แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาเป็นบุพกถาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อและวิริยะความเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนานี้เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุพิธีมาฆบูชาในวันนี้ การแสดงข้อความต่อไปนี้เป็นการตักเตือนเพื่อให้เตรียมตัวสำหรับกระทำมาฆบูชา ให้ได้รับประโยชน์หรืออานิสงส์ให้มากที่สุด การตักเตือนให้เตรียมตัวนี้เป็นความจำเป็นที่จะต้องทำในโอกาสเช่นนี้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังให้ดี อย่าได้ประมาทเลย
ข้อแรกที่สุดก็จะต้องนึกถึงที่กล่าวอยู่เสมอ ๆ ว่าทำอะไรต้องทำด้วยใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำมาฆบูชาเป็นต้นนี้ ยิ่งต้องทำด้วยใจ แต่ว่าก็ยังมีการกระทำส่วนที่เป็นทางกายหรือทางวาจา ประกอบกันด้วยจึงครบทั้ง ๓ ในใจระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ และพระสาวกสงฆ์ซึ่งประชุมกันในวันนี้ ส่วนวาจาก็กล่าวคำบูชาอย่างที่เคยกล่าว ส่วนทางกายนั้นก็คือการถือสักการะบูชา และเวียนประทักษิณ ขอให้ตั้งใจทำให้ดีที่สุดทั้ง ๓ สถาน คือทั้งกายและวาจาใจ
ในส่วนใจนั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นจิตใจนำไปทั้งนั้น อย่างเราจะเดินก็ต้องมีจิตใจที่รู้ว่าจะเดิน จะทำอะไรก็ต้องมีจิตใจรู้ก่อนหรือนำไปก่อน กิริยาวาจาจึงทำตามไป นี่ถือเป็นหลักว่า มีใจเป็นสิ่งที่ไปก่อน จึงนำไปข้างหน้า ถ้าทำในใจดี สิ่งต่าง ๆ มันก็เป็นไปดี แม้การที่จะมาที่นี่ในวันนี้ มานั่งอยู่อย่างนี้นั้น ก็ลองคิดดูว่าใจมันมาก่อนตั้งแต่เมื่อเรายังอยู่ที่บ้านนู้น ต่างจังหวัดนู้น ไกลมาก ถึงสุดทางภาคใต้ก็มี ใจมันมาก่อน แล้วจึงบันดาลให้ร่างกายมา นี้ก็ควรถือเป็นหลักเพื่อจะได้ตั้งใจให้ดี ให้ครบถ้วนทั้ง ๓ เวลาเช่นเดียวกัน คือก่อนแต่จะทำ เมื่อกำลังทำ และทำเสร็จแล้ว ได้มีจิตใจดี มีความถูกต้องเป็นต้น การกระทำนั้นจึงจะเรียกว่าบริบูรณ์ มีอานิสงส์เต็มเปี่ยมสูงสุดตามที่ควรจะได้
สำหรับในวันนี้เป็นวันมาฆบูชาซึ่งก็รู้กันอยู่โดยประวัติว่าพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ประชุมกันในตอนบ่ายในวันเช่นวันนี้ คือวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ จัดเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นวันพระสงฆ์ วัตถุสำคัญในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๓ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วันวิสาขบูชาเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ นิพพาน ของพระบรมศาสดา เราจึงถือเอาว่าวันวิสาขบูชานั้นเป็นวันของพระพุทธเจ้า ส่วนวันอาสาฬหบูชา วันก่อนหน้าวันเข้าพรรษา ๑ วันนั้น เป็นวันที่ทรงแสดงธรรมจักรซึ่งเป็นตัวพระศาสนา วันนั้นเราจึงถือว่าเป็นวันกระทำ จนล่วงมาถึงวันนี้ คือเพ็ญเดือน ๓ นี้ พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลกเป็นพระอรหันต์ถึง ๑,๒๕๐ องค์ แล้วประชุมกัน มีพระพุทธองค์เป็นประธาน ประกาศหลักที่ควรถือเป็นหัวใจของพุทธศาสนาในท่ามกลางชุมนุมแห่งพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น เราจึงถือวันนี้ว่าเป็นวันพระสงฆ์
เมื่อได้วันครบทั้ง ๓ วัน คือวันพระพุทธ วันพระธรรม และวันพระสงฆ์ อย่างนี้แล้ว พุทธบริษัทก็พยายามที่จะระลึกถึงเหตุการณ์อันนี้ตามควร แต่เรื่องที่มีในวันนั้น ๆ แล้วจึงพากันกระทำการบูชาอันใหญ่หลวงให้สุดความสามารถของตน ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เรียกว่า กระทำมาฆบูชา อย่างที่กล่าวมาแล้ว มีใจระลึกนึกถึงพระอรหันต์เป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าวันนี้เป็นวันของพระอรหันต์ ถ้าจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่าเป็นวันพระอรหันต์ แม้จะเรียกอย่างหนึ่งว่าเป็นวันพระสงฆ์ก็ตาม เรื่องของพระอรหันต์ควรที่จะนำมาพิจารณา กระทำไว้ในใจให้ดีที่สุดในวันนี้ ซึ่งจะได้กระทำต่อไป จนกระทั่งถึงเวลาค่ำวันนี้ซึ่งยังจะมีการแสดงธรรม
สำหรับการแสดงครั้งแรกนี้เป็นการแสดงเพื่อให้มีการเตรียมตัวโดยถูกต้องเท่านั้นเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่พ้นไปจากการที่จะต้องระลึกนึกถึงคุณของพระอรหันต์อยู่นั่นเอง ท่านทั้งหลายมาหรือเรียกว่าอุตส่าห์มา พยายามมาด้วยความลำบากเพื่อจะมาทำมาฆบูชาในสถานที่นี้ก็ควรจะทำให้ดี ถ้าได้รับผลสมกับความลำบากนับตั้งแต่ว่าอาศัยสถานที่เช่นนี้ ก็เพื่อว่าให้มันคล้ายกับครั้งพุทธกาลที่ท่านอยู่กันในป่า ทำอะไรจึงทำอยู่ในป่า วัดทั้งหลายอยู่นอกเมืองทั้งนั้น บางคนอาจจะยังไม่ทราบว่าครั้งพุทธกาลนั้น วัดทั้งหลาย อารามทั้งหลายอยู่นอกเมืองทั้งนั้น หมายความว่าอยู่นอกกำแพงเมือง เขาปิดประตูเมือง กลางคืนไม่อาจจะเข้าไปในเมือง จะเข้าไปบิณฑบาตตอนเช้าก็ต่อเมื่อเขาเปิดประตูเมืองแล้ว จึงเป็นอันกล่าวได้ว่าวัดทั้งหลายนั้น อยู่ในป่านอกเมือง แต่ก็ใกล้ ๆ กับเมือง ถ้าจะพิจารณาเปรียบเทียบดู ก็มีอาการคล้ายกับอย่างนี้ว่าที่นี่เป็นป่าแต่ก็ไม่ไกลเมือง นี่เราก็พยายามมาในที่อย่างนี้ซึ่งมันก็ลำบากบ้าง แต่ก็ได้รับความรู้สึกทางใจที่ดีซึ่งท่านทั้งหลายก็ควรจะทราบเองว่า มันดีอย่างไร เขาควรจะสังเกตได้ว่า มันก็แปลกกันกว่าที่จะทำในเมืองจึงได้อุตส่าห์มาที่นี่ ถ้าตั้งใจให้ดีให้สมกับที่ตั้งใจมาทำในป่า เพราะว่าป่านี้จะช่วยแวดล้อมจิตใจให้เป็นไปตามแบบป่า ๆ ถ้าเมืองมันก็แวดล้อมจิตใจให้เป็นไปตามแบบเมือง คิดดูเองก็แล้วกัน มานั่งอยู่ในกลางป่านี้ จิตใจมันสงบหรือมันหยุด ก็เพราะว่าป่านี่มันชวนให้หยุด หยุดคิด หยุดนึก หยุดปรารถนา หยุดอะไรได้มากทีเดียว ก็ขอให้ผสมโรงกับป่า ผสมรอยกันกับป่า ให้มีจิตใจอย่างที่เรียกว่า นั่งอยู่ในป่า เขาก็จะได้รู้สึกถึงจิตใจของพระพุทธเจ้าหรือของพระสงฆ์ทั้งหลายผู้อยู่ในป่าว่ามีจิตใจเป็นอย่างไร ข้อนี้มันมีหลักใหญ่ ๆ อยู่ว่า อยากจะมีจิตใจเหมือนจิตใจของใครหรือรู้จักจิตใจของใคร ก็จงพยามเป็นอยู่ให้เหมือนกับการเป็นอยู่ของบุคคลผู้นั้นเถิด ก็จะมีความรู้สึกในใจเหมือน ๆ กัน ฉะนั้นเราจึงพยายามเป็นอยู่หรือจะเรียกว่ากินอยู่ก็ได้ เป็นอยู่ก็ได้ให้เหมือนพระพุทธเจ้าที่สุด เราก็จะมีความรู้สึกคล้ายพระพุทธเจ้าได้เองมากที่สุดเหมือนกัน จึงเป็นอยู่อย่างพระสงฆ์ เป็นอยู่อย่างสันโดษ เป็นอยู่อย่างที่ท่านเป็นอยู่อย่างนั้น แม้ในที่นี้ก็มาทำในสถานที่ที่ประสงค์ให้จิตใจมันคล้ายกัน พราะว่ามีสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ อันคล้ายกัน
ขอให้นึกต่อไปถึงข้อที่ว่าพระพุทธเจ้านั้นท่านประสูติกลางดิน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็กลางดิน พระพุทธเจ้านิพพานก็กลางดิน ท่านสั่งสอนสาวกโดยมากก็กลางดิน คำสอนทั้งหลาย ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสอนกลางดิน พระพุทธเจ้ามีการเป็นอยู่ส่วนพระองค์ก็ยิ่งกลางดิน เพราะว่าไปดูที่ประเทศอินเดียแล้วปรากฏว่ากุฏิของท่านนั้นพื้นดิน นี่ขอให้คิดอย่างนี้ดูก่อนว่า ท่านอยู่กลางดิน แล้วพวกเราก็อยากจะอยู่บนวิมาน มันคล้ายกับว่าจะเล่นเอาเถิดกันอยู่อย่างนี้ ใครที่นั่งอยู่ที่นี่ ที่ทำบุญแล้วอยากไปอยู่วิมาน ลองคิดดูว่านี่จะหนีไกลจากพระพุทธเจ้าหรืออย่างไร ในเมื่อพระพุทธเจ้าท่านประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน นิพพานกลางดิน ส่วนใหญ่ก็อยู่กลางดิน แต่เราอยากจะไปอยู่วิมาน หรือเหมือนทำบุญอะไรสักหน่อยหนึ่ง ก็ชูขึ้นเหนือศีรษะจบอธิษฐานว่าให้ได้ไปเกิดในวิมาน นี่มันจะทิ้งพระพุทธเจ้าหรืออย่างไร ลองคิดดูให้ดี ถ้าพอใจในพระพุทธเจ้าเดี๋ยวนี้ก็นั่งอยู่กลางดินแล้ว ก็ถือว่าได้กระทำให้เป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง เพราะว่าอย่างน้อยก็นั่งอยู่กลางดิน
ทีนี้จะเวียนเทียนกลางดินจะทำอย่างไร พระพุทธเจ้าท่านไม่มีรองเท้า อาตมาศึกษามาหลายสิบปีแล้วแต่ค้นไม่พบว่าพระพุทธเจ้าท่านมีรองเท้าไหม มีร่มไหม มีมุ้งไหม ไม่พบเลย แม้ว่าจะอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้าได้ ก็ปรากฏว่ามันเป็นเรื่องที่อื่นหรือคนอื่น ไม่พบข้อความตรงไหนสักนิดเดียวหนึ่งว่าพระพุทธองค์ท่านสวมรองเท้า แล้วในสมัยนั้นรถยนต์ก็ไม่มี จะมีบ้างก็เกวียน แต่ไม่ปรากฏว่าท่านทรงเกวียน ท่านเดินด้วยเท้า ท่านทรงดำเนินด้วยพระบาท แล้วมันจะเป็นอย่างไร ดำเนินด้วยพระบาทเปล่าบนแผ่นดินที่มันขรุขระร้อนระอุ เรามันก็ชินแต่ที่จะสวมรองเท้า งั้นขอให้ถอดรองเท้าเถอะ เมื่อเวียนเทียนนั้นจะได้มีความรู้สึกถูกต้องตรงตามที่เป็นจริง เพื่อจะเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าได้มากที่สุด แม้จะปวดเท้าบ้าง เพราะมันมีกรวด มีไม้อะไรนี้ ก็ทนเอาหน่อย แต่ก็อย่ารู้สึกรำคาญฟุ้งซ่านเสียจนจิตใจโกรธขึ้นมาอีก นี่มันก็ขาดทุน แม้มันจะปวดที่เท้าบ้าง เพราะเมื่อเดินนี่มันมีกรวด ก็ทำในใจเหมือนกับไม่รู้ไม่ชี้ ให้นึกถึงพระคุณของพระองค์ที่ทรงดำเนินไปโปรดสัตว์ด้วยพระบาทเปล่า ทำไมพระพุทธเจ้าจะต้องดำเนินไปเมืองนั้นเมืองนี้ ท่านไปด้วยความกรุณาที่จะไปโปรดสัตว์ และท่านไม่ปวดเท้ายิ่งกว่าที่พวกเราจะเดินที่นี่สัก ๓ รอบ ใกล้ ๆ สั้น ๆ นี่ ถ้าคิดถึงอย่างนี้แล้วก็จะรู้จักพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้ามากขึ้นเป็นแน่นอน
นี่เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่อาตมาขอเตือนท่านทั้งหลายว่า เมื่อขึ้นมาถึงที่นี่แล้วจงพยามให้สุดความสามารถของตน ให้ได้รับประโยชน์อานิสงส์ให้มากที่สุดวันนี้ ให้มีความรู้สึกคิดนึกเหมือนกับว่าได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าหรือไปแอบดูพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระอรหันต์ทั้งหลายที่ประชุมกันในวันเช่นวันนี้เป็นเหตุการณ์ครั้งแรกครั้งกระโน้นที่เราจะมารักษาเอาไว้เป็นที่ระลึกทุกปีอย่างนี้ เมื่อพระอรหันต์ทั้งหลายก็ล้วนแต่ไม่มีรองเท้า ไม่มีร่ม ไม่มีอะไรต่าง ๆ ท่านก็จะต้องทนจนเคยชินไปจนไม่รู้จักเจ็บปวด นี้ก็เป็นอย่างหนึ่งซึ่งว่าควรจะนำเอามาเป็นเครื่องคิดนึกระลึกถึง ในเมื่อจะเกิดปวดเท้ากันขึ้นมาก็จะเดินประทักษิณ นี่แหละคือตัวอย่างที่ว่าเตรียมใจกันอย่างไรจึงจะทำมาฆบูชาได้ดีที่สุด แต่ที่เป็นข้อใหญ่ใจความนั้นก็คือ ขอให้ระลึกนึกถึงพระอรหันต์ นึกถึงคำว่าพระอรหันต์ แล้วก็นึกถึงความหมายของคำ ๆ นี้ โดยย่อ ๆ พระอรหันต์นี้ก็แปลว่าผู้เต็มเปี่ยมหรือสมบูรณ์ พระอรหันต์นี้แปลว่าผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลส พระอรหันต์นี้เป็นผู้ที่ควรแก่การเคารพบูชา หรือว่าพระอรหันต์นี้เป็นมนุษย์ที่สูงสุด ความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นมนุษย์ที่สูงสุด มนุษย์ไปสูงสุดกันได้เพียงความเป็นพระอรหันต์
ทีนี้วันนี้เรามาทำพิธีระลึกนึกถึงบุคคลสูงสุด คือบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้น อย่างน้อยก็ขอให้ทำจิตใจ อย่ามีวิตกกังวลห่วงใยในสิ่งใด ๆ เลย ทำจิตใจให้มันว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง อย่างน้อยก็ชั่วขณะหนึ่งในเวลานี้ จะได้มีจิตใจคล้ายกับจิตใจของพระอรหันต์สักขณะหนึ่ง เดี๋ยวนี้ยังมีความยึดมั่นถือมั่นกันทั่วไปทั้งโลก จึงมีความทุกข์ยากลำบากในทางจิตใจทั่วกันไปทั้งโลก ความยึดมั่นนั่นเป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแล้วก็เอาเปรียบผู้อื่น มีกิเลสที่จะเอาเปรียบผู้อื่นก็เพราะเห็นแก่ตัว ทั้งโลกมันจึงเบียดเบียนกันโดยจิตใจ โดยการกระทำ หรือโดยคำที่พูด ขอให้เรื่องอย่างนั้นอย่ามามีในความรู้สึกในเวลานี้ ทำผิดอะไรอยู่ก็ขอให้ตั้งใจว่าจะไม่ทำอีก ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ขอให้มีจิตใจสะอาดสว่างสงบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ก็ขอให้มีจิตใจสมกับที่ว่าจะเป็นผู้ทำตามพระอรหันต์ อย่างน้อยเราก็ปฏิญญาตัวว่าเป็นสาวกพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็พูดอยู่บ่อย ๆ ว่าจะทำตามพระอรหันต์ แม้แต่การรับศีล สมาทานศีลอุโบสถ ก็เรียกว่าเป็นการกระทำตามพระอรหันต์ ก็ขอให้มีการกระทำตามพระอรหันต์คือมีจิตใจที่คล้ายกัน
เดี๋ยวนี้ชาวโลกเขาไม่ทำตามพระอรหันต์ ไม่ทำตามอย่างพระอรหันต์ กระทำตามอย่างของมาร ตามอย่างของกิเลสกันเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าปากจะพูดว่าตั้งใจทำตามพระอรหันต์ มันก็ยังเล่นตลก คือมักจะพูดกันแต่ปาก ส่วนใจนั้นมันยังไปในทางของกิเลสมากอยู่นั่นเอง เราจะลองนึกกันดูบ้างจะดีไหมว่าเวลานี้ คนในโลกกำลังเป็นอย่างไร ดีที่สุดอย่างไร หรือว่าเลวที่สุดอย่าเอามาพูดถึงเลย คนในโลกเวลานี้ที่ว่าจะเป็นสาวกของพระอรหันต์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานนี้ ก็ยังห่างไกลจากความมุ่งหมายอันนั้น จะชี้ให้ดูพวกที่ดีที่สุดว่า พวกหนึ่งกำลังหอบสังขารหนีความตาย กำลังหอบหิ้วสังขาร แต่ว่าเพื่อหนีความตาย จะทำได้อย่างไร เพราะว่าความตายก็มีอยู่ในความเกิด ก็คือมีอยู่ในสังขาร แล้วก็จะหอบสังขารหนีความตาย เหมือนกับว่าจะหอบหัวหนีเหา หอบหัวของเราเพื่อจะหนีเหา ในเมื่อเหามันก็อยู่บนหัว นี้จะหอบสังขารหนีความตาย มันก็มีความหมายอย่างนี้ แม้จะพยามจะทำให้ดีที่สุด มันก็ยิ่งใกล้ความตาย หรือตายไปเลยก็มี มันก็จะหอบสังขารหนีความตาย แต่ละคนก็คิดว่า เราจะหนีทุกข์ หนีเกิด หนีแก่ หนีเจ็บ หนีตาย แต่แล้วก็หอบเอาสังขารที่เต็มไปด้วยความเกิดแก่เจ็บตายนั้นเองไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ยอมทิ้ง แล้วการกระทำนี้จะเป็นการทำตามพระอรหันต์ได้อย่างไรกัน นี้พวกนึงไม่รู้จักหรือไม่ฝันถึงความตาย ก็กลายเป็นพวกที่ยิ่งเข้าไปหาความตาย วิ่งเข้าไปหาความตายมากอยู่อีกนั่นเอง ทั้งหมดนี้ ทั้ง ๒ พวกนี้ ไม่รู้ว่าตัวเองตายอยู่แท้ ๆ ก็พูดว่ากูกลัวตาย กูกลัวตายจริง ๆ ลองคิดดูว่า ไม่รู้จักว่าตัวเองตายอยู่แล้วแท้ ๆ ก็มาพูดว่ากูกลัวตาย
พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าในความเกิดมีความตาย จะเล่ากันอีกทีหนึ่งก็ได้ มีเรื่องสั้น ๆ ว่า ในสมัยภาคปลายของพระชนม์มายุ อายุ ๘๐ ปีแล้ว วันหนึ่งพระอานนท์ได้เข้าไปลูกคลำพระกายของพระพุทธองค์ว่าเดี๋ยวนี้หนังเหี่ยวหมด เป็นจุดเป็นกระไปทั่วทั้งพระองค์ แล้วก็นั่งผึ่งแดดรับความอบอุ่นอยู่ด้วย พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสประโยคนี้ที่ว่า ดูกรอานนท์ ความตายมีอยู่ในความเกิด ความหนุ่มมีอยู่ในความชรา ความมีโรคมันมีอยู่แล้วในความไม่มีโรค บางคนคิดว่าเราไม่มีโรค เวลาที่ไม่รู้สึกว่ามีโรค หรือว่าเป็นความไม่มีโรค ก็ใฝ่ฝันหากันนักว่าความไม่มีโรคเป็นลาภที่ประเสริฐที่สุด นี้มันเป็นคำสำหรับโฆษณาของหมอขายยาในประเทศอินเดีย คนก็ต้องการความไม่มีโรค แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ว่าความไม่มีโรคนั้นมันมีโรคอยู่แล้ว ในความหนุ่มนั้นก็มีความแก่อยู่แล้ว ในความเกิดนั้นก็มีความตายอยู่แล้ว นี่ไม่รู้ว่าตัวเองก็ตายอยู่แล้วตั้งแต่เกิด พูดว่ากูกลัวตาย จะหนีความตาย จะหอบสังขารหนีความตาย ก็ดูเป็นเรื่องน่าหัวก็น่าหัว น่าขันก็น่าขัน น่าสงสารก็น่าสงสาร ก็ลองคิดดูให้ดี ๆ
งั้นถ้าอย่างไรถ้าจะทำตามพระอรหันต์กันจริง ๆ แล้วก็รู้จักหนีความตายให้เป็น คืออย่ามีความตาย อย่ามีความรู้สึกว่ากูว่าของกู หรืออะไรมันจะตาย อย่าเป็นทุกข์ รวมความแล้วอย่าเป็นทุกข์ มันจะแก่ มันจะเจ็บ มันจะตาย มันจะอะไรก็อย่าเป็นทุกข์ นั่นแหละเรียกว่าเราชนะความแก่ ความเจ็บ ความตาย มีอายุอยู่สัก ๒ - ๓ นาทีโดยไม่ต้องเป็นทุกข์อย่างนี้ กับว่ามีอายุอยู่ต่อไปอีกหลายปีแต่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ อย่างไหนมันจะดีกว่ากัน ถ้าความไม่มีความทุกข์ดีแล้วพยายามอย่าให้มีความทุกข์เลย งั้นจะตายอยู่เดี๋ยวนี้ เจ็บปวดอยู่เดี๋ยวนี้ อะไรอยู่เดี๋ยวนี้ ก็อย่ามีความทุกข์เลย ร่างกายมันจะดับก็ให้มันดับไป อย่ามีความทุกข์เลย หัวเราะเยาะให้ได้ อย่างนี้ต่างหากเรียกว่าทำตามรอยพระอรหันต์ ซึ่งเราจะได้พิจารณากันในโอกาสต่อไป
สำหรับในวันนี้ เมื่อตั้งใจจะทำตามรอยพระอรหันต์ ก็พยายามที่จะทำให้รู้จักพระอรหันต์อย่างน้อยก็ในเวลานี้ชั่วเวลานี้ จะต้องตั้งปัญหาให้ดี ๆ ว่าทำไมหนอมาถึงป่านนี้แล้วร่างกายสังขารจะทำลายอยู่แล้วยังไม่รู้จักพระอรหันต์ ป่านนี้แล้วยังไม่รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังไม่เคยมอบชีวิตจิตใจหรืออะไร ๆ ให้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ป่านนี้แล้วก็ยังไม่นั่งใกล้ ยังไม่นั่งใกล้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้จะเป็นอย่างไร จะเป็นตามรอยพระอรหันต์กันอย่างไร แล้วมันยังน่าขันยิ่งไปเสียกว่านั้นอีก คือว่ามีอะไร ๆ ก็มีไว้เพื่อเป็นทุกข์ จะมีบ้านมีเรือน มีวัว มีควาย มีไร่ มีนา มันก็มีไม่เป็น ก็มีไว้เพื่อสำหรับเป็นทุกข์ มันน่าขันหรือไม่น่าขัน คิดดูให้ดี ถ้ามีอะไร ๆ ก็มีไว้เพื่อเป็นทุกข์ มีร่างกายชีวิตจิตใจนี้ก็เพื่อเป็นทุกข์ มีทรัพย์สมบัติเงินทองก็เพื่อเป็นทุกข์ มีความสวยความงาม มีหน้าตาอันสวยสดงดงาม มันกลายเป็นมีไว้เพื่อความทุกข์ ทุกข์อย่างไรบางก็คงจะรู้กันอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ถ้าจะทำตามพระอรหันต์กันแล้วต้องไม่ใช่มีอะไร ๆ ไว้เพื่อให้เป็นความทุกข์ คิดดูให้ดี ๆ อย่าให้มีความทุกข์มาแพ้วพาน หรือตั้งหน้าตั้งตาเกลียดความทุกข์กันให้ถึงที่สุด อย่าให้จิตใจมันถูกครอบงำด้วยความทุกข์ จะเป็นความเจ็บปวดหรือความอะไรก็ตาม แต่โดยมากมันเป็นเรื่องของกิเลส มีความรัก มีความโกรธ มีความเกลียด มีความกลัว แล้วมันก็เป็นทุกข์ ทุกข์นี้อย่ามีดีกว่า ตะเพิดมันออกไป ตวาดมันออกไปว่ากูไม่เอากับมึง อย่าให้มีความทุกข์ให้จนได้ มันจะเป็นการถูกต้องที่สุด เพราะจะมีอะไร ๆ ไว้ทำไม ถ้ามีไว้สำหรับเป็นหนทางที่จะให้เกิดความทุกข์ นี่เรียกว่ามีไม่เป็น มีเงินก็มีไม่เป็น มีเกียรติยศชื่อเสียงก็มีไม่เป็น มีอะไรก็มีไม่เป็น คือมีไว้สำหรับทำให้เกิดความทุกข์ อย่างนี้มันเดินไกลหรือว่าเดินออกไปคนละทิศละทางกับพระอรหันต์ มาตั้งต้นกันเสียใหม่ มีอะไร ๆ ก็อย่าให้มันมีไว้เพื่อความทุกข์เลย ถ้าเราไม่ต้องเป็นทุกข์ได้แล้วก็เรียกว่าเป็นการเดินตามรอยพระอรหันต์อย่างยิ่ง
มีคำอยู่คำหนึ่งซึ่งเข้าใจผิดกันมากขอให้ตั้งใจฟังให้ดี ๆ แล้วจะเอาไปคิดได้ดี คือมีคำสอนมาแต่โบราณกาลว่า เราจะเสียตลาด ทรัพย์สมบัติ เพื่อรักษาอวัยวะไว้ เช่น เราเจ็บไข้ได้ป่วยตรงนั้นตรงนี้ เราก็เสียเงินเสียทองเพื่อจะรักษาแผล รักษาโรคนั้นเอาไว้ แต่บางคราวเราต้องเสียสละอวัยวะนั้นเสียเพื่อจะเอาชีวิตไว้ เช่นบางทีต้องตัดแขนตัดขาเพื่อเอาชีวิตไว้ แต่ว่าแม้ว่าเราจะต้องเสียชีวิตในบางคราว เราก็เพื่อจะเอาธรรมะไว้ ยอมเสียชีวิตเพื่อเอาธรรมะไว้ เช่นถึงกับพูดว่าแม้จะเสียชีวิตก็ไม่ยอมเสียธรรมะ นี่พูดกันเป็นและมักจะพูดกันด้วย แต่แล้วมันก็ไม่จริง ตรงที่ว่าชอบไปเอาความทุกข์มา เสียสละชีวิตอย่างไรได้ ถ้าว่าจะเอาธรรมะไว้นั้นก็หมายความว่าไม่ยอมให้เป็นทุกข์ ไม่ยอมให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยจำไว้ให้ดี ๆ ว่าเราจะไม่ยอมให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขึ้นมาในใจของเรา นั่นแหละคือธรรมะ ยอมตายเสียดีกว่า ไม่ยอมให้มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ซึ่งไม่ใช่ธรรมะนั้นเกิดขึ้นในใจ ยอมเสียชีวิต ไม่ยอมเสียธรรมะ มันควรจะหมายความอย่างนี้มากกว่า คือไม่ยอมเสียความรู้สึกที่เป็นความสงบ ความสะอาด สว่างสงบที่ไม่เป็นทุกข์นั่นแหละ งั้นเอาไว้ให้ได้ในข้อที่ว่ายังไง ๆ ก็ไม่ยอมให้เกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เพราะการเกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์นี้ มันเป็นของธรรมดาเกลื่อนไปสำหรับคนปุถุชน พูดแล้วก็จะว่าพูดคำหยาบ คือสำหรับคนโง่ไม่รู้อะไรก็เรียกว่าปุถุชน มันก็จะเอาแต่ความทุกข์ อะไรมันก็จะเอาก็แต่ความทุกข์ อะไร ๆ มันก็จะปรุงให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมา อย่างนี้เรียกว่ามันไม่รู้อะไร มันห่างไกลจากพระอรหันต์ ถ้าจะใกล้พระอรหันต์ก็ต้องรู้จักทำให้ไม่เป็นทุกข์ อย่าให้เกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมาให้สุดความสามารถของตน คือละความเป็นของธรรมดาเกินไปนั้นไปเสียบ้าง คือละความเป็นปุถุชนเกินไปเสียบ้าง จึงจะเรียกว่าเสียสละชีวิตเพื่อเอาธรรมะไว้ ถึงแม้จะตายเราก็ไม่ยอมเป็นทุกข์ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ทำตามพระอรหันต์
ในวันเช่นวันนี้จงมาทำตามพระอรหันต์ในข้อนี้กันเถิด ในปีก่อน ๆ ก็ได้อธิบายโดยนัยยะอย่างอื่นในการทำตามพระอรหันต์ ส่วนในวันนี้ก็จะอธิบายโดยนัยยะนี้ว่าจงทำตามพระอรหันต์ โดยอย่าให้มีความรู้สึกที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น อย่าประมาท อย่าสะเพร่า อย่าเผลอ หรือว่าอย่าหลง แต่ในทางที่มันเกิดความรู้สึกที่เป็นทุกข์ขึ้นมาในใจ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นการตามรอยพระอรหันต์ ขอทบทวนกันใหม่ให้ดี ๆ ถึงจะมีจิตใจเหมาะสมที่จะกระทำมาฆบูชา เมื่อในโลกนี้มันกำลังเป็นอะไรกันอยู่ พวกหนึ่งมันกำลังหอบสังขารหนีความตาย ยิ่งหนีก็ยิ่งเข้าไปหาตาย หรือมันก็ตายอยู่ตลอดเวลา พวกหนึ่งก็ไม่รู้จักหรือไม่ฝันถึงความตาย แต่ก็ยังวิ่งเข้าไปหาความตาย หรือมันก็ตายอยู่ตลอดเวลา ขอให้ออกมาเสียจากความเป็นอย่างนี้เถิด ก็จะเป็นการกระทำตามพระอรหันต์ ขอให้ท่านทั้งหลายนึกถึงพระอรหันต์ในลักษณะที่ว่าอยู่ไกลจากกิเลสและความทุกข์ในลักษณะอย่างนี้ แค่เป็นมนุษย์ที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสติปัญญาจึงรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไร จึงสามารถกระทำได้อย่างนี้ แล้วว่าพระอรหันต์นั้นสามารถหักวงล้อของสังสารจักรคือการหมุนเวียนไปในสังสารวัฏ คือกิเลส กรรม และวิบากนั้นจะได้ จนอยู่เหนือความรู้สึกว่ามีตัวตนสำหรับเกิดแก่เจ็บตาย ก็เลยเรียกว่าท่านเป็นผู้สมควรแก่การกราบไหว้บูชาของโลกทั้งปวง ทั้งมนุษย์โลก เทวโลก มารโลก พรหมโลก ไม่มีโลกไหนที่จะไม่บูชาพระอรหันต์ จงกระทำในใจอย่างนี้แล้ว ทำประทักษิณ ถือเครื่องสักการะบูชา อุทิศแด่พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นในวันเช่นวันนี้เถิด
อาตมาได้กล่าวข้อความที่เป็นการตักเตือนท่านทั้งหลายให้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับจะกระทำมาฆบูชา ให้มีอานิสงส์มากที่สุดก็คือถ้อยคำอย่างนี้ ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเข้าใจในข้อนี้อยู่ตลอดเวลาที่กระทำประทักษิณ ก็จะได้ชื่อว่าไม่เสียทีที่อุตส่าห์ถ่อร่างกายมาเพื่อจะกระทำมาฆบูชาในสถานที่นี้ แล้วก็ต้องโดยวิธีดังที่กล่าวมาแล้ว อาตมาก็เชื่อด้วยตามความรู้ของอาตมาว่าคงจะได้รับผลเต็มที่เท่าที่ควรจะได้เป็นแน่นอน ในใจระลึกนึกถึงวันเช่นวันนี้เมื่อตอนบ่ายของวันนี้ พระอรหันต์ประชุมกัน ๑,๒๕๐ รูปล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพว่าเป็นเอหิภิกขุทั้งนั้น มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ไม่ได้นัดหมายกันก็มาพร้อมกันที่ป่าไผ่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองราชคฤห์ แล้วก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่แล้วว่ามีข้อความว่าอย่างไร
เป็นอันว่าวันนี้เป็นวันที่ทำในใจถึงพระอรหันต์เป็นพิเศษแล้วก็จะตั้งใจกระทำตามรอยของพระอรหันต์นั้นด้วยตลอดไปทั้งปีตามมากตามน้อยที่จะทำได้ เพื่อว่าจะได้ห่างไกลจากความทุกข์เหมือนพระอรหันต์บ้าง เพื่อว่าจะหักสังสารวัฏ คือกิเลส กรรม และวิบาก อย่าให้มันหมุนเวียนเหมือนกับว่ามันมาเฉือนอยู่บนศีรษะตลอดทั้งวันทั้งคืนบ้าง ก็จะได้รับอานิสงส์นั้นเป็นแน่นอน ขอให้มีจิตใจอย่างนี้ในการกระทำมาฆบูชา การแสดงข้อความที่เป็นการแนะนำเป็นบุปพกถา (นาทีที่ 37:50) ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ก่อนเพื่อจะได้เตรียมการกระทำสักการบูชา มีประทักษิณเป็นต้นสืบต่อไป ธรรมเทศนาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีแต่ด้วยประการฉะนี้