แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัจฉนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนา ของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาในวันนี้ โดยเฉพาะในที่นี่เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุเป็นวันมาฆบูชา ได้ชักชวนกันมาถึงที่นี่ เพื่อจะประกอบพิธีมาฆบูชา ธรรมเทศนานี้จึงเป็นเพียงธรรมเทศนา ซึ่งเป็นการแนะนำสำหรับการตระเตรียมเพื่อทำมาฆบูชา ให้สำเร็จประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
การที่จะทำให้มาฆบูชาให้สำเร็จประโยชน์นั้น ต้องมีการตระเตรียมและเป็นการตระเตรียมในภายในใจเป็นพิเศษกว่าอย่างอื่น ท่านทั้งหลายคงจะเคยทราบมาแล้วว่าสิ่งต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับจิตใจเป็นส่วนใหญ่ กายก็ขึ้นอยู่กับใจ วาจาก็ขึ้นอยู่กับใจ แม้แต่ความคิดนึกรู้สึกมันก็ขึ้นอยู่กับจิตใจ ถ้าได้กระทำในส่วนจิตใจให้ดีแล้ว สิ่งทั้งปวงก็จะดีถึงที่สุด เดี๋ยวนี้เราจะทำมาฆบูชาให้สำเร็จประโยชน์ทั้งส่วนกาย วาจา และส่วนจิตใจ ที่เป็นส่วนร่างกาย ก็หมายความว่า เรายอมลำบากขึ้นมา ทำการบูชาในที่นี้ ยังจะต้องมีการเวียนประทักษิณในสถานที่นี้ซึ่งสมมติเอาบริเวณนี้เป็นเจดียวัตถุ เราจะต้องกระทำด้วยวาจา คือการกล่าวคำบูชา เราจะต้องทำด้วยจิตใจเป็นส่วนใหญ่ คือกระทำในใจให้ถูกต้องตลอดเวลา นับตั้งแต่ว่าจะต้องเริ่มระลึกนึกถึงวันสำคัญ ซึ่งคล้ายกันกับวันนี้ ซึ่งได้มีมาแล้วในครั้งพุทธกาลโน้น ว่าเป็นวันที่มีความหมายอย่างไร วันเช่นนั้นได้เวียนมาถึงเข้าครั้งหนึ่งๆ ทุกๆ ปี จนกระทั่งถึงวันนี้ คือวันที่พระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์ จะต้องทำในใจถึงอะไรเป็นส่วนใหญ่ ข้อนี้จะต้องทำความแน่ใจว่า วันเช่นวันนี้ และวันที่เนื่องกันกับวันนี้นั้น วันไหนเป็นวันอะไร เมื่อได้พิจารณาดูให้รอบคอบแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า วันวิสาขบูชา คือ เพ็ญเดือน ๖ นั้น เป็นวันพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันที่ระลึกเนื่องกับพระพุทธเจ้า คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และนิพพาน วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่อุทิศเพื่อพระพุทธเจ้า ต่อมา ๒ เดือนถึงวันอาสฬหบูชา เพ็ญเดือน ๘ นี้ เป็นวันสำหรับพระธรรม คือพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้นั้นเป็นครั้งแรก เป็นการประกาศพระธรรมออกมา จึงถือว่าเป็นวันที่ระลึกแก่พระธรรม ต่อมาอีก ถึงเพ็ญเดือนมาฆะ เช่นเดือน ๓ ในวันนี้ นี่เป็นวันพระสงฆ์คือ พระอรหันต์ ๑,๒๐๐ รูป ประชุมกัน เป็นการแสดงถึงความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของพระสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธองค์เป็นประมุข พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ต่อพระสงฆ์นั้น เป็นการประดิษฐานคณะสงฆ์ อย่างเรียกว่าเป็นปึกแผ่นถึงขีดสุด สรุปความว่า วันวิสาขะเป็นวันที่ระลึกแก่พระพุทธเจ้า วันอาสาฬหะเป็นวันที่ระลึกแก่พระธรรม วันมาฆบูชาเป็นวันที่ระลึกแก่พระสงฆ์ แต่บางคนอาจจะคิดเป็นอย่างอื่นก็ได้ ก็ไม่เป็นไร ใครจะคิดอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้ทำในใจให้ถูกต้อง
ข้อที่อาตมาเห็นว่า อาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรมนั้น ก็เพราะว่า วันนั้นเป็นวันที่ทรงแสดงปฐมเทศนา ไม่ใช่เป็นการได้ซึ่งปฐมสาวก แต่เป็นการประกาศซึ่งปฐมเทศนา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการประกาศอนุตรธรรมจักร คือเป็นการประกาศธรรมาณาจักรของพระองค์ ลงไปในโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หรือทุกๆ โลก ธรรมาณาจักรนี้ คืออาณาจักรแห่งพระธรรม ซึ่งพระองค์ได้ประกาศแล้วในวันเพ็ญอาสาฬหะนั้น จึงถือเอาวันนั้นเป็นวันพระธรรม ดังนั้นวันนี้ก็เหลืออยู่สำหรับเป็นวันพระสงฆ์ คือวันเป็นที่ระลึกแก่พระสงฆ์ ซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ผู้ประชุมกันในโอกาสเช่นวันนี้ ในสมัยเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วนั้น เมื่อได้ความว่า วันนี้เป็นวันพระสงฆ์ และมีพระอรหันต์นั่นเป็นหัวใจ เป็นศูนย์กลาง เป็นใจกลาง เป็นแกนกลางของคำว่าพระสงฆ์ เราจึงต้องระลึกนึกถึงพระอรหันต์กันเป็นส่วนใหญ่ในวันนี้ เหมือนอย่างธรรมเทศนาในตอนเที่ยงวัน ก็ได้ปรารภเรื่องของพระอรหันต์ เพื่อจะทำในใจให้มากเป็นพิเศษ เพื่อจะมากระทำมาฆบูชาในที่นี่เอง ทีนี้ยังจะต้องเตรียมจิตใจให้ยิ่งขึ้นไป ว่าเมื่อวันเช่นวันนี้ มีเพียงวันเดียวในปีหนึ่ง ๆ เราจะต้องทำเป็นพิเศษ คือให้สุดความสามารถเท่าที่จะกระทำได้ โดยส่วนใหญ่ก็มุ่งหมายถึงการเสียสละ เพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว เสียสละอะไรก็ตาม จะต้องเป็นไปเพื่อการทำลายความเห็นแก่ตัวเสมอ ถ้าเราจะเสียสละเรี่ยวแรง เวลา วัตถุสิ่งของหรืออะไรก็ตามที ก็ต้องเป็นการทำลายความเห็นแก่ตัวทั้งนั้น วันนี้ก็จะเป็นวันที่ทำการเสียสละ เพื่อเป็นการบูชาแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อเราจะระลึกกันให้มาก ก็จะต้องระลึกถึงราย รายละเอียดต่าง ๆ อย่างว่า เราจะต้องเสียสละข้อแรก มาทำมาฆบูชาแบบป่าๆ อย่างวัดป่า พระเถื่อน ในสถานที่นี้ ก็มุ่งหมายการเสียสละเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าการที่จะมาถึงในป่าอย่างนี้ มันก็ลำบาก และการกระทำการบูชานี้ ก็จะกระทำให้เป็นการบูชากันจริงๆ
ข้อแรกจะระลึกนึกถึงว่า พระพุทธเจ้าของเรา พุทธบริษัททั้งหลายนี้ ท่านประสูติที่กลางดินในสวนลุมพินี ที่ทุกคนก็เคยอ่านเคยทราบมาแล้ว ว่าท่านประสูติกลางดิน แล้วเมื่อท่านตรัสรู้ที่โคนต้นไม้โพธิ ท่านก็นั่งกลางดิน ในที่สุดเมื่อท่านจะปรินิพพานที่ใต้ต้นสาละของอุทยานมัลลกษัตริย์ ท่านก็นิพพานกลางดิน ขอให้คิดดูอย่างนี้ว่า ท่านเกิดกลางดิน ท่านตรัสรู้กลางดิน ท่านตายกลางดิน นี่พูดภาษาธรรมดาสามัญ แต่เราก็ไม่ค่อยจะชอบกลางดิน แต่เมื่อเราดูถึงพระพุทธเจ้า ท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน และเวลาส่วนมากท่านก็ประทับกลางดิน เทศนาสั่งสอนสาวกทั้งหลายส่วนมากก็กลางดิน และกุฏิของท่านก็พื้นดิน แล้วท่านจะไม่คุ้นเคยกับแผ่นดินอย่างไร
เมื่อเราได้มานั่งทำพิธีมาฆบูชาเป็นต้นที่กลางดินเช่นนี้ เราก็ควรจะถือเอาอานิสงส์อันนี้ให้ได้มากที่สุด คือให้การนั่งกลางดิน หรือทำพิธีบูชากลางพื้นดินนี้ เป็นการบูชามากกว่าธรรมดา คือต้องอดทน ยิ่งว่าเรานึกถึงว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านไม่เคยสวมรองเท้า คือไม่เคยสวมฉลองพระบาท ไม่เคยมีรองเท้าใช้ ท่านจะต้องประทับกลางดิน ยังจะต้องดำเนินไปกลางดินด้วยฝ่าพระบาทเปล่านี่จะเป็นอย่างไรบ้าง เราก็ยังสวมรองเท้ากันอยู่ เดี๋ยวนี้มาถึงเวลาที่จะทำการบูชาอย่างสุดชีวิตจิตใจ ทางกายคือการเดินประทักษิณ ถ้าหากว่าเราถอดรองเท้า ก็จะเป็นการเสียสละมากกว่าที่จะไม่ถอด ดังนั้นการเวียนประทักษิณด้วยการถอดรองเท้า จะต้องได้บุญได้อานิสงส์มากกว่าไม่ถอด เพราะว่าแผ่นดินนี้มันขุขระ มันมีกรวด มันมีไม้ มันมีรากไม้ มันทำให้เจ็บปวดที่ฝ่าเท้าบ้าง แต่ถ้ามานึกถึงว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สวมรองเท้า ท่านเกิดกลางดิน ตายกลางดิน นิพพานกลางดิน ทำไมเราจะเสียสละสักขณะหนึ่งไม่ได้ ในการที่จะนั่งกลางดิน หรือว่าจะเดินเวียนประทักษิณโดยไม่ต้องสวมรองเท้า ฉะนั้นถ้าผู้ใดสมัครใจที่จะถอดรองเท้า ทำประทักษิณเพื่อให้ได้ประโยชน์อานิสงส์ขึ้นไปแล้ว ยิ่งขึ้นไปแล้ว ก็ต้องเตรียมจิตใจยินดีที่จะรับความลำบาก ซึ่งเราจะใช้เป็นเครื่องบูชาพระพุทธองค์นั้น อย่างนี้เป็นต้น นี่แหละคือ ตัวอย่างของสิ่งที่ว่า การมาทำมาฆบูชาที่นี่ คงจะมีอานิสงส์อะไรบางอย่างมากออกไป กว่าจะที่กระทำกันตามธรรมดา ที่กระทำอยู่ในวัดวาอาราม ที่เดินได้สะดวกสบายไม่มีปวด ไม่มีเจ็บ หรือว่าไม่ต้องทำกลางดินด้วยซ้ำไป หรือจะคิดเสียว่า มันมีหลายวิธี ทำอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ เราทำเสียให้มันครบทุกวิธี แต่สำหรับสถานที่นี้ ถือเอาวิธีตามธรรมชาติ ให้เป็นไปอย่างธรรมชาติมากที่สุดเท่าไร ก็จะทำอย่างนั้น ขอให้เตรียมในส่วนร่างกายไว้อย่างนี้ ในส่วนวาจานั้น ก็จะได้กล่าวคำบูชาซึ่งจะเป็นภาษาไทย ซึ่งจะมีเป็นภาษาไทย เพื่อให้รู้ความหมาย เหลืออยู่แต่ว่าท่านทั้งหลายจงสนใจในความหมายเหล่านั้น ให้เข้าใจทุกคำทุกประโยค ให้จิตใจมีความรู้สึกอย่างนั้น แล้วก็เดินเวียนประทักษิณ ถ้าจะว่าด้วยวาจา ก็ว่าด้วยความรู้สึกในความหมายของคำที่ว่าเป็นการเตรียมให้ดี ในส่วนกาย ส่วนวาจา และส่วนจิตใจ ที่เนื่องกันอยู่กับกายและวาจา ทีนี้มันก็ยังเหลืออยู่แต่ส่วนจิตใจ ที่ลึกขึ้นไปถึงที่เรียกว่า ส่วนจิตส่วนวิญญาณ คือความรู้ความเข้าใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้ยิ่งขึ้นไป อาตมาเห็นว่า ไม่มีข้อความใดจะดียิ่งไปกว่าข้อความที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง ในที่ประชุมของพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปในเวลาบ่ายวันนี้ เพราะว่าบทโอวาทปาติโมกข์นั้น เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และไม่กำหนดจำกัดว่า ของพระพุทธเจ้าองค์ไหน หมายความว่า จะเป็นของพระพุทธเจ้าองค์ไหน ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ไหน ก็มีหลักเป็นโอวาทปาติโมกข์เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับโอวาทปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ในศาสนานี้ ในวันที่สมมติกันว่า เป็นวันมาฆปุณณมี คือ เพ็ญเดือนมาฆะ สำหรับโอวาทปาติโมกข์นั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ หัวข้อว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สะจิตตะ ปะริโยทะปะนัง ทำจิตของตนให้ขาวผ่อง เป็น ๓ ข้อด้วยกันดังนี้ ถ้าท่านทั้งหลายจะฟังและสังเกตให้ดี ก็ย่อมจะเข้าใจได้ด้วยตนเอง ว่า โอวาท ๓ ข้อนี้มุ่งหมายอย่างไร ข้อแรกว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำซึ่งความบาปซึ่งบาปทั้งปวง นี่มันเป็นบทบัญญัติสำหรับคนชั่วคนบาป สังเกตดูให้ดีว่าบทแรกนี้ บัญญัติเพื่อคนชั่วคนบาป ตามจริงได้บัญญัติว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่กระทำซึ่งบาปทั้งปวง ข้อที่สอง กุสะลัสสูปะสัมปะทา จง การกระทำกุศลให้ถึงพร้อม นี่เป็นบัญญัติสำหรับคนดี คนที่ประกอบการกุศลว่าทำการกุศล คือความดีให้ถึงพร้อม ส่วนบทที่สาม ว่าด้วย สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การกระทำจิตของตนให้ขาวผ่อง นี่มันเป็นบทบัญญัติของคนบริสุทธิ์ บทที่หนึ่งเป็นบทบัญญัติสำหรับคนชั่วคนบาป ให้เลิกเสีย บทที่สองเป็นบทบัญญัติสำหรับคนดี ให้ทำดียิ่งๆ ขึ้นไป บทที่สามเป็นบทบัญญัติสำหรับคนบริสุทธิ์ คือมีจิตใจไม่ ไม่ถูกผูกพันด้วยความชั่ว หรือความดี จึงจะเรียกว่า บริสุทธิ์ ก็เป็นคนดี เป็นสิ่งสูงสุด และเพียงพอแล้ว พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงบัญญัติบทที่สาม ที่ว่าทำจิตของตนให้ขาวผ่อง เพราะมันมีความหมายต่างกัน แต่ละอย่างละอย่าง ในแต่ละบทนั้นๆ อย่างเห็นได้ชัดว่าสำหรับคนชั่วคนบาป ก็ทรงบัญญัติว่า อย่าทำบาป สำหรับคนดีก็ทรงบัญญัติว่าทำดีให้เรื่อยไปจนกว่าจะเต็มเปี่ยม ส่วนคนที่สูงขึ้นไปก็ดี ก็คือคนบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่ในความชั่วหรือความดี จึงจะมีจิตใจบริสุทธิ์ จึงได้ทรงบัญญัติขึ้นอีกบทหนึ่งว่า การกระทำซึ่งจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ คือขาวผ่อง
ทีนี้ก็จะได้พิจารณากันบ้างถึงคำว่าคนบริสุทธิ์ ทำไมจึงว่าคนบริสุทธิ์ นี่ยิ่ง อันนี้สูงยิ่งไปกว่าคนดี คนดีใครๆ ก็รู้ว่าตามความหมายที่เขาเรียกกันว่าคนดีนั้น ก็คือคนที่ไม่เบียดเบียนใคร หรือว่าทำมาหากินโดยสุจริต อย่างที่โลกเขาบัญญัติกันว่าเป็นคนดี แต่คนดีชนิดไหนก็ตาม ยังมีกิเลสเหลืออยู่ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ อย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็เก็บซ่อนไว้ก็มี แม้ว่าจะดีถึงขนาดเป็นเทวดา ก็ยังมีกิเลสชนิดใดชนิดหนึ่ง ส่วนใดส่วนหนึ่งเหลืออยู่ เป็นคนดีอย่างพรหม มันก็ยังมีกิเลส ที่ยึดมั่นตัวตนเหลืออยู่มากทีเดียว ที่เห็นได้ง่ายๆ ก่อนนั้นก็คือว่า ไอ้คนที่ว่าดีนั่นแหละ ก็ยังต้องนั่งเช็ดหัวเข่าด้วยน้ำตา หรือน้ำตาเช็ดหัวเข่าอะไรทำนองนั้นอยู่บ่อยๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า จิตใจยังหม่นหมอง ถ้าจิตใจไม่หม่นหมอง ทำไมจะต้องร้องไห้ ทำไมจะต้องกลัว ทำไมจะต้องสะดุ้งหวาดเสียว ทำไมต้องวิตกกังวลจนนอนไม่หลับ แม้แต่จะวิตกกังวลว่า บุญนี้จะหมดสิ้นไปเสีย ก็ยังทำให้นอนไม่หลับได้เหมือนกัน อย่างนี้ไม่เรียกว่า จิตนั้นขาวผ่อง ยังเต็มอยู่ด้วยความวิตกกังวล ยังเต็มอยู่ด้วยความกลัว ท้ายที่สุดแต่ความหวังซึ่งหวังอะไรกันก็ไม่ทราบ เจ้าตัวก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังมีความหวังอย่างนั้น หวังอย่างนี้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนั้นอย่างนี้ อย่างนี้ก็เรียกว่า จิตนั้นยังไม่บริสุทธิ์ ยังไม่ขาวผ่อง ต้องทำให้หมดไปจากสิ่งเหล่านั้นอีกทีหนึ่ง จึงจะเรียกว่า คนที่มีจิตบริสุทธิ์ แล้วเรียกว่าเป็นคนบริสุทธิ์ เพียงเท่านี้ก็จะเห็นได้แล้วว่า คนดีนี่ตามความหมายของคนทั่วไปนั้น ยังเป็นเรื่อง ยังเป็นคนละอย่างกับคนที่เรียกว่าคนบริสุทธิ์ คือ มีจิตใจบริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสเหลืออยู่แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง
ทีนี้มาดูกันถึงคำว่า คนบริสุทธิ์ คนบริสุทธิ์นี่ บริสุทธิ์สิ้นเชิงก็มี บริสุทธิ์แต่บางส่วนหรือเอกเทศก็มี บริสุทธิ์โดยตรงก็มี บริสุทธิ์โดยอ้อมก็มี ถ้าจะพูดถึงบุคคลที่บริสุทธิ์สิ้นเชิงนี้ ก็จะมีแต่พระอรหันต์พวกเดียวเท่านั้น ถ้ายังไม่ถึงกับเป็นพระอรหันต์ก็ยังเรียกว่า ยังไม่บริสุทธิ์ยังไม่สิ้นเชิง เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี นี่เป็นแต่เรื่องบริสุทธิ์โดยแน่อน แต่ยังไม่บริสุทธิ์สิ้นเชิง ต่อเมื่อใดเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง เขาเรียกว่าบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง พระอรหันต์มีความบริสุทธิ์สิ้นเชิง แม้ว่าบางองค์จะมีปฏิสัมภิทา(นาทีที่ 25.38) สามารถเป็นพิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ มีฤทธิ์มีเดชมีปฏิหาริย์ก็มี บางองค์ก็ไม่มีเลย แต่ว่าสิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นควรถือเอาว่าความเป็นพระอรหันต์โดยตรง โดยเฉพาะนั้น เป็นความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง เป็นผู้มีจิตใจขาวผ่อง ส่วนที่บริสุทธิ์แต่โดยปริยาย หรือไม่สิ้นเชิงนั้นก็ลดลงมา จากความเป็นพระอรหันต์ เช่นเป็นพระอนาคามี บริสุทธิ์สิ้นเชิงจากกิเลสประเภทราคะและโทสะ แต่กิเลสประเภทโมหะนั้นหาได้หมดไปโดยสิ้นเชิงไม่ ถ้าลดลงมาถึงพระสกิทาคามีและพระโสดาบัน เพราะว่ายังมีกิเลสประเภทราคะหรือประเภทโทสะเหลืออยู่มากกว่านั้น ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ แต่ก็มีการบริสุทธิ์ หรือเริ่มบริสุทธิ์ หรือกำลังบริสุทธิ์ชนิดที่เรียกว่าไม่ถอยกลับ จึงได้จัดไว้ว่า เป็นพระอริยะเจ้า ผิดแผกแตกต่างกันกับปุถุชนโดยสิ้นเชิง ก็เป็นอันว่า ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลแล้ว ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์โดยสิ้นเชิงบ้าง โดยปริยายหรือเอกเทศบ้าง ถ้ายังไม่ถึงขนาดนี้ก็ยังไม่เรียกว่าคนบริสุทธิ์ อย่างมากก็จะเป็นเพียงคนดี เป็นกัลยาณปุถุชน คือเป็นปุถุชนชั้นดี อย่างนี้ก็เรียกว่า คนดี แต่ถ้าเป็นพาลปุถุชน ก็เป็นคนปุถุชนที่เป็นบาป ทำให้เราเหลือบตาดู เห็นพร้อมๆ กันว่า มันมีคนในโลกนี้ เป็นคนชั่วคือคนบาป แล้วก็เป็นคนดี แล้วก็มีเป็นคนบริสุทธิ์ แตกต่างกันอยู่ ๓ พวกดังนี้ เพราะเหตุฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสโอวาทปาติโมกข์ ในโอกาสอันสำคัญเช่นวันนี้ไว้เป็น ๓ อย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างแรกบัญญัติสำหรับคนชั่วคนบาป
อย่างที่สองบัญญัติสำหรับคนดี อย่างที่สามบัญญัติสำหรับคนบริสุทธิ์ ถ้ายังมีบาป ก็เรียกว่าไม่บริสุทธิ์ ถ้ายังมีกุศลเพราะว่ายึดมั่นติดพันในกุศล ก็ยังไม่บริสุทธิ์ ก็หมายความว่าต้องมีจิตใจที่ไม่ผูกพันอะไรกับความชั่ว หรือความดี โดยประการทั้งปวง จึงจะเป็นคนบริสุทธิ์ นี่คือ ลักษณะของบุคคลประเภทพระอรหันต์โดยเฉพาะ
ทีนี้ก็มาระลึกถึงข้อที่ว่า วันนี้เป็นวันที่ระลึกถึงพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป คือพระอรหันต์มีมากเป็นปึกแผ่นถึง ๑,๒๕๐ รูปขึ้นแล้วในพระศาสนานี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงหัวข้อแห่งคำสั่งสอนที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์นี้ เป็น ๓ ข้อดังนี้ สำหรับพระอรหันต์ทั้งหลายจะได้ถือเป็นหลักในการเผยแผ่ประกาศพระศาสนาสืบไป หรือว่าเป็นหลักทั่วไปตลอดกาลนิรันดร ว่าคนในโลกจะมีกันอยู่ ๓ ชนิด อย่างนี้มีปัญหาเฉพาะตน เฉพาะตนที่จะต้องแก้ไข
ทีนี้วันนี้ก็มาถึงวันที่ระลึกแต่พระอรหันต์ เราจะต้องทำในใจถึงพระอรหันต์อยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่รุ่งอรุณวันนี้เป็นต้นมา ก็จะเริ่มทำในใจถึงพระอรหันต์ เพราะว่าเป็นวันมาฆบูชา จึงมีการอะไรทุกอย่างในวันนี้เพื่อมาฆบูชา จะรับศีล จะถวายทาน จะสวดมนต์ จะฟังธรรม หรือจะทำอะไรก็ให้เป็นไปเพื่อมาฆบูชา อย่างการรักษาศีลอุโบสถในวันนี้ ก็เป็นการทำตามพระอรหันต์เหมือนที่พระอรหันต์ท่านทำ ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแสดงว่า เรากำลังนึกถึงพระอรหันต์ และกำลังทำตามพระอรหันต์ นี่เป็นตัวอย่างที่ขอให้ทุกๆ ท่าน พยายามจนสุดความสามารถของตน ที่จะระลึกนึกถึงพระอรหันต์ให้มากที่สุด จะพยายามจะทำตามพระอรหันต์ให้มากที่สุด อย่างน้อยในวันนี้ก็จะทำทุกอย่าง ที่จะเป็นคนบริสุทธิ์ด้วยความเสียสละทุกอย่าง ทุกประการเท่าที่จะเสียสละได้ อย่างว่าไม่เคยรักษาศีลอุโบสถ วันนี้จะรักษาศีลอุโบสถ นั่นก็ต้องการความสละ คือต้องอดทนต่อความหิวความกระหายหรืออะไรต่างๆ เอาเป็นว่าเรานึกได้ว่าจะทำตามพระอรหันต์ได้มากเท่าไร เราก็จะทำให้มากให้สุดความสามารถของตนในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานี้ที่นี่ จะทำในใจให้แยบคายที่สุด สำรวมกำลังใจว่าจะเป็นเครื่องบูชาคุณของพระอรหันต์ได้มากเท่าไร ก็จะทำให้หมดเท่านั้น ในทางระลึกก็ระลึก ในทางกระทำก็กระทำ ในทางการเปล่งวาจาก็เปล่งวาจา และการสมาทานการปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นคนบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ในกาลอันเป็นอนาคตนี้ก็ต้องกระทำ หรือว่าความเป็นพุทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกาของเรานี้ จะต้องดีขึ้นทุกๆ ปี การทำมาฆบูชาของปีนี้ ก็จะต้องดีกว่าปีที่แล้วมาด้วย โดยที่ทุกคนมีจิตใจตั้งมั่นหรือเสียสละมากกว่าปีที่แล้วมา นับตั้งแต่ว่าจะมาลำบากที่บนภูเขานี้ ด้วยการเดินขึ้นมา หรือด้วยการเวียนประทักษิณชนิดที่จะลองไม่สวมรองเท้าดูบ้าง ก็อย่าได้เกิดปฏิฆะ กระทบกระทั่งขึ้นมาในจิตใจ ในเมื่อมีความลำบากเช่นความเจ็บปวดที่เท้าเป็นต้น อย่าได้เสียสติ อย่าได้เสียสมประดี หรือไปเกิดอึดอัดคัดแค้นขึ้นมาเพราะเหตุนั้น แต่จะระวังจิตใจไว้ให้ดี ว่านี่เป็นสิ่งที่ได้เสียสละ ยิ่งเสียสละเท่าไรก็ยิ่งชำระความเศร้าหมอง ความไม่สะอาดมากเท่านั้น เราเห็นแก่ตัวมานานนักแล้ว พอจะมาต้องเสียสละเข้าบ้าง มันก็อึดอัดขัดใจหรือรู้สึกเจ็บปวดมากมายขึ้นมาทีเดียว เมื่อจะถือเอาความถูกต้องเป็นหลักเป็นเกณฑ์ คงจะคิดกันไปในทางที่ว่าจะยอมเสียสละ แม้จะลำบากบ้าง จะเจ็บปวดบ้าง ก็จะประคองจิตใจไว้ให้ควรคงเป็นปกติ โดยถือหลักง่าย ๆ ว่า เราจะทำจิตใจโดยเฉพาะในวันนี้ ให้คล้ายกับจิตใจของพระอรหันต์ให้มากที่สุด คำกล่าวนี้ไม่ได้ชักชวนให้ท่านทั้งหลาย อวดดี หรือว่าจะโอ้อวด ว่าจะเป็นพระอรหันต์กัน อาตมาชักชวนว่า ให้ทำตามพระอรหันต์ให้มากที่สุดเท่านั้น เพื่อจะเป็นเครื่องบูชาพระอรหันต์ ไม่ต้องการให้เผยอคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์กันที่นี่แล้ว แต่ให้คิดว่าเราจะทำได้เท่าไร เราจะทำทั้งหมดนั้น เพื่อให้ตามรอยพระอรหันต์ หรือมิฉะนั้นเพราะว่าเพื่อบูชาคุณของท่าน เพราะว่าเราเป็นหนี้บุญคุณของท่าน บางทีคนอาจจะปฏิเสธไม่ยอมรับว่าเราเป็นหนี้บุญคุณของพระอรหันต์ นี่ก็อาจจะมีได้ เพราะเขาไม่เข้าใจคำว่าพระอรหันต์ในทุกแง่ทุกมุม ควรจะคิดเสียใหม่ว่า พระพุทธเจ้านั่นแหละเป็นพระอรหันต์ เป็นหัวหน้าหรือเป็นจอมโจกของพระอรหันต์ทั้งหลายด้วย ท่านมีพระคุณแก่เราหรือไม่ ลองคิดดู ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดขึ้น เราจะเป็นอย่างไร เราจะได้มานั่งทำพิธีมาฆบูชาเป็นต้น อย่างนี้หรือไม่ หรือยิ่งไปกว่านั้นก็เราก็จะไม่มีพุทธศาสนา เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับพุทธบริษัท เหมือนที่เรามีๆ อยู่ ก็คงจะต้องไปถือศาสนาอื่น มีการปฏิบัติเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่พุทธศาสนา แล้วก็ไม่ได้รับประโยชน์อย่างที่พุทธศาสนาจะมีให้ คือไม่อาจจะดับทุกข์ได้ ไม่อาจจะดับกิเลสได้ ไม่อาจจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นได้ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ แล้วสอนให้สัตว์ทั้งหลาย รู้จักทำลายความยึดมั่นถือมั่น เพื่ออย่าให้เกิดความทุกข์ มนุษย์จึงไม่มีความทุกข์ นี่ถือว่าเป็นพระคุณของท่าน ถ้าเราจะคิดต่อไปว่า แม้เราจะมีเงิน มีของ มีเกียรติ มีอำนาจวาสนา มีอะไรทุกอย่าง แต่ถ้าจิตใจประกอบอยู่ด้วยความทุกข์แล้ว มันจะมีประโยชน์อะไร การที่มีวิธีทำให้จิตใจไม่ต้องเป็นทุกข์ นั่นแหละคือสิ่งสูงสุดที่มนุษย์เราได้รับ เพราะถ้ามีความทุกข์ แล้วมันก็ไม่มีความหมายอะไร แต่นี่วิชาที่มีค่ามาก ก็คือ วิชาที่จะทำให้ไม่รู้จักความทุกข์ ไม่เป็นทุกข์ ถ้าเขามีความทุกข์กัน เราไม่มีความทุกข์ เพราะเรารู้จักกระทำ โดยชนิดที่ว่าจิตใจนี้จะต้องไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่มีหลักธรรมะมาเป็นแสงสว่างแล้ว เราจะมีความเข้าใจผิด กลับตรงกันข้ามมากมายกว่านี้มากนัก อย่างอาการที่เขาเรียกกันว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นชั่วเป็นดี เห็นผิดเป็นถูก แล้วก็กระทำไปตามความเห็นนั้น มันก็มีการเบียดเบียนตัวเอง เบียนเบียดผู้อื่น อย่างที่เรียกว่า ถึงความวินาศไปเลยทีเดียว
เดี๋ยวนี้มนุษย์อยู่กันเป็นปกติ ก็เพราะอาศัยสิ่งที่เรียกว่า ศาสนา และอาจจะกล่าวได้ด้วยว่า ทุกศาสนาก็ล้วนแต่สอนอย่าให้เห็นแก่ตัว และสอนอย่าให้ยึดมั่นถือมั่น โดยความเป็นตัวหรือเป็นของตัวด้วยกันทั้งนั้น แต่บางศาสนาสอนชัดเจน บางศาสนาสอนอย่างไม่ชัดเจน หรือครึ่งๆ กลางๆ ขอให้เข้าใจเถอะว่า ศาสดาทุกองค์มองเห็นอันตราย ของความเห็นแก่ตัวด้วยกันทุกองค์ทุกศาสนา แม้แต่ศาสนาที่ว่าสอนให้ฆ่าสัตว์บูชายัญ นี่ก็เพื่อจะทำลายความเห็นแก่ตัวของผู้นั้น หากแต่ว่าการกระทำมันผิดแผกแตกต่างกันไป แล้วแต่ความเหมาะสมของสถานที่นั้นๆ สมัยนั้นๆ ซึ่งบุคคลที่มีประเพณีหรือวัฒนธรรมอย่างนั้น แต่ใจความแล้ว ต้องการให้ทำลายความเห็นแก่ตัวด้วยกันทั้งนั้น ใครมีความเห็นแก่ตัวมาก ก็นอนไม่หลับ มีใจคอวิปริต กระทั่งเป็นทุกข์ จนถึงกับว่าเป็นโรคจิต จนถึงกับว่าจะต้องตาย เดี๋ยวนี้พระธรรม มาช่วยบรรเทาความยึดมั่นถือมั่น หรือความเห็นแก่ตัวนี้ให้น้อยลง โดยขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ปู่ย่าตายายได้ประพฤติกันมา ไม่ได้สอนไว้ตรง ๆ ด้วยปาก แต่สอนไว้โดยเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นการทำบุญให้ทานนี้ก็ไม่ได้สอนด้วยปาก ว่าที่จริงดูให้ดี เมื่อพ่อแม่เขาทำบุญตักบาตร ไอ้ลูกหลานมันก็ทำบุญตักบาตรเป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรมไป หรือว่าชาวไทยเป็นพุทธบริษัท เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่น่าสะยิ้ว มีหน้าตาไม่สะยิ้ว (นาทีที่ 40.39)หรือยิ้มแย้มแจ่มใส ยินดีในการสงเคราะห์เอื้อเฟื้อ นี่มันทำมาเป็นวัฒนธรรมไป อันนั้นก็ถูกหลักของพระพุทธศาสนา ในข้อที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว การประพฤติปฏิบัติอย่างอื่นยังมีอีกมากมาย ก็ล้วนแต่มีความมุ่งหมาย หรือการกระทำที่เขาได้สอดใส่ไว้ในขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างนี้เราก็ต้องถือว่าเป็นบุญคุณของศาสนา ที่ทำให้เรามีขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมที่ดี เราจึงอยู่กันมาได้อย่างเป็นคนไทยที่น่ารัก น่าเลื่อมใส น่าพอใจ น่านับถือ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว ก็จะต้องเป็นมนุษย์อันธพาลน่าเกลียดน่าชังมากกว่านี้ เราจะอยู่กันอย่างไม่เป็นผาสุกยิ่งกว่านี้
นี่แหละคือคุณของพระอรหันต์แท้ๆ ที่เป็นต้นตอทีแรกที่แตกแขนงออกมา เป็นธรรมะอยู่ในจิตใจของคน อยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของคน เราก็ควรระลึกถึง คนบางคนจะไปนึกเสียว่า พระอรหันต์ก็พระอรหันต์ เราก็ไม่เกี่ยวกับพระอรหันต์ เราก็ทำไปตามเรื่องของเรา พระอรหันต์ก็ทำไปตามเรื่องของพระอรหันต์ นี่เพราะว่าเขาไม่รู้ ว่าความเป็นพระอรหันต์ และบุญคุณของพระอรหันต์นั้น มันเนื่องอยู่ในชีวิตจิตใจของมนุษย์อย่างไร แม้ที่สุดแต่ว่าบุคคลใด จะรู้จักอดใจข่มใจสักแว้ปหนึ่ง ด้วยความไม่โกรธ ด้วยความไม่โลภ เป็นต้น นี้ก็เป็นอิทธิพลของคำสั่งสอนของพระอรหันต์ โดยเฉพาะพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วสอน แล้วสอนอยู่ถึงประเทศอินเดีย ถ้าไม่มีพระอรหันต์รับช่วงต่อมาก็จะไม่มาถึงดินแดนส่วนนี้ หรือว่ามันนานตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว ถ้าไม่มีพระอรหันต์รับช่วง รับช่วงกันมา มันก็จะไม่ตกทอดมาถึงพวกเราในวันนี้ นี่แหละก็คือ นี่ก็คือบุญคุณของพระอรหันต์ ในส่วนที่ช่วยสืบอายุพระพุทธศาสนาไว้ ให้ตกมาถึงพวกเรา แล้วช่วยนำพระศาสนาไปในถิ่นนั้นๆ แม้จะไกลแสนไกล ท่านก็ทำได้ เพราะท่านเป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่ตัว ชีวิตที่เหลืออยู่หลังจากความเป็นพระอรหันต์แล้ว มิได้มีสำหรับตัวท่านอีกต่อไป แต่มันมีสำหรับคนอื่นทั้งนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไปได้แม้ในเมืองไกล อย่างที่เราเรียนรู้กันในตำนานของพระศาสนาว่าพระอรหันต์ ชื่อ โสณะ กับพระอรหันต์ ชื่อ อุตตระ ได้รับหน้าที่นำพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดีย มาสู่ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ คือ แหลมมาลายูนี้ นี่มีหลักฐานปรากฏชัดอยู่ในพระคัมภีร์อย่างนี้ แม้หลักฐานทางโบราณคดีที่จะทดสอบได้ ก็รับรองความข้อนี้ มีอะไรเหลืออยู่ ก็ลองคิดดูถึงความยากลำบากของการที่ท่านจะมาเผยแผ่พุทธศาสนา ให้แก่คนที่ยังป่าเถื่อน ยังไม่มีแสงสว่างของพระธรรม มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่บรรพบุรุษ หรือปู่ย่าตายายของเรา ซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ จะเรียกว่าชนชาติอะไรนั้น ไม่ ไม่เป็นประมาณ ไม่สำคัญ เพียงแต่ว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนแหลมทองอินโดจีนทั้งหมดนี้ เคยได้รับพระธรรมจากพระอรหันต์ ที่ออกชื่อมาแล้วนั้น ท่านมีบุญคุณแก่บรรพบุรุษของคนทุกคนสืบเนื่องมาในสายโลหิต ทำให้บรรพบุรุษนั้นๆ มีความเป็นพุทธบริษัทอยู่ในเลือดในเนื้อ แล้วถ่ายทอดมาเป็นลูกเป็นหลาน ลูกหลานที่คลอดออกมาก็ง่ายที่จะเป็นพุทธบริษัท เพราะว่าเป็นพุทธบริษัทกันมานานแล้ว เดี๋ยวนี้มันมีสิ่งที่น่าหวาดเสียว ถ้าลูกหลานในชั้นหลังนี้ จะเกิดแปลงรูป หรือเปลี่ยนรูปไปเป็นอย่างอื่น คือจะไม่เอาอย่างหรือเดินตามพระอรหันต์ผู้ไม่มีความเห็นแก่ตัว แต่จะเปลี่ยนไปเป็นผู้เห็นแก่ตัวมากขึ้น โดยไปหลงใหลในเรื่องของวัตถุนิยม คือความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อยทางวัตถุหรือทางเนื้อทางหนัง ซึ่งเป็นเรื่องของคนสมัยนี้ ที่หันหลังให้แก่พระศาสนา ถือกันเสียว่า ศาสนาไม่จำเป็น ไม่มีใครสนใจกับพระเจ้าแล้ว พระเจ้าตายหมดแล้ว เนื้อหนังของเราต้องการอะไร ก็ทำอย่างนั้นก็แล้วกัน แล้วท่านทั้งหลายลองคิดดูเถิดว่า ถ้าคนนั้นเขาถือหลักอย่างนั้น เขาจะลดความเห็นแก่ตัว หรือเขาจะเพิ่มความเห็นแก่ตัว ข้อนี้ไม่ลำบากในการที่จะสังเกตหรือเข้าใจ ถ้าใครไปตามใจความสุขทางเนื้อหนัง คนนั้นก็ต้องมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้นๆ ถ้าจะไม่เห็นแก่ตัว มันก็ต้องบรรเทาความที่ไปหลงใหลในความสุขทางวัตถุหรือทางเนื้อทางหนัง เดี๋ยวนี้ลูกหลานของเรา กำลังจะเป็นอย่างไร ก็พอจะสังเกตกันได้ด้วยกันทั้งนั้น ด้วยเหตุที่ว่ามันมีอะไร อะไร เข้ามายั่วมากขึ้น จนเหลือกำลังที่เด็ก ๆ จะทนไหว ก็ค่อยหันไป หันไป ในทางเรื่องวัตถุ หันไปในทางวัตถุเท่าไร ก็จะหันหลังไปให้แก่เรื่องจิตใจหรือพระธรรมมากขึ้นเท่านั้น ในที่สุดเขาก็จะไม่มีพระธรรม คือการไม่มีการบังคับตัวเอง หนักเข้าก็จะไม่มีอะไรเป็นหลัก สำหรับจะยึดถือหรือจะเคารพ ก็จะมีผลถึงกับว่า บิดามารดาไม่มี ครูบาอาจารย์ไม่มี เขาเอาแต่ตามอำเภอใจ แล้วมันจะเป็นอย่างไรในที่สุด เดี๋ยวนี้มันยังมีคนที่ยังมั่นคงอยู่ในคำสั่งสอนของพระอรหันต์ พวกนี้เท่านั้นที่จะช่วยถ่วงไว้ อย่าให้โลกนี้มันล่มจม หรือมันลุกเป็นไฟเร็วเกินไป เพราะคนที่จะทำให้โลกนี้ล่มจม หรือลุกเป็นไฟก็มีอยู่มากเหมือนกัน แต่ถ้ามีพวกคนที่ยังยึดมั่นอยู่ในคุณธรรมของพระศาสนา ต้องการจะเดินตามรอยของพระอรหันต์อยู่แล้ว ก็จะเป็นเครื่องถ่วงไว้ ไม่ให้โลกนี้มันหมุนไปในทางที่จะล่มจม แต่จะให้โลกนี้มันยังคงอยู่ในความปลอดภัย ถ้าเรานึกได้อย่างนี้ เราก็ต้องขอบใจหรือขอบคุณพระอรหันต์อีกนั่นเอง
วันนี้เราจะระลึกนึกถึงพระอรหันต์กันทั้งที ก็ควรจะระลึกให้ถูกวิธี เพื่อให้เกิดความรู้สึกในพระคุณของพระอรหันต์กันให้ได้ ไม่มากแต่น้อย ก็เพียง ก็ยังดี แต่ขอให้ระลึกเห็นจริงๆ เถิด จนเกิดความรู้สึกกตัญญูกตเวทิตา รู้สึกคุณของท่านแล้ว อยากจะตอบสนองคุณนั้นให้ปรากฏออกมา ถ้าเราทำอะไรไม่ได้มากกว่าที่จะมาทำมาฆบูชานี้ เราก็จะต้องยินดีที่จะทำมาฆบูชานี้ ให้สุดความสามารถ เพื่อรู้คุณหรือเพื่อตอบสนองคุณของพระอรหันต์ทั้งหลาย นี่แหละคือข้อความที่อาตมาจะกล่าวแก่ท่านทั้งหลาย เพื่อเป็นการเตรียมตัว เตรียมกาย เตรียมวาจา เตรียมใจ ให้เหมาะสมที่จะทำมาฆบูชาให้เป็นมาฆบูชา สามารถที่ใช้เป็นที่ระลึก เป็นเครื่องระลึกถึงพระอรหันต์ทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในโอกาสเช่นนี้
ท่านทั้งหลายจงเตรียมใจในส่วนลึก ที่เป็นความรู้สึกของจิตของวิญญาณโดยประการดังที่กล่าวมาแล้วนี้เถิด แล้วก็กระทำการบูชาด้วยกาย มีเวียนประทักษิณ เป็นต้น แล้วกระทำด้วยวาจามีการกล่าวประกาศออกมา เป็นคำบูชาหรือยืนยันความเชื่อความเลื่อมใสของตน พร้อมกับที่มีจิตใจรู้สึกในพระคุณของท่านนั้นๆ ตามโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่พุทธบริษัทจะต้องกระทำ และในวันนี้ ในสถานที่นี้ ในโอกาสพิเศษนี้ ก็ขอเตือนให้มีความโปร่งใจในการที่จะเสียสละ บนความยากลำบากบางอย่างในการบูชานี้ ลำบากเท่าไร ก็เป็นบุญเป็นกุศลอันแท้จริงเท่านั้น ถ้าไม่ต้องลำบากไม่ต้องยุ่งยาก ไม่ต้องหมดเปลืองอะไร มันก็ไม่เห็นว่าจะเป็นบุญเป็นกุศลที่ตรงไหน กล่าวอย่างนี้ก็พอจะเห็นได้ด้วยกันทุกคน จึงหวังว่า คงจะทำมาฆบูชานี้ ด้วยการเสียสละ ให้เป็นการบูชาที่บูชาด้วยการเสียสละกันทุกๆ คนเถิด ธรรมเทศนาเป็นการเตรียมจิตใจของผู้จะกระทำมาฆบูชา ก็นับว่าเป็นการสมควรแก่เวลาแล้ว ขอท่านทั้งหลายจงไม่ประมาท มีจิตใจที่ไม่ฟุ้งซ่าน ทำความั่นคงแห่งจิตใจไว้ตลอดเวลา ในธรรมะดั่งที่ได้พรรณามาโชติช่วงอยู่ในจิตใจ ตลอดพิธีมาฆบูชานี้ จงทุกๆคนเถิด ธรรมเทศนาก็สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้
(เสียงคนฟัง) สาธุ
(เสียงท่านพุทธทาส) จุดเครื่องสักการะแล้ว ถือไว้ในมือ แล้วขอให้พยายามทำจิตใจให้ดีที่สุด ที่จะทำได้ ในการบูชามาฆบูชา อุทิศแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ขอให้ทำใจเป็นพิเศษในบัดนี้ ว่าเราจะบูชาอุทิศแก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข คนบางคนคิดว่า พระพุทธเจ้าอยู่ทางประเทศอินเดียทางทิศตะวันตก ก็จะหันหน้าไปทางทิศตะวันตกบ้าง บางทีก็หันหน้าไปทางพระพุทธรูปบ้าง แล้วแต่ตัวเองจะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าจะอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้เราคิดว่าเราจะถือตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม คือผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ไม่ได้หมายเอาเนื้อหนังร่างกายของพระพุทธเจ้า ว่าเป็นพระพุทธเจ้าจริง ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า พระพุทธเจ้าจริง คือ พระธรรม อยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำกัดทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก หรือข้างบนหรือข้างล่าง ถ้าจิตใจยังถูกกักขังอยู่ให้เป็นบน ล่าง ขวา ซ้าย ตะวันออก ตะวันตกอยู่อย่างนี้ ยังเป็นจิตใจที่ถูกกักขัง ไม่เป็นจิตใจที่เข้าถึงพระพุทธเจ้า ที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่ง เพราะฉะนั้นขอให้เราทั้งหลายทุกๆ องค์ ทำในใจเสียใหม่ เพื่อการสะดวก เพื่อความสะดวกก็ควรจะหลับตาเสีย แล้วก็ไม่ทำในใจว่าเป็นทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ซ้ายมือ ขวามือ ข้างบน ข้างล่างอะไรหมด ทำจิตให้ว่างจากความเป็นทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ตะวันตกเสียก่อน จึงจะเป็นพระธรรมอันสูงสุด ไม่ถูกจำกัดด้วยทิศตะวันออก ทิศตะวันตก เป็นต้น นี่ขอให้ทำจิตที่เป็นสมาธิ ลืมไอ้ขอบเขตจำกัดเหล่านี้เสีย ให้มีจิตที่ว่างจากขอบเขตที่กักขังอย่างนี้เสีย แล้วก็จะเข้าถึงกับความเป็นอันเดียวกันกับพระธรรม หรือพระพุทธ หรือพระสงฆ์ จึงจะเป็นการง่ายที่จะมีจิตใจถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ทำจิตใจอย่างๆ นี้ ปราศจากเครื่องหุ้มห่อ ขีดกันอย่างนี้แล้ว ก็เหมาะที่จะทำการบูชาให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริง หรือแม้แต่พระอรหันต์ที่แท้จริง เพราะว่าพระอรหันต์ที่แท้จริง ย่อมหลุดพ้นแล้ว จากสิ่งขีดขั้น จำกัดเขต หรืออะไรทั้งหมด แม้ว่าเราจะยังไม่เป็นพระอรหันต์ เราก็พยายามทำใจอย่างนั้น อย่างน้อยที่สุดก็ในขณะนี้ ที่นี้ เวลานี้ เดี๋ยวนี้ สักชั่วครู่หนึ่งก็ยังดี ขอให้ทำใจตามนี้ทุกคน หลับตาเสีย ง่าย ไม่มีทิศเหนือ ไม่มีทิศตะวันตก ไม่มีประเทศไทย ไม่มีไชยา ไม่มีกรุงเทพ ไม่มีเขาพุดทอง ไม่มีอะไรหมด เอา หัน ทะมะยัง (นาทีที่ 57:21)
เสียงสวดมนต์ (นาทีที่ 57:21 - 1.02.13)
(เสียงท่านพุทธทาสพูดปักษ์ใต้) ที่นี่ชาวบ้านจุดเทียน นิมนต์นั่ง นิมนต์นั่ง ตั้งอยู่ตรงหน้า เดี๋ยวคอยสวดให้ชาวบ้าน ผู้สูงอายุคราวนี้ ดูจะเป็นคุณอมร คุณจะเป็นผู้สูงอายุกว่าเพื่อน มาเดิน มาอยู่หัวหน้านี่หน่อย พลโทอมร ให้คนรู้จักเสียด้วย จะแก่กว่าเพื่อน นี่เขาเชิญมาอยู่ตรงหน้านี้ ตรงหน้าที่ มายืนตรงนี้ แล้วจะได้ออกเดินเป็นหัวแถว
พี่พิศ ตั้งแถวตรงนั่นแหละ ผู้ชาย ให้คุณอมรอยู่หัวแถว
ถ้าผู้ใดอยากจะเวียน ก็ลุกขึ้นเวียนประทักษิณ เพื่อจะเอาบุญกุศลอีกส่วนหนึ่ง ถ้าถอดรองเท้าก็ได้บุญมากกว่าไม่ถอด ปวดเท้าก็เดินแขยกๆ เอาก็ได้ อย่าโกรธ
พระเจดีย์ตรงนี้ เขาเรียกว่า เจดีย์เขาพุดทอง ตรงที่พระนั่งอยู่นี้ เคยมีพระเจดีย์องค์หนึ่ง เมื่ออาตมามานั้น ถูกขโมยขุดรื้อหมดหลุมลึกท่วมศีรษะ เขาขุดพระเจดีย์เอาทรัพย์ นี่เราก็ถมใหม่ นี่อิฐเหล่านี้ เป็นอิฐพระเจดีย์องค์นี้ นี้เขาเรียกว่า เวียนรอบพระเจดีย์องค์นี้ ซึ่งเคยเป็นฐานราก แล้วก็สัญลักษณ์ปูนปั้นนั้นเป็นสัญลักษณ์การประสูติ การตรัสรู้ การปรินิพพาน การแสดงธรรมจักร ก็ถือเป็นพระเจดีย์ด้วย ฉะนั้นเมื่อจะรู้สึกว่าเราเวียนประทักษิณแก่อะไร ก็เวียนแก่พระเจดีย์ ในฐานะว่าเป็นสัญลักษณ์ เป็นตัวแทนของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คำว่า เจดีย์ ก็แปลว่า ที่ระลึก สิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความระลึก เราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อจุดเทียนแล้ว ก็หันหน้ามาทางนี้ แล้วคำกล่าวบูชาที่อาตมาจะเป็นผู้นำ ว่าเต็มเสียงหน่อย ว่าให้ถูกต้องด้วย เอา, หัวหน้า หัน ทะมะยัง
เสียงสวดมนต์ (นาทีที่ 01:05:31 – 01:06:02)
(เสียงท่านพุทธทาสกล่าวนำ และผู้มาร่วมเวียนเทียนกล่าวตาม) วันนี้ เป็นวันมาฆปุณณมี เพ็ญเดือน๓ พระจันทร์ เสวยฤกษ์มาฆะ ตรงกับวันพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสาวกสงฆ์ พร้อมด้วยองค์ ๔ ประการคือ ครั้งนั้นภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพอุปสมบทแล้ว ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ไม่มีผู้ใดร้องเรียกหรือนิมนต์มา แต่มาประชุมกันแล้ว ยังสำนักเวฬุวันนาราม ในเวลาตะวันบ่าย วันมาฆปุณณมี เช่นวันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงธรรม วิสุทธิอุโบสถ ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมนั้น การประชุมพระสงฆ์พร้อมด้วยองค์ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในโอกาสอย่างนี้ได้มีครั้งเดียวเท่านั้น พระภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ บัดนี้เราทั้งหลายมาประจวบเข้าแล้วกับมาฆปุณณมี สมัยซึ่งคล้าย กับวันจาตุรังคสันนิบาต มาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ปรินิพพานนานแล้ว จะเคารพบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุ สองร้อย เอ้อ, ๑,๒๕๐ องค์ ด้วยเครื่องสักการะทั้งหลาย มีเทียนและธูป และดอกไม้ เป็นต้น เหล่านี้อันถือไว้แล้วในมือในเจติยสถานและเจติยวัตถุ ซึ่งเป็นพยาน เป็นสัญลักษณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยสาวกสงฆ์ แม้ปรินิพพาน นานแล้ว แต่ก็ยังเหลืออยู่ โดยพระคุณทั้งหลาย ไม่มีที่สิ้นสุด ตลอดกาลนิรันดร ขอจงทรงรับ ซึ่งสักการะบรรณาการ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ
(เสียงท่านพุทธทาส) นี่ก็เดินช้าๆอย่างที่ ได้ผลดี ดินนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เพราะว่าเป็นที่ประสูติ เป็นที่ตรัสรู้ เป็นที่ปรินิพพาน พระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน เพราะฉะนั้นดินศักดิ์สิทธิ์
(เสียงท่านพุทธทาสพูดปักษ์ใต้) ต่อไปนี้ทำอะไรพี่พิศ จะกลับ หรือว่าฆ่าเวลาบนนี้ ว่าไงนะ ได้ นี่ยังไม่ค่ำเลย สวดอะไรสักบทแหละ เอาแหละ อย่าช้า จะเอา สวดอะไรดีนะ เคยสวดอะไรก็เอาสิ สวดทำวัตรเย็น หรือสวดอะไรที่มัน นี่ ทำวัตรเย็นสักนิด เวลามันยังไม่หัวค่ำเลย ใครเลี้ยงหละ
เสียงสวดมนต์ (นาทีที่ 01:12:56 - 01:-35:30)
(เสียงท่านพุทธทาสพูดปักษ์ใต้ ระหว่างที่พระสวดมนต์) ที่นี้ส่งต่อนะ ช่วยดูให้ทั่ว ๆ มาดูที จะไม่พอ นี่ข้างนี้ยังไม่มี ตรงโน้นไม่มี ตรงโน้นไม่มี เอาไปที่โน้นเลยสิ นี้แถวนี้ยังไม่มีทั้งแถวเลย คุณดูให้ทั่วสิ ตรงโน้นยังไม่มี แถวนี้ไม่มีทั้งแถวเลย ไปทางท้ายโน้นบ้าง ไปทางท้ายโน้น แถวหน้านี่ยังไม่มีนะ นี่ แถวนี้ แถวนี้ นี่ตั้งแต่ตรงนี้ เดี๋ยวล้มหมด เดี๋ยวล้มหกหมด ช่วยดู เปลี่ยนอันใหม่ยังไม่ได้ ช่วยดูหน่อย ด้านหลังน่ะ ด้านหลังคุณน่ะได้แล้วหรือ
ช่วยฉันให้หมด จะได้ขวดคืน ท่านสิว ช่วยฉันให้หมดสิ จะได้ขวดคืน เขาจะขอบใจ หรือดีใจมากกว่าฉันให้เหลือ
นายพล เอาอะไรมาใส่ เอาของที่มันทนได้มาใส่
อย่าหิ้ว อย่าหิ้วงวง จะขาด อย่าหิ้วงวง มันจะขาด
เดี๋ยวมาอีกครั้ง เอานะ กรวดน้ำเถอะ พอดีค่ำแล้ว ได้ขนของกลับด้วย