แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ อาตมาภาพจะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนา เป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา
ธรรมเทศนาในวันนี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุแห่งวิสาขบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบได้เป็นอย่างดีแล้ว ในโอกาสเช่นนี้ ได้มีธรรมเทศนาที่จัดขึ้นในสถานที่นี้เป็น ๓ เวลา คือ ๓ กัณฑ์ คือกัณฑ์บ่าย และกัณฑ์ค่ำ และกัณฑ์ดึก ล้วนแต่เป็นธรรมเทศนาซึ่งทำให้ระลึกนึกถึงพระคุณของพระศาสดา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมเทศนากัณฑ์บ่ายเช่นนี้ ได้พรรณนาถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส และความเสียสละแล้ว จะได้กระทำการเวียนเทียนที่เรียกว่า ประทักษิณ ดังที่เคยกระทำทุกปีมา
ในวันนี้ เนื่องจากธรรมชาติไม่ได้อำนวยให้เหมือนอย่างที่แล้วๆมา เราจึงต้องมาประชุมกันในที่นี่ เอ่อ, ที่นี้ ซึ่งผิดไปจากที่เคยกระทำ จะไม่กระทำก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงต้องกระทำ ตามที่จะกระทำได้อย่างไร การไปกระทำวิสาขบูชาบนภูเขานั้น มีประโยชน์เป็นพิเศษยิ่งกว่าในสถานที่อย่างนี้ เพราะว่าได้กระทำในพื้นที่ที่มีธรรมชาติคล้ายกันกับพื้นที่ตามธรรมชาติในภูมิประเทศที่เป็นที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือในป่า หรือที่มีลักษณะเหมือนกับป่า มีลักษณะเป็นอารามตามธรรมดาที่บรรพชิตจะอาศัยอยู่ เป็นเหตุให้ระลึกถึงได้โดยง่าย ทำใจให้นึกถึงพระคุณของพระองค์ได้โดยง่าย และยังจะกระทำอะไรๆได้มากกว่านั้นอีก เช่นว่า จะได้เดินเวียนประทักษิณในที่ที่เป็นธรรมชาติ และเหมาะสมอย่างยิ่ง ดังนี้เป็นต้น และได้มองเห็นต้นไม้อยู่รอบข้าง ราวกับว่าเราได้มาอยู่ในสำนักของพระพุทธองค์ซึ่งเต็มไปด้วยต้นไม้
ความเป็นอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเกี่ยวกับต้นไม้ อย่างว่าประสูติ ก็ยังประสูติใต้ต้นไม้ จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ใต้ต้นไม้ จะปรินิพพาน ก็ใต้ต้นไม้ โดยเวลาปกติทั่วไป พระองค์ก็ทรงประทับอาศัยอยู่ที่หมู่ไม้ ทั้งในพระอารามและนอกพระอาราม เมื่อเราได้อยู่ใกล้ชิดกับต้นไม้ ซึ่งมีธรรมชาติคล้ายกันกับที่พระองค์เคยทรงอาศัย ย่อมกระทำในใจได้โดยง่ายดาย คือให้มีจิตใจสมคล้อยกันกับการเป็นอยู่ของพระองค์ อย่างนี้เป็นต้น
บัดนี้เราไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้ แต่ก็ไม่ควรจะประหลาดใจอะไร หรือไม่ต้องถึงกับเสียอกเสียใจว่าไม่ทำ ไม่ได้มีโอกาสที่จะทำอย่างนั้น ซึ่งจะกลายเป็นความยึดถืออย่างใหม่ขึ้นมาอีก เราก็อาจจะทำให้ทั้งหมดนี้เป็นต้นไม้ หรือว่าอาจจะทำเนื้อตัวของเราทั้งหมดนี้ให้เป็นต้นไม้ไปก็ยังได้ เพราะว่าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันแท้จริง กลัวแต่ว่าจะไม่มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใส และความสละในจิตใจมากเหมือนอย่างนั้น ถ้าเรามีความยึดมั่นถือมั่นที่เบาบางเท่าไร เนื้อตัวก็จะเย็น ซึ่งเป็นความหมายของสิ่งที่เรียกว่าพฤกษชาติ หรือต้นไม้ทั้งหลาย เป็นของที่มีความสดชื่น ไม่มีความเร่าร้อน นั้นเป็นส่วนสำคัญ พระองค์จึงได้ตรัสรู้ใต้ต้นไม้ นิพพานใต้ต้นไม้ แม้แต่การประสูติก็บังเอิญไปประสูติที่ใต้ต้นไม้ อย่างนี้เป็นต้น เราจึงควรจะแก้ปัญหาข้อนี้ได้ หรือควรจะเรียกว่า แก้ลำต่อธรรมชาติได้โดยทุกๆกรณี ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้ต้องรู้สึกว่าผิดหวัง เพราะว่าเราไม่หวัง ถ้าเราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เราต้องไม่มีความหวังอะไรซึ่งเป็นเหตุให้ยุ่งยากลำบากใจ รู้อยู่ว่าจะต้องทำอะไรก็ทำไปก็แล้วกัน ดังนั้นเป็นอันว่า หมดปัญหาในข้อที่ว่าไม่ได้ไปทำพิธีวิสาขบูชาบนภูเขาดังที่ได้เคยกระทำมาทุกๆปี
ทีนี้ เนื้อหาของการกระทำวิสาขบูชานั้นก็คือการระลึกถึงพระคุณของพระองค์ให้มากเป็นพิเศษ ในวันเช่นวันนี้ซึ่งสมมติเรียกว่าวันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงสมเด็จพระบรมศาสดา จนเรียกว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า ตามความรู้สึกของอาตมารู้สึกอย่างนี้ ว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชานั้นเป็นวันพระธรรม พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมที่ทรงค้นพบเป็นวันแรก ทำให้พระธรรมมีขึ้นมาในโลก ส่วนวันมาฆบูชาถัดไปนั้นเป็นวันพระสงฆ์ คือเป็นวันสถาปนาคณะสงฆ์ มีคณะสงฆ์ประดิษฐานเป็นปึกแผ่น อย่างที่เรียกว่าพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ประชุมกัน ประดิษฐานเป็นคณะสงฆ์อันมั่นคงดังนี้ วันวิสาขบูชาจึงมีความหมายเป็นวันพระพุทธเจ้า วันอาสาฬหบูชามีความหมายเป็นวันพระธรรมเจ้า วันมาฆบูชามีความหมายเป็นวันพระสงฆเจ้า เป็นลำดับกันไปด้วยดีอย่างนี้
วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันพระพุทธเจ้า เราจึงกระทำในใจถึงพระพุทธเจ้าเป็นพิเศษ เพื่อว่าจะมีความรู้สึกในพระคุณของพระองค์อย่างเต็มเปี่ยม สมกับที่ว่าเป็นวันพระพุทธเจ้าจริงๆ และเมื่อจะกระทำการเดินเวียนประทักษิณก็จะมีความหมาย ทีนี้ เราจะได้พิจารณากันถึงพระคุณของพระองค์ในโอกาสเช่นวันนี้ อย่างที่เคยกระทำมาเป็นประจำปี
สำหรับคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีมากมายเหลือที่จะกล่าวได้ จนกระทั่งพระเกจิอาจารย์บางท่านได้กระทำขึ้นไว้เป็นคาถา มีความว่า ถ้าว่ามีบุรุษสักคนหนึ่งมีศีรษะสักพันศีรษะ ศีรษะแต่ละศีรษะนั้นมีลิ้นได้พันลิ้น แล้วลิ้น อ่า, มีศีรษะหนึ่ง ศีรษะศีรษะหนึ่งนั้นมีปากได้พันปาก แล้วในหนึ่งปากๆนั้นมีลิ้นได้พันลิ้น แล้วลิ้นทั้งหมดนั้นต่างก็พรรณนาพระคุณของพระองค์ไปด้วยกันทั้งนั้น เป็นเวลากัปป์หนึ่ง ก็ยังไม่หมดพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ควรพรรณนา ดังนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูเถิด ว่าพันศีรษะ ในหนึ่งศีรษะมีพันปาก ในหนึ่งปากมีพันลิ้น แล้วพูด ต่างลิ้นต่างก็พูดถึงพระคุณของพระองค์เป็นเวลา ๑ กัปป์ มันจะมากสักเท่าไร
นี้ว่ากันโดยรายละเอียดปลีกย่อย มันก็ควรจะพูดได้จริงเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้เราจะพูดกันแต่โดยใจความ หรือโดยหัวข้อเท่าที่ควรจะพรรณนาเป็นคราวๆ สามารถที่จะกระทำไว้ในใจได้ตามโอกาสหนึ่งๆ แยกพรรณนากันเฉพาะส่วนหนึ่งๆในปีหนึ่งๆอย่างที่กำลังจะทำอยู่เป็นประจำในที่นี้
สำหรับในวันนี้จะได้กล่าวถึงพระคุณของพระองค์ โดยบทที่ ๑ ว่า พุทโธ ธัมมัสสะ โพเธตา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ตื่นแล้ว แล้วเป็นผู้ปลุกสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงให้ตื่นในธรรม นี้เป็นหัวข้อ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตื่นก่อน แล้วปลุกสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงให้ตื่นในธรรม สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งพระองค์เอง เมื่อก่อนแต่กาลตรัสรู้ ชื่อว่าเป็นผู้หลับ หลับด้วยอำนาจของกิเลส จึงได้เรียกว่า กิเลสนิทรา กิเลสนิทราแปลว่านอนหลับด้วยอำนาจของกิเลส ถ้ามีกิเลสแล้วต้องหลับเป็นแน่ เพราะว่ากิเลสนั้นปิดบังจิตใจ ไม่มี อ่า, ไม่ให้มีความสะอาด สว่าง สงบ มันมีแต่ความมืดมัว ความไม่รู้ ความไม่มองเห็น ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง เหมือนกับคนตาบอด อย่างนี้เรียกว่ากิเลสนิทรา
การที่มีลูกตามองเห็นอะไรอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ เห็นอะไรได้แล้วก็ไม่เรียกว่านอนหลับ เพราะว่าเรายังทำงานอยู่ ยังเคลื่อนไหวอยู่ ไม่เรียกว่านอนหลับ นั่นแหละคือความโง่ของเราที่เรียกว่ากิเลสนิทรา เราไม่รู้ว่าอย่างนั้นมันเป็นความหลับ ที่แท้มันเป็นความหลับ ทั้งที่เดินอยู่ ทั้งที่ทำงานอยู่ ไม่รู้สิ่งที่ควรรู้ ไม่รู้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง จึงไม่รู้จะทำจิตใจอย่างไร จึงได้ทำจิตใจไว้ในลักษณะที่มีความทุกข์ มีความหม่นหมอง มีความมืดมัว อย่างน้อยก็มีความสงสัย มีความวิตกกังวล ไม่เป็นจิตที่สะอาด สว่าง สงบ ได้เลย ความไม่รู้ข้อนี้เรียกว่าเป็นความหลับ ร่างกายจะหลับอยู่หรือจะตื่นอยู่ เคลื่อนไหวอยู่ ถ้าไม่รู้ข้อนี้แล้ว ก็เรียกว่ายังหลับอยู่ทั้งนั้น แม้ว่าปากจะพูดธรรมะให้มากมายสักเท่าไร แต่ถ้าใจไม่รู้ธรรมะ คือว่าไม่แจ่มแจ้งด้วยธรรมะแล้ว ก็ยังเรียกว่าหลับ นี้เป็นปรกติของสัตว์สามัญทั้งหลายที่เรียกว่า ปุถุชน แปลว่าคนหนา หนาด้วยอำนาจของกิเลสที่ปิดลูกตา บางคน บางคนก็หนามาก บางคนก็หนาน้อย แต่ถ้ายังมีกิเลสปิดตา ก็เรียกว่าปุถุชน เพราะฉะนั้นปุถุชนนั่นแหละคือผู้ที่มีกิเลสนิทรา คือหลับอยู่ด้วยกิเลส
พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นคนตื่นได้ก่อนใครๆ ดังนั้นจึงประกาศพระองค์เองไว้ในที่บางแห่งว่า “เราเป็นลูกไก่ตัวพี่ที่สุดแห่งลูกไก่ทั้งปวง ที่ทำลายกระเปาะฟองของอวิชชาออกมาสู่แสงสว่างนี้ได้” อวิชชาถูกเปรียบเหมือนกับเปลือกฟองไข่ที่ลูกไก่จะต้องถีบให้แตก ทำลายแล้วออกมาเดินอยู่ได้ พระองค์ทรงเป็นลูกไก่ตัวแรกที่สุด ทำลายกระเปาะฟองของอวิชชาออกมา จึงได้ประกาศพระองค์เองว่าเป็นเชษโฐ เป็นเสฎโฐ เป็นต้น ซึ่งแปลว่า เป็นตัวพี่เขาทั้งหมด นี่แหละคือความตื่นจากกิเลสนิทรา ออกมาจากกระเปาะฟองของอวิชชาได้ เรียกว่าพุทโธ แปลว่า ผู้ตื่น
ธัมมัสสะ โพเธตา นั้นแปลว่าผู้ปลุกผู้อื่นให้ตื่นในธรรม ตื่นในธรรมก็มีความหมายสั้นๆง่ายๆว่าตื่นในทางธรรม ไม่ได้หมายถึงปลุกให้ตื่นในทางธรรมดาสามัญที่คนปลุกกันให้ตื่น ให้ตื่นในธรรมก็คือให้ผ่องแผ้วจากกิเลส มีอวิชชาเป็นต้นได้ ก็มีคนตื่นตามกันมา ขึ้นมา คือพระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นสาวกของพระองค์นั่นเอง นี้เราควรจะถือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้มีพระคุณหรือบุญคุณอย่างใหญ่หลวงแก่เรา จนเรียกว่าพระมหากรุณาธิคุณ คือเป็นผู้ปลุก ถ้าไม่มีผู้ปลุกเช่นพระพุทธเจ้าอย่างนี้แล้ว เราจะเป็นอย่างไร คงจะไม่ได้มานั่งทำพิธีวิสาขบูชากันอย่างนี้ในสถานที่นี้ คงจะไปทำอย่างอื่น คือทำไปด้วยความหลับของกิเลส นี้เรียกว่ามนุษย์นี่จะมีความเป็นมนุษย์น้อยจนไม่เป็นมนุษย์กันก็ได้ ถ้าไม่ได้ตื่นจากหลับคือกิเลส ก็นับว่าเป็นโชคที่ดี เป็นความได้ที่ดีของมนุษย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือพุทธบริษัทนี้ ที่ได้ตื่นจากหลับคือกิเลสเพราะการปลุกของพระพุทธเจ้า นี้เป็นพระคุณข้อแรกที่อาตมาอยากจะขอร้องท่านทั้งหลายให้กระทำไว้ในใจสำหรับวันนี้ เพื่อจะได้มีความสำนึกในพระคุณ จะได้พยายามสนองพระคุณของพระองค์ด้วยความอดกลั้นอดทน ซึ่งเราเคยอดกลั้นอดทนกันตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งในวันนี้ ในการทำพิธีวิสาขบูชา ดังที่ทราบกันได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
สรุปความสั้นๆว่า ถ้าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ปลุก เราจะเป็นอย่างไร หรือท่านปลุกให้มาเป็นอย่างนี้ เราควรจะนึก สำนึกในพระคุณของพระองค์สักเท่าไร เราควรตอบสนองสักเท่าไร
ทีนี้ข้อต่อไป ก็อยากจะตักเตือนกันด้วยบทว่า สัตถา เทวมนุสสานัง ซึ่งแปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เราจะต้องมองข้อความนี้ เข้าใจข้อความนี้ให้ดีๆ มิฉะนั้นเราก็จะยิ่งหลับเป็นกิเลสนิทรามากขึ้นไปอีก ในข้อที่ว่า เราไม่รู้ว่าพระธรรมของพระองค์นั้นประเสริฐสักเพียงไร เมื่อพูดว่าทั้งเทวดาและมนุษย์ ก็มักจะคิดไปเสียว่าเทวดาบนสวรรค์ ข้อนี้ก็เพราะว่าเราไม่รู้ภาษาบาลี หรือว่าภาษาบาลีก็เป็นภาษาที่มีความหมายกำกวมหลายชั้น คำว่าเทวดาในที่นี้จะหมายถึงใคร เทวดาในสวรรค์นั้นเราไม่ยืนยัน เพราะว่าเราไม่เห็น แต่ว่าเทวดาชนิดหนึ่งนั้นเราเห็น และอยู่ในสายตาของเราตามธรรมดา คือว่าคนในโลกนี้ก็มีอยู่ ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งมีกินมีใช้สบายดีแล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องปากเรื่องท้อง คนพวกนี้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนและสอนได้ดี คือสอนสิ่งที่มีประโยชน์แก่คนพวกนี้ คนอีกพวกหนึ่งนั้น ยังลำบาก ยังยากยังจน ยังไม่มีจะเลี้ยงชีวิตให้เป็นอยู่อย่างสบายได้ นี้เรียกว่าคนธรรมดาที่ยังยากยังลำบากอยู่ พระองค์ก็ทรงสอนได้ดี สอนให้คนเหล่านี้เอาตัวรอดขึ้นมาได้
ทีนี้คนบางคนมันมีกิเลสนิทรามากเกินไป ไปพูดเสียว่าถ้ายังไม่อิ่มปากอิ่มท้องแล้ว ไม่ต้องไปสนใจคำสอนของพระพุทธเจ้า นี้คือคนโง่มาก ถึงขนาดที่เรียกว่าเป็นกิเลสนิทรา คนที่ยังยากลำบากอยู่ ยังไม่อิ่มปากอิ่มท้องก็ต้องการธรรมะของพระพุทธเจ้า เพื่อจะมาแก้ไขความยากลำบากข้อนี้ให้หายไป คือว่าถ้าเขาประพฤติตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะเอาชนะความยากจนได้ เป็นต้น และในขณะที่เขากำลังยากจนอย่างยิ่งอยู่ ถ้าเขามีธรรมะของพระพุทธเจ้าแล้ว เขาก็ไม่เป็นทุกข์ เขายังอาจจะหัวเราะได้อยู่นั่นเอง เดี๋ยวนี้คนจนหัวเราะไม่ได้ เพราะว่าไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย ถึงจะจนอย่างไร จะตายอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว ถ้ามีธรรมะของพระพุทธเจ้า เขาก็จะไม่เป็นทุกข์ หรือจะหัวเราะเยาะความจนนั้นได้ และก็แก้ไขไป จนเอาชนะความจนได้ ธรรมะของพระพุทธเจ้ายังจะจำเป็นแก่คนที่ยากจน ยิ่งกว่าที่จำเป็นแก่คนที่มั่งมีแล้วด้วยซ้ำไป ขอให้คิดดูให้ดีๆ
ควรจะถือเอาใจความข้อนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระศาสดาทั้งแก่เทวดาแลมนุษย์ คนรวยแล้ว คนสบายแล้วด้วยเหตุใดก็ตาม มันมีแต่จะบ้ามากเกินไป หรือบ้ายิ่งขึ้นไป คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังช่วยห้ามล้อไว้ได้ อย่าให้คนรวยคนมั่งมีเหล่านั้น มีความทุกข์ขึ้นมาตามแบบของคนมั่งมีหรือสบายดีแล้ว แม้ว่าเขาจะไม่รู้สึกทุกข์ทนทรมานอะไร แต่มันเป็นกิเลสนิทราคือความโง่ เพราะว่าไม่รู้จักใช้เวลาหรือทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ไปในทางที่จะได้ประโยชน์คุ้มค่ากัน เพราะฉะนั้นพระองค์ก็ต้องทรงสั่งสอนคนพวกนี้ว่าอย่าให้มันบ้าเกินไป ขออภัย พูดคำที่ตรงไปตรงมาอย่างนี้ ก็เพื่อประหยัดเวลา
สำหรับคนที่ยังยากจนอยู่ ก็ทรงสั่งสอนให้ยกตัวขึ้นมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมะที่เป็นพุทธศาสนาจริงๆแล้ว ก็ล้วนแต่สอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่น อย่างเดียวกันทั้งคนมั่งมีและยากจน เพราะว่าความทุกข์ทั้งหลายย่อมมาจากความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นพระองค์จึงทรง ทรงสอนทั้งเทวดาแลมนุษย์ ด้วยข้อธรรมะอันเดียวกันก็ได้ คือไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง ข้อนี้เราควรจะถือว่าเป็นพระคุณอันสูงสุดด้วยเหมือนกัน ทั้งคนมั่งมีและคนยากก็ได้อาศัยพระธรรมคำสอนของพระองค์ กำจัดความทุกข์ความยากนั้นออกไปได้โดยเสมอกัน จึงทั้งคนมั่งมีและคนยากจนควรจะศึกษาพระธรรมคำสอนของพระองค์ ไม่ควรผลัดเพี้ยนว่าให้สบายเสียก่อนแล้วจึงจะมาศึกษาธรรม ยิ่งสบายแล้วจะยิ่งไม่ศึกษาธรรม เพราะมีความเพลิดเพลินหลงใหลมากเกินไป ความสุขสบายนั้นจะดึงไปในทางเพลิดเพลิน หรือความประมาท ความพอดีๆนั่นแหละมีประโยชน์ แม้แต่ความยากจนก็ยังมีประโยชน์ เพราะทำให้ต้องนึกมาก คิดมาก จึงควรจะกล่าวได้ว่าทั้งคนมั่งมีและคนยากจนก็ล้วนแต่เป็นหนี้พระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเสมอกัน เพราะฉะนั้นทั้งคนมั่งมีและทั้งคนยากจน ควรจะทำพิธีวิสาขบูชาโดยเสมอกัน เราสำนึกพระคุณข้อนี้ แล้วก็จะสนองพระคุณด้วยการทำวิสาขบูชาในวันนี้และคืนนี้ให้สุดความสามารถที่จะกระทำได้ ให้สมกับการที่จะเป็นลูกผู้กตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาของตน โดยถือเอาพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ให้กำเนิดในทางวิญญาณ
ทีนี้ข้อต่อไป ก็จะขอให้ท่านทั้งหลายระลึกโดยบทพระบาลีว่า สัตถาเม สัพพะโลกะติกิจฉะโก พระศาสดาของข้าพเจ้าเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวง สัตว์โลกทั้งปวงก็คือว่า จะเป็นมนุษย์ หรือจะเป็นเทวดา จะเป็นมาร จะเป็นพรหม เป็นอะไรก็สุดแท้ กระทั่งลงมาถึงสัตว์เดรัจฉาน นรก เปรต อสุรกาย ก็เรียกว่าสัตว์โลกทั้งปวง ล้วนแต่เป็นโรค เป็นโรคอย่างน้อยก็ว่าเป็นโรคกิเลส เพราะกิเลสนิทรานั้นเอง
ตามธรรมดาเราแบ่งโรคเป็นโรคร่างกายทางร่ายกาย และก็โรคทางจิตคือระบบประสาท และก็เป็นโรคทางวิญญาณคือระบบของสติปัญญา โรคกาย โรคจิต โรควิญญาณ มีอยู่ด้วยกันทุกคน เป็นโรคทางกายไปหาหมอที่โรงพยาบาลธรรมดา ไปโรคทางจิตก็ไปหาหมอโรคจิต แต่เป็นโรคทางวิญญาณต้องไปหาโรงพยาบาลของพระพุทธเจ้า อย่างนี้
ข้อที่ว่าพระองค์เป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงนั้น คือไม่ยกเว้นสัตว์โลกประเภทไหน มนุษย์ก็เป็นโรค เทวดา มาร พรหมก็เป็นโรค เพราะมีกิเลสอยู่ก็ต้องเรียกว่าเป็นโรค กิเลสนั้นเองเป็นโรค คำว่าโรคแปลว่าเสียดแทง บรรดาสิ่งเสียดแทงแล้วไม่มีอะไรยิ่งไปกว่ากิเลส ถ้ายังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเรียกว่าเป็นโรค นี้เรียกว่าเป็นโรคในทางวิญญาณ ถ้าคนเราเป็นโรคทางวิญญาณ นอนหลับยาก มีวิตกกังวลมาก สงสัยมาก สร้างวิมานในอากาศอยู่เรื่อย หลงใหลไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เป็นโรคทางวิญญาณสูงสุดดังนี้แล้ว มันก็ต้องเป็นโรคจิต คือมีระบบประสาทที่ผิดปรกติ อย่างว่าวิตกกังวลมาก ก็ต้องเป็นโรคกระเพาะอาหารไม่ปรกติ เมื่อระบบประสาทไม่ปรกติ ก็เผอเรอออกมาทางร่างกายจนเกิดการเจ็บป่วยได้ แม้โรคกระเพาะอาหารก็เป็นโรคทางกาย แต่แม้ว่าโรคทางกาย เช่นบาดแผล เป็นต้น เกิดขึ้นก็เพราะคนนั้นมันเป็นโรคทางวิญญาณ คือมันโง่ มันสะเพร่า มันประมาท อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะของการที่ปราศจากสติสัมปชัญญะหรือปัญญา จึงได้ทำมีดบาดมือ หรือว่าได้เดินตกร่องอย่างนี้ ควรจะเห็นว่าโรคทุกโรคมาจากโรคทางวิญญาณ คือความไม่ถูกต้อง ความไม่สมประกอบของสติปัญญา
พระพุทธเจ้าท่านเป็นนายแพทย์ จัดการรักษาต้นตอของโรคทั้งหลาย คือโรคทางวิญญาณให้หาย โรคทางกายและโรคทางจิตก็บรรเทาเบาบางไปด้วยเหตุนี้ ถ้าคนมีสติสัมปชัญญะดี มีปัญญาดี อาตมาเชื่อว่าคงจะไม่เจ็บไข้อะไร ถ้าจะต้องตายก็จะตายเหมือนกับผลไม้ที่มันสุกงอมแล้วมันก็หล่นลงไป ถ้าในจิตใจของบุคคลนั้นไม่ยึดถือเป็นตัวกูของกู ไม่รับเอาความตายนั้นมาเป็นของตัวตนแล้ว จิตนี้ก็ไม่มีความทุกข์เลย จึงเรียกว่าไม่มีโรคใดๆเลย ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต และวิญญาณ พระพุทธเจ้าท่านเป็นนายแพทย์รักษาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงในลักษณะอย่างนี้ คือรักษาโรคทางวิญญาณ แล้วก็โรคอื่นก็พลอยหายหมด
ทีนี้ว่าสัตว์โลกทั้งปวงก็เป็นโรคทางวิญญาณ หรือว่าถ้ายังไม่รู้สิ่งที่ควรรู้อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง ก็เรียกว่าเป็นโรคทางวิญญาณ มนุษย์ก็เป็น ตัวคนธรรมดาสามัญก็เป็น คนที่ร่ำรวย สนุกสนาน มีกินมีใช้ สบายดีแล้วก็เป็น เรียกว่าพวกเทวดาก็เป็น ที่เรียกว่ามาร พวกมารก็เป็นนั้น ก็คือพวกเทวดาชั้นสุดยอด เกี่ยวกับข้อนี้บางคนยังไม่ทราบว่ามารโลกนั้นอยู่ที่ไหน ก็คือโลกของเทวดาชั้นสูงสุดที่มีการได้อย่างใจ มีผู้คอยสนองความต้องการให้ได้อย่างอกอย่างใจไปเสียทั้งหมดนั้น เขาเรียกว่ามารโลก ระบุชื่อตามที่มีอยู่ในพระคัมภีร์ว่า ได้แก่สวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เป็นที่อยู่ของพระยามารที่ลงมาด้วยช้างคีรีเมขล์มาผจญพระพุทธเจ้าที่ต้นโพธิ์ นี้เมื่อกล่าวโดยบุคลาธิษฐานย่อมจะเป็นอย่างนี้ คือกามารมณ์ชั้นสูงสุดยอด เรียกว่าชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ทำไมเรียกว่ามาร ก็เพราะว่ามันเป็นกามารมณ์สุดยอดที่ดึงจิตใจของคนไว้ในอำนาจของกามารมณ์นั้น กามารมณ์ธรรมดาเรียกว่าเทวดา หรือเทวโลก เพราะว่าเป็นอย่างธรรมดา ไม่ถึงกับเป็นมาร คือฆ่าเสียให้ตาย ถ้าเป็นชั้นสุดยอดแล้วมันดึงคนให้ติดอยู่ที่นั่นจนตาย จนเน่าเข้าโลงไป ก็ไม่ลืมหูลืมตาจากกิเลสนิทรา นี้คือมารโลก
สำหรับพรหมโลกก็คือผู้ที่อยู่ด้วยความสงบจากกามารมณ์ ไม่มีกามารมณ์รบกวน แต่แล้วก็หลงติดอยู่ในตัวกูของกู เพราะสบายมากนั่นเอง จึงรักตัวกูของกูมาก ฉะนั้นจึงกลัวตายมาก พวกพรหมทั้งหลายย่อมกลัวตายยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์ นี้ก็เรียกว่าเป็นโรค มีความกลัวตายเป็นต้นนั้นเสียดแทงอยู่ เพราะอำนาจของกิเลสนิทรานั้น พระพุทธเจ้าท่านก็สามารถรักษาโรคของสัตว์ประเภทนี้ได้ คือตั้งแต่ มนุษย์ เทวดา มาร พรหม
ถ้าจะมองดูไปทางล่างคือ สัตว์ อบายทั้งหลาย มีนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นี้ก็ได้แก่คนธรรมดา ที่มันยังธรรมดามากเกินไป มีความร้อนใจก็เป็นสัตว์นรก มีความโง่ก็เป็นสัตว์เดรัจฉาน มีความหิวเหลือประมาณก็เรียกว่าเป็นเปรต มีความขลาดตลอดเวลาก็เรียกว่าเป็นอสุรกาย นี่คนป่วยชนิดนี้ยิ่งต้องการหมอ คนไม่ป่วยจะต้องการหมอไปทำไม คนป่วยมากก็ยิ่งต้องการหมอมาก เพราะฉะนั้นสัตว์นรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกายนั่นแหละยิ่งต้องการหมอมาก และพระพุทธเจ้าท่านก็รักษาได้ รักษาให้หายความร้อนใจ ไม่ต้องเป็นสัตว์นรก รักษาหายความโง่อย่างไม่มีเหตุผล คือไม่ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน รักษาให้รู้จักต้องการโดยไม่ต้องมีความยึดมั่นถือมั่น คือไม่มีตัณหา นี่คือรักษาให้พ้นจากความเป็นเปรต ซึ่งเป็นกันอยู่โดยมาก ยิ่งสมัยนี้ในโลกนี้ยิ่งมีมาก รักษาให้หายกลัวโดยไม่มีเหตุผล กลัวโดยไม่จำเป็น นี้ก็เรียกว่ารักษาให้หายจากการเป็นอสุรกาย ดูแล้วก็ว่าไม่มีโรคไหนที่พระพุทธเจ้าท่านจะไม่อาจจะรักษาได้ ดังนั้นจึงตรงกับข้อความนี้ ที่พระอรหันต์องค์หนึ่งสรรเสริญพระพุทธเจ้าว่า สัตถาเม สัพพะโลกะติกิจฉะโก พระศาสดาของข้าพเจ้าเป็นนายแพทย์ผู้เยียวยาโรคของสัตว์โลกทั้งปวงดังนี้ เราเป็นคนไข้ ได้รับการรักษาเยียวยาของพระพุทธเจ้าแล้วไม่มากก็น้อย แม้จะยังไม่หายสนิทจากโรคกิเลสนิทรา ก็ให้ยอมรับเสียเถิดว่า เราเป็นหนี้พระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ในวันนี้เราจะทำพิธีวิสาขบูชา สนองพระคุณนั้นให้สุดความสามารถของเรา ไม่เห็นแก่ความยากลำบาก ไม่เห็นแก่ความหลับนอน แม้จะอยู่สว่างก็ทำได้ ถ้าเรามีนิสัยแห่งผู้กตัญญูกตเวทีโดยแท้จริง
ทีนี้ข้อที่จะให้ดูต่อไปก็คือบทว่า ภควา คำว่า ภควา นี้แปลว่า ผู้แจกหรือผู้จำแนก ในชั้นแรกพระองค์ก็ทรงแจกธรรม แจกธรรมะที่ได้ตรัสรู้แล้วแก่สัตว์ทั้งหลาย ให้สัตว์ทั้งหลายได้รับธรรมะนั้น นี่ก็เป็นการแจกอย่างหนึ่ง เหมือนกับแจกของ แต่ว่าการแจกที่แท้จริงนั้นไม่ใช่อย่างนั้น คือว่าธรรมะที่พระองค์แจกไปนั้น พระองค์ได้ทรงแจกอีกทีหนึ่งว่ามันเป็นอะไรบ้าง เช่นแจกออกไปเป็นศีล สมาธิ ปัญญา หรือว่าแจกเป็นอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ แจกเป็นมรรคผลนิพพาน แจกออกไป แจกออกไป เรื่อยๆไปนี้ก็คือการแจก
การแจกจริงมีอยู่เป็น ๒ ความหมาย ให้มนุษย์ทั้งหลายได้รับธรรมะนี้ก็เรียกว่าแจก มนุษย์ได้รับธรรมะนั้นแล้วก็เข้าใจ แจกออกเป็นรายละเอียด เช่นเป็นสามัญลักษณะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือว่าเป็นอิทัปปัจจยตา คือปฏิจจสมุปบาท หรือว่าเป็นจตุราริยสัจ คือทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น ข้อนี้เราเป็นบุญ อ่า, เป็นหนี้พระคุณของพระองค์ตรงที่ว่า ถ้าไม่ได้รับแจก เราก็อาจจะไม่รู้ธรรมะก็ได้ อย่าอวดดีไปว่าเราจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตามลำพังของเราเอง มันยังนานนัก หรือมันยังไม่มีหวังเลย เราควรจะยอมรับว่าเราได้รับแจก เราจึงเป็นคนมีโชคดี รับมาแล้วเรายังต้องรู้จักแจกตามที่พระองค์ทรงสอนอีกต่อหนึ่ง คือกระทำให้มีความเข้าใจแจ่มแจ้งในข้อธรรมนั้นๆแล้วปฏิบัติอยู่ที่เนื้อที่ตัว คือมีที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ให้ธรรมะนั้นหล่อเลี้ยงอยู่ที่กาย ที่วาจา และที่ใจ รู้ความดับทุกข์เต็มตามที่พระองค์ทรงแจกให้ นี่ข้อนี้ก็ถือว่าเราเป็นหนี้พระคุณ ควรจะกระทำพิธีวิสาขบูชา สนองพระคุณอย่างสุดความสามารถ จะอดข้าวสักมื้อหนึ่งตอนเย็นนี้ก็ไม่ได้ จะอยู่สว่างก็ไม่ได้ ทีเล่นไพ่ก็อยู่ได้ ทีไปเที่ยวสนุกสนานอย่างอื่นก็ทำได้ หรือว่าทีลูกมันจะตาย สามีภรรยาจะตาย มันก็อยู่พยาบาลกันสว่างคาที่ อย่างนี้ก็ทำได้ ทีจะนั่งเฝ้าดูพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ประสูติ นิพพาน โดยการกระทำในใจในวันนี้ ทำไม่ได้ แล้วก็คิดดูเถอะว่า มันเป็นลูกหนี้ที่ซื่อตรง หรือว่าเป็นลูกหนี้ที่มันบิดหนี้ ถ้าท่านเข้าใจความข้อนี้แล้ว ก็เชื่อว่าคงจะทำให้เกิดความกล้าหาญหรือความเสียสละพอที่จะทำพิธีวิสาขบูชาให้สว่างคาตาได้เป็นแน่แท้
ข้อที่จะให้ดูกันต่อไปก็คือข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้อย่างที่น่าสนใจที่สุดในอังคุตตรนิกายว่า “ถ้าไม่มีชาติ ชรา และมรณะแล้ว ตถาคตไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก” ช่วยฟังกันดูให้ดีๆว่า ถ้าไม่มีชาติ ชรา มรณะ คือความเกิด ความแก่ ความตายในโลกนี้แล้ว พระตถาคตไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก เดี๋ยวนี้เรามองเห็นอยู่หรือเปล่าว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย มันยังคงมีอยู่ในโลก พระตถาคตยังจะต้องมีอยู่ในโลก
ที่ว่าไม่มีความเกิด ความแก่ ความตายนั้นหมายความว่าอย่างไร คำว่า มี ในที่นี้หมายความว่า มันมีอย่างที่เป็นปัญหา คือมันเกิดมีปัญหาอันเนื่องด้วยความเกิด ความแก่ ความตายนี้เต็มไปหมดในชีวิตจิตใจของมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่าความเกิด ความแก่ ความตายนั้น มันสร้างปัญหาทุกอย่างขึ้นมาในจิตใจของมนุษย์ นี่เรียกว่ามันมีปัญหาที่เกี่ยวกับความเกิดแก่เจ็บตาย แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสแต่เพียงว่าถ้าไม่มีความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ตถาคตไม่ต้องเกิดขึ้นในโลก เราดูให้ดีว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา มันๆๆกัดเรา มันเคี้ยวกินเรา จึงต้องมีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้
แล้วประโยคถัดไปได้มีตรัสว่า ถ้าไม่มีความเกิด ความแก่ ความตายแล้ว ธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว ก็จะไม่เจริญไปในโลก หมายความว่าพระศาสนาของพระองค์จะไม่เจริญไปในโลก ถ้าหากว่าความเกิด ความแก่ ความตายมันไม่เป็นปัญหาขึ้นมา เดี๋ยวนี้คนหลายคนมากคนไม่เห็นว่าความเกิด ความแก่ ความตายเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่สนใจในธรรมวินัย คือศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น นี่ก็นับว่าถูกแล้วที่เขาไม่เห็นความสำคัญ ความจำเป็นอะไรที่จะมาสนใจกับธรรมวินัย คือพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เห็นจะต้องให้เขาไปคิดดูถึงข้อที่ว่าเขามีปัญหาเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นต้นหรือไม่ ถ้ายังไม่เห็นก็ยังไม่ต้องพูดกัน ถ้าเห็นแล้วจึงค่อยพูดกัน เขาจะได้เห็นความจำเป็นที่ต้องมีพระพุทธเจ้าขึ้นมาในโลก และเห็นความจำเป็นที่เราจะต้องมีพระพุทธศาสนาอยู่ในโลก แล้วช่วยกันเผยแผ่ให้มันกว้างขวางออกไป
คำว่า ชาติ ชรา มรณะ ในที่นี้เป็นชื่อของความทุกข์ แต่ไปแยกเรียกเป็นราย รายละเอียดว่า การเกิดขึ้น การเปลี่ยนไป และการดับลง ชาติคือความเกิดขึ้น ชราคือความเปลี่ยนไป มรณะคือความดับลง ถ้ายังมีความเกิดขึ้น เปลี่ยนไป และดับลง ก็เรียกว่ายังมีปัญหา เดี๋ยวนี้เราไม่ได้มองเห็น เรากำลังเป็นบ้าอยู่ด้วยความสบายอันแสนสบายของเราก็ได้ หรือเพราะแม้ว่าเรามีความทุกข์ยากลำบากอยู่ เราก็มองไม่เห็นด้วยความโง่ของเราก็ได้ นี้มันแล้วแต่ว่ากิเลสนิทราของคนนั้นมันมีอยู่อย่างไร
ว่าโดยที่แท้แล้วมีความเกิดขึ้น เปลี่ยนไป และดับลงในทุกๆอย่าง เรื่องกามารมณ์ก็เป็นอย่างนั้น เรื่องเกียรติยศชื่อเสียงก็เป็นอย่างนั้น อำนาจวาสนาก็เป็นอย่างนั้น แม้แต่เนื้อตัวร่างกายนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือจะต้องเกิดขึ้น และเปลี่ยนไป และก็ดับลง แม้ส่วนย่อยของร่างกายก็จะต้องเป็นอย่างนั้น แม้แต่การหายใจของเราครั้งหนึ่งมันก็มีการเกิดขึ้น เปลี่ยนไป แล้วก็ดับลง มันจึงไม่มีอะไรที่ไม่เกิดขึ้น เปลี่ยนไป และดับลง แต่แล้วทำไมจึงไม่ได้เห็นว่ามันเป็นปัญหา เพราะว่ากิเลสนิทรานั้นเอง ทำให้เขาไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าความสนุกสนานไปในวันหนึ่งๆ เกิดมาเท่านี้ก็พอแล้ว กินดื่มร่าเริงเต็มที่ก็พอแล้ว ไม่ถือว่าอะไรมีค่ามากไปกว่านี้ ถ้าอย่างนี้ก็คงจะไม่ต้องการพระพุทธเจ้าแน่นอน และคงจะไม่ทนทำวิสาขบูชาให้สว่างคาตาได้เป็นแน่นอน เพราะเขาไม่เห็นว่ามีบุญคุณอะไรกันกับพระศาสนา และจะไม่คิดประกาศพระศาสนาให้เผยแผ่กว้างขวางไปในโลกเป็นแน่นอน เพราะไม่เห็นว่ามันจำเป็นอะไร แต่พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันไว้อย่างนี้ ขอให้เอาไปคิดดู ผู้ใดมองเห็น ผู้นั้นจะรู้สึกว่าเราเป็นหนี้บุญคุณของพระองค์ แล้วจะทำวิสาขบูชาให้สุดความสามารถในวันนี้
ทีนี้ข้อต่อไปที่อยากให้คิดนึกกันเป็นพิเศษ คือข้อที่พระองค์ตรัสว่า อริยัง โข ปะนะ อะหัง พราหมะณะ โลกุตตะรัง ธัมมัง ปุริสัสสะ สัทธะนัง ปัญญาเปมีติ ดูก่อนพราหมณ์ เราบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์ส่วนตัวของคน ปุริสัสสะ สัทธะนังติ จะแปลอย่างไรมันก็ต้องแปลว่าทรัพย์ส่วนตัวของคน สัทธะนัง แปลว่าทรัพย์ของตนเอง ปุริสัสสะ ก็ของคน ทรงบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์ส่วนตัวของคนทุกคน ก็ใช้คำว่าคนธรรมดา
มีพราหมณ์เข้ามาถามพระพุทธเจ้าว่า พวกพราหมณ์เขาบัญญัติอาวุธศาสตรา ธนูและศร เป็นต้นว่าเป็นทรัพย์ของวรรณะกษัตริย์ บัญญัติหน้าที่ประกอบยัญพิธีว่าเป็นทรัพย์ของพวกพราหมณ์ตามคัมภีร์พระเวท แล้วก็บัญญัติกสิกรรม เกษตรกรรม เป็นต้น ว่าเป็นทรัพย์ของวรรณะไวศยะ คือคนธรรมดาสามัญ แล้วก็บัญญัติคานกับไม้ เอ่อ, ไม้เคียว เอ๊ย, เคียวกับไม้คานว่าเป็นทรัพย์ของวรรณะศูทร คือกรรมกร แล้วพระสมณะโคดมเล่า บัญญัติทรัพย์นี้อย่างไร พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบในประโยคดังที่กล่าวมานี้ว่า เราบัญญัติโลกุตตรธรรมอันประเสริฐว่าเป็นทรัพย์สำหรับ เอ่อ, ส่วนตัวของคนทุกคน ไม่ยกเว้นว่าเป็นวรรณะไหน นี่ขอให้คิดดูว่า พระองค์ทรงมุ่งหมายให้คนทุกคนบรรลุถึงธรรมที่เรียกว่าโลกุตตระ อยู่เหนือโลก คือความทุกข์ ทุกข์คือโลก โลกคือทุกข์ อยู่เหนือโลกก็คือเหนือทุกข์ ให้ทุกคนรู้ รู้ธรรมะชนิดที่จะเอาชนะความทุกข์ หรืออยู่เหนือโลกได้ พระองค์จึงทรงสอนไม่เหมือนใคร คือสอนเรื่องความไม่ยึดมั่นถือมั่น จนดับความทุกข์ได้
เกี่ยวกับอุปาทานทั้ง ๔ นี้ มีพระพุทธบา พระพุทธภาษิตตรัสไว้ในสูตรบางสูตรว่า สมณะ สมณพราหมณ์เหล่าอื่นรู้จักและสอนให้ละแต่เพียงกามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทาน แต่ไม่ทราบและไม่สอนให้ละอัตตวาทุปาทานดังนี้ นี้ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า การสอนให้ละอัตตวาทุปาทานนั้นมีแต่ในพระพุทธศาสนา และนั่นแหละคือโลกุตตรธรรมอันประเสริฐ ที่สามารถทำให้อยู่เหนือทุกข์เหนือโลกโดยประการทั้งปวงได้
ถ้าเราพึงทราบในข้อนี้ เราจะรู้สึกว่าเป็นพระคุณอันใหญ่หลวง ในข้อที่พระองค์ได้ทรงประทานสิ่งสูงสุดให้แก่มนุษย์ และยังประทานเสมอหน้ากัน โดยที่ไม่ต้องแยกชั้นแยกวรรณะเหมือนพวกพราหมณ์ อย่างนี้เป็นต้น นี้มันเป็นแสงสว่างอันสูงสุดทางปัญญา เป็นประโยชน์หรือเป็นโชคดีสูงสุดในทางสติปัญญา ไม่ใช่ ไม่ใช่ทางธรรมดา ก็ต้องถือว่าพระองค์ให้สิ่งสูงสุดแก่เรา ควรจะสำนึกในพระกรุณาธิคุณข้อนี้แล้ว พยายามให้ได้รับทรัพย์อันนี้ด้วยกันทุกคนเถิด คือโลกุตตรธรรมอันประเสริฐที่ทำให้อยู่เหนือความทุกข์นั่นเอง ในวันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันของแสงสว่าง คือการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า ก็ต้องนึกถึงข้อนี้กันให้มาก จะได้สำนึกในพระคุณของพระองค์
ข้อสุดท้ายที่จะขอให้ท่านทั้งหลายนึกก็คือข้อที่ว่า คำสอนของพระองค์นั้น มีทั้งสำหรับบุคคลที่จนยาก ยังไม่พอเลี้ยงท้องเลี้ยงปาก และมีทั้งสำหรับบุคคลที่สะดวกสบายดีแล้ว ข้อนี้หมายความว่า พระองค์มีคำสั่งสอนไว้ครบถ้วนทั้งสำหรับผู้ที่ยังจะต้องยึดมั่นถือมั่น มีตัวกูของกู เพราะละยังไม่ได้ และมีทั้งสำหรับผู้ที่อยากจะสลัดตัวกูของกูออกไป จึงมีเกิด จึงเกิดมีคำสอนขึ้นเป็น ๒ ประเภท คือคำสอนประเภทศีลธรรมประการหนึ่ง คำสอนประเภทปรมัตถธรรมประการหนึ่ง
ยกตัวอย่างคำสอนเรื่องกรรม ถ้าสอนศีลธรรมก็ตรัสว่า กัมมัสสะโกมหิ กัมมะทายาโท กัมมะโยนิ
กัมมะพันธุ เป็นต้น ซึ่งแปลว่า เรามีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นมรดก มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จะได้รับผลแห่งกรรมนั้น ดังนี้เป็นต้น นี้สำหรับผู้ที่ยังรักตัวกู ยังมีตัวกูของกู ยังไม่อาจจะสลัดตัวกู ก็ต้องถือหลักในเรื่องกรรมอย่างนี้ ครั้นบุคคลผู้ อ่า, ครั้นถึงบุคคลที่เบื่อเรื่องตัวกูของกู ต้องการจะสลัดตัวกูของกู ก็สอนไปในทำนองที่ว่า ให้ปฏิบัติ ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพื่อมีจิตอยู่เหนือกรรมดีกรรมชั่วโดยประการทั้งปวง ซึ่งมีหลักว่า
นัตถิ กัมมัสสะการะโก บุคคลผู้กระทำกรรมหามีไม่
วิปากัสสะ จะ เวทะโก บุคคลผู้รับผลแห่งกรรมนั้นก็หามีไม่
สุทธะธัมมา ปะวัตตันติ ธรรมชาติล้วนล้วนเท่านั้นเป็นไป
เอเตวะ สัมมะทัสสะนัง นั่นแหละคือทัศนะที่ถูกต้อง
หมายความว่าผู้ที่จะสลัดตัวกูของกูออกไปได้นั้น ต้องมีธรรมทัศนะที่ถูกต้อง เห็นว่ามันเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติทั้งหลายเท่านั้นเป็นไป คำสั่งสอนของพระองค์มีทั้งส่วนศีลธรรมหรือส่วนปรมัตถธรรมดังนี้ แม้บุคคลผู้ยังประกอบกรรมอย่างคนธรรมดาสามัญทำบุญให้ทานด้วยหวังอยู่ว่าจะได้รับผลแห่งกรรมดี เช่น อนาถปิณฑิกเศรษฐี เป็นต้น พระองค์ก็ยังทรงเตือนเป็นบางครั้งบางคราวว่า ต้องไม่มัวแต่ที่จะทำบุญทำทานเลี้ยงพระ บำรุงศาสนาอย่างเดียว จงขวนขวายพยายามเพื่อเป็นอยู่โดยปวิเวกธรรมบ้าง คือความสงัดจากกิเลส ความสงัดจากการรบกวนใดๆด้วย ส่วนนี้เป็นส่วนปรมัตถธรรม ให้เป็นสิ่งที่มีคู่ ควบคู่กันไป เราจะมีแต่ศีลธรรม มันอาจจะต้องร้องไห้มากเกินไปก็ได้ เพราะไม่ได้ดีอย่างที่เราต้องการ ขอให้เรามีปรมัตถธรรม เราก็ไม่ต้องร้องไห้ มองเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยดังนี้
นี่แหละอย่าได้ไปโทษพระพุทธเจ้าเลยว่า ท่านสอนข้างเดียวอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าบางคนเขาปฏิบัติไม่ได้ ถ้ามันมีปัญหาขึ้นมาอย่างนั้น ก็เพราะว่าเขามันมีกิเลสนิทรามากเกินไป หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ระวังให้ดีๆในข้อนี้ อย่าได้มีกิเลสนิทราอย่างเต็มที่ เหมือนที่เรียกว่าปุถุชนคนหนามากเกินไป จงเป็นปุถุชนคนที่บางบ้างแล้วเถิด เรียกว่ากัลยาณปุถุชน คือปุถุชนที่มีส่วนงดงามที่น่าดูอยู่บ้าง
นี่รวมความทั้งหมดนี้ก็เพื่อแสดงว่า เรามีหนี้บุญคุณอยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยที่พระองค์ไม่ได้ทรงทวงหนี้ แต่ในฐานะที่ว่าเรายังเป็นปุถุชน เรายังมีตัวมีตน เราก็ต้องยอมรับหนี้ และยอมรับหน้าที่ที่จะใช้หนี้ วันวิสาขบูชาเช่นวันนี้ ก็เป็นโอกาสอันหนึ่งที่จะใช้หนี้ให้ดีที่สุดที่จะทำได้ เพราะว่าวันทั้งหลายเราก็ไม่เคยทำให้ดีอย่างนี้ และตลอดปีหนึ่งเราจะไม่ทำให้ดีเสียสักวันหนึ่ง มันก็เรียกว่าเป็นลูกหนี้ที่ยังเลวเกินไป คือผิดหนี้ และธรรมดาสามัญนั้นเรายังมีเรื่องอื่น แต่ในวันนี้เราเสียสละได้ เป็นวันพิเศษ เป็นวันพระพุทธเจ้า ปีหนึ่งเพียงวันเดียว เรายังเป็นคนอะไรในเรื่องนี้ คิดดูกันเองเถิด จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ ก็คิดดูเองเถิด จะเป็นคนรู้พระคุณของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ก็คิดดูเองเถิด มากน้อยเท่าไร ถ้าอย่างไรเราหวังว่าจะตอบแทนพระคุณอันนี้แล้ว ก็จงกระทำให้ดีเป็นพิเศษในวันนี้เถิด
ตามปกติ ในวันหนึ่ง คืนหนึ่ง เรานึกถึงพระพุทธเจ้ากี่นาที สำหรับวันนี้เราจะระลึกนึกถึงให้มันหลายนาที ให้มันตลอดหลายชั่วโมง หรือตลอดทั้งวันทั้งคืน จะได้หรือไม่ อดนอนคืนเดียวก็ไม่ได้ ถ้าสมมุติว่าคืนนี้เป็นคืนที่พระพุทธเจ้าท่านประสูติ หรือตรัสรู้ หรือปรินิพพานก็ตาม เราจะชวนกันไปนั่งแอบเฝ้าดูอยู่ที่มุมหนึ่งโดยไม่รู้สึกง่วงนอนตลอดทั้งคืนจะได้หรือไม่ อาตมาคิดว่าคงจะได้ หลายคนคงจะคิดว่าได้แน่ๆ เพราะลูกไม่สบายก็ยังอยู่ตลอดคืน ไม่ต้องนอนได้ แต่นี่พระพุทธเจ้าท่านจะนิพพาน เราก็คงจะนั่งเฝ้าดูได้
แต่ทีนี้เราไม่เห็นว่าคืนอย่างวันนี้ มีพระพุทธเจ้าปรินิพพานอยู่ที่ไหน ประสูติที่ไหน ตรัสรู้ที่ไหน นี้มันเป็นกิเลสนิทราของเราเอง จึงจะ จึงไม่รู้ว่าคืนนี้วันนี้พระพุทธเจ้าประสูติที่ไหน ตรัสรู้ที่ไหน นิพพานที่ไหน การประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ๓ ประการนี้ ถ้ามีปัญญาแล้วจะมองเห็นว่าเป็นความหมายเดียวกัน คือความที่กิเลสดับไป ความไม่มีกิเลสเกิดขึ้น ความทุกข์ดับไป ไม่มีความทุกข์เหลือ การตรัสรู้หรือปรินิพพานก็คือ การที่ทำลายกิเลสหรือความทุกข์ให้หมดไป ดังนั้นเป็นอันกล่าวได้ว่า ถ้ามีการกระทำให้กิเลสหมดไป ความทุกข์ดับไป ความไม่มีทุกข์เกิดขึ้น มันก็มีการตรัสรู้ และประสูติ หรือนิพพานที่นั่นและเมื่อนั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็มีในหัวใจของเรานั่นเอง
ถ้าอย่างไรในคืนนี้ลองกระทำให้มีจิตใจเป็นพิเศษ ว่าอย่าให้เกิดความทุกข์ขึ้นในใจได้ อย่าให้เกิดกิเลสขึ้นในใจได้ ก็จะมีลักษณะแห่งประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน อย่างเดียวกับของพระพุทธเจ้านั้น ปรากฏอยู่ในจิตใจของเรา คล้ายๆกับว่าเราไปขอแบ่งเอามาจากพระพุทธเจ้า นั้นเป็นธรรมะที่แท้จริง ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม ก็ไปแบ่งเอาธรรมะนี้มาจากพระพุทธเจ้า เราก็จะทำให้วันนี้เป็นวันที่มีการประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพานอยู่ในหัวใจของเรา เราก็ไม่ง่วงนอน เราก็ทำวิสาขบูชาได้สว่างคาตาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น หรือว่าเราจะใช้อะไรช่วยเป็นพิเศษบ้างมากไปกว่านี้ก็ควรจะทำได้ ถ้าว่ามันมีความรู้สึกกตเวทีต่อพระพุทธเจ้า หรือว่ากตเวทีต่อพระธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ หรือว่ากตเวทีต่อพระสงฆ์ที่สืบพระธรรมนั้นมาจนถึงเราในวันนี้ เป็นต้นอย่างนี้ เรามีความรู้สึกอย่างนี้อยู่ในจิตใจ คือมีความหมายแห่งการประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้าอยู่ในจิตใจ แล้วก็เดินเวียนประทักษิณอย่างนี้ มันน่าจะชื่นใจสักเท่าไร มันควรจะเคารพตัวเองได้มากสักเท่าไร เป็นการทำวิสาขบูชาที่มีความหมายอันแท้จริงมากน้อยเพียงไร
อาตมาได้กล่าวกับท่านทั้งหลายในลักษณะอย่างนี้ทุกปี และทุกทีที่มีการกระทำวิสาขบูชา เป็นต้น เพื่อว่าให้การทำวิสาขบูชาของเรามีความหมายนั่นเอง จึงได้แสดงธรรมเทศนาที่เป็นกัณฑ์ต้นนี้ ในลักษณะที่เป็นการชี้ชวนให้เกิดความรู้สึกเหมาะสมที่สุดในการที่จะทำพิธีวิสาขบูชาดังที่กล่าวแล้ว นี้เป็นการแสดงออกซึ่งกตเวทิตาโดยเฉพาะหน้าในวันนี้ ส่วนที่เราจะต้องสนองพระคุณของพระองค์ต่อๆไปในโอกาสข้างหน้านั้นยังมีอีกมาก คือกล่าวสรุปได้ว่า พระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้เราทำอย่างไร เราทำอย่างนั้นเถิด จะเป็นการกตัญญูกตเวที หรือสนองพระคุณของพระองค์อย่างแน่นอน
พระองค์ทรงประสงค์อย่างไร ขอให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า เมื่อเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่าย ก็จงทำประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายนั้นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด พระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้ ตรัสแล้วตรัสเล่า จนถึงวินาทีสุดท้ายที่จะเสด็จปรินิพพาน ก็ยังตรัสอย่างนี้ว่า ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด เราต้องสนองพระคุณในข้อนี้ ทำประโยชน์ของทั้ง ๒ ฝ่าย คือทั้งฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่นให้ถึงพร้อม ประโยชน์ฝ่ายตนก็คือปฏิบัติให้สูงยิ่งขึ้นไป ประโยชน์ฝ่ายผู้อื่นก็คือมีความสามัคคี ดำรงพระศาสนาไว้เป็นอย่างดี แล้วก็เผยแผ่กันต่อไป นี้เรียกว่าเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นประโยชน์ ๒ ประโยชน์ซึ่งจะได้วิสัชนาในธรรมเทศนาในกัณฑ์ค่ำในกัณฑ์ดึก ดังที่เคยกระทำมาแล้วนั้น
สำหรับโอกาสนี้ก็เป็นการสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายกระทำในใจถึงพระคุณของพระองค์ที่มีอยู่แก่สัตว์ทั้งหลายรวมเราอยู่ด้วยนี้ มีความสำนึกในพระคุณ ข้อที่พระองค์ทรงปลุกให้ตื่นจากกิเลสนิทรา ทรงสอนให้เอาตัวรอดได้ ทั้งคนสบายแล้ว และคนยังยากจนอยู่ รักษาโรคของเราทั้งทายกาย ทางจิต ทางวิญญาณ แจกธรรมให้เราเอามาแจกให้ละเอียดออกไปจนดับทุกข์ได้ พระองค์เกิดขึ้นเพราะเห็นว่าในโลกนี้มันมีปัญหา คือชรา ชาติ ชรา และมรณะ จึงทรงมอบให้ซึ่งโลกุตตรธรรมเป็นทรัพย์สำหรับคนทุกคน ตามที่บุคคลจะถือเอาได้อย่างไร ในลักษณะของคนที่ยังต่ำอยู่ หรือบุคคลผู้สูงแล้วโดยจิตใจ จำแนกออกไปเป็นศีลธรรมและปรมัตถธรรม ดังแสดงมา วาดหวังว่าท่านทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนี้แล้ว มีน้ำใจเต็มเปี่ยมไปด้วยกตัญญูกตเวทิตา พร้อมที่จะประกอบพิธีวิสาขบูชาด้วยสุดชีวิตจิตใจ ในโอกาสต่อนี้ไปด้วยกันจงทุกคนเทอญ ธรรมเทศนาสมควรด้วยเวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้.