แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของสัตว์ ของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้มีข้อความตามที่กล่าวไว้ในสฬายตนวิภังคสูตร สฬายตนวรรค อุปริปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย มีใจความแสดงถึงการเกิดขึ้นของปัญจุปาทานขันธ์เป็นส่วนสำคัญ เกี่ยวกับข้อนี้ท่านทั้งหลายจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องปัญจขันธ์และปัญจุปาทานขันธ์ว่าต่างกันอย่างไรเสียก่อน สิ่งที่เรียกว่าปัญจขันธ์นั้นหมายถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณล้วนๆคือตามปกติ คือยังไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นในสิ่งทั้ง ๕ นี้ ดังนั้นมันจึงได้นามว่าปัญจขันธา คือขันธ์ทั้ง ๕ แต่ถ้าเมื่อใดมีอุปาทานเกิดขึ้นคือก่อขึ้นเกี่ยวกับขันธ์ทั้ง ๕ นั้น ขันธ์ทั้ง ๕ นั้นก็เปลี่ยนชื่อไปเรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์ แปลว่าขันธ์อันประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ๕ ขันธ์ ถ้าขันธ์ยังเป็นเพียงปัญจขันธ์ก็ยังไม่มีความทุกข์ ยังไม่เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ ถ้าขันธ์ได้เปลี่ยนเป็นปัญจุปาทานขันธ์คือเป็นขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานแล้วนั่นย่อมหมายความว่าเป็นทุกข์ ข้อนี้ให้นึกถึงพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในที่ทั่วไปมากมายหลายแห่งว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา แปลว่าเมื่อกล่าวโดยสรุปโดยย่อแล้วขันธ์ ๕ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นทุกข์ ขอให้จำเป็นหลักไว้อย่างตายตัวอย่างนี้ว่าเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานเป็นทุกข์ ทีนี้ก็จะได้ศึกษากันต่อไปว่าอย่างไรขันธ์จึงได้กลายเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมา เช่นรูปขันธ์ก็ได้กลายเป็นรูปูปาทานขันธ์ เวทนาขันธ์ก็กลายเป็นเวทนูปาทานขันธ์ สัญญาขันธ์ก็กลายเป็นสัญญูปาทานขันธ์ สังขารขันธ์ก็กลายเป็นสังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณขันธ์ก็กลายเป็นวิญญาณูปาทานขันธ์ ดังนี้ ข้อความนี้พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้โดยละเอียดในสูตรชื่อว่าสฬายตนวิภังคสูตรนั้น ข้อความในตอนต้นได้ทรงแสดงไว้ว่า อชานํ อปสฺสํ ยถาภูตํ เมื่อบุคคลไม่รู้ไม่เห็นตามที่เป็นจริงซึ่งอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ วิญญาณ ๖ ผัสสะ ๖ เวทนา ๖ สารชฺติ เขาย่อมมีความกำหนัดในอายตนะภายในอายตนะภายนอก ในวิญญาณ ในผัสสะ ในเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ข้อนี้อธิบายว่าเมื่อไม่รู้จักอายตนะเป็นต้นนั้นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงก็จะเกิดความกำหนัดคือความหมายมั่น ยึดมั่นในสิ่งเหล่านั้น คนทั่วไปฟังไม่ค่อยจะถูกว่าจะมีความกำหนัดในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้อย่างไร สำหรับความกำหนัดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้นพอจะเข้าใจได้โดยง่าย แต่แล้วก็ไปสงสัยในข้อที่ว่าจะมีความกำหนัดในจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณได้อย่างไรต่อไปอีก สำหรับผัสสะ ๖ และเวทนา ๖ นั้นพอจะเห็นได้โดยง่ายว่าเป็นที่ตั้งของความกำหนัด ให้จิตจะมีความกำหนัดได้ ในที่นี้จะได้พิจารณากันถึงอายตนะภายใน ๖ ก่อน
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันเป็นเพียงอายตนะหรือเป็นอวัยวะรวมกันอยู่สำหรับรู้สึกต่ออารมณ์ทั้งหลาย ความกำหนัดยินดีในอายตนะภายในที่เป็นเครื่องรู้สึกนี้จะมีความกำหนดไปในทางที่เป็นตัวตน คือว่าเมื่อรู้สึกได้ด้วยตาก็จะมั่นหมายว่าตานั้นเป็นตัวเราสำหรับเห็นอะไร กำหนัดในหูก็กำหนดหูนั้นว่าเป็นตัวเราสำหรับได้ยินอะไร ทีนี้ความกำหนัดในจมูกก็กำหนัดในลักษณะที่ว่าเป็นตัวเราที่จะสูดจะดมอะไร ลิ้นก็เหมือนกันเป็นตัวเราที่จะรู้รสอะไร เมื่อเรามีความรู้สึกอร่อยในสิ่งใดด้วยลิ้นก็กำหนัดในลิ้นนั้นว่าเป็นตัวเรา กายก็เหมือนกัน สัมผัสอะไรเข้าแล้วก็รู้สึกว่าเป็นตัวเราผู้สัมผัส เมื่อเนื้อหนังไปกระทบเกิดความรู้สึกทางผิวหนังก็ว่าเราเป็นผู้สัมผัสหรือเราเป็นผู้รู้สึก ใจเป็นผู้รู้สึกต่อธรรมารมณ์ ก็มีความหมายมั่นใจนั้นว่าเป็นตัวเรา ตามปกติอายตนะภายในคือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจจะถูกยึดถือว่าเป็นตัวเรา แม้ว่าในบางกรณีจะมีความยึดถือไปในลักษณะที่ว่าเป็นตา หู จมูก ลิ้น กายของเราก็ยังเหลือใจไว้ว่าเป็นเจ้าของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั้น อย่างนี้ก็เป็นความรู้สึกที่เรียกว่าความกำหนัดได้เหมือนกัน แต่ที่จะเป็นไปโดยมากโดยส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้เป็นตัวเรา ส่วนอายตนะภายนอกคือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้นจะมีความกำหนัด จิตจะเกิดความรู้สึกกำหนัดในฐานะที่เป็นของเรา เมื่อมากระทบแล้วเกิดวิญญาณ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา ก็จะรู้สึกไปในทำนองที่ว่าเป็นของเรา สิ่งทั้ง ๕ นี้เป็นที่ตั้งของความกำหนัดในลักษณะอย่างนี้ จะต้องสังเกตให้มองเห็นตามที่เป็นจริงและเป็นอยู่ทุกวันๆว่าอาศัยตากับรูปเป็นต้นแล้วย่อมเกิดจักษุวิญญาณขึ้นมา ความพร้อมกันแห่งสิ่งทั้ง ๓ คือตากับรูปและจักษุวิญญาณนี้เรียกว่าผัสสะ เพราะผัสสะนี้เป็นปัจจัยจึงเกิดเวทนาขึ้น นับได้เป็น ๕ อย่างด้วยกันคือตากับรูปกับจักษุวิญญาณ กับจักษุสัมผัสและจักษุสัมผัสสชาเวทนา นี้ก็เรียกว่าได้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วทางตา ซึ่งอายตนะอื่นๆนอกจากนั้นก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน ดังนั้นจึงกล่าวรวมกันเสียว่าอาศัยอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกจึงได้เกิดวิญญาณขึ้น สิ่งทั้ง ๓ นั้นสัมพันธ์กันแล้วเรียกว่าผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยก็ให้เกิดเวทนา นี่แหละคือความเป็นไปในบุคคลในวันหนึ่งๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางผิวกายบ้างหรือทางใจเองล้วนๆบ้าง ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ นี่จะต้องสังเกตดูพิจารณาดูให้เห็นจริงๆว่าไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ในวันหนึ่งๆนั้นมันมีแต่อย่างนี้เท่านั้น จนกล่าวได้ว่าทั้ง ๕ อย่างนี่แหละเป็นชีวิตของคน เป็นตัวชีวิตของคนที่กำลังเป็นไปไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ เมื่อไม่รู้จักสิ่งทั้ง ๕ นี้ตามที่เป็นจริงว่าเป็นสักว่าสังขารหรือสังขารธรรม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยอยู่ดังนี้แล้วก็มีความกำหนัดในฐานะที่เป็นตัวตนบ้าง ในฐานะที่เป็นของตนบ้างแล้วแต่กรณี ในตอนนี้ต้องสังเกตดูให้ดี มีความสำคัญอยู่ที่คำว่ามีความกำหนัดหรือย่อมกำหนัด เมื่อบุคคลไม่รู้อยู่ไม่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงในสิ่งทั้ง ๕ นี้ย่อมมีความกำหนัดในสิ่งทั้ง ๕ นี้ คือกลุ่มอายตนะภายใน กลุ่มอายตนะภายนอก กลุ่มวิญญาณ กลุ่มผัสสะ กลุ่มเวทนา มันมีอยู่ ๕ หมวดด้วยกัน หมวดละ ๖ ๖ ก็เลยเป็น ๓๐ เป็น ๓๐ อย่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด หรือจิตมีความมั่นหมายมีความยึดมั่นอยู่เป็นประจำวัน เพราะว่าเรายังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ยังทำหน้าที่ของมันได้ เมื่อมีความกำหนัดในสิ่งเหล่านี้แล้วเรื่องก็มีต่อไปว่า ตั้งแต่นาทีที่ 16:49 ไม่แน่ใจคำบาลี) ตัสสะ สารัตตัสสะ เมื่อบุคคลนั้นมีความกำหนัดแล้ว สังยุตตัสสะ มีการประกอบพร้อมแล้ว สัมมูลหัสสะ หลงใหลพร้อมแล้ว อัสสาทานุปัสสิโน มีการเพ่งเล็งอยู่แต่ในอัสสาทะคือรสอร่อยของสิ่งเหล่านั้น วิหะระโต อยู่ อยู่ดังนี้ อายะติง ปัญจุปาทานักขันธา อุปจยังคัจฉันติ ปัญจุปาทานขันธ์ทั้งหลายย่อมถึงซึ่งการก่อขึ้นสืบไป ขอให้จับใจความให้ได้ว่าเมื่อมีความกำหนัดในธรรมเหล่านั้นทั้ง ๓๐ อย่างอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมันมิได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันมีความผูกพัน มันมีความหลง มันมีความเพ่งเล็งในรสอร่อยอันจะพึงได้จากสิ่งนั้นๆ นั่นแหละคือกิริยาที่จะก่อขึ้นแห่งอุปาทานในเบญจขันธ์ทั้งหลาย เบญจขันธ์ล้วนๆจึงกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมาด้วยเหตุนี้ เราจะต้องสังเกตดูให้ดีจะเห็นความแตกต่างกันในระหว่างสิ่งทั้ง ๒ นี้ อย่างเดี๋ยวนี้เราก็มีตาที่ยังดีอยู่ ทอดสายตาไปก็เห็นรูป แต่มันมิได้มีความกำหนัดในตาหรือในรูป หรือในจักษุวิญญาณหรือในปฏิฆะสัมผัสล้วนๆ หรือแม้ในเวทนาอันเกิดขึ้นจากปฏิฆะสัมผัสล้วนๆ สังเกตดูให้ดีฟังดูให้ดีว่าสัมผัสล้วนๆนั้นมันมีอยู่ เช่นเดี๋ยวนี้ตาของเราลืมอยู่ ทอดสายตาไปก็เห็นรูป เช่นต้นไม้ เช่นก้อนหินนี้ เป็นต้น คือจักษุวิญญาณได้เกิดขึ้นแล้วสำหรับการเห็นก้อนหินก้อนนี้ ความประจวบกันของตากับรูป ของตากับก้อนหินก้อนนี้และจักษุวิญญาณนี้เรียกว่าผัสสะ มันเป็นเพียงปฏิฆะผัสสะ ปฏิฆะผัสสะเป็นเพียงการกระทบล้วนๆอยู่ก่อน แม้เวทนาจะเกิดขึ้นก็เป็นเวทนาจากปฏิฆะผัสสะล้วนๆ เห็นว่าก้อนหินนี้สวยบ้าง ดูเข้าทีบ้างไม่เข้าทีบ้าง ถูกตาบ้างไม่ถูกตาบ้าง เวทนาอย่างนี้ก็ยังไม่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน แต่ว่าเรื่องมันไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันมีสิ่งที่เรียกว่าอธิวจนสัมผัสเกิดขึ้นคือใจหรือมโน สัมผัสในเวทนานั้นอีกทีหนึ่ง ถ้าหากว่าไอ้เวทนานั้นมันอาจจะเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดได้ เช่นว่าก้อนหินก้อนนี้มันสวยเกินไป แล้วทำให้เกิดความรู้สึกแก่ใจที่มีความกำหนัดยินดีในก้อนหินก้อนนี้ หรือว่ามันมีความคิดเลยไปถึงการที่จะถือเอาประโยชน์จากหินก้อนนี้ให้มากกว่านั้นเช่นจะเอาไปขาย เป็นต้น มันจึงจะมีความรู้สึกที่เรียกว่าความกำหนัดในหินก้อนนั้นขึ้นมา อธิบายด้วยก้อนหินอย่างนี้มันยังฟังยาก ก็จะขออธิบายด้วยไอ้รูปที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยิ่งไปกว่านี้ เช่นว่าตาเห็นรูปผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งเป็นเพศตรงกันข้ามกับบุคคลผู้เห็น ในครั้งแรกก็เพียงสักว่าเป็นอายตนะภายในเห็นอายตนะภายนอกเกิดจักษุวิญญาณขึ้น แต่อายตนะภายนอกนั้นมันเป็นรูปของผู้หญิง จักษุวิญญาณเกิดขึ้นแล้วก็รู้ว่าเป็นรูปของผู้หญิง ตาก็เห็นรูปนั้นแล้วเป็นปฏิฆะสัมผัส เกิดเวทนาว่ามันสวย เป็นที่ถูกใจ เป็นที่พอใจ เวทนานี้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นอารมณ์ของมโนที่จะทำ ทำการสัมผัสลงไปบนเวทนานั้นอีกต่อหนึ่ง คือไม่ได้ทำการสัมผัสในตัวหญิงหรือในรูปหญิงนั้นโดยตรง แต่ทำการสัมผัสลงไปที่เวทนาอันเกิดมาจากสัมผัสทางตาเกี่ยวกับรูปหญิงนั้น นี้กลายเป็นเรื่องนามธรรมไปแล้วเรียกว่าอธิวจนสัมผัส ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกชนิดที่เป็นความกำหนัดยินดีขึ้นมาอย่างเต็มที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นอุปาทานยึดมั่นหมายมั่นว่าเป็นที่ต้องใจของกู กูต้องใจในสิ่งนั้น นั้นต้องเป็นของกูอย่างนี้เป็นต้น นี้เรียกว่ามีความกำหนัดยินดีอย่างเต็มที่ เป็น สาราโค มีคำว่า สา อยู่ข้างหน้าคำว่า ราคะ เป็น สาราคะ หรือ สาราโค มีความกำหนัดยินดีเต็มที่ถึงขีดสุดอยู่ในรูปของสิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน จึงมีพระพุทธภาษิตที่ว่าเมื่อบุคคลนั้นกำหนัดยินดีแล้ว ผูกพันแล้ว หลงแล้ว เพ่งเล็งแต่รสอร่อยอันจะพึงเกิดขึ้นจากสิ่งนั้นแล้ว ปัญจุปาทานขันธ์ก็ถึงซึ่งการก่อขึ้นในลำดับนั้น อุปจยังคัจฉันติ แปลว่าย่อมถึงซึ่งการก่อขึ้นในขณะนั้น หมายความว่าก่อนหน้านี้ปัญจุปาทานขันธ์ยังไม่ก่อขึ้น ยังเป็นเพียงปัญจขันธ์เฉยๆ เป็นขันธ์ล้วนๆ แต่พอมีความกำหนัดยินดีเป็นต้นแล้วมันก็ก่อรูปหรือว่าเปลี่ยนรูปเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ขันธ์ล้วนๆขันธ์ตามปกติได้เปลี่ยนเป็นอุปาทานขันธ์ขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่าปัญจขันธ์หรือเบญจขันธ์นี้มันเกิด ๒ ซ้อนในทุกกรณีไป ตาเห็นรูปทีแรกเกิดจักษุวิญญาณ มันก็มีสัญญามาช่วยให้รู้ว่าเป็นรูปอะไร เกิดเวทนาสักว่าเวทนาชนิดที่อาศัยปฏิฆะสัมผัส ยังไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นในระยะนี้ แต่ก็เกิดสิ่งที่เรียกว่าขันธ์ทั้ง ๕ ขึ้นมาอย่างครบถ้วนแล้ว พอเวทนานี้ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานโดยวิธีการของอธิวจนสัมผัส รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณทั้ง ๕ นั้นก็เปลี่ยนเป็นปัญจุปาทานขันธ์ ดังที่ตรัสว่า อุปจยังคัจฉันติ อุปาทานขันธ์ทั้งหลายย่อมถึงซึ่งความก่อขึ้น ซ้อนกันขึ้นมาในลักษณะที่รวดเร็วฉับไว จนเราไม่สามารถจะสังเกตเห็นได้ง่ายๆว่าขันธ์ได้เกิดขึ้นชุดหนึ่งแล้วถูกยึดมั่นแล้วก็กลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ดังนี้ เมื่อมีลักษณะอย่างนี้แล้วเรื่องก็มีต่อไปว่า ตัณหาตัสสะ โปโนพภะวิกา นันทิราคะสะหะคะตา ตัตระ ตัตราภิ นันทินี สาตัสสะ ภะวัสสติ ซึ่งมีใจความว่าตัณหาอันเป็นเครื่องกระทำให้เกิดขึ้นซึ่งภพใหม่เป็นไปกับด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจของความเพลิน มีปกติเพลินยิ่งในอารมณ์นั้นๆของบุคคลนั้นย่อมมี ตัณหานั้น และตัณหานั้นย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น นี่หมายความว่าเมื่อขันธ์ได้กลายเป็นอุปาทานขันธ์แล้วสิ่งที่เรียกว่าตัณหาย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น หมายความว่าเป็นไปอย่างแรงกล้าในขณะนั้น มีผลมาจากการที่เวทนานั้นถูกยึดถือด้วยความกำหนัด เรื่องก็มีต่อไปว่า ตัสสะ กายิกา ปิทะระถา ปะวัตทันติ ความกระวนกระวายแม้ในทางกายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เจตสิกา ปิทระถา ปะวัตทันติ ความกระวนกระวายแม้ทางจิตย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น กายิกา ปิสันปาตา ปะวัตทันติ ความแผดเผาแม้ในทางกายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เจตสิกา ปิสันตาปา ปะวัตทันติ ความแผดเผาแม้ในทางจิตย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น กายิกาปิปะวิราหา ปะวัตทันติ ความเร่าร้อนแม้ในทางกายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เจตสิกา ปิปริราหา ปะวัตทันติ ความเร่าร้อนแม้ทางจิตย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น โศกายิกะทุกขัมปิ เจโตทุกขัมปิ ปริสังเวเทติ บุคคลนั้นย่อมเสวยซึ่งทุกข์ทางกายบ้างซึ่งทุกข์ทางจิตบ้างดังนี้ นี้เป็นการแสดงความหมายที่สมบูรณ์ในบทว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ว่าขันธ์ทั้ง ๕ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นเป็นตัวทุกข์ มีอาการเกิดขึ้นเป็นลำดับมาในลักษณะอย่างนี้ ให้พิจารณาดูให้ดีจนมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เพราะเมื่อเกิดความกำหนัดในอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนาแล้วขันธ์ชนิดที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานก็ก่อตัวขึ้นมา ตัณหาก็มีโอกาสเจริญใน ในทัน ในๆในขณะนั้น ความกระวนกระวาย ความแผดเผา ความเร่าร้อนทั้งทางกายและทางจิตก็ปรากฏขึ้น เขาย่อมได้เสวยทุกข์ทางกายด้วยทางจิตด้วยดังนี้
ทีนี้เราก็เอามาพิจารณากันดูกับเรื่องที่เป็นอยู่ในชีวิตจิตใจของเราเป็นประจำวัน จนเห็นชัดว่าในบางกรณีตากระทบรูป เป็นต้น มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนา แต่หาถึงกับเป็นทุกข์ เร่าร้อนอย่างนี้ไม่ เพราะว่ามันเป็นสักว่าเป็นขันธ์ล้วนๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนอย่างว่าเราทอดสายตาไปเห็นก้อนหินก้อนนี้ มีอายตนะภายในอายตนะภายนอก มีวิญญาณ มีการสัมผัสทางตาต่อหินก้อนนี้ มีเวทนาเล็กๆน้อยๆ เช่นว่ามันไม่สวยหรือมันสวย น่ารำคาญหรือไม่น่ารำคาญอย่างนี้แล้วก็เลิกกันไป เวทนานั้นไม่ถูกยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทานเลยมันก็เลิกกันไป เหลือบตาไปทางนี้เห็นก้อนหินก็เป็นอย่างนี้แล้วก็เลิกกันไป เหลือบตาไปทางนั้นเห็นต้นไม้ว่าเป็นอย่างนั้นแล้วก็เลิกกันไป หรือแม้ว่าจะเหลือบตาไปเห็นคนที่นั่งอยู่ที่นี่ มันมีลักษณะเพียงเท่านี้ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานแล้วมันก็เลิกกันไป นี่ทุกคนลองทอดสายตาดูไปยังสิ่งต่างๆรอบตัวเราในเวลานี้ เห็นก้อนหินบ้าง เห็นต้นไม้บ้าง เห็นหลอดไฟฟ้าบ้าง แล้วกระทั่งมองไปที่คนมันก็เห็นสักว่าคนเท่านั้น แม้ว่าจะเห็นว่าบางคนน่าดูบางคนไม่น่าดู เวทนาเพียงเท่านี้มันก็ดับไปเสียก่อน เบญจขันธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันจึงเป็นเบญจขันธ์ล้วนๆไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน เพราะว่าเวทนาที่เกิดขึ้นจากการเห็นนั้นไม่ถึงขนาดที่จะทำให้เกิดความกำหนัดยินดีหรือมีอุปาทานในสิ่งนั้น ดังนั้นส่วนมากเราจึงไม่ได้มีความทุกข์เพราะการเห็นนั้น ซึ่งเราก็เห็นอยู่ทั่วๆไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะเหลียวไปทางไหนมันก็เห็น แต่ถ้าในกรณีที่การเห็นนั้นเกิดเวทนาขึ้นมาแล้วถูกยึดถือด้วยอุปาทาน มั่นหมายไปในลักษณะที่เป็นตัวกูของกูแล้วรูป เวทนา สัญญา สังขารทั้งหลายเหล่านั้นก็จะกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมา แล้วก็มีความทุกข์ในกรณีนั้น ในกรณีอย่างนี้มันความแผดเผาที่ตา มีความเร่าร้อนที่ตา มีความทุกข์ที่ตา เป็นความทุกข์ทั้งทางกายและเป็นความทุกข์ทั้งทางจิต ข้อความทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จะต้องเข้าใจ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าความทุกข์ได้เกิดขึ้นอย่างไร โดยบทว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา คือบทที่ท่านทั้งหลายสวดอยู่เป็นประจำวัน ในวัน การทำวัตรเช้า แล้วก็สวดเฉยๆ แม้ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยแล้วมันก็ยังไม่รู้เรื่อง ถ้าสวดแต่ภาษาบาลีก็ยิ่งไม่รู้เรื่อง แม้แปลเป็นภาษาไทยแล้วก็ยังไม่รู้จักตัวจริง จึงเห็นว่าเป็นการสมควรแล้วที่จะเอาเรื่องนี้มาอธิบายให้เข้าใจตามนัยแห่งสฬายตนวิภังคสูตร สูตรนี้แสดงใจความสำคัญว่าอายตนะทั้ง ๖ นั่นเป็นสิ่งสำคัญ เป็นตัวเรื่องราว เป็นอันตรายเมื่อไรก็ได้ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่จะเป็นเรื่องหรือเป็นอันตรายเท่ากับสิ่งทั้ง ๖ นี้ ถ้าว่าเราไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้แล้วมันก็ไม่มีอะไรเลย โลกนี้ก็มิได้มี ชีวิตก็มิได้มี ปัญหาต่างๆก็มิได้มี เดี๋ยวนี้ชีวิตมันมี และเป็นเรื่องเป็นราวเป็นปัญหายุ่งยากไปหมดนี้ก็เพราะว่ามันมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนั่นเอง เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจในข้อนี้ก็ไม่ได้สนใจในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปล่อยมันไปตามเรื่องมันก็เป็นไปอย่างนั้น บางกรณีก็ถึงกับเกิดเป็นอุปาทานขันธ์เป็นทุกข์ขึ้นมา ในบางกรณีหรือส่วนมากก็มิได้เกิด เราก็มีความไม่รู้มีความไม่เข้าใจว่าอย่างไรเกิดทุกข์อย่างไรไม่เกิดทุกข์ อย่างไรเป็นขันธ์ ๕ ล้วนๆ อย่างไรเป็นขันธ์ ๕ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน ดังนั้นเพื่อจะให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจนกันเสียทีหรือยิ่งๆขึ้นไป ก็ขอให้สนใจในสิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รู้จักอย่างยิ่งว่ามันทำหน้าที่ของมันอย่างไรในวันหนึ่งๆได้ยินแต่ว่าขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา แล้วก็ปัญจุปาทานขันธ์เป็นตัวทุกข์ เหล่านี้เอามาปะติดปะต่อกันไม่ได้ แล้วสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ก็มีอยู่ ๒ ความหมายคือความทุกข์ทรมานแก่บุคคลผู้เข้าไปยึดถือนั้นอย่างหนึ่ง และมีความทุกข์อยู่ในตัวมันเองในสิ่งนั้นๆคือลักษณะอาการที่ดูแล้วน่าจะเป็นทุกข์หรือรู้สึกน่าเกลียดน่าชัง นี้ก็เป็นความทุกข์อีกอย่างหนึ่ง เห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยงและเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา นี้มันเป็นเรื่องราวของไอ้ตัวขันธ์ ๕ นั้นเอง ถ้ามันไม่เที่ยงมันก็คืออาการที่มันเปลี่ยนแปลง ถ้ามันเป็นทุกข์ก็มันคืออาการที่มันดูแล้วน่าเกลียด มีลักษณะแห่งความทุกข์ มันเป็นอนัตตาก็เพราะว่าไม่มีส่วนไหนที่จะเป็นตัวมันเองได้นอกจากเป็นสังขารที่เป็นเหตุ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย ทีนี้มาดูอีกทีหนึ่งถึงขันธ์ ๕ ที่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานกลายเป็นปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมา นี้มันมีความทุกข์อยู่ที่จิตใจของบุคคลผู้เข้าไปยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นั้นด้วยอุปาทาน เดี๋ยวนี้มัน ความทุกข์มันมาแผดเผาอยู่ที่จิตใจของบุคคลผู้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ นั้น ฉะนั้นมันจึงไม่เหมือนกันกับความทุกข์ที่มันแสดงอยู่เพียงว่าเป็นลักษณะของสิ่งทั้งหลายที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา ถ้ามันไม่เที่ยงหรือเป็นทุกข์อยู่ที่อายตนะภายนอก อย่ามาเป็นทุกข์อยู่ที่จิตใจแล้วเรื่องมันก็ไม่มี ปัญหามันก็ไม่มี เดี๋ยวนี้ตัวความทุกข์ทั้งทางกายและทางจิตมันมามีแก่ใจของบุคคลผู้เข้าไปยึดถือสิ่งนั้นๆด้วยอุปาทาน
สรุปความว่าถ้ามีอุปาทานเกิดขึ้นในสิ่งใดก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่มีอุปาทานเกิดขึ้นในสิ่งใดก็ไม่มีความทุกข์เพราะสิ่งนั้น ถ้าไม่มีอุปาทานในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็ไม่เป็นทุกข์แก่จิตใจของบุคคล แม้ว่ามันจะแสดงลักษณะแห่งความทุกข์อยู่ที่ตัวมันเอง เช่นว่าเราจะดูก้อนหินก้อนนี้มีลักษณะไม่เที่ยงและเปลี่ยนแปลง ก็มีอาการเหมือนกับว่ามันเป็นทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง แต่มันเป็นทุกข์อยู่ที่ก้อนหินหรือน่าเกลียดอยู่ที่ก้อนหิน ไม่มาทำอะไรแก่จิตใจของเรา แต่พอเราลองไปยึดถือก้อนหินก้อนนี้ว่าของเรา เพราะมันมีค่าอย่างนั้นอย่างนี้อะไรขึ้นมาแล้วไอ้ความทุกข์นั้นมันจะวิ่งมาเป็นทุกข์แผดเผาอยู่ในจิตใจของเรา นี้คือสิ่งที่จะต้องพิจารณาให้เห็นให้เข้าใจจึงจะเข้าใจข้อความในพระสูตรนี้ได้ ซึ่งสรุปความอีกครั้งหนึ่งว่าเมื่อบุคคลไม่รู้อยู่ไม่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงในอายตนะภายในอายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะและเวทนาแล้วเขาย่อมมีความกำหนัดยินดีอย่างยิ่งในอายตนะภายในอายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะและเวทนา เมื่อกำหนัดยินดีอย่างนี้อยู่ย่อมผูกพัน ย่อมหลงใหล ย่อมเพ่งเล็งแต่รสอร่อยที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งนั้น ปัญจุปาทานขันธ์ย่อมก่อรูปขึ้นในจิตใจของบุคคลผู้กำหนัดยินดีอยู่ในอายตนะเป็นต้นนั้น ตัณหาก็ได้โอกาสได้ช่องที่จะเจริญขึ้นทันทีในจิตใจของบุคคลนั้น เขาจึงมีความกระวนกระวาย ความแผดเผา ความเร่าร้อนทั้งทางกายและทางจิตเพราะเหตุนั้น เขาจึงได้เสวยความทุกข์ทั้งทางกายและทางจิตเพราะเหตุนี้ นี้เป็นการกล่าวในฝ่ายที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสภาษิตในส่วนนี้แล้วก็ได้ตรัสภาษิตในส่วนที่ตรงกันข้ามต่อไปว่า ฌานัง ปัสสัง ยะถาภูตัง เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงซึ่งอายตนะภายในอายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะและเวทนาแล้วเขาย่อมไม่กำหนัดยินดีในอายตนะภายใน ในอายตนะภายนอก ในวิญญาณ ในผัสสะ ในเวทนา เมื่อเขาไม่กำหนัดยินดีแล้วย่อมไม่พัวพัน ย่อมไม่ผูกพัน ย่อมไม่หลงใหล ย่อมไม่เพ็ง ไม่เพ่งหารส อร่อยอันจะเกิดจากสิ่งนั้นๆอยู่ เมื่อเป็นดังนี้ปัญจุปาทานขันธ์ก็ย่อมไม่ถึงซึ่งการก่อรูปขึ้นมาคือมันไม่เกิดขึ้น เมื่อเป็นดังนั้นตัณหาย่อมไม่เจริญแก่บุคคลนั้น เมื่อเป็นดังนั้นความกระวนกระวาย ความแผดเผา ความเร่าร้อนทางกายก็มิได้มีทางจิตก็มิได้มี แต่เป็นสิ่งที่บุคคลนั้นละเสียได้ บุคคลนั้นจึงได้เสวยความสุขทางกายบ้างความสุขทางจิตบ้าง หมายความว่าเมื่อไม่มีความกำหนัดยินดีในอายตนะเป็นต้นนั้นแล้ว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้วตัณหาก็ไม่มีทางที่จะเกิด หรือจะกล่าวว่าเป็นสิ่งที่เขาละเสียได้ สลัดออกไปเสียได้ ไม่มีความกระวนกระวายแผดเผาเร่าร้อนก็ย่อมเป็นความสุข หมายความว่าถ้าไม่มีความกระวนกระวายแผดเผาเร่าร้อนเกิดขึ้นในจิตแล้วจิตย่อมเป็นความสุขอยู่ได้ในตัวมันเอง ทั้งที่เป็นส่วนร่างกายและทั้งที่เป็นส่วนจิต มันเป็นสิ่งที่เนื่องกันเมื่อ เมื่อจิตไม่มีความทุกข์ กายก็ไม่มีความทุกข์ เมื่อกายไม่มีความทุกข์ จิตก็ไม่มีความทุกข์ บุคคลนั้นย่อมเสวยซึ่งความสุขทางกายบ้างทางจิตบ้างดังนี้ นี้เป็นส่วนที่ตรงกันข้ามคือส่วนที่รู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงในอายตนะเป็นต้นนั้น แล้วไม่เกิดอุปาทานในเบญจขันธ์นั้นความทุกข์จึงมิได้มี เรื่องมันจึงตรงกันข้ามกับคำที่ว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา คือหมายความว่าเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วเบญจขันธ์ที่มิได้ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นไม่เป็นทุกข์ นี้คือ คือข้อเท็จจริงซึ่งเป็นพื้นฐานเป็นรากฐานทั่วไปสำหรับบุคคลหนึ่งๆตลอดเวลาวันหนึ่งๆ ถ้าเขารู้สึกตัวอยู่ตามที่เป็นจริงไม่กำหนัดยินดีในอา อายตนะนั้นๆแล้วก็ไม่มีความทุกข์ ถ้าเขาไม่รู้ ไม่รู้อยู่ไม่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงมันก็เป็นไปเพื่อความทุกข์ ถ้ารู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงมันก็มิได้เป็นไปเพื่อความทุกข์ ขอให้ไปตั้งหน้าตั้งตาสังเกตให้ดี ระวังให้ดี อย่าให้การเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ เป็นต้นนั่นทำให้เกิดการก่ออุปาทานขันธ์ขึ้นมา ให้เป็นสักว่าเบญจขันธ์ล้วนๆแล้วก็มีความรู้สึกตัวคือสติสัมปชัญญะว่าสิ่งเหล่านี้เราจะต้องจัดต้องทำอย่างไร แล้วก็ทำไปโดยที่ไม่ต้องเกิดความยึดมั่นถือมั่น กิจการในบ้านเรือนก็มีอยู่มากด้วยกันทุกคน ในบ้านเรือนนั้นมันก็มีข้าวของสิ่งนั้นสิ่งนี้เต็มไปหมด เมื่อเหลือบตาไปยังสิ่งเหล่านั้นแล้วก็ให้รู้ว่ามันเป็นอะไรที่เราจะต้องจัดต้องทำอย่างไร ถ้ามันไม่ต้องจัดต้องทำอะไรก็ไม่ต้องทำ ถ้ามันต้องจัดต้องทำอย่างไรอะไรบ้างก็อย่าให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นๆขึ้น ก็จะ ก็จะสามารถทำอะไรไปได้ทุกอย่างทุกประการในบ้านในเรือนโดยที่ไม่ต้องมีความทุกข์ จะจัดการกับเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องข้าวเรื่องของ เรื่องบุตรภรรยาสามีอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะว่าไม่เผลอ เพราะว่ารู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงในสิ่งเหล่านี้ว่านี้เป็นอย่างไร นี้จะต้องจัดอย่างไร นี้จะต้องทำอย่างไร ไม่ถึงกับต้องเป็นความกำหนัดยินดีแล้วเกิดอุปาทานขึ้น ก็จะได้รับแต่ความสุขโดยส่วนเดียวทั้งทางกายและทางจิต
ทีนี้เรื่องต่อไปที่พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ในสูตรนี้ ก็เพื่อจะทรงแสดงให้เห็นว่าในการเป็นไปในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์นี้มันประกอบอยู่ด้วยอัฏฐังคิกมรรค คืออัฏฐังคิกมรรคจะมีอยู่ในการประพฤติกระทำที่ถูกต้องอย่างนี้ ดังนั้นจึงตรัสว่า ยา ตถาภู ตัสสะ โหติ ทิฏฐิ กัสสะ โหติ สัมมาทิฏฐิ ทิฐิใดที่มองเห็นอยู่อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงในข้อนี้ทิฐินั้นชื่อว่าสัมมาทิฐิของบุคคลนั้น หมายความว่าเมื่อมีการกระทบทางตา หู เป็นต้นแล้ว เขามองเห็นอยู่ตามที่เป็นจริง ไม่กำหนัดยินดีในสิ่งนั้นๆแล้ว ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดทุกข์แล้ว ความที่เห็นอยู่อย่างนั้น รู้สึกอยู่อย่างนั้น เห็นอยู่อย่างนั้นเรียกว่าเห็นอยู่อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง นั้นเป็นสัมมาทิฐิของบุคคลนั้นในขณะนั้น นี้เป็นการกล่าวโดยสำนวนธรรมะที่ละเอียดหรือสูงสุด คือแสดงให้เห็นว่านั่นเป็นสัมมาทิฐิของบุคคลนั้นที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มิได้หมายความว่าสัมมาทิฐินี้เกิดอยู่ตลอดเวลา สัมมาทิฐินี้เกิดขึ้นเมื่อมีความเห็นแจ้งอย่างนี้ๆแล้วไม่กำหนัดยินดี แล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นนี่เรียกว่าสัมมาทิฐิของบุคคลนั้นในขณะนั้น และตรัสต่อไปว่า โย ตถาภูตัสสะ สังกัปโป โหติสังกัปโป สวาสโหติ สัมมาสังกัปโป ความดำริใดๆของบุคคลนั้นผู้เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงอย่างนั้น ความดำรินั้นของบุคคลนั้นชื่อว่าสัมมาสังกัปโป นี้หมายความว่าเมื่อเขาจะดำริคือคิดไปในลักษณะใดๆเกี่ยวกับเรื่องนั้นมันก็จะเป็นไอ้ความดำริหรือสังกัปปะที่ถูกต้อง เพราะว่าทิฐิที่เป็นสัมมาทิฐินั้นมันควบคุมอยู่ เขาจึงเป็นผู้มีสัมมาสังกัปโปในขณะนั้น และตรัสต่อไปว่า โย ตถาภูตัสสะ วา วายาโม สวาสโหติ สัมมาวายาโม มีใจความว่าความพากเพียรพยายามใดๆของบุคคลนั้นในขณะนั้น ที่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงอย่างนั้น ความพากเพียรพยายามนั้นเป็นสัมมาวายาโมของบุคคลนั้นในขณะนั้น ดังนั้นเราจะมีความพยายามพากเพียรบากบั่นกระทำสิ่งใดๆก็ได้ในขณะนั้น มันเป็นสัมมาวายาโม ไม่เป็นมิจฉาวายาโม ดังนั้นจึงไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นได้เพราะมันมีสัมมาวายาโม เพราะทำไปด้วยสัมมาวายาโม และตรัสต่อไปว่า ยา ตถา ภูตัสสะ สติ ตัตตโหติสัมมาสติ ถ้าความรู้สึกระลึกใดๆเกิดขึ้นในขณะนั้นของบุคคลผู้เห็นอยู่อย่างนั้นสตินั้นชื่อว่าสัมมาสติของบุคคลนั้นในขณะนั้น มันเป็นสัมมา สัมมาสติคือสติที่ถูกต้อง มันก็ยิ่งไม่กำหนัดยินดีในสิ่งใดๆ ไม่ยึดถือสิ่งใดๆ ทีนี้ตรัสต่อไปว่า โย ตถาภูตัสสะ สมาธิสวาตัตโส สัมมาสมาธิ จิตที่มั่นคงของบุคคลนั้นในขณะนั้น ที่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริง จิตที่มั่นคงนั้นของบุคคลนั้นในขณะนั้นเรียกว่าสัมมาสมาธิ ก็แปลว่าเขาก็มีสัมมาสมาธิอยู่ในขณะนั้น กระทำการงานอยู่ในขณะนั้น เป็นอันว่าสิ่งทั้ง ๕ คือทิฐิ สังกัปปะ วายามะ สติ สมาธินั้นกลายเป็นของถูกต้องคือเป็นสัมมาไปหมด ทิฐิก็เป็นสัมมาทิฐิ สังกัปปะก็เป็นสัมมาสังกัปปะ วายามะก็เป็นสัมมาวายามะ สติก็เป็นสัมมาสติ สมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ ทีนี้ส่วนทางกายและทางวาจาทางอาชีวะนั้นได้ตรัสไว้ต่อไปว่า ปุพเพวะ โคปะนัสสะ กายะกัมมัง วจีกัมมัง อาชีโว สุปริสุทโธ โหติ ซึ่งแปลว่ากายกรรม วจีกรรมและอาชีวะของบุคคลนั้นในกาลก่อนนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้ว นี้หมายความว่าถ้าทิฐิเป็นสัมมาทิฐิ สังกัปปะเป็นสัมมาสังกัปปะ โดยนัยยะที่กล่าวมาแล้วทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้วกายะกิ กายกรรม วจีกรรมและอาชีวะจะเป็นของบริสุทธิ์ด้วยดีอยู่ในตัวมันเองตลอดเวลา หรือจะเรียกว่าถ้ามันไม่เกิดไอ้มิจฉาทิฐิ มิจฉาสังกัปโปอะไรขึ้นมาแล้วกายกรรม วจีกรรมและอาชีวะย่อมบริสุทธิ์อยู่เองแล้ว ย่อมบริสุทธิ์อยู่ก่อนแล้ว มันจะกลายเป็นของเศร้าหมองไปก็ต่อเมื่อทิฐิเกิดเป็นมิจฉาทิฐิ สังกัปปะเกิดเป็นมิจฉาสังกัปปะ วายามะเกิดเป็นมิจฉาวายามะ สติเกิดเป็นมิจฉาสติ สมาธิเกิดเป็นมิจฉาสมาธิขึ้นมาเท่านั้น กายกรรม วจีกรรมและอาชีวะจึงจะเป็นมิจฉาขึ้นมาคือเป็นมิจฉาวาจา มิจฉากัมมันโต มิจฉาอาชีโวขึ้นมา เดี๋ยวนี้สิ่งทั้ง ๕ มีทิฐิเป็นต้น เป็นสัมมาทิฐิเป็นต้นไปแล้ว กายกรรม วจีกรรม อาชีวะก็เป็นของบริสุทธิ์อยู่ตามเดิมดังนั้น เอวะมัสสายัง อริโย สังกิโกมะโค ภาวนาปาริปูรินคัจฉันติ อริยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้ของบุคคลนั้นย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบบริบูรณ์ด้วยอาการอย่างนี้ นี้หมายความว่าเมื่อบุคคลมีสติสัมปชัญญะ รู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริง ไม่กำหนัดยินดีในอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนาแล้วอริยมรรคมีองค์ ๘ จะสมบูรณ์อยู่โดยอัตโนมัติในตัวมันเอง เรื่องมันมีว่าเมื่อเราระวังรักษาอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนาให้ ให้ดี อย่าให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบอยู่ในตัวมันเอง มันเหมือนกับว่าไม่ต้องทำอะไรเลย อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็สมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง หมายความว่าให้ไปทำให้มาก ไปทำให้สำเร็จในการที่จะรู้ตามที่เป็นจริงเกี่ยวกับอายตนะทั้งหลายรวมทั้งวิญญาณ ผัสสะ เวทนาเท่านั้น เท่านั้นก็พอแล้วสำหรับที่จะไม่เกิดความทุกข์คือมีอริยมรรคมีองค์ ๘ สมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง อริยมรรคมีอยู่ความทุกข์ก็เกิดไม่ได้ ความทุกข์เกิดไม่ได้ก็หมายความว่ามีอริยมรรคอยู่ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ได้เพราะบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงซึ่งอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ ผัสสะและเวทนา เป็นอันว่าขอให้ท่านทั้งหลายทุกคนตั้งใจให้ดีๆ สนใจให้มากให้เป็นอย่างยิ่งในการที่จะรู้จักสิ่งเหล่านี้คืออายตนะภายในอายตนะภายนอก วิญญาณ ผัสสะและเวทนาที่เป็นไปตามอายตนะทั้ง ๖ นั้น ทีนี้พระพุทธองค์ก็ได้ทรงแสดงอานิสงส์สืบต่อไปว่า ตัสสะ เอวัง อิมัง อริยัง อสังคิคัง มะคัง ภาวยโต เมื่อบุคคลทำอริยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐนี้ให้เจริญอยู่อย่างนี้แล้ว จัตตาโรปิ สะติปัฏฐานา ภาวนา ปะริปุริง คัจฉันติ สติปัฏฐานแม้ทั้ง ๔ ย่อมถึงซึ่งความเต็มรอบ นี้หมายความว่าเมื่อทำให้อริยมรรคมีองค์ ๘ ถึงความเต็มรอบอยู่ได้เพราะความรู้จักควบคุมอายตนะเป็นต้นนั้นอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงแล้ว นั่นจะเป็นความเต็มรอบของสติปัฏฐานทั้ง ๔ ขึ้นมาอีกโดยอัตโนมัติในตัวมันเองด้วย เมื่อสติปัฏฐานทั้ง ๔ ถึงความเต็มรอบแล้ว สัมมัปปธานทั้ง ๔ ก็ถึงความเต็มรอบ สัมมัปปธานถึงความเต็มรอบแล้วอิทธิบาททั้ง ๔ ก็ถึงความเต็มรอบ อิทธิบาททั้ง ๔ ถึงความเต็มรอบแล้วอินทรีย์ทั้ง ๕ ก็ถึงความเต็มรอบ พละทั้ง ๕ ก็ถึงความเต็มรอบ โพชฌงค์ทั้ง ๗ ก็ถึงซึ่งความเต็มรอบ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเต็มรอบของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ความเต็มรอบของอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการขึ้นอยู่กับความรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริง ซึ่งอายตนะทั้งหลายมันเนื่องกันอยู่อย่างนี้
ทีนี้ก็ดูต่อไปว่าธรรมที่เป็นคู่เคียงกันอยู่ ติดกันอยู่นั้นมองเห็นได้ในความเต็มรอบแห่งสิ่งเหล่านั้น นั้นคือสมถะและวิปัสสนา นี้มีความหมายที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าเมื่อบุคคลประพฤติอยู่อย่างนี้ สมถะและวิปัสสนาย่อมเต็มที่เคียงคู่กันอยู่ สมมติว่าบุคคลกำลังทำงานอะไรอยู่ในครัวที่บ้าน มีความรู้สึกอย่างถูกต้อง รู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงในเรื่องอันเกี่ยวกับอายตนะเป็นต้นนั้นแล้ว ก็ไม่ความ ก็ไม่มีความกำหนัดยินดีในสิ่งใดๆที่มีอยู่ในครัว เช่น อาหารการกิน เป็นต้น ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดีแก่บุคคลนั้น เพราะมีสติสัมปชัญญะทำให้รู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอก ผัสสะ เว วิญญาณและเวทนาที่เกี่ยวกับอาหารการกินนั่นมันเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่กำหนัดยินดี ไม่มีตัณหาเกิดขึ้น ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้น มันมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิครบถ้วนอยู่แก่บุคคลนั้นในขณะนั้น คือในขณะที่อยู่ในครัว เมื่อทำอยู่อย่างนี้ก็เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็สมบูรณ์ สัมมัปปธานก็สมบูรณ์ อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ก็สมบูรณ์อยู่แก่บุคคลนั้นในขณะที่อยู่ในครัว เมื่ออยู่ในครัวในลักษณะอย่างนี้สมถะและวิปัสสนาก็เป็นสิ่งที่เคียงคู่กันอยู่ในการประพฤติการกระทำของเขา สิ่งใดที่เขาจะพึงกำหนดรู้ด้วยปัญญาเขาย่อมกำหนดรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โส เยธัมมา อภิญญา ปริญญา เต ธัมเม อภิญญา ปะริชานาติ ซึ่งแปลว่าธรรมทั้งหลายเหล่าใดอันบุคคลนั้นจะพึงรู้รอบด้วยปัญญาอันยิ่ง บุคคลนั้นย่อมรู้รอบด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ข้อนี้หมายถึงสิ่งที่เป็นตัวทุกข์ เป็นตัวความทุกข์ เขารอบรู้สิ่งที่เป็นตัวความทุกข์ด้วยปัญญาอันยิ่ง และตรัสต่อไปว่า เย ธัมมา ภิญญา มหาตัปพา เต ธัมเม ภิญญา ปะชะหะติ ธรรมทั้งหลายเหล่าใดอันพึง อันเขาพึงจะละเสียด้วยปัญญาอันยิ่ง เขาก็ละซึ่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นด้วยปัญญาอันยิ่ง ข้อนี้หมายถึงตัณหาหรืออุปาทานที่จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แม้เมื่ออยู่ในครัวนั่น เขาก็ละเสียได้ด้วยปัญญาอันยิ่งที่ในครัวนั่นเอง เย ธัมมา อภิญญา ภาเว ตัพพา เต ธัมเม อภิญญา ภาเวติ ธรรมทั้งหลายเหล่าใดอันบุคคลนั้นจะพึงกระทำให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง เขาย่อมกระทำธรรมทั้งหลายเหล่านั้นให้เจริญได้ด้วยปัญญาอันยิ่ง นี้หมายถึงการปฏิบัติที่เรียกว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เป็นสิ่งที่เขาต้องทำให้เจริญโดยยิ่ง เขาก็ได้ทำให้เจริญแล้วด้วยปัญญาโดยยิ่งที่ในครัวนั้น ที่พูดอย่างนี้ก็หมายความว่าอย่าได้ไปนึกให้มันมากไปถึงเรื่องในป่าในดง ทำวิปัสสนาตามถ้ำตามเขาเหมือนที่เขาแตกตื่นกัน จะต้องถือเอาตามหลักของพระพุทธเจ้าว่าที่ใดเรายังมีชีวิตอยู่ด้วยอายตนะภายในภายนอก วิญญาณ ผัสสะ เวทนา หรือว่าวิญญาณและผัสสะ เวทนามันจะเกิดขึ้นได้ในที่ใดแล้วในที่นั้นต้องระวัง ต้องมีสติสัมปชัญญะระวังแม้แต่เมื่ออยู่ในครัว แม้แต่เมื่ออยู่ในห้องน้ำห้องส้วมมันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องระวังอย่าให้เกิดความกำหนดยินดีในอายตนะใดอายตนะหนึ่ง หรือในวิญญาณในผัสสะในเวทนาที่เกิดขึ้น ข้อปฏิบัตินี้จึงกลายเป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติอยู่ทุกอิริยาบถทั่วทุกเวลาทุกสถานที่ มันมีความสำคัญอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจต่างหาก มันไม่ใช่มีความสำคัญอยู่ที่วัดหรือที่บ้านหรือว่าในป่าในถ้ำในภูเขาอะไร มันสำคัญอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมีอยู่ ทำหน้าที่อยู่ในที่ใดที่นั้นมีความสำคัญ ถ้าไม่ระวังให้ดีแล้วความทุกข์จะเกิดขึ้น จะนั่งอยู่ที่ตรงนี้หรือว่าจะไปนั่งอยู่ที่ตรงไหน หรือจะกลับไปบ้านมันก็มีความสำคัญอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเท่านั้น มันไม่ได้สำคัญอยู่ที่สิ่งอื่นนอกไปจากนั้น สิ่งอื่นๆที่นอกไปจากนั้นมันต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกันกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเรื่องราวมันก็จะเกิดขึ้นโดยนัยยะดังที่กล่าวมาแล้ว คือให้เกิดเป็นเบญจขันธ์ล้วนๆขึ้นมาก่อน ถ้าเบญจขันธ์นั้นไม่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน ไม่เกิดปัญจุปาทานขันธ์แล้วก็ไม่มีความทุกข์ นี้เรียกว่าไม่มีปัญหา เหมือนที่ตาของเรา หูของเราทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลาในวันหนึ่งๆนั้น ส่วนมากนั้นมิได้เกิดความทุกข์ หลังจากว่าตาเห็นรูป มีผัสสะ มีเวท มีวิญญาณ มีผัสสะ มีเวทนาแล้วมันก็เลิกกัน มันไม่ถูกยึดถือ ขอให้ไปสังเกตดูอีกทีหนึ่งทบทวนอีกทีหนึ่ง เข้าใจสิ่งนี้เสียก่อนว่าเรามันหลีกไม่พ้น เรายังมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฉะนั้นเราจะต้องสัมผัสกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ไปในที่ทุกหนทุกแห่ง แต่แล้วมันไม่ได้เกิดความทุกข์มากเหมือนอย่างนั้นเพราะว่ามันไม่ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทาน เหมือนในกรณีที่ยึดมั่นด้วยอุปาทานเท่านั้นมันจึงจะเป็นความทุกข์ขึ้นมา สมมติว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทำหน้าที่สัมผัสสิ่งทั้งหลายต่างๆวันหนึ่งร้อยเรื่อง ในร้อยเรื่องนั้นมันจะไม่มีความทุกข์ หรือความทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นตั้ง ๘๐ ๙๐ เรื่องหรือ ๙๕ เรื่อง หรืออาจจะเป็น ๙๙ เรื่องก็ได้ ทั้งที่มี มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นก็ได้ที่จะถูกยึดมั่นถือมั่นแล้วก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา นี่แหละถ้าไม่เข้าใจแล้วจะเกิดความสงสัย ไม่เข้าใจธรรมะที่สอนกันอยู่ที่เรียนกันอยู่ว่าเบญจขันธ์เป็นทุกข์นั้นมันเป็นอย่างไร มันเป็นเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทาน เราก็เรียกว่าปัญจุปาทานขันธ์คือขันธ์ที่มีอุปาทาน ถ้ามันเป็นเพียงเบญจขันธ์เฉยๆ เป็นขันธ์ ๕ ล้วนๆไม่มีอุปาทานมันก็ไม่เป็นทุกข์ ขันธ์ทั้ง ๕ มีอยู่ ๒ รูปหรือ ๒ แบบอย่างนี้เสมอไป และขันธ์ที่จะถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานนั้นมันต้องเป็นขันธ์ล้วนๆขึ้นมาก่อน แล้วจึงถูกยึดมั่นให้เป็นปัญจุปาทานขันธ์ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ในสูตรนี้
ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามสังเกตศึกษาให้ดีในเรื่องนี้ต่อไปอีก เท่าที่แล้วมายังไม่พอ ยังรู้จักสิ่งที่เรียกว่าเบญจขันธ์นั้นอย่างลวกๆ หรือว่าอย่างคร่าวๆ อย่างไม่เข้าใจ สักแต่ว่าท่องได้จำได้แล้วก็พูดไปอย่างนั้นเอง แม้ในโรงเรียนที่เขาสอนธรรมะกันก็สอนอย่างคร่าวๆสอนอย่างลวกๆ ไม่สอนให้เห็นชัดเจนว่าเบญจขันธ์ล้วนๆกับเบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั้นมันต่างกันอย่างไร แล้วมันเกิดขึ้นอย่างไร มันอาศัยการเกิดขึ้นอย่างไรไม่มีการสอน เพราะเหตุนี้แหละพวกเราที่เวลาล่วงมาเป็นสิบๆปีก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ แม้แต่ว่าความทุกข์เกิดขึ้นในเบญจขันธ์นั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันจึงปล่อยไปตามบุญตามกรรม เป็นเรื่องที่ว่าไม่ทุกข์มันก็ไม่ทุกข์เอง หรือว่าเป็นทุกข์มันก็เป็นทุกข์ขึ้นมาเอง อย่างนี้เรียกว่ายังน่าสงสารหรือว่ายังน่าละอาย หรือว่ายังน่ากลัว คือเอาชนะความทุกข์ไม่ได้ จะถูกความทุกข์ครอบงำย่ำยีอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ขอให้สังเกตดูให้ดีๆว่าความบกพร่องของพุทธบริษัทเรายังมีอยู่ในข้อนี้ เดี๋ยวนี้เวลาก็ได้ล่วงมาอีกปีหนึ่งแล้วคือวันวิสาขบูชา มาถึงทีหนึ่งนี้ย่อมหมายความว่าเวลามันล่วงมาปีหนึ่งแล้ว ปีหนึ่งแล้วนี้อย่าให้มันอยู่เท่าเดิม ให้มันมีความก้าวหน้า ให้มันมีความรู้แจ้งเห็นจริงในสิ่งต่างๆที่จะต้องรู้แจ้งเห็นจริงนั้นมากขึ้นโดยเฉพาะในวันนี้อาศัยพระบาลีนี้มาเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าเบญจขันธ์เกิดขึ้นอย่างไร และเบญจขันธ์นั้นได้กลายเป็นเบญจุปาทานขันธ์ขึ้นมาอย่างไรและเป็นทุกข์อย่างไร ถ้าเข้าใจสิ่งทั้ง ๒ นี้อย่างถูกต้องแล้วสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญจุปาทานขันธ์ชนิดที่เป็นทุกข์ เพราะว่ารู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คืออายตนะภายในกับอายตนะภายนอกได้อาศัยกันแล้วก็เกิดวิญญาณขึ้นมา ทั้งหมดนั้นรวมกันแล้วเรียกว่าผัสสะ ผัสสะมีแล้วก็เกิดเวทนา ถ้าผัสสะเป็นเพียงปฏิฆะสัมผัส เวทนาก็เป็นเพียงสักว่าเวทนาที่มาจากปฏิฆะสัมผัส แต่ถ้าเวทนานั้นถูกๆ ถูกๆ ถูกยึดถือเอาด้วยจิต เป็นเวทนาที่มีอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้วมันก็เกิดอธิวจนสัมผัส ทำให้เวทนานั้นกลายเป็นอธิ วจนสัมผัสสชาเวทนาเป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน กลายเป็นเวทนาที่ถูกยึดมั่นถือมั่นแล้วตัณหาก็จะโผล่ขึ้นมา แล้วความกระวนกระวาย ความแผดเผา ความทุกข์ก็จะเกิดขึ้น เรื่องมันมีเท่านี้เอง แต่ความสำคัญก็อยู่ตรงที่มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริงทันแก่เวลาเสมอ เพราะว่าการฟัง การเห็นรูปก็ดี การฟังเสียงก็ดีเป็นสิ่งที่รวดเร็วมาก ถ้าสติสัมปชัญญะไม่รวดเร็วทันแก่กันแล้วมันก็เป็นโอกาสให้อวิชชาเกิดขึ้น ซึ่งในที่นี้มันมาในรูปของตัณหาแล้วก็มีความทุกข์ ถ้าเราพยายามศึกษาให้เข้าใจและพยายามปฏิบัติให้ได้มันก็เป็นความก้าวหน้าที่ดีกว่าปีที่แล้วมาเป็นแน่นอน ขอให้ท่านทั้งหลายพยายามทำความเข้าใจในเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจให้สุดความสามารถของตนๆ เพราะว่านรกก็อยู่ที่นี่ เพราะว่าสวรรค์ก็อยู่ที่นี่ แม้พรหมโลกก็อยู่ที่นี่ แม้นิพพานก็ยังจะอยู่ที่นี่ คือถ้าว่ามีสติสัมปชัญญะเพียงพอ ควบคุมไม่ให้เกิดปัญจุปาทานขันธ์ขึ้นมาได้แล้วก็มีแต่การเสวยสุขทั้งทางกายและทางจิต ดังที่กล่าวไว้ในพระพุทธภาษิตนั้น และนั่นแหละคือนิพพาน ที่จะปรากฏได้เพราะอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของบุคคลผู้มีสติสัมปชัญญะรู้อยู่เห็นอยู่ตามที่เป็นจริง ดังนั้นเมื่ออะไรๆก็สำเร็จอยู่ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเอาอะไรก็ได้ที่นั่นทั้งหมดแล้วก็จงได้สนใจในสิ่งทั้ง ๖ นี้ให้มากเป็นพิเศษเถิด ให้มีความรอบรู้ ให้มีการปฏิบัติที่ถูกต้องที่เกี่ยวกับสิ่งทั้ง ๖ นี้ ก็จะมีแต่ความเจริญงอกงามไปตามทางของพระธรรมคือเป็นนิยยานิกธรรม นำสัตว์ออกจากทุกข์ทั้งปวงได้จริง ธรรมเทศนานี้สรุปความแล้วก็มีแต่เพียงเท่านี้ ว่าให้ประพฤติกระทำให้ถูกต้องต่อสิ่งที่เรียกว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่มีความทุกข์มีแต่ความสุข พอประพฤติผิดต่อสิ่งเหล่านี้ก็มีแต่ความทุกข์ไม่มีความสุข หวังว่าจะได้นำไปพินิจพิจารณาให้ดียิ่งๆขึ้นไปอยู่ตลอดเวลา ถ้าพูดกันถึงขันธ์ ๕ ถ้าสวดมนต์ถึงบทที่เกี่ยวกับขันธ์ ๕ ขอให้มีความสว่าง ความรู้อย่างแจ่มแจ้งถูกต้องเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องของขันธ์ ๕ ทุกๆทีไป ก็จะช่วยให้เกิดความสามารถในการปฏิบัติ และปฏิบัติได้ในการระงับเสียซึ่งความทุกข์อันจะเกิดมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาอยู่ในรูปของขันธ์ ๕ ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานได้ทุกอย่างทุกประการ ขอให้ถือเอาความรู้อันนี้และการปฏิบัติอันนี้เป็นเครื่องกระทำความก้าวหน้าในทางธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงประทานให้เพื่อความรอดของท่านทั้งหลายทุกๆคน ให้สำเร็จประโยชน์ก่อนแต่ที่ร่างกายนี้มันจะแตกดับไปเสียอย่างไม่มีประโยชน์ หรือมีแต่ความทุกข์เท่านั้นที่ได้รับ ไม่เคยรู้จักกับความดับทุกข์ ก็ว่าเสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนา หวังว่าจะได้พินิจพิจารณา ทำความเจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งธรรมในพระพุทธศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นที่พึงของเราทั้งหลายตลอดทุกทิพพาราตรีกาลเทอญ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้