แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ธรรมเทศนาเป็นบุพพาปรลำดับ สืบต่อจากธรรมเทศนาที่วิสัชนามาแล้วในตอนค่ำ ธรรมเทศนานี้ปรารภวิสาขบูชา ในตอนแรกนั้นได้กล่าวถึงการที่สัตว์ทั้งหลายได้อาศัยพระกรุณาคุณของพระศาสดา ผู้ปลุกสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นจากหลับ คือกิเลสนิทรา ล่วงจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ถือว่าเป็นหนี้บุญคุณของพระองค์ และในตอนต่อมาได้มีความรู้สึกแล้ว ก็ตั้งใจที่จะสนองพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยกตัญญูกตเวทิตา
ในการสนองพระคุณของพระองค์นั้น แบ่งออกได้เป็น ๒ อย่างตามความประสงค์ คือพระพุทธองค์ประสงค์ให้สัตว์ทั้งหลายถอนตนขึ้นเสียจากความทุกข์ให้ได้ แล้วก็ประพฤติประโยชน์ผู้อื่น โดยช่วยเหลือผู้อื่นให้ถอนตนจากความทุกข์ให้ได้เช่นเดียวกัน ข้อนี้จะเห็นได้ในความคล้ายกันเหมือนกัน ในการที่พระองค์ทรงกระทำด้วยพระองค์เอง กล่าวคือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นการถอนตนขึ้นมาจากความทุกข์ แล้วก็ทรงปลุกผู้อื่นให้รู้จักวิธีที่จะถอนตนออกมาเสียจากความทุกข์ให้ได้ ครั้นแล้วก็ทรงหวังว่าสัตว์ทั้งหลายที่เป็นสาวกก็จะกระทำอย่างเดียวกัน คือถอนตนออกมาจากความทุกข์ได้แล้ว ก็ช่วยเหลือผู้อื่นให้ถอนตนให้ออกจากความทุกข์ได้ ประโยชน์นี้จึงเกิดขึ้นเป็น ๒ ฝ่ายคือ ประโยชน์ตน และประโยชน์บุคคลอื่น
การประพฤติประโยชน์ตนอย่างไร ได้กล่าวแล้วโดยละเอียดในธรรมเทศนาเมื่อตอนหัวค่ำ ส่วนประโยชน์ผู้อื่นนั้นจักได้กล่าวต่อไปในโอกาสนี้ การบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นนั้น ก็ควรจะแยกออกเป็น ๒ ประการอย่างเดียวกัน คือความสมัครสมานสามัคคี และการเผยแผ่ซึ่งพระธรรม แต่ว่าสองอย่างนี้ย่อมจะเนื่องกัน การเผยแผ่นั่นแหละจะทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคี แต่ว่าการสามัคคีนั่นแหละจะทำให้การเผยแผ่เป็นไปได้อย่างกว้างขวาง ถึงกับเป็นการสืบอายุพระศาสนา ให้ยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือว่า ในปัจจุบันนี้เราต้องการความสามัคคีให้เป็นไปทั่วทั้งโลก ถึงกับว่าไม่ว่าศาสนาใดก็จักรู้ความมุ่งหมายแห่งศาสนาของตน อันจะพึงกระทำแก่สัตว์ทั้งหลายให้เกิดเป็นความรัก ความสามัคคี เมตตาปรานี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เดี๋ยวนี้ความเบียดเบียนยังมีอยู่แม้ในระหว่างศาสนา ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูให้ดีเถิด ว่าถ้าศาสนาแต่ละศาสนายังทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันแล้ว โลกนี้จักมีสันติสุขได้อย่างไร เหตุไฉนศาสนาจึงมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ข้อนี้ควรจะมองให้ลึกลงไปว่า สำหรับศาสนานั้นไม่ได้มีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันเลย แต่ว่าสาวกในศาสนานั้นต่างหากที่ไม่ทำความสมัครสมานสามัคคีในระหว่างศาสนา
ข้อที่ว่าศาสนาทั้งหลายไม่ทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนั้น เพราะว่าศาสนานั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นเพียงหลักธรรมคำสอน หลักธรรมคำสอนนี้ ในศาสนาใดก็ดีย่อมมุ่งหมายอย่างเดียวกันหมด คือต้องการจะทำลายเสียซึ่งความเห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวนั้นเป็นหนทางให้เกิดกิเลสขึ้นทุกอย่างทุกประการ เบียดเบียนตนเองบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง นี้ก็เพราะความเห็นแก่ตัว ธรรมะในศาสนาใดก็ตามย่อมจะมุ่งหมายเพื่อจะทำลายความเห็นแก่ตัวนั้นเสีย ถ้าศาสนาใดไม่ ไม่ได้มีหลักการในการที่จะประหารเสียซึ่งความเห็นแก่ตัวแล้ว ก็ไม่ควรจะเรียกศาสนานั้นว่าเป็นศาสนา
เดี๋ยวนี้ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นว่า ทุกศาสนาก็มีความมุ่งหมายที่จะทำลายความเห็นแก่ตัว อันเป็นที่ตั้งของกิเลสดังกล่าวแล้ว เหตุเช่นนี้แหละจึงกล่าวว่า ถ้ามุ่งถึงตัวศาสนาแล้ว ก็ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเลย ความเป็นปฏิปักษ์นั้นอยู่ที่บุคคลผู้ทำตนเป็นเจ้าหน้าที่ของศาสนา บุคคลเมื่อเห็นประโยชน์ตนแล้วก็ย่อมจะเกิดความลำเอียง จึงได้เกิดความมุ่งหมายที่จะทำลายผู้ที่มาขัดขวาง หรือผู้ที่ตนเห็นว่าจักเป็นผู้ขัดขวาง หรือเห็นว่าถ้าอย่ามีผู้อื่นเข้ามาเคียงข้าง ตนก็จะได้รับประโยชน์นั้นเต็มที่แต่บุคคลเดียวหรือแต่ฝ่ายเดียว ดังนี้ อันนี้เป็นเหตุให้เกิดความ อ่า, มองดูกันในฐานะเป็นปฏิปักษ์ ดังที่ได้เคยมีมาแล้วในกาลก่อน ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้เจ้าหน้าที่หรือบริษัทแห่งศาสนานั้นๆจะเลิกความเห็นแก่ตัวชนิดนี้เสียได้
คิดดูแล้วก็น่าละอายหรือน่าประหลาดใจที่ว่าศาสนาสอนให้ทำลายความเห็นแก่ตัว แต่เจ้าหน้าที่ของศาสนานั้นกลับมีความเห็นแก่ตัวดังนี้ จงคิดดูให้ดี ทั้งนี้ก็เพราะว่าความเห็นแก่ตัวนี้มันมีหลายอย่างหลายประการ และมีความสลับซับซ้อน เห็นได้โดยยากก็มี และเพราะว่าการเห็นแก่ตัวนี้เป็นของประจำอยู่ในธรรมชาติ คือความรู้สึกที่เกิดได้เองของสัตว์นั้นๆ เพราะว่าพอเกิดมาในโลกนี้ ได้รับสิ่งใดที่เป็นที่พออกพอใจ ก็ยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นของตัว เมื่อได้มาซ้ำๆซากๆเข้า ก็เกิดความยึดมั่นโดยความเป็นของตัวยิ่งๆขึ้นไป จนกลายเป็นความเห็นแก่ตัวอย่างที่ไม่เป็นธรรม ถ้าพิจารณาดูกันอย่างนี้ทุกๆคนแล้ว ทุกคนก็จะเข้าใจได้ว่า นี้เป็นการกระทำที่ไม่ถูกตรงตามหลักของศาสนานั้นๆเลย
ในพุทธศาสนานี้ต้องการจะให้ทำลายสิ่งที่เรียกว่า "ตัว" และ "ของตัว" คือไม่ยึดถือสิ่งใดโดยความเป็นตัวกูของกู ให้เห็นว่าเป็นไปตามธรรมชาติ เป็นธาตุที่ปรุงแต่งกันไปตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีความรู้สึกที่ถูกต้องในกระแสแห่งการปรุงแต่งนั้นแล้ว ก็จะต้องปรุงแต่งไปในทางที่ทำให้เห็นแก่ตัวและมีความทุกข์เป็นธรรมดา ข้อที่จะห้ามไม่ให้สังขารทั้งหลายปรุงแต่งกันนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าสังขารต้องเป็นการปรุงแต่งกันและกันดังนั้น แต่ว่ามีทางที่จะทำได้ก็คือว่า มีการศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ ให้รู้เท่าทันของจิตที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามการปรุงแต่ง ถ้าจะว่าอีกทีหนึ่ง จิตนั้นก็มิได้เป็นตัวเป็นตน เป็นแต่สิ่งที่มีความรู้สึกคิดนึกได้ มีคุณสมบัติทำให้จำได้ สำคัญมั่นหมายสิ่งใดได้ นี่แหละคือปัญหาของการปรุงแต่งที่มีอยู่ในขันธสันดาน
ถ้าเมื่อใดจิตใจได้รับการศึกษาอบรมมาเป็นอย่างดี ก็จะเป็นจิตใจที่คงสภาพเป็นปรกติ ไม่เพิ่มความเห็นแก่ตัว การอบรมจิตนี้จะมีได้เป็นหลายทาง แต่ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้วก็คือว่า ได้รับการอบรมสั่งสอนจากบุคคลภายนอกนี้ก็มี ได้รับการสั่งสอนคือเกิดความเข็ดหลาบขึ้นในตัวเองก็มี ทั้งสองอย่างนี้ย่อมจะเนื่องกัน คือว่าถ้าหากว่าได้รับคำสั่งสอนจากผู้อื่นแล้วยังไม่เข้าใจ ก็จะต้องไปเข้าใจได้ในตอนที่ว่าทำผิดแล้ว ความเจ็บปวดหรือความทุกข์นั้นมันก็จะสอนให้ นี้เป็นการศึกษาที่ดี คือเป็นการศึกษาที่ธรรมชาติมันสอนให้ ธรรมชาติสอนดีกว่าคนด้วยกันสอน ขอให้แสวงหาการสอนจากธรรมชาติเถิด คือเมื่อมีความทุกข์เกิดขึ้น นี้ก็เป็นธรรมชาติ แสวงหาการศึกษาหรือความรู้จากความทุกข์นั้น เป็นความรู้ที่แจ่มแจ้งชัดเจน และแน่นอนกว่าที่จะให้มนุษย์ด้วยกันสอน แต่การที่มนุษย์ด้วยกันจะช่วยกันสอนนั้น ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ คือเป็นความสะดวกในเบื้องต้นที่จะไม่ต้องเสียเวลามากเกินไป ได้เท้าเงื่อนอย่างไรมาแล้วก็พากันประพฤติปฏิบัติตาม
ผู้มีปัญญาในกาลก่อนได้พิจารณาเห็นความจริงข้อนี้ บัณฑิตทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ได้ทราบข้อนี้แล้ว ก็ได้บัญญัติให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงได้ทราบต่อๆกันไป อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ตถาคตได้รู้พร้อมเฉพาะแล้ว ได้ถึงพร้อมเฉพาะแล้ว ซึ่งธรรมธาตุอันนั้น ครั้นรู้พร้อมเฉพาะแล้ว ถึงเฉพาะแล้ว ก็เปิดเผย ทำให้เป็นที่เข้าใจแก่สัตว์ทั้งหลายว่า สิ่งนั้นมันเป็นอย่างนั้นๆ” อาศัยความกรุณาของพระศาสดาเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายจึงได้พลอยรู้ตาม เช่นเรื่องสามัญลักษณะก็ดี เรื่องอิทัปปัจจยตาก็ดี หรือเรื่องสำคัญที่สุดโดยชื่อว่า จตุราริยสัจอันนี้ก็ดี เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์จะต้องรู้จะต้องเข้าใจ ทั้งโดยทางที่รับหลักคำสอนมาจากพระศาสดานั้น แล้วมาปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้เกิดการสอนตนเองขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อเด็กๆเกิดมาในโลกนี้ ก็ได้รับคำสั่งสอนก่อน แต่แล้วก็ยังพาลจะไม่เชื่อ หรือพาลจะดื้อ ต้องปลอบ ต้องโยน ต้องล่อ ต้องหลอก ต้องจ้างกันเป็นอย่างมากทีเดียว จึงจะเชื่อฟังและทำตามคำสอน แต่ว่าในกาลต่อมา ทว่าความทุกข์ได้เกิดขึ้นแล้วเพราะความดื้อดึง นี่แหละจะเป็นการสอนที่ดี ซึ่งเขาก็จะต้องรีบปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามทำนองของคำสอน ซึ่งมีไว้เป็นหลักศีลธรรมประจำบ้านเรือนก็มี เป็นเรื่องของศาสนาที่สูงขึ้นไปก็มี รวมความว่า คนเราต้องการสิ่งนี้อย่างที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าถ้าคนไม่รู้จักตัวเอง แล้วก็จะเห็นแต่แก่ตัวเอง แล้วก็จะเบียดเบียนผู้อื่นอย่างที่ไม่มีใครห้ามกันได้ โลกนี้จึงจะมีความเดือดร้อนระส่ำระสาย เหมือนกับว่าผีสางเทวดาหรือพระเจ้าช่วยกันลงโทษให้มันได้รับความเดือดร้อน ที่แท้ก็คือความผิดบาปที่ร้ายยิ่งไปกว่าผีสางเทวดาเสียอีก นั่นแหละมันลงโทษ หรือถ้าจะพูดว่าผีสางเทวดาก็คือกิเลส กิเลสชนิดดี ก็เป็นเทวดา กิเลสชนิดเลว ก็เป็นผีเป็นสาง หรือเป็นสิ่งที่ร้ายกาจยิ่งไปกว่านั้น
เมื่อพูดว่ากิเลสชนิดดี บางคนก็จะไม่เข้าใจ กิเลสชนิดดีนี้มันยังจะน่ากลัวกว่ากิเลสชนิดเลว เพราะว่ามันมาในรูปร่างที่ซ่อนเร้น ไม่ค่อยจะให้มองเห็นว่าเป็นกิเลส การที่ได้รับความดี ยึดมั่นในความดี ก็ทำให้คนเป็นทุกข์ หรือทนทุกข์กันอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ขึ้นชื่อว่าอวิชชา ทำให้เกิดความอยาก เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว จะว่าดีก็ตาม จะว่าชั่วก็ตาม ย่อมจะเป็นความทุกข์เสมอกัน ต่อเมื่อให้เป็นวิชชา ไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา ไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว จึงจะรอดตัวได้ คนทั้ง เอ่อ, ทั้งหลายมีปัญหากันอยู่อย่างนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจะต้องช่วยกัน จะต้องมีความรักใคร่สามัคคีกัน
ในข้อที่ว่าเราทุกคนเป็นอย่างนี้ เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย แก่กันและกัน ถ้าจะพูดภาษาธรรมดาสามัญ ก็ว่าเกิดมาแล้วมีหัวอกเดียวกัน คือมีกิเลสเป็นข้าศึกร่วมกัน มีผลแห่งกิเลสนั้นเป็นความทุกข์ทรมาน เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายซึ่งกันและกันนี้ เป็นสิ่งที่แสดงชัดอยู่ในตัวแล้ว ถ้าสนใจกันเสียบ้างก็จะเข้าใจได้ดี ว่ามีคนไหนบ้างที่จะไม่เกิดแก่เจ็บตาย เมื่อเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันแล้ว ทำไมจะต้องเบียดเบียนซึ่งกันและกันเล่า เพราะไม่มองเห็นความเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย มองเห็นเป็นตัวกูของกู มองเห็นเป็นตัวสู เป็นของสู คือเป็นเขาเป็นเราขึ้นมา ปัญหามันมีอยู่เท่านี้เอง ต้นเหตุมันมีอยู่เท่านี้เอง ที่ทำให้ไม่เกิดความสงบสุขขึ้นในระหว่างบุคคล หรือในระหว่างหมู่คณะ หรือว่าในระหว่างประเทศนั้นกับประเทศนี้ หรือว่าในระหว่างศาสนานั้นกับศาสนานี้ เป็นต้น
เหตุการณ์ที่ล่วงมาแล้วจากหนหลังพิสูจน์ให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า การเบียดเบียนกันในระหว่างศาสนานั้นก็เคยมีมาในประวัติศาสตร์ หรือว่าถ้าจะดูให้ดี ให้ยิ่ง ให้ละเอียดลออยิ่งขึ้นไปบ้าง ก็จะเห็นว่า ยังมีอยู่แม้ในเวลานี้ คนที่ทำตนเป็นเจ้าของศาสนายังมีกิเลสอยู่เพียงไร ก็ใช้ศาสนานั่นแหละเป็นเครื่องมือสำหรับเบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่าว่าแต่ต่าง ตา ต่างศาสนา ระหว่างศาสนาเลย ในศาสนาเดียวกันแท้ๆก็ยังแบ่งออกเป็นพรรค เป็นพวก เป็นนิกายเป็นต้น แล้วก็มุ่งร้ายต่อกัน ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็จะปรากฏออกมาเป็นการเบียดเบียนซึ่งกันและกันโดยเปิดเผย แม้ว่าในศาสนาเดียวกันก็ยังเป็นปฏิปักษ์กันเป็นพวกๆดังนี้ แม้จะแบ่งพวกให้เล็กลงไปสักเท่าไร ก็ยังมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หรือว่าในศาส เอ่อ, วัดเดียวกันนี้ มันก็ยังมีความเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นั่นมันเป็นเพราะเหตุใด ก็เพราะเหตุว่ามันมีคนที่ไม่ได้ถือตามหลักของศาสนาในการที่จะทำลายความเห็นแก่ตน มันมีความเห็นแก่ตนมาก จึงได้เบียดเบียนกัน และแม้ว่าคนที่เรียกว่าเป็นคู่ทุกข์คู่ยากกัน ในบางครั้งบางคราวก็ยังทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุที่มีความเห็นแก่ตัวในประการใดประการหนึ่ง ขอให้ทุกคนมองเห็นโทษอันเลวร้ายหรือต่ำทรามของความเห็นแก่ตัวดังนี้เถิด ก็จะค่อยๆบรรเทา แล้วก็จะค่อยๆเกิดความสามัคคี คือความรักใคร่ยินดีในบุคคลผู้อื่นบ้าง
ในพุทธศาสนานี้ เรียกว่าเมตตาก็มี เรียกว่ามุทิตาก็มี เรียกว่าเมตตานั้น ก็หมายถึงความเป็นมิตร คำว่ามิตรนี้ก็แปลว่า ผู้ที่มีความรู้สึกต่อกันและกัน มันเป็นความหวังดีต่อกัน ความเป็นมิตรนี่แหละเป็นคุณธรรมที่เป็นพื้นฐาน ไม่ว่าทางศาสนาหรือว่าทางวัฒนธรรมประเพณีอะไร ก็ล้วนแต่ต้องการความเป็นมิตร อยู่กันมาด้วยความเป็นผาสุกก็เพราะมีความเป็นมิตร คือความยอมรับนับถือ คำว่ามิตรนี้แปลว่าความรับรู้ซึ่งกันและกัน ต่อกันและกัน ว่าเราก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน มีหัวอกอย่างเดียวกัน ถ้ามีสุขก็สุขด้วยกัน ถ้ามีทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน นี่ยอมรับรู้แก่กันและกันอย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นมิตร จะเป็นมิตรกันโดยความจำเป็นก็ยังดีกว่าที่จะเป็นศัตรูกัน คือถ้ามีสติปัญญาแล้ว ก็จะมองเห็นเป็นการสมควรว่าสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงนี้จะต้องเป็นมิตรต่อกัน
สำหรับสิ่งที่เรียกว่ามุทิตานั้นคือ ความไม่อิจฉาริษยา สัตว์ผู้มีความเห็นแก่ตัวย่อมอิจฉาริษยา ถ้าว่าโดยที่แท้แล้วความอิจฉาริษยานี้ไม่ได้มีมาแต่ในท้อง แต่ว่าพอเด็กคลอดออกมาจากท้องของมารดาแล้ว ก็มีสิ่งแวดล้อมหลายๆอย่าง ที่มาสั่งสอ อ่า, ที่มาแวดล้อม คือมาทำให้เกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาเป็น มันก็คือความเห็นแก่ตัวอีกนั่นแหละ เมื่อตัวได้รับประโยชน์อะไร เช่นว่าได้กินอะไรเป็นที่พออกพอใจเอร็ดอร่อย ก็ไม่อยากจะแบ่งปัน หนักเข้าก็อยาก อยากมากไปถึงกับว่าจะไม่ให้มีใครมาเทียมทัน เสมอกันกับตัว แล้วความโลภมากก็อยากจะให้ตัวมี ไม่อยากให้ผู้อื่นมี ถ้าเห็นผู้อื่นมี ก็รู้สึกว่าตัวเองนี้มันต่ำไป นี้เรียกว่าความอิจฉาริษยา เป็นต้นเหตุให้ไม่มีมุทิตา คือความยินดี ในเมื่อบุคคลอื่นมีอะไรหรือได้ดี ความริษยานี้เป็นสิ่งที่ทำมนุษย์ให้ฉิบหาย ผู้มีปัญญาได้กล่าวไว้ว่า ความไม่ยินดีแก่กัน อิจฉาริษยากันนี้เป็นสิ่งที่ทำโลกนี้ให้วินาศ ขอจงได้พิจารณาดูให้ดีเถิด ว่าเหตุการณ์ในสมัยปัจจุบันนี้ก็กำลังเป็นอย่างนี้
ความริษยากัน ไม่อยากให้ผู้อื่นขึ้นมาเทียมทันตัว ไม่อยากให้ผู้อื่นได้ดี หรือแม้ไม่อยากผู้ ให้ผู้อื่นร่ำรวยเท่ากับตัว ก็พลอยเกียดกันโดยประการต่างๆ คอยทำลายล้างซึ่งกันและกันอยู่ดังนี้ มันก็ไม่มีความผาสุกในโลกนี้หรือว่าในโลกไหนๆ ในโลกมนุษย์เป็นอย่างนี้ เพราะความอิจฉาริษยากัน ในเทวโลก มารโลก พรหมโลกก็ยังต้องเป็นอย่างนั้น คนจนก็ยังอิจฉาริษยากัน คนที่ไม่จนก็ยังอิจฉาริษยากัน คนที่มั่งมีก็ยังอิจฉาริษยากัน เพราะว่ากิเลสนี้ได้ค่อยๆเจริญงอกงามขึ้นในสันดานแห่งบุคคลนั้นๆเพราะความเห็นแก่ตัว พอเกิดมา ตั้งแต่แรกเกิดมาก็เริ่มศึกษาความเห็นแก่ตัว ด้วยการถูกแวดล้อมให้มีความเห็นแก่ตัว บิดามารดาก็ไม่ค่อยได้อบรมสั่งสอนให้ละความเห็นแก่ตัว แต่ว่าอบรมแวดล้อมไปโดยไม่รู้สึกตัวด้วยกันทั้งนั้น ในทางที่จะทำให้เด็กๆนั้นมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ต่อว่าเมื่อได้ประโยชน์อะไรมาเป็นของตัวหรือเป็นพวกของตัวเป็นอย่างน้อยแล้ว ก็มีความยินดี เมื่อบิดามารดาเองก็มีความเห็นแก่ตัว แล้วจะสอนลูกเล็กๆให้ทำลายความเห็นแก่ตัวนั้น มันก็เป็นไปไม่ได้ แม้ที่สุดแต่ว่าไม่พูดอะไรเลย เพียงแต่เป็นอยู่ให้ดูเท่านั้น มันก็สอนความเห็นแก่ตัวได้ การเอาอย่างกันนี้แหละมีน้ำหนักรุนแรงมากกว่าการสอนด้วยปาก เราจึงเห็นคนเอาอย่างกัน หรือสัตว์เดรัจฉานตัวเล็กๆมันก็เอาอย่างกัน แม้แต่สุนัขมันก็รู้จักความเห็นแก่ตัว หรือว่าเห็นแก่พรรคพวกของตัว หรือว่าสัตว์ที่จะเลวไปกว่าสุนัขก็ยังรู้จักความเห็นแก่ตัวหรือพรรคพวกของตัว
ทีนี้มนุษย์เรามีสติปัญญาแก่กล้ายิ่งไปกว่านั้น มันก็มีความเห็นแก่ตัวมากกว่าสัตว์ นี้คนมีกิเลสมากกว่าสัตว์ ไม่รู้จักละอายต่อสัตว์เสียเลย แล้วก็ไปหาทางแก้ตัวว่าสัตว์มันโง่ ไม่รู้จักความเห็นแก่ตัว เราก็เลยไม่มีความละอายในเรื่องของตัวที่มีความเห็นแก่ตัว จึงได้มีกิเลสมากกว่าสัตว์อยู่อย่างนี้เรื่อยไป ครั้นมีความเห็นแก่ตัวกันทุกคนอย่างนี้แล้ว จะหาความสามัคคีมาแต่ไหน ความเป็นมิตรก็ดี ความมีมุทิตาจิตก็ดี มันก็ไม่มีขึ้นมาสำหรับสร้างความสามัคคี
ถ้าว่าเราจะมีความสามัคคี ก็จะต้องมีอะไรมาเป็นเครื่องความเห็นแก่ตัว อ่า, มาเป็นเครื่องทำลายความเห็นแก่ตัว เช่นว่ามีเด็กๆหลายคนเป็นพี่น้องกัน ต่างคนต่างก็เห็นแก่ตัว แต่ถ้ายังรักบิดามารดาอยู่ ก็จะเห็นแก่บิดามารดา ก็จะผ่อนผันสั้นยาวให้แก่กันและกันได้ ไม่ทะเลาะวิวาทกัน นี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แม้ในสังคมที่กว้างออกไป กว้างออกไปก็มีอย่างนี้ ว่าในหมู่บ้านนี้จะสามัคคีกันก็เพราะว่าเห็นแก่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นเห็นแก่บ้านเมืองของตัว ก็สละความเห็นแก่ตัวเสียบ้าง ก็พอจะสมัครสมานสามัคคีกันได้ แม้ที่สุดแต่ในวัดๆหนึ่ง ถ้าบรรเทาความเห็นแก่ตัวกันเสียบ้าง ก็จะสมัครสมานสามัคคีกันได้ในการที่จะสร้างวัดของตัวเป็นส่วนรวมนั้น ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าออกไป ในประเทศก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีใครยอมสละความเห็นแก่ตัวแล้ว ก็ไม่หาความสามัคคีมาแต่ไหนได้ มันก็จะต้องตกเป็นเหยื่อของความแตกร้าว เป็นการตัดทอนกำลังของตน ในศาสนาหนึ่งๆนี้ก็เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่สมัครสมานสามัคคีกัน ก็เป็นการทำลายศาสนานั้นพร้อมกันไปในตัว
พระพุทธองค์ได้มีพระพุทธประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะให้สงฆ์สามัคคีกัน ในการที่ทำปาฏิโมกข์สังฆกรรมนั้น ก็เพื่อจะไม่วิวาทกัน เพื่อสมัครสมานสามัคคีกัน เพราะว่ามีความประพฤติเสมอกัน และในการให้ศึกษาธรรมะนั้น ก็ให้ เพื่อให้เกิดความสามัคคีกัน ก็มีความคิดเห็นเป็นอย่างเดียวกัน มนุษย์เราถ้ามีความประพฤติดีด้วยกัน มีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันแล้ว ก็จะมีความสามัคคีได้เป็นแน่นอน นี่แหละการที่เราจะทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นมา เพื่อเป็นการตอบสนองคุณสมเด็จพระบรมศาสดานั้น จะต้องทำตามคำสอนของพระองค์ ที่ว่าให้ทำลายความเห็นแก่ตัวเสีย
ท่านทั้งหลายอาจจะรู้จักน้อยไปก็ได้ ว่าพระพุทธองค์ทรงประสงค์ความสามัคคีมากน้อยเท่าไร แต่ท่านทั้งหลายอย่าได้คิดไปว่า เรื่องความสามัคคีนี้มันเป็นเรื่องของชาวบ้าน หรือว่ามันเป็นเรื่องของบ้านเมือง มันไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่มันเป็นเรื่องของพระศาสนา และเป็นเรื่องของการตั้งอยู่ได้แห่งคณะสงฆ์ในศาสนานั้นๆ โดยเฉพาะในพระพุทธศาสนาเรา ก็อา ก็ต้องการความสามัคคีเป็นอย่างยิ่งเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งพระศาสนา ลองทำอะไรให้แตกต่างกันไป มันก็เกิดความแตกต่างมากขึ้น จนถึงกับไม่มีความสามัคคีเลย แล้วก็ล่มจม คือต่างคนต่างก็ทำกันตามความพอใจ ตามกิเลสตัณหา ตามอวิชชาของตัว ในที่สุดก็เกิดสิ่งที่เรียกว่า สังฆเภท คือการ อ่า, การแตกทำลายกัน การแตกทำลายลงไปในหมู่สงฆ์ ก็หมายความว่าไม่มีศาสนาเหลืออยู่ในที่สุด การสืบอายุพระศาสนาจึงต้องการความสามัคคี เมื่อสามัคคีแล้วก็สามารถจะดำรงพระศาสนาให้ตั้งอยู่ได้ เมื่อพระศาสนาดำรงตั้งอยู่ได้แล้ว ก็เป็นโอกาสที่จะทำการเผยแผ่สั่งสอนให้กว้างขวางออกไป
การเผยแผ่พระศาสนานี้ เป็นความสำคัญในข้อที่ว่า จะทำให้มนุษย์ทั้งหลายพลอยได้รับประโยชน์สุข และยังมีความสำคัญในข้อที่ว่า พระพุทธองค์ก็ทรงพระประสงค์ว่าให้สาวกทั้งหลายช่วยกันเผยแผ่พระศาสนา ขอให้สังเกตดูในเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระบรมศาสดาในพระพุทธประวัตินั้นเถิด ว่าพอมีภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นเพียงไม่กี่องค์ ก็ทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนา ในลักษณะที่จะฟังดูก็จะเป็นการอ้อนวอนขอร้องมากกว่าที่จะบังคับ แล้วก็ยังทรงต่อรองว่าถึงแม้ฉันก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ให้พวกเธอทั้งหลายไป แม้ฉันก็ไป แต่เพื่อให้มันเร็วเข้าก็อย่าไปสายเดียวกันถึงสองรูปเลย ให้แยกกันไปสายละรูปๆ มันก็จะได้แพร่หลายเร็วเข้าอย่างนี้ นี้เป็นความประสงค์อย่างยิ่งของพระพุทธองค์ที่ว่าให้ช่วยกันเผยแผ่พระศาสนา
ดังนั้นเราซึ่งเป็นสาวกของพระศาสดาจะต้องมีความรับรู้ในข้อนี้ ว่าการช่วยทำให้ธรรมะนี้แพร่หลายออกไปนั้น เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะว่าเป็นความประสงค์ของพระศาสดา และเพราะว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง หรือว่าเป็นบุญเป็นกุศลแก่บุคคลผู้ทำการเผยแผ่พระศาสนานั่นเอง การเผยแผ่พระศาสนาในยุคนี้ได้กระทำกันมากแต่ในส่วนที่เป็นปริยัติศาสนา คือมีการพูดให้ฟัง มีการเขียนให้อ่าน หรือการพิมพ์โฆษณา แต่ว่ายังขาดส่วนที่สำคัญที่สุดคือการเผยแผ่ในการที่จะทำให้ดู คือการปฏิบัติให้ดู
ในครั้งโบราณนั้นไม่ค่อยมีการพูดจาหรือการตีพิมพ์เผยแผ่ แต่ว่ามีการปฏิบัติให้ดู เที่ยวเดินให้ดู เที่ยวนั่งให้ดู เที่ยวยืนให้ดู อยู่ด้วยความสงบสุข ไม่มีลักษณะแห่งความทุกข์ มีอินทรีย์แจ่มใส มีแววตาแสดงแห่งความสดชื่นเยือกเย็น อย่างนี้ไม่ต้องพูดกันสักคำ ก็เป็นการเผยแผ่พระศาสนาอย่างยิ่ง คนใดเห็น อ่า, เห็นเข้าแล้ว ก็สนใจพากันเอาอย่าง ครั้นมาถึงบัดนี้ เราพูดกันแต่ปาก ในใจนั้นไม่ได้เป็นเหมือนกับปากพูด คือยังมีความอิจฉาริษยา แต่ว่าพยายามที่จะสอนคนอื่น อยากจะตั้งตัวเป็นศาสดา ระวังให้ดี ว่าศาสดาชนิดนี้จะตกนรก ดีแต่จะเป็นครูเขา แต่ตัวเองไม่ปฏิบัติ ใช้ให้คนอื่นปฏิบัติ แต่ตัวเองก็ไม่ได้ปฏิบัติ อาการอย่างนี้จะมีมากขึ้นทุกที เพราะอยากจะได้ดีในข้อที่ว่าเราจะเป็นครูเขา อยู่เฉยๆก็เที่ยวข่มเหงย่ำยีคนนั้นคนนี้ ราวกับว่าเป็นครูบาอาจารย์ของเขา อย่างนี้มันไม่ถูก บางทีก็นึกน้อยอกน้อยใจว่าคนนั้นไม่ทำตามความแนะนำของเราเสียเลย อย่างนี้ก็มี ทำไมตัวเองไม่ดูให้ดีเสียก่อนว่ายังมีความบกพร่องอยู่มาก แล้วจะให้ใครเขามาเอาอย่าง
การเผยแผ่ด้วยการทำให้ดู คือมีความสุขให้ดูนี้มีความสำคัญมาก เหมือนกับว่ามันมีคนร่ำรวยให้ดู ด้วยการทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็มีคนแข่งกันจะทำการงานอย่างนั้น โดยไม่ต้องมีใครชักชวน แต่นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องหาเงินหาทอง เพียงแต่รวยให้ดูด้วยการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น คนทั้งหลายก็พากันทำตาม ไม่ต้องพูด ไม่ต้องชักชวน ต่างคนต่างหมายมั่นอยู่ในใจว่าจะแข่งขันกันเอาประโยชน์มาเป็นของตนให้มาก นี่แหละจงลองเทียบดูเถิดว่า การแสดงผลอะไรออกมาให้ดูนี้เป็นการเผยแผ่ที่ดี เรื่องของโลกๆมันเป็นอย่างนั้น เรื่องของธรรมะก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน มาเป็นผู้มีความสุขที่แท้จริงให้ดูเท่านั้นก็จะเกิดคนสนใจ มาไต่ถามว่าทำอย่างไรจึงได้มีความสุขเช่นนั้น การเผยแผ่อย่างนี้เรียกว่าเผยแผ่ด้วยการปฏิบัติให้ดูบ้าง หรือว่าเป็นการเผยแผ่ด้วยการ การทำตัวเป็นผู้มีความสุขให้ดูบ้าง เป็นความ เป็นการเผยแผ่ที่แน่นอนยิ่งกว่าที่จะพูดกันด้วยปาก หรือเขียนให้อ่าน แต่ถึงอย่างไรก็ดี มันก็เป็นสิ่งที่จะต้องทำพร้อมๆกันไป เราอ่านให้เขาฟัง เราสวดมนต์ให้เขาฟัง นี้มันก็เป็นการเผยแผ่ด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีฟังแล้วจับใจ ก็เอาไปสนใจ เอาไปคิดไปนึก หรืออย่างน้อยอยากจะเอาไปสวดบ้างอย่างนี้ก็ยังดี ถ้าเขาเอาไปสวดหลายๆหนเข้า เขาก็จะเข้าใจและปฏิบัติได้ในที่สุด
จึงเป็นอันว่า ให้สาวกของพระศาสดาทุกคนมีความสนใจในเรื่องนี้ คือในการที่จะถ่ายทอดพระธรรมนี้ไปยังผู้อื่นเป็นทอดๆไป ด้วยการพูดจาบ้าง ด้วยการปฏิบัติให้ดูบ้าง ด้วยการทำตัวเป็นผู้มีความสุขให้ดูบ้าง แล้วแต่จะสมควรอย่างไร แต่ทั้งนี้ต้องทำไปด้วยความเมตตากรุณา ถ้าไม่ทำไปด้วยความเมตตากรุณาแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จได้ หรือถ้าไม่มีความเมตตากรุณาแล้ว มันก็ไม่ทำเอาเสียเลย ยังจะแข่งขันกันไปในทางทำลายกัน ไม่เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นการทำลายพระพุทธศาสนาด้วย เราได้เห็นคนทะเลาะวิวาทกัน ทุ่มเถียงกัน เพราะเหตุแห่งการที่จะเอาหน้าเอาตาในการสอนธรรมะ คนหนึ่งก็อยากจะดีจะเด่นในการพูดธรรมะ อีกคนหนึ่งก็อยากจะดีจะเด่นในการพูดธรรมะ อยากจะมีหน้ามีตาในการสอนธรรมะ ก็เลยต้องทะเลาะวิวาทกัน เพื่อข่มขี่กัน ยิ่งถ้ามีความเข้าใจผิดกัน เห็นต่างกันในธรรมะข้อเดียวกันแล้ว ก็จะมีการประหัตประหารกันมากขึ้นด้วยปากบ้าง ด้วยไม้ด้วยมือ ด้วยศาสตราอาวุธบ้าง อย่างนี้เขาเปรียบไว้ว่า แทนที่คนเหล่านั้นจะใช้เรือใช้แพในการข้ามฟากไปฝั่งนู้น ก็เอาไม้พายบ้างไม้ไผ่บ้างมาตีกัน จนตกน้ำตายไปด้วยกัน ไม่มีใครต้องไป ไปได้ถึงฝั่งนู้นเลย ข้อนี้เป็นสิ่งที่จะต้องดูให้ดีว่ามันกำลังมีอยู่จริงหรือไม่ หรือว่ามันกำลังมีอยู่ในลักษณะที่มองไม่ค่อยเห็น
เดี๋ยวนี้วัดแต่ละวัดก็ดู ก็จะไม่ค่อยจะสมัครสมานสามัคคีกัน แม้ในวัดหนึ่งๆก็ยังมีบุคคลที่ไม่สมัครสมานสามัคคีกัน บางทีก็ไม่มีเรื่องอะไร เพียงแต่เรื่องผูดไม่ อ่า, เรื่องพูดไม่ถูกหูกันเท่านั้น หรือมองดูกันไม่ถูกตาเท่านั้น ก็อยู่กันอย่างที่เรียกว่าไม่สมัครสมานสามัคคีกัน คือการทำให้หมู่คณะนั้นๆไม่มีความเจริญงอกงาม
นี่แหละเมื่อเรามุ่งหมายที่จะสนองคุณของพระศาสดา โดยการเอามาระลึกนึก พูดกันในวันวิสาขบูชาเช่นนี้ ก็จงระลึกนึกให้ดี ให้แยบคาย ให้สุขุม ให้รอบคอบ ว่าเราจะต้องช่วยกันทำประโยชน์ผู้อื่น พระศาสดาทรงกำชับว่าจงทำประโยชน์ผู้อื่น ไม่ ไม่ได้สอน ไม่ได้ทรงสอนให้ทำแต่ประโยชน์ตนอย่างเดียว บางคนฟังผิด ก็ไปเข้าใจว่าพระศาสดาสอนให้เห็นประโยชน์ตนข้างเดียว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น บางคนฟังผิดมากไปกว่านั้น ถึงกับฟังได้ความว่าให้เห็นแก่ตัว ที่ว่าให้ประพฤติประโยชน์ตนนั้น ก็กลายเป็นเห็นแก่ตัวไปเสีย เห็นแก่ตัวด้วยอำนาจของกิเลสแล้ว ก็ทำลายประโยชน์ของตนนั่นแหละแหลกลาญไป ความประพฤติประโยชน์ตนนั้น ก็คือการทำตนให้เจริญในทางธรรม ให้กิเลสเบาบางไป ให้กิเลสคือความเห็นแก่ตัวนั่นแหละเบาบางไป เบาบางไป จนไม่มีความเห็นแก่ตัว อย่างนี้เรียกว่าประพฤติประโยชน์ตน ไม่ทำลายประโยชน์ของตน
ทีนี้การที่เห็นแก่ผู้อื่นบ้างนั่นแหละ มันจะช่วยให้เร็วเข้าในการทำลายความเห็นแก่ตัว ถ้าเราเอาจิตใจไปช่วยเหลือผู้อื่น ไปเห็นแก่ผู้อื่นบ้าง จิตใจที่จะเห็นแก่ตัวมันก็ต้องน้อยเข้าเป็นธรรมดา มันก็น้อยลงเป็นธรรมดา จึงเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่นเถิด โดยอาศัยหลักปฏิปทาของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ว่าจักเห็นแก่ผู้อื่น จะเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อนแต่ที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของตัว นี้บางคนก็คิดว่ามันจะมากไป มันจะเกินไปเสียแล้ว แต่ว่าโพธิสัตว์ทั้งหลายไม่ได้เห็นว่าเป็นการมากไปหรือเกินไปในการที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นก่อน เพราะว่าการเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นนั้นมันทำลายความเห็นแก่ตัวนั่นเอง และเมื่อตั้งหน้าตั้งตาทำประโยชน์ผู้อื่นแล้ว มันก็ทำไปได้อย่างกว้างขวางกว่าที่จะทำเพื่อเห็นแก่ตัวคนเดียว โลกนั้นจะมีความสงบสุขได้มาก ด้วยการปฏิบัติอย่างพระโพธิสัตว์ของบุคคลผู้เป็นโพธิสัตว์ ถ้าคนทั้งหลายจะพากันนิยมอุดมคติของโพธิสัตว์แล้ว ในเวลาอันไม่นานเลย โลกนี้ก็จะมีสันติสุข สันติภาพเป็นแน่นอน
การทำตนให้เป็นผู้มีจิตใจมากไปด้วยความกรุณาอย่างกว้างขวางนี้ เป็นการทำลายกิเลสอยู่ในตัวด้วย เป็นการประพฤติประโยชน์แก่ผู้อื่นพร้อมกันไปในตัวด้วย เรียกว่าเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ทั้งสอง ขอให้มีความตั้งอกตั้งใจดี เคารพในประโยชน์ของผู้อื่น อย่าได้เหยียบย่ำประโยชน์ของบุคคลอื่น ทะนุถนอมบุคคล อ่า, ทะนุถนอมประโยชน์ของบุคคลอื่น มันก็จะกลายเป็นยกย่องประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ตนโดยแท้จริงด้วยเหมือนกัน
วันนี้เรามาพูดกันถึงข้อที่สัตว์โลกทั้งหลายเป็นหนี้บุญคุณของพระศาสดาแห่งศาสนาของตนๆ อย่าคิดแต่เพียงว่าเราเป็นพุทธบริษัท ย่อมมีแต่พุทธศาสนาในโลกนี้ ต้องคิดว่ามันมีศาสนาด้วยกันหลายๆศาสนา แม้จะมีกันหลายศาสนา ก็ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แม้ว่าจะพูดจาผิดกันบ้างในการสั่งสอน ก็ไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าให้ทำไอ้อย่างตรงกันข้าม ด้วยเหตุที่ว่ามนุษย์นี้มันต่างกัน การสอนก็ต้องต่างกัน อุบายที่จะทำให้ละกิเลสก็ต่างกัน บางทีก็ในสมัยที่ต่างกัน ศาสนานั้นเกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว ศาสนานี้เพิ่งเกิดเมื่อ ๒,๐๐๐ ปีมานี่เอง ปรากฏว่าศาสนาอีกศาสนาหนึ่งเพิ่งเกิดมาเมื่อพันกว่าปีนี่เอง หรือว่าอาจจะมีศาสนาบางศาสนาเพิ่งเกิดมาเมื่อไม่กี่ร้อยปีนี่เอง แล้วเกิดในถิ่นที่ต่างกัน มีบุคคลที่ไม่เหมือนกัน มีนิสัยสันดานต่างกัน เพราะฉะนั้นไม่ๆๆสามารถที่จะพูดให้เหมือนกันได้ทุกตัวอักษร แต่ว่าโดยใจความแล้วจะเหมือนกันอย่างยิ่ง คือการทำลายความเห็นแก่ตัวเสีย ถ้าไม่มุ่งหมายทำลายความเห็นแก่ตัวแล้ว ก็จะไม่ชื่อว่าศาสนา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น นี่ขอให้จำไว้ให้ดีๆ ว่าถ้ามีการประพฤติประโยชน์แก่ผู้อื่นไม่เห็นแก่ตัวแล้ว ก็เป็นศาสนาที่ใช้ได้ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าว่ามีบริษัทคนใดเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นมา ก็ให้รู้เถิดว่าเขาได้ประพฤติผิดต่อศาสนาของเขาแล้ว เราจะต้องระวังกันในข้อนี้ว่า อย่าไปเข้าใจผิดว่าเขาเป็นผู้ถือศาสนาที่เป็นข้าศึกแก่เรา ศาสนาของเขาไม่เป็นข้าศึกแก่เรา แต่ว่าการที่เขาถือศาสนาของเขาผิดๆนั่นแหละจะเป็นข้าศึกแก่เรา ถึงเราเองก็เหมือนกัน ถ้าถือศาสนาของเราผิดๆแล้ว ก็จะกลายทำ เป็นการทำตัวให้เป็นข้าศึกแก่ศาสนาอื่น หรือบุคคลผู้ถือศาสนาอื่น
เดี๋ยวนี้โลกกำลังจะวินาศอยู่แล้วเพราะความเบียดเบียนกัน ไม่มีความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกัน เพราะว่าเขาพากันทิ้งศาสนา เขาพากันละทิ้งศาสนาไปบูชาประโยชน์ความสุขทางเนื้อทางหนัง ทางวัตถุ ทางเงินทางทอง ทางสิ่งของต่างๆที่ส่งเสริมตัวกูและของกู นี้เรียกว่าทำผิดมากในการละทิ้งศาสนา แล้วก็ไปบูชากิเลสคือตัวกูของกู ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ ก็จะต้องถึงซึ่งความวินาศ ดูๆก็ว่าจะใกล้ความวินาศเข้าไปทุกที เราจะทำกันอย่างไรดี
เห็นว่าควรจะช่วยกันถ่วงไว้ หน่วงไว้ อย่าให้มันวิ่งไปในทำนองนั้น ช่วยกันถ่วงไว้ คือทำให้มีศาสนา ช่วยกันทำให้ทุกฝ่ายสนใจในศาสนา และแสดงความเป็นมิตรต่อกัน อาตมาจึงเห็นว่าในยุคนี้ การพยายามทำความเข้าใจอันดีต่อกันและกันในระหว่างศาสนานั้น เป็นความสำคัญอย่างยิ่ง จึงได้พยายามอธิบายชี้แจงให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ศาสนาทั้งหลายไม่ได้ตั้งอยู่ในฐานะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หากแต่ว่าบุคคลผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ในศาสนานั้นๆต่างหาก ทำตัวให้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แล้วประชาชนคนทั้งหลายก็พากันหันหลังให้แก่ศาสนา ไปเห็นแก่ประโยชน์ทางวัตถุของตน ก็เป็นอันว่าสิ่งที่เรียกว่าศาสนานั้นก็หมดความหมาย หมดอำนาจ หรือว่าหมดอานิสงส์ที่จะดำรงสัตว์โลกหรือดำ อ่า, โลกนี้ไว้ให้ปลอดภัยได้ โลกจะวินาศ โลกจะฉิบหายเพราะความไม่ยินดีต่อกัน เพราะความเข้าใจผิดต่อกัน ถ้าว่าจะช่วยให้ไม่ต้องฉิบหายไม่ต้องวินาศแล้ว มันจะเป็นบุญเป็นกุศลสักเท่าไร นี้ก็ต้องไปคิดดู
บุญกุศลของคนโดยมากนั้นเป็นการเห็นแก่ตัวทั้งนั้น ทำอะไรก็จะเอาเข้าข้างตัวให้มากเข้าไว้ แล้วเขาก็เรียกว่าบุญกุศล อย่างนี้ดูให้ดี มันอาจจะไม่ใช่บุญกุศลเลยก็ได้ ถ้าเป็นบุญกุศลจริง ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ผู้อื่น และไม่ต้อง อ่า, ต้องไม่เห็นแก่ตัว ทำลายความเห็นแก่ตัวนั่นแหละเป็นบุญกุศลอันแท้จริง ถ้าเพิ่มความเห็นแก่ตัวให้มากเข้า มันจะเป็นบุญกุศลกันได้อย่างไร ถ้าว่าเราจะทำบุญอะไรออกไปสักอย่างหนึ่ง แล้วก็จะเอาให้มาก จะเอาแก่ตัวเองให้มาก จะเอาวิมานให้หลายๆวิมาน จะเอาความสุขอย่างนั้นอย่างนี้ให้มาก อย่างนี้มันเป็นการเพิ่มความเห็นแก่ตัวหรือว่าเป็นการทำลายความเห็นแก่ตัว
การที่เขาสอนว่าทำบุญแล้วให้เอาผลของบุญเพื่อจะให้อยู่เป็นสุขนี้มันก็ถูก แต่ว่าความสุขนั้นต้องไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ถ้าเกิดเป็นความเห็นแก่ตัวขึ้นมาแล้วมันเป็นความทุกข์ สิ่งที่เรียกว่าบุญนั่นแหละมันจะกัดเอา มันจะทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น เพราะมันเป็นบุญที่ไม่จริง เป็นบุญที่ว่าเอาเอง เข้าใจผิดเอาเอง ระวังบุญชนิดนี้ให้ดี มันจะกัดเอา คือว่ามันจะทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นมากขึ้นจนนอนไม่หลับ จนเป็นโรคเส้นประสาท จนเป็นโรคจิต จนกระทั่งตายไป ทายกทายิกาทั้งหลายผู้ใดก็ตาม จงสังเกตดูให้ดีๆว่า ถ้ามันเกิดอาการนอนไม่ค่อยหลับแล้ว จงค้นดูเถิดว่ามันจะต้องมีความเห็นแก่ตัว บุญกำลังกัดเอา เพราะมีความเห็นแก่ตัวมาก แล้วก็ทำอะไรโดยทำไปเพื่อจะเพิ่มให้แก่ตัวเท่านั้น มันเห็นอยู่อย่างนี้แล้ว มันก็ผิดจากทำนองคลองธรรมของพระศาสนา ถ้ายังนอนหลับสบายดี มีความรู้สึกไปในทางทิศไหนทางไหน ก็เต็มไปด้วยความรู้สึกว่ามีความเป็นมิตร มีความหวังดีต่อเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน มีความแน่ใจ รู้สึกอยู่แก่ใจว่าขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเป็นสุขเป็นสุขเถิด ด้วยความรู้สึกอันจริงใจอย่างนี้นี่แหละจะทำให้นอนหลับ ถ้ามีความเกี่ยงงอน แม้แต่เล็กน้อยก็ไม่ได้ สละให้ไม่ได้ มีความตึงเครียดในการเห็นแก่ตัว ไม่มีการผ่อนผันแก่บุคคลใด ไม่เท่าไรก็จะต้องนอนไม่หลับ
ความจริงแล้วข้อที่จะต้องเสียเปรียบแก่บุคคลใดไปบ้างนั่นแหละคือการได้เปรียบ ถ้าเขาเอาเปรียบเรา ก็หมายความว่าเขาได้เสียเปรียบเราแล้ว คือเขาทำผิด เขาเพิ่มกิเลสให้แก่ตัวเขาเอง เขาจึงได้เอาเปรียบเรา เมื่อเขาเอาเปรียบเรา ถ้าเรามองให้ดีว่าเปรียบที่เขาเอาไปนั่นแหละ มันจะเป็นบาปแก่เขา แต่เป็นบุญแก่เรา คือทำให้เราลดความเห็นแก่ตัวได้ ฉะนั้นอย่าไปตึงเครียดในการได้เปรียบเสียเปรียบในทำนองที่พวกชาวบ้านเขายึดมั่นถือมั่นกันเลย
ถ้าได้เปรียบก็คือได้สละให้แก่ผู้อื่น หมดความเห็นแก่ตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าได้เปรียบ แต่ชาวบ้านทั้งหลายเขาไม่เห็นกันอย่างนั้น เขาไปเห็นว่าถ้าเราเอาอะไรของเขามาได้มากๆโดยไม่ต้องลงทุนอะไรก็ยิ่งได้เปรียบ ได้เปรียบอย่างนี้มันจะพาไปลงนรก แล้วก็เห็นๆกันอยู่ว่าคนที่ปฏิบัติอย่างนั้นไม่มีใครรัก ไม่มีใครนับถือเลย มีแต่คนรังเกียจ คนรังเกียจมันไม่พอ มันยังไม่ร้ายเท่าไร มันทำลายตัวเองในข้อที่ว่า ทำให้จิตใจมีกิเลสมากขึ้นๆ จนนอนไม่หลับ มีแต่ความวิตกกังวล มีความห่วงใยในข้อที่ว่ามันจะไม่ได้เปรียบ หรือว่าเปรียบมันจะเสียไป อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้ไม่เป็นการเผยแผ่ธรรมะ ไม่เป็นการเผยแผ่ส่วนบุญ ไม่เป็นการเผยแผ่ความดีหรือความรักความสามัคคี แต่ประการใดเลย
ในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้มีการระลึกนึกถึงข้อที่ว่าเราจะทำลายความเห็นแก่ตัว ด้วยการแบ่งบุญแบ่งกุศลแบ่งความดีแบ่งอะไรต่างๆที่จะแบ่งได้ให้แก่คนทั้งหลาย ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เราสร้างอะไรมา สร้างอะไรขึ้นมาด้วยการกระทำที่ถูกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่อง นั่นต้องสร้างขึ้นมาเพื่อจะแจกจ่ายแก่ผู้อื่นมากกว่าที่จะสร้างกินเอง ถ้าเราคิดว่าจะสร้างเอาเอง มันก็ไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ถ้าว่าจะสร้างเพื่อว่าให้ทุกคนได้รับประโยชน์แล้ว มันก็เป็นการสร้างที่มีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นการเผยแผ่หมด เผยแผ่ความรู้ เผยแผ่บุญกุศล เผยแผ่ความดี เผยแผ่ธรรมะ เผยแผ่พระศาสนา เผยแผ่ประโยชน์ให้แก่บุคคลผู้อื่น ตรงตามความมุ่งหมายหรือความประสงค์ของพระศาสดา อย่างที่ตรัสแล้วตรัสเล่าว่า เมื่อเห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตนก็ตาม จงทำประโยชน์ของตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด เมื่อเห็นอยู่แก่ประโยชน์ของบุคคลผู้อื่นก็ตาม จงทำประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด หรือเมื่อเห็นอยู่ว่าจะเป็นประโยชน์แก่กันและกันทั้งสองฝ่ายก็ตาม จงทำประโยชน์นั้นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด มีจิตใจที่ซื่อตรงบริสุทธิ์ต่อพระศาสดาดังนี้แล้ว บำเพ็ญประโยชน์เถิด ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ทั้งหลายด้วยความไม่ประมาทอันถึงพร้อมแล้ว
การทำอย่างนี้เป็นการสนองพระคุณของพระพุทธองค์ด้วยความกตัญญูกตเวทีอย่างยิ่ง พระองค์ไม่ทรงประสงค์อย่างอื่นเลย ทรงประสงค์อย่างนี้ พระองค์ทวงหนี้บุญคุณแก่เราด้วยคำว่า จงรีบทำประโยชน์ของตนเถิด จงรีบทำประโยชน์แก่บุคคลอื่นเถิด จงรีบกระทำประโยชนแก่บุคคลทั้งสองฝ่ายเถิด คิดดูทีว่ามันมีใครทวงหนี้กันอย่างนี้บ้าง พระศาสดาของเราทวงหนี้แก่บริษัทของพระองค์ว่า จงทำอย่างนี้เถิด จงประพฤติประโยชน์ตน ประพฤติประโยชน์ผู้อื่น และประพฤติประโยชน์แก่บุคคลทั้งสองฝ่ายเถิด จึงเป็นบุคคลที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมอันใหญ่หลวง อันสูงสุด ควรแก่การสักการะบูชา ควรแก่การที่ว่าจะสนองพระคุณของพระองค์ให้สมตามพระพุทธประสงค์ทุกๆประการ
ธรรมเทศนาในตอนนี้แสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการประพฤติประโยชน์บุคคลผู้อื่น สืบเนื่องกันมาจากธรรมเทศนาในตอนหัวค่ำ ที่ว่าสนองพระคุณด้วยการประพฤติประโยชน์ตน รีบทำตนให้บรรลุมรรคผลได้เร็วเท่าไร ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปรนนิบัติให้ถูกพระทัยของสมเด็จพระบรมศาสดามากเท่านั้น พระอรหันต์องค์หนึ่ง เมื่อบรรลุความเป็นพระอรหันต์แล้ว ปากโพล่งออกมาด้วยความยินดี เหมือนกับร้องตะโกนว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ที่เราบำเรอปรนนิบัติแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ที่เราบำเรอปรนนิบัติแล้ว เพราะว่าเราได้ทำกิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก คือรู้สึกความสิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว ความสิ้นกิเลสอาสวะของเรานั้นเป็นที่ถูกพระทัยของพระศาสดา ดังนั้นจึงชื่อว่าพระศาสดานั้นเป็นผู้ที่เราปรนนิบัติบำเรอแล้ว ขอให้คิดดูอย่างนี้ ว่ามันแตกต่างจากเรื่องธรรมดาสามัญของคนธรรมดาสามัญอย่างไร พระสาวกทำตนให้เป็นพระอรหันต์ได้นั่นแหละคือการปรนนิบัติพระศาสดาของตนอย่างสูงสุด
ขอให้ท่านทั้งหลายสนใจที่จะสนองพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าในข้อนี้ ต่อเมื่อเห็นอยู่ว่าจะช่วยผู้อื่นให้เป็นอย่างนั้นได้ด้วยก็รีบช่วย เพื่อว่าเขาก็จะเป็นบุคคลที่ปรนนิบัติบำเรอพระศาสดาของตนเช่นเดียวกับเรา อย่างนี้ก็จะทำให้พระศาสนานี้มั่นคง ทำให้โลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ เพราะแต่ละคนก็ขยันที่จะบำเพ็ญประโยชน์ชนิดที่เป็นที่ถูกพระหฤทัยของสมเด็จพระบรมศาสดา มีนัยยะดังวิสัชนามา ว่าในวันนี้กระทำวิสาขบูชา สำนึกในพระคุณของพระศาสดาแล้ว ก็จงรีบสนองพระคุณด้วยการบำเพ็ญประโยชน์ตน และบำเพ็ญประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด
ธรรมเทศนานับว่าเป็นการสมควรแก่เวลา ขอให้พระสงฆ์ทั้งหลายสวดคณะสาธยายซึ่งพระพุทธภาษิตอันจะเป็นเครื่องส่งเสริมจิตใจของทายกทายิกาทั้งหลาย ให้เกิดความกล้าหาญร่าเริง ในการที่จะปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนให้ถูกตรงตามพระพุทธประสงค์ยิ่งๆขึ้นไปในกาลบัดนี้เถิด.