่ผู้มีบุญอย่างนี้ก็ได้ แต่ขอให้มีจริง อย่ามีหลอกๆ ไม่มีอะไรที่ว่าเป็นสังขาร เป็นไอ้มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วมันจะไม่เปลี่ยนแปลง มันต้องเปลี่ยนแปลง บุญก็เปลี่ยนแปลง บาปก็เปลี่ยนแปลง ในที่สุดมันก็เปลี่ยนแปลงไปเพื่อจะอยู่เหนือบุญเหนือบาป เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระพุทธศาสนานี้ว่าไอ้ดำก็ไม่เอา ไอ้ขาวก็ไม่เอา เอาที่ไม่ดำและไม่ขาว นี้หมายความว่ามันเหนือดำเหนือขาว หรือเหนือดีเหนือชั่ว เหนือบาปเหนือบุญ เหนือสุขเหนือทุกข์ไปทุกอย่าง นี่เป็นความหมายของมะพร้าวนาฬิเกร์กลางทะเลขี้ผึ้งอย่างนี้ นี่ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าสิ่งที่มีอยู่เองตามธรรมชาติ เช่นต้นไม้ก้อนหินนี้มันก็แสดงธรรมไปตามแบบหนึ่ง แล้วที่เราทำมันขึ้นเช่นโรงหนัง เช่นสระนาฬิเกร์นี้เราทำมันขึ้นก็เพื่อความมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือไปช่วยให้มันง่ายขึ้น ให้มันมีไอ้ เพื่อช่วยให้มันมีครบถ้วน ให้มันสะดวกเข้า ให้มันเร็วเข้า จึงหวังว่าท่านทั้งหลายที่อุตส่าห์มาด้วยความยากลำบากจากถิ่นไกลจนมาถึงที่นี่แล้ว ขอให้รู้จักถือเอาประโยชน์ชนิดนี้ให้มาก นี่จะสรุปความกันเสียทีว่าเรามีสวนโมกขพลารามนี้ด้วยความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว คือจะช่วยขจัดความยากลำบากให้มันน้อยลง ช่วยให้เกิดความเข้าใจพระพุทธศาสนา หรือถึงธรรมะได้โดยง่ายเข้า จึงได้จัดสิ่งต่างๆไปในรูปนี้ กระทั่งมีการค้นคว้า มีการพิมพ์โฆษณา หนังสือหนังหา ก็ล้วนแต่ความมุ่งหมายอย่างนี้ทั้งนั้น ดังนั้นมันจึงไม่ค่อยจะเหมือนใคร มันออกจะบ้าหรือแหวกแนวไปสักหน่อยตรงที่ไม่เหมือนใคร ก็เพราะมีเจตนา มีความมุ่งหมายที่ว่าจะช่วยประหยัดเวลา จะประหยัดเรี่ยวแรง และจะให้สนุกด้วยในการที่จะเข้าถึงธรรมะ ตอนนี้เป็นอันยุติในเรื่องอารัมภคาถากันเสียทีว่าสวนโมกข์นี้มีเพื่อช่วยให้เกิดความง่ายแก่ท่านทั้งหลายผู้มาที่นี่ ในการที่จะเข้าถึงธรรมะของพระพุทธองค์ผู้ประสูติในวันนี้ ตรัสรู้ในวันนี้ นิพพานในวันนี้ เหมือนที่ได้พูดกันแล้วบนภูเขาเมื่อตอนเย็น
ทีนี้ก็จะได้พูดถึงเรื่องที่ตั้งใจจะพูด คือธรรมะของพระพุทธเจ้าจะเป็นเครื่องดับทุกข์ได้อย่างไร และจะทำให้มันง่ายเข้าได้อย่างไร การสั่งสอนที่สอนกันอยู่ตามธรรมดาทั่วๆไปนั้นมันยืดยาด แล้วมันก็มากมายหลายเรื่อง จนกระทั่งเวียนหัวไปหมด ไม่สามารถจะปฏิบัติให้ลุล่วงถึงที่สุดได้แม้แต่เรื่องเดียว นี้คือตัวปัญหาที่เป็นกำลังเป็นความเสียหายขาดทุนแก่ท่านทั้งหลาย ซึ่งจะต้องช่วยกันทำลายให้มันหมดไป ให้เห็นว่าที่แท้แล้วมันมีเรื่องเดียว แล้วมันก็ไม่ยากลำบากเหมือนกับที่เข้าใจกัน ที่มันไปทำให้เห็นเป็นหลายเรื่องนั้นมันเป็นโวหารพูดว่าที่จะดับทุกข์ได้ด้วยเพราะเหตุนั้นด้วยเพราะเหตุนี้หลายอย่างหลายทางจนงงไปหมด ทีนี้จะแสดงด้วยพระพุทธภาษิตที่ได้ยกขึ้นไว้เป็นนิกเขปบทข้างต้นนั้น ซึ่งสรุปใจความสั้นๆว่า สัพพะถะ สังวุโต ภิกขุ สัพพะทุกขะ ปมุจจะติ ซึ่งแปลว่าภิกษุเป็นผู้สำรวมในทุกกรณีแล้ว ย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงดังนี้ ซ้ำอีกทีหนึ่งว่าพระบาลีนี้ตามตัวหนังสือมีอยู่ว่าภิกษุผู้สำรวมดีแล้วในกรณีทั้งปวง ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงดังนี้ คนที่เรียนมาอย่างที่เรียกว่ามีภูมิรู้มากเป็นพหูสูต บางคนก็จะฉงนว่าทำไมเพียงแต่สำรวมระวังอย่างเดียวจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะว่าเขาได้ยินมาว่าต้องมีทาน ต้องมีไอ้ มีศรัทธา ต้องมีทาน ต้องมีศีล ต้องมีสมาธิ ต้องมีปัญญา มีญาณทัสสนะ ๗ หลัก ๗ อะไรขึ้นไปจึงจะถึงนิพพานได้ แต่ทีนี้ทำไมพระพุทธเจ้ามาตรัสว่าภิกษุสำรวมในทุกกรณีแล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้คือนิพพาน นี่ก็ยังมีพุทธภาษิตที่มันถ้าเข้าใจไม่ถูกต้องแล้วก็จะตีกันยุ่งไปหมด เช่นว่า สัมมาทิฏฐิ สมาทานัง สัพพัง ทุกขัง อุปัจจคุง บุคคลล่วงพ้นความทุกข์ทั้งปวงได้เพราะการสมาทานสัมมาทิฏฐิ นี้ระบุไปยังสัมมาทิฏฐิคือความเข้าใจแจ่มแจ้งถูกต้องในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงแล้ว จึงหลุดพ้นได้ จึงดับ พ้นทุกข์ทั้งปวงได้ ส่วนอันแรกที่เป็นหัวข้อนั้นว่าสำรวมในทุกกรณีแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ แล้วเมื่อตอนเย็นนี้ก็สวดพระบาลีที่ว่า โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต ผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะแล้ว จัตตาริ อะริยะสัจจานิ สัมมัปปัญญายะ ปัสสะติ เห็นอยู่ด้วยปัญญาโดยชอบ ซึ่งอริยสัจทั้งหลาย ๔ ทุกขัง ทุกขะสะมุปปาทัง ทุกขัสสะ จะ อะติกกะมัง อะริยัญจัฏฐังคิกัง มัคคัง ทุกขูปะสะมะคามินัง คือเห็นซึ่งความทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นความก้าวล่วงทุกข์ เห็นหนทางอันประเสริฐประกอบด้วยองค์ ๘ อันให้ถึงซึ่งความดับแห่งทุกข์ เอตัง โข สะระณัง เขมัง เอตัง สะระณะมุตตะมัง นี่แหละคือสรณะอันเกษม นี่แหละคือสรณะอันอุดม เอตัง สะระณะมะคัมมะ สัพพะทุกขา ปะมุจจะตีติ เมื่อถึงซึ่งสรณะนี้แล้วย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงดังนี้ ผลที่หมายเหมือนกันหมด คือพ้นจากทุกข์ทั้งปวง แต่แสดงในทางที่จะให้ถึงความพ้นจากทุกข์ทั้งปวงไว้ต่างกัน ว่าสัมมาทิฏฐิก็มี พอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วเห็นอริยสัจ ๔ จึงจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง อย่างนี้ก็มี ก็เป็นการทำให้คนที่ไม่ทราบความจริง ไม่เข้าถึงความหมายแท้จริงงงไปหมด เห็นเป็นหลายเรื่องหลายราว หลายอย่างหลายทาง แสดงไว้ต่างกัน ทำไมพระพุทธเจ้าองค์เดียวมาแสดงทางไว้มากมายอย่างนี้ แล้วก็เพื่อผลอย่างเดียวคือความพ้นจากทุกข์ทั้งปวง นี่ต้องตอบได้อย่างกำปั้นทุบดินว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เรื่องเดียวกันเพื่อผลสิ่งเดียวกันนั้น แต่คำพูดมันพูดไปได้มาก นี่คือความยากลำบากที่มีอยู่แก่ท่านทั้งหลาย แล้วความมุ่งหมายของสวนโมกข์ก็เพื่อจะช่วยแก้ปัญหาข้อนี้ คือจะขจัดไอ้ความยากลำบากไอ้ที่มันปนกันยุ่ง หรือมันดูมากมายหลายอย่างนี้ให้มันหมดไป จึงได้ยกเอาหัวข้อที่จะมาแสดงธรรมในวันนี้มาว่าภิกษุสำรวมแล้วในทุกกรณี ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงดังนี้ แม้พระพุทธภาษิตนี้ก็ยังขยายความออกไปว่า จักขุนา สังวะโร สาธุ การสำรวมด้วยตาเป็นความดี สาธุ โสเตนะ สังวะโร การสำรวมด้วยหูเป็นความดี ฆาเนนะ สังวะโร สาธุ การสำรวมด้วยจมูกเป็นความดี สาธุ ชิวหายะ สังวะโร การสำรวมด้วยลิ้นเป็นความดี กาเยนะ สังวะโร สาธุ สำรวมด้วยกายเป็นความดี สาธุ วาจายะ สังวะโร สำรวมด้วยวาจาเป็นความดี มะนะสา สังวะโร สาธุ สำรวมด้วยใจเป็นความดี สาธุ สัพพัตถะ สังวะโร การสำรวมในทุกสิ่งเป็นความดี สัพพัตถะ สังวุโต ภิกขุ สัพพะทุกขะ ปมุจจะติ เมื่อภิกษุสำรวมในทุกกรณีแล้ว ย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงดังนี้ ใจความสำคัญมันล้วนแต่เป็นการสำรวม คือสังวรคือระวังเท่านั้นไม่มีอะไร ระวังทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นการสำรวมทั้งหมด แล้วก็พ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ผู้ที่เรียนนักธรรมในโรงเรียนนักธรรมมาก็จะเข้าใจว่านี้มันเป็นแต่เพียงศีลเท่านั้น เพราะการสำรวมนี้มันเป็นแต่เพียงศีล ศีลปาฏิโมกข์ หรือศีลอินทรีย์สังวรอะไรก็ตาม ถือว่าเป็นแต่เพียงศีลแล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ มันก็เลยทำให้ตัวเองนั่นแหละไม่เข้าใจ ทั้งที่เรียนมามากมาย
ทีนี้ข้อเท็จจริงมันมีอยู่อย่างไร ทำไมพระพุทธเจ้าถึงตรัสว่าภิกษุสำรวมในทุกกรณีแล้ว จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ ก็จะได้อธิบายต่อไปให้มีความเข้าใจในข้อนี้ให้จนได้ เพราะมันเป็นทางที่ประหยัดที่สุด เป็นทางที่ลัดสั้นที่สุด ว่าท่านทั้งหลายไม่ต้องปฏิบัติอะไร นอกจากการปฏิบัติที่เป็นการสำรวมในทุกกรณีก็แล้วกัน ที่ว่าสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นเพราะว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้นเป็นทางรับเข้ามาซึ่งอารมณ์จากภายนอก คือตาก็รับรูป หูก็รับเสียง จมูกก็รับกลิ่น ลิ้นก็รับรส กายก็รับสัมผัสผิวหนัง ใจก็รับความรู้สึก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเป็นที่ตั้งแห่งการรับอารมณ์ พออารมณ์เข้าไปสู่ไอ้อายตนะนี้คือตาเป็นต้นแล้ว มันก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าความรู้สึกเป็นเวทนา คือเป็นที่เรียกว่าสุขบ้างทุกข์บ้าง หรือว่าสบายบ้างไม่สบายบ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ยินดีบ้างยินร้ายบ้าง นี้คือเป็นเวทนาขึ้นมา พอมันมีความรู้สึกอย่างนี้แล้วจิตใจมันก็รู้สึกอยากอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสมควรแก่เวทนานั้น ถ้าเป็นสุขเวทนามันก็อยากได้ อยากเอา อยากยึดครอง ถ้าเป็นทุกขเวทนามันก็อยากทำลาย มันก็อยากจะหนีอยากจะอะไรไปตามเรื่อง นี้เรียกว่าความอยาก เพราะความอยากเป็นไปเต็มที่แล้ว มันจะเกิดความรู้สึกที่ว่ามีผู้อยากขึ้นมาคือตัวกู นี่ตัวกูเพิ่งเกิด เพิ่งเกิดเมื่อมีอะไรมากระทบตาเป็นต้น แล้วเกิดอยากตามนั้นขึ้นมา ตอนนี้จิตเป็นเพียงความรู้สึกอยาก พออยากเต็มที่แล้วจิตเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูผู้อยาก อย่างนี้เรียกว่าไอ้ความอยากนั้นให้เกิดอุปาทานคือความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมาแล้ว พออุปาทานนี้เกิดแล้วไม่ต้องสงสัย นั่นคือเป็นตัวความทุกข์ มันไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ ถ้าตัวกูของกูเกิดขึ้นในความรู้สึกแล้วไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ มันมีอุปาทานในอะไรอันนั้นเป็นความทุกข์ทันที ถ้ามันมีอุปาทานในรูปนั้น รูปนั้นก็เป็นทุกข์ มีอุปาทานในร่างกาย ร่างกายนั้นก็เป็นความทุกข์ หรือมันมีอุปาทานในเวทนา ในสัญญาหรืออะไรก็ตามใจ ส่วนใดส่วนหนึ่งส่วนนั้นมันก็เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า โดยสรุปแล้วขันธ์ทั้ง ๕ ที่กำลังประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ ถ้ามันไม่ประกอบด้วยอุปาทานมันไม่เป็นทุกข์ ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน มันไม่ได้เป็นทุกข์ แต่พอเราเข้าใจว่าร่างกายนี้ของเรามันก็เป็นของหนัก หรือเป็นทุกข์ขึ้นมา ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายก็เหมือนกัน ถ้าไม่ถูกอุปาทานยึดครองยังไม่เป็นทุกข์ ต่อเมื่อมีความโง่ไปว่าความเจ็บ ความเกิดของกู ความแก่ของกู ความเจ็บของกู ความตายของกู เมื่อนั้นจึงจะเป็นทุกข์ ความรู้สึกเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้มันก็เป็นสังขารอันหนึ่งในขันธ์ทั้ง ๕ เป็นขั้นอันหนึ่งในขันธ์ทั้ง ๕ ถ้าไม่เกิดไปยึดว่าอันนี้เป็นของกูมันก็ไม่มีความทุกข์เลย เกิดก็ไม่เป็นทุกข์ แก่ก็ไม่เป็นทุกข์ ตายก็ไม่เป็นทุกข์ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์นั้นท่านตรัสตามสำนวนชาวบ้าน เพราะว่าไม่มีชาวบ้านคนไหนที่จะไม่คิดว่าความเกิดของกู ความแก่ของกู ความตายของกู พอเอ่ยถึงความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันรู้สึกเป็นของกูมาแล้วตั้งแก่ก่อนหน้านั้น ไม่สามารถจะปลีกไอ้ความถือออกไปได้ มันเป็นไอ้ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายที่ถูกยึดถืออยู่แล้วโดยไม่รู้สึกตัว ฉะนั้นพูดได้เลยว่าความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ถ้าพูดให้ชัดโดยเหตุผลมันก็แยกออกจากกัน ตามหลักที่พระพุทธองค์ตรัสว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานจึงจะเป็นทุกข์ ถ้าเอาอุปาทานคือความรู้สึกว่ากูว่าของกูออกไปเสียได้เบญจขันธ์นั้นไม่เป็นทุกข์ เป็นเบญจขันธ์ล้วนๆ เป็นเบญจขันธ์บริสุทธิ์อย่างเบญจขันธ์ของพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งท่านไม่ยึดถือเบญจขันธ์นั้นว่าของๆตน มันจึงเป็นเบญจขันธ์ที่ไม่ประกอบด้วยอุปาทานมันจึงไม่มีความทุกข์ ถ้ามันจะแก่ จะเจ็บ จะตายไปก็ไม่ยึดถือความแก่ เจ็บ ตายนั้นว่าเป็นของๆฉัน นี่คือไม่ได้ยึดถือเบญจขันธ์ว่าของฉัน จะเกิดอะไรขึ้นแก่ร่างกายหรือแก่จิตใจ ไอ้ญาณของพระอรหันต์ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันเป็นอะไรแก่ฉัน จิตมันจึงอยู่เหนือไอ้ความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน แม้ว่ามันจะมีเวทนาเจ็บปวดอยู่ที่เนื้อที่หนัง ถูกเฉือน ถูกเฉือนอะไรก็มันก็รู้สึกว่าเจ็บ ลักษณะที่เป็นเวทนาธรรมดา ไม่ใช่เวทนาที่ถูกยึดมั่นว่าเวทนาของกูโดยไม่รู้สึกตัวเหมือนคนทั่วไป นี้คือสิ่งที่จะต้องเข้าใจว่าหลังจากเกิดเวทนาทางตา ทางหูเป็นต้นแล้วมันก็จะเกิดตัณหา คือความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสมควรแก่เวทนานั้น เมื่อความอยากเกิดขึ้นแล้วความรู้สึกจะเลยไปถึงว่ากู กูอยากอย่างนั้นกูอยากอย่างนี้ กูเป็นผู้แพ้กูเป็นผู้ชนะ กูเป็นผู้ได้กูเป็นผู้เสีย กูเป็นอะไรต่างๆ นี้คือสิ่งที่เรียกว่าอุปาทานแล้วก็เป็นทุกข์อย่างที่ช่วยไม่ได้ อุปาทานให้เกิดภพคือพร้อมที่จะมีไอ้ มีความทุกข์ คือจะพร้อมที่จะมีชาติ มีชราที่เป็นตัวความทุกข์ อุปาทานว่าตัวกูของกูเกิดในสิ่งใดแล้วมันจะมีการกระทำในทางไอ้นามธรรมที่เรียกว่าภพ สำหรับจะเป็นไอ้ความรู้สึกที่เป็นความทุกข์ของกูออกมา นี่เพราะเหตุอย่างเดียวเท่านั้นคือสำรวมไว้ไม่ได้ ป้องกันไว้ไม่ได้ เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียงเป็นต้นแล้ว เราไม่สามารถจะสำรวมไว้ได้ ไม่สามารถจะป้องกันไว้ได้ ความปรุงแต่งแห่งสังขารในจิตนั้นมันไหลไปจากผัสสะเป็นเวทนา จากเวทนาเป็นตัณหา จากตัณหาเป็นอุปาทานคือตัวกูของกู แล้วมันก็พร้อมจะยึดถือว่าชาติของกู ว่าชราของกู ว่ามรณะของกู อะไรล้วนเป็นทุกข์ไปเลย ฉะนั้นถ้าสกัดกั้นตรงนี้ไว้เสียได้ สังวรนี้แปลว่ากั้น กั้นอย่างดี กั้นอย่างไม่ให้รั่วไหลไปได้ คำว่าสังวร เรามาเรียกเป็นไทยๆว่าสำรวม บาลีว่าสังวร สังวรแปลว่ากั้นไว้อย่างดี กั้นไว้อย่างดีก็ว่าคือกั้นกระแสแห่งการปรุงแต่งของจิตอย่าให้ไหลไป เมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น เป็นผัสสะ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าให้ไหลไปเป็นตัณหา อย่าให้เวทนาไหลไปเป็นตัณหา อย่าให้ตัณหาไหลไปเป็นอุปาทาน อุปาทานไหลไปเป็นภพ ภพไหลไปเป็นชาติแล้วไปเป็นทุกข์ ให้มันสะดุดหยุดอยู่เสียเพียงแค่เวทนา ไม่ปรุงเป็นตัณหาเกิดขึ้นมา มันก็เท่านั้นเอง เหมือนกับ สัพพะทุกขา ปมุจจะติ เป็นผู้พ้นแล้วจากทุกข์ทั้งปวง นี่ถ้าไม่เข้าใจจะไม่เชื่อ เพราะว่าทำไมมันจึงง่ายเกิน ทำไมมันจึงสั้นเกิน แต่แล้วก็ดูสิว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ภิกษุสำรวมดูดีแล้วในทุกกรณี พ้นจากทุกข์ทั้งปวง สำรวมดีในทุกกรณีคือตาก็ตาม หูก็ตาม จมูกก็ตาม ลิ้น กาย ใจก็ตามได้รับการสกัดกั้นเป็นอย่างดี ไม่ให้สิ่งที่มากระทบนั้นปรุงแต่งจนไหลไปเป็นตัณหา เป็นอุปาทาน ไม่ว่ามันจะเข้ามาทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น เรื่องจบกันแล้วไม่ต้องเทศน์อีกแล้ว มันมีเท่านี้ แต่เดี๋ยวนี้ทำไมมันจึงไม่รู้จักจบสักที เทศน์กันกี่ปีๆมันไม่รู้จักจบสักที ปีนี้ก็เทศน์อย่างนี้ก็ได้ ปีอื่นเทศน์อย่างอื่นก็ได้ และอีกกี่ปีๆมันก็ยังเทศน์ได้ แล้วก็ฟังกันไม่มีจบสักที นี่คือมันผิดความประสงค์ของสวนโมกข์ ที่จะช่วยสรุปหรือย่นย่อสิ่งทั้งหลายให้มันสั้นเข้า หดเข้า เหลือแต่เพียงอันเดียวอย่างเดียว ทำทีเดียวก็พอแล้วสิ้นสุดกันที
นี่ในฐานะที่ว่าเป็นเจตนารมณ์ของสวนโมกข์ คือสถานที่จะช่วยประหยัดความยุ่งยากลำบาก สูญเสียเวลา ก็จะพูดเรื่องนี้ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าภิกษุสำรวมดีแล้วในทุกกรณี ย่อมหลุดพ้นจากทุกทั้งปวง ในเรื่องต่างๆ ไอ้เรื่องมากมายแล้วๆมาแต่หนหลังให้เลิกกันทีดีกว่า มาตั้งต้นใหม่แต่เพียงว่าสำรวมให้ดีในทุกกรณีแล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ก็เข้าใจให้ดีว่าในทุกกรณีนี้คือทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อย่าอยากรู้มากนักเลย ควรรู้เท่าที่จำเป็นอย่างนี้ แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ นี้คือการปฏิบัติพระพุทธศาสนาในชั้นที่เป็นหัวใจ ในขั้นที่เป็นหัวใจอย่างครบถ้วน เพราะว่าเราสกัดกั้นกระแสแห่งจิตให้หยุดอยู่เพียงแค่เวทนาอย่างนี้มันก็ไม่เกิดตัณหา เมื่อไม่เกิดตัณหาซึ่งเป็นอริยสัจตัวที่ ๒ มันก็ไม่เกิดทุกข์ที่เป็นอริยสัจตัวที่ ๓ คือเป็นๆ เป็นทุกขนิโรธ คือไม่เกิดทุกข์ที่เป็นตัวอริยสัจที่ ๑ เมื่อไม่มีทุกข์ก็เป็นอริยสัจตัวที่ ๓ คือทุกขนิโรธ แล้วการสกัดกั้นเสียทางตา ทางหู ทางจมูกให้ถูกวิธีนั้นแหละคือ อริยมรรคมีองค์ ๘ เมื่อเราสกัดกั้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ให้เวทนาปรุงตัณหา นั่นคืออริยมรรคมีองค์ ๘ เวลานั้นมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว วายาโม สติ สมาธิ ครบถ้วนอยู่โดยอัตโนมัติในตัวเอง แต่เรามันโง่เพราะเรียนมากเกินไป เลยไม่มองเห็นว่านั่นมันครบอยู่แล้วทั้ง ๘ องค์ ในสิ่งๆเดียวนั้น นี่เรื่องอริยสัจครบบริบูรณ์อยู่ที่นี่ ไอ้เรื่องขันธ์ ๕ ก็ครบบริบูรณ์อยู่ที่นี่ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวกูของกู เพราะกระแสแห่งเวทนาถูกสกัดกั้นเสียไม่ให้ปรุงเป็นตัณหา เมื่อกั้นเสียได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจไม่ให้เวทนาปรุงตัณหา นี่แหละคือปฏิบัติไอ้สิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสาย แต่ดูแล้วมันเห็นนิดเดียว ที่จริงนี่คือปฏิจจสมุปบาทตลอดทั้งสาย พอตากระทบรูปเป็นต้น อวิชชาไม่มีโอกาสโผล่เพราะมีสติสัมปชัญญะพอ สกัดกั้นเวทนาไว้ไม่ให้ปรุงตัณหา ก็ไม่มีอุปาทาน ไอ้ภพชาติไปทางนู้น ทีนี้ย้อนมาทางข้างบน เพราะมีสติทันท่วงที อวิชชาไม่เกิด ไอ้ผัสสะนั้นก็มันเป็นผัสสะที่จะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ อายตนะหรือนามรูป หรือไอ้สังขารวิญญาณอะไรก็ตามมันไม่เป็นชนิดที่จะเป็นที่ตั้งความยึดถือ เพราะอวิชชามันไม่มี ที่หัวเงื่อนหัวต้นมันไม่มีอวิชชา มันมีสติสัมปชัญญะที่เราเคยพูดถึงกันมาโดยละเอียดแล้วนั่น เข้ามาแทน ฉะนั้นในกรณีที่ตากระทบรูปเป็นต้น กรณีนั้นอวิชชาไม่มีโอกาส สติซึ่งเป็นเครื่องกั้นนั่นแหละเข้ามาแทนเสีย เมื่อไม่มีอวิชชาแล้วสังขารก็ไม่มี สังขารไม่มีแล้ววิญญาณก็ไม่มี วิญญาณไม่มีนามรูปไม่มี นามรูปไม่มีอายตนะไม่มี อายตนะไม่มีผัสสะไม่มีเวทนาไม่มี เดี๋ยวนี้ก็หมายความว่ามันไม่ทำหน้าที่ชนิดที่จะให้เป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นไอ้นามรูป ไอ้ผัสสะ อายตนะเหล่านั้นมันก็มีค่าเท่ากับไม่มี เพราะมันไม่ทำหน้าที่ให้เกิดทุกข์ได้ มันเป็นสังขาร มัน มันไม่เป็นสังขารที่จะให้เกิดความทุกข์ได้ มันก็เท่ากับไม่มี นี่เป็นอันว่าปฏิจจสมุปบาททั้งสายยาวยืดที่เป็นสมุทยวารสำหรับให้เกิดความทุกข์นั้นไม่มี นี่คือเราปฏิบัติได้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยดีซึ่งสิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาทหรือปัจจยาการอันยืดยาว นี่ท่องกันอยู่ทุกวันรู้ว่าอะไร ที่ในโรงเรียนนักธรรมสอนกันอยู่เป็นปีๆก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่สอบไล่ได้ สอบไล่เรื่องนี้ได้ แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร นี่เรื่องมันจึงมากมายเท่าภูเขาเลากาไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นมาทำความเข้าใจในพระพุทธสุภาษิตสั้นๆว่า สัพพะถะ สังวุโต ภิกขุ สัพพะทุกขะ ปมุจจะติ นี้ให้ดีๆ มันมีเท่านี้ ทีนี้มันยืดยาวไปอย่างเมื่อสักครู่ว่าผู้ใดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และรู้อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันเป็นชอบนั้นเป็นสรณะอันเกษม ถือสรณะนั้นแล้วพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ นี้มันก็เรื่องเดียวกัน ไอ้คนที่จะถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะได้นั้นมันไม่ใช่ถึงได้ด้วยปาก มันถึงได้ด้วย ด้วยการปฏิบัติเหมือนพระพุทธเจ้า คือสกัดกั้นเสียซึ่งการปรุงแต่งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั่น เมื่อทำอย่างนั้นมันเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้น เมื่อเราสกัดกั้นทางอายตนะเหล่านี้ได้ เมื่อนั้นจิตใจของเราเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้เรียกว่าเขาถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ แล้วขณะนั้นมันเห็นอริยสัจทั้ง ๔ ด้วยนามกาย คือด้วยใจอันแท้จริง คือเห็นในข้อที่ว่าเมื่อตากระทบรูปเป็นต้นนี้เราสกัดไว้ได้ ไม่เป็นตัณหาขึ้นมา คือไม่เกิดอริยสัจที่ ๒ คือตัณหาหรือสมุทัย ความทุกข์คืออริยสัจที่ ๑ มันก็ไม่เกิด มันก็เห็นชัด ถ้าๆ ถ้ามอง เมื่อไม่ต้องการจะมอง ไม่ต้องการจะเห็น มันก็ไม่ต้องเห็น แต่เมื่อต้องการจะเห็นมอง มันก็ต้องเห็นว่าอริยสัจที่ ๒ คือตัณหามันไม่มี แล้วอริยสัจที่ ๑ คือความทุกข์มันก็มีไม่ได้ เมื่อความทุกข์มันมีไม่ได้มันก็เป็นอริยสัจที่ ๓ คือทุกขนิโรธ คือไม่มีทุกข์ เราก็รู้ว่าอ้าว, ไอ้นี่เอง สกัดกั้นการปรุงแต่งของจิต เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่นเป็นต้นเสีย นี่แหละคืออัฏฐังคิกมรรค มีความถูกต้องทางความคิดเห็น ทางความปรารถนา ทางวาจา ทางการกระทำ ทางการเลี้ยงชีพ ทางความเพียร สติ สมาธิอะไรครบถ้วนอยู่ เพราะว่ามันไม่มีความผิดพลาด มันมีแต่ความถูกต้องสัมมาไปหมด จึงเรียกว่าผู้นี้เห็นอริยสัจทั้ง ๔ ด้วยปัญญาอันแท้จริงและโดยชอบ ไม่เหมือนกับพวกที่มานั่งท่องๆ ท่องกันวันแล้ววันอีกจนจำได้ดี มันก็ไม่เห็นด้วยปัญญาอันชอบ มันเห็นด้วยความจำ มันเห็นด้วย ไอ้ล้วนแต่เป็น เป็นเรื่องข้างนอก แล้วก็ไม่ใช่ตัวจริง ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสถูกต้องไม่มีค้านกันเลย แม้ว่าจะตรัสไว้ไนรูปว่าพ้นทุกข์ทั้งปวงได้เพราะระวัง สำรวม หรือว่าพ้นทุกข์ทั้งปวงได้เพราะสัมมาทิฏฐิ หรือว่าพ้นทุกข์ทั้งปวงได้เพราะถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วเห็นอริยสัจ ๔ อย่างนี้เป็นต้น และยังมีอีกมากมายหลายระบบ นี่เราเอาระบบที่มันจริงที่สุด ก็คือว่าสำรวมระวังในทุกกรณีคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าให้เผลอสติ ให้มีสติ ให้มีสัมปชัญญะ อวิชชาเข้ามาได้ไม่ เวทนาไม่ปรุงตัณหา ก็พอเท่านั้นเอง ไม่มีอุปาทานและไม่มีทุกข์ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็จะเป็นศรัทธา เป็นทาน เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เป็นการเห็นอริยสัจ เป็นการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทุกอย่างทั้งหมดทั้งสิ้นอยู่ในการปฏิบัติเพียงอย่างเดียวนี้เท่านั้น นี่เรียกว่าเป็นการประหยัดในการตัดรัดไม่ให้มันมีเรื่องมาก ขอให้ทุกคนตั้งอกตั้งใจ พยายามทำความเข้าใจในประโยคๆนี้ว่าภิกษุสำรวมดีแล้วในทุกกรณี ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง คำว่าภิกษุนี้เพราะว่าตรัสแก่ภิกษุ หรือตรัสในที่ชุมนุมของภิกษุจึงตรัสอย่างนี้ ถ้าตรัสตามธรรมดาก็ว่าคนนี่ บุคคลหรือมนุษย์นี่สำรวมดีแล้วในทุกกรณี ย่อมหลุดพ้นจาก ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ก็อย่าไปสนใจอะไรเลย สนใจแต่เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อมีอะไรมากระทบอย่าเผลอสติ อย่าให้เวทนาปรุงให้เกิดตัณหา คืออย่าให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ในเมื่อมันมีเวทนาเกิดขึ้นในจิตแล้ว เวทนาที่น่ารักก็เกิดความโลภ เวทนาที่น่าเกลียดก็เกิดความโกรธ เวทนาที่ยังไม่รู้ว่าอะไรแต่มีหวังอยู่บ้างก็เกิดความหลงหรือความโง่ ฉะนั้นระวังเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เหล่านี้ก็คือเรื่องในชีวิตประจำวันของคนทุกคน คนมันยังไม่ตาย ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็ยังทำงาน ฉะนั้นในวันหนึ่งๆเราก็มีปัญหาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อทำการงานก็ดี เมื่อนอนพักผ่อนก็ดี เมื่ออะไรก็ดีมันจะมีเรื่องกระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทางใจ ดับตะเกียงมืดนอนแล้ว นอนก่ายหน้าผากอยู่อายตนะทางใจก็เปิดกว้าง สำหรับเรื่องอะไรจะเข้ามาสู่จิตใจ มันก็มีความทุกข์ได้ กลางคืนก็อัดควันอยู่อย่างนี้ พอกลางวันก็เป็นไฟวิ่งไม่มีหยุดไม่มีหย่อน เป็นอุปมาว่า กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ กลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ อย่างนี้ไปจนตลอดชีวิต นี้ก็คือความจมอยู่ในนรก หมกไหม้อยู่ในนรก เพราะกลางคืนอัดควัน กลางวันเป็นไฟ จะแก้ไขได้ด้วยการปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า สำรวมด้วยดีในทุกกรณี ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มันก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ จึงพูดว่า สัพพะทุกขะ ปมุจจะติ พ้นจากทุกข์ทั้งปวง
แล้วทีนี้เราก็มานึกดูว่าวันนี้เป็นวันวิสาขปุณณมี พระจันทร์เต็มดวงเสวยวิสาขฤกษ์ เป็นวันสำคัญสำหรับพวกเราพุทธบริษัท เป็นวันตรัสรู้ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความหมายอยู่ตรงที่ว่าตรัสรู้เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ทำให้กิเลสและความทุกข์สูญสิ้นไป ทีนี้เราจะทำอย่างไรกับวันๆนี้ เราก็ไม่มีอะไรนอกจากจะทำให้เหมือนจนทำตามทางของพระพุทธเจ้า ทำตามรอยของพระอรหันต์ คือสำรวมระวังให้เป็นอย่างดีในทุกกรณีเพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ทีนี้ขอให้จำพระพุทธสุภาษิตที่สำคัญอีกข้อหนึ่งว่า สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแส สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแส กระแสแห่งอะไร กระแสเหตุพฤติของจิตคือความปรุงแต่งทางจิตที่มันจะปรุงแต่งไปหาความทุกข์ นี้ก็เรียกว่ากระแสคือกระแสแห่งความทุกข์ จากผัสสะเป็นเวทนา จากเวทนาเป็นตัณหา จากตัณหาเป็นอุปาทาน จากอุปาทานเป็นภพเป็นชาติเป็นทุกข์ นี้เรียกว่ากระแส คือความไหลไปแห่งกระแสของจิตที่ปรุงแต่งไปตามอำนาจของอวิชชา อะไรจะมาสกัดกั้นกระแสนี้ให้หยุดชะงัก อันนั้นคือสติ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สติ เตสัง นิวารณัง สติเป็นเครื่องกั้นซึ่งกระแสทั้งหลายเหล่านั้น สติ เตสัง นิวารณัง กระแสทั้งหลายมีสติเป็นเครื่องกั้น ฉะนั้นก็สนใจแต่สิ่งๆเดียวคือสติ พอมีสติมันก็กั้นของมันเอง เรามีหน้าที่เพียงมีสติ แล้วมันก็กั้นของมันเอง ถ้ามันมีสติจริงไม่ใช่สติแต่ปาก ฉะนั้นต้องประพฤติปฏิบัติในลักษณะที่เรียกว่าสติ จะปฏิบัติวิธีอานาปานสติ หรือปฏิบัติอะไรก็สุดแท้ให้มันมีสติก็แล้วกัน แม้ว่าเราจะไม่ปฏิบัติระบบไหนหมด ก็มีความปรารถนา มีความตั้งใจ แต่คิดจะมีสติ ไม่เผลอ จะไม่พูดไม่ทำไม่คิดอะไรก่อน มีสติเสียก่อนนี่ ดังนั้นจึงมีระเบียบปฏิบัติง่ายๆว่าจะทำอะไรต้องมีสติเสียก่อน แม้แต่จะมี จะหยิบข้าวเข้าปากอย่างนี้ก็มีสติเสียก่อน มันจะได้ไม่ใส่เข้าไปในจมูก นี่เป็นเรื่องที่เด็กๆทารกก็จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสติ มันไม่เดินสะดุด มันไม่เดินตกร่อง มันไม่เดินชนนั่นชนนี่ มันไม่ทำของตกแตก มันไม่ทำกุญแจหาย มันไม่ทำอะไรทุกอย่างที่ทำให้พ่อแม่เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา ทีนี้พ่อแม่ก็ต้องทำเป็นตัวอย่าง เป็นผู้มีสติ เป็นผู้หยุด เป็นผู้กั้นเสียได้ซึ่งกระแสที่จะนำไปสู่ความทุกข์ แล้วก็สอนให้ลูกเด็กๆสังเกต แล้วก็ทำตาม เมื่อเห็นคนหนึ่งไม่เป็นทุกข์ อีกคนหนึ่งก็ต้องเอาตัวอย่างแน่ ไม่ต้องไป ไปเคี่ยวเข็ญอะไรนัก แต่ขอให้แสดงตัวอย่างที่ไม่มีความทุกข์ให้ดู เขาก็จะสนใจ การทำตัวอย่างนี้ไม่มีอะไรนอกจากเป็นคนมีสติ คนไม่มีสติเราเรียกว่าอะไรคงเข้าใจกันดีอยู่แล้ว คนเสียสติ คนไม่มีสติ คนสติไม่เต็มอะไรนี้มันก็ล้วนแต่ไม่ไหวทั้งนั้น ในภาษาง่ายๆธรรมดานี้ก็แสดงชัดอยู่แล้วว่าสติเป็นของจำเป็นอย่างยิ่ง สติมีอยู่ ๒ ชั้น สติสัมปฤดีหรือสติชั้นที่เป็นพื้นฐาน เรามีสติอยู่ตามธรรมดาสามัญ ไม่บ้าไม่เมา ไม่สลบไสลไม่อะไรต่างๆนี้เรียกว่ามีสติชนิดสัมปฤดี มีสติสัมปฤดีเป็นพื้นฐานอย่างนี้แล้วก็มีสติที่เป็นสติแท้จริง เมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูฟังเสียง เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้รส เมื่อกายได้ผิวหนังมา ทุกๆคู่นี่มีสติว่าเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ชะงักอยู่ตรงที่ว่าไม่ปรุงเป็นความอยากอย่างสะเพร่าไปด้วยอำนาจของเวทนานั้น มีสติดึงมาซึ่งปัญญา แล้วก็พิจารณาว่ามันต้องทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น ถ้าไม่ต้องทำอะไรก็ไม่ทำอะไรเลย อันนี้มันเกิดขึ้นอย่างน่าเกลียดที่สุด จะต้องจัดการกับมันอย่างไร ก็ไม่ต้องโกรธ ไม่ต้องหัวเสีย ไม่ต้องมีอารมณ์ร้ายเกิดขึ้น เป็นผู้ที่มีสติสมบูรณ์ ยิ้มก็ได้ แล้วก็จัดการกับสิ่งนั้นให้มันลุล่วงไป ถ้ามันมาให้รักก็อย่าเพิ่งรัก มันก็มีสติดึงความรู้มาเสียก่อนว่าจะต้องจัดการอะไรกับสิ่งนี้ ก็จัดการไปตามนั้น ไม่ต้องไปหลงรัก ถ้าไม่ต้องจัดอะไรก็ไม่ต้องจัดอะไร มันก็ไม่มีเรื่องอะไร ก็ปล่อยให้มันเป็นหมันไปอย่างนี้ การกระทบนั้นก็เป็นหมันไป ถ้ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำก็ทำไปโดยสติ โดยสติก็คือโดยปัญญา เพราะฉะนั้นมันถูกต้องไม่มีผิดพลาด ไม่ต้องทำสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำ สิ่งที่จำเป็นจะต้องทำก็ทำ แต่เท่าที่มันควรทำ มันก็เหลือน้อยแล้ว ไม่ต้องไปมัวโกรธ มัวเกลียด มัวโลภ มัวโกรธ มัวหลง มัวไอ้ที่มันเป็นไอ้ความทุกข์ นี่มันมีเท่านี้ มีสติเป็นเครื่องกั้นกระแสที่จะเข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วจะไหลไปเป็นเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และทุกข์
วันนี้เราพูดกันด้วยพระพุทธภาษิตสั้นๆว่าบุคคลสำรวมดีในทุกกรณีแล้ว ย่อมพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ขอให้ถือเอาเป็นเรื่องสำคัญในวันวิสาขบูชาว่านี้เป็นหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา ที่ได้ตรัสไว้โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารับสนองพระพุทธโองการเพื่อจะปฏิบัติตามนั้น หรือว่ารับสนองพระพุทธประสงค์เพื่อจะทำให้ถูกใจพระพุทธเจ้า ในวันเช่นวันนี้เป็นพิเศษเพราะวันนี้เป็นวันพิเศษ แล้วก็เหลือไว้เป็นไอ้พื้นฐาน รากฐานตามธรรมดาตลอดทุกวันๆจนตลอดชีวิต แล้วก็จะได้ประสบความประ ความสมประสงค์ในการที่เป็นพุทธบริษัท นับถือพระพุทธศาสนาด้วยการประพฤติปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ มีความเจริญก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา จนกว่าจะลุถึงจุดคือพระนิพพาน มันเป็นความหมายของพระพุทธศาสนา และของกิจการของสวนโมกขพลาราม ป่าไม้เป็นกำลังแห่งความหลุดพ้นออกไปสู่พระนิพพานด้วยประการฉะนี้ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ