แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาส่งเสริมศรัทธาความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามก้าวหน้าตามทางแห่งพระศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดาอันเป็นที่พึ่งของเราทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา ธรรมเทศนาปรารภมาฆบูชาหรือวันพระอรหันต์เป็นคำรบสุดท้ายนี้ ก็ยังจะได้กล่าวถึงเรื่องราวอันเกี่ยวกับพระอรหันต์ต่อไปอีกนั่นเอง
เรื่องที่จะนำมากล่าวนี้เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า แม้ในโอกาสแห่งการเจ็บไข้ก็ยังเป็นโอกาสแห่งการบรรลุธรรมอันสูงสุดอยู่นั่นเอง อาตมาได้เคยกล่าวมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า ควรจะใช้โอกาสที่ดีที่สุดนี้ให้ได้หรือให้เป็นกันไว้ทุกคน เพราะว่าทุกคนก็ต้องมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา และโอกาสนั้นกลับเป็นโอกาสที่จะเห็นธรรมหรือบรรลุธรรม หรือแม้ที่สุดแต่จะพิจารณาธรรมยิ่งกว่าโอกาสใด หากแต่ว่าคนโดยมากได้ละโอกาสนั้นเสีย คือว่าพอมีความเจ็บไข้ขึ้นมาก็ดิ้นรนกระวนกระวาย แทนที่จะใช้โอกาสนั้นพิจารณาธรรม ก็ไปกลัวเสียบ้างหรือกระวนกระวายอย่างอื่นเลยไม่เป็นโอกาส การทำอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามวิธีที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ปรากฏอยู่ในสูตร ๆ หนึ่งซึ่งจะได้นำมาวิสัชนาในโอกาสนี้
ทุกคนควรจะนึกให้เห็นความจริงในข้อที่ว่า ความทุกข์นั้นสอนดีกว่าความสุข หรือถ้าว่ากันโดยที่แท้แล้วความสุขนั้นอาจจะไม่สอนอะไรเสียเลยก็ได้ แต่ความทุกข์นั้นสอนมากทีเดียวและสอนดีด้วย แต่ละคนก็ไม่เปิดโอกาสให้ความทุกข์นั้นสอน พอมีความทุกข์เข้ามาก็สมัครเป็นเจ้าทุกข์เสีย ไม่พยายามจัดแจงหรือกระทำให้ความทุกข์นั้นเป็นผู้สอน นี่เรียกว่าทำให้โอกาสที่ดีที่สุดนั้นผ่านไป เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วในธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ ว่า ขโนโวมาอุปัจภา ขณะอันสำคัญนั้นอย่าได้ล่วงไปซะเลย ขณะอันสำคัญในที่นี้ก็ได้แก่โอกาสเช่นนี้เป็นต้น เพราะว่าเราไม่ได้เจ็บไข้กันบ่อย ๆ แต่พอความเจ็บไข้มาถึงก็เป็นโอกาสที่จะให้ความเจ็บไข้นั้นสอน แต่แล้วเราก็ปล่อยให้ล่วงไปเสีย จนไม่ได้สอนเพราะว่าเรามันโง่ ไม่รู้จักทำสิ่งที่มีประโยชน์ให้เป็นประโยชน์หรือว่าที่เป็นประโยชน์ที่สุด
เคยเตือนกันแล้วเคยเตือนกันเล่าว่าให้ดูให้ดีมันมีแต่ได้ไม่มีเสีย แม้แต่ความทุกข์ซึ่งคนเขามองกันเป็นเรื่องเสีย นี่เรียกว่ามองไม่เป็น ถ้ามองเป็นแม้แต่ความทุกข์ก็เป็นเรื่องได้ ไม่ใช่หมายความว่าได้ทุกข์ แต่ว่าได้โอกาสที่จะศึกษาเรื่องความทุกข์ ถ้าไม่มีความทุกข์มาแล้วจะศึกษาความทุกข์ได้อย่างไร ถ้าไม่ศึกษาความทุกข์มันก็ไม่รู้จักความทุกข์ แต่ถ้าไม่มีความทุกข์มาแล้วเราจะศึกษาอะไร ดังนั้นเราต้องมีความทุกข์จริง ๆ มา ไม่ใช่นึก ๆ เอาว่าความทุกข์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เรื่องในพระศาสนานี้ไม่ใช่เรื่องนึก ๆ เอา จะศึกษาเรื่องอะไรก็ต้องมีเรื่องนั้นจริง ๆ จะศึกษาเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ต้องศึกษาลงไปบนสิ่งซึ่งกำลังแสดง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และก็ต้องเป็นภายในด้วย การไปมัวศึกษา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของคนอื่นของสิ่งอื่นนั้นเป็นไปไม่ได้ หรืออยากจะเป็นไปได้ก็ได้ผลน้อย นี่ก็ต้องศึกษา อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาที่มีอยู่ในความรู้สึกของตนเอง ความเจ็บไข้ก็เป็นสิ่งหนึ่งซึ่งแสดง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่ามันเป็นตัวความทุกข์อยู่แล้ว ก็เป็นการแสดงทุกขังได้ดี เพราะความเปลี่ยนแปลงจากความสบายมาเป็นความไข้นี้มันก็แสดงอนิจจังที่ดีอย่างยิ่งอยู่แล้ว เพราะความที่เจ็บไข้มันไม่อยู่ในอำนาจของใคร นี่ก็เป็นการแสดงอนัตตาของสังขารอันนั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นควรจะถือเอาโอกาสเช่นนี้ทำสิ่งที่เป็นทุกข์ให้กลายเป็นความรู้สำหรับจะแก้ความทุกข์นั้นเอง ที่เรียกว่าดูให้ดีมันมีแต่ได้ไม่มีเสีย อุจจาระ ปัสสาวะ เขายังเอาไปทำปุ๋ยใส่ผักรดต้นไม้ให้เป็นผลดีได้ ไม่ต้องทิ้ง แล้วกลับได้เงินที่ได้มาจากการขายผัก นี่ก็เพราะว่ารู้จักดูให้ดีและก็ทำให้ได้ให้กลายเป็นได้ ไม่ต้องเสีย ไม่ต้องทิ้งเปล่า นี่เป็นตัวอย่างเท่านั้นและก็เป็นเรื่องวัตถุข้างนอกด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องภายในเรื่องความทุกข์ที่เกิดอยู่กับใจ มันมีค่ามากกว่าอุจจาระ ปัสสาวะเหล่านั้น เพราะว่าถ้าทำให้ดีแล้ว มันจะสนองผลขึ้นมาเป็นการเห็นธรรม หรือเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานเอาทีเดียว จึงขอให้ท่านทั้งหลายพยายามสังเกตข้อนี้ให้ดี ๆ จนเห็นว่าความทุกข์นั่นแหละมันสอน ส่วนความสุขนั้นมันไม่สอนหรือสอนไม่เท่ากับความทุกข์ คือสอนน้อยเหลือเกิน เพราะว่าในเวลาที่กำลังมีความสุขนั้นจิตใจมันระเริงหลงไปด้วยความสุข มันไม่จึงไม่มีโอกาสที่จะสอน แต่พอมีความทุกข์มันพร้อมที่จะสอน ขอให้ตั้งใจในการที่ให้โอกาสแก่มันสักหน่อยหนึ่งเท่านั้น แล้วมันก็จะสอนดีถึงขนาดที่ให้ได้บรรลุมรรคผล
มันมีเรื่องกล่าวอยู่ในอรรถกถาของมหาสติปัฏฐานสูตร พระภิกษุพิจารณาเวทนาอันเป็นทุกข์ที่เกิดจากเสือกำลังกัดตนอยู่เรื่อย ๆ ไปจนเป็นพระอรหันต์พร้อมกันไปกับการสิ้นชีวิตเพราะเสือกัดกิน อย่างนี้คิดดูสิว่ามันน่าสนุกสักเท่าไรหรือว่าน่าอัศจรรย์มากสักเท่าไร ภิกษุอยู่ในป่าแล้วก็เสือกัด มันก็เจ็บปวด ก็ถือเอาเวทนาที่เจ็บปวดเพราะเสือกัดนั้นเป็นอารมณ์แห่งเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เสือมันก็กัดกินต่อไปก็พิจาณาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานยิ่งขึ้นไป ๆ จนกระทั่งตายพร้อมกับการบรรลุพระอรหันต์เป็นชีวิตสมสีศีล (นาทีที่ 13:32) คือคนพวกที่เป็นพระอรหันต์พร้อมกันกับดับจิต ดูให้ดีมีแต่ได้ไม่มีเสียนั้นมันมีความหมายอย่างนี้ เพราะว่ามันเป็นเวทนาจริง ๆ ที่เจ็บปวดอยู่จริง ๆ เมื่อยิ่งเจ็บปวดมากก็ยิ่งพิจารณามาก ยิ่งพิจารณาแก่กล้า ชีวิตจึงเลยได้ผลอย่างแก่กล้า คือเป็นพระอรหันต์ได้ดังนี้
นี้ก็เป็นเรื่องที่ควรจะคิด จนเห็นว่าความทุกข์นี้มันสอนดีกว่าความสุข จะเป็นความสุขชนิดไหนมันก็ไม่สอนทั้งนั้น ยิ่งความสุขในเรื่องกามารมณ์แล้วยิ่งไม่สอน แม้จะเป็นความสุขที่เกิดมาจากณาน จากสมาธิ จากสมาบัติ มันก็ไม่สอน ไม่ปรากฏว่าความสุขมันสอนอะไรได้เพราะมันสบายไปเสียเรื่อย ส่วนความทุกข์นั่นไม่เป็นอย่างนั้น มันขบกัดเอาจนไม่มีความเพลิดเพลิน มีแต่ความรู้สึกที่เป็นความเจ็บปวด มันจึงเหลืออยู่แต่ว่าเราจะต่อสู้ความเจ็บปวดเพื่อเอาความทุกข์นั้นมาเป็นอารมณ์ของการศึกษาได้หรือไม่เท่านั้น คนที่เคยเจ็บปวดก็คงจะรู้รสของความเจ็บปวดมาแล้ว แต่ว่าความเจ็บปวดบางอย่างมันก็ยากเหมือนกันที่จะเปลี่ยนให้เป็นอารมณ์สำหรับการศึกษาเพื่อความทุกข์นี้ เช่น ปวดศีรษะถ้ามันมากเกินก็คงเป็นบทเรียนที่ยาก มันไม่เหมือนกับการเจ็บป่วยบางอย่างที่เจ็บที่เนื้อที่หนังซึ่งพอจะทนได้ แต่ถึงอย่างไรก็ดีถ้าเราจะพยายามกันจริงแล้ว แม้แต่เรื่องปวดศีรษะอย่างแรงหรือการปวดฟันอย่างแรง มันก็คงจะไม่มากไปกว่าความปวดที่เกิดมาจากเสือกัด เสือกำลังกัดและกำลังกิน มันก็คงกินถึงกระดูกมันก็คงจะเจ็บไม่น้อยไปกว่าปวดศีรษะหรือปวดฟัน พระภิกษุองค์นั้นก็สามารถที่จะถือเป็นโอกาสสำหรับศึกษาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จนบรรลุพระอรหันต์ได้ เป็นอันว่าเราก็จะตั้งใจไว้ให้แน่วแน่ว่าแม้จะเป็นเรื่องปวดฟัน ปวดศีรษะ ปวดอะไรก็จะต้องลองต่อสู้กับมัน ถ้าว่ากำลังใจมันเข้มแข็งพอก็คงจะเป็นโอกาสสำหรับศึกษาได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นเรื่องความไข้แล้วมันก็ง่ายกว่านั้น หรือถ้ามันเป็นเรื่องเจ็บเนือย ๆ เช่น เจ็บเป็นวัณโรคอย่างนี้ก็คงจะเป็นโอกาสดียิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้นใครกำลังเจ็บเป็นอะไรอยู่บ่อย ๆ ก็จงพยายามถือโอกาสนี้ที่ให้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด
ตามบทที่ว่า ขโนโวมาอุปัจจภา (นาทีที่ 17:17) ขณะอันสำคัญอันประเสริฐอันแพงที่สุดนั้น อย่าได้ผ่านพ้นท่านทั้งหลายไปเสียเลย นี่แหละคือสิ่งที่จะต้องคิดให้เข้าใจกันให้ดีก่อนแต่ที่จะฟังเรื่องนี้ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในคัมภีร์สังยุตตนิกาย หมวดที่ว่าด้วยอายตนะ ข้อความนั้นมีว่า เอกังสมยัง ภควา เวสาลียังวหรติ มหาวเน ภูตาสาลายัง (นาทีที่ 17:51) สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ภูตาพาน (นาทีที่ 18:05) ป่ามหาวัลย์ ใกล้เมืองเวสาลี อาชาโข ภควา สายังหสมยังติสันลานาวุทธิโต (นาทีที่ 18:13) ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เยณกิลา ณสาลา เตนุกสังกมิ (นาทีที่ 18:33) โรงพยาบาลภิกษุไข้อยู่ ณ ที่ใดก็เสด็จไปโดยที่นั้น อุปสังกมิตวา ปัญญเตอาสเนเตสีธิ (นาทีที่ 18:48) ครั้นเข้าไปสู่ศาลาสำหรับคนไข้แล้วได้ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดให้ นิสัชชโขภควา ภิกขุอามันเตสิ (นาทีที่ 19:03) ครั้นประทับนั่งแล้วพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า สโต ภิกขเว ภิกขุสัมปัสชาโน กาลังอาตมยะ (นาทีที่ 19:16) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุจงเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ รอคอยซึ่งเวลา อยังโวหากัง อุสาสนี (นาทีที่ 19:30) นี่แหละคืออนุสาสนี ของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย
ข้อความนี้มีใจความอย่างไร จงพิจารณาดูให้ดี ๆ แล้วก็ถือเอาให้ได้แม้ที่สุดแต่เรื่องราวที่แสดงถึงประวัติ หรือถึงขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรก็ควรจะสังเกตไว้ว่าในกูตาพาน ในป่ามหาวัลย์ที่เป็นที่อยู่ของภิกษุ ในสถานที่ใกล้ ๆ นั้นก็ยังมีโรงที่จัดไว้สำหรับภิกษุไข้ และก็มีภิกษุเป็นไข้ พระองค์ก็เสด็จไปเยี่ยมและก็เตือนสติภิกษุที่เป็นไข้ เพราะฉะนั้นพระสูตรสูตรนี้ก็ควรจะได้ชื่อว่า ชิราโนวาท คือโอวาทแก่ภิกษุไข้ แต่มันพิเศษอยู่สักหน่อยในข้อที่ว่าโอวาทนี้เมื่อได้แสดงไปแล้วมีผลทำให้ภิกษุไข้นั้นบรรลุธรรมะเป็นพระอรหันต์ได้ จึงเรียกว่าโอวาทที่ทำคนไข้ให้กลายเป็นพระอรหันต์ไป มันยิ่งไปกว่าที่ว่าจะหายไข้ตามธรรมดา มันก็หายไข้ทั้งทางกาย ทั้งทางจิต ทั้งทางวิญญาณ หายไข้จากกิเลสและก็เป็นพระอรหันต์อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นเรื่องที่ควรจะสนใจ
หัวข้อนั้นก็มีสั้น ๆ ว่า สโต สัมปัสชาโน กาลังอาธัมมยะ (นาทีที่ 21:42) เป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะรอซึ่งกาละ คำว่า กาละ นี้แปลว่าเวลา ในกรณีอย่างนี้ก็แปลว่าความตาย อย่างเราพูดกันสมัยนี้ก็ยังพูดว่าพระธรรมซึ่งกาละ มันก็หมายความว่าตาย ถึงซึ่งกาละอย่างนี้ก็หมายความว่าถึงซึ่งความตาย คำว่า กาลังอาธัมมยะ จงรอซึ่งกาละอย่างนี้ ก็หมายถึงรอความตาย แต่ว่ารอด้วยสติสัมปชัญญะอย่างที่กล่าวมาแล้วในเรื่องราวของพระอรหันต์ชื่อ เรวตะ ในธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ นั้น เพราะท่านรอกาละเหมือนกับพวกลูกจ้างรอเวลาจ่ายเงิน ส่วนในสูตรนี้มิได้กล่าวในข้อที่ว่ารอกาละเหมือนพวกลูกจ้างรอเวลาจ่ายเงิน แต่มันกลายเป็นยิ่งไปกว่าคือว่า รอความตายในลักษณะที่ใกล้ความเป็นพระอรหันต์ ยิ่งรอความตายไปเท่าไรยิ่งใกล้ความเป็นพระอรหันต์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น นี่แหละคือความหมายของคำว่า ชิราโนวาท ในที่นี้ สโต สัมปัสชาโน กาลัง อาธัมมยะ (นาทีที่ 23:22) มีสติสัมปชัญญะรอซึ่งความตาย อยังโวหากังโวสาสนี (นาทีที่ 23:32) นี่คือนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนี้ เมื่อตรัสดังนี้แล้วก็ได้ตรัสต่อไปว่า กทังจะภิกขเว ภิกขุสโต โหติ (นาทีที่ 23:42) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ที่ว่าภิกษุมีสตินั้นเป็นอย่างไรเล่า อิทธภิกขเว ภิกขุกาเย กายานุปัสสี วิหรัญติ (นาทีที่ 23:55) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปกติเห็นกายในกาย อาตาปี สัมปัสชาโน สติมาวินัยยะ โลเกอวิชาโทมนสัง (นาทีที่ 24:10) เป็นผู้มีความเพียรเผาบาป มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชชาและโทมนัสในโลกนี้ออกเสียได้ และก็ได้ตรัสถึงเวทนาถึงจิตและถึงธรรม จนครบทั้ง ๔ ประการ อย่างที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ และก็ตรัสสรุปในตอนนี้ว่า เอวังโขภิกขเว ภิกขุ สโตโหติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้ชื่อว่ามีสติด้วยอาการอย่างนี้แล
ข้อความในตอนนี้เป็นข้อความที่ทรงอธิบายแต่เรื่องของสติอย่างเดียวก่อน ว่าภิกษุมีปกติเห็นกายในกาย มีความเพียรเผาบาป มีสัมปชัญญะ มีสตินำอภิชชาและโทมนัสในโลกนี้ออกเสียได้ คำว่าอภิชชาและโทมนัสนี้เข้าใจยาก บางคนก็เข้าใจผิด เห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่คนอยากหรือมีความอยากและก็มีความขัดใจในเมื่อไม่ได้ตามที่ตัวอยาก นั่นก็ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกเพียงเท่านั้น จะมาถูกสำหรับภิกษุผู้กำลังนอนเจ็บอยู่ได้อย่างไร ถ้าเป็นเรื่องที่ตรัสให้คนเจ็บคนไข้ฟัง สมมติว่ามีคนนอนเจ็บอยู่ก็ลองคิดดูว่า จะมีอภิชชาและโทมนัสได้อย่างไร คำว่า โทมนัส ในที่นี้ก็มีอยู่แน่ ๆ ว่าคนเจ็บนั้นมันต้องโทมนัส ถ้าจะเอาโทมนัสที่เกิดจากความเจ็บนี้ออกไปเสียได้อย่างไร ก็โดยวิธีของสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็สามารถจะเอาโทมนัสนี้ออกไปเสียได้
อภิชชาและโทมนัสนี้กล่าวไว้เป็นของคู่กัน ถ้าเวลาสบายดีก็อภิชชา คือมีจิตที่ทะเยอทะยานไปตามความอยาก แต่พอไม่สบายก็มีโทมนัส และของ ๒ อย่างนี้มีประจำอยู่ในโลก ดังนั้น จึงได้ตรัสว่านำอภิชชาและโทมนัสในโลกนี้ออกเสียได้ดังนี้ ขอให้มองให้ดี ๆ จนกระทั่งมองเห็นว่าในโลกนี้ไม่มีอะไร นอกจากอภิชชาและโทมนัส เพราะว่าคนทั่ว ๆ ไปนั้นก็ไม่มีอะไรในโลกนี้เป็นสมบัตินอกจากอภิชชาและโทมนัส บางเวลาก็ร่าเริงหลงใหลลิงโลดไปต่าง ๆ นานา แล้วบางเวลาก็มานั่งร้องไห้อยู่ นี่เรียกว่าอภิชชาและโทมนัสมีอยู่ในโลก เป็นของประจำโลกอย่างนี้ เป็นสิ่งที่ต้องเอาออกไปเสียโดยวิธีที่ถูกต้องที่สุด เพราะว่ามันใช้ไม่ได้ทั้ง ๒ อย่าง อภิชชาก็ไม่ไหว โทมนัสก็ไม่ไหว ถ้านำออกไปเสียได้จึงจะดีจึงจะไหวจึงจะว่าง คือมันว่างจากความรบกวบทั้งของอภิชชาและโทมนัส ความมุ่งหมายของความมีสติก็คือ จะนำอภิชชาและโทมนัสออกมาเสียให้ได้ หรือจะพูดให้ถูกกว่านี้ก็เรียกว่าป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ถ้าเกิดขึ้นก็มีสตินำออกเสียได้ทันทีและทันควัน ทำอย่างนี้เรียกว่า อาตาปี คือเป็นผู้มีความเพียรเผาบาป ความทุกข์ก็ควรจะถือว่าเป็นบาปชนิดหนึ่งหรือเป็นผลบาป เผาบาปก็คือเผาความทุกข์ รวมทั้งรากเหง้าของมันอย่าให้เสียไป ทีนี้ก็มาดูซ้ำกันอีกทีว่าจะเป็นโอกาสไหนอีกเล่าที่จะเผาบาปคือความทุกข์ มันต้องเป็นเวลาที่มีความทุกข์ที่เรารู้สึกกันว่ามันเป็นบาปหรือเป็นผลบาป เมื่อบาปมันเกิดขึ้นก็ต้องเผามันเสียกระนั้นเอง จะไปมัวร้องไห้หรือครวญครางด้วยความเจ็บนั้นมันจะมีประโยชน์อะไร เมื่อบาปคือความทุกข์มาถึงเข้าก็ต้องเผามันเสียกระนั้น แล้วมันก็จะสูญสิ้นไปไม่กลับมารบกวนอีก ถ้าหากว่าเผาให้ถูกวิธีตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ นี่ตอนนี้คือคำอธิบายของคำว่าเป็นผู้มีสติ
ทีนี้ก็มาถึงตอนที่เป็นคำอธิบายของคำว่าสัมปชัญญะ มีพระบาลีว่า กสังภิกขเว ภิกขุสัมปัสชาโนโหติ (นาทีที่ 30:08) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะรู้ตัวอยู่นั้นเป็นอย่างไรเล่า อิทธภิกขเว ภิกขุ ภิกันเตปฏิกันเต สัมปัสชานกาลีโหติ (นาทีที่ 30:22) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เมื่อก้าวไปข้างหน้าหรือว่าเมื่อถอยกลับไปข้างหลัง ก็เป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะ อาโลกิเต วิโลกิเต สัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 30:48) เมื่อจะเหลียวไปเหลียวมาก็มีสติเป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะ สัมมินจิเต ปสาจิเต สัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 31:00) เมื่อจะเหยียดแขนขาเข้ามาหรือจะเหยียดแขนขาออกไป เมื่อจะคู้แขนขาเข้ามาหรือจะเหยียดแขนขาออกไป ก็เป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะ สังฆาติปัทธี วลภาเณ นกาเล สัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 31:20) เมื่อได้นุ่งห่มซึ่งทรงไว้ซึ่งสังฆาติมบาตรหรือจีวรก็เป็นผู้ซึ่งกระทำซึ่งสัมปชัญญะ อหิเต หิเตสาหิเต สาหิเต สัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 31:40) เมื่อจะกิน เมื่อจะดื่ม เมื่อจะเคี้ยว เมื่อจะลิ้ม ก็เป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะ อุจจาระปัสสาวะกัมเม สัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 32:00) เมื่อจะกระทำซึ่งอุจจาระกรรมปัสสาวะกรรม ก็เป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะ คเตหิเตนิสิเน จุเต ชาหิเต สุวีภาเว สัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 32:15) เมื่อจะเดิน เมื่อจะยืน เมื่อนอน เมื่อหลับ เมื่อตื่น เมื่อพูด เมื่อนิ่ง ก็เป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะ เอวังโขภิกขุเว ภิกขุสัมปัสชาณกาลีโหติ (นาทีที่ 32:40) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้กระทำซึ่งสัมปชัญญะด้วยอาการอย่างนี้แล
ข้อความเหล่านี้เข้าใจได้ง่ายแล้วเกือบจะไม่ต้องทำการอธิบายอย่างไร จะต้องอธิบายบ้างก็ในข้อที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะเรียกว่ากระทำซึ่งสัมปชัญญะ เมื่อเดินไปข้างหน้าหรือเมื่อถอยกลับมีสัมปชัญญะ คือว่าทำความรู้สึกไว้อย่าให้หกล้มอย่างนั้นนี่มันน้อยเกินไป พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงประสงค์อย่างนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าอย่าให้มันหกล้ม แต่ให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ในธรรมในพระธรรม ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ว่าจะเผลอไม่ได้จะลืมไม่ได้จะประมาทไม่ได้ แต่ต้องหัดตั้งต้นมาตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ เช่นมีสติสัมปชัญญะในเรื่องง่าย ๆ นี้ก่อนแล้วจึงจะมีสติสัมปชัญญะในเรื่องที่ยากขึ้นไป เช่นว่าเดิน ยืน นั่ง นอน มีสติสัมปชัญญะที่จะไม่ให้หกล้มหรือจะไม่ให้ผิดพลาด แต่ขั้นสูงขึ้นไปก็คือมีสติสัมปชัญญะในธรรมะ เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรื่องไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา เพราะว่าพอเปลี่ยนอิริยาบถจิตใจมันก็ฟุ้งซ่านกวัดแกว่ง มันก็มีการแทรกแซงของกิเลสหรือของความประมาท จึงหัดให้เป็นผู้ไม่ประมาทในทุกอิริยาบถ เราก็จะมีความรู้ในธรรมะนั้นเต็มเปี่ยมอยู่ทุกอิริยาบถ การกระทำเช่นการกินถ้าอร่อยขึ้นมา มันก็ไปหลงใหลในความอร่อย มันก็ลืมอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือถ้ามันไม่อร่อยขึ้นมา มันก็ไปโกรธนั่นโกรธนี่ มันก็ลืมอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้นจึงต้องเตือนว่าเมื่อกินก็ดี เมื่อตื่นก็ดี เมื่อเคี้ยวก็ดี เมื่อลิ้มก็ดี จะต้องมีสัมปชัญญะ อย่าให้อภิชชาและโทมนัสครอบงำจิตนั่นเอง แม้แต่การที่จะถ่ายอุจจาระปัสสาวะมันก็ยังมีเรื่องหรือมีโอกาส มีช่องทางที่จะเกิดความประมาทได้ จึงว่าไว้หมดทุก ๆ อิริยาบถจะต้องมีสติสัมปชัญญะและก็ไม่ลืม ไม่เผลอ ให้เกิดความประมาทหรือความเข้าใจผิดในเรื่องของพระธรรม ถ้ายิ่งเป็นคนเจ็บไข้ด้วยแล้วมันก็ยิ่งมีเรื่องมาก มีโอกาสมากที่จะเกิดอภิชชาหรือโทมนัส
ในที่สุดก็ได้ตรัสต่อไปว่า สโตภิกขเว ภิกขุสัมปัสชาโน กาลังอาธัมมยะ อยังโวอำหากัง นุสาสนี (นาทีที่ 36:20) ด้วยการกระทำอย่างนี้ภิกษุได้ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะ รอเวลาว่านี่แหละคืออนุสาสนีของเราแก่พวกเธอทั้งหลาย จนขยายความคำว่าสติสัมปชัญญะ แล้วก็ได้กล่าวต่อไปถึงข้อความที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น โดยพระบาลีว่า ตัสสะเจ ภิกขเวภิกขุโว เอวังสตัส สัมปัสชาณ อัปมสัสสะ อตาปิโน มหิตัสวิหรโต อุปัสชสิ เวทนา (นาทีที่ 36:57) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประพฤติตนเป็นคนมีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผาบาป มีตนอันส่งไปแล้วในสติสัมปชัญญะอยู่อย่างนี้ แล้วสุขเวทนาเกิดขึ้น โสเอวังปชานาติ ภิกษุนั้นย่อมรู้อย่างนี้ว่า อุปนาโขเม อัยยังสุขาเวทนา เวทนาที่เกิดขึ้นแก่เรานี้เป็นเวทนาที่เป็นสุข สาจโข ปฏิจ เพราะเวทนานั้นมันมีที่อาศัย ที่ตั้ง โนอัปฏิจ ไม่ใช่ไม่มีที่อาศัยที่ตั้ง จึงปฏิจ มันอาศัยอะไร อิมังเมวกายังปฏิจ มันอาศัยร่างกายนี้เอง หยังโขปนตาโย (นาทีที่ 38:20) ก็ร่างกายนี้ อนิโจ ไม่เที่ยง สังขโต มีปัจจัยปรุงแต่ง ปฏิจสมุปัณโณ อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วจึงเกิดขึ้น อนิจจังโขปณสังขตัง ปฏิจสมุปันนัง กายังปฏิจอุปันนา สุขาเวทนา (นาทีที่ 38:40) ก็เมื่อสุขเวทนานี้มันอาศัยกายที่ไม่เที่ยง ที่มีปัจจัยปรุงแต่ง และเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว พุทโธนิจจา เวทนานั้นมันจะเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน นี่คิดดูให้ดี ๆ จะเห็นตามนี้ได้ว่า เมื่อสิ่งนี้คือสุขเวทนานี้ มันอาศัยร่างกายที่ไม่เที่ยง แล้วสุขเวทนานี้มันจะเป็นของเที่ยงไปได้อย่างไร ดังนั้นจึงไม่ยึดถือเวทนานั้นโดยความเป็นสุขเวทนาที่น่าพอใจหรือน่าเสน่หา แลัวตรัสต่อไปว่า โศกาเยจสุขา เยณจเวทนาย อนิจจานุปัสสี วิหรัญติ (นาทีที่ 39:37) ภิกษุนั้นเป็นผู้มองเห็นซึ่งความไม่เที่ยงในกายนั้นด้วย มองเห็นความไม่เที่ยงในสุขเวทนานั้นด้วยอยู่ ไวยาณุปัสสีวิหรัญติ (นาทีที่ 39:56) ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้อยู่ด้วยการมองเห็นซึ่งความสิ้นไปเสื่อมไป เวลาคาณุปัสสีวิหรัญติ ภิกษุนั้นย่อมอยู่ด้วยการมองเห็นซึ่งวิราคะ คือ ความคลายออกแห่งความยึดถือในสิ่งต่าง ๆ นิโรธานุปัสสี วิหรัญติ ภิกษุนั้นย่อมมีปกติมองเห็นนิโรธ คือความดับของสิ่งที่มีความยึดถืออันคลายออกแล้ว ปฏินิจธานุปัสสี วิหรัญติ (นาทีที่ 40:40) ภิกษุนั้นย่อมอยู่ด้วยการมองเห็นซึ่ง ปฎินิสังฆะ (นาทีที่ 40:48) คือการที่สลัดคืนสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ดังนี้
ข้อความในตอนนี้ทรงแสดงว่าเราสามารถที่จะใช้โอกาสที่เกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาสำหรับพิจารณาให้เห็นธรรม คือความจริงอันเกี่ยวกับเวทนานั้น ในข้อแรกทรงยกสุขเวทนาขึ้นมาก่อน แต่ทรงแสดงหนทางให้มองเห็นว่าแม้สุขเวทนาจะเกิดขึ้น ก็อย่าปล่อยให้เป็นโอกาสแห่งอภิชชา คือความยินดี ความเพลิดเพลินหลงใหลไปตามเวทนานั้น ให้พิจารณาสุขเวทนานั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยงเพราะว่ามันอาศัยร่างกายที่ไม่เที่ยงจึงเกิดขึ้น เมื่อมันต้องตั้งอาศัยอยู่บนร่างกายที่ไม่เที่ยงมันก็ต้องไม่เที่ยง เมื่อเห็นความไม่เที่ยงก็จะเห็นความสิ้นไปและเสื่อมไป เมื่อเห็นความสิ้นไปและเสื่อมไปชัดเจนอยู่อย่างนี้แล้ว มันก็คลายกำหนัดในสุขเวทนานั้น ไม่หลงกำหนัดในสุขเวทนานั้น ก็จะเป็นโอกาสแห่งความดับไปซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในเวทนานั้น ก็คือดับไปแห่งความทุกข์ด้วย ท่านก็เห็นการที่ตนเป็นผู้สลัดสิ่งที่เคยยึดถือ เช่นสุขเวทนานั้นเป็นต้น ออกไปเสียได้จากตน นี่ว่าสำหรับสุขเวทนา
เมื่อเป็นผู้เห็นความไม่เที่ยง เป็นต้น ในสุขเวทนานั้นอยู่อย่างนี้แล้ว ก็จะเป็นผู้ละเสียได้ซึ่งราคานุสัยอันมีอยู่ในกายนั้นและมีอยู่ในสุขเวทนานั้นที่เรียกว่าราคานุสัยนั้น ก็คือความเคยชินในการที่จะกำหนัดรักในสิ่งใด ร่างกายนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดรักใคร่ กำหนัดรักใคร่ร่างกายนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เสมอจนเรียกว่าอนุสัยแห่งราคะ คือความกำหนัดรักใคร่ที่มีอยู่ในร่างกายนี้ สุขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว บุคคลก็กำหนัดรักใคร่ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จนเกิดเป็นอนุสัย คือความเคยชินในการที่จะกำหนัดในสุขเวทนา บัดนี้ภิกษุนั้นมาพิจารณาเห็นอยู่ซึ่งความไม่เที่ยงเป็นต้น ทั้งของร่างกายนั้นและของสุขเวทนาที่อาศัยร่างกายนั้นอยู่อย่างแรงกล้าจริง ๆ ในลักษณะอย่างนี้จึงเป็นผู้ละราคานุสัย คือความเคยชินในการกำหนัดยึดถือสิ่งนั้น ๆ เสียได้ดังนี้ นี่เป็นกรณีแห่งความสุข อยากจะแนะให้สังเกตดูให้เป็นพิเศษว่าแม้คนเจ็บในบางกรณีก็มีจะมีสุขเวทนาเกิดขึ้นได้เหมือนกัน เช่นว่าเผอิญกินยาบางอย่างที่ระงับความเจ็บปวดไปได้ รู้สึกสบายเป็นสุข ก็อาจจะเผลอหรือหลงใหลในความเป็นสุขชั่วขณะนั้นก็ได้ เช่นว่ากินยาแก้ปวดศีรษะแล้วสบายหรือว่าร้อนขึ้นมาก็อาบน้ำแล้วก็สบาย เกิดเป็นสุขเวทนาขึ้นมาแม้ในขณะที่ยังเป็นคนเจ็บอยู่ นั้นก็ยังอาจจะยึดถือในเวทนานั้นได้ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสเรื่องสุขเวทนาแม้ในโรงของคนเจ็บไข้
เมื่อตรัสสุขเวทนาแล้วก็ได้ตรัสเรื่องทุกขเวทนาต่อไปโดยลักษณะอย่างเดียวกัน ว่าเมื่อภิกษุได้ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผาบาป มีตนส่งไปแล้วในความมีสติสัมปชัญญะอย่างนี้อยู่แต่ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่าทุกขเวทนาได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา แต่ทุกขเวทนานั้นมันมีอะไรเป็นที่อาศัย ไม่ใช่มันไม่มีอะไรเป็นที่อาศัย มันมีอะไรเป็นที่อาศัย มันก็มีกายนี้นั่นแหละเป็นที่อาศัย ก็เมื่อกายนี้มันไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่งอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ทุกขเวทนาที่อาศัยร่างกายชนิดนี้เกิดขึ้น มันจะกลายเป็นของเที่ยงมาแต่ไหนได้ ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นทุกขเวทนา เห็นความไม่เที่ยงในร่างกายนั้น เห็นความไม่เที่ยงในทุกขเวทนานั้น ก็มองเห็นแห่งความสิ้นไปเสื่อมไปอย่างชัดเจนแล้ว ก็มองเห็นวิราคะ คือคลายความยึดถือในร่างกายนั้น ในทุกขเวทนานั้น เห็นความดับอยู่ เห็นความสลัดคืนอยู่ซึ่งทุกขเวทนานั้น เมื่อพิจารณาเห็นอยู่อย่างนี้ก็จะละปฏิภานุสัยในทุกขเวทนานั้น
นี่ขอให้สังเกตดูดี ๆ ว่าถ้าเป็นเรื่องความสุขนั้น มันละราคานุสัยเพราะว่าความสุขเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือหรือความยินดี ถ้าเป็นเรื่องของความทุกข์ก็กลายเป็นละปฏิภานุสัยก็คืออนุสัยแห่งความยินร้าย เกิดทุกข์ขึ้นมาทีหนึ่งเราก็ยินร้ายทีหนึ่งซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่อย่างนี้จนกลายเป็นปฏิภานุสัย คือความเคยชินในการที่จะขัดใจ เรามันตามใจตัวเองกันมากอย่างนี้ อยากรักก็รัก อยากโกรธก็โกรธ อยากเกลียดก็เกลียด มันก็เป็นอนุสัยคือความเคยชินขึ้นมา ฉะนั้นเมื่อเจ็บไข้เป็นทุกข์ขึ้นมาก็มีแต่อึดอัดขัดใจ ฮึดฮัดกระวนกระวาย ด้วยปฏิภนั้น ๆ มันจึงมีความทุกข์เพิ่มขึ้นจากความทุกข์ที่มาจากความเจ็บไข้ล้วน ๆ ความเจ็บไข้มันก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งอยู่แล้ว และก็มาขัดใจในเรื่องความเจ็บไข้นั้นเข้าอีก มันก็เป็นความทุกข์เพิ่มขึ้นเป็นสองซ้อน ท่านจึงให้ระวังทุกขเวทนาให้ดี ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเจ็บไข้ ให้พิจารณาโดยนัยยะอย่างที่กล่าวมานี้ว่าทุกขเวทนานี้อาศัยร่างกายอันไม่เที่ยง แล้วมันก็ต้องไม่เที่ยง ดังนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงนั้น ก็จะละความอึดอัดขัดใจที่เกี่ยวกับทุกขเวทนานั้นได้ดังนี้ นี้เป็นเรื่องที่ ๒
แล้วเรื่องที่ ๓ ก็มีทำนองเดียวกันแต่เป็นการกล่าวถึงอทุกขมสุขเวทนา ถ้าว่าเวทนานั้นมันไม่ใช่เป็นเวทนาที่เป็นสุขและไม่ใช่เวทนาที่เป็นทุกข์ แม้อย่างนั้นก็ยังทรงกำชับว่าภิกษุนั้นก็ยังจะต้องมีสติสัมปชัญญะ มีความไม่ประมาท มีความเพียรเผาบาป รู้จักอทุกขมสุขเวทนานั้นอยู่นั่นเองโดยการพิจารณาอย่างเดียวกันว่าเวทนาแม้มันจะไม่สุขไม่ทุกข์นี้มันก็ยังมีที่อาศัย ไม่ใช่ว่าไม่มีที่อาศัย คือมันอาศัยร่างกายอันไม่เที่ยงแล้วมันจะเป็นของเที่ยงไปได้อย่างไร ให้เห็นอยู่อย่างนี้โดยประจักษ์ชัดจนกระทั่งละอวิชชานุสัยเสียได้ เรื่องอทุกขมสุขนี้เป็นที่ตั้งแห่งอวิชชาคือความโง่ เมื่อยังไม่รู้ว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันก็อยู่ด้วยอาการของความระแวงสงสัย ไม่รู้อะไรอย่างชัดเจนลงไป มันจึงเป็นการสร้างอวิชชา เมื่ออยู่ด้วยอาการอย่างนี้ซ้ำซากมันก็เป็นอวิชชานุสัยขึ้นมา ดังนั้น เมื่อบุคคลได้เสวยเวทนาอันไม่ใช่สุขไม่ใช่ทุกข์ก็จงระวังให้มากเช่นเดียวกัน เพราะว่าจะเป็นที่ตั้งแห่งอวิชชานุสัย และเมื่อพิจารณามีสติสัมปชัญญะอย่างดีอยู่ก็จะละอวิชชาอนุสัยเสียได้
สรุปความอีกครั้งหนึ่งว่า สุขเวทนาให้เกิดราคานุสัย ถ้าพิจารณาเห็นตามทีเป็นจริงก็จะละราคานุสัย ทุกขเวทนานั้นให้เกิดปฏิภานุสัย ถ้าพิจารณาเห็นตามที่เป็นจริงก็จะละปฏิภาณุสัยนั้นได้ อทุกขมสุขเวทนานั้นย่อมให้เกิดอวิชชานุสัย ถ้าพิจารณาเห็นตามเป็นจริงย่อมละอวิชชานุสัยเสียได้ ความสุขคู่กันกับราคานุสัย ความทุกข์คู่กันกับปฏิภานุสัย ไม่ทุกข์ไม่สุขคู่กันกับอวิชชานุสัย มีกัน ๓ อย่างหรือ ๓ คู่ด้วยกันดังนี้ เมื่อภิกษุได้เสวยเวทนาเป็นสุขก็รู้ว่าเวทนานั้นไม่เที่ยง และก็ไม่สยบมัวเมาไม่เพลิดเพลินในสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนาเป็นทุกข์ก็รู้โดยนัยยะอย่างเดียวกันว่าไม่เที่ยงและก็ไม่สยบมัวเมาอยู่ด้วยปฏิภอยู่ในเวทนานั้น แม้เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็ไม่สยบมัวเมาอยู่ในอทุกขมสุขเวทนานั้น เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะเคลื่อนตนออกมาเสียได้จากความหลงใหลยึดมั่นในเวทนาแต่ละอย่างนั้น เรียกว่าเป็นผู้เคลื่อนตัวออกมาเสียได้ วิสัญญุโต แปลว่า เป็นผู้ไม่ประกอบพร้อมอยู่ในสิ่งนั้น เป็นผู้เป็นอิสระจากสิ่งนั้น ดังนั้นเมื่อเราได้เสวยเวทนาอย่างใดก็ต้องมีสติสัมปชัญญะทำตัวให้เป็นอิสระจากอำนาจของเวทนาชนิดนั้น จะเป็นเวทนาที่เป็นสุขก็ดี เป็นเวทนาที่เป็นทุกข์ก็ดี เป็นอทุกขมสุขก็ดี อย่าไปเป็นทาสของมัน คืออย่าไปอยู่ใต้อำนาจของมัน ทำตนให้เป็นวิสัญญุโต คือ ดึงตัวเองออกมาเสียได้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของเวทนานั้น นี้เรียกว่าเป็นเวทนาตามธรรมดา คือ สุข และทุกข์ และอทุกขมสุข
ถ้าจะกล่าวให้มากขึ้นไปในกรณีของทุกขเวทนานั้น ได้ทรงแสดงไว้อีกระดับหนึ่งว่า โสกาย ปริยันตัง เวธัมมังเอวังมาโน กายปริยัง เวทนัง เวทยานีติ ปชานาติ (นาทีที่ 53:50) ภิกษุนั้นเมื่อได้เสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งกาย ก็ย่อมมีความรู้ชัดว่าเราเสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งกาย ชีวิตสิกังเวทนัง เยมาโน ชีวตชยันติกัง เวทนังเวทยามีติ ปัชชานาติ (นาทีที่ 54:16) เมื่อได้เสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิตมันก็เป็นผู้รู้ชัดว่าเราเป็นผู้เสวยเวทนาอันเป็นที่สุดรอบแห่งชีวิต เวทนาที่เป็นสุดรอบแห่งกายนั้นคือเวทนาที่มีอำนาจมากจนถึงกับจะทำลายร่างกายนี้ให้เสียไป เวทนาที่เป็นที่สุดรอบแห่งชีวิตนั้นก็หมายความว่าเวทนาที่แก่กล้าถึงกับจะทำให้ชีวิตนี้ดับลง แม้ว่าจะได้เสวยเวทนาแก่กล้าหนักถึงปานนี้ก็ยังคงมีสติสัมปชัญญะอยู่นั่นเอง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ถึงแม้จะเสวยเวทนาที่จะทำให้ชีวิตแตกดับลงไปก็ยังสามารถที่จะเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะอยู่ได้ ไม่มัวร้องไห้ ไม่มัวกลัว นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นเรื่องที่กล่าวไว้ในอรรถกถาว่า ภิกษุเป็นพระอรหันต์พร้อมกับดับจิตไปในปากเสือ นั้นมันก็เป็นสิ่งที่ทำได้เพราะว่าเป็นผู้สามารถที่จะเอาชนะเวทนาอันเป็นที่สุดแห่งชีวิตดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะสนใจเมื่อได้รับเวทนาแก่กล้าจนถึงกับจะทำให้ร่างกายนี้เสียไปหรือจนถึงจะสิ้นชีวิตไป ก็ยังสงวนเอาไว้ได้ซึ่งสติสัมปชัญญะ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่ได้อบรมมามากอบรมมานาน ทำให้มากทำให้ชำนาญได้ในความเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ภิกษุผู้มีความเจ็บไข้โดยเฉพาะก็จะต้องนึกถึงเรื่องนี้มากในที่สุด
ทีนี้ก็มีคำสุดท้ายที่ตรัสไว้ว่า กายสเพตาอุตทัง ชีวิตอินาทานา อิเชวตักขเว ตานิ อนัตถินันตานิ สีสิปวิสันติ สีติปวิชนานาติ (นาทีที่ 56:33) เมื่อมีเวทนาชนิดที่จะเป็นที่สุดแห่งชีวิตเกิดขึ้น ก็ยังเป็นผู้สามารถที่จะควบคุมเวทนานั้น ไม่เป็นผู้หลงโง่ไปตามอำนาจของเวทนานั้น ซึ่งพระบาลีใช้คำว่า อนถินันถิตานิ (นาทีที่ 57:23) ทำให้เข้าใจผิดได้ เพราะตัวหนังสือแปลว่าไม่เพลินเฉพาะในเวทนานั้น คิดถูเถิดว่าใครจะไปเพลิดเพลินในทุกขเวทนาถึงขนาดที่จะเอาชีวิตไป แต่ว่าคำว่าเพลิดเพลินในที่นี้คือ ไปเพลินโง่ ไปเพลินหลงไปเพลินกลัว ไปเพลินกระสับกระส่าย มันไปหลงกระสับกระส่าย มีค่าเท่ากับว่าไปเพลินหลงในเวทนานั้น มันก็เป็นของร้อนขึ้นมา ถ้าไม่ไปเพลินในลักษณะนั้น มีสติสัมปชัญญะอยู่ก็เอาชนะเวทนานั้นได้ ทำให้เวทนาทั้งหลายเป็นของเย็น เวทนาทั้งหลายจะไม่เป็นของร้อนแก่บุคคลผู้มีธรรมะ เห็นป่านนี้ก็มีสติสัมปชัญญะอย่างยิ่งถึงที่สุด ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้
การทำอย่างนี้ มันเป็นการตัดรากเหง้าของเวทนาที่จะทำให้บุคคลหลงใหลไปตามอำนาจของเวทนาจนชีวิตนี้เป็นของร้อนเพราะเวทนาเป็นของร้อน ถ้าทำในใจได้ดีก็เป็นการตัดเหตุปัจจัยแห่งความร้อนนั้นเสียได้หมดสิ้น เป็นความดับเย็น เป็นเวทนาที่เย็นซึ่งทรงอุปมาไว้ว่าเหมือนดวงประทีปที่มันหมดไส้หมดน้ำมันแล้วมันก็ต้องดับไป ดวงประทีปที่หมดไส้หมดน้ำมันไม่มีใครเปลี่ยนให้หรือไปเติมให้ มันก็ต้องดับไป ทีนี้เวทนาที่เป็นที่ตั้งความยึดมั่นถือมั่นนี้ เมื่อภิกษุมีสติสัมปชัญญะรู้ถึงความจริงอันนี้แล้วมันก็เหมือนกับว่าไม่เติมไส้ ไม่เปลี่ยนไส้ ไม่เติมน้ำมันให้แก่ดวงประทีปนั้นมันก็ต้องดับไป หมายความว่าเวทนานั้นจะหยุดร้อน ไม่เป็นความทุกข์อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นของเย็น แล้วก็ดับชีวิตไปในลักษณะอย่างนี้ ก็เรียกว่าไม่มีอะไรที่ควรจะตำหนิติเตียน และแม้ว่ายังไม่ดับชีวิตลงไปเวทนานี้ก็เป็นของเย็นซึ่งเป็นลักษณะแห่งการบรรลุซึ่งอนุปานิเสสะนิพพานในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
เพราะฉะนั้นไม่ควรจะถือเอาอย่างที่ถือกันโดยมากว่า อนุปานิเสสะปรินิพพานนั้นจะถึงได้ต่อเมื่อตายแล้ว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าหัวที่สุดว่าคนตายแล้วจะมีการถึงอะไรกันอีก การถึงอนุปานิเสสะนิพพานนั้นมันก็เป็นการถึงเมื่อยังมีชีวิตอยู่ ยังมีความรู้สึกอยู่ มันเป็นการถึงนิพพานของบุคคลผู้มีเวทนาอันเย็นเป็นนิจ บุคคลบางคนแม้จะดับทุกข์ได้ ดับกิเลสได้แต่เวทนายังเป็นของร้อนอยู่เพราะว่ายังใหม่เกินไปบ้าง เพราะว่าไม่รู้จักกระทำให้ถูกวิธีบ้าง อย่างนี้ต่างหากที่เรียกว่า บรรลุอนุปานิเสสะนิพพาน คือบรรลุนิพพานที่ยังมีไอร้อนเหลืออยู่ยังไม่ทันจะเย็น อย่างนี้พระองค์ได้ตรัสแต่เรื่องเวทนาเป็นของเย็นก็หมายความว่า ได้ตรัส อนุปานิเสสะนิพพาน สำหรับภิกษุไข้ ผู้ฉลาดสามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะเอาชนะและครอบงำเวทนาทั้งหลายที่เป็นทุกข์ ที่เป็นสุขก็ดี ที่เป็นทุกข์ก็ดี ที่เป็นอทุกขมสุขก็ดี พระสูตรนี้ควรจะได้เรียกว่า ชิราโนวาท (ชั่วโมงที่ 01:01:54) แต่ก็เป็นชิราโนวาทพิเศษที่ให้โอวาทแก่คนไข้ ถึงกับทำให้เป็นพระอรหันต์บรรลุอนุปานิเสสะนิพพาน
พุทธบริษัทผู้ใดหวังจะได้รับประโยชน์สูงสุดในพระพุทธศาสนาจากพระพุทธเจ้าแล้วจงได้สนใจในโอวาทชนิดนี้เพราะว่าเราทุกคนก็จะต้องมีความเจ็บไข้ และเมื่อความเจ็บไข้มาถึงท่านแล้วจะทำอย่างไร จะศึกษาอย่างไร จะพิจารณาอย่างไรจึงจะอยู่เหนืออำนาจของความเจ็บไข้และยังสามารถเอาความเจ็บไข้นั้นแหละเป็นอุบายสำหรับพิจารณาให้บรรลุพระอรหันต์ชนิดที่เป็นอนุปานิเสสะนิพพาน นี้มันก็เป็นเรื่องของพระอรหันต์ว่าพระอรหันต์นั้นสามารถจะเป็นได้โดยอาศัยความเจ็บไข้เป็นต้นทุน พระอรหันต์สามารถใช้ความเจ็บไข้ให้เป็นประโยชน์ คือไม่กลายเป็นโทษ ไม่ทำให้เกิดทุกข์ แต่เป็นบทเรียนที่ดีนี้ก็เป็นเรื่องที่เนื่องอยู่ในเรื่องของพระอรหันต์ เรื่องของพระอรหันต์แล้วอะไร ๆ มันก็วิเศษประเสริฐไปเสียทั้งนั้นแม้แต่เรื่องเจ็บ ๆ ไข้ ๆ พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงหวังไว้อย่างนี้จึงได้อุตส่าห์เข้าไปในโรงของคนไข้และก็ประทานโอวาทนี้ เพื่อสอนแม้แก่ภิกษุที่ยังสบายยังไม่เจ็บไข้ก็เผื่อว่าเมื่อเจ็บไข้เข้าจะได้พิจารณาอย่างนี้ และภิกษุที่นอนเจ็บไข้อยู่ก็สามารถที่จะถือเอาพระโอวาทนี้เพื่อใช้ความเจ็บไข้ของตนให้เป็นประโยชน์ เพื่อหายจากความเจ็บไข้นั้น หรือถ้าไม่หายก็จะได้นิพพานไปด้วยอำนาจของพระโอวาทนี้ใช้ความเจ็บไข้นั้นเองให้เป็นประโยชน์อย่างนี้ จึงนับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์เรื่องหนึ่งในบรรดาเรื่องทั้งหลายในเรื่องที่เกี่ยวกับพระอรหันต์
วันนี้เป็นวันมาฆบูชา เรื่องต่าง ๆ ก็ควรจะพูดกันด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับพระอรหันต์ อาตมาจึงได้หาวิธีที่จะให้ท่านทั้งหลายในสถานที่นี้ได้ยินได้ฟังได้คิดได้นึกได้พิจารณาได้ค้นคว้าได้สอบสวนเรื่องราวเกี่ยวกับพระอรหันต์ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยลักษณะอย่างนี้เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี หวังว่าข้อนี้จะเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม่มีเรื่องอะไรสำคัญไปกว่านี้ เพราะว่าถ้ามนุษย์เราเกิดมาแล้วไม่ได้รับคุณประโยชน์อะไรจากเรื่องสูงสุด คือความเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เรียกว่าไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ถ้าทำผิดพลาดมากเกินไปมันก็ไม่ควรจะเสียหายมากถึงขนาดที่เรียกกันว่าเสียชาติเกิดเอาทีเดียว เพื่อจะไม่ให้เสียชาติเกิดบ้างหรือเพื่อว่าจะให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรได้จะรับบ้าง ก็ควรจะสนใจในเรื่องนี้ไว้ในฐานะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง เพราะว่าเราจะต้องมีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ขณะหรือโอกาสที่เจ็บไข้นั้นเป็นโอกาสที่มีค่าสำหรับจะศึกษาความจริงหรือธรรมะที่จะช่วยให้เกิดความหลุดพ้นได้ เพราะฉะนั้นจงเตรียมไว้ดี ๆ เตรียมอาวุธนี้ไว้สำหรับจะต่อสู้กับความเจ็บไข้ซึ่งจะจู่มาเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ว่าแม้ว่าจะไม่เจ็บไข้อาวุธนี้ก็ยังใช้ได้ในฐานะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เสียสติ ไม่ให้เสียสัมปชัญญะในทุก ๆ กรณี ในทุก ๆ อิริยาบถ ก็เป็นอันว่าคนเจ็บไข้ก็ได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง คนไม่เจ็บไข้ก็ได้รับประโยชน์จากพระโอวาทนี้
สมควรที่จะทำไว้ในใจให้เป็นเรื่องสูงสุดในระดับเรื่องสำหรับพระอรหันต์ และก็มาเป็นประโยชน์แก่เราผู้รู้เรื่องแล้วก็จะได้กระทำตามพระอรหันต์ ก็จะไม่เสียทีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์และได้พบพระพุทธศาสนาที่มีจุดหมายปลายทาง คือการบรรลุความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งมีความหมายง่าย ๆ สั้น ๆ ตรง ๆ ว่าเป็นมนุษย์ที่ถึงจุดที่สูงสุดหรือภาวะที่สูงสุดที่มนุษย์จะสูงได้ ที่มนุษย์จะประเสริฐได้ ไม่มีอะไรสูงหรือประเสริฐไปกว่าความเป็นพระอรหันต์ ถ้าใครคิดว่าเกิดมาทั้งทีควรจะได้ถึงจุดหมายปลายทางของความเป็นมนุษย์แล้วก็จงพยายามกระทำโดยนัยยะต่าง ๆ ที่ได้นำมาแสดงเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับพระอรหันต์อยู่ตลอดเวลา อย่ามัวแต่หอบหิ้วสังขารหนีความตายมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์ตลอดเวลา แต่ว่าจะใช้สังขารที่เป็นที่ตั้งความทุกข์นั้นเป็นปัจจัยสำหรับจะแก้ไขความทุกข์นั้นได้ในบทที่ว่า ดูให้ดีมีแต่ได้ไม่มีเสีย ดังที่วิสัชนามาสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้