แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเนื่องในมาฆบูชาในวันนี้ ต่อจากธรรมเทศนาที่ได้วิสัชนาแล้วในตอนต้นแห่งราตรี ธรรมเทศนาที่กล่าวค้างไว้นั้นก็คือปรารภเรื่องสจิตตปริโยทปนัง กล่าวคือการทำจิตของตนให้ผ่องแผ่ว ท่านทั้งหลายควรจะได้ทราบว่าการทำจิตของตนให้ผ่องแผ่วนั้น มันกินความหมายกว้าง คือมันเท่ากันกับสิ่งที่ทำจิตให้เศร้าหมอง สิ่งที่จะทำจิตให้เศร้าหมองมีมากมาย ฉะนั้นการที่จะทำจิตให้ผ่องแผ่วมันก็ต้องมีมากมายไปตาม ในบรรดาสิ่งที่จะทำจิตให้เศร้าหมองที่มีมากมายนั้น ในที่นี้จะกล่าวแต่เฉพาะบางอย่างซึ่งเป็นของละเอียด และเรื้อรัง ความโลภความโกรธความหลง โดยกิริยาอาการอันหยาบนั้น ก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องทำจิตให้เศร้าหมอง ไม่ต้องอธิบายอะไรมากมายนักก็ได้ ยังเหลืออยู่ในส่วนที่เป็นความละเอียดประณีตลึกซึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือความสงสัย ความลังเล ความไม่แน่ใจ แม้ที่สุดแต่ว่าจะมีความสงสัยว่าเรานี้ตายแล้วจะเกิดหรือไม่ นี้ก็เป็นเครื่องทำจิตให้ไม่ผ่องใส ถ้ายังมีความลังเลอยู่แม้แต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นว่า เราจะได้รับบุญกุศลที่ได้กระทำไว้นี้ต่อหลังจากตายแล้วหรือไม่ ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เนื่องอยู่ในเรื่องเดียวกัน คือเรื่องที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นั่นเอง คนบางคนก็เข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปตามวิถีทางของตัว แล้วแต่ว่าจะมีความยึดมั่นในชั้นไหน มีความสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้ก็เป็นเครื่องรบกวนใจให้เศร้าหมอง หรือว่าจะมีความยึดมั่นว่าตายแล้วต้องเกิดอีก อย่างนี้มันก็เป็นความเศร้าหมองอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน หรือตายแล้วไม่เกิดอีกแต่เป็นความยึดมั่นของตัวเองซึ่งไม่ถูกตรงกับความจริง อย่างนี้มันก็เป็นความเศร้าหมอง ดังนั้นจึงน่าจะพิจารณาเห็นกันว่าแม้แต่ปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดนี่ ก็แตกแยกแขนงออกไปสำหรับจิตใจจะได้สงสัยลังเลเป็นความเศร้าหมองได้มากมายหลายประการ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ย่อมไม่มีความลังเลสงสัย คือมีจิตบริสุทธิ์ขาวผ่องถึงที่สุด ไม่มีความมืดมัวหรือความสลัวหรือความสงสัย จนคนธรรมดาก็ยังมีความสงสัยที่กลับไปกลับมา เดี๋ยวก็ว่าตายแล้วคงจะเกิด เดี๋ยวก็ว่าตายแล้วคงจะไม่เกิด และปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่ไม่มีที่สิ้นสุด คือสงสัยลังเลกันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาลจนกระทั่งถึงพุทธกาล จนบางทีกระทั่งถึงบัดนี้มีความลังเลสงสัยอย่างเดียวกันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะว่าที่ตั้งแห่งความสงสัย มันคงยังมีอยู่เป็นอย่างนั้น คนสมัยนี้ส่วนมากก็ไม่เชื่อว่าตายแล้วจะเกิด ก็มีความเศร้าหมองเพราะความเชื่อที่ผิดๆมันก็ได้ หรือแม้จะพูดอยู่ว่าตายแล้วไม่เกิด แต่ในใจมันก็อดลังเลไม่ได้ ปัญหาจึงไม่มีที่สิ้นสุด ถึงขนาดที่เรียกกันว่าเป็นปัญหาโลกแตก คนเป็นอันมากก็คงจะได้ยินคำๆ นี้ที่เรียกกันว่าเป็นปัญหาโลกแตก คือเป็นปัญหาที่จะให้เถียงกันไปพูดกันไปจนกระทั่งโลกนี้แตกทำลายลงไป ปัญหานั้นก็ยังไม่สิ้นสุด อย่างนี้ก็เรียกว่าปัญหาโลกแตก คือจะมีไปจนกระทั่งโลกนี้จะแตกสลายไป ปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุด มันก็เป็นเรื่องที่น่าหัว ที่ว่าโลกแตกไปแล้วปัญหาก็ยังไม่สิ้นสุด มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน คือให้ถามกันได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด คนถามปัญหาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี่ บางคนก็หลับตาถาม คือตัวเองก็ไม่ได้เชื่อก็ถาม หรือว่าถามทั้งที่ว่าไม่แน่ใจว่าจะเป็นอย่างไร คนตอบก็อาจจะหลับตาตอบ คนเชื่อก็ต้องหลับตาเชื่อ คิดดูให้ดีว่าเราไปถามใครว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ถ้าเขาตอบว่าตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วไม่เกิดอีกก็ตาม ก็ไม่มีอะไรที่มายืนยันให้เห็นจริงได้ มันก็หลับตาเชื่อ อย่างนี้มันก็ป่วยการ จะไปคิดปัญหาอื่นเสียยังจะดีกว่า อย่างน้อยก็คือปัญหาที่ว่าที่ยังไม่ตายนี้จะต้องทำอย่างไร เพราะมันเป็นเรื่องถึงเข้าเฉพาะหน้าแล้ว ที่จะต้องทำให้ถูกต้องให้สิ้นสุดลงไป จะมามัวถามปัญหาที่ต้องหลับตาถาม ก็หลับตาตอบ แล้วก็หลับตาเชื่อกันอยู่อย่างนี้ มันก็คงจะเสียเวลา แต่ว่าในที่สุดมันก็ช่วยไม่ได้ในข้อที่ว่าถ้ายังเป็นปุถุชนอยู่ มันก็ยังสงสัยอยู่อย่างนี้ อยากถามอยู่อย่างนี้ แล้วตัวเองก็ตอบได้เหมือนกันไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
ทีนี้เราก็ตั้ง ตั้งปัญหาสมมติขึ้นมาว่า ถ้าเราไปทูลถามพระพุทธเจ้า หรือว่าเราจะไปถามพระอรหันต์ทั่วๆ ไปก็ดี ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ อย่างนี้ก็ลองคิดดูว่าท่านจะตอบว่าอย่างไร มีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าในลักษณะอย่างนี้ ท่านก็พิจารณาดูว่าควรจะตอบอย่างไรอยู่ด้วยเหมือนกัน ถ้าว่าผู้ถามเป็นปุถุชนธรรมดาสามัญอยู่มากๆ เป็นการถามปัญหาในทางของศีลธรรมเพื่อประโยชน์แก่ศีลธรรม พระพุทธองค์ก็จะทรงตอบไปในทำนองที่เป็นประโยชน์แก่ศีลธรรมของคนทั่วไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่เคยทรงยืนยันลงไปตรงๆ ว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วไม่เกิด ท่านจะตอบไปในทางที่ว่า ความเชื่ออย่างไหนมันจะมีประโยชน์กว่ากัน คือถ้าเชื่อว่าตายแล้วเกิดมีประโยชน์กว่า เชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด หรือว่าเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด มีประโยชน์กว่าที่จะเชื่อว่าตายแล้วเกิด ในที่สุดผู้ถามนั่นเองจะเป็นผู้ตอบได้เอง เพราะถ้าเราเชื่อว่าตายแล้วเกิดอย่างนี้มันได้เปรียบกว่า ในเมื่อเราก็ไม่รู้ทั้งนั้นว่าตายแล้วจะเกิดแน่หรือไม่เกิดแน่ ไม่มีอะไรมาเป็นพยานหลักฐาน พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทรงกระทำไปในลักษณะที่จะให้คนนั้นมันเชื่ออย่างที่เรียกว่างมงาย คือหลับตาเชื่อ ฉะนั้นจึงต้องมาตั้งปัญหาให้เขานึกเอาเองว่าใน ๒ อย่างนี้ มันเชื่ออย่างไหนดี ถ้าเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก คนมันก็ต้องพยายามจะทำความดีไว้เพื่อประโยชน์แก่การที่จะเกิดอีก อย่างนี้มันก็ได้ประโยชน์กว่า ถ้าเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด มันมีทางที่จะเป็นอันตราย คือจะทำอะไรไปในทางที่ไม่เผื่อไว้ว่ามันจะเกิดอีก มันก็อาจจะทำความชั่วทำบาปได้โดยง่ายกว่าพวกคนที่เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก สำหรับข้อนี้เมื่อมันตกลงกันไม่ได้หรือมันจะทำจิตให้ปลงลงชัดไปไม่ได้ว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก ก็จริง แต่สามารถที่จะทำให้จิตมันมีความเชื่อแน่นแฟ้นลงไปได้ในข้อที่ว่า เมื่อเราทำความดีไว้เผื่อการเกิดอีกนี่ ก็ไม่มีทางที่จะขาดทุน เป็นที่มั่นใจได้รับประกันตัวเองได้ว่าไม่มีทางที่จะขาดทุน ว่าเมื่อเราทำความดีมากๆ เข้าไว้ก็ได้รับผลของความดีนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นในปัจจุบันนี้ แม้ว่าไม่เกิดอีก มันก็ไม่ขาดทุนเพราะเราได้รับผลของการทำความดีทั้งหมดทั้งสิ้นในปัจจุบันนี้ ถ้ามันเผอิญไปเกิดอีกเข้าจริงๆ ก็ไม่ขาดทุน ก็ยิ่งได้กำไร อย่างนี้มันทำให้แน่ใจว่าเราถืออย่างนี้ดีกว่า ถ้าเราไม่อาจจะมองเห็นชัดลงไปในข้อที่ว่าเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก เราก็มองเห็นชัดลงไปว่าถ้าเชื่อว่าเกิดอีกมันมีทางที่จะได้กำไรแน่นอน
ความเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกนี้ เชื่อกันมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และเป็นเรื่องของศีลธรรมคือช่วยให้คนมีศีลธรรมดี ประพฤติแต่ความดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่สงเคราะห์เกื้อกูลซึ่งกันและกัน โดยถือเสียว่าทั้งหมดนี้จะต้องเกิดอีกจะต้องเวียนว่ายไปในวัฏสงสารเป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายในวัฏสงสารตลอดกาลนาน ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ศีลธรรมมันก็ดีคือไม่เบียดเบียนกัน เดี๋ยวนี้คนสมัยนี้จะไม่คิดอย่างนี้ แม้แต่ของตัวเองก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดอีกก็ได้ แล้วก็พากันชวนให้ไม่นึกถึงว่าตายแล้วมันจะเกิดอีกหรือไม่เกิดอีก มันก็เลยเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวที่นี่เดี๋ยวนี้ จิตใจมันก็แคบในการที่จะทำความดีให้มากเข้าไว้ ถือเอาประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นใหญ่ ก็เลยทำไปในลักษณะที่กระทบกระทั่งผู้อื่น เอาเปรียบผู้อื่น เอามาเป็นของตัวให้มากเข้าไว้ ศีลธรรมมันจึงได้เสื่อม นี่แหละขอให้สังเกตดูให้ดีไว้ทีหนึ่งก่อนว่าถ้ามีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ แล้วคนนั้นก็เป็นคนที่ยังเป็นคนธรรมดาสามัญเกินไป ยังมีปัญหาทางศีลธรรมมากกว่า พระองค์ก็ทรงตอบไปในทางที่จะให้เขามีความเชื่อในการที่จะทำความดีหรือมีศีลธรรมนั้นให้ถึงที่สุด
ทีนี้อีกทางหนึ่งมันเรียกว่าไม่เหมือนกันหรือจะถึงกับตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนที่มีสติปัญญาพอที่จะเข้าใจเรื่องสัจธรรมหรือเรื่องปรมัตถธรรมในส่วนตัวของบุคคลคนหนึ่งได้ พระพุทธเจ้าก็จะตรัสตอบไปในทางอื่น คือว่าอย่ามาพูดกันในเรื่องตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดเลย มาพูดกันเรื่องว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความทุกข์ อะไรจะดับทุกข์เสียได้ดังนี้ดีกว่า ก็คือพูดกันถึงเรื่องอริยสัจ ความทุกข์ก็คือความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์ โดยความเป็นตัวเป็นตน เป็นของของตน นี่เกิดความทุกข์ขึ้นมาเพราะความยึดมั่น ความยึดมั่นก็มาจากตัณหา คือความอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ อยากอย่างโน้น ก็ตามที่ตัวต้องการอย่างไรแล้วก็ยึดมั่นอย่างนั้น นี่ความทุกข์มันเป็นอย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์มันเป็นอย่างนี้ จะดับทุกข์ได้ก็ดับไอ้ความยึดมั่นอย่างนี้เสีย ดับตัณหาอย่างนี้เสีย จะดับตัณหานี้อย่างไร ก็คือตั้งตนไว้ในอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ ซึ่งมีสัมมาทิฎฐิ เป็นตัวประธาน เป็นตัวนำอยู่ข้างหน้า กล่าวคือมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องธรรมทั้งปวงที่มีเหตุ ล้วนแต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เป็นเรื่องเป็นราวไป ปัญหาของมนุษย์นี้ส่วนใหญ่ก็มาจากความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวตนหรือในเรื่องของตน ถ้ามีสัมมาทิฎฐิมองเห็นให้ชัดเสียก่อนว่ามันไม่มีตัวตน มันไม่มีของตน เรื่องมันก็จะเดินไปถูกทางไม่เขวออกไปนอกทาง คือเห็นว่ามันเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไปตามธรรมชาติ สิ่งที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัย หรือเป็นผลก็ตาม ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เรียกว่าธาตุ หรือเป็นสักว่าธาตุ ดังที่ได้วิสัชนาแล้วโดยละเอียดว่ามันเป็นสักว่าธาตุอย่างไร ถ้าเห็นว่าสักว่าธาตุเป็นไปตามธรรมชาติอย่างนี้ก็หมดความสำคัญผิดในเรื่องเกี่ยวกับตัวตนหรือของตน คือจะไม่เกิดความรู้สึกที่เป็นตัวตนหรือของตน ก็เรียกว่ามีสัมมาทิฎฐิ ก็เลยหมดปัญหาปลีกย่อยต่างๆ นานา เช่นว่ามี เช่นว่าจะเกิดหรือไม่ การที่จะคิดว่าเกิดหรือไม่เกิดนี้มันต้องมีตัวตนสำหรับไปเกิด แต่พอเห็นแจ้งลงไปว่าไม่มีตัวตนเสียแล้ว มันก็ตอบได้เองว่าไม่ได้มีการเกิด และไม่ได้มีการเกิดอีกหรือเกิดมาแล้ว เพราะว่ามันไม่มีตัวตน เราเคยคิดเคยเชื่อเคยหลงไปว่ามีตัวตนและมีเกิด มีเราเกิด เดี๋ยวนี้เรามามองเห็นชัดเจนว่ามันเป็นสักว่าธาตุ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีส่วนใดที่จะป็นตัวตนหรือมั่นหมายเอาเป็นตัวตน แล้วมันจะเป็นตัวตนของตนไปเกิดอย่างนั้น ไปเกิดอย่างนี้ เรื่องมันจบลงที่ความไม่มีตัวตน ปัญหาต่างๆ มันก็สิ้นสุดตามไปด้วยว่าเกิดหรือไม่เกิด คนนั้นเมื่อเห็นว่าไม่มีตัวตนแล้วก็เป็นเหตุให้ข้ามปัญหาหรือข้ามความสงสัยต่างๆ ได้หมดสิ้น ที่เกี่ยวกับว่ามีตัวตนแล้วจะไปเกิดอย่างไร จะพาเอาอะไรไป จะได้อะไรไปอย่างนี้ นี่มันเป็นปัญหาที่เรียกว่าสูงขึ้นไป เป็นอย่างสัจธรรมหรือ ปรมัตถธรรม คู่กันกับปัญหาทางศีลธรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ยิ่งกว่าคนหนึ่งๆ ปัญหาทางสัจธรรมหรือ ปรมัตธรรมนั้น มันเป็นประโยชน์แก่บุคคลคนหนึ่งๆ ยิ่งกว่าที่จะไปมัวเล็งถึงสังคม เพราะว่าสังคมนั้นมันคือคนมากๆ แล้วคนมากๆ นั้นจะให้ฉลาดพร้อมกันไปคราวเดียวกันมันไม่ได้ มันมีความเกี่ยงแย่งกันแม้แต่ความคิดความเห็น มันต้องลดลงไปในลักษณะที่ว่าจะเข้าใจเหมือนๆกันได้และไปด้วยกันได้ นั้นเป็นเรื่องของศีลธรรมและเป็นเรื่องของสังคม อย่างในกรณีที่เกี่ยวกับตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดนี่ ถ้าเป็นเรื่องของสังคมก็อาจทำให้เข้าใจและเชื่อพร้อมๆ กันไปได้ในข้อที่ว่า ถ้าเราเชื่อว่าตายแล้วเกิดอย่างนี้มันดีกว่าที่จะไปเชื่อว่าตายแล้วไม่เกิด ถ้าทุกคนเชื่อว่าตายแล้วเกิด มันก็ชวนกันทำความดีเพื่อจะไปเกิดดีเกิดใหม่ สังคมมันก็ดี คือทุกคนอยู่กันได้ด้วยความสงบ ทั้งหน้าทั้งตาทำความดี มีศีลมีธรรมสำหรับไปเกิดดี เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเรื่องศีลธรรมก็จำเป็น เพราะเคยเชื่อกันมาอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ทรงยกเลิกข้อนั้น ไม่กล่าวอะไรที่ขัดขวางกัน ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว พระองค์จะทรงสอนเรื่องความที่ไม่มีคน ความที่ไม่ใคร ไม่มีตัวมีตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลต่างหาก เมื่อยังเข้าถึงไม่ได้ เพราะว่าความจริงอันนี้มันสูงไป ก็จะลดไปอยู่ที่ศีลธรรม ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าถ้าจะให้ตอบกันในแง่ของศีลธรรมแล้ว ให้ถือว่าตายแล้วเกิด เพื่อจะได้มีศีลธรรมดี แต่ถ้ามันเป็นเรื่องที่สูงขึ้นไปถึงสัจธรรมปรมัตถธรรม ของบุคคลคนหนึ่งๆ ที่ว่าจิตใจของเขาจะบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไปจากความลังเลสงสัยหรือความงมงายแล้ว เขาก็จะต้องศึกษาไปในทางที่ว่าไม่มีตัวคน ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล มีแต่ว่าสักว่าธาตุเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีตรงไหนที่จะไปยึดเอาเป็นบุคคลได้ นี่ก็เป็นเรื่องของปรมัตธรรม สิ่งทั้งสองนี้จะต้องคู่กันไป หมายความว่าเมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ยึดกันไปในหลักของศีลธรรม ยังไม่อาจจะเข้าใจในส่วนของปรมัตถธรรม แต่ถ้าคนมันได้ทำดีถึงที่สุดโดยหลักที่ว่า สัพพปาปัสสะ อกรณัง ไม่ทำความบาปทั้งปวง กุสลัสสูปสัมปทา (นาทีที่ 23:51) ทำกุศลให้ถึงพร้อม มันก็มีศีลธรรมดี มีกุศลดี มีถึงพร้อม แล้วมันยังรู้สึกว่าทำไมมันยังเป็นทุกข์อยู่ ทำไมยังมีปัญหาเรื่องเกิด เรื่องแก่ เรื่องเจ็บ เรื่องตาย เรื่องอะไรทำนองนี้อยู่ ศีลธรรมไม่ช่วยแก้ปัญหาของบุคคลโดยเฉพาะในเรื่องอันลึกซึ้งที่เกี่ยวกับความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นคนจึงต้องก้าวหน้าต่อไปอีกขั้นหนึ่งตามหลักที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ว่า สจิตตะปริโยทะปะนัง (นาทีที่ 24:34) จะต้องทำจิตของตนให้ขาวผ่อง นี้เป็นภาพพจน์ เป็นอุปมา ใช้คำว่าขาวผ่อง แต่ในที่นี้มันหมายถึงความเกลี้ยงเกลาจากเครื่องเศร้าหมองจิตทุกชนิด แม้แต่ว่าเป็นเพียงความลังเลความสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ผู้ใดต้องการมีจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใสที่เรียกว่า ปริโยทะปะนัง (นาทีที่ 25:02) ผู้นั้นจะต้องชำระจิตให้หมดจดจากความลังเลสงสัยในทุกประการ แม้แต่ความลังเลที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ให้มันหมดสิ้นไปเสียว่าไม่ได้มีคน แน่นอนไม่ได้มีคน มีสักว่าธาตุเป็นไปตามอำนาจปรุงแต่งตามธรรมชาติ ตามธรรมดาของสิ่งที่เรียกว่าธาตุ นั่นเอง ก็เกิดเป็นเรื่องทางปรมัตถธรรมขึ้นมาอย่างนี้ สิ่ง ไอ้ศีลธรรมก็ไม่ต้องเลิกคงปล่อยไว้ในชั้นที่ว่าบุคคลสามัญชนธรรมดาจะไม่ทำบาป แล้วก็จะทำบุญหรือความดีให้ถึงพร้อม ไม่ต้องยกเลิก แม้จะมีความคิดว่าตายแล้วเกิดก็ไม่เป็นไร เพราะมันก็ยังดีกว่าคิดว่าตายแล้วไม่เกิด อย่างเด็กๆ เขายังไม่อาจจะเข้าใจ เขาอาจจะรำคาญในข้อที่ว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด เราก็ช่วยตัดบทให้เขาว่า เชื่อว่าตายแล้วเกิดดีกว่าหรือว่าเชื่อว่าตายแล้วเกิดนั่นแหละถูก แล้วก็รีบทำให้สมกับที่ว่าเราตายแล้วจะต้องเกิด ก็จะเป็นเหตุให้เด็กๆ นั้นรู้จักทำความดีโดยส่วนเดียว กีดกันความชั่วหรือบาปออกไปได้เป็นส่วนใหญ่เพราะว่าตั้งใจว่าจะเป็นคนดีแล้วตายแล้วก็จะไปเกิดดี ทีนี้สำหรับบุคคลที่โตแล้ว แต่ยังมีความเข้าใจหรือความคิดความเชื่ออย่างเด็กทั่วๆ ไป ก็ควรจะให้ถืออย่างเดียวกัน ว่าเอาข้างปลอดภัยไว้ก่อนแหละดี ถ้าเราไม่อาจจะยุติกันได้ในข้อนี้ก็เอาขั้นปลอดภัยไว้ก่อนนั่นแหละดี อย่าไปมัวสงสัยลังเลอยู่เลยว่าจะอย่างไรกันแน่ เพราะเราเอาในทางที่ว่าอย่างนี้มันมีประโยชน์กว่าแน่ ก็เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คนเขาจึงเชื่อในเรื่องตายแล้วเกิดกันมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ในสมัยพุทธกาล จนกระทั่งบัดนี้ แล้วคนที่เชื่ออย่างนี้ก็ได้เปรียบคนที่เชื่ออย่างตรงกันข้าม ในทางสังคมโลกทั้งสิ้นก็ยังดี ในทางศีลธรรม ศาสนาทุกศาสนาที่มีประโยชน์แก่โลกแก่สังคมแล้ว จะมีการสอนไปในทำนองที่ว่าตายแล้วเกิดทั้งนั้น จะผิดกันอยู่ก็แต่ว่าไม่ได้เวียนว่ายตายเกิดซ้ำๆ ซากๆ คือตายแล้วเกิด เกิดแล้วก็ไปรออยู่สำหรับที่จะเสวยสุขเสวยทุกข์ตามกรรมของตน อย่างศาสนาของพวกยิวหรือของพวกคริสเตียนทางฝ่ายตะวันตกโน้น ก็ยังยอมรับในข้อที่ว่าตายแล้วมันก็เกิด แม้จะไม่เกิดซ้ำๆ ก็ไปเกิดรอสำหรับวันที่จะพิพากษาโทษ อย่างนี้เราก็อย่าไปดูถูกดูหมิ่นเขา ว่าเป็นความคิดผิดๆ บ้าๆ บอ ๆ เพราะเขาอาจจะฉลาดเหนือกว่าเราก็ได้ คือเขาไม่มองเห็นเป็นคนหลายคนหลายปีเกิด เพราะมันก็เป็นกระแสแห่งการปรุงแต่งของจิตของวิญญาณอะไรก็ตามใจอยู่เรื่อยไปจนกว่าจะถึงวันพิพากษาโทษ จึงจะเด็ดขาดลงไปว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ รวมความแล้วก็ยังกล่าวได้ว่ามันอยู่ในพวกที่ถือว่าตายแล้วเกิดอยู่นั่นเอง จะต้องทำความดีด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆ ที่คล้ายกันจะสอนเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันก็ยังมุ่งหมายอยู่ในข้อที่ว่าจะต้องทำความดีนั่นแหละเป็นส่วนใหญ่
คนที่เขาเชื่อว่าตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด เป็นวัฎสงสารนั้นเขาเชื่อกันมาก่อนพุทธกาล พอพระพุทธเจ้าท่านบังเกิดขึ้นมาในโลกก็มาเผชิญกับปัญหานี้ ในข้อที่ว่ามันจะควรให้เขาเชื่อว่าอะไรดี จะลบล้างของเก่าหรือว่าจะให้เชื่อของใหม่ ใน ในคำสอนที่ว่าไม่มีบุคคลดี ในที่สุดก็กลายเป็นว่าเมื่อคนมันไม่เหมือนกัน ก็ต้องมีคำสอนที่เหมาะสมแก่คนเหล่านั้นเป็นพวกๆ ไป นี่เป็นเหตุที่ให้พระพุทธเจ้าท่านตรัสก็ได้เรื่องทางศีลธรรมคล้ายๆ กับว่ามีตัวมีตน แต่ท่านไม่ยืนยันในข้อที่ว่ามีตัวมีตน ยืนยันว่าถือว่าอย่างนี้แล้วก็ต้องทำอย่างนี้ นี่ถ้าว่าคนมันไม่อาจจะมองเห็นถึงขนาดนี้ก็ยอมรับว่า เอ้า, ถ้าอย่างนั้นก็มีตัวมีตน เวียนว่ายตายเกิด แล้วก็ทำความดี ให้เผื่อไว้สำหรับคนที่จะเวียนว่ายตายเกิด เราจะถือว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสไม่คงที่ไม่แน่นอนไม่คงเส้นคงวาอย่างนี้ก็ไม่ได้ มันอยู่ที่คนฟังนั้นต่างหาก เขาอยู่ในระดับอย่างไร พระพุทธองค์จะต้องทรงตอบเขาไปในลักษณะที่เป็นประโยชน์แก่เขาที่สุดเท่านั้น เพราะว่าท่านทำไปด้วยความเมตตา ให้คนนั้นมันได้รับประโยชน์ไม่มีความทุกข์ และท่านทำไปด้วยปัญญาท่านจึงทราบว่าควรจะพูดกับคนนี้ว่าอย่างไร ท่านมีทั้งปัญญา ท่านมีทั้งเมตตา ฉะนั้นจึงให้คำตอบที่ดีได้ ที่เป็นประโยชน์แก่เขาให้มากที่สุดได้ ขอให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูในข้อนี้ แล้วก็จะไม่เห็นจะไม่รู้สึกว่าพระพุทธเจ้านี้ท่านตอบไม่คงเส้นคงวา ตอบแก่คนนี้อย่างหนึ่ง ตอบแก่คนโน้นอย่างหนึ่ง ตอบกับคนหนึ่งก็สอนในทำนองที่ว่ามันเกิดอีกให้ทำความดีเข้าไว้ ตอบกับอีกคนพวกหนึ่งว่าไม่มีตัวไม่มีตนที่ไหน มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หรือว่าถ้าจะให้มันกลมกลืนกันไปได้ทั้ง ๒ อย่าง ให้ถือว่าที่ว่าไม่มีตัวไม่มีตนไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคล มีแต่สิ่งที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั่น เพราะฉะนั้นขอให้มันรับผิดชอบตัวเอง ให้เหตุปัจจัยหรือสิ่งที่เป็นผลเกิดมาจากเหตุ จากปัจจัยนั่นแหละ มันรู้สึกคิดนึกเอาเองว่าถืออย่างนี้ดีกว่าปลอดภัยกว่า เพราะว่าเมื่อต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยแล้ว มันก็ต้องทำเพื่อฝ่ายที่ดี พอไปทำฝ่ายที่ชั่วเข้า มันก็เดือดร้อนเท่านั้นเอง มันเกิดเป็นตัวเป็นตนหรือจะไม่เป็นตัวเป็นตนก็สุดแท้ แต่ถ้าปรุงแต่งกันไปในทางไม่ดีแล้วจะต้องเป็นทุกข์ นี่ก็สรุปความได้ว่าไอ้ทำชั่วนี้ไม่ดีแน่ หรือว่าถ้าไปยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนมากไป มันก็ต้องมีความทุกข์ มันก็ไม่ดีแน่เหมือนกัน ในที่สุดก็ต้องเอาทางฝ่ายที่ว่าไม่มีความทุกข์ไว้เลยนั่นแหละดี ทำอย่างไรอย่าให้มีความทุกข์ได้ นั้นเป็นการถูกต้องแน่ ถ้ายังเชื่อว่าตายแล้วเกิด ก็ทำอย่างที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ ก็ตายแล้วได้เกิดมาอีก ถ้าเห็นว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ก็อย่าปล่อยให้มันปรุงแต่งไปในทางที่เรียกว่าเป็นความชั่ว แล้วจะได้มีความทุกข์เพราะความชั่ว แต่ถ้าผู้ใดมองเห็นชัดเจนลงไปว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลตัวตนแล้วมันต้องทำชั่วไม่ได้ บางคนก็ดันทุรังไปในทำนองที่ว่า ถ้าไม่มีตัวไม่มีตนแล้ว มันก็จะคิดไปในทางทำความชั่ว อย่างนี้มันไม่ถูก เพราะว่าถ้ามันเห็นว่าไม่มีตัวไม่มีตนจริงๆ อย่างถูกต้อง ไม่ใช่อย่างอันธพาลไม่ใช่อย่างมิจฉาทิฎฐิ มันก็ทำความชั่วไม่ได้ นี่ผู้มีปัญญา เห็นอนัตตา เห็นสุญญตา จึงทำความชั่วไม่ได้ เมื่อไม่ทำความชั่วมันก็ไม่มีความทุกข์ ก็เป็นอันว่าใช้ได้แล้ว เห็นอนัตตา เห็นสุญญตานั้น มันยังไปไกลจนถึงกับว่าไม่มีตัวตนสำหรับจะแบกเอาไว้เหมือนแบกของหนัก อย่างในบทสวดมนต์ที่ว่า ภาราหะเว ปัญจักขันธา (นาทีที่ 34:33) ขันธ์ทั้งหลาย ๕ เป็นของหนัก คือขันธ์ ๕ ที่มีบุคคลยึดมั่นถือมั่นโดยความเป็นตัวเป็นตนนั่นมันเป็นของหนัก เพราะว่ามันไปยึดมั่นด้วยจิตใจ คือแบกไว้ด้วยจิตใจ นั่นแหละคือความร้ายกาจของตัวตน ตัวตนเป็นมายาไม่มีอยู่จริง พอไปยึดมั่นถือมั่นเข้า มันก็มีผลเท่ากับมีอยู่จริง พอมีอยู่จริงมันก็หนักแก่บุคคลผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นคือการแบก จึงได้ถือเป็นหลักได้เลยว่า ภาราหะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งหลาย ๕ เป็นของหนัก มันหนักแต่เราไม่แบก มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ มันก็หนักไปสิ เมื่อเราไม่ไปเอามาแบกไว้ มันจะทำอะไรเราได้ นี่ข้อที่สอนให้บุคคลรู้จักความไม่มีตัวตน คือไม่ไปแบกเอาอะไรเข้าไว้โดยความเป็นตัวตน เรื่องรูปขันธ์ เรื่องเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ไปตามเรื่องของมัน อย่าเอามาแบกไว้โดยเป็นเรื่องของตัวตนของจิตที่คิดไปผิดๆ จะต้องจัดการกับ รูป กับเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างไรก็จัดไปอย่างนั้น ที่แท้มันก็เป็นจิตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือเนื่องอยู่กับขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง หรือว่าร่วมๆกันหลายๆ ขันธ์ ฉะนั้นก็ต้องทำไปตามความถูกต้องที่จะไม่มีความทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่าเป็นความรู้ในชั้นที่เป็นของจริงหรือเป็นปรมัตถธรรมในชั้นสูงสุด คือจะไม่มีความทุกข์เลย ไม่มีความทุกข์อะไรเหลืออยู่อีกต่อไปด้วย
นี่คือปัญหาที่จะมาจากความสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิด ถ้าความสงสัยของผู้ใดยังเหลืออยู่ จิตของบุคคลนั้นไม่มีทางที่จะผ่องแผ่ว คือไม่อาจจะเป็นจิตที่ขาวผ่อง เป็น ปริโยทาโต ปริโยทาโต (นาทีที่ 37:03) แปลว่าขาวผ่อง แต่ตัวหนังสือมันแปลว่า ขาวผ่อง แต่เนื้อความมันหมายความว่ามันไม่ยึดถืออะไรไว้ มันจึงจะเกลี้ยงเกลาหรือขาวผ่อง อันนี้เป็นคุณสมบัติอันสุดท้าย คือสูงสุดที่ทำคนให้บริสุทธิ์ แล้วก็เป็นบุคคลประเภทพระอริยเจ้ามีความเป็นพระอรหันต์เป็นชั้นสูงสุดชั้นสุดท้าย ขอให้ ให้ระลึกนึกถึงที่ได้กล่าวแล้วในตอนกลางวันนั้นว่า ข้อแรก สัพพปาปัสสะ อกรณัง นี้บัญญัติสำหรับคนบาปหรือคนชั่ว ข้อสองนี้ว่า กุสลัสสูปสัมปทา นี่บัญญัติสำหรับคนดี ส่วนข้อสามที่ว่า สจิตตะปริโยทะปะนัง นี้บัญญัติสำหรับคน บริสทุธิ์ ผู้ที่ได้ฟังแล้วยังจำไว้ได้ ก็ยังมีประโยชน์คือเข้าใจได้ เพราะมันมีคนบาปคนชั่วเป็นอันดับแรก แล้วต่อมามันก็มีคนดีเป็นอันดับที่สอง ต่อมาก็มีคนบริสุทธิ์อยู่เหนือความชั่วความดีไปทั้งหมดเลย นี่เป็นอันดับที่สาม ต้องมาถึงความเป็นคนบริสุทธิ์ เรื่องของคนมันจึงจะจบ คนบริสุทธิ์นี้ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับจิตใจจะเศร้าหมอง แม้ด้วยความสงสัยลังเล การที่เราพูดว่าคนดี คนชั่ว คนดี คนบริสุทธิ์นี้ พูดอย่างภาษาธรรมดาสามัญสำหรับฟังกันง่ายๆ ที่จริงควรจะพูดว่าจิตที่ชั่วที่เลวหรือจิตที่ดีหรือจิตที่บริสุทธิ์ต่างหาก เพราะว่ามันไม่มีคน มันมีแต่ร่างกายกับจิตใจ มันก็มีร่างกายกับจิตใจนั่นแหละที่จะรวมกันเข้าแล้วกระทำไปในทางที่ว่าเป็นชั่วหรือว่าเป็นเลว ถ้าทำไปในทางที่เป็นดี แล้วก็ทำไปในทางที่เป็นความบริสุทธิ์ เป็น ๓ ชั้นอยู่อย่างนี้ นี่เป็นหลักในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนจะตรัสรู้ขึ้นมาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็จะสอนอย่างนี้ เรื่องชั่วก็ต้องแก้ปัญหาให้หมดไป เรื่องดีก็ต้องแก้ปัญหาให้หมดไป เรื่องบริสุทธิ์นี้ก็ต้องแก้ปัญหาให้หมดไป ปัญหาที่เหลือคือปัญหาที่ทำความยุ่งยากใจ เข้าใจได้ยาก สละออกไปได้ยาก มีความลังเลสงสัยกันอยู่เกี่ยวพันกันเรื่อยไปอย่างนี้ จึงควรจะเอามาพูดกันให้เป็นที่เข้าใจ แล้วก็ขจัดเสียได้ แล้วเรื่องก็จะจบ
ทีนี้มาพิจารณากันต่อไปถึงปัญหาข้อนี้โดยรายละเอียดปลีกย่อยบางอย่าง จะมองกันไปยังผู้ถามปัญหานี้ ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ที่นี่ทุกๆ คน มีคำถามอย่างนี้หรือเปล่า คือมีข้อสงสัยอย่างนี้หรือเปล่า คือสงสัยว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ พูดกันตามความเป็นจริงแล้ว เราก็ไม่ค่อยจะสนใจว่าตายแล้วเกิดหรือไม่ ถ้าเราไปถามปัญหานี้ก็ดูจะเป็นคนอุตริ ปากมันทำงานมากเกินไปจนอุตริ คือถามปัญหาที่ไม่ควรจะถาม หรือยังไม่ควรจะถาม และตัวเองก็ไม่ได้สนใจต่อตายแล้ว แต่สนใจที่นี่และเดี๋ยวนี้ เรื่องลูก เรื่องบุตร ภรรยา สามี เรื่องครอบครัว เรื่องเจ็บ เรื่องไข้ เรื่องเป็น เรื่องตายในที่สุด ก็เป็นแต่เรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ ข้อนี้มันก็อยู่ที่ใจจริงของคนทุกคนว่าที่ทำไปนี้มันเป็นปัญหาที่นี่หรือเปล่า ส่วนปัญหาหลังจากตายแล้วนั้น มันเป็นเรื่องเผื่อๆ ไว้เท่านั้นเอง ใช่ไหม ในวันหนึ่ง คืนหนึ่ง ชั่วโมงหนึ่ง นาทีหนึ่ง มันก็ง่วนกันอยู่แต่ปัญหาที่นี่และเดี๋ยวนี้ทั้งนั้น ปัญหาแรกอาจจะมีว่าไม่มีอะไรจะกิน ก็แก้ปัญหาให้มีอะไรจะกิน มีอะไรกินแล้ว ก็ยังหานึกถึงเรื่องตายแล้วจะเป็นอย่างไรไม่ มันก็ยังนึกถึงว่าเรื่องลูกจะมีอะไรกิน เรื่องลูกจะมีอะไรศึกษาเล่าเรียน ลูกจะเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นมาอย่างไร กี่เรื่องกี่ราวมันก็อยู่ที่นี่ ในโลกนี้ เดี๋ยวนี้ทั้งนั้น ทุกคนมี มีการงาน มีข้อผูกพันอยู่แต่เรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ทั้งนั้น ตามที่เป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ ไม่มองเห็นไอ้เรื่องโลกหน้าว่าจำเป็นเท่ากับเรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ ดังนั้นการจะไปมัวถามกันอยู่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่นี้มันเป็นปัญหาอุตริ ตนเองก็มิได้มีปัญหาอย่างนี้ กำลังทำทุกอย่างทุกสิ่งอยู่ก็เพื่อที่นี่และเดี๋ยวนี้ แต่แล้วก็คิดว่าถ้าไปพูดถึงเรื่องหลังจากตายแล้วนั้น มันจะได้เป็นนักปราชญ์กับเขาบ้าง เขาจะได้นับถือว่าเป็นผู้มีปัญญา เป็นนักปราชญ์รู้เรื่องจะตายแล้ว หรือแม้แต่สนใจเรื่องจะตายแล้ว หลังจากตายแล้วนี้ก็ยังดี เขาจะได้ว่าเป็นนักปราชญ์มีความฉลาดอยู่บ้าง ดูว่าคนที่ถามเรื่องนี้มันเป็นเสียอย่างนี้ ยิ่งกว่าที่จะเป็นปัญหาจริงๆ ที่รู้สึกเดือดร้อนอยู่ในใจเกี่ยวกับตายแล้วเกิดหรือไม่ สรุปความได้ว่าคนใหญ่ส่วนมากที่มาถามปัญหานี้มันอุตริถาม หรือว่าชิงสุกก่อนห่าม หรือว่าอะไรก็แล้วแต่จะเรียก มันไม่ได้ถามปัญหาที่มีอยู่จริงๆ ในใจนั่น ถามปัญหาเพื่อว่าจะได้หาโอกาสเป็นนักปราชญ์พูดเรื่องลึกๆ กับเขาบ้าง นี่คนส่วนใหญ่ก็คือคนอุตริถามเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด นี่ก็มีคนส่วนน้อยที่รู้สึกลำบากยากใจเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้จริงๆ นับว่าน้อยมากน้อยที่สุดเลย คนที่มีปัญหาจริงๆ ในข้อนี้มีน้อยคนที่สุด มันก็มีเหตุผลอยู่บ้าง คือว่าเขารู้สึกห่วงรู้สึกวิตกกังวล รู้สึกรบกวนอยู่ในจิตใจ เช่นว่า คนที่รักใคร่ตายไปเป็นบุตรภรรยาสามีเป็นอะไรก็ตาม มันตายลงไป มันตัดความรักความอาลัยไม่ได้ มันก็คิดไปทำนองที่ว่านี้มันจะไปเกิดอีกหรือไม่ ถ้ามันไปกิดอีก เราก็จะได้ทำบุญอุทิศส่งไปให้ ปัญหาก็เลยเกิดขึ้นมาว่าไอ้คนนี้มันจะตายแล้วจะไปเกิดหรือไม่ เมื่อหลายๆ คนรวมกันมีปัญหาอย่างนี้มันก็กลายเป็นปัญหาที่ตามๆ กันไปในสังคมก็ได้เหมือนกัน แต่มันเป็นเรื่องส่วนน้อย มันมาจากความรักความอาลัยส่วนตัวในบุคคลบางคนที่ตายไปแล้ว มันมีความรักใคร่ในสิ่งที่ตัวรัก อยากจะอยู่ด้วยกัน อย่าจากกันไป เพราะคนหนึ่งจะต้องตายไป มันยังมีความคิดมากไปถึงว่าทำอย่างไรมันจึงจะได้ไปพบกันอีก ปัญหามันก็เลยเกิดเป็นในทำนองที่ว่ามันจะเกิดอีกหรือไม่ ถ้าเขามีความรักกันมาก เขาคงอยากให้เกิดอีก แล้วจะได้ไปพบกันอีก แต่แล้วมันก็ไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นอย่างนั้น มันก็มีความสงสัยลังเลอยู่ ปัญหามันก็คงเหลืออยู่สำหรับที่จะคิดนึกกันต่อไปว่าจะตายแล้วนี่ มันจะเกิดอีกหรือไม่ทำอย่างไรจึงจะได้พบกันอีก เพราะเรายังมีความรักกันอยู่ ที่นี้ที่น่าหัวที่อาจจะเป็นอันสุดท้ายก็ว่าเราแก่แล้ว ถ้าเด็กๆ มันถาม เราตอบไม่ได้ก็จะอายเด็ก ว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ไปถามพ่อ ถามแม่ ถามปู่ ถามตา ว่าตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ เด็กๆ ถามตอบไม่ได้ คนแก่ๆ ก็ละอาย มันก็เลยคิดว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด หรือว่าจะตอบว่าอย่างไรดี ก็เลยหาคำตอบไว้สำหรับเผื่อว่าเด็กๆ มันจะถามเท่านั้นเอง นี่จะเห็นใจความสำคัญในข้อที่ว่าคนส่วนน้อยที่จะไปสนใจข้อที่ตายแล้วเกิดอีก คนส่วนใหญ่หรือเวลาส่วนมากของคนส่วนใหญ่ มันสนใจแต่เรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ สิ่งแรกที่สนใจมากที่สุด ก็เรื่องปากเรื่องท้อง เมื่อมีความอิ่มปากอิ่มท้องแล้ว มันก็นึกออกไปถึงการจะกัก จะตุน จะเก็บ จะมีไว้ เผื่อไว้มากๆ อีก เผื่อตัวเองไม่พอ ก็เผื่อลูก เผื่อหลาน เผื่อเหลน เผื่อวงศ์ตระกูลอะไรต่อไปข้างหน้าอีก ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนี้ คือเรื่องที่นี่และเดี๋ยวนี้ ทั้งนั้น
เอาละเป็นอันว่ามันก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าปัญหาหลังจากตายแล้วนี้มีอยู่และเป็นเรื่องที่ต้องสนใจ เมื่อเกิดถามขึ้นเป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุด เป็นปัญหาโลกแตกเป็นคำถามโลกแตกอย่างที่กล่าวมาแล้ว นี้เรียกว่าฝ่ายผู้ที่ถามปัญหานี้ ทีนี้ฝ่ายผู้ที่จะตอบปัญหานี้ละเป็นอย่างไร คนที่ถูกถามแล้วจะต้องตอบนั้นก็ยังต้องแบ่งออกเป็น ๒ พวกอยู่นั่นเอง คือพวกที่รู้จริงพวกหนึ่ง และพวกที่ไม่รู้จริง รู้ไม่จริงนี้พวกหนึ่ง พวกที่รู้จริงในคำตอบของปัญหาเหล่านี้ก็ได้แก่พระอรหันต์ จะเป็นชั้นสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือจะเป็นพระอรหันต์ชั้นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตามใจ จะต้องถือได้ว่าเป็นพวกที่รู้จริงในเรื่องนี้ เมื่อท่านจะต้องเป็นผู้ตอบปัญหา ท่านก็ตอบได้จริง ตอบได้ถูกต้อง และยิ่งกว่านั้นก็คือว่าตอบเหมาะแก่อุปนิสัย สถานะแห่งจิตใจของบุคคลผู้ถาม แล้วยังจะต้องแยกออกไปว่า นี่จะต้องตอบเพื่อประโยชน์แก่ศีลธรรมของคนเหล่านั้น หรือว่าจะตอบเพื่อปรมัตถธรรมของคนเหล่านั้น ท่านก็จะแยกออกกันเป็น ๒ ปัญหาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงปฏิบัติอย่างนั้น แล้วจะตอบปัญหาเพื่อประโยชน์แก่ศีลธรรมของสังคม หรือว่าจะตอบเพื่อปรมัตถธรรมของคนๆหนึ่ง คนหนึ่ง มันก็ตอบให้ถูก ตอบทางศีลธรรมก็ตอบให้ถูกทางศีลธรรม ตอบทางปรมัตถธรรมก็ให้ถูกทางปรมัตถธรรม เป็นอันว่าถึงอย่างไรท่านก็ต้องตอบถูกแน่เพราะว่าท่านเป็นผู้รู้จริง ผู้รู้จริงนี้ยังจะตอบให้ถูกแก่เหตุผล กาละเวลา บุคคล ต่อไปอีกว่าเมื่อคนๆ นี้มันมีอะไรอย่างนี้ มันถามปัญหาอย่างนี้ เราควรจะตอบปัญหานี้ลงไปโดยตรง หรือว่าเราควรจะชักเขาไปยังปัญหาอื่น อย่ามายุ่งอยู่กับปัญหานี้ นี่แหละคือข้อที่ว่าทำไมคนบางคนมาทูลถามพระพุทธเจ้าถึงเรื่องนี้ ท่านปฏิเสธเสียว่านี่ไม่ใช่เบื้องต้น เอ้อ, ไม่ใช่เงื่อนต้นของพรหมจรรย์ ไม่ควรพูดเสียเวลาเปล่าๆ มาพูดกันเรื่องว่าทุกข์คืออะไร เหตุให้เกิดทุกข์คืออะไร แล้วก็ดับทุกข์ให้เสร็จสิ้นไป ปัญหานั้นมันก็จะหมด นี่คืออาการที่ว่าท่านไม่ตอบปัญหานี้ แต่ท่านชักไปเสียปัญหาอื่น อย่ามามัวพูดกันถึงเรื่องว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิดเลย ไปพูดกันว่าดับทุกข์ให้หมดสิ้นได้อย่างไร เมื่อดับทุกข์ได้หมดสิ้นแล้ว มันจะเกิดหรือไม่เกิด มันไม่ใช่ปัญหา มันดับทุกข์สิ้นได้ต่อเมื่อมันไม่มีความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน พอรู้สึกว่าไม่เป็นตัวเป็นตนแล้ว ปัญหาที่ว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด มันก็เรียกว่าเลิกร้างไปในตัวมันเอง ไม่มีปัญหา ความจริงมันมีอยู่อย่างนี้ ก็เกิดคำใหม่ขึ้นมาว่าคำถามชนิดนี้เป็นอัพยากตปัญหา (นาทีที่ 51:43) คือเป็นปัญหาที่พระพุทธเจ้าท่านจะไม่ยอมตอบตรงตามคำถามนั้นว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ท่านจะไม่ตอบในข้อที่ว่ามันเกิดหรือไม่เกิดท่านไม่ยอมตอบในข้อนั้นเรียกว่าเป็น อัพยากตปัญหา สำหรับประเด็นนั้นแต่มันจะมีในประเด็นอื่นว่าท่านจะต้องตอบอย่างไร อันนั้นเป็นปัญหาที่ท่านตอบ ถ้าถามอย่างนี้เป็นปัญหาที่ท่านทรงปฏิเสธและไม่ตอบ มันก็ดึงไปหาปัญหาอื่นที่อ้อมค้อมกัน อ้อมค้อมไปจากปัญหานี้และกลายเป็นปัญหาที่ควรตอบและเป็นปัญหาที่ท่านตอบ ก็ขอให้ทบทวนดูคำที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ถ้าไปทูลถามท่านว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด ท่านตรัสถามว่าถืออย่างไหนดี ถืออย่างไหนดีกว่า ถือว่าตายแล้วเกิดหรือตายแล้วไม่เกิดนี่ ถืออย่างไหนดีกว่า คนก็ต้องมองไปในทางที่ว่าถือว่าตายแล้วเกิดดีกว่า อย่างนั้นก็ทำไปให้สมกับที่ว่าถ้าเราตายแล้วจะต้องเกิดจะต้องทำอย่างไร ก็ทำความดีให้มากเข้าไว้ อย่างนี้จะถือจะหาว่าพระพุทธเจ้าท่านหลอกลวงคนไม่ได้ แต่ท่านเป็นผู้ที่กล่าวสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งอย่างสูงสุดแก่บุคคลนั้นแล้ว ก็เลือกเอาเอง ถือเอาเอง ถ้าตายแล้วเกิด ก็ทำให้สมกับที่ว่าตายแล้วจะต้องเกิด คือทำความดีมากเข้าไว้ ถ้าสมมติว่ามันไม่มีเกิดขึ้นมา ตายแล้วไม่เกิดมันก็ไม่ขาดทุนอะไร หรือถ้ามันไม่มีตัวไม่มีตน มันก็ได้รับผลแก่สิ่งที่ไม่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแหละ คือการปรุงแต่งของสังขาร ของเหตุของปัจจัยที่สมมติกันว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลนั้น มันก็ได้แก่สิ่งเหล่านั่นแหละ คือมันได้แก่กระแสของการประพฤติ การกระทำ การได้รับผลของการกระทำของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนนั่นแหละ มันเป็นสักว่าเป็นไปตามอาการแห่งการปรุงแต่งของเหตุของปัจจัยอย่างนี้ มันก็ไม่ผิด แต่ถ้าบุคคลอาจจะเข้าใจความลึกซึ้งในเรื่องนี้ได้แล้วก็เลยสอนถึงเรื่องความไม่มีตัวไม่มีตนเสียเลย ไม่พูดถึงกันในเรื่องศีลธรรม นี้เรียกว่าผู้ที่รู้จริง ท่านตอบอย่างนี้ ผู้รู้จริงคือพระอรหันต์ จะเป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธะ คือเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือจะเป็นเพียงพระอรหันต์สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ ท่านก็จะตอบอย่างนี้ แม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์ที่ไม่รู้อะไรมาก เป็นพระอรหันต์ สุกขวิปัสสก ท่านก็ยังอาจจะตอบอย่างนี้ได้ เพราะท่านได้เข้าใจ คือได้ผ่านสิ่งเหล่านี้มาแล้ว ท่านรู้ถึงการที่มันไม่มีตัวตน ท่านก็ตอบอย่างที่เรียกว่ามันไม่ต้องมีตัวตน แต่ถ้าคนก็ยังมีตัวตน เขาก็บอกให้ทำไปในทางที่จะเป็นผลดีแก่ตัวตนนั้น อย่าไปทำผิดทำชั่วเข้า ในที่สุดมันก็ค่อยๆ รู้ขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งว่าเลิกตัวตนกันเสียได้ นี่ผู้รู้จริงจะตอบสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ไม่รู้ในลักษณะอย่างนี้
ทีนี้ถ้าเราไปถามไอ้คนที่ไม่รู้จริงเข้า ก็จะมีคำตอบแปลกๆ กันไปอีก นี่เป็นคนธรรมดาสามัญไม่รู้จริง ถ้าไปถามเขาว่าตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด เขาก็ยังมีคำตอบที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นคนมีการศึกษามาบ้างก็ตอบไปอย่างหนึ่ง คนไม่มีการศึกษาเลยก็ตอบไปอย่างหนึ่ง แม้ที่สุดแต่ว่าก็จะต้องตอบไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ถือเป็นวัฒนธรรมกันมาอย่างไรก็ตอบอย่างนั้น อย่างว่าไม่เอาเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่เอาเรื่องของพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง มนุษย์ยังจะ ก็มักจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีหรือวัฒนธรรมประจำพวก ประจำชาติของตัว มาก่อนแล้วทั้งนั้น นี่คนป่าในสมัยดึกดำบรรพ์เขามีความเชื่อเรื่องนี้มีขนบธรรมเนียมประเพณีเรื่องนี้ จนมากระทั่งลูกหลานชั้นนี้มันก็ยังมีทางที่จะคำตอบตามวัฒนธรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือถ้ามันไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แน่นอนมาอย่างนี้ มันก็คาดคะเนเอาก็ได้ ตอบด้วยความคาดคะเน นี้ก็เรียกว่ายังน่าดู ว่าเขาเชื่ออย่างนั้น เขาก็ตอบอย่างนั้น มันร้ายอยู่ก็แต่พวกที่จะหาประโยชน์ส่วนตัว ที่ไปสอนคนอื่นว่าตายแล้วเกิด รีบทำบุญ รีบทำความดี เอาทรัพย์สมบัติมาลงทุนทำความดี ก็เอามาให้แก่ตัวผู้ที่บอกว่าตายแล้วเกิดนั่นเอง อย่างนี้มันก็มีอยู่เหมือนกัน หลอกให้เขาทำบุญ เพื่อว่าตนจะได้เก็บเกี่ยวผลเหล่านั้นเอามาเป็นของตัว นี้ก็เรียกว่าคดโกง คนธรรมดาสามัญจะเป็นไปได้ถึงอย่างนี้ เพราะคนธรรมดาสามัญนี้มันยังมีกิเลส มันไปหลอกเขาก็ได้ให้เขาเชื่อว่าตายแล้วเกิด รีบทำบุญ แล้วก็มาทำกับฉัน อย่างนี้ก็ไม่ใช่ว่ามันไม่มี มันก็มีอยู่ในโลกนี้ มันอาจจะมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ก่อนพุทธกาลก็ได้
รวมความว่าคนธรรมดาเป็นคนไม่รู้จริงตอบตามวัฒนธรรมประเพณีที่ตัวเชื่อมาก็ได้ ตอบตามความคาดคะเนก็ได้ ตอบไปด้วยเจตนาจะหลอกลวงให้เขาทำบุญแก่ตัวก็ได้ มีคนไปพูดอย่างนี้กับคนต่างชาติต่างศาสนา เรื่องเล่ากันมาว่าเป็นเรื่องจริงด้วย แต่พอเสร็จแล้วก็ถามคนจีนคนหนึ่งว่าเป็นอย่างไร คนจีนคนนั้นก็บอกว่า ฉันรู้ ฉันรู้ว่าที่ลื้อพูดนี้มันต้องการให้อั๊วเอาอะไรไปให้ลื้อ เจ๊กเขาว่าอย่างนี้ พุทธบริษัทก็ควรจะระวังที่จะไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องไม่สมกับพุทธบริษัท ในการที่จะถามปัญหานี้ก็ดีในการที่จะตอบปัญหานี้ก็ดี อย่าให้มันมีอะไรที่มันไม่สมกับความเป็นพุทธบริษัท พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่เราท่องกันอยู่ทุกวัน มันต้องให้เป็นเรื่องรู้ เป็นเรื่องตื่นคือไม่หลับ แล้วก็เป็นเรื่องเบิกบานคือมันถูกต้อง มันจึงสดชื่นและแจ่มใส ปัญหาเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่นี้ก็เป็นปัญหาอันหนึ่งซึ่งควรจะชำระให้หมดไปจากความเป็นปัญหา อย่ามามัวสงสัยลังเลอยู่ มันจะเป็นเรื่องทำจิตให้เศร้าหมอง ให้มันแน่ใจลงไปอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรายังไม่รู้ได้เอง แล้วก็เลือกเอาข้างที่ว่า เชื่อลงไปอย่างไหนมีประโยชน์กว่าก็เชื่ออย่างนั้น ฉะนั้นมาถึงยุคถึงสมัยที่เราอาจจะรู้ได้เองว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ก็ไม่มี ไม่มีปัญหาเหลือ คือไม่มีใครเกิดมาไม่มีใครตายไปแล้วก็ไม่มีใครเกิดอีก มันมีแต่กระแสแห่งเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไปตามเรื่องของรูป ตามเรื่องของนาม รูปธรรม นามธรรม มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันไปเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ นี่มันเป็นเรื่องลึกเห็นยาก มันถูกหลอกให้เห็นเป็นตัวตนของตน กระทั่งเป็นตัวกูของกู แรงกล้าอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อใดผู้ใดมามองเห็นความจริงข้อนี้ผู้นั้นจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จะชำระความสงสัยลังเลได้ สามารถทำจิตให้ผ่องใสได้สมตามความหมายของพระพุทธโอวาทที่ตรัสไว้ เป็นหลัก เป็นประธานในพระพุทธศาสนานี้ นับตั้งแต่ว่าไม่ทำบาปทั้งปวงทำความดีให้ถึงพร้อมทำจิตให้ขาวผ่อง เรื่องมันก็จบกันได้ คือว่าเรื่องของมนุษย์มันมีเท่านี้แหละ ไม่ทำความชั่ว แล้วทำความดี แล้วทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่มีสิ่งเศร้าหมองแม้แต่นิดเดียว เข้าไปประกอบอยู่ แม้ที่สุดแต่ว่าความลังเลในเรื่องตายแล้วเกิดหรือไม่เป็นต้นนี้ ความคิดนี้มันเป็นของที่เกิดขึ้นได้ใหม่ๆ แล้วก็กลับไปกลับมาก็ได้ ผิดแล้วถูก ถูกแล้วผิด จนกว่ามันจะแน่ลงไปในลักษณะที่ว่าจะไม่กลับไปกลับมา จึงจะเรียกว่าทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาดให้ขาวผ่องได้
เป็นอันว่าในโอกาสแห่งมาฆบูชาของปีนี้ เราพูดกันถึงเรื่องการทำจิตให้ขาวผ่องเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อว่าจะเป็นการเลื่อนชั้นของการทำมาฆบูชานี้ให้สูงขึ้นไปตามลำดับ อย่าให้ย่ำอยู่กับที่ อย่าให้ย้ำแล้วย้ำเล่า เป็นการย่ำอยู่กับที่ จะเสียเกียรติของพุทธบริษัท ที่ว่าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น หรือผู้เบิกบาน หวังว่าท่านทั้งหลายทุกคนจะได้สะสางความเป็นพุทธบริษัทของตนให้สะอาดด้วย นั่นแหละคือทำจิตใจให้สะอาด ถ้าความเป็นพุทธบริษัทของตนมันยังมืดมัวสลัว ไม่แจ่มใส มันงมงายหรือมันละเมอเพ้อๆ ไป หรือมันเต็มไปด้วยความลังเลสงสัย ก็รีบชำระสะสางเสีย อย่าให้ความรู้สึกใดๆ เหลืออยู่เป็นเครื่องรบกวนจิตใจ คือทำจิตใจเศร้าหมอง ทำความเป็นพุทธบริษัทของตนให้เศร้าหมอง มันก็จะไม่เข้าไปใกล้พระรัตนตรัย คือไม่สมกับความเป็นผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย ไม่เป็นอุบาสก ไม่เป็นอุบาสิกา ที่ถูกต้องตามความหมายของคำนั้นๆ นี้คือข้อที่จะต้องเตือนกันว่าจะต้องเลื่อนชั้นให้ใกล้เข้าไป ใกล้เข้าไปกับความถึงที่สุดแห่งความทุกข์ คือดับความทุกข์ ให้ความทุกข์มันสิ้นสุด นั่นเขาเรียกว่าที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ ให้ใกล้ที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์นั้นเข้าไปทุกที ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้เจริญงอกงามในพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลายทุกๆ คน ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์และพบพระพุทธศาสนาด้วยเหตุดังนี้ ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้