แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้า ตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเป็นวันวิสาขบูชาดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบอยู่ได้เป็นอย่างดีแล้ว ธรรมเทศนาในวันนี้มีความมุ่งหมายที่จะปรับปรุงจิตใจของท่านทั้งหลายให้เหมาะสมแก่การที่จะทำวิสาขบูชานั่นเอง นอกไปกว่านั้น ก็ยังมีความหวังว่า การที่อุตส่าห์พยายามด้วยความลำบากมาประกอบพิธีวิสาขบูชาที่นี่นั้น ควรจะได้ระลึกนึกกันอย่างใดบ้าง อันจะทำให้ได้รับประโยชน์อานิสงส์ยิ่งๆ ขึ้นไป การที่ท่านทั้งหลายอุตส่าห์ลำบากมาจนถึงที่นี่ เพื่อมากระทำพิธีในสถานที่อย่างนี้นั้น มีช่องทางที่จะระลึกนึกได้มากกว่าที่จะกระทำพิธีเช่นนี้ในพระอารามตามธรรมดา ข้อแรกที่สุด ท่านทั้งหลายก็เห็นอยู่ได้แล้วว่า นี้มันเป็นสถานที่ที่เรียกว่า "ป่า" หรือจะเรียกว่าอารามตามภาษาบาลี สถานที่เช่นนี้มีความสำคัญสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งเป็นพระศาสดาแห่งเราทั้งหลาย ซึ่งเรากำลังจะกระทำการบูชาเป็นพิเศษด้วยพิธีนี้ ดังนั้น จะต้องระลึกนึกไปตั้งแต่ต้นว่าพระศาสดาตรัสรู้ พระสัมมา เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตรัสรู้ในป่า เราควรจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า "ป่า" ตามสมควร ว่าทำไมจึงได้ช่วยให้มีการตรัสรู้ พระศาสดาของทุกๆ ศาสนาล้วนแต่ตรัสรู้ในป่า ไม่มีพระศาสดาของศาสนาใดที่ตรัสรู้ในบ้านเรือน หรือแม้แต่ในสถานที่ที่คล้ายกับบ้านเรือน เพราะว่าป่าเป็นธรรมชาติที่มีอิทธิพล เอ่อ, ช่วยให้จิตใจสงบรำงับ ให้มีกายวิเวกเป็นข้อแรก แล้วก็ง่ายที่จะมีจิตวิเวก มีจิตวิเวกแล้วก็ง่ายที่จะมีอุปธิวิเวก นี้เป็นหลักใหญ่ๆ ที่ทำให้มีการตรัสรู้ในป่า คำว่ากายวิเวกก็หมายความว่า กายมันสงบรำงับลงไปเองโดยอำนาจของธรรมชาติ ซึ่งไม่ต้องใช้ความพยายามมากมายอะไรนัก ดังเช่นที่ท่านทั้งหลายทุกคนเข้ามาที่นี่ ถ้าสังเกตดูให้ดีจะรู้สึกว่า เอ่อ, กายมันเย็นลง รำงับลง เนื่องมาจากจิตใจในภายในมันรำงับลง มันเย็นลง ด้วยมัน มัน มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน ถ้ามีกายมันสงบรำงับ ใจมันก็สงบรำงับ หรือว่าใจสงบรำงับก็มีกายสงบรำงับ ส่วนใหญ่ก็มาจากจิตใจเมื่อเข้ามาในสถานที่อย่างนี้ มันไม่มีอะไรที่จะดึงดูดจิตใจไปในทางฟุ้งซ่าน หรือกำเริบต่างๆ ใจสงบอย่างนี้แล้วกายมันก็พลอยสงบรำงับด้วย มันยิ่งส่งเสริมซึ่งกันและกัน เมื่อจิตสงบแล้ว ปัญญา เอ่อ, คือจิตอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีหน้าที่พิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริงนั้น ย่อมทำหน้าที่ของมันได้โดยสะดวก การตรัสรู้ในป่าจึงเป็นไปได้โดยสะดวก โดยง่ายดายกว่าการที่จะตรัสรู้ตามบ้านเรือน ซึ่งไม่เคยมีปรากฏเลย ทีนี้มองดูให้ละเอียดเข้ามาอีกสักหน่อยก็จะได้พุทธานุสติสำหรับพระพุทธเจ้าว่าท่าน เอ่อ, ประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า นิพพานในป่า นี้ก็เป็นของที่แปลกออกไป การตรัสรู้ในสวน เอ่อ, ลุมพินี ก็คือสวนป่า ก็คือป่าที่เที่ยวเล่นนั้นเอง การประสูติในสวนป่า นี้การตรัสรู้ก็เป็นไปในป่า หรือในธรรมชาติที่ยังเป็นป่า ที่ริมตลิ่ง ที่แม่น้ำ เอ่อ, แห่งหนึ่ง พอปรินิพพานก็ในป่าที่เป็นที่เที่ยวเล่นของพวกกษัตริย์ นี้พอจะสรุปได้ว่า เหตุการณ์สำคัญ เอ่อ, ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้านั้นมันยังเนื่องด้วยป่า ถ้าตามปกติพระพุทธองค์ก็ทรงเกี่ยวข้องด้วยป่า ป่านั้น ป่านี้ เสด็จท่องเที่ยวไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลากลางวันหลังจากภัตตาหารแล้ว ทรงประทับฆ่าเวลาที่เรียกว่า วิเทชีวาวิหาร (นาทีที่ 07:18) นั้นก็ทรงเลือกเอาป่า แปลว่าพระพุทธองค์ทรงคุ้นเคยกับป่าถึงอย่างนี้ ทีนี้มองดูกันต่อไปอีกว่านอกจากจะเป็นป่าแล้ว มันยังจะต้องเป็นกลางดินอีกด้วย พระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ขอให้ไประลึกดู อ่านดู ว่าประสูติที่สวนลุมพินีนั้นก็เป็นการประสูติกลางพื้นดิน ตรัสรู้ที่ต้นโพธิ์ที่พุทธคยานั้นก็เป็นการตรัสรู้กลางพื้นดิน แม้จะมีหญ้ารองบ้างก็เรียกว่ากลางพื้นดินอยู่นั่นเอง พอถึงคราวปรินิพพานก็ปรินิพพานกลางดิน แม้จะมีผ้าปูรองบ้างก็เรียกว่ากลางดิน ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน ปรินิพพานกลางดิน วันนี้เราจึงได้อนุสติ คือการระลึกถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าได้โดยง่าย เพราะว่าเรากำลังนั่งอยู่กลางดิน ไม่มี เอ่อ, ความสบาย เอ่อ, สะดวกอะไรเป็นพิเศษ ผู้ที่นั่งกลางดินย่อมจะสบาย เอ้ย, ได้รับกุศลยิ่งกว่าผู้ที่นั่งบนเสื่อ เพราะว่านั่งบนเสื่อนั้นก็ยังระลึกถึงความสบาย ความสะดวก ความสะอาดอยู่บ้าง ส่วนผู้ที่นั่งกลางดินนั้นก็แปลว่า เสียสละหมด เป็นการบูชา ดังนั้น จึงถือว่าคนที่นั่งลงไปบนดิน จะต้องได้บุญมากกว่าคนที่นั่งบนก้อนหิน หรือว่านั่งบนเสื่อ จริงไม่จริงก็ลองคิดดูเอง ทีนี้ขอให้ระลึกต่อไปว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่มีรองเท้า ท่านไม่มีร่ม ท่านไม่มีมุ้ง นี้เป็นสิ่งที่อาตมาพยายามจะศึกษาสอบสวนค้นคว้าในพระบาลี แม้กระทั่งในอรรถกถา ก็ยังไม่พบว่าพระพุทธองค์ทรงมีรองเท้าใช้ หรือทรงมีร่มใช้ ทรงมีมุ้งใช้ เดี๋ยวเราก็จะได้รู้กันว่าถ้าเราจะลองเดินในป่าตามธรรมชาติโดยไม่ต้องมี เอ่อ, รองเท้าตามแบบพระพุทธเจ้าดูบ้างนี้จะรู้สึกอย่างไร ถ้าเจ็บปวดขึ้นมาบ้างก็ให้ภาวนาว่าพระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้า พระพุทธเจ้าไม่มีรองเท้า ตัวนี้เป็นอนุสติที่จะระลึกแล้วยังจะรู้สึกด้วยจิตใจจริงๆ ว่าพระศาสดาของเรานั้นเป็นอย่างไร ในประเทศอินเดียก็เหมือนกับประเทศไทย ผิวดินมันก็ขรุขระ แดดมันก็ร้อน เหลือบยุงแมลงต่างๆ มันก็ชุกชุมเหมือนกัน นี่เรื่องไม่มีรองเท้า เรื่องไม่มีร่ม เอ่อ, ไม่มีไม้เท้า ไม่มีมุ้งเหล่านี้ ควรจะเอามานึกถึงบ้าง ข้อนี้มันมีหลักสำคัญอยู่ว่า ถ้าเราอยากจะเกิดความรู้สึกนึกคิดเหมือนผู้ใด ก็จงพยายามเป็นอยู่ให้เหมือนการเป็นอยู่ของผู้นั้นให้มากที่สุด แล้วธรรมชาติมันจะช่วย คือช่วยให้เกิดความรู้สึกคิดนึกเหมือนผู้นั้นได้โดยง่าย เดี๋ยวนี้เราก็คงอยากจะมีจิตใจเหมือนจิตใจของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์ทั้งหลาย เราจะต้องปรับปรุงการเป็นอยู่ในภายนอกให้คล้ายการเป็นอยู่ของพระพุทธเจ้าหรือของพระอรหันต์ทั้งหลายให้มากที่สุด ดังที่ภิกษุ สามเณรทั้งหลายก็กำลังพยายามอยู่ อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายก็ควรจะเป็นอย่างเดียวกัน ถ้าไม่ได้ทำในเวลาทั่วๆ ไป ก็ควรจะทำในเวลาพิเศษ ในโอกาสพิเศษเช่นวันนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ขอให้ถือเอาโอกาสเช่นวันนี้กอบโกยเอาประโยชน์และอานิสงส์ที่จะพึงได้จากการกระทำ ที่ทำให้ทุกอย่างคือทั้งกาย วาจา ใจ เป็นไปโดยอนุโลมแบบการประพฤติกระทำของพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนั้น เราจึงตั้งใจที่ว่าจะเวียนเทียนประทักษิณ เป็นวิสาขบูชาในสถานที่คือป่าเช่นนี้ และใช้พื้นดินเป็นปรก เอ่อ, ติอย่างนี้ ด้วยความตั้งใจในหลายๆ ทาง เช่นว่า จะเป็นพุทธบูชาด้วยความเสียสละของเรา หรือว่าจะเป็นความรู้สึกคิดนึกถึงจิตใจ เอ่อ, พระหฤทัยของพระพุทธเจ้า ว่าท่านจะต้องมีพระหฤทัยอย่างไร สำหรับการเป็นอยู่ที่เป็นเกลอกับธรรมชาติถึงที่สุดอย่างนี้ด้วย และในป่าเช่นนี้ มันทำให้ระลึกนึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ได้ง่าย ควรจะระลึกไว้ในใจในลักษณะธรรมดาสามัญก่อนว่าวันนี้บัญญัติเรียกว่าเป็นวันวิสาขปุณณมี (นาทีที่ 13:44) คือวันพระจันทร์เต็มดวงอยู่ในกลุ่มดาวฤกษ์วิสาขะ ก็เรียกว่าวันเพ็ญกลางเดือนวิสาขะ ในวันเช่นวันนี้เมื่อตอนเที่ยงวัน พระพุทธเจ้าประสูติ ในวันเช่นวันนี้เมื่อตอนเช้าตรู่สางๆ เอ่อ, พระพุทธเจ้าตรัสรู้ และในวันเช่นวันนี้ตอนหัวค่ำ พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ตามตำนานได้กล่าวไว้อย่างนั้นเมื่อพูดถึงเวลา คือวันวิสาขปุณณมีด้วยกันทั้งนั้น ส่วนสถานที่นั้นย่อมจะแตกต่างกันตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือว่าถ้าประสูติก็ที่ลุมพินี สวนป่าของกษัตริย์ศากยะ ถ้าตรัสรู้ก็ริมตลิ่งของแม่น้ำเนรัญชราที่ตำบลอุรุเวฬา ถ้าปรินิพพานก็สวนป่าของมัลลกษัตริย์ นั่นก็เป็นในวันเดียว ในวันที่บัญญัติว่าเป็นวันวิสาขปุณณมีในสถานที่ต่างๆ กันอย่างนี้ ฉะนั้น เราควรจะทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ในข้อที่ว่า เมื่อเช้านี้ท่านเป็นอย่างไร เมื่อตอนกลางวันท่านเป็นอย่างไร เมื่อตอนหัวค่ำท่านเป็นอย่างไร ทำในใจให้มากอย่างนี้สำหรับคนทั่วไป ก็จะเพิ่มความเชื่อ ความเลื่อมใส ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน เอ่อ, ในศาสดานั้นยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นอย่างขั้นเบื้องต้นหรือขั้นตระเตรียม ในขั้นตระเตรียมนี้ต้องการความเชื่อ เอ่อ, เป็นหลักใหญ่ สิ่งใดที่ทำให้เชื่อ สิ่งนั้นถือว่ามีความสำคัญ ดังนั้น เรามา เอ่อ, ย้ำความรู้สึก เอ่อ, ความจำ เป็นต้น เกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระพุทธองค์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นคง เอ่อ, ในท่าน ก็จะเป็นไปแต่ในทางดี มีประโยชน์ ขอให้ทุกคนเตรียมในลักษณะอย่างนี้ก่อน ด้วยความอดกลั้นอดทน ให้เป็นพุทธบูชาให้สมกับที่ว่า พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงแก่เรา เราจะเล่นตลก เสียสละเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็บูชาพระ พระพุทธคุณอันใหญ่หลวงอย่างนี้ย่อมไม่เป็นการสมควร เราจะต้องระลึกนึกถึงข้อที่ว่าพระมหากรุณาธิคุณนั้นใหญ่หลวงเท่าไร เราก็จะต้องตั้งใจที่จะบูชาพระคุณ หรือที่จะเรียกธรรมดาสามัญว่า สนองพระคุณของพระองค์ให้สมกัน ถ้าเราจะระลึกถึงว่าพระคุณนั้นใหญ่หลวงเหลือที่จะพรรณนาแล้ว การสละเล็กๆ น้อยๆ มาเดินเวียนเทียนที่นี่ ดูก็จะเป็นเรื่องล้อเล่นมากกว่า เพราะฉะนั้นจะต้องทำอะไรให้มากไปกว่านั้น นับตั้งแต่ว่าในวันนี้ ตลอดทั้งวันทั้งคืน จะต้องมีการกระทำเป็นพิเศษให้เต็มไปด้วยการเสียสละอย่างหนึ่ง ให้เต็มไปด้วยอนุสติอย่างหนึ่ง ให้เป็นไป เอ่อ, เพื่อการปฏิบัติธรรมให้สูงสุดนี้อย่างหนึ่ง สักสามอย่างเป็นต้น เท่านี้ก็ดูเหมือนจะเพียงพอแล้ว ข้อที่เรียกว่าเสียสละนั้นก็ต้องหมายถึงความลำบากบ้างเป็นธรรมดา ทั้งการที่จะกระทำวิสาขบูชาตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งโดยไม่ต้องนอนนี้ ก็ควรจะกระทำได้ และแม้ว่าเราจะเสียสละกระทำตลอดวันตลอดคืนโดยไม่ต้องนอนเลย เมื่อเอาไปเทียบกันกับพระพุทธคุณแล้ว มันก็ยังเทียบกันไม่ไหว ยังเกือบจะคล้ายๆ กับเป็นการล้อเล่นอยู่นั่นแหละ คือว่าพระคุณของท่านเท่าภูเขาเลากา แล้วเราสนองพระคุณท่านขนาดเท่าเม็ดก้อนกรวดหรือเม็ดทราย มันเทียบกันไม่ได้อย่างนี้ ทำอย่างไรจึงจะเป็นไปในลักษณะที่พอสมกันก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดดู อันการเสียสละอยู่ตลอดคืนตลอดวันนี้ก็จะต้องเป็นสิ่งที่กระทำได้เป็นแน่นอน ถ้าเรามาคิดถึงข้อนี้แล้วมันก็คงจะหายง่วง เพราะว่าบางทีเราก็เล่นไพ่จนสว่างก็มี สามีที่ภรรยาป่วยหนักแล้วนอนไม่หลับต้องพยาบาลกันตลอดคืนก็มี บางคนไปจับปูจับปลาในทะเลตลอดคืนไม่ได้นอนก็มี เล่นหมากรุกสว่างไม่ได้นอนก็มี หรือเที่ยวไปหลงใหลในเรื่องเพศเรื่องอะไรกัน จนต้องไม่ได้หลับได้นอนนี้ก็ยังมี มันเป็นสิ่งที่กระทำได้ถ้ามันมี ไอ, แรงผลักดันที่มากพอ อย่างนี้พระคุณของพระพุทธเจ้ามหาศาล ควรจะเป็นแรงผลักดันให้การอดนอนเพียงเท่านี้นั้นกลายเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ไป คือมันจะทำให้รู้สึกปีติปราโมทย์ พอใจอยู่โดยไม่รู้สึกง่วงนอน นี้จะจริงหรือไม่จริง จะยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ขอให้ภิกษุสามเณรที่นอนเอาไปนึกพิจารณาดู ทั้งทายก ทายิกาทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ว่าทำไมจะต้องมีข้อแก้ตัวอย่างนี้อย่างนั้นให้แก่ตัวเองที่เป็นคนอ่อนแอ มันควรจะเพิ่มความเสียสละที่ไม่มีขอบเขตนั้นให้มากยิ่งขึ้นทุกที นี้เรียกว่าเราจะทำวิสาขบูชาด้วยการเสียสละเป็นประการที่หนึ่ง ประการที่สอง จะกระทำด้วยอนุสติ คือการระลึกอย่างมาก ระลึกอย่างจริงๆ จังๆ ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ เหมือนกับว่าเราจะเฝ้าดูพระพุทธเจ้าจะตรัส เอ่อ, ตรัสรู้ จะประสูติเมื่อไร เราจะเฝ้าดู จะตรัสรู้เมื่อไร เราจะเฝ้าดู จะปรินิพพานเมื่อไร เราจะเฝ้าดู อย่างนี้มันง่วงนอนไม่ได้ เราจะต้องระลึกให้มาก คือระลึกด้วยจิตใจ เอ่อ, ทั้งหมด แล้วก็ระลึกให้มาก ไอ, ความระลึกนั้นจะช่วยให้ไม่รู้สึกง่วงนอน ไม่รู้สึก เอ่อ, เบื่อระอา เป็นอันว่าจะต้องเพิ่มแรงการระลึกที่เรียกว่าอนุสติในวันนี้ให้มากเป็นพิเศษสมกับที่ว่าปีหนึ่งมีเพียงครั้งเดียว นี้ก็เป็นการบูชาประการที่สอง ส่วนที่ว่าจะต้องบูชาด้วยการปฏิบัติบูชาในวันนี้นั้น ก็ได้กระทำกันมาตลอดเวลาแล้ว เมื่อเช้านี้ก็มีการให้ทาน ให้ทานถวายทาน มีการสมาทานศีล มีการเจริญ เอ่อ, เมตตาภาวนา กรวดน้ำอุทิศแผ่ส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์ มีการสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา และมีการกล่าวสัมโมทนียกถาหรือธรรมกถา คนละเล็กคนละน้อย เป็นการให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปเหมือนกับให้ธรรมทาน ในนี้ก็ ก็ควรจะสงเคราะห์ไว้ในประเภทการปฏิบัติที่ใช้เป็นการบูชา และมาถึงตอนนี้ก็ยังจะทำได้ต่อไปอีกถึงการเจริญสมาธิหรือการเจริญภาวนา ให้ เอ่อ, เป็นไปเท่าที่จะเป็นไปได้ในโอกาสแห่งวันนี้และคืนนี้ แล้วจะไปคิดเห็นแก่หลับแก่นอนได้อย่างไร ควรจะตั้งสมาธิจิตอุทิศต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในลักษณะที่เรียกว่าพุทธานุสติก็ได้ จนตลอดวันตลอดคืนของวันเช่นวันนี้ หรือว่าจะเจริญภาวนาในฝ่าย เอ่อ, วิปัสสนาปัญญาให้เห็นว่า คำว่าพุทธะ พุทธะนั้นมันเป็นเรื่องของปัญญาที่มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในธรรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นของคนธรรมดาทั่วไป ให้เกิดความเบื่อหน่าย สลด สังเวชในความโง่เขลาเบาปัญญาอย่างนั้น ทั้งของตัวเองและทั้งของบุคคลอื่น อย่างนี้ก็จะยิ่งเป็นการบำเพ็ญการปฏิบัติบูชาชนิดสูงสุด สามารถที่จะอุทิศแด่พระพุทธองค์ได้ คือตรงตามพระพุทธประสงค์ยิ่งกว่า ลองไปคิดดูว่าสิ่งที่เราจะอุทิศถวายพระองค์นั้น พระองค์จะทรงพอพระทัยในสิ่งใดมากกว่า อาตมาเชื่อเหลือเกินว่า ทรงพอพระทัยในสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิบัติบูชา" พระองค์ไม่ทรงเรียกร้อง เอ่อ, สิ่งตอบแทนอย่างอื่นเท่าที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ แต่ทรงเรียกร้องเอาสิ่งที่เรียกว่า "ปฏิบัติบูชา" แล้วมันก็น่าขันที่ว่าปฏิบัติบูชาที่กระทำไปนั้นมันกลับเป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้กระทำนั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะไปเป็นการบำรุงบำเรออะไรแก่พระพุทธองค์เลย มันก็เป็นประโยชน์ เอ่อ, เกื้อกูลอย่างยิ่งแก่บุคคลผู้ปฏิบัตินั่นแหละ ฉะนั้นควรระลึกนึกให้มากว่าสิ่งเหล่านี้ มันเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขแก่บุคคลผู้กระทำ แม้ว่าจะกระทำในลักษณะที่เป็นการบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ก็เป็นการบูชาเป็นประการที่สาม ประการที่หนึ่งจะต้องเสียสละ ประการที่สองจะต้องมีอนุสติ ประการที่สามจะต้องมีปฏิบัติบูชา ขอให้ทุกคนระลึกนึกให้ดีว่าสิ่งเหล่านี้ได้มีอยู่จริง และได้กระทำแล้วสุดความสามารถของเราด้วยกันทุกคน แล้วก็มีปีติปราโมทย์ในการกระทำนี้ซึ่งกระทำเป็นพิเศษเพียงปีละหนึ่งครั้งสองครั้งเท่านั้น เมื่อจิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วย เอ่อ, ความปีติปราโมทย์ที่เกิดแต่ธรรมอย่างนี้แล้ว ทุกอย่างจะไม่มีปัญหา จะไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย จะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือเบื่อระอา หรือ เอ่อ, อย่างใดๆ ที่มันเป็นอุปสรรคขัดขวาง ขอให้ท่านทั้งหลายเตรียมจิตเตรียมใจ เอ่อ, ที่จะกระทำให้สำเร็จประโยชน์ตามนี้ ทีนี้ก็จะได้ เอ่อ, ชี้แจง เอ่อ, ต่อไปว่าการบูชาพระพุทธองค์ในฐานะที่เป็นบุคคล เป็นพระพุทธเจ้าโดยพระรูปกายนี้ก็มีอยู่อันดับหนึ่งซึ่งเราจะต้องทำให้ดีที่สุดที่จะทำได้ เหมือนที่เราจะกระทำแก่บุคคลผู้มีตัวตนเป็นบุคคลในทุกๆ กรณี ส่วนพระพุทธเจ้าในลักษณะที่เป็นธรรมกาย ไม่ได้เกี่ยวกับรูปกายนั้น เป็นคุณธรรมอัน เอ่อ, ลึกซึ้ง อันสูงสุด อันมองเห็นได้ยากกว่านั้นยิ่งขึ้นไปอีก นี้เราก็ต้องกระทำ เพราะว่าเราจะต้องกระทำเผื่อไว้ทุกอย่างที่เราจะทำได้ เรายอมรับว่า เอ่อ, เรายังไม่แน่ใจว่าจะกระทำแต่เพียงอย่างเดียวแล้วจะเป็นการแน่นอนหรือปลอดภัย เราจึงเอาเป็นว่าเราจะทำทุกอย่างที่มีช่องทางที่จะทำได้หรือมีเหตุผลที่จะทำได้ เมื่อพระพุทธเจ้า เอ่อ, ทรงมีอยู่ในสองความหมาย คือโดยพระรูปกายนี้อย่างหนึ่ง โดยธรรมกายนี้อย่างหนึ่ง เราก็ควรทำการบูชาให้ครบถ้วนทั้งสองอย่าง สำหรับรูปกายของพระองค์ที่ว่า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ในวันเดียวกันนี้ ที่นั่นที่นี่อย่างที่กล่าวมาแล้วในลักษณะอย่างไร เราก็ทำจิตใจใน เอ่อ, เหตุการณ์นั้นๆ อย่างครบถ้วน นี้ก็เสร็จไปในส่วนพระพุทธองค์ที่เป็นพระรูปกาย แต่พอเรามาระลึกนึกถึงข้อที่ว่า พระองค์ได้ตรัสว่า "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม" ดังนี้แล้ว เป็นการแสดงชัดว่าท่านทรงปฏิเสธรูปกายว่ายังไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่แท้จริงหรือสูงสุด จะต้องเอาพระธรรม เอ่อ, เป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริงหรือสูงสุด ดังนั้นเราจะต้องทำในความหมายหนึ่ง คือในความหมายที่เรียกว่าเป็นภาษาธรรม "ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม" ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาทผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้เป็นต้นแล้ว ก็ต้องทำให้มีการเห็นพระพุทธองค์ในฐานะที่เป็นธรรมหรือเป็นธรรมกายอย่างนั้นด้วย ก็เลยมี เอ่อ, เรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไป แม้ที่สุดแต่เรื่องที่เป็นปัญหาที่มักจะถามๆ กันว่าทำไมจึงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานในวันเดียวกันได้ นี้ก็มี เอ่อ, ทางที่จะตอบได้เป็นสองทาง ว่าการที่มันมี เอ่อ, สามอย่างในวันเดียวกันได้นั้น เป็นความบังเอิญ เป็น เอ่อ, ความพิเศษมหัศจรรย์สำหรับบุคคลเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าได้ไปสงสัยเลย คือจะยอมให้ว่ามันก็เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในความบังเอิญชนิดนั้น แต่ถ้าจะให้สนิทใจคือลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปกว่านั้น และที่ใครๆ ก็จะไม่คัดค้านหรือจะไม่ถามอีกต่อไปแล้ว ก็จงกระทำในใจถึงพระพุทธองค์ชนิดที่เป็นธรรมกายให้ยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งเห็นว่าสิ่งที่เรียกว่า ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานนั้นที่แท้ก็คือสิ่งๆ เดียวกัน มีได้ในขณะจิตเดียวกัน โดยพิจารณาอย่างนี้ว่า การประสูตินั้นคือการตรัสรู้ หาใช่การคลอดจากครรภ์ไม่ การประสูตินั้นคือการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเกิดเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา ในเรื่องที่จะพิจารณาก็มีอยู่ห้าเรื่องดังจะยกตัวอย่างมาให้เห็นสักเรื่องหนึ่ง เช่นข้อความที่กล่าวไว้ว่า พอประสูติจากครรภ์พระมารดาก็เดินได้ แล้วก็ยังพูดได้ แล้วก็พูดอย่างที่เรียกว่าสูงสุด คือพูดว่าเราเป็นบุคคลผู้เลิศในโลก เป็นผู้ประเสริฐในโลก เอ่อ, ชีวิตนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้ายนี่ ใจความสำคัญมีอยู่อย่างนี้ว่าเราเป็นบุคคลที่เลิศที่สุดในโลก ชีวิตนี้เป็นชีวิตสุดท้าย นี่คลอดออกมาจากครรภ์มารดาไม่ทันได้อาบน้ำอาบท่าก็เดินได้แล้วก็พูดได้อย่างนี้ นี่เป็นเหตุการณ์ในวันประสูติ จะถามว่าถ้ามันเป็นการเกิดตามธรรมดาแล้วจะเดินได้หรือพูดได้อย่างไรกัน เพราะฉะนั้น มันควรจะเป็นการประสูติในความหมายที่เร้นลับกว่านั้นชนิดที่ว่าพอเกิดแล้วก็พูดได้ เดินได้ มันก็เข้าเรื่องกันพอดีกับที่ว่าพอตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็สามารถแผ่พระศาสนาไปในแคว้นต่างๆ ได้ นี่มันเหมือนกับเดินได้ แล้วทรงปฏิญาณอาสะภัณฐานะ (นาทีที่ 32:25) คือฐานะจอมโจกของคนในโลกว่าเราเป็นผู้ประเสริฐที่สุด และที่ชัดเจนกว่านั้นก็คือการประกาศว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ซึ่งเป็นหลักและเป็นถ้อยคำ เอ่อ, สำหรับพูดในขณะที่มีการบรรลุอรหัตผลว่า ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตายะ แปลว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก พระพุทธเจ้าก็ตรัสประโยคนี้ในเหตุการณ์ที่เราเรียกกันว่าการประสูติ นี้ทำให้เห็นว่า การประสูติในที่นี้หมายถึงการเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะแห่งการตรัสรู้นั่นเอง ทีนี้เราจะมองกลับไปทีหนึ่งว่า ถ้าหากว่าเป็นการเกิด ประสูติจากพระครรภ์มารดา พอเกิดออกมาก็เดินได้และพูดได้ และคนทั้งหลายก็เห็นอยู่ คนทั้งหลายก็จะต้องยอมรับว่านี้เป็นอัจฉริยมนุษย์ จะต้องไม่มีการต่อต้าน จะไม่ต้องมีการขัดขวางแต่อย่างใด นี้เอาเป็นว่าทั้งๆ ที่เห็นอยู่ว่าพอท่านเกิดมาก็เดินได้พูดได้อะไรลักษณะอย่างนี้แล้ว ยังไม่เชื่อว่านี่เป็นอัจฉริยมนุษย์ ยังมีการต่อต้าน เอ่อ, ที่จะให้ไปครองเหย้าครองเรือน และพวกศากยะทั้งหลายนั้นก็มิได้เคารพพระพุทธเจ้า จนถึงกับต้องทรงกระทำปาฏิหาริย์หลาย หลายอย่างหลายประการ ดังที่ปรากฏอยู่ในต้นนิทานแห่งเวชสันดรชาดกเป็นต้น นี่แหละลองคิดดูให้ดีเถอะว่าถ้าท่านประสูติออกมาแล้วเดินได้จริง พูดได้จริง คนทั้งหลายก็จะยอมรับ จะไม่ยอมคัดค้าน จะไม่ยอมขัดขวางต่อต้านแต่ประการใด เมื่อมี เอ่อ, การขัดขวางต่อต้านอยู่อย่างนี้ ก็จะต้องถือว่าความหมายของคำว่า พอประสูติก็เดินได้ พูดได้นี้ต้องมีความหมายอย่างอื่นแล้ว หมายความว่าการประสูตินั้นหมายถึงการเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในขณะนั้นๆ เอง เพราะฉะนั้นความว่า คำว่าประสูติในกรณีนี้มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่าตรัสรู้ จึงถือว่าการประสูติกับการตรัสรู้นี้เป็นของสิ่งเดียวกัน นี้อย่างหนึ่ง ทีนี้ก็ดูต่อไปถึงข้อว่าปรินิพพาน นี้ก็มีอีกความหมายว่า พอตรัสรู้ก็ปรินิพพาน นี้มันเป็นเรื่องทางธรรมะ เป็นหลักธรรมะ พอตรัสรู้ก็ต้องปรินิพพาน ในขณะเดียวกันพร้อมกันไป เพราะว่าการตรัสรู้นั้นคือกิเลสนิพพาน มีพระบาลีอยู่ชัดว่า ราคกฺขโย โทสกฺขโย โมหกฺขโย นิพพานัง หรือ วุตจิตติ นิพพานัง ว่าความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะนี้เรากล่าวว่านิพพาน เมื่อใด ขณะจิตใดเป็นความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นเป็นนิพพาน ขณะที่ตรัสรู้นั่นเอง ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นไป เพราะฉะนั้นขณะนั้นจึงเป็นนิพพาน ในที่นี้จึงกล่าวได้ว่าตรัสรู้ก็คือนิพพาน นิพพานของกิเลสไม่มีเหลือ เอ่อ, พูดอย่างง่ายๆ คือว่านิพพานของตัวกู คืออุปาทานที่ว่าตัวกู ของกู คืออัตตา อัสนียา (นาทีที่ 36:36) นี้ก็สิ้นไปดับไปไม่มีเหลือ ตัวกูดับไปก็ต้องเรียกว่านิพพาน หรือว่าสิ้นไปแห่งรูปนาม หรือว่ารูปนามสิ้นความหมายแห่งตัวกู ของกู ทั้งรูปและทั้งนามที่ยังมีชีวิตอยู่ เอ่อ, นี้มันสิ้นความหมายแห่งคำว่าตัวกู ว่าของกู ดังนั้น ขณะตรัสรู้ที่โคนต้นโพธิ์นั่นเอง รูปนามอันนั้นยังเป็นๆ อยู่แต่สิ้นความหมายแห่งความเป็นตัวกู ของกู นี้เรียกว่านิพพานในลักษณะที่เป็นการดับไปแห่งความหมายว่าตัวตน ว่าของตนในนามรูปนั้น นั่นแหละคือนิพพานแท้ ส่วนนิพพานที่ร่างกายแตกดับนั้นไม่ใช่นิพพาน มันเป็นการดับของร่างกาย มันเป็นร่างกายนิพพาน มันเป็นรูปนิพพาน ไม่ใช่ความมุ่งหมาย ในที่นี้ นิพพานที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมาย หมายถึงดับกิเลสคือดับทุกข์ ฉะนั้น นิพพานจึงมีพร้อมกันกับการตรัสรู้ ดังนั้น การตรัสรู้ก็คือการนิพพาน การนิพพานก็คือการตรัสรู้ การประสูติก็คือการตรัสรู้ การตรัสรู้ก็คือการนิพพาน ทั้งสามประการจึงเป็นสิ่งเดียวกัน และมีได้ในขณะจิตเดียวกันคือขณะจิตที่มีความสิ้นไปแห่งกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ ส่วนนิพพานทางร่างกายที่ถวาย ที่ต้องถวายพระเพลิงอะไรเป็นต้นนั้นมันของพระพุทธเจ้าส่วนที่เป็นรูปกาย ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าส่วนที่เป็นธรรมกาย แต่ถ้าเราจะมารวมกันก็ได้ แล้วก็ถือว่าวันเช่นวันนี้เป็นวันปรินิพพานทางพระรูปกาย และวันเช่นวันนี้มันก็ยังเป็นนิพพานในส่วนพระธรรมกาย คือมีการประสูติ ตรัสรู้และนิพพานในวันเช่นวันนี้ นี่ถ้าเราจะมัวรู้จักกันแต่เรื่องราวทางฝ่ายรูปกายอย่างเดียว เราก็เป็นเด็กอมมือ เป็นพุทธบริษัทอย่างเด็กอมมือ รู้จักพระพุทธเจ้าแต่เพียงรูปกาย ไม่รู้จักถึงธรรมกาย นี้ก็เพราะว่าเราไม่รู้ภาษาธรรม เรารู้แต่ภาษาคน คนธรรมดาสามัญชาวบ้านพูด เรารู้ เราจำ เรายึดถือ แต่ส่วนภาษาธรรมที่ผู้รู้ธรรมพูดนั้นเราฟังไม่ออก เราฟังไม่ออกเราก็ไม่รู้แล้วก็ไม่ต้องพูดถึงความยึดถือ เราคงยึดถือแต่เรื่องทางฝ่ายรูปธรรมอย่างเดียว ทีนี้จะพิจารณากันดูสักนิดหนึ่งว่า การที่มีการตรัสรู้ เอ้ย, การประสูติ ตรัสรู้ และนิพพานตามธรรมดาถึงสามอย่างในวันที่คล้ายกันเช่นวันนี้ นี้อย่างหนึ่ง กับการที่ว่าประสูติ ตรัสรู้ นิพพานนี้มันเป็นของสิ่งเดียวกันแท้นี้อย่างหนึ่ง ในสองอย่างนี้อย่างไหนน่าอัศจรรย์กว่า ขอให้คิดดูสักหน่อยว่า ความน่าอัศจรรย์ที่การประสูติ ตรัสรู้ นิพพานมีในวันเดียวกันนี้ น่าอัศจรรย์มากหรือน้อยเท่าไร เพราะความอัศ ความน่าอัศจรรย์ที่ว่า การประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพาน คือสิ่งๆ เดียวกัน ในขณะจิตเดียวกัน อย่างนี้น่าอัศจรรย์ไหม อันไหนน่าอัศจรรย์มากกว่า น่าอัศจรรย์น้อยกว่า ในสิ่งที่น่าอัศจรรย์ทั้งสองอย่าง พอเอามาเปรียบเทียบกันเข้าอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า ที่พูดว่าการตรัสรู้ กับประสูติ และนิพพานมีในวันเดียวกันเช่นวันนี้นั้น มันก็กลายเป็นของน่าอัศจรรย์สำหรับเด็กๆ ไป ส่วนการที่พูดหรือชี้ให้เห็นว่าการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานนั้นคือสิ่งเดียวกันเท่านั้น มิได้มีเป็นสามสิ่ง และสิ่งเดียวกันที่มีในขณะจิตเดียวกันอย่างนี้มันก็พอจะนับได้ว่าเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์สำหรับคนที่โตๆ แล้ว ความน่าอัศจรรย์จึงมีอยู่สำหรับเด็กอมมือก็ได้ น่าอัศจรรย์สำหรับคนโตๆ แล้วก็ได้ จะเลือกเอาอย่างไหนก็ได้ หรือจะรวมกันทั้งสองอย่างก็ยิ่ง เอ่อ, น่าอัศจรรย์ยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าว่าตกลงกันได้ในข้อที่ว่าจะรวมกันทั้งสามอย่าง เอ่อ, ทั้งสองอย่างเข้าเป็นเรื่องเดียวกันมันก็ได้ แต่ถ้ารวมกันไม่ได้ เอ่อ, หรือว่าต้องไปพูดกับคนต่างชาติต่างศาสนาแล้วก็ต้องพูดให้ดีๆ อย่าให้เสียประโยชน์ อย่าให้เสียเครดิต เสียอะไรของพุทธบริษัทเลย นี่แหละคือความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าภาษาคนและภาษาธรรม ภาษาคนก็ต้องรู้ ภาษาธรรมก็ต้องรู้ เมื่อรู้ทั้งสองภาษาแล้ว เอ่อ, ก็จะไม่ลำบาก คือว่าจะแก้ปัญหาได้หมด แก้ปัญหาของเด็กๆ ก็ได้ แก้ปัญหาของคนโตแล้วก็ได้ เป็นการแก้ปัญหาได้หมดอย่างนี้ ขอให้สนใจต่อไปข้างหน้าในการที่จะรู้ภาษาทั้งสองภาษา เพราะว่าในพระไตรปิฎกทั้งหมดนั้นมีการใช้ภาษาทั้งสองภาษา และบางทีก็เป็นได้ถึงว่า เรื่องเดียวกันพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้โดยภาษาทั้งสองภาษา ยกตัวอย่างเช่นเรื่องบุพเพนิวาสานุสติญาณ ถ้าพูดอย่างภาษาคนสำหรับคนทั่วไปหรือเด็กๆ ก็ได้แล้ว บุพเพนิวาสานุสติญาณได้ตรัสไว้ในฐานะเหมือนกับว่าเป็นสัสสตทิฏฐิ คือว่าคนๆ เดียวกันนั่นแหละ ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ชีวิตก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น เอ่อ, แล้วคนๆ นั้นไปเกิดอย่างนี้ มันก็เป็นสัสสตทิฏฐิ อย่างนี้ก็มี เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ที่ในที่แห่งอื่นตรัสบุพเพนิวาสานุสติญาณไว้ในลักษณะที่ว่าตามระลึกได้ถึงขันธ์ทั้งหลายในอดีต ว่าขันธ์ทั้งหลายนั้นมันกัดกินเรา และตามระลึกถึงขันธ์ปัจจุบันนี้ว่าขันธ์ทั้งหลายนั้นมันกำลังกัดกินเรา และตามระลึกถึงขันธ์อันจะมีในอนาคตว่าแม้ขันธ์ทั้งหลายนั้นก็จักกัดกินเรา ในอดีต ในปัจจุบัน ในอนาคต ขันธ์ทั้งหลายจักกัดกินเรา นี้เรียกว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณดังนี้เป็นต้น เห็นได้ว่ามันเป็นคนละเรื่องคนละอย่าง อย่างแรกตรัสในภาษาคน อย่างหลังตรัสในภาษาธรรม ชื่อเรื่องเหมือนกันคือบุพเพนิวาสานุสติญาณ อย่างภาษาคนนั้นในสูตรทั่วไปตรัสไว้ลุ่นๆ ว่าพอมีจิตเป็นสมาธิแล้วก็น้อมไปเพื่อบุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกอย่างนั้น แต่ในคำอธิบายที่ละเอียด เช่น ในปฏิสัมภิทามรรคเป็นต้นนั้น เมื่อมีจิตเป็นสมาธิแล้ว จะต้องน้อมจิตไปเพื่ออิทธิบาททั้งสี่ประการ ให้เกิดกำลังถึงที่สุดเสียก่อน แล้วจึงน้อมไปในญาณแห่งอิทัปปัจจยตา คือเกิดปฏิจจสมุปบาท เห็นปฏิจจสมุปบาทแล้วจึงน้อมจิตนั้นเพื่อระลึกถึงบุพเพนิวาส เอ่อ, คือขันธ์ที่เคยอยู่ในภพก่อน นี้เป็นคำพูดที่ดีมาก คือรวบรัดเอาไว้ได้ทั้งสองภาษา เพราะว่าถ้าเมื่อเห็นอิทัปปัจจยตา หรือปฏิจจสมุปบาทแล้ว การระลึกถึงขันธ์ในภพก่อนในลักษณะใดๆ ก็ดี ย่อมไม่มีทางที่จะเป็นสัสสตทิฏฐิได้ นี่แหละขอให้ท่านทั้งหลายจงได้พิจารณาดูในตัวอย่างอันนี้ ว่าเรื่องๆ เดียวกันพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในภาษาคนอย่างหนึ่ง ในภาษาธรรมอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราไม่รู้ เราก็งงหรือปฏิบัติอะไรไม่ได้ แล้วก็ยังมีคำอธิบายอีกแบบหนึ่งซึ่งประสานภาษาทั้งสองภาษานี้เข้าได้ด้วยกัน นี่คือความสำคัญที่จะต้องรู้ภาษาทั้งสองภาษา ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามต่อไปให้สำเร็จประโยชน์ ทีนี้ก็จะมองกันต่อไปว่าเพราะว่าเราไม่รู้ภาษาสองภาษานี่แหละเราจึงเข้าใจหลักธรรมะในพระพุทธศาสนาอย่างผิดๆ ไม่สำเร็จประโยชน์ เช่นเรารู้จักพระพุทธเจ้าแต่ทางฝ่ายรูปธรรมหรือทางอรูปกาย ไม่รู้จักพระพุทธเจ้าในฝ่ายธรรมกาย อย่างนี้เราก็เรียกว่ายังรู้จักพระพุทธเจ้า เอ่อ, น้อยเกินไป อาตมาอยากจะเรียกว่ามันน้อยเกินไปอย่างที่ยังไม่สมควรหรือไม่พอที่จะทำวิสาขบูชา ท่านทั้งหลายจะยอมรับหรือไม่ถ้าอาตมาจะพูดว่าเรายังมีอะไรไม่พอ ยังมีอะไรไม่ดี ไม่มาก และไม่พอที่จะทำวิสาขบูชา ในเนื้อในตัวของเรานี้ยังมีอะไรน้อย ยังมีคุณค่าอะไรน้อยกว่า เอ่อ, ที่จะทำวิสาขบูชา หมายความว่าความเป็นพุทธบริษัทของเรานั้นมันยังน้อย ก็เลยต้องทำให้มันมีมากขึ้นๆ จนเหมาะสมที่จะกระทำวิสาขบูชา ข้อแรกอยากจะพูดว่าเรายังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริง แล้วเราจะทำวิสาขบูชา เราก็เวียนเทียนให้พระพุทธเจ้ารูปกาย หรือพระพุทธเจ้าก้อนอิฐก้อนหิน มันก็เป็นเสียอย่างนี้ เราจะต้องรู้จักพระพุทธเจ้าพระองค์จริงซึ่งกำลังมีอยู่ในจิตในใจของเรา นี่แหละเราจึงต้องเกิดแบ่งกันว่า พระพุทธเจ้าทางร่างกาย ทางรูปธรรมก็เกิดอย่างคนเป็นคนตั้ง ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว นี่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าทางจิต คือจิตที่ตรัสรู้มันก็เป็นจิตที่อยู่ใน เอ่อ, จิตของท่าน อยู่ในจิตของพระพุทธเจ้า แต่ว่าถ้าเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเป็นภาษาธรรม คือที่เรียกว่าทางวิญญาณแล้ว เดี๋ยวนี้พระพุทธเจ้ามาอยู่ในเรา จิตของเราเป็นพุทธทัพ จิตของเราเป็นพุทธเกษตร ในจิตของเรามีพระพุทธเจ้าอย่างน้อยตั้ง ๓๐๐๐๐ องค์ ถ้าพระพุทธเจ้าอย่างนี้ปรากฏแก่จิตใจของเรา เราก็รู้จักพระพุทธเจ้าที่แท้จริงและเพียงพอ ควรแก่การทำวิสาขบูชาเป็นต้น หรือจะยกตัวอย่างเรื่องต่อไปอีกสักเรื่องหนึ่งว่า เรายังไม่รู้เรื่องโลกนี้กับปรโลกอย่างถูกต้อง แล้วเราจะทำวิสาขบูชา โลกนี้ โลกอื่น เอ่อ, โลกหน้า โลกุตระ ถ้อยคำเหล่านี้ยังไม่แจ่มแจ้งแก่เรา คำว่าโลกนี้ เอ่อ, เราก็พอจะรู้จัก แต่พอคำว่าโลกอื่น เราก็หมายถึงเมื่อตายแล้ว ไปเกิดเป็นนรกเดรัจฉานเปรตอสุรกายอะไรก็ตามนั้น เรียกว่าโลกอื่นหรือโลกหน้า อย่างนี้มันยังไม่พอ คำว่าโลกอื่นนี้ เอ่อ, มันไม่ต้องหมายถึงเรื่องต่อตายแล้ว หมายถึงเรื่องที่ยังไม่ทันตายก็ได้ ถ้าจิตใจของเราเปลี่ยนไปอยู่ในลักษณะอื่นเราก็เรียกว่าโลกอื่นได้ เราเป็นคนอยู่ในโลกนี้ อยู่อย่างที่บัญญัติกันเรียกว่าคน ถ้าเราไปคิดอย่างสัตว์ เราก็เกิดเป็นสัตว์แล้ว ไอ, โลกสัตว์นั้นแหละคือโลกอื่นสำหรับเราในเวลานี้ที่ยังไม่ทันจะตาย เราคิดอย่างโจรเราก็เกิดเป็นโจร เราคิดอย่าง เอ่อ, คนพาลก็เกิดเป็นคนพาล เราคิดอย่างบัณฑิตเราก็เกิดเป็นบัณฑิต เราคิดอย่างเปรตเราก็เกิดเป็นเปรต เราคิดอย่างเทวดาเราก็เกิดเป็นเทวดาได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ นั่นแหละคือโลกอื่น ถ้าเรารู้จักโลกอื่นในลักษณะอย่างนี้เราจะแก้ปัญหาได้ เราจะควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในทางที่น่า เอ่อ, เลื่อมใสได้ แต่ถ้าเรารู้จักโลกอื่นอย่างเด็กอมมือ ตายไปแล้วไปเกิดอย่างนั้นๆ เหมือนที่ภาพเขียนไว้ตามฝาผนังโบสถ์อย่างนี้ เรียกว่าเรารู้จักโลกนี้และปรโลกน้อยเกินไป ยังไม่สมควรจะทำวิสาขบูชา เรายังเป็นพุทธบริษัทเด็กอมมือ แล้วเราจะไปรู้เรื่องเหนือโลกพ้นโลกได้อย่างไรกัน หรืออีกทีหนึ่งพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าไอ้, โลกนั้นคือความทุกข์ โลกอื่นก็คือความทุกข์อย่างอื่น ความทุกข์คือโลก โลกนั้นคือความทุกข์ ตรัสไว้ในรูปอริยสัจ ๔ ว่าโลก ว่าเหตุให้เกิดโลก ว่าความดับสนิทของโลก ว่าทางอันดับสนิท เอ่อ, ทางให้ถึงความดับสนิทของโลก มีโลกคือตัวสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ ในบางสูตรท่านตรัสว่าตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นคือโลก ในบางสูตรก็ตรัสว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์นั้นคือโลก นี้เราไม่รู้จักโลกอะไรมากไปกว่าโลกแผ่นดินที่เด็กๆ มันรู้จัก เรียกว่าเรายังไม่รู้จักโลกนี้และโลกอื่นเพียงพอที่จะทำวิสาขบูชาแด่พระพุทธเจ้า คือจะให้คนหลับตาไปทำการบูชาแก่คนที่ลืมตา มันก็น่าหัว บางทีจะกลายเป็นน่าสงสาร จะต้องคิดดูให้ดี จะต้องตระเตรียมหลายๆ อย่างให้เหมาะสมในการที่จะทำวิสาขบูชา เรายังไม่รู้จักสัสสตทิฏฐิหรือสัมมาทิฏฐิ เราเป็นพุทธบริษัทยังติดอยู่ในสัสสตทิฏฐิหรืออันตคาหิกทิฏฐิ ว่าตายแล้วไปเกิดร่างกายก็อันนั้นชีวิตก็อันนั้น หรือว่าร่างกายก็อันอื่นชีวิตก็อันอื่น อย่างนี้เป็นต้น มันเป็นเรื่อง เอ่อ, มิจฉาทิฏฐิที่เรียกว่าอันตคาหิกทิฐิ ถ้ายังมีทิฏฐิอย่างนี้เป็นที่ยึดมั่นแล้วจะมาเวียนเทียนรอบพระพุทธเจ้านี้มันก็น่าหัว ก็คงไม่อาจจะเวียนรอบพระพุทธเจ้าได้ ก็ไปเวียนรอบอะไรๆ เอ่อ, ซึ่งเราก็ไม่รู้จักอีกนั่นเอง สรุปความว่าเรายังไม่รู้จักตัวเอง เรายังหลอกตัวเองอยู่อย่างไม่รู้สึกตัว ในการงานหลายๆ อย่างเราทำเพื่อกิเลสของตัวแล้วก็ไปพูดว่าทำเพื่อผู้อื่น เราทำนั้นน่ะมันทำเพื่อความพอใจความสนุกสนานเอร็ดอร่อยพร้อมกิเลสของตัวแล้วก็ว่าทำเพื่อผู้อื่น ทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่น เพราะว่าเผอิญมันไปตรงกันเข้า ไอ, ที่เราได้ทำเพื่อกิเลสของเรานั้นมันพอมีแง่ที่จะมองว่าเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เรากำลังทำเพื่อชื่อเสียงของตัวแล้วก็บอกว่าทำเพื่อศาสนา เรากำลังพ่นน้ำลายตะพึดตะพือแล้วก็บอกว่าเราเผยแผ่พุทธศาสนา เหล่านี้ล้วนแต่ไม่สมควร ไม่เหมาะสมที่จะกระทำวิสาขบูชา เอาเรื่องโรแมนติกตามบ้านเรือนทั้งหลายมาใส่ไว้ในวัดวาอารามอย่างนี้ ไม่สมควรที่จะทำวิสาขบูชา จะต้องสลัดสิ่งเหล่านี้ออกไปที่นี่และเดี๋ยวนี้ จะต้องรู้จักพระพุทธเจ้าทั้งอย่างภาษาคนและภาษาธรรม และต้องเข้าใจเรื่องโลกนี้และโลกอื่นอย่างถูกต้อง ไม่ยึดมั่น ไม่ยึดมั่นถือมั่นเรื่องตายแล้วเกิดหรือว่าตายแล้วไม่เกิดหรือว่าอันนั้นไปเกิดอันนี้ไปเกิด ต้องไม่มี ต้องรู้เรื่องอิทัปปัจจยตาอย่างถูกต้องเหมือนที่พูดกันมาแล้วตั้งสิบๆ ครั้ง จะทำเพื่อพระศาสนาก็ต้องด้วยจิตบริสุทธิ์เพื่อพระศาสนา ไม่ได้ทำเพื่อชื่อเสียงของตัวแล้วก็โฆษณาว่าทำเพื่อศาสนา ขอให้ปรับปรุงทั้งหมดนี้ให้เข้ารูปเข้ารอยอย่างนี้แล้วเรามาทำวิสาขบูชา กระทำสัตตศีล (นาทีที่ 54:18) เราจะเอาจุดศูนย์กลางไว้ที่ไหน เราจะต้องเอาพระพุทธเจ้าที่อยู่ในจิตของเรา พระพุทธเจ้าที่เป็นรูปกายก็ถูกเผาเสียแล้ว พระพุทธเจ้าที่เป็นสัญลักษณ์ เช่น พระพุทธรูป เป็นต้น ก็เป็นเพียงวัตถุ เป็นพระพุทธเจ้า เอ่อ, ชนิดสัญลักษณ์แทนรูปร่างของพระพุทธองค์ พระพุทธเจ้าแท้จริงนั้นไม่มีรูปไม่มีร่างที่จะวาดอย่างนั้นอย่างนี้ได้ ที่วาดภาพปั้นภาพอย่างนั้นอย่างนี้ได้นั้นมันเป็นเปลือกของพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธเจ้าในลักษณะที่เป็นเปลือก เป็นภาชนะ เท่านี้ยังไม่พอเราต้องรู้ว่าในนั้นมีอะไร พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์ที่เป็นพระองค์จริง ในพระพุทธองค์จริงนั้นมีพุทธธรรมหรือพุทธธรรมหฤทัย นั้นเป็นตัวธรรมไม่มีรูปร่าง พระพุทธเจ้าพระองค์จริงไม่มีรูปร่าง พวกที่ฉลาด สองพันกว่าปีมาแล้วที่เขาทำหินสลักยุคแรกนั้นเขาจึงไม่ทำพระพุทธรูปในภาพพุทธประวัติเหล่านั้น เราจะต้องมีความรู้ที่ถูกต้องอย่างนี้ว่าพระพุทธเจ้าท่าน พระพุทธเจ้าที่แท้จริงที่สุดที่อย่างยิ่งนั้น ท่านเกิดก็เกิดอยู่ในใจเรา ท่านอยู่ประทับอยู่ก็ประทับอยู่ในใจเรา การตรัส เอ่อ, การประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของท่านก็มีอยู่ในใจเรา มีอยู่ในใจเราตอนไหนกัน มีอยู่ในใจเราตอนที่ใจของเราว่างจากกิเลส จงพยายามกระทำทุกอย่างให้จิตนี้ว่างจากกิเลส ว่างจากตัวกูไปสักพักหนึ่งพักเดียวเท่านั้นก็ยังพอ ว่าไอ้ความว่างนี้ เอ่อ, ว่างจากกิเลสแล้วก็เป็นพระพุทธเจ้า เกิดขึ้นในใจเรา ประทับอยู่ในใจเรา มี เอ่อ, จุดศูนย์กลางอยู่ในใจเรา ฉะนั้น เราเวียนเทียนเวียนประทักษิณนี้ก็เวียนอยู่รอบๆ พระพุทธเจ้าซึ่งมีอยู่ที่จุดศูนย์กลางแห่งจิตใจเรา อย่างนี้ถูกกว่า ถึงว่า ถึงแม้ว่าเราจะเอาพระพุทธรูปมาวางไว้ที่นี่ หรือแม้ว่าเราจะเอาสัญลักษณ์ของการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน คือแผ่นปูนปั้นทั้งหลายมาไว้ที่นี่ นี้ก็เป็นสัญลักษณ์ เป็นเครื่องช่วยให้นึกถึงพระพุทธเจ้า เอ่อ, ฝ่ายภาษาธรรมคือธรรมกาย แผ่นศิลา เอ่อ, จำลองเหล่านี้ไม่มีรูปพระพุทธรูป แต่เอาความหมายว่าประสูติคืออย่างนั้น ตรัสรู้คืออย่างนั้น ปรินิพพานคืออย่างนั้น มีความหมายเหมือนกันหมดตรงที่ว่าสะอาด สว่าง สงบ ดังนั้นขอให้ถือว่าแผ่นปูนปั้นเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของธรรมกาย มีความหมายเป็นประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานในทางธรรมกาย ถ้าเข้าใจดีแล้วก็จะเข้าใจพระพุทธเจ้าในฝ่ายธรรมกาย นี้ขอให้ทำประทักษิณเวียนเทียนทั้งฝ่ายทางกายและทั้งฝ่ายจิตใจ เราเดินสามรอบเวียนรอบวัตถุสัญลักษณ์ เช่น พระพุทธรูป พระเจดีย์ หรือสัญลักษณ์พระธรรมกายเหล่านี้เราก็เวียนเทียนทางกาย ส่วนในใจของเราก็เวียนเทียนทางใจด้วย ว่าจิตของเรากำลังสะอาด สว่าง สงบ เพราะบัดนี้เรากำลังสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้มีความว่าง เอ่อ, จากกิเลสในใจเพราะพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่น แล้วก็เวียนรอบจุดศูนย์กลางอันนั้น เราทำให้ครบทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา ทั้งทางใจ ทางกายเราเดินเวียนเทียนสามรอบ ทางวาจาเราก็ว่าคำบูชา ว่า...วิสาขปุณณมี (นาทที่ 54:40) เป็นต้น ทางใจเราก็จดจ่ออยู่ที่ใจที่กำลังว่างจากกิเลสเพื่อทำจิตใจนี้ให้เป็นที่ประทับหรือที่เกิดที่ประสูติ หรือที่ประทับของพระพุทธเจ้าพระองค์จริงชั่วคราว ร่างกายของเรานี้ก็จะพลอยเป็นวิหารสำหรับพระพุทธเจ้าประทับอยู่ชั่วคราวด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้ก็เป็นอันว่าเราบูชาพระพุทธองค์ทั้งในทางรูปธรรมและทั้งในนามธรรม คือทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต ทั้งฝ่ายภาษาคนและฝ่ายภาษาธรรม ซึ่งจะเป็นการบูชาที่ถูกต้องและมีผลดียิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งอกตั้งใจที่จะทำวิสาขบูชาให้ตรงตามความมุ่งหมายนี้ ให้เป็นวิสาขบูชาของปีนี้ที่ดีที่ถูกต้องยิ่งขึ้นกว่าปีที่แล้วมาจงทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาสำหรับเป็นการปรับปรุงจิตใจหรือความเข้าใจของท่านทั้งหลายผู้จะกระทำวิสาขบูชาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปนี้ก็นับว่าพอสมควรแก่เวลาแล้ว เราจะได้กระทำ เอ่อ, วิสาขบูชา เอ่อ, สืบต่อไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะทำความรู้สึกในใจให้เป็นไปตามถ้อยคำที่อาตมาได้พูด ได้กล่าว ได้ชี้แจง ได้พิสูจน์มาตามลำดับๆ ดังนี้ ต่อไปนี้ก็จะได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างที่เคยมา คือว่าพระสงฆ์ทั้งหลายจะได้กล่าวคำบูชาทางวาจาเป็นภาษาบาลี และท่านทายก ทายิกาทั้งหลายกล่าวเป็นภาษาไทย คือเป็นคำแปล ให้ท่านทายก ทายิกากระทำประทักษิณ ในเมื่อพระสงฆ์ทั้งหลายได้สวดพระพุทธคุณ เพื่อว่าจะเป็นการง่ายดายสะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่าย เป็นการร่วมแรงกันให้สำเร็จประโยชน์ ผู้ที่เดินเวียนเทียนกระทำในใจถึงข้อความที่พระภิกษุกำลังสวด พระภิกษุกำลังสวดก็ทำในใจเหมือนกับได้เดินเวียนประทักษิณในทางจิตใจรอบๆ องค์พระพุทธเจ้า เอ่อ, ที่กำลังประทับอยู่ในจิตใจของเราในเมื่อปากของเรากล่าวพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นต้น ขอให้ท่านทั้งปวงมีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วก็ทำวิสาขบูชาปีนี้ให้ดีกว่าปีเก่าในลักษณะอย่างนี้เถิด ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลาเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้